ปัญญาขั้นสูงเห็นสมาธิเป็นภัยไปหมด
วันที่ 11 กรกฎาคม. 2549 เวลา 18:30 น. ความยาว 40 นาที
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)   วิดีโอแบบ(Win Narrow Band)   วิดีโอแบบ(Win High Band)

ค้นหา :

เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อค่ำวันที่ ๑๑ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๔๙

ปัญญาขั้นสูงเห็นสมาธิเป็นภัยไปหมด

         วันนี้เป็นวันเข้าพรรษาเริ่มแต่วันนี้ไป กรุณาทราบเขตของวัด กำแพงนอกนั้นเป็นเขตของวัดป่าบ้านตาด กำแพงในขยายออกไปเป็นกำแพงนอก เข้าพรรษาไม่มีการงานอะไร มีหน้าที่ประกอบความพากเพียรโดยถ่ายเดียว ในพรรษาเป็นโอกาสที่เหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับพระเราและผู้มาปฏิบัติในวัด ให้ตั้งหน้าตั้งตาประกอบความพากเพียร เพียรดูใจนั้นละสำคัญมาก ใจเป็นตัวมหาเหตุ กระดิกพลิกแพลงจะออกจากใจทั้งนั้นไม่ออกจากทางอื่น ใจนี่สำคัญมาก ให้พากันดูหัวใจตัวเอง เรียกว่าภาวนา คืออบรมใจ

ใจมีความคึกความคะนองตลอดเวลา ทั้งเด็กผู้ใหญ่เฒ่าแก่ชรา ใจนี้ไม่มีวัย มีความคึกคะนองอยู่ตลอดเวลา ไปตามนิสัยของใจที่มีกิเลสบีบบังคับให้เป็นไป เพราะฉะนั้นเวลาเข้าพรรษาให้พากันตั้งอกตั้งใจ การภาวนาถือสติเป็นสำคัญ อย่างอื่นไม่ได้สำคัญ ถ้าลงขาดสติแล้วจะอิริยาบถใดก็ตาม เดินจงกรมนั่งสมาธิก็ขาดความเพียรไปในขณะที่สติขาดไป สตินี้เป็นของสำคัญมากทีเดียว ถ้าลงขาดสติแล้วความเพียรก็ไม่ก้าวหน้า

การตั้งสตินี้ส่วนที่มาเกี่ยวข้องมีอยู่ประเภทหนึ่ง คือร่างกายถ้ามีความสมบูรณ์พูนผลจริงๆ เช่น การขบการฉันอิ่มหนำเต็มที่แล้ว การภาวนาสติจะไม่ติดต่อกัน ผิดพลาดๆ  ถ้าผ่อนอาหารลงไปสติจะดีขึ้นๆ ยิ่งอดอาหารด้วยแล้วสติแน่วเลย อันนี้เป็นเรื่องของผู้ปฏิบัติจะนำไปพิจารณาตัวเอง เช่นอย่างฉันทุกวัน หรือกินทุกวันแต่ไม่ให้มาก ถ้ามากแล้วมันท่วมทับ สติตั้งไม่ค่อยอยู่ ตั้งล้มผล็อยๆ พลังของร่างกายนี้มันเสริมกิเลสได้เป็นอย่างดี จึงต้องระมัดระวัง

ส่วนมากสติจะไม่พ้นจากเรื่องของอาหารนี่ละเป็นข้าศึก นี่ได้พิจารณาปฏิบัติมาแล้ว ได้ผ่อนสั้นผ่อนยาวอดบ้างอิ่มบ้าง อิ่มก็เพียงอิ่มเบาะๆ ไม่ให้อิ่มเต็มที่ คือพอทรงตัวอยู่ได้เท่านั้น จากนั้นก็ผ่อนลงหรืออด สติจะดีโดยลำดับลำดา สตินี้สำคัญอยู่ที่ร่างกาย ถ้าร่างกายมีกำลังมากสติจะตั้งผิดพลาดๆ อยู่เสมอ ถ้าร่างกายมีกำลังน้อยสติค่อยดีขึ้นๆ เพราะฉะนั้นพระนักปฏิบัติจึงชอบผ่อนอาหารอดอาหารกันเป็นจำนวนมาก เพราะอันนี้ช่วยการตั้งสติความเพียรได้ดี

แต่อันนี้เป็นเรื่องของอัธยาศัยของแต่ละราย จะว่าไม่ใช่คำสั่งไม่ใช่คำสอนก็ไม่ผิด เป็นคำบอกเล่าให้ไปพินิจพิจารณาตัวเองเท่านั้น การผ่อนอาหารนี้ดี ร่างกายก็เบา แล้วการประกอบความเพียรตั้งสติดี สตินี้เป็นความจำเป็นทุกขั้นนะ ตั้งแต่ขั้นเริ่มต้นจนกระทั่งมหาสติมหาปัญญา ใครตั้งสติดีผู้นั้นจะตั้งรากตั้งฐานได้เร็ว สติเป็นของสำคัญ ถ้ามีสติติดแนบอยู่กับใจกิเลสจะไม่เกิด มันจะมีมากมีน้อยเท่าไรดันขึ้นมาจนหัวอกจะแตกก็ตาม แต่สติบังคับไว้ สังขารเป็นสังขารของกิเลส สังขารของสมุทัยมันจะขึ้นไม่ได้ อวิชชาละตัวดันให้อยากคิดอยากปรุงอยากรู้อยากเห็น อยากๆ ตลอด เรียกว่าสมุทัย สังขารปรุง พอปรุงพับเป็นกิเลสแล้วกลับมาเผาตัวเอง

ทีนี้เมื่อสังขารปรุงไม่ได้ เพราะสติทับหัวมันไว้นี้กิเลสไม่เกิด มันจะหนาแน่นขนาดไหนก็อยู่ภายในนี้ออกไม่ได้ นี่ได้พิจารณาทุกอย่าง ได้ดำเนินมาแล้วจึงได้มาสอนหมู่เพื่อน เอาจนกระทั่งถึงว่าตั้งสตินี้... คือลงใจแล้วว่าการตั้งสติติดอยู่กับคำบริกรรมในขั้นเริ่มต้นเพื่อรากฐานของใจต้องอาศัยสติ ลงใจแล้วว่าตั้งสติให้ติดแนบอยู่กับคำบริกรรม คำบริกรรมจะบริกรรมคำใดก็ตามตามแต่จริตนิสัย แต่สติให้ติดแนบอยู่นั้นแล้วกิเลสจะไม่เกิด มันจะมีมากขนาดไหนไม่เกิดกิเลส พอเผลอสติแพล็บออกแล้วๆ นั่นละกิเลสเกิด ออกจากสังขารกับสัญญา สัญญาก็ออกไม่ได้ถ้าสังขารออกไม่ได้ ที่นี่พอสังขารออกได้แล้วจะออกทุกอย่างๆ ไปพร้อมๆ กันเลย ให้พากันสังเกตนะ

เรื่องกิเลสมีอยู่ภายในใจ ทางออกของมันคือสังขารเป็นสำคัญ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา นั่นละดันออกมา พอมันปรุงแพล็บนี้เป็นไฟกองหนึ่งขึ้นมาแล้ว ปรุงต่อไปๆ เป็นสร้างกองฟืนกองไฟเผาหัวอกตัวเองหาความสงบไม่ได้ ถ้าสังขารเกิดขึ้นไม่ได้ สติติดแนบอยู่จิตใจจะค่อยสงบเย็นๆ เพราะการปรุงไม่ให้ปรุง ให้ปรุงแต่งานของธรรม เช่นพุทโธ เป็นต้น คำชอบคำใดก็ให้เอาคำนั้นมาเป็นงานของธรรม บังคับจิตให้อยู่กับงานอันนั้น สติให้ดีไม่ให้ละแล้วจิตจะค่อยสงบลงไปๆ จนเย็นไปหมดในจิตใจของเรา เพราะกิเลสเกิดไม่ได้

สติยิ่งแน่นหนามั่นคง ความดันของกิเลสคือสังขาร มันดันขึ้นมาอยากคิดอยากปรุงค่อยเบาลงๆ ความสงบเย็นใจนี้ค่อยเย็นขึ้นๆ มีความแน่นหนามั่นคงมากขึ้นๆ ต่อไปก็ตั้งรากฐานคือความสงบเย็นใจได้ จากนั้นไปก็เป็นสมาธิ สมาธิคือความแน่นหนามั่นคงของใจ เมื่อเป็นสมาธิแล้วความคิดความปรุงก็จางไปๆ จนกระทั่งว่าคิดปรุงขึ้นมารำคาญ มีแต่ความรู้เด่นอยู่อันเดียวด้วยสมาธิเท่านั้น อยู่ที่ไหนอยู่ได้สบายๆ นี่จิตเป็นสมาธิ สังขารปรุงรำคาญไม่อยากปรุง เพราะฉะนั้นจึงติดสมาธิ

ผู้มีจิตแน่นหนามั่นคงในสมาธินี้ติด เพราะมันทำให้เพลิน นั่งอยู่กี่ชั่วโมงก็ตามเหมือนหัวตอ คือจิตมันแน่วอยู่อย่างนั้นตลอดไป คิดปรุงอะไรขึ้นมารำคาญ ไม่อยากคิดอยากปรุง หนักเข้าๆ ก็ติดสมาธิ ไม่ออกทางด้านปัญญา การพิจารณาทางด้านปัญญาเห็นว่าเป็นการรบกวนใจ  ปัญญาคือออกทำงาน สมาธิทำให้ขี้เกียจไม่อยากออกทำงานทางด้านปัญญา ทีนี้ปัญญาก็ไม่เกิด ติดอยู่สมาธิ ติดจนวันตายถ้าไม่ลากจิตจากสมาธินี้ออกทางด้านปัญญา ทางด้านปัญญานี้ต้องพาคิด เพราะจิตมีความแน่นหนามั่นคงแล้วไม่อยากคิดอยากปรุงอันเป็นงานว่างั้นเถอะ ขี้เกียจ คิดปรุงเรื่องธาตุเรื่องขันธ์เรื่องอะไรมันขี้เกียจ อยู่เฉยๆ รู้แน่วอยู่ภายในใจมันสบาย นี่ละนักภาวนาสติสมาธิก้าวไม่ออก ถ้าติดสมาธิแล้วไม่มีทางก้าวออก

ต้องดึงออก เมื่อจิตมีสงบในขั้นใดพอเป็นไปแล้วให้ออกทางด้านปัญญา ตามกาลเวลาที่จะควรออกปัญญา ตามกาลเวลาที่จะเข้าสู่สมาธิพักจิตใจ คำว่าปัญญานี้เอากรรมฐานที่พระพุทธเจ้าประทานให้ ขึ้น เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ครอบหมดในสกลกายเรา พิจารณานี้แล้วแต่เราชอบกรรมฐานใด เกสา โลมา ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เราชอบอะไรก็พิจารณา มันจะลุกลามเข้าไปหมดนั่นละ ท่านสอนไว้เพียงเท่านั้น พอถึงหนังแล้วท่านหยุด เพราะหนังเป็นสำคัญ หุ้มห่อสัตว์บุคคลไว้ให้ลืมเนื้อลืมตัว ลืมเขาลืมเรา กลายเป็นสัตว์เป็นบุคคล เป็นหญิงเป็นชาย เป็นสิ่งที่มีคุณค่าไปหมดเพราะหนังนี้หุ้มห่อ

พอพิจารณาไปถึงหนัง ถลกหนังออกแล้วเป็นยังไงคนเรา ทั้งหญิงทั้งชายทั้งสัตว์อะไรก็ตาม มีความน่าดูหรือสวยงามที่ตรงไหน ไม่มี นั่นละท่านให้พิจารณาทางด้านปัญญา พิจารณาแยกออกตั้งแต่ผม ขน เล็บ ฟัน ไล่ไป หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ภายในทุกสิ่งทุกอย่างด้วยปัญญา คลี่คลายดูให้ดี นี่เรียกว่าปัญญาพิจารณา ปัญญาออกแล้วจะสว่างไสวกว้างขวางออกไปมาก เพียงสมาธิไม่กว้าง มีแต่ความสงบใจเท่านั้น อยู่ไปๆ วันหนึ่งๆ หาความแยบคายกว่านั้นไม่มี แต่พอออกทางด้านปัญญาแล้วความแยบคายออกเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด

ทีแรกก็พิจารณาร่างกายก่อน พิจารณาร่างกายจนมีความชำนิชำนาญ กำหนดให้เป็นอย่างไรเป็นไปตามต้องการ ให้แตกกระจัดกระจายต่อหน้าต่อตา กำหนดเมื่อไรได้ทั้งนั้นๆ นี่เรียกว่าปัญญามีความคล่องแคล่ว พิจารณาส่วนนี้ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา อสุภะอสุภัง ค้นอยู่ในร่างกายของเขาของเราภายนอกภายในเป็นกรรมฐานด้วยกัน นั่นละปัญญาให้พิจารณาอย่างนั้น เมื่อปัญญาออกแล้วจะเป็นการถอนกิเลส ลำพังสมาธิไม่ได้ถอนกิเลส เพียงตีกิเลสให้สงบตัวเข้ามาเท่านั้น ปัญญาต่างหากที่คลี่คลายออกไปฆ่ากิเลสโดยลำดับลำดา ตั้งแต่ส่วนหยาบจนกระทั่งกิเลสสุดยอด ไม่เหนืออำนาจของปัญญาไปได้เลย จึงต้องพิจารณาทางด้านปัญญา

เมื่อจิตใจเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า เพราะการพิจารณาไม่หยุดไม่ถอยแล้วให้พักในสมาธิ ถึงไม่อยากพักก็ต้องพัก จะเห็นแต่ผลรายได้ๆ เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าจะเป็นจะตายไม่คำนึงไม่ได้นะ ถึงได้ก็ได้แต่กำลังวังชาหมดไปสิ้นไปอ่อนเพลียลง ต้องเข้าพักสมาธิ สมาธิเป็นที่พักจิต พักนอนก็ได้ พักสมาธิก็ได้ พักสมาธินี่เรียกว่าพักจิตโดยตรง ไม่ให้คิดให้ปรุงกับเรื่องอะไร เข้าสมาธิแล้วจิตแน่วเหมือนถอดเสี้ยนถอดหนาม ทีนี้พอสมาธิมีกำลังแล้ว ถอยออกทางด้านปัญญามันจะพุ่งๆ ของมันเลย ให้พากันจำเอานะ วันนี้ผมเทศน์ยากมากนะ เดี๋ยวนี้พูดนี้ออกทางหูทั้งสองข้าง ผมฝืนพูดเฉยๆ เหมือนว่าปากจะไม่มี มันดังอยู่ในนี้ ให้พากันพิจารณา

การปฏิบัติพอมีความสงบ เรียกว่าจิตอิ่มอารมณ์ อารมณ์คิดนู้นคิดนี้ เมื่อจิตสงบจิตเป็นสมาธิแล้วจากนั้นให้ออกพิจารณาทางด้านปัญญา เมื่อพิจารณาทางด้านปัญญาพอมันเข้าใจเหตุผลทุกอย่างแล้วมันจะเพลิน เพลินจนลืมเนื้อลืมตัวลืมกลางวันกลางคืน ลืมหลับลืมนอน ปัญญาเพลิน ให้หักเข้ามาเวลามันเพลิน เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าทางหัวอกนี่แหละเหน็ดเหนื่อยมาก แต่จิตมันไม่ถอย มันหมุนติ้วๆ กับการพิจารณาเพื่อฆ่ากิเลส ถึงจะเป็นอย่างนั้นก็ตาม เราเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าให้พักเข้ามาสู่สมาธิเสียก่อน พักไม่ให้คิดให้ปรุงทางด้านปัญญา ให้เข้าสู่สมาธิมีอารมณ์อันเดียว พอสมาธิมีกำลังแล้วถอยออกมาก็พุ่งทางด้านปัญญาเลย

ยิ่งเป็นปัญญาขั้นสูงด้วยแล้วเห็นสมาธิเป็นภัยไปหมดเลย ปัญญาต่างหากฆ่ากิเลส สมาธิไม่แก้ นั่นเอาละนะ สมาธิตีตะล่อมเพื่อเอากำลังทางด้านปัญญา พอถอนออกจากนี้แล้วก็ออกทางด้านปัญญาพิจารณา เอาธาตุเอาขันธ์นี่ละ อสุภะอสุภัง ทุกฺขํ อนิจฺจํ อนตฺตา เหล่านี้เป็นทางเดินพิจารณา ตลบทบทวนไม่รู้กี่ครั้งกี่หน เอาความชำนิชำนาญความคล่องแคล่วเป็นประมาณ ร่างกายนี้เวลาพิจารณาพอตัวแล้วมันก็อิ่มเหมือนกัน ไม่ใช่จะพิจารณาคล่องแคล่วเท่าไรจะพิจารณาไปตลอด ไม่ใช่นะ จิตนอกจากคล่องแคล่วไปแล้วมันพอตัวมันปล่อยทางเรื่องร่างกาย รูปธรรมมันปล่อย อิ่มตัวปล่อย ไม่เอาละที่นี่

จากนั้นมันจะก้าวเข้าสู่นามธรรม พวกเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อาศัยทางรูปธรรมนี้บ้างเพียงเล็กน้อยๆ นี่เรียกว่าจิตปล่อยร่างกาย พอตัวแล้วปล่อยเองหากรู้ทุกคน พอพิจารณาถึงขั้นมันอิ่มแล้วมันก็ปล่อย ปล่อยแล้วก็เดินทางนามธรรม พวกเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จิตคิดปรุงจากใจของเรานี้ละ เกิดดับๆ สัญญาอารมณ์จะเกิดจากใจ ให้พากันพิจารณาอย่างนี้ เมื่อเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าแล้วให้พักจิต พักเข้าสู่สมาธิ สมาธิเป็นเรือนพักของใจ ที่ทำงานทางด้านปัญญาอ่อนเพลียลงแล้วต้องเข้าพักทางสมาธิ อย่าปล่อยนะ อันนี้เป็นงานสม่ำเสมอ ทางด้านปัญญาเวลามันออกมากๆ แล้วจะไม่สนใจพัก มันเพลินทั้งวันทั้งคืน บางคืนนอนไม่หลับ มันเพลินตลอด เพลินในการฆ่ากิเลส เรียกว่าสติปัญญาอัตโนมัติเป็นไปเอง หมุนติ้วๆ ตลอด

ถึงอย่างนั้นก็ตามมันมีความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าได้ ให้ย้อนเข้ามาสู่สมาธิพักเสีย พักในสมาธิ พอพักในสมาธิแล้วจิตจะมีกำลังวังชาสงบเย็นทีเดียว พอมีกำลังแล้วออกทางด้านปัญญานี้คล่องตัวๆ ให้พากันพิจารณาอย่างนี้ วันนี้ผมเทศน์ยากมาก ผมฝืนเอานะ เดี๋ยวนี้ออกทางหูตลอดเวลา ไม่ทราบจะพูดไปอะไร การประชุมพระก็ไม่มีเวลาจะประชุม วันนี้เป็นวันจำเป็นที่สุดแล้วที่จะประชุมและเทศนาว่าการให้ผู้ฟังทั้งหลายเข้าอกเข้าใจ มันก็ไปไม่สะดวกอย่างนี้แหละ หูทำงานเดี๋ยวนี้ ปากไม่ได้ทำงานนะ พอพูดคำใดออกทางหูๆ หูทำงานแทนเสียไม่ทราบมันเข้าอันนี้(ไมค์) หรือเปล่าก็ไม่รู้ ลำบาก เทศน์ยากมาก ให้ท่านทั้งหลายจดจำเอา เทศน์ย่อๆ เพียงเท่านี้แหละ เทศน์มากกว่านี้ไม่ไหวธาตุขันธ์ เวลานี้อ่อนเต็มที่ มีแต่หูทำงานโหวๆ พูดคำไหนออกทางหูๆ หมดหัวมีแต่เสียงกังวานไปด้วยกันหมด เสียงอรรถเสียงธรรมที่จะออกมานี้แทบไม่มี ให้พากันจำเอา เอาละวันนี้เทศน์เพียงเท่านี้

พวกอยู่ข้างในพากันตั้งอกตั้งใจปฏิบัตินะ อย่าอยู่เด้นๆ ด้านๆ อะไรที่ขวางต่อวัดต่อวาต่ออรรถต่อธรรมอย่านำเข้ามา เช่นเก้าอี้เก้าแอ้ใครเอาเข้ามา พระพุทธเจ้าตรัสรู้ด้วยเก้าอี้เหรอ เราอยากถามว่าอย่างนั้นนะ ตรัสรู้ด้วยฟูกด้วยหมอนที่หลับที่นอนสวยๆ งามๆ นอนหลับครอกๆ ตะวันเที่ยงก็ไม่ตื่นนั้นเหรอเป็นของดิบของดี ไปที่ไหนมีแต่เรื่องร่างกายออกหน้า ความสุขเพื่อกายๆ ความสุขเพื่อหัวใจไม่มี ทำอะไรมีแต่เรื่องวัตถุออกหน้าๆ เราสลดสังเวชนะ กีดขวางไว้ขนาดไหนมันก็ไหลเข้ามาๆ ธรรมท่านพอดี ท่านไม่ได้ยุ่งกับสิ่งภายนอก เอามาปรนปรือหาอะไรร่างกาย

ที่นอนหมอนมุ้ง ที่อยู่ที่กินอะไรให้ดีหมดกับร่างกาย แต่ใจจะเป็นยังไงไม่สนใจ นี่ละเสียตรงนี้ผู้ปฏิบัติ ส่วนโลกไม่ต้องพูดแหละเขามีอย่างนั้นเป็นพื้นฐานของเขา ส่วนธรรมผู้ปฏิบัติธรรมไม่ควรจะเอาวัตถุต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องของธาตุของขันธ์ของร่างกายเข้ามาเหยียบธรรม กายนอนหลับสบายละดี อะไรก็ดีๆ เมื่อวานนี้เห็นใครเอาเก้าอี้หวายเก้าอี้เหวยมา เราบอกให้เอาปาเข้าป่ามันยังอยู่นั้น จะเอาไปไหนเอาไปเสีย หรือจะไปเผาไฟก็เผาเสีย พระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสรู้กับสิ่งเหล่านี้ เหล่านี้ไม่มีค่านะ เป็นภัยต่อการภาวนาให้ลืมเนื้อลืมตัว การเป็นอยู่หลับนอนสะดวกสบายเท่าไรยิ่งขี้เกียจนักภาวนา วัดนี้จึงไม่ให้มี เก้าอี้เก้าแอ้เอามาหาอะไร

ท่านอยู่ตามสภาพของท่านพอดิบพอดีนี้เหมาะแล้ว เป็นธรรมแล้ว มีค่ามากแล้ว สิ่งเหล่านั้นมีค่าอะไร จะมาเหยียบธรรมต่างหาก อะไรก็สะดวกกายๆ หาเข้ามาปรนปรือล้นวัดล้นวาสิ่งที่ไม่เป็นท่านั่นน่ะ สิ่งส่งเสริมกิเลสมันหากขนเข้ามาๆ มองไม่ทันนะ วัดนี้เหมือนกันมันล้นเข้ามา ตีออกๆ เอามาต่อหน้าให้เอากลับคืนต่อหน้า ไม่เอา เช่นพวกเก้าอี้พวกโต๊ะพวกอะไร ที่นอนหมอนมุ้งพวกฟูกพวกอะไรที่ว่าสวยๆ งามๆ หรือดีๆ ให้ปาเข้าป่าเราบอกอย่างนี้เลย นี่ละพวกข้าศึกของธรรมคือเหล่านี้เองจะเป็นอะไรไป ผู้ปฏิบัติธรรมท่านไม่สนใจ อยู่ที่ไหนนอนที่ไหนหลับที่ไหนได้ กินอะไรกินได้หมด ใช้อะไรใช้ได้หมด นี้คือผู้มุ่งอรรถมุ่งธรรม ท่านถือธรรมเป็นหลักเกณฑ์ สิ่งเหล่านั้นเป็นข้าศึกต่างหาก ถ้าปรนปรือมากๆ เข้ามาแล้วหมด เรื่องทางด้านจิตใจจะไม่มี มันแฝงเข้ามาๆ น่าทุเรศนะ

นี่พยายามกั้นกางเอาไว้ มันก็ล้นเข้ามาๆ ส่วนมากมักจะทำ เช่นการก่อการสร้างย่งนั้นยุ่งนี้ จะทำเวลาเราไม่อยู่ เวลาเราอยู่ทำไม่ได้เดี๋ยวหน้าผากมันแตก ตีกบาลเอาละซี อะไรเลิศยิ่งกว่าธรรม ดูหัวใจให้ดีซิ ดูหัวใจตลอดเวลา สติฟาดเข้าไปๆ ตัวยุ่งอยู่ที่หัวใจ พอตัวยุ่งขาดสะบั้นไปหมดแล้ว อยู่ไหนสบายหมด ไม่ได้ยุ่งนะ ได้อะไรกินอะไรสบายหมด นอนอย่างไรสบายหมด ธรรมท่านเป็นอย่างนั้น ไอ้ไม่พอๆ มีแต่กิเลสทั้งนั้น อันนั้นก็ไม่พอ อันนี้ไม่พอ อันนั้นก็ดี อันนี้ก็ดี ดีเรื่องกิเลส เรื่องธรรมไม่เห็นว่าเลย ปรนปรือเหลือเกินเรื่องร่างกาย อยากให้ดิบให้ดีทุกอย่าง ให้อยู่สะดวกสบายร่างกาย หัวใจเป็นไฟ กิเลสเผาอยู่นั้นทำไมไม่ดู นั่นละท่านผู้ปฏิบัติ

เห็นไหมศีล ๘ ท่านแสดงไว้ว่า อุจฺจาสยน มหาสยนา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ ไม่ให้หลับให้นอนที่นอนอันสูงและใหญ่ ภายในยัดด้วยนุ่นและสำลี เห็นไหม นั่นมันหมูนอน นอนอย่างนั้น ถ้าผู้มีศีลมีธรรมนอนไม่นอนอย่างนั้น นอนแบบผู้มีศีลมีธรรมสบายหมด ไอ้พวกหมูนอนหานอนอย่างนั้นละ เห็นไหมพระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ มันทำเป็นความเพลิน เห็นการหลับการนอนดีกว่าธรรมไปหมด ธรรมเลยก้าวไม่ออก อะไรก็เพื่อกายๆ อยู่ดีกินดี หลับนอนดี ส่วนไฟเผาหัวใจอยู่นั้น มันไม่สนใจ นี่ละมันน่าทุเรศนะ

นี่ปฏิบัติมาไม่พูดเฉยๆ มันเป็นอยู่ในใจนี่ มันคุ้นกับอะไรโลกอันนี้ ดูอะไรปั๊บๆ มันจับปุ๊บๆ ทะลุไปเลยๆ เป็นเหมือนคนใบ้ เฉย พูดออกไปดีไม่ดีเขาหาว่าบ้า พูดออกไปเป็นบางประโยค เขาจะโกยโทษใส่เขา ทั้งๆ ที่ทางนี้เป็นธรรม เขารับธรรมไม่ได้ รับได้แต่โทษก็เป็นโทษไปหมด จึงหูหนวกตาบอด เป็นเหมือนคนใบ้ ไปที่ไหนดูเอาๆ แม้อยู่ในวงวัดของเรา ควรจะพูดเราก็พูดละซิ ไม่พูดได้อย่างไร เรารับผิดชอบทั่วทั้งวัด เราต้องแนะ อย่าเห็นวัตถุดีกว่าธรรมนะ อยู่อย่างไรอยู่ได้ อย่าหามาปรนปรือนักนะร่างกาย ปรนปรือหาอะไร ไม่มีในธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนให้ปรนปรือส่วนร่างกาย ที่หลับที่นอน ที่อยู่ที่กิน ที่อะไรให้หรูหราฟู่ฟ่า ไม่มีในธรรม มีแต่กิเลส แฝงขึ้นมาแล้วกลายเป็นใหญ่เวลานี้

อะไรไม่หรูหราไม่ใช่ธรรมแล้วเดี๋ยวนี้ นั่นละกิเลส เวลามันหรูหราขึ้นมามากๆ มันเหยียบหัวธรรม ปฏิเสธธรรมว่าไม่มี ไม่ใช่ธรรม สิ่งที่เป็นธรรมคือกิเลสทั้งกองๆ อะไรจึงปรนปรือกันแต่เรื่องกิเลส ร่างกายนี้แหม ทะนุถนอมเอามากทีเดียว ไม่ให้อะไรแตะได้แหละ การอยู่ก็อันนี้ไม่อร่อย อันนั้นไม่อร่อย หามาให้อร่อย ให้อร่อยลิ้นอร่อยปาก ธรรมเผ็ดร้อนขนาดไหน กิเลสเผาอยู่นั้นมันไม่ดูนะ การอยู่การกิน การหลับการนอน ปรนปรือกันให้พอๆ มีแต่เรื่องกิเลสทั้งนั้น พูดแล้วสลดสังเวช

ผู้ที่ประสงค์ธรรมในใจ ท่านไม่ยุ่งกับสิ่งเหล่านี้ ยิ่งมีธรรมภายในใจ ตั้งแต่ความสงบร่มเย็นขึ้นไปเรื่อยๆ แล้ว ท่านจะปัดหมดสิ่งเหล่านี้ จนกระทั่งถึงขั้นพอดี อะไรขัดกับธรรมรู้หมด เมื่อธรรมเป็นของพอดี พอดีอย่างเลิศเลอนะไม่ใช่พอดีธรรมดา มันมาขัดกับธรรมอะไรๆ ปัดออกๆ ทันทีๆ อันนี้ไอ้สิ่งที่ขวางธรรม โลกชอบ เพราะเป็นโลกกิเลสชอบอย่างนั้น เรื่องธรรมกิเลสไม่ชอบ ผู้ปฏิบัติธรรมก็หลงกลกิเลส กิเลสไม่พาชอบก็ไม่ชอบ จึงปรนปรือแต่เรื่องร่างกาย ปรนปรือเอาเหลือประมาณ จิตใจแห้งผากๆ เรียกร้องหาความช่วยเหลือจากเจ้าของ ด้วยการชำระสะสางกิเลสที่อยู่ในจิตให้เบาบางไปบ้าง แต่เจ้าของไม่สนใจ พากันพิจารณานะ

เทศน์ก็ยากลำบากเดี๋ยวนี้ เห็นไหมล่ะ แก่แล้ว พูดนี้เสียงมันลั่นออกทางหู ก็ทนเอาทนพูด ให้ผู้ฟังทั้งหลายพิจารณา ใจนี้เลิศเลอสุดยอด ขออบรมให้ดี ใจเดี๋ยวนี้ถูกเหยียบย่ำทำลายด้วยอำนาจของกิเลส มีแต่กิเลสเลิศเลอในหัวใจสัตว์ หลงไปตามกิเลส ไม่มีใครระลึกได้รู้เนื้อรู้ตัวนะ ท่านผู้รู้ธรรมเห็นธรรม ถ้าจะพูดภาษาโลก ท่านหัวเราะวันยังค่ำ หัวเราะโลกที่มันเป็นบ้ากันทั่วโลกดินแดน แต่ธรรมท่านจะไปว่าอะไร ธรรมจะไปกระทบกระเทือนใคร รู้เหมือนไม่รู้ เห็นเหมือนไม่เห็น เฉยอยู่อย่างนั้น ถ้าใครเข้ามาเกี่ยวข้อง ควรแนะนำสั่งสอนหนักเบามากน้อยท่านก็สอนไป ถ้าใครไม่มาเกี่ยว ท่านก็ไม่สนใจ เพราะท่านพอแล้วในธรรม พอธรรมในหัวใจแล้ว

พากันตั้งใจปฏิบัติ อย่าปรนปรือนักนะร่างกาย ไปที่ใดปรนปรือเหลือประมาณ อันนั้นไม่ดี อันนี้ไม่ดีไปละ มานี้จะเอาโลกเข้ามาเหยียบหัวธรรม เอาเรื่องวัตถุภายนอกเข้ามาเหยียบหัวธรรมต่อไปนี้ เดี๋ยวนี้มันเป็นแล้ว เห็นอยู่แล้ว จะเอาวัตถุเป็นเรื่องของกิเลสมาเหยียบหัวผู้ปฏิบัติธรรมให้แหลกเหลวไปตามๆ กันหมด ให้พากันจำ

โอ๊ เลอะเทอะมากวัดป่าบ้านตาด เวลานี้เลอะเทอะมากที่สุด สำหรับพระเราก็ไม่ได้ต้องติท่าน ท่านดีตลอดพระน่ะ ส่วนทางด้านในละซี มาจากแบบอะไร โลกไหนต่อโลกไหน ทิศใดทางใดไม่รู้เข้ามาผสมกัน ทั้งตดทั้งขี้ผสมกันแล้วก็เป็นส้วมเป็นถานหมดเลย ไม่มีอะไรเป็นชิ้นดี อยู่อย่างไร บางรายมาอยู่มากินมานอนเฉยๆ ก็มีเยอะอยู่ในนั้นน่ะ มันไม่สนใจในอรรถในธรรมนะ จากนั้นทะเลาะกันก็มี แต่มันไม่ได้แสดงมาถึงเรา เพราะเหตุไร ถ้าแสดงมาถึงเราเรื่องทะเลาะแล้วจะได้ออกทันที เราไม่ชำระ ถ้าลงได้ทะเลาะกันแล้ว ขั้นนี้ขั้นสุดยอดแล้ว เอาไว้ไม่ได้แล้ว ตัดทันที เอาออกทันที เพราะฉะนั้นจึงไม่กล้าแสดงให้เราเห็นละซี เห็นก็เอาจริงเอาจัง เอาละวันนี้พอ พอสมควรแล้ว

รับฟังรับชมพระธรรมเทศนาของหลวงตา ได้ที่

www.Luangta.com หรือ www.Luangta.or.th

และรับฟังจากสถานีวิทยุสวนแสงธรรม กรุงเทพฯ และสถานีวิทยุอุดร

FM 103.25 MHz

 


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก