คำถาม 
โดย : กวิน ตันทวีวงศ์ ถามเมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2546

ภาวนาโดยดูตัวจิต รวมลงไม่นานและถอนออกมา

กราบเท้าท่านพ่อแม่ครูบาอาจารย์มหาบัว
ผม เป็นเด็กอยู่จังหวัดพังงา มีสำนักปฏิบัติสายพ่อแม่ครูบาอาจารย์มั่น เยอะพอควร ก็ได้รับแนวปฏิบัติทางจิตมามาก แต่ตอนนี้ มาเรียนต่อที่กรุงเทพ ไม่ค่อยจะมีสำนักให้เข้าไปเวลามีข้อติดขัด ก็เลยขอโอกาสพ่อแม่ครูบาอาจารย์ช่วยเมตตาตอบปัญหาให้ด้วย
ผมภาวนาโดยวิธีการนั่งดูจิต ดูตัวจิต ไม่ดูลมหายใจ ไม่กำหนดลมหายใจ มาเป็นเวลาประมาณ 1 ปีแล้ว แต่ยังไม่จริงจังเท่าที่ควร ทำได้ดีที่สุดก็มันรวมลง อยู่ในขณิกกะชั่วครู่หนึ่ง รวมลงไปไม่นานแล้วก็สติมันหลุด ตามไม่ทัน ก็ถอนออกมา เคยรวมอย่างนี้อยู่หลายครั้ง เมื่อตอนอยู่ที่พังงา ส่วนมากจะรวมเวลาที่เกล้าอธิษฐานนั่งภาวนาตลอดรุ่ง แต่ตอนนี้เกล้าอยู่กรุงเทพ ทำอย่างไรจิตมันก็ไม่ค่อยสงบ ไม่รวมลงเลย สติก็ไม่ค่อยสมบูรณ์ ตามจิตได้ไม่เท่าไหร่ก็หลุด มันได้เดี๋ยวเดียว กระผมอยากได้อุบายการภาวนาจากพ่อแม่ครูบาอาจารย์ที่จะช่วยให้เกล้าภาวนาได้ดีขึ้น แล้วก็อยากได้อุบายการพิจารณาร่างกายด้วย ผมศึกษาวิธีการตัดร่างกายเป็นท่อนๆของท่านอาจารย์เจี๊ยะ จุนโท อยู่พักหนึ่ง เคยนำไปปฏิบัติ แต่ไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่ อีกอย่างพอพิจารณาไปแล้วสักพักจิตจะชอบส่งออกนอก ไม่ติดต่อกัน มันก็เลยไม่รวมลง ขอโอกาสถามพ่อแม่ครูอาจารย์ด้วยครับ
เกล้ากระผม นายกวิน ตันทวีวงศ์ 

คำตอบ
เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2546

หลวงตา ที่ถูกก็คือต้องให้มีคำบริกรรมกำกับ เพียงคิดเพียงกำหนดเฉย ๆ ดังที่ถามมานี้นั้นหลักลอย ไม่มีหลักยึด กำหนดเฉย ๆ สติพลาดไปได้ง่ายที่สุด ต้องให้มีหลักยึด เช่น ผู้เริ่มต้นภาวนาก็ให้ใช้คำบริกรรมเป็นหลักยึดของใจ ไม่งั้นใจจะเถลไถล ใจเมื่อมีหลักยึดด้วยสติบังคับบัญชาให้อยู่กับคำบริกรรมแล้ว จะต้องมีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมาไม่เป็นอื่น ให้ทำอย่างนี้ การทำแบบตัวเองเหมือนอย่างว่าเรานี้นั่งเรือไปนะ เรือสู้เราไม่ได้โดดลง เราว่ายไปไม่ได้ถึงไหนปลาฉลามเอาไปกินเงียบ นั่นคนเก่งกว่าเรือ ถ้าถือเรือเป็นหลักเกณฑ์เป็นคู่ชีวิตจิตใจหรือประกันชีวิตแล้วเกาะเรือให้ติด ไปไหนไปด้วยเรือ อย่างนี้พ้นภัยถึงฝั่งได้ คนที่เก่งกว่าเรือมักเป็นอาหารของปลาฉลาม นี่คนเก่งกว่าพระพุทธเจ้ามักเป็นอาหารของปลาฉลามใหญ่คือกิเลสกลืนไม่พอโลกอันนี้ เอาละ เข้าใจแล้วนะ ก็มีเท่านั้นให้ได้หลักยึดคือคำบริกรรม มีเท่านั้นนะ 

 


 



<< BACK

 


หน้าแรก