อวิชชาขาดแล้วว่างหมดทั้งภายนอกภายใน
วันที่ 14 ตุลาคม 2549 เวลา 17:30 น. ความยาว 95 นาที
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)   วิดีโอแบบ(Win High Band)

ค้นหา :

เทศน์อบรมพระหลังกรานกฐิน ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อค่ำวันที่ ๑๔ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๔๙

อวิชชาขาดแล้วว่างหมดทั้งภายนอกภายใน

วันนี้เพลีย ไปพักนอนมันก็ไม่หลับ มานั่งตั้ง ๓ ชั่วโมงกว่า ตั้งแต่ ๗ โมง จนถึง ๑๑ โมงกว่า จึงได้ขึ้นมา เวลามาพักนอนแทนที่จะหลับมันไม่หลับ นั่นละจึงทำให้เพลีย

การเทศนาว่าการตามปกติ ในวงกรรมฐานทั้งหลายที่พากันดำเนินมา มีพ่อแม่ครูจารย์มั่นเป็นหลักใหญ่ เป็นตัวอย่างอันดีงามพาดำเนินมา ท่านจะเทศน์อบรมเฉพาะพระล้วนๆ การเทศน์สอนพระกับเทศน์สอนฆราวาสนั้น หน้าที่การงานความรู้สึกมันต่างกัน เทศน์สอนพระต้องไปแบบพระล้วนๆ เลย เทศน์สอนฆราวาสก็ให้เป็นไปตามฆราวาส แต่นี่เลยกลายเป็นเรื่องคละเคล้ากันไปหมด เราเองก็ไม่เคยเทศน์ ดังที่เคยเทศน์มาแล้ว ในเวลามาอยู่วัดป่าบ้านตาดทีแรก เทศน์อัดเทปเอาไว้ เทศน์สอนพระล้วนๆ จึงมีแต่เนื้ออรรถเนื้อธรรมในภาคปฏิบัติสำหรับพระ ครั้นต่อมานี้มันเลยยุ่งไปหมด ไม่ทราบว่าเทศน์สอนพระสอนโยม จะยึดเอาหลักเอาเกณฑ์อะไรก็ไม่สนิทใจ

การเทศน์ผู้เทศน์ก็ไม่สนิทใจเหมือนกัน ว่าจะเทศน์ให้หนักให้เบาไปในแง่ใดบ้าง เพราะฉะนั้นเนื้ออรรถเนื้อธรรมจึงไม่ค่อยเต็มเม็ดเต็มหน่วย ภาคปฏิบัตินี้สำหรับพระเรา เป็นเพศที่ตั้งหน้าตั้งตามาประพฤติปฏิบัติเพื่ออรรถเพื่อธรรม เพื่อมรรคผลนิพพานจริงๆ เพราะฉะนั้นความเคลื่อนไหวไปมาทุกอย่าง จึงเป็นความละเอียดสุขุมกว่าฆราวาสเขา ความคิดความอ่านไตร่ตรองต่างๆ ตลอดกิริยาที่นำออกใช้ในสังคมก็มีผิดแปลกกันเป็นธรรมดา ทีนี้เวลาออกมาปฏิบัติ เพราะครั้งพุทธกาลมีแต่พระปฏิบัติเป็นจำนวนมาก ฝ่ายปริยัติก็มีบ้างเล็กๆ น้อยๆ ไม่ค่อยปรากฏมากนัก เพราะนั้นพระพุทธเจ้าท่านทรงเป็นประธานในภาคปฏิบัติ พาดำเนินมาตลอด

พอบวชเสร็จเรียบร้อยแล้ว ไม่ว่าพระองค์ใดที่จะแยกตัวออกไปเรียนทางภาคปริยัติ อย่าว่าแต่วงกรรมฐานที่บวชแล้วเพื่อปฏิบัติโดยถ่ายเดียวเลย แม้ผู้ที่จะแยกออกไปทางปริยัติศึกษาเล่าเรียน ก็ต้องได้รับคำสั่งสอนที่ว่า รุกฺขมูลเสนาสนํ นิสฺสาย ปพฺพชฺชา ตตฺถ เต ยาวชีวํ อุสฺสาโห กรณีโย.บรรพชาอุปสมบทแล้ว ให้ท่านทั้งหลายไปอยู่ตามรุกขมูล ร่มไม้ ในป่าในเขา ตามถ้ำ เงื้อมผา ป่าช้า ป่ารกชัฏ ที่แจ้งลอมฟาง อัพโภกาส อันประกอบด้วยอากาศอันดีงามโปร่งโล่งสบาย และเป็นสถานที่ไม่พลุกพล่านวุ่นวายกับสิ่งใด พอที่จะเป็นการรบกวนความพากเพียร ให้พากันอยู่และบำเพ็ญในสถานที่ดังกล่าวนี้ตลอดชีวิตเถิด

สอนพระท่านสอนถึงขนาดที่ว่า ให้อยู่ตามที่สอนนี้ตลอดชีวิตเถิด คืออยู่และบำเพ็ญ อยู่ก็อยู่ในป่า บำเพ็ญในป่า มีสติปัญญาระมัดระวังรักษาใจ ตัวคึกตัวคะนองไม่มีอะไรเกินใจ ให้มีสติรักษาไว้ด้วยดี ชื่อว่าเป็นผู้บวชมาเพื่ออรรถเพื่อธรรมจริงๆ ชีวิตความเป็นอยู่ของพระ เป็นชีวิตที่ตั้งหน้าตั้งตาประพฤติปฏิบัติเป็นอรรถเป็นธรรมทุกแง่ทุกมุม ไม่เหมือนฆราวาสที่สับสนปนเปไป ส่วนมากก็มีแต่โลก เลยกลายเป็นส้วมๆ ถานๆ กันไปหมด คำว่าศาสนาเลยไม่มีในหัวใจของมนุษย์ทั้งคน มีอยู่เยอะ

ทีนี้พระเวลามาบวชแล้ว ตั้งหน้าตั้งตาประพฤติปฏิบัติต่อหน้าที่การงานของตน เวลาบวชทีแรกท่านก็ประทานอาวุธอันสำคัญให้ เป็นทั้งฝ่ายสมถะคือความสงบร่มเย็น โดยอาศัยกรรมฐาน ๕ เป็นเครื่องบริกรรม เป็นได้ทั้งวิปัสสนาแยกแยะกรรมฐาน ๕ คือ เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง นี้เป็นได้ทั้งสมถะและวิปัสสนา การบวชเบื้องต้นจะพิจารณาหรือบริกรรมคำใดในกรรมฐาน ๕ นี้ ก็บริกรรมตามจริตนิสัยชอบของตน มีสติเป็นเครื่องกำกับรักษาให้จิตอยู่กับคำบริกรรม มีเกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ เป็นต้น อาการใดอาการหนึ่ง เป็นเครื่องผูกมัดจิตใจ ให้จิตใจได้เกาะได้ยึดกับกรรมฐานบทนั้นๆ ด้วยความมีสติจดจ่อติดเนื่องกันไปโดยลำดับลำดา นี่ท่านเรียกว่าภาวนา

ภาวนาเป็นคำกลางๆ การสอนผู้สอนไม่เคยภาวนาก็สอนแบบงูๆ ปลาๆ ไปอย่างนั้นแหละ และผู้ทำก็ทำแบบงูๆ ปลาๆ สุดท้ายที่ได้มาก็ไม่ทราบงูๆ ปลาๆ เลยคละเคล้ากันไปหมด ไม่ได้ผลประโยชน์แต่อย่างใด การสอนนี่ท่านสอนเช่น เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ เราจะนำเกสามาเป็นคำบริกรรมด้วยความมีสติสืบเนื่อง หรือติดต่อสืบเนื่องกันเป็นลำดับลำดา ไม่ยอมให้เผลอกับคำบริกรรมนั้นๆ ที่เราชอบใจนำมาบริกรรมอย่างนี้ก็ได้ ในกรรมฐาน ๕ มีสติกำกับอยู่กับเกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ

ท่านพูดเพียงตโจ นี่ก็เพราะถึงประโยคใหญ่แล้ว ตโจก็คือหนัง ที่เป็นสัตว์เป็นบุคคล หลงเขาหลงเรา ภูเขาภูเราอยู่เวลานี้ ก็เพราะหนังบางๆ นี่เท่านั้นแหละ ไม่ได้หนาอะไรเลย นี่ละปิดหูปิดตาสัตว์ทั้งหลายไว้ ให้เป็นของมีค่ามีราคาขึ้นมา ทั้งๆ สิ่งเหล่านี้ไม่ได้มีค่ามีราคาอะไรแหละ พอหนังหุ้มห่อเข้าไปแล้ว ก็เลยกลายเป็นของมีค่ามีราคาไป ท่านจึงสอนให้พิจารณาถึงหลักความจริง สำหรับผู้ต้องการให้หลุดพ้นจากทุกข์อย่างแท้จริงแล้ว ให้ถืองาน ๕ ประการนี้เป็นพื้นฐานสำคัญแห่งการพิจารณา เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ เป็นคำบริกรรมกำกับก็ได้

จากนั้นก็พิจารณาเข้าไปถึงภายใน ถึงตโจแล้วก็เข้าไปภายใน เนื้อหนังมังสัง อาการ ๓๒ เต็มอยู่ภายในนี้ ซึ่งล้วนแล้วตั้งแต่เป็นของปฏิกูลโสโครกหมด ให้พิจารณาด้วยสติปัญญา แล้วใจจะค่อยเข้าอกเข้าใจตามหลักความเป็นจริง ที่มีอยู่ในกายเขากายเรา แล้วความยึดมั่นถือมั่นสำคัญผิด และกองทุกข์ทั้งหลายที่เกิดจากความยึดมั่นถือมั่นนี้ก็จะจางลงไปๆ ท่านจึงสอนธรรมเหล่านี้เบื้องต้นเสียก่อน ขึ้นไปถึงตโจ จากนั้นผู้พิจารณาก็ลุกลามเข้าไป ถึงหนังเนื้อเอ็นกระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม ตับ หัวใจ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า เต็มอยู่ในร่างกายของเขาของเรานี้ทั้งนั้น ในสิ่งที่กล่าวมาเหล่านี้ หาความสดสวยงดงาม มีค่ามีราคาที่ชิ้นใดในร่างกายนี้ไม่มี มีแต่ของสกปรกโสมมเต็มเนื้อเต็มตัว ทั้งเขาทั้งเรา เพื่อจะถอดถอนความยึดมั่นถือมั่นสำคัญผิดว่าสิ่งนี้มีราค่ำราคามาแต่ก่อน แล้วให้ไหลเข้าสู่ตามหลักความเป็นจริงว่า ไม่มีค่ามีราคา ไม่เป็นของสดสวยงดงามแต่ประการใด หากเป็นหลักธรรมชาติอย่างนี้ของเขา ผู้พิจารณาก็ให้พิจารณาอย่างนี้เรื่อยๆ ไป

แต่สติเป็นของสำคัญมากสำหรับนักภาวนา ต้องใช้สติเป็นสำคัญ สติจับติดๆ เรียกว่าเป็นผู้มีความเพียรตลอดเวลา ยืน เดิน นั่ง นอน มีสติติดแนบตลอดเว้นเพียงเวลาหลับเท่านั้น นี่เรียกว่าผู้ประกอบความเพียรด้วยความสม่ำเสมอ แม้จิตใจจะดีดดิ้นเหาะเหินเดินฟ้าไปไหน ก็ไม่พ้นสติ ซึ่งเป็นฝั่งอันใหญ่หลวง บีบบังคับหรือกั้นเอาไว้ให้อยู่ในกรอบแห่งคำบริกรรมเป็นต้น เช่น เราบริกรรมเกสา โลมา หรือ บริกรรมพุทโธ ธัมโม สังโฆ ก็ได้ ให้มีสติติดแนบอยู่กับคำบริกรรม นี่เรียกว่าเป็นผู้ทำงานโดยตรง

เมื่อจิตติดแนบอยู่กับคำบริกรรมนี้แล้ว ไม่ส่งส่ายไปที่ไหน อารมณ์อย่างอื่นอย่างใดที่เป็นกิเลส ก็ไม่แฝงเข้ามา มีแต่อารมณ์แห่งธรรมเป็นอารมณ์เพื่อความสงบของใจ และเพื่อความรู้แจ้งเห็นจริงของใจโดยลำดับ และเพื่อการถอดถอนกิเลสไปโดยถ่ายเดียวเท่านั้น ไม่ได้เหมือนอารมณ์ที่แทรกเข้ามาในเวลาจิตใจหรือสติเราเผลอ คิดเรื่องใดเป็นเรื่องของกิเลสขึ้นมา นั่นละเป็นฟืนเป็นไฟเผาไหม้จิตใจหาความสงบไม่ได้ ทั้งๆ ที่ภาวนาอยู่ก็ไม่มีความสงบ เพราะเผลอเปิดทางให้กิเลสเข้ามาเผาตัวเองอยู่ตลอด ถ้าตั้งใจปฏิบัติให้มีสติติดแนบกับตัวจริงๆ แล้ว กิเลสมันจะหนาแน่นขนาดไหนก็ตามเถอะ เกิดไม่ได้

สติเป็นสำคัญมากทีเดียว ถ้าลงไม่เผลอสติแล้ว จิตนี้มันอยากคิดอยากปรุง เหมือนอกจะแตก เพราะอยากคิดอยากปรุงไปตามทางสายของกิเลส สร้างฟืนสร้างไฟให้ตัวของเราเอง เมื่อมีสติอยู่แล้วมันคิดออกไปไม่ได้ สติบังคับๆ หลายเวล่ำเวลา สติบังคับอยู่เช่นนั้น ใจที่เคยฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมนั้น จะค่อยสงบตัวลงไป เพราะกิเลสไม่สามารถที่จะเข้ามาแย่งชิงเอางานของธรรมไปเป็นงานของตน งานของตนก็คืองานของกิเลส งานของธรรมก็คือคำบริกรรม มีสติติดแนบอยู่กับตัว นี่ท่านเรียกว่าภาวนา เพื่อรากเพื่อฐานจริงๆ

จิตไม่เคยสงบก็สงบได้ ขอให้มีสติเถอะ ถ้าไม่มีสตินี้จะเอาธรรมบทใดมาบริกรรมก็ไม่เป็นท่าทั้งนั้น เพราะขึ้นอยู่กับสติ ความรู้สึกตัว บีบบังคับจิตไม่ให้คิดไปในทางที่เป็นกิเลสตัณหา บีบลงในทางเป็นงานของธรรม เช่น ตโจ ๆ อย่างนี้ หรือว่า เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ บทใดก็ได้ หรือ พุทโธ หรือ ธัมโม หรือ สังโฆ มรณัสสติก็ได้ อานาปานสติก็ได้ มีสติบังคับอยู่ เรียกว่าเป็นงานของธรรม ถ้าธรรมทำงานแล้ว ย่อมจะกล่อมจิตใจให้มีความสงบเข้าไปเป็นลำดับ เมื่อสงบมากเข้า การดีดดิ้นของจิตที่อยากคิดอยากปรุงไปในทางของกิเลส ก็ค่อยเบาลงๆ จิตใจสงบย่อมมีความผาสุกเย็นใจสบายใจ ท่านเรียกว่าสมถะ ตั้งรากตั้งฐานคือความสงบใจได้ด้วยความมีสติ

เมื่อมีสติติดแนบกันไปโดยลำดับแล้ว ความสงบนี้จะเป็นความแน่นหนามั่นคงหนักเข้าเป็นลำดับ จนกลายเป็นจิตที่แน่นขึ้นมา ท่านเรียกว่าสมาธิ จิตเป็นสมาธิเป็นจิตที่แน่นหนามั่นคงยิ่งกว่าจิตที่สงบ เพิ่มสติไม่หยุดไม่ถอย สมาธินั้นก็จะแน่นหนามั่นคง ความคิดความปรุงทั้งหลายไม่มารบกวน เวลาสมาธิเรามีกำลังกล้าแล้ว แม้แต่ความคิดปรุงต่างๆ มันก็รำคาญ ถ้าจิตได้อยู่แน่วเป็นเอกัคคตารมณ์คือมีอารมณ์อันเดียว เอกัคคตาจิตมีจิตที่รู้อยู่อย่างเดียวเท่านั้นแล้วสบาย อยู่ที่ไหนก็สบายไม่มีอะไรกวน เพราะสังขารที่เป็นสมุทัยมันสงบตัวลงไป ด้วยอำนาจแห่งสติหรือคำบริกรรมของเรา บีบบังคับช่องทางที่มันเคยเกิดขึ้น ไม่ให้เกิดขึ้นมา นี่เป็นงานของธรรมทำงานเรื่อยๆ จิตก็ค่อยสงบแน่นหนามั่นคงเข้าไปๆ เรียกว่าตั้งรากตั้งฐานได้

จากนั้นเป็นสมาธิคือจิตมั่นคง มีแต่ความสงบเย็นใจ นั่งอยู่ที่ไหนลืมวันลืมคืน อยู่ในต้นไม้ภูเขา ในถ้ำเงื้อมผาที่ตรงไหนเป็นความสะดวกสบายทั้งนั้น เพราะจิตไม่กวนตัวเอง จิตสงบนี่เรียกว่าจิตเป็นสมาธิ ไม่อยากคิดอยากปรุงอะไร ทีนี้เวลาจิตมีสมาธิแน่นหนามั่นคงเข้ามากๆ เลยเพลินกับความอยู่เป็นเอกัคคตารมณ์ รู้แน่วอยู่ภายในจิตอันเดียวเท่านั้น ความคิดปรุงทั้งหลายเป็นการรำคาญ ไม่อยากคิดอยากปรุงมันกวนใจ นั่นละจิตเมื่ออิ่มอารมณ์แล้วย่อมไม่คิดไม่ปรุง มีอารมณ์อันเดียวคือความรู้ นี่เรียกว่าจิตอิ่มอารมณ์จิตเป็นสมาธิ ไม่อยากคิดอยากปรุงกับเรื่องใด

ทีนี้จิตที่มีความอิ่มอารมณ์นี้แล้ว เป็นโอกาสอันดีที่จะพิจารณาทางด้านปัญญา ให้นำจิตที่สงบ จิตที่อิ่มอารมณ์นี้ออกไปพิจารณาแยกธาตุแยกขันธ์ อย่างที่กล่าวตะกี้นี้ เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ จนกระทั่งเข้าถึงอาการ ๓๒ ด้วยปัญญา พิจารณาแยกแยะให้เห็นตามสัดตามส่วนของมัน แล้วปัญญานี้จะสว่างกระจ่างแจ้งขึ้นมา ผิดกับสมาธิอยู่มาก สมาธินี้เป็นแต่เพียงตีตะล่อมกิเลสที่มันฟุ้งซ่านวุ่นวาย เข้ามาสู่จุดแห่งความสงบแน่นหนามั่นคงของใจเท่านั้น ไม่ได้ถอดถอนกิเลสตัณหาตัวใดได้เหมือนปัญญา ทีนี้พอเราพิจารณาทางด้านปัญญาแล้ว จะเป็นการเริ่มถอดถอนกิเลสเป็นลำดับลำดาไป

เพราะฉะนั้นผู้พิจารณาทางด้านปัญญา เห็นเหตุเห็นผลแล้ว จึงเพลินในการพิจารณาทางด้านปัญญาไปเรื่อยๆ จนรู้แจ้งขาวดาวกระจ่างไปเป็นลำดับ และถอดถอนกิเลสไปได้เป็นระยะๆ ก็เห็นคุณค่าแห่งการพิจารณาทางด้านปัญญา แล้วมาเห็นโทษของความสงบของใจคือสมาธิ ไม่อยากคิดอยากปรุงนี้ว่า เป็นเพียงตะล่อมอารมณ์เข้ามาอยู่เฉยๆ ติดอารมณ์คือความสงบของตัวเอง ไม่ได้ถอนกิเลสได้เลย ก็มาเห็นโทษของอันนี้ ทีนี้ออกทางด้านปัญญา เมื่อออกทางด้านปัญญา ออกไปเท่าไรยิ่งรู้ยิ่งกระจ่างแจ้งขึ้นมา ก็ทำให้จิตใจมีความเพลินในการพิจารณาทางด้านปัญญา แยกแยะแยกสันปันส่วน อาการใดๆ มันก็ยิ่งกระจ่างแจ้งขึ้นมา ก็เพลินในการพิจารณาของตน เลยไม่อยากเข้าพักสมาธิ นี่ท่านก็ให้พัก

เวลาเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า จากการพิจารณาทางด้านปัญญา เพื่อถอดถอนกิเลสแล้วให้เข้าสู่สมาธิ พักสงบใจ เข้าสู่สมาธิให้เข้าสู่จิตเป็นอารมณ์อันเดียว ปัญญามีหลายอารมณ์ แยกแยะส่วนนั้นส่วนนี้เรียกปัญญา สมาธินี้ให้เข้าสู่อารมณ์อันเดียว ให้รู้แน่ว ถ้ามันไม่อยากเข้า เพราะอำนาจของปัญญามีกำลังมากกว่าจะเพลินในการพิจารณา ทั้งๆ ที่เจ้าของเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า แต่ปัญญาไม่ถอย อยากพิจารณาไปเรื่อย ก็ให้รั้งปัญญาเข้ามาสู่คำบริกรรมคำใดก็ได้ เช่น พุทโธๆ เพี่อจะให้จิตรวมเข้าสู่จุดเดียว ถ้าเพียงลำพังเราบังคับให้จิตเข้าสู่สมาธินี้ไม่เข้า อำนาจของปัญญามันฉุดมันลาก ให้เพลิดให้เพลินในการพิจารณาต่อไปอยู่เรื่อยๆ อย่างนั้น

เพราะฉะนั้นเวลาเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า ส่วนมากมันจะมาเหน็ดเหนื่อยในหัวอกนี้แหละ เหน็ดเหนื่อยภายในหัวอกเจ้าของ แล้วก็ให้ย้อนจิตเข้ามาสู่สมาธิด้วยคำบริกรรมคำใดก็ได้ ถ้าจะบังคับให้เข้าอยู่เฉยๆ นี้ไม่เข้า ต้องอาศัยคำบริกรรมเป็นกำลัง ยึดคำบริกรรมนั้นเป็นหลักเอาไว้ ไม่ให้ออกทางด้านปัญญา เช่น พุทโธๆ เป็นต้น ด้วยความมีสติ แล้วจิตจะค่อยสงบแน่วลงไปเป็นสมาธิ เรียกว่าจิตพักงาน ไม่ทำงานพิจารณาคลี่คลายสิ่งใดด้วยปัญญาเลยเวลานั้น พัก มีอารมณ์อันเดียวเรียกว่าสมาธิแน่นหนามั่นคง พอมีกำลังวังชาแล้วค่อยออกพิจารณาต่อไป

คือจิตในขณะที่เข้าสู่สมาธินี้เหมือนถอดเสี้ยนถอดหนาม กระปรี้กระเปร่า มีความสุขความรื่นเริงภายในตัวเอง ผิดกันกับการพิจารณาทางด้านปัญญา ซึ่งเป็นการตบการตีการต่อย เหมือนนักมวยเขาต่อยกันอยู่มาก อันนั้นเป็นการทำงาน จึงเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า ให้พักเข้าสู่สมาธิ เมื่อพักเข้าสู่สมาธิได้กำลังแล้ว ถอยออกจากสมาธิก็ก้าวทางด้านปัญญา ไม่ต้องมาห่วงสมาธิ ให้ก้าวเดินทางด้านปัญญาล้วนๆ ไปเลย พิจารณาแยกแยะอะไรที่จะมีความแยบคาย ให้พิจารณาเข้าไป จิตจะเพลินในการพิจารณาไปเรื่อยๆ สตินี้จะติดตามๆ ไม่ค่อยเผลอละ

เมื่อได้พิจารณาปัญญาเห็นคุณค่าของปัญญาแล้ว สติก็จะติดแนบไปตามๆ กัน ไม่เผลอๆ ต่อไปก็เลยกลายเป็นสติปัญญาอัตโนมัติ ไม่เผลอ สติกับปัญญาเลยกลมกลืนเป็นอันเดียวกัน ทีนี้เพลินๆ ในการพิจารณาอสุภะอสุภัง ทุกฺขํ อนิจฺจํ อนตฺตา นี้เป็นหินลับปัญญา พิจารณาจนกระทั่งจิตมีความพอตัวแล้วในเรื่องร่างกาย ที่ว่านี้เป็นการพิจารณาร่างกาย เช่น อสุภะอสุภังของปฏิกูลโสโครก และเป็นอนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา เหล่านี้ นี่เรียกว่าพิจารณาทางร่างกาย ทีนี้พอจิตอิ่มตัวแล้ว มันจะปล่อยทางร่างกาย ปล่อยร่างกายแล้วเรียกว่าอิ่ม การพิจารณาร่างกายด้วยปัญญา

เมื่อปัญญาพอตัวแล้วจะอิ่มในการพิจารณาแล้วไม่อยากจะพิจารณา นี่เรียกว่าอิ่มในการพิจารณาทางด้านวัตถุคือร่างกาย จากนั้นมันก็จะหมุนเข้าสู่พวกเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ โดยอาศัยร่างกายนี้เป็นหินลับปัญญาอีกเช่นเดียวกัน แต่ว่าละเอียดกว่ากัน หากจะพิจารณาร่างกายเป็นชิ้นเป็นอันเหมือนแต่ก่อนจริงๆ ไม่พิจารณา หากแฝงกันไปอยู่อย่างนั้นแหละ การพิจารณาร่างกายนี้จะเบาลงๆ หมุนไปตามนามธรรม ซึ่งมีแต่อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ไปเรื่อยๆ นี่เรียกว่าการพิจารณาร่างกายพอตัว ถึงขั้นพอๆ

ร่างกายเมื่อยังไม่พอนี้ มันจะหมุนของมันตลอด ผู้พิจารณาร่างกายคล่องแคล่วว่องไว จะกำหนดให้แตกให้ดับ ให้สลายทำลายเมื่อไรก็ได้ๆ  นี่เรียกว่าเป็นผู้ชำนาญในการพิจารณา เรื่องอสุภะอสุภัง เรื่องร่างกายทั้งหลาย ครั้นเวลาพิจารณาพอเข้าไปๆ แล้วมันจะอิ่มตัวของมัน ไม่อยากพิจารณาแล้วค่อยถอยออกๆ ออกไปตามนามธรรม การพิจารณาร่างกายเบาลงไปๆ เรียกว่าราคะตัณหานี้เบาลงๆ ราคะตัณหาอยู่กับร่างกาย พิจารณาร่างกายจนกระทั่งมันปล่อยวางร่างกาย ไม่ยอมพิจารณา พิจารณาเพียงแฝงๆ เท่านั้น ไม่เอาเป็นเนื้อเป็นหนังเป็นชิ้นเป็นอันจริงๆ จังๆ เหมือนแต่ก่อน นี่เรียกว่ามันอิ่มตัว

ถ้าอิ่มจริงๆ แล้วจะไม่พิจารณาเลย นี่เรียกว่าขั้นราคะตัณหา กามราคะจะขาดลงไปๆ ในจุดนี้ แต่ไม่ได้ขาดหมด เพราะปฏิปทาของเรากับครั้งพุทธกาลนี้ต่างกันอยู่มาก ที่ว่าผู้รู้ได้เร็ว ขิปปาภิญญา ทันธาภิญญา ส่วนมากผู้ปฏิบัติมักจะเป็นทันธาภิญญา จึงต้องฝึกซ้อมกันอยู่เสมอในร่างกายที่ว่าพอแล้ว มันก็ยังมีการพิจารณาแฝงๆ อยู่นั่นละ จิตเมื่อขาดจากกามราคะแล้ว มันก็ยังมีแฝงๆ อยู่ในนั้น จึงต้องพิจารณาแฝงๆ กันไป จนกระทั่งพอตัวจริงๆ แล้วเรื่องร่างกายปัดเลย ราคะตัณหาขาดแล้วนั่น นั่นละเรียกว่าสอบได้แล้ว

ขั้นราคะตัณหานี้เป็นขั้นอนาคามี ไม่บอกก็รู้เอง พอขั้นกามราคะนี้ขาดไปจากใจ การพิจารณาทางร่างกายทั้งหลายเหล่านี้ มันจะอิ่มตัวของมัน จากนั้นก็พิจารณาเป็นอนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ในนามธรรม ความเกิด ความดับ อาศัยร่างกายนี้แหละเป็นเครื่องพิจารณา แต่เป็นส่วนละเอียดๆ ไม่เป็นส่วนหยาบเหมือนแต่ก่อน เข้าไปแฝงกันไปเป็นนามธรรม ความคิดความปรุง เรียกว่าสังขาร วิญญาณ คิดดีคิดชั่วจะออกไปจากจิตๆ เกิดแล้วดับๆ เวลามันหมดทางร่างกายแล้ว มันจะไม่เอา มันจะพิจารณาตั้งแต่เรื่องนามธรรม ทีนี้ทางเรื่องกามราคะนั้นว่าสอบได้ใน ๕๐% นี้แล้ว ยังมีที่จะคืบต่อไปอีก เป็นส่วนละเอียดของกามราคะ ขั้นทันธาภิญญา ถ้าเป็นขั้นของขิปปาภิญญาแล้วขาดสะบั้นลงไปหมดโดยสิ้นเชิงในขณะนั้น มันต่างกัน ขอให้ผู้ปฏิบัติทั้งหลายพินิจพิจารณาตัวเอง ได้ฝึกซ้อมกันอยู่เรื่อยๆ อย่างนี้ละ

ทีนี้เวลาฝึกซ้อมจนกระทั่งมันหมดสภาพของมันแล้ว มันจะบอกเองว่า ร่างกายนี้ว่างไปหมด จะพิจารณาร่างกายอันใดก็พิจารณาไม่ได้ ตั้งรูปขึ้นมาพับดับพร้อมๆ จะแยกให้เป็นอนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา แยกไม่ทัน นี่เรียกว่ามันพอแล้ว เรื่องร่างกายพอแล้ว เราจะแยกเป็นอนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา หรืออสุภะอสุภัง นี้ไม่ทัน พอปรากฏขั้นพับดับพร้อมๆ ต่อจากนั้นจิตก็ว่าง ว่างหมดแล้วร่างกายก็หมดความหมายในการที่จะพิจารณา นี่การพิจารณาร่างกาย พิจารณาธรรมทั้งหลายเป็นอย่างนั้น จากนั้นจิตมันก็ว่าง กำหนดดูร่างกายเขาร่างกายเรา เลยกลายเป็นอากาศธาตุไปหมด จะพิจารณาให้เป็นอนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา หรือสุภะสุภัง อสุภะอสุภัง ไม่ทัน พอปรากฎพับดับพร้อมๆ นี่เรียกว่าเต็มภูมิแล้วของธรรมขั้นนี้

กามราคะเต็มภูมิขาดไปเรียบร้อยแล้ว จากนั้นก็มีแต่นามธรรม มันจะปรากฏออกมาจากจิต ออกมาเรื่องใดๆ อันนี้ให้เป็นหน้าที่ของผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลาย จะพิจารณาให้เข้าใจในตัวเอง เพราะธรรมขั้นนี้เป็นธรรมที่จะอยู่ในขั้นพิจารณาของตัวเอง มากกว่าที่ครูบาอาจารย์ทั้งหลายจะสอนเรา แล้วก็ค่อยละเอียดลงไปๆ สุดท้ายจิตใจมันก็ว่างๆ ไปเรื่อยๆ ตั้งอะไรขึ้นมาก็ว่างไปหมด สุดท้ายทั่วโลกธาตุมันก็ว่างไปหมด

แล้วพิจารณาทบทวนการเกิดการดับของสังขารนี้สำคัญมาก มันเกิดดีก็ดี ชั่วก็ดี เกิดแล้วดับๆ เกิดไปจากสังขาร อวิชชาเป็นตัวให้พาเกิดสังขาร พอตามเข้าไปๆ จนกระทั่งถึงอวิชชา นี่ละที่นี่ว่างข้างนอก ตัวอวิชชายังไม่ว่าง นั่นละตัวนั้นตัวไม่ว่าง หลงก็หลงตัวนั้นแหละ ทีนี้พอว่างเข้าไปๆ ตามเข้าไปจนกระทั่งถึงอวิชชา ที่ดันออกมาให้เกิดสังขาร เข้าถึงอวิชชา ฟาดอวิชชาขาดสะบั้นลงไปแล้วว่างหมด ภายในคือใจของเราที่มีอวิชชาหุ้มห่ออยู่ขาดไปหมด ภายนอกก็ว่างภายในก็ว่าง นี่ละวางหมด สิ้นสุดยุติกันลงในจุดนี้สำหรับผู้พิจารณา ไม่ต้องไปถามใครหากรู้เอง

ก้าวเดินตามนี้สำหรับนักปฏิบัติ เท่าที่อธิบายมานี้นั้นเป็นที่แน่ใจ เพราะเราผ่านมาหมดแล้วการพิจารณา เป็นแต่เพียงว่าไม่อธิบายอย่างกว้างขวางยืดยาวเหมือนเจ้าของพิจารณาเอง ซ้ำๆ ซากๆ ยอกย้อน ไปหน้ามาข้างหลังไม่หยุดไม่ถอย แต่เวลาเทศน์ก็เทศน์ไปเพียงเท่านั้น เจ้าของหากจะพิจารณายอกย้อนกันไปเอง พอไปถึงขั้นนี้ก็ถึงอวิชชา อวิชชาขาดแล้วว่างละที่นี่ ว่างภายในใจ แต่ก่อนภายนอกว่าง ภายในยังไม่ว่าง เพราะอวิชชาตัวมืดยังอยู่ในจิต พออวิชชาขาดสะบั้นลงไปแล้วว่างหมดทั้งภายนอกทั้งภายใน ปล่อยทั้งภายนอกปล่อยทั้งภายในไม่มีสิ่งใดเหลือ นี่คือผลแห่งการปฏิบัติธรรม ตั้งแต่เริ่มต้นมา คำบริกรรมพุทโธ ธัมโม สังโฆ มีสติติดแนบเป็นสำคัญ แล้วก็จะตั้งรากฐานคือความสงบได้

จากความสงบแล้วจิตจะเป็นสมาธิ เมื่อจิตเป็นสมาธิแล้ว จิตอิ่มอารมณ์ ให้นำจิตที่เป็นสมาธิควรแก่การพิจารณาทางด้านปัญญา แล้วออกพิจารณาทางด้านปัญญา มีเข้าพักจิตในสมาธิเพื่อเอากำลังโดยทางปัญญา มีพักมีทำงานเป็นลำดับลำดาไปอย่างนี้เรียกว่าไม่ผิด พิจารณาด้วยความเหมาะสม ตามธรรมดาของจิตถ้าไม่มีผู้แนะผู้บอกแล้ว เวลาเพลินทางด้านปัญญาเพลินจริงๆ นอนกลางคืนนอนไม่หลับ กลางวันก็ไม่หลับ นั่งอยู่มันก็หมุนตัวของมันเป็นธรรมจักร เรียกว่าสติปัญญาอัตโนมัติ ฆ่ากิเลสโดยอัตโนมัติ มันจะฆ่าของมันอยู่อย่างนั้น

คือความละเอียดลออของจิตนั่นแหละ เหมือนกิเลสที่มันทำลายสัตว์โลกทั้งหลายให้ได้รับความบอบช้ำขุ่นมัว และได้รับความทุกข์ความทรมาน ก็เพราะกิเลสมันทำงานโดยอัตโนมัติของมัน บทหนักมันก็หนัก เอาจนเจ้าของจะเป็นจะตาย จะเป็นบ้าไปก็มี นี่คือกิเลสทำงาน เวลาเบาก็คิดเป็นเรื่องของกิเลสเป็นธรรมดา รวมแล้วเรียกว่ากิเลสทำงานโดยอัตโนมัติ เมื่อมาถึงธรรมขั้นสติปัญญาอัตโนมัติแล้ว มันจะตามต้อนกิเลสแบบเดียวกันเลย กิเลสอยู่ที่ไหนมันจะคุ้ยเขี่ยขุดค้นหาตลอดเวลา ไม่มีเวลาหยุด นอนก็ไม่หลับ ฟาดเสียจนสว่าง มันเพลินในการพิจารณา เพราะฉะนั้นจึงต้องพักในสมาธิดังที่ว่านี่

เมื่อมันเพลินมากๆ นั้นหักเข้ามาสู่สมาธิ เพื่อพักเอากำลังของจิต ด้วยคำบริกรรมใดเป็นเครื่องยึดเกาะจิต ให้จิตจับอยู่กับคำบริกรรมนั้น สติตั้งมั่นแล้วจิตจะสงบแน่วลงไป พอจิตสงบแน่วลงไปแล้ว จะมีความสุขความสบาย รื่นเริงบันเทิงเหมือนถอดเสี้ยนถอดหนาม เรียกว่าได้กำลังแล้วจากการพัก จากนั้นก็ก้าวออกสู่ปัญญาพิจารณา เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าแล้วย้อนเข้ามาพัก อย่างนี้เรียกว่าถูกต้องเหมาะสมตลอดไป ขอให้ท่านทั้งหลายได้นำไปพินิจพิจารณาปฏิบัติ

การแสดงเหล่านี้ได้ผ่านมาหมดแล้ว ไม่ผิด เป็นการแสดงด้วยความแน่ใจทุกอย่าง เพราะผ่านมาหมดแล้ว ขอให้นำไปปฏิบัติตามจริตนิสัยของตน ใครจะแยกแยะไปทางไหนพิจารณาอย่างไร หากเป็นไปตามนิสัย จะหนักในทางใด ปัญญาจะหนักไปทางใด ร่างกายมีหลายสัดหลายส่วน เราจะแยกไปทางไหน หนักทางไหน แล้วมันจะวิ่งเข้าถึงกันหมดนั่นละ ให้พากันจำเอา

เทศน์ไปเทศน์มาหูอื้อแล้ว อย่างนั้นละยังไม่ถึงไหนหูเริ่มอื้อแล้ว ให้พากันจดจำ นานๆ ที่จะได้เทศนาว่าการให้พระเราฟังหนหนึ่งๆ ไม่เหมือนแต่ก่อน ซึ่งถึงเวลาแล้วก็ประชุมเทศน์กัน เช่น ๗ วันบ้าง หรือ ๑๐ วันบ้าง แต่ทุกวันนี้เรียกว่าแทบไม่มี ว่างั้นเถอะ เทศน์ก็เทศน์ไปทั่วโลกดินแดนหมดเสีย เป็นแกงหม้อใหญ่ไปเรื่อยๆ ที่จะจดจ่อลงในจุดสำคัญๆ ให้เหมาะสมกับผู้ปฏิบัติ เพื่ออรรถเพื่อธรรม เพื่อมรรคผลนิพพานจริงๆ ไม่ค่อยได้เทศน์ นี่ก็ให้พากันตั้งอกตั้งใจ

การอยู่ร่วมกันไม่ว่าฝ่ายไหน ฆราวาสหรือพระ ให้ดูหัวใจตนเอง อย่าไปดูหัวใจคนอื่นมากกว่าดูหัวใจตนเอง หัวใจเรานี้เป็นตัวคึกตัวคะนอง ตัวดีดตัวดิ้น มักจะหาเรื่องหาราวใส่คนนั้นใส่คนนี้ เจ้าของมีเรื่องมีราวเต็มหัวใจมันไม่ดู แล้วก็ได้แต่เรื่องราวของคนอื่นเข้ามาบริกรรมแทนคำภาวนา มันภาวนาหากิเลสอย่างนั้น ไม่ใช่ภาวนาหาธรรมเพื่อความสงบใจ ให้พากันจำเอา การให้อภัยนี้เป็นเรื่องของธรรมโดยแท้ อย่าถือสีถือสากันง่ายๆ ถ้าถือสีถือสากันง่ายๆ นั้นไม่ใช่ผู้ปฏิบัติธรรม เป็นผู้มาสั่งสมกิเลสคือฟืนคือไฟ หนักไปกว่านั้นก็ทะเลาะกันเท่านั้น ให้จำเอา เอาละ การแสดงธรรมก็เห็นว่าสมควรแก่กาลเวลาและธาตุขันธ์ ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่านทั้งหลายโดยทั่วกันเทอญ.

 

รับฟังรับชมพระธรรมเทศนาของหลวงตา ได้ที่

www.Luangta.com หรือ www.Luangta.or.th

และรับฟังจากสถานีวิทยุสวนแสงธรรม กรุงเทพฯ และสถานีวิทยุอุดร

FM 103.25 MHz

 


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก