สมบัติมีค่าในพระศาสนา
วันที่ 22 กรกฎาคม. 2505 เวลา 19:00 น. ความยาว 55.56 นาที
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)

ค้นหา :

เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๐๕

สมบัติมีค่าในพระศาสนา

 

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส

วิสงฺขารคตํ จิตฺตํ ตณฺหาณํ ขยมชฺฌคาติฯ

เราบวชมาในพระศาสนา จะออกมาจากตระกูลใดก็ตาม พึงทราบว่าเข้ามาสู่ตระกูลที่เรียกว่าศากยตระกูล คือตระกูลแห่งกษัตริย์ เพราะองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าท่านเสด็จออกจากศากยตระกูล ทรงสละราชสมบัติทุก ๆ ชิ้น แม้ที่สุดคู่พระบารมี คือพระชายาและพระโอรสซึ่งเป็นเสมือนดวงหทัยของพระองค์ก็ทรงสละได้ทั้งสิ้น เพื่อพระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ การที่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้เสด็จออกตั้งแต่เบื้องต้น จนถึงความเป็นพระพุทธเจ้านั้น ในระยะทางที่พระองค์ผ่านไป ล้วนแล้วแต่อุปสรรคที่จะทรงฝ่าฝืนทุก ๆ กรณี ทางเดินแห่งองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทุก ๆ พระองค์ เดินไปด้วยความยากลำบาก ผู้ไม่มีความพากเพียรจริง ๆ แล้วไม่สามารถจะรอดพ้นบ่วงแห่งมารไปได้

บรรดาเราทั้งหลายซึ่งเป็นศิษย์ของพระพุทธเจ้าจงพิจารณาว่า พระองค์ได้ดำเนินไปอย่างใด จงเป็นผู้มีจิตใจมุ่งหวังอย่างมั่นคง เพื่อก้าวไปตามรอยพระบาทแห่งพระองค์ คำว่า สุปฏิปนฺโน อุชุปฏิปนฺโน ญายปฏิปนฺโน สามีจิปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ ล้วนแล้วแต่พระองค์ทรงวางร่องรอยไว้เพื่อให้บรรดาสาวกทั้งหลายเดินตาม จึงจะสมชื่อสมนามว่า สาวกสงฺโฆ คือเป็นสาวกขององค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าจริงๆ คำว่า สาวกแปลว่า ผู้สดับ สดับทั้งทางตา สดับทั้งทางหู คิดทั้งทางใจ วันหนึ่ง ๆ ไม่นิ่งนอนในความคิดที่จะค้นหาเหตุผลเพื่อระวังสำรวมตน ให้เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ มีสมาธิเพื่อความสงบแน่วแน่เป็นลำดับไป เพื่อปัญญาหาความรู้ความฉลาดใส่ตน ไม่เป็นเช่นนั้นจะเรียกว่าสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ได้

บัดนี้กิจการงานของเราทั้งหลายได้ละแล้ว ตั้งแต่วันอุปสมบทเข้ามาในพระศาสนา กิจการบ้านเรือนซึ่งฆราวาสเขาจัดทำอยู่ประจำวัน เราได้ละมาเสียทุกประการ ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกังวลกับกิจการทั้งหลายเหล่านั้น มีหน้าที่จะต้องปฏิบัติตนให้เป็น สุปฏิปนฺโน เป็นผู้ปฏิบัติดีด้วยกาย ปฏิบัติดีด้วยวาจา ปฏิบัติดีด้วยใจ อุชุปฏิปนฺโน เป็นผู้ตรงต่อทางตรัสรู้ ทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ ญาย เป็นผู้มุ่งประสงค์เพื่อความตรัสรู้ซึ่งเญยธรรมอยู่ตลอดเวลา สามีจิ เป็นผู้งามอยู่เสมอในอาการแห่งความเคลื่อนไหวของกาย วาจา ใจ ทุกอิริยาบถ ไม่ให้มีการตำหนิตนว่าเป็นไปทางที่ผิดหลักของพระธรรมวินัย อันจะเป็นเหตุให้เคลื่อนคลาดจากความเป็นสาวกของสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า

ในธรรมทั้ง ๔ บทนี้เป็นคุณสมบัติของบรรดาสาวกทั้งหลายที่ได้ตั้งใจประพฤติปฏิบัติดี ถ้าเคลื่อนจากหลักธรรมทั้ง ๔ ประเภทนี้แล้ว แม้จะโกนผม โกนคิ้ว นุ่งผ้าเหลืองก็ไม่เห็นแปลกอะไรกับฆราวาสเขา เพราะฉะนั้นพึงสำนึกตนเสมอว่า บัดนี้เราเป็นนักบวช มุ่งเฉพาะต่อองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ไม่ได้มุ่งต่อโลกามิสใด ๆ ทั้งนั้น วันหนึ่งคืนหนึ่งใจของเรามีความสงบกี่ครั้ง มีความเยือกเย็นสบายดี หรือเดือดร้อนภายในใจ ถ้าใจเดือดร้อนพึงทราบว่าขุมนรกอยู่ที่ใจของเรา ถ้าใจมีความเยือกเย็นพึงทราบว่าสันติธรรมเริ่มจะปรากฏขึ้นแล้วที่ใจของเรา ให้ตรองตัวของตัวอยู่เสมอ

การประกอบความพากเพียรอย่ากำหนดเวลา ให้กำหนดสติ สัมผัสกับธรรมที่เรากำหนดไว้เสมอไป อย่าให้ขาดวรรคขาดตอน ถ้าสติเผลอเมื่อใดพึงทราบว่าความเพียรได้ขาดไปแล้วเมื่อนั้น เพราะความเพียรไม่ขึ้นอยู่กับการยืน การเดิน การนั่ง การนอน แต่ขึ้นอยู่กับสติ หรือปัญญา ถ้าเรามีสติประคับประคองจิตใจของเราอยู่เสมอ รู้ความเคลื่อนไหวของใจตนเอง ทั้งที่จะเป็นไปในทางที่ผิดและที่ถูก ชื่อว่าเป็นผู้มีความเพียร ความเพียรหมายเช่นนี้ การยืน เดิน นั่ง นอน เป็นธรรมดาที่เราจะต้องเปลี่ยนอิริยาบถ เป็นโอสถอันหนึ่งซึ่งจะรักษากายของเราไว้ให้ถึงอายุขัย หรือให้มีความสะดวกสบายภายในธาตุขันธ์ของเรา แต่เรื่องของใจที่จะให้ชื่อว่ามีความเพียรนั้น ต้องขึ้นอยู่กับสติและปัญญาเป็นของสำคัญ

สติคือความระลึก คือรู้ตัวอยู่เสมอ ปัญญา คือความสอดส่องมองดูเรื่องที่มาสัมผัสจากภายอกเข้ามาสู่ภายใน หรือความกระเพื่อมของใจเราที่เคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา ให้มีความรู้สึกอยู่เสมอ ไม่เช่นนั้นจะเรียกว่าความเพียรไม่ได้ ใครเล่าจะเป็นผู้ทรงพระศาสนาของพระพุทธเจ้าไว้ นอกจากเราซึ่งเป็นนักบวชและเป็นแนวหน้าแห่งบรรดาชนทั้งหลายแล้ว ไม่มีใครจะสามารถในโลกนี้ ถ้าสมณะไม่สามารถจะยังมรรค ผล นิพพานให้เกิดขึ้นได้ด้วยข้อปฏิบัติ ถ้ามีแต่ความท้อใจและความเกียจคร้านแล้ว ศาสนาก็ล่มจมไปเท่านั้น ไม่มีใครจะสามารถทรงไว้ได้ เฉพาะเราซึ่งเป็นนักบวช และเป็นนักปฏิบัติที่โลกเขาให้ชื่อว่ากรรมฐานด้วยแล้ว ยิ่งเป็นของจำเป็นที่สุด ซึ่งจะพึงสำนึกตัวของเราเสมอ ไม่เช่นนั้นจะเป็นโมฆบุรุษ เปล่าจากประโยชน์ตลอดอิริยาบถ และเสียจตุปัจจัยไทยทานที่ชาวบ้านเขาให้มาวันหนึ่ง ๆ ด้วยความตะเกียกตะกายหามา แต่ละครั้ง ๆ ที่จะได้ให้ทานแต่ละหน นับว่าเป็นความลำบากลำบนไม่น้อย ให้เรารู้สึกตัวเสมอว่า

เวลานี้เราเป็นนักบวชและเป็นลูกศิษย์พระตถาคต พระตถาคตเป็นผู้มีความองอาจกล้าหาญต่อเหตุการณ์ทุกอย่าง ทั้งที่เป็นฝ่ายชั่วและฝ่ายดี เป็นผู้มีความขยันหมั่นเพียร เป็นผู้อดทนต่อความลำบากตรากตรำทุก ๆ อย่าง ซึ่งจะมาเผชิญหน้าพระองค์ ไม่เป็นผู้เกียจคร้าน ไม่เป็นผู้นอนตื่นสาย ไม่เป็นผู้เห็นแก่ตัว เห็นแก่ความพ้นทุกข์อยู่ตลอดเวลา นี่เป็นหลักที่จะเป็นพระพุทธเจ้า ท่านเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งหลักธรรม เราจะเป็นผู้รู้ผู้ฉลาดและตามร่องรอยแห่งพระองค์ได้ ก็ต้องเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งธรรมเหล่านี้เหมือนกัน ไม่ใช่จะทรงไว้ซึ่งความเกียจคร้าน ความเห็นแก่ปากแก่ท้อง ความมักง่าย ความนอนตื่นสาย ความเห็นแก่ตัวโดยถ่ายเดียว นี้ไม่ใช่หลักธรรมที่จะเป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์ ให้เราทั้งหลายพึงทราบไว้อย่างนี้

การพิจารณาใครกำหนดเรื่องอะไร เคยพิจารณาเรื่องอะไร ตั้งใจพิจารณาให้เห็นชัดในส่วนแห่งธรรมที่ตนพิจารณาหรือกำหนดเอาไว้นั้น อย่าเป็นคนไม่มีหลัก หรือเป็นคนลอยลม หาหลักฐานยึดเหนี่ยวไม่ได้ สติตั้งลงที่ตรงไหนย่อมเป็นธรรมขึ้นมาที่ตรงนั้น ถ้าไม่มีสติ ย่อมไม่เป็นธรรมทั้งวันทั้งคืน สติเป็นของสำคัญสำหรับความเพียร ให้พึงทราบเอาไว้ ใจจะปล่อยให้มีความสงบโดยลำพังตนเอง ตลอดวันตายจะไม่ปรากฏผลให้เราทั้งหลายได้รับ ตามธรรมดาของใจย่อมมีเครื่องหุ้มห่ออยู่เสมอ เครื่องหุ้มห่อของใจนั้นท่านให้ชื่อว่ากิเลส ไม่ใช่เกิดมาจากที่ไหน นอกจากจะเกิดขึ้นจากใจของตนเองเท่านั้น และการฝึกฝนทรมานที่จะทำตัวเราให้เป็นไปเพื่อความสงบ หรือหมดพยศจากสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ ก็ต้องอาศัยเป็นผู้มีความพากเพียร

พยายามดูจิตใจของตนเสมอ ถ้าส่วนใดเป็นทางชั่วต้องฝืนใจละ จนกระทั่งละได้เป็นลำดับ ถึงกับละขาดไม่มีอันใดเหลือ สิ่งรบกวนเหล่านั้นจะไม่มารังควานจิตใจได้อีกต่อไป เมื่อเราละได้เด็ดขาดแล้ว การทำตัวของเราจะให้พ้นจากอุปสรรค ต้องมีการฝืนบ้างเป็นธรรมดา ไม่ว่าพระพุทธเจ้า ไม่ว่าสาวก หรือไม่ว่าครูบาอาจารย์องค์ใด ๆ ที่ท่านปรากฏชื่อลือนามมา ล้วนเป็นผู้ฝ่าฝืนอุปสรรคมาด้วยกันทั้งนั้น ทุกข์เราก็ทราบแล้วว่าเป็นอริยสัจ ถ้าเราไม่พิจารณาให้เห็นทุกข์แล้ว เราจะหลีกเว้นจากทุกข์ไปได้ที่ไหน สมุทัย เป็นแดนเกิดแห่งทุกข์ เกิดขึ้นที่ไหนก็เกิดขึ้นที่ความปรุงของใจ  ความปรุงของใจนี้โดยมากถ้าไม่ได้รับการอบรมแล้วต้องปรุงไปในทางที่ชั่วเสมอ ในทางที่จะสั่งสมกิเลสให้มีหรือให้มากขึ้นภายในใจ เพราะฉะนั้น อุบายวิธีกำหนดจิตใจ ซึ่งเรียกว่าภาวนานี้ จึงเป็นแนวทางที่จะแก้สิ่งทั้งหลายที่เป็นเครื่องกดถ่วงจิตใจของตนให้ค่อยหมดไปเป็นลำดับ

ใจเมื่อไม่สงบยังจะไม่เห็นคุณแห่งพระศาสนา แม้ตัวเราเองก็ไม่เห็นว่ามีคุณค่าแต่อย่างใด ต่อเมื่อเราได้ฝึกฝนทรมานจิตใจให้เป็นไปเพื่อความสงบแล้ว นั่นแหละจึงจะเห็นว่าธรรมเป็นของมีคุณค่า พระศาสนาเป็นของประเสริฐ แม้ตัวเราเองก็รู้สึกว่าจะเริ่มเป็นผู้มีคุณค่าขึ้นมา ฉะนั้นการพิจารณาจิตใจเป็นของสำคัญ หน้าที่ที่เราจะละถอนสิ่งที่เราได้สั่งสมไว้นี้ เป็นกิจสำคัญยิ่งกว่ากิจการใด ๆ ความเพียรก็เช่นเดียวกัน เพียรพยายามจนเห็นเหตุผลในสิ่งที่พัวพันจิตใจของตน กำหนดดูให้ชัด ตาเห็นรูปจะต้องเกิดความรู้สึกขึ้นภายในใจ หูฟังเสียงก็เช่นเดียวกัน แล้วคลี่คลายดูสิ่งทั้งหลายเหล่านั้นให้เห็นชัดประจักษ์ด้วยปัญญาของเรา จิตใจเมื่อได้เห็นสิ่งใดด้วยปัญญาแล้วจะยึดถือหรือมั่นหมายสิ่งนั้น ๆ ต่อไปอีกไม่ได้ จะปล่อยวางสิ่งเหล่านั้นทันที นี่การปล่อยวางต้องปล่อยวางด้วยสติกับปัญญา ถ้าไม่มีสติกับปัญญาเป็นเครื่องรักษาเป็นเครื่องแก้ไขแล้วไซร้ ใจจะไม่มีวันพ้นทุกข์ไปได้

เกิดมาชาตินี้เราก็มีทุกข์ขนาดที่เรารู้อยู่ด้วยใจของเรา เฉพาะวันนี้ก็รู้อยู่เท่านี้ วันหน้าก็ต้องเป็นเช่นนี้ ชาตินี้ก็ต้องเป็นอยู่อย่างนี้ ชาติหน้าไม่ต้องสงสัยว่าใครจะเป็นผู้ทุกข์ พึงทราบว่าใครเป็นผู้สั่งสมกองทุกข์ หรือเหตุให้เกิดทุกข์เอาไว้ ผู้นั้นแลเป็นผู้จะได้เสวยทุกข์ในวันนี้ วันหน้า ในชาตินี้ชาติหน้า เป็นผู้จะเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสาร รับความทุกข์ความทรมานอยู่ไม่รู้กี่กัปกี่กัลป์ เป็นหนทางที่ยืดยาวมาก จนไม่มีใครสามารถจะนับอ่านได้ว่าทางจากต้นทาง คือความเกิดเบื้องต้นนี้ ถึงปลายทางคือวิมุตติพระนิพพานนั้น เป็นระยะทางสักกี่เส้น สักกี่ไมล์ ไม่มีใครสามารถที่จะวัดได้ เพราะธรรมชาติอันนี้เป็นธรรมชาติของวัฏฏะ คือหมุนรอบตัวอยู่ตลอดเวลา เราจะวัดให้เป็นเส้น เป็นไมล์ เป็นกิโลเมตรไม่ได้

แต่การพิจารณาก็ต้องพิจารณาตามลักษณะของวัฏฏะที่หมุนอยู่รอบตัวนี้ ถ้าใครพิจารณาวัฏฏะซึ่งหมุนรอบตัวอันเกิดกับใจนี้อยู่เสมอแล้ว ผู้นั้นแลจะเป็นผู้แก้ไขวัฏฏะคือตัวหมุนอันนี้ออกจากใจได้ จะถึงแดนแห่งความพ้นทุกข์ที่ท่านเรียกว่าพระนิพพานขึ้นที่ใจดวงนี้เอง หลักสำคัญมีอยู่ที่นี่ ขอให้พากันตั้งอกตั้งใจพินิจพิจารณา อย่าเห็นแก่ความท้อแท้อ่อนแอ สติเมื่อตั้งไว้กับอาการอันใด อาการอันนั้นจะเป็นธรรมอบรมจิตใจ หรือเป็นเครื่องเยียวยาจิตใจของเราให้เป็นไปเพื่อความสงบเสมอ ปัญญาก็เช่นเดียวกัน เมื่อกำหนดลงในสภาวธรรมอันใดเราจะต้องรู้อุบายต่าง ๆ จากสภาวธรรมนั้น ๆ เป็นลำดับไป เพราะฉะนั้นสติกับปัญญาจึงเป็นธรรมจำเป็นในพระศาสนา

การทำความพากเพียรไม่เห็นปรากฏในจิตใจว่า เป็นไปเพื่อความสงบนี้ ขึ้นอยู่กับความเป็นผู้มีจิตลอย เดินก็เดินไปอย่างนั้น นั่ง ยืน นอน ก็ไม่มีความจำเพาะเจาะจงกับสติและปัญญา ความสงบของใจจึงเป็นไปไม่ได้ เพราะการปล่อยจิตให้เป็นไปตามอารมณ์นั้น ๆ เราระบายหรือปล่อยไปอยู่ตลอดเวลา ไม่เคยยับยั้ง หรือหวงห้ามบังคับจิตใจของตนให้เข้าสู่กรอบแห่งสติและปัญญา ถ้าเราบังคับจิตใจให้อยู่ในธรรมบทใดบทหนึ่ง หรือในอาการแห่งกายทั้งหมดจะเป็นอาการใดก็ตามด้วยสติ และล่ามด้วยปัญญาให้เที่ยวอยู่ในสรรพางค์ร่างกายอันนี้ ช่วงสั้นยาวก็ขึ้นอยู่กับปัญญาของเราที่จะพิจารณาได้ลึกตื้นหยาบละเอียดแค่ไหน ถ้าเราพิจารณาอยู่เช่นนี้ไม่นานจะเป็นไปเพื่อความสงบ จะเป็นไปเพื่อความผ่องใส เป็นไปเพื่ออุบายแยบคายเป็นลำดับ

นี้เป็นเพราะเหตุใด ปฏิบัติมาเป็นเวลานานจึงไม่เห็นความรู้ความวิเศษขึ้นภายในใจ ให้เราทั้งหลายทราบในวันนี้ว่าสติกับปัญญาของเราไม่ตั้งใจ โดยเจตจำนงจริง ๆ ตั้งไว้ชั่ววินาทีหนึ่งแล้วให้สูญหายไปเสียเป็นเวลาตั้งชั่วโมง เมื่อเป็นเช่นนั้นรายจ่ายกับรายรับไม่เพียงพอกัน รายจ่ายมากกว่ารายรับ พึงทราบว่าคนนั้นจะต้องล่มจม การปล่อยจิตใจให้เป็นไปตามอำนาจของวัฏฏะมีมาก การรักษาจิตใจของเราไว้ด้วยสติกับปัญญาให้เป็นไปตามทางวิวัฏฏะนั้น มีจำนวนน้อยกว่าการปล่อยจิตใจให้เป็นไปตามกระแสของวัฏฏะ เพราะฉะนั้นใจของเราจึงไม่เป็นไปเพื่อความสงบ ไม่เป็นไปเพื่อความฉลาด ให้ทราบกันไว้เดี๋ยวนี้ ไม่เช่นนั้นจะเกิดความเหลวไหลต่อไปอีก

วันหนึ่งคืนหนึ่ง เราไม่ต้องยุ่งกับเรื่องอะไรทั้งนั้น ให้ดูหน้าที่ของตน ดูความเคลื่อนไหวของตนเอง เรื่องของครูบาอาจารย์หรือหมู่เพื่อน ไม่ต้องถือว่าเป็นภาระที่เราจะต้องเกรงกลัว หรือจะต้องกล้าหาญหรือจะรับอารมณ์อันใดจากท่าน ผิดอย่างใดท่านต้องสอนอย่างนั้น แนะนำในทางถูกและบอกในทางผิดเสมอไป จงตั้งหน้าดูตามเรื่องที่ท่านสอนไว้เท่านั้น อย่ามาถือเป็นอารมณ์ อารมณ์สำคัญที่สุดให้ดูความเคลื่อนไหวของใจ ซึ่งเป็นตัวอารมณ์อยู่ตลอดเวลา ไม่เช่นนั้นจะเป็นไปเพื่อความสงบไม่ได้ แล้วเสียไปวันหนึ่ง ๆ หลายวันต่อหลายวันก็กลายเป็นหลายเดือนขึ้นมา หลายเดือนต่อหลายเดือนก็กลายเป็นหลายปีขึ้นมา ชีวิตจิตใจนับวันจะสั้นเข้าทุกวัน ผลประโยชน์จะพึงได้จากคุณงามความดีก็มีเพียงนิดหนึ่งเท่านั้น ไม่สมกับเราเป็นลูกของพระตถาคตปรากฏตัวในวงของพระศาสนา

หลักความจริงมีอยู่ในกายในจิต เราก็กำหนดสติกับปัญญาลงในหลักแห่งกายและจิตนี้ ทำไมจะรู้ไม่ได้ กายกับจิตเป็นธรรมที่รับรอง หรือเป็นธรรมที่ควรแก่สติปัญญาอยู่แล้วแต่กาลไหนๆ พระพุทธเจ้าพิจารณาดูกายทุกชิ้น ทั้งที่เป็นส่วนทุกข์ ทั้งที่เป็นส่วนอนิจจัง ทั้งที่เป็นส่วนอนัตตา เหตุใดจึงมีความเฉลียวฉลาดรู้แจ้งด้วยปัญญาในสิ่งทั้งหลายได้เล่า กายพระพุทธเจ้ากับกายของเราไม่มีความแตกต่างกันแต่อย่างใด สติกับปัญญาของพระพุทธเจ้าก็คือความฉลาดอันเดียวกัน มีแต่ว่ากว้างแคบหรือลึกตื้นต่างกันเท่านั้น

เหตุใดพระพุทธเจ้านำสติปัญญามาค้นคว้าในกายนี้ และรู้แจ้งเห็นจริงในสภาวธรรมทั้งหลายเหล่านี้ได้ ส่วนพวกเราทั้งหลาย สภาวธรรมคือกายและจิตนี้มีอยู่แล้วโดยสมบูรณ์ด้วยกัน เหตุใดจึงไม่ปรากฏผลขึ้นจำเพาะตน เรื่องของทุกข์จะเป็นทุกข์ทางกายก็ตาม ทุกข์ทางใจก็ตาม ประกาศอยู่แล้วทุกขณะ ซึ่งผู้มีสติกับปัญญาจะต้องสะเทือนอยู่เสมอในความทุกข์ที่มาสัมผัสระหว่างจิตกับความทุกข์ และกับสติและปัญญาซึ่งเป็นของมีอยู่ในสภาพอันเดียวกัน เหตุใดจึงไม่สามารถรู้ได้ในสิ่งที่มี และไม่ลี้ลับแต่อย่างใดด้วย ทุกข์จะเกิดจากอวัยวะแห่งใดก็ตาม จะลี้ลับไปจากจิตผู้รับรู้ไม่ได้ จะเกิดขึ้นภายในจิตก็จะลี้ลับไปจากจิตผู้รับผู้นั้นไปอีกไม่ได้เหมือนกัน

ถ้าเรามีสติคอยกำหนดดูเรื่องของทุกข์ให้ชัดเจน ไตร่ตรองดูด้วยปัญญาให้เห็นชัดว่า ทุกข์นี้เกิดขึ้นเพราะเหตุใด และเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ทุกข์นี้เป็นเราหรือเราเป็นทุกข์ หรืออวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งในกายนี้เป็นทุกข์ หรือว่าทั้งหมดเป็นทุกข์ หรือใครเป็นผู้หลงตามทุกข์นี้เล่า ถ้าเราใช้ปัญญาอยู่เช่นนี้ เรื่องความแยบคายอันจะเกิดขึ้นจากใจหรือจากปัญญาของเรา จะเป็นไปไม่ได้อย่างไรเล่า นี่ก็เพราะความลอยลมของใจนั้นเอง ไม่ตั้งเป็นหลักเป็นฐาน มีความกลัวต่อเรื่องของทุกข์ จึงไม่สามารถจะรู้แจ้งเห็นทุกข์ แล้วคว้าเอาสุขขึ้นมาเป็นสมบัติของใจได้ ทุกข์จะเกิดมากเกิดน้อย จะตั้งอยู่หรือดับไป ให้พึงทราบว่าทุกข์ก็คือทุกข์นั่นเอง ผู้ที่รู้ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นทุกข์ และผู้ที่พิจารณาสิ่งเหล่านี้ให้เห็นจริงตามความเป็นจริงของทุกข์ ก็คือเรื่องของใจกับปัญญานั่นเอง

ทำความเพียรมากี่วัน กี่ปี กี่เดือน ยังไม่เห็นปรากฏผล เหมือนทุกข์ซึ่งเป็นของจริง ไปเที่ยวลี้ลับอยู่ตามถ้ำตามเหว ไม่ได้อยู่ภายในกายในจิตของเราเลย ปลานั้นมีจริงในน้ำ สมบัติมีจริงในแผ่นดิน แต่ที่เราไม่ได้ปลาหรือสมบัติมาเป็นของเรา ข้อนี้ขึ้นอยู่กับเรา สมบัติในพระศาสนาเริ่มต้นแต่ ศีลสมบัติ สมาธิสมบัติ ปัญญาสมบัติ วิมุตติสมบัติ และวิมุตติญาณทัสสนสมบัติ สมบัติเหล่านี้ขึ้นอยู่กับผู้ปฏิบัติแต่ละราย ซึ่งเป็นผู้มีความสามารถในการปฏิบัติหนักเบากว่ากันอยู่บ้าง ผลจะพึงได้รับจึงมีความเหลื่อมล้ำต่ำสูงตามความหนักเบาแห่งเหตุที่ทำไว้ เราผู้มาบวชในพระศาสนา ปรากฏเป็นลูกพระตถาคตเต็มภูมิในคำว่าศากยบุตร และเป็นผู้สมควรอย่างยิ่งที่จะเป็นเจ้าของในโลกุตรสมบัติเป็นชั้น ๆ ขึ้นไป

ในบทธรรมท่านกล่าวไว้ว่า โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกทาคามิมรรค สกทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล และอรหัตมรรค อรหัตผล สมบัติทั้งหมดนี้ รวมลงในวิมุตติญาณทัสสนสมบัติ อันได้แก่นิพพานสมบัติ สมบัติในพระศาสนาซึ่งอยู่ในวงแห่ง สวากขาตธรรม ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ชอบแล้ว และเป็นนิยยานิกธรรม สามารถนำสัตว์ที่มุ่งดำเนินตามพระองค์ให้พ้นจากทุกข์ไปได้โดยลำดับ ถ้านักบวชผู้มีนามว่านักปฏิบัติยังไม่สามารถทำตนให้สมควรแก่ธรรมนี้ได้แล้ว ก็ไม่ทราบว่าใครจะเป็นผู้สมควรในธรรมของพระองค์ได้ เพราะสมณะผู้เป็นนักบวชเป็นผู้ใกล้ชิดต่อพระองค์ ทั้งความเป็นผู้มีกิจธุระเครื่องกังวลน้อย ทั้งปฏิปทาเครื่องดำเนินก็สามารถจะทำได้ตามแบบที่พระองค์ทรงดำเนิน

เฉพาะอย่างยิ่งผู้อยู่ในป่าซึ่งเป็นที่สงัดวิเวกตลอดเวลาด้วยแล้ว จัดเป็นผู้มีโอกาสเต็มที่ในทางความเพียรเพื่อศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ และวิมุตติญาณทัสสนสมบัติให้เกิดขึ้นเป็นขั้น ๆ ตั้งแต่ขั้นหยาบจนถึงขั้นละเอียด เพราะศีลและธรรมทุกขั้น จะเป็นไปเพื่อความหมดจดสดใสได้ตามขั้น โดยมากย่อมอาศัยการอยู่ในที่สงัด ปราศจากฝูงชนทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต เราจะเห็นได้จากพระพุทธเจ้าและสาวกพาดำเนินมา ปรากฏว่าท่านเห็นภัยในทางคลุกคลี และกิจการที่จะให้เกิดกังวล และเป็นข้าศึกต่อสมณธรรมเพื่อความอยู่สบายในทิฏฐธรรมของพระองค์และสาวกท่าน ในขณะเดียวกันทรงเห็นคุณและทรงสรรเสริญในความสงัดมาก เพราะฉะนั้นในพระอิริยาบถ ๔ ของพระองค์เจ้าและอริยสาวกจึงเต็มไปด้วยความเพียรในที่สงัดทั้งนั้น

ธรรมชอบเกิดในที่สงัด ถ้ายังไม่สงัดทั้งภายนอกและภายในใจ ธรรมก็ยังไม่เกิด เมื่อความสงัดทั้งสองได้ปรากฏขึ้นในท่านผู้ใด พึงทราบว่าธรรมเริ่มปรากฏขึ้นในท่านผู้นั้น คือศีลก็เริ่มบริสุทธิ์ สมาธิก็เริ่มปรากฏขึ้นมาในใจเป็นขั้น ๆ ของสมาธิ ปัญญาก็เริ่มไหวตัวขึ้นมาในขณะที่สมาธิเริ่มปรากฏเป็นชั้น ๆ ของปัญญา ตามแต่ผู้บำเพ็ญจะเร่งตามความปรารถนาของตน โดยไม่มีอุปสรรคใด ๆ มากีดขวาง เพราะปราศจากสิ่งซึ่งมาก่อกวนให้จิตเอนไปสู่ความกังวลในอารมณ์ที่มากระทบนั้น ๆ เมื่อสรุปความแล้วธรรมชอบเกิดขึ้นในที่สงัดและในเวลาอันสงัด แม้ผู้ทรงธรรมมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ก็ชอบประทับอยู่ในที่สงัดตลอดเวลา หากจะมีอยู่บ้างก็สมัยที่พระองค์ทรงทำหน้าที่พระพุทธเจ้า เสด็จเพื่อโปรดเวไนยสัตว์เป็นบางกาลเท่านั้น ที่ทรงเห็นสมควรจะทรงอนุโลมผ่อนผัน เพื่อเวไนยผู้ควรจะได้รับประโยชน์จากพระองค์ เมื่อเสร็จพุทธกิจแล้วก็ทรงงดทันที ไม่ทรงพร่ำเพรื่อเหมือนอย่างสามัญชนทั่วไป

บรรดาเราทั้งหลายที่โลกให้นามว่ากรรมฐานหรือนักปฏิบัติ ควรสำนึกตนอย่างไรบ้าง ถ้าต้องการพุทธะที่บริสุทธิ์และฉลาดไว้ครองหัวใจ ก็ควรดัดแปลงจิตใจ กาย วาจา ไปตามแนวทางที่พระพุทธเจ้าพาดำเนิน จะกลายเป็นสาวกที่บริสุทธิ์ขึ้นมาที่ดวงใจของเราโดยไม่ต้องสงสัย ถ้าชอบประดิษฐ์เรื่องของธรรมลามกขึ้นครองหัวใจ ก็จะเห็นนอกลู่นอกทางไปว่า ธรรมชอบเกิดในกลางตลาด เกิดในถนนสี่แพร่ง เกิดในชุมนุมชนคนมาก เช่น ในโรงลิเก ละคร โรงภาพยนตร์ วิทยุ และโทรทัศน์ เหล่านี้ให้โลกเขาได้ร่ำลือว่าเป็นกรรมฐานเอก เพราะมีนัยน์ตาข้างเดียว หมดความหวั่นไหว แม้เขาจะเอากระดูกมาแขวนคอเป็นพวง ๆ ก็เห็นว่าเป็นการประดับเกียรติ นี่ธรรมลามก ชอบเกิดกับความคิดเห็นอันลามกเช่นเดียวกัน แม้จะไม่แสดงออกมาภายนอกจนเป็นของน่าเกลียดก็ตาม แต่แสดงความพอใจอยู่ภายในใจของผู้นั้น ก็เป็นของน่าเกลียดเช่นเดียวกัน

ขอให้เราทั้งหลายจงทราบไว้อย่างนี้ แล้วดัดแปลงกาย วาจา ใจ ของตนให้เข้ากับหลักธรรมของพระองค์ ปลงธรรมสังเวชในความเกิด แก่ เจ็บ ตาย พยายามละกิเลสตัณหาอวิชชาที่เป็นตัวข้าศึกแก่เราตลอดเวลา อย่านอนใจในอิริยาบถของตน จงส่งเสริมอบรมสติและปัญญาอันเป็นเช่นกับดาบไว้ให้เพียงพอ จะได้ต่อสู้กับกิเลสตัณหาอาสวะซึ่งเป็นตัวข้าศึก และกดขี่บังคับจิตใจของเราทุกขณะให้สิ้นสูญไปในวันหนึ่งจนได้ ผู้ใดอยู่ในอิริยาบถด้วยความมีสติและปัญญาประจำตนตลอดเวลา ผู้นั้นแลจะเป็นเจ้าของสมบัติอันเลิศ คือมรรค ผล นิพพาน ในชาตินี้

ขอย้ำอีกครั้งให้ท่านทั้งหลายได้ทราบเสียในวันนี้ว่าการบำเพ็ญธรรมของทุก ๆ ท่าน สติกับปัญญาเป็นธรรมจำเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งจะขาดไปเสียไม่ได้แม้แต่ขณะเดียว เพราะสติปัญญาเป็นธรรมเครื่องตื่นและรอบรู้อยู่กับความเพียร ขณะที่อารมณ์เกิดขึ้นภายในใจ หรือผ่านมาจากภายนอก สติกับปัญญาจะต้องทำหน้าที่ต่ออารมณ์ที่มาเกี่ยวข้อง อารมณ์ที่มาสัมผัสกับใจ แทนที่จะเป็นข้าศึกจะกลายเป็นคุณไปได้ เพราะอำนาจของสติและปัญญารู้เท่าทัน การตั้งสติเริ่มเป็นของจำเป็นแต่วันเริ่มฝึกหัดภาวนา เราจะบริกรรมธรรมบทใดมีพุทโธเป็นต้น จงตั้งสติเข้าใกล้ชิดต่อธรรมบทนั้นในลักษณะเอาเป็นเอาตายจริง ๆ ผลจะปรากฏเป็นความสงบขึ้นมาประจักษ์ใจโดยไม่ถ่วงเวลาให้เนิ่นนาน

ผู้ปฏิบัติโดยมากที่ทำเวลาให้เสียไป โดยไม่ได้รับผลประโยชน์ภายในใจเท่าที่ควรก็เพราะความนอนใจ ไม่รีบเร่งตักตวงความเพียรด้วยสติและปัญญาในเวลาอายุพรรษายังน้อย ปล่อยใจให้ไปตามกระแสโลก จนไร้ความสำนึกในหน้าที่ของตน และทำตัวในลักษณะขายก่อนซื้อ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผิดประเพณีทางโลกและทางธรรม ก่อนจะรู้สึกตัวเวลาจึงสายไป ความจริงผู้จะเป็นพ่อค้าเขาลงมือซื้อในราคาถูก แล้วจึงจะขายในราคาแพง พอจะเป็นผลกำไรค่าครองชีพและกลายเป็นต้นทุนหนุนกันไป ผู้เจริญในทรัพย์สมบัติเขาทำกันอย่างนั้น

ทางธรรมเล่า ก่อนพระองค์จะเป็นครูสอนโลกปรากฏว่า ได้ทรงพยายามฝึกฝนทรมานพระองค์มา บางครั้งถึงกับสลบไสลหมดความรู้สึกในพระองค์ก็มี ซึ่งไม่เคยมีประวัติของสาวกหรือใคร ๆ จะสามารถทำได้เหมือนอย่างพระองค์ และทรงทำอย่างนั้นมาโดยไม่ลดละความพยายามถึง ๖ ปี ไม่มีใครทราบว่าพระองค์จะเป็นหรือจะตายในเวลาได้รับความทุกข์ทรมานเช่นนั้นจนถึงวันตรัสรู้ ความเพียรไม่เคยขาดวรรคขาดตอนในพระองค์เลย นี่เรียกว่าทรงทำประโยชน์ส่วนพระองค์ให้สมบูรณ์ก่อน แล้วจึงทรงทำหน้าที่ของพระพุทธเจ้าในเวลาต่อมา

แม้สาวกเมื่อได้สดับธรรมจากพระองค์เจ้าแล้วก็มุ่งหน้าต่อความเพียร แสวงหาที่สงัดเพื่อกำจัดกิเลสอาสวะออกจากใจ โดยไม่มุ่งโลกามิสใด ๆ เป็นผู้เห็นภัยในความเกิดตายซ้ำ ๆ ซาก ๆ อยู่ทุกขณะลมหายใจเข้าออก เพราะความเพียรกล้าซึ่งเกิดจากใจที่เห็นภัยในทุกข์มาจนเพียงพอแล้ว ประคองสติปัญญาให้เป็นไปในกายในจิตตลอดเวลาในอิริยาบถไม่ลดละ ก็สามารถถอดถอนกิเลสอาสวะออกจากใจได้ด้วยสมุจเฉทปหาน ถึงพระนิพพานทั้งเป็นในขณะนั้น นี้เรียกว่าสาวกทำประโยชน์ของตนโดยสมบูรณ์ แล้วจึงเริ่มทำประโยชน์เพื่อโลกเท่าที่ควร และเพื่อเป็นการช่วยพุทธภาระให้เบาลงไป

นี่คือแนวทางของพระพุทธเจ้าและสาวกทรงดำเนินมา มิได้ทรงทำในลักษณะขายก่อนซื้อ ถ้าหากจะทรงทำในลักษณะเช่นนั้นแล้ว อย่างไรก็ไม่เป็นศาสดาของโลกแน่ ๆ แม้สาวกถ้าไม่ดำเนินตามที่พระพุทธองค์ดำเนินมา จะเป็นสาวกอรหันต์ขึ้นมาให้โลกกราบไหว้และถือเป็นสรณะที่สามก็ไม่ได้เหมือนกัน แต่การสงเคราะห์กันและกันพอประมาณระหว่างโลกกับธรรม จัดเป็นสามีจิกรรมในทางโลก ไม่เป็นความเสียหายแต่อย่างใด นอกจากจะทำจนเลยเถิด ลืมหน้าที่หรือการงานของตนไปเท่านั้น ก็บรรดาเราทั้งหลายจะดำเนินแบบไหนเพื่อสามีจิกรรมในธรรมชั้นสูงขึ้นไป เพื่อประโยชน์ตนและโลกเท่าที่ควร เริ่มตัดสินใจของตนเสียในบัดนี้ เดี๋ยวจะสายเกินไป

ถ้าเราจะถือ พุทฺธํ ธมฺมํ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ ให้ถึงใจจริง ๆ ก็ควรรีบตามพระพุทธองค์ด้วยข้อปฏิบัติ แล้วฝึกหัดจิตใจของตนให้อยู่ในกรอบแห่งสติและปัญญา อย่าปล่อยให้กิเลสอาสวะฉุดลากจิตใจของเรา ข้ามศีรษะเราไปต่อหน้าต่อตานักเลย รีบเอาสติปัญญาความเพียรตามยื้อแย่งจิตมาจากกิเลสเสียบ้าง ไม่เช่นนั้นจะหมดเนื้อหมดตัว ไม่มีอะไรเหลืออยู่ในความเป็นสรณะ สิ่งที่เหลือจะมีแต่ศีรษะโล้น  ๆ ซึ่งไม่เป็นของแปลก ใครทำขึ้นเมื่อไรก็ได้ อย่าพากันประมาทเห็นว่ากิเลสเป็นของดี และมีประมาณน้อย ความทุกข์ทรมานทุกหย่อมหญ้าที่เป็นอยู่ในสัตว์และสังขารทั่วไป จนทนไม่ไหวก็แตกและตายกองกันอยู่เต็มโลกให้เราเห็นอยู่ต่อหน้าต่อตา ก็เพราะสาเหตุมาจากกิเลสทั้งนั้น เป็นสิ่งผลักดันให้เป็นไป อย่าเห็นว่าเป็นมาจากอะไร จงรีบปลุกสติปัญญาที่หลับอยู่ให้ตื่นขึ้น ตามแย่งจิตมาจากกิเลสให้จงได้ เราจะเป็นอยู่หลับนอนเป็นสุขสมกับความเป็นสมณะ ซึ่งเป็นเพศที่เย็นของโลก เขาได้กราบไหว้บูชาทุกวัน

ได้กล่าวแล้วว่า เมื่อสติกับปัญญากำกับความเพียร จิตจะได้รับความสงบสุขไม่เนิ่นนาน เมื่อใจสงบลงได้แล้ว จงเร่งความเพียรในบทธรรมของตนตามแต่ถนัดด้วยสติ จนเป็นความสงบได้ทุกโอกาสที่ต้องการ เมื่อจิตถอนขึ้นมาจงเริ่มพิจารณาโดยทางปัญญา โดยถืออาการของกายเป็นที่ท่องเที่ยวของปัญญา ในอาการของกายเราจะพิจารณาไปหมดหรือเฉพาะ แล้วแต่จริตของเราไตร่ตรองดู ส่วนแห่งกายลงในไตรลักษณ์ใดมากน้อยแล้วแต่ความถนัด แต่ให้เห็นชัดด้วยปัญญาเป็นใช้ได้

สติเป็นของสำคัญมาก อย่าให้พลั้งเผลอได้ทุกเวลายิ่งดี จะเป็นเครื่องหนุนทั้งสมาธิและปัญญาให้มีกำลังขึ้นอย่างรวดเร็ว นักปฏิบัติผู้ใดพยายามรักษาสติไว้ได้ ผู้นั้นจะเป็นไปได้เร็วในธรรมทุกชั้น แม้ความเคลื่อนไหวทุก ๆ อาการ จงทำสติให้เป็นพี่เลี้ยงอยู่เสมอ จิตจะเหนืออำนาจไปไม่ได้ เพราะบ่อแห่งอำนาจวาสนาที่จะทำใจให้พ้นจากทุกข์ในชาตินี้ ขึ้นอยู่กับสติกับปัญญาเป็นของสำคัญ จงพยายามทำสติธรรมดานี้ให้กลายเป็นมหาสติขึ้นมา และจงทำปัญญาธรรมดาให้กลายเป็นมหาปัญญาขึ้นมาที่ดวงใจของเรา เมื่อสติมีกำลังจนเพียงพอแล้ว เราจะเดินปัญญาพิจารณา แม้กิเลสจะหนาแน่นเหมือนภูเขาทั้งลูก ก็ต้องทะลุไปได้โดยไม่ต้องสงสัย

อาการของกายทุกส่วนในกองรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ พึงทราบว่าเป็นหินลับสติและปัญญาให้คมกล้าได้เป็นลำดับ เมื่อสติกับปัญญามีการสัมพันธ์อยู่กับอาการเหล่านี้ไม่ขาดวรรคขาดตอน เราไม่ต้องสงสัยว่าจะไม่มีสติและปัญญาอันคมกล้า ขอให้ตั้งสติและคิดค้นปัญญาลงไปในสภาวธรรมที่กล่าวมานี้ ความสงบของใจแต่ขั้นหยาบจนถึงขั้นละเอียด และความแยบคายของปัญญาจากขั้นต่ำจนถึงขั้นสูงสุด จักปรากฏขึ้นกับใจดวงเดียวนี้ อาสวะซึ่งหมักหมมอยู่กับใจมาเป็นเวลานาน จะต้องแตกทลายลงไปโดยไม่มีอะไรเหลือ เช่นเดียวกับความมืด แม้จะเป็นของเคยมีมาเป็นเวลานาน พอถูกแสงสว่างเข้ากำจัดก็หายไปในทันทีฉะนั้น

เพราะฉะนั้นถ้าเราเบื่อต่อความเกิดตายซ้ำ ๆ ซาก ๆ ไม่มีจบสิ้น จงรีบจับอาวุธคือสติปัญญาให้แนบสนิทกับความเพียร อย่าลดละ เราจะเห็นต้นเหตุที่ให้เกิดภพชาติขึ้นมา จนกลายเป็นป่าช้าของสัตว์และของเราขึ้นที่ใจดวงนี้ ที่น่าขยะแขยงน่าสลดสังเวชอย่างเต็มที่ ไม่มีความเห็นโทษใดที่เราผ่านมาแล้วเหมือนด้วยความเห็นโทษแห่งดวงจิตที่ฝังยาพิษ คืออวิชชา อันเป็นเชื้อแห่งความเกิดไว้ในตน จนนานหลายกัปนับไม่ถ้วน เมื่อได้เห็นประจักษ์ด้วยปัญญาถึงขนาดนี้แล้ว ใครเล่าจะกลืนยาพิษลงไปสังหารตัวเองทั้ง ๆ ที่รู้ว่ายาพิษ นอกจากจะสลัดทิ้งด้วยความเห็นภัยจนตัวสั่นไปเท่านั้น ความเห็นโทษของวัฏจิตซึ่งอาบยาพิษหมดทั้งดวงด้วยปัญญา ย่อมจะปล่อยวางในทันที โดยจะยอมทนถือไว้ว่าเป็นตนต่อไปอีกไม่ได้เช่นเดียวกัน

เพราะโทษใดไม่เทียมเท่าโทษของจิตที่ถูกอวิชชาเอาเหล็กแหลมปักหลังไว้ ปล่อยให้ระเหเร่ร่อนไปตามภพน้อยภพใหญ่ เกิด ๆ ตาย ๆ ไม่มีใครจะมาตัดสินปล่อยตัวออกจากทุกข์ คือวัฏจักรนี้ได้ เหมือนเขาปล่อยตัวนักโทษออกจากเรือนจำฉะนั้น เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าและสาวกทั้งหลายเมื่อท่านได้พ้นไปแล้ว จึงเปล่งอุทานคล้ายกับเป็นการท้าทายวัฏจักรว่า นายช่างเรือนคือตัณหา ไม่สามารถสร้างเรือนคือรูปกายให้เราได้อีกแล้ว เพราะช่อฟ้า คืออวิชชาเราได้ทำลายแล้ว บัดนี้จิตของเราได้ถึงแล้วซึ่งวิสังขาร คือพระนิพพาน อุทานนี้พระองค์ทรงเปล่งขึ้นเมื่อตรัสรู้ใหม่ ๆ

ส่วนพวกเราเมื่อไรจึงจะได้เปล่งอุทานเหมือนอย่างพระองค์ท่านบ้าง หรือจะให้กิเลสตัณหาเปล่งอุทานเย้ยหยันท้าทายเราทุกวัน อวัยวะและสติปัญญาก็มีอยู่กับตัวของเรา เราไม่เจ็บปวดแสบร้อนในคำเย้ยหยันท้าทายของกิเลสตัณหาบ้างหรือ จะมัวนั่งฟังนอนฟังคำเย้ยหยันของเขาด้วยความเคลิบเคลิ้มจนลืมตัว เป็นการสมควรแก่พวกเราซึ่งประกาศตัวว่าเป็นศิษย์ของพระตถาคตเจ้าแล้วหรือ จะควรแก้ไขปัญหากับกิเลสอาสวะอย่างไรบ้าง เป็นเรื่องควรคำนึงและตื่นตัวด้วยความเพียร พระพุทธเจ้าและสาวกแก้ปัญหากับกิเลสซึ่งเกิดกับพระองค์อย่างไรบ้าง จึงทรงได้ชัยชนะและสิ้นสุดกันลงได้ เราควรรีบนำวิธีนั้นมาแก้ไขกับกิเลสซึ่งเกิดขึ้นกับหัวใจของเรา จนได้ชัยชนะอย่างพระองค์ จะสมนามว่าเป็นศิษย์พระตถาคตแท้

อนึ่ง สติกับปัญญาเป็นธรรมซึ่งควรประดิษฐ์ขึ้นได้ในใจของพวกเรา จึงไม่ควรนั่งคอยนอนคอยสติกับปัญญา และมรรค ผล นิพพาน อันสำเร็จรูปมาจากพระพุทธเจ้า พระสาวก และครูอาจารย์โดยถ่ายเดียว สิ่งใดซึ่งสำเร็จรูปมาจากคนอื่น นำมาใช้โดยเราไม่ฉลาดหาอุบายคิดทำขึ้นเองบ้าง ถึงคราวจำเป็นขึ้นมาหาทางอาศัยคนอื่นไม่ได้ เราจะมิแย่ไปหรือ เรื่องสติปัญญา ตลอดจนมรรค ผล นิพพาน ถ้าเราคอยเอาความสำเร็จรูปจากพระพุทธเจ้า หรือครูอาจารย์มาเป็นสมบัติของเราโดยถ่ายเดียว ไม่ได้หาอุบายคิดค้นพลิกแพลงขึ้นด้วยสติปัญญาของตนเอง หากมีความจำเป็นซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ทุกระยะกาล หรือเกิดปัญหาเฉพาะหน้าขึ้น เราจะคว้าหาทางไหนมาได้ทันท่วงที เพราะเราไม่เคยตระเตรียมไว้แต่ต้นมือ เราต้องยอมเสียเปรียบกิเลสหรือเหตุการณ์นั้น ๆ โดยไม่ต้องสงสัย

อนึ่ง พระพุทธเจ้าหรือครูอาจารย์ ไม่เคยชมเชยผู้ที่ฉลาดเพราะการท่องจำมาได้จากธรรม หรือสิ่งสำเร็จรูปมาจากคนอื่นโดยถ่ายเดียว แต่ทรงชมเชยบุคคลผู้มีสติปัญญาอันคิดค้นขึ้นมาโดยลำพังตนเอง และรักษาตนเองให้ปลอดภัยด้วยความฉลาดนั้นเท่านั้น แม้อุบายวิธีที่จะทำศีลให้บริสุทธิ์ก็ดี ทำสมาธิให้เกิดขึ้นก็ดี และอุบายทำปัญญาให้เกิดขึ้นเพื่อมรรค ผล นิพพานก็ดี พระองค์ตรัสไว้พอประมาณเท่านั้น ส่วนอุบายหรือวิธีการความแยบคายต่างออกไปเป็นพิเศษนั้น เป็นความแยบคายของโยคาวจรแต่ละราย จะสนใจหาความฉลาดแก้ไขตนเอง จะพึงคิดค้นขึ้นมาเอง แม้มรรค ผล นิพพานอันผู้ปฏิบัติจะพึงได้รับ ก็ควรจะทราบไว้ว่าไม่ได้เกิดขึ้นอย่างลอยลม คือปราศจากเหตุผล โดยไม่มีสติปัญญาศรัทธาความเพียรเป็นกุญแจ คือเครื่องมือสำหรับแก้ไข

ธรรมทั้งหลายที่กล่าวมานี้ ขอให้ท่านทั้งหลายจงตระหนักใจตนเองว่า พระพุทธเจ้าเป็นผู้มีธรรมคือหลักเหตุผลประจำองค์ของศาสดา ไม่ทรงเอนเอียงไปตามกระแสแห่งความกดดันใด ๆ ที่มากระทบ ดำรงพระองค์อยู่ด้วยหลักธรรมตลอดมาแต่ต้นถึงวันตรัสรู้จนถึงวันนิพพาน ฉะนั้นควรทราบหัวใจแห่งนักบวชของเรา คือการพลีชีพทุกขณะลมหายใจเข้าออกเพื่อพระพุทธเจ้า พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์องค์ประเสริฐสุดของโลก ด้วยความกล้าหาญต่อความเพียร ในขณะเดียวกันองค์แห่ง พุทธะ ธรรมะ และสังฆะที่บริสุทธิ์อันเป็นเครื่องตอบแทนจากพระศาสนา จะเป็นสมบัติอันล้นค่าของเราแต่ผู้เดียว

วันนี้ได้แสดงสมบัติของมีค่าในพระศาสนา ให้บรรดาท่านผู้ฟังทั้งหลายทราบจะได้ปลาบปลื้มใจในความเป็นเจ้าของแห่งสมบัตินั้น ๆ ก็นับว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติลงด้วยเวลาเพียงเท่านี้

 

www.Luangta.com or www.Luangta.or.th

 


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก