คำถาม 
โดย : อุบาสิกาน้อย ถามเมื่อวันที่ 27 มี.ค. 2548

การพิจารณาสังโยชน์

กราบเรียน หลวงตามหาบัว ที่เคารพค่ะ
โยมได้ปฏิบัติธรรมมาได้ระยะหนึ่ง ซึ่งได้รับการสอนจากศิษย์ฆราวาสท่านหนึ่ง ของหลวงปู่บุญจันทร์ (ซึ่งเป็นศิษย์ของพระอาจารย์เสาร์)... ได้รับการสอนให้เจริญสติ  พิจารณาสังขารทั้งหลาย ให้เห็นไตรลักษณ์ แล้วกำหนดดูทุกข์ประจำสังขารนั้นๆ จากนั้น นำทุกข์นี้ มาแจกแจงหาเหตุ  และหาทางดับเหตุนั้น  พร้อมทั้ง ได้เจริญมรรค มาในระดับหนึ่งแล้วค่ะ

ได้พบเห็นธรรมอย่างหนึ่ง คือ ผู้รู้ที่มีองค์ ของโพชฌงค์ ครบบริบูรณ์  ... เป็นธรรมอันเข้าถึงได้จาก การละขันธ์ทั้งห้า  ทั้ง รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ เหลือเพียงอาการรู้อย่างหนึ่ง เท่านั้น .. ในภาวะนั้น มีสติแจ่มชัด สงัดจากสังโยชน์ทั้งปวงเป็นอาการชั่วคราว จากการพิจารณาของโยมเอง คิดว่า ภาวะนี้ เป็นอรูปอย่างหนึ่ง แต่เป็นที่สงบ สงัด จากกิเลสทั้งปวง ต่อมาเมื่อได้มา พิจารณา เรื่อง อรูปราคะ และรูปราคะ พบว่า เมื่อไม่พึงปรารถนา ในอรูปธรรมทั้งหลายทั้งปวง รวมถึง ภาวะรู้นี้ กลับ ทำให้จิต ตกอยู่ในภาวะฟุ้งซ่าน (อันเป็นสังโยชน์ ข้อที่ 9)  วิธีแก้ที่โยมปฏิบัติอยู่คือ ย้อนกลับมาอยู่ที่อาการรู้ เหมือนเดิม เมื่อรู้ชัดอยู่ ในผู้รู้ ก็ละทิ้งอาการฟุ้งซ่านได้ แต่ถึงกระนั้น โยมยังมีความสงสัย ในผู้รู้นี้ว่า เป็นธรรมอันควรละ หรือ ควรยึดถือไว้ เพื่อการเจริญในธรรมอันบริสุทธิ์ยิ่งๆขึ้นไปอนึ่งด้วยการปฏิบัติมาจนถึงทุกวันนี้ ก็ได้อาศัยภาวะรู้นี้มาตลอด   แต่ทางด้านภายภาคหน้านั้นกลับไม่รู้ว่า ควรทำอย่างไร

อาจารย์ ของโยมเอง ก็มีความรู้ทางธรรมสุด แต่เพียงเท่านี้  หากจะก้าวเข้าสู่ภาวะอันยิ่งกว่านี้  โยมเห็นว่า เพื่อไม่ให้หลงทาง ไม่ให้เนิ่นช้า ควรต้องมีอาจารย์ ที่รู้ธรรม เห็นธรรมอันยิ่งเองแล้ว

เนื่องด้วยทุกวันนี้ พระศาสนามีความผิดเพี้ยนไปมาก ไม่มีผู้ใดที่เป็นที่พึ่งในทางธรรมที่ควรไว้ใจได้  .. ก็เห็นเพียงแต่หลวงตาที่เป็นผู้ถึงที่สุดแล้ว เป็นผู้มีความรู้รอบแล้ว ...จึงได้กราบเรียน ขอความเมตตาจากหลวงตา สอนธรรมที่ยังไม่รู้นี้ ให้ได้รู้ด้วยเถิดค่ะ
 
สุดท้ายนี้ ขอพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ รวมถึง เทวดาในที่ต่างๆ พระอินทร์ พระพรหม ท้าวยมราช นาค ยักษ์ และครุฑ  ผู้มีไตรสรณคมเป็นที่พึ่ง  จงได้มาช่วยกัน คุ้มครองหลวงตา  ให้ได้ปกป้องรักษาพระศาสนาไว้ ตราบจนสิ้นวาระอันควร ด้วยเถิด...^_^

คำตอบ
เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2548

เรียนคุณผู้ถาม
หลวงตาเมตตาแสดงธรรมตอบปัญหาให้คุณ
เมื่อวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๔๘  ดังนี้

หลวงตา     :     ที่เขาพรรณนามานี้ ต้นหลักเขาภาวนายังไง เขามีหลักใจหรือเปล่า หลักใจเช่นเขาบริกรรม เป็นหลักใจสำคัญมากนะ ถ้าเป็นพุทโธหรือคำบริกรรมใดก็ได้ นั่นแน่ใจ ถ้าอยู่ๆ ก็มาทำขึ้นเวลาเป็นขึ้นมามันก็ไม่มีหลักยึด เช่นเรามีเชือกล่ามโซ่เอาไว้นี้ สัตว์ตัวไหนๆ ดึงโซ่มันกลับมา ถ้าปล่อยไปเลยมันเตลิดเปิดเปิงไปได้ ไม่มีหลักยึดของการภาวนาเช่นคำบริกรรมไม่ค่อยเหมาะและไม่เหมาะ ควรจะมีหลักยึดคำบริกรรม จะเป็นคำใดก็ตาม ให้สติเป็นผู้บังคับ จับคำบริกรรมติดกับจิต นี้เป็นความค่อนข้างแน่นอนและแน่นอนเป็นลำดับไป การทำภาวนาโดยไม่มีคำบริกรรมเป็นหลักยึดนี้เราไม่ค่อยแน่ใจ ถ้าเป็นกรณีพิเศษเราแน่ใจด้วย เช่น ขิปปาภิญญา ที่ควรจะรู้อย่างรวดเร็ว มันพลิกแพลงเปลี่ยนแปลงไปทันทีเลยก็ได้ ถ้ามันควรจะค่อยเป็นไปตามเรื่องตามราวก็ควรจะเป็นอย่างนี้ อันนี้ที่เขาพูดพรรณนาไปนี้ ดูหลักยึดไม่ค่อยมี เร่ๆ ร่อนๆ ไปเสีย 
                                                ________

(คุณสามารถอ่านและรับชมรับฟังพระธรรมเทศนาเต็มกัณฑ์ได้ที่
http://www.luangta.com/thamma/thamma_talk_text.php?ID=3313&CatID=2)

<< BACK

 


หน้าแรก