คำถาม 
โดย : พัชร์ ถามเมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2546

ความสงบของจิตที่เหมาะแก่การพิจารณาธรรม

กราบเท้าท่านอาจารย์ด้วยความเคารพรักอย่างสูง กระผมเป็นนักศึกษาอยู่ ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ได้ฟังเทศน์ท่านอาจารย์ทางอินเตอร์เน็ตทุกวัน ทั้งตอนเช้าและตอนกลางคืน โดยกระผมนั่งทำสมาธิก่อนนอนเป็นประจำ มีอยู่วันหนึ่งขณะนั่งรถไฟใต้ดินไปมหาวิทยาลัย ผมได้นั่งทำสมาธิไปด้วยเป็นการฆ่าเวลา ทำได้สักพักหนึ่งก็ลืมตาขึ้นมา เห็นฝรั่งที่นั่งอยู่ฝั่งตรงข้ามกำลังหลับอยู่ ผมก็เกิดความสงสัยขึ้นมาว่า คนเราเวลาหลับจิตจะไปที่ไหน ผมก็นั่งมองพิจารณาฝรั่งคนนั้นไปสักครู่ แล้วก็เลิกสนใจ หลับตาทำสมาธิต่อ จิตสงบดีพอสมควร ปรากฏว่าภาวนาไปได้สักครู่ อยู่ดีๆ ก็มีธรรมะผุดขึ้นมาตอบจิตที่กำลังสงสัยอยู่นั้นโดยอัตโนมัติว่า สังขารหาที่ตั้งแห่งจิตไม่ได้
1. ผมก็ได้เข้าใจธรรมข้อนี้ในระดับหนึ่ง แต่ก็ยังงงอยู่ว่า ธรรมที่ผุดขึ้นมานี้เป็นธรรมแท้หรือไม่ หรือว่าเป็นสิ่งที่สัญญาปรุงขึ้นมาเอง

2. ผมเคยอ่านหนังสือของท่านอาจารย์องค์หนึ่งว่า ธรรมะที่ผุดขึ้นมานี้ เป็นสมบัติใครสมบัติมัน ต้องนำไปพิจารณาให้แตกเอง
กระผมเป็นผู้มีปัญญาน้อย พึ่งหัดภาวนามาไม่นานนัก อยากจะขอความเมตตาท่านอาจารย์ได้โปรดเมตตาอธิบายธรรมะที่ผุดขึ้นมานี้เพิ่มเติม และแนะนำว่ากระผมควรจะภาวนาอย่างไรต่อไป หรือควรจะพิจารณาสิ่งใด

3. เมื่อ ๓ ปีที่แล้ว กระผมภาวนาอยู่ที่บ้านที่กรุงเทพ ขณะที่ภาวนาไปนั้น อยู่ดีๆ จิตก็สงบจนถึงกับดิ่งวูบลงไป ทุกสิ่งทุกอย่างในตอนนั้น ดับวูบเงียบไปหมดเลย เหมือนกายกับจิตแยกออกจากกัน มีแต่ความรู้ของจิตเท่านั้นที่ยังคงมีอยู่ เหมือนจิตลอยเด่นอยู่ท่ามกลางแดนอวกาศ ทั้งโลกนี้ไม่มีสิ่งใด ไม่มีกาย ไม่มีเวทนา อยู่เลย ด้วยความที่เพิ่งภาวนาใหม่ๆ  กระผมเกิดตกใจในอาการของจิตที่เป็นมาดังนี้ จิตจึงถอนออก ตั้งแต่นั้นมาจิตก็ไม่เคยลงถึงขั้นนั้นอีกเลย กระผมอยากจะเรียนถามว่า ความสงบขั้นนั้นคืออัปปนาสมาธิ คืออาการที่จิตรวมจนถึง ฐีติจิต (จิตเดิม) เลย ใช่หรือไม่

4. แล้วความสงบของจิตที่เหมาะแก่การพิจารณาธรรม คือความสงบขั้นใด

ขอท่านอาจารย์ได้โปรดเมตตาแสดงธรรม เพื่อเป็นหลักในการปฏิบัติแก่ลูกหลานด้วยนะขอรับ สุดท้ายนี้กระผมขออาราธนาหลวงตาได้โปรดดำรงขันธ์อยู่นานๆ ถ้ากระผมได้กลับเมืองไทยเมื่อใด กระผมจะไปกราบนมัสการ กราบเท้าท่านอาจารย์มาด้วยความเคารพรัก 

May2646

คำตอบ
เมื่อวันที่ 29 พ.ค. 2546

เรียนคุณพัชร์ หลวงตาเมตตาแสดงธรรมตอบปัญหาของคุณให้ ไว้เมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๔๖ ณ วัดป่าบ้านตาด ดังนี้

หลวงตา     :     ข้อหนึ่ง ใช่แล้ว ธรรมที่ปรุงขึ้นมา คือการปรุงของจิตนี้ กิเลสก็มีอยู่ในจิต ธรรมก็มีอยู่ในจิต บางกาลเวลากิเลสเกิด บางกาลบางเวลาธรรมเกิด เพราะฉะนั้นผู้ที่พิจารณาเรื่องการเกิดของธรรมทั้งสองประเภทนี้ ควรใช้การพิจารณาด้วยดี อย่างที่ว่านี้ นี่ก็เรียกว่าธรรมเกิด คือว่าเวลาหลับจิตไปอยู่ที่ไหนนี่นะ จิตก็อยู่กับขันธ์ที่กำลังระงับตัวนั้นแล คือขันธ์นี่ระงับตัว ตามธรรมดาขันธ์จะทำงานตลอดเวลาตั้งแต่ตื่นนอน ความคิดความปรุงเป็นสังขาร ตาเห็นรูป หูฟังเสียง เรียกว่าทำงานเรื่อยไป ก็เข้าไปหาสังขาร สัญญา ความจดจำ ติดแนบกันไปด้วย เรียกว่าเวลานี้สังขารระงับตัว จิตก็อยู่ที่สังขารระงับตัวนั้นแหละ ลืมไปแล้วว่าจิตไปอยู่ที่ไหนใช่ไหม จิตอยู่ที่ขันธ์ระงับตัวนั้นแหละเวลานั้น คนนอนหลับขันธ์ไม่ทำงาน

ขันธะ แปลว่า หมวด แปลว่า กอง กองรูป หมวดรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ รวมแล้วเรียกว่าขันธ์ ๕ เวลานี้ขันธ์ ๕ ไม่ทำงาน ระงับตัวหรือว่าพักเครื่อง เหมือนเราพักเครื่องยนต์กลไกเรา ทีนี้จิตก็เฝ้าอยู่นั้นแหละ เฝ้าอยู่ที่ความหลับ ระงับตัวของขันธ์นั้นแหละ แล้วมีอะไรอีกล่ะ

โยม            :     เขาว่า ผมเคยอ่านหนังสือของท่านอาจารย์องค์หนึ่ง ว่าธรรมะที่ผุดขึ้นมาเองนี้เป็นสมบัติใครสมบัติมัน ต้องนำไปพิจารณาให้แตกเอง กระผมขอความเมตตาท่านอาจารย์ได้โปรดเมตตาอธิบายธรรมะที่ผุดขึ้นมานี้เพิ่มเติม และแนะนำว่ากระผมควรจะพิจารณาอย่างไรต่อไป หรือควรจะพิจารณาสิ่งใด

หลวงตา      :     อันนี้ไม่ต้องไปเป็นอารมณ์กับการผุดขึ้นของธรรม เมื่อผุดขึ้นแล้ว ก็อย่างที่ท่านอาจารย์องค์หนึ่งท่านอธิบายนั้นถูกต้อง เป็นสมบัติของใครของเรา แล้วแต่ใครจะไปตีความหมายในธรรมที่เกิดขึ้นจากใจของตัวเอง นี่เรียกว่าเป็นสมบัติของใครของเรา แล้วอะไรอีกมันลืม

โยม             :     ข้อถัดไปเจ้าค่ะ เมื่อ ๓ ปีที่แล้ว ขณะภาวนาอยู่ที่บ้านที่กรุงเทพ ขณะที่ภาวนาอยู่นั้น อยู่ดีๆ จิตก็สงบจนถึงกับดิ่งวูบลงไป ทุกสิ่งทุกอย่างในตอนนั้นดับวูบเงียบไปหมดเลย เหมือนกายกับจิตแยกออกจากกัน มีแต่ความรู้ของจิตเท่านั้นที่ยังคงมีอยู่ เหมือนจิตลอยเด่นอยู่ท่ามกลางแดนอวกาศ ทั้งโลกนี้ไม่มีสิ่งใด ไม่มีกาย ไม่มีเวทนา อยู่เลย ด้วยความที่เพิ่งภาวนาใหม่ๆ  กระผมเกิดความตกใจในอาการของจิตที่เป็นมาดังนี้ จิตจึงถอนออก ตั้งแต่นั้นมา จิตก็ไม่เคยลงถึงขั้นนั้นอีกเลย กระผมอยากเรียนถามว่า ความสงบขั้นนั้นคืออัปปนาสมาธิ คืออาการที่จิตรวมจนถึง ฐีติจิต (จิตเดิม) เลย ใช่หรือไม่

