ทุกข์ประจำสัตว์และบุคคล
วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2508 ความยาว 52.5 นาที
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)

ค้นหา :

เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๐๘

ทุกข์ประจำสัตว์และบุคคล

 

การฝึกหัดอบรมตัวเองควรจะใช้ความสังเกตสอดรู้นิสัยของตัว เพราะคนเรานิสัยไม่เหมือนกัน เช่นเดียวกับเหล็กซึ่งมีหลายประเภท แต่จะยกมาเทียบเพียง ๔ ประเภท พอเข้ารูปกัน คือ ประเภทที่หนึ่งเป็นเหล็กกล้าและเหนียว คุณภาพก็ดีเยี่ยม ประเภทที่สองเนื้อเหล็กและคุณภาพลดกันลงมาบ้าง แต่อยู่ในเกณฑ์ดี ประเภทที่สาม เนื้อเหล็กอ่อนคุณภาพไม่สู้จะดี แต่ยังอยู่ในเกณฑ์พอใช้ได้ ประเภทที่สี่เป็นเหล็กที่เลวมาก ทั้งคุณภาพไม่ดีเลย เพียงสักแต่ว่าเหล็กเท่านั้น ไม่ค่อยมีใครสนใจนำไปทำประโยชน์

นายช่างก็มี ๔ ประเภท คือนายช่างที่หนึ่ง มีความฉลาดและชำนาญ ทั้งรู้เนื้อเหล็กทุกประเภทได้อย่างดีเยี่ยมด้วย นายช่างที่สองมีความฉลาดและชำนาญรองกันลงมา แต่อยู่ในเกณฑ์ดีมีความสามารถพอสมควร นายช่างที่สาม พอทำได้แต่ไม่ค่อยมีความฉลาดและชำนาญ ทำเหล็กทีได้ทีเสีย เอาแน่ไม่ค่อยได้ และนายช่างที่สี่ไม่เป็นท่าอะไรเลย ไว้วางใจไม่ได้ ขาดความเชื่อถือจากนายช่างทั่ว ๆ ไป ไม่ค่อยมีคนมาว่าจ้างให้ทำ เพราะกลัวจะทำเหล็กเขาให้เสื่อมคุณภาพและเสียไป

เหล็กประเภทที่หนึ่ง ทั้งนายช่างก็เป็นประเภทที่หนึ่ง มีความฉลาดและชำนาญในเนื้อเหล็กทุกประเภทด้วย ย่อมสามารถทำเหล็กทั้งสามประเภทให้เป็นเครื่องใช้ชนิดต่าง ๆ ได้ดีมาก ทั้งคุณภาพก็สูงเยี่ยม และยังสามารถเสริมคุณภาพจากฐานะเดิมของเหล็กประเภทต่าง ๆ ให้ดีขึ้นได้ด้วย

นายช่างประเภทที่สอง มีความฉลาดพอสมควร และมีความสามารถทำเหล็กสามประเภทให้ทรงคุณภาพเดิมไว้ได้ และใช้ประโยชน์ได้ดีพอสมควร แต่ไม่สามารถเสริมคุณภาพของเหล็กทุกประเภทให้ดีขึ้นจากฐานะเดิมเท่านั้น

นายช่างประเภทที่สาม ไม่อาจทำเหล็กสามประเภทให้ทรงคุณภาพตามฐานะเดิมของตนไว้ได้ ทั้งอาจทำเหล็กสามประเภทให้เสื่อมคุณภาพลงได้ด้วย

ส่วนนายช่างประเภทที่สี่นั้น รู้สึกจะไม่เป็นที่เชื่อถือของนายจ้างทั่ว ๆ ไป แม้มีผู้นำเหล็กมีประเภทต่าง ๆ มาว่าจ้างให้ทำเครื่องใช้ชนิดต่าง ๆ แทนที่จะได้ค่าจ้างแรงงานจากเจ้าของเหล็กผู้มาว่าจ้างให้ทำ แต่กลับทำเหล็กประเภทที่หนึ่งและที่สองของเขาให้ลดคุณภาพลงมากเกือบจะใช้การอะไรไม่ได้ และทำเหล็กประเภทที่สามของเขาให้เสียไปเลย จำต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่เขา จนตัวเองเสียหายป่นปี้ไปหมด

บุคคลก็มี  ๔ ประเภทดังท่านกล่าวไว้ อุคฆฏิตัญญู รู้ธรรมได้อย่างรวดเร็วทันใจหมาย วิปจิตัญญู รู้ธรรมได้รองลำดับกันลงมา เนยยะ พอแนะนำสั่งสอนได้ เสมอท่านเสมอเรา และ ปทปรมะ บุคคลประเภทที่หนามาก จนไม่เชื่อว่าบาปมี บุญมี หรือสูญไปเลย แม้เขาจะหาบหามสิ่งเหล่านี้อยู่บนบ่าก็ไม่รู้ว่าดี ชั่ว บุญ บาปเป็นอย่างไร พระพุทธเจ้าจึงจัดเป็นบุคคลประเภทที่หมดหวังเพราะช่วยอะไรไม่ได้ ถ้าเป็นคนไข้ก็เรียกว่า ทั้งหมอทั้งญาติหมดหวัง ไม่มีทางฟื้นต่อไปได้ นอกจากจะเตรียมกุสลามาติกาไปตามระเบียบและธรรมเนียมของคณะญาติที่นับถือพุทธเท่านั้น แต่จะได้บุญหรือไม่นั้นไม่รับรอง เพราะเป็นบุคคลที่สิ้นหวังมาแต่ปทปรมะอยู่แล้ว ผู้ให้บุญก็ไม่อาจทราบว่าเขาจะต้องการอะไรหรือไม่ แต่ขัดคำนิมนต์ไม่ได้จำต้องไปตามคำเชื้อเชิญ เพราะพระกับญาติโยมเป็นเรื่องแยกจากกันไม่ออกตั้งแต่ไหนแต่ไรมา และเผื่อท่านผู้หวังบุญจะได้รับประโยชน์จากกุสลามาติกาเท่าที่ควร

อาจารย์ผู้ให้ธรรมก็มี ๔ ประเภท ประเภทที่หนึ่ง ขอน้อมเกล้าทูลพระพุทธเจ้าของเรา ประเภทที่สอง ขอน้อมถวายพระสาวกอรหันต์ท่าน ประเภทที่สาม ยกถวายครูอาจารย์ผู้อาวุโสด้วยอายุพรรษา และคุณวุฒิที่ท่านได้เล่าเรียนและปฏิบัติมาก่อน ส่วนประเภทที่สี่นี้ยกให้พวกเราที่ปฏิบัติและรู้ธรรมพองู ๆ ปลา ๆ และสอนกันไปแบบงู ๆ ปลา ๆ ตามธรรมเนียมที่เขาเสกสรรว่า “เป็นอาจารย์” ถ้าไม่ตอบก็มีคนมาถาม ถ้าไม่สอนก็มีคนมาเรียนด้วย จึงรู้สึกลำบากที่เป็นอาจารย์ตามคำเสกสรร เพราะไม่ใช่อาจารย์ที่ทรงคุณธรรมภายในใจและควรแก่การสั่งสอนอบรมผู้ใคร่ต่อความดีที่มาศึกษาด้วย

อาจารย์มี ๔ ประเภท และบุคคลมี ๔ ประเภท ในครั้งพุทธกาลพวกเราก็พอจะทราบได้ว่า คนดี คนชั่ว คนโง่ คนฉลาดมีสับปนกันอยู่ แม้สมัยปัจจุบัน เมื่อยกเว้นอาจารย์ประเภทหนึ่งแล้วก็คงจะมีบุคคลประเภทดังกล่าวนี้ปะปนกันอยู่ ดังนั้นอาจารย์สามประเภทดังกล่าวจึงอาจมีสับสนปนกันมาตามลำดับกาล

คำว่า อาจารย์ยังแยกออกเป็นสองแผนก คือ อาจารย์ผู้คอยสังเกตสอดรู้จริตนิสัยและความประพฤติผิด ถูก ชั่ว ดีของตน ว่าควรจะฝึกฝนดัดแปลงตนอย่างไร ด้วยวิธีใดบ้าง จึงจะเหมาะสมและได้รับประโยชน์เป็นขั้น ๆ ไป ที่เรียกว่าอาจารย์ภายในหนึ่ง

อาจารย์ผู้ให้การอบรมสั่งสอนแก่ผู้มาศึกษาอบรมด้วย ว่าจะควรสังเกตรอบรู้จริตนิสัยและความประพฤติของผู้มารับการศึกษาอบรมอย่างไรบ้าง และจะควรให้อุบายสั่งสอนอย่างไรจึงจะเหมาะ และเป็นประโยชน์แก่ผู้มาศึกษาตามขั้นภูมิแห่งความรู้และจริตนิสัย ที่เรียกว่าอาจารย์ภายนอกหนึ่ง

อาจารย์ทั้งสองนี้เป็นเรื่องสำคัญไม่น้อย สำหรับผู้จะหวังพึ่งตนเอง และผู้ยังไม่สามารถจำต้องอาศัยอาจารย์ผู้แนะแนวทางให้ เฉพาะผู้หวังพึ่งตนอันเป็นหลักประกันสำคัญ ต้องพยายามสอดรู้ความประพฤติและจริตนิสัยของตนอยู่เสมอ ว่าจะควรปฏิบัติต่อตนอย่างไรแค่ไหน จึงจะพอเหมาะแก่นิสัยและกำลังของตัว ผลที่เกิดจากการสังเกตตัวเอง ถ้ารู้ว่าเรามีนิสัยหยาบละเอียดแค่ไหน จากนั้นก็พยายามดัดแปลงตัวเองไปตามนิสัยที่ตนเห็นว่าหยาบหรือละเอียด ถ้านิสัยเราหยาบ การบำเพ็ญเพียรพอประมาณไม่เห็นผลปรากฏ จำต้องเร่งข้อวัตรปฏิบัติและความพากเพียรภายในใจเข้าให้มากกว่าปกติธรรมดา เช่นเดียวกับนายช่างตีเหล็ก ถ้าเหล็กยังอยู่ในขั้นหยาบซึ่งควรจะตีให้หนักมือ เขาต้องลงกำลังแรง เมื่อเหล็กละเอียดลงไป ซึ่งควรจะถึงจุดที่หมายแล้ว เขาก็เบามือลง เมื่อถึงจุดที่หมายแล้วเขาก็หยุด จากนั้นเขาก็เปลี่ยนเครื่องมือใหม่ให้พอเหมาะสมกันกับเหล็กซึ่งต้องการความละเอียด ค่อยขัดสีอย่างระมัดระวังจนถึงจุดที่ต้องการ แล้วเขาก็หยุดทันที

การสังเกตนิสัยของตัวก็ต้องทำเช่นนั้นเหมือนกัน ถ้าจิตยังอยู่ในขั้นหยาบมาก จำต้องทรมานกันให้หนักบ้าง แม้จะทนลำบากก็ต้องฝืนและอดทนจนจิตหายพยศ เพราะนิสัยต่างกัน คือผู้มีนิสัยหยาบ กลาง และละเอียด แม้ในคน ๆ เดียวก็ยังมีหยาบ กลาง และละเอียดตามสมัยกาล การฝึกอบรมจึงจะทำแบบเดียวไม่ได้ จำต้องเปลี่ยนแปลงไปตามจิตที่เปลี่ยนแปลงตัวเองไปเป็นระยะ ๆ เช่น จิตประเภทละเอียดอยู่บ้างแล้ว พอได้รับการอบรมจากครูอาจารย์ แล้วนำไปปฏิบัติก็ปรากฏผลได้เร็ว จิตประเภทที่สองต้องทำครั้งแล้วครั้งเล่าจนพอแก่กำลังจะเป็นความสงบได้ก็ปรากฏผลขึ้นมา

ส่วนจิตประเภทที่สามไม่ค่อยจะได้เรื่องได้ราวอะไรเลยในขั้นเริ่มแรก ทั้งไม่ทราบว่าจิตของตนเป็นอย่างไร แม้นั่งภาวนา จิตไม่เคยมีความสงบเยือกเย็นเลย นั่งเพียงสองสามนาทีก็บ่นว่าจะตายแล้ว ถึงกับร้องหาพ่อหาแม่ จะพานั่งภาวนาคราวไรคล้ายกับจะถูกนำเข้าตะแลงแกง เหมือนเขาจะนำสัตว์ไปสู่ที่ฆ่า ทั้ง ๆ ที่ก็ทราบอยู่ว่าเราไม่ใช่สัตว์ประเภทที่จะถูกนำไปเพื่อขึ้นเขียงฆ่า แต่เราเข้าสู่ห้องเพื่อทำความสะอาดแก่จิตด้วยเครื่องซักฟอก คือธรรมอันเป็นธรรมชาติสะอาดยิ่งเท่านั้น เพราะจิตนี้สกปรกมาก จึงทำความทุกข์ให้แก่ตัวอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าเวลาอด เวลาอิ่ม เวลามั่งมี และเวลายากจน มันทำทุกข์ให้เราได้ทั้งนั้น จึงควรจะทำความสะอาดให้จิตเพื่อจะได้มีความสุขบ้างพอสมควร หากได้ไม่มาก

แต่มันฝืนเอาเสียจริง ๆ ไม่อยากหันมองวัด มองห้องทำภาวนา มองทางเดินจงกรม ไม่อยากหันหน้ามองหนังสือธรรม ไม่อยากฟังคำว่าภาวนาเสียเลย ถ้าถูกบังคับเข้าจริง ๆ ทนไม่ไหว ก็ทำบ้างเพียงห้านาทีสิบนาที คอยแต่จะเผ่นออกท่าเดียว จากนั้นก็ตั้งกฎเกณฑ์บังคับบัญชาให้ธรรมแสดงผล ถ้าไม่ได้อย่างใจหวังก็จะหยุดเดี๋ยวนี้ การทำเช่นนี้ไม่ใช่เราเข้าที่ภาวนาเพื่อความสงบเย็นใจ แต่กลายเป็นการเข้าที่ทำความกังวลใส่ตัวเอง เพราะไม่ถูกต้องตามหลักการบำเพ็ญของผู้มุ่งหน้าต่อความสุขทางใจ ซึ่งเป็นคำรับรองจากนิยยานิกธรรมที่ถูกต้อง

พยายามปรับปรุงตัวเองเข้าสู่หลักธรรม ซึ่งจะนำความสุขมาให้ตามควรแก่กำลังของตนที่บำเพ็ญได้ ต้องตั้งกฎกติกาและตั้งความเพียรบังคับตัวเองเข้าสู่ธรรม บกพร่องตรงไหนรีบปรับปรุงแก้ไขจุดบกพร่องนั้นให้ดี วันนี้ทำความเพียรได้เท่านั้นชั่วโมง ผลที่ได้รับเป็นอย่างไร และขณะที่ทำความเพียร จิตได้เล็ดลอดออกไปสู่อารมณ์ที่ไหนบ้างหรือไม่ เพราะการส่งจิตออกไปตามอำเภอใจนั้น ไม่ใช่หลักของการภาวนา แม้จะส่งจิตออกไปข้างนอกก็เพื่อรู้เหตุผลตามหลักของการภาวนา จะส่งจิตเข้ามาภายในกายในใจก็เพื่อรู้เหตุผลของสิ่งนั้น ๆ ตามหลักของการภาวนา ซึ่งมีอยู่ทั้งภายนอกภายใน นี่คือหลักของการภาวนาที่ถูกต้อง

เมื่อเราทำถูกตามวิธีนี้ เวลาทำได้สักกี่นาที กี่ชั่วโมง ผลปรากฏอย่างไรบ้าง ถ้ายังไม่ปรากฏต้องเพิ่มเวลาเข้าอีก เหมือนหมอเพิ่มยาแก้โรคให้แก่คนไข้ฉะนั้น ต้องเพิ่มเวลาและความเพียรเข้าไปโดยลำดับ จนกว่าจะเห็นผลปรากฏจากการภาวนาว่าได้ปรากฏผลเช่นนั้น ๆ อนึ่ง ผลที่ปรากฏนั้นจะไม่ต้องศึกษาไต่ถามใคร จะเป็นสิ่งที่แปลกประหลาดขึ้นกับจิตของผู้ภาวนาโดยถูกต้อง ความเพียรที่เคยตะเกียกตะกายแบบล้มลุกคลุกคลานมาแต่ก่อน จะตั้งตนขึ้นมาทันที เพราะอำนาจศรัทธาความเชื่อมั่นต่อผลที่เคยประจักษ์ใจเป็นเครื่องสนับสนุน  กำลังทุกด้านซึ่งเป็นเครื่องส่งเสริมความเพียรจะเป็นมาพร้อมกัน เวล่ำเวลาที่เคยกดขี่บังคับเรามาแต่ก่อน เลยไม่เป็นปัญหาสำคัญ เพราะความมุ่งในธรรมเบื้องสูงขึ้นไปมีกำลังมากกว่า

หลักของการภาวนาที่จะเห็นผลประจักษ์ต้องทำอย่างนี้ เพราะเราทุกคนไม่เคยจารึกการสร้างวาสนาบารมีมาแต่ก่อน ๆ ไว้แม้แต่รายเดียว ใครจะสร้างไว้มากน้อย ย่อมไม่มีโอกาสทราบได้ เพราะสิ่งปิดบังมีอยู่ภายในใจ จำต้องอาศัยการอบรมบ่มอินทรีย์ เพื่อเป็นการเพิ่มวาสนาบารมีขึ้นให้มาก ด้วยการกระทำความดี สิ่งที่ปิดบังวาสนาบารมีก็จะค่อยหายจางไปเป็นลำดับ แล้วก็จะทราบชัดว่าเรานี้แลเป็นผู้สร้างวาสนาบารมีมาเอง

การสังเกตนิสัยของตัวกับความเพียรให้เหมาะสมกันเป็นเรื่องสำคัญมาก โปรดอย่ามองข้ามไป ถ้าสักว่าทำไปเท่านั้นก็ยากที่จะรู้เห็นเหตุผล ซึ่งจะเกิดขึ้นจากการกระทำเพียงลอย ๆ ทุกสิ่งถ้าทำเพียงลอย ๆ ไม่ว่าทางโลกและทางธรรม ไม่ค่อยจะปรากฏผลที่พึงพอใจ ดังนั้นจึงควรสังเกตนิสัยเพื่อรู้ความหนักเบา ถ้าเป็นนิสัยหยาบตามวาระของจิตซึ่งควรจะเข้มแข็งให้หนักมือในทางความเพียร จึงจะปรากฏผลขึ้นมา เราก็ควรทำอย่างนั้น เหมือนเขาทำนา เพราะนาบางแปลงทำยาก แต่นาบางแปลงทำง่าย

นาของเราเป็นนาที่ทำยาก จะทำอย่างง่ายดายเหมือนนาที่เขาทำง่ายนั้นไม่ได้ แต่เพราะนาแปลงนี้เป็นนาของเรา แม้จะทำยากแสนยากเราก็ต้องทำ ง่ายเราก็ต้องทำ จะไปทำนาคนอื่นไม่ได้ ผิดคติธรรมดาความนิยมของโลก นาของเขาจะง่ายหรือยาก เขาก็ต้องทำนาของเขาเช่นเดียวกับเรา นิสัยนี้เป็นนิสัยของเรา จะหยาบหรือละเอียดก็มิใช่ผู้อื่นใดมาสร้างนิสัยประเภทนี้ให้เรา เราเป็นผู้สร้างมาเอง เราต้องเป็นผู้บึกบึน แก้นิสัยของตัวเองจากนิสัยหยาบขึ้นสู่ความละเอียด ต่อไปก็จะกลายเป็นของง่ายขึ้นมา รายที่บำเพ็ญปรากฏผลได้ง่ายก็มีหน้าที่จะเร่งความเพียร เพื่อปรากฏผลขึ้นไปโดยรวดเร็วเช่นเดียวกัน จนถึงจุดหมายที่ต้องการ จะประมาทนอนใจ โดยถือว่าตนทำง่ายย่อมไม่ควรเหมือนกัน

เพราะฉะนั้น ครั้งพุทธกาล การบำเพ็ญเพียรของโยคาวจรจึงมีลักษณะต่าง ๆ กันในประโยคความเพียร บางท่านก็ง่าย บางท่านก็ยาก เช่นเดียวกับสมัยทุกวันนี้ แต่จะยากหรือง่ายก็เป็นหน้าที่ของตนจะต้องทำ เพราะเป็นงานของตนโดยเฉพาะ จะรอเวล่ำเวลาหรือให้คนอื่นทำแทนหรือช่วยทำไม่ได้ ไม่เหมือนปลูกบ้านปลูกเรือนหรือธุระอย่างอื่น ๆ แม้ครูอาจารย์ก็เป็นแต่ผู้แนะแนวทางให้เท่านั้น ส่วนการประกอบนั้นเป็นหน้าที่ของเราโดยเฉพาะ ท่านแนะวิธีให้แล้วโดยถูกต้องไม่มีข้อสงสัยส่วนใหญ่ แต่ธรรมบางแขนง วิธีประกอบก็ต้องเป็นอุบายความแยบคายของเราเอง ถ้าจะรอรับอุบายจากท่านทุกแง่ทุกกระทงย่อมไม่ทันกับเหตุการณ์ที่ปรากฏขึ้นภายในใจที่มีความเพียรเป็นไปอยู่ เราต้องพยายามคิดค้นหาอุบายโดยวิธีต่าง ๆ เพื่อให้ทันกับใจที่มีแง่งอนมากมาย ไม่เช่นนั้นไม่ทันกัน

งานไหนก็ไม่ยากลำบากเท่างานเพื่อข้ามกองทุกข์ที่มีอยู่ในขันธ์และในจิต งานนี้เป็นงานอันยิ่งใหญ่ต้องทุ่มเทกำลังลงไปด้วยความเพียรอย่างหนัก คล้ายกับว่าจะเป็นจะตายเท่ากัน เพราะผลก็ยิ่งใหญ่เท่าเทียมกัน เมื่อเข้าถึงแล้ว ผู้ต้องการกำไรมากมายจำต้องลงทุนมาก ผู้ต้องการกำไรเพียงเล็กน้อย การลงทุนก็ไม่เท่าไร ผู้ต้องการข้ามไปเสียทีเดียวก็ควรเร่งความเพียรแบบลูกศิษย์พระตถาคต เพราะไม่มีอะไรที่น่าสงสัยแล้วในโลกนี้ ไม่ว่าโลกนอกโลกใน ไม่ว่าทุกข์นอกทุกข์ใน มันเป็นเรื่องบีบคั้นทั้งท่านและเราเสมอกันทั่วจักรวาล จึงไม่ควรสงสัยในเรื่องของทุกข์ที่ผ่านมาแล้วก็ดี ที่กำลังเป็นไปอยู่ ณ บัดนี้ก็ดี ที่จะเป็นไปในอนาคตแห่งขันธ์ที่มีอยู่นี้ก็ดี ที่จะเป็นไปในอนาคตแห่งขันธ์ในภพหน้าชาติหน้าก็ดี มันเป็นเรื่องภพ เรื่องชาติ เรื่องธาตุ เรื่องขันธ์อันเดียวกัน

เรื่องของทุกข์จึงจะเป็นอื่นไปไม่ได้ ต้องเป็นทุกข์ชนิดเดียวกัน เช่นเดียวกับไฟซึ่งเป็นของร้อน ไม่ว่าไฟเตาไหน ไม่ว่าไฟในบ้าน นอกบ้าน ไม่ว่าไฟในเตาหรือนอกเตา จี้เข้าไปต้องร้อนเหมือนกันหมดทั้งคนและสัตว์ ขั้นชื่อว่าทุกข์แล้วไม่ว่าจะมาจากข้างนอกหรือจะเกิดขึ้นข้างใน จะเกิดจากกายหรือจะเกิดจากใจ มันเป็นเรื่องบีบคั้นให้ได้รับความทุกข์ความทรมานจนทรงตัวอยู่ไม่ได้เสมอกันหมด จึงควรเรียนเรื่องทุกข์ให้จบ ถ้าเรียนไม่จบเรื่องความสุขก็ชื่อว่ายังเรียนไม่จบเช่นเดียวกัน เพราะเป็นเรื่องสมมุติเหมือนกัน สุขกับทุกข์จะคอยเจือปนเคลือบแฝงกันไปอยู่ทำนองนี้ ให้ได้รับความตื่นเต้นและอับเฉาไปตลอดกาล

ขันธ์อดีตที่มาแล้วก็ดี ขันธ์อนาคตที่ยังมาไม่ถึงก็ดี ขันธ์ปัจจุบันที่ปรากฏอยู่กับเราก็ดี ท่านว่า ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา ขันธ์ทั้งห้าเป็นภาระอันหนักเหมือนกัน ไม่มีขันธ์ในกาลใดจะผิดแปลกแตกต่างกัน การใช้ปัญญาพิจารณาสงเคราะห์ลงในปัจจุบันแห่งเดียวเท่านั้น ก็เป็นอันว่ารู้ทั่วไปทั้งอดีตอนาคต ไม่ปรากฏจะเป็นที่สงสัยในขันธ์ประเภทใด ใจจะทนถือมั่นอยู่ไม่ได้ ย่อมปล่อยวางไปตามหลักความจริงของปัญญาที่รู้เห็นชัดเจนแล้ว เมื่อเรียนทุกข์ภายในขันธ์จบ ทุกข์ภายในใจก็ทนปัญญาไปไม่ได้ เพราะเป็นสัจจะประเภทเดียวกัน

เชื้อของทุกข์มีอยู่ที่จุดใด ปัญญาจะค่อยสอดส่องมองรู้เข้าไปที่จุดนั้น เมื่อพร้อมกันแล้วก็ทำลายกันลงในที่นั้นเอง จะพ้นวิสัยของปัญญาไปไม่ได้ เมื่อเรียนทุกข์ในขันธ์จบ และทุกข์ในใจจบ สิ่งที่จะมาก่อเหตุเป็นต้นทุกข์ จนกลายขึ้นมาเป็นธาตุเป็นขันธ์ก็หมดทางที่จะเกิด ทั้งสุข ทั้งทุกข์อันอยู่ในวิสัยของสมมุติด้วยกัน ก็เป็นอันว่าเรียนจบโดยตลอดสิ้นเชิง ส่วนบรมสุขซึ่งนอกเขตสมมุตินั้นเป็นวิสัยของผู้ทำใจให้บริสุทธิ์ บรรลุถึง  สอุปาทิเสสนิพพานแล้ว จะตกลงกันเองโดยไม่มีอะไรไปยุ่งเกี่ยว

ฉะนั้น คำว่า พระนิพพาน สำหรับท่านผู้กำลังปฏิบัติต่อหลักธรรมอันแท้จริง จึงไม่ควรคาดหมายไปจากขันธ์และจิตซึ่งมีอยู่กับตัวเรา เพราะสัจธรรมอยู่ที่ไหนความพ้นทุกข์โดยสิ้นเชิงก็จะปรากฏขึ้นมาจากที่นั่น การพิจารณาสภาวธรรมทั้งหลายไม่ว่าข้างนอกข้างใน เป็นอุบายวิธีจะถอดถอนจิตที่มีความเกี่ยวข้องกังวลกับสิ่งเหล่านั้น ให้กลับย้อนเข้ามาเป็นลำดับ เพื่อภาระของจิตจะได้มีวงแคบเข้ามา ความกังวลก็มีน้อย เรื่องทุกข์ก็มีน้อย จนทราบได้ชัดว่า ทุกข์ทั้งมวลมันมีอยู่ในขันธ์และในจิตนี้เท่านั้น นอกจากนี้ก็เป็นดินฟ้าอากาศ แม้จะกว้างแสนกว้าง มีมากแสนมากก็เป็นเพียงธรรมชาติของเขา หากมีและเคยเป็นอยู่อย่างนั้นตามธรรมดาของตน ๆ ไม่ได้มากดขี่บังคับเราให้ได้รับความชอกช้ำเดือดร้อนเหมือนกับเรื่องของตัว ที่ทำความกระทบกระเทือนตนอยู่ตลอดเวลาเช่นนี้

การบำเพ็ญพิจารณา เราก็มิได้ไปเช่าสถานที่บ้านเรือนของใครเพื่อทำงานประเภทนี้  ร่างกายจิตใจซึ่งเป็นที่ทำงานและเครื่องทำงานก็ไม่ต้องไปหามาจากไหน สติปัญญาก็มีอยู่กับเราผู้เป็นนักค้นคว้า มีอยู่พร้อมมูลในสถานที่แห่งเดียว มีอยู่อย่างเดียวว่า เราจะพิจารณาให้ถึงรากฐานแห่งความจริงที่มีอยู่กับเราหรือไม่เท่านั้น ถ้าพิจารณาให้รู้เรื่องของสัจธรรมซึ่งมีบริบูรณ์อยู่ในกายในใจของเราอย่างเต็มที่แล้ว ความสิ้นสุดแห่งทุกข์ที่เคยบีบคั้นจิตใจเรามาเป็นเวลานาน ไม่ต้องกลัวว่าจะไม่มีที่บรรจุตำแหน่งความบริสุทธิ์ เพราะพระนิพพานไม่ใช่สถานที่ทำงานแผนกต่าง ๆ พอจะเต็มไม่มีบรรจุเนื่องจากคนสอบได้มาก

โปรดเรียนและสอบตัวเองไปด้วยข้อปฏิบัติ กำจัดสิ่งเคยเป็นข้าศึกของใจออกให้หมด จนปรากฏเป็นผู้บริสุทธิ์ขึ้นมา จะบริสุทธิ์เป็นจำนวนแสน ๆ ล้าน ๆ คนก็ไม่จนสถานที่บรรจุ เพราะพระนิพพานไม่มีขอบเขตจำกัดเหมือนงานแผนกต่าง ๆ เนื่องจากพระนิพพานไม่ใช่สมมุติ

ความยืดเยื้อแห่งภพแห่งชาตินั้น ถ้าเป็นสิ่งที่นับได้ อ่านได้ และได้จดบันทึกไว้เหมือนบันทึกสิ่งต่าง ๆ แล้ว ไม่มีกองวัตถุใด ๆ จะใหญ่โตและสูงยิ่งกว่ากองบัญชีแห่งการเกิดตายของสัตว์แต่ละราย ๆ เกิดภพนี้ ก็จดไว้ในภพนี้ มีทุกข์ปรากฏขึ้นขณะใดบ้างจดไว้ วันนี้ทุกข์เกิดมากน้อยเท่าไรจดไว้ วันหน้าทุกข์เกิดเท่าไรจดไว้ เดือนหน้าทุกข์เกิดเท่าไรจดไว้ ปีหน้าทุกข์เกิดเท่าไรจดไว้ จดไว้ทุก ๆ ระยะที่ทุกข์ปรากฏขึ้น ไม่ว่าทุกข์จะเกิดขึ้นทางกายหรือทางใจจดไว้หมด จนรวมหมดทั้งชาติมีทุกข์ประมาณเท่าไรแล้ว อีกภพชาติหนึ่ง ๆ ที่ติดต่อกันมาเป็นลำดับ จนถึงปัจจุบันวันนี้ มีกี่ภพกี่ชาติ แต่ละภพ แต่ละชาติ มีกี่วัน กี่เดือน กี่ปีของชีวิตในภพนั้น ๆ และมีทุกข์เกิดขึ้นในวันนั้น ๆ เดือนนั้น ๆ ปีนั้น ๆ ภพชาตินั้น ๆ มากเท่าไร อ่านตลอดกัปตลอดกัลป์ก็ไม่มีจบ ในประวัติของเราคนเดียวเท่านั้น

ความยืดเยื้อแห่งทุกข์เป็นมาเช่นนี้ ถ้าเราสามารถบันทึกความเป็นมาของเราแต่ต้นภพต้นชาติจนถึงบัดนี้ จะไม่มีแผ่นดินอันกว้างขวางที่ไหนเป็นที่เก็บบัญชีแห่งกองทุกข์ของเราที่ทำสถิติเอาไว้ในโลก แผ่นดินที่อาศัยอยู่เวลานี้เพียงบัญชีของเราคนเดียวก็หาที่เก็บไม่ได้แล้ว ยังบัญชีของคนอื่นสัตว์อื่นจะเอาไปเก็บไว้ที่ไหนกันอีก ทั้งท้องฟ้ามหาสมุทรจะไม่มีที่เก็บไว้เลย เพราะมันเต็มไปด้วยกองทะเบียนบัญชีของความเกิด ความตาย ความทุกข์ทรมาน ความล้มหายตาย พลัดพรากจากสัตว์และสังขารทั้งของเขาของเรา สับสนปนเปกันไปหมดอย่างนี้ ไม่มีที่ไหนว่างพอจะเอาปลายเข็มแยงลงได้ ว่าไม่ถูกกองบัญชีเกิดตายของเรา แม้อนาคตข้างหน้าโน้น ก็คือจิตดวงนี้เองเป็นผู้จะวางร่องรอยของตนไปเป็นลำดับ ๆ เช่นเดียวกับที่เคยเป็นมาแล้ว

เหยียบย่างไปที่ไหนถูกแต่ภพแต่ชาติ ถูกแต่กองทุกข์ของตนวันยังค่ำ คืนยังรุ่ง ทุกข์ซ้ำทุกข์ ทุกข์ภายนอกได้แก่ทุกข์ในขันธ์ ทุกข์ภายในได้แก่ทุกข์ใจ ทุกข์แล้วทุกข์เล่าอยู่ภายในขันธ์ตลอดเวลา แม้จะไม่มีการเจ็บไข้ก็ตาม ทุกข์ประจำขันธ์ต้องทุกข์แล้วทุกข์เล่าอยู่อย่างนั้น ทุก ๆ คน ทุก ๆ สัตว์ และยังทุกข์ภายในใจอีก ออกจะเหลือทน เพราะย้ำกันไปไสกันมาเหมือนกงจักร ถ้าเป็นตัวหนังสือแล้ว จะหาที่อ่านไม่ได้ เพราะเขียนซ้ำรอยกัน แต่นี้เป็นเรื่องของทุกข์ซ้ำรอยกัน ไม่ทราบว่าซ้ำกันกี่มากน้อย แล้วยังจะซ้ำกันไปอีกข้างหน้า ไม่ทราบว่าจะนานสักเท่าไร ไม่มีประมาณเลย

ในชาติที่เห็นอยู่นี้ นับว่าเรามีวาสนาบารมีมากยิ่งกว่าสัตว์ทั้งหลายอยู่แล้ว เพราะได้มาเกิดเป็นมนุษย์ ทั้งได้พบพระพุทธศาสนาที่เต็มไปด้วยเหตุผล และทนต่อการพิสูจน์ ทั้งเป็นสวากขาตธรรมที่ตรัสไว้ชอบ และเป็นนิยยานิกธรรมผู้ปฏิบัติตามต้องได้รับผล เพื่อนำตนออกจากทุกข์เป็นลำดับ อย่าให้เสียทีและผ่านไปเปล่า จงพยายามถือเอาประโยชน์จากศาสนธรรมให้ได้เท่าที่ควร

ที่ผ่านมานี้ได้อธิบายเรื่องทุกข์ซึ่งเป็นสิ่งคลุกเคล้ากับเราอยู่ตลอดเวลา เพื่อท่านผู้ฟังจะได้ถือเป็นคติและหาอุบายพร่ำสอนตน เพื่อหาทางออก เพราะความเห็นโทษในทุกข์ประจักษ์ใจ ความพากเพียรเพื่อหนีทุกข์ หากเกิดขึ้นมาเองเช่นเดียวกับคนหรือสัตว์กลัวอันตราย วิ่งไม่ได้ก็ต้องเสือกคลานไปจนสุดกำลัง ใคร ๆ ก็ต้องตะเกียกตะกายหนีภัย จะยอมนอนตายอยู่เฉยๆ ได้อย่างไร สุดวิสัย ณ ที่ใดแล้วค่อยล้มตายที่นั่น ผู้กลัวทุกข์ก็ต้องตะเกียกตะกายเหมือนกัน สุดวิสัย ณ ที่ใดแล้ว จึงมอบไว้กับความจำเป็นที่สุดวิสัยจริง ๆ

ถ้ากลัวบ้าง กล้าบ้าง ยังมีทางเข้า ๆ ออก ๆ บางทีก็ขี้เกียจทำความดี คิดขึ้นมาบางวาระก็กลัวทุกข์ คิดขึ้นมาบางวาระก็กล้าหาญต่อทุกข์ โดยเห็นว่าคนทั้งโลกไหนจะมีความทุกข์แต่เราคนเดียว เขาก็ต้องทุกข์เช่นเดียวกับเรานี่เองจะไปกลัวมันทำไม แม้จะไปตกนรกหมกไหม้ ในที่นั่นก็มีทั้งผู้หญิงผู้ชาย จะแสวงหาสามีภรรยาและโรงหนังโรงละครในที่นั้นก็ยังพอได้ แต่ข้อนี้เราลองคิดดูซิว่า เนื้อเป็ดเนื้อไก่ซึ่งมีทั้งตัวผู้ตัวเมียที่ถูกเขาสับยำจนแหลกละเอียด แล้วโยนลงไปในหม้อที่กำลังเดือดพล่านนั้น เคยเห็นสัตว์เหล่านี้ไปเที่ยวแสวงหาครอบครัวผัวเมีย และเล่นระบำทำเพลงกันสนุกสนานในหม้อแกงนั้นบ้างไหม หรือเขาโยนเขียด โยนหอย โยนปลา ซึ่งมีทั้งตัวเล็กตัวใหญ่ มีทั้งตัวผู้ตัวเมียลงในหม้อน้ำร้อนที่กำลังเดือด มีสัตว์ตัวใดบ้างที่แสวงหาครอบครัวและความสนุกสนานรื่นเริงในที่เช่นนั้น มองเห็นแต่ตัวไหนก็ทำกระเสือกกระสนจนสุดกำลัง แล้วนอนตายแช่น้ำร้อนอยู่เท่านั้น โดยมิได้สนใจว่าเขาเป็นตัวผู้ เราเป็นตัวเมีย เพราะความทุกข์ทรมานจนถึงตายจะไปสนใจกับเรื่องผัว ๆ เมีย ๆ ที่ไหนกัน

เรื่องทุกข์ทรมานที่จะเป็นไปในกาลข้างหน้า ก็ควรเทียบในทำนองเดียวกันจึงจะเห็นภัยประจักษ์ใจ ความขยันหมั่นเพียรเพื่อความแหวกว่ายหนีทุกข์นั้นจะมีขึ้นมาเอง เช่นเดียวกับบุคคลไปเจอเสือซึ่งเป็นสัตว์ร้าย ใครก็ทราบกันอยู่แล้ว แม้จะมองไม่เห็นตัว เพียงได้ยินแต่ชื่อก็กลัวกัน ที่ไหนเราไปเจอเอาอย่างจัง ๆ เสียเองจะยอมให้เสือกินมีอย่างหรือ อย่างไรก็ต้องวิ่งจนสุดฝีเท้าที่จะวิ่งได้ ขณะนั้นถ้ามี ๕ ขา ก็ต้องวิ่งพร้อมกันทั้ง ๕ ขา ไม่เพียงแต่ ๒ ขาเท่านั้น ถ้าเป็นผู้แสดงไปเจอเอาอย่างนั้น จะอย่างไรก็คงจะไม่มีอะไรเหลือติดตัว แม้สบงจีวรจะขาดหลุดลุ่ยไปหมดก็ต้องยอม แต่ฝีเท้าจะไม่ยอมหยุดวิ่ง เป็นอะไรเป็นกัน

เพราะมันสำคัญอยู่ที่ชีวิต ซึ่งเป็นของมีค่าเหนือตัวเรา ใครจะไปยอมให้เสือกินเปล่า ๆ มีประโยชน์อะไร แต่การวิ่งหนีเสือมันมีประโยชน์มาก เพราะได้ชีวิตเราไว้ทั้งคน ไม่ล่มจมเปล่า แต่นี้ยังดี เวลาเที่ยวกรรมฐานตามป่าตามเขาซึ่งเป็นชุมนุมของสัตว์ร้ายมีเสือเป็นต้น ก็ไม่เคยเจอเสือ แม้เสือก็คงจะทราบนิสัยเราซึ่งเป็นคนขี้ขลาดหวาดกลัว เสือก็เลยกลัวเรา ไม่กล้าเจอกันในสถานที่และกาลเช่นนั้น ทั้งนี้เพราะความรักชีวิตมีขนาดไหน ความตะเกียกตะกายเพื่อหนีภัยก็มีขนาดนั้น

ถ้าเรารักสงวนจิตใจ เราไม่อยากให้สิ่งที่เป็นภัยต่อใจ ฉุดลากไปเพื่อการเกิดการตายไม่มีจบสิ้น เช่นเดียวกับไปพบเสือ และไม่ยอมตัวให้เสือกินเปล่าแล้ว ก็ควรทำความพยายามตะเกียกตะกายเพื่อแหวกว่ายออกจากกองทุกข์ดังกล่าวมา เพราะไม่มีอะไรที่จะน่าสงสัยแล้วในโลกนอกโลกใน ทั้งโลกท่านโลกเรา ถ้ายังสงสัยไม่แน่ใจจะไปเที่ยวสอบถามโลกไหนก็ไปถามลองดู หรือจะไปสอบถามนายยมบาลก็ได้ เขาคงจะบอกเรื่องความยุ่งยากเกี่ยวกับหน้าที่คอยจดทะเบียนบัญชีของคนของสัตว์ที่ทำดีทำชั่ว เกิด ๆ ตาย ๆ ซึ่งเป็นเรื่องทุกข์ยุ่งไปหมด หรือเขาอาจจะไม่มีเวลาคุยอะไรกับเรามากนักก็ได้ เพราะหน้าที่เขากว้างขวางและยุ่งมากยิ่งกว่าโลกของเราเสียอีก เนื่องจากคนและสัตว์ในสามภพตกอยู่ในความรับผิดชอบเของเขา จะต้องคอยลงทะเบียนบัญชีและอื่นๆ อีก

เพียงโลกมนุษย์เราก็พอจะสอบถามได้ความชัด ในเรื่องทุกข์ที่มีประจำอยู่ทุกสัตว์ทุกบุคคล เช่นไปถามคนจน เขาก็จะบอกว่าเป็นทุกข์เพราะความจนบังคับ ทั้งติดหนี้สินเขาพะรุงพะรังยุ่งไปหมด เขามาทวงหนี้สินแทบทุกวัน ทั้งข้าวจะรับประทานก็ไม่มี ไปถามคนมั่งมีก็จะบอกว่า ทุกข์เพราะการงานมากไม่มีเวลาพักผ่อน หาเวลาเป็นตัวของตัวแทบไม่ได้ในวันคืนหนึ่ง ๆ ทั้งรายรับรายจ่ายยุ่งไปหมด จะหาใครทำแทนก็ไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องสำคัญเราต้องทำเอง และติดแจอยู่กับงานนี้ตลอดเวลา ไปไหนไม่ได้

บางครั้งนั่งหลับคาโต๊ะก็มี เพราะเวลาพักผ่อนไม่เพียงพอ เนื่องจากงานติดต่อกันอยู่ตลอดสาย ทั้งงานในบ้าน ทั้งงานนอกบ้าน ทั้งงานใกล้และงานไกล ตลอดสินค้าที่ส่งมาจากที่ต่าง ๆ ทั้งในและนอกประเทศ เราเป็นผู้รับผิดชอบทุก ๆ สิ่งและทุก ๆ แขนงของงาน บางวันถึงกับรับประทานไม่ได้และนอนไม่หลับ ต้องใช้ความคิดมาก เพราะงานมาก เงินมาก ไหลเข้ามารวมอยู่ที่เราเป็นผู้รับผิดชอบคนเดียว ฉะนั้นเรื่องมันจึงยุ่งอยู่อย่างนี้

ตามธรรมดาแล้วนี้เป็นงานอาชีพซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ทั่วโลกต้องทำกัน เพราะธาตุขันธ์มีด้วยกันทุกคน ทั้งต้องอาศัยสิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องบำรุงเป็นประจำ จะขาดไปไม่ได้ ถ้าขาดสิ่งเหล่านี้โลกต้องสลายตั้งอยู่ไม่ได้ ถึงเช่นนั้นคนเรายังบ่นกันทั่วโลก ไม่มีที่ไหนจะไม่บ่นเกี่ยวกับเรื่องการงาน ไม่ค่อยจะได้ยินว่า ฉันจน ฉันสบาย เพราะไม่ต้องเป็นภาระกับสมบัติเงินทองและสิ่งต่าง ๆ  มากมายนัก  และฉันมีเงินทองมากฉันอยู่สบาย  สามีก็ถูกอกถูกใจ ภรรยาก็ถูกอกถูกใจ ลูกหญิงลูกชายก็ถูกอกถูกใจ ญาติมิตรเพื่อนฝูงถูกอกถูกใจ ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับฉันเป็นที่ถูกอกถูกใจทั้งนั้น

แต่มักจะได้ยินแต่บ่นกันทั้งนั้น ไม่ว่าคนจน คนมี คนโง่ คนฉลาด ไม่ว่าหญิง ไม่ว่าชาย ไม่ว่านักบวชและฆราวาส พวกเรารู้ทุกข์ รู้เพียงขั้นบ่นกันเท่านั้น ฉะนั้น ใครจึงบ่นกับทุกข์อยู่ทุกแห่งทุกหน ทั้งคนมี คนจน ทั้งคนโง่ คนฉลาด ทั้งในวัด นอกวัด ทั้งในบ้าน นอกบ้าน ทั้งในเมือง นอกเมือง ทั้งเมืองเล็ก เมืองใหญ่ ทั้งในประเทศและนอกประเทศ ทั้งประเทศเล็ก และประเทศใหญ่ ทั่วโลกบ่นเหมือนกันหมด

แต่พระพุทธเจ้าท่านรู้ถึงความจริงของทุกข์ รู้ฐานที่เกิดของทุกข์ และรู้วิธีรื้อถอนสาเหตุให้เกิดทุกข์ทั้งภายในภายนอก ท่านจึงสามารถดับทุกข์ได้โดยสิ้นเชิง ไม่มีการบ่นให้ทุกข์ดับไปเฉย ๆ ทั้ง ๆ ที่ไม่ทำการแก้ไขและรื้อถอน ฉะนั้นท่านจึงสอนโลกด้วย โลกวิทู (ความรู้แจ้งโลก) โดยความองอาจกล้าหาญ ไม่มีความสะทกสะท้านในการสั่งสอน เพราะท่านรู้โลกชัด ทั้งโลกนอก โลกใน ทั้งธรรมนอกและธรรมใน ด้วยพระปัญญาอันแหลมคมอย่างยิ่ง

พวกเราเหยียบย่ำกันไป เหยียบย่ำกันมา ก็ไม่ทราบว่าของดี ของชั่วคืออะไร เช่นเดียวกับผู้ไม่มีความฉลาดในการค้นแร่แปรธาตุ แม้จะเดินเหยียบย่ำไปมาอยู่ตลอดกาล ก็ไม่รู้ว่าอะไรเป็นแร่และเป็นธาตุชนิดไร แต่ผู้มีความรู้ความฉลาดในทางนี้ เพียงเดินไปเท่านั้น เขาก็รู้ว่าที่นั่นมีแร่ชนิดนั้น แม้จะเป็นคนเหมือนกัน แต่มันต่างกันที่มีความฉลาดแหลมหลักต่างกัน นี้พวกเราก็นั่งทับ นอนทับความดี ความชั่วอยู่ตลอดเวลาอกาลิโก ก็ไม่ทราบว่าจะเลือกเฟ้นเอาอะไร จึงเลยยกเอาหมดทั้งรัง รับกันหมดทั้งเปลือก สุขบ้าง ทุกข์บ้างก็ยอมทนเอา

วันนี้ได้อธิบายเรื่องทุกข์ให้บรรดาท่านผู้ฟังทราบ ตามเรื่องของทุกข์ที่มีอยู่กับตัว โปรดนำไปพิจารณาและบำเพ็ญตนเต็มสติกำลังความสามารถ อย่าลดละความเพียรพยายาม จะได้มากหรือน้อยเป็นสมบัติของเรา เพราะของดีแม้จะมีน้อยก็ดี ยิ่งมีมากก็ยิ่งดีมาก และใครก็ต้องการ เช่นบ้านดีแน่นหนามั่นคงและสวยงาม ใครก็ชอบ ที่ดินดีมีราคาแพงจะปลูกบ้านเรือนก็ดี จะทำเป็นสวน เป็นนาก็ดี ใครก็ชอบ เด็กดีมีความเชื่อฟังผู้ปกครองเรียนหนังสือดี ไม่ชอบเที่ยวเตร็ดเตร่ ไม่เป็นคนผลาญทรัพย์ ชอบประหยัด หัดนิสัยให้ตรงต่อเวลา ผู้ปกครองก็ชอบ ผู้หญิงดี ประพฤติตัวสมศักดิ์ศรีของหญิง ไม่เป็นคนชอบเที่ยวและชอบเกี้ยวผู้ชายใครก็ชอบ

สรุปความแล้ว ทุกสิ่งถ้าเป็นของดีมีประโยชน์แล้ว ใครก็ชอบกันทั้งโลก ดังนั้น จงพยายามดัดแปลงตนให้ดี หากยังไม่พ้นจากวัฏสงสารในวันนี้ วันหน้าก็จะได้อาศัยความดีเหล่านี้เป็นเครื่องพยุงในภพนั้น ๆ จึงมีความสุขความเจริญในภพชาติที่ตนอาศัย เหมือนคนเดินทางมีเครื่องป้องกันตัว แดดร้อนแต่มีเครื่องปกปิดกายก็พอบรรเทาทุกข์ไปได้ ไม่ร้อนแผดเผาเสียทีเดียว การท่องเที่ยวในวัฏฏะก็ต้องอาศัยบุญวาสนาบารมีที่เคยสร้างมาเป็นเครื่องปกป้องกำบังทุกข์ทั้งหลาย ไม่ให้ทุกข์ทรมานจนเกินไป พอมีทางหายใจได้บ้างในภพชาติหนึ่ง ๆ ไม่รับแบกหามเอาทุกข์ทั้งโลกธาตุเสียแต่ผู้เดียว

ในอวสานแห่งพระธรรมเทศนานี้ จึงขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัยมาอภิบาลคุ้มครองท่านทั้งหลาย ในอิริยาบถทั้งสี่ คือ ยืน เดิน นั่ง นอน จงมีคุณพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ตามรักษา และขอให้เป็นผู้มีโอกาสวาสนาอำนวย ได้บำเพ็ญคุณงามความดีตลอดไปโดยความสะดวก จนถึงแดนแห่งความสมหวังโดยทั่วกันเถิด

 

www.Luangta.or.th


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก