อย่าประมาทนอนใจในชีวิต
วันที่ 4 สิงหาคม 2505 ความยาว 32.01 นาที
สถานที่ : วัดโพธิสมภรณ์ จังหวัดอุดรธานี
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)

ค้นหา :

เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดโพธิสมภรณ์ อุดรธานี

เมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๐๕

อย่าประมาทนอนใจในชีวิต

 

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส

อจิรํ วต ยํ กาโย             ปฐวึ อธิเสสฺสติ

ฉุฑฺโฑ อเปตวิญฺญาโณ              นิรตฺถํว กลิงฺครนฺติ ฯ

บัดนี้จะแสดงพระสัทธรรมเทศนา ที่เป็นโอวาทคำสอนขององค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อให้สำเร็จประโยชน์เป็นธรรมสวนานิสงส์แก่บรรดาท่านผู้ฟังทั้งหลาย ฉะนั้น พึงตั้งใจของตนเพื่อจะสดับตรับฟังโอวาทคำสอนของพระพุทธเจ้า จะได้สำเร็จประโยชน์ในขณะที่ฟังเทศน์ด้วย จะสำเร็จประโยชน์ในกาลต่อไปด้วย การฟังธรรมเป็นความจำเป็นสำหรับเราซึ่งเป็นพุทธบริษัททุก ๆ ท่าน เพราะธรรมเต็มไปด้วยหลักเหตุผล ผู้จะประพฤติปฏิบัติจะเป็นทางโลกหรือทางธรรม ธรรมเป็นเครื่องชี้แนวทางไว้ทั้ง ๒ ทาง ผู้จะดำเนินในทางโลกย่อมเป็นความจำเป็นสำหรับอุบายวิธี หรือความฉลาด ที่จะนำไปปฏิบัติในกิจการนั้น ๆ ให้ถูกต้องและราบรื่นแก่ตนเอง ผู้จะปฏิบัติในทางธรรมจะเป็นความสะดวกไม่ผิดพลาด

เพราะสิ่งใดถ้าปราศจากการสดับตรับฟังให้เข้าใจและรู้วิธีการไว้ก่อน แล้วทำไปโดยไม่ได้ศึกษา ไม่ว่าทางโลกหรือทางธรรม ย่อมอาจทำให้ผิดพลาดได้ง่าย หรือแม้เกิดผลก็ไม่สมบูรณ์ เพราะฉะนั้นบรรดากิจการทั้งปวง ต้องอาศัยการสำเหนียกศึกษาให้เรียบร้อยมาก่อน การศึกษาจึงเป็นของจำเป็น จะเป็นเข็มทิศชี้แนวทางการดำเนินเพื่อสำเร็จเป็นผลขึ้นมาด้วยดี ไม่ว่ากิจการงานใด ๆ ทั้งนั้น ถ้าปราศจากการศึกษาเพื่อความเข้าอกเข้าใจแล้ว การงานที่จะพึงกระทำนั้น ๆ ย่อมไม่สมบูรณ์

เฉพาะอย่างยิ่งในทางพระพุทธศาสนา องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงสนพระทัยอย่างยิ่ง และปรากฏว่าได้ทรงศึกษาเพื่อสร้างพระบารมีมาเป็นเวลานาน และใช้อบรมบรรดาพุทธบริษัททั้งหลาย ให้รู้หนทางดีและชั่วเพื่อดำเนินตนให้ถูกทาง แม้พระองค์เองปรากฏว่าเป็นสยัมภูรู้เองเห็นเองก็ตาม ก็ต้องให้เสด็จออกทรงผนวชและทรงศึกษาในหลักธรรมชาติกระตุ้นเตือนพระทัยอยู่รอบด้าน ถึงกับทรงสลดสังเวชและทรงทนต่อเหตุการณ์เช่นนั้นไม่ได้

ดังนั้น การสำเหนียกศึกษาหรือการสนใจในตัวเหตุผล จึงเป็นการศึกษาในตัวแล้ว ท่านเสด็จทรงผนวชบวชอย่างคนขอทาน ทรงบำเพ็ญความพากเพียร เจริญภาวนา สละทิฐิมานะจากความเป็นกษัตริย์ทำพระองค์เป็นขอทาน บำเพ็ญสมณธรรมอยู่ในป่าในเขาซึ่งใคร ๆ เห็นก็จำไม่ได้ว่านี่คือใคร เพราะเห็นเป็นสมณะ เพียงศีรษะโล้น ๆ เท่านั้น คล้ายกับว่าไม่ได้ทรงสำเหนียกศึกษาจากใคร แต่แท้จริงครูสอนของพระองค์มีอยู่ทั่ว ๆ ไป และตลอดเวลาทั้งกลางวันกลางคืน พระองค์ทรงทอดพระเนตรใบไม้ร่วงหล่นลงมาจากต้น ก็ทรงพิจารณาว่าใบไม้เมื่อผลิออกทีแรกก็เป็นใบอ่อน แล้วก็แปรรูปเป็นใบแก่หล่นร่วงตกลงมา ชีวิตสังขารของเราก็เช่นเดียวกับใบไม้ สิ่งต่าง ๆ ซึ่งนอกจากนี้ มีลักษณะเช่นเดียวกับใบไม้ที่หล่นร่วงตกลงมาจากขั้วของเขา

พระองค์ก็ทรงพิจารณาเทียบเหตุผลข้างนอกข้างใน ให้รู้ชัดตามเรื่องความเป็นจริงด้วยพระปัญญา เพราะสภาพภายนอกกับสภาพภายในมีลักษณะเช่นเดียวกัน คือมีความตั้งขึ้น มีความแปรไป และมีความแตกดับในที่สุด เมื่อพิจารณาถึงพระองค์เองก็มีลักษณะเช่นนั้น นี่เรียกว่าพระองค์ทรงสดับธรรมทั้งหลายซึ่งเป็นหลักธรรมชาติ อยู่ในป่าเฉพาะพระองค์เดียว ก่อนจะเสด็จออกทรงผนวชก็ปรากฏว่าทรงได้รับการศึกษาในหลักธรรมชาติอย่างสุดพระทัย ในคืนวันพระองค์เสด็จออกทรงผนวช ปรากฏว่าได้ทรงเห็นบรรดานางสนมผู้ขับกล่อมบำรุงบำเรอในหอปราสาท คล้ายกับคนตายและเป็นป่าช้าผีดิบไปเสียหมด แม้พระองค์เองก็ปรากฏว่าเป็นเช่นนั้นเหมือนกัน จึงเป็นเหตุให้ทรงมีความรุ่มร้อนในพระทัยว่าเราจะหาที่ไหนเป็นที่พึ่ง

แม้บริษัทบริวารและหอปราสาทราชมนเทียร ที่เราอาศัยอยู่ตั้งแต่วันเกิดจนถึงวันนี้ แต่ก่อนปรากฏเป็นความร่มเย็นเป็นที่รื่นเริงบันเทิงในใจ มาในวันนี้มองไปทิศใดปรากฏเป็นเช่นเดียวกับป่าช้าผีดิบไปเสียทั้งสิ้น แม้หอปราสาทที่เราอยู่ ณ บัดนี้ ก็ไม่ทราบจะล่มจมทลายลงเมื่อไร พิจารณาย้อนเข้าไปถึงพระองค์เอง สภาพคือสังขารร่างกายของเราที่ประชุมขึ้นมาจากดิน น้ำ ลม ไฟ กลายเป็นสัตว์ เป็นคน เป็นหญิง เป็นชายขึ้นมา นี้ก็ต้องมีลักษณะเช่นเดียวกับสภาวะทั้งหลายซึ่งมองเห็นอยู่บัดนี้ สิ่งทั้งหลายที่จะเป็นไปด้วยความเที่ยงแท้ถาวรไม่ปรากฏว่ามีในที่ไหน ๆ ซึ่งพอจะเข้าพึ่งพิงอิงอาศัยให้เป็นที่ร่มเย็นพระทัย มองเห็นอยู่ทางเดียวคือการเสด็จออกผนวช เพื่อหาที่วิเวกสงัดประกอบความพากเพียร พิจารณาต้นเหตุ คือป่าช้าผีดิบที่พระองค์ได้ทรงปรากฏในคืนวันนั้นให้ชัดเจนลงไป

ทรงเทียบพระองค์กับบรรดาบริษัทบริวารทั้งหลายเหล่านั้นว่า เสมอกัน ในเรื่องความเกิดเขากับเราก็มีลักษณะเดียวกัน ในเรื่องความแก่เขากับเราก็มีลักษณะอันเดียวกัน ในเรื่องความทุกข์ความลำบากในสกลกาย เขากับเราก็มีลักษณะเช่นเดียวกัน  พิจารณาออกไปนอกพระราชวังทั่วทั้งดินแดนในไตรโลกธาตุนี้ มีสภาพเช่นเดียวกันนี้ ไม่มีเกาะใดดอนใดที่จะเป็นเกาะเป็นดอนเพื่อความร่มเย็น เพื่อความแน่นหนามั่นคง เพื่อความไว้วางใจได้ จะเป็นไปเพื่อความแตกความสลายเช่นเดียวกับเรานี้ทั้งนั้น พระทัยทรงหนักในทางทรงผนวชเพื่อจะได้พินิจพิจารณาเรื่องความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ให้ชัดเจนในพระทัยยิ่งขึ้น จนได้เสด็จออกไปจริง ๆ

นี่ก็แสดงว่าพระองค์ได้ทรงศึกษาในหลักธรรมชาติ ซึ่งเป็นของมีอยู่ทั่วไปให้เกิดผลประโยชน์ ให้เกิดความสลดสังเวชในความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ซึ่งเป็นของมีอยู่ทั่วทั้งโลกสงสาร ไม่ว่าเขา ไม่ว่าเรา ไม่ว่าคนหรือสัตว์ชั้นไหน ๆ เมื่อตั้งรูปตั้งกายขึ้นมาแล้ว ความแปรสภาพจะต้องเป็นเงาตามตัวอย่างนี้ นี่เป็นการศึกษาที่พระองค์ทรงค้นพบในเบื้องต้น มีหลักเหตุผลเป็นเครื่องเทียบเคียงในคนอื่นกับพระองค์ว่า มีลักษณะเเป็นแบบพิมพ์อันเดียวกัน คือ อนิจฺจํ ความแปรสภาพมีเต็มตัวเช่นเดียวกัน ความทุกข์ความทรมานในโลกนี้ ไม่ใช่โลกที่เป็นสุขล้วน ๆ

โลกที่เป็นอยู่ด้วยความหมุนตัวเป็นเกลียว ใครจะอยู่เฉย ๆ ไม่ได้เมื่อมีสภาพร่างกายขึ้นมาแล้ว แสดงว่าสภาพนั้นจะต้องเป็นสภาพที่ก่อกังวลให้ทนไม่ได้ อยู่เฉยก็ไม่ได้ ไม่ได้หลับ ไม่ได้นอน ไม่ได้รับประทาน ไม่ได้เดินไปมา เปลี่ยนอิริยาบถก็ไม่ได้ ถ้ามิฉะนั้นแล้วเราอยู่กับโลกไม่ได้ คือเมื่อไม่ทำไม่ได้ จึงเรียกว่าโลกนี้ว่า โลกไม่ได้ จะอยู่ให้สบายมันอยู่ไม่ได้ นั่งให้สบายก็ไม่ได้ นอนให้สบายก็ไม่ได้ จะไม่ต้องอยู่ต้องกินต้องหลับต้องนอน ทำตามสะดวกกายสบายใจมันไม่ได้ โลกอันนี้กลายเป็นโลกไม่ได้เสียทั้งนั้นในพระทัยของพระองค์ โลกไหนจะเป็นโลกได้เล่า

จึงทรงสืบสวนพิจารณาทวนหาเหตุผล ก็มีโลกุตรธรรมเท่านั้น คือธรรมที่บุคคลประพฤติแล้วพ้นไปเสียจากโลกไม่ได้ ถึงซึ่งโลกได้โลกถึง โลกแน่นอนได้แก่โลกุตรธรรมอันเป็นธรรมที่สูงสุด แล้วทรงปลงพระทัยเสด็จออกในคืนนั้น ทั้งที่ทรงทราบว่าพระองค์เป็นกษัตริย์ และทรงมีบริษัทบริวารทั่วทั้งแผ่นดินที่อยู่ในแว่นแคว้นและในร่มพระบารมีของพระองค์ แต่ก็เสด็จออกไปพระองค์เดียว มีนายฉันนะตามเสด็จเพื่อจะนำม้ากัณฐกะกลับคืนเท่านั้น เมื่อพิจารณาต้นเหตุที่ทรงปรากฏในคืนวันนั้น จนเห็นแจ่มแจ้งชัดเจนขึ้น ย่นในความที่พระองค์ทรงบำเพ็ญมาเป็นเวลา ๖ ปี ถ้าพูดตามภาษาของเรา เรียกว่าเกือบเป็นเกือบตาย เพราะกษัตริย์เสด็จออกผนวชด้วยการเสี่ยงภัยต่อชีวิต เพราะไม่เคยได้รับความลำบาก

คำที่ว่าเป็นกษัตริย์ อะไรเป็นกษัตริย์ทั้งนั้น เครื่องทรงทุก ๆ ชิ้นเป็นของกษัตริย์ อาหารการบริโภคเป็นเครื่องกษัตริย์ ที่อยู่อาศัยปัจจัยทุก ๆ อย่างเป็นของกษัตริย์ทั้งนั้น เมื่อได้เสด็จออกทรงผนวชเป็นคนขอทานแล้ว ความเป็นกษัตริย์ก็สูญหายไป ยังเหลือแต่ความเป็นคนอนาถาหรือคนขอทาน ไม่มีคุณค่าราคาแม้แต่น้อยในพระองค์ บริขารเครื่องอาศัยทุกชิ้นก็กลายเป็นบริขารของคนขอทานไปหมด ไม่มีชิ้นใดจะเป็นเครื่องของกษัตริย์เหมือนแต่ก่อน แล้วทรงพยายามสละทิฐิมานะจากความเป็นกษัตริย์ให้หมดโดยสิ้นเชิง ยังเหลือแต่คนขอทานเท่านั้น ซึ่งเป็นคนเช่นเดียวกับคนขอทานธรรมดาทั่วไป ซึ่งเราเห็นอยู่ด้วยตา แต่กลับเป็นเพศที่อยู่สบายสำหรับพระองค์ และเป็นฐานะที่ควรแก่ความเป็นศาสดาของโลกได้ด้วย

แล้วก็ทรงพินิจพิจารณาหลักความเกิด แก่ เจ็บ ตาย อันเป็นโลกไม่ได้แล้ว โลกทนอยู่ไม่ได้ โลกหมุนเวียนเปลี่ยนกันไปเปลี่ยนกันมา ตื่นของเก่า ตื่นของใหม่ เข้าใจว่าเป็นของใหม่อยู่เรื่อย ๆ อย่างนี้ที่เรียกว่าโลกวัฏจักร เมื่อพระพุทธเจ้าได้ทรงพิจารณาโลกนี้ให้ชัดเจนแล้ว ในพระทัยก็ทราบว่าเต็มไปด้วยโลกอันนี้เหมือนกัน คือในเจตสิกธรรมก็แสดงความแปรปรวนหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไปดี ไปชั่ว ไปอดีต อนาคต ปรุงกลับไปกลับมาอยู่เช่นนี้ ให้เห็นชัดด้วยพระปัญญาเรียกว่า ปัจจยาการ หรือ ปฏิจจสมุปบาท

กำหนดพิจารณาเรื่องความเกิดความดับของสังขารทั้งของเขาทั้งของเรา ตลอดทั้งโลกธาตุเห็นเป็นสภาพไตรลักษณ์เท่านั้น คือ อนิจฺจํ ทั่วทั้งโลกธาตุ นับตั้งแต่ตัวของเราไป ทุกฺขํ เป็นความทุกข์เช่นเดียวกัน อนตฺตา ตายแล้วใครจะถือเอาสิ่งใด ๆ จากโลกนี้ไปสู่โลกหน้าไม่ได้ ที่สุดแม้แต่ผมเส้นเดียวซึ่งเบาที่สุด ที่เราไปไหนมาไหนติดตามตัวของเราไปได้ แต่เมื่อจากโลกนี้ไปแล้ว ต้องมอบคืนเป็นสมบัติเดิม คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ สิ่งที่เหลือไปก็คือดวงใจ และสิ่งที่แฝงไปกับดวงใจนั้นคือ ความดีและความชั่ว ซึ่งตนได้สั่งสมไว้ในคราวมีชีวิต ธรรมชาติทั้งสองนี้เป็นเงาตามตัว

เมื่อทรงทราบเช่นนี้แล้วก็ทรงย้ำเข้าไปอีกว่า บาปเป็นความชั่วเป็นสิ่งที่เห็นได้ชัด แต่บุญที่เป็นความดีนี้จะตามเราไปถึงไหน ก็ทรงพิจารณาบุญและบาปอีกให้เห็นชัดโดยทางปัจจยาการ เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท ค้นเข้าไปถึง อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา เป็นต้น เรื่องความเกิด ตั้งกำเนิดมาแต่อวิชชา ติดต่อแตกแขนงเป็นลำดับ ๆ คือเป็นกิ่ง เป็นก้าน เป็นใบ เป็นดอก เป็นผล ต่อต้นต่อลำไป จนกระทั่งถึง สมุทโย โหติ ที่ท่านเรียกว่า รากเหง้าของอวิชชา เป็นเครื่องติดต่อแขนงไปอย่างนี้

เมื่อพระองค์ทรงพิจารณาย้อนกลับไปกลับมา จนทรงเห็นชัดตามเป็นจริงในอวิชชา ว่าเกิดขึ้นจากธรรมชาติ คือดวงใจนี้แล้ว จึงทรงกำหนดพินิจพิจารณาเรื่องใจดวงที่เป็นอวิชชานั้นด้วยพระปัญญา ในคืนวันเพ็ญเดือน ๖ ก็ทรงเห็นแจ่มแจ้งชัดเจน อวิชชาได้แตกกระเด็นไปจากพระทัยของพระองค์ในคืนวันนั้น จึงปรากฏว่าพระพุทธเจ้าของเราได้ตรัสรู้ในคืนวันเพ็ญเดือน ๖ เป็นอันว่าพระองค์ได้ทรงขบคิดปัญหาตั้งแต่คืนวันเสด็จออกผนวชจนถึงวันเพ็ญเดือน ๖ รวมเป็นเวลา ๖ ปี ปัญหาทั้งหมดในเรื่อง เกิด แก่ เจ็บ ตาย ในเรื่องความหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงแห่งจิตใจและธาตุขันธ์ทั้งหลายได้จบสิ้นลงในวันนั้น แล้วได้ทรงทราบชัดว่า พุทโธคือความบริสุทธิ์ได้ผุดขึ้นแล้วในพระทัยของพระองค์ เป็นพุทโธที่พ้นจากกิเลสตัณหาอาสวะ เป็นพุทโธที่บริสุทธิ์เต็มที่ เป็นพุทโธที่หมดความกังวล เรียกว่าผ่านพ้นโลกไม่ได้นี้ไปเสีย กลายเป็นโลกที่ให้นามว่า โลกุตรธรรม คือธรรมที่สูงกว่าแดนแห่งสมมุติ คือพ้นจากแดนแห่งความเกิด แก่ เจ็บ ตายนี้ไปได้เป็นองค์แรก

เมื่อพระองค์ได้ทรงตรัสรู้ในคืนนั้นแล้ว ทรงมีพระทัยจะสั่งสอนบรรดาสัตว์ ครั้งแรกของพระองค์มีความท้อพระทัยในการจะทรงแนะนำสั่งสอนสัตว์ ด้วยเห็นว่าพระธรรมที่ทรงได้รู้ได้เห็นนี้ เป็นธรรมที่เหลือวิสัยของมนุษย์ผู้มีกิเลสอย่างพวกเราทั้งหลายจะสามารถรู้ได้ แต่เมื่อพิจารณาพระองค์เทียบกับบรรดามนุษย์ทั้งหลายแล้ว เห็นว่าพระองค์ก็เป็นมนุษย์เช่นเดียวกับมนุษย์ทั่วไปในโลก เหตุใดจึงทรงรู้ได้เห็นได้เล่า ก็ย้อนเข้าถึงปฏิปทาข้อดำเนิน เมื่อมีปฏิปทาเครื่องดำเนินให้ถูกทางแล้ว ต้องเป็นเหตุให้ถึงจุดหมายได้โดยดี จึงทรงมีพระทัยที่จะทรงแนะนำสั่งสอนสัตว์ โดยเห็นว่าบรรดาสัตว์ทั้งหลาย ถ้าได้รับการอบรมสั่งสอนตามแนวทางที่ถูกต้องแล้ว ก็จะสามารถรู้ได้เห็นได้เช่นเดียวกับพระองค์ จึงทรงปลงพระทัยแนะนำสั่งสอนบรรดาสัตว์ทั้งหลายเป็นลำดับมา ปรากฏว่าพระองค์เป็นศาสดาสอนพระองค์อย่างสมบูรณ์แล้ว จึงทรงเป็นศาสดาสอนโลกได้อย่างสมบูรณ์เป็นลำดับมาตลอดทุกวันนี้

เพราะฉะนั้น วันนี้บรรดาท่านพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย ได้อุตส่าห์พยายามมาบำเพ็ญกุศลในสถานที่นี้ อันเกี่ยวกับเจ้าพระคุณธรรมเจดีย์ ซึ่งท่านถึงมรณภาพบรรจุศพของท่านไว้ในโกศ ได้มาสดับตรับฟังพระสัทธรรมเทศนาและได้ปลงธรรมสังเวชว่า ท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์กับเรานี้เป็นธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ อันเดียวกัน ตามบาลีที่กล่าวไว้ในเบื้องต้นนั้นว่า อจิรํ วต ยํ กาโย กายเป็นของไม่ตั้งอยู่มั่นคงถาวรเช่นเดียวกับพระคุณท่าน ปฐวึ อธิเสสฺสติ ฉุฑฺโฑ อเปตวิญฺญาโณ อย่างไรก็ต้องนอนทับแผ่นดิน เมื่อวิญญาณได้ปราศจากแล้ว นี่แสดงให้เราทั้งหลายได้พินิจพิจารณาองค์ของท่านที่มรณภาพไปแล้ว กับเราที่ยังมีชีวิตอยู่ มีความแตกต่างกันตรงไหนบ้าง

ต่างกันตรงที่ผู้มีวิญญาณยังครองอัตภาพอยู่ กับท่านที่มีวิญญาณปราศจากไปแล้ว เขาให้ชื่อว่าตายแล้วเท่านั้น เมื่อวิญญาณได้ปราศจากตัวของเราแล้ว เขาจะเรียกเราว่าอย่างไรอีก ก็ต้องย้ำรอยกันลงไป เช่นเดียวกับพระคุณท่านที่ปรากฏเป็นสักขีพยานของเราทั้งหลาย ณ บัดนี้ เพราะเหตุนั้นเราทั้งหลายที่มานี้ จึงมาปลงธรรมสังเวชอันเป็นเหตุให้ระลึกถึงตัวของเรา จะได้ไม่ประมาทนอนใจ บำเพ็ญคุณงามความดีเพื่อเป็นเครื่องพยุงจูงใจให้ไปเกิดในสถานที่ดี แม้จะได้มาเกิดเป็นมนุษย์ก็จะเป็นมนุษย์ที่ดี มีความเฉลียวฉลาดด้วยอำนาจวาสนา ความรู้วิชา ตลอดถึงโภคสมบัติศฤงคารบริวารจะเป็นมาด้วยอำนาจแห่งความดีของเรา เมื่อตายแล้วหมดการกระทำดีกระทำชั่ว ย่อมเสวยผลกรรมที่ตนได้ทำไว้แล้ว

บัดนี้ขณะนี้เราทั้งหลายทุก ๆ ท่านยังไม่สายเกินไป เป็นผู้พอเหมาะกับกาลเวลาเรียกว่า มัชฌิมา ในการทำคุณงามความดี สามารถจะบำเพ็ญตนให้เป็นไปเพื่อความเจริญทั้งทางโลกทางธรรมได้ ด้วยการกระทำของเรา เมื่อตายแล้วก็หมดวิสัยจะทำดีทำชั่วต่อไปได้แล้ว ท่านเปรียบด้วยท่อนไม้ท่อนฟืน ไม่เป็นประโยชน์อันใด แต่ท่อนไม้ท่อนฟืนนั้นยังเอามาทำเป็นฟืนหุงต้มได้ หรือจะมาทำประโยชน์อย่างอื่นก็ยังได้ ส่วนเราที่ตายไปแล้วจะทำอย่างนั้นไม่ได้ แม้จะทำเป็นฟืนเป็นถ่านก็ไม่ได้ จะทำปลาร้าน้ำปลาก็ไม่ได้อีกเหมือนกัน เรียกว่าหมดราคาในคนตาย จะบำเพ็ญคุณงามความดีต่อไปอีกไม่ได้แล้ว

พระองค์ตรัสไว้ว่า นิพฺพานํ ปรมํ สุญฺญํ พระนิพพานเป็นธรรมที่สูญสิ้นจากทุกข์ จากภัย จากความเสนียดจัญไรทุก ๆ อย่าง นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ ในขณะเดียวกัน เมื่อสูญสิ้นจากสิ่งทั้งหลายเหล่านั้นแล้ว ยังกลายเป็นธรรมบรมสุขยิ่งกว่าความสุขใด ๆ ในโลกนี้อีก โก นุ หาโส กิมานนฺโท นิจฺจํ ปชฺชลิเต สติ เพราะเหตุนั้น บรรดาท่านทั้งหลายจงรีบมาตามเราตถาคตในเดี๋ยวนี้ อย่าพากันมีความประมาทนอนใจในชีวิตจิตใจของตน ซึ่งปรากฏอยู่กับด้วยลมหายใจเท่านั้น เมื่อลมหายใจดับลงไปแล้ว จะเป็นคนหนุ่ม คนแก่ คนขนาดไหนก็ตาม เขาเรียกว่าคนตายทั้งนั้น ฉะนั้น อย่าได้พากันประมาทนอนใจกับลมเพียงเท่านี้ ไฟกิเลสตัณหากำลังลุกลามไหม้หัวใจสัตว์ผู้ประมาท ใครฉลาดจะพ้นไปกับเราตถาคต หมดอำนาจของกิเลสจะตามทัน จงให้รีบตามเราตถาคตไปด้วยข้อปฏิบัติ ด้วยทาน ด้วยศีล ด้วยภาวนา

จงมองดูตัวของเราให้ชัด มองดูหนัง ดูเนื้อ ดูตัวของเราให้ชัดด้วยปัญญา หนังภายนอกที่เราไปดูในโรงหนัง โรงลิเกโรงละครนั้น เป็นหนังที่จะเพิ่มความทะเยอทะยาน ความฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม เป็นเหตุให้เสียนิสัยตั้งแต่เด็กจนกระทั่งถึงเป็นผู้ใหญ่ เสียเงินเสียทองไปเพราะสิ่งเหล่านั้นก็มากมาย โดยไม่ค่อยจะได้คติในทางที่ดี นอกจากจะเป็นไปในทางเพลินเสียโดยมาก การดูหนัง เนื้อ เอ็น กระดูก และทุกส่วนในร่างกายของเราซึ่งเป็นภาพยนตร์ที่มีอยู่กับตัวนี้ จะไม่ต้องเสียอัฐเสียสตางค์ ยิ่งจะให้เกิดธรรมสังเวช เป็นเหตุให้เดินตามรอยของพระพุทธองค์ ด้วยความเห็นโทษในกองทุกข์ที่ตรัสไว้ว่า โก นุ หาโส กิมานนฺโท นิจฺจํ ปชฺชลิเต สติ

อย่าพากันรื่นเริงบันเทิงจนเกินไป ให้มองดูสกลกาย ความแก่ ความเฒ่า ความชรา ความจะแตก ความจะทำลายนั้นจะไม่ทำลายที่ไหน นอกจากจะแตกทำลายในตัวของเรา จะตายในตัวของเรา รีบเร่งหาคุณงามความดี เวลานี้ตะวันยังไม่อัสดง คือตัวของเรายังไม่ตาย ให้รีบเดินตามพระตถาคตเจ้าไปเดี๋ยวนี้ พวกท่านทั้งหลายจะปลอดภัย ไฟราคะ ไฟโทสะ ไฟโมหะ จะไม่กลุ้มรุมเผาลนท่านทั้งหลายอีกต่อไป เช่นอย่างเราตถาคตนี้ เราตถาคตนี้เกิดสุดท้ายในครั้งเดียวเท่านั้น เราได้ตัดขาดจากมิตรจากสหาย คือความเกิด ความแก่ ความตาย ความกังวลทั้งหลายแล้ว จะไม่ต้องมาสู่โลกซึ่งเป็นโลกหมุนตัวเป็นเกลียวอีกต่อไป นี้เป็นธรรมที่ประกาศให้เราพุทธศาสนิกชนทั้งหลายได้ทราบและตื่นตัวไม่ให้มัวเมาประมาท

ธรรมคำสั่งสอนที่พระองค์ตรัสไว้แล้วนั้นเป็นมัชฌิมา มีความเป็นกลางอยู่เสมอ ใครทำดีวันใด ให้ทานวันใด เจริญภาวนาหรือรักษาศีลเมื่อใด เป็นคุณงามความดี จะปรากฏผลตลอดเวลา ให้เดินตามตถาคตเจ้าไปอย่างนี้ นี้เป็นพระโอวาทของพระองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า นี่แสดงเรื่องธรรมชาติที่ประเสริฐเลิศกว่าสิ่งใด ๆ ในโลก คือ  นิพฺพานํ ปรมํ สุญฺญํ ได้แก่นิพพาน เป็นธรรมที่สูญสิ้นจากสิ่งทั้งหลาย ชื่อว่ากองทุกข์แม้แต่น้อยจะไม่มีในพระนิพพานนั้น ๑ นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ ไม่มีความสุขอันใดที่เราทั้งหลายได้ผ่านมาในโลกนี้จะเป็นเหมือนความสุขในพระนิพพานนั้น ๑ อเปตวิญฺญาโณ นิรตฺถํว กลิงฺครํ ท่านทั้งหลายอย่าเพลิดเพลินรื่นเริงกับท่อนไม้ท่อนฟืนอันจะแตกจะดับ และลมหายใจฟอด ๆ อย่างนี้จนเกิดไปเลย จงตามเราตถาคตไปด้วยข้อวัตรด้วยข้อปฏิบัติ ด้วยทาน ด้วยศีล ด้วยภาวนา อย่าเป็นผู้นอนใจ ประมาทในชีวิตสังขารของตน

เขาตายกันอยู่ทั่วทั้งแผ่นดิน ซึ่งเป็นครูสอนเราแล้ว ทำไมจึงพากันประมาทเล่า แสดงเหมือนกับว่าตะโกนเรียกเราให้รีบบำเพ็ญตน เพื่อตามเสด็จพระองค์ไปให้พ้นภัยคือ กองทุกข์ ซึ่งมีอยู่ในร่างกายและจิตใจ และเผารุมเราอยู่ตลอดเวลาไม่มีเว้นระยะแม้แต่ขณะเดียว สังขารร่างกายของเราเขาแสดงการท้าทายเราอยู่เสมอว่า สภาพอันนี้เป็นสภาพที่ว่าจะแตกแน่ ๆ ถ้าพูดตามภาษาของเราก็เหมือนว่า กองทุกข์เต็มตัวท่านรู้หรือยัง แสดงความเอารัดเอาเปรียบตลอดมา ถ้าไม่ได้กินอยู่หลับนอนเป็นประจำ เขาต้องแตกสลายโดยถ่ายเดียว เพราะขันธ์นี้เป็นสิ่งที่อยู่เฉย ๆ ไม่ได้ ต้องพยายามพะเน้าพะนอ อุปถัมภ์อุปัฏฐากดูแลรักษา อิริยาบถทั้ง ๔ เป็นเรื่องจะต้องทำเพื่อกายของเราทั้งนั้น

แต่การแสดงธรรมทั้งหมดนี้ บรรดาท่านผู้ฟังจะนำไปประพฤติปฏิบัติให้ได้ผลประโยชน์แก่ตนมากน้อยเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับความสามารถ ขึ้นอยู่กับกำลังสติปัญญา หรือความคิดของตนเอง เป็นไปได้ตามกำลังศรัทธาความสามารถ ย่อมไม่เสียประโยชน์

วันนี้ได้แสดงถึงเรื่อง อจิรํ วต ยํ กาโย ปฐวึ อธิเสสฺสติ ไม่ว่ากายของใคร ๆ ทั้งนั้น ไม่จีรังถาวร เป็นเรื่องเกิด ๆ ตาย ๆ ถึงเราจะว่าเรามีอายุยืนอยู่ตั้ง ๖๐ ปี ๗๐ ปีก็ตาม จากนั้นมาถึงวันตาย มันคล้าย ๆ กับว่าเพียงชั่วโมงเดียวเท่านั้น การร่ำรี้ร่ำไร การซ้ำ ๆ ซาก ๆ แห่งความเกิด ความตาย ความทุกข์ จึงเป็นของที่น่ารำคาญสำหรับนักปราชญ์ คือพระพุทธเจ้า แม้เราจะไม่สามารถทำได้อย่างพระองค์ท่านก็ตาม แต่ก็ควรจะนำแบบของท่านไปพินิจพิจารณา แล้วอุตส่าห์ประพฤติปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์ จะเป็นไปเพื่อความเจริญรุ่งเรืองทั้งในชาตินี้และชาติหน้า ไม่เสียเวลาเปล่าที่ได้ในความเป็นมนุษย์ซึ่งเป็นชาติที่สูงสุดกว่าบรรดาสัตว์ ที่เขาไม่มีโอกาสเหมือนอย่างเรา ครองสมบัติแห่งความเป็นมนุษย์อยู่ ณ บัดนี้

ในอวสานแห่งพระธรรมเทศนานี้ ขอบุญญานุภาพแห่งองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์ จงมาปกเกล้าเหล่าท่านพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย ที่ได้อุตส่าห์มาด้วยความเต็มอกเต็มใจ ให้มีความสุขกายสบายใจทุกทิวาราตรีกาล ดังได้รับประทานวิสัชนามาในธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า เห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติลงด้วยเวลาเพียงเท่านี้ เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้

www.Luangta.or.th

 


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก