คำถาม 
โดย : สลัดบาร์ ถามเมื่อวันที่ 3 พ.ย. 2547

สติจ่อที่จิตว่าง

เมื่อตั้งมั่นดู รู้อยู่ที่จิต จะเห็นอารมณ์ต่างๆเกิดขึ้น แล้วแปรปรวนไป ถึงที่สุดของอารมณ์เหล่านั้นก็แค่นั้น ดับทั้งหมด ไม่มีอะไรตั้งอยู่ได้  เหลือแต่ความรู้ว่างที่ใจเท่านั้น จากนั้นลูกจึงตั้งสติรู้อยู่ที่ว่าว่างนั้น มันก็ไม่มีอะไรเกิด อะไรดับ ไม่มีอะไรที่ไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลงให้เราดูเจ้าค่ะ ถึงจุดนี้ เราหมั่นรู้ด้วยสติกับจิตนี้ตลอด ยืน เดิน นั่ง นอน เปลี่ยนอิริยาบทต่างๆ เราเอาสติจ่อที่จิตที่ว่างอย่างนี้จะถูกผิดอย่างไรเพื่อความพ้นทุกข์ได้อย่างแท้จริงเจ้าค่ะ หลวงตาโปรดแนะนำลูกด้วย

คำตอบ
เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2547

เรียนคุณผู้ถาม
หลวงตาเมตตาแสดงธรรมตอบให้คุณ 
เมื่อวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๔๗ ณ วัดป่าบ้านตาด  ดังนี้

หลวงตา     :     ที่พิจารณานี้ถูกต้องแล้ว นี่ละที่ว่าให้เอาสติจ่อลงไปที่จิต จิตนี้เป็นมหาเหตุ เกิดตลอดเวลา โลกธาตุนี้เกิดจากอันนี้เป็นตัวผู้ให้ความหมายดีชั่วต่างๆ แล้วก่อความเดือดร้อนเสียหายมาใส่ตัว ถ้าไม่มีสติมันจะคิดของมันอย่างนั้นตลอดเวลา นี้เป็นโรงงานใหญ่ของวัฏจักร ความหมุนเวียนของจิตก็เพื่อความเกิดตาย ความทุกข์ความลำบากพัวพันไปตามกันนั้นแหละ จึงเรียกว่าจิตนี้เป็นมหาเหตุ มหาเหตุอันนี้ในเบื้องต้นเป็นเรื่องของกิเลสทำงาน แสดงอยู่ตลอดเวลาภายในจิตใจ เมื่อธรรมยังไม่เข้าไปจ่อกันก็ไม่มีเรื่องของธรรม คือคำว่ามหาเหตุ มีทั้งเหตุทั้งของกิเลสทั้งของธรรมอยู่ด้วยกัน แต่เริ่มแรกนี้ธรรมจะยังไม่ค่อยได้แสดงตัวนัก มีแต่กิเลสเป็นเจ้าใหญ่นายโตอยู่ภายในจิตใจ

ทีนี้พอสติเราตั้งไปนั้นเรียกว่าให้ดูจิตตัวเองที่เป็นมหาเหตุ พอดูนี้แล้วความคิดผิดถูกดีชั่วมันจะแสดงมาจากนั้น ทีนี้มันก็รู้กัน พอสติมีเข้าไป ความคิดทั้งหลายก็ค่อยหดย่นเข้ามา เพราะสติเป็นเครื่องหักห้าม ถ้ามีสติแล้วหักห้ามความคิดความปรุงต่างๆ ได้เป็นลำดับลำดา จนกระทั่งกลั่นกรองเป็นความคิดดีคิดชั่ว คิดอะไรผิดนี้ปัดออกทันที คิดถูกเสริมขึ้นมา นั่น ที่พูดเหล่านี้ถูกต้องแล้ว เพื่อความพ้นทุกข์ก็อย่าหนีจุดนี้ ให้พิจารณานี้ ความพ้นทุกข์จะอยู่ที่นี่ เพราะทุกข์อยู่ที่นี่ พ้นทุกข์พ้นที่นี่เอง พ้นที่จิตเป็นตัวมหาเหตุ ด้วยการพินิจพิจารณาทางด้านจิตตภาวนา ถูกต้องแล้ว เอาเท่านั้นไม่เอามาก คนนี้ภาวนารู้สึกสำคัญอยู่มากนะ
                                             __________

คุณสามารถอ่านและรับชมวิดีโอพระธรรมเทศนากัณฑ์นี้ ได้ที่
http://www.luangta.com/thamma/thamma_talk_text.php?ID=3111&CatID=2

<< BACK

 


หน้าแรก