|
/SCRIPT LANGUAGE="javascript1.1" page="dhamma_online";
/SCRIPT LANGUAGE="javascript1.1" src="http://truehits1.gits.net.th/data/e0008481.js">
|
|
|
คำถาม
|
|
โดย : หลานผู้ด้อยปัญญา ถามเมื่อวันที่
28 ก.ย. 2546 |
ธรรมโอสถ
กราบนมัสการองค์หลวงตามาด้วยความเคารพอย่างสูง หลานได้ฝึกปฏิบัติภาวนามาตลอด..5-6ปีมาแล้วเจ้าค่ะ นานเท่าๆกับองค์หลวงตาช่วยชาติเจ้าค่ะ...จิตมีความเปลี่ยนแปลงอย่างที่องค์หลวงตาเทศน์ไว้ตลอดเจ้าค่ะ..คือโล่ง เบา สบาย รู้จักวางในสิ่งที่ไกลตัวเจ้าค่ะ..พยายามให้อยู่กับปัจจุบันตลอดเจ้าค่ะ..จิตก็แนบกับพุท-โธ ตลอดเจ้าค่ะ..จนบางครั้งพุท-โธไม่มี..มีแต่ลมหายใจเข้า-ออกเจ้าค่ะ..แต่ถ้ารู้ตัวก็พุท-โธ..ได้ทันทีเจ้าค่ะ..ไม่ลืมเจ้าค่ะ..จนรู้สึกว่า..พุท-โธ..หนักแน่น..และแน่นหนามากเจ้าค่ะ..นึกได้เมื่อไร..พุท-โธ..มาเมื่อนั้นเจ้าค่ะ..หลานกราบเรียนถามองค์หลวงตาดังนี้เจ้าค่ะ ข้อ1. ที่หลานปฏิบัติมาถูกทางหรือเปล่าเจ้าค่ะ...ถ้าไม่ถูกทางกราบเมตตาองค์หลวงตาแนะนำในทางที่ถูกต้องและทางที่จะฝึกในขั้นต่อๆๆๆไปด้วยเจ้าค่ะ ข้อ2. หลานต้องการใช้ธรรมโอสถรักษาความเจ็บป่วยของธาตุขันธุ์เจ้าค่ะ...กราบเมตตาองค์หลวงตาบอกวิธีปฏิบัติด้วยเจ้าค่ะ... ข้อ3. กราบเมตตาองค์หลวงตาบอกวิธีแนะนำให้คนแก่ลดมานะ9ลง....จะมีวิธีใดบ้างเจ้าคะ..หลานจะได้นำไปบอกคนแก่เหล่านั้นเจ้าค่ะ..ถ้ามีโอกาส.. กราบอนุโมทนาสาธุการที่องค์หลวงตาเมตตาให้ธรรมทางแก่หลานผู้ด้อยปัญญาในครั้งนี้ด้วยค่ะ...และกราบอาราธนาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่ทั่วสามแดนโลกธาตุ จงดลบันดาลให้องค์หลวงตาอยู่เป็นที่พึ่งของสรรพสัตว์ทั้งหลายทั้งสามแดนโลกธาตุเช่นกันเจ้าค่ะ ตลอดนานเท่านานเจ้าค่ะ.สาธุ..สาธุ..สาธุ..._/|\_ _/|\_ _/|\_
|
คำตอบ |
|
เมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2546 |
เรียนคุณใช้นาม หลานผู้ด้อยปัญญา หลวงตาเมตตาแสดงธรรมตอบคำถามคุณ เมื่อวันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๔๖ ณ วัดป่าบ้านตาด ดังนี้
โยม : ข้อที่ ๑ ที่หลานปฏิบัติมานี้ถูกต้องหรือเปล่าเจ้าคะ ถ้าไม่ถูกต้อง กราบเมตตาหลวงตาโปรดแนะนำด้วยเจ้าค่ะ
หลวงตา : ถูกต้องแล้ว เอ้า ว่าไป
โยม : ข้อ ๒ หลานต้องการใช้ธรรมโอสถรักษาความเจ็บป่วยของธาตุขันธ์เจ้าค่ะ กราบเมตตาหลวงตาบอกวิธีปฏิบัติด้วยเจ้าค่ะ
หลวงตา : เรื่องภาคปฏิบัติเรื่องธรรมโอสถนี้ ส่วนมากผู้ปฏิบัติจะรักษาโรคภัยในบางส่วนได้ด้วยภาคปฏิบัติ ส่วนอย่างหนึ่งก็เป็นเรื่องของหมอโดยตรง ถ้ามีเชื้อโรคมีอะไรๆ เป็นเรื่องของหมอ ถ้ามีเป็นธรรมดาของมันนี้เป็นเรื่องของธรรมแก้ได้ล้วนๆ แม้จะเป็นเรื่องของหมอก็ตามถ้าจิตไม่ติดเสียอย่างเดียว จิตก็ผ่านได้เลย ถึงอันนี้จะตายก็ไม่มีเสียหาย มีแยกแยะกันอย่างนั้น ที่ว่ามีสติๆ นั้นถูกต้องแล้ว สติจำเป็นมากทีเดียว ยิ่งการภาวนาด้วยแล้ว สติติดแนบเท่าไรยิ่งดี ดังที่เคยพูดให้ฟังแล้ว บีบบังคับกันไม่ให้คิดเรื่องอื่นใด คือคิดเหล่านั้นเป็นเรื่องของกิเลสทั้งหมด ที่มันชำนิชำนาญคล่องตัว คิดปรุงเรื่องนั้นเรื่องนี้ทั่วโลกสงสาร มีแต่เรื่องของกิเลสมันคิดนะ ทีนี้เมื่อมันคิดพอตัวของมันแล้วมันจะออกของมันเหมือนกับน้ำพุๆ ๆ ขึ้นเรื่อยๆ
ทีนี้เวลาเราเอาคำบริกรรม สติบังคับคำบริกรรมปิดท่อน้ำที่มันพุ่ง เข้าใจไหม เอาคำบริกรรมเช่นพุทโธเป็นต้นปิดกึ๊ก ทีนี้เอาสติจับไว้บัดกรีเอาไว้ไม่ให้มันดิ้นออกมาได้เลย นี่ตรงนี้ที่ตรงทุกข์มากนะ เราทำมาแล้วทั้งนั้นนี่ ทุกข์มากที่สุดที่จิตมันพุ่งๆ ด้วยกิเลสตัณหา ทีนี้เราก็ปิดมันด้วยอำนาจของธรรม เช่น คำบริกรรมพุทโธ แล้วบัดกรีด้วยสติ เข้าใจไหม ให้ติดแนบไม่ให้มันออก มันอยากออกเท่าไรเหมือนว่าอกนี้จะระเบิด จำนะท่านทั้งหลาย นี่กิเลสมันรุนแรง นี่เรียกว่ากิเลส ที่มันคิดมันปรุงต่างๆ ตัวกิเลสจริงๆ มันอยู่ข้างใน ความคิดนี้ออกไปจากตัวดันให้ปรุง เข้าใจไหม ตัวกิเลสแท้ๆ ตัวดันนั่นแหละ คิดไปโน้นไปนี้กิเลสใช้ให้ไป หนุนไป
ทีนี้เราเอาพุทโธ พุทโธนี้เป็นเรื่องของธรรม ความคิดถึงเรื่องต่างๆ จะไม่บริกรรมก็ตาม เป็นเรื่องของกิเลสทั้งหมด คิดเรื่องรูปเรื่องเสียง เรื่องได้เรื่องเสีย เรื่องรักเรื่องชัง เป็นเรื่องของกิเลสทั้งหมด ทีนี้เราปิดเลยไม่ให้มันออก คิดแบบไหนก็ไม่ให้ออก เราจะให้ออกแต่คำว่าพุทโธๆ อย่างเดียว เปิดช่องให้พุทโธ แล้วสติติดไว้ บังคับ นี้ทุกข์มากทีเดียวนะ โถ เหมือนอกจะแตก แต่มันไม่ถอยเท่านั้น เอา แตกก็แตก อย่างไรจะไม่ยอมเผลอจากคำว่าพุทโธ ถ้าเผลอเมื่อไรอันนี้จะออกนะ นี่ที่ทุกข์มากที่สุด
แต่ไม่นานนะ วันแรกนี้หนักมากที่สุด พอวันที่สองค่อยอ่อนลง วันที่สามอ่อนลง อ่อนลงเท่าไรจิตนี้ยิ่งโล่งขึ้นๆ นี่ธรรมมีกำลัง ปล่อยให้ธรรมเปิดทำหน้าที่ก็คือว่า พุทโธก็เป็นธรรม สติก็เป็นธรรม ความพยายามให้ติดแนบกันก็เป็นธรรม บีบบังคับไว้ กิเลสไม่มีทางออก ทีนี้จิตใจก็ค่อยโล่งขึ้นๆ ความผลักดันทั้งหลายก็ค่อยเบาลงๆ จนกระทั่งประหนึ่งว่าบางครั้งถึงกับไม่มีความผลักดันอยากคิดอยากปรุงเลย เพราะอันนี้ตีเข้าๆ ให้จำไว้นะ เวลาหนักหนักมากนะ กิเลสตัวเป็นภัยต่อเรามันเคยเดินวัฏจักรมาสักกี่กัปกี่กัลป์ในหัวใจดวงเดียวนี้ มันจะไม่ชำนาญยังไง ทีนี้เวลาเราจะมาปิดกั้นไม่ให้มันเดินนี้ มันก็ดันเราเหมือนอกจะแตก ให้จำเอาไว้ เอา แตกก็แตก ไม่แตกอกน่ะ กิเลสนั้นละตัวจะแตก สู้กันนี้กิเลสจะแตก เราไม่แตกว่างั้นเลย หมุนติ้วเข้าไป บังคับเข้าไป
วันแรกนี้ อู๋ย พูดไม่ถูกเลยนะเพราะความบังคับ ไม่ให้เผลอเลยตั้งแต่ตื่นนอน พอแย็บก็เอาเลยรู้กันเลย จับปั๊บเลย ก็ดังที่พูดว่าระฆังดังเป๋งนั่น คือลงใจแล้วว่าจิตของเราที่เจริญแล้วเสื่อมๆ นี้ อาจจะเป็นเพราะเราไม่มีคำบริกรรม มีแต่การกำหนดจิตเอาไว้ด้วยสติเฉยๆ มันอาจเผลอไปทางใดก็ได้ เพราะฉะนั้นมันถึงเจริญแล้วเสื่อมๆ คราวนี้เราจะบริกรรม คือจะให้คำบริกรรมติดไว้กับจิต มีสติบังคับอยู่นั้น เอา มันจะเสื่อมจะเจริญให้รู้กันคราวนี้ มาแน่ใจจุดนี้ แล้วพ่อแม่ครูจารย์ท่านก็สอนอยู่แล้ว แต่เรายังไม่ได้ปักจิตอะไรนักแต่ก่อน พอกิเลสมันทำให้ล้มเหลวอยู่เรื่อยๆ ทีนี้พอมาปักจิตลงไป เอาแน่ละที่นี่ จะเอาคำบริกรรมพุทโธกับสติติดกันเลย จะเอาอันนี้ให้ได้ จะไม่ให้เผลอ มันจะเป็นยังไง จะเสื่อมจะเจริญไปไหนให้รู้กันจุดนี้
พอลงใจปั๊บ เอาละนะที่นี่ นี่หมายความว่าจะตั้งสตินะ ตั้งสตินี่หมายถึงว่าจะไม่ให้เผลอเลย เพราะฉะนั้นจึงว่าเหมือนระฆังดังเป๋งนี้นักมวยต่อยกันเลย ความเผลอกับความไม่เผลอต่อยกัน ทางนี้ก็มีแต่ความไม่เผลอซัดกันไป กิเลสที่มันเคยคิดพลุ่งๆ ตลอดเวลานี้ตีมันลง วันแรกหนักมากทีเดียว พอวันที่สองค่อยเบาไป วันที่สามเบาไปมากเข้านะ เบามากเข้าๆ ทางธรรมนี้เดินออกโล่งๆ สติจึงเป็นของสำคัญ ถ้าสติควบคุมอยู่แล้วกิเลสจะไม่เกิดแหละ ความคิดความปรุง เพราะฉะนั้นจึงบอกว่าสติตั้งแต่ขั้นเริ่มต้น ตั้งสติใช้ประเภทนี้ ถ้าขึ้นไปอีกสติก็ต้องมีติดแนบตามประเภทของกิเลสของธรรม ละเอียดเข้าไปเท่าไรสติก็ยิ่งละเอียดเข้าไป นี่พูดถึงว่าสติเป็นของสำคัญ เอ้าที่นี่ถามต่อไปอีก
โยม : กราบขอเมตตาองค์หลวงตาบอกแนะนำวิธีให้คนแก่ลดมานะ ๙
หลวงตา : มานะ ๙ มันคืออะไร เราเรียนจนเป็นมหาก็ไม่ทราบว่ามานะ ๙ มันคืออะไร อย่าถามมาเลยมานะเก้าแก้วนั่น รู้เท่าไรก็ไม่ตอบ มันยังไม่ถึงขั้นจะตอบ เอ้า ถามอย่างอื่น
โยม : ท้ายนี้ขออนุโมทนาสาธุการที่องค์หลวงตาได้เมตตาแก่หลานผู้น้อย และกราบอาราธนาสิ่งศักดิ์สิทธิ์สามแดนโลกธาตุ จงดลบันดาลให้หลวงตาอยู่เป็นที่พึ่งของสรรพสัตว์ทั้งหลายในสามแดนโลกธาตุ ตลอดนานเท่านานเจ้าค่ะ
หลวงตา : เอ้าว่าไป เราก็อยู่ของเรามาอย่างนี้ ใครอาราธนาไม่อาราธนาเราก็อยู่ของเราอย่างนี้
|
|
|