|
/SCRIPT LANGUAGE="javascript1.1" page="dhamma_online";
/SCRIPT LANGUAGE="javascript1.1" src="http://truehits1.gits.net.th/data/e0008481.js">
|
|
|
คำถาม
|
|
โดย : ซิม ลู ถามเมื่อวันที่
17 มิ.ย. 2546 |
จุดประสงค์ของการนั่งสมาธิ
มาจากประเทศนิวซีแลนด์ ข้อหนึ่งว่าที่ประเทศนิวซีแลนด์ มีวัดชื่อโพธิญาณาราม มีเนื้อที่พันกว่าไร่ ตั้งอยู่ในหุบเขา มีป่าแต่ไม่สมบูรณ์ อากาศเย็นจัด ขณะนี้มีพระจำพรรษาอยู่สองรูป มีคนเล่าว่าถึงความเพียรของพระฝรั่งสองรูป ว่าเคยธุดงค์จากเหนือสุดถึงใต้สุดของประเทศนิวซีแลนด์ เดินตลอด มีใครจอดรับก็ไม่ขึ้นรถ บางทีปฏิเสธคนไม่ได้ก็ขึ้นรถไปกับเขา แล้วก็เดินย้อนกลับมาที่เดิม แล้วค่อยเดินต่อไป จะเว้นก็ตอนขึ้นเรือข้ามฟากจากเกาะเหนือไปเกาะใต้ ระยะทางประมาณจากเชียงใหม่ถึงจังหวัดสงขลา ที่นี่จะมีกัณฑ์เทศน์ของหลวงตาลงพิมพ์เผยแพร่ด้วยครับ
ทำให้ผู้พบเห็นพระธุดงค์รู้สึกเย็นตาเย็นใจ ไม่ว่าฆราวาสหรือพระด้วยกันพบเห็นท่านเพียรเดินธุดงค์ในอิริยาบถที่สำรวมในระยะทางไกล ๆ ก็ทำให้รู้สึกว่าพวกเรามีวาสนาที่ได้มาพบเห็น ได้อยู่กับพุทธศาสนาแม้จะอยู่ในต่างประเทศ หรือแม้แต่พระฝรั่งที่ท่านเดินธุดงค์ด้วยอิริยาบถสำรวม เราก็ไม่เคยคิดแยกว่า ถือพุทธศาสนาต้องเป็นคนไทย พระธรรมท่านเข้าถึงผู้ตั้งใจปฏิบัติเข้าถึงมรรคผลนิพพาน จึงขอกราบเรียนหลวงตาเพราะความเย็นตาเย็นใจกับพระธุดงค์และพุทธศาสนาของเราในต่างประเทศ และทำให้มีกำลังใจในการปฏิบัติความดี ดำเนินชีวิตในต่างแดนด้วยการภาวนาตามคำสอนที่หลวงตาเมตตาเทศน์สอนมาตลอด
ข้อสอง ชาวต่างชาติที่นี่ได้รู้จักหลวงตา และรับฟังเทศน์ของหลวงตา มีความสนใจในการปฏิบัติตาม มีการตั้งเป็นกลุ่มการปฏิบัติธรรม เช่น ชาวมาเลเซียทั้งสามีและภรรยาเขาตั้งใจปฏิบัติภาวนา พอได้ทราบว่าหลวงตาเมตตาแสดงการตอบปัญหาธรรม ชาวต่างชาติที่นี่รู้สึกสนใจปีติยินดี ถึงแม้เขาจะอยู่ไกลจากหลวงตา แต่ผ่านคำถามมาทางอินเตอร์เน็ตรู้สึกได้ใกล้ชิดในธรรมะมากขึ้น
จึงรบกวนเรียนถามปัญหาธรรมหลวงตา มาดังนี้ ดิฉันมีคำถามดังนี้ค่ะ ขณะที่ดิฉันนั่งสมาธิและฝึกการรับรู้ ให้สามารถรู้ถึงสิ่งต่างๆ ได้ และบางทีดิฉันได้ยินเสียง และมีความคิดต่างๆ ดิฉันก็จะพยายามกลับไปหาคำบริกรรม บางครั้งดิฉันรู้สึกถึงความนิ่ง ความสว่างและความว่าง ดิฉันขอถามว่า อะไรคือจุดประสงค์ของการนั่งสมาธิ เพื่อการให้สามารถรับรู้ทางกายและใจเร็วขึ้น หรือเพื่อความสว่าง ความว่างในใจนั้น กราบนมัสการมาด้วยความเคารพ ซิม ลู ชาวมาเลเซีย)
Jun1746
|
คำตอบ |
|
เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2546 |
เรียนคุณซิม ลู หลวงตาเมตตาแสดงธรรมตอบปัญหาธรรมของคุณให้ เมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๔๖ ณ วัดป่าบ้านตาด ดังนี้
หลวงตา : อันนี้ก็เป็นจุดประสงค์อันหนึ่งที่ปรากฏขึ้นกับตัวเอง เช่นความว่าง ความสว่าง เป็นต้น แต่การภาวนานี้จุดประสงค์ก็คือเพื่อน้ำดับไฟ จิตใจของเราเป็นฟืนเป็นไฟด้วยการคิดการปรุงแต่งเรื่องราวต่าง ๆ ส่วนมากมักจะมีแต่ความชั่ว ซึ่งเป็นฟืนเป็นไฟเผาตัวเอง เราภาวนานี่คือเพื่อระงับอารมณ์ทั้งหลายเหล่านั้นด้วยบทธรรม บทธรรมจะเป็นคำบริกรรมคำใดก็ได้ นั้นเท่ากับน้ำดับไฟ นำคำบริกรรมนั้นเข้ามากำกับจิต ให้จิตทำหน้าที่กับคำบริกรรมซึ่งเป็นบทแห่งธรรมนั้นอย่างเดียว มีสติควบคุมอยู่เสมอ ไม่ให้มีช่องสำหรับคิดปรุงของเรื่องกิเลสที่เคยก่อฟืนก่อไฟมาใส่ตัวเอง ให้มีแต่คำบริกรรมกับสติติดแนบอยู่นั้น
ที่ว่าความประสงค์ไม่อยากวุ่นวาย มันก็สงบเอง นี่เป็นความประสงค์อันหนึ่งของเรา ในเบื้องต้นเป็นอย่างนี้ก่อน ต่อจากนั้นถ้าได้ทำจิตของเราด้วยจิตตภาวนา หรือว่าด้วยการสงบอารมณ์อย่างที่ว่านี้แล้ว สิ่งที่เราต้องการไม่เคยคาดเคยหมาย ไม่เคยรู้เคยเห็นก็จะเป็นขึ้นมาจากใจ เพราะเหตุแห่งการทำที่ถูกต้องตามจุดหมายที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้แล้ว ว่าใจตัวพยศเพราะกิเลสพาพยศ เมื่อจิตได้รับการฝึกทรมานก็เท่ากับน้ำดับไฟ ไฟคือความทุกข์ทั้งหลายภายในใจก็สงบลงไป ไม่ต้องบอกความเย็นเย็นเอง สถานที่ไฟเคยไหม้ หรือแสดงเป็นเปลวจรดเมฆ เมื่อถูกน้ำดับลงไปแล้วสถานที่นั่นก็จะกลับเย็นขึ้นมา ก็เท่านั้น แล้วมีอะไรอีกที่ว่านี้นะ มันจำไม่ค่อยได้นะ
(ความสว่าง ความว่างแค่นั้นแหละครับ) เออ ความสว่าง ความว่าง เกิดจากจิตที่ไม่มีอะไรยุ่ง กิเลสนั้นแหละยุ่ง คิดปรุงนั้นคิดปรุงเรื่องนี้ สังขารตัวนี้เป็นสำคัญมากทีเดียว คือมีสมุทัย พื้นฐานของกิเลสท่านเรียกว่าอวิชชา ให้ชื่อว่าอย่างงั้น มันอยู่ในใจ ตัวนั้นแหละผลักดันออกมา ผลักดันออกมาให้คิดให้ปรุงไม่หยุดไม่ถอย ไม่เลิกไม่แล้ว หิวโหยตลอดเวลา คือธรรมชาตินี้ดันออก ๆ เมื่อเราระงับไม่ให้มันคิด ธรรมก็ดับเข้าไป เหมือนน้ำดับไฟ หินทับหญ้าเข้าไปเสียก่อน แล้วนั้นจะสงบ ๆ ใจก็เย็นขึ้นมาเลย เข้าใจ
(ทีมงานขออนุโมทนาในธรรมภาวนาของคุณมา ณ ที่นี้ด้วยค่ะ)
|
|
|