|
/SCRIPT LANGUAGE="javascript1.1" page="dhamma_online";
/SCRIPT LANGUAGE="javascript1.1" src="http://truehits1.gits.net.th/data/e0008481.js">
|
|
|
คำถาม
|
|
โดย : ศิษย์ผู้ไม่ยอมจืดจางในธรรม ถามเมื่อวันที่
25 ก.ค. 2546 |
เหมือนมีธรรมเครื่องหักห้ามในจิต
น้อมกราบรบกวนเรียนถามหลวงตาค่ะ ลูกกำหนดสติอยู่กับคำบริกรรมตามที่หลวงตาสอน เมื่อมีเรื่องราวก่อกวนจิตจะกำหนดสติและคำบริกรรมตัดเครื่องกวนจิตนั้นออก และใช้ปัญญากรองเรื่องราวนั้น ๆ ช่วยตัดปัญหาที่เกิดขึ้นได้เป็นเรื่อง ๆ เป็นระยะ ๆ ไป และที่รู้เริ่มรู้สึกได้ชัดคือเหมือนมีธรรมเครื่องหักห้ามอยู่ในจิต เหมือนเป็นความรู้สึกในธรรมมาเตือน เช่น อยากซื้อของฟุ่มเฟือยตามใจชอบก็มีความรู้สึกในธรรมขึ้นมาหักไว้ มันก็มีเหตุผลห้ามไม่ให้เราซื้อตามใจชอบ บางทีรู้สึกท้อ รู้สึกโกรธก็จะมีความรู้สึกเป็นธรรมมาหักห้าม และทำให้มีกำลังใจภาวนาและทำกุศลต่อไป คือไม่เป็นเสียง ไม่เป็นประโยคมาเตือนนะคะ แต่คล้าย ๆ เป็นความรู้สึกของธรรม ลูกเลยเอาเหตุผลที่ความรู้สึกในธรรมนั้นมาหักห้ามไว้มาเทียบกับกิเลสที่พาเราให้โกรธ ให้เราซื้อของฟุ่มเฟือยตามใจชอบ จึงแน่ใจว่าเป็นผลของการภาวนา เป็นธรรมท่านมาหักห้ามไว้ให้เรา อย่างนี้ผิดถูกประการใดขอเมตตาหลวงตาด้วยเจ้าค่ะ ปัจจุบันลูกก็พยายามกำหนดสติและคำบริกรรมพุทโธ พยายามไม่ให้คลาด เรื่องหนัก ๆ ต้องฝืนหนักเหมือนหลวงตาเมตตาสอน มันเหมือนเพิ่มความเร็วในการหักห้ามเรื่องที่มาก่อกวนใจได้เร็วขึ้นค่ะ กราบนมัสการมาด้วยความเคารพเหนือเกล้า
Jul2546
|
คำตอบ |
|
เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2546 |
เรียนคุณใช้นาม ศิษย์ผู้ไม่ยอมจืดจางในธรรม หลวงตาได้เมตตาแสดงธรรมตอบข้อธรรมปฏิบัติของคุณให้ เมื่อเช้าวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๔๖ ณ วัดป่าบ้านตาด ดังนี้
หลวงตา : ที่ถามมานี้ถูกต้องด้วยกันทั้งหมดนะ ไม่ว่าปัญหาแง่ใดมุมใดที่รวมในนี้ การหักห้ามของธรรมหักห้าม เช่น ห้ามความฟุ่มเฟือย เป็นต้น นี้เรียกว่าถูกต้องโดยลำดับ อย่างอื่นก็ควรจะพิจารณาอย่างนี้เหมือนกัน ต้องมีหักมีห้ามอย่างว่า บางทีหงุดหงิดโกรธก็มี เห็นไหมล่ะกิเลสมันแสดง กิเลสโกรธให้ธรรม ธรรมโกรธกิเลสไม่เป็นโทษนะ แต่กิเลสโกรธให้ธรรมนี้เป็นโทษแก่เจ้าของ ถ้าธรรมของเจ้าของโกรธให้กิเลสนี้ไม่เป็นโทษ จำเอานะ ดังที่เคยพูดแล้วว่า คำว่าความโกรธนี้ถือว่าเป็นกิเลส เมื่อไม่แยก แล้วส่วนมากจะไม่แยกกันนะ เมื่อแยกแล้วความโกรธให้วัตถุ หรือบุคคลใดก็ตามสัตว์ตัวใดก็ตาม เรียกว่ากิเลสทั้งนั้น แต่โกรธให้กิเลสของตัวเองนี้กลายเป็นธรรมไป คือโกรธให้กิเลสเกิดภายในตัวของตัวเอง หักห้ามกัน โกรธกัน เคียดแค้นให้กัน อันนี้เรียกว่าเป็นธรรม พากันเข้าใจ
ดังที่ปัญหาเขาถามนี้ถูกต้องแล้ว ต้องมีการหักห้ามกันอย่างงั้น กิเลสกับธรรม โลกชาวพุทธเรารู้ได้เมื่อไรวะ แม้แต่นักบวชเราอยากจะว่ารู้ไม่ได้ถ้าไม่ปฏิบัติ เอาจุดนี้นะ กิเลสกับธรรมๆ กิเลสเป็นยังไง ธรรมเป็นยังไง เมื่อไม่มีภาคปฏิบัติมันก็อ่านเป็นความจำ ทั้งกิเลสทั้งธรรมเป็นความจำ ๆ และลอย ๆ ไปเลย ผลที่จะได้เป็นประโยชน์ไม่มี สุดท้ายกิเลสเอาไปกินเงียบ ๆ กิเลสได้เปรียบตลอด คำว่าธรรม คำว่ากิเลส ท่านทั้งหลายจำเอานะ คือใจเป็นจุดศูนย์กลางของกิเลสและธรรม กิเลสจะเกิดอยู่ที่ใจของเรา เหมือนสนิมเกิดขึ้นที่เหล็ก แล้วกัดเหล็ก แต่เหล็กนั้นเสียหายไปจนกระทั่งฉิบหายไปได้เลย เพราะสนิมกัด ส่วนกิเลสกัดจิตนี้ไม่ฉิบหาย แต่ได้รับความลำบากทรมาน ต่างกันตรงนี้ คือจิตนี้ไม่ยอมฉิบหาย
เมื่อถูกกิเลสบีบบี้สีไฟได้รับความทุกข์ความลำบากมากน้อยเพียงไร ยอมรับว่าได้รับความทุกข์ลำบากมากน้อยเพียงนั้น แต่ไม่ยอมฉิบหาย จึงเทียบว่ากิเลสนี้เหมือนสนิม เกิดจากเหล็กกัดเหล็ก กิเลสเกิดขึ้นจากใจกัดใจ ทรมานใจ ต่างกันแต่เพียงว่า ใจไม่มีคำว่าฉิบหาย จะทุกข์ทรมานขนาดไหนก็ตามยอมรับว่าทุกข์ แต่ไม่ฉิบหายคือใจ นี่ที่ว่าเป็นอมตะ อมตธรรม อมตธาตุ คืออันนี้เอง ชาวพุทธเราไม่รู้กิเลส ไม่รู้ธรรม ซึ่งอยู่ในหัวใจของตัวคนเดียวกันนั้นแหละ อยู่ของเราคนเดียว ทุก ๆ คนเป็นแบบเดียวกัน นี่ที่ไม่ได้ศึกษามันเสียกันตรงนี้ คือไม่ได้มีภาคปฏิบัติ ศึกษาเฉย ๆ ก็เลยเพิ่มกิเลสเข้าไปอีก เพิ่มสนิมให้กัดเหล็กเข้าไปอีก
การศึกษานี้ความจำเฉย ๆ ถ้าไม่มีจิตฝักใฝ่ในการจะปฏิบัติแก้ไขดัดแปลงตามข้อศึกษามาแล้วไม่เกิดประโยชน์ เรียนโลกเหมือนกัน เรียนธรรมเหมือนกัน เรียนมาสักเท่าไรรวมยอดออกมาแล้วเป็นพวกนักวิชาการด้วยกันทั้งนั้น ทั้งทางโลกทางธรรม นักวิชาการ แต่หาตนหาตัวที่จะไปเป็นประโยชน์ไม่ได้ ก็กลายเป็นโม้น้ำลายไป สอบได้ชั้นนั้นชั้นนี้ กิเลสมันพองตัวนะ ชั้นนั้นชั้นนี้ก็ว่าเอาลมปากเฉยๆ กิเลสไม่ได้เป็นลมปาก มันเอาจริงเอาจังทุกเวล่ำเวลา ธรรมจะมีแต่ลมปากก็ไม่ทันกับกิเลส
ธรรมต้องจริงจัง มีภาคปฏิบัติตามจับทั้งกิเลสทั้งธรรมให้รู้กัน บนเวทีคือตัวของเราเองเสียก่อน แล้วเข้าไปนั้นก็คือจิตของเรา ซึ่งเป็นที่เกิดของทั้งกิเลสและธรรม นี่ละที่ว่ากิเลสเกิดที่ใจเหมือนสนิมเกิดที่เหล็ก กัดเหล็ก เป็นแต่เพียงต่างกันว่าเหล็กมีฉิบหายได้ ส่วนกิเลสกัดจิตนี้จิตไม่ยอมฉิบหาย ทุกข์ทรมานมากน้อยยอมรับว่าทุกข์ แต่ไม่ยอมฉิบหาย ต่างกันเพียงเท่านั้น แต่มันเกิดขึ้นจากสนิมเกิดจากเหล็ก กิเลสก็เป็นสนิมของใจ เกิดขึ้นที่ใจ กัดใจ แต่ผิดกันที่ว่าใจไม่ยอมฉิบหาย ต่างกันตรงนี้ จึงมีนามว่า อมตจิต อมตธรรม คือใจดวงนี้เอง
เมื่อได้ขึ้นสนามแล้วมันรู้กันนะ แต่ขึ้นสนามเอาจริงเอาจังนะ ทำเหลาะแหละแบบโลเลนี้ก็ใช้ไม่ได้เหมือนกัน เอาแต่ชื่อปฏิบัติมาพูด ภาคปฏิบัติจริงจังไม่มีไม่ได้ ไม่เกิดประโยชน์ พระพุทธเจ้าพระสาวกทั้งหลายจริงทั้งนั้น จนได้เห็นเหตุเห็นผลมาสอนพวกเราอยู่เวลานี้ มีแต่จริงทั้งนั้น ให้พากันทราบเสียว่ากิเลสกับธรรมเกิดที่ใจ ทรมานใจ อารมณ์ของกิเลสที่เกิดขึ้นมันผลักดันนะ นี่ละที่นี่กิเลสมันเกิดขึ้นนี่ เหมือนกับไฟมันเป็นกองขึ้นมา เป็นเปลวขึ้นมา พิษของมันเป็นความร้อนกระจายออกไป เผาแหลก ๆ ๆ
กิเลสก็เกิดขึ้นจากจิต เผาจิตให้ได้รับความทุกข์ความทรมาน โรคความทุกข์ทรมานนี้ใจเป็นที่หนึ่งนะ วัตถุสิ่งนั้นเป็นอารมณ์ของใจไปยุ่งไปกวนเขา แล้วก็กว้านเอาทุกข์มาเผาตัวเอง จากสิ่งเหล่านั้น ๆ ได้มาเสียไป ดีใจ เสียใจ ดีใจมีแย็บนิดเดียว แต่เสียใจมีมากกว่าตลอดไปเลย ให้ทราบเสียว่ามันเกิดจากใจ อารมณ์อันนี้ คือมันทำให้อยากให้หิวตลอดเวลานะ ท่านเรียกว่าสังขาร มันคิดมันปรุง แล้วเป็นสัญญาอารมณ์ต่อสายยาวเหยียดไป สัญญาความจำได้ จำสิ่งนั้นได้ จำสิ่งนี้ได้ก็มาเป็นอารมณ์คิดปรุงกับสิ่งนั้น นี่เรียกว่าสังขาร เรียกว่าสัญญา ที่เป็นกิเลสออกมาจากอวิชชา พูดให้มันยันกันเลย อวิชชาเป็นฐานที่ตั้งของกิเลสทั้งหลายเกิดขึ้นที่นั่น แล้วผลักดันออกมา ออกมาที่นั่น อวิชชาก็เกิดอยู่ที่ใจ หลักใหญ่มันอยู่นี้ จึงเรียกอวิชชา
มันผลักดันให้หิวให้โหยตลอดเวลา นี่ท่านเรียกว่าสังขารส่วนสมุทัย คือสังขารที่เป็นกิเลส ขันธ์ที่เป็นกิเลส เรียกว่าขันธะ แปลว่ากอง แปลว่าหมวด มันเป็นกองของกิเลส เกิดขึ้นที่นี่ ตาเห็นรูปปั๊บ สังขาร สัญญาหมายปั๊บเกิดกิเลสแล้วๆ หูได้ยินเหมือนกัน ได้ยินดีใจ เสียใจ ชอบ ไม่ชอบ มันขึ้นแล้ว ๆ กิเลสขึ้นแล้ว จากการได้เห็น ได้ยิน ได้ฟัง สัมผัสสัมพันธ์ทางตา กิเลสจะออกทำงาน ๆ นี่เวลากิเลสมีอำนาจ เป็นนิสัยของกิเลสที่เป็นพื้นเพอยู่ภายในจิตใจ ทำงานของตนโดยอัตโนมัติ ตัวของเราไม่ทราบเลยว่ามันเป็นกิเลส หรือเป็นอะไร เราก็มีแต่กลิ้งตาม ถูกมันเตะ มันถีบ มันยัน ให้ทราบเสียว่านี่คือกิเลส อารมณ์ของมันเป็นอย่างนี้
เสียใจ ดีใจ เกิดขึ้นจากตัวนี้ ตัวปรุงตัวแต่ง สัญญาถ้าชอบใจก็ดีใจเสีย เป็นสุขแย็บเดียว จากนั้นก็เสียใจไปเรื่อย ๆ นี่คืออารมณ์ของกิเลส มันผลักดันออกมาอย่างนี้ทุกหัวใจ ให้เข้าใจนะ อารมณ์กิเลสที่มันออกทำงาน ออกทำงานอย่างที่เราได้คิดอ่านเรื่องนั้นเรื่องนี้อยู่ตลอดเวลาในใจ กิเลสทำงานตลอดวันนะ เราไม่รู้นะว่ากิเลสทำงานทำยังไง เอานักปฏิบัติจับกัน ถ้าไม่มีนักปฏิบัติจะไม่รู้เลยจนกระทั่งกี่กัปกี่กัลป์ ตายจมตายกองกันอยู่อย่างนี้ เพราะอันนี้หมุนตลอด เตะตลอด เรียกว่ากิเลสทำงานบนหัวใจ ทีนี้แย็บออกมาเป็นธรรมทำงาน ความคิดความปรุงนี้ล้วนแล้วตั้งแต่เป็นฟืนเป็นไฟเผาไหม้ตลอดไป เราจะดับฟืนดับไฟจะดับยังไง ต้องไสเชื้อไฟออก คือพยายามระงับความคิดนั้น
ระงับเฉย ๆ ไม่ได้ ต้องมีเครื่องบังคับกัน นี่ผู้ฝึกหัดเบื้องต้น ให้จำไว้นะ ฝึกหัดระงับคือทำใจให้สงบ สงบเฉย ๆ ไม่ได้ ใจ ต้องมีธรรมเป็นเครื่องสงบ เป็นเครื่องบังคับ เช่น เราอยู่เฉย ๆ ไม่ให้มันคิดไม่ได้ ห้ามมันคิดไม่ได้ให้มันคิดทางด้านธรรม เอาคำบริกรรมเข้ามา เช่น พุทโธเป็นต้น บังคับเข้า ความคิดอันนี้จะบังคับความคิดของกิเลส นี้เป็นความคิดของธรรมบังคับ ถ้ามันอยากคิดมากบังคับมาก ต้องเป็นอย่างนั้น ให้หนัก บีบบังคับไม่ยอมให้คิด เอาอกจะแตกให้แตกดูซิน่ะ ธรรมจะพาจมให้เห็นเสียทีหนึ่งวะ บังคับไม่ให้มันคิด หนักเข้า ๆ ทางนี้มีกำลัง ทางนั้นค่อยอ่อนลงๆ
นี่วิธีฝึกจิตที่มันดีดดิ้นไม่หยุดไม่ถอย เบื้องต้นให้ใช้คำบริกรรมบังคับกันเสียก่อน กิเลสขั้นหยาบต้องเอาธรรมขั้นหยาบใส่กัน ต่อไปนี้ก็ค่อยบังคับเข้าไป ทีนี้ก็มีกำลัง จิตใจมีกำลัง ความคิดความปรุงค่อยอ่อนลง ธรรมนี้ค่อยสืบเนื่องกันไปเรื่อย ๆ ด้วยสติ ๆ และทำใจให้สงบ สงบลงไปเรื่อย ๆ เมื่อสงบหลายครั้งหลายหนเข้าไป จิตก็สร้างฐานแน่นหนามั่นคงขึ้นมา ท่านเรียกว่าสมาธิ เป็นขั้น ๆ อย่างนี้ นี่ละฝึกหรือทรมานกิเลส ชำระกิเลส เราไม่ได้พูดถึงว่าชำระให้เสร็จสิ้นไปเหมือนท่านผู้ตั้งใจปฏิบัติเพื่อมรรคผลนิพพานจริงๆ แต่ให้มีพอบรรเทากันนะ อย่าให้มีแต่กิเลสเผาอย่างเดียว ให้มีน้ำดับไฟคือธรรมเข้าแทรกบ้าง ระงับกันบ้าง พอเป็นพอไป ไม่หนักมากเกินไป
(โปรดอ่านเต็มกัณฑ์ได้ในเทศน์วันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๔๖) (ทีมงานขออนุโมทนาในธรรมภาวนาของคุณ และเป็นกำลังใจให้ก้าวหน้าต่อไปในขั้นภูมิธรรม)
|
|
|