รากฐานของพระศาสนา
วันที่ 31 กรกฎาคม. 2505 เวลา 19:00 น. ความยาว 61.53 นาที
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)

ค้นหา :

เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๓๑ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๐๕

รากฐานของพระศาสนา

 

ครั้งองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าก็ดี บรรดาพระสาวกทั้งหลายก็ดี ทรงนำพระศาสนา นำไปเพื่อปลีกจากเครื่องกังวลทั้งหลาย และนำไปเพื่อความพ้นทุกข์โดยถ่ายเดียว เราจะเห็นได้เมื่อพระสาวกทั้งหลายเข้ามาบวชในสำนักของพระองค์ท่านแล้ว แม้จะออกจากตระกูลใด ๆ ก็ตาม สาวกเหล่านั้นไม่เคยมีความเกาะเกี่ยวกังวลในตระกูลของตน ๆ ตลอดยศศักดิ์บริวารความมั่งมีดีเด่น อันจะเป็นบ่อเกิดแห่งทิฐิมานะ สิ่งเหล่านี้ไม่เคยปรากฏในสังคมแห่งสาวก เมื่อได้ออกปฏิญาณตนเป็นศิษย์ของพระพุทธเจ้าแล้ว มีความมุ่งหน้าต่อการประกอบความเพียร โดยไม่คำนึงถึงอาหาร ไม่คำนึงถึงสถานที่อยู่ และสิ่งบำรุงบำเรอทั้งหลาย ว่าจะเป็นไปเพื่อความสะดวกหรือไม่ ขออย่างเดียว คือ ให้เป็นไปเพื่อความสะดวกในการประกอบความพากเพียรเท่านั้นก็เป็นที่พอใจ

กิจการในครั้งนั้นรู้สึกจะมีน้อย ส่วนมากเป็นกิจที่จะเป็นไปเพื่อความปลดเปลื้องกิเลสเครื่องกังวลภายในใจ ไม่ค่อยจะมีกิจที่แฝงเข้ามาให้เป็นการกังวลมากเหมือนทุกวันนี้ สมัยทุกวันนี้ไม่ว่าที่ไหน ๆ รู้สึกจะเต็มไปด้วยสิ่งที่จะให้เกิดความกังวล แทรกเข้ามาในวงพระศาสนา อันเป็นสถานที่และเครื่องชำระความกังวลทั้งหลาย กิจที่แทรกดังกล่าวนี้พวกเราปรากฏว่า ถือเป็นกิจสำคัญยิ่งกว่ากิจภายใน คือการชำระกิเลสอาสวะ ถ้าได้ประกอบกิจการงานภายนอก มีการก่อร่างสร้างวัด สร้างกุฎี วิหาร ศาลาโรงธรรมสวนะ และติดต่อการงานกับประชาชน หรือจตุปัจจัยได้มากเท่าไร ถือว่าเป็นเกียรติ ถือว่าเป็นความดีความชอบ ถือว่าเป็นประโยชน์อันสำคัญของตน และพระศาสนา และถือว่าเป็นมงคลของพระศาสนาอีกด้วย

เมื่อเป็นเช่นนี้ กิจที่จำเป็นซึ่งเป็นกิจที่พระพุทธเจ้าทรงประสงค์ก็ดี ที่พระสาวกทั้งหลายพาดำเนินมาก็ดี จึงเป็นเหตุให้ด้อยลงทางภายใน ไม่เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ ไม่เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีสมาธิ คือหลักของใจ และไม่เป็นไปเพื่อความเฉลียวฉลาดในทางปัญญา เพื่อถอดถอนตนให้พ้นจากทุกข์ไปได้โดยลำดับ ให้สมกับตนได้บวชมาในพระพุทธศาสนา เป็นศิษย์ของพระตถาคตผู้ปรากฏเด่นในทางความเพียรและได้ทรงพาดำเนินมา

เมื่อความรู้สึกและธุระหน้าที่ของพวกเราผู้เป็นนักบวชและเป็นนักปฏิบัติ มีความแปลกต่างจากหลักธรรมที่พระองค์พาดำเนินมา ผลที่จะพึงได้รับก็ต้องแปลกต่างกัน และจะกลายเป็นเรื่องพระศาสนาสองเรื่องไป คำว่า คันถธุระ กับ วิปัสสนาธุระ ที่ประทานไว้นั้น ครั้งพระองค์ยังทรงพระชนม์อยู่คงไม่เป็นคันถธุระ และวิปัสสนาธุระจนเป็นบ่อเกิดแห่งความกังวล เป็นบ่อเกิดแห่งความบอบช้ำ เป็นบ่อเกิดแห่งความกระทบกระเทือน และเป็นบ่อเกิดแห่งความอิดหนาระอาใจของศรัทธาประชาชน ผู้ให้จตุปัจจัยเครื่องสนับสนุนเพื่อคันถธุระและวิปัสสนาธุระนั้น ๆ คงเป็นไปพอประมาณ สมกับพระศาสนาสั่งสอนพุทธบริษัทให้รู้จัก มตฺตญฺญุตา สทา สาธุ ความรู้จักประมาณยังประโยชน์ให้สำเร็จทุกโอกาส คงไม่เป็นเช่นพวกเราเป็น ๆ กันอยู่ทุกวันนี้

บางรายในสมณะและนักปฏิบัติเราเคยได้รับความครหานินทาว่า ไปที่ไหนเที่ยวเรี่ยไร (แผ่) จตุปัจจัยมาเรื่อย ๆ จนกลายเป็นอาจิณหรือเป็นนิสัยของท่านผู้นั้น การเรี่ยไรจตุปัจจัยได้มาจากศรัทธาญาติโยม ทีแรกก็ได้มาเพื่อการก่อสร้างเป็นประโยชน์สาธารณะจริง แต่ครั้นนาน ๆ มาก็เลยกลายไปว่าได้มาเพื่อตัว สั่งสมขึ้นโดยแอบอ้างการก่อสร้างเป็นโล่บังหน้า ทั้งนี้เคยได้ยินเสมอความเป็นเช่นนี้ แทนที่จะทำพระศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองยิ่ง ๆ ขึ้นไป จึงกลายเป็นการเหยียบย่ำพระศาสนาให้เสื่อมโทรมลงในขณะเดียวกัน

การดำเนินพระศาสนาตั้งแต่ครั้งพระพุทธเจ้า แลสาวกทั้งหลายท่านยังอยู่ แม้จะมีคันถธุระ และวิปัสสนาธุระเป็นคู่เคียงกันมาก็ตาม คงไม่ถึงกับจะดำเนินให้เป็นไปเพื่อความชอกช้ำแก่ผู้ทะนุบำรุง และถือเป็นกิจจำเป็นจนเหลือประมาณ เช่นพวกเราพาให้เป็นอยู่เวลานี้ ทุกวันนี้รู้สึกจะถือเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญของพระศาสนาเสียมาก เมื่อถือเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญของพระศาสนาก็แสดงว่า ถือด้านวัตถุเป็นของสำคัญเป็นเครื่องประดับ และเป็นความจริงของพระศาสนา เป็นของอัศจรรย์ของพระศาสนา เป็นสง่าราศีของพระศาสนาไปเสียเท่านั้น

