รู้ตามสภาพของนิมิต
วันที่ 26 ธันวาคม 2506
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :

ค้นหา :

เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๐๖

รู้ตามสภาพของนิมิต

 

พระพุทธเจ้าเมื่อตรัสรู้ใหม่ ๆ ทรงรู้สึกท้อพระทัยในการจะนำธรรมที่ทรงรู้ทรงเห็นออกแสดงแก่ปวงชน ทรงเห็นเป็นเรื่องหนักพระทัย ถึงกับจะทรงมีความขวนขวายน้อย ไม่อยากแสดงธรรมโปรดบรรดาสัตว์เสียเลย ทั้ง ๆ ที่ทรงมีความมุ่งหวังต่อสัตว์โลกอยู่แล้ว แต่ในวาระนั้นกลับทรงเห็นว่า พระธรรมที่ตรัสรู้นี้เป็นธรรมที่ละเอียดเหนือสมมุติใด ๆ ซึ่งสัตว์ทั่วไตรโลกธาตุผู้อยู่ในแหล่งสมมุติจะไม่สามารถรู้ตามได้ ฉะนั้นจึงเป็นเหตุให้พระพุทธเจ้าทรงท้อพระทัย และระอาต่อการสั่งสอน

แต่ครั้นทรงพิจารณาผล คือความบริสุทธิ์ในพระทัย และเหตุคือปฏิปทาเครื่องดำเนิน มาจนถึงความบริสุทธิ์อันยอดยิ่งว่า เป็นธรรมสมควรแก่มวลมนุษย์ผู้มีความหวังต่อความดี และทางพ้นทุกข์อยู่แล้วอย่างเต็มใจ จะปฏิบัติและรู้เห็นตามได้ จึงทรงสนพระทัยต่อการจะสั่งสอนสัตว์ผู้มีอุปนิสัยจะเป็นไปได้ตามภูมิของตน ๆ เพราะผู้ปฏิบัติตามเส้นทางโดยถูกต้องย่อมรู้ตามเห็นตามโดยแน่นอน เมื่อทรงตระหนักในเหตุในผลโดยแจ้งชัดแล้ว จึงทรงปลงพระทัยมุ่งต่อการสั่งสอนสัตว์ จากพระเมตตาอันแรงกล้านั้น  จึงปรากฏออกมาเป็นบุคคลาธิษฐานว่า พฺรหฺมา จ โลกา เป็นต้น โดยมีท้าวมหาพรหมลงมาอาราธนาให้แสดงธรรมสอนสัตว์ พระบาลีจึงปรากฏในตำนานมาจนถึงทุกวันนี้

ธรรมชาติที่บริสุทธิ์พุทโธอันเด่นดวงที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ในขณะนั้น เป็นธรรมที่พ้นจากสมมุติใด ๆ ไม่มีใครสามารถรู้ได้ก่อนพระพุทธเจ้าแม้แต่รายเดียว มีพระพุทธเจ้าพระองค์เดียวทรงรู้เห็นก่อนใครในโลกสมัยนั้น ประหนึ่งว่าธรรมนั้นอยู่คนละมุมโลกกับโลกของมนุษย์เรา ทั้งไกลแสนไกล และสูงแสนสูง คล้ายกับจะไม่มีใครอาจเอื้อมถึงได้ แต่เมื่อพิจารณาตามหลักที่พระพุทธเจ้าทรงปฏิบัติและรู้เห็นแล้ว มันเป็นไปจากโลกขันธ์ห้าธาตุสี่อันเดียวกัน ไม่มีการแยกย้ายจากกันทั้งสถานที่ดำเนิน และวิธีดำเนิน ย่อมเป็นไปจากกาย วาจา ใจ ซึ่งรวมอยู่ในตัวธาตุขันธ์ของมนุษย์แต่ละราย ๆ ฉะนั้นวิธีการและสถานที่บำเพ็ญทั้งพระพุทธเจ้าและมนุษย์ทั่ว ๆ ไป จึงลงในจุดกาย วาจา ใจอันเดียวกัน

ยกตัวอย่างที่พระพุทธเจ้าพาบำเพ็ญ เช่น การรักษาศีล คือความเรียบร้อยสวยงามประจำพระอาการเคลื่อนไหวในพระอิริยาบถทุก ๆ พระอาการ ไม่เป็นไปเพื่อความเดือดร้อนแก่พระองค์และผู้อื่น นอกจากนั้นยังมีพรหมวิหารประจำพระองค์ และบรรดาสัตว์อันเป็นเครื่องส่งเสริมศีลธรรมให้มีกำลังภายในพระกาย วาจา ใจ กลายเป็นความสุขใจให้พระองค์ได้รับเสวยผลในท่ามกลางหมู่ชน ผู้ไม่รู้ว่าศีลธรรมเป็นอย่างไร

สมาธิ คือความสงบใจ ใจของพระพุทธเจ้าที่ยังไม่ได้รับการอบรม ย่อมเป็นใจที่เต็มไปด้วยความกังวลวุ่นวายกับสิ่งทั้งหลายเช่นเดียวกับใจของชนทั่ว ๆ ไป แต่เพราะการฝึกฝนอบรมเสมอด้วยความเพียรพยายาม ก็กลายเป็นใจที่สงบเยือกเย็นขึ้นมาเป็นชั้น ๆ ทั้งศีล ทั้งสมาธิ ทั้งปัญญา ซึ่งแต่ก่อนพระพุทธเจ้าไม่เคยทรงนำมาใช้ทางภายใน คือ แก้ปมแห่งอวิชชาซึ่งปรากฏในตำราว่า อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา เป็นต้น ในคืนวันเพ็ญเดือนหก ได้ทรงใช้พระปัญญาพิจารณาปัจจยาการเครื่องสืบต่อแห่งภพแห่งชาติที่เป็นไปในพระทัยตลอดเวลา ทรงทราบชัดขึ้นในจุดนั้นโดยตลอดทั่วถึง

เมื่อสรุปความแล้ว ศีลก็ดี สมาธิก็ดี ปัญญาก็ดี และผลอันเป็นที่พอพระทัย และเต็มภูมิแห่งความเป็นศาสดาของโลกก็ดี ก็ปรากฏขึ้นในพระกาย วาจา ใจ ของพระองค์ท่าน ไม่นอกจากสถานที่ และวิธีประกอบตามที่กล่าวมาแล้วนี้เลย แต่ธรรมอันละเอียดเหลือประมาณซึ่งพวกเรายังไม่รู้ตามพระองค์ท่านนั้น จึงเป็นเหมือนหนึ่งว่าอยู่คนละโลก แต่ความจริงก็มีอยู่ในผู้นั้นนั่นเอง

สมัยที่พระพุทธเจ้ากำลังทรงบำเพ็ญเพื่อธรรมดวงนั้น ซึ่งพระองค์ยังไม่รู้ ก็ไม่ทรงสามารถจะตัดสินพระทัยลงได้แน่นอนว่า ความพ้นทุกข์ที่แท้จริงนั้นจะอยู่ในที่แห่งใด และความบริสุทธิ์ประเสริฐนั้นจะมีลักษณะเช่นไร และเล็กหรือใหญ่ขนาดไหน เป็นเพียงคาดคะเนไปตามความรู้สึกในพระทัยเท่านั้น ต่อเมื่อทรงบำเพ็ญจนถึงหลักความจริงเต็มที่แล้วก็ปรากฏเป็น สนฺทิฏฺฐิโก และ โลกวิทู รู้แจ้งเห็นชัดขึ้นจำเพาะพระองค์ ปราศจากความสงสัยในเรื่องทั้งปวงที่เคยเป็นมา

การที่ได้นำธรรมซึ่งออกจากความเป็นศาสดาของโลกที่ทรงรู้มา มาชี้แจงให้ท่านผู้ฟังทั้งหลายทราบ ทั้งนี้ก็เพื่อจะยึดหลักแนวทางของท่านมาเป็นเครื่องดำเนิน เรื่องทั้งหลายที่พระองค์ทรงเป็นมาอย่างไร ตั้งแต่ต้นจนถึงความบริสุทธิ์ จะกลายมาเป็นเรื่องของพวกเราผู้ตั้งใจปฏิบัติตาม แม้จะต่างอยู่บ้างก็เพียงภูมินิสัยวาสนาที่ผู้ตั้งความปรารถนาไว้กว้างแคบต่างกัน เช่นพระพุทธเจ้าเป็นศาสดาของโลก แต่พวกเราไม่ได้เป็นพระพุทธเจ้าผู้ปรากฏชื่อลือนาม และไม่มีความสามารถสั่งสอนโลกให้ได้ผลมากเหมือนอย่างพระพุทธเจ้าก็ตาม แต่เราก็มีความสามารถแนะนำสั่งสอนตนผู้เป็นโลกคนหนึ่ง ให้พ้นจากโลกอันมืดหนากลายมาเป็นผู้เบาบาง รู้จักสุข ทุกข์ ชั่ว ดี เป็นชั้น ๆ และอาจจะกลายมาเป็นผู้บริสุทธิ์พุทโธภายในใจโดยเฉพาะได้ในวันหนึ่ง

ไม่เสียทีที่เกิดมาทั้งชาติ ยังมีโอกาสตามเสด็จพระพุทธเจ้าตามกำลังวาสนาของตน นอกจากนั้นยังจะเป็นประโยชน์แก่ผู้มาเกี่ยวข้อง ต้องการคุณงามความดีจากเรา แต่การสั่งสอนผู้อื่นพระพุทธเจ้าไม่ทรงเห็นเป็นความจำเป็นจนเลยภูมิของสาวก และภิกษุบริษัทผู้จะนำธรรมมาสอนคน คำว่า มตฺตญฺญุตา สทา สาธุ อันเป็นธรรมพอดีและเป็นทางพอดี จึงเป็นธรรมจำเป็นของผู้จะทำการสั่งสอน ควรสนใจประจำตนเพื่อความพอดี จะเป็นประโยชน์แก่ตนและแก่โลกโดยราบรื่น ทั้งจะไม่เป็นความเนิ่นช้า และความเสียหายเกิดขึ้น เพราะการสั่งสอนไม่รู้จักประมาณ

สิ่งสำคัญและจำเป็นที่ทรงมุ่งประสงค์ ก็คือ การอบรมสั่งสอนตนเองที่เรียกว่าเป็นผู้นำของตนด้วยข้อปฏิบัติที่ถูกต้อง คือการปรับปรุงตนเองให้ถูกกับหลักธรรม ซึ่งเป็นการตามเสด็จโดยทางธรรม นี้เป็นความมุ่งประสงค์ของพระพุทธเจ้าอย่างแท้จริงในอันดับแรก นอกจากนั้นเป็นเรื่องของสาวกหรือภิกษุบริษัทจะเห็นสมควรในกำลังอำนาจวาสนาความรู้ความฉลาดของตนเอง แล้วทำหน้าที่สั่งสอนถ่ายทอดพระธรรมของพระองค์เพื่อประโยชน์แก่ปวงชน ผู้ควรจะได้รับประโยชน์จากศาสนธรรมเท่าที่ควร พระประสงค์อย่างยิ่งซึ่งเป็นหลักประจำศาสนา คือพระโอวาทที่ประทานไว้แล้วอย่างใด ผู้มาศึกษาได้สดับแล้ว น้อมเข้ามาปฏิบัติเพื่อกำจัดสิ่งที่เป็นข้าศึกภายในกาย วาจา ใจ ของตนให้หมดสิ้นไปโดยลำดับ นี้เป็นสิ่งที่พอพระทัยสำหรับศาสดาผู้จะรื้อขนสัตว์ให้พ้นจากห่วงแห่งความเกิดตาย

เราได้สละมาจากกิจการบ้านเรือน หน้าที่การงานซึ่งเป็นของมีคุณค่าตามสมมุตินิยม ก้าวเข้าสู่วงแห่งนักบวชและนักปฏิบัติเช่นนี้ นับว่าผ่านอุปสรรคนานาประการมาได้เป็นลำดับ นับว่าเป็นผู้มีอุปนิสัยใจรักธรรม ซึ่งควรสรรเสริญความสามารถที่ผ่านมาได้เป็นขั้น ๆ วาระต่อไปโปรดพยายามฝ่าฝืนอุปสรรคซึ่งอาจจะละเอียดขึ้นไปเป็นชั้น ๆ ด้วยข้อปฏิบัติที่ควรจะละเอียดไปตาม ๆ กัน การปฏิบัติเพื่อรู้หลักความจริงแห่งธรรม โปรดอย่าวาดมโนภาพไว้โดยการคาดคะเนในมรรค ผล นิพพาน หรือความสุขใด ๆ ในขณะบำเพ็ญภาวนา ให้เลยขันธ์และจิตที่เป็นหลักฐานของความจริงทั้งปวง

อนึ่งการปฏิบัติธรรมเพื่อตัวเอง แม้จะเป็นการลำบากอยู่บ้าง โปรดมองดูศาสดาผู้ทรงบำเพ็ญมาด้วยความลำบากยิ่งกว่าพวกเรา เพราะไม่มีใครชี้แจงแนวทางไว้เพื่อพระองค์เลย ส่วนพวกเราผู้เป็นช้างเท้าหลังคอยดำเนินตามท่าน อย่าพึงเข้าใจว่าตนมีขันติวิริยะมากกว่าครู คุณค่าราคาที่ควรจะได้จากความเพียรพยายามจะด้อยลงและเสื่อมสูญไปในขณะเดียวกัน โปรดทราบว่าไม่มีใครจะประสบสุขนับแต่ขั้นหยาบจนถึงสุขขั้นสูงสุด เพราะความเกียจคร้านเป็นผู้นำเลย

แม้จะลำบากเพราะการบำเพ็ญเพียรเพื่อความดี เราไม่ได้ไปเช่าถิ่นฐานบ้านเรือน เช่าสกลกาย เช่าศีล เช่าสมาธิ เช่าปัญญา และเช่าอรรถธรรมจากผู้ใดมาลงทุน พอเขาจะมาคิดเอาดอกเบี้ยกำไรจากเรา แม้พระพุทธเจ้าผู้ประทานพระธรรมไว้ก็ไม่เคยเรียกร้องเอาค่าจ้างรางวัลจากพุทธบริษัทแม้แต่ชิ้นเดียวรายเดียว ผลที่เกิดจากข้อปฏิบัติที่เราบำเพ็ญในกาลและสถานที่นั้น ๆ ด้วยอาการนั้น ๆ ย่อมเป็นสมบัติของเราโดยสมบูรณ์ ดังนั้น จึงควรภาคภูมิใจในข้อปฏิบัติของตน

อนึ่ง หลักแห่งสวากขาตธรรมที่ให้นามว่า มัชฌิมา นั้น ไม่เคยลำเอียงต่อผู้ใด ขอให้ข้อปฏิบัติของผู้บำเพ็ญจงกลมกล่อมกับหลักธรรม อย่าให้ปลีกแวะหรือเขวจากแนวทางเถิด ผลอันเป็นที่พอใจจะไม่แยกทางเดินจากสวากขาตธรรม ต้องเป็นที่หวังได้อย่างแน่นอนยิ่งกว่าผลอื่นใด เพราะต้นเหตุ คือการบำเพ็ญความดีทุกระยะ ย่อมเป็นการผลิตผลอยู่ในตัวแล้ว ไม่จำต้องไปหาจ้างทนายมาฟ้องร้องเพื่อผลอันตนพึงมุ่งหวังนั้น ๆ เพราะพระพุทธเจ้า และพระสาวกทั้งหลายที่ปรากฏผลอันยอดเยี่ยมในพระทัย จนถึงขั้นศาสดาของโลกและเป็นสรณะอันอุดมของพวกเรา ไม่ปรากฏว่าท่านหาจ้างทนายมาประจำสำนักปฏิบัติธรรม พอที่พวกเราจะเดือดร้อนว่า ตนไม่มีทนายไว้ช่วยแก้คดีระหว่างเหตุอันดีกับผลอันดีไม่ลงรอยกัน ขออย่างเดียวคือ การปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระโอวาทที่สอนไว้เท่านั้น จะไม่มีสิ่งใดมามีอำนาจเหนือกว่าสวากขาตธรรมที่เคยรับรองผลมาแล้ว ในวงแห่งท่านผู้บริสุทธิ์ทั้งหลาย

เราเป็นนักบวชและนักปฏิบัติ โปรดอย่าได้ละโอกาสอันดี สถานที่อันเหมาะสม และร่างกายซึ่งกำลังมีความสมบูรณ์อยู่ขณะนี้ให้เสียไป ในขณะเดียวกันโปรดทุ่มเทกำลังความเพียรลงทุกระยะอย่าให้ขาดวรรคขาดตอน อยู่ที่ไหน ไปที่ไหน ขอให้สติเป็นเครื่องประกันคุณภาพแห่งความเพียร อย่าเห็นกิจอื่นการใดว่ามีคุณค่ายิ่งกว่าความเพียรเพื่อรื้อถอนตนออกจากหล่มลึก ซึ่งกำลังเป็นไปอยู่ในตัวเราขณะนี้ ผลจะพึงได้รับจะไม่ผิดจากร่องรอยที่พระพุทธเจ้าประทานไว้

การกำหนดพิจารณาจะเป็นส่วนแห่งร่างกายก็ดี  จะเป็นส่วนแห่งบทธรรม มี พุทโธเป็นต้นก็ดี จะเป็นอานาปานสติก็ดี ที่ชอบกับจริตของตน โปรดได้ถือสำคัญที่สติเป็นผู้จะรับทราบอยู่ทุกระยะของอาการนั้น ๆ และความเคลื่อนไหวแห่งลมหายใจเป็นต้น ลมจะหยาบหรือละเอียด ขอให้มีสติรับทราบทุกระยะ แม้ลมจะหมดไปก็ให้ทราบว่าลมหมดไป ร่างกายจะเป็นอยู่ได้เพราะเหตุใด เราไม่ต้องไปกังวลว่า จะเป็นหรือจะตาย เมื่อลมหายใจที่ตนเข้าใจว่า หมดไปแล้วในขณะนั่งภาวนา ผู้นั้นได้ตายไปเสียในขณะนั้น เพราะอานาปานสติภาวนาเป็นเพชฌฆาตสังหาร

คำว่า อานาปานสติภาวนา ที่พระพุทธเจ้าประทานไว้จำต้องถูกเปลี่ยนแปลงเสียใหม่ ตลอดสภาวธรรมอื่น ๆ ที่ตรัสไว้แล้วโดยชอบธรรม จะต้องเปลี่ยนแปลงยักย้ายไม่คงที่ไปตาม ๆ กัน แต่ที่ยังสมบูรณ์อยู่จนบัดนี้ก็เพราะว่าธรรมทั้งหมดที่ตรัสไว้เป็นมัชฌิมา คือตั้งอยู่ศูนย์กลางแห่งหลักความจริงเสมอไปนั่นเอง ไม่มีความเสียหายแก่ผู้บำเพ็ญแม้แต่รายเดียว นอกจากจะปฏิบัติผิดจากหลักธรรมไปเท่านั้น อาจมีทางเสียหายเกิดขึ้นได้ไม่ว่าทางโลกทางธรรม

อนึ่ง ไม่เคยปรากฏพระธรรมบทใดบาทใด ไปกดขี่บังคับลงโทษแก่ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ให้กลายเป็นบอเป็นบ้าขึ้นมา ที่นักปฏิบัติได้กลายเป็นผลเสียหายขึ้นมา เช่น เป็นบอเป็นบ้าไปนั้น เพราะปฏิบัติผิดจากหลักธรรมของพระพุทธเจ้าโดยเจ้าตัวไม่รู้ เมื่อปรากฏผลที่ผิดหวังเพราะต้นเหตุทำให้ผิดนั้นขึ้นมาให้ตาโลกเห็นว่า นักปฏิบัติกรรมฐานนั้น ๆ กลายเป็นบอเป็นบ้าไปเช่นนั้น จึงเกิดมีการตำหนิติโทษผู้อบรมกรรมฐานและวงพระศาสนาว่า เป็นธรรมให้ร้ายแก่ผู้บำเพ็ญในทางดี เฉพาะตนเองก็เกิดความอิดหนาระอาใจ เพราะกลัวจะเป็นอย่างนั้นบ้าง ไม่อยากบำเพ็ญ

แท้จริงในขณะที่ผู้บำเพ็ญเพื่อทางดีนั่นเอง แต่กลายเป็นทางชั่ว เพราะผิดจากหลักธรรมโดยเจ้าตัวไม่รู้ ผลจึงปรากฏเป็นที่น่ากลัว ซึ่งไม่มีใครปรารถนา แต่ก็ปรากฏแก่ผู้ดำเนินผิดโดยเจ้าตัวไม่รู้ ส่วนมากผู้ปฏิบัติที่กลายเป็นบุคคลที่น่าขยะแขยง คือเป็นบอเป็นบ้าขึ้นมา เนื่องจากเมื่อจิตรวมสงบลงแล้ว จิตของตนถอยออกมาและรับรู้กับอารมณ์ต่าง ๆ จะเป็นเรื่องดี เรื่องชั่ว เรื่องเพลิดเพลิน หรือโศกเศร้าชนิดใด ไม่ได้ทำความสนใจว่าผิดหรือถูก ถ้าเป็นสิ่งที่น่าเพลิดเพลินก็เพลิดเพลินไปตามจนลืมตัว ถ้าเป็นสิ่งน่าโศกเศร้าหรือน่าหวาดเสียวน่ากลัวก็กลัวจนตัวสั่น ถึงกับกลายเป็นบ้าขึ้นมาในขณะนั้นด้วยเหตุนี้เป็นจำนวนมากมาย

ความจริงหลักธรรมของพระพุทธเจ้า ไม่ทรงชมเชยผู้ที่หลงไปตามนิมิตต่าง ๆ เช่นนั้น แต่ทรงชมเชยผู้มีความฉลาดรอบคอบรอบรู้เรื่องที่เกิดจากตัวเอง เช่น สภาพใดที่เกิดจากหลักสมาธิ ต้องเป็นผู้รู้เท่าทันสภาพนั้นโดยทางสติปัญญา นิมิตใดที่ปรากฏขึ้นในขณะภาวนาก็ให้รู้จักพิจารณา รู้ตามสภาพของนิมิตนั้น มิใช่จะเพลิดเพลิน หรือหลงตามจนลืมตัว แล้วเกิดความกลัวจนลืมตาย และเป็นบ้าขึ้นมา ลักษณะที่เป็นทั้งนี้ไม่ใช่ทางแห่งสวากขาตธรรมของพระพุทธเจ้า แต่เป็นทางความลุ่มหลงของผู้บำเพ็ญที่ตนเข้าใจว่าเป็นทางถูก จึงกลายเป็นความผิดโดยไม่รู้สึกเท่านั้น

ถ้าเรามีสติรู้เรื่องกระแสของใจที่ไปพาดพิงกับสิ่งใด ด้วยมีสติปัญญาไตร่ตรองสภาพที่มาพาดพิงกับใจโดยรอบคอบด้วยแล้ว จะไม่มีความเสียหายอะไรเกิดขึ้นแก่ผู้ปฏิบัตินั้น ๆ เลย นอกจากจะได้อุบายต่าง ๆ เกิดขึ้นจากสิ่งที่มาสัมผัส ทั้งเป็นขึ้นจากภายนอก และปรากฏขึ้นทางภายใน จะไม่มีทางเสียหายเกิดขึ้นจากผู้บำเพ็ญทางด้านจิตตภาวนาเลยแม้แต่น้อย

ดังนั้น เราเป็นนักปฏิบัติกรรมฐานภาวนาเป็นกิจประจำเพศและประจำนิสัยของผู้ใคร่ต่อธรรม อาจมีการผ่อนอารมณ์ที่กล่าวมานี้อยู่บ้าง จงตระหนักใจเสมอว่าสิ่งที่ปรากฏขึ้นในมโนภาพทุกประเภท ให้ถือเป็นทำนองเดียวกับที่เรามองเห็นสิ่งต่าง ๆ ด้วยตา เช่น คนชั่วผ่านสายตา เราก็มองเห็น แต่เราไม่ได้ชั่วตามเขาก็ไม่มีความเสียหายอะไร คนบ้าคนบอผ่านสายตาเราก็มองเห็น แต่ไม่ได้เป็นเช่นเขา ก็ไม่มีความเสียหายอะไร เพราะเรารู้ว่าเขาเป็นคนชั่ว คนบ้าต่างหาก ส่วนเราก็เป็นคนดีอยู่ตามเดิม เรามองเห็นเสือว่าเป็นสัตว์น่ากลัว แต่ก็ไม่เป็นสัตว์ไปตามเสือ ทั้งนี้ย่อมไม่มีความเสียหายอะไรเกิดขึ้น เพราะการเห็นนั้น ๆ

เรื่องดี เรื่องชั่วเคยผ่านทางตา หู เรามาเป็นจำนวนมากมาย เราไม่เป็นความดี ความชั่วแทนสิ่งเหล่านั้นแล้ว นอกจากเราจะมีความชอบพอติดใจกับสิ่งเหล่านั้น แล้วนำแบบนั้นมาใช้ จึงจะกลายเป็นคนดีเป็นชั่วไปตาม ในมงคลสูตรบทว่า อเสวนา จ พาลานํ ปณฺฑิตานญฺจ เสวนา ก็หมายถึงอย่างนี้เอง หลักแห่งการปฏิบัติต่อนิมิตที่เกิดกับใจก็มีลักษณะเช่นเดียวกัน ฉะนั้น โปรดทำปัจจุบันจิตให้สัมปยุตด้วยสติ และสัมพันธ์กับอาการแห่งธรรมที่มีอยู่ในกายของตน จะเป็นหลักประกันความเสียหายมิให้เกิดขึ้นหนึ่ง เป็นหลักรับรองคุณธรรมอันจะปรากฏขึ้นภายในใจหนึ่ง และเป็นหลักรับรองความก้าวหน้าของจิตหนึ่ง ไม่วาด้านสมาธิและด้านปัญญา จะปรากฏขึ้นจากหลักปัจจุบันดังกล่าวแล้วทั้งนั้น

ฉะนั้น ผู้ปฏิบัติภาวนาจึงควรหนักทางสติกับปัญญา เพราะจิตแม้จะแสนโง่แสนพยศ ก็ย่อมไม่มีอำนาจเหนือสติปัญญาของผู้สนใจต่อการฝึกฝนทรมานตนเองไปได้ ขอให้ทำความมั่นใจกับธรรมทั้งสองซึ่งเป็นสิ่งสำคัญให้มาก ๆ การแสดงธรรมครั้งใดวันใดไม่เคยเว้นสติกับปัญญาเลย และต้องนำแสดงออกหน้าเสมอ เพราะเหตุใด ขอให้ท่านนักปฏิบัติทั้งหลายนำไปพิจารณา ก็เพราะคำว่า สมฺมาทิฏฺฐิ  สมฺมาสงฺกปฺโป ในองค์มรรค ๘ นั้น คือองค์ปัญญา จะยกขึ้นก่อนหรือทีหลังไม่สำคัญ แต่สำคัญว่าปัญญาคือความฉลาด

เช่นเดียวกับนายหัวหน้างานทุกแผนก ต้องเป็นผู้ฉลาดรอบคอบในกิจการทุกแขนง คนโง่ไม่เคยมีใครให้ไปเป็นหัวหน้างานในวงงานต่าง ๆ ต้องเอาคนฉลาดทั้งนั้น เรื่องสติกับปัญญาก็เป็นธรรม จะนำผู้ปฏิบัติตามให้กลายเป็นคนฉลาดเป็นลำดับเช่นเดียวกัน การปฏิบัติธรรมมาเป็นเวลานานแต่ไม่ค่อยปรากฏผลดี ที่ปรากฏเพียงเล็กน้อยแล้วเสื่อมสูญหายไปก็ดี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเรื่องสติ ปัญญาไม่ติดต่อ หรือไม่เห็นสติกับปัญญาเป็นเรื่องสำคัญ จึงทำให้เจริญก้าวหน้าไปไม่ได้

จิตแม้จะมีความมืดหนาต่อสิ่งทั้งหลายที่มีอยู่รอบตัว จะต้องกลายเป็นจิตที่ผ่องใส และปรากฏเงาของตัวขึ้นมาได้ ด้วยอำนาจความเพียรที่มีสติปัญญาคุ้มครองใจ และจะค่อยเจริญก้าวหน้าไปโดยลำดับ ทั้งด้านความสงบผ่องใส และด้านความฉลาดแยบคาย เพราะได้รับปุ๋ยเครื่องบำรุงจากความเพียร ฉะนั้นท่านนักปฏิบัติจงเห็นสำคัญตรงที่การดัดแปลงจิตใจ อย่าปล่อยตามอำเภอใจซึ่งมีสิ่งที่ชั่วผลักดันอยู่ภายใน จะถูกผลักดันลงทางต่ำโดยไม่มีสถานีจอดแวะ และนับวันจะเสื่อมทรามและเลวลง จนผลสุดท้ายไม่มีทางหักห้ามไว้ได้ จำต้องยอมจำนน ปล่อยให้สิ่งผลักดันฉุดลากไปต่อหน้าต่อตาทั้ง ๆ ที่ตัวเองรู้อยู่ว่าไม่ดี แต่จำต้องปล่อยไปตามยถากรรม

ทั้งนี้เป็นเพราะความปล่อยตัวยอมให้ตามบุญตามกรรมเป็นผู้จัดการเอง ผลที่ปรากฏขึ้นจึงเป็นบุคคลที่ไร้คุณค่า และหมดหวังในทางดีมีความสุข ทั้งเป็นที่น่าเกลียดและทุเรศของพลเมืองดีทั่ว ๆ ไป ไม่มีใครอยากคบค้าสมาคมด้วยเลย การปล่อยใจต่อความเพียรทางภายใน ผลที่ปรากฏขึ้นจะมีลักษณะเช่นเดียวกัน ขอให้นักปฏิบัติทุกท่านโปรดทำความเข้าใจกับตนเองแต่บัดนี้เป็นต้นไป เวลานี้ยังไม่สายเกินไป พอมีทางและโอกาสจะแก้ตัวได้ เพราะการแก้ตัวจากสิ่งชั่วหรือสิ่งบกพร่อง เป็นทางนักปราชญ์เคยดำเนินมาแล้ว ท่านพยายามแก้ไขและดัดแปลงส่วนบกพร่องจนถึงขั้นสมบูรณ์ และปรากฏเป็นอัจฉริยบุคคลให้โลกได้ถือเป็นคติและกราบไหว้ตลอดมา คือ พุทฺธํ ธมฺมํ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ ทั้งสามอัจฉริยะนี้ (สิ่งประเสริฐ) โปรดทราบว่าเกิดจากการดัดแปลงแก้ไข มิได้เกิดขึ้นมาตามบุญตามกรรมอย่างที่เข้าใจกัน

ได้กล่าวแล้วเบื้องต้นว่า การกำหนดพิจารณาอาการของกายก็ดี บทธรรมก็ดี อานาปานสติก็ดี ที่จะให้ปรากฏผลเป็นลำดับและแน่นอนนั้น โปรดทำโดยความจงใจและมีสติเป็นพี่เลี้ยงติดตามความเพียรอาการทั้งสาม คือ อาการของกาย บทธรรม และลมหายใจ จะเป็นฐานที่เกิดความสงบและเกิดปัญญาได้แน่นอน เพราะทั้งสามอาการนี้ทรงความจริงอยู่ในตัวโดยสมบูรณ์แล้ว ผู้มุ่งต่อความสงบ หยั่งจิตเข้าสู่อาการทั้งสาม อาการใดอาการหนึ่งจะปรากฏผลคือความสงบขึ้นมา ถ้ามุ่งเพื่อวิปัสสนา พอหยั่งจิตเข้าสู่อาการเหล่านี้และสอดส่องไปตามอาการนั้น ก็จะกลายเป็นความแยบคายขึ้นมาตามลำดับการพิจารณากว้างแคบหยาบละเอียดของผู้พิจารณา

เพราะอาการที่กล่าวนี้นอกจากจะเป็นความจริงโดยสมบูรณ์แล้ว ยังเป็นการเปิดเผยความจริงอยู่ตลอดเวลาอีกด้วย ฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงทรงสามารถรู้ได้โดยโลกวิทู ไม่มีสิ่งใดลี้ลับ ไม่ว่าโลกนอกคือสภาวะทั่ว ๆ ไป ไม่ว่าโลกในคือกายกับใจ  กลายเป็นความบริสุทธิ์ขึ้นมาในพระทัย เมื่อเราหยั่งสติปัญญาเข้าสู่กายสู่ใจของตนตามแนวทางที่อธิบายมา เรื่องของพระพุทธเจ้าและพระสาวกกับเรื่องของเราจะมีลักษณะเช่นเดียวกัน เพราะเดินทางสายเดียวกัน ทั้งจะรู้เห็นสิ่งต่าง ๆ ในระหว่างการดำเนินคล้ายคลึงกับพระพุทธเจ้าและพระสาวก ตามภูมินิสัยวาสนาของตน ผลที่ปรากฏคือความบริสุทธิ์จะเป็นเช่นเดียวกัน

และยังมีธรรมรับรองไว้ว่า ผู้ถึงแดนแห่งความพ้นทุกข์โดยสมบูรณ์แล้ว ไม่มีอะไรยิ่งหย่อนกว่ากันในความบริสุทธิ์ จะแปลกต่างกันอยู่ก็เพียงอำนาจวาสนา ปัญญาสามารถฉลาดรอบรู้สิ่งภายนอกจากความบริสุทธิ์เท่านั้น สมกับศาสนธรรมที่ประทานไว้ก็ทรงมุ่งเพื่อความบริสุทธิ์สำหรับผู้ปฏิบัติอย่างยิ่งยวด และเป็นผลรองลงมาสำหรับผู้ปฏิบัติยังไม่ถึงขั้นนั้น ที่จะปราศจากผลแก่ผู้ปฏิบัติเสียเลยนั้น ไม่เคยปรากฏในวงแห่งสวากขาตธรรมของพระพุทธเจ้า

ฉะนั้น ขอวิงวอนท่านนักปฏิบัติทั้งหลาย โปรดทำความสนใจต่อความพ้นทุกข์เป็นจุดเด่นของเข็มทิศภายในใจ โดยมีความเพียรติดต่อ จะเป็นความเพียรที่ชอบยิ่ง และจะประสบแดนพ้นทุกข์แจ้งประจักษ์ขึ้นภายในใจวันหนึ่งแน่นอนในปัจจุบันชาติ วิธีดำเนิน โปรดดูกองทุกข์มีมากน้อยในร่างกายและจิตใจ มีขันธ์ก็เท่าขันธ์ มีกายก็เท่ากาย มีใจก็เท่าใจ ไม่มากน้อยไปกว่าที่กล่าว ซึ่งทั้งหมดมีอยู่กับเรา และเป็นเจ้าของรอรับเสวยผลนั้น ๆ โปรดตรวจตรองดูของจริงของพระอริยเจ้าเพื่อเป็นอริยธรรม อริยจิตขึ้นภายในใจของผู้พิจารณา สิ่งใดจะควรรู้เท่า และปล่อยวาง สิ่งใดจะควรยึดไว้เป็นหลักฐานเครื่องยึดเหนี่ยว และเครื่องดำเนินต่อไป ดูข้างบน ข้างล่าง ข้างนอก ข้างในให้เห็นชัดตามที่มีอยู่ ทั้งอดีตความเป็นมา ทั้งอนาคตความจะเป็นไป ทั้งปัจจุบันซึ่งกำลังเป็นอยู่ภายในกายและใจของเรา

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ เป็นต้น ไม่ใช่เป็นประโยคเล็กน้อย แต่เป็นสิ่งที่บรรดาสัตว์ลุ่มหลงกันจนหาทางออกไม่ได้ทั่วทั้งโลกธาตุด้วย เป็นสิ่งที่จะช่วยผู้หยิบยกขึ้นพิจารณาโดยทางธรรม ให้รู้เท่าทันกับความจริงที่มีอยู่ในสภาพนั้น ๆ แล้วรื้อถอนตนออกจากกองทุกข์อันใหญ่หลวงได้ด้วย ฉะนั้น ท่านจึงสอนนักบวชและสาธุชนผู้มุ่งมั่นต่อแดนพ้นทุกข์ เพื่อเป็นเครื่องมือและทางเดินออกจากเครื่องผูกพัน คืออุปาทานที่ฝังจมอยู่ภายในใจมาเป็นเวลานาน ผู้ทำการพิจารณาได้มากเท่าไรก็ยิ่งถอนอุปาทานได้มากเท่านั้น ส่วนแห่งกายทั้งภายนอกภายในซึ่งเป็นด้านวัตถุทั่ว ๆ ไป ก็สามารถถอดถอนออกได้ด้วยการพิจารณา

ส่วนละเอียดที่เป็นนามธรรม คือเวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณอันเป็นสิ่งที่ติดแนบอยู่ภายในใจก็สามารถจะรู้เท่า และถอดถอนอุปาทานในขันธ์ประเภทนี้ออกได้ โดยความเห็นว่าเป็นไตรลักษณ์อันสมบูรณ์ และเป็นความจริงอยู่ตามสภาพของตน ๆ การถอดถอนอุปาทานออกไปเป็นระยะ จึงหมดภาระไปเป็นขั้น ๆ อุปาทานที่ถูกถอดถอนเข้ามาเป็นลำดับ จึงรวมจุดเข้าสู่จิตดวงเดียวที่ท่านให้นามว่า ปมของวัฏฏะ ปัญญาก็สามารถพิจารณาคลี่คลายดูปมนั้นจนชัดเจนเช่นเดียวกับสภาวะส่วนอื่น ๆ สุดท้ายปัญญาก็สามารถทำลายปมของภพชาตินั้นออกได้ กลายเป็นชื่อวิวัฏฏะขึ้นมาในขณะธรรมชาตินั้นสลายตัวลงไป

นามว่าวิวัฏฏะ จึงเป็นธรรมทั้งแท่งในคำว่า นิพฺพานํ ปรมํ สุญฺญํ เป็นความสูญสิ้นซากของวัฏฏะโดยสิ้นเชิง นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ เป็นความสุขอันยิ่งในชีวิตของผู้ดำรงธรรม วิวัฏฏะภายในใจ ถึงคราวขันธ์แตกไปก็มอบไว้กับสมมุติให้เขาสืบทอดกันไปตามเรื่องของธาตุที่มีประจำแผ่นดิน  ส่วนวิมุตติพุทโธ อันบริสุทธิ์สุดส่วนก็เป็นอนุปาทิเสสนิพพานธาตุไปตามความหมดกังวล

คำว่า วิมุตติพระนิพพานเป็นชื่อของสมมุติ เช่นเดียวกับโลกสมมุติทั่ว ๆ ไป ถ้าไม่มีสมมุติ ผู้บำเพ็ญเพื่อพระนิพพาน จะไม่มีหลักยึดเพราะปราศจากกรุยหมาย ฉะนั้น จำต้องทำกรุยหมายเอาไว้ แต่เมื่อเข้าไปถึงที่นั่นแล้ว ไม่มีผู้จะหลงและสงสัย เช่นเดียวกับคำว่า วัดป่าบ้านตาด ถ้าไม่มีนามหรือติดป้ายไว้ คนจะมาวัดป่าบ้านตาดก็ไม่ทราบว่าวัดป่าบ้านตาดอยู่ที่ไหน ฉะนั้น จำต้องตั้งชื่อไว้ว่าวัดป่าบ้านตาด ส่วนผู้เคยมาและเคยอยู่วัดป่าบ้านตาดแล้วก็ไม่จำเป็นในชื่อของวัด เพราะรู้กันอยู่แล้วว่า วัดป่าบ้านตาดมีลักษณะเช่นไร

คำว่า นิพฺพานํ ปรมํ สุญฺญํ ก็ดี นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ ก็ดี จึงเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับโลกผู้กำลังบำเพ็ญเพื่อนิพพาน แต่ผู้ถึงพระนิพพานโดยประจักษ์ใจแล้วย่อมไม่มีความจำเป็นในชื่อของพระนิพพาน เช่นเดียวกับเราไม่มีความจำเป็นในชื่อของวัดป่าบ้านตาด ฉะนั้นขอให้ท่านนักปฏิบัติทั้งหลายจงพยายามทำความเข้าใจกับตัวเอง ซึ่งกำลังปกปิดพระนิพพานภายในใจไว้อย่างมิดชิดเวลานี้ โดยทางความเพียรอย่าได้ท้อถอย เราจะเห็นแดนแห่งพระนิพพานภายในใจแจ้งประจักษ์ในวันหนึ่งข้างหน้าแน่นอน

ในอวสานการแสดงธรรมก็เห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอความสวัสดีมีชัยจงเป็นผลสำเร็จแก่ท่านนักปฏิบัติโดยทั่วหน้ากันเทอญ

 

www.Luangta.com or www.Luangta.or.th


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก