พระวินัยรั้วกั้นทางจิตใจ
วันที่ 6 สิงหาคม 2545
สถานที่ : สวนแสงธรรม

ค้นหา :

เทศน์อบรมคณะพระกรรมฐาน ณ สวนแสงธรรม
เมื่อวันที่ ๖ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๔๕ (บ่าย)

พระวินัยรั้วกั้นทางจิตใจ

วันนี้ก็เป็นวันอุดมมงคลวันหนึ่งในสังฆมณฑลแห่งสวนแสงธรรมวันนี้ เพราะบรรดาพระลูกพระหลานที่ตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติตนเพื่ออรรถเพื่อธรรม ได้อุตส่าห์ด้นดั้นมาจากที่ต่าง ๆ มารวมสถานที่นี้มีจำนวนมาก มีความมุ่งหน้ามุ่งตาที่จะทำความเคารพ เช่น การทำวัตรเมื่อสักครู่นี้ แล้วจากนั้นก็จะได้ยินได้ฟังอรรถธรรม ซึ่งนาน ๆ เราจะได้พบกันสักครั้งหนึ่ง ๆ ในบรรดาพระสงฆ์ซึ่งปฏิบัติธรรมอยู่ในที่ต่าง ๆ

วันนี้ก็เป็นโอกาสอันดีที่พระลูกพระหลานทั้งหลายมาสู่สถานที่นี่ เพื่อฟังอรรถฟังธรรมการดำเนิน และการแสดงธรรมวันนี้จะแสดงธรรมทางด้านปฏิบัติ คือปฏิปทาของพระในครั้งพุทธกาลเป็นต้นมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้ ให้บรรดาพระลูกพระหลานทั้งหลายได้ยินได้ฟังบ้าง ในฐานะที่หลวงตาก็ศึกษาเล่าเรียนมาพอประมาณ การออกประพฤติปฏิบัติ อันดับที่สองจากปริยัติที่เรียนมาแล้วก็ไปปฏิบัติ จะว่าพอประมาณก็ไม่สนิทใจ

ถ้าว่าการปฏิบัติของเรานี้แทบเป็นแทบตายตลอดมาอย่างนี้ จะสนิทใจกับการดำเนินของเราเพื่ออรรถเพื่อธรรม เพื่อมรรคผลนิพพานตามทางของศาสดา เพราะพระพุทธเจ้าท่านเสด็จออกทรงผนวช มีตั้งแต่เรื่องเด็ดเดี่ยวเฉียบขาดตลอดเวลา จึงผ่านพ้นจากขวากจากหนามมาได้ ได้ทรงบำเพ็ญพระองค์ถึง ๖ ปี ในระยะนั้นก็ถึงขั้นสลบไสล ดังที่เราทั้งหลายทราบมาแล้ว ไม่เป็นที่สงสัย นี่คือความทุกข์ ความตะเกียกตะกายของศาสดาซึ่งเป็นต้นฉบับของเราซึ่งเป็นลูกแห่งชาวพุทธ ซึ่งควรจะดำเนินตามท่าน

พระองค์ทรงบำเพ็ญมาเป็นเวลา ๖ ปี หาความสะดวกสบายไม่ได้เลย เพราะกษัตริย์เสด็จออกทรงผนวช ก็เหมือนกันกับเทวบุตรเทวดาตกจากสวรรค์ชั้นพรหมลงมาสู่แดนนรกนั้นแล พระองค์ทรงเป็นศาสดาเสด็จออกทรงผนวช เวลาที่เป็นกษัตริย์ ความสุข ความสำราญบานพระทัยตามที่พระองค์ทรงบำเพ็ญมาเพื่อประชาชนทั้งหลายนั้น โลกทั้งหลายเขายอมรับและเคารพนับถือท่าน กราบไหว้บูชาท่าน ตามภาษาของเราก็เป็นที่พอพระทัย

แม้เช่นนั้นก็ยังไม่จุพระทัย เมื่อระลึกถึงสิ่งที่เลิศเลอคือธรรมที่จะพาให้พระองค์หลุดพ้นจากทุกข์ จึงต้องทรงคำนึงคำนวณ แล้วเสด็จออก เรียกว่าอย่างเฉียบขาดไปเลย พระองค์ทรงเริ่มเด็ดเดี่ยวเฉียบขาดมาตั้งแต่ขณะที่เสด็จออกจากพระราชวัง ในขณะที่จะเสด็จออกทรงผนวชนั้น พระธรรมก็เตือนถึงสี่หนมาแล้ว นี่จะยกมาย่อ ๆ เพราะท่านทั้งหลายได้ศึกษามามากพอสมควรแล้ว ยกมาพอเป็นแนวทางแห่งธรรมที่จะก้าวเดินต่อไปของศาสดาของเรา ท่านเสด็จออก เรียกว่าชมพระนครก็ไม่ผิด

พอเสด็จออกไปวันแรกก็ไปพบคนแก่ ก็เป็นธรรมเทศนาพร่ำสอน พบเด็กเกิดใหม่ก็ทรงสะดุดพระทัยให้คิดถึงเรื่องความเกิดของเด็ก แล้วสัตว์ทั่วโลกเกิดเป็นอย่างไรบ้าง ก็เหมือนเด็กที่ทรงพบเห็นอยู่ในเวลานั้น ไม่รู้ภาษีภาษาอะไร ดิ้นดีดเหมือนตัวบุ้งตัวหนอน แต่เต็มไปด้วยกองทุกข์ในร่างกายของเด็กนั้น พระองค์เสด็จกลับมาพินิจพิจารณาพร่ำสอนพระองค์เอง

วันที่สองเสด็จไปอีกก็ไปพบคนแก่ คนแก่แต่ก่อนก็มีอยู่แล้วเต็มบ้านเต็มเมือง เรียกว่าเต็มโลกเต็มสงสาร แต่คนแก่ทั้งหลายเหล่านั้นยังไม่มาสะเทือนพระทัยเหมือนคนแก่ที่พระองค์ได้ทรงประสบในเวลานั้น ถึงกับสะดุดพระทัยนำมาพิจารณาถึงเรื่องความแก่ ความแก่นี้เป็นความล้มลุกคลุกคลาน เต็มไปด้วยความทุกข์ความทรมาน ในอิริยาบถต่าง ๆ หาความสุขไม่ได้เลย เพราะอำนาจแห่งความเฒ่าความแก่ เป็นวันที่สอง เมื่อสะดุดพระทัยแล้วก็เสด็จกลับ ทรงนำเรื่องราวแห่งความเกิดของเด็กและความแก่ของสัตว์โลกทั่ว ๆ ไป โดยมีคนแก่วันนั้นเป็นต้นเหตุมาพิจารณา

วันที่สามไปพบคนตาย เมื่อพบคนตาย เรื่องความตายนี้ก็เคยตายมากี่กัปกี่กัลป์แล้วในบรรดาสัตว์โลกทั่ว ๆ ไป พระองค์ก็ไม่ได้ทรงคิดนึกตรึกตรองอะไรมากนักยิ่งกว่าวันไปทรงประสบเห็นคนตายในขณะที่เสด็จเยี่ยมพระนครนั้น ก็เป็นธรรมเทศนาเตือนพระองค์ แล้วก็เสด็จกลับไปในพระราชวัง นำธรรมเหล่านี้ไปพินิจพิจารณาด้วยความเป็นธรรมล้วน ๆ

พอวันคำรบสี่ก็เสด็จไปอีก แล้วไปพบสมณะ คือท่านผู้บำเพ็ญศีลธรรม สงบกาย วาจา ใจของตน ทำภาวนาหรือทำความสงบที่เป็นที่สวยงามตาเย็นใจนั้นแหละในขณะที่พระองค์ทรงพบเห็น ก็ถามสารถีมาเป็นลำดับลำดาตั้งแต่เด็กเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตาย แล้วมาถามถึงเรื่องสมณพราหมณ์ ราชรถก็ทูลพระองค์ว่า นี่คือท่านผู้บำเพ็ญศีลธรรมเพื่อความสงบกาย วาจา ใจจากบาปจากกรรมทั้งหลาย และอยู่เป็นความสงบเย็นใจ นี่คือเพศที่เหมาะสม เป็นเพศที่ละความชั่ว ประกอบคุณงามความดี

พระองค์ทรงสะดุดพระทัยแล้วเสด็จกลับ ได้นำธรรม ๔ กัณฑ์ใหญ่ ๆ นี้มาพินิจพิจารณา วันสุดท้ายก็ได้ทรงตัดสินพระทัย เพราะธรรมเทศนา ๔ กัณฑ์นี้เป็นกัณฑ์ใหญ่โตมาก สามารถที่จะยกพระองค์ให้หลุดพ้นจากความเป็นสัตว์เป็นบุคคลดังที่เคยเป็นมาเหมือนสัตว์โลกทั่ว ๆ ไปเสียได้ จะนำพระองค์ให้หลุดพ้นจากกองทุกข์ทั้งหลายได้ด้วยการเสด็จออกทรงผนวช การอยู่เกลื่อนกล่นวุ่นวายกับโลกกับสงสารนี้ ทั้งเขาทั้งเราเรื่องความทุกข์มันมีพอ ๆ กัน ไม่มีใครมีน้ำหนักมากน้อยแห่งความสุขความทุกข์ต่างกันเลย บรรดาที่สัตว์โลกซึ่งมีกิเลสที่เป็นเจ้าอำนาจครอบครองหัวใจ ย่อมบีบบี้สีไฟให้ได้รับความทุกข์ในแง่ต่าง ๆ กันอย่างนี้เสมอมา แล้วถ้ายังจะนอนใจอยู่อีกก็จะเป็นความทุกข์ความทรมานแก่ทั้งสัตว์ทั้งบุคคลและตัวของเราเองตลอดไปไม่มีที่สิ้นสุด การออกบวชเพื่อสงบสิ่งเหล่านี้ได้นั้นเป็นความดี และเป็นความชอบธรรมอย่างมาก จึงสนพระทัยในการที่จะเสด็จออกบวชให้หนักเข้าโดยลำดับ

จนถึงในคืนวันที่จะเสด็จออกทรงผนวช ทุกสิ่งทุกอย่างก็ปรากฏเป็นเทวบันดาลมาเสียทั้งนั้น ในพระราชวังซึ่งเต็มไปด้วยนางขับกล่อมบำรุงบำเรอ ให้พระองค์ได้รับความสุขความสำราญบานพระทัย แต่ในคืนวันนั้นตอนดึกสงัดปรากฏว่าเงียบไปหมด พระองค์ได้เสด็จออกมาดูบรรดาพวกขับกล่อมบำรุงบำเรอทั้งหลายนั้น กลายเป็นป่าช้าผีดิบขึ้นมาประจักษ์พระทัยของพระองค์

คือทุกวัน ๆ ที่ผ่านมาเป็นความรื่นเริงบันเทิงให้สนุกสนานสำราญพระทัย แต่วันนั้นกลายเป็นป่าช้าผีดิบไปเสียทั้งหมด คือพวกนางขับกล่อมบำรุงบำเรอละเมอเพ้อฝัน ทิ้งเนื้อทิ้งตัว หลับเกลื่อนอยู่เหมือนกับป่าช้าผีดิบในพระราชวังนั้น พระองค์ทรงทอดพระเนตรแล้วมีความสลดพระทัยเป็นอย่างยิ่ง หลับก็หลับครอก ๆ แครก ๆ ทิ้งเนื้อทิ้งตัว ท่านก็ทรงพิจารณา ที่ทิ้งเนื้อทิ้งตัวนั้นเป็นเหมือนกับคนที่จะตายทุรนทุราย ไม่ได้สติสตัง ผู้หลับครอก ๆ ก็เหมือนกับผู้ที่คอยลมหายใจจะขาด ผู้ที่หลับนอนนิ่งก็ประหนึ่งว่าผู้ตายไปแล้ว ผู้ที่กำลังละเมอเพ้อฝันอยู่ก็เหมือนอย่างว่าดีดดิ้นกำลังจะตาย

พระองค์ทรงพิจารณาเห็นเหตุผลกลไกอย่างนี้แล้วทนไม่ไหว ตัดสินพระทัยเสด็จออกทรงผนวชในคืนวันนั้น แต่ก็ทรงเป็นห่วงพระราหุลที่เป็นพระราชกุมาร ก่อนจะเสด็จก็อยากจะได้ชมพระราหุล พระราชกุมารก่อน พอคิดถึงอย่างนี้แล้วพระบารมีก็สะเทือนใจ เตือนพระทัยเข้ามาว่า เมื่อเสด็จเข้าไปชมพระราหุลแล้ว แม่กับลูกนอนกอดกันอยู่ในหัวอกแม่ พอเข้าไปเยี่ยมลูก แม่ก็จะตื่นนอน แม่ก็จะพันคอเอาแล้วก็จะไปไม่ได้ พระองค์ทรงตัดสินพระทัยด้วยความแสนรักแสนอาลัยต่อพระราชโอรส เลยตัดสินพระทัยไม่เข้าไป เพราะเข้าไปก็จะเป็นข้าศึกเกี่ยวกับพระชายานั้นแล จึงเสด็จออกทรงผนวช มีฉันนะอำมาตย์เป็นผู้พาก้าวเดินออกจากพระราชวัง ทรงม้ากัณฐกะสีขาว พอออกมาถึงประตูพระราชวัง ประตูพระราชวังปรกติจะมีตำรวจทหารกี่ชั้นรักษาอยู่นั้น แต่วันนั้นเผอิญเปิดไปหมดประตู ประหนึ่งว่าไม่มีใครอยู่ที่นั่น ประตูเปิดเสด็จออกอย่างสะดวกสบาย

ทีนี้สรุปความว่าไปถึงสถานที่ที่บำเพ็ญ รับสั่งฉันนะอำมาตย์ให้กลับพระราชวัง ม้ากัณฐกะมีความเสียอกเสียใจ เรียกว่าอกแตกตายในเวลานั้นเลย พระองค์ก็เป็นอันว่าบำเพ็ญต่อไปด้วยความลำบากลำบน นี้คือมหากษัตริย์เสด็จออกจากราชวัง เหมือนกับเทวบุตรเทวดาตกจากสวรรค์ลงสู่นรก คือเข้าสู่สถานที่บำเพ็ญเพื่อการฝึกฝนทรมานพระองค์เต็มเม็ดเต็มหน่วย ถึงขนาดที่ว่าได้สลบไสลไปถึงสามครั้ง นี่ต้นแห่งพระพุทธศาสนาของเรา มาถึงขั้นสลบไสลแล้วก็ทรงเปลี่ยนวิธีการบำเพ็ญในคืนวันเดือนหกเพ็ญก็ทรงบำเพ็ญอานาปานสติ ลมหายใจเข้าออก เพราะทรงพิจารณาย้อนหลังในคราวที่เป็นพระราชกุมารที่ตามเสด็จพระราชบิดาไปแรกนาขวัญ ได้ทรงบำเพ็ญอยู่ที่ร่มหว้าใหญ่ เกิดความแปลกประหลาดอัศจรรย์ ในคราวที่เป็นพระโอรสอยู่นั้น

จึงทรงเอาอารมณ์อันนั้นมาพิจารณาในคืนวันเดือนหกเพ็ญ พระองค์ก็ทรงบำเพ็ญในคืนเดือนหกเพ็ญด้วยอานาปานสติ เบื้องต้นในปฐมยามได้สำเร็จหรือบรรลุปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ทรงระลึกชาติของพระองค์ย้อนหลังได้ไม่มีประมาณมากต่อมาก ซึ่งล้วนแล้วตั้งแต่เป็นชาติที่คลุกเคล้ากับความทุกข์ความทรมานมาโดยลำดับลำดากี่กัปนับไม่ถ้วนจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ทรงพิจารณาย้อนหลังเห็นภพชาติของพระองค์เองว่าแสนทุกข์แสนทรมานที่เกิด แก่ เจ็บ ตาย แบกหามกองทุกข์สับปนกันมาตลอด

การภาวนาของพระองค์เริ่มปรากฏแล้วว่าถูกทาง เพราะฉะนั้นปฐมยามจึงได้ทรงบรรลุปุพเพนิวาสานุสสติญาณ อันดับที่สองก็คือมัชฌิมยาม ทรงบรรลุถึงจุตูปปาตญาณ เล็งญาณดูความเกิดความตายของสัตว์ทั่วแดนโลกธาตุ เต็มไปหมดด้วยการท่องเที่ยวเกิด แก่ เจ็บ ตาย แบกหามกองทุกข์ทรมานมาตลอดเช่นเดียวกันกับพระองค์ จึงทรงประมวลเรื่องทั้งสองที่พาให้สัตว์เกิด แก่ เจ็บ ตายนี้เข้ามาสู่ต้นเหตุอันใหญ่หลวง ว่าอะไรพาให้สัตว์ทั้งหลายได้เกิด แก่ เจ็บ ตายอยู่ไม่หยุดไม่ถอย นี้มันคืออะไร จึงทรงพิจารณาที่เรียกว่าเป็น ปัจจยาการ เรียกว่า อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา ตลอดไป

นี่เป็นตัวการสำคัญที่พาให้สัตว์ทั้งหลายเกิด แก่ เจ็บ ตาย ทรงพิจารณาย้อนหน้าย้อนหลัง ตั้งแต่อวิชฺชาปจฺจยา เป็นสายยาวเหยียดไป รวมลงแล้วเรียกว่าสิ่งเหล่านี้ สมุทโย โหติ เป็นสมุทัยคือสาเหตุแห่งการยังสัตว์ทั้งหลายให้เกิดตายไม่มีหยุดยั้งได้เลย แล้วพิจารณายังไงมันถึงจะมีการยับยั้งและขาดกันไปจากการเกิด แก่ เจ็บ ตาย จึงทรงพิจารณาย้อนหน้าย้อนหลัง ก็มาถึงตัวอวิชชานี้อย่างประจักษ์พระทัยในหัวใจของพระองค์เองขณะนั้น แล้วถอนอวิชชาขึ้นจากใจโดยสิ้นเชิงไม่มีสิ่งใดเหลือ เรียกว่าตรัสรู้ธรรมในเดือนหกเพ็ญ ขณะนั้นแลเป็นศาสดาเอกของโลกขึ้นมา

เมื่ออวิชชาดับแล้วก็กลายเป็นว่า อวิชฺชายเตฺวว อเสสวิราคนิโรธา จนกระทั่งถึง นิโรโธ โหติ ดับสนิทเรื่องกิเลสทั้งหลายอันมีอวิชชาเป็นตัวสำคัญ ได้สิ้นซากไปแล้วจากพระทัยของพระองค์ การตรัสรู้ธรรมก็ได้สว่างจ้าขึ้นในคืนวันเดือนหกเพ็ญ ทรงรู้ทรงเห็นทุกสิ่งทุกอย่าง เรียกว่าโลกวิทู รู้แจ้งทั้งโลกนอกโลกในตลอดทั่วถึง หายสงสัยแล้วก็นำธรรมเหล่านี้มาสั่งสอนสัตว์โลก นี่คือองค์ศาสดาของเรา ท่านพาดำเนินมาด้วยความเด็ดเดี่ยวอาจหาญ เพื่ออรรถเพื่อธรรม เพื่อมรรคผลนิพพาน เพื่อความเป็นศาสดาของโลกองค์ปัจจุบันพระนามว่า พระสมณโคดม

จากนั้นแล้วท่านก็ประทานพระโอวาทแก่บรรดาสัตว์ทั้งหลาย ขึ้นต้นก็เบญจวัคคีย์ทั้งห้าได้รับธรรมที่พระองค์ทรงแสดงในธัมมจักรกัปปวัตตนสูตรนั้นแล นี่เป็นปฐมฤกษ์ ปฐมมรรคของธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่เบญจวัคคีย์ทั้งห้า ในเบญจวัคคีย์ทั้งห้านั้นพระอัญญาโกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรมประจักษ์หัวใจ ในอันดับต่อไปเบญจวัคคีย์ทั้งห้าก็ได้ตรัสรู้ธรรมหรือบรรลุธรรมขึ้น สังหารกิเลสขาดสะบั้นไปจากจิตใจโดยสิ้นเชิงด้วยอนัตตลักขณสูตร

ในเบื้องต้นแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตร พระอัญญาโกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรม อันดับต่อไปทรงแสดงอนัตตลักขณสูตร บรรดาพระสาวกคือเบญจวัคคีย์ทั้งห้าเป็นพระอรหัตอรหันต์ จากนั้นก็ประกาศธรรมสอนโลกเรื่อยมาเป็นลำดับ บรรดาสาวกทั้งหลายเกิดขึ้น ๆ และการเกิดขึ้น เกิดขึ้นในสถานที่เช่นไร พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญอยู่ในป่าในเขาลำเนาไพร ถ้าจำไม่ผิดเขาว่าเป็นเมืองพาราณสี(ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม เขตรัฐมคธ) เพราะนานแล้วจำไม่ค่อยได้แม่นยำ ขอให้พระลูกพระหลานจำเอาตามตำรับตำราซึ่งถูกต้องแน่นอนแล้วนั้นก็แล้วกัน เราจะพูดพอเป็นเลา ๆ ให้ท่านทั้งหลายได้ทราบ

การบำเพ็ญของพระองค์ทรงบำเพ็ญเต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่อาลัยเสียดายไพร่ฟ้าประชาชีทั่วประเทศเขตแดน ทรงสละออกหมด แม้ที่สุดพระราหุลกับพระนามพิมพาก็ต้องปล่อยกันด้วยความเด็ดขาด พระองค์ตัดพระทัยออกจากพระราชวัง ประหนึ่งว่าไปด้วยความสลบไสลเพราะความเด็ดขาดเพื่อความเป็นศาสดาของโลก แล้วก็สมพระทัยหวังได้ตรัสรู้ขึ้นมา สั่งสอนสัตว์โลกเรื่อยมาจนกระทั่งเบญจวัคคีย์ตลอดไป นี่เป็นแถวแนวที่เราทั้งหลายซึ่งเป็นลูกศิษย์ตถาคตที่เรียกว่าศากยบุตร จะได้นำมาเป็นข้อวัตรข้อปฏิบัติต่อไป

การประกาศธรรมกับประกาศมรรคผลนิพพานต่อโลกทั้งหลายนั้น เป็นไปในระยะเดียวกันๆ เพราะฉะนั้นในครั้งพุทธกาลบรรดาพระสงฆ์ที่เป็นอรหัตบุคคลมีจำนวนมากทีเดียว รองลงมาก็เป็นพระอนาคา เป็นสกิทาคา เป็นโสดาบัน และเป็นกัลยาณภิกษุและกัลยาณปุถุชนตลอดมา ด้วยอำนาจแห่งความเอาจริงเอาจังในการบำเพ็ญอรรถธรรมทั้งหลาย พร้อมกับอรรถธรรมก็ท้าทายอยู่แล้วสำหรับผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ว่าจะต้องได้ผลเป็นที่พึงพอใจ เต็มกำลังความสามารถทั้งหลาย ขอให้เราทั้งหลายได้ยึดหลักเกณฑ์แห่งศาสนธรรม ที่ทรงวางแบบแปลนแผนผังไว้แล้วนี้ด้วยความถูกต้องแม่นยำโดยสวากขาตธรรม แล้วให้พากันไปดำเนินการบำเพ็ญตัวเอง นี่เป็นหลักใหญ่ ที่แสดงมานี้เป็นพื้นฐานให้พระลูกพระหลานทั้งหลายได้ยึดได้เกาะในการประพฤติปฏิบัติตัว

สถานที่สงบร่มเย็นนั้นแลจะเป็นสถานที่เพาะอรรถเพาะธรรม เป็นสถานที่บำเพ็ญคุณงามความดีได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ดังที่ท่านสอนไว้ในเวลาพระสงฆ์บวชทีแรกจะเป็นองค์ใดก็ตาม เมื่อบวชแล้วก็ทรงแสดงว่า รุกฺขมูลเสนาสนํ นิสฺสาย ปพฺพชฺชา ตตฺถ เต ยาวชีวํ อุสฺสาโห กรณีโย บรรพชาอุปสมบทแล้วให้ท่านทั้งหลายไปอยู่ตามรุกขมูลร่มไม้ คือร่มไม้ในป่าในเขา ตามถ้ำเงื้อมผา ป่าช้า ป่ารกชัฏ ที่แจ้งลอมฟาง อันเป็นสถานที่สงบร่มเย็น ปราศจากความสัญจรวุ่นวายทั้งหลาย การบำเพ็ญจะเป็นความสะดวกสบาย

งานที่จะบำเพ็ญในสถานที่สะดวกสบายนั้นคืองานเช่นไร ท่านสอนไว้ว่า เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ นี้คืองานอันใหญ่หลวงสำหรับพระของเราที่จะต้องทำให้สมบูรณ์พูนผล ความสมบูรณ์พูนผลแห่งงานนี้ คือการรู้แจ้งแทงทะลุในงานของตน โดยพิจารณาตั้งแต่เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ขึ้นไปโดยลำดับที่มีอยู่ในอวัยวะของเราของเขา ของสัตว์ของบุคคลทั่วไปหมด นำมาพินิจพิจารณาคลี่คลายสิ่งเหล่านี้ เบื้องต้นให้เป็นอารมณ์ของจิต เช่น เกสา โลมา ให้มาเป็นอารมณ์สมถธรรมเพื่อความสงบของใจก็ได้ เช่นเรานำมาบริกรรมก็เรียกว่าเป็นสมถธรรม ให้จิตมีสติตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์แห่งธรรมซึ่งเราบริกรรมนั้น เช่น เกสา โลมาเป็นต้น นี่ก็เป็นสมถธรรมได้

เมื่อจิตของเรามีความสงบผ่องใสเป็นลำดับลำดาลงไปแล้ว ควรแก่การพิจารณาทางด้านวิปัสสนาซึ่งเป็นเรื่องของปัญญาอันเฉียบแหลมกว้างขวางมากมายนั้น เราก็นำเอาอาการสี่ห้าประการนี้แล เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ แล้วกระจายเข้าไปถึงเนื้อถึงหนัง ตับ ไต ไส้ พุง ซึ่งเป็นป่าช้าผีดิบผีตาย รวมกันอยู่ในบุคคลคนเดียวนี้ทั้งนั้น เวลานี้เรายังไม่ตายก็เป็นป่าช้าผีดิบ เต็มไปด้วยสิ่งอสุภะอสุภัง ทุกฺขํ อนิจฺจํ อนตฺตา เวลาตายแล้วหมดคุณค่าหมดราคา เขาเรียกป่าช้าคนตาย ให้พิจารณารู้แจ้งเห็นจริงเสียตั้งแต่บัดนี้

ในเวลาพิจารณาตั้งแต่สมถธรรม ให้มีความเอาจริงเอาจังต่อหน้าที่การงานของตน หน้าที่การงานของพระโดยแท้แล้วมีตั้งแต่การเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา ชำระจิตใจด้วยความสำรวมระวัง มีสติติดแนบอยู่กับตัวตลอดไป เรียกว่าเป็นผู้สำรวมระวังอยู่ด้วยสติ มีความสุขุมคัมภีรภาพอยู่กับอรรถกับธรรมโดยทางสติปัญญา ไม่เผอไม่เรอไปไหน เรียกว่าไม่ฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมไปตามโลกตามสงสารที่เคยมีมาตั้งกัปตั้งกัลป์แล้ว เราก็เคยผ่านมาแล้วสิ่งเหล่านี้มากมายและนานขนาดไหน

บัดนี้เป็นเวลาที่จะพินิจพิจารณา บำเพ็ญอรรถธรรมของเราภายในจิตใจให้รู้แจ้งแทงทะลุในสิ่งที่มีอยู่ทั้งหลาย ซึ่งเราทั้งหลายนั้นแหละเป็นผู้ติดผู้พันกับสิ่งเหล่านี้ สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ติดเรา เราติดเขา เมื่อเราติดเขาแล้วจึงต้องพิจารณาสิ่งเหล่านี้ตั้งแต่ เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ แล้วเข้าไปภายในทะลุปรุโปร่งไปหมดในอวัยวะนี้ทั้งหมด แยกเป็นอสุภะอสุภัง ทุกฺขํ อนิจฺจํ อนตฺตา ป่าช้าผีดิบ ป่าช้าผีตาย แยกพิจารณาให้ชัดเจน ทบทวนกลับไปกลับมา ไม่มีคำว่าเที่ยวนั้นเที่ยวนี้ หลายเที่ยวไม่สำคัญ ถือเอาความชำนิชำนาญในการพิจารณาทางด้านปัญญาเป็นสำคัญ

เมื่อเราได้นำคำบริกรรมนี้เข้ามาสู่จิตใจบำเพ็ญเป็นจิตตภาวนา ดังที่เราทั้งหลายได้บำเพ็ญอยู่ แม้จะไม่บำเพ็ญทางเกสา โลมาก็ตาม บำเพ็ญธรรมข้อใด เช่น พุทโธ หรือธัมโม หรือสังโฆ ตามแต่จริตนิสัยชอบของเรา เรานำเข้ามากำกับใจ บริกรรมอยู่กับใจของเรา แล้วมีสติสตังกำกับรักษาอยู่ตลอดเวลา นี้เรียกว่าภาวนาโดยชอบธรรม ถ้าเผลอสติแล้วไม่เรียกว่าชอบธรรม เผลอสติเมื่อใดเรียกว่าขาดความเพียร ไม่ว่าจะบริกรรมคำใด และไม่ว่าจะเดินจงกรมอยู่หรือนั่งสมาธิภาวนา ถ้าเผลอสติเมื่อไรความเพียรก็เรียกว่าขาดเมื่อนั้น จงจำคำนี้ให้ดี

นี่แหละการพินิจพิจารณาการภาวนา เพื่อจะยกตนให้หลุดพ้นจากทุกข์ในวัฏสงสารเช่นเดียวกับพระพุทธเจ้าและสาวกทั้งหลายท่านพาดำเนินมา ท่านดำเนินอย่างนี้ วิธีการที่ก้าวเดินก็ก้าวเดินอย่างนี้ เริ่มตั้งแต่บริกรรมภาวนาเพราะจิตไม่มีที่ยึดที่เกาะ ไขว่คว้าตลอด เราจะปล่อยให้จิตนี้ไขว่คว้าไปก็ไม่ได้ แต่เรามีสติตั้งความรู้สึกไว้กับความรู้ของเรา ความรู้สึกก็ไม่มีความแน่นนอน มันเล็ดลอดไปทางไหนเราก็ทราบไม่ได้ เพราะฉะนั้นเพื่อเป็นความแน่นอนและมั่นใจเรา จงมีคำบริกรรมกำกับใจของเรา เช่น คำบริกรรมพุทโธหรือธัมโม หรือมรณสติตามแต่จริตนิสัยของใครชอบธรรมบทใด ให้นำธรรมบทนั้นมากำกับใจของเรา ถือเป็นเนื้อเป็นหนังเป็นการเป็นงานจริง ๆ แล้ว เรื่องของกิเลสที่พาผลักดันออกไปให้คิดไม่รู้แล้วรู้รอด ไม่มีความอิ่มพอ ซึ่งออกไปจากใจนี้จะค่อยสงบตัวลงไปๆ

เมื่อได้คำบริกรรมซึ่งเป็นอรรถเป็นธรรม เข้ามาทำงานแทนที่กิเลสทำงานแล้ว ความสงบของใจจะค่อยเริ่มขึ้นมาๆ เพราะคำบริกรรมนี้บังคับไว้ ไม่ให้จิตส่งออกไปภายนอกอันเป็นเรื่องของสมุทัย ใจจะเป็นความสงบเย็นขึ้นมา แล้วให้ทำอย่างนี้อยู่โดยสม่ำเสมอ อย่าไปคิดว่าเท่านี้เดือนเท่านี้ปี อย่าไปคิดเสียเวล่ำเวลา ให้ดูแต่คำบริกรรมกับจิตของเราไม่ให้เผลอกันเท่านี้เป็นการถูกทาง มรรคผลนิพพานจะสูงอยู่ต่ำ อยู่ใกล้อยู่ไกลที่ไหนอย่าไปคำนึง ขอให้จับจุดนี้ไว้ให้ดี เหมือนเราเดินทาง เราเดินจากจุดนี้ไปสู่บ้านนั้นเมืองนั้น เราอย่าไปคำนึงคำนวณหนทางมากยิ่งกว่าการก้าวเดินของเราให้ถูกทางในปัจจุบัน ๆ นี้ตลอดไป ทางไหนแยกไปทางไหนให้จับจุดเดิมนี้ไว้ ก้าวเดินไปตามสายทางที่เป็นปัจจุบัน เรียกว่าสายทางพื้น เป็นพื้นทางให้ก้าวเดินตามนี้

นี่พื้นทางแห่งมรรคผลนิพพานก็คือการผูกมัดจิตใจไว้ด้วยคำบริกรรม มีสติกำกับรักษา ใจเมื่อได้รับการบริกรรมด้วยสติสตังอยู่ไม่หยุดไม่ถอยแล้ว จะค่อยคลี่คลายตัวออกมาโดยลำดับลำดา ความคิดความปรุงของจิตใจที่เป็นเรื่องสมุทัยคือกิเลสนั้นจะค่อยจางไปๆ ความคิดทางอรรถธรรมคือคำบริกรรมนี้จะหนาแน่นขึ้นมาเรื่อย ๆ ทีนี้คำบริกรรมนี้เลยเป็นสถานที่อยู่ของใจ เป็นสถานที่พึ่งอาศัยที่พึ่งเป็นพึ่งตายของใจไปเป็นลำดับลำดา เรื่องความคิดความปรุงทางสมุทัยนั้นจะจางไป ๆ นี่ท่านเรียกว่าบำเพ็ญธรรมเพื่อมรรคเพื่อผล ให้จับต้นทางนี้ให้ดี เบื้องต้นจะหนีจากนี้ไปไม่ได้ ต้องกำหนดนี้ให้ดี ต่อไปจิตจะมีความสงบลงไป ๆ สติติดแนบตลอดเวลา นี่เรียกว่าการบำเพ็ญธรรมเพื่อความสงบ การสงบหลายครั้งหลายหนก็สร้างผลขึ้นมาให้เป็นพลังของใจ กลายเป็นจิตเป็นสมาธิขึ้นมาได้

คำว่าสมาธิกับความสงบไม่เหมือนกันในภาคปฏิบัติ ความสงบคือใจของเราสงบแต่ละครั้ง เช่น จิตรวมเป็นครั้งเป็นคราวแล้วถอนออกมา ๆ นี่ท่านเรียกว่าจิตสงบ เมื่อสงบหลายครั้งหลายหนก็สร้างฐานแห่งความแน่นหนามั่นคงขึ้นมาที่ใจ แล้วใจก็กลายเป็นสมาธิคือความแน่นหนามั่นคงขึ้นมาภายในใจเสียเอง นี่เรียกว่าใจเป็นสมาธิ จากความสงบหลายครั้งหลายหนนั้นแล ส่งหนุนกำลังให้จิตเป็นสมาธิคือความแน่นหนามั่นคงขึ้นมาได้ จากนั้นแล้วจิตเป็นสมาธิ จิตเป็นสมาธินั้นคืออย่างไร จิตเป็นสมาธินี้ เมื่อเป็นฐานของสมาธิโดยตรงแล้ว เราจะคิดจะอ่านปรุงแต่งเรื่องใดก็ได้ แต่ฐานของจิตที่เป็นสมาธินั้นแน่นหนามั่งคงอยู่ตามเดิมภายในใจของเรา นี่ท่านเรียกว่า จิตเป็นสมาธิ

จิตเป็นความสงบนั้นคือเวลาเข้าสู่ความสงบ เช่นเรียกว่า จิตรวม เข้าสู่ความสงบก็เรียกว่าจิตสงบ สงบลงไปแล้วถอนขึ้นมาๆ นี่เรียกว่าจิตสงบ จิตรวม แต่เมื่อสงบหลายครั้งหลายหนถอนไปแล้วสร้างฐานขึ้นมาให้มีความแน่นหนามั่นคงขึ้น จนกลายเป็นสมาธิขึ้นมา นี่แหละที่เรียกว่า จิตเป็นสมาธิ จิตเป็นสมาธิมีความแน่นหนามั่นคงมาก เอิบอิ่มภายในตัวเอง อิ่มอารมณ์ภายนอก ทางตา ทางหู จมูก ลิ้น ใจนี้ซึ่งมันหิวโหยอยากเห็น อยากได้ยินได้ฟังนี้ มันจะระงับดับไปเลย เหมือนหนึ่งว่าไม่มีความอยาก ไม่อยากดู อยากรู้ อยากเห็นอะไร ชมตั้งแต่ความสงบภายในใจ แน่นหนามั่นคง มีความรู้เป็นอันเดียว นี้เรียกว่า เอกจิต เอกธรรม

คือจิตเป็นสมาธิแล้ว เป็นเอกจิต เอกธรรมขึ้นมาในนั้น รู้อยู่คนเดียว รู้อยู่ทั้งนั้น อยากอยู่อย่างนั้นทั้งวันทั้งคืน เพลินอยู่กับความรู้อันเดียวที่เป็นของแปลกประหลาดในขั้นสมาธิ เพราะฉะนั้นถ้าไม่มีผู้แนะนำสั่งสอนทางด้านปัญญาแล้วจิตจึงติดสมาธิได้ ต้องติดได้ไม่สงสัยเพราะมีรสชาติสมควรที่จะให้จิตติดได้ในสมาธิ เพราะฉะนั้นท่านจึงสอนให้พิจารณาทางด้านปัญญาซึ่งมีคุณค่ามากยิ่งกว่าสมาธิเข้าไปอีก แล้วเราก็เอาสมาธินี้แหละ พอสงบลงไปพอสมควรเป็นพื้นฐานแล้วให้พิจารณา

พิจารณาอะไร ก็คือ เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ตลอดอาการ ๓๒ ทุกอาการ เหล่านี้กลายเป็นอารมณ์วิปัสสนาไปแล้ว แต่ก่อนเป็นอารมณ์ของสมถะด้วยเกสา โลมาบริกรรม ทีนี้กลายเป็นสถานที่หรือเป็นงานของวิปัสสนา พิจารณาแยกแยะเรื่องสิ่งเหล่านี้ อาการ ๓๒ ที่มีในกายของเรานี้ด้วยปัญญา มีสติควบคุมรักษาอยู่ตลอด แล้วสิ่งเหล่านี้จะค่อยแจ่มแจ้งขึ้นภายในจิตใจของเรา ปัญญาของเราจะมีความเฉลียวฉลาดแกล้วกล้าสามารถ และมีความเฉียบแหลมละเอียดลออเป็นลำดับลำดาไป นี่การพิจารณากาย อาการเหล่านี้เพื่อเป็นวิปัสสนา

การพิจารณาทางด้านวิปัสสนานั้นแหละ เป็นการเริ่มถอนกิเลสโดยประการทั้งปวงไปโดยลำดับ นับตั้งแต่เรื่องของกายซึ่งเป็นเรื่องกามกิเลส ต้องพิจารณาเรื่องนี้ พอพิจารณาเรื่องนี้แยบคายเท่าไรๆ จิตจะค่อยปล่อยวางๆ อารมณ์ทั้งหลายของโลกที่เคยมีรสมีชาติจะจืดจางไปๆ รสของธรรมจะมีความแน่นหนามั่นคงหรือรสชาติยิ่งขึ้นโดยลำดับลำดา นี่เรียกว่า พิจารณาทางด้านปัญญา การพิจารณาทางด้านปัญญานี้เป็นความกว้างขวางมาก ไม่ได้เหมือนสมาธิ สมาธินี้เวลาถึงขั้นเต็มภูมิของสมาธิแล้วจะทำให้ยิ่งกว่านั้นไม่ได้ เรียกว่าพอในขั้นสมาธิ จะพิจารณาอย่างไรให้ยิ่งกว่านั้นก็ไม่ยิ่ง เหมือนน้ำเต็มแก้ว

เมื่อน้ำเต็มแก้วแล้วเอาน้ำที่ไหนมาเทก็ไม่อยู่ ไหลออกหมด รับได้แต่เพียงขอบแก้วเท่านั้น นี่จิตใจที่เป็นสมาธิก็อยู่ในขอบของสมาธิเต็มภูมิเพียงเท่านี้ ไม่เลยนี้ไป เพราะฉะนั้นจึงต้องได้ใช้ปัญญาพินิจพิจารณาทางอาการทั้งหลาย เพราะจิตติดพันกับสิ่งเหล่านี้โดยไม่รู้สึกตัว จิตเป็นสมาธิเพียงสงบตัวเข้าไปเท่ากับหินทับหญ้าเท่านั้น ทีนี้เราต้องการถอนหญ้าออกด้วยปัญญาของเรา พินิจพิจารณาถอดถอนสิ่งเหล่านี้เป็นลำดับลำดาไป พิจารณาแล้วพิจารณาเล่าอยู่นั้น เอาจนมีความชำนิชำนาญในเรื่องสกลกายกับปัญญาที่เราพิจารณา หากจะรู้เจ้าของเอง เมื่อพิจารณาถึงขั้นความคล่องแคล่วว่องไวต่ออาการเหล่านี้แล้ว ปัญญาจะมีความฉลาดแหลมคมรวดเร็วขึ้นเป็นลำดับลำดา จากนั้นปัญญานี้จะก้าวขึ้นธรรมสูงละเอียดกว่านี้ไปเป็นลำดับ

แต่นี้จะอธิบายให้ฟังเพียงย่อ ๆ ถ้าจะอธิบายตามแถวแนวนี้จะไม่มีเวลาจบสิ้นลงได้ จึงขออธิบายเท่าที่จำเป็นที่พระลูกพระหลานทั้งหลายจะควรยึดไปเป็นข้อวัตรปฏิบัติ ให้ใช้อย่างนี้ เพียงเราก้าวเดินทางด้านปัญญานี้จะเป็นการบุกเบิกถึงธรรมอันละเอียดลออ กิเลสละเอียดลออจนกระทั่งถึงมรรคผลนิพพาน จะเกี่ยวโยงกันไปโดยลำดับลำดา จึงไม่ให้พิจารณาคาดมรรคคาดผลว่าอยู่ใกล้อยู่ไกล สิ่งเหล่านี้แลเป็นเครื่องปิดบังสติปัญญาของเราไม่ให้ทะลุปรุโปร่งถึงแดนพ้นทุกข์คือความบริสุทธิ์หลุดพ้น จึงต้องพิจารณาอันนี้ บุกเบิกอันนี้ไปแล้วจิตใจจะมีความสว่างกระจ่างแจ้ง ทะลุถึงความหลุดพ้นจากทุกข์ อารมณ์นี้เองที่พัวพันกับมันนี้แหละให้เป็นทุกข์ ปล่อยนี้แล้วทุกข์จะมาจากไหน ก็ถึงมรรคผลนิพพาน

ศาสนาพุทธของพระพุทธเจ้าของเรานี้เป็นอกาลิโก เสมอต้นเสมอปลายในการบำเพ็ญอรรถธรรมตั้งแต่พื้น ๆ ถึงมรรคผลนิพพาน สด ๆ ร้อน ๆ ตลอดมาตั้งแต่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ และจะสด ๆ ร้อน ๆ ตลอดไป เมื่อมีผู้ตั้งใจประพฤติปฏิบัติตามสวากขาตธรรมอยู่แล้ว สวากขาตธรรมคือตรัสไว้ชอบแล้ว พระวินัยก็ชอบ พระธรรมก็ชอบ

นักบวชเราขอให้รักษาพระวินัยให้เข้มงวดกวดขัน อย่าหละหลวมพระวินัย นี้เป็นรั้วกั้นทางจิตใจของเราที่จะแหวกแนวออกไปหาเสี้ยนหาหนาม หาฟืนหาไฟ แล้วก็มาเผาตัวเอง เรื่องมรรคผลนิพพานอย่าไปถามถึงเลย ถ้าลงได้ข้ามพระวินัยซึ่งเป็นรั้วกั้นเพื่อความปลอดภัยไปได้แล้ว มีแต่กิเลสเท่านั้นจะเอาไปถลุง ให้รักษาให้ดี พระวินัยนี้คือองค์ศาสดา ดังที่ท่านประทานไว้ว่า ดูก่อนอานนท์ พระธรรมและพระวินัยนั้นแลจะเป็นศาสดาของเธอทั้งหลายแทนเราตถาคต เมื่อเราตายไปแล้ว

พระวินัยคือรั้วกั้นสองฟากทาง อย่าปลีกอย่าแวะ อย่าข้ามพระวินัยออกไป จะมีแต่เสี้ยนแต่หนามตามสองฟากทางข้างนอกนั้น มีแต่เสี้ยนแต่หนาม ภายในมีแต่ธรรมล้วน ๆ ให้ดำเนิน ดังที่กล่าวมานี้เรียกว่าธรรม ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา บำเพ็ญความพากเพียรเช่นจิตตภาวนา นี่คือการก้าวเดินไปตามทางธรรม พระวินัยของเราไม่ล่วงไม่เกิน จิตใจไม่เดือดร้อน จิตใจไม่ระแคะระคาย ไม่สร้างความกังวลวุ่นวายให้แก่ตัวเอง ถึงกับการภาวนาหาความสงบไม่ได้ เมื่อจิตมีความบริสุทธิ์ภายในใจแล้วด้วยศีลด้วยธรรม เราจะภาวนาไปด้วยความราบรื่นดีงาม

นี่คือการปฏิบัติตนเพื่อความราบรื่นดีงามต่อมรรคผลนิพพาน ตามที่ท่านแสดงไว้ว่าอกาลิโก เป็นธรรมที่สด ๆ ร้อน ๆ อยู่ทั้งกิเลสและทั้งธรรมนั้นแล กิเลสก็อยู่ในหัวใจเรา เกิดที่หัวใจเรา อยู่ที่หัวใจเรา ธรรมก็มีอยู่ที่หัวใจเรา เกิดจากหัวใจเรา เราเป็นผู้มาปฏิบัติธรรมนี้ต้องกำจัดกิเลสซึ่งมีอยู่ในหัวใจออก แล้วสั่งสมธรรมบำเพ็ญธรรมให้เกิดให้มีขึ้นภายในใจ เราก็จะได้ตักตวงเอามรรคเอาผล เอาความชื่นชมยินดี ความสว่างไสวตั้งแต่ความสงบคือสมาธิขึ้นไป ก้าวขึ้นสู่วิปัสสนาปัญญาเป็นชั้น ๆ ขึ้นไปด้วยการบำเพ็ญธรรมของเรา

นี่เรียกว่าเราก้าวไปตามธรรม ธรรมจะเกิดเป็นอย่างนี้เรื่อย ๆ ไป ออกจากใจดวงเดียวกัน เราไม่เอื้อมไปหากิเลส มีแต่ปัดออก ๆ แล้วเอื้อมเข้าสู่ธรรม บำรุงธรรม ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ก้าวเดินให้ดีด้วยกันแล้วเราจะเจอเรื่องอรรถเรื่องธรรม เรื่องความแปลกประหลาดอัศจรรย์ขึ้นที่จิตใจของเราเป็นลำดับลำดาไป จนกระทั่งถึงเรื่องมรรคผลนิพพาน พระพุทธเจ้าเอาธรรมแปลกปลอมมาที่ไหน เอาธรรมของจริงทั้งนั้นมาสอนโลก สอนไว้ด้วยความจริง เราปฏิบัติตามธรรมของจริงนี้แล้วจะเจออรรถเจอธรรมตามทางศาสดาที่สอนไว้ไม่สงสัย จึงสมว่าศาสดาองค์เอกไม่เคยหลอกลวงต้มตุ๋นสัตว์โลกแม้นิดเดียว ไม่เหมือนกิเลส กิเลสนี้มีมากมีน้อยจะมีตั้งแต่การหลอกลวงต้มตุ๋นสัตว์โลกให้ล่มจมไปตามมันทั้งนั้น ไม่มีกิเลสตัวใดสกุลใดที่จะมาสอนโลกเพื่อความจริงไม่มี มีแต่เพื่อความจอมปลอมต้มตุ๋นให้สัตว์โลกได้รับความลำบากลำบนตลอดมา นี่คือเรื่องของกิเลส เรื่องของธรรมมีแต่ความจริงล้วน ๆ ที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้

ให้พากันตั้งใจประพฤติปฏิบัติ เรื่องมรรคผลนิพพานอย่าให้กิเลสมาหลอกลวงว่าสิ้นเขตสิ้นสมัย ว่าศาสนาเรียวแหลม ถ้าเรียวแหลมก็เรียวแหลมอยู่กับตัวของเราเอง หมดเขตหมดสมัยก็หมดในตัวของเราที่เป็นโมฆะแล้วนั้นแล หาสาระไม่ได้ หาคุณงามความดีประจำการประพฤติปฏิบัติของตนไม่ได้แล้วก็เรียกว่า คนโมฆะ พระโมฆะ เณรโมฆะ เป็นโมฆภิกษุ แล้วไม่มีละคำว่ามรรคผลนิพพาน ถ้าทำตัวให้เป็นไปตามสวากขาตธรรมที่ตรัสไว้ชอบแล้วนั้น จะเป็นความราบรื่นดีงามต่อจิตใจ ใจนี้เรียกร้องหาความช่วยเหลือจากเจ้าของตลอดเวลา เพราะถูกกิเลสย่ำยีตีแหลกอยู่ไม่มีวรรคมีตอน ไม่มีวันมีคืน ยืน เดิน นั่ง นอน กิเลสไม่มีความชราคร่ำคร่าว่าอายุเท่านั้นปีเท่านี้ปี กิเลสจะอ่อนกำลังชราคร่ำคร่า ต่อไปนี้กิเลสก็สิ้นเขตสิ้นสมัย จะมีแต่มรรคผลนิพพานเต็มหัวใจสัตว์โลกอย่างนี้ไม่มี

กิเลสมีแต่ความแข็งกร้าวตลอดเวลา เหมือนสายยาง ดึงออกไปนี้พอหลุดมือนี้สายยางจะพับ ๆ ดึงเข้ามาเลย นี่ละพลังของกิเลสดึงดูดสัตว์โลกเหมือนสายยางดึงดูดนี้แหละ จะให้กิเลสอ่อนตัวไม่มี กิเลสมีความคร่ำคร่าไม่มี ให้กิเลสตายไปแล้วกุสลากิเลสนี้ไม่มี มีแต่กิเลสมากุสลาพวกเรา ความขี้เกียจกุสลาเอาบ้าง ความไม่เอาไหนกุสลาเอาบ้าง ความหน้าดื้อหน้าด้านหาญธรรม ข้ามเกินหลักธรรมหลักวินัยมากุสลาเข้าบ้างๆ สุดท้ายก็วิ่งตามเป็นบ้ากับโลกกับสงสารไป เห็นเขาเป็นยังไงก็เป็นกับเขา ทีนี้กิเลสก็ตามกุสลาไปเรื่อย ๆ นั่งอยู่ก็ขี้เกียจขี้คร้านไม่เอาไหน นั่งอยู่ก็คิดแต่ทางโลกทางสงสาร กิเลสก็กุสลาเอาเรื่อย ๆ สุดท้ายมีแต่กิเลสกุสลาวันยังค่ำคืนยังรุ่งของพระของเณรองค์หนึ่งๆ แล้วพระองค์นี้ก็คือพระกุสลาของกิเลสนั่นเอง แล้วมีความหมายอะไร เกิดประโยชน์อะไร

ให้ธรรม กุสลา ซิ กุสลาคือความฉลาดแก้กิเลสตัณหาออกจากจิตใจของตนให้หมดให้สิ้นไปโดยลำดับลำดาภายในใจ เรื่องมรรคผลนิพพานไม่ต้องถามจะเป็นขึ้นจากการปฏิบัติ เพราะธรรมวินัยพระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้แล้ว เรียกว่าสวากขาตธรรม ไม่เป็นอื่นเป็นใดที่จะแก้ไขดัดแปลงใหม่ได้แล้ว เป็นความคงเส้นคงวาหนาแน่น ขอให้พากันปฏิบัติกำจัดกิเลสด้วยอรรถด้วยธรรมของพระพุทธเจ้า เราจะเป็นที่พอใจ เรื่องมรรคผลนิพพานนั้นพระพุทธเจ้าทรงสอนไว้เพื่อมรรคผลนิพพานทั้งนั้น ไม่ได้สอนไว้เพื่อความเป็นโมฆะ

เราอย่าอุตริไปเก่งกว่าพระพุทธเจ้า ที่พระพุทธเจ้าเห็นว่าอะไรผิดเราถือว่าถูกไปเสีย กิเลสว่าถูกนั้นละย่ำยีตัวเองแล้ว ถ้าพระพุทธเจ้าว่าดีกิเลสว่าชั่ว นี้ก็เอาอีก ๆ มันมีแต่กิเลสตีได้ทั้งสันทั้งคมนะพวกเรา แหลกไปด้วยอำนาจของกิเลสมันตีให้แหลกทั้งสันทั้งคม ให้พากันตั้งใจประพฤติปฏิบัติ เราตั้งใจปฏิบัติตัวของเรา เราอยู่ที่ไหนสบายหมดขอให้มีธรรมในใจเถิดพระเรา อยู่ไหนสบาย การอยู่ การกิน การใช้สอยทุกอย่างนี้ประชาชนเขารับรองไว้หมด ชีวิตจิตใจของพระ ไปที่ไหนไม่เคยอดอยากขาดแคลน ว่าพระท่านตั้งใจไปปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ไปที่นั่นที่นี่ไม่มีใครใส่บาตร ไม่มีใครทำสถานที่อยู่ ไม่มีใครถวายสบงจีวรให้ได้นุ่งได้ห่ม ปะหำไปอย่างนี้ไม่เคยมี

พระตั้งใจปฏิบัติดีแต่ปะหำปะควยไป เพราะไม่มีใครมีศรัทธาอย่างนี้ไม่มี มันมีตั้งแต่เราปล่อยหำปล่อยควยด้วยความหิริโอตตัปปะไม่มีในใจ มันก็ลืมละอายบาปไปเสีย เรียกว่าปล่อยหำปล่อยควยไปนั้น นี่ปล่อยโดยหลักธรรมชาติของความไม่มีสติ ความไม่เอาไหน ความไม่มีจิตใจต่อธรรมทั้งหลายนี้เรียกว่าเปลือยกายไปเลย อย่าให้เป็นพระเปลือยกาย เณรเปลือยกาย ดูไม่ได้นะ ให้มีหิริโอตตัปปะประจำตัวอยู่เสมอ อยู่ไหนอยู่เถอะพระเรา อย่าไปเห็นสิ่งใดที่มีคุณค่ามีราคามากยิ่งกว่าธรรม จะทำให้เราจม สิ่งที่ว่ามีราคามากกว่าธรรมนั้นคือกิเลสหลอกสัตว์โลก

ให้ตั้งอกตั้งใจปฏิบัติตัวให้ดี หลวงตานี้เป็นห่วงบรรดาลูกหลานทั้งหลายมาก เวลาได้มีการแนะนำสั่งสอนนี้จึงสั่งสอนเน้นหนักในเรื่องหลักธรรม หลักวินัย พระวินัยนี้เป็นสำคัญมากที่สุด เป็นรั้วกั้นให้เราก้าวเดินไปตามสายแห่งธรรมแล้วจะตรงต่อมรรคผลนิพพาน ถ้าข้ามพระวินัยไปเสีย นั้นแหละเป็นการสังหารตนเอง แหวกแนวออกไปจากทางที่ถูกต้อง แล้วจะลงหลุมลงบ่อลงเหวไปทั้งเป็นนั้นแล ให้พากันระมัดระวังให้ดี พระเรานี้สวยงามอยู่ที่ศีล สงบร่มเย็นอยู่ที่ศีล ยังไม่มีอะไร มีศีลบวชในวันนั้นอบอุ่นแล้วนะ บวชในวันนี้แล้วศีลของเรารักษาเต็มที่แล้วอบอุ่นแล้ว ๒๒๗ หรือมากกว่านั้นก็อบอุ่นไปตามๆ กันหมดด้วยการรักษาของเรา ให้ตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติรักษา

จากนั้นการบำเพ็ญภาวนา อยู่ที่ไหนให้มีการเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา ถูกตามหน้าที่ของพระ ในครั้งพุทธกาลท่านดำเนินมาอย่างนั้นๆ ทุกวันนี้มันจะไม่มีแล้วนะ ทางจงกรมของพระจะไม่มี ที่ภาวนาจะไม่มี ไปที่ไหนมีแต่ส้วมแต่ถานของพระที่สร้างขึ้นอย่างหรูหราฟู่ฟ่า อันนั้นก็ดีอันนี้ก็ดี มันมีแต่ส้วมแต่ถานทั้งนั้นในสายตาของธรรม ธรรมแท้ไม่มีอะไรสะอาดยิ่งกว่าหัวใจที่ปฏิบัติตนเป็นธรรม เริ่มตั้งแต่สมถธรรม สมาธิธรรม ปัญญาธรรม วิปัสสนาธรรมขึ้นไป สะอาดสะอ้านขนาดไหน ดังธรรมพระพุทธเจ้าที่แสดงอยู่เวลานี้สะอาดขนาดไหนธรรม

มองดูกิเลสมันประดับประดาตกแต่งตัวของมัน บริเวณของมัน ที่อยู่ แม้แต่ตัวของเรา กิเลสให้มาตกแต่งให้สดสวยงดงาม อันนั้นก็ดีอันนี้ก็ดี เป็นเรื่องของกิเลสทั้งหมด ตกแต่งเพราะอะไร กิเลสมันสกปรกต้องมาตกแต่งให้สวยให้งาม ประดับหน้าร้านหลอกโลกต่อไปๆ โลกตาบอดมันก็วิ่งไปตามกิเลสเสีย อันนั้นสวยอันนี้งาม อันนั้นไม่ดี ตกแต่งแต่สิ่งภายนอกๆ ไปเสีย ภายในหัวใจมันไม่ได้ดู มันเป็นฟืนเป็นไฟภายในหัวใจ ทีนี้พระเณรเราก็เหมือนกัน ไปที่ไหนพระกรรมฐานเรานี่น่ะ ไปหาแต่สร้างนู้นสร้างนี้ หรูหราฟู่ฟ่าแข่งบ้านแข่งเมืองเขา อันนั้นมันเป็นอิฐเป็นปูนเป็นหินเป็นทราย ไม่ใช่กิเลสเสียบหัวใจพระ ไม่ใช่กิเลสเสียบแทงหัวใจพระ ไม่ใช่กิเลสเผาหัวใจพระนะ กิเลสเผาหัวใจพระมันอยู่ที่ใจของเราต่างหาก

เพราะฉะนั้นอย่าพากันยุ่งเหยิงวุ่นวายจนเกินเหตุเกินผล ให้สร้างหัวใจให้มีความสะอาดสะอ้าน เราอยู่ที่ไหนก็พออยู่ได้การอยู่ อย่าไปหรูหราฟู่ฟ่าวิ่งตามกิเลส อันนั้นเป็นเรื่องของโลกของสงสาร มันเลยกลายเป็นส้วมเป็นถานไปเสีย วัดทั้งวัดกลายเป็นส้วมเป็นถาน พระเณรเป็นส้วมเป็นถานไปตาม ๆ กัน เพราะวิ่งตามกิเลส หาความสะอาดไม่ได้ มีแต่ความสกปรกรกรุงรังด้วยความฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม ลืมเนื้อลืมตัวซึ่งเป็นเรื่องของส้วมของถานทั้งนั้นเต็มพระเต็มเณรเรา มันน่าดูไหมล่ะพิจารณาซิ ให้ดูหัวใจของเรานี้ ดูหัวใจให้สะอาดสะอ้าน อยู่ไหนอยู่ได้หมด ขอให้ใจพอตัวใจมีความสงบงบเงียบ สะดวกสบายภายในตัวแล้ว อดก็อยู่ได้สบาย อิ่มอยู่ได้สบาย เป็นอยู่หลับนอนสบายหมด

ผู้มีธรรมในใจไม่ฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม พอดีทั้งนั้น แต่ผู้มีแต่กิเลสภายในใจอะไรก็ไม่พอๆ ไปหาตกแต่งแต่สิ่งภายนอก หัวใจรกรุงรังยิ่งกว่าส้วมกว่าถานไม่ยอมกำจัดปัดเป่าชะล้างมันบ้างเลย มันก็มีแต่หัวใจส้วมหัวใจถานเต็มพระเต็มเณร เต็มวัดเต็มวา แล้วเจ้าของก็ดูเจ้าของไม่ได้ คนอื่นเขาจะดูได้ยังไง ถ้าเจ้าของมีความชำระสะสางเจ้าของให้ดิบให้ดี จิตใจสว่างไสว อยู่คนเดียวก็สบาย ใครจะมาคบค้าสมาคมไม่คบค้าสมาคมเราก็สบาย ถ้าเขามาคบค้าสมาคมเขาก็เป็นมงคลแก่เขาเอง ให้เราปฏิบัติอย่างนั้นนะ ให้ชำระภายใน สร้างภายในซิ สร้างใจของเราด้วยอรรถด้วยธรรม สร้างศีลให้สมบูรณ์แบบ สร้างสมาธิ สร้างปัญญา สร้างวิมุตติหลุดพ้นขึ้นที่หัวใจตลอดเวลา

นี่คือพระทำงาน เป็นผู้มีความขยันหมั่นเพียรด้วยหน้าที่การงานเพื่อชำระกิเลสไปโดยลำดับ เราจะได้ครองอรรถครองธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศไว้นานเมื่อไรว่ามรรคผลนิพพาน อยู่ที่สวากขาตธรรม ท่านตรัสไว้กับสวากขาตธรรม ปฏิบัติให้ถูกต้องตามสวากขาตธรรมแล้ว มรรคผลนิพพานจะเป็นสมบัติของผู้ปฏิบัติตามสวากขาตธรรมได้โดยสมบูรณ์นั้นแล จะเป็นที่พึ่งที่ยึดที่เกาะของพระเรา

การปฏิบัติอยู่ที่จิตใจนะ เราอย่าไปตำหนิติเตียนศาสนาของพระพุทธเจ้า ไม่มีอะไรที่จะตำหนิ การตำหนิติเตียนศาสนาของพระพุทธเจ้า เป็นเรื่องของกิเลสซึ่งเป็นข้าศึกของธรรมมันตำหนิติเตียน ตัวของมันไม่เคยสร้างความดี แต่เมื่อเขาสร้างความดีมันไปตำหนิมันไปทำลาย พวกนี้พวกเปรตพวกผีของกิเลสแต่ละประเภท ๆ กิเลสก็มีเปรตมีผีแทรกอยู่ในตัวของมัน มันออกได้ทุกแง่ทุกมุม ให้เราระวังเปรตผีเหล่านี้อยู่ที่หัวใจเรานะ กิเลสเกิดที่หัวใจเรา มันจะสร้างทุกแบบทุกฉบับให้เราล่มจมไปตามมัน หลงไปตามมันจนได้นั่นแหละ ให้พากันตั้งใจประพฤติปฏิบัตินะ เรื่องความพากความเพียรเพื่อมรรคเพื่อผล ขอให้เป็นความจำเป็นสำหรับพระสำหรับเณรเรา อย่ายุ่งเหยิงวุ่นวายกับเรื่องภายนอกจนเกินเหตุเกินผล

เวลานี้ศาสนากลายเป็นโลกไปแล้วเพราะกิเลสกลืนเอาๆ อะไรก็กลืนไปเป็นโลกไปหมด กลืนไปเป็นกิเลสไปเสียหมด พระทั้งองค์มันก็กลืนได้สบาย เณรทั้งองค์กลืนได้สบาย วัดทั้งวัดมันกลืนได้สบาย กิเลสมันปากกว้างมากนะ มันกลืนให้เป็นกิเลสไปหมดเรื่องของวัดของวากลายเป็นส้วมเป็นถาน หาอรรถหาธรรมที่จะสถิตอยู่พอให้เย็นใจกับวัดกับวา กับพระกับเณร ไม่ค่อยมีและไม่มีเลยอย่างนี้ เป็นยังไงศาสนาของพระพุทธเจ้ามันก็เท่ากับว่าศาสนามาหลอกโลก ศาสนาท่านไม่หลอก กิเลสนั่นน่ะมันหลอกโลกให้หลง ให้เหยียบย่ำทำลายศาสนาหาว่าไม่มีมรรคไม่มีผล ไม่มีคุณงามความดี ไม่มีบาปไม่มีบุญ นรกสวรรค์ไม่มี มีแต่เรื่องกิเลสมันทำลายสัตว์โลกอยู่ตลอดเวลา อยู่ที่หัวใจของเราทุกคน อย่าไปตำหนิใครนะ ให้ดูที่หัวใจของเรา

วันนี้เทศน์ให้ท่านทั้งหลายได้ทราบ หลักความจริงของพระพุทธเจ้าที่พาบำเพ็ญมาดังที่กล่าวมานี้ พอบวชมาแล้วไล่เข้าป่าเข้าเขา ให้บำเพ็ญชำระจิตใจกันด้วยวิธีการดังที่กล่าวมานี้โดยลำดับลำดา ให้อยู่ด้วยความสงบ อยู่ด้วยความพอดี อย่าอยู่ด้วยความดีดความดิ้น ทะเยอทะยานเหมือนโลกสงสารเขานั้นไม่ใช่ธรรม ผู้ที่อยู่ด้วยความพอดี พอดีด้วยสติ พอดีด้วยปัญญา พอดีด้วยความพากความเพียร การอยู่ การกิน การหลับ การนอนที่ไหนเหมาะหมด ถ้าคนมีธรรมภายในใจแล้วไม่ดีดไม่ดิ้น

วันนี้ก็แสดงธรรมเพียงขนาดนี้แหละ ขอให้บรรดาพระลูกพระหลานได้นำไปพินิจพิจารณา การปฏิบัติธรรมให้ถือเป็นความจำเป็นสำหรับเรา การแสดงธรรมก็เห็นว่าเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า ขอความสวัสดีจงมีแก่บรรดาลูกหลานทั้งหลายโดยทั่วกันเทอญ


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก