จุดที่รวมแห่งอริยธรรม
วันที่ 7 มิถุนายน 2505 ความยาว 43.31 นาที
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)

ค้นหา :

เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๗ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๐๕

จุดที่รวมแห่งอริยธรรม

 

วันนี้จะแสดงธรรมป่าล้วน ๆ ให้บรรดาท่านผู้ฟังทั้งหลายทราบ ทั้งที่ได้อุตส่าห์มาจากทางใกล้และทางไกล ทั้งผู้ที่อยู่กับบ้านนี้ ตลอดถึงผู้ที่อยู่ในวัด คำว่า ธรรมป่า นั้น เป็นธรรมที่ไม่ได้ท่องหรือจดจำมาจากคัมภีร์ไหน ๆ นอกจากจะแสดงตามหลักธรรมชาติแห