คำถาม 
โดย : ปาวิดา ถามเมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2548

สติจ่อที่ลมหายใจจนไม่ได้หลับทั้งคืน

ลูกปฏิบัติธรรมโดย ก่อนนอนสวดมนต์ อาราธนาศิล ต่อจากนัน ทำสมาธิ บางวัน 15 นาที จนเป็นชั่วโมงบ้าง บางคืน ซึ่งในคืนวันที่ 15 นี้ หลังจากลูกได้นั่งสมาธิเสร็จ ลูกยังกำหนดดูลมหายใจเข้าออกทำความรู้สึกตามลมหายใจตลอด  ซึ่งทั้งคืนลูกรู้สึกตัวตลอด ในลมหายใจเข้าออก ลูกอยากกราบเรียนถามหลวงตาเจ้าค่ะว่าลูกกำหนดมากไปหรือเปล่า เพราะบางทีที่ลูกกำหนดอยู่นั้น ลูกจะปล่อยวางให้ลมหายใจว่าง เพื่อจะได้พักหลับบ้างแต่ เมือ่จะปล่อยวางเมื่อไรสติจะจ่อที่ลมหายใจตลอด จนลูกจะไม่ได้นอนเกือบทั้งคืน ลูกควรปฏิบัติเช่นไรเจ้าค่ะ กราบเรียนถามองค์หลวงตาเท่านั้ค่ะ ขอให้ธาตุขันธ์ของหลวงตาแข็งแรงเจ้าค่ะ จากหลานที่รักและเคารพองค์หลางตาอย่างสูงสุด

คำตอบ
เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2548

เรียนคุณผู้ถาม
หลวงตาเมตตาแสดงธรรมตอบปัญหาให้คุณ
เมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๔๘ ณ วัดป่าบ้านตาด  ดังนี้

ผู้กำกับ       :     หลังจากลูกได้นั่งสมาธิเสร็จ ลูกยังกำหนดดูลมหายใจเข้าออกทำความรู้สึกตามลมหายใจตลอด ซึ่งทั้งคืนลูกรู้สึกตัวตลอดในลมหายใจเข้าออก ลูกอยากกราบเรียนถามหลวงตาเจ้าค่ะว่า ลูกกำหนดมากไปหรือเปล่า เพราะบางทีที่ลูกกำหนดอยู่นั้น ลูกจะปล่อยวางให้ลมหายใจว่าง เพื่อจะได้พักหลับบ้างแต่เมื่อจะปล่อยวาง สติจะจ่อที่ลมหายใจตลอด จนลูกจะไม่ได้นอนเกือบทั้งคืน ลูกควรปฏิบัติเช่นไรเจ้าค่ะ จากหลานที่รักและเคารพองค์หลวงตาอย่างสูงสุด (จาก ปาวิดา)

หลวงตา     ไม่ได้นอนเพราะดูลมหายใจ ไม่มากไป เวลามันจะตายมันจะบอกตัวเอง เข้าใจไหม เราบอกว่าอย่างนี้บอกว่าไม่มากไป ถ้ามันจะตายจริงๆ ไม่มีใครจะรู้ตัวเองได้ยิ่งกว่าเรา ถ้าว่ามากไปมันจะนอนวันยังค่ำ อันนี้ไม่มากไปนะนี่ นอนวันยังค่ำคืนยังรุ่ง ไม่กินข้าวก็ได้ อันนี้ไม่มากไป ถ้าว่ามากไปหน่อยมันจะลงจุดนี้ เอาฟาดลงไป เข้าใจไหม ความตายอยู่กับเรา เขากำหนดอะไร เรายังไม่ได้ย้ำอีก เราติดใจอยู่กับคนนี้นะ เอาอ่าน

ผู้กำกับ       :     หลังจากลูกได้นั่งสมาธิเสร็จ ลูกยังกำหนดดูลมหายใจเข้าออกทำความรู้สึกตามลมหายใจตลอด ซึ่งทั้งคืนลูกรู้สึกตัวตลอดในลมหายใจเข้าออก ลูกอยากกราบเรียนถามหลวงตาเจ้าค่ะว่า ลูกกำหนดมากไปหรือเปล่า เพราะบางทีที่ลูกกำหนดอยู่นั้น ลูกจะปล่อยวางให้ลมหายใจว่าง เพื่อจะได้พักหลับบ้างแต่เมื่อจะปล่อยวาง สติจะจ่อที่ลมหายใจตลอด จนลูกจะไม่ได้นอนเกือบทั้งคืน ลูกควรปฏิบัติเช่นไรเจ้าค่ะ จากหลานที่รักและเคารพองค์หลวงตาอย่างสูงสุด

หลวงตา     :     ลมหายใจถึงจะกำหนดรู้กันอยู่ ระยะที่ขันธ์มันจะพักตัวมันก็เปลี่ยนของมันปั๊บในขณะนั้นหลับได้อยู่นะ เหล่านี้เราผ่านมาทั้งนั้นแล้วนี่นะ เอาเสียจนกระทั่งกลางคืนทั้งคืนนอนไม่หลับเหมือนกัน กลางวันมันยังจะไม่หลับอีก หมุนติ้วๆ เวลาธรรมทำงานโดยอัตโนมัติ แก้กิเลสโดยอัตโนมัติ มันจะไม่หลับไม่นอน จนกระทั่งไปหาพ่อแม่ครูจารย์ คือทีแรกเราติดสมาธิ นิ่งทั้งวัน แน่ว ไม่มีอะไรในโลกนี้ เหลือแต่ความรู้ที่เด่น นี่เรียกว่าติดสมาธิแล้ว เล่าให้ท่านฟัง นี่ท่านไล่ออกจากสมาธิ ออกมาทางด้านปัญญา

เวลาออกทางด้านปัญญาแล้วหมุนติ้ว เลยไม่หลับไม่นอน กลางคืนตลอดรุ่งไม่หลับเลย กลางวี่กลางวันยังจะไม่หลับอีก มันจะตายแล้ว ขึ้นไปหาท่าน ท่านบอกว่านั่นมันเลยเถิด แล้วทำไงที่นี่ ให้พักผ่อนบ้าง ไม่พักผ่อนไม่ได้ เราจึงได้มากำหนดที่อื่นที่ใดไม่เอา ปัญญาที่มันหมุนติ้วๆ เป็นธรรมจักร หดย่นเข้ามา ลากเข้ามาๆ อยู่กับพุทโธคำเดียว เอาๆ ทีนี้ให้อยู่กับพุทโธคำเดียว สุดท้ายเอาพุทโธบังคับให้อยู่ เรื่องสติปัญญามันจะหมุนของมันตลอด เลยให้มันยับยั้งกันด้วยพุทโธ มันจะคิดเรื่องอะไรก็ตาม จะเอาพุทโธเป็นหลักจิตยึดรู้อยู่นี้ พุทโธๆ หลับได้ 

อันนี้ก็ควรจะยึดอะไรเป็นหลักให้หลับได้ก็ได้ มันไม่หลับตลอดคืนเหรอ (เขาบอกอย่างนั้นละครับ) เอาจะเปลี่ยนจากลมหายใจเข้ามาหาพุทโธก็ได้ เพื่อจะเห็นวรรคตอนของมันที่พักที่อยู่ที่หลับ แยกอย่างนี้ลองดู ของเราเรื่องปัญญามันหมุนตลอด แล้วยับยั้งกันด้วยพุทโธ ไม่ให้เอาอะไร เอาพุทโธเพื่อให้หลับนอนได้ มาอยู่นี้หลับได้ ถ้าเอาปัญญาหมุนตลอดฆ่ากิเลสๆ สุดท้ายก็จะฆ่าตัวด้วย ด้วยความไม่รู้จักประมาณ นี่เอาอย่างนั้นนะ ให้อยู่กับพุทโธๆ โดยเฉพาะนี่ก็ได้ เอาลองดูนะ 

วิธีนี้เป็นวิธีหนึ่ง เราก็ไม่เคยทำอย่างนี้ แต่มันก็คล้ายคลึงกัน เปลี่ยนแปลงจากทางด้านปัญญาที่หมุนติ้วตลอดเวลาให้มาอยู่กับพุทโธแล้วไม่หมุน หลับได้ แน่ะ ถ้าอยู่กับอันนั้นไม่หลับ หมุนเข้ามาอยู่กับพุทโธ ให้อยู่จุดเดียวหลับได้ นี่กำหนดอานาปานสติอาจจะมีความพิสดารแยบคายอยู่ในลมหายใจก็ได้ มันจึงทำให้เพลินอยู่ในนั้น ไม่หลับ อันนี้ย่นเข้ามาหาพุทโธนะ แล้วหลับ เอาละผ่านไปได้ที่นี่ คือมันจุดเดียวพุทโธ ไม่เคลื่อนไม่ย้ายไปไหน พุทโธ ๆ หลับได้ คนนี้น่าฟัง เข้าแก๊ปของนักภาวนา เข้าใจไหมแก๊บ พวกนี้ไม่รู้จักแก๊ปจักกั๊บอะไรเลย มันเซ่อจะตาย
                                             ________

(คุณสามารถอ่านและรับชมรับฟังพระธรรมเทศนากัณฑ์นี้เต็มกัณฑ์
ได้ที่ http://www.luangta.com/thamma/thamma_talk_text.php?ID=3565&CatID=0
และอ่านได้ที่หน้ารวมถาม-ตอบปัญหาธรรม)
                                                   

<< BACK

 


หน้าแรก