คำถาม 
โดย : name ถามเมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2546

ทำอย่างไรผู้ปฏิบัติธรรมจึงสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้

กราบนมัสการหลวงตาที่เคารพอย่างสูงสุด ลูกมีเรื่องขอกราบเรียนถามในเรื่องการปฏิบัติ คือลูกมีความสนใจในเรื่องของการทำความดี การละความชั่วและการฝึกหัดทำจิตใจให้บริสุทธิ์มานาน แต่ก็เป็นการปฏิบัติตามความเข้าใจของตนเองจากการอ่านหนังสือ และฟังเทศน์ของครูบาอาจารย์บ้างเป็นครั้งคราว ลูกก็ได้นั่งสมาธิ เดินจงกรม รักษาศีลตามกำลังของตนเป็นระยะๆตามความเหมาะสม ต่อมาได้มีโอกาสไปเรียนต่อต่างประเทศ เมื่อกลับมาแล้วก็ย้ายไปทำงานในสาขาที่เกี่ยวข้องซึ่งเป็นงานที่หนักและเครียดพอควร แต่ลูกก็ยังไม่ทิ้งเรื่องการปฏิบัติ เมื่อมีโอกาสก็จะมากราบและรับฟังเทศน์หลวงตา หรือไม่ก็จะอ่านธรรมะของหลวงตาจากอินเตอร์เน็ต แล้วก็นำไปปฏิบัติตามความเข้าใจของตน 
ต่อมาลูกมีเหตุให้ต้องลาออกจากงาน อาจจะเนื่องมาจากความเครียด ก็ทำให้ที่บ้านคือคุณพ่อและคุณแม่ต้องเครียดไปด้วย เพราะต้องตกงานมาอยู่ที่บ้าน แต่สำหรับลูกแล้วการมาอยู่ที่บ้านก็รู้สึกว่าเป็นโชคดีที่จะได้อ่านหนังสือธรรมะและมีเวลาปฏิบัติบ้าง ลูกก็ใช้เวลาไปกับการอ่านหนังสือธรรมะและนั่งสมาธิภาวนา เกิดความรู้สึกซาบซึ้งในธรรมะของพระพุทธเจ้าจนน้ำตาไหลหลายครั้ง ส่วนเรื่องสมาธิ บางครั้งก็เกิดความสงบจนไม่รู้สึกง่วงนอนเลย บางครั้งก็เกิดความรู้ความเห็นในเรื่องต่างๆทั้งที่เกี่ยวกับตนเอง และคนรอบข้างไปต่างๆนานาจนสุดจะประมาณได้ เช่นบางครั้งเห็นเงาดำหรือสิ่งที่รู้สึกว่าจะทำให้เกิดอันตรายกับตนอยู่ในคนและในสิ่งต่างๆรอบตัว จนทำให้มีพฤติกรรมที่คนทางบ้านมองว่าแปลก และเขาคิดว่าเกิดจากความเครียดจึงนำตัวส่งโรงพยาบาล ซึ่งลูกก็เข้าใจความหวังดีของทางบ้าน นอกจากนี้คุณพ่อคุณแม่ยังคิดว่าอาจจะเกิดจากการปฏิบัติภาวนาที่ผิดวิธี ทำให้จิตวิปลาสไปเป็นครั้งคราว คุณพ่อคุณแม่ของลูกจึงขอให้ลูกกราบเรียนถามหลวงตาดังนี้
1. สิ่งที่เกิดกับลูกอันได้แก่ บางครั้งก็เกิดความรู้ความเห็นในเรื่องต่างๆทั้งที่เกี่ยวกับตนเองและคนรอบข้างไปต่างๆนาๆ และลูกมีการปฏิบัติบางสิ่งบางอย่างที่คนทางบ้านมองว่าแปลกๆไปนั้น เป็นสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นได้กับผู้ที่ปฏิบัติภาวนาใช่หรือไม่ และหากเกิดขึ้นแล้ว จะมีวิธีแก้ไขอย่างไร ขอหลวงตาได้โปรดให้คำชี้แนะด้วยค่ะ
2.การสอนปฏิบัติภาวนาของครูบาอาจารย์สายต่างๆ ที่สอนแตกต่างกัน เช่นบางท่านสอนว่าเมื่อนั่งสมาธิภาวนา ให้กำหนดอานาปานสติคือดูที่ลมหายใจ แต่ครูบาอาจารย์บางท่านก็สอนว่าเมื่อนั่งสมาธิภาวนา ให้กำหนดสิ่งที่มีความเคลื่อนไหวในร่างกายเช่นท้องที่พองหรือยุบ เพื่อให้เห็นความเกิดดับของรูปนามเป็นต้น การปฏิบัติภาวนาทั้งสองแบบนี้มีจุดมุ่งหมายอย่างเดียวกันหรือไม่ และผู้ปฏิบัติจะพึงทราบได้อย่างไรว่าการปฏิบัติแบบใดจะเหมาะสมกับตน
3.ทำอย่างไรผู้ปฏิบัติธรรมจึงจะสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้โดยไม่ถูกเบียดเบียน เช่นถูกกล่าวหาว่าวิปลาส หรือบางครั้งเมื่อต้องลาไปวัดเพื่อปฏิบัติรวมเป็นครั้งคราว ก็จะถูกมองว่าแปลก เป็นต้น ขอหลวงตาได้โปรดเมตตาให้คำแนะนำทั้งแก่ผู้ปฏิบัติธรรม และผู้ที่ไม่ได้สนใจปฏิบัติธรรม แต่ยังต้องทำงานร่วมกัน หรือยังต้องอยู่รวมกันในครอบครัวค่ะ
กราบนมัสการมาด้วยความเคารพสูงสุด

Aug2646

คำตอบ
เมื่อวันที่ 28 ส.ค. 2546

เรียนคุณname
หลวงตาได้เมตตาแสดงธรรมตอบปัญหาธรรมของคุณให้
เมื่อเช้าวันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๔๖ ณ วัดป่าบ้านตา ดังนี้

หลวงตา     :     อันนี้เราค่อนข้างจะเชื่อพ่อกับแม่กับคนอื่นมากกว่าตัวของผู้ภาวนา มันอาจจะวิปริตไปอย่างที่เขาว่านะ เพราะจิตใจมันเป็นไปได้ มันไม่ตั้งไปตามแนวธรรม มันแฉลบออกไป ๆ จนเป็นกิริยาที่คนอื่นเขาจับได้ ถ้าพูดภาษาเราก็เรียกว่าเขาตำหนิเอาได้ อยากจะให้แก้ไขหรือว่าผิด การภาวนาแล้วจะไม่เป็นอย่างนี้ อยากให้หยุดจากภาวนาเสียอย่างนี้ก็เป็นได้ เราควรพิจารณาตามคุณพ่อคุณแม่มากกว่า แล้วการภาวนาสำหรับหลวงตาไม่ห้าม แต่ห้ามไม่ให้คิดออกว่าคนนั้นไม่ดีอย่างนั้น คนนี้ไม่ดีอย่างนี้ ให้ดูตัวจิตตัวคิดตัวปรุงนี้มันตัวไม่ดีอยู่ที่นี่ ให้มีสติดูตัวเองมากกว่าจะไปดูคนรอบข้างเข้าใจไหม อย่างนี้จะดี พอเข้าใจแล้วไม่ใช่เหรอ เอ้า ข้อต่อไป
โยม            :     ข้อสอง การสอนปฏิบัติภาวนาของครูบาอาจารย์สายต่างๆ ที่สอนแตกต่างกัน เช่นบางท่านสอนว่าเมื่อนั่งสมาธิภาวนา ให้กำหนดอานาปานสติคือดูที่ลมหายใจ แต่ครูบาอาจารย์บางท่านก็สอนว่าเมื่อนั่งสมาธิภาวนา ให้กำหนดสิ่งที่มีความเคลื่อนไหวในร่างกายเช่นท้องที่พองหรือยุบ เพื่อให้เห็นความเกิดดับของรูปนามเป็นต้น การปฏิบัติภาวนาทั้งสองแบบนี้มีจุดมุ่งหมายอย่างเดียวกันหรือไม่ และผู้ปฏิบัติจะพึงทราบได้อย่างไรว่าการปฏิบัติแบบใดจะเหมาะสมกับตน

หลวงตา     :     เอ้า พักไว้ก่อน การสอนของครูบาอาจารย์ก็สอนเพื่อผู้ฟังนำไปปฏิบัติ คือครูบาอาจารย์บางองค์ท่านก็หนักไปตามจริตนิสัยของท่าน แล้วสอนคนอื่นไปตามจริตนิสัยของท่านก็ได้ บางองค์ก็สอนไปได้ทั่ว ๆ ไป ตามแต่ผู้เข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น หมอผู้เชี่ยวชาญกับหมอที่ไม่เชี่ยวชาญ จะเรียกว่าหมอด้วยกันก็ตาม แต่ความเฉลียวฉลาดรอบคอบ ทั้งเกี่ยวกับเรื่องโรค เรื่องภัย เรื่องหยูกเรื่องยานี้ หมอผู้ชำนาญกว้างขวางมากกว่า อันนี้การแนะนำสั่งสอนของครูบาอาจารย์ทั้งหลาย ครูบาอาจารย์มีความกว้างขวางและคับแคบต่างกัน ส่วนนิสัยวาสนาหรือความรู้นั้นมีความต่างกัน อันนี้เราอย่าถือมาเป็นประมาณนัก ให้เราถือเอาว่า เราภาวนายังไงถูกกับจริตของเราซึ่งอยู่ในวงแห่งธรรม เช่น อานาปานสติ ก็ถูกอยู่แล้ว กับอะไรอีก ให้พิจารณาอะไรอีก

โยม           :     พองหรือยุบครับ

หลวงตา     :     เออ ๆ อันนี้ก็ถูกเหมือนกัน คือพองหรือยุบก็หมายถึงลมหายใจ อานาปานสติ ยุบหนอพองหนอนี้ก็ถูกเพราะเกี่ยวกับเรื่องลมหายใจ ลมหายใจนี้ก็เกี่ยวกับเรื่องร่างกายในองค์อริยสัจ ถูกเหมือนกัน แต่เราจะนำไปปฏิบัตินั้นให้เป็นเรื่องเราชอบตามนิสัยของเราที่อยู่ในวงแห่งความถูกต้องของธรรม เข้าใจไหม เช่น ยุบหนอพองหนอก็ถูก อานาปานสติก็ถูก หรือ พุทโธ ธัมโม สังโฆ ก็ถูก อัฐิ ๆ ก็ถูก นี่จะตายเร็ว ๆ นี่นะจะมามัวเมาเพลิดเพลินหาตั้งแต่อันนั้นจะได้ อันนี้จะดี อันนั้นจะมั่งจะมี นี้มันจะตายเหมือนเขานะ รู้ตัวแล้วยัง อันนี้ก็ถูก เข้าใจไหม เตือนเจ้าของหลายแบบหลายฉบับถูกต้องทั้งนั้น อันนี้แล้วแต่เขาจะพิจารณาแบบไหน เอ้า ว่าต่อไปซิ

โยม            :     ข้อสาม ทำอย่างไรผู้ปฏิบัติธรรมจึงจะสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้โดยไม่ถูกเบียดเบียน เช่นถูกกล่าวหาว่าวิปลาส หรือบางครั้งเมื่อต้องลาไปวัดเพื่อปฏิบัติรวมเป็นครั้งคราว ก็จะถูกมองว่าแปลก เป็นต้น ขอหลวงตาได้โปรดเมตตาให้คำแนะนำทั้งแก่ผู้ปฏิบัติธรรม และผู้ที่ไม่ได้สนใจปฏิบัติธรรม แต่ยังต้องทำงานร่วมกัน หรือยังต้องอยู่รวมกันในครอบครัวค่ะ
กราบนมัสการมาด้วยความเคารพสูงสุด

หลวงตา     :     อันนี้มีส่วนถูกต้อง ที่เขาตำหนิอย่างนั้นอย่างนี้อาจจะไปแสลงหูแสลงตา นอกจากอรรถจากธรรมที่เราปฏิบัติไป กลายเป็นโลกไปเสีย เลยกลายเป็นกิเลสขวางหูขวางตาคนอื่นก็ได้ในการปฏิบัติของเรา ถ้าผู้ปฏิบัติตามอรรถตามธรรมจริง ๆ แล้วจะเก็บความรู้สึกรอบในเหตุการณ์ต่าง ๆ ไม่ควรพูดไม่พูด ไม่ควรแสดงไม่แสดง เช่น อย่างภาวนานี้เหมือนกัน เอ้า ภาวนาเต็มเม็ดเต็มหน่วยตลอดเวลา เวลาเข้าอยู่กับหมู่กับเพื่อนเขาเป็นลิงก็เป็นลิงกับเขาไปเสีย ลิงแบบพระ เอ้า ยกตัวอย่างนี้เราเคยเป็นมาแล้วนี่นะ เขาเป็นลิงเราเป็นลิงแต่ลิงแบบพระนะ ไม่ใช่ลิงแบบนั้น เขาเป็นอะไร ๆ มีตลกคะนองกันบ้างในวงของพระนั่นละ ก็เป็นกับเขาไปเสีย แต่ภายในไม่ให้เขารู้อย่างนี้ก็ได้ ถ้าเราไป ยี้ อย่าทำอย่างนั้นซี ข้าทำภาวนาอย่างนี้ ๆ นี่ขวางแล้วนะ เข้าใจไหม นี่มันขวางเขา ก็เก็บความรู้สึกไว้ดูอากัปกิริยาของเขา ก่อนอื่นต้องดูอากัปกิริยาของจิตของเราว่าคิดไปในแง่ในใดบ้างเขาถึงตำหนิ ถึงขวางหูขวางตาเขา มันอาจจะมีส่วนผิดบ้าง เราต้องคิดอย่างนี้จึงเรียก นักภาวนาเข้าใจไหม 

(ทีมงานขออนุโมทนาความตั้งใจในธรรมปฏิบัติของคุณ และโปรดอ่านธรรมะหลวงตาเพิ่มเติมได้ในเว็บไซด์นี้ค่ะ)

<< BACK

 


หน้าแรก