หลักความจริงอันเป็นหัวใจของพระศาสนาที่พระพุทธเจ้าประทานไว้ เพื่อจะยังพุทธบริษัททั้งหลายให้ได้รู้เห็นอย่างจริงจัง ได้แก่อริยสัจสี่ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เลยค่อยเสื่อมสูญ หรืออับเฉาลงไปโดยไม่รู้สึก บรรดาเราซึ่งเป็นนักบวชและเป็นนักปฏิบัติด้วยแล้ว ควรจะตระหนักเรื่องนี้ให้มากในจิตใจของแต่ละท่าน อย่าเป็นผู้ลืมตนในปฏิปทาเครื่องดำเนิน ว่าถูกต้องตามแนวทางของพระพุทธเจ้าพาดำเนินหรือไม่ การงานเมื่อเราได้ทำลงไปอย่างใด ผลก็ต้องปรากฏเป็นเครื่องตอบแทนขึ้นมาอย่างนั้น

กิจการภายในคือ ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าเราถือเป็นข้อหนักแน่น ถือเป็นกิจสำคัญเช่นพระพุทธเจ้าพาดำเนินมาแล้ว ศีลจะไม่เป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์ในพวกเราอย่างไร สมาธิต้องเป็นไปเพื่อความสงบ ปัญญาต้องเป็นไปเพื่อความฉลาด เพราะสวากขาตธรรมที่พระองค์ตรัสไว้ไม่มีต้นไม่มีปลาย เป็นมัชฌิมาปฏิปทาอยู่ตลอดเวลา ไม่เคยเรียวแหลมหรือเสื่อมสูญอันตรธานไปที่ไหน นอกจากจะเรียวแหลมและเสื่อมสูญอยู่กับผู้ไม่สนใจ ใคร่ที่จะปฏิบัติเพื่อศีล สมาธิ ปัญญา ให้เกิดขึ้นภายในตนเป็นราย ๆ ไปเท่านั้น

ฉะนั้น การปฏิบัติพระศาสนาเพื่อเห็นผลประจักษ์ใจจริง ๆ สมกับธรรมเป็นนิยยานิกธรรม ผู้ปฏิบัติจึงควรคำนึงธรรมและพระพุทธเจ้าผู้เป็นเหมือนเข็มทิศ อย่าได้ลืม คำว่า พระพุทธเจ้าผู้เป็นครูสอนโลกนั้น เป็นอยู่ตลอดพระอิริยาบถ ไม่เคยบกพร่องจากความเป็นศาสดา เพราะเหตุนั้นพระอาการเคลื่อนไหวทางกายวาจาของพระองค์ จึงเป็นศาสดาของสัตว์โลกอยู่ตลอดเวลา สำหรับผู้สนใจใคร่ต่อการศึกษาจากพระองค์ท่านมาได้เห็น ได้ยิน ที่ทรงแสดงการเคลื่อนไหวด้วยพระอาการต่างๆ  จะเป็นคติเครื่องเตือนใจให้ได้รับประโยชน์โดยทั่วหน้ากัน ส่วนจะมากน้อยขึ้นอยู่กับความสนใจ และสติปัญญาลึกตื้นที่จะยึดจากพระองค์ท่านมาเป็นครูสอนตน

คำว่าศาสดา ไม่เพียงแต่การเสด็จเที่ยวประกาศพระศาสนาโดยการแนะนำพร่ำสอนประชาชนด้วยพระโอวาทเท่านั้น ยังเป็นศาสดาของโลกทุกพระอาการที่เคลื่อนไหว พระพุทธเจ้าไม่เคยเคลื่อนไหวด้วยพระอาการใด ๆ ให้ผิดจากความเป็นศาสดา มรรยาททุก ๆ พระอาการ ล้วนแต่เป็นประโยชน์แก่บรรดาสัตว์ผู้สนใจทั้งนั้น ทั้งเป็นเครื่องประกาศพระองค์ว่าอาการทั้งหมดนี้เป็นอาการของศาสดา ได้แก่ครูสอนโลกนั่นเอง

ฉะนั้น โปรดได้คำนึงดูความเคลื่อนไหวของเรา ผู้เป็นศิษย์ของพระตถาคตเสมอ อย่าให้เป็นโมฆบุรุษในเพศแห่งนักบวชและนักปฏิบัติ โดยปราศจาก สติ ปัญญา ศรัทธา ความเพียร อันเป็นรากเหง้าแห่งธรรม เครื่องถอดถอนกิเลสทุกประเภท และโปรดทราบไว้เสมอว่า เราอยู่เป็นหมู่เป็นคณะคือเกี่ยวกับสังคม เพราะมนุษย์เป็นมนุษย์ประเภทที่อยู่คนเดียวไม่ได้ ต้องเกี่ยวกับสังคมคือหมู่เพื่อนเสมอไป เราต้องคิดถึงตัวเองเสมอว่า คนเราแทบทุกรายย่อมมีการเข้าตัวเสมอ แต่ธรรมของพระพุทธเจ้านั้นเข้ากับหลักเหตุผล เมื่อเราเป็นศิษย์ของพระตถาคตแล้ว ต้องเป็นผู้หนักแน่นในเหตุผล คือเป็นผู้สนใจใคร่ต่อหลักเหตุผล ตนทำลงไป พูดออกไป คิดลงไป ถูกกับหลักเหตุผล คือธรรมของพระพุทธเจ้าหรือไม่ อย่าเอาตนเข้าไปเป็นผู้มีอำนาจเหนือเหตุผลนั้น ๆ จะเป็นความผิด และจะเป็นเหตุให้เกิดความกระทบกระเทือนแก่สังคม คือหมู่เพื่อนด้วยกัน ผิดต้องยอมรับว่าผิด ถูกต้องยอมรับว่าถูก และยอมจำนนปฏิบัติตามด้วยความเต็มใจต่อหลักธรรมคือ เหตุผล อันเป็นศาสดาแทนพระพุทธเจ้า

หลักแห่งการปฏิบัติเพื่อถึงแดนแห่งความเจริญรุ่งเรืองในตนเองและส่วนรวม ต้องเป็นผู้มีศาสดาประจำการเคลื่อนไหวของตนทุกเวลา ศาสดาคือหลักเหตุผลนั่นเอง ถ้าเราเอาเราไปสวมเข้าในกิจการใด ๆ พึงทราบว่ากิจการนั้น ๆ จะไม่สำเร็จเรียบร้อยไปด้วยความมีเหตุผล แต่จะเป็นไปเพื่อความกระเทือน เพราะเหตุแห่งการเข้าตัวเสมอไป ในนิสัยของบุคคลเป็นเช่นนี้ เราเป็นนักปฏิบัติต้องเป็นผู้มีเหตุผล เท่ากับเรามีศาสดาประจำตน คือต้องใคร่ครวญในกิจการที่ทำ ที่พูด ที่คิด ซึ่งเคลื่อนออกจากกาย วาจา ใจ ของตน ให้ถูกตามหลักธรรมวินัยที่ศาสดาตรัสสอนไว้ จะเป็นผู้ร่มเย็นภายในใจของเราด้วย จะเป็นไปเพื่อความร่มเย็นแก่หมู่เพื่อนที่อยู่ร่วมกันด้วย จะทำพระศาสนาให้เจริญ

อนึ่ง ศีลของเรามีเกี่ยวข้องกับหมู่เพื่อนเหมือนกัน สมาธิปัญญาก็เกี่ยวกับหมู่เพื่อนเช่นเดียวกัน เพราะเราอยู่กับหมู่เพื่อนต้องได้พูด พูดไม่ถูกทางก็ผิดศีลของเรา จิตก็เกี่ยวกับหมู่เพื่อนที่อยู่ด้วยกัน ถ้าคิดไม่ถูกทางก็เป็นเหตุให้เกิดความกังวล และทำลายสมาธิให้มีความสงบไม่ได้ ตามองเห็นหมู่เพื่อนทำผิด หรือถูกตามความรู้สึกของตน ถ้าปัญญาไม่รอบคอบในการเห็นการได้ยิน อาการแห่งการกระทำและการพูดของคนอื่นแล้ว แทนที่เขาจะเป็นคนผิดเราก็มากลายเป็นผู้ผิดเสียเอง เพราะฉะนั้นเรื่องศีลก็ดี สมาธิก็ดี ปัญญาก็ดี ที่เกี่ยวกับสังคมคือหมู่เพื่อน อันเป็นเหตุที่จะทำตัวเราให้เสียไปด้วย จึงมีทางเสียได้อย่างนี้

ดังนั้น โปรดได้นำเหตุผลอันเป็นธรรมของพระพุทธเจ้าเข้าไปตั้งไว้ที่หัวใจของเรา ขับไล่คำว่า “เรา”ออกเสียจากที่นั่น ให้เหลือแต่หลักธรรมคือเหตุผลไว้ที่ใจ ผู้นั้นไปที่ไหน มาที่ใด อยู่ที่ใด จะเป็นที่ร่มเย็นของตนเองและหมู่เพื่อนเสมอไป โดยมากที่เกิดการทะเลาะเบาะแว้งกัน เนื่องจากเอา “เรา” เข้าไปตั้งไว้บนหัวใจ หรือเอา “เรา” เข้าไปตั้งไว้บนหลักเหตุผล คือธรรมของพระพุทธเจ้า เมื่อเอา “เรา” ซึ่งเป็นตัว “โลก” ล้วน ๆ เข้าไปตั้งไว้บนหลักเหตุผล อันเป็นธรรมของพระพุทธเจ้าแล้ว หลักเหตุผลคือธรรมก็ไม่มีอำนาจ และแตกกระจัดกระจายออกจากหัวใจ เหลือแต่คำว่า “เรา” ซึ่งเป็นโลกล้วน ๆ ฝังอยู่กับจิตใจของบุคคลผู้นั้น

เมื่อระบายออกจากคำว่าเราหรือเพราะเราเป็นเหตุ เป็นผู้มีอำนาจนั้น ได้ระบายออกมาทางมรรยาทคำพูดจา จึงเป็นเหตุให้ผิดและกระทบกระเทือน ให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้งกันขึ้น บางรายถึงกับฆ่ากัน ตีกัน ล้มตาย ฉิบหายและล่มจมป่นปี้ไป ให้เราเห็นอยู่ต่อหน้าต่อตาทุกหนทุกแห่ง ไม่ว่านอกวัดในวัด เพราะเหตุแห่งความเห็นแก่ตัวคือเราเป็นของสำคัญ ฉะนั้น ผู้บวชในพระศาสนาต้องถือหลักเหตุผลเป็นเจ้าครองหัวใจ และถือยิ่งกว่าดวงหทัย และชีวิตจิตใจของเราเสียอีก แม้ชีวิตจะฉิบหายตายไปก็ตาม ขอให้ได้ทรงไว้ซึ่งหลักเหตุผล คือธรรมของพระพุทธเจ้าอย่างสมบูรณ์ ผู้นั้นแลจะเป็นผู้ทรงและยังพระศาสนาให้เจริญรุ่งเรือง

แม้ตายไปแล้วร่างกายแตกสลาย กิตติศัพท์ กิตติคุณ ก็เฟื่องฟูขจรไปทุกแห่งทุกหน ไม่เสื่อมสูญอันตรธานไปตามสรรพางค์ร่างกาย เช่น องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า แลสาวกทั้งหลาย ตลอดครูอาจารย์ที่ปรากฏชื่อลือนาม ล้วนแต่ท่านหนักในเหตุผลคือหลักธรรม เป็นเจ้าครองหัวใจ ไม่ได้ถือเราเป็นเจ้าครองอำนาจหัวใจ จึงเป็นที่กราบไหว้เคารพบูชาของเทวดาแลมนุษย์ทุกชั้นอย่างแนบสนิทได้ เราทุกท่านซึ่งเป็นผู้จะตั้งหน้าดำเนินตามแนวทางแห่งสวากขาตธรรมของพระพุทธเจ้าพึงสำนึกตนเสมอ และพึงทำจิตให้มีศาสดาคือหลักธรรมเป็นครูสอนอยู่ตลอดเวลา

ศีล อย่าพึงเข้าใจว่าเป็นหน้าที่ของใคร เราคือผู้จำเป็นที่จะปลดเปลื้องสิ่งมัวหมอง คือกิเลสอาสวะทุกประเภทออกจากกาย วาจา ใจ ของตน ๆ อะไรเล่าเป็นเครื่องชำระสิ่งมัวหมอง คือ ศีล สมาธิ ปัญญานี่เอง ซึ่งติดแนบอยู่กับตัวของเรา และจะต้องพยายามอบรมรักษาให้เกิดมีขึ้นในกาย วาจา ใจ ของตน ศีลจะมีความบริสุทธิ์ได้ ต้องเป็นผู้มีอิทธิบาททั้งสี่คือ

ฉันทะ พอใจในการรักษาศีล จะเป็นศีลข้อใดก็ตามที่พระองค์ประทานไว้เพื่อเป็นสมบัติของเรา เราน้อมรับด้วยความยินดีและเต็มใจ ใคร่ต่อการปฏิบัติรักษาให้เป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์ทุก ๆ ข้อ ไม่มีความระอาต่อธุระหน้าที่ของตน

วิริยะ            พยายามรักษาอยู่เสมอทั้งที่แจ้งและที่ลับ ตลอดอิริยาบถ ไม่มีความลดละในทางความเพียรเพื่อความเป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์

จิตตะ            มีใจฝักใฝ่ต่อศีลของตน ไม่ทำใจให้ห่างไกลจากศีล พยายามระมัดระวังรักษาศีล เช่นเดียวกับเขารักษาสมบัติอันมีค่าในบ้าน แม้ชีวิตก็ย่อมสละได้เพื่อสมบัติประเภทนั้น

วิมังสา            คือเรื่องของปัญญา ต้องเป็นผู้มีความเฉลียวฉลาด คอยตรวจตราดูศีลของตนเสมอ ไม่ให้ด่างพร้อยไปได้แม้แต่ข้อเดียว

อิทธิบาททั้งสี่นี้เป็นหลักธรรมค้ำประกันบุคคลผู้มีความใคร่ต่อธรรมนี้ ให้ได้ก้าวเข้าสู่ความเจริญทั้งทางโลกและทางธรรม แต่ขั้นต่ำจนถึงขั้นสูงสุด คือวิมุตติพระนิพพาน จะเว้นจากธรรมทั้งสี่นี้ไปไม่ได้ เพราะเหตุนั้นจึงควรจะกล่าวได้ว่า อิทธิบาททั้งสี่นี้เป็นรากเหง้าของพระศาสนาด้วย เป็นรากเหง้าของโลกด้วย โลกและธรรมจะเจริญรุ่งเรืองได้เพราะอิทธิบาททั้งสี่นี้เป็นรากฐานสำคัญ สมาธิก็ดี พึงทราบได้ว่าจะเกิดขึ้นได้เพราะอิทธิบาทนี้ แม้ปัญญาถ้าไม่มีอิทธิบาททั้งสามข้างต้นเป็นเครื่องสนับสนุนแล้ว จะเป็นปัญญาที่เฉลียวฉลาดจนสามารถถอดถอนตนให้พ้นจากทุกข์ไปไม่ได้อีกเช่นเดียวกัน

เพราะอิทธิบาททั้งสี่นี้เป็นธรรมเกี่ยวเนื่องกัน จึงเป็นธรรมที่มีกำลัง คือพอใจในการค้นคิดหาเหตุผล พยายามสอดส่องดูเหตุการณ์ที่จะมาเกี่ยวข้องกับเรื่องของปัญญา ผู้กำลังทำหน้าที่ให้เป็นไปเพื่อความรอบคอบต่อตนเองและสิ่งเกี่ยวข้อง เอาใจฝักใฝ่ต่อการพิจารณา จนสามารถรู้เหตุผลต้นปลายของสิ่งเกี่ยวข้อง ไม่ยอมให้ปัญญานิ่งนอนใจ จนกลายเป็นไม้ซุงทั้งดุ้น ทิ้งจมดินอยู่เปล่าโดยปราศจากประโยชน์ วิมังสาเมื่อมีธรรมทั้งสามข้อนี้เป็นเครื่องสนับสนุน ย่อมมีกำลังและสามารถทำหน้าที่ของตนให้สำเร็จได้โดยสมบูรณ์

ฉะนั้นเราบวชมาในพระศาสนา พึงคำนึงถึงแนวทางที่พระพุทธเจ้าแลพระสาวกได้ดำเนินไปแล้วและได้สั่งสอนไว้แล้ว ให้หนักแน่นยิ่งกว่าเรื่องใด ๆ ทั้งนั้น เราอย่าเห็นเรื่องของเราว่าเป็นเรื่องสำคัญกว่าเรื่องของธรรม ถ้าเห็นเรื่องของเราเป็นเรื่องใหญ่โตและสำคัญกว่าเรื่องธรรมของพระพุทธเจ้าแล้ว เรื่องลิ้นเรื่องปากมันก็สำคัญ เรื่องท้องมันก็สำคัญ เรื่องการหลับนอน การเกียจคร้านก็สำคัญ เรื่องการเห็นแก่ตัวมันก็สำคัญ การทุกอย่างที่เป็นไปเพื่อกิเลสตัณหาจะพอกพูนหัวใจมันเป็นเรื่องของเรา และจะกลายเป็นเรื่องสำคัญขึ้นตาม ๆ กันทั้งนั้น

นี้แลถ้าเราเห็นว่าธรรมของพระพุทธเจ้าไม่เป็นของสำคัญ แต่ปล่อยให้เรื่องของเราสำคัญยิ่งกว่าธรรมของพระพุทธเจ้าแล้ว ผู้นั้นจะเอาตัวรอดไปไม่ได้ ต้องเป็นผู้ล่มจม เป็นผู้เหลวแหลกทางความประพฤติและสมบัติอันมีค่า ตลอดคุณธรรมภายในใจ แม้จะยังไม่ตายก็เป็นคนหมดค่าหมดราคา ไม่มีคุณค่าในตัวแม้แต่น้อย ฉะนั้น เราเป็นลูกศิษย์ของพระตถาคตโปรดเห็นว่า ธรรมที่พระองค์ทรงเมตตาสั่งสอนไว้ทุก ๆ ข้อ ว่าเป็นสมบัติเพื่อเราจะรับไว้เทิดทูนพระองค์ท่าน และเพื่อประโยชน์สำหรับเราเองทุก ๆ ข้อไป ผู้มีความใคร่เช่นนี้จะเป็นผู้เจริญในพระศาสนา จะเป็นผู้สามารถรื้อฟื้นพระศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองขึ้นภายในจิตใจของตนด้วย ให้เจริญรุ่งเรืองแก่ส่วนรวมซึ่งเป็นประโยชน์อันยิ่งใหญ่ไพศาลด้วย ชื่อว่าเป็นผู้ทำหน้าที่แทนองค์พระพุทธเจ้าแลสาวกทั้งหลายอย่างเต็มภูมิด้วย

คำว่า นักบวช เป็นผู้เต็มภูมิแล้ว ในการจะประกอบหน้าที่การงานในด้านพระศาสนา เพื่อรื้อฟื้นตนให้พ้นจากหล่มลึก คือบ่อแห่งกิเลสตัณหาอาสวะ ความโง่เขลาเบาปัญญา โผล่ตัวขึ้นมาสู่ความเฉลียวฉลาด ขึ้นมาสู่ข้อวัตรปฏิบัติอันดีงาม ศีลก็ดี สมาธิก็ดี ปัญญาก็ดี อย่าเห็นว่าเป็นหน้าที่ของใคร นอกจากจะเป็นหน้าที่ของเราคนเดียว ซึ่งมุ่งต่อแดนพ้นทุกข์อยู่แล้ว ต้องอาศัยศีล สมาธิ ปัญญา เป็นธรรมเครื่องแก้เสมอไป ถ้าขาดจากธรรมะทั้งสามประเภทนี้แล้ว จะเป็นไปเพื่อความสมหวังไม่ได้ ฉะนั้น ธรรมะทั้งนี้จึงเป็นหน้าที่ของเราทุก ๆ ท่าน จะพยายามบำรุงให้สมบูรณ์ขึ้นในกาย วาจา ใจ ของตน

ศีล เคยได้ทราบแล้วว่ารักษาอย่างไรเป็นศีล เพราะเคยรักษาตั้งแต่วันบวชมา สมาธิ คือความสงบใจ ต่างได้พยายามกระทำใจของตนให้สงบอยู่แล้ว และคำว่า สมาธิมีหลายขั้น และแปลได้หลายนัย แปลว่าความสงบก็ได้ แปลว่าความมั่นคงก็ได้ แปลว่าความมุ่งมั่นก็ได้ ตามแต่ขั้นของจิตที่เป็นไปในทางสมาธิ วิธีทำใจให้เป็นสมาธินี้มีมาก ตามจริตนิสัยของผู้บำเพ็ญมีต่าง ๆ กัน แต่ที่นี้จะอธิบายพอประมาณเท่าที่จำเป็นคือ

การบริกรรมด้วยบทธรรม คือ พุทโธ ธัมโม สังโฆ หรือกำหนดลมหายใจเข้าออกเป็นอารมณ์ของใจ มีสติควบคุมอยู่กับบทธรรมที่ตนบริกรรม ไม่ให้พลั้งเผลอจากบทธรรมนั้น ๆ ให้จิตอาศัยอยู่กับบทธรรมตลอดเวลาที่ทำอยู่ จิตเมื่อไม่มีหน้าที่อื่นทำ รับรู้อยู่กับบทธรรมโดยเฉพาะแล้ว จะเป็นไปเพื่อความสงบ ปราศจากสิ่งรบกวนที่เคยเป็นมา ปรากฏเป็นความสุขขึ้นมาในขณะนั้น เพราะการภาวนาหนึ่ง ความสงบหนึ่ง และความสุขหนึ่ง เป็นผลตกทอดต่อกันมาเป็นลำดับอย่างนี้

ผู้ใคร่ต่อสมาธิคือความสงบแห่งใจ พึงถือการภาวนาเป็นกิจจำเป็น และสำคัญทุกโอกาส แม้ที่สุดไปบิณฑบาตไม่ควรยอมปล่อยวางให้จิตส่งไปตามอารมณ์ต่าง ๆ ผ่านเข้ามา มีความมุ่งมั่นอยู่กับคำบริกรรมภาวนา หรือพิจารณาสภาวธรรมตามขั้นแห่งจิตของผู้บำเพ็ญดำเนินอยู่เท่านั้น ไม่ยอมลดละ ไม่ยอมให้พลั้งเผลอ นับแต่ขณะที่ก้าวออกจากวัดไปถึงหมู่บ้านแล้วก้าวกลับออกมาถึงวัด จิตของเรามีความพลั้งเผลอไปกี่ครั้ง ผู้มีความสนใจถึงขนาดนี้ ต้องรู้ทีเดียวว่า จิตของตนได้เผลอไปกี่ครั้ง และพยายามทำเช่นนี้จนมีความเคยชินต่อการรักษาจิตด้วยสติ พิจารณาด้วยปัญญา ผู้นี้แลจะเป็นผู้สามารถทำสมาธิและปัญญาให้เกิดขึ้นได้โดยรวดเร็วอย่างไม่มีปัญหา และจะไม่มีอุปสรรคใด ๆ มากีดขวางได้ เพราะการทำศีลให้บริสุทธิ์ก็ดี การทำสมาธิให้เป็นไปก็ดี และการทำปัญญาให้เป็นไปก็ดี พึงทราบว่าออกจากหลักอิทธิบาททั้งสี่ที่อธิบายมาแล้วทั้งสิ้น ถ้าขาดธรรมเหล่านี้แล้วทำอันใดก็ไม่เป็นชิ้นเป็นอัน แม้จะสำเร็จก็ไม่สมบูรณ์

ถ้าใจก้าวเข้าสู่ความสงบไม่ได้เป็นเพราะเหตุใด ขอให้ค้นดูรากฐานของจิตที่ไม่ยอมสงบโดยทางสติและปัญญา เป็นของสำคัญกว่าอื่น คือใช้ปัญญาสอดส่องดูว่ามีอะไรเป็นตัวเหตุให้ใจฟุ้งซ่านวุ่นวาย นักปฏิบัติแล้วต้องทำอย่างนี้ ต้องไม่ทอดธุระในหน้าที่ของตน ชีวิตจิตใจคือความเป็นอยู่ทุกอย่าง มอบไว้กับชาวบ้านผู้รักษาศาสนาเช่นเดียวกับเรา ทุก ๆ ชิ้นในปัจจัยสี่ คือจีวรเครื่องปกปิดกาย บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานเภสัชคือยาแก้ไข้ มอบไว้กับชาวบ้านทั้งนั้น ไม่ต้องไปกังวล แต่เรื่องของศีลก็ดี สมาธิก็ดี ปัญญาก็ดี ซึ่งเป็นทางหลุดพ้นจากกองทุกข์ทั้งมวลแล้ว ให้ถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งตลอดอิริยาบถ และตลอดวันตายด้วย อย่าท้อถอย และระอาต่อความเพียร อย่างไรจะเป็นไปเพื่อความสงบ ขอได้ทุ่มเทกำลังสติ ปัญญา ความเพียร ลงไปอย่างสุดกำลัง จิตจะเหนืออำนาจธรรมเหล่านี้ไปไม่ได้

พระพุทธเจ้าก็ดี พระสาวกก็ดี ไม่เคยปรากฏเป็นผู้บริสุทธิ์พุทโธออกมาพร้อมขณะประสูติจากพระครรภ์ของพระมารดา พระองค์และพระสาวกเป็นผู้มีกิเลสอาสวะเช่นเดียวกับพวกเราทั้งนั้น ไม้ทุกต้นที่นำมาทำเป็นบ้านเรือน เป็นกุฎีศาลาซึ่งพวกเรานั่งอยู่ ณ บัดนี้ ไม่ได้สำเร็จรูปเป็นบ้านเรือนมาจากป่าทีเดียว แต่สำเร็จขึ้นมาจากการกระทำของนายช่าง เขาโค่นไม้ล้มลงแล้ว ตัดต้นตัดปลาย ควรถากก็ต้องถาก ควรเลื่อยก็เลื่อย ควรไสกบลบเหลี่ยมก็ต้องทำ ควรทำเป็นต้นเสา เป็นขื่อ เป็นแป เป็นคาน เป็นกระดาน ดาดฟ้าหรือควรลงรักทาสี ทั้งนี้แล้วแต่นายช่าง จะทำเอาตามความต้องการและความฉลาดของตน ไม้ทุกชิ้นก็ต้องแปรรูปไปตามการกระทำของนายช่าง จะเหนือเขาไปไม่ได้ ผลสุดท้ายก็สำเร็จเป็นบ้านเรือน ตึก ห้าง เป็นศาลา โรงธรรมสวนะ

เช่นเรานั่งอยู่ขณะนี้ พึงทราบว่าไม่ได้สำเร็จรูปมาด้วยไม้ทั้งเปลือก ทั้งกระพี้ ทั้งกิ่งก้าน รากแก้ว รากฝอย แต่สำเร็จรูปขึ้นจากนายช่างผู้ฉลาดและชำนาญ สามารถแปรไม้ทั้งต้นจนสำเร็จรูปเป็นบ้านเรือนขึ้นมาได้ นี้มีอุปมาฉันใด เรื่องของพวกเราก็มีอุปมัยฉันนั้น พระพุทธเจ้าแลสาวก ท่านก็เทียบเหมือนไม้ต้นหนึ่ง แต่พระองค์และสาวกต่างก็เป็นนายช่าง สามารถเจียระไนองค์ท่านให้เป็นผู้มีศีล มีสมาธิและมีปัญญาขึ้นมาจนกลายเป็นศาสดาของพระองค์ และเป็นครูของโลก พระสาวกก็กลายขึ้นมาเป็นสรณะที่สามให้เราทั้งหลายได้กราบอยู่ทุกวันนี้ เราพึงยึดเอาพระพุทธเจ้าแลสาวกมาเป็นแบบฉบับ คือ สรณํ คจฺฉามิ

คำว่า พุทฺธํ ธมฺมํ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ นี้ไม่เพียงกราบไหว้พอเป็นพิธี แล้วให้สำเร็จประโยชน์เพียงเท่านั้น เพราะการถึงสรณะยังมีหลายขั้น ขั้นของพระสาวกอรหันต์ กราบไหว้พระพุทธเจ้าและพระธรรมนั้นเป็นขั้นหนึ่ง ขั้นของผู้มุ่งทางพ้นทุกข์อย่างเต็มใจเป็นขั้นหนึ่ง กราบไหว้ด้วยความสนิทติดใจด้วย กราบไหว้ด้วยถือเอาพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์มาเป็นแบบฉบับและเป็นคู่ชีวิต หรือเหนือชีวิต ครองชีวิตของตนจริง ๆ ด้วย ได้แก่เอาแบบของท่านมาดำเนินตาม

เราขณะนี้ก็เทียบกับไม้ซุงทั้งท่อน ได้อาศัยเครื่องมือจากพระพุทธเจ้ามาเจียระไน คือมาเป็นเลื่อย เป็นสิ่ว เป็นขวาน สำหรับฟาดฟัน หรือไสกบในตัวของเราให้ตกออกมาเป็นศีลที่บริสุทธิ์ ตกออกมาเป็นสมาธิ คือความสงบเป็นชั้น ๆ ของสมาธิ และตกออกมาเป็นปัญญา เป็นชั้น ๆ ของปัญญา จนสำเร็จประโยชน์อย่างเต็มที่ เช่นเดียวกับนายช่างแปรรูปไม้ต่าง ๆ ให้สำเร็จเป็นบ้านเรือน เทียบกับธรรมะของผู้บำเพ็ญ ย่อมสำเร็จผลขึ้นมาเป็นชั้น ๆ ตามแถวแห่งธรรม พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า สำเร็จพระโสดา สำเร็จพระสกิทาคา สำเร็จพระอนาคา และสำเร็จพระอรหันต์ เมื่อเทียบกับบ้านเรือนที่รวมทั้งสัมภาระแล้วสำเร็จรูปขึ้นมา นี้ก็เพราะรวมคุณธรรมทั้งหลายที่ได้อาศัยเครื่องมือจากพระพุทธเจ้ามาเจียระไนตัวเราเองให้สำเร็จเป็นศีล เป็นสมาธิ และเป็นปัญญาขึ้นมา จนกลายเป็นวิมุตติพุทโธขึ้นที่ดวงใจของผู้บำเพ็ญตนด้วยความองอาจกล้าหาญ ถ้าเป็นบ้านเรือนก็เป็นเต็มที่ เป็นตึก เป็นห้างก็เป็นเต็มที่ นี้ถ้าเป็นวิมุตติพระนิพพานก็เป็นเต็มที่ และปรากฏขึ้นที่ดวงใจของนักปฏิบัติผู้มีความเพียร

ฉะนั้น โปรดได้คำนึงถึงเหตุคือข้อปฏิบัติมากกว่าสิ่งอื่นใด เพราะกิเลสไม่ได้สิ้นไปจากใจเอาเฉย ๆ โดยปราศจากเหตุคือการชำระ แม้แต่บ้านเรือนก็ยังต้องอาศัยเหตุ คือการปลูกสร้างจึงสำเร็จเป็นที่อยู่อาศัยได้ ใจจะให้เป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้น ก็ต้องอาศัยเราเป็นผู้ดัดแปลงซักฟอกสิ่งมัวหมองให้หมดไปเป็นลำดับ เริ่มตั้งแต่ศีลขึ้นไปเป็นสมาธิความมั่นคง การเดินจงกรมก็มั่นคง นั่งภาวนาก็มั่นคง การทำความเพียรทุกประโยคก็มั่นคง ความเคลื่อนทุกอาการก็มั่นคงด้วยสติและปัญญา ทั้งนี้เรียกว่าสมาธิ คือความมั่นคงต่อหน้าที่การงานของตน ทำอะไรไม่ง่อนแง่นคลอนแคลน จนกลายเป็นองค์ของสมาธิที่แท้จริงขึ้นมา คือความแน่นหนามั่นคงของใจ ไม่เอนเอียง ไม่วอกแวกคลอนแคลน

เมื่อมีต้นทุนคือความสงบเยือกเย็นแล้ว พยายามฝึกค้นโดยทางปัญญาพิจารณาส่วนแห่งร่างกาย นับแต่ผิวหนังเข้าไปถึงส่วนภายใน ตามอาการของส่วนแห่งร่างกายต่าง ๆ ที่มีอยู่ในร่างกาย แยกส่วนแบ่งส่วนแห่งอาการนั้น ๆ ออกจากความเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นหญิง เป็นชาย เป็นเรา เป็นเขา แยกออกจากความเป็นของเราของเขา ให้เห็นสักแต่ว่าอาการหนึ่ง ๆ ประชุมกันเข้าแล้วให้ชื่อต่างออกไปเท่านั้น ไม่มีสัตว์ บุคคล เรา เขา หญิง ชาย ที่แท้จริงอยู่ในท่อนแห่งร่างกายนี้เลย

อันดับต่อไปกำหนดให้แปรสภาพจากความเป็นอาการนั้น  ๆ ลงสู่ธาตุเดิม คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม จนหมดความสำคัญมั่นหมายว่า เป็นอาการของร่างกายทุกส่วนตามที่เคยเป็นมา และหมดความสำคัญว่าหญิง ชาย สัตว์ บุคคล เรา เขา ไปปรากฏตัวอยู่ในธาตุสี่นั้น ให้เห็นชัดว่าแท้จริงเป็นธาตุล้วน ๆ ไม่มีสิ่งใดจะปรากฏตัวออกมาจากธาตุสี่นั้น พอจะให้เกิดความน่ารักน่ายินดีแม้แต่ชิ้นเดียว หากเป็นเพราะความสำคัญผิดของใจ ซึ่งไม่มีปัญญาความสว่างเป็นเครื่องส่องทางตามหลักความจริงของสิ่งเหล่านี้เท่านั้น จิตจึงได้ลุ่มหลงกองธาตุส่วนหยาบ ๆ ซึ่งมองเห็นได้ด้วยตาเนื้อนี้ว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นเรา เป็นเขา เป็นของน่ารักใคร่ชอบใจ จนกลายเป็นบ่อกังวลอันใหญ่หลวงไปทั่วไตรโลกธาตุ ไม่มีขอบเขต

แต่เมื่อแยกออกดูด้วยปัญญาแล้ว ถ้าจะว่าอาการก็สักแต่อาการอันหนึ่ง ๆ ที่ประชุมกันเข้า ถ้าจะว่าธาตุก็สักแต่ธาตุอันหนึ่งเท่านั้น ไม่มีส่วนใดจะเป็นไปเพื่อความน่ารัก น่ากำหนัดยินดี ถ้าจะพิจารณาเรื่องทุกข์ก็มีอยู่ในร่างกายอันเป็นที่รวมของธาตุ เมื่อกระจายจากกันไปแล้ว ทุกข์ก็ไม่ปรากฏ ทุกข์ย่อมสลายตัวไปเช่นเดียวกับกองธาตุสลาย ถ้าจะพิจารณาเรื่อง อนิจฺจํ ความไม่เที่ยง ก็ได้แก่ร่างกายอันเป็นกองธาตุ เป็นตัว อนิจฺจํ อยู่ทุกขณะ ทุกข์ปรากฏขึ้นมากน้อยก็เพราะกองธาตุก้อนนี้แปรปรวน ถ้ากองธาตุก้อนนี้คงอยู่ ทุกข์ก็หาทางเกิดขึ้นไม่ได้ เราก็ไม่ต้องเสวยทุกข์ และไม่ต้องบ่นว่ากันทั่วโลก

เพราะใครเกิดมาในโลกนี้ไม่ได้มุ่งหน้ามาเกิดเพื่อจะบ่น หรือเป็นถ้อยเป็นความกันกับทุกข์ แต่เพราะก้อนธาตุอันเป็นก้อนแห่งทุกข์ มันเป็นตัวเป็นตนของเรา เราจึงเป็นผู้ทุกข์ ทั้งเป็นผู้เสวยทุกข์ เราจึงบ่นกับทุกข์ซึ่งเป็นเรื่องของเราคนเดียว เพราะเรากับทุกข์มันแยกกันไม่ออก เรื่องบ่นกับทุกข์วันยังค่ำคืนยังรุ่งตลอดปี ทุกคนจึงแยกไม่ออก คิดดูแล้วก็น่าทุเรศ สงสารตัวเราผู้เป็นกองทุกข์ด้วยกัน เพราะต่างก็แยกทุกข์จากเรา แยกเราจากทุกข์ไม่ออก ทุกข์กับเราจึงกอดคอกันตาย ไม่ยอมพลัดพรากจากกันได้ นี่พรรณนาเรื่อง อนิจฺจํกับเรื่อง ทุกฺขํ

ส่วนเรื่อง อนตฺตา ก็คือก้อนธาตุอันนี้ ปฏิเสธคำสมมุตินิยมของโลกอยู่ตลอดเวลาในกายอันนี้เอง ถ้าร่างกายยังครองตัวอยู่ตราบใด อนตฺตา ก็ยังครองตัวอยู่บนร่างกายนี้ตราบนั้น เพราะไตรลักษณ์อยู่ในที่แห่งเดียวกัน ไม่เคยแยกทางกันเดินแต่ไหนแต่ไรมา ผู้มีปัญญาโปรดพิจารณาร่างกายนี้ ให้ได้มองเห็นหน้าเห็นตาของไตรลักษณ์ ซึ่งแสดงตนอยู่อย่างเปิดเผย ในร่างกายของเราทุกท่าน และโปรดพิจารณาซ้ำๆ ซาก ๆ จนเกิดความชำนาญในการพิจารณา เห็นร่างกายนี้เป็นกองแห่งธาตุ เป็นกองแห่งทุกข์อย่างเปิดเผยขึ้นกับใจ ไม่มีสิ่งใดจะสามารถมาปิดบังลี้ลับปัญญาได้เลย

เมื่อปัญญาก็เห็นชัด จิตก็เชื่องต่ออารมณ์ ย่อมเป็นโอกาสของจิตจะรวมสงบลงได้โดยสะดวกสบาย เมื่อถอนขึ้นมาจากสมาธิแล้ว ปัญญาก็ทำหน้าที่พิจารณาร่างกายตามความเคยชินมาแล้ว ร่างกายทั้งท่อนจะเป็นที่ท่องเที่ยวของปัญญา จนมีความสามารถเต็มที่แล้ว อุปาทานในส่วนแห่งกายจะขาดกระเด็นออกเพราะกำลังของปัญญา จิตกับกายและกับกองทุกข์ในร่างกายก็แยกทางกันเดิน ไม่เป็นบ่อแห่งความกังวล ดังที่เคยเป็นมา

ส่วนเวทนาในจิต ได้แก่สุข ทุกข์ เฉย ๆ สัญญาความจำหมาย สังขาร ความปรุง ความคิดภายในใจ วิญญาณ ความรับรู้ในสิ่งที่มาสัมผัส ทั้งสี่ขันธ์นี้เป็นกองแห่งไตรลักษณ์เช่นเดียวกับร่างกาย ถ้าคำว่า จิต อันเป็นตัวสมมุติยังมีอยู่ตราบใด ขันธ์ทั้งสี่และไตรลักษณ์ทั้งสามยังเข้าครองตัวอยู่ในจิตนั้นตราบนั้น ฉะนั้นต้องตามค้นหาขันธ์ทั้งสี่ไล่ตะล่อมลงรวมในไตรลักษณ์ให้ได้ด้วยอำนาจของปัญญา โดยค้นหาตัวสัตว์ บุคคล หญิง ชาย เรา เขา ในขันธ์ทั้งสี่นี้โดยละเอียดถี่ถ้วน เราจะไม่เห็นสัตว์บุคคลเป็นต้น แม้รายหนึ่งแฝงอยู่ในเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนั้นเลย จะปรากฏ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ล้วน ๆ เต็มอยู่ในขันธ์นั้น ๆ

และการพิจารณานามขันธ์เหล่านี้ก็มีลักษณะเช่นเดียวกับการพิจารณากาย พิจารณากลับไปกลับมาอย่างซ้ำๆ ซาก ๆ ถึงกับปัญญารู้ชัดว่าไม่มีอะไรนอกจากไตรลักษณ์ล้วน ๆ เต็มอยู่ในขันธ์สี่เหล่านี้เท่านั้น ปัญญาจะหมดความสงสัยในขันธ์ทั้งปวง เพราะความฉลาดและคล่องแคล่วของปัญญาจะสามารถตามค้นเข้าไปถึงรากฐาน ซึ่งเป็นบ่อเกิดแห่งขันธ์ทั้งห้า คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็จะไปพบจิตดวงสมมุติอันเป็นจุดรวมแห่งอวิชชาเต็มอยู่ในที่นั้น สติปัญญากับอวิชชาก็จะกลายเป็นสนามรบกันในที่นั้นเอง

อวิชชา คือยอดสมมุติ กับ สติ ปัญญาอันเป็นยอดของมรรค คือทางแห่งวิมุตติ ได้ทำหน้าที่ของตนต่อกันจนสุดกำลัง ผลปรากฏว่าได้พบบ่อเกิดแห่งขันธ์ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เกิดขึ้นจากจุดเดียวนี้ทั้งนั้น และบ่อแห่งไตรลักษณ์ คือ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ก็รวมอยู่ในจิตดวงสมมุตินี้ด้วย จิตดวงสมมุตินี่แลท่านให้นามว่า อวิชชา คือความรู้จอมปลอม คำว่า สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา หญิง ชาย เกิดไปจากจุดเดียวนี้ เรื่องเกิด แก่ เจ็บ ตาย และเรื่องทุกข์เป็นเรา เราเป็นทุกข์ จนแยกจากกันไม่ออกตลอดกัปตลอดกัลป์ เกิดจากจุดเดียวนี้ทั้งนั้น

จึงควรจะกล่าวได้ว่าแม่พิมพ์ของโลกทั้งมวลคือธรรมชาติอันนี้ บัดนี้ปัญญาที่ทันสมัยได้ค้นหาตัวแม่พิมพ์ของวัฏฏะ ได้พบกันอย่างเปิดเผยในสถานที่อวิชชาเคยซ่อนตัว จึงทำลายธรรมชาตินี้ลงด้วยอำนาจของปัญญาคมกล้าซึ่งฝึกซ้อมมาจนชำนาญ แม่พิมพ์ของวัฏจักรได้ถูกทำลายแตกกระเด็นลงในขณะเดียวเท่านั้น วิวัฏฏะได้ปรากฏขึ้นอย่างเต็มที่โดยไม่มีสิ่งใดปิดบัง ปัญญาทั้งหมดได้สิ้นสุดลงในขณะอวิชชาดับลงไป ศีลก็ดี สมาธิก็ดี ปัญญาก็ดี ได้ตามส่งเราไปถึงจุดนั้น กิเลสทั้งมวลก็จะรบกวนเราไปถึงแค่นั้น ความโลภ โกรธ หลงก็หมดฤทธิ์หมดอำนาจ จะไม่สามารถทำเราให้หมุนเวียนอีกเช่นเคยเป็นมา แม้ขันธ์ซึ่งเคยเป็นบริวารของอวิชชา ก็กลับกลายมาเป็นขันธ์ล้วน ๆ ไม่เป็นกิเลสอาสวะแต่อย่างใด ศีล สมาธิ ปัญญา ก็ทราบชัดว่าเป็นเครื่องมือสำหรับแก้กิเลสอาสวะ ที่เป็นข้าศึกต่อตัวเรา เพราะรู้เท่าเหตุรู้เท่าผลอย่างแจ่มแจ้ง แล้วปล่อยวางไว้ตามเป็นจริง

รู้เท่าเหตุ คือเหตุแห่งทุกข์ ได้แก่สมุทัย มีกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหาเป็นต้นด้วย รู้เท่าเหตุแห่งสุข คือ ศีล สมาธิ ปัญญาด้วย รู้เท่าผล คือ ทุกข์ที่เกิดขึ้นจากสมุทัยด้วย และรู้เท่าผล คือ นิโรธที่เกิดขึ้นจากเหตุแห่งสุข คือมรรคด้วย ผู้รู้เท่าสัจจะของจริงทั้งสี่นั้น นั่นแลเป็นธรรมพิเศษ จึงควรให้นามว่า วิมุตติธรรม เพราะนอกจากสมมุติสัจจะไปแล้วเป็นธรรมตายตัว เด่นชัดอยู่ด้วยความเป็นอิสระในตัวเอง ไม่ขึ้นอยู่กับสมมุติใด ๆ เป็น ธมฺโม ปทีโป อย่างสมบูรณ์ (ความสว่างแห่งธรรม) เช่นเดียวกับพระอาทิตย์ที่ปราศจากเมฆกำบังแล้วย่อมส่องแสงสว่างได้อย่างเต็มที่ฉะนั้น ในขณะเดียวกัน พุทโธ ธัมโม สังโฆ อันเป็นอัตสมบัติอย่างประเสริฐได้ปรากฏขึ้นในใจของผู้มีชัยโดยสมบูรณ์

สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ท่านตัดสินกันกับวัฏจักร ในคืนของวันเพ็ญเดือนหก ส่วนพวกเราจะไปตัดสินกันวันไหน เราจะปล่อยให้ความเกียจคร้านตัดสินเอาเสียทุกวันนั่นหรือ หรือจะมอบดวงใจอันมีคุณค่ามหาศาลนี้ให้กิเลสตัณหาเอาไปทำเป็นครัวไฟ ห้องน้ำ ห้องส้วม ที่ชำระขับถ่ายทุกวันนั่นหรือ ถ้าเราไม่ต้องการให้สิ่งเหล่านี้ตัดสินชี้ขาดเอาตามความต้องการของเขา เท่าที่เคยเป็นมาแล้วหลายภพหลายชาติ เราก็ควรตื่นตัวต่อความเพียร ศีล สมาธิ ปัญญา กับความเพียรอย่าให้ห่างจากใจ คำว่า วิมุตติ พุทโธ จะไม่เกิดขึ้นในที่ใด ๆ แต่จะเกิดขึ้นที่ดวงใจของผู้มีธรรม

เพราะพระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ และพระสาวกของพระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ไม่เคยปรากฏขึ้นจากที่อื่นใดทั้งนั้น แม้จะตรัสรู้ในที่ต่าง ๆ และเวลาอันต่างกันก็ตาม แต่ต้องตรัสรู้ในกรอบแห่งหลักธรรม คือมัชฌิมาปฏิปทา อันเป็นธรรมสายกลางนี้เท่านั้น จะไม่ต้องตรัสรู้ด้วยกาลสถานที่ แต่จะตรัสรู้ด้วยธรรม คือมัชฌิมา ฉะนั้น จึงควรจะกล่าวได้ว่าพระพุทธเจ้าทั้งหลายพร้อมทั้งพระสาวก ท่านทรงอุบัติขึ้นจากพระธรรมทั้งนั้น บรรดาท่านผู้ปฏิบัติจึงไม่ควรไปสนใจกับกาลและสถานที่ให้มากกว่าความสนใจในหลักธรรม อันจะนำผู้ปฏิบัติให้พ้นผ่านอุปสรรคไปได้โดยลำดับ จนถึงความพ้นทุกข์ไปโดยสิ้นเชิง

เราลองคิดดูเรื่องของกิเลสทุกประเภท ที่เคยพอกพูนหัวใจของสัตว์มานานแสนนาน ไม่เคยเห็นเขาปล่อยตัวใครออกไปเป็นอิสระ เพราะกาลเวลาและสถานที่เป็นเหตุแม้แต่รายเดียว เขายังเป็นเจ้าครองอำนาจบนหัวใจของสัตว์ตลอดกาล ไม่เห็นมีวันปล่อยตัวเพราะถึงเวลาเลย ถ้าเป็นนักโทษ แม้จะมีโทษหนักก็ยังขึ้นอยู่กับเวลา และมีวันปลดปล่อยตัวออกมาเป็นอิสระได้ เราเป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนาในวงแห่งสวากขาตธรรม จึงควรคำนึงถึงธรรมที่ทรงประกาศสอนไว้ พระองค์ไม่ตรัสว่า เราตถาคตมอบให้มื้อวัน ปี เดือน ตัดสินกิเลสออกจากหัวใจของสัตว์เลย แต่ตรัสมอบไว้กับพระธรรมที่ผู้เชื่อธรรมจะนำไปปฏิบัติแก้ไขตนเองไปเป็นลำดับ จนถึงความพ้นทุกข์ไปได้เพราะพระธรรมเท่านั้น

ธรรมทั้งหลายที่ได้อธิบายในวันนี้ โปรดทราบว่ามีอยู่กับตัวของเราทุกท่าน และพระพุทธเจ้าท่านนำเรื่องของเราออกแสดงให้เราฟัง อย่าพึงเข้าใจว่าเป็นเรื่องใคร เพราะดีกับชั่วเป็นเรื่องของเราเคยทำมาจนช่ำชองด้วยกัน จึงไม่ควรสงสัยในเรื่องของตน ถ้าเราเบื่อหน่ายต่อการเกิดตายอันเปรียบกับหลุมถ่านเพลิงนี้แล้ว จงพยายามบำเพ็ญตนด้วยความไม่ประมาทนอนใจในสิ่งที่เป็นข้าศึกต่อตนเองทุกประเภท สติปัญญาโปรดให้แนบสนิทอยู่กับใจ และอารมณ์ที่เกิดขึ้นจากใจของตน อารมณ์นี้แลเป็นตัวก่อเหตุสำคัญ จงนำสติปัญญาตามวินิจฉัย และแก้ไขเหตุการณ์เหล่านี้ให้สิ้นสุดลงไปได้

การประกอบความเพียรในวันหนึ่ง ๆ ไม่เป็นของยากลำบากเหมือนเราท่องเที่ยว เกิด ตาย อยู่ในสงสารอันเป็นความทุกข์ทรมานแสนสาหัส การเพียรพยายามเพื่อรื้อถอนตนออกจากทุกข์ ไม่เป็นของยากลำบากถึงขนาดนั้น จึงควรพยายามบำเพ็ญตนให้เป็นเนื้อนาบุญของตน เมื่อสมบูรณ์เต็มที่แล้วต่อไปจะได้เป็นประโยชน์แก่โลกสงสาร เนื่องจากเราทำตัวให้ร่มเย็นพอโลกจะพึ่งเราได้ เขาให้ทานมาเล็กน้อยก็มีผลมาก เพราะเนื้อนาดี และเต็มไปด้วยปุ๋ย คือศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ พุทโธ ฉะนั้นโปรดพากันรีบเร่งความเพียร อย่าลดละตลอดอิริยาบถ จะปรากฏสิ่งมหัศจรรย์เกิดขึ้นจากใจของผู้มีความเพียร โดยไม่มีสิ่งใดมากีดขวางไว้ได้

วันนี้ได้อธิบายธรรมเกี่ยวกับเรื่องศีล สมาธิ ปัญญา และอิทธิบาททั้งสี่ ซึ่งเป็นรากฐานของพระศาสนาให้ท่านนักปฏิบัติทั้งหลายฟัง โปรดได้นำไปพิจารณาและปฏิบัติให้สุดขีดความสามารถ ด้วยความองอาจกล้าหาญต่อความเพียร เพื่อถึงแดนแห่งความพ้นทุกข์โดยถ่ายเดียว คำว่า นิพฺพานํ ปรมํ สุญฺญํ  นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ ซึ่งเคยเป็นข้อข้องใจมานาน จะสิ้นปัญหาลงในจิตของผู้มีธรรมคุ้มครองตนด้วยความเพียรโดยไม่ต้องสงสัย

ในที่สุดแห่งการแสดงธรรม ขอความสมหวังทั้งการดำเนินและผลอันจะเกิดขึ้นตามความจำนง จงเป็นของท่านทั้งหลายโดยทั่วหน้ากันเทอญ

 Add Image
View HTML Source

 Add Image
View HTML Source

 Add Image
View HTML Source


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก