พระอาจารย์เสาร์ พระอาจารย์มั่น
วันที่ 18 มีนาคม 2508
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :

ค้นหา :

เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๐๘

พระอาจารย์เสาร์ พระอาจารย์มั่น

 

สมัยพุทธกาล พระท่านชอบเที่ยวอยู่ตามป่า หาความสงัดอยู่ตลอดเวลา เมื่อได้รับพระโอวาทจากพระพุทธเจ้าแล้ว ต่างท่านก็เสาะแสวงหาที่วิเวกสงัดอันเป็นที่เหมาะสมแก่การประกอบความเพียรโดยความสะดวก กิริยาความเคลื่อนไหวภายในภายนอกของท่าน เป็นที่น่าเลื่อมใสยิ่งทุกอาการ เป็นผู้มุ่งหน้าต่อการอบรมศึกษาเพื่ออรรถเพื่อธรรม แม้จะคิดทางใจก็คิดเพื่อถอดถอนกิเลสอาสวะ จะพูดออกมาทางวาจาเกี่ยวกับการสนทนาปราศรัยซึ่งกันและกัน ก็มีสัลเลขธรรมเป็นเส้นบรรทัด เพื่อดัดกาย วาจา ใจ ให้เป็นไปตามแนวแห่งสัลเลขธรรมนั้น คำว่า สัลเลขธรรม แปลว่า ธรรมเป็นเครื่องซักฟอกกาย วาจา ใจให้สะอาดผ่องใสเป็นลำดับ รวมแล้วมีอยู่ ๑๐ ข้อด้วยกัน คือ

อัปปิจฉตา ความเป็นผู้มักน้อยในปัจจัยเครื่องอาศัยของพระ เช่นเดียวกับนกที่มีเพียงปีกกับหางของมันเท่านั้น จะบินไปมาทางไหนก็สะดวกฉะนั้น นักบวชผู้มีอัปปิจฉตาธรรมภายในใจ แม้สิ่งอาศัยจะมีมากก็ยินดีเพียงเล็กน้อย พอดีกับอัธยาศัยและเพศสมณะซึ่งเป็นเพศที่ไม่พะรุงพะรังด้วยการแบกหามและหอบหิ้ว ทั้งไม่เป็นการห่วงหน้าห่วงหลังในการไปการมาและการเก็บรักษา สมกับเป็นเพศที่อาศัยชาวโลกเป็นอยู่ โดยความเป็นผู้เลี้ยงง่ายและเป็นผู้เบากายเบาใจทั้งตนและผู้บำรุง

สันโดษ เป็นธรรมขัดเกลากิเลสรองลำดับกันลงมา คือความยินดีตามมีตามเกิดแห่งปัจจัยสี่ คือยินดีเท่าที่เกิดมี และเหมาะสมกับฐานะ และเพศของสมณะจะบริโภคใช้สอย ไม่ก่อความกังวลใส่ตนเอง และผู้ให้ความสนับสนุนให้มากไป จนเกิดความหนักใจแก่ผู้อุปถัมภ์ดูแล

อสังสัคคณิกา เป็นผู้ไม่ชอบคลุกคลี มีนิสัยชอบอยู่โดยลำพังตามกาลอันควร ไม่ชอบมั่วสุมกับหมู่ชนทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิตโดยไม่เลือกกาล ชอบปลีกตนอยู่คนเดียวเป็นปกตินิสัย ทั้งกลางวัน กลางคืน เป็นผู้ เดียวในอิริยาบถทั้งสี่ คือ ยืน เดิน นั่ง นอน ไม่ชอบคลุกคลีทั้งทางกาย และพยายามไม่ให้คลุกคลีกับอารมณ์ทั้งทางใจ ชอบฝึกตนให้อยู่โดดเดี่ยวและกล้าหาญต่อความเพียร

ปวิเวกกตา  ชอบแสวงหาความสงัดวิเวกอยู่ตลอดเวลา แสวงหาที่หลบซ่อนเพื่อความเพียรในสถานที่ไม่พลุกพล่านด้วยฝูงชน เช่น ร่มไม้ ชายเขา ในป่า ในถ้ำ เป็นต้น บำเพ็ญตนอยู่ในที่เช่นนั้น เพื่อความสงัดทางใจอันเป็นจุดสำคัญของธรรมทุกประเภทสถิตอยู่ มีความสนใจอย่างแรงกล้าในสมาธิ คือความเยือกเย็นและมั่นคงภายในใจ มีความระมัดระวังไม่ให้คลุกเคล้ากับอารมณ์ที่เคยเป็นข้าศึกต่อตน

วิริยารัมภา ปรารภความเพียรไม่ขาดวรรคขาดตอน มีความเพียรเป็นเพื่อนสอง จะก้าวไปและถอยกลับ เหลือบซ้ายมองขวา มีสติคอยระวังใจอยู่ตลอดเวลา ไม่ให้มีทางรั่วไหลเข้ามาแห่งกิเลสเครื่องโสมมต่าง การเห็น การได้ยิน และการรับสัมผัสจากสิ่งต่างๆ มีสติปัญญาคอยกลั่นกรองอยู่เสมอ มีใจมุ่งหวังต่อธรรมอย่างแรงกล้าทั้งด้านศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ และวิมุตติญาณทัสสนะ อันเป็นธรรมสุดสิ้นแห่งกิเลสอาสวะ และกองทุกข์ทั้งมวล เช่นเดียวกับน้ำไหลลงสู่ช่องเดียวย่อมมีกำลังแรงฉะนั้น

