คำถาม 
โดย : ลูกที่กรุงเทพ ถามเมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 2548

จิตไม่มีเวทนา

ลูกภาวนาพุทโธ พยายามมีสติจดจ่อทุกอิริยาบถ ลูกนั่งภาวนาได้ประมาณ ๕ ชั่วโมง ระยะนี้ไม่เคยนั่งต่ำกว่านี้ จิตมันจดจ่อดูสังขารที่คอยคิดปรุงแว็บเข้ามา มันปรุงอะไรก็รู้ทันว่าปรุงดีปรุงชั่วอะไร จนบางทีคิดขึ้นมาว่านี่เราจดจ่อบังคับดูสังขารเกินไปหรือเปล่า เหมือนกับเพลินในจิตจึงทำให้นั่งได้นาน แต่ทุกครั้งพอนั่งไม่นานจิตก็เหมือนตกหลุมลึก แล้วรู้สึกสว่างโล่ง จิตใจเบาจนไม่รู้สึกว่ามีเวทนาเลยเจ้าค่ะ จึงไม่รู้ว่าจะพิจารณาเวทนาตรงไหน เพราะจิตไม่รู้สึกว่ามีเวทนา จิตมันว่าง ๆ สบาย ๆ จึงขอกราบเรียนถามหลวงตาว่าลูกควรจะทำอย่างไรต่อไปเจ้าค่ะ

คำตอบ
เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 2548

เรียนคุณผู้ถาม
หลวงตาเมตตาตอบปัญหาธรรมให้คุณวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๔๘
ณ วัดป่าบ้านตาด ดังนี้

หลวงตา     :     อันนี้ก็ไม่พ้นสติ มันว่างก็ให้มีสติอยู่กับความว่าง ความว่างไปจากใจ ความเคลื่อนไหวของใจเป็นยังไง ความว่างจะเปลี่ยนแปลงของมันไป นับว่าเก่งนะนั่งได้ ๕ ชั่วโมงคนไม่เคยนั่ง ๕ ชั่วโมงนับว่าค่อนข้างเก่งมาก ยังไม่เคยเข้าสงครามมาก่อน สงครามนั่ง ถ้ามันมีอารมณ์เป็นเครื่องเล่นเครื่องฟัดกันอยู่แล้วจะนั่งนานอย่างนั้นไม่ได้ นั่งทนเฉยๆ ทนไม่ได้นะ ต้องมีอารมณ์ฟัดกันเหวี่ยงกันอยู่ในนั้น นี่พูดธรรมดาพูดจริงๆ เวลาเข้าสงครามจริงๆ แล้ว ๕ ชั่วโมง ๔ ชั่วโมง ถือเป็นธรรมดาของการนั่งภาวนา มันเคย ทีแรกนั่งชั่วโมง ชั่วโมงครึ่งสุดขีด โอ๋ย หงายเลยนะ ชั่วโมงครึ่งหมดกำลัง หงายเลย เอากันไปกันมาสี่ห้าชั่วโมงเลยถือเป็นธรรมดาของการภาวนา เป็นอย่างนั้นนะ นั่งปั๊บนี้กว่าจะถึงระยะเวลาที่จะออกมา ๓ ชั่วโมง ๔ ชั่วโมงบ้าง ๕ ชั่วโมงบ้าง เป็นธรรมดาๆ ไม่เจ็บปวดตรงไหนๆ พอที่จะได้ต่อสู้กับทุกขเวทนาด้วยอุบายต่างๆ ไม่มี นี่หมายถึงว่าความเคย

เขาว่าจิตว่าง อย่างไรก็อย่าหนีเรื่องสติ เกิดเรื่องอะไรขึ้นมาให้ติดตามพิจารณา ปัญญาเป็นสำคัญมากที่จะตามต้อนเหตุการณ์ต่างๆ ที่มันมาปะทะกันๆ อารมณ์นั่นละปะทะกัน สติปัญญาคอยดูคอยพิจารณา ให้ทำอย่างที่เคยทำนั่นละ แต่เรื่องสติปัญญาอย่าลดละ นี่ละวงงานของความเพียรแท้ๆ สติกับปัญญานะ เอ้า ว่าไป
                                          __________
                                                  
(คุณสามารถอ่านและรับชมรับฟังพระธรรมเทศนากัณฑ์ได้ที่http://www.luangta.com/thamma/thamma_talk_text.php?ID=3417&CatID=0)

<< BACK

 


หน้าแรก