คำถาม 
โดย : ตุ๊ก ถามเมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 2546

ขณะเดินจงกรมเอาจิตไปที่ไหน

กราบนมัสการหลวงตาที่เคารพอย่างสูง
กระผมอยากจะเรียนถามว่าขณะที่เราเดินจงกรมนั้นจะเอาจิตไปอยู่ที่ไหน (ลมหายใจ เข้า-ออกหรือ เท้าขวา-ซ้ายที่ย่างก้าวเดิน) และบริกรรมภาวนาพุทโธไปด้วยหรือเปล่าครับ ?
กระผมใช้จิตไปอยู่ที่ลมหายใจเข้าออกตลอดเวลาในขณะก้าวเดินและบริกรรมภาวนาพุทโธไปด้วย ไม่ทราบว่าถูกหรือผิดประการใด ได้โปรดเมตตาไขข้อข้องใจด้วยครับ
กราบนมัสการมาด้วยความเคารพ (จากคุณ ตุ๊ก)

Jun0746

คำตอบ
เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2546

เรียนคุณตุ๊ก
หลวงตาได้เมตตาแสดงธรรมตอบปัญหาของคุณเกี่ยวกับการตั้งจิตขณะเดินจงกรมให้ เมื่อเช้าวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๔๖ 
ณ วัดป่าบ้านตาด ดังนี้

หลวงตา     :     ถ้าถนัดในพุทโธก็บริกรรมพุทโธในขณะที่เดินจงกรม ถนัดทางไหนก็เอาแบบนั้น แต่เรื่องสติเป็นสำคัญมาก เช่นอย่างก้าวเดินซ้ายขวา ถ้ามีสติอยู่ก็ดีพอๆ กัน แต่สติมักจะจับติดอยู่ที่จุดเดียวนะ ถ้าเคลื่อนย้ายๆ เดี๋ยวเผลอไป แต่อย่างไรก็ตามมันอยู่ที่ความตั้งใจ คือความตั้งใจนี้จ่อลงจุดไหนขาดสะบั้นไปเลย เราเคยทำมาแล้วนี่นะ นี่ที่ได้เป็นตัวอย่างอันดีงามให้บรรดาลูกศิษย์ลูกหาทั้งหลายฟังในคราวที่จิตของเราเสื่อม เจริญแล้วเสื่อมๆ  เราบึกบึนไปนี้ ๑๔-๑๕ วัน ไปถึงจุดที่เคยเจริญแล้วก็เสื่อมลง อยู่ได้เพียงสองสามวัน แล้วเสื่อมลงมานี้ เหมือนกลิ้งครกลงจากภูเขา ทับเราลงไปเลย แล้วก็กลิ้งขึ้นไปใหม่ ๑๔-๑๕ วันถึง อย่างนี้เป็นประจำ

จึงต้องมาหวนคิดอ่านไตร่ตรอง คือตอนนั้นเราไม่ได้ใช้คำบริกรรม กำหนดสติอยู่กับผู้รู้ แล้วมันแฉลบไปไหนเราก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้นมันจึงมีทางเจริญแล้วเสื่อม จึงมาตั้งใหม่ เอ้า ทีนี้ลงใจแล้วว่าจิตของเรานี้จะเผลอไป เพราะเราไม่มีคำบริกรรมกำกับ คราวนี้จะให้มีคำบริกรรมกำกับ ก็เอาพุทโธตามนิสัยของเราที่ชอบ แต่เราพูดจริงๆ เราไม่ค่อยจะเหมือนใครนัก คือความจริงจัง เหมือนกับว่าเราเป็นคู่ความกัน ความเผลอกับความไม่เผลอ เอาทีนี้ลงใจแล้วเราจะเอาพุทโธ เหมือนกับว่าระฆังดังเป๋งเลย เป็นอย่างนั้นละนิสัยอันนี้ คราวนี้เราจะเอาพุทโธติดแนบตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั่งหลับ จะไม่ให้มีเผลอเวลาใดเลย ระยะนี้มันจะเป็นอย่างไรให้รู้ นี่ละถึงได้เหตุได้ผลกัน

พอระฆังดังเป๋งนักมวยก็ต่อยกัน ระหว่างเผลอกับไม่เผลอซัดกันเลย ไม่เผลอติดแนบเลย ไม่ว่าจะเคลื่อนไหวไปไหน เหมือนกับว่ามัดคอไว้กับสติเลย เอาอย่างนี้แล้วพอดีพอเหมาะ เวลานั้นหลวงปู่มั่นไปเผาศพหลวงปู่เสาร์ที่อุบลฯ ท่านให้เราเฝ้าวัดอยู่คนเดียว เหมาะทีเดียวเลย ซัดกันตั้งแต่ตื่นนอนจนหลับๆ ไม่ให้เผลอจริงๆ นี่นะ เหมือนกับคอขาดเลยทีเดียวถ้าเผลอ ไม่ได้กี่วันนะมันก็รู้ทีเดียว จิตหนักแน่นเข้าๆ ทีนี้ขยับเลย ขยับแล้วจิตก็ขึ้นถึงที่ คือเราปล่อยอาลัยตายอยากแล้วนะ ทอดอาลัย เอ้า จะเสื่อมก็ตามจะเจริญก็ตาม เราจะไม่สนใจกับความเสื่อมความเจริญ ซึ่งเราสนใจมามากแล้วมันก็เสื่อมอยู่ได้ต่อหน้าต่อตา คราวนี้จะไม่สนใจ แต่จะไม่ปล่อยพุทโธ เอาคำเดียว เอา จะเสื่อมจะเจริญให้ไป แต่กับพุทโธนี้ไม่ปล่อย จับติดเลย

ทีนี้พอเจริญขึ้นไปถึงนั้น เอ้า เสื่อม ถึงระยะที่มันเคยเสื่อม เอ้า เสื่อม ไม่สนใจอีกนะ เอาพุทโธๆ อยู่งั้นๆ ไม่เสื่อมแล้วค่อยขึ้น อ๋อ จับได้แล้วนะ มันเสื่อมเพราะเราไม่ตั้งคำบริกรรม เพราะพระตั้งหน้าภาวนาจริงๆ  เป็นงานเป็นการจริง ๆ ต้องทำอย่างงั้นได้ ไม่ได้เหมือนฆราวาสเขาที่มีงานหลายอย่าง คือพูดนี้แยกประเภทเข้าใจไหม ตั้งแต่นั้นมาจับติดเลย ได้เลย ได้ตลอดเลย นี่เราจึงเอามาพูดให้พี่น้องทั้งหลายฟัง เหมือนกับว่าระฆังดังเป๋ง คราวนี้จะไม่ให้เผลอตั้งแต่บัดนี้ เป๋งระฆังเท่านั้นก็เอาเลย มันเป็นอย่างงั้นจริง ๆ จิตใจเราไม่เหมือนใคร ยังบอกแล้ว

ที่ได้เป็นคติมาสอนพี่น้องทั้งหลาย สตินี้เป็นตัวสำคัญทีเดียว เป็นธรรมที่สำคัญมาก ที่จะรักษาความแคล้วคลาดปลอดภัยให้จิต ไม่งั้นกิเลสมันจะผลักดัน ไอ้ที่ว่ากิเลสเข้ามาทางนู้นทางนี้นี่เป็นความสำคัญเฉย ๆ ความจริงกิเลสของเรานี้มันดันออกไป มันอยากคิดอยากปรุงเข้าใจไหม มันอยากมันดันออกไป พอดันไปกับสิ่งใดก็พาดพิงสิ่งนั้นจะเป็นสัญญาอารมณ์ขึ้นมา รูปนั้นรูปนี้ เข้าใจไหม เรื่องนั้นเรื่องนี้ ความจริงออกมาจากนี้ ถ้าเราดันอันนี้ไว้ด้วยพุทโธกับคำบริกรรม ติดแนบไม่ให้มันออก ก็มีแต่ธรรม ทีนี้ธรรมหล่อเลี้ยงจิตใจซิ ธรรมหล่อเลี้ยงจิตใจ จิตใจก็ชุ่มเย็นเข้ามา สงบเข้ามา ความอยากคิดอยากปรุงเลยเบาไป ๆ ทางนี้ก็เน้นหนักเข้าเรื่อย นี่จำเอานะ

คืออารมณ์ของธรรมเป็นความคิดเหมือนกัน เรียกว่าสังขาร ความปรุงความคิด เช่นพุทโธก็เรียกว่าความคิด ธัมโม สังโฆ เป็นความคิด แต่นี่ความคิดเป็นธรรมเป็นคุณประโยชน์ แต่ความคิดของกิเลสมันจะบริกรรมไม่บริกรรมก็ตาม มันเป็นกิเลสเต็มตัวของมัน นั่นแหละคือความคิดของกิเลส บังคับไม่ให้ความคิดนั้นออก เราเอาความคิดของธรรมตีเข้าไป ๆ ก็ระงับ ๆ ลง จนมันพุ่งๆ ได้ จำเอานะ นี่แหละการบริกรรม เราจะเอาอะไรก็แล้วแต่ ทีนี้กลับมาถึงการตอบปัญหาโดยตรง คือสติเป็นสำคัญ ตามแต่จริตนิสัยที่จะบริกรรมคำใดก็ได้ แต่สติเป็นสำคัญด้วยกัน มีเท่านั้น

(ทีมงานขออนุโมทนาในธรรมปฏิบัติมา ณ มาที่นี้)

<< BACK

 


หน้าแรก