|
/SCRIPT LANGUAGE="javascript1.1" page="dhamma_online";
/SCRIPT LANGUAGE="javascript1.1" src="http://truehits1.gits.net.th/data/e0008481.js">
|
|
|
คำถาม
|
|
โดย : patricia vannarath ถามเมื่อวันที่
31 ส.ค. 2547 |
จิตรวม ไม่คิด ไม่ปรุงแต่ง
กราบเท้าองค์หลวงปูที่เคารพสูงสุด
หลังจากที่ลูกนั่งแล้ว จิตรวมแล้ว แต่ไม่มีอะไรเกิดขื้น จะไม่คิด ไม่ปรุงแต่งอะไรเลย จะอยู่อย่างนั้นเป็นนานๆแต่ละครั้ง ลูกอยากรู้ว่าลูกควรจะทำอย่างไรต่อไปอีก ลูกขอกราบเรียนหลวงปูเท่านี้ ขอหลวงปู่เมตตาลูกด้วย
|
คำตอบ |
|
เมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2547 |
เรียนคุณผู้ถาม หลวงตาเมตตาแสดงธรรมตอบปัญหาภาวนาให้คุณ เมื่อเช้าวันที่ ๖ กันยายน ๒๕๔๗ ณ วัดป่าบ้านตาด ดังนี้
หลวงตา : เบื้องต้นทำภาวนายังไง(คงภาวนาพุทโธแหละครับ) กำหนดพุทโธแล้วเป็นยังไง เอ้าว่าซิ (นั่งแล้วจิตรวมแต่ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ไม่คิดไม่ปรุงแต่งอะไรเลย จะอยู่อย่างนั้นนานๆ ในแต่ละครั้ง) เออ ถูกต้อง (แล้วเขาจะทำยังไงต่อไปครับ) ให้ทำอย่างนั้นแหละ ต่อมาถ้ามันมีความสงบ ความสงบของจิตเรียกว่าความค่อยอิ่มอารมณ์ของจิต คือจิตนี้หิวโหยตลอด อยากนั้นอยากนี้อยากตลอดเวลา มีอะไรๆ ก็ไม่พอ ความอยากของจิตนี้ท่วมท้นไปเลย ได้มากเท่าไรยิ่งอยากมากๆ นี่คือกิเลส อารมณ์อันนี้เรียกว่ากิเลส วัตถุทั้งหลายเป็นวัตถุที่จะให้จิตไปพาดพิงไปวาดภาพขึ้นให้เกิดอารมณ์มากขึ้น ได้มากเท่าไรๆ ไม่พอๆ นี่คืออารมณ์ของจิต
ทีนี้พอจิตสงบ อารมณ์เหล่านี้ความหิวโหยเหล่านี้จะสงบตัวลงๆ นี่เรียกว่าจิตอิ่มอารมณ์ไม่อยากคิดอยากพูดอะไร นั่นละให้ออกทางด้านปัญญา พิจารณาดูธาตุดูขันธ์ ดังพระพุทธเจ้ามอบงานให้พระ เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ที่นี่จะรื้อภพรื้อชาติจะรื้อตรงนี้นะ เอาอันนี้งานอันนี้งานรื้อภพรื้อชาติของตัวเอง ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยนะ เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ นี่ละงานรื้อภพรื้อชาติ จับตัวนี้เข้าไปแล้วมันจะค่อยกระจายเหมือนไฟได้เชื้อ เชื้อมีอยู่ที่ไหนไฟจะลุกลามไปๆ เรื่อยๆ หยาบละเอียดเผาไหม้ไปได้ ส่วนไหนๆ จะรู้ได้เห็นได้ไปเรื่อย ลบล้างกันไปเรื่อย ปล่อยวางกันไปเรื่อย ให้ใช้ทางปัญญา สมาธิคือความสงบใจ ความสงบใจนี่ถ้าไม่มีปัญญามาแฝงก็นับว่าเลิศว่าเลอในตัวเอง จนติดสมาธิ ประหนึ่งว่านิพพานอยู่ในสมาธิ
นี้เป็นแล้วนะ ไม่ใช่มาพูดเฉยๆ เวลาจิตสงบเต็มที่อิ่มตัวเต็มที่แล้ว ไม่อยากคิดอยากปรุงอะไร ยุ่งกวนใจ แต่ก่อนไม่ได้คิดไม่ได้มันจะตาย ดีดดิ้น ทีนี้เวลาจิตอิ่มอารมณ์ด้วยการภาวนา แล้วสงบตัวเข้ามาๆ ทีนี้ไม่อยากคิดอยากปรุง ความคิดปรุงยิบๆ แย็บๆ กวนใจทั้งนั้น อยู่แน่วอันเดียวเลยที่นี่ รู้แน่วอยู่อันเดียว สุดท้ายเลยเหมาอันนั้นว่าจะเป็นพระนิพพาน นั่น มีอันเดียวเท่านั้นละ เอกจิตเอกธรรม เรียกว่าจิตอิ่มอารมณ์เต็มที่ นี่ละจิตอิ่มอารมณ์เต็มที่แล้วไม่สนใจกับอารมณ์อะไร ทีนี้ให้พาพิจารณาแยกธาตุแยกขันธ์ ดูผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ตับไตไส้พุงภายในภายนอกของตัวเองและของผู้อื่น หรือสัตว์ใดก็ตาม พิจารณาเป็น อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา อสุภะอสุภังป่าช้าผีดิบ พิจารณาดูในกายของตัวเองนี้ ทีนี้ปัญญาจะขยายตัวออก
ความรู้ทางด้านปัญญาจะเฉียบแหลมมาก สมาธิที่ว่าเลิศเลอในเบื้องต้นที่ไม่เคยออกพิจารณานั้น จะกลายเป็นมูตรเป็นคูถไปนะ คือต่ำกว่ากันขนาดนั้นละ ปัญญานี้แหลมคมเข้าไปเรื่อยๆ จิตจึงได้ดื่มทางด้านปัญญา ให้ใช้ปัญญาบ้างนะ ถ้าใช้ปัญญาจิตจะเบิกกว้างออกไปเรื่อยๆ จิตอิ่มอารมณ์นั่นละเป็นทางที่จะก้าวเดินทางด้านปัญญา พิจารณาแยกธาตุแยกขันธ์ตามสัดตามส่วนของมันเป็นยังไงๆ เวลาจิตหิวโหยอารมณ์พาพิจารณานี้มันเถลไถลออกไปข้างนอกเสีย เลยเป็นสัญญาอารมณ์ เป็นสมุทัยเป็นกิเลสไปเสีย เพราะฉะนั้นท่านจึงสอน เวลาจิตมีความสงบแล้วให้พิจารณาทางด้านปัญญา
ท่านสอนพระท่านว่า สมาธิปริภาวิตา ปญฺญา มหปฺผลา โหติ มหานิสํสา ปัญญาเมื่อมีสมาธิหนุนหลังแล้วย่อมเดินได้คล่องตัว แต่ทางปริยัติท่านว่า ปัญญาอันสมาธิอบรมแล้ว ย่อมมีผลมากมีอานิสงส์มาก ท่านพูดกว้างๆ แต่ผู้ปฏิบัติจะมารู้ตัวเอง สรุปลงมาแล้วก็เรียกว่า เมื่อมีสมาธิหนุนแล้วปัญญาเดินได้คล่องตัว ไปอย่างนั้นเลย ศีลเป็นเครื่องอบรมจิตให้มีความสงบ ไม่ระแคะระคายในศีลของตนว่าด่างพร้อยหรือขาดทะลุประการใด จิตก็ไม่มีอารมณ์ระแคะระคาย แล้วภาวนาก็สงบได้ง่าย เวลาสงบแล้ว จิตนี้สงบเข้าไปๆ ก็อิ่มอารมณ์ พออิ่มอารมณ์แล้วพาคิดทางด้านปัญญาก็คิด แยกธาตุแยกขันธ์ เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ จะทำให้เป็นสมถะก็ได้ คือสงบด้วยการพิจารณา เกสา ในจุดเดียว โลมา ผม ขน เล็บ ฟัน จะพิจารณาอะไรก็ตาม หรือเอาคำใดบริกรรมก็ตาม เป็นอารมณ์แห่งความสงบได้
ทีนี้เวลาจิตมีความสงบแล้ว เอาอันนี้แยกออกเป็นด้านปัญญาทางวิปัสสนาก็ได้ นั่นมันออกไปเรื่อยๆ จากนั้นก็เป็นปัญญาไปเรื่อยแหละ อาการทั้งหมด เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ นี้กลายเป็นหินลับปัญญาไปเรื่อยๆ แต่ก่อนเป็นหินลับจิตให้สงบ เบื้องต้นให้สงบ กล่อมจิตให้สงบ ต่อไปก็เป็นหินลับปัญญาไป ให้พิจารณาทางด้านปัญญา พากันเข้าใจนะเรื่องปัญญา ออกทางปัญญาเป็นอย่างนี้ ออกทางปัญญานี้กว้างขวางมาก สมาธิมีแต่รวมตัวเข้าๆ ไม่กว้างขวางมากนัก แต่ทางด้านปัญญานี้กว้างขวาง ออกไปเท่าไรยิ่งแตกกระจัดกระจาย แตกไปเรื่อยๆ เรื่องปัญญา พิสดารมากทีเดียว ให้พิจารณาทางด้านปัญญาแยกธาตุแยกขันธ์ ป่าช้าผีดิบ
ท่านสอนให้ไปเยี่ยมป่าช้า คือดูป่าช้าตัวเองไม่เห็น เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ คือร่างกายมันแตกมันเน่า มันยังไม่แตกมันก็เน่า มันก็เป็นของมันอยู่ภายใน นี่เรียกว่าป่าช้าผีดิบผีสด เราพิจารณานี้ไม่เห็น ท่านจึงสอนให้ไปเยี่ยมป่าช้า ให้ไปดูโน้นแล้วเทียบเข้ามาภายใน พอได้หลักได้เกณฑ์แล้วป่าช้าภายนอกก็ไม่จำเป็น ดูป่าช้าภายในกระจายไปหมด นั่นเรียกว่าปัญญา ก็มีเท่านั้นละ พูดย่อๆ ๆ ไปเสียก่อน แล้วมีอะไรอีกล่ะ __________
(คุณสามารถรับชมวิดีโอและอ่านพระธรรมเทศนากัณฑ์นี้เต็มกัณฑ์ ได้ที่http://www.luangta.com/thamma/thamma_talk_text.php?ID=3017&CatID=2)
|
|
|