หลวงตา     :     อันนี้เรื่องชื่อเรื่องอัปปนานั้น ท่านตั้งไว้อย่างนั้นแหละ แต่ต้องเป็นขึ้นอยู่กับผู้บำเพ็ญ อย่างที่สงบนี้จะตั้งชื่อก็ได้ ไม่ตั้งชื่อก็ได้ ผู้นั้นรู้ เข้าใจเหรอ เรียกว่าเป็นสมาธิประเภทใดไม่เกิดประโยชน์อะไรนัก ให้ผู้ทำนี้ได้ปรากฏอย่างนั้นมากเท่าไร ผู้นี้แลเป็นผู้ที่จะสิ้นกิเลสได้ โดยจะอัปปนาหรือไม่อัปปนาก็ไม่มีปัญหาอะไร เข้าใจไหม นี่เป็นจิตที่สำคัญมากทีเดียว หลวงตาพูดตรงๆ เมื่อมีพยานนี้ นี้เป็นมาไม่รู้กี่ครั้งกี่หนแล้ว ดับหมดโลกธาตุนี่ ทั้งๆ ที่กิเลสยังมีอยู่นะ นี่ละความละเอียดของจิต ดับหมดเลยเทียว คำว่าเหลือแต่จิตนี้ จะว่าเหลือแต่จิตล้วนๆ ก็ไม่ได้นะ คือสักแต่ว่าปรากฏ ไม่ใช่สักแต่ว่าแบบไม่มีราค่ำราคา คือละเอียดสุดยอดของจิตประเภทนั้น จึงบอกสักแต่ว่ารู้เท่านั้น จะเรียนอะไรอีกไม่ได้ เป็นสมมุติอันหนึ่งขึ้นมา ให้เป็นหลักธรรมชาตินั้นจะพูดได้เพียงว่า สักแต่ว่าปรากฏเท่านั้น สักแต่ว่าปรากฏนั้นคือความอัศจรรย์อยู่ในนั้นนะ ทั้งๆ ที่จิตยังไม่สิ้นจากกิเลส

นี่ละการภาวนาเห็นผลกันอย่างนี้ เป็นผลมาอย่างนี้ตั้งแต่พระพุทธเจ้ามา ด้วยเหตุนี้เอง พระพุทธเจ้าจึงสอนโลกด้วยความแม่นยำทุกอย่างไม่มีอะไรผิดพลาด เพราะทรงบำเพ็ญ ทรงรู้ทรงเห็นมาแล้วทุกแง่ทุกมุม การตั้งชื่อตั้งนามตั้งไว้อย่างนั้นแหละ เพราะท่านเป็นองค์ศาสดา ต้องพิสดารทุกอย่างให้ละเอียดลออ สำหรับเราเป็นผู้ก้าวเดิน ก้าวเดินได้แค่ไหนก็ว่ากันไป ถ้าจะว่าเป็นชื่อสมาธินั้น เป็นสมาธินี้เราก็ว่าไม่ว่า แต่อย่าไปติดใจมากยิ่งกว่าการทำภาวนาของเราให้เป็นจิตประเภทนั้นขึ้นมาเรื่อยๆ นั้นเหมาะสม เข้าใจ นี่ละผลแห่งการภาวนา

เวลาดับนั้น คือจิตนี้เองที่ไปยึดเกาะสิ่งต่างๆ พอจิตนี้หดเข้ามาสู่ตัวของตัวเต็มที่ในจิตขั้นนี้แล้ว จะไม่มีอะไรเหลือเลย จะเหลือแต่สักแต่ว่า เข้าขั้นสักแต่ว่าปรากฏ นี่ละจิตที่ละเอียดสุดยอดของจิตที่มีกิเลสอยู่สุดยอดตรงนี้ ดับหมดจริงๆ  ยังเหลือสักแต่ว่ารู้ แต่เป็นรู้อัศจรรย์ ผลแห่งการภาวนาเป็นอย่างนี้เวลาปล่อยเข้ามา ทีนี้เวลาปล่อยโดยสิ้นเชิงแล้วไม่เพียงสักแต่ว่านะ เลยนั้นไปอีก ดังที่เคยเรียนให้พี่น้องทั้งหลายทราบว่า ทำไมจิตของเราถึงได้อัศจรรย์เอานักหนา คือมันสว่างไสว ทั้งๆ ที่จิตไม่ได้เข้าเป็นสมาธิ เป็นจิตอยู่ในภูมิฐานนั้นเท่านั้นเอง แต่ก็สว่างไสวจ้าอยู่ ยืนอยู่ดูธรรมดานี้มันก็เป็นอยู่อย่างนั้น นี่มันแสดงเป็นขั้นๆ 

อันนี้ก็เป็นธรรมขั้นหนึ่ง ดีสำหรับผู้ปฏิบัติในขั้นนี้นะ แต่ผ่านไปแล้วกลับมาเห็นที่ว่าอัศจรรย์นี้กลายเป็นกองขี้ควายไป คืออันนั้นเลิศยิ่งกว่าคำว่าสว่างอันนี้ อันนี้ก็เหมือนกัน ความดับประเภทนี้ดับอย่างมีกิเลสอยู่ ดับด้วยการสิ้นกิเลสนี้นั่นละเลิศเลอ แล้วก็มีมาพูดถึงเรื่องความดับประเภทนี้เหมือนกับกองขี้ควายก็ได้ เข้าใจไหม เอาละเข้าใจนะ เ เอา ว่าต่อไป

โยม           :      เขาบอกว่ามันเป็นแค่หนเดียวแล้วไม่เกิดขึ้นอีก

หลวงตา     :     โอ๋ เรื่องเกิดอย่าไปคาด เกิดแค่ไหนก็เอาแค่นั้น แต่การบำเพ็ญของตัวเองในจุดที่ถูกต้องที่เราเคยบำเพ็ญมาแล้วให้บำเพ็ญเสมอ อะไรเกิดขึ้นก็ให้ทราบในปัจจุบันที่เกิด ดับไปแล้วก็อย่าไปคาดไปหมาย คาดเท่าไรก็ไม่ถูก เพราะเหล่านั้นไม่ได้เกิดขึ้นจากการคาด เกิดขึ้นจากหลักปัจจุบันการบำเพ็ญของเจ้าของต่างหากนะ หากในจังหวะที่จะควรเกิดขึ้นอย่างนั้นก็เกิดขึ้นเอง ๆ จากการปฏิบัติของตัวเองนั่นแหละ ถ้าไม่เป็นอย่างนั้นเราจะไปคาดให้เป็น ไม่ได้ เดี๋ยวยิ่งล้มเหลวไปเลยนะ เอาละ

โยม           :      แล้วเขาถามอีกว่า ความสงบของจิตที่เหมาะแก่การพิจารณาธรรม คือความสงบขั้นใด ขอท่านอาจารย์ได้โปรดเมตตาแสดงธรรมเพื่อเป็นหลักในการปฏิบัติแก่ลูกหลานด้วยนะขอรับ

หลวงตา     :     เรื่องความสงบของจิตเรานี้ สงบขั้นใดเราก็พิจารณาปัญญาตามขั้นตามกำลังของเราได้ อย่างสงบเบาะๆ ธรรมดาจิตไม่ยุ่ง นี้ก็เรียกว่าจิตค่อยอิ่มอารมณ์เข้าไปแล้ว เมื่อจิตอิ่มอารมณ์เราพาพิจารณาทางด้านปัญญาก็เป็นไปได้ตามกำลังของเรา ถ้าจิตกำลังหิวโหยกับอารมณ์ดังที่ไม่มีสมาธิไม่มีความสงบเลย แต่จะพิจารณาปัญญาอย่างเดียวนั้น เรียกว่าเหลวไหลเลย ใช้ไม่ได้ พระพุทธเจ้าท่านถึงแสดงไว้ในบาทแห่งความหลุดพ้น ตั้งแต่ สีลปริภาวิโต แล้ว สมาธิปริภาวิตา และ ปญฺญาปริภาวิตํ  ๓ ประเภท ศีลหนุนสมาธิให้จิตสงบเย็น สมาธิหนุนปัญญาให้เดินได้คล่องตัว ปัญญาซักฟอกจิตให้หลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวงโดยชอบ เป็นขั้นๆ อย่างนี้

การพิจารณาทางด้านปัญญา เรามีความสงบแค่ไหนพิจารณาแค่นั้นก่อนถึงเวลาพิจารณา เวลาจิตสงบอย่าไปกวนนะ ถ้าจิตกำลังรวมสงบอยู่นี้ จะสงบกี่ชั่วโมงก็ตามอย่าไปกวน ปล่อยให้เป็นอยู่อย่างนั้น จนกระทั่งจิตนี้ถอยออกมาแล้ว คิดอ่านไตร่ตรองอะไรได้แล้ว ค่อยนำจิตนี้ออกพิจารณาทางด้านปัญญา อย่าไปพิจารณาในเวลาจิตที่สงบ ผิด เข้าใจเหรอ จำให้ดีนะข้อนี้ มีผลเสียหายอยู่มากนะตอนนี้นะ ให้พากันจำ สมาธิคือความสงบนี้หนาแน่นขึ้นไปเท่าไร ก็ควรแก่ปัญญานี้เรื่อยๆ ไป เข้าใจมิใช่เหรอ

(ทีมงานขออนุโมทนาในธรรมปฏิบัติมา ณ โอกาสในธรรมนี้)

<< BACK

 


หน้าแรก