เมื่อมีข้อข้องใจเกิดขึ้นในด้านปฏิบัติ ก็เข้าเฝ้าและทูลถามสมเด็จพระผู้มีพระภาคให้ทรงเมตตาสั่งสอน พอได้รับความแจ่มแจ้งจากพระโอวาทแล้ว ก็ทูลลาเข้าหาที่สงัดวิเวกตามเดิม ประกอบความพากเพียรติดต่อสืบเนื่องกันเป็นลำดับ โดยไม่กำหนดว่ากลางวัน กลางคืน ยืน เดิน นั่ง นอน เว้นแต่หลับเท่านั้น เป็นผู้มีสติกับจิตติดต่อกับความเพียรตลอดสายไม่ขาดวรรคขาดตอน ถ้ามีข้อข้องใจเกิดขึ้นจากการภาวนา ก็เข้าไปทูลถามพระพุทธเจ้าทุกครั้งที่สงสัย ขอให้โปรดธรรมานุเคราะห์ และได้รับความเข้าใจเป็นลำดับ ศีลก็เป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์ สมาธิก็นับวันก้าวขึ้นสู่ความสงบเยือกเย็นเป็นชั้น

ปัญญาก็ทำการพิจารณาอยู่เสมอ ตามสถานที่และโอกาสอันควร มีความฉลาดรอบรู้ในเรื่องของตัวที่แสดงอยู่ภายในใจตลอดเวลา พร้อมกับสิ่งแวดล้อมที่มาเกี่ยวข้องกับใจให้เป็นความรู้สึกชนิดใดชนิดหนึ่งขึ้นมา ปัญญาจะวิพากษ์วิจารณ์ไปตามสภาพของสิ่งที่มาเกี่ยวข้องสัมผัสและสิ่งที่รับสัมผัส คือใจ ตลอดเรื่องราวที่เกิดขึ้นจากการสัมผัสนั้น ว่า จะเป็นไปในทางดีหรือชั่ว เป็นไปในทางถอดถอนหรือสั่งสมกิเลสขึ้นพอกพูนใจ สติปัญญาตามสอดส่องมองดูโดยรอบคอบ ใจที่ได้รับการระวังรักษาอยู่รอบด้าน ย่อมมีความปลอดภัยจากอารมณ์เครื่องรังควาน และนับวันเจริญก้าวหน้าขึ้นเป็นระยะ ไม่มีวันเสื่อมถอย จนมีปรีชาสามารถบรรลุมรรค ผล นิพพาน และปรากฏนามว่า สาวกอรหันต์อันเป็นสรณะที่สามของโลกขึ้นมาอย่างเปิดเผย

ทั้งนี้ โปรดสังเกตดูสถานที่อยู่และวิธีดำเนินของท่านที่เดินตามร่องรอยของพระศาสดาพาดำเนินมา สิ่งที่สำเร็จรูปขึ้นมาจึงเป็นความบริสุทธิ์เช่นเดียวกับองค์ศาสดา จิตที่ได้รับการบำรุงรักษาด้วยสติ ปัญญา ศรัทธา ความเพียรโดยถูกต้อง ย่อมจะเป็นไปเพื่อความเยือกเย็นแก่ตนเป็นลำดับ และยังจะมีอุบายวิธีแก้ไขกิเลสบาปธรรมที่เคยเป็นข้าศึกแก่ใจออกได้เป็นตอน กิเลสค่อยหมดหนทางสั่งสมตนเองเข้ามาเป็นลำดับ เพราะอำนาจของสติปัญญามีกำลังต้านทานพอ    จนสามารถหยั่งทราบฐานที่เกิดที่อยู่ของกิเลสอาสวะโดยตลอดทั่วถึง พร้อมทั้งการถอดถอนให้สิ้นสุดลงได้โดยสิ้นเชิง ไม่ว่าใจของสาวกและใจของท่านของเรามีทางเป็นไปได้ในทำนองเดียวกัน

วันนี้ได้อธิบายเรื่องของพระพุทธเจ้าและสาวก ซึ่งเป็นองค์แห่งสรณะอันประเสริฐของพวกเรา โปรดน้อมเข้ามาพิจารณาว่า เหตุใดพระพุทธเจ้ากับสาวกท่านจึงมีความแปลกต่างจากพวกเรา แปลกต่างเพราะเหตุใด ทั้งนี้เพราะข้อปฏิบัติและความสนใจ ธรรมเป็นความสม่ำเสมอ ไม่เคยลำเอียงต่อผู้ใดตลอดมาจนบัดนี้ เมื่อการปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักธรรม ผลที่จะพึงได้รับก็เป็นความเสมอภาคไปตามเหตุ เพราะเหตุกับผลในหลักธรรมของพระพุทธเจ้าไม่เคยขัดแย้งกัน ฉะนั้นจึงมีนามว่ามัชฌิมา

ครั้งพุทธกาล ท่านดำเนินถูกต้องตามหลักมัชฌิมา ผลที่ปรากฏจึงรู้สึกว่าเป็นที่เจริญใจ ทั้งท่านผู้ได้รับผล ทั้งพวกเราผู้ได้ยินได้ฟังตามประวัติของท่านตลอดมาจนถึงสมัยปัจจุบัน ท่านที่มีความสนใจต่อหลักธรรม น้อมนำเอาการดำเนินและวิธีดำเนินของท่านมาปฏิบัติ ย่อมเป็นเหมือนตามเสด็จท่านอย่างใกล้ชิดติดกับองค์ของศาสดา ท่านถึงไหนเราก็พลอยถึงนั่นไปด้วย เพราะธรรมกับศาสดาเป็นอันเดียวกัน ไม่มีการแยกแยะไว้เลย ตรงกับบทธรรมว่า ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา

สมัยปัจจุบันครูอาจารย์ที่ท่านปฏิบัติดีจนปรากฏชื่อลือนามก็มี องค์ คือพระอาจารย์เสาร์ และพระอาจารย์มั่น แต่เวลานี้ท่านมรณภาพเสียแล้ว พระอาจารย์ทั้งสององค์นี้ ปรากฏว่าเป็นผู้เด็ดเดี่ยวอาจหาญในทางความเพียรมาก จนปรากฏเป็นคติตัวอย่างแก่บรรดาศิษย์รุ่นหลังได้ถือเป็นปฏิปทาอันดีตลอดมา ท่านพระอาจารย์ทั้งสองนี้ชอบแสวงหาที่สงัดวิเวก แต่เริ่มอุปสมบทตลอดมาจนถึงวาระสุดท้ายไม่เคยลดละ ผลความดีของท่านที่บำเพ็ญมาจึงแสดงออกให้โลกได้ทราบกิตติศัพท์กิตติคุณฟุ้งขจรไปทุกหนทุกแห่ง ว่าท่านพระอาจารย์เสาร์ และท่านพระอาจารย์มั่นเป็นพระสำคัญ ทั้งด้านปฏิบัติและความรู้ภายในใจ คุณสมบัติทั้งนี้ฟุ้งขจรมาให้ประชาชนได้ยินทั่วถึงกันในสมัยปัจจุบัน

เฉพาะองค์ของท่านพระอาจารย์มั่น ตามที่ได้ไปศึกษาอบรม และอาศัยอยู่กับท่านตามกาลอันควร รู้สึกว่าปฏิปทาและความรู้ทางภายในของท่านเป็นที่น่าเลื่อมใสยิ่งนัก สมกับท่านเป็นผู้ปรากฏชื่อลือนามในที่ทั่ว ไป ในความรู้สึกที่ไปเกี่ยวข้องกับท่านว่า ไม่มีอะไรจะสงสัยว่า ท่านอาจจะยังตกค้างอยู่ในภพใดภพหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสาร เช่นเดียวกับสัตว์และสามัญชนทั่ว ไป เพราะปฏิปทาที่ท่านปฏิบัติมา และความรู้ที่เกิดจากปฏิปทานั้น ท่านไม่เคยปิดบังบรรดาศิษย์ผู้ไปอบรมศึกษาในวงใกล้ชิด ยังเมตตาเปิดเผยให้ฟังอย่างถึงใจ ไม่มีวันลบเลือนและจืดจาง ทั้งนี้เพื่อเป็นการกระตุ้นเตือนใจบรรดาศิษย์ให้มีความอิ่มเอิบในผลที่ท่านได้รับและแสดงให้ฟัง แล้วน้อมนำมาเป็นเครื่องเชิดชูใจเพื่อจะได้บำเพ็ญตามด้วยความขยันหมั่นเพียร เผื่อผลจะพึงได้รับจะเป็นอย่างท่านบ้าง หรืออย่างน้อยก็เป็นคนประเภทศิษย์มีครู

พระอาจารย์ทั้งสองนี้รู้สึกว่าท่านชอบในความสงัดวิเวกประจำนิสัย ไม่ค่อยจะไปเกี่ยวข้องกับใคร แม้กับพระท่านก็ไม่ทำความเกี่ยวข้องและสนใจเท่าไรนัก คงจะคิดว่าการสั่งสอนก็เป็นภาระหนัก และเป็นความกังวล ผู้รับฟังจะปฏิบัติตามก็คงจะเป็นความลำบาก ไม่กล้าทำตามท่านได้ แต่กิตติศัพท์กิตติคุณฟุ้งขจรออกมาจากความดีเด่นของท่านในเวลานั้น เป็นเหตุให้ทั้งพระและประชาชนมีความสนใจใคร่ต่อการอบรมศึกษากับท่านอย่างใกล้ชิด จึงต่างก็ไปอบรมศึกษาและขออยู่อาศัยกับท่าน ประกอบกับท่านผู้มีธรรมขนาดนั้นแล้วก็ย่อมปราศจากความเมตตาไม่ได้ จำต้องเมตตาสั่งสอนตามภูมิสติปัญญาความสามารถของผู้ไปศึกษาบำเพ็ญด้วย

จากนั้นมาท่านพระอาจารย์เสาร์และท่านพระอาจารย์มั่น รู้สึกจะเป็นแหล่งใหญ่ของบรรดาศิษย์ทั้งพระ และประชาชนในภาคอีสานและภาคอื่น ที่เข้าไปขออาศัยและศึกษาอบรมกับท่าน เพราะภูมิลำเนาเดิมของท่านพระอาจารย์ทั้งสองอยู่ในจังหวัดอุบลราชธานี ปรากฏว่าท่านพระอาจารย์ทั้งสองนี้มีลูกศิษย์มากมาย ทั้งนักบวชและประชาชนในภาคต่างๆ เมื่อถึงมรณกาลของท่านก็ไม่ทิ้งลวดลายของนักปฏิบัติ วาดภาพอันดีเด่นไว้แก่หู แก่ตาของบรรดาศิษย์ผู้เข้าใกล้ชิดในเวลานั้นอย่างเปิดเผย คือขณะจะมรณภาพก็เป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อยเป็นที่น่าเลื่อมใสยิ่งนัก

ท่านพระอาจารย์เสาร์พอมรณกาลจวนตัวเข้ามาจริง ท่านตั้งใจจะมรณภาพที่นครจำปาศักดิ์ ซึ่งเวลานั้นเป็นของฝรั่งเศส แต่บรรดาลูกศิษย์ทั้งพระ และประชาชนจำนวนมาก ต่างก็ขออาราธนานิมนต์ท่านให้กลับมามรณภาพที่ฝั่งไทยเรา เมื่อคณะลูกศิษย์ที่มีจำนวนมากอาราธนาวิงวอน ท่านทนไม่ไหวท่านจำต้องรับคำ การทอดอาลัยในชีวิตซึ่งปลงใจจะปล่อยวางสังขารลงที่นครจำปาศักดิ์ก็ได้ถอดถอนล้มเลิกไป จำต้องปฏิบัติตามความเห็นและเจตนาหวังดีของคนหมู่มาก ยอมรับปากคำ และเตรียมลงเรือข้ามฝั่งลำแม่น้ำโขงมาฝั่งไทยเรา พอมาถึงท่าวัดศิริอำมาตย์ จังหวัดอุบลราชธานี เขาก็อาราธนาท่านขึ้นบนแคร่ แล้วหามท่านขึ้นไปสู่วัดนั้น พอก้าวขึ้นสู่วัดและปลงท่านลงที่ลานวัดเท่านั้น เขากราบเรียนท่านว่า “บัดนี้มาถึงวัดศิริอำมาตย์ในเขตเมืองไทยเราแล้ว ท่านอาจารย์”

เวลานั้นท่านนอนหลับตาและพยายามพยุงธาตุขันธ์ของท่านมาตลอดทาง ท่านก็ลืมตาขึ้นแล้วถามว่า “ถึงสถานที่แล้วหรือ?” เขาก็กราบเรียนถวายท่านว่า “ถึงที่แล้วครับ” ท่านก็พูดขึ้นมาว่า “ถ้าเช่นนั้นจงพยุงผมลุกขึ้นนั่ง ผมจะกราบพระ” พอเขาพยุงท่านลุกขึ้นนั่งแล้ว ท่านก็ก้มกราบพระสามครั้ง พอจบครั้งที่สามแล้วเท่านั้น ท่านก็สิ้นในขณะนั้นเอง ไม่อยู่เป็นเวลานาน ขณะที่ท่านจะสิ้นก็สิ้นด้วยความสงบเรียบร้อย และมีท่าทางอันองอาจกล้าหาญต่อมรณภัย มีลักษณะเหมือนม้าอาชาไนย ไม่มีความหวั่นไหวต่อความตาย ซึ่งสัตว์โลกทั้งหลายกลัวกันยิ่งนัก แต่ท่านที่ปฏิบัติจนรู้ถึงหลักความจริงแล้ว ย่อมถือเป็นคติธรรมดาว่า มาแล้วต้องไปเกิดแล้วต้องตาย จะให้เป็นอย่างอื่นไม่ได้ เพราะสติปัญญาที่ฝึกหัดอบรมมาจากหลักธรรมทุกแขนง ก็ฝึกหัดอบรมมาเพื่อรู้ตามหลักความจริงที่มีอยู่กับตัว ก็เมื่อการไป การมา การเกิด การตาย เป็นหลักความจริงประจำตัวแล้ว ต้องยอมรับหลักการด้วยปัญญาอันเป็นหลักความจริงฝ่ายพิสูจน์เช่นเดียวกัน

เพราะฉะนั้น ท่านที่เรียนและปฏิบัติรู้ถึงขั้นนั้นแล้ว จึงไม่มีความหวั่นไหวต่อการไป การมา การเกิด การตาย การสลายพลัดพรากจากสัตว์และสังขารทั้งของท่าน และของผู้อื่น จึงสมนามว่า เรียนและปฏิบัติเพื่อสุคโต ทั้งเป็นคติตัวอย่างอันดีแก่คนรุ่นหลังตลอดมาจนบัดนี้ นี่เป็นประวัติของท่านพระอาจารย์เสาร์ ที่วาดภาพอันดีและชัดเจนไว้แก่พวกเราเพื่อยึดเป็นคติเครื่องสอนตนต่อไป ไม่อยากให้เป็นทำนองว่าเวลามามีความยิ้มแย้ม แต่เวลาไปมีความเศร้าโศก

ส่วนท่านพระอาจารย์มั่น ในเวลาต่อมาตอนท่านเริ่มป่วย จำได้แต่เพียงว่า เดือน ขึ้น ๑๔ ค่ำ .. ๒๔๙๒ เป็นวันท่านเริ่มป่วย ท่านเล่าให้ฟังตอนไปเที่ยวกลับมากราบนมัสการท่าน ท่านเริ่มป่วยคราวนี้ไม่เหมือนกับคราวใด ซึ่งแต่ก่อนเวลาท่านป่วย ถ้ามีผู้นำยาไปถวายท่าน ท่านก็ฉันให้บ้าง มาคราวนี้ท่านห้ามการฉันยาโดยประการทั้งปวง แต่ขั้นเริ่มแรกป่วย โดยให้เหตุผลว่า “การป่วยคราวนี้ไม่มีหวังได้รับประโยชน์อะไรจากยา เช่นเดียวกับต้นไม้ที่ตายยืนต้นอยู่เท่านั้น ใครจะมารดน้ำพรวนดิน ทะนุบำรุงเต็มสติกำลังความสามารถ ต้นไม้นั้นจะไม่มีวันกลับมาผลิดอกออกผลใบและแสดงผลต่อไปอีกได้เลย เพียงสักว่า ยังยืนต้นอยู่เท่านั้น ไม่แน่ว่าจะล้มลงจมดินวันใด

ธาตุขันธ์ที่แก่ชราภาพขนาดนี้แล้ว ย่อมมีลักษณะเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น หยูกยาจึงไม่เป็นผลอะไรกับโรคประเภทนี้ที่เขาเรียกว่า โรคคนแก่” ท่านว่า แม้ท่านจะห้ามยามิให้นำมาเกี่ยวข้องกับท่าน แต่ก็ทนต่อคนหมู่มากไม่ไหว คนนั้นก็จะให้ท่านฉันยานั้น คนนี้ก็จะให้ท่านฉันยานี้ คนนั้นจะฉีด คนนั้นจะให้ฉัน หนักเข้าท่านก็จำต้องปล่อยตามเรื่อง มีคนมากราบเรียนถามเรื่องยาถูกกับโรคของท่านหรือไม่ ท่านก็นิ่งไม่ตอบโดยประการทั้งปวง เมื่ออาการของท่านหนักจวนตัวเข้าจริง ท่านก็บอกกับคณะลูกศิษย์ทั้งพระและญาติโยมว่า “จะให้ผมตายในวัดป่าหนองผือนี้ไม่ได้ เพราะผมน่ะตายเพียงคนเดียว แต่ว่าสัตว์ที่ตายตามเพราะผมเป็นเหตุจะมีจำนวนมากมาย เพราะฉะนั้น ขอให้นำผมออกจากที่นี้ไปจังหวัดสกลนคร เพื่อให้อภัยแก่สัตว์ซึ่งมีจำนวนมาก อย่าให้เขาพลอยทุกข์และตายไปด้วยเลย ที่โน้นเขามีตลาดซึ่งมีการซื้อขายกันอยู่แล้ว ไม่มีทางเสียหาย ซึ่งเนื่องจากการตายของผม”

พอท่านพูดและให้เหตุผลอย่างนั้น ทุกคนต้องยอมทำตามความเห็นของท่าน จึงเตรียมแคร่ที่นอนมาถวาย และอาราธนานิมนต์ท่านขึ้นนอนบนแคร่ แล้วพร้อมกันหามท่านออกไปในวันรุ่งขึ้น พอมาถึงวัดป่าบ้านภู่ อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนครแล้ว ก็พาท่านพักแรมคืนอยู่ที่นั้นหลายคืน ท่านก็คอยเตือนเสมอว่า “ทำไมพาผมมาพักค้างคืนที่นี่ล่ะ ผมเคยบอกแล้วว่าจะไปจังหวัดสกลนคร ก็ที่นี่ไม่ใช่สกลนคร” ท่านว่า เมื่อจวนตัวเข้าจริง ในสามคืนสุดท้าย ท่านไม่ค่อยจะพักนอน แต่คอยเตือนให้รีบพาท่านไปสกลนครเสมอ เฉพาะคืนสุดท้าย ไม่เพียงแต่ไม่หลับนอนเท่านั้น ยังต้องบังคับว่า “ให้รีบพาผมไปสกลนครในคืนวันนี้จงได้ อย่าขืนเอาผมไว้ที่นี่เป็นอันขาด” ท่านพูดย้ำแล้วย้ำเล่าอยู่ทำนองนั้น แม้ที่สุดท่านจะนั่งภาวนา ท่านก็สั่งว่า “ให้หันหน้าผมไปทางจังหวัดสกลนคร”

ที่ท่านสั่งเช่นนั้นเข้าใจว่าเพื่อให้เป็นปัญหาอันสำคัญแก่คณะลูกศิษย์ จะได้ขบคิดถึงคำพูดและอาการที่ท่านทำอย่างนั้นว่า มีความหมายแค่ไหนและอย่างไรบ้าง พอตื่นเช้าจะเป็นเพราะเหตุไรก็สันนิษฐานยาก เผอิญชาวจังหวัดสกลนครซึ่งเป็นลูกศิษย์ของท่าน พร้อมกันเอารถยนต์มารับท่าน คัน แล้วอาราธนานิมนต์ให้ท่านไปจังหวัดสกลนคร ท่านก็เมตตารับทันที เพราะท่านเตรียมจะไปอยู่แล้ว ก่อนจะขึ้นรถยนต์ หมอได้ไปฉีดยานอนหลับให้ท่าน จากนั้นท่านก็นอนหลับไปตลอดทางจนถึงวัดสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร เวลา .๐๐ . ท่านก็เริ่มตื่น พอตื่นจากหลับแล้ว จากนั้นท่านก็เริ่มทำหน้าที่เตรียมลา ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา ขันธ์ห้าเป็นภาระหนัก จะมรณภาพ จนถึง .๒๓ นาฬิกาก็เป็นวาระสุดท้าย

ก่อนหน้านี้ประมาณสองชั่วโมงเศษ ท่านนอนท่าตะแคงข้างขวา แต่เห็นว่าท่านจะเหนื่อยมากเพราะนอนท่านี้มานาน จึงพากันเอาหมอนที่หนุนอยู่หลังท่านถอยออก เลยกลายเป็นท่านอนหงายไป พอท่านทราบก็พยายามขยับตัวหมุนกลับ จะนอนท่าตะแคงข้างขวาตามเดิม พระเถระผู้ใหญ่ซึ่งเป็นศิษย์ของท่านก็พยายามเอาหมอนหนุนหลังท่านเข้าไปอีก ท่านเองก็พยายามขยับๆ เช่นเดียวกัน เมื่อเห็นอาการของท่านอ่อนเพลียมาก และหมดเรี่ยวแรงก็เลยหยุดไว้แค่นั้น ดังนั้นการนอนของท่านจะว่านอนหงายก็ไม่ใช่ จะว่านอนตะแคงข้างขวาก็ไม่เชิง เป็นอาการเพียงเอียงๆ อยู่เท่านั้น ทั้งเวลาของท่านก็จวนเข้ามาทุกที บรรดาศิษย์ก็ไม่กล้าแตะต้องกายท่านอีก จึงปล่อยท่านไว้ตามสภาพ คือท่านนอนท่าเอียง จนถึงเวลา ซึ่งเป็นความสงบอยู่ตลอดเวลา

ในวาระสุดท้ายนี้ต่างก็นั่งสังเกตลมหายใจของท่านแบบตาไม่กะพริบไปตาม กัน การนั่งของพระที่มีจำนวนมากในเวลานั้นต้องนั่งเป็นสองชั้น คือชั้นใกล้ชิดกับท่าน และชั้นถัดกันออกมา ชั้นในก็มีพระผู้ใหญ่มีท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์เป็นต้น ชั้นนอกก็เป็นพระที่มีพรรษาน้อย แล้วถัดกันออกไปก็เป็นพระนวกะและสามเณร บรรดาพระทั้งพระเถระและรองลำดับกันลงมาจนถึงสามเณร ในขณะนั้นรู้สึกจะแสดงความหมดหวังและหมดกำลังใจไปตาม กัน แต่ไม่มีใครกล้าปริปากออกมา นอกจากมีแต่อาการที่เต็มไปด้วยความหมดหวังและความเศร้าสลดเท่านั้น เพราะร่มโพธิ์ใหญ่มีใบหนาซึ่งเคยเป็นที่อาศัยและร่มเย็นอย่างยิ่งมาเป็นเวลานาน กำลังถูกพายุจากมรณภัยคุกคามจะหักโค่นพินาศใหญ่ขณะนั้นอยู่แล้ว การทำหน้าที่ของท่านก็กำลังเป็นไปแบบมองดูแล้วหลับตาไม่ลง ทั้งท่านผู้อื่นและเรา

ขณะที่ท่านจะสิ้นลมจริง รู้สึกว่าอาการทุกส่วนของท่านอยู่ในความสงบและละเอียดมาก จนไม่มีใครจะสามารถทราบได้ว่า ท่านสิ้นลมไปในขณะใดนาทีใด เนื่องจากลมหายใจของท่านละเอียดเข้าเป็นลำดับ จนไม่ปรากฏว่าท่านสิ้นไปเมื่อไร เพราะไม่มีอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งแสดงอาการในวาระสุดท้ายพอให้ทราบได้ว่า ท่านสิ้นไปในวินาทีนั้น แม้จะพากันนั่งสังเกตอยู่เป็นเวลานาน ก็ไม่มีใครรู้ขณะสุดท้ายของท่าน ท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ซึ่งเป็นประธานอยู่ในที่นั้นเห็นท่าไม่ได้การ จึงพูดขึ้นว่า “นี่ไม่ใช่ท่านสิ้นไปแล้วหรือ” จากนั้นท่านก็ดูนาฬิกาเป็นเวลา .๒๓ . จึงได้ยึดเอาเวลานั้นเป็นเวลามรณภาพของท่าน

เรื่องที่พรรณนามาทั้งนี้เป็นเรื่องที่น่าเคารพเลื่อมใสอย่างยิ่ง ในชีวิตนี้ก็ปรากฏมีครั้งเดียวเท่านั้น ที่ได้เห็นอาการความสงบเรียบร้อยของท่านผู้ปฏิบัติดี และทำการสั่งสอนบรรดาศิษย์จากความรู้จริงเห็นจริงของท่าน มรณภาพให้ดูด้วยความสงบเรียบร้อยอย่างเต็มหูเต็มตา แม้ก่อนหน้าที่ท่านจะมรณภาพมาเป็นเวลา ปี ก็เคยพูดล่วงหน้าไว้เสมอในที่ประชุมสงฆ์วันอุโบสถบ้าง วันประชุมธรรมตามปกติบ้าง โดยให้อุบายสั่งสอนศิษย์ไม่ให้นิ่งนอนใจว่า “ใครจะตั้งใจปฏิบัติบำเพ็ญก็จงรีบเร่งอย่านอนใจ เวลาที่ผมยังมีชีวิตอยู่ ถ้าใครมีข้อข้องใจเกิดขึ้นจะได้ช่วยแก้ไขกันให้ทันท่วงที ผมจะมีชีวิตต่อไปอีกไม่นาน อย่างไรก็ไม่เลย ๘๐ ปีนะ ทุก ท่านจงทราบเสียว่า ร่างกายนี้ไม่เคยเชื่อฟัง และอยู่ใต้อำนาจของผู้ใดทั้งนั้น เมื่อถึงเวลาแล้วต้องตายด้วยกันทุกราย

เฉพาะร่างกายปัจจุบันนี้ก็ไม่น่ากลัวอะไร เพราะเรามองเห็นและรู้กันอย่างเต็มใจอยู่แล้วว่า ร่างกายนี้เป็นร่างของมนุษย์ ไม่เป็นอย่างอื่นในอัตภาพนี้ และไม่ค่อยจะมีสิ่งเบียดเบียนและทำลายมากนัก นอกจากโรคภัยและความชรา ความตายซึ่งเป็นของธรรมดาประจำขันธ์ แต่กลัวภพหน้าชาติหน้านั่นซิ ไม่ทราบว่าจะมาท่าไหน เพราะจิตที่จะไปสวมร่างต่าง นั้น เป็นจิตที่ยังมิได้รับความแน่นอนพอจะเชื่อตนเองได้ จิตอาจจะไปสวมร่างเปรต ร่างผี ร่างสัตว์นรก หรือร่างสัตว์ดิรัจฉาน อันมีประเภทต่าง จนนับไม่ถ้วนเข้าก็ได้ นั่นซิ เป็นร่างที่น่ากลัวมาก ถ้าไม่รีบเร่งดัดแปลงให้ถูกร่องรอยเสียแต่บัดนี้ ตายไปแล้วไม่มีโรงหรือสถานที่ดัดแปลงจิตใจ และร่างกายให้เข้าถูกทางได้นะ

จิตเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในคนๆ หนึ่ง พวกท่านเรียนปฏิบัติธรรม ไม่เรียนและปฏิบัติต่อจิตจะหวังเอาความดีจากอะไร ธรรมของพระพุทธเจ้าท่านสอนจิตทั้งนั้น ถ้าจิตดีแล้วอาการอื่นซึ่งเป็นเครื่องใช้ของจิตก็ค่อยไปตามจิต ไม่มีอาการใดจะมีอำนาจฝืนจิตไปได้ การเกิดการตายก็คือการท่องเที่ยวของจิตทั้งนั้น  ถ้าพวกท่านไม่เข้าใจเรื่องจิตคือนักท่องเที่ยว จะจัดว่าเข้าใจธรรมได้อย่างไร” นี่ท่านสอนพระในที่ประชุมท่านสอนอย่างนี้

การกล่าวมาทั้งนี้ จึงขออภัยจากท่านผู้ฟังผู้อ่านมาก เพราะผู้แสดงไม่แน่ใจ อาจจะเป็นการโอ้อวดครูอาจารย์ไปบ้างก็ได้ ถ้าส่วนใดรู้สึกขัดข้องไม่สบายใจกรุณาผ่านไป หาเลือกเอาส่วนที่เห็นว่าจะเป็นคุณแก่ตนและผู้อื่น ถ้าไม่นำเรื่องของท่านมาแสดงแก่ท่านผู้ฟังก็ไม่ทราบจะนำเรื่องอะไรมาแสดง เพราะเรื่องส่วนตัวไม่มีความดีพอจะนำมาแสดงให้เป็นมงคลแก่ท่านผู้ฟังผู้อ่านได้ จึงรู้สึกจนใจอย่างจะเรียนอะไรไม่ถูก ต่อจากนี้ก็ยังจะมีเรื่องของท่านพระอาจารย์ทั้งสองแทรกลงอีก เพราะยังไม่จบเรื่องในสำนวนที่แสดงกัณฑ์นี้

เวลาท่านพระอาจารย์เสาร์และท่านพระอาจารย์มั่นมรณภาพแล้ว ก็ยังแสดงความแปลกประหลาดไว้ในอัฐิของท่านพระอาจารย์ทั้งสองอีกวาระหนึ่ง คืออัฐิของท่านพระอาจารย์เสาร์ก็ดี ของท่านพระอาจารย์มั่นก็ดี ที่ถูกเผาจนเป็นเถ้าถ่านไปแล้ว ยังเหลือเพียงชิ้นเล็กชิ้นน้อย เมื่อพระและประชาชนผู้เลื่อมใสในท่านได้รับแจกอัฐิของท่าน นำไปเป็นที่เคารพบูชาและเก็บไว้ในสถานที่ต่าง ได้กลายเป็นพระธาตุขึ้นมา เช่นเดียวกับพระธาตุของพระอรหันต์ในครั้งโน้น คือแปรรูปจากอัฐิขึ้นมาเป็นเม็ด คล้ายกับเม็ดข้าวโพด ทั้งขนาดและลักษณะเกลี้ยงเกลา  คล้ายคลึงกับเม็ดข้าวโพดเป็นส่วนมาก  หากจะเล็กหรือโตกว่าก็ไม่มีจำนวนมากนัก และยังมีการขยายตัวจากเม็ดเล็ก ขึ้นไปถึงขนาดเม็ดข้าวโพด

ทั้งนี้เราจะทราบได้ตอนเก็บรักษาไว้นาน จะเป็นเพราะเหตุใดก็สันนิษฐานยากอยู่ เมื่อได้เห็นอัฐิของท่านกลายเป็นพระธาตุเช่นนั้น ก็ยิ่งแสดงเป็นสักขีพยานให้เห็นชัดในวาระสุดท้ายมากขึ้น จากการได้รับโอวาทของท่านมาอย่างถึงจิตถึงใจแล้ว นับว่าได้เห็นความแปลกประหลาดและอัศจรรย์จากท่านพระอาจารย์มั่น ๓ กาล คือกาลที่ท่านยังมีชีวิตอยู่สั่งสอนธรรมเป็นของอัศจรรย์ กาลมรณภาพของท่านเป็นของอัศจรรย์ และวาระสุดท้ายได้เห็นอัฐิของท่านกลายเป็นพระธาตุอย่างอัศจรรย์ทั้งสามกาล

ปัญหาเรื่องอัฐิของท่านพระอาจารย์มั่น ท่านพระอาจารย์เสาร์ กลายเป็นพระธาตุ รู้สึกจะกระจายไปแทบทุกหนทุกแห่ง บางท่านก็เกิดข้องใจสงสัยมาถามก็มีว่า อัฐิของพระอรหันต์ก็ดี ของสามัญชนก็ดี ต่างก็เป็นอัฐิของธาตุดินในธาตุสี่เช่นเดียวกัน เหตุใดอัฐิของสามัญชนจึงไม่กลายเป็นพระธาตุได้ ส่วนอัฐิของพระอรหันต์เหตุใดจึงกลายเป็นพระธาตุได้ ทั้งสองนี้มีความแตกต่างกันอย่างไรบ้าง ก็ได้เรียนให้ท่านผู้ถามทราบเพียงย่อ ตามกำลังว่า เรื่องอัฐินี้ปัญหาส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับใจเป็นของสำคัญกว่าอัฐิ คำว่า จิต แม้จะเป็นจิตเช่นเดียวกันก็ตาม แต่จิตอำนาจและคุณสมบัติต่างกัน คือจิตของพระอรหันต์เป็นอริยจิต เป็นจิตที่บริสุทธิ์ จิตของสามัญชนเป็นสามัญจิต เป็นจิตที่มีกิเลสโสมม เมื่อจิตผู้เป็นเจ้าของเข้าครองอยู่ในร่างใด และจิตเป็นจิตประเภทใด ร่างนั้นอาจจะกลายไปตามสภาพของจิตที่เป็นเจ้าเรือนพาให้เป็นไป

เช่นจิตอรหันต์เป็นจิตที่บริสุทธิ์ อาจจะมีอำนาจซักฟอกธาตุขันธ์ให้เป็นธาตุที่บริสุทธิ์ไปตามส่วนของตน ฉะนั้นอัฐิของพระอรหันต์จึงกลายเป็นพระธาตุได้ แต่อัฐิของสามัญชนแม้จะเป็นธาตุดินเช่นเดียวกัน ส่วนจิตผู้เป็นเจ้าของเต็มไปด้วยกิเลส ไม่มีอำนาจซักฟอกธาตุขันธ์ให้เป็นของบริสุทธิ์ไปตามส่วนของตนได้ อัฐิจะกลายเป็นธาตุที่บริสุทธิ์ได้อย่างไร ก็ต้องเป็นสามัญธาตุไปตามจิตของคนมีกิเลสอยู่ดี หรือจะเรียกไปตามภูมิของจิต ภูมิของธาตุว่าอริยจิต อริยธาตุ และสามัญจิต สามัญธาตุก็คงจะได้ เพราะคุณสมบัติของจิตของธาตุระหว่างพระอรหันต์กับสามัญชนต่างกัน อัฐิจำต้องต่างกันอยู่โดยดี

วันนี้ได้อธิบายประวัติของพระพุทธเจ้าและสาวกที่ท่านปฏิบัติ และรู้ธรรมแบบอัศจรรย์กว่าการรู้ทั่ว ไปของสามัญชน ตลอดครูอาจารย์ที่ท่านพยายามดำเนินตามแนวของพระพุทธเจ้าและสาวกที่ได้พาดำเนินมา จึงปรากฏเป็นที่เลื่องลือระบือไปทุกหนทุกแห่ง มีกิตติศัพท์กิตติคุณฟุ้งขจรไปทั่วทิศ ให้คนทั้งหลายได้เห็นได้ยินเป็นขวัญหูขวัญตา เป็นที่ซาบซึ้งถึงใจ เกิดความเชื่อเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา มีแก่ใจที่จะปฏิบัติตนให้เป็นไปตามหลักธรรมของพระพุทธเจ้า ชื่อว่าท่านผู้ดีปรากฏขึ้นในโลก แม้จะเพียงจำนวนน้อยแต่ก็สามารถทำประโยชน์ให้แก่โลกได้มากมายและกว้างขวาง เช่น พระพุทธเจ้าของเราเบื้องต้นก็เป็นพระพุทธเจ้าเพียงองค์เดียว เป็นคนศักดิ์สิทธิ์วิเศษเพียงพระองค์เดียว แต่ก็ทรงสามารถเสกสรรคนธรรมดา ให้กลายเป็นคนศักดิ์สิทธิ์วิเศษตามขึ้นมาเป็นลำดับนับจำนวนไม่น้อย

นอกจากนั้นยังคงสั่งสอนประชาชนพลเมือง ให้กลายเป็นพลเมืองดีถึงพระไตรสรณาคมน์ได้อีกมากมาย รู้จักบาปบุญคุณโทษ มีสุคติเป็นที่หวัง แม้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ ก็สมบูรณ์ด้วยมนุษย์สมบัติ ยิ่งกว่านั้นก็เป็นสวรรค์สมบัติ เมื่อบารมีสมบูรณ์เพราะอำนาจการบำเพ็ญไม่ลดละ ก็สามารถบรรลุถึงนิพพานสมบัติ ทั้งนี้เป็นผลไปจากการเสกสรรแห่งพระธรรมของพระพุทธเจ้าทั้งนั้น

ดังนั้น โปรดทำความสนใจต่อธรรมอันเป็นเหมือนเรือใหญ่ขี่ข้ามมหาสมุทรทะเลหลวง จะเป็นคนมีสุคโต ไปภพหน้าก็สมหวัง ย้อนกลับมาเกิดในภพหลังก็สบายใจตลอดเวลา โดยนัยแห่งธรรมที่แสดงมาก็สมควรแก่เวลา จึงขอยุติเพียงเท่านี้ เอวํ

 

www.Luangta.com or www.Luangta.or.th

 


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก