|
/SCRIPT LANGUAGE="javascript1.1" page="dhamma_online";
/SCRIPT LANGUAGE="javascript1.1" src="http://truehits1.gits.net.th/data/e0008481.js">
|
|
|
คำถาม
|
|
โดย : อยากสงบ ถามเมื่อวันที่
2 พ.ย. 2546 |
ขอวิธีรักษาใจให้สงบ
ดิฉันนั่งสมาธิภาวนาบางครั้งกว่าจิตจะสงบยากเหลือเกิน เวลาอยู่ธรรมดาทำงาน หรืออิริยาบถไหนๆ ก็พยายามให้มีสติ ให้มีพุทโธอย่างที่หลวงตาสอนค่ะ แต่เหมือนมีกิเลสคอยห้ามปรามไม่ให้นั่งภาวนาได้นาน ๆ หรือจะภาวนาแล้วกิเลสก็คอยมาขวางอยู่เรื่อย จึงขอรบกวนขออุบายวิธีการทำให้จิตสงบเป็นสมาธิด้วยค่ะ
|
คำตอบ |
|
เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2546 |
เรียนคุณใช้นาม อยากสงบ หลวงตาท่านสอนเรื่องดำเนินจิตให้สงบจากอารมณ์เครื่องก่อกวนจิต ไว้ดังนี้
เวลาจิตของเราไม่ดี นี่แหละเป็นเหตุที่เราต้องทรมาน เป็นเหตุที่ต้องบังคับ เป็นเหตุที่ต้องปราบปรามกันให้เต็มที่เต็มทาง ถึงเหตุถึงผล เต็มสติกำลังความสามารถ อุบายสติปัญญาก็ขึ้นช่องนี้ ถึงจะลำบากขนาดไหน ก็ไม่หลบหน้า เพราะทราบแล้วว่า จิตของเราพยศ จิตของเราดื้อด้าน จะทำอย่างไรจิตเราจึงจะสงบตัวลงได้ เราก็ทราบเหตุผลในเรื่องนี้อยู่แล้ว ฉะนั้น ต้องฝึก ต้องทรมาน ต้องบังคับบัญชาเอากันเต็มเหนี่ยวทีเดียวเมื่อจิตมันผาดโผนด้วยอำนาจของกิเลส เราก็ผาดโผนด้วยอำนาจของธรรม คือสติ ปัญญา ศรัทธา ความเพียร ไม่ลดละปล่อยวาง สู้กันจนชนะไปเป็นพัก ๆ ไม่ยอมท้อถอยให้กิเลสหัวเราะเยาะเย้ยได้เป็นอันขาด จะขายหน้าตัวเองให้กิเลสย่ำยี ความชนะเป็นพัก ๆ นั้นแลคือการแสดงผลงานให้ปรากฏขึ้นมาอย่างประจักษ์ คือจิตหมอบลงไป จิตสงบลงไปด้วยอำนาจแห่งอุบายของการปราบปราม คือทรมานจิตใจ นี่เป็นสักขีพยานขึ้นมาเป็นระยะ ๆ เพราะความชนะเป็นพัก ๆ ไป ผลก็ปรากฏขึ้นมาเป็นระยะเช่นเดียวกัน นี้แลเป็นเหตุให้เรามีความอุตส่าห์พยายาม ไม่ท้อถอย ความยากลำบากไม่ได้ยากเฉย ๆ ไม่ได้ลำบากเฉย ๆ ผลที่เกิดขึ้นมาจากความลำบาก เพราะการฝึกหัดทรมาน การฝืนใจของตนซึ่งเต็มไปด้วยกิเลสนั้น มันแสดงขึ้นมาให้เราเห็นอย่างชัด ๆ ว่าเป็นผลดี เป็นผลดีเรื่อย ๆ จิตแม้จะผาดโผนขนาดไหนก็ตาม สู้เราไปไม่ได้ เพราะเรามีเครื่องมือได้แก่ธรรมของพระพุทธเจ้าคือ ขันติ เอามาใช้ วิริยะ เอามาสนับสนุน สติปัญญา ไม่ลดละ เพราะเป็นเครื่องมือที่ติดแนบอยู่กับตัวเรา ฟาดฟันลงไป กิเลสจะหาอุบายแสดงกลมารยาออกมาด้วยวิธีใด สติ-ปัญญาเป็นเครื่องปราบกิเลสต้องนำมาปราบจนได้ ปราบกิเลสไม่ได้เราก็แพ้ และขายหน้าไปจนวันตาย และตลอดกัปกัลป์ไม่มีสิ้นสุดยุติได้เลย เราเวลานี้กำลังก้าวขึ้นเวทีต่อสู้กับกิเลสอยู่แล้ว การแพ้กิเลสเป็นของดีแล้วหรือ นี่เป็นอุบายวิธีที่จะนำสติปัญญามาต่อสู้กับกิเลสไปจนมีชัยชนะไม่ได้ การแพ้ไม่ใช่ของดี นอกจากความชนะหรือตายในสนามรบเท่านั้น พระพุทธเจ้าชนะกิเลสทั้งมวลด้วยพระปรีชาสามารถ จึงได้เป็นพระศาสดาของโลก สาวกท่านชนะกิเลสทั้งปวงด้วยความเพียร จึงได้เป็นสรณะของพวกเรา ธรรมจึงปรากฏขึ้นในโลกได้เพราะความชนะของท่าน ส่วนธรรมที่จะปรากฏภายในจิตเราเพราะความแพ้นั้นดีอยู่เหรอ นั่นขัดกันกับศาสนธรรมที่ท่านประกาศสอนไว้ และอุบายวิธีที่พระพุทธเจ้าทรงพาดำเนินมา มันขัดกันถ้าเราแพ้ นี่แหละ ระยะที่เราฝึกอบรมต้องมีความยากลำบากลำบน ทุกสิ่งทุกอย่าง เพราะกิเลสมีมาก จึงมีแต่เรื่องเล่ห์เหลี่ยมแหลมคม ยั่วอย่างนั้น ยั่วอย่างนี้ หลอกลวงอย่างนี้อยู่เรื่อยภายในใจ ไม่ให้เราประกอบความพากเพียร ตั้งเนื้อตั้งตัวได้เลย มันทำให้เอนไปทางนั้น เอียงไปทางนี้ อยู่อย่างนั้นแล จงทราบว่า สิ่งใดที่เป็นภัยต่อความดี นั้นคือกิเลสทั้งหมด เราอย่าเข้าใจว่ากิเลสตั้งป้อมอยู่ที่ไหน ก็ตั้งป้อมอยู่ที่หัวใจนั่นแล เฉพาะอย่างยิ่งขณะที่จะทำความดีนั้นแหละ กิเลสนั้นนอนหลับอยู่ก็ตาม มันจะพลิกตัวตื่นขึ้นทันทีโดยไม่ต้องไปปลุกมัน พอคิดว่าเราจะสร้างคุณงามความดีเท่านั้นแหละ กิเลสมันตั้งท่า สู้เราแล้ว แล้วปราบเราอยู่หมัดด้วย เช่น ว่าจะไปทำบุญทำทาน ไปรักษาศีลภาวนา มันจะต้องหาอุบายขึ้นมาอย่างเหมาะ ๆ เดี๋ยวงานอย่างนั้น ยุ่งอย่างนี้ ไม่ได้นะ เดี๋ยวงานอย่างนี้ยุ่งนั้นยุ่งนี้ ไม่ได้นะ จะลำบากลำบน อดข้าวค่ำข้าวเย็นรักษาศีลทำให้ไม่สะดวกสบาย จะไม่สบาย เสียสุขภาพ อายุสั้น เดี๋ยวตาย ยุ่งไปหมด นั่นมันหลอกเรา ก่อนที่เรายังไม่ได้เห็นผลก็ต้องยอมมันแหละ เพราะเราเคยเชื่อมันมานานแล้วจนฝังใจ ไม่คิดนึกบ้างเลยว่ามันเป็นกิเลสจอมต้มตุ๋นทั้งเป็นมาแต่กาลไหน จึงเชื่อเอา ๆ ไม่มีทางฟื้นตัวได้ตลอดไป ทีนี้พอเราจะเป็น นักสู้ เช่น ภาวนาต่อสู้กับสัญญาอารมณ์ที่เกิดขึ้นภายในใจ ก่อกวนให้เราวุ่นวายอยู่ตลอดเวลา ก่อนที่จะเกิดความสงบขึ้นมา เมื่อเราชนะมันได้ผลก็คือความเย็นใจ ซึ่งออกมาจากความสงบแล้วปรากฏความมีคุณค่าขึ้นมาภายในตน ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยคิดว่า จิตใจเรา ตัวเรา จะมีคุณค่า มีแต่ความรุ่มร้อน หาแต่ที่เกาะ หาแต่ที่อาศัย ซึ่งส่วนมากก็เป็นยาพิษของกิเลสนั่นแล (คัดมาเฉพาะบางตอน จากหนังสือศาสนาอยู่ที่ไหน หน้า ๒๙๑-๒๙๔ เรื่องถึงเมืองอิ่มพอ พระธรรมเทศนาที่หลวงตาเทศน์ไว้เมื่อวันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๑๙) ______________
เอาคำบริกรรมกับสติจ่ออยู่กับใจไม่ยอมให้มันคิดไปไหนเลย เรียกว่าไม่ให้คิดอะไรทั้งนั้น ให้อยู่กับนี้ เป็นกับตายก็อยู่ที่นี่ เอากัน ลงใจแล้ว ไม่มีทางไปแล้ว ตัดสินใจลงจุดคำว่าบริกรรมกับสติ ทีนี้จะให้ติดแนบกันตลอดจะไม่ยอมให้เผลอเลย จนกว่าเหตุการณ์อะไรที่ควรจะเผลอของมัน มีเหตุการณ์ไม่มีทางตำหนิตนได้โน้นแหละ ในระยะนี้จะเอาแบบนั้นทีเดียว แบบจับติดเลย สติกับจิตกับคำบริกรรมติดแนบจากนู้นเผลอไปไม่ได้เลย เป็นกับตายก็อยู่นี้ ทั้งวันทั้งคืนไม่ให้เผลอเลยจริงๆ เอาขนาดนั้นนะ ไม่ยอมให้เผลอเลยเทียว นี่ทุกข์มากนะตอนที่บังคับ คืออารมณ์ของกิเลสมันผลักดันขึ้นให้คิดให้ปรุง นี่คือกิเลสเข้าใจไหม ที่มันคิดเรื่องนั้นปรุงเรื่องนี้ เป็นทางออกของกิเลสไปกว้านเอาไฟมาเผาเรา ทีนี้พอสติกับคำบริกรรมปิดกึ๊กไม่ยอมให้ออก มันเคยออกไม่ยอมให้ออก มันก็ซัดเรานั่นซิ จะเป็นจะตายจริงๆ ไม่ใช่เล่นนะ แต่ทางนี้ไม่มีถอย ให้มันตายด้วยกันกับคำบริกรรมกับสตินี้เท่านั้น เป็นอื่นไปไม่ได้ พอระฆังดังเป๋งก็ซัดกันเลย ตั้งแต่ขณะนั้นฟาดทั้งวัน เผลอไปไหนจุดไหนไม่มี ติดกันตลอดเลย ขนาดนั้นละ จึงว่าเอาจริงเอาจังยังบอกแล้ว ไม่ยอมให้เผลอเลยเทียว เวลาจะนอนก็หลับกับคำบริกรรม พอตื่นขึ้นพับจับปุ๊บเลย เรื่อย วันแรกนี้ แหม แทบเป็นแทบตาย แต่มันไม่เคยสนใจกับความเป็นความตายยิ่งกว่าสติกับคำบริกรรมนี้จะเผลอไม่ได้ว่างั้นเถอะ วันแรกเต็มเหนี่ยว คือจิตที่มันคิดมันปรุงนี้ นี่ละเรื่องกิเลสเข้าใจเสียถ้าไม่ทราบว่ากิเลส คือมันอยากคิดอยากปรุง เปิดทางให้มันมันก็คิดทั้งวัน มันก็กว้านเอาเรื่องราวเข้ามาเผาเจ้าของทั้งวันๆ ไม่มีธรรมเข้าคัดค้านต้านทานกันบ้างเลย มันก็สนุกสนานคิดปรุง ขนฟืนขนไฟมาเผาเรา เราจะทราบได้อย่างชัดเจนก็คือ เวลาสติกับคำบริกรรมปิดช่องที่มันจะคิดปรุงนะ ให้คิดกับพุทโธ ไม่ให้คิดไปอะไรเลย เปิดทางให้กับ พุทโธ อย่างเดียว ไม่เปิดทางให้ทางกิเลสว่างั้นเถอะ บริกรรมพุทโธๆ เอาคิดปรุง ปรุงกับพุทโธไม่ให้ปรุงกับเรื่องอะไรเลย สติจ่อ โอ๊ย ทุกข์มากนะ วันแรกสองวันนี้หนักมาก เพราะดันไว้ไม่ให้มันออก ให้ออกแต่ พุทโธๆ อย่างเดียว นี่ละกิเลสเวลามันออกไม่ได้มันไม่สร้างทุกข์ให้เรา คำบริกรรมนี้เป็นสังขาร เป็นความคิดเหมือนกันก็ตาม เป็นความคิดของทางธรรมก็เปิดทางให้ธรรมเดิน ปิดทางกิเลสไม่ให้เดิน เปิดทางของธรรม พุทโธๆ เป็นคำบริกรรมเป็นความคิดความปรุง แต่เป็นความปรุงของธรรมล้วนๆ กับสติคุมงานอยู่ตลอด หนักเบาขนาดไหนไม่สนใจ ไม่ให้เผลอเท่านั้น มีอย่างเดียว โห เหมือนตกนรกทั้งเป็นนะ แต่สำคัญมันไม่มีถอยกันเลย จะเป็นยังไงก็ไม่มีคำว่าเผลอว่างั้นเถอะนะ เป็นกับตายก็ให้ไปด้วยกันเลย วันแรกนี้หนักมากที่สุด วันสองจะมีเบานิดหน่อย พอวันสามวันสี่ไปแล้ว รู้คุณค่าแล้วนะที่นี่ รู้คุณค่าแล้ว ความผลักความดันไม่รุนแรงแต่ความสงบของใจทั้งๆ ที่บริกรรมนั่นแหละ มันสงบมันเย็นอยู่ภายในขึ้นมาๆ เรื่อยๆ นี่ก็ยิ่งแน่ คำว่าเสื่อมว่าเจริญนี้ไม่เอามาคิด คือมันเคยเสื่อมมาเสียจนพอ บังคับเท่าไรไม่ให้มันเสื่อม มันก็เสื่อมอยู่ต่อหน้าต่อตา ทั้งๆ ที่เสียใจเต็มที่ไม่อยากให้เสื่อมมันก็เสื่อม คราวนี้พอได้คำบริกรรมแล้วปล่อยหมด เอ้า จะเสื่อมก็ให้เสื่อมไป เจริญก็ให้เจริญไป ไม่สนใจกับทั้งสองยิ่งกว่าไม่ให้เผลอสติ เอาอันนี้แหละ นี่เราพูดถึงเรื่องการฝึกหัดจิต คือความผลักดันอยากคิดอยากปรุง เป็นเรื่องของกิเลสทั้งมวล ปิดช่องนั้นแล้วเปิดช่องพุทโธ คำบริกรรมของธรรม เป็นช่องของพุทโธ ออกเดิน ช่องของกิเลสออกเดินปิดไว้ ให้ออกเดินแต่ช่องของธรรมคือพุทโธๆ (คัดมาเฉพาะบางตอน จากกัณฑ์เทศน์วันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๔๖) _____________
พระพุทธเจ้าสอนลงถูกตรงจุดนี้เลย ให้ระงับจิตที่เป็นตัวเหตุ ด้วยการอบรมภาวนา คือมันจะคิดมันจะปรุงตลอดเวลา พุ่งๆ อยู่งั้น ยิ่งมีเรื่องราวอะไรมามากแล้วมันยิ่งแสดงเปลวเหมือนไฟได้เชื้อนะ เพราะฉะนั้นจึงให้มีการอบรมภาวนา ระงับเครื่องคือความคิดปรุงของเรา เรียกว่ามันติดเครื่องคิดตลอดเวลา เราระงับนั้น เราเอาคำบริกรรม บทธรรมะนี้เป็นน้ำดับไฟ เป็นความคิดความปรุงอันหนึ่ง แต่ความคิดอันนี้เป็นความคิดในทางด้านธรรมะซึ่งเป็นเหมือนน้ำดับไฟ สามารถระงับความคิดของกิเลสได้ เวลาเราคิดทางด้านอรรถธรรม เช่นภาวนาพุทโธ ๆ บังคับจิตไม่ให้มันออกคิดไปตามกิเลส แล้วทางนี้หนักขึ้น ๆ สติตั้งจ่อ ต่อไปจิตได้รับการอารักขาจากคำภาวนาของเราแล้ว อารมณ์อะไรที่มันผลักดันขึ้นมาในใจนี้ อำนาจแห่งธรรมหรือคำบริกรรมนี้จะทับมันไว้ ๆ เวลาทับนานเข้า ๆ ๆ ทางนี้ก็สงบเย็น ๆ กิเลสไม่ปรุงขึ้นมา ตัวนั้นไม่ปรุง ธรรมะตีหัวมันไว้ ทับหัวมันไว้ ทางนี้ก็ค่อยสงบเย็น ๆ ขึ้นมา นี่ละวิธีระงับดับความฟุ้งซ่านของจิตใจเรา เราจะไปหาสิ่งใดมาระงับ ในโลกนี้ไม่มี บอกตรง ๆ เลยว่าไม่มีอะไรระงับดับได้นอกจากธรรม เฉพาะอย่างยิ่งจิตตภาวนา อันนี้ระงับดับลงได้ จนกระทั่งถึงขั้นดับได้โดยสิ้นเชิง จากจิตตภาวนา พุทธศาสนาของเราจึงเลิศเลอที่ตรงนี้นะ ไม่มีศาสนาใดเท่าที่ทราบมาว่าสอนลงในจุดที่เกิดเหตุทั้งหลาย ได้แก่มหาเหตุ คือกิเลสเกิดขึ้นจากใจ ปรุงนั้นปรุงนี้ตลอดเวลา ธรรมะพระพุทธเจ้าระงับดับลงนี้ด้วยจิตตภาวนา ด้วยสติธรรมปัญญาธรรมสอดส่องดู มันคิดเรื่องอะไรต่ออะไรไม่ดีให้ระงับ พอมันคิดเรื่องนั้นไม่ดีอย่าคิดซ้ำ นั่น คิดเรื่องไหนไม่ดี เช่นสมมุติว่าคิดโกรธ คิดเคียดแค้นให้ผู้ใดแล้วมันจะโกรธโมโหโทโสขึ้นทันที มันไม่ได้ว่าอันนี้เป็นเศษเป็นเดนไปแล้วนะ มันจะปรุงขึ้นมาใหม่ อุ่นขึ้นมาใหม่ เผาเจ้าของได้อย่างสด ๆ ร้อน ๆ เพราะฉะนั้น ท่านจึงห้าม มันคิดเรื่องไม่ดีอะไรของบุคคลหรือสัตว์ตัวใดก็ตาม ให้รีบระงับปัดออก เอาความคิดทางดีเข้ามาแทนที่ อันนั้นจะระงับไป ถ้าสืบสาวไปตามมันแล้วมันจะไปใหญ่เลย มันปรุงขึ้นอย่างสด ๆ ร้อน ๆ ไม่มีอดีต ไม่มีของเก่าของแก่นะ ถ้าเป็นความคิดขึ้นมาจากใจของกิเลสบันดาลให้เกิดขึ้นมา หรือผลักดันให้เกิดขึ้นมาแล้วจะสด ๆ ร้อน ๆ ทั้งนั้น เพราะฉะนั้นจึงควรให้มีจิตตภาวนาบังคับใจเรา เรื่องกระแสของกิเลสภายในใจนี้รุนแรงมากนะ ยิ่งผู้ไม่เคยภาวนาเลยนี้ พอเอาคำบริกรรมจ่อเข้าไปมันจะปัดตกห้าทวีปนะ มันรุนแรงมากขนาดนั้นพลังของกิเลส พอเราเอาพุทโธนี่จะระงับมันนะ มันจะปัดทันทีแล้วมันจะพุ่ง ๆ ของมันไปเรื่อย ๆ นี่เบื้องต้นแรงมากนะ เอาจนตั้งสติไม่อยู่ พอตั้งปั๊บล้มผล็อย ๆ ล้มผล็อยก็พุ่งออกทางกิเลสนะ เมื่อทางธรรมะคือคำบริกรรมหรือสติธรรมตั้งพับนี้ล้มทันทีๆ นี่เวลากระแสของกิเลสมันรุนแรงอยู่ที่ใจเรา มันเกิดที่ใจ กิเลสอย่าไปหาต้นไม้ภูเขาที่ไหนไม่มี ให้ดูที่ใจ แล้วระงับกันที่ใจด้วยธรรม ธรรมก็มีที่ใจเช่นเดียวกัน เมื่อระงับอันนี้แล้วจิตของเราจะค่อยสงบ ๆ เอาให้ได้นะ เวลาเด็ดต้องเด็ด กิเลสมันเด็ดเราต้องเด็ด แล้วเห็นเหตุเห็นผลกัน คราวหลังเราก็ได้เป็นสักขีพยาน เอ้ามันจะรุนแรงขนาดไหน ช้างนี่เหนือขอไปไม่ได้ ว่างั้นเถอะน่ะ ต้องยอมจำนนต่อขอ กิเลสมันจะหนาแน่นขนาดไหน จะเหนือธรรมไปไม่ได้ มันจะยอมจำนนต่อธรรมจนได้ สุดท้ายก็สงบได้ นี่ละการระงับดับความฟุ้งซ่านวุ่นวาย ซึ่งเป็นตัวก่อทุกข์ให้เราเอง ให้ระงับที่ใจด้วยจิตตภาวนา แล้วให้ระมัดระวัง ถ้ามันคิดเรื่องอะไรไม่ดีอย่าเสริมมัน ให้หักทันที คิดนั้นไม่ดี คิดเรื่องนี้ไม่ดีให้ระงับทันที ดับทันที อย่าไปสืบต่อแล้วมันจะลุกลามไปใหญ่นะ ให้เอาธรรมเข้าแทนเป็นน้ำดับไฟๆ นี่เรื่องของการระงับดับความวุ่นวายความทุกข์ทั้งหลายที่เกิดมาในหัวใจของสัตว์โลก เฉพาะอย่างยิ่งหัวใจเราแต่ละคน ๆ ให้เอาธรรมนี้ไประงับ มีสติ ต้องฝืนนะ เวลาระงับนั้นมันฝืนกันอย่างเต็มที่ เพราะกิเลสมีกำลังมากกว่าจะเอาธรรมให้ตก ๆ เรื่อย ๆ นะ แต่ธรรมก็สู้ไม่ถอย สุดท้ายตั้งได้ ต่อไปธรรมตั้งได้แล้วเอากิเลสล้มได้ ล้มได้จนกระทั่งกิเลสหมดไป ๆ สุดท้ายกิเลสพังหมด ตั้งแต่กิเลสพังแล้วไม่มีอะไรผลักดันจิตใจให้คิดเรื่องนั้นปรุงเรื่องนี้ ก่อเรื่องก่อราวอีกเลย เช่นพระอรหันต์ท่านไม่มี เรื่องราวทั้งหลายที่จะมาผลักดันภายในจิตให้คิดให้ปรุงเหมือนตั้งแต่ก่อนเรียกว่าไม่มี เพราะสิ่งผลักดันได้แก่กิเลสมันแสดงอารมณ์ขึ้นมา อยากนั้นอยากนี้ขึ้นมา ผลักดันขึ้นมา นี่เรียกว่ากิเลส ทีนี้พอธรรมระงับดับ หรือถอนมันออกหมดโดยสิ้นเชิงแล้ว ความผลักดันอย่างนี้ไม่มีในจิตพระอรหันต์ สรุปความลงแล้วว่ากองทุกข์ในโลกนี้ที่มารวมอยู่ที่หัวใจ ไม่มีอะไรก่อขึ้นนอกจากกิเลสโดยถ่ายเดียวเท่านั้น พอกิเลสเบาลงเท่าไรทุกข์จะเบาลง ๆ ความสุขจะเริ่มโผล่ตัวขึ้นมาๆ ถ้ามีการฝ่าการฝืนกันบ้างแล้วความสงบของใจจะมี จากนั้นจะมีที่พักผ่อนหย่อนจิตใจสบาย ๆ ได้ด้วยการภาวนา พากันเข้าใจเอานะ (คัดมาเฉพาะบางตอน จากกัณฑ์เทศน์วันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๔๖) ____________________
สติเป็นสำคัญมาก สติเป็นพื้นฐาน เวลาเราทำนั้นทำนี้มันก็เป็น สัมปชัญญะ คือมันรู้อาการของธรรม รู้สึกอาการของธรรมอยู่ทุกระยะ อาการกิริยาที่เราทำนั้นทำนี้ ความรู้มันครอบเลยท่านเรียกว่า สัมปชัญญะ ถ้าสติจ่ออยู่กับจุดที่เราทำงาน เช่น ภาวนาพุทโธ เป็นต้น สติจ่ออยู่นี้เรียกว่า สติ มีสติแล้วพอทำงานอะไร เคลื่อนไหวไปมา สตินี้จะกระจายออกไปรับทราบครอบไปหมด ท่านเรียกว่า สัมปชัญญะ รวมแล้วก็คือ ฐานของความเพียรอยู่อย่างนี้เป็นอย่างนี้เอง ถ้าไม่มีสติแล้วอะไรก็ไม่เกิดประโยชน์ สติจึงเป็นของสำคัญมากทีเดียว เราได้เห็นคุณค่าของสติที่เราตั้งรากฐานทีแรก โห มัดกันเลย มัดจริง ๆ ไม่ใช่มัดธรรมดา ประหนึ่งว่าระฆังดังเป๋งนักมวยต่อยกัน พอระฆังเป๋งนี้ก็ฟัดกันเลย อันนี้พอลงใจเรียบร้อยแล้วว่าสตินี้เป็นที่ลงใจว่าจะทำความเพียรให้คืบหน้าได้ ลงใจแล้วว่า เอาละนะที่นี่ จากนี้เผลอไปไม่ได้จนกระทั่งจะเห็นความเคลื่อนไหวของใจ เจริญขึ้นหรือเสื่อมลงมากน้อยเพียงไร สติจะตั้งอยู่ตลอดเลย ฟัดกันเลย พอตื่นนอนก็จับ พอระฆังเป๋งขึ้นมา เอาละทีนี้ลงใจกันแล้วตั้งปึ๋งเลย ตั้งจริง ๆ เผลอไม่ได้เลย นี่แหละที่ว่าหนักมากที่สุด การเริ่มตั้งสติเบื้องต้น ติดแนบไม่ให้เผลอเลย แต่สำหรับเรามันเป็นจังหวะดีในขณะที่ระฆังดังขึ้น คือตั้งสัจจะลงกันเรียบร้อยแล้วว่า เราจะเอาความเพียรเอาธรรมจากสติเท่านั้น ไม่ยอมให้สติเผลอ ให้รู้ความเคลื่อนไหวของกิเลสและธรรมปฏิบัติต่อกันยังไง โดยมีสติครอบเอาไว้ ตั้งกึ๊กก็ใส่ปึ๋งเลย นี่เหมือนติดคุกติดตะราง ตั้งแต่ระฆังดังเป๋งจนกระทั่งหลับไม่มีเผลอเลย ตลอด มัดกันอยู่ตลอด ทีนี้เวลาสติครอบกิเลสมันจะยิบแย็บ ๆ ออกไปก่อตัวขึ้นเพื่อเป็นฟืนเป็นไฟมาเผาเรา มันออกไม่ได้เพราะสติครอบเอาไว้ ๆ กิเลสก็ไม่ทำงาน มีแต่สติทำงาน ไม่หลายวันนะ จิตใจค่อยสงบเย็นเข้า ๆ นี่เราพูดพิเศษให้บรรดาผู้ฟังทั้งหลายได้นำไปเป็นคติ ถึงจะไม่ได้อย่างนั้นก็ยังดีกว่าไม่ได้หลักเลยนะ (คัดเฉพาะบางตอน จากกัณฑ์เทศน์วันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๔๖) ________ และจากเทศน์เมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๔๖ บางตอน เราจึงอยากให้พี่น้องทั้งหลายได้อบรมจิตใจ ใจนี้เป็นต้นเหตุ มหาเหตุอยู่กับใจนะ เหตุเล็กเหตุใหญ่จะเกิดขึ้นที่ใจ ๆ ตั้งแต่ตื่นนอนมันจะทำงานของมันตลอดถึงหลับ ความหลับเรียกว่าดับเครื่อง ถ้าหลับสนิทดีเท่าไรก็เรียกว่าดับเครื่องได้ดี ถ้าหลับไม่สนิทฝันละเมอเพ้อไปต่าง ๆ นั้นมันก็เหมือนเขาจอดรถ เครื่องมันไม่ได้ดับ มันมีติดเบา ๆ อยู่นั้นใช่ไหม นี่มันฝัน ถ้าว่าดับเครื่องสนิทก็คือว่านอนหลับสนิท ไม่ฝัน นอกจากนั้นยุ่งทั้งนั้นล้วนแล้วตั้งแต่ใจ ใครในโลกอันนี้สามารถที่จะรู้เห็นเหตุการณ์ต่างๆ ของกิเลสที่มันทำงานบนหัวใจสัตว์ มีพระพุทธเจ้าเท่านั้น เพราะท่านรื้อถอนมันออกหมดโดยสิ้นเชิงจากพระทัยแล้ว ก็นำอุบายวิธีการเหล่านั้นมาสอนโลก มีจิตตภาวนาเป็นสำคัญที่จะระงับดับทุกข์ของหัวใจแห่งสัตว์โลกได้ จากการอบรมจิตตภาวนา นอกนั้นจะเอาอะไรมาระงับดับความทุกข์ภายในใจที่กิเลสสร้างขึ้นมานี้ไม่มีทาง พระพุทธเจ้าสอนลงถูกตรงจุดนี้เลย ให้ระงับจิตที่เป็นตัวเหตุด้วยการอบรมภาวนา คือมันจะคิดมันจะปรุงตลอดเวลา พุ่งๆ อยู่งั้น ยิ่งมีเรื่องราวอะไรมามากแล้วมันยิ่งแสดงเปลวเหมือนไฟได้เชื้อนะ เพราะฉะนั้นจึงให้มีการอบรมภาวนา ระงับเครื่องคือความคิดปรุงของเรา เรียกว่ามันติดเครื่องคิดตลอดเวลา เราระงับนั้น เราเอาคำบริกรรม บทธรรมะนี้เป็นน้ำดับไฟ เป็นความคิดความปรุงอันหนึ่ง แต่ความคิดอันนี้เป็นความคิดในทางด้านธรรมะซึ่งเป็นเหมือนน้ำดับไฟ สามารถระงับความคิดของกิเลสได้ เวลาเราคิดทางด้านอรรถธรรม เช่นภาวนาพุทโธ ๆ บังคับจิตไม่ให้มันออกคิดไปตามกิเลส แล้วทางนี้หนักขึ้น ๆ สติตั้งจ่อ ต่อไปจิตได้รับการอารักขาจากคำภาวนาของเราแล้ว อารมณ์อะไรที่มันผลักดันขึ้นมาในใจนี้ อำนาจแห่งธรรมหรือคำบริกรรมนี้จะทับมันไว้ ๆ เวลาทับนานเข้า ๆ ๆ ทางนี้ก็สงบเย็น ๆ กิเลสไม่ปรุงขึ้นมา ตัวนั้นไม่ปรุง ธรรมะตีหัวมันไว้ ทับหัวมันไว้ ทางนี้ก็ค่อยสงบเย็น ๆ ขึ้นมา นี่ละวิธีระงับดับความฟุ้งซ่านของจิตใจเรา เราจะไปหาสิ่งใดมาระงับ ในโลกนี้ไม่มี บอกตรง ๆ เลยว่าไม่มีอะไรระงับดับได้นอกจากธรรม เฉพาะอย่างยิ่งจิตตภาวนา อันนี้ระงับดับลงได้ จนกระทั่งถึงขั้นดับได้โดยสิ้นเชิง จากจิตตภาวนา พุทธศาสนาของเราจึงเลิศเลอที่ตรงนี้นะ ไม่มีศาสนาใดเท่าที่ทราบมาว่าสอนลงในจุดที่เกิดเหตุทั้งหลาย ได้แก่มหาเหตุ คือกิเลสเกิดขึ้นจากใจ ปรุงนั้นปรุงนี้ตลอดเวลา ธรรมะพระพุทธเจ้าระงับดับลงนี้ด้วยจิตตภาวนา ด้วยสติธรรมปัญญาธรรมสอดส่องดู มันคิดเรื่องอะไรต่ออะไรไม่ดีให้ระงับ พอมันคิดเรื่องนั้นไม่ดีอย่าคิดซ้ำ นั่น คิดเรื่องไหนไม่ดี เช่นสมมุติว่าคิดโกรธ คิดเคียดแค้นให้ผู้ใดแล้วมันจะโกรธโมโหโทโสขึ้นทันที มันไม่ได้ว่าอันนี้เป็นเศษเป็นเดนไปแล้วนะ มันจะปรุงขึ้นมาใหม่ อุ่นขึ้นมาใหม่ เผาเจ้าของได้อย่างสด ๆ ร้อน ๆ เพราะฉะนั้น ท่านจึงห้าม มันคิดเรื่องไม่ดีอะไรของบุคคลหรือสัตว์ตัวใดก็ตาม ให้รีบระงับปัดออก เอาความคิดทางดีเข้ามาแทนที่ อันนั้นจะระงับไป ถ้าสืบสาวไปตามมันแล้วมันจะไปใหญ่เลย มันปรุงขึ้นอย่างสด ๆ ร้อน ๆ ไม่มีอดีต ไม่มีของเก่าของแก่นะ ถ้าเป็นความคิดขึ้นมาจากใจของกิเลสบันดาลให้เกิดขึ้นมา หรือผลักดันให้เกิดขึ้นมาแล้วจะสด ๆ ร้อน ๆ ทั้งนั้น เพราะฉะนั้นจึงควรให้มีจิตตภาวนาบังคับใจเรา เรื่องกระแสของกิเลสภายในใจนี้รุนแรงมากนะ ยิ่งผู้ไม่เคยภาวนาเลยนี้ พอเอาคำบริกรรมจ่อเข้าไปมันจะปัดตกห้าทวีปนะ มันรุนแรงมากขนาดนั้นพลังของกิเลส พอเราเอาพุทโธนี่จะระงับมันนะ มันจะปัดทันทีแล้วมันจะพุ่ง ๆ ของมันไปเรื่อย ๆ นี่เบื้องต้นแรงมากนะ เอาจนตั้งสติไม่อยู่ พอตั้งปั๊บล้มผล็อย ๆ ล้มผล็อยก็พุ่งออกทางกิเลสนะ เมื่อทางธรรมะคือคำบริกรรมหรือสติธรรมตั้งพับนี้ล้มทันทีๆ นี่เวลากระแสของกิเลสมันรุนแรงอยู่ที่ใจเรา มันเกิดที่ใจ กิเลสอย่าไปหาต้นไม้ภูเขาที่ไหนไม่มี ให้ดูที่ใจ แล้วระงับกันที่ใจด้วยธรรม ธรรมก็มีที่ใจเช่นเดียวกัน เมื่อระงับอันนี้แล้วจิตของเราจะค่อยสงบ ๆ เอาให้ได้นะ เวลาเด็ดต้องเด็ด กิเลสมันเด็ดเราต้องเด็ด แล้วเห็นเหตุเห็นผลกัน คราวหลังเราก็ได้เป็นสักขีพยาน เอ้ามันจะรุนแรงขนาดไหน ช้างนี่เหนือขอไปไม่ได้ ว่างั้นเถอะน่ะ ต้องยอมจำนนต่อขอ กิเลสมันจะหนาแน่นขนาดไหน จะเหนือธรรมไปไม่ได้ มันจะยอมจำนนต่อธรรมจนได้ สุดท้ายก็สงบได้ นี่ละการระงับดับความฟุ้งซ่านวุ่นวาย ซึ่งเป็นตัวก่อทุกข์ให้เราเอง ให้ระงับที่ใจด้วยจิตตภาวนา แล้วให้ระมัดระวัง ถ้ามันคิดเรื่องอะไรไม่ดีอย่าเสริมมัน ให้หักทันที คิดนั้นไม่ดี คิดเรื่องนี้ไม่ดีให้ระงับทันที ดับทันที อย่าไปสืบต่อแล้วมันจะลุกลามไปใหญ่นะ ให้เอาธรรมเข้าแทนเป็นน้ำดับไฟๆ นี่เรื่องของการระงับดับความวุ่นวายความทุกข์ทั้งหลายที่เกิดมาในหัวใจของสัตว์โลก เฉพาะอย่างยิ่งหัวใจเราแต่ละคน ๆ ให้เอาธรรมนี้ไประงับ มีสติ ต้องฝืนนะ เวลาระงับนั้นมันฝืนกันอย่างเต็มที่ เพราะกิเลสมีกำลังมากกว่าจะเอาธรรมให้ตก ๆ เรื่อย ๆ นะ แต่ธรรมก็สู้ไม่ถอย สุดท้ายตั้งได้ ต่อไปธรรมตั้งได้แล้วเอากิเลสล้มได้ ล้มได้จนกระทั่งกิเลสหมดไป ๆ สุดท้ายกิเลสพังหมด _____________
(หวังในธรรมนี้คงเป็นประโยชน์ในจิตใจของคุณได้ในขั้นธรรมต่อไปจากเทศน์ของหลวงตาข้างต้น ซึ่งทุกแง่มุมของจิตตภาวนาท่านได้เมตตาสอนให้เราได้น้อมไปพิจารณาและปฏิบัติตาม ให้เป็นผลประจักษ์ด้วยตนเอง)
|
|
|