คำถาม 
โดย : เทพ ถามเมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2546

หากชอบเดินจงกรมภาวนา การนั่งสมาธิภาวนาไม่ทำได้หรือไม่

กราบนมัสการหลวงตามาเหนือเศียรเหนือเกล้า  
ด้วยกระผมชอบภาวนาโดยการเดินจงกรม มีปัญหาธรรมที่ขอน้อมเรียนถามองค์หลวงตา  ดังนี้
1.ผลจากการเดินจงกรม  เวลาทำงานอย่างอื่น  กำหนดปั๊บเช่นหยิบปากกา  หยิบกระดาษ  หรือเคลื่อนไหวร่างกายอย่างอื่นแล้วมีความสุขทันที และมีสติกำกับพร้อม หรือเดินธรรมดาก็ตาม  อย่างนี้ถูกต้องหรือไม่ครับ 

2.  หากเราชอบภาวนาเดินจงกรม  แล้วเราเร่งเฉพาะการเดินจงกรมการภาวนาอย่างอื่นเช่นนั่งสมาธิจะลดลง หรือไม่ทำเลยได้หรือไม่

3.  การภาวนาแบบการเดินจงกรมสามารถถอดถอนกิเลสได้เร็วช้าอย่างไรบ้างครับ  หลวงตาช่วยอธิบายด้วยครับ

ทั้งนี้แล้วแต่องค์หลวงตาจะมีพระเมตตาตอบเพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ต่อไป

ท้ายนี้ขอองค์พระหลวงตามีเมตตาอยู่เป็นสรณะของชาวพุทธศาสนิกชนต่อไปนาน ๆ เทอญ 

คำตอบ
เมื่อวันที่ 17 ต.ค. 2546

เรียนคุณเทพ
หลวงตาได้เมตตาแสดงธรรมตอบปัญหาการเดินจงกรมของคุณ
เมื่อวันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๔๖ ณ วัดป่าบ้านตาด  ดังนี้

โยม            :     ๑) ผลจากการเดินจงกรมของผมตอนนี้ เวลาทำงานอย่างอื่น กำหนดปั๊บ เช่น หยิบปากกาหรือเคลื่อนไหวร่างกายอย่างอื่นแล้วมีความสุขทันที และมีสติกำกับพร้อม หรือเดินธรรมดาก็ตาม อย่างนี้ถูกต้องหรือไม่ครับ 

หลวงตา     :     ถูกต้องเข้าใจไหม จะว่าจับปากกาต้องมีสติ สติเป็นธรรมอยู่ประจำ ที่ว่าปีติยินดีนั้น ปีติยินดีกับธรรมภายในใจของตัวเอง ไม่ใช่ปีติยินดีเพราะจับปากกา เข้าใจไหม ถ้าจับปากกายินดี ๆ พวกนี้พวกบ้าปากกา มันคงดีไปหมดเข้าใจไหม มันดีด้วยธรรมต่างหากภายในใจ เข้าใจเหรอ ไม่ใช่ดีด้วยปากกา

โยม            :     ข้อ ๒ หากเราชอบการภาวนาเดินจงกรม แล้วเราเร่งเฉพาะการเดินจงกรม การภาวนาอย่างอื่น เช่น นั่งสมาธิจะลดลง หรือไม่ทำเลยได้ไหมครับ 

หลวงตา     :     อันนี้เอาความพอดีของเจ้าของซิ มันควรเดินมากก็เดิน ควรเดินน้อยก็เดิน ควรนั่งมากนั่งน้อยก็ควรทำอย่างนั้นด้วยความมีสติ แล้วเคยเห็นผลทางไหนมากกว่ากันก็ให้หนักในทางนั้น เช่น เดินจงกรมมีผลมากกว่าการนั่ง ก็ให้เดินจงกรมมากกว่า เปลี่ยนให้มีหนักกว่ากันเข้าใจเหรอ อิริยาบถนี้เป็นความเคลื่อนไหวของกาย แล้วจิตมีส่วนด้วยในนั้น

(ทีมงานอนุโมทนาในธรรมภาวนาของคุณมา ณ ที่นี้ และโปรดหาอ่านธรรมะหลวงตาเพิ่มเติมในเว็บไซด์นี้เพื่อขั้นธรรมต่อไป)

<< BACK

 


หน้าแรก