ยึดไตรลักษณ์เป็นทางเดินของจิต
วันที่ 12 ตุลาคม 2505 เวลา 19:00 น. ความยาว 61.46 นาที
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)

ค้นหา :

เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๑๒ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๐๕

ยึดไตรลักษณ์เป็นทางเดินของจิต

 

พระพุทธเจ้าและพระสาวกผู้เป็นแบบฉบับของทั้งทางโลกและทางธรรม ทรงวาดภาพตัวอย่างไว้แก่ปวงชนผู้มุ่งประโยชน์ตามภูมินิสัยวาสนาของตน จะได้ดำเนินตามโดยถูกต้อง ทรงเห็นที่วิเวกสงัดเป็นที่อาศัยในเพศพรหมจรรย์ เป็นที่ไปที่มา และสำเร็จพระอิริยาบถ ไม่ข้องแวะกับสิ่งใดๆ ซึ่งจะผ่านคลองจักษุเป็นต้น ไม่ทรงสนพระทัยในสิ่งทั้งปวง สิ่งที่เคยเป็นข้าศึกไม่อาจจะยังพระองค์ให้หวั่นไหวไปตาม แนวทางที่ทรงดำเนินอันเป็นส่วนเหตุให้รับผลประจักษ์พระทัย และแผ่กระจายออกมาเป็นศาสนธรรม ประกาศให้เวไนยผู้ใคร่ต่อแดนพ้นทุกข์ได้ทราบทั่วถึงกัน เป็นแนวทางที่ทรงดำเนินโดยถูกต้องตามหลักเหตุอันดี ผลจึงเป็นความอัศจรรย์ทั่วไตรภพ เพราะปรีชาสามารถของอัจฉริยมนุษย์ ธรรมจึงเป็นอัจฉริยธรรมทรงคุณภาพทั้งฝ่ายเหตุฝ่ายผลไว้โดยสมบูรณ์ และเป็นปัจจุบันธรรม ทันกับเหตุการณ์ของสภาวะทั่วๆ ไป สมกับคำว่า มัชฌิมา คือท่ามกลางอยู่เสมอ ไม่ปรากฏมีต้นมีปลาย

เริ่มแรกแห่งการประทานพระโอวาทแก่พระเบญจวัคคีย์ ก็ตรัสว่า มัชฌิมา ใจความในพระธรรมเทศนามีสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป ถึง สัมมาสมาธิ ธรรมทั้งนี้ประทานนามว่า มัชฌิมาปฏิปทา ทั้งนั้น ไม่ได้ตรัสเป็นอย่างอื่น เพราะฉะนั้น พระธรรมที่ประทานไว้จึงเป็นมัชฌิมา ไม่เคยละบทบาทและเหตุผลไปสู่ความเป็นอื่น เช่นตรัสไว้ใน อนัตตลักขณสูตรต่อท้ายพระธรรมจักร โปรดพระเบญจวัคคีย์ ทรงแสดงไตรลักษณ์ คือ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ความถูกต้องแม่นยำของพระธรรมที่ทรงแสดง ปรากฏเป็นความจริงสะเทือนทั่วทั้งโลกธาตุ ซึ่งเป็นภูมิแห่งไตรลักษณ์สถิตอยู่อย่างสมบูรณ์

เพราะทุกสิ่งบรรดาที่เป็นสัตว์สังขาร แม้จะมีลักษณะต่างๆ และอยู่ในที่ต่าง กัน แต่ก็เป็นสภาพแห่งไตรลักษณ์ด้วยกัน บรรดาสัตว์บุคคลตลอดทวยเทพที่มีรูปร่าง แง่ความคิด ภูมิที่อยู่ และนิสัยวาสนา จะต่างกันตามกรรมนิยมก็ตาม แต่จำต้องยอมรับกฎของไตรลักษณ์อันเป็นกฎของวัฏฏะอันเดียวกัน และเป็นภูมิของไตรลักษณ์เสมอกัน

คำว่า ทุกฺขํ คือความทุกข์กายไม่สบายใจ ใครจะหลีกเลี่ยงไม่ยอมรับทุกข์อันเกิดขึ้นกับตนผู้เป็นต้นเหตุของทุกข์ไปไม่ได้ ต้องยอมรับโดยทั่วกัน และทุกระยะที่ทุกข์เกิดขึ้นมากน้อย คำว่า อนิจฺจํ กับ อนตฺตา ก็โปรดทราบว่าทำงานไปพร้อมกัน ไม่มีสภาพใดก่อนและหลัง และทำงานในสถานที่บุคคลและสัตว์อันเดียวกัน ไม่ได้แยกกันทำงาน ไม่มีการหยุดทำงาน และพักร้อน ตากอากาศ ต่างก็ทำงานอยู่เช่นนั้น งานของไตรลักษณ์ผิดกับงานของเรามากจนกลายเป็นคนละมุมโลก ทั้งเป็นสภาพอยู่เหนือร่างกายและจิตใจของสัตว์ และยึดเอาร่างกายจิตใจของสัตว์เป็นที่ทำงาน

ฉะนั้นเราอย่าสำคัญว่าตนเป็นพระเป็นเณร จนเกิดความประมาทนอนใจในเพศของตน โดยขาดความสนใจคิดหาทางออกจากกองทุกข์ ความจริงเราก็คือ โต๊ะ เก้าอี้ ที่ทำงานของไตรลักษณ์อันเป็นกงจักรของไตรภพอยู่โดยดี เมื่อตรัสว่านี่ไม่เที่ยง สภาพใดจะฝืนกลายเป็นของเที่ยงขึ้นมา เมื่อตรัสว่านี่เป็นทุกข์ สภาพใดจะฝืนกลายเป็นสุขขึ้นมา เมื่อตรัสว่า นี่เป็นอนตฺตา สภาพใดจะฝืนกลายเป็น อตฺตา ขึ้นมา เหมือนพระโอวาทที่ตรัสไว้แล้วอย่างตายตัว ทั้งนี้จะไม่มีสิ่งใดฝืนหลักสวากขาตธรรมไปได้ ตลอดกาลไหน เพราะฉะนั้น พระโอวาททั้งหมดจึงเลื่องลือว่าเป็นมัชฌิมา ไม่มีการเบี่ยงบ่าย หรือพลาดไปจากศูนย์กลางแห่งความจริง

ดังนั้น ขอให้ทุกท่านสนใจพิจารณาตามสภาวะคือ ไตรลักษณ์ จะเป็นเครื่องยังมรรค ผล นิพพานให้เกิดขึ้นแก่ผู้สนใจยึดไตรลักษณ์เป็นทางเดินของจิต แต่ยังมีทางเป็นข้าศึกต่อบุคคลผู้ไปยึดถือไตรลักษณ์ว่าเป็นตน เพราะเมื่อถือไตรลักษณ์เป็นตนแล้ว ทุกสิ่งไม่ว่าข้างนอกข้างในก็จะกลายเป็นตนและกลายเป็นของตนขึ้นมา เพราะความสำคัญว่านี้เป็นตน นั่นเป็นของตน เป็นเหตุ แม้สภาวะทั้งหลายจะเป็นไปตามความจริงของเขาก็ตาม แต่ผู้มีความมุ่งหวังอย่างแรงกล้าแล้ว ต้องมุ่งให้สิ่งทั้งปวงเป็นไปตามใจหมาย โดยให้เป็นสุขบ้าง ให้ทุกสิ่งยั่งยืนถาวรบ้าง เป็นต้น นั่นคือบ่อแห่งความทุกข์อันซับซ้อน เริ่มแสดงตัวออกมาอย่างเปิดเผยแล้ว เพราะการปักปันเขตแดนไว้ ถูกล้มละลายไปตามหลักคติธรรมดา เกิดอารมณ์ไม่สมหวังขึ้นมาบนหัวใจ จึงเต็มไปด้วยความทุกข์ร้อนขุ่นมัวประหนึ่งเพลิงทั้งกอง

ที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้พิจารณาไตรลักษณ์ก็เพื่อจะตัดสาเหตุการหลั่งน้ำตาของสัตว์ผู้ไปยึดไตรลักษณ์มาเป็นตนเป็นของตนเสียได้ กลายเป็นความรู้เท่าทันตามหลักความจริงและถอดถอนอุปาทานความยึดมั่นสำคัญผิดอันเป็นเสี้ยนหนามทิ่มแทงหัวใจให้หมดไป

พระพุทธเจ้าก็ดี พระสาวกก็ดี ถ้าไม่ได้พิจารณาสภาวะที่กล่าวนี้ให้สมบูรณ์ด้วยปัญญาแล้ว จะปรากฏเป็นพระพุทธเจ้า และสาวกที่บริสุทธิ์ขึ้นมาให้เรากราบไหว้ไม่ได้ แม้พระธรรมที่บริสุทธิ์ก็โปรดทราบว่า เกิดขึ้นมาเพราะไตรลักษณ์ทั้งนั้น คำว่า ไตรลักษณ์ อันเป็นเส้นทางเดินเพื่อความหมดจดพ้นทุกข์นั้นได้เสื่อมสูญไปจากโลกกาลใดบ้าง ไม่เคยปรากฏ และยังเป็นธรรมตั้งอยู่ศูนย์กลางของโลกและสภาวะทั่ว ไปอีกด้วย คำว่า ไตรโลก คือโลกสาม คำว่า ไตรลักษณ์ก็ตั้งอยู่ศูนย์กลางแห่งโลกสามนี้ การที่สัตว์โลกได้รับความทุกข์ลำบากหมุนเวียนเปลี่ยนตัวเองตลอดมา โดยไม่ทราบว่าตนเป็นกงจักร ทั้งนี้เนื่องจากไม่ทราบชัดในหลักความจริงของไตรลักษณ์ พอที่จะปล่อยวางได้ด้วยอำนาจของปัญญานั่นเอง แต่ถ้าถือไตรลักษณ์เป็นหินลับทางเดินของสติปัญญาอยู่เป็นประจำ ไตรลักษณ์มิใช่จะเป็นข้าศึกเสมอไป ยังจะกลายมาเป็นกัลยาณมิตรอันยอดเยี่ยมของสติปัญญาอีกด้วย

เราทุกท่านผู้บวชมาในพระศาสนาและดำเนินตามพระโอวาท จงเห็นสติปัญญาซึ่งเป็นเครื่องดำเนินเพื่อความพ้นทุกข์โดยสมบูรณ์ ว่าเป็นธรรมสำคัญ และจำเป็นอย่างยิ่ง เช่นเดียวกับอาหารซึ่งเป็นของจำเป็นแก่มนุษย์และสัตว์ทั่วโลก จะขาดไปไม่ได้แม้แต่เวลาเดียว โปรดคิดดูกันอย่างง่าย เครื่องสำเร็จรูปซึ่งเกิดจากการผลิตของคนผู้มีความฉลาดด้วยสติปัญญา ส่งจากโรงงานออกเป็นสินค้า มีชนิดต่าง จนไม่สามารถจะนับอ่านได้ ขายไปตามสถานที่ต่าง มีเต็มไปหมดตามตลาดร้านค้าทั่วประเทศนั้น โปรดทราบว่าเกิดจากสติปัญญาเป็นผู้นำของการผลิตทำทุกประเภท โลกไม่เคยเอาคนขาดสติปัญญา คือประเภทบ้าบอมาเป็นคนงาน เป็นหัวหน้างาน เป็นผู้จัดการทุก แผนก ตลอดวงราชการทุกหน่วย และทุกกระทรวง ทบวง กรม ไม่เคยมีคนประเภทที่น่าสังเวชดังกล่าวเข้ามาแอบแฝงอยู่เลย

เราผู้เป็นนักบวช และเป็นนักปฏิบัติด้วย ถ้ายังไม่สนใจจะนำสติปัญญามาเป็นหัวหน้าดำเนินงานแล้ว ขอพูดอย่างตรงไปตรงมา เกิดตาย สักกี่กัปจะไม่มีวันผ่านพ้นกองทุกข์ไปได้เลย คำว่า สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป คืออะไร และใครตรัสไว้ ถ้าไม่ใช่มหาสติมหาปัญญาตรัสไว้แล้ว คนหูหนวกตาบอด คนวิกลจริตคนไหนจะสามารถมาตรัสไว้ เราเดินไปตามถนนหนทางเจอผู้เสียสติ ไม่มีปัญญาแก้ไขตนเองให้พ้นจากภาวะเช่นนี้ จะเกิดความสลดสังเวชบ้างไหม

มองดูอวัยวะของเขายังสมบูรณ์ ไม่มีส่วนบกพร่อง แต่เขากลายเป็นคนที่น่าสงสารสังเวช ทั้งนี้เพราะเขาขาดอะไรในตัวของเขา ถ้ามีผู้มาถาม เราจะตอบเขาว่ากระไรจึงจะถูกต้องตามความจริงซึ่งเขากำลังประสบอยู่ เรื่องทั้งนี้จะพอเป็นคติเตือนใจให้เรามีสติระลึกรู้ และมีปัญญาปลงธรรมสังเวชในตัวเขา และตัวเราได้บ้างไหม พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนโลกด้วยความเห็นโทษและเห็นคุณจริง แต่เราผู้ฟังพระธรรมของท่านจะพอมีสติปัญญาเป็นอุบายถอดถอนความชั่วมัวหมองออกจากใจได้บ้างไหม หรือจะยิ่งเสริมให้โง่และเกียจคร้านอ่อนแอยิ่งขึ้น

ธรรมทั้งนี้ควรยกเป็นปัญหาถามตัวเอง เพราะต้นของปัญหาทั้งหมดมันอยู่กับเรา ผู้ตั้งหน้ามาศึกษาและปฏิบัติ จึงไม่ควรถือเป็นปัญหาของใคร และถามใครนอกจากตัวเอง เพราะผู้มุ่งต่อแดนพ้นทุกข์ถ้าไม่พยายามบำรุงสติปัญญาให้มีกำลังแรงกล้าแล้ว จะพ้นจากทุกข์ไปได้โดยทางไหน การพ้นจากทุกข์ตามเสด็จพระพุทธเจ้าไม่ได้ ก็เพราะความมืดมน ประพฤติตามอำเภอใจของกิเลสนั่นเอง คนขาดสติเขาไม่เรียกคนธรรมดา แต่เขาเรียกคนบ้ากันทั้งนั้น ถ้าสติได้ด้อยลงไปบ้าง คนนั้นก็เริ่มขาดบาทไปแล้ว กลายเป็นคนสองสามสลึงไป นี่เขาเรียกว่าคนบอ ถ้าได้ขาดสติไปเสียจริง เขาก็เรียกว่า คนบ้าเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ไปเลย

ไม่ถึงเช่นนั้น เพียงคนกำลังเมาสุราคุมสติไว้ไม่อยู่ เขายังเรียกว่า คนบ้าสุรา ทั้งนี้คือโทษของความขาดสติทั้งนั้น คนมีสติดีเดินไปตามถนนหนทาง พูดจาพาที มรรยาท ความเคลื่อนไหว เป็นที่น่าดูน่าชมจับหูจับตา จับจิตจับใจ ไม่เป็นที่รังเกียจ แต่คนที่ขาดสติกลายเป็นคนที่แปลกจากโลกเขา อยู่ในบ้านใดเมืองใด ก็แสดงว่าคนนั้นต้องแปลกจากเขาในที่นั้น อะไรเล่าที่ทำให้เป็นเช่นนั้น ฉะนั้นสติกับปัญญาจึงไม่ใช่เป็นเรื่องเล็กน้อย คนไม่ฉลาดจะทำกิจการใด ไม่ว่าการถางไร่ ไถนา การซื้อการขาย การทำมาหาเลี้ยงชีพทุกอย่างจะไม่ทันเขาเลย แม้จะทำงานตลอดวัน ผลรายได้ไม่คุ้มค่าเวลาที่เสียไป แต่คนมีสติและปัญญาด้วยแล้ว จะทำกิจการใดๆ ย่อมเป็นไปเพื่อความเรียบร้อยสวยงามและสมบูรณ์

โลกที่อยู่ได้ด้วยความเป็นปึกแผ่นแน่นหนา มีตึกรามบ้านช่อง ถนนหนทางที่อยู่อาศัยไปมาหาสู่สะดวกสบาย ทั้งนี้เพราะอำนาจของสติปัญญาเป็นผู้นำทั้งสิ้น อย่าเข้าใจว่าโลกอยู่กันด้วยความเป็นบ้าเป็นบอเพราะขาดสติปัญญา จึงควรจะกล่าวได้ว่าสติกับปัญญาเป็นโรงงานใหญ่ ประกอบด้วยตัวจักรนานาชนิด ผลิตคนให้เป็นคน ผลิตพระให้เป็นพระ ผลิตโลกให้เป็นโลก และผลิตธรรมให้เป็นธรรมอย่างสมบูรณ์เต็มที่ ฉะนั้น จงอย่ามองข้ามสติปัญญา พระสิทธัตถราชกุมารเป็นพระพุทธเจ้าและศาสดาเอกของสัตว์โลกได้เพราะสติปัญญา แม้ทรงสั่งสอนโลกก็สั่งสอนด้วยอำนาจพระสติพระปัญญา ไม่เคยเอาความโง่มาสอนสัตว์

เวลานี้เรากำลังโง่อยู่เต็มตัวด้วยกัน ตามขั้นแห่งธรรมที่ยังไม่รู้ทั่วถึง และกิเลสบาปกรรมที่ยังไม่สามารถชำระได้ แต่คงไม่ใช่แบบโดนภูเขาทั้งลูกด้วยทั้งนัยน์ตายังดีๆ สิ่งใดที่ยังแก้ไม่ได้ รู้ไม่ทัน สิ่งนั้นเราต้องยอมโง่ต่อเขาอยู่โดยดี แต่จะพ้นอำนาจของความเพียรไปไม่ได้ การอบรมสติจะอบรมอย่างไร จึงจะเป็นสติที่แก่กล้า เป็นปัญญาที่รวดเร็วทันกับเหตุการณ์ที่หมุนรอบตัว นี่ได้เคยอธิบายให้ฟังมามากแล้ว จึงไม่ควรสงสัยในอุบายวิธี นอกจากประโยคความเพียรเพื่อสติปัญญาให้เกิดขึ้นเท่านั้น เป็นปัญหาขึ้นอยู่กับผู้ฟังทุกท่านจะสนใจในตัวเอง หากเป็นผู้สนใจจริง แล้ว ความเคลื่อนไหวทุกอาการ และความสัมผัสจากทุกสิ่งทางทวาร ล้วนเป็นความกระเทือนพอจะให้สติปัญญามีความไหวตัว รับรู้และพิจารณาตามได้ทั้งนั้น เพราะการฝึกหัดตัวเอง ต้องฝึกหัดจากความกระเทือน และสิ่งสัมผัสซึ่งมีอยู่รอบตัว

แม้บทบริกรรมภาวนามีลมหายใจหรือพุทโธ เป็นต้น ก็ต้องมีความสัมผัสกับความรู้ ไม่ใช่อยู่เฉยๆ จะเป็นความรู้สึกลม และพุทโธขึ้นมาเอง ถ้าเป็นเช่นนั้น ทุกคนมีลมหายใจย่อมพ้นจากทุกข์กันทั่วโลกดินแดนโดยไม่ต้องทำการขวนขวาย ดังนั้นจึงต้องอาศัยการจดจ่อของสติควบคุมอยู่ด้วย จึงจะเป็นความรับรู้ และการบำเพ็ญที่สมบูรณ์ในองค์ภาวนา และได้รับผลตามลำดับความต่อเนื่องของสติ แต่เมื่อถึงขั้นความเคยชินของสติและปัญญาแล้ว ใจกับสภาวธรรม และสติปัญญา ก็กลมเกลียวกันไปเองตามหน้าที่ของตน โดยปราศจากการบังคับขู่เข็ญใด เช่นเดียวกับคนเดินทาง ตาหูจะมองและฟังสิ่งต่าง สองฟากทาง และใจจะคิดเรื่องอะไร ก็ไม่ทำให้การเดินทางหยุดชะงัก เพราะสิ่งเหล่านั้นมาเป็นอุปสรรค

ลักษณะของสติปัญญาที่มีกำลังกล้าจากการอบรมติดต่อกัน ย่อมแสดงความฉลาดรอบคอบอยู่กับตัว ไม่ยอมให้สิ่งเกี่ยวข้องผ่านไปเปล่าโดยไม่ได้รับรู้ และพิจารณาให้เข้าใจก่อน ไม่เช่นนั้นจะไม่มีทางเป็นมหาสติมหาปัญญาขึ้นมาได้ เพราะสติปัญญาที่ควรจะให้นามเช่นนั้นต้องทำงานโดยอัตโนมัติ คือหมุนตัวไปกับเหตุการณ์ที่มาเกี่ยวข้องไม่ยอมล่าถอย   จนกว่าได้รับความเข้าใจและรู้เท่าปล่อยวางแล้ว  การคุ้ยเขี่ยขุดค้นอาสวะซึ่งหมักหมมอยู่ภายในอย่างลึกลับ จำต้องเป็นหน้าที่ของสติปัญญาประเภทนี้จะทำการรื้อถอนขึ้นมาโดยสิ้นเชิง จะเหนือไปไม่ได้ และจะมีกิเลสอาสวะประเภทใดจะลี้ลับต่อปัญญาประเภทนี้ไปได้ จะต้องถูกเปิดเผยขึ้นมาโดยไม่เหลือ ขอแต่ผู้บำเพ็ญอย่าทำความอิดหนาระอาใจต่อการอบรมเพื่อให้เกิดสติปัญญาประเภทที่กล่าวแล้วเท่านั้น ความบริสุทธิ์ของใจ อย่างไรก็จะต้องเกิดขึ้นจากแดนมหาสติ มหาปัญญา ซึ่งผู้บำเพ็ญทำให้สมบูรณ์แล้ว จะไม่มีที่อื่นเป็นที่เกิดขึ้นของธรรมอัศจรรย์

การแสดงมาทั้งนี้ ใคร่ขอให้ทุกท่านทำความมั่นใจ เพราะธรรมที่แสดงทุกบททุกบาทและทุกครั้ง ไม่ได้แสดงอย่างลอย เพราะไม่ได้ปฏิบัติมาลอยๆ แต่สละเป็นสละตายเพื่อธรรมของพระพุทธเจ้าจริงๆ ถ้ารู้ก็ไม่ต้องการอยากรู้แบบลอยๆ แล้วนำมาแสดงอย่างลอย แก่ท่านผู้ฟังซึ่งต่างก็ฟังด้วยความสนใจ และสละเป็นสละตายจากถิ่นฐานบ้านเรือนมาศึกษาและปฏิบัติอยู่ด้วย ดังนั้นจึงได้ทำความเต็มใจแสดงจนสุดขีดความสามารถของธรรมะป่า ซึ่งเคยแสดงมาแล้ว และขอย้ำจุดสำคัญซึ่งเป็นที่รับรองผลแน่นอนอีกครั้ง คือ

การพิจารณากายซึ่งเป็นปัจจุบันธรรมและมีอยู่กับตัวของเราทุกท่าน เพราะเหตุใด จึงไม่ได้อุบายแยบคายและปรากฏเป็นความแปลกประหลาดและอัศจรรย์ขึ้นมากับใจ ผู้ครองร่างกายนี้บ้าง การพิจารณาเห็นส่วนร่างกายจะเป็นส่วนใดหรือทั่วทั้งร่างก็ตามประจักษ์กับใจจริงๆ ต้องเกิดความสลดสังเวชขึ้นในขณะที่เห็นแน่นอน ความเห็นโทษแห่งความหลงที่เคยยึดกายว่าเป็นของเราจริงๆ ก็ดี ความเห็นโทษในทุกข์ที่มีประจำกายก็ดี ความเห็นโทษแห่งความงมงายที่เคยจับโน่นวางนี่ เพราะการพิจารณากายไม่ได้หลักยึดเป็นที่พอใจก็ดี และความเห็นโทษแห่งความฟุ้งซ่านของใจก็ดี จะปรากฏขึ้นพร้อมกับขณะที่จิตเห็นกายชัด อันดับต่อไปใจจะหยั่งลงสู่ความสงบอย่างสนิท และพักอยู่ได้นานกว่าธรรมดา

โทษที่กล่าวมาทั้งนี้แม้จะยังมีอยู่ในใจก็เริ่มจะลดน้อยถอยลงเป็นลำดับ จิตก็ยึดหลักของกายไว้ได้ การภาวนาในคราวต่อไปก็ง่ายขึ้น ความสงบใจก็ปรากฏได้เร็ว เพราะมีหลักกายเป็นที่ยึด การแยกส่วนแบ่งส่วนของร่างกายให้เป็นต่าง ตามความแยบคายของปัญญานั้นจะเป็นหน้าที่ของจิต ซึ่งเห็นกายชัดจะทำการพิจารณาในเวลานั้น  คำว่า อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ซึ่งเคยติดใจเพราะการได้ยินได้ฟังมา จะปรากฏเป็นความจริงประจักษ์ใจขึ้นในเวลานั้น ไตรลักษณ์ที่เคยจำได้ กับไตรลักษณ์จริง ที่ปรากฏขึ้นกับใจในขณะนั้นจะรู้สึกแปลกกันมาก สมาธิและปัญญาที่เคยทำความเข้าใจไว้ กับสมาธิปัญญาที่ปรากฏขึ้นในขณะนั้น แม้จะยังไม่ถึงขั้นละเอียดเต็มที่ แต่ปรากฏแปลกต่างกันมากในความรู้สึกของผู้กำลังปรากฏการณ์อยู่ในเวลานั้น

แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า ธรรมที่เราทรงไว้ด้วยการจดจำกับธรรมที่ปรากฏขึ้นในขณะภาวนา ได้ทำความร้าวรานหรือแตกร้าวกัน ความจริงเป็นธรรมอันเดียวกัน แต่ต่างกันในแง่แห่งความรู้สึกของคน เดียวซึ่งเกิดขึ้นในขณะมีประสบการณ์เท่านั้น เช่นเดียวกับเราฟังคำบอกเล่า กับการพบความจริงด้วยตนเองในเรื่องเดียวกัน จะแปลกต่างกันในความรู้สึกซึ่งเคยวาดภาพเอาไว้ แล้วได้พบความจริงด้วยตนเอง ปัญหาการวาดภาพกับตัวจริงก็ยุติลงในคนๆ เดียวกัน ฉะนั้น ท่านจึงให้นามความรู้เห็นประเภทนี้ว่า สนฺทิฏฺฐิโก บ้าง ปจฺจตฺตํ บ้าง เพื่อผู้ปฏิบัติจะพิสูจน์เอาเอง

เพราะการรู้เห็นธรรมที่เกิดจากสมาธิและปัญญา ย่อมเป็นสิ่งประจักษ์จำเพาะตน  โดยจะวาดภาพให้ใครดูด้วยไม่ได้ เพราะไม่ใช่ด้านวัตถุ ผู้ประสงค์ สนฺทิฏฺฐิโก และ ปจฺจตฺตํ เป็นสมบัติของตนย่อมมีอยู่ทางเดียว คือ ต้องทำด้วยตนเองตามหลักธรรมที่ประทานไว้ ธรรมนี้ก็จะกลายเป็นของตนขึ้นมา

ดังนั้นการพิจารณากายอันเป็นบาทของสมาธิและปัญญา จึงเป็นสิ่งจำเป็นโดยจะมองข้ามไปไม่ได้ การพิจารณากายละเอียดถี่ถ้วนเท่าไร ความรู้ความฉลาดยิ่งแตกฉานมากไม่มีสิ้นสุด และสามารถถอดถอนอุปาทานในกายได้โดยไม่มีปัญหา นักปฏิบัติที่เป็นนักกายวิภาคไม่ค่อยพลาดจากหลักความจริงและก้าวไปได้อย่างรวดเร็ว การปฏิบัติจึงควรสนใจต่อกายวิภาคซึ่งจัดเข้าในสติปัฏฐานข้อแรก เพราะเป็นที่เพาะปลูกสติปัญญาทุกขั้น ถ้าสติปัญญาได้ยึดกายเป็นทางเดินประจำแล้ว แม้เวทนา จิต ธรรมก็กลายเป็นทางเดินของสติปัญญาขึ้นมาโดยหลักธรรมชาติ เพราะธรรมทั้งนี้มีอยู่ในจุดเดียวกันและเกี่ยวโยงถึงกัน สติปัญญาสามารถจะวิ่งประสานกันได้ทั้งทางกาย เวทนา จิต ธรรมในเวลาเดียวกัน

ท่านนักปฏิบัติโปรดอย่าทำความสำคัญว่า สติปัฏฐานสี่เป็นของเก่าแต่อดีตกาล ซึ่งควรจะคร่ำคร่าไปแล้ว และว่าเป็นของใหม่ซึ่งกำลังจะมาถึงมือ แล้วรอคอยให้เสียเวลาด้วยความเข้าใจผิด แต่สติปัฏฐานสี่ คือ กายของเรา เวทนาของเรา จิตของเรา และธรรมของเรา มีอยู่ซึ่ง  หน้า เห็นอยู่ด้วยตา รู้อยู่ด้วยใจทุกขณะ ไม่เคยสูญไปจากตัวเรา โปรดทำความเข้าใจกับสติปัฏฐานสี่ซึ่งเป็นของเราโดยถูกต้องด้วยปัญญา และโปรดนำอิทธิบาททั้งสี่ คือ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ มาเป็นเครื่องสนับสนุนเพื่อวิมังสา คือองค์ปัญญาให้มีกำลังกล้าสามารถถอดถอนกิเลสอาสวะ ซึ่งเป็นเหมือนมหาโจรผู้เรืองอำนาจในดวงใจให้สิ้นไป ไม่ให้มีซากเหลืออยู่

การเกิดตายซ้ำๆ ซากๆ จนไม่สามารถจะนับป่าช้าของเราคนเดียวได้ ไม่น่าขยะแขยงบ้างหรือ ชาตินี้ก็แน่แล้วว่าเราจะต้องตาย ตายที่ไหนก็ต้องเป็นป่าช้าของเราที่นั่น ชาตินี้กับชาติหน้า วันนี้กับวันหน้า ไม่มีระยะห่างไกลกันเลย ติดแนบอยู่กับคนๆ เดียวนี้ ความหมุนเกิดหมุนตาย ซึ่งเป็นก้อนขันธ์อันเดียวกัน มันเป็นเรื่องของเรา การดูความเกิดตาย เราดูเรื่องของเราก็พอเป็นสักขีพยานได้อย่างเต็มใจแล้ว การจำได้หรือไม่ได้มันเป็นเรื่องเกิดตายอยู่เช่นนั้น ไม่มีอำนาจมาลบล้างการเกิดตายได้เลย ถ้าเราไม่สามารถถอดถอนเรื่องเกิดตาย วงภายใน คืออวิชชาออกจากใจให้พ้นไปเสียในชาตินี้ เรื่องชาติหน้าจะเป็นเรื่องของเราอยู่นั่นเอง และไม่มีวันจบสิ้นลงได้ เพราะเราเป็นตัวอวิชชาผู้หมุนเกิด หมุนตายดังที่เห็นอยู่นี้

เราลองคิดย้อนหลังดู วานนี้กับวันนี้ และกับวันพรุ่งนี้ห่างไกลกันที่ไหน มืดกับแจ้งไม่ใช่เป็นของห่างไกลกัน ความสว่างกับความมืดอยู่ในฉากเดียวกัน เช่นขณะนี้เรามีความสว่างเพราะดวงไฟ พอดับไฟลงเท่านั้นความมืดก็ปรากฏทันทีในสถานที่อันเดียวกัน ความเป็นกับความตายก็อยู่ในบุคคลคนเดียวกัน ความทุกข์ ความทรมานทุกอย่างซึ่งเป็นกิ่งก้านสาขาออกมาจากความเกิด ก็อยู่ในคนๆ เดียวกัน เช่นเดียวกับกิ่งแขนงต่างๆ  ซึ่งเกิดจากไม้ต้นเดียวฉะนั้น

โปรดพิจารณาด้วยความละเอียดถี่ถ้วน เพราะเพศนี้ไม่ใช่เพศที่นอนอยู่เฉย โดยไม่คิดนึกตรึกตรอง เป็นเพศที่ควรจะเห็นคุณและเห็นโทษในสิ่งที่ควรไม่ควร ซึ่งมีอยู่ภายในและภายนอกทั่วดินแดน ความสุขซึ่งเป็นเหยื่อล่อให้ติดอยู่ และความสุขอันเป็นไปเพื่อวิมุตติหลุดพ้น เป็นสิ่งที่ควรจะทราบได้ด้วยปัญญาของนักพรตซึ่งเป็นเพศที่ไตร่ตรอง เราอย่าเห็นความสุขที่แฝงอยู่ในอิริยาบถของกายอันเป็นก้อนทุกข์ ว่าจะให้ความสุขแก่เราตลอดกาล และเป็นความสุขที่ควรนอนใจไม่แสวงหาทางออก จะกลายเป็นฝูงแร้งฝูงกาที่เกาะกินซากอสุภ ซึ่งลอยอยู่ในมหาสมุทรทะเลด้วยความประมาท โดยไม่คำนึงว่าซากอสุภจะนับวันออกห่างจากฝั่ง และแปรสภาพจมลงในทะเลหลวง มัวเพลินกินซากอสุภโดยไม่คิดหาทางออก สุดท้ายซากอสุภก็จมลง ฝูงสัตว์ตัวประมาทเห็นท่าไม่ดี ก็บินหาทางพ้น แต่สายไปเสียแล้ว บินเข้าสู่ฝั่งไม่ไหวต้องจมน้ำตายในทะเล กลายเป็นอสุภอันดับสองฝังจมอยู่ในทะเล

ซากอสุภในที่นี้ คือ กาย และสิ่งอาศัยเล็กน้อย ฝูงแร้งฝูงกา คือ เราผู้ประมาท อาศัยความสุขเล็กๆ น้อยๆ คอยวันคอยคืนเพื่อความสุขความเจริญโดยผิดทาง ร่างกายและสิ่งอาศัยเล็กน้อยนับวันแปรปรวนไปโดยเจ้าตัวไม่รู้ ผลสุดท้ายก็แตกทำลาย กว่าจะรู้ตัวและหาทางออก เวลาสายไปเสียแล้ว จึงเป็นทำนองฝูงแร้งกาตัวประมาทจมอยู่ในทะเลหลวงฉะนั้น

คำว่า แดนวิมุตติ จึงไม่ใช่แดนแห่งการเวียนเกิดเวียนตายอันคลุกเคล้ากับความทุกข์ทรมานซ้ำๆ ซากๆ หมุนไปเวียนมาเหมือนแดนที่เราอยู่กันนี้ ถ้าเป็นผู้มุ่งต่อความเห็นโทษในสิ่งที่เคยผ่านมา และเพื่อก้าวไปสู่แดนที่ไม่เคยไป ซึ่งไปแล้วไม่ต้องกลับมาเป็นซากอสุภจมทะเลอีก จงทำความสนใจต่อข้อปฏิบัติเครื่องดำเนิน จะถึงฝั่งแห่งความปลอดภัยโดยแน่นอน ธรรมเครื่องดำเนิน คือ สติปัฏฐานเป็นต้น ที่อธิบายผ่านมาแล้ว แต่จะอธิบายอีกเล็กน้อยเพื่อความแน่ใจแก่ท่านผู้ฟัง

คำว่า สติปัฏฐาน แปลว่า ที่ตั้งของสติ มีสี่ คือ กาย เวทนา จิต ธรรม ทุกส่วนของร่างกายรวมแล้วเรียกว่า กาย ความสุข ความทุกข์ และเฉย ไม่สุข ไม่ทุกข์ ที่เป็นไปทางกาย ทางใจ ที่เรียกว่า เวทนา ใจและกระแสของใจที่เกี่ยวกับอารมณ์เรียกว่า จิต สิ่งที่ถูกใจและกระแสของใจเกี่ยวข้องหรือสิ่งที่ถูกเพ่งทั้งส่วนหยาบ ส่วนกลาง และส่วนละเอียด เรียกว่า ธรรม ทั้งสี่นี้มีสมบูรณ์อยู่กับตัวเราทุกท่าน และเป็นบ่อเกิดของสติ ปัญญา ศรัทธา ความเพียร ตลอดวิมุตติความหลุดพ้น จะเกิดจากสติปัฏฐานสี่ ซึ่งได้อธิบายผ่านมาแล้ว จึงไม่จำต้องอธิบายอีก

ฉะนั้นขอให้นักปฏิบัติจงทำการขุดค้นลงในธรรมทั้งสี่นี้ด้วยความเพียร โดยไม่ต้องสนใจกับ วัน คืน เดือน ปี อันเป็นของมีอยู่ประจำโลก ว่าจะเป็นผู้รอให้บำเหน็จรางวัล และช่วยเปลื้องทุกข์ให้เรา เรื่องมีอยู่ที่ทุกข์ สมุทัย กับนิโรธ มรรค เท่านั้น ที่เป็นธรรมเกี่ยวข้องกับเราอยู่ ซึ่งจะปฏิบัติกับธรรมเหล่านี้ให้สุดขีดของความจริงประจักษ์ใจ

คำว่า ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรคก็ดี สติปัฏฐานสี่ก็ดี และไตรลักษณ์ก็ดี โปรดทราบว่ามีอยู่กับคน เดียว มิได้มีอยู่ในที่ต่างกัน ผู้ปฏิบัติต่อธรรมทั้งสามนี้สายใดสายหนึ่งชื่อว่าปฏิบัติต่อตนเอง เพราะจุดความจริงคือตัวเราเป็นฐานรับรองธรรมทั้งสามประเภทนี้ ถ้าพิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม ให้ชัดเจนด้วยปัญญาแล้ว ทุกข์กับสมุทัยไม่จำต้องบังคับขู่เข็ญด้วยวิธีอื่นใด แต่จะหมดสิ้นไปเอง ตามหน้าที่ของเหตุซึ่งดำเนินโดยถูกต้อง ถ้าพิจารณาไตรลักษณ์ คือ อนิจฺจํ ทุกฺขํ  อนตฺตา  ก็ให้เห็นชัดว่า กาย เวทนา จิต ธรรมเป็นไตรลักษณ์แน่นอน ไม่เป็นอย่างอื่น การดำเนินสายอริยสัจก็ดี สายสติปัฏฐานก็ดี และสายไตรลักษณ์ก็ดี มันเป็นเรื่องของคนๆ เดียวกัน และเป็นทางสายเอกที่สามารถยังผู้ดำเนินตามให้ถึงธรรมอันเอกได้เช่นเดียวกัน

ผู้ปฏิบัติดำเนินให้ถูกต้องตามธรรมทั้งสามจะหนักเบาในสายใดตามจริตชอบ ย่อมเป็นเหมือนทำงานร่วมพระหัตถ์ของพระพุทธเจ้าอยู่ทุกขณะของประโยคความเพียร เพราะพุทธกับธรรมเหล่านี้อยู่ในฉากอันเดียวกัน ผู้ปฏิบัติรู้แจ้งในธรรมเหล่านี้แล้ว ย่อมจะรู้แจ้งในองค์ของพุทธที่บริสุทธิ์อยู่โดยดี ฉะนั้น ขอให้นักปฏิบัติผู้กล้าตายเราจงหยั่งสติปัญญาลงในกาย เวทนา จิต ธรรม โดยความสม่ำเสมอทางความเพียร อย่าเห็นอะไรประเสริฐยิ่งกว่าธรรมบทว่า นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ ซึ่งจะแจ้งชัดขึ้นกับใจ เพราะอำนาจของความเพียรเท่านั้น

ในองค์ของสติปัฏฐานสี่บรรจุเรื่องของเราไว้อย่างสมบูรณ์ คือทั้งกายนอก กายใน และกายในกาย ทั้งเวทนานอก เวทนาใน และเวทนาในเวทนา ทั้งจิตนอก จิตใจ และจิตในจิต ทั้งธรรมนอก ธรรมใน และธรรมในธรรม ซึ่งเป็นเป้าหมายของการพิจารณา โดยผู้ปฏิบัติจะไม่ได้ทำความสงสัยว่า ตนมีสติปัฏฐานสี่ไม่ครบบริบูรณ์ทั้งภายนอกภายใน แต่การกล่าวทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่า สติปัฏฐานสี่ภายนอกไม่สมบูรณ์และสติปัฏฐานป่ากับสติปัฏฐานบ้านเกิดทะเลาะกัน แต่แสดงเพื่อโอปนยิโก ผู้ปฏิบัติพระศาสนาที่สนใจจะได้ทราบว่าความดี ความชั่ว ไม่ได้มีอยู่เฉพาะภายนอกอย่างเดียว แม้ภายในตัวเราก็ยังมี ดังนั้น สติปัฏฐานสี่จึงไม่ควรคอยสมบูรณ์จากภายนอกโดยถ่ายเดียว แม้ภายในตัวของบุคคลคนเดียวก็ควรจะสมบูรณ์ด้วยสติปัฏฐานสี่ได้

ส่วนผู้จะพิจารณากายนอก เช่น กายคนอื่น สัตว์อื่นเป็นต้นนั้น ไม่มีปัญหาอะไร เพราะปริยัติท่านวางไว้แล้วอย่างตายตัว เช่น ธุดงค์ข้อเยี่ยมป่าช้าก็ทรงมุ่งกายนอกอย่างเด่นชัด ส่วนเวทนา จิต ธรรม ทั้งนี้แล้วแต่ผู้จะหาอุบายแยบคายเพื่อตนเอง ถ้ามีความแยบคายภายในใจอยู่ที่ไหนไปที่ใด ย่อมเต็มไปด้วยสติปัฏฐานสี่ทั้งนั้น ถ้าไม่สนใจด้วยแล้ว นั่งเฝ้า นอนเฝ้าสติปัฏฐานสี่ก็ไม่มีโอกาสรู้เห็นว่าสติปัฏฐานสี่เป็นอย่างไร และอยู่ที่ไหน หาไม่เจอตลอดกัปกัลป์ เช่น พวกเราที่ตกค้างอยู่ในโลก อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ก็คือ พวกค้นหาสติปัฏฐานสี่ไม่เจอนั่นเอง ไม่ต้องไปตำหนิใคร

เรื่องที่น่าตำหนิอย่างยิ่งก็คือ เรื่องของเราผู้ค้นหาของจริงในตัวไม่พบ ถ้าต้องการจะผ่านความตำหนินี้ไป คำว่า อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ก็ควรถือเป็นเรื่องของเราอย่างสมบูรณ์ วาระสุดท้ายซึ่งเป็นงานเพื่อตัวและส่วนรวม จึงถือเป็นเรื่องของเราจะต้องทำจนสุดความสามารถ จะไม่เสียลวดลายของผู้เป็นศิษย์พระตถาคตผู้ปรากฏเพศทางความเพียร และประทานพระโอวาทไว้ มีศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ซึ่งเป็นรากฐาน และร่องรอยที่ทรงผ่านไปแล้ว เช่นเดียวกับการปลูกบ้านเรือนด้วยโครงเหล็กเทคอนกรีตอย่างหนาแน่น ฉะนั้น คำว่า สติปัฏฐานสี่ก็ดี อริยสัจสี่ก็ดี และไตรลักษณ์ก็ดี อย่าให้ฝังอยู่เพียงความจำ เราเป็นนักบวชขอให้ธรรมทั้งนี้ฝังรากลึกลงถึงปัญญาจริง จะเห็นทางพ้นทุกข์ปรากฏขึ้นกับใจเป็นลำดับ

ในขณะปัญญากับธรรมทั้งสามนี้ได้เชื่อมถึงกัน การเชื่อมสนิทระหว่างปัญญากับธรรมเหล่านี้ จะเป็นทางหลุดพ้นโดยไม่มีอะไรจะสามารถมาแยกออกได้ ความหลุดพ้นของพระพุทธเจ้าก็ดี ของพระสาวกก็ดี ที่เลื่องลือมาเป็นเวลานาน จะทราบได้โดยประจักษ์ว่า ทรงหลุดพ้นเพราะธรรมเหล่านี้เท่านั้น ซึ่งเป็นจุดรับรองความบริสุทธิ์โดยสิ้นเชิง ดังนั้น ขอให้นักปฏิบัติจงทำความพยายาม จนสามารถยังธรรมที่กล่าวนี้ให้เชื่อมถึงกันกับปัญญาอย่างแนบสนิท ความพ้นทุกข์ซึ่งรอคอยมานาน จะประจักษ์ขึ้นจากจุดนี้โดยไม่ต้องสงสัย

ในอวสานแห่งการแสดงธรรมก็สมควรการยุติ ขอความสวัสดีจงมีชัย จงเกิดมีแก่ทุกท่านตามใจหวังเทอญ เอวํ

 

www.Luangta.com or www.Luangta.or.th


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก