|
/SCRIPT LANGUAGE="javascript1.1" page="dhamma_online";
/SCRIPT LANGUAGE="javascript1.1" src="http://truehits1.gits.net.th/data/e0008481.js">
|
|
|
คำถาม
|
|
โดย : กวิน ถามเมื่อวันที่
13 ส.ค. 2546 |
ล่วงละเมิดศีลห้าจะเป็นผลเสียต่อการปฏิบัติธรรมอย่างไร
เกล้ากระผมได้อ่านเทศน์ของหลวงตา ในเรื่องการอธิษฐานเข้าพรรษาแล้ว เลยน้อมนำมาพิจารณา ก่อนหน้านี้ก็ได้อธิษฐานจะรักษาศีลห้าอย่างเข้มงวดตลอดช่วงพรรษานี้ พร้อมทั้งไหว้พระสวดมนต์ทุกวัน แต่เรื่องศีลห้านี้แรกๆ ตัวสติมันตามทันทุกเวลา ศีลมันก็สมบูรณ์ดี ทรงอยู่อย่างนั้นได้อยู่เกือบสัปดาห์ สติมันก็เริ่มตามไม่ทัน กิเลสมันละเอียดลงๆอย่างที่พ่อแม่ครูอาจารย์ได้ว่าไว้ มันก็เลยเสียทีให้กิเลส ล่วงละเมิดศีลห้าไปจนได้ ส่วนมากจะเป็นข้อ มุสาวาท เพราะเกล้ากระผมชอบพูดเล่นพูดหยอกล้อเพื่อนฝูงอยู่เรื่อย ด้วยถือว่าเป็นเรื่องสนุก จึงเริ่มติดเป็นนิสัย เลยล่วงละเมิดเข้าให้ ทีนี้บทจะภาวนาจะพิจารณาอะไรๆ เรื่องเหล่านี้มันก็มาก่อมากวนอยู่เรื่อยไป ทำอะไรมันก็เข้ามาทำให้ปฏิบัติไม่ค่อยได้ ไม่ทราบว่าจะเกิดผลเสียขนาดไหนต่อการปฏิบัติ จะแก้ไขได้อย่างไร ถ้าจะภาวนาเพื่อสู้กิเลสไปเรื่อยๆ จะเป็นผลเสียหรือผลดี เกล้ากระผมอยากให้พ่อแม่ครูอาจารย์ช่วยชี้แนวทางให้ด้วย สำหรับเรื่องที่ได้เรียนถามมาก่อนนี้เรื่องภาวนาโดยไม่ใช้คำบริกรรม ซึ่งพ่อแม่ครูอาจารย์ได้กรุณาอบรมให้ใช้คำบริกรรมก่อน กับเรื่องการพิจารณาเกสาซึ่งได้รับอุบายให้ไปขยันพิจารณา มีบ้างแค่รวมลงอยู่เป็นขณิกะ ไม่เคยรวมลงถึงอุปจาระ อัปปณาเลยแม้แต่ครั้งเดียว เพราะยังไม่ได้จริงจังเท่าที่ควรเหมือนแต่ก่อน ทั้งนี้พ่อแม่ครูอาจารย์มีอุบายในการปฏิบัติต่อไปอย่างไรในช่วงเข้าพรรษานี้ ควรน้อมนำธรรมอะไรมาอธิษฐานเป็นเครื่องอยู่ก็ขอความเมตตาด้วยเถิดครับ
Aug1346
|
คำตอบ |
|
เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2546 |
เรียนคุณกวิน หลวงตาได้เมตตาแสดงธรรมตอบปัญหาธรรมของคุณให้ เมื่อเช้าวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๔๖ ณ วัดป่าบ้านตาด ดังนี้
หลวงตา : ก็เจ้าของผิดพลาดก็รู้แล้วว่าความเหลิงเจิ้งของเจ้าของ ไม่ระมัดระวัง ก่อนที่ระวังมันก็ดีอยู่นั่น ทีนี้พอเจ้าของอ่อนลง ๆ คือกำลังของธรรมอ่อนลง กำลังกิเลสก็ตีเข้ามาทำให้เกิดความเสียหายไปเรื่อย ๆ ถ้าปล่อยไปเท่าไรก็เสียหายหมดทุกข้อในศีลนั่นแหละไม่มีเหลือ และเสียหายหมดตัวเลยเข้าใจ มีเท่านั้นเหรอ
โยม : มีอีกครับ เขาบอกสำหรับเรื่องที่ได้กราบเรียนถามเมื่อก่อนนี้เรื่องภาวนาโดยไม่ใช้คำบริกรรม ซึ่งหลวงตาได้กรุณาเมตตาให้คำสั่งสอนไป เกี่ยวกับเรื่องพิจารณาเกศาซึ่งได้รับอุบายให้ไปขยันพิจารณา ก็มีบ้าง แต่รวมลงอยู่เป็นขณิกะ ไม่เคยรวมลง อุปจาระหรือ อัปปนาเลยแม้แต่ครั้งเดียว เพราะยังไม่ได้จริงจังเท่าที่ควรเหมือนแต่ก่อน ทั้งนี้หลวงตามีอุบายในการปฏิบัติต่อไปอย่างไรในช่วงพรรษานี้ ควรน้อมนำธรรมะเข้ามาอธิษฐานเป็นเครื่องอยู่
หลวงตา : เอาแค่นี้เสียก่อน ที่สอนไว้นี้ก็ขอให้ปฏิบัติได้เสียก่อน อย่าเอามากรู้ยิ่งกว่าครูเข้าใจไหม เวลานี้พูดไปดูเหมือนจะแซงหน้าครูไปแล้ว มันจะเป็นอาจารย์ใหญ่แล้วนั่น เข้าใจ
นี่ละการภาวนาฟังซิ ที่พูดมาคนเบื้องต้นนั่นละ เห็นได้ชัดเลย นี่ละการฝึกตัวเอง คือจิตเป็นของฝึกได้ ถ้าฝึกไม่ได้พระพุทธเจ้าเป็นศาสดาไม่ได้ เพราะไม่ได้ฝึกหรือฝึกไม่ได้ นี่ฝึกได้จนถึงขั้นเป็นศาสดาประกาศธรรมสอนโลกก็เป็น สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ ธรรมมีอยู่ในจิตของโลกทั่ว ๆ ไป เพราะธรรมพระพุทธเจ้าที่ได้มาจากการฝึกฝนอบรม เราจะอยู่เฉย ๆ ไม้ซุงทั้งท่อนนี้มันจะเนื้อดีขนาดไหนเนื้อแข็งขนาดไหนมันก็เป็นไม้นั้น ๆ อยู่อย่างนั้นไม่เกิดประโยชน์ ต่อเมื่อมาเจียระไนเอามาเลื่อยมาสิ่วมาไสกบลบเหลี่ยมทำปลูกบ้านสร้างเรือนเราเห็นทั่วไปเป็นยังไง นี่แปรรูป มันจะดีขนาดไหนต้องเอามาดัดแปลงให้เต็มภูมิของมัน แน่ะ
อันนี้เราก็เหมือนกัน ชื่อแต่ดีเฉย ๆ ไม่ได้เรื่องนะ อย่างในเรือนจำมีทุกแบบ ชื่อของเขาชื่อเดิมเขามีมา เวลาไปติดคุกติดตะรางชื่อเดิมมันก็ติดไปด้วย บางคนนางสวรรค์ นายพรหม พรหมหีพ่อหีแม่มึงยังไงมึงติดคุกละซิเข้าใจไหม สวรรค์ก็สวรรค์หีพ่อหีแม่มันอะไรก็ไม่รู้มันมาติด สวรรค์ของผู้อื่นไม่เห็นได้ยินว่าเทวดาทั้งหลายไปติดคุกติดตะราง ไอ้สวรรค์อันนี้มันทำไมมาอยู่ในตะราง มันสวรรค์บ้าอะไรก็ไม่รู้เข้าใจไหม เอาละ เอาแค่นี้ก่อน
(ทีมงานขออนุโมทนาในธรรมปฏิบัติของคุณมา ณ ที่นี้)
|
|
|