|
/SCRIPT LANGUAGE="javascript1.1" page="dhamma_online";
/SCRIPT LANGUAGE="javascript1.1" src="http://truehits1.gits.net.th/data/e0008481.js">
|
|
|
คำถาม
|
|
โดย : เศษใบบัว ถามเมื่อวันที่
6 ก.ย. 2546 |
พิจารณาลมหายใจรู้สึกว่าจิตมีพลังมหาศาล
ขอโอกาสกราบนมัสการเรียนถาม คืนหนึ่งกระผมนั่งสมาธิแล้วปรากฏว่าจิตได้รวมแล้วกายได้หายไปในขณะนั้น พยายามกระทำตามคำสอนหลวงตาคือพิจารณาลมหายใจ และขณะนั้นมีความรู้สึกว่าจิตนี้มีพลังมหาศาลที่จะประมาณไม่ได้ แต่เป็นจิตที่ยังไม่บริสุทธิ์เพียงแต่บอกให้ทราบว่านี้คือพลังที่ยิ่งใหญ่มาก มีความรู้สึกแปลกใจ อัศจรรย์และกลัวเนื่องจากไม่เคยพบมาก่อน จึงขอกราบเรียนหลวงตา เพื่อขอโอกาสทราบแนวปฏิบัติต่อไปด้วยเพราะในวันนั้นเมื่อเป็นเหตุการณ์เช่นนี้กระผมพยายามประคองจิต และได้ออกจากสมาธินั้นในวันนั้น แต่หลังจากนั้นแล้วนั่งสมาธิระมัดระวังและจิตใจมีความสงบมากขึ้น กราบนมัสการด้วยความเคารพยิ่ง
Sep0646
|
คำตอบ |
|
เมื่อวันที่ 8 ก.ย. 2546 |
เรียนคุณใช้นาม เศษใบบัว หลวงตาได้เมตตาแสดงธรรมตอบปัญหาธรรมของคุณให้ เมื่อเช้าวันที่ ๘ กันยายน ๒๕๔๖ ณ วัดป่าบ้านตาด ดังนี้
หลวงตา : เออ เอาละตอบตรงนี้ละ ถูกต้องแล้ว เอ้าว่าไป ตรงนี้ถูกต้องแล้วเอ้าว่าไป
โยม : พยายามจะกระทำตามคำสอนของหลวงตา คือ พิจารณาลมหายใจและขณะนั้นมีความรู้สึกว่า จิตนี้มีพลังมหาศาลที่จะประมาณไม่ได้ แต่เป็นจิตที่ยังไม่บริสุทธิ์เพียงแต่บอกให้ทราบว่า นี้คือพลังที่ยิ่งใหญ่มาก มีความรู้สึกแปลกอัศจรรย์และกลัวเนื่องจากไม่เคยพบมาก่อน จึงขอกราบเรียนถามหลวงตาเพื่อขอโอกาสทราบแนวทางปฏิบัติต่อไปด้วย เพราะในวันนั้นเป็นเหตุการณ์เช่นนี้กระผมพยายามประคองจิตและได้ออกจากสมาธิในวันนั้น แต่หลังจากนั้นแล้วนั่งสมาธิระมัดระวังและจิตใจมีความสงบมากขึ้น กราบนมัสการมาด้วยความเคารพอย่างยิ่ง
หลวงตา : ที่ทำนั้นถูกต้องแล้ว กำลังนั้นมันเป็นตามนิสัยวาสนาของแต่ละคนที่จะเป็นกำลังมากน้อยจากจิตไม่เหมือนกัน คือกำลังพลังของจิต แต่พลังของจิตที่แก้กิเลสต้องมีพลังเหมือนกันไม่อย่างนั้นแก้กิเลสไม่ตก แต่พลังส่วนอื่นที่เกิดขึ้นจากนิสัยวาสนาของจิตที่ออกไปไม่ใช่การฆ่ากิเลสนะ อย่างนี้ต่างกัน เข้าใจมิใช่เหรอ
พลังของจิตพลังฆ่ากิเลส ของจิตของธรรมฆ่ากิเลสต้องให้รุนแรงเหมือนกันไม่อย่างนั้นแก้ไม่ตก ส่วนพลังอื่นที่เกิดจากไม่เกี่ยวข้องกับการฆ่ากิเลสมันเป็นนิสัยวาสนาอันนี้ต่างกัน ต่างกันมากทีเดียว เป็นกับผู้ใดผู้นั้นก็รู้ตัวเอง จะเอาคนอื่นมาเปรียบมาเทียบไม่ได้อันนี้นะ ต้องเป็นเรื่องของใครของเราเหมาะสมอยู่กับตัวเองทุกคน เหมือนกำลังวังชาของเรามีมากน้อยเราก็รู้ของเราเท่านั้นเองไม่ผิดแปลกอะไร
เราอยากให้พยายามภาวนา มันจะมีกำลังขนาดไหน ขอให้วางหลักลงในจุดที่ภาวนาให้ดี อันนี้อย่าปล่อยหลักใหญ่นะ หลักนี้จะเป็นหลักที่ทรงต้นทรงลำได้กระจายออกไปตลอด กว้างขวางมากน้อยขึ้นอยู่กับหลักที่ยึดไว้ดี เช่น กำหนดอานาปานสติก็อยู่ในจุดนั้นไว้ หากว่ามันจะเขวไปอะไร ๆ เราย้อนเข้ามานี้เสียมันก็ระงับไปหมด นี่หลักยุติเข้าใจไหม ถ้าเราปล่อยไปตามกระแส กระแสของจิตไม่ได้มีสิ้นสุดง่าย ๆ นะ
นี่ละเรื่องราวที่มันมาสัมผัสกันก็ต้องพูดเพื่อเป็นหลักเกณฑ์ต่อกันนะ เรานี้เองภาวนา มันจะสว่างไสวก็เป็นธรรมดาของมัน ก็อยู่เรื่อย ๆ ประจำจิตประจำนิสัยเราก็รู้แต่ไม่เคยพูดให้ใครฟัง เพราะเป็นเรื่องนิสัย พูดให้ฟังแต่เรื่องกิเลสหนักเบามากน้อยรบกันเมื่อยังเป็นวิธีการยังไงแก้ได้ยังไงไม่ได้ยังไง อันนี้พูดเพราะมีผลต่อกันใช่ไหมล่ะ แต่ส่วนนิสัยวาสนาเกิดขึ้นจากที่ว่ามีความสว่างไสวอย่างนั้นอย่างนี้ มันเป็นเรื่องของบุคคล เรื่องของเรามันก็เป็นมาตั้งแต่เริ่มแรก เราก็ไม่ถือว่าเป็นของสำคัญอะไรเพราะไม่ใช่เรื่องฆ่ากิเลส ปล่อยไปมันก็เกิดของมันไปเรื่อย เหมือนกับต้นลำมัน ต้นลำมีแล้วกิ่งก้านมันก็ออกไปตามเรื่องของมัน เราบำรุงแต่ต้นลำให้ดี กิ่งก้านจะเป็นยังไงมันก็อยู่กับต้นมันแล้ว แน่ะ เป็นอย่างนั้นนะ
นี่ก็หมายถึงว่าความสว่างไสวรู้แปลก ๆ ต่าง ๆ มันก็รู้มันก็เห็นของมันไป เราก็ไม่ค่อยถืออะไรยิ่งกว่าหลักใหญ่ฆ่ากิเลส ทีนี้ทำไป ๆ มันก็สว่างไสว มันเลยมาสะกิดใจแย็บ เอ๊ จิตนี้มันทำไมมันสว่างไสวเอานักหนา เราจะปล่อยความสว่างให้มันพุ่งเต็มที่มันจะเป็นยังไงวะ ทีนี้ก็เลยปล่อย แต่ปล่อยด้วยความระมัดระวังนะ ไม่ได้ปล่อยด้วยความเซ่อ ๆ ซ่า ๆ ไม่ใช่อวดตัว เอ้า ปล่อยลองดูมันจะเป็นยังไง สติปัญญามีอยู่จะคอยดูมัน ควรรั้งหรือควรจะปล่อยขนาดไหนเราเองเป็นผู้ดูแลอยู่ ก็ปล่อย ปล่อยมันก็พุ่งของมันเลยเชียว โอ๋ย.ไปไม่มีขอบเขตไม่มีสิ้นสุด สว่างไสวจ้าขึ้น ๆ ดู พอสมควรเท่านั้นแหละ เอาละที่นี่จะยุติ พอยุติปั๊บจับสายดึงลง ๆ ๆ จิตสติดึงเข้ามา ๆ ๆ เข้าถึงจิตหายเงียบไปเลย ที่มันพุ่ง ๆ แน่ะ ก็อย่างนั้นแหละ ถ้าเรารู้จักวิธีปฏิบัติรักษา
ถ้าไม่รู้ปล่อยมันก็เตลิดเปิดเปิง ดีไม่ดีพาให้เป็นบ้าก็ได้เข้าใจไหมล่ะ คือตื่นเงาเข้าใจไหมมันก็เป็นบ้าละซิ ต้นมันอยู่กับจิต พอย้อนเข้ามาหาจิตเรื่องเหล่านั้นก็ระงับไป นี่เราก็เคยพูดให้ผู้กำกับฟังแล้วมีโอกาส มันเป็นทุกอย่าง สิ่งใดที่ไม่ค่อยเกิดประโยชน์กับโลก รู้เท่าไรก็เหมือนไม่รู้ไม่ชี้ ก็พูดแล้วเรื่องเหล่านี้ใช่ไหมล่ะ เราจะพูดแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ที่เป็นคติเป็นราย ๆ ไป เราก็แนะให้เป็นราย ๆ ไป ถ้าจะเป็นประโยชน์ทั่วไปเราก็แสดงออกเลย เช่น ธรรม เรื่องละชั่วทำดีนี้ทั่ว ๆ ไป สอนทั่วไป ส่วนเป็นเรื่องเฉพาะ ๆ นี้ก็เป็นเรื่องเฉพาะ ส่วนเรื่องที่เป็นเฉพาะตัวเองจริงๆ ไม่ควรเกี่ยวกับใครก็ไม่พูดเหมือนไม่รู้ แน่ะ ก็อย่างนั้นแหละ
เรื่องจิตใจเป็นของเล่นเมื่อไร พิสดารมากทีเดียว เราจึงสอนเสมอสอนเรื่องจิตเรื่องใจ ในโลกอันนี้ไม่มีอะไรกองทุกข์ที่จะมาอยู่ที่ไหน ๆ ไม่อยู่ อยู่ที่ใจดวงเดียว ก็บอกแล้วความทุกข์ครอบโลกธาตุที่จิตมันหมุนออกไปเป็นเงาออกไปนั้น มันสร้างความทุกข์ให้จิตมากขนาดไหน มันอยู่ที่จิตความทุกข์ ทีนี้เมื่อเรื่องเหล่านั้นสงบมา ความสุขไม่มีอะไรกวน ความสุขก็เกิดขึ้น ฟาดเสียจนหมดความทุกข์ ความสุขอยู่นี้หมดเลย นั่น ก็อย่างนั้นแหละ ถึงบอกว่า รวมทั้งหมดทั้งความสุข ความทุกข์ ตั้งแต่หยาบถึงขั้นละเอียดสุดอยู่ที่ใจทั้งนั้นรวมมา ทุกข์มากทุกข์น้อยลงที่ใจหมด หมดทุกข์โดยสิ้นเชิงแล้วบรมสุขขึ้นก็อยู่ที่ใจ นั่น เข้าใจกันไม่ใช่เหรอ
(ทีมงานขออนุโมทนาในธรรมภาวนาของคุณมา ณ ที่นี้)
|
|
|