คำถาม 
โดย : พิสิษฐ ถามเมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2546

ให้สติคุมการเดินทางของจิต

กราบเท้าหลวงตา ผมเพิ่งปฏิบัติธรรมสั่งสมาธิประมาณ 2 เดือน ช่วงหลังรู้สึกว่านั่งได้ดีเพราะรู้สึกว่าควรจะทำสมาธิให้พอดี ไม่ย่อหย่อนหรือเคร่งจนเกินไป แต่อย่างไรก็ตามยังนั่งไม่ได้นาน พอจิตอยากจะออกจากสมาธิก็ปล่อยให้ออก ไม่ดื้อดึงว่าจะต้องนั่งต่อไปเรื่อย ๆ เมื่อวานนั่งได้ดีสติก็รู้ว่าจิตอยากจะพิจารณาธาตุขันธ์ แต่สติบอกว่ายังไม่ถึงเวลา ควรให้ปฏิบัติสมาธิให้จิตสงบ และชำนาญมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ จึงกำหนดให้จิตหยุดพิจารณา แต่กลับมาทำสมาธิให้จิตสงบ ซึ่งก็ใช้เวลาระยะหนึ่งจิตถึงจะยอมตามที่สติต้องการ ผมจึงมีความสงสัยเรียนถามหลวงตาว่า ผมควรจะให้จิตดำเนินไปตามที่จิตต้องการ แต่ให้สติคอยควบคุมการเดินทางของจิต หรือให้สติควบคุมจิตตั้งแต่ทีแรก 
ผมขอกราบขอบพระคุณหลวงตาอย่างยิ่ง

Jul1446

คำตอบ
เมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2546

เรียนคุณพิสิษฐ์
หลวงตาได้เมตตาแสดงธรรมตอบปัญหาการเจริญภาวนของคุณให้
เมื่อวันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๔๖ ณ วัดป่าบ้านตาด ดังนี้

หลวงตา     :     จิตต้องการ คือความรู้สึกของจิตคิดยังไงให้เห็นไปตามนั้น ความหมายว่างั้นแหละ เรื่องสติจำเป็นตลอดเวลา

โยม            :    กราบเรียนให้จบก่อนนะครับ ผมควรให้จิตดำเนินไปตามที่จิตต้องการ แต่ให้สติคอยควบคุมการเดินทางของจิตหรือให้สติควบคุมจิตตั้งแต่ทีแรก กราบขอบพระคุณหลวงตาอย่างยิ่ง

หลวงตา     :     ให้ตั้งสติตั้งแต่ทีแรกเลย แม้ไม่ได้ทำสมาธิ เราอยู่เฉย ๆ ก็ให้มีสติกับหน้าที่การงาน ความเคลื่อนไหวของตน ว่าผิด ถูก ชั่ว ดี ประการใด สตินั้นแลเป็นเครื่องตัดสินได้ดี เข้าใจไหม คนไม่มีสติคือคนบ้า มีเท่านั้นแหละ 

โยม            :     ที่เขาถามข้างต้น ที่เขานั่งไม่ได้นาน พอนั่งไปอยากพิจารณาด้านปัญญา แต่สติก็เตือนว่าให้มีสมาธิให้มากก่อน

หลวงตา     :     อันนี้สติใช้ตลอดไป จะเป็นสมาธิ จะเป็นปัญญา สติปล่อยไม่ได้ นี่ออกกันแล้ว รับกันแล้ว การฝึกหัดภาวนาเบื้องต้นมันก็เป็นอย่างนี้ด้วยกันทุกคนนั้นแหละ แต่พยายามด้วยความสนใจ ผิด ถูก ชั่ว ดี มันจะเป็นครูในตัวด้วย เป็นครูจากครูอาจารย์แนะนำสั่งสอนด้วย คือเจ้าของเป็นผิดตรงไหน ถูกตรงไหน เวลามันติดขัดมันหากพิจารณาของมัน แล้วรอดตัวไปได้นะ ไม่ใช่ว่าติดแล้วอยู่เฉย ๆ มันหากมีข้อคิดข้ออ่านพอปลีกออกไปได้ ๆ นี่โดยลำพังตนเอง ถ้าเป็นครูอาจารย์ท่านสอนปั๊บนี่ก็เข้าใจทันทีเลย เพราะท่านผ่านไปหมดแล้ว การฝึกหัดสมาธินี่ 

เราอยากให้ชาวพุทธเราทั่วโลกได้สนใจจิตตภาวนาเป็นพื้นฐานสำคัญแห่งความดีทั้งหลาย ที่เกิดจากวงพระพุทธศาสนาของเรา เช่น การทำบุญ ให้ทาน รักษาศีล ประเภทอย่างอื่นใด ๆ ก็ตาม นี้เรียกว่ากิ่ง ก้าน สาขา ดอก ใบ ของต้นลำอันใหญ่โตได้แก่การภาวนา
คนมีการภาวนาจิตใจมีหลักมีเกณฑ์เป็นลำดับลำดานะ สิ่งเหล่านั้นจะค่อยแน่นหนามั่นคง การให้ทานก็จะหนักแน่นเข้าด้วยการพิจารณาอีกด้วย ละเอียดลออเข้าไป แล้วศีลก็จะค่อยมีขึ้นในตัว ขอให้มีภาวนาซึ่งเป็นหลักใจตัวคึกตัวคะนองนี้บีบบังคับกันไปโดยลำดับด้วยจิตตภาวนาเถอะ จิตตภาวนาเป็นสำคัญมากทีเดียว จึงอยากให้มีการภาวนากัน ศาสนาจะกระจ่างขึ้นที่ใจนะไม่กระจ่างขึ้นที่ไหน จะขึ้นที่ใจ ถ้ามีภาวนาแล้วจะค่อยกระจ่างขึ้น ทั้งดีทั้งชั่วจะรู้กันภายในจิต เพราะจิตนี้เป็นตัวรวมมหาเหตุทั้งดีทั้งชั่วไว้หมด

ทีนี้เวลาเราภาวนา คือเข้าไปหามหาเหตุนี้ เปิดตู้อันนี้ออกมา ดีชั่วจะอยู่ข้างในนั้น สติปัญญาจะรู้จะคัดจะเลือกออกไปเรื่อยๆ เรื่องภาวนาจึงเป็นเรื่องสำคัญมากทีเดียว อยากให้ชาวพุทธเราสนใจภาวนา มันได้ไม่ได้ก็ตาม เรื่องผลเกิดขึ้นจากการภาวนาไม่เสียไปไหนนะ จิตรวมไม่รวมก็ตาม การภาวนาของเรามีผลอยู่ในนั้น ๆ  ซึมซาบอยู่ในนั้นตลอดไปเลย ผลที่เด่นขึ้นมาก็คือรู้นั้นเห็นนี้ จิตใจสงบปัจจุบัน ๆ นี้เป็นอันหนึ่งนะ ที่ไม่สงบมันก็หนุนกันเป็นกำลังไปนั้นแหละ พอควรแก่การสงบมันก็ได้เป็นระยะ ๆ ไป ไม่ใช่ว่าภาวนาจิตไม่สงบไม่ได้ผลนะ ได้ ได้ผลอย่างเงียบ ๆ ซึมกันไป หนุนกันไปเงียบ ๆ ทีนี้พอหนุนกันมากเข้า ๆ ก็หนุนผลให้เด่นขึ้นมาเป็นระยะ ๆ นั่น การภาวนาจึงสำคัญมากทีเดียว 

(ทีมงานอนุโมทนาในความตั้งใจปฏิบัติและเป็นกำลังให้ก้าวขั้นต่อไปในธรรมสำเร็จ)

<< BACK

 


หน้าแรก