สังขารธรรม
วันที่ 28 กรกฎาคม. 2505 ความยาว 62.21 นาที
สถานที่ : วัดโพธิสมภรณ์ จังหวัดอุดรธานี
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)

ค้นหา :

เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดโพธิสมภรณ์ อุดรธานี

เมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๐๕

สังขารธรรม

 

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส

อนิจฺจา วต สงฺขารา             อุปฺปาทวยธมฺมิโน

อุปฺปชฺชิตฺวา นิรุชฺฌนฺติ          เตสํ วูปสโม สุโขติฯ

ภาษิตที่ได้ยกขึ้นไว้ ณ เบื้องต้นนี้ ถ้าไม่พิจารณาตามหลักความจริงแล้ว ย่อมเห็นว่าเป็นภาษิตที่แสดงซ้ำ ๆ ซากๆ แต่ในขณะเดียวกันภาษิตนี้เป็นเงาตามตัว สำหรับแสดงหลักฐานแห่งความจริงซึ่งเป็นอยู่ในสัตว์และสังขารทั้งหลาย

เนื้อความในภาษิตนี้ แปลว่า สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป การระงับดับเสียซึ่งสังขารทั้งหลายอันเกิด ๆ ดับ ๆ ได้โดยสิ้นเชิงเป็นความสุขอันยิ่ง ดังนี้ คำว่า สังขารธรรม ที่ว่าไม่เที่ยงก็ดี เกิดขึ้นแล้วดับได้ก็ดี จะเห็นว่าสังขารประเภทใดที่เป็นภัยแก่บรรดาสัตว์ทั้งหลายอยู่ ณ บัดนี้ และสังขารประเภทใดที่เป็นเหตุให้หลั่งน้ำตา เป็นเหตุให้เกิดความวิปโยคพลัดพราก เป็นเหตุให้เกิดความเสียอกเสียใจ เป็นเหตุให้เกิดความรื่นเริงบันเทิง เป็นเหตุให้เกิดความรัก ความชัง ความก่อกังวลในใจของเราไม่มีจบสิ้น

องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า อนิจฺจา วต สงฺขารา เราทั้งหลายพึงทราบใกล้ ๆ ณ บัดนี้ เป็นหลักฐานพยานยืนยันให้เห็นอยู่อย่างคัดค้านไม่ได้ คือ เจ้าพระคุณพระธรรมเจดีย์ ซึ่งมีคุณงามความดี บุญญาภิสมภารซึ่งได้สร้างสมไว้ไม่น้อย ได้อบรมสั่งสอนประชาชนให้รู้ดี รู้ชั่ว ทำตัวเป็นคนดีมาเป็นอันมาก ทั้งได้ก่อสร้างวัดโพธิสมภรณ์นี้ให้เจริญรุ่งเรืองเป็นที่บำเพ็ญกุศลของพุทธบริษัททั่วไปเป็นเวลากว่า ๔๐ ปีแล้ว แต่ท่านก็ต้องมรณภาพจากความเป็นเข้าสู่ความตาย นี้ก็คือสังขารธรรมทั้งหลายไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วแตกดับสลาย ที่เราให้ชื่อว่า ตาย นั่นเอง

เพราะเหตุนั้น ทุกท่านพึงทราบว่า สังขารธรรมของท่านกับสังขารธรรมของพวกเราเป็นสังขารธรรมประเภทเดียวกัน มีเกิดขึ้นเป็นรูป เป็นกาย เป็นหญิง เป็นชาย มีแปรสภาพขึ้นมาเป็นลำดับๆ ตั้งแต่คลอดออกมากลายเป็นเด็ก เป็นหนุ่ม เป็นสาว เฒ่าแก่ เมื่อแปรสภาพไปเต็มที่แล้ว ก็แสดงความแตกดับให้เราทั้งหลายได้เห็น และได้มีชื่อขึ้นมาว่า ตาย คือ สังขารธรรมประเภทนี้เอง เราอย่าเห็นว่าสังขารธรรมประเภทใด ซึ่งเป็นธรรมชาติที่สำคัญ เป็นเหตุให้หลั่งน้ำตาของบรรดาสัตว์ทั้งหลายทั่วทั้งโลกนี้ไม่มีเวลาหยุด คือ สังขารธรรมประเภทนี้เท่านั้น จึงเป็นสังขารธรรมที่ใหญ่ยิ่งในโลก ความรักก็ดี ความชังก็ดี ความวิปโยคพลัดพรากก็ดี ความหลงความเพลิดเพลิน ความโศกเศร้าทั้งหลายก็ดี เกิดขึ้นมาจากสังขารธรรมประเภทนี้ทั้งนั้น

ฉะนั้นสังขารธรรมประเภทนี้ ท่านจึงยกขึ้นเป็นภาษิตต่อเนื่องมาแต่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทุก ๆ พระองค์ ตรัสไว้เสมอว่า อนิจฺจา วต สงฺขารา สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วดับไป ทั้งนี้ สังขารธรรมไม่ใช่ว่าจะมีแต่ที่ตายแล้วไม่เที่ยง มีแต่ที่ตายนั้นเกิดขึ้นแล้วดับไป พึงน้อมเข้ามาสู่ตัวเรา กายของเราทุกชิ้นที่ครองเป็นเจ้าของอยู่ ณ บัดนี้ ก็คือ สังขารประเภทนั้นนั่นเอง แปรสภาพไปเช่นเดียวกัน มีความแก่ ความชรา ทนไม่ไหวต้องแตก ต้องทำลายไปเช่นเดียวกับท่าน ความรักก็รักในสังขารประเภทนี้ ความชังก็ชังในสังขารประเภทนี้ ความหลงก็หลงในสังขารประเภทนี้ ดีใจเสียใจก็เพราะสังขารประเภทนี้เป็นเหตุ ได้รับความทุกข์ทรมานก็เพราะสังขารประเภทนี้เป็นเหตุ

สังขารประเภทนี้เป็นได้ทั้งสัตว์ เป็นได้ทั้งบุคคล เป็นได้ทั้งชั้นต่ำ ชั้นสูง เป็นได้ทั้งดี ทั้งชั่ว เป็นได้ในฝ่ายรูปร่างกลางตัว ทั้งดำ ทั้งขาว ทั้งรูปร่างสวยงามและไม่สวยงาม คือสังขารธรรม ประเภทนี้ทั้งนั้น ขอให้บรรดาท่านผู้ฟังทั้งหลาย จง โอปนยิโก น้อมเข้ามาสอนตนเสมอ อย่าเห็นเพียงว่าคนอื่นตาย คนอื่นแตกสลาย คนอื่นทุกข์ยากลำบาก เพราะสังขารธรรมประเภทของคนอื่นสัตว์อื่นเท่านั้น ให้พึงทราบว่าสังขารธรรมอันนี้เป็นเหมือนกับฝ่าเท้าที่ก้าวไปเป็นลำดับ สังขารธรรมประเภทใดที่เกิดมาแล้วในโลก ไม่สำคัญเท่าสังขารธรรมคือ ร่างกายของสัตว์และบุคคลที่แตกสลาย เดินตามรอยกันไปนี้ตั้งแต่ครั้งไหนครั้งไรมา

เกิดก็เกิดมาแล้ว จนตนเองซึ่งเป็นผู้เกิด แก่ เจ็บ ตาย และเคยเป็นมานานแสนนาน เพราะสังขารธรรมประเภทนี้ทั้งนั้น เคยได้รักได้ชัง เคยได้เสียน้ำตา และกำลังกาย กำลังใจ เพราะเหตุแห่งสังขารธรรมประเภทนี้มาแล้วนับประมาณไม่ถ้วน เราก็ไม่สามารถทราบความเป็นมาของเราได้ นี่คืออวิชชาความงมงายก่อตัวเอง ปกคลุมหุ้มห่อจิตใจไว้มิให้รู้ความเป็นมา ทำให้หมุนเวียนเปลี่ยนกันไปเปลี่ยนกันมาตามภพตามชาติ ตามอำนาจวาสนาดีชั่ว เกิดขึ้นเป็นรูปร่างกลางตัว ปรากฏเป็นสัตว์บ้าง เป็นบุคคลบ้าง เป็นคนชั้นสูงชั้นต่ำบ้าง ติดคุกติดตะรางได้รับความทุกข์ความลำบาก เป็นเทพบุตร เทวดา อินทร์พรหม กลับกลายเปลี่ยนแปลงมาเป็นมนุษย์ สับสนปนเปกันอยู่ตลอดเวลา ก็เนื่องในอวิชชาความหลงตน เป็นผู้เคยผ่านมาแล้วอย่างนี้ด้วยกันทุก ๆ คน ก็ไม่สามารถจะคำนวณถึงความเป็นมาของตนได้

การกล่าวมาทั้งนี้เป็นเรื่องของสังขารธรรมทั้งนั้น จึงควรใช้ โยนิโส คือปัญญา พิจารณาตามหลักธรรมที่เป็นจริงซึ่งประกาศอยู่ทั่วทั้งโลกธาตุ ไม่มีเวลาจะสงบเงียบลงไปได้ คือความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย เป็นไปอยู่ทั้งสัตว์ทั้งบุคคล ทั้งนอกบ้านในบ้าน ทั้งนอกเมืองในเมือง ทั้งใต้น้ำทั้งบนบก ทั้งใต้ดินบนอากาศ สัตว์และสังขารมีอยู่ในที่ใด ธรรมชาตินี้จะต้องเป็นเงาเทียมตัว ติดตามสัตว์และสังขารประเภทนั้น ๆ ไป แต่ยังไม่ถึงของเราเท่านั้น เราจึงไม่สนใจในสิ่งเหล่านี้ว่าจะเป็นอย่างนั้นหรือไม่ เมื่อผู้เกี่ยวข้องหรือสิ่งเกี่ยวข้องมีอยู่กับเรา เราเป็นผู้สงวนกรรมสิทธิ์ เป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในสัตว์และสังขารประเภทนั้น ๆ จึงปรากฏว่าสิ่งเหล่านี้มีขึ้นเฉพาะในบ้านเรือน หรือในเครือญาติของเราว่า พ่อ แม่ พี่ น้อง ลูก หลาน ญาติ มิตร สามี ภรรยาเจ็บไข้ได้ทุกข์ และพลัดพรากจากไปเท่านั้น

แต่เมื่อพิจารณาตามหลักธรรมชาติแล้ว สิ่งทั้งหลายเหล่านี้เคยประกาศตนมาตลอดเวลา พระพุทธเจ้าจะอุบัติขึ้นในโลกก็ตาม จะไม่อุบัติก็ตาม ธรรมชาติ คือ ความเกิด ความตาย และความวิปโยคพลัดพราก ซึ่งมีอยู่ในสัตว์และสังขารนั้น เป็นของเคยมีมาแล้วแต่ดึกดำบรรพ์เป็นมาอย่างนี้ แม้ปัจจุบันในวันนี้เราทั้งหลายก็เห็นแล้ว ในโกศของเจ้าพระคุณธรรมเจดีย์ก็คือโกศแห่งคนตายนั่นเอง ท่านตายแล้วอาราธนาไว้ในโกศของท่าน ส่วนพวกเราจะเป็นเช่นไร จะอยู่ในโกศหรือนอกโกศก็ตาม หมดชีวิตแล้วเขาเรียกว่าคนตายหรือสัตว์ตายทั้งนั้น อยู่ในไหปลาร้า ในน้ำปลา ก็คือสัตว์ตายนั่นเอง ในตลาดเต็มไปด้วยสัตว์เป็นและสัตว์ตาย เป็นป่าช้าของสัตว์ทั่วทั้งดินแดน

ถ้าเราพิจารณาเรื่องความเป็นความตายนี้แล้วจะได้ โอปนยิโก น้อมเข้ามาพิจารณาสังขารที่มีอยู่กับตัวของเราซึ่งประคองรักษาอยู่ ณ บัดนี้ ว่าจะเป็นเช่นเดียวกันกับสัตว์และสังขารทั่ว ๆ ไป โดยไม่ต้องสงสัย เพราะฉะนั้น คำว่า อนิจฺจา วต สงฺขารา จึงเป็นคำสวยงามและเหมาะสมกับสมัยและสถานที่อย่างยิ่ง สถานที่ได้แก่โลกอันเต็มไปด้วยความเกิด ความแก่ ความทุกข์ทรมาน และเต็มไปด้วยความสลาย ตาย พลัดพรากจากสัตว์และสังขาร นี้เรียกว่าสถานที่ ธรรมะก็แสดงสวมรอยลงในสภาพเหล่านี้ ที่มีความแปรปรวน มีความแตกดับหรือมีความเกิดขึ้นแล้วแตกดับไปประจำตน ภาษิตที่พระพุทธเจ้าทรงไว้นี้จึงเป็นภาษิตที่ทันต่อสมัยทุกกาล ไม่มีวันนี้และวันหน้าตลอดกัปตลอดกัลป์ เมื่อสัตว์และสังขารอันเป็นสภาพผันแปรเหล่านี้ยังมีอยู่ตราบใด พึงทราบว่าธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้นี้ ยังเป็นของจริงอยู่ตลอดเวลาและเป็นสวากขาตธรรมที่ตรัสไว้ชอบแล้ว ตรัสไว้ตามหลักความจริงที่เป็นไปอย่างใด

ผู้มาพิจารณาเห็นสังขารธรรมว่าเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เป็นสิ่งที่แตกดับ หาสาระแก่นสารไม่ได้แม้แต่ชิ้นเดียวอย่างนี้แล้ว จะได้ถือเอาเป็นแก่นสารทำความไม่ประมาทในสังขารของตนว่า เด็กก็ดี หนุ่มก็ดี ปานกลางก็ดี คนแก่ก็ดี มันเป็นก้อนจะแตกดับด้วยกันทั้งนั้น เพราะเป็นสังขารประเภทเดียวกัน เด็กก็คือสังขารนั่นเอง หนุ่มสาวก็คือสังขารนั่นเอง เฒ่าแก่ชราก็คือสังขารประเภทเดียวกัน สังขารประเภทนี้เต็มไปด้วยความแตกสลาย ความทำลาย เคยเป็นมาประจำแผ่นดินอันเป็นศูนย์กลางของโลกมนุษย์และสัตว์อาศัยอยู่ ไม่มีใครจะกล้าสามารถนับอ่านได้ว่า สังขารประเภทนี้เคยเปลี่ยนแปลงตัวเองมาตั้งแต่เมื่อไร เป็นธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงตัวเองอยู่ตลอดเวลา

เราทั้งหลายพิจารณาอย่างนี้เสมอ จะเป็นเหตุให้เกิดอุบายขึ้นในใจว่า สิ่งเหล่านี้ไม่เที่ยง เราจะหาอะไรซึ่งเป็นของเที่ยงยิ่งกว่านี้ สิ่งเหล่านี้เป็นทุกข์ เราจะหาอะไรซึ่งเป็นความสุขยิ่งกว่าสิ่งเหล่านี้ สิ่งเหล่านี้เป็นอนัตตา เราจะหาอะไรซึ่งเป็นอนัตตาที่แท้จริงยิ่งกว่าสิ่งเหล่านี้ ได้จากสภาพธรรมที่ว่าสังขารนี้เอง ถ้าเราเป็นนักใคร่ครวญจะต้องถือเอาประโยชน์จากสิ่งที่ไม่เป็นสาระแก่นสาร ให้เป็นสาระแก่สารนี้ขึ้นที่ใจของเราได้ ท่านกล่าวไว้ว่า อนิจฺจา วต สงฺขารา อย่าเห็นว่าสังขารที่ล่วงลับดับไปซึ่งเราได้เห็นก็ดี ได้ยินก็ดี ว่ามีแต่สภาพนั้นเท่านั้น พึงทราบว่าสภาพที่ได้ยินได้เห็นอยู่ ณ บัดนี้ คือตัวเรา ก็คือสังขารธรรมประเภทเดียวกัน เดินตามรอยกันไป มีทางสายเดียวกัน เดินก้าวเข้าไปสู่ความแตกดับเสมอกัน จนกระทั่งถึงจุดสุดท้ายคือ ความตาย เมื่อตายแล้วจิตผู้ไม่ตายจะต้องไปก่อกำเนิดเป็นสังขารขึ้นมาอีก แต่สังขารที่เกิดขึ้นจากจิตที่ไปครองตัวอยู่นั้น จะเป็นสังขารมีลักษณะเช่นไรนั้น ขึ้นอยู่กับกรรมของผู้เป็นเจ้าของ

คำว่า กรรม ในสถานที่นี้หมายถึงการกระทำ การทำดีจัดเป็นกุศลกรรม การทำชั่วจัดเป็นอกุศลกรรม การทำกลาง ๆ จัดเป็นอัพยากตกรรม ไม่เป็นบุญ ไม่เป็นบาป กรรมที่ทำเหล่านี้ใครเป็นผู้ทำ คนนั้นเป็นเจ้าของแห่งกรรม และเป็นผู้จะรับผิดชอบชั่ว ดี  สุข ทุกข์ของตนเอง พึงทราบว่าเป็นเจ้าแห่งกรรมทุก ๆ ท่าน และจะเป็นผู้รับผิดชอบดี ชั่ว สุข ทุกข์ ในกรรมของตนที่ทำขึ้นด้วยกันทุกราย เพราะเหตุนั้น เราทั้งหลายจึงมีความแตกต่างกัน แม้จะเป็นรูปมนุษย์ที่เกิดขึ้นมาให้ชื่อว่าคนๆ เหมือนกันก็ตาม ลักษณะอากัปกิริยา นิสัย มารยาท ความรู้ ความฉลาด อำนาจวาสนา ความโง่เขลาเบาปัญญา ความมั่งมีสมบูรณ์ จึงไม่เหมือนกัน

แม้จะอยู่ในสถานที่อันเดียวกัน อยู่บ้านเดียวกัน อยู่เมืองเดียวกัน แต่ความเป็นบุคคลไม่เหมือนกัน ความสุขทุกข์ก็มีมากน้อยต่างกัน ความโง่ ความฉลาด มีแปลกต่างกันเป็นลำดับ นี้ท่านเรียกว่าผลแห่งกรรม แสดงขึ้นมาจากกรรมที่ตนทำไว้ในสถานที่ วันใด เดือนใด ปีใด และชาติใด ต้องปรากฏขึ้นกับจิตของผู้ทำนั้น ผู้ทำต้องเป็นเจ้าของแห่งกรรม เมื่อทำลงไปแล้ว ผลคือ สุข ทุกข์ ดีชั่ว จะต้องเป็นของผู้นั้น สุขหรือทุกข์ต้องยอมรับ เพราะตนเป็นผู้รับผิดชอบในกรรมของตนเองโดยหลักธรรมชาติ ไม่มีใครมาบังคับให้เราเป็นผู้รับผิดชอบในผลแห่งกรรมที่ตนทำไว้ ทั้งนี้แม้จะฝืนก็ฝืนไปไม่ได้ เช่น เรามีความทุกข์ทรมานทางกาย และเดือดร้อนทางจิตใจ และมีความอดอยากขาดแคลน เพราะความขัดสนจนทรัพย์ เราจะหาตัวแทนมาชดใช้ผลแห่งกรรม คือความทุกข์ของเราย่อมเป็นไปไม่ได้ ต้องเป็นภาระของเราจะต้องรับผลกรรมนั้น ๆ โดยถ่ายเดียว

แม้ผู้มีความเฉลียวฉลาดและมีสมบัติมาก ทั้งไม่ค่อยเกิดโรคภัยไข้เจ็บ มีความสุขกายสบายใจ คิดอะไรมีมาสนองความต้องการประหนึ่งเทพบันดาล จะไปไหนมาไหนมีคนแห่แหนและนับหน้าถือตา มียศถาบรรดาศักดิ์ศฤงคาร บริวารเงินทองกองสมบัติเหลือจะใช้จ่าย นำไปฝากไว้ที่ธนาคารก็เป็นจำนวนมากมาย นี่จะให้ใครมารับภาระของเราไม่ได้เหมือนกัน เราต้องเป็นผู้รับผิดชอบในผลแห่งกรรมดีของเราเอง เรื่องของกรรมต้องเป็นอย่างนี้ และเจ้าของแห่งกรรมดีคือใจดวงรู้อันนี้ เพราะเหตุนั้น ใจจึงเป็นของสำคัญซึ่งครองร่างกายอันนี้อยู่ และใจเป็นของสำคัญทั้งทางโลกและทางธรรม เราจึงไม่ควรประมาทใจ พยายามอบรมไปในทางทีดี จนชินต่อนิสัย

คำว่าทางที่ดีนี้ คืออยู่ทางโลกก็ทำตนให้เป็นพลเมืองดี ประกอบทางธรรมก็เป็นผู้มีความมุ่งหวังต่ออรรถต่อธรรม ต่อกุศลอย่างยิ่ง นี่เรียกว่าอบรมบ่มนิสัยของเราให้มีความเคยชินต่อความดี จนเป็นนิสัยติดใจ เมื่อนิสัยที่เคยอบรมในทางความดีจนเคยชินแล้วนั้น ผลคือ ความดีที่ปรากฏแก่ใจที่เป็นเจ้าของและผู้รับผิดชอบ จะปรากฏตั้งแต่ความดีทั้งนั้น ปรารถนาสิ่งใดได้สมหวัง เพราะสิ่งที่หวังนั้นคือสมบัติของการกระทำที่ตนได้ก่อเหตุไว้แล้ว เราจะจำได้หรือไม่ได้ก็ตาม ผลนั้นเราจะปฏิเสธไม่ได้

เช่นเดียวกับเรียนหนังสือในคราวเป็นนักเรียน เราคงจะจำไม่ได้ทุกระยะเวลา เราเรียนวิชาความรู้ในโรงเรียนนั้น ๆ ตั้งแต่วันเริ่มแรก เราเข้าโรงเรียนวันที่เท่าไร วันหนึ่งครูสอนวิชาให้เรากี่วิชา และวิชาที่ครูสอนเรานั้น เราจำได้วันหนึ่งกี่ข้อ และจากวันนั้นจนถึงวันนี้เราได้เรียนมาจากครูกี่คน กี่วิชา และกี่แขนงที่เราได้ศึกษาจากครูและโรงเรียนนั้น ๆ นับแต่เบื้องต้นหัดเรียนสระและพยัญชนะ และบวกลบ คูณหาร และวิชาทั้งหมดที่บรรจุอยู่ในหัวใจของเรา ณ บัดนี้ เราเรียนมากี่วัน ในวันหนึ่งเราได้รับถ่ายทอดความรู้จากครูมามากน้อยเท่าไร ไม่มีใครจะสามารถรู้ได้ในวิชาของตนทั้ง ๆ ที่ตนเป็นผู้เรียนมาเอง แต่จะปฏิเสธไม่ได้ว่าเราไม่มีความรู้

นึกถึงตัว ก. ก็ออกมาทันที นึกถึงตัว ข. ตัว ค. ก็ออกมาทันที นึกถึงสระพยัญชนะ นึกถึงเลขตั้งแต่เลข ๑ ถึงเลขที่เราต้องการและตามหลักวิชาที่เล่าเรียนมาทั้งหมด พอนึกถึงตัวไหนก็ออกมาทันที แม้เราจะจำชื่อจำเสียงของครูซึ่งเป็นผู้ถ่ายทอดวิชาความรู้ให้แก่เราไม่ได้ และเราเป็นผู้รับถ่ายทอดจากครูมาสักกี่คน กี่โรงเรียนและกี่วิชาก็ตาม การจำได้หรือไม่ได้นั้นไม่เป็นสิ่งสำคัญ สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ ความรู้ที่เราเรียนมาจากครู เวลานี้ปัจจุบันอยู่ที่ใจของเราเท่านั้น นึกอะไรก็ปรากฏขึ้นมาตามต้องการข้อนี้ฉันใด คุณงามความดีที่เราได้สร้างไว้ก็เหมือนกัน ไม่จำเป็นที่เราจะจำได้ทุกแง่ทุกกระทงว่าเราได้ทำคุณงามความดีไว้กี่ครั้ง อบรมบ่มนิสัยของเรามากี่ชาติกี่ภพ ผลที่ปรากฏก็ต้องอยู่ที่ใจของเรา เช่นเดียวกับความรู้ที่เราเรียนมาจากครูฉะนั้น

ทีนี้จะอธิบายหลักแห่งกรรม ซึ่งเป็นเจ้าตัวแห่งวัฏฏะ และย้อนอธิบายถึงเรื่องวัฏจักร คือดวงใจนี้ที่จะให้ก่อรูปก่อนาม เมื่อมีคุณงามความดีที่เราสร้างไว้แล้ว เราตายไปแล้วก็จะต้องไปเกิดสถานที่ดี คติที่งาม สิ่งที่จะมาเป็นสมบัติของเราล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่เราพึงปรารถนาทั้งนั้น นี้ขึ้นอยู่กับกรรมดี แม้เราจะจำชื่อจำนามของกรรมดีและจำวันที่ เวลาเรากระทำกรรมดี ว่าได้กระทำไว้กี่ครั้งไม่ได้ก็ตาม ไม่เป็นปัญหาอะไร ที่สำคัญก็คือ สิ่งที่เราได้รับเป็นเจ้าของนั้นมีแต่ของดีทั้งนั้น เป็นลูกก็ดี เมียก็ดี ผัวก็ดี หลานก็ดี ญาติมิตรสหายทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับเรามีแต่คนดี ใคร ๆ ที่มาคบค้าสมาคมกับเราทั้งใกล้ทั้งไกลมีแต่คนดี  สมบัติ บริวารที่อยู่ในครอบครองมีแต่ของดีทั้งนั้น นี่เกิดขึ้นจากกรรมดีของเรา

ทีนี้ถ้าทำกรรมชั่วเล่าก็เช่นเดียวกัน ใครจะนับอ่านได้มากน้อยหรือไม่ได้ก็ตาม จะต้องมาแสดงให้เราเห็นอยู่ในตัวของเรานี้เอง อะไรที่เป็นของเรากลายเป็นของชั่วเสียทั้งนั้น ผู้หญิงก็ดี ผู้ชายก็ดี เมื่อเป็นลูกของเขาอยู่ก็รู้สึกว่าดี แต่ตกมาเป็นเมียเป็นผัวของเราแล้วมันกลายเป็นข้าศึกไปทั้งนั้น แม้ลูกหญิงลูกชายที่เกิดในหัวอกของเราแท้มันก็ไม่ดี สุภาพบุรุษ สุภาพสตรีเมื่อมาเกี่ยวข้องกับเรากลายเป็นคนไม่ดีไปตาม ๆ กัน สมบัติทุก ๆ ชิ้นเมื่อเป็นของคนอื่นมันดี เมื่อตกทอดมาเป็นของเราเลยกลายเป็นของเก๊ไปเสียทั้งนั้น นี่เป็นเพราะความชั่วมันอยู่กับตัวของเรา หลักใหญ่คือเจ้าของผู้รับผิดชอบมันอยู่กับตัวเราซึ่งทำชั่วเอาไว้ สิ่งทั้งหลายตกทอดมาถึงเราจึงกลายเป็นของชั่วไปตามเรา เราจะตำหนิว่าสิ่งนั้นไม่ดีก็ไม่ได้ เพราะเจ้าของมันชั่ว มันก็กลายเป็นของชั่วตามเจ้าของ เจ้าของหมายถึงใจผู้ทำ ใจที่ครองร่างอยู่ จึงหมายเอาหมดทั้งตัวของเรานี้ว่าเป็นผู้ชั่ว เรื่องกรรมมันเป็นอยู่เช่นนี้

นี่อธิบายถึงเรื่องกรรม หลักที่ใช้เป็นความหมุนเวียนเปลี่ยนแปลง เกิด แก่ เจ็บ ตาย ไม่แล้วไม่เล่าเป็นอย่างนี้ ถึงอย่างไรก็ตาม เมื่อคุณงามความดี คือกรรมอันดีซึ่งเราได้พยายามอบรมสั่งสมเอาไว้ จนเป็นผู้ชินต่อนิสัยในทางความดีแล้วนั้น แม้จะเดินไปตามถนนหนทางที่เราจะไปสู่จุดต่าง ๆ เช่นเดียวกับมนุษย์ในโลกเขาก็ตาม แต่ผู้ที่มีทรัพย์สมบัติเป็นเทพบันดาลแล้ว ย่อมไปด้วยความสะดวกกายสบายใจ ขึ้นเครื่องจักร เครื่องยนต์ จอดที่ไหนพักที่ไหนมีบ้านพัก มีโรงแรม มีตลาดร้านค้า จะจับจ่ายใช้สอยอะไรก็ได้สะดวกด้วยเงินของเขา แต่ผู้มีทรัพย์สมบัติน้อยหรือไม่มีทรัพย์สมบัติเลย เดินตากแดดวันยังค่ำแทบจะตายได้ทานไม่กี่บาท แม้ที่พักก็ต้องอาศัยร่มไม้นอนอยู่กับดิน กินอยู่กับหญ้า ไม่มีหลังคาเครื่องปกปิดกำบัง ยุงกัดแมลงตอม ฝนตกแดดออก เราเป็นผู้รับเคราะห์ทั้งนั้น จนกว่าจะถึงที่เขาประสงค์ก็กินเวลานาน

ความแตกต่างกันแห่งการเดินทาง แม้จะไปในทางสายเดียวกันก็มีความช้าความเร็ว มีความสะดวกขัดข้องต่างกันอย่างนี้ เพราะการก้าวไปแห่งบุคคลทั้งสองจำพวกนี้มีความต่างกัน คนจำพวกที่กล่าวไว้ก่อนนั้นคือจำพวกที่มั่งคั่งสมบูรณ์ มีทรัพย์มาก จะไปไหนสะดวกสบาย เหมือนมีนางขับกล่อมบำรุงบำเรอ มีผู้บริการคนรับใช้อยู่ตามระยะทางจนถึงสถานที่อยู่ เพราะเงินทองของมีค่าเป็นเจ้าอำนาจวาสนา เกิดมาจากเจ้าของเองที่หามาได้ด้วยความชอบธรรม กลายเป็นความสุขแก่ตนเอง แต่พวกคนข้างหลังนั้น ไปไหนก็อดอยากขาดแคลน ทางก็แร้นแค้นกันดาร ไม่มีความสะดวกกายสบายใจ แม้ไปถึงแล้วจะหาที่พักอาศัยก็ไม่ได้ เป็นความไม่สะดวกไปเสียทั้งนั้น

เราเดินอยู่ในวัฏสงสารก็เหมือนกัน บางคนเกิดมาไม่มีโอกาสที่จะได้เห็นความสุขความเจริญ เห็นแต่ความทุกข์ความข้นแค้น หาเช้ากินเย็นไม่พอปากพอท้อง ลำบากลำเค็ญเข็ญอกเข็ญใจ ไร้ทรัพย์อับปัญญา หากินวันหนึ่ง ๆ ควรจะพอปากพอท้องก็ไม่พอ สองวันสามวันจะอิ่มท้องวันหนึ่งก็ทั้งยาก ทั้ง ๆ ที่ของในโลกนี้มีไม่อดและมีเต็มอยู่ทั่วแผ่นดินตามตลาดร้านค้าทั่ว ๆ ไป แต่จะถือมาเป็นสมบัติของตัวนั้น มันจนใจที่ไม่มีอะไรจะแลกเปลี่ยนและไม่มีเงินจะซื้อ สุดท้ายก็ต้องยอมอดแสบท้อง นอนบนแผ่นดิน เราเห็นอยู่เต็มตาในตลาดเมืองอุดรของเรานี้ มีทั้งคนมั่งมี มีทั้งคนจน นอนอยู่ตามถนนหนทาง ไม่มีเสื้อผ้าจะปกปิดกาย แม้กางเกงตัวหนึ่งก็ติดต่อกันไม่รู้กี่ชิ้น ชิ้นนั้นต่อชิ้นนี้ ปะ ๆ ชุน ๆ เต็มไปด้วยความขาดวิ่นแห่งกางเกงและเสื้อผ้าที่เขานุ่งห่ม

ความเป็นทั้งนี้เพราะความจนบังคับ มองดูแล้วน่าทุเรศ สงสารในความเป็นมนุษย์ตาดำ ๆ เหมือนกัน ซึ่งเป็นได้ถึงอย่างนี้ ผู้ที่เป็นเศรษฐีมีเงินล้าน ๆ ในอุดรธานีนี้ก็มีมาก เหตุใดคนเหมือนกัน ฐานะความเหลื่อมล้ำต่ำสูงจึงต่างกันอย่างนี้ ข้อนี้เราจะไปตำหนิติโทษคนที่เขาจนก็ไม่ได้ จะไปชมคนมั่งมีถ่ายเดียวก็ไม่ได้ เพราะมีก็ขึ้นอยู่กับกรรม จนก็ขึ้นอยู่กับกรรม กรรมนั้นก็มีอยู่กับเราเหมือนกัน ถ้าเราต้องการให้เป็นคนประเภทที่น่าสังเวชและน่าขยะแขยง เราก็ต้องทำกรรมอย่างนั้น ต้องเป็นคนอย่างนั้น ถ้าเราต้องการเป็นคนมั่งมีเราต้องพยายามฝึกฝนอบรมตัวเรา ดัดแปลงตัวเราให้เป็นผู้หนักในทางความดี มีความขยันหมั่นเพียร มีความอุตส่าห์พยายามทุก ๆ ทางที่จะให้เกิดขึ้นแห่งโภคสมบัติ เราก็จะกลายเป็นคนที่สองขึ้นมาในคนดีและมั่งมีตามบุคคลประเภทที่กล่าวนั้น สิ่งทั้งหลายในโลกนี้พอทำได้หาได้ เกิดขึ้นจากน้ำใจเป็นของสำคัญ

นี่อธิบายถึงการท่องเที่ยวในวัฏสงสาร เป็นของแตกต่างกันโดยอำนาจวาสนาบุญญาภิสมภารอย่างนี้ ผู้มีอำนาจวาสนาสามารถแล้วนั้น ไปในทางใดก็ไม่มีความยุ่งเหยิง เป็นไปด้วยความสวัสดี จะมาเกิดในโลกนี้ก็ไม่ได้รับความทุกข์ลำบาก จนถึงจุดหมายปลายทางคือความพ้นทุกข์ได้ เช่น องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าของเรา ปรากฏว่าเวลามาประสูติในตระกูลกษัตริย์ เป็นพระเจ้าแผ่นดินครองกรุงกบิลพัสดุ์ ไม่มีความขัดข้องขาดแคลน มีแต่ความสะดวกไปเสียทั้งสิ้น ทั้งโภคสมบัติศฤงคารบริวาร เครื่องทรงทุกอย่างไม่มีอะไรขัดข้อง บำเพ็ญคุณงามความดีในเวลาพระองค์เสด็จออกบวช ก็ตรัสรู้เป็นศาสดาของโลก เสด็จไปที่ไหนก็มีแต่มนุษย์เทวบุตรเทวดาบูชาวันยังค่ำคืนยังรุ่ง เต็มไปด้วยเครื่องสักการะ จะว่าเกิดขึ้นด้วยอำนาจของพระพุทธเจ้าก็ไม่ใช่ แต่เกิดขึ้นเพราะความดีของพระองค์ต่างหาก แม้พระพุทธเจ้าที่ปรากฏขึ้นในพระองค์ก็เกิดจากคุณงามความดี

นี่ก็เหมือนกัน ผู้ใดมีปัญญาเฉลียวฉลาดพินิจพิจารณาอบรมจิตใจของตน แม้จะมาเกิดในโลกมนุษย์ก็จะเป็นคนดีมีพออยู่พอกิน พอเป็นพอไป ที่อยู่อาศัยปัจจัยเครื่องใช้สอย ตลอดถึงสมบัติที่มีวิญญาณและไม่มีวิญญาณ จะเป็นลูกเป็นเมียเป็นผัวและเพื่อนฝูง จะเป็นคนดีมีสง่าราศีเป็นที่ไว้วางใจกันได้ นี่ก็เกิดขึ้นเพราะอำนาจแห่งความดี เมื่อเราท่องเที่ยวในวัฏสงสารอยู่ ก็ขอให้ได้รับความสะดวกกาย สบายใจเพราะอำนาจแห่งกรรมดี เมื่ออำนาจวาสนามีจนเพียงพอแล้ว เราก็จะปรากฏ เตสํ วูปสโม สุโข จะระงับซึ่งสังขารที่เต็มไปด้วยความเกิด แก่ เจ็บ ตายอันนี้เสียได้

คำว่า เตสํ วูปสโม สุโข การระงับสังขารนี้มีสองประเภท คือ การระงับสังขารภายนอก ได้แก่สังขารร่างกายนี้ประเภทหนึ่ง ระงับสังขารภายใน คือความคิด ความปรุงของใจ ซึ่งเกิดขึ้นเพราะอำนาจอวิชชาอันเป็นตัวบงการนั้นประเภทหนึ่ง เหตุที่จะปรากฏสังขารภายนอกคือร่างกายนี้ขึ้นมา ก็เนื่องจากสังขารภายใน คือความปรุงความคิดของใจเป็นเหตุก่อเหตุ จะปรากฏสังขารภายในขึ้นมาเพราะอำนาจแห่งอวิชชา คือความหลงตัวเอง แม้จะเที่ยวเกิด แก่ เจ็บ ตายอยู่กี่กัปกี่กัลป์นับชาติไม่ได้ ก็ไม่สามารถจะถอนตนออกจากวัฏฏะนี้ได้ ท่านเรียกว่า อวิชชา ความหลงในความเป็นอยู่ ในความรู้อยู่ของตน จะทุกข์ลำบากก็ดี สุขก็ดี ตนได้เคยรู้เคยเห็น เคยประสบมาจนเพียงพอ แต่ก็ไม่รู้ทางจะออกจากสงสารจักรอันนี้ได้ จึงเต็มไปด้วยความสุข ความทุกข์ระคนปนเป

เช่นเดียวกับข้าวและแกลบรำผสมกันอยู่ รับประทานก็ไม่มีความเอร็ดอร่อย โลกที่มีความเจือปนไปด้วยทุกข์ แม้จะมีสุขก็สุขเพื่อทุกข์ เป็นของเจือปนกันอยู่เช่นนี้ ท่านจึงให้นามโลกนี้ว่า โลกสังขารธรรม ได้แก่ อนิจฺจา วต สงฺขารา แปรปรวนอยู่ตลอดเวลา ขณะเกิดมีความยิ้มแย้ม แต่ขณะตายมีความเสียใจ นั่นมันเกิดจากสาเหตุคือ ความหลงสังขารอันเกี่ยวกัน ทีแรกเมื่อเกิดขึ้นมาเป็นหญิงก็ตาม เป็นชายก็ตาม แหม ลูกเรานี้มันสวยเหลือเกิน มันน่ารักน่าปลื้มใจเหลือเกิน ทั้งมีความฉลาดรอบคอบ บอกง่าย สอนง่าย ไม่ดื้อดึงฝ่าฝืนคำสอนของพ่อแม่ผู้ปกครอง พอตายเท่านั้นร้องไห้โฮ นี่ก็ความหลงสังขารนั่นเอง ถ้าเราคิดไม่รอบคอบแล้วจะเห็นแต่ได้ท่าเดียว ไม่คิดดูท่าเสีย นี่แสดงว่าไม่พิจารณาถึงหลักเหตุผลคือความจริง จึงเกิดความเดือดร้อนเมื่อภายหลัง

ความดีใจที่ได้ในเบื้องต้นเลยไม่พอกับความเสียใจที่ได้รับภายหลัง เบื้องต้นมีความดีใจที่ได้อะไรมาตามความปรารถนา แต่เวลาสิ่งนั้นกลับกลายพลัดพรากจากไปเสีย เลยเกิดความเสียใจขึ้นมา ยิ่งมากกว่ารายได้ที่ปรากฏขึ้นนั้นเสียอีก เพราะขาดเหตุผล รายได้กับรายเสียจึงไม่เพียงพอกัน คนที่มีเหตุผลไม่คิดเช่นนั้น คนที่มีหลักธรรมแล้วย่อมคิดเห็นทั้งได้ขึ้นมาและรู้รอบคอบทั้งเสียไป จึงไม่เสียใจ สังขารประเภทนี้ปรากฏขึ้น พึงทราบว่าเงาคือความดับ มันจะต้องมาตาม ๆ กัน แต่ไม่วันใดก็วันหนึ่งเท่านั้น ต้องแน่นอนในความแตกสลายในความดับไปของสังขารธรรมประเภทนี้ แม้สมบัติอื่นที่ได้มาและเสียไปก็ควรมีหลักเหตุผลเป็นเครื่องค้ำประกัน จะบรรเทาความดีใจเสียใจลงได้ ไม่รุนแรง สังขารธรรมคือ กายปรากฏขึ้นมาจากสังขารภายใน สังขารภายในปรากฏขึ้นมาจากอวิชชาคือความหลงตัวเอง เมื่อมีศีล มีสมาธิ มีปัญญา เป็นเครื่องอบรมตนจนสามารถแก่กล้าแล้ว จะไม่เห็นตัววัฏฏะที่หมุนอยู่กับหัวใจของตนตลอดเวลาได้อย่างไร

การพยายามทำใจของเราให้เห็นบ่อแห่งความหมุนเวียนของตนเอง องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงชี้ช่องทางว่า จงพยายามให้ทานจะเป็นทานประเภทใด คืออภัยทานก็ตาม ทานด้วยวัตถุสิ่งของก็ตาม มากน้อยไม่สำคัญ สำคัญที่ทำอยู่เสมอ นี่เป็นผล และเป็นช่องทางหรือเป็นเครื่องมืออันหนึ่ง พยายามรักษาศีลได้มากน้อยก็ตาม ด้วยความเต็มอกเต็มใจ นี่จัดว่าเป็นเครื่องมือที่จะแก้ตัวอวิชชาอันมืดเต็มดวงนั้นได้ สมาธิคือความสงบของใจเป็นทางหรือเป็นเครื่องมืออันหนึ่งที่จะแก้ตัววัฏฏะนั้นได้ ปัญญาคือความเฉลียวฉลาด นับแต่ปัญญาขั้นต้นจนถึงปัญญาขั้นสุดท้าย เป็นเครื่องมือแต่ละขั้นๆ ที่จะแก้ไขอวิชชาดวงนั้นให้ได้ เมื่อเป็นผู้มีศีล สมาธิ หรือมีทาน ภาวนาจนเพียงพอแล้ว วัฏฏะจะซุ่มซ่อนอยู่ที่ไหน และจะไปไหนในเขาลูกใดเล่า วัฏฏะไม่ได้อยู่ในก้นนรกกับพระเทวทัต ซึ่งจะตามแก้ไขยาก แต่มันอยู่กับใจของเราทุกท่าน

เราเป็นนักท่องเที่ยว เป็นนักเกิด แก่ เจ็บ ตาย มาด้วยกัน ไม่มีใครแพ้ใครชนะ ไม่มีใครได้เปรียบใคร เรื่องความเกิด ความตาย ความสลาย ความทำลาย ความวิปโยคพลัดพรากจากสัตว์และสังขาร การท่องเที่ยวในวัฏสงสารนี้มีความเสมอภาคกัน ทำไมเราจะไม่สามารถเห็นตัวจักรซึ่งทำให้เราหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทำให้เกิด ๆ ตาย ๆ ทุกข์ยากลำบาก หมุนเวียนอยู่อย่างนี้ตลอดทั้งกัปทั้งกัลป์ได้เล่า เมื่อปัญญามีความสามารถพินิจพิจารณาเข้าไปจนเห็นจิตซึ่งเป็นเจ้าวัฏจักร อันเต็มไปด้วยอวิชชาหมุนรอบตัวเองอยู่อย่างนี้ชัดเจนแล้ว เราต้องทำลายจิตที่เป็นวัฏจักรนี้เสียได้ด้วยอำนาจแห่งปัญญาแท้

เมื่อปัญญาได้ทำลายวัฏจักร คือจิตที่เป็นอวิชชานี้เสียได้แล้ว คำว่า เตสํ วูปสโม สุโข ความระงับเสียซึ่งสังขารนั้นมันระงับดับไปเอง เช่นเดียวกับต้นไม้ที่เราถอนขึ้นมาทั้งรากไม่มีอะไรเหลือ กิ่งก้านสาขาทุกชิ้นที่มีอยู่ในต้นไม้นั้น ตลอดลำต้นเขาเราไม่ต้องไปทำลาย พอรากเหง้าของต้นไม้นั้นถูกถอนขึ้นมาหมดเท่านั้น อวัยวะทุกชิ้นของต้นไม้นับวันจะเหี่ยวยุบยอบและตายไป ไม่มีชิ้นใดเหลืออยู่ ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน จะเป็นสังขารที่ว่า รูปสังขารคือกายนี่ก็ตาม สังขารที่คิดปรุงขึ้นภายในจิตใจ จะคิดปรุงถึงเรื่องอดีตอนาคต ให้ปรากฏเป็นบุญเป็นบาปในปัจจุบันก็ตาม จะต้องดับไปหมด เพราะอวิชชาซึ่งเป็นหัวหน้าวัฏจักร หัวหน้าของสังขารซึ่งเป็นตัวสมุทัยนี้ ได้ถูกทำลายหายสูญสิ้นไปจากหัวใจแล้ว จะเหลือแต่พุทโธทั้งแท่ง ได้แก่ใจที่บริสุทธิ์เท่านั้น

นั่นแหละเรียกว่า เตสํ วูปสโม สุโข ความระงับดับเสียซึ่งสังขารอันเป็นบ่อเกิดแห่งสมุทัยได้สิ้นสุดลง เพราะอำนาจปัญญาอันมีกำลังกล้า สามารถประหัตประหารตัวอวิชชา ซึ่งเป็นเสนียดจัญไรนั้นไม่มีอันใดเหลืออยู่ภายในใจแล้ว แล้วจึงกลายเป็น เตสํ วูปสโม สุโข ความระงับดับเสียซึ่งสังขารทั้งหลายนั้น ไม่มีอันใดจะไปก่อความทุกข์ทรมาน ไม่มีอันใดจะไปก่อความทุกข์ ความลำบาก ความดีใจ เสียใจอีกแล้ว แม้สังขารคือร่างกายยังครองตัวอยู่ แต่สังขารประเภทสมุทัยที่เป็นเครื่องหลอกลวงจิตใจให้ยินดียินร้าย ให้เกิดความดีใจเสียใจ ให้เกิดความทุกข์ยากลำบาก ดับไปแล้ว เช่นเดียวกับเตาไฟ เมื่อหมดเชื้อไฟอยู่ภายในเตาแล้ว จะใส่ฟืนเข้าไปมากน้อยก็สักแต่ว่าเป็นฟืนเท่านั้น ไม่กลายเป็นไฟขึ้นมาได้

ใจถึงจะเรียกว่าใจก็ตาม แต่ใจนี้ไม่มีเชื้อคืออวิชชา สังขารปรุงขึ้นมาก็เป็นธรรมล้วน ๆ คิดเรื่องอะไรก็เป็นธรรมล้วน ๆ เวทนาถึงจะเสวยทุกข์บ้างตามสภาพของขันธ์ที่มีอยู่ ก็ไม่เป็นเหตุจะให้เกิดความลุ่มหลงแต่อย่างใด วิญญาณความรู้ในสิ่งที่จะมาสัมผัสก็รับรู้โดยธรรม ไม่รับรู้ด้วยความหลง ไม่รับรู้เพื่อเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ให้เกิดสมุทัย สั่งสมกิเลสขึ้นมา เลยกลายเป็นขันธ์ล้วน ๆ คือขันธ์ไม่มีกิเลสตัณหา นี่ท่านเรียกว่า เตสํ วูปสโม สุโข ผู้ถึงธรรมดวงนี้แล้วเรียกว่าเป็นผู้ถึงแดนแห่งความพ้นทุกข์

แม้จะมีธาตุมีขันธ์อยู่ก็ไม่มีความเดือดร้อนภายในใจ เป็น เตสํ วูปสโม สุโข อยู่ตลอดเวลา แต่สังขารในขันธ์ห้านี้จะระงับไปไม่ได้ เมื่อรูปขันธ์นี้ยังไม่แตก จะต้องใช้อยู่เป็นธรรมดา เหมือนพระพุทธเจ้าของเรา ท่านตรัสรู้แล้วยังอาศัยขันธ์ทั้งห้านี้เป็นเครื่องมือประกาศศาสนา คืออาศัยร่างกายเดินเหินไปสู่ที่ต่าง ๆ เพื่อสั่งสอนบรรดาสัตว์ อาศัยสังขารความคิดความปรุงภายในใจของพระองค์ เพื่อชี้แจงแสดงธรรมให้บรรดาสัตว์ทั้งหลายฟัง อาศัยสัญญาจำว่าคนนั้นคนนี้อยู่บ้านนั้นเมืองนั้น เป็นผู้สมควรจะรับธรรมของพระองค์ท่านได้ขนาดไหน วิญญาณความรับรู้ว่าใครเข้าใจในพระสัทธรรมของพระพุทธเจ้า และใครไม่เข้าใจ เมื่อมีการตอบรับหรือมีการสนทนากัน

เพราะฉะนั้น ขันธ์ห้านี้จึงเป็นเครื่องมือประกาศศาสนา แต่ไม่ใช่ขันธ์ที่จะทำพระองค์ให้วุ่นวายเหมือนแต่ก่อนมา ขันธ์ที่ทำพระองค์ให้วุ่นวาย ได้แก่ขันธ์ที่มีอวิชชาครองตัวอยู่ และเป็นเครื่องมือของอวิชชาที่มีบัญชาออกมาทางไหน ก็กลายเป็นสมุทัยไปทั้งนั้น เดือดร้อนวุ่นวายไปทั้งวันทั้งคืน เพราะเหตุแห่งขันธ์เหล่านี้ได้รับการกดขี่บังคับออกจากสมุทัยตัวใหญ่ ได้แก่ อวิชชา เมื่ออวิชชาดับไปแล้ว พึงทราบว่าสังขารอันเป็นสมุนของอวิชชาได้ดับลงไปพร้อมในขณะเดียวกัน จึงเรียกว่า เตสํ วูปสโม สุโข การระงับดับเสียซึ่งสังขารท่านกล่าวว่าเป็นความสุขอันยิ่งนั้น หมายถึงธรรมดวงนี้เอง

บรรดาเราทุก ๆ ท่าน สังขารที่เป็นตัวสมุทัยก่อความยุ่งยากแก่ตนอยู่ทั้งวันทั้งคืน เราก็พอทราบอยู่ภายในจิตใจ เมื่อได้อบรมจิตใจให้เป็นไปเพื่อความสงบเราก็พอทราบได้ จนกระทั่งเรามีปัญญาสามารถประหัตประหารกิเลสอาสวะเข้าไปเป็นชั้น ๆ ตั้งแต่ชั้นหยาบ ขั้นกลาง ชั้นละเอียด จนถึงชั้นละเอียดที่สุด ไม่มีอะไรเหลืออยู่ภายในจิตใจ แม้แต่อวิชชาที่เป็นเจ้าการแห่งวัฏจักรก็ได้ถูกทำลายลงแล้วด้วยปัญญาไม่มีอะไรเหลืออยู่ กลายขึ้นมาเป็น เตสํ วูปสโม สุโข ระงับสังขารอย่างราบคาบ เมื่อสังขารภายในใจที่เป็นไปเพราะอำนาจแห่งอวิชชาดับไปแล้ว ก็ไม่สร้างเป็นสังขารประเภทใหม่ขึ้นมา มีความระงับดับเสียซึ่งสังขารอยู่ตลอดเวลา แม้ออกจากร่างนี้แล้วก็ไม่เข้าไปสู่ปฏิสนธิที่ไหน ไม่ต้องเป็นนักเกิด แก่ เจ็บ ตายต่อไปอีก

เหมือนพระพุทธเจ้าของเรา เพราะท่านระงับดับเสียได้ซึ่งสังขารอันเป็นตัวเสนียดจัญไร อันเป็นเหตุให้ท่องเที่ยวในวัฏฏะนี้เสีย ไม่มีอันใดที่ก่อกำเนิดต่อไปอีก เป็น สุคโต เสด็จไปดีมาดี แนะนำสั่งสอนประชาชนทั้งหลายให้เป็นประโยชน์ เมื่อถึงกาลอายุขัยของพระองค์แล้ว พวกเราทั้งหลายเรียกว่า ปรินิพพาน ปล่อยสังขารอันนี้ไว้ให้โลกได้กราบไหว้บูชา หรือปล่อยให้เป็น ดิน น้ำ ลม ไฟ ไปตามธรรมชาติ ธรรมชาติที่แท้จริง คือ วิมุตติพุทโธ ของพระองค์ เป็นสมบัติของพระองค์เจ้าแต่ผู้เดียว นี่เรียกว่าสมบัติที่เป็น เตสํ วูปสโม สุโข เป็นธรรมทั้งแท่ง เป็นความบริสุทธิ์ล้วน ๆ ไม่มีอันใดเจือปน

นี่แลธรรมเทศนาวันนี้ได้แสดงเรื่องสังขารธรรม บรรดาท่านผู้ฟังทั้งหลายได้ยินว่า  อนิจฺจา วต สงฺขารา จะเข้าใจว่าเป็นภาษิตที่กล่าวซ้ำ ๆ ซาก ๆ แต่ธรรมชาติที่ถูกกล่าวคือ ความตาย มันตายอยู่ตลอดเวลา แม้อยู่ ณ บัดนี้มันก็ตายและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ที่เราอยู่นี่มันก็ตาย ในบ้าน ในป่า ภูเขา ลำเนาไม้มันก็ตาย ในน้ำมันก็ตาย บนบกมันก็ตาย ตายทั้งวันทั้งคืน ถ้าหากว่ามีเสียงเหมือนกับเสียงปืนแล้ว เยื่อหูของเราทั้งหลายแตกทำลายไม่มีอันใดเหลือ เพราะความแปรมันก็ดังขึ้นมา ความแตกความสลายมันก็ดังขึ้นมา ความทุกข์ยากลำบากในครอบครัวเหย้าเรือนแต่ละครอบครัว มันก็ดังขึ้นมา สัตว์ได้รับความทุกข์มันก็ดังขึ้นมา ที่อยู่ใต้น้ำมันก็ดังขึ้นมา อยู่บนบกมันก็ดังขึ้นมา แม้ที่สุดพวกเรานั่งฟังเทศน์อยู่ ณ บัดนี้ เกิดความทุกข์ต่างก็จะดังขึ้นมาเหมือนกับเสียงปืนดังเรื่องกองทุกข์ เยื่อหูก็จะไม่สามารถต้านทานอยู่ได้ เพราะกองทุกข์มันประกาศลั่นโลกอยู่อย่างนี้

เมื่อเป็นเช่นนี้จะไม่ให้ว่า อนิจฺจา วต สงฺขารา อย่างไร มันเป็นซ้ำ ๆ ซาก ๆ อยู่ตลอดเวลา ต้องแสดงตามความจริงที่มันเป็นอยู่เช่นนี้ ให้บรรดาท่านผู้ฟังทั้งหลายได้พิจารณาว่า สิ่งทั้งหลายเหล่านี้เมื่อมีอยู่มันก็แสดงเสียงลั่นอยู่ตลอดเวลาอย่างนี้ แต่มันไม่มีปืนให้สัญญาณแก่เรา ในขณะความทุกข์หรือความแปรปรวนปรากฏขึ้นในสัตว์และสังขารแต่ละราย ๆ จึงคล้าย ๆ กับว่ามีทุกข์แต่เราคนเดียว มีความเดือดร้อนแต่เราคนเดียว มีความฟุ้งซ่านวุ่นวายแต่เราคนเดียว มีความยากลำบากแต่เราคนเดียว ขัดสนจนทรัพย์และอับปัญญาแต่เราคนเดียว ไม่ดีแต่เราคนเดียว โลกเขาคล้ายกับว่าเป็นทองคำไปหมด ที่จริงโลกมันโลกเดียวกัน ธาตุขันธ์อันเดียวกัน โลก อนิจฺจา วต สงฺขารา อันเดียวกัน หัวใจอันเดียวกัน มันเป็นทุกข์อย่างเดียวกันนี่เอง

ขอให้บรรดาท่านผู้ฟังทั้งหลายพินิจพิจารณาในภาษิตที่ได้ยกขึ้นไว้ว่า อนิจฺจา วต สงฺขารา สังขารทั้งหลาย ภายนอกภายใน ทั้งของท่านของเรามันไม่เที่ยง อุปฺปาทวยธมฺมิโน อุปฺปชฺชิตฺวา นิรุชฺฌนฺติ เกิดขึ้นแล้วไม่ว่าอยู่ที่ไหน ๆ มันแตกด้วยกันทั้งนั้น  เตสํ วูปสโม สุโข จงพยายามทำความระงับเสียซึ่งต้นเหตุ คือสังขารอันเป็นตัวสมุทัยให้ดับสิ้นซากไปเสียจากใจแล้ว สังขารที่เป็นตัวผล คือ อนิจฺจา วต สงฺขารา  ความเกิด ความตายแห่งสังขารนี้จะไม่ปรากฏแก่ใจของเรา ให้เป็นความกังวลต่อไปอีก เรียกว่า ถึงสันติธรรมอันราบคาบ ได้แก่บรมสุข คือวิมุตติพระนิพพาน

ในอวสานแห่งพระธรรมเทศนานี้ ขอบุญญานุภาพแห่งองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์ จงมาปกเกล้าเหล่าท่านพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย ที่ได้อุตส่าห์จากบ้านจากเรือนมาสดับตรับฟังพระสัทธรรมเทศนาโดยความเต็มอกเต็มใจ จงมีความสุขกายสบายใจทุกทิวาราตรีกาล ดังได้รับประทานวิสัชนามาในพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ก็นับว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติลงด้วยเวลาเพียงเท่านี้ เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้

 

www.Luangta.or.th

 


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก