พระพุทธเจ้าไม่ทรงชมเชยการก่อการสร้าง
วันที่ 17 กรกฎาคม. 2548 เวลา 13:00 น.
สถานที่ : ศาลา สวนแสงธรรม กรุงเทพฯ

ค้นหา :

เทศน์อบรมพระสงฆ์ และฆราวาส

เนื่องในโอกาสทำวัตรและกราบขอขมาหลวงตา

ณ สวนแสงธรรม กรุงเทพฯ

เมื่อบ่ายวันที่ ๑๗ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๔๘

พระพุทธเจ้าไม่ทรงชมเชยการก่อการสร้าง

 

          (รวมเวลาแสดงธรรม ๔๗ นาที)

 

          ฟังให้ดีนะบรรดาพี่น้องทั้งหลาย เทศน์วันนี้จะเป็นการเทศน์กระจาย ส่วนมากจะหนักไปทางด้านพระและประชาชนก็จะได้ยินได้ฟังทั่วถึงกัน ธรรมะไม่นิยมว่าพระว่าฆราวาส จิตใจทั้งหญิงทั้งชายไม่นิยมว่าเป็นพระและฆราวาสหรือใครๆ ก็ตาม ฟังได้เข้าใจได้ ความดีเข้าได้ถึงกันและกัน

          วันนี้เป็นวันสำคัญวันหนึ่ง เฉพาะอย่างยิ่งในชาวพุทธของเราวงปฏิบัติมีพระเรียกว่าพระกรรมฐาน ท่านอยู่ในที่ต่างๆ ได้รวมกันเข้ามา เบื้องต้นก็มาทำวัตรขอขมาลาโทษซึ่งกันและกัน เพราะคนเรามีกิเลสย่อมมีความผิดพลาดได้เช่นเดียวกัน การขอขมากันยอมรับโทษของตนที่ผิดพลาดประการใดแล้ว โทษอันนั้นก็จะไม่กำเริบเสิบสานต่อไป เมื่อฝ่ายหนึ่งได้รับทราบซึ่งกันและกันแล้ว โทษเหล่านั้นจะระงับตัวลงไป เป็นอันว่าสาบสูญหายไป ไม่กำเริบเสิบสานต่อไป ท่านจึงมีการคารวะขอโทษ ให้อภัยโทษกัน อย่างนี้เป็นต้นมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาลเรา จึงเรียกว่าทำวัตรๆ คือขอขมานั่นเอง

          วันนี้บรรดาพระเจ้าพระสงฆ์ ส่วนมากก็อยู่ในป่าในเขา ได้อุตส่าห์ด้นดั้นออกมาหาครูหาอาจารย์ที่ตนเห็นว่าเป็นที่เคารพนับถือ เฉพาะอย่างยิ่งในวันนี้ท่านทั้งหลายก็อุตส่าห์มาจากที่ต่างๆ เฉพาะอย่างยิ่งก็ภาคกลางกับภาคตะวันออกมากกว่าภาคอื่นๆ ได้มารวมกันขอขมาลาโทษแล้วสดับตรับฟังซึ่งอรรถธรรม ที่จะควรนำไปปฏิบัติให้เหมาะสมแก่เพศของตน เพศของตนคือพระ เพศของพระนี่เรียกว่าเพศนักบวช เพศนักบวชนี้คือเพศแห่งนักรบนะ นักรบกับกิเลสตัณหาประเภทต่างๆ

          ในครั้งพุทธกาลพระพุทธเจ้าประทับอยู่ในป่า ทรงบำเพ็ญอยู่ในป่าจนกระทั่งวันปรินิพพาน การแนะนำสั่งสอนสัตว์โลกก็ทรงสั่งสอนอยู่ในป่าในเขาทั้งนั้นเป็นส่วนมาก หากจะเสด็จไปในที่ต่างๆ บ้างก็เป็นกาลเป็นเวลา เป็นพื้นฐานจริงๆ แล้วพระพุทธเจ้าประทับอยู่ในป่า แดนพุทธศาสนาของเราเป็นแดนป่า เป็นที่สถิตแห่งธรรมจากผู้ปฏิบัติ นับตั้งแต่พระพุทธเจ้าลงมาถึงสาวกจนกระทั่งปัจจุบันนี้ ป่าเขาลำเนาไพรกับพระผู้ต้องการความสงบสงัดจะกำจัดกิเลสออกจากใจย่อมถือป่านี้เป็นสำคัญ เพราะเป็นสถานที่สงบงบเงียบ ปราศจากสิ่งก่อกวนทั้งหลาย ได้บำเพ็ญตนด้วยความสะดวก

          ดังพระพุทธเจ้าประทานพระโอวาทให้ทุกๆ องค์ บรรดาพระที่บวชในแดนพุทธศาสนานี้ไม่มีเว้นแต่องค์เดียว นอกจากจะเป็นพระแหวกแนว อุปัชฌาย์แหวกแนว ไปสอนนอกลู่นอกทาง ลบธรรมจำเป็นที่พระพุทธเจ้าประทานให้พระทุกองค์นี้ออกเสีย  กรรมฐานข้อนี้อาจจะไม่มีก็ได้ แต่หลักใหญ่ที่มีมาดั้งเดิมท่านสอนว่ารุกฺขมูลเสนาสนํ นิสฺสาย ปพฺพชฺชา ตตฺถโว ยาวชีวํ อุสฺสาโห กรณีโย บรรพชาอุปสมบทแล้วให้ท่านทั้งหลายไปอยู่ตามรุกขมูลร่มไม้ในป่าในเขา ตามถ้ำเงื้อมผา ป่าช้าป่ารกชัฏ ที่แจ้งลอมฟาง อันเป็นสถานที่สะดวกแก่การบำเพ็ญสมณธรรม เพราะไม่มีสิ่งรบกวน ขอให้ท่านทั้งหลายจงอยู่และบำเพ็ญในสถานที่เช่นนั้นตลอดชีวิตเถิด นี่ประทานพระโอวาทให้แก่พระสงฆ์ทุกองค์ ไม่มีเว้นในอนุศาสน์เครื่องพร่ำสอนข้อนี้

          เพราะฉะนั้นพระเราจึงนิยมอยู่ในป่าเป็นพื้นเป็นฐานมาดั้งเดิม และกระจายออกไปท่านก็บอกไว้ว่า อรัญวาสี คามวาสี ผู้อยู่ในบ้านก็ได้ท่านไม่บังคับบัญชา เป็นแต่เพียงว่าอยู่ไหนอย่าทำบาป สพฺพปาปสฺส อกรณํ อย่ากระทำบาปทั้งปวง ๑ กุสลสฺสูปสมฺปทา ยังกุศลคือความฉลาดรักษาตัวให้ถึงพร้อม สจิตฺตปริโยทปนํ ทำจิตของตนให้มีความสะอาดผ่องใสจนกระทั่งถึงวิมุตติหลุดพ้น๑ นี่เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลายที่ประทานให้สัตว์ทั้งหลายตลอดมา เราอยู่ในป่าก็ให้บำเพ็ญธรรมทั้งสามข้อนี้ อยู่ในบ้านก็ให้บำเพ็ญธรรมทั้งสามข้อนี้ ก็ชื่อว่าเป็นมงคล สำหรับผู้อยู่ในสถานที่ใดไม่ละธรรมข้อนี้

          ส่วนมากท่านสอนให้อยู่ในป่า เพราะเป็นความสงบสงัดกำจัดกิเลสได้ง่ายกว่าในแดนบ้าน ไม่มีใครจะเฉลียวฉลาดยิ่งกว่าพระพุทธเจ้า การรบกับกิเลสนี้พระพุทธเจ้าเป็นอันดับหนึ่ง ทรงได้ชัยชนะมาแล้ว จึงได้นำวิธีการต่างๆ มาสั่งสอนสัตว์โลกต่อไป เช่นสอนพระก็สอนให้อยู่ในป่าในเขาลำเนาไพรอันเป็นที่สะดวกสบาย นี่เป็นการดำเนินของพระ หน้าที่การงานของพระที่จะบำเพ็ญอยู่ในป่าเช่นนั้นท่านสอนว่างานนี้คืออะไร นี่ละพระพุทธเจ้ามอบงานให้ พอบวชเข้ามาก็ประทานโอวาททีเดียว เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง นี่เวลาแปลออกแล้ว เกสาแปลว่าผม โลมาแปลว่าขนเรื่อยมา

          พอไปถึงตะโจแล้วท่านหยุด เพราะว่าหนังนี้เป็นธรรมชาติที่หุ้มห่อรอบตัวของบุคคล ภูเขาทั้งลูกไม่มีใครหลงใครลืมใครติดใครพันกับมัน แต่ภูเราคือภูหญิงภูชายนี้ถือว่าเป็นเราเป็นของเรา จากหนังเป็นสำคัญ ผิวมันเพียงบางๆ เท่านั้น เรียกว่าผิวหนัง นี้ละประดับไว้ข้างนอก ภายในมีตั้งแต่ความปฏิกูลโสโครกเต็มไปหมด นี่ละท่านจึงสอนเพียงตโจ พอลอกหนังออกหมดแล้วภายในนั้นจะรู้ไปโดยลำดับลำดา ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ตับ ไต ไส้ พุง เรื่อยเข้าไป

          ท่านสอนแล้วสอนเล่า ให้นำธรรมข้อนี้เป็นอาวุธติดมือติดตัวติดใจตลอดเวลา ใครจะพิจารณาหนักแน่นในอาการใดก็ตามนี้เป็นทางบุกเบิก เพิกถอนสิ่งที่เป็นขวากเป็นหนามได้แก่กิเลสคือตัวให้เกิดความรักความชัง อุปทานความยึดมั่นถือมั่นและสร้างความกังวลวุ่นวายขึ้นมา ต่อจากนั้นก็กิเลสตัณหาประเภทต่างๆ ก็รวมขึ้นมาในต้นกิเลสอันนี้แหละ ท่านจึงสอนนี้ให้พิจารณา อยู่ที่ใดๆ ไม่ว่าหญิงไม่ว่าชาย ไม่ว่านักบวชฆราวาสผู้ต้องการหลุดพ้นจากทุกข์ จากสิ่งพัวพันคือกิเลส เพราะกิเลสมันพัวพันได้ทั้งหญิงทั้งชาย นักบวชและฆราวาส เราจึงต้องได้รับความทุกข์ อยู่ในวงแห่งความควบคุมของมัน

          เมื่อเป็นเช่นนี้จึงต้องได้พิจารณา ผู้ที่จะหนักแน่นในธรรมทั้งหลายมากขึ้นไป ธรรมเหล่านี้ยิ่งเป็นธรรมจำเป็นขึ้นมา เช่นอยู่ในป่าเราจะเจริญธรรมบทใดติดกับใจของเรา เบื้องต้นให้เป็นสมถธรรมก่อน ด้วยเกสา โลมา นขา ทันตา ตโจนี้ อาศัยธรรมบทนี้เป็นเครื่องบริกรรมกำกับใจ เพื่อความสงบใจ เกสาๆ ก็ได้ โลมา นขา ทันตา หรือ ตโจๆก็ได้ตามแต่ถนัดในกรรมฐานบทใด แล้วนำมาบริกรรมให้ใจติดพันอยู่กับกรรมฐานบทนั้นๆ จนเกิดความสงบใจ

          นี่ใจจะสงบได้ เมื่อพิจารณาสิ่งเหล่านี้แล้วใจจะไม่กำเริบเสิบสานไปไหน นอกจากที่แหวกแนวออกจากกรรมฐานทั้งห้า ที่เป็นรั้วกั้นเพื่อรักษาความปลอดภัยนี้ เราเตลิดเปิดเปิงออกจากรั้วกั้นอันนี้ไปเสีย มันก็หาที่ยึดที่เกาะไม่ได้ เหมือนสัตว์ไม่มีเจ้าของ ตายได้ง่าย เสียหายได้ง่าย ท่านจึงให้นำธรรมเหล่านี้มาเป็นเครื่องบริกรรม บริกรรมจนติดใจ ใจจะเกิดความสงบ ถ้าลงธรรมได้ติดกับใจแล้วไม่ว่าธรรมบทใดจะกล่อมใจให้มีความสงบร่มเย็นเป็นลำดับลำดาไป กลายเป็นสมถธรรมขึ้นมา สมถธรรมคือความสงบใจจากกรรมฐานบทนั้นๆ

          ทีนี้เมื่อใจมีความสงบเยือกเย็นพอเป็นปากเป็นทาง เป็นบาทเป็นฐานแล้วก็เอากรรมฐานทั้งห้านี้แหละแยกออกเป็นทางวิปัสสนา เกสาแยกเกสาเป็นธาตุเป็นขันธ์ยังไง โลมา นขา ทันตา ตโจ แยกแตกกระจายออกไป ถึงเนื้อหนังเอ็นกระดูกทั้งเขาทั้งเราทั่วแดนโลกธาตุตีกระจัดกระจายออกไปด้วยปัญญา นี่อารมณ์แห่งกรรมฐานทั้งห้านี่เป็นได้ทั้งสมถะเป็นได้ทั้งวิปัสสนา ท่านพินิจพิจารณาอย่างนี้ นักบวชเราให้หนักแน่นในการพิจารณาเรื่องอันนี้ให้มากนะ ถ้าห่างจากนี้แล้วก็เลอะๆ เทอะๆ

          ขอให้หนักแน่น เฉพาะผู้พิจารณากรรมฐาน เรื่องอสุภะอสุภังนี้เป็นกิจจำเป็นอย่างมากสำหรับพระเรา ต้องพิจารณาอสุภะอสุภังความไม่สวยไม่งามทั้งภายนอกทั้งภายใน ทั้งเขาทั้งเรา ทั้งหญิงทั้งชาย เอามาพิจารณาแยกแยะให้เห็นเป็นของปฏิกูลโสโครก จิตใจจะได้เบื่อหน่ายในสิ่งเหล่านั้น ถอนตัวออกมาจากความกังวลและอุปาทานทั้งหลาย ใจจะมีความสงบเย็นเรื่อยๆ ขึ้นไป นี่การพิจารณา เมื่อมีจิตใจสงบพอสมควรแล้วด้วยสมถธรรมดังที่กล่าวนี้แล้ว แยกออกไปพิจารณาทางด้านปัญญา แล้วยกธาตุยกขันธ์สกลกายของตนขึ้นมาพิจารณาเรื่องสกลกาย นี่หาความสวยความงามความจิรังถาวร ความสุขความเจริญกับตัวของมันที่ร่างกายของเรานี้แหละ

          พิจารณาแยกไปแยกมา มองเข้าไปปั๊บเข้าไปเจอเอาผมนั้นเสีย อันขนเล็บฟันนี้เสียอันนี้มันสะอาดที่ตรงไหน สวยงามที่ตรงไหน ได้ชะได้ล้างตลอดเวลา อยู่ที่ไหนคนไปที่ใดสร้างความสกปรกที่นั่น ในเรือนที่หลับที่นอนหมอนมุ้งต้องได้ชำระสะสางชะล้างอยู่ตลอดเวลา เพราะร่างกายนี้เป็นตัวสกปรก ไปอยู่ที่ไหนมันจะสร้างความสกปรกขึ้นมา เราจึงต้องได้ชะได้ล้าง นี่ให้พิจารณาเป็นอย่างนี้ ถ้าร่างกายเป็นของดิบของดีไปอยู่ที่ไหนก็ต้องสะอาดไปหมด ร่างกายไปไหนสะอาดที่นั่น แต่นี้ร่างกายไปที่ไหนสกปรกที่นั่น เข้าไปอยู่ในที่นอนที่นอนก็สกปรก เข้าไปไหนสกปรกหมดคือร่างกาย นี่เรียกว่าพิจารณาอสุภะอสุภัง

          จากนี้ก็แยกทั้งเขาทั้งเราในโลกอันนี้ซึ่งมีร่างกายด้วยกันทั้งหญิงทั้งชาย ทั้งสัตว์ทั้งบุคคลนั่นแหละ และมันเป็นสภาพเดียวกัน พิจารณาให้เห็นจริงเห็นจังในสิ่งเหล่านี้ ท่านเรียกว่าปัญญา แยกธาตุแยกขันธ์ดูอสุภะอสุภัง ใครพิจารณาธรรมอันนี้ อสุภะอสุภังได้มากเท่าไรผู้นั้นจะมีความสงบเย็นลงไปโดยลำดับ พิจารณาเรื่อยๆ เหมือนเขาคราดนา คราดไปคราดมาๆ ไม่นับเที่ยว คอยดูตั้งแต่มูลคราดมูลไถแหลกละเอียดขนาดไหน พอปักพอดำได้แล้วยัง นั่นละถ้ามูลคราดมูลไถแหลกละเอียดพอปักพอดำเขาก็ปักก็ดำ

          อันนี้การพิจารณาเรื่องอสุภะอสุภังมีความอิ่มพอได้ เวลาพิจารณาเบื้องต้นก็ต้องได้ฝึกหัดจริงๆ บังคับบัญชา ใส่สิ่งเหล่านี้เพราะจิตนี้อยากจะวิ่งไปหาความสวยความงามทั้งๆ ที่ไม่มี มันหาลมๆ แล้งๆ ไปอย่างนั้นละ หาความสวยความงาม ไปเจออะไรๆ ก็มีแต่สวยแต่งาม มันสวยมันงามอะไร มันหาเอาเป็นลมๆ แล้งๆ เอาลมๆ แล้งๆ นั่นละมาเป็นอารมณ์เผาหัวใจ ให้เกิดความรักความชัง ความกำหนัดยินดี เกลียดโกรธกันไปก็เพราะจิตมันคึกมันคะนอง

          ทีนี้เวลาพิจารณาให้เต็มเม็ดเต็มหน่วยเข้าโดยลำดับ ร่างกายนี้จะปรากฏในตัวของเรา ประจักษ์ชัดเจนเลย นักปฏิบัติจะรู้ด้วยกันทุกคน การพิจารณาร่างกายของเราของเขาให้เป็นอสุภะอสุภัง จนมีความชำนิชำนาญ ไปที่ไหนมันจะเป็นอสุภะตลอด เรามองดูเราก็เป็นอสุภะเด่นที่ไหนอสุภะนี้ เด่นจุดไหน มันจะรู้ในตัวของเรา เช่นเนื้อเช่นหนัง เช่นเอ็นเช่นกระดูก มันจะเด่นอยู่ภายในใจ ทีนี้มองเห็นใครก็ตาม มันจะเป็นเหมือนมองดูตัวของเรา

          ดังที่ภิกษุรูปหนึ่งท่านกำลังบำเพ็ญสมณธรรม ตอนนั้นท่านกำลังพิจารณากรรมฐานอยู่ในขั้นมองเห็นอะไรเป็นกระดูกไปหมด มองเห็นอะไรๆ ทั้งหมด เนื้อหนังไม่เห็น เพราะท่านชำนาญทางกระดูก พอมองเห็นคนเห็นสัตว์เป็นกระดูกโครงกระดูกไปหมด แล้วพอดีมีผู้หญิงคนหนึ่งเดินผ่านมาที่ท่านภาวนาอยู่นั้น ผ่านไปไม่นานผู้หญิงคนนั้นก็เป็นแบบที่ท่านพิจารณาอยู่นั้นแหละ สักประเดี๋ยวสามีเขาก็ตามมา เขามาถาม ท่านพูดภาษาธรรม ท่านพูดตรงๆ มาถามท่านว่า เห็นผู้หญิงผ่านไปที่นี่ไหม ท่านบอกไม่เห็น เห็นแต่โครงกระดูกนั้นละผ่านไปนี้

                นี่เอามาพูดนี้หมายถึงว่าความชำนาญในการพิจารณา จิตท่านพิจารณาในโครงกระดูก จนมองไปเห็นทีไรเนื้อหนังไม่เห็น เห็นตั้งแต่กระดูกซี่โครงเต็มตัว ทีนี้พอมองเห็นหญิงคนนั้นก็เป็นซี่โครงเต็มตัว เวลาผัวเขามาถามก็บอกว่าเห็นแต่โครงกระดูก นี่เรายกมาเป็นตัวอย่างคือความชำนาญทางด้านจิตใจ เมื่อเวลาพิจารณานี้ให้หนักแน่นเข้าไปแล้วมันจะมีความคล่องแคล่วแกล่วกล้าติดกับหัวใจของเรา อสุภะอสุภังชำนิชำนาญมากเท่าไรๆ ราคะตัณหาจะลดลงๆ จำให้ดี

          วันนี้สอนนักปฏิบัติ เอาพื้นฐานมาสอนเสียก่อน ตั้งแต่เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ แล้วจากนี้แยกเข้าไปสู่ทางวิปัสสนา อสุภะอสุภัง แยกส่วนแบ่งส่วน แล้วพิจารณาแล้วพิจารณาเล่า ซ้ำๆ ซากๆ จนกระทั่งจิตใจของเรามีความชำนิชำนาญ มองไปที่ไหนมีแต่อสุภะเต็มตัวทั้งเขาทั้งเรา นั่นแหละนี่อสุภะแก่กล้าสามารถ กำหนดให้แตกเมื่อไรได้  ให้พังทลายเมื่อไรได้ ให้ตั้งอยู่ก็ได้ ให้รวดเร็วขนาดไหนได้ นี่ท่านเรียกว่าอสุภะชำนิชำนาญ เมื่อมันชำนิชำนาญแล้ววิธีการที่จะตัดสินราคะภายในจิตใจ ไม่ได้ตัดสินที่อสุภะอสุภังนะ อันนั้นเป็นหินลับปัญญาต่างหาก พิจารณาอสุภะอสุภังแกล้วกล้าสามารถขนาดไหนก็ตาม ก็เป็นหินลับปัญญาให้คมกล้าๆ เมื่อเข้าขั้นที่มันจะตัดสินกันแล้ว อสุภะอสุภังกำหนดมาไว้ข้างหน้าของเรา

          นี่ละที่เราว่าชำนาญๆ มันแยกแยะอย่างไรก็ได้ ให้ทำลายก็ได้ ๆ ช้าเร็วก็ได้ๆ แต่บัดนี้เพื่อจะดูความจริงจากอสุภะนี้มันไปจากไหน มาจากไหน ไปที่ใด จะดูความจริงของมัน จึงตั้งอสุภะที่ตนพิจารณาอย่างคล่องแคล่วที่ตรงหน้าของเรา แล้วไม่ต้องโยกย้ายเคลื่อนไหวไปไหน ตั้งไว้นั้นแล้วไม่ต้องทำลาย เอ้าอสุภะนี้มันจะไปยังไงมายังไง นี้ละตอนที่จะตัดสินอสุภะราคะตัณหาจะตัดสินกันที่ตรงนี้ พอพิจารณาอสุภะอสุภังเต็มตัวแล้วเอามาตั้งไว้ที่หน้า เมื่อเห็นชำนิชำนาญแล้วเพ่งดู เอ้าอสุภะนี้มันจะไปที่ไหน ตั้งไว้นี้แหละ มันจะไปที่ไหนดูความเคลื่อนไหวของอสุภะนี้ เราไม่ต้องไปโยกไปย้าย ไม่ต้องไปทำลาย แต่จะดูความจริงของอสุภะที่เราตั้งเอาไว้นี้

          พอตั้งไว้นี้ ตั้งไว้ยังไงมันก็อยู่อย่างนั้น มันไม่เคลื่อนไปมาที่ไหนก็แสดงว่าอสุภะนี้ยังไม่พอ เร่งเข้าอีก ๆ แล้วมาฝึกซ้อมแบบนี้อีก เอามาตั้งไว้ตรงหน้านี้ ทีนี้เมื่อมันพอแล้วอสุภะกับใจนี้มันจะกลืนกันเข้ามา อสุภะที่เราตั้งไว้ข้างหน้านั้นใจนี้จะดูดเข้ามาดึงเข้ามาดูดเข้ามา สุดท้ายอสุภะกับใจเรานี้มันมาเป็นอันเดียวกัน เรียกว่าอสุภะที่ตั้งไว้นั้นมันไปจากใจ หมุนเข้ามาสู่ใจ ใจเป็นอสุภะเสียเอง อสุภะไม่มาจากไหน มาจากใจ ตอนนี้แหละเป็นตอนที่เราจะตัดสินได้ พอเราจับอันนี้ไว้ อสุภะหมุนเข้ามาสู่ใจ ใจเป็นอสุภะเสียเองเท่านั้นมันก็ปล่อยอสุภะข้างนอก จะชำนิชำนาญขนาดไหนมันก็ปล่อยนั้นมายึดนี้เป็นหลัก แต่ก็ต้องอาศัยอสุภะภายนอกมาเป็นหินลับปัญญา ฝึกซ้อมเพื่อความชำนิชำนาญอยู่นั้นเอง

          เรากำหนดเมื่อไร ตั้งลงเมื่อไร มันจะดูดเข้ามาภายในใจแล้วรวดเร็วเข้าเป็นลำดับลำดา นี่เรียกว่าจิตได้ระดับแล้ว พูดถึงเรื่องราคะตัณหานี่สอบได้แล้ว เป็นระดับที่สามอนาคามี ไม่บอกก็รู้ ตัดสินกันที่ตรงนี้ แต่เป็นระดับที่สอบได้ นี่หมายถึงผู้พิจารณาตามธรรมดาท่านๆ เราๆ ไม่ได้หมายถึงท่านผู้เป็นขิปปาภิญญาที่รู้ได้เร็วนั้นพรวดไปหมดเลย อันนี้เราลำดับลำดาตามปฏิปทาของเราที่เชื่องช้า ให้ฝึกเป็นลำดับลำดา ทีนี้พออสุภะที่เรากำหนดไว้นี้มันถูกดึงดูดเข้ามาสู่ใจ ใจมาเป็นอสุภะเสียเอง ใจอันนี้ก็ถืออสุภะนั้นว่าเกิดจากตัวเอง ไม่ได้มาจากที่ไหน เราจะตั้งไปที่ไหนก็ตามมันไปจากใจ พอมันเข้าสู่จิตใจจึงรู้ว่าใจนี้เป็นตัวอสุภะจริงๆ แล้วมันปล่อยข้างนอก

          จากนั้นก็เอาอสุภะนั่นแหละตั้งเข้าอีก นี่เรียกว่าฝึกซ้อม แล้วมันจะรวดเร็วเข้าไป พอตั้งเข้าไปมันจะหมุนเข้ามาสู่ใจ หมุนหลายครั้งหลายหน หมุนเข้ามาแล้วดับที่ใจ ต่อไปพิจารณาตั้งอสุภะ ตั้งปั๊บดับปุ๊บๆ นี่นี่ผ่านไปๆ สุดท้ายกลายเป็นสุญกาศว่าง อสุภะไม่มี นี่เรียกว่าราคะตัณหาขาดแล้วโดยสมบูรณ์ ไม่ต้องไปถามใคร แต่ก็อาศัยนี้ฝึกจนกระทั่งถึงอากาศธาตุเป็นความว่างเปล่าของจิต ทีนี้อสุภะอสุภังไม่มี มีตั้งแต่ความเกิดความดับในภาพต่างๆ จะตั้งภาพใดรูปใดขึ้นมา ก็มีแต่กิดแล้วดับไป เกิดแล้วดับไป รูปต่างๆ ที่ให้เราพิจารณาแยกธาตุแยกขันธ์เป็นอสุภะอสุภังแยกไม่ทัน พอเกิดขึ้นดับพร้อมๆ นี่เป็นขั้นของจิตที่พิจารณา ให้ท่านทั้งหลายจำเอาไว้

          นี่การฝึกฝึกอย่างนี้ไม่ผิด ตั้งสติให้ดีตั้งแต่ต้น ใครที่ตั้งรากตั้งฐานทางด้านจิตใจไม่ได้ให้ตั้งคำบริกรรมติดกับใจ อย่าปล่อยใจให้อยู่เฉยๆ มีสติกำหนดตามเฉยๆ นั้นล้มเหลว ผมเคยทำมาแล้ว ต้องเอาคำบริกรรม เพราะล้มเหลวมาจากตั้งสติเฉย ๆให้อยู่กับจิต เผลอไปได้ เผลอไปได้ พอเอาคำบริกรรมติดเข้าไปไม่ยอมให้เผลอ จิตกับคำบริกรรมไม่ยอมให้เผลอ สติติดแนบอยู่นั้นแล้ว จะคิดไปไหนไม่ยอมให้คิด นั่นแหละทีนี้เรียกว่าใจได้รับความสงบ สงบเรื่อย ๆ

          แต่เบื้องต้นนี้ความปรุงคือสังขารมันจะผลักจะดันให้คิดให้ปรุง อยากคิดอยากปรุงจนอกจะแตกนู่นนะไม่ใช่ธรรมดา แต่สติมี มันจะเก่งขนาดไหนก็ตามเถอะกิเลสน่ะ  ขอให้มีสติบังคับจิต อย่าให้เคลื่อนไหว ให้รู้อยู่อย่างนั้น เช่นพุทโธๆ ให้รู้อยู่กับพุทโธ ติดกับจิต สังขารที่เป็นสมุทัยของกิเลสจะออกไม่ได้นะ นี่ละจิตจะสงบลงๆ ตั้งฐานได้ นี่หมายถึงตั้งฐานได้ เอานี้เป็นหลัก จากนั้นก็ดังที่อธิบายมานี่ จนกระทั่งถึงขั้นอสุภะอสุภัง เมื่อถึงขั้นอสุภะอสุภัง ผ่านอสุภะอสุภังไปแล้ว อสุภะอสุภังไม่มี หมด เหลือแต่ความว่างเปล่าไปทั้งหมด

          ความว่างเปล่ากับความเกิดความดับของสังขารมันเกิดอยู่ภายในจิต นี้เป็นนามธรรม รูปธรรมผ่านไปได้แล้วตั้งแต่ราคะตัณหาสิ้นซากไป รูปเหล่านี้ก็หมดไปตามๆ กัน จะเหลือตั้งแต่ความว่าง ความว่างก็มีสังขารมีสัญญามันคิดมันปรุงอยู่ในนั้น ให้พิจารณาตามอันนี้ไป มันจะเข้าออก เข้าออกอยู่ที่จิต ไม่ได้ไปเกี่ยวข้องกับอะไร พิจารณาอย่างนี้ไปเรื่อยๆ นี่นักปฏิบัตินักภาวนา ให้ยึดหลักให้ดี อย่าทำสุ่มสี่สุ่มห้า นี่เราอธิบายพอเป็นพื้นฐาน ให้พากันก้าวเดินตามนี้ เรื่องสติเป็นสำคัญมากนะ อย่าให้เผลอ ก้าวขึ้นไปๆ จะพิจารณาอะไรมีสติเป็นสำคัญเป็นพื้นฐาน จนกระทั่งจิตมันก้าวเข้าสู่ความว่าง

          เมื่อว่างแล้วจะพิจารณาอสุภะอสุภังอะไรไม่ทัน เกิดพับดับปุ๊บๆ ๆ เหมือนแสงหิ่งห้อย หรือฟ้าแล็บ ๆ จะพิจารณเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ไม่ได้ ไม่ทัน จิตจึงต้องผ่านไป ก็รู้แล้วว่าพอแล้ว จากนั้นก็ความเกิดความดับของจิต ความคิดปรุงดีชั่วประการใดที่มันเกิดขึ้นกับจิต เกิดขึ้นมาก็ดี ชั่วก็ดี มันดับไปที่จิต ดับไปที่จิต ตามต้อนกันอยู่อย่างนั้น  เรียกว่าวงภายในนามธรรม นี่เรียกว่าปัญญา ปัญญาเหล่านี้เป็นอัตโนมัติมาแล้วตั้งแต่อสุภะอสุภังผ่านไป เรื่องพิจารณาอสุภะอสุภังนั้นเป็นสติปัญญาชุลมุน จะเรียกว่าสติปัญญาอัตโนมัติไม่ได้นะ เพราะตอนนั้นเป็นตอนชุลมุนมากทีเดียว

          พอผ่านจากนั้นแล้วการฝึกซ้อมอสุภะอสุภังให้มีความชำนิชำนาญๆ นั้นแหละทีนี้เป็นสติปัญญาอัตโนมัติ จนกระทั่งหมดปัญหานี้แล้วก็จะเป็นอากาศธาตุไปละ เหลือแต่ความคิดความปรุงภายในจิตใจ ความคิดความปรุงภายในจิตใจจะเกิดจากจิต ดับที่จิต เกิดที่จิต ดับที่จิต พิจารณาตามนั้น ไม่ปล่อยวาง เรื่องการพิจารณากว้างขวางขนาดไหนก็ตามหดเข้ามาหมดแล้ว เหลือตั้งแต่จิตกับความคิดปรุงของสังขารของสัญญาเป็นต้นอยู่ภายในนี้เท่านั้น           นี่ละการพิจารณา ฝึกซ้อมอยู่อย่างนี้ตลอด เมื่อถึงขั้นนี้แล้วหากรู้ทางของตัวเอง ตั้งแต่ขั้นราคะตัณหาผ่านไปแล้วจะรู้ช่องทางของตัวเอง แน่ต่อความพ้นทุกข์ อยู่กับใจของตัวเอง ประหนึ่งว่านิพพานอยู่ชั่วเอื้อมๆ ๆ ไปเรื่อยๆ ละ

          นี่การปฏิบัติ การปฏิบัติเรื่องที่จะให้ธรรมเหล่านี้ก้าวเดินไปด้วยความราบรื่นดีงามต้องเป็นผู้มีความเพียรสืบต่อ อย่าคุ้นอย่าชินกับสิ่งใด สถานที่ใด อามิสทั้งหลายในโลกามิสเป็นสิ่งที่ล่อจิตใจได้นะ ให้คุ้นกับธรรม ชินกับธรรม สนิทกับธรรม อยู่ที่ไหนอย่าเผลอสติ พินิจพิจารณาอยู่ตลอดเวลา สติเป็นผู้ควบคุม จนกระทั่งเข้าไปถึงที่ว่า พอถึงความว่างแล้วพิจารณาอะไรไม่ได้ วัตถุไม่มี ว่างปล่าก็มีแต่ความเกิดความดับของสังขาร เป็นต้นนี่ละ เกิดดับๆ ตามเข้าไปๆ หลายครั้งหลายหนมันก็รู้ฐานใหญ่ของมัน คือ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา ที่มันหนุนสังขารออกมาเป็นสมุทัยให้คิดให้ปรุง กวนจิตใจของเราตลอดมา และเข้าถึงนั้นแล้วพอถึงฐานสมุทัยอันใหญ่หลวงก็ได้แก่อวิชชา ที่มันเกิดนี้เกิดขึ้นมาจากอวิชชานั่นแหละ มันถือจิตเป็นฐานที่ตั้งของมัน ที่อยู่ของมันแล้วมันก็ปล่อยพิษปล่อยภัยออกไปตลอด

          เวลาเราพิจารณาตามเข้าไปจนกระทั่งถึงนั้นแล้วอวิชชานี้มันเป็นเองนะ ใครจะบอกนี้คืออวิชชาถอนขึ้นมาต่อหน้าต่อตาอย่างนี้ไม่ได้ หากเป็นเรื่องของธรรมกับกิเลสปฏิบัติต่อกันด้วยความเหมาะสม แล้วกิเลสขาดสะบั้นไปก็ขาดไปได้ด้วยความเหมาะสมของธรรมที่ฟัดกันในวลานั้นเท่านั้นเอง นี่ที่ท่านว่าท่านบรรลุธรรม บรรลุตอนนี้เอง เมื่อไล่เข้าไป ไม่มีที่อยู่ วัฏจักรออกจากวัฏจิต วัฏจิตออกจากอวิชชา อวิชชาเป็นผู้พาหมุนให้เป็น พอเข้าถึงอวิชชาขาดสะบั้นไปแล้ว ไม่มี สังขารก็เป็นสังขารล้วนๆ เป็นขันธ์ล้วนๆ ไปเลย เห็นรูปก็เห็นสักแต่ว่าร่างกาย เวทนาความสุขทุกข์มีแต่เพียงภายในร่างกาย สัญญาความจำได้หมายรู้ก็เกิดดับๆ เท่านั้นเอง วิญญาณก็รับทราบแล้วดับ รับทราบแล้วดับ

          นี่เรียกว่าขันธ์ล้วนๆ ไม่สร้างกิเลสขึ้นมา เหมือนกิเลสที่มีอยู่ในใจ สิ่งเหล่านี้เป็นข้าศึกของมันได้เป็นอย่างดี เป็นทางเดินของกิเลส เป็นเครื่องมือของกิเลส เมื่ออวิชชา ดับลงไปแล้วขันธ์ทั้งห้านี้กลายเป็นเครื่องมือของธรรมไป ธรรมท่านไม่ยึด กิเลสยึด มีเท่าไรยึดหมดๆ เวลาเป็นเครื่องมือของธรรมคืออวิชชาเป็นเจ้าของของขันธ์นี้ด้วยอุปทานของมันเอง ตัวของมันเองนั้นแหละ พอมันขาดสะบั้นลงแล้วอุปทานในขันธ์ท่านไม่มี หมด อวิชฺชาปจฺจยา ดับลงไป ขันธ์จึงเป็นขันธ์ล้วน ๆ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณมีอยู่ภายในขันธ์นี้เท่านั้น ไม่ได้มีอยู่ภายในจิต มีอยู่ภายในขันธ์ล้วนๆ

            เรื่องกิเลสตัณหาอาสวะทั้งหลายนี้ขาดเป็นคนละวรรคละตอน คนละฝั่งละฝากไปแล้ว เห็นชัดๆ เป็นอฐานะ จะทำให้เป็นอะไร ให้เป็นผู้มีกิเลสอีกเป็นไม่ได้ เรียกว่าเป็นคนละฝั่ง วิมุตติกับสมมุติขาดกันตรงอวิชชาขาดนั้นแล พออวิชชาขาดลงไปวิมุตติ ความหลุดพ้นก็ผางขึ้นมาตรงนั้น ทีนี้เป็นคนละฝั่งเรียบร้อยแล้ว นี่ละท่านบรรลุธรรมท่านบรรลุอย่างนี้เอง ขอให้ท่านทั้งหลายจำไว้ให้ดี บรรลุตรงนี้เอง พออวิชชาดับสมมุติทั้งมวลก็คืออวิชชาเป็นตัวสมมุติขาดสะบั้นลงไป สิ่งทั้งหลายขาดไปหมด นั่นละทีนี้เป็นคนละฝั่ง

          ฝั่งวิมุตติคือนิพพาน ฝั่งสมมุติคือวัฏจักร ทีนี้อยู่คนละฝั่งแล้ว เป็นอฐานะแล้ว จะทำให้เป็นอย่างอื่นอย่างใดไม่ได้แล้ว ก็มีแต่ขันธ์ดีดดิ้นอยู่ตามความเคลื่อนไหวของตนที่มีชีวิตอยู่เท่านั้น พาอยู่พากิน พาหลับพานอน พาขับพาถ่าย ไปอย่างนั้น หวานก็รู้เค็มก็รู้ อร่อยอะไรๆ ก็รู้ แต่รู้อยู่ภายในขันธ์ ไม่สามารถที่จะซึมซาบเข้าไปถึงใจว่าดีนะ อันนั้นดีนะ ดีอยู่ภายในขันธ์ ไม่ได้ดีเข้าไปถึงจิตตวิมุตติ นี่ละจิตที่หลุดพ้นเป็นอย่างนั้น หากรู้เองทุกคนๆ เรื่องขันธ์มันมีของมันยังไงก็ให้รู้ตามมี เราก็ปฏิบัติตามความมีของขันธ์ ขันธ์เป็นขอบเป็นเขตที่จะปฏิบัติอยู่ด้วยกัน

          เช่น เพศของเราเป็นพระเราก็ปฏิบัติแบบพระของเรา รักษาศีลรักษาธรรมตามหลักแห่งพระที่มีศีล ๒๒๗ เราก็รักตามแบบตามฉบับของศีล ๒๒๗ อยู่ในวงขันธ์ แต่จิตนี้ผ่านไปหมดแล้ว จิตที่หลุดพ้นแล้วไม่มีสังฆาไม่มีปาราชิก ให้ท่านทั้งหลายจำเอาไว้นะ สังฆาปาราชิกมีอยู่เวลาที่กิเลสยังมีอยู่ เหล่านี้มี พออันนี้ขาดสะบั้นลงไปแล้ว สังฆาปาราชิกไม่มี ในท่านพระอรหันต์ไม่มี มีก็มีตามโลกเขาตำหนิติเตียน เท่านั้นละ เราจึงต้องรักษานี้ที่สังคมยอมรับไว้โดยดีตามเพศของเรา คือเราเป็นพระปฏิบัติตามหน้าที่ของพระ เราเคยปฏิบัติมายังไงไม่เคลื่อนคลาด ไม่เปลี่ยนแปลง ปฏิบัติอย่างนั้น

          เช่นอย่างฉันข้าวเย็นอย่างนี้ สำเร็จอรหันต์แล้วมาฉันข้าวเย็นก็ได้ ไม่ได้นะ นั่นเห็นไหมละ นี่ขัดแล้ว สำหรับความบริสุทธิ์นั้นไม่เอาอะไรแล้ว พอหมดแล้ว เรื่องธาตุเรื่องขันธ์ต้องปฏิบัติตามธาตุตามขันธ์ ยกตัวอย่างเช่นฉันข้าวเย็นอย่างนี้ ฉันไม่ได้ปรับอาบัติ ปรับอาบัติอยู่ในธาตุในขันธ์นี้ละ เห็นกันอยู่ที่นี่ สังคมไม่ยอมรับ สังคมรังเกียจ ผิดหลักของพระอยู่ในสังคม ส่วนจิตนั้นพ้นไปแล้วไม่มีปัญหา ยังไงก็ตาม ใครจะรู้ละเอียดแหลมคมยิ่งกว่าพระอรหันต์ ที่รู้ท่านแล้วท่านก็รู้วิธีปฏิบัติต่อธาตุต่อขันธ์ ต่อสังคมต่างๆ ได้เป็นอย่างดี เพราะฉะนั้นจึงเรียบไปตลอด นี่ละภายในพ้นแล้วไม่มีอะไร

          แต่สำหรับจิตใจที่เป็นธาตุขันธ์นี้เป็นเรื่องสมมุติ สมมุติกับสมมุติมันเข้ากันได้ง่าย ติกันได้ง่าย ชมกันได้ง่าย ก็ต้องปฏิบัติไม่ให้ธาตุขันธ์ที่แผลงตัวออกไปเป็นฤทธิ์เป็นเดชให้สังคมรังเกียจ จึงต้องปฏิบัติอย่างนี้ ที่จะให้ไปตกนรกอเวจีไม่มีทางแหละ เราปฏิบัติอยู่ตามธาตุตามขันธ์ เพียงถึงวันเวลาของมันเท่านั้น นี่ขอให้ท่านนักปฏิบัติ ทั้งหลายตั้งใจปฏิบัติให้ดี มรรคผลนิพพานท้าทายอยู่กับหัวใจของท่านผู้มีสติ มีความพากความเพียรดังที่กล่าวมานี้ ก้าวเดินให้ดี

          นี่ละพระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้แล้วทุกอย่างสมบูรณ์แบบ ที่ท่านเรียกว่าสวากขาตธรรมๆ คืออะไร ตรัสไว้ชอบแล้ว ไม่มีที่จะขัดจะแย้ง ไม่มีที่จะนำมาเพิ่มเติมหรือเอาออกไม่มี สมบูรณ์แบบ ท่านสอนไว้หมด ให้เคารพพระธรรมและพระวินัยด้วยดีนะ  อย่าข้ามอย่าเกิน พระวินัยก็ดี พระธรรมก็ดี นั้นแลคือศาสดาของพวกเธอทั้งหลาย อย่างที่ท่านแสดงไว้แล้วกับพระอานนท์ “ดูก่อนอานนท์ พระธรรมกับพระวินัยนั้นแล ธรรมและพระวินัยนั้นแล จะเป็นศาสดาของเธอทั้งหลายแทนเราตถาคตเมื่อเราผ่านไปแล้ว”

          เพราะฉะนั้นเราจึงต้องเคารพธรรมและวินัยซึ่งเป็นองค์แทนของศาสดา เท่ากับเป็นศาสดาของเราตลอดไป ด้วยความระมัดระวังในศีลของเรา ระวังให้ดี แล้วทางด้านธรรมะเอาเร่งเข้าไปความเพียร อย่าเผลอย่าไผล อย่าขี้เกียจขี้คร้าน ให้พยายามบำเพ็ญ สติตั้งลงไปในธรรมบทใด ตั้งให้จริงๆ สติเป็นสำคัญมากนะ ถ้าเผลอสติแล้วงานจะขาดวรรคขาดตอนไป เดินจงกรมก็ขาด นั่งอยู่ก็ขาดวรรคขาดตอน ขาดที่สติ สติเป็นผู้ทำงาน สติเป็นพื้นฐานสำคัญ จงให้พากันตั้งอกตั้งใจ และการปฏิบัติธรรมเรื่องมรรคผลนิพพานไม่สงสัย

          ขอให้ดำเนินตามทางของศาสดา พระธรรมและพระวินัยนั้นแลคือทางเดินและตลาดแห่งมรรคผลนิพพานอยู่จุดนี้นะ ไม่ได้ไปอยู่ที่เมืองอินเดียที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว และหมดเขตหมดสมัย มรรคผลนิพพานไม่มี นั่นมันกิเลสตบหูตบตาสัตว์โลกทั้งหลายที่คอยจะเชื่อมันอยู่แล้วด้วยความตาบอดให้บอดหนักเข้าไปเท่านั้นเอง ผู้ตาดีคืออะไร เป็นผู้สอนไว้ ผู้วางศาสนาคือใครเป็นผู้วาง พระพุทธเจ้าเท่านั้น กิเลสไม่ได้มาวางศาสนา ไม่ได้มาสอนโลกให้พ้นทุกข์พ้นภัย แต่พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ เป็นผู้นำธรรมมาสอนโลกให้โลกได้รู้เหตุรู้ผล รู้ดีรู้ชั่ว รู้บาปรู้บุญ รู้นรก-สวรรค์-พรหมโลก-นิพพาน นี้คือคำสอนของศาสดาซึ่งมีตัวจริงทั้งหมด

          ไม่ใช่พระองค์สอนว่าบาปมีความจริงไม่มี บาปมีจริงๆ บุญมีจริง นรก-สวรรค์-พรหมโลกมีจริงๆ ตัวจริงมี นำตัวจริงออกมาสอนเป็นคำพูดคำจาบอกว่าอันนั้นชั่ว ทางนี้ดี ให้ละสิ่งนั้น ให้บำเพ็ญสิ่งนี้ นี่คือศาสดาองค์เอกไม่หลอกลวงใคร สอนโลกให้หลุดพ้นจากทุกข์มาจำนวนสักเท่าไรแล้ว มีแต่พระพุทธเจ้าทั้งนั้นๆ กิเลสตัวใดที่มันจะไปสอนโลกให้ได้หลุดพ้นจากทุกข์ ถ้าว่าสอนให้จมมีตลอด กิเลสมีแต่สอนให้จมลงๆ ธรรมะลากขึ้นเท่าไรกิเลสไม่ยอมฟังเสียง ให้จมลงๆ อย่างนี้เป็นเรื่องของกิเลส

          เราทั้งหลายเรามาถือ พุทฺธํ ธมฺมํ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ ก็ต้องเชื่อพระพุทธเจ้า นับถือพระพุทธเจ้าเชื่อพระพุทธเจ้า ถ้าว่า กิเลส สรณํ คจฺฉามิ ไม่บอกมันก็เป็นเองในหัวใจของเรา ไปที่ไหนมีแต่กิเลสจูงไป ธรรมะจะจูงไปมีน้อยมาก ให้เราปฏิบัติตามอรรถตามธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ยากลำบากเอายากเถอะ พระพุทธเจ้าพาผ่าน มาแล้วทั้งนั้น สลบสามหนพระพุทธเจ้า เห็นไหม เลยสลบแล้วก็ตายเท่านั้นเอง นั่นทุกข์หรือไม่ทุกข์ ก็เราลูกศิษย์ตถาคตจะคอยล้างมือเปิบเข้ากันไม่ได้นะ ต้องอุตส่าห์พยายาม

          ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ธรรมพละห้าประการนี้สำคัญมากทีเดียว อินทรีย์แปลว่าความเป็นใหญ่ อินทรีย์ห้าก็คือดังที่กล่าวมาตะกี้นี้ เรียกว่าอินทรีย์ห้าความเป็นใหญ่ในความพากเพียรทั้งหลายจะพุ่งถึงนิพพานได้ด้วยอำนาจแห่งอินทรีย์ทั้งห้านี้แหละ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา นี้ละกำลังอันใหญ่หลวงอยู่ที่นี่ ให้พากันตั้งอกตั้งใจ อย่าไปหลงโลกามิสเรื่องโลกเรื่องสงสาร มีอย่างนั้นแหละ อันนั้นมีมาอันนี้หายไปๆ ธรรมถ้ามีมาแล้วบำรุงให้ดีแล้วมีแต่จะพาให้หลุดพ้นโดยถ่ายเดียว

          ให้พากันตั้งอกตั้งใจ นานๆ จะได้มาพบกันทีหนึ่ง ผมก็ไม่ได้แนะนำสั่งสอนท่านทั้งหลาย วันนี้สอนพอเป็นแนวทาง ตั้งแต่เริ่มต้นฝึกหัดปฏบัติ จนกระทั่งอสุภะอสุภัง ข้ามถึงมรรคผลนิพพาน วิมุตติหลุดพ้นก็คือธรรมธาตุนั่นเอง สอนให้เต็มเหนี่ยวแต่สอนย่อๆ นะ เวลาไม่พอ ขอให้ดำเนินตามที่สอนนี้ไม่ผิด เราจะเป็นผู้ทรงมรรคผลนิพพาน ตลาดแห่งมรรคผลนิพพานอยู่ที่หัวใจของเราที่เต็มไปด้วยความพากเพียรนี้แหละ ให้พากันตั้งอกตั้งใจอันนี้ให้ดี

          การปฏิบัติเรื่องตัวเองให้เป็นคนดียากมันลำบากนะ ถ้าเป็นคนชั่วมันปล่อยตัวๆ ไปเลย นี่การปฏิบัติ นี่เราพูดถึงเรื่องวงกรรมฐานของเรา ท่านพาอยู่ในป่าในเขา รักใคร่ใกล้ชิดต่อป่าต่อเขาลำเนาไพร ประกอบความพากเพียรให้เป็นไป การก่อการสร้างอย่าพากันยุ่งเหยิงวุ่นวายนัก กรรมฐานเรามักจะเป็นบ้าอยู่ตอนนี้นะ ไอ้เรื่องการก่อนั้นสร้างนี้ นี้เป็นเครื่องกังวลอย่างน้อย มากกว่านั้นสั่งสมกิเลส ความเพียรทางด้านจิตใจห่างเหินๆ ไป ตกลงเลยเอาความเพียรทางด้านวัตถุเข้ามาเป็นมรรคเป็นผลไปเสีย ไปที่ไหนจึงมีแต่เรื่องแต่การก่อการสร้าง มันสร้างหาอะไร

          พระพุทธเจ้าพาสอนที่ไหน ให้สร้างหัวใจต่างหาก ศีล สมาธิ ปัญญา วิชชาวิมุตติหลุดพ้นสร้างที่หัวใจ ไม่ได้สร้างกุฏิศาลาวัดวาอาวาสให้หรูหราฟู่ฟ่าสวยงาม ตกแต่งตั้งแต่ภายนอก ภายในรกรุงรังไม่ดู อันนั้นไม่ดี อันนี้ไม่ดี ตกแต่งเท่าไรให้มันดีเท่าไรมันไม่ดีละโลก ไม่อย่างนั้นจะเรียกว่าโลกสกปรกได้ยังไง ตกแต่งเท่าไรก็กิเลสเป็นตัวสกปรก มันตกแต่งไปหาสวยงามมันก็สวยงามแบบกิเลส กิเลสว่าสวยงามขนาดไหน นั่นละในสายตาของธรรมเรียกว่าสกปรกขนาดนั้น ผิดกันอย่างนั้นละ

          เพราะงั้นเราอยู่ยังไงให้อยู่ไป อย่ายุ่งเหยิงวุ่นวายกับการก่อการสร้างนะ ไม่ดีเลย พระพุทธเจ้าไม่ทรงชมเชย เราจะเห็นได้ชัดเจนว่ามีพระเจ้าพระสงฆ์เข้ามาเฝ้าพระพุทธเจ้า พอมานั่งปั๊บเท่านั้นน่ะเป็นยังไงอยู่ในป่านั้นเขาลูกนั้นการประกอบความพากเพียรเป็นยังไงๆ มีแต่อย่างนั้นนะในคัมภีร์นะ พอมาถึงปั๊บเป็นยังไงศาลาใหญ่เสร็จแล้วรึยัง โบสถ์ใหญ่เสร็จแล้วรึยัง แล้วอันนั้นอันนี้การก่อการสร้างวุ่นวาย เหมือนหมาขี้เรื้อนเกาไม่หยุดไม่ถอย นั้นเสร็จแล้วยัง ท่านไม่ได้เห็นได้ว่านะ พวกเรามันขวนขวายไปอย่างนั้นละ

          พวกนี้พวกเกาในที่ไม่คัน หมาขี้เรื้อนเขาเกาถูกที่คันนะ เกาที่ไหนหมาขี้เรื้อนเกาแม่นยำมากนะ เกายิกๆ ตรงนั้นๆ มันคันตรงนั้น ไอ้เรานี้เกาดะๆๆ พวกเกาดะ สู้หมาขี้เรื้อนไม่ได้ ถ้าให้มันสนิทใจไปกราบหมาขี้เรื้อนเสียดีกว่า พวกเราสู้หมาไม่ได้  หมาเขาเกาถูกที่คัน พระเรานี้เกาะดะๆ เป็นบ้าการก่อการสร้างยุ่งเหยิงวุ่นวาย อันนี้เป็นเรื่องสั่งสมกิเลส เป็นเรื่องวัตถุ มันเป็นศาสนวัตถุไปแล้วนะนั่น ศาสนธรรมจริงๆ สั่งสอนเราให้ปฏิบัติอย่างที่ว่านี้ละที่สอนมาเบื้องต้น นั้นละศาสนธรรมแท้ จะทำจิตใจของเราให้เลิศเลอตรงนั้น ให้ตกแต่งตรงนั้น แก้ไขตรงนั้น ซักฟอกตรงนั้น

          อย่าไปหาตกแต่งที่อื่น แก้ไขที่อื่น ถึงวันตายก็ไม่มีอะไร เพราะกิเลสพาตกแต่ง ยุ่งเหยิงวุ่นวายไปตลอดเวลาจนกระทั่งวันตาย ตายแล้วหาหลักหาเกณฑ์ไม่ได้ คนเป็นนักก่อสร้าง นักก่อสร้างภายในจิตใจ ชำระสะสางจิตใจให้ดีนี้ โอ๋ย ยิ่งขึ้นไปโดยลำดับ อยู่ที่ไหนสบายหมด ชำระให้หมด ๆ มันขัดข้องตรงไหน มัวหมองตรงไหนจิตนี้แก้กันไป ซักฟอกกันไป จนกระทั่งสง่าขึ้นมา สง่าขึ้นมาเท่าไรยิ่งระมัดระวัง ยิ่งรักษา บำรุงได้ดีๆ สุดท้ายก็หลุดพ้นจากทุกข์ไปเลย หมด ไอ้เรื่องทุกข์ทั้งหลายไม่มีในจิตพระอรหันต์  หมด เพราะกิเลสเป็นผู้สร้างทุกข์ กิเลสสิ้นไปแล้วจะเอาทุกข์มากจากไหน

          นี่ละการแก้ไขดัดแปลงบำรุงรักษาจิตใจเป็นอย่างนี้ นี้เราไปหาตั้งแต่บำรุงรักษาแก้ไขสิ่งนั้นไม่ดีสิ่งนี้ไม่ดี แล้วยุ่งกันแต่เรื่องด้านวัตถุ มันเป็นยังไงกรรมฐานเรา มันเป็นบ้ากันหมดแล้วเหรอ เราอยากถามว่าอย่างนั้น หรือถามแล้วก็ไม่รู้นะ มันขวางหูขวางตาไปที่ไหน เรื่องการก่อการสร้างออกหน้าออกตา วัถตุสิ่งที่มาก่อสร้างนี้มันเอาเงินมาจากไหนถ้าไม่กวนชาวบ้านเขา ไปที่ไหนกวนบ้านกวนเมือง อาตมากำลังสร้างนั้นนะโยม อาตมากำลังสร้างนี้นะโยม ยังขาดเท่านั้นนะโยม ยังขาดเท่านี้

          ทีนี้พระกับโยมที่ท่านว่า ปุญฺญกฺเขตตํ ประชาชนเห็นญาติโยมที่เป็นปุญฺญกฺเขตแล้วกราบไหว้บูชาเป็นขวัญตาขวัญใจชุ่มเย็นไปทั้งวัน แต่เราไปเห็นพระนักก่อสร้างกวนบ้านกวนเมือง เป็นพระผีปอป ไปที่ไหนกวนห้ากวนสิบ มันก็ไม่อยากพบ อย่างหลวงตาบัวเป็นฆราวาสนี้จะโดดเข้าป่าเลย ไม่อยากพบพระประเภทนี้ เราเป็นพระประเภทไหน เป็นพระให้เขาอยากพบ หรือเป็นพระให้เขาวิ่งเข้าไป เอาไปถามตัวเองทุกคนนะ

          อย่าไปกังวลกับสิ่งภายนอกซึ่งเป็นเรื่องของโลก จนกระทั่งเป็นโลกล้วนๆ ไปเลย ให้พิจารณาทางด้านปัญญา มันจะดีดจะดิ้นไปไหน กิเลสอยู่ภายในจิตใจนี่น่ะ มันดิ้นที่ไหนก็รู้ว่าธรรมอยู่ที่ใจ ฟัดกันลงด้วยสติปัญญา บังคับบัญชา มันอยากไปไม่ไป ไปสิ่งที่เสียหาย เช่นมันอยากก่อสร้างนั้นก่อสร้างนี้ ไม่สร้าง จะสร้างที่จิตใจให้มีความแน่นหนามั่นคงขึ้นมา สง่างามขึ้น ทีนี้พอใจสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้วนั่นละวิมุตติหลุดพ้นแล้ว เป็นธรรมธาตุโดยสมบูรณ์แล้ว วุสิตํ พฺรหฺมจริยํ กตํ กรณียํ นาปรํ อิตฺถตฺตายาติ พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว คืองานอันใหญ่หลวงที่สุดคืองานถอดถอนกิเลสได้สิ้นสุดลงไปเรียบร้อยแล้ว งานที่ควรจะทำได้ทำเรียบร้อยแล้ว คือความพากเพียรชำระกิเลส งานอื่นที่จะทำให้ยิ่งกว่านี้ไม่มี

          นี่ท่านผู้ทรงธรรม วุสิตํ พฺรหฺมจริยํ ท่านผู้ชำระจิตใจ ท่านมีความสงบสุขร่มเย็น ท่านไม่ต้องไปแก้ไขสร้างอะไร อยู่ไปกินไปวันหนึ่ง ไปบิณฑบาตเขาได้อะไรมาไม่ค่อยได้สนใจ คือจิตมันไม่ได้ไปเกี่ยวกับโลก ธรรมอยู่ในใจพอแล้ว ยังอัตภาพให้เป็นไปวันหนึ่ง ๆ ด้วยอาหารปัจจัยเพียงเล็กน้อยพอๆ ๆ อะไรๆ ก็พอ ถ้าใจพอเสียอย่างเดียวพอไปหมดนะ ถ้าใจยุ่งเสียอย่างเดียวเอาสมบัติเงินทองข้าวของมากองท่วมเมฆมันก็หิวอยู่นั่นน่ะ ยังอยากได้มากกว่านี้ นี่กิเลสไม่มีคำว่าพอ ตัวหิวตัวโหยที่สุดคือกิเลส ให้พากันดู

          กิเลสมันอยู่กับหัวใจเรา อยู่กับหัวใจพระ อย่าพากันดีดกันดิ้น เฉพาะอย่างยิ่งการก่อการสร้างนี้เป็นสิ่งที่ตำหนิมากนะ วิ่งไปตามโลกตามสงสารเขาหมด มีแต่ด้านวัตุถ สร้างวัดสร้างวาที่ไหน โอ๋ย หรูหราฟู่ฟ่า แต่หัวใจแห้งผากด้วยศีลด้วยธรรม ฟืนไฟเต็มอยู่ในหัวใจ ไฟกิเลสไฟตัณหาเต็มหัวใจ หาความสงบสุขไม่ได้ เอาความสุขมาที่ไหนพระเราน่ะ อยู่ที่ไหนอยู่ร่มไม้อยู่เถอะน่ะ ขอให้จิตมีความสงบร่มเย็น สบายทั้งนั้น เดินไปไหนๆ มันสง่างามอยู่ภายในตัวเอง ใครเห็นใครพบที่ไหนเขาอยากกราบอยากไหว้สมเหตุสมผล เขากราบไหว้ก็เป็นบุญเป็นกุศลแก่เขาจริงๆ ไม่สงสัย ท่านเองท่านก็พอของท่านอยู่แล้ว

          นี่ละเรื่องสร้างจิตใจให้เป็นความสง่าราศีดีงาม ตลอดถึงความเลิศเลออยู่ที่ใจนะ ไม่ได้อยู่ที่วัตถุอิฐปูนหินทรายเหล็กหลาเหล่านี้ มันมีอยู่ทั่วไป อยู่ที่ไหนก็มี อดอยากอะไร แล้วใครเป็นผู้วิเศษ ทั้งๆ ที่นั่งอยู่กับอิฐกับปูนกับหินกับทรายด้วยกันทั่วบ้านทั่วเมือง มีใครเป็นผู้วิเศษไหม ไม่มี คนที่นั่งอยู่บนหัวกิเลสเอากิเลสขาดสะบั้นไป ผู้นั้นแลเป็นผู้วิเศษจากความเพียรของตน ให้ท่านทั้งหลายจำอันนี้เอาไว้นะ วันนี้ก็พูดเพียงเท่านี้ พูดไปพูดมาก็รู้สึกว่าเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า แล้วขอความสวัสดีจงมีแก่บรรดาท่านทั้งหลายโดยทั่วกันเทอญ

รับฟังรับชมพระธรรมเทศนาของหลวงตา ได้ที่

www.Luangta.com หรือ www.Luangta.or.th

และรับฟังจากสถานีวิทยุสวนแสงธรรม กรุงเทพฯ และสถานีวิทยุอุดร

FM 103.25 MHz

         

 

 

 

 

         

 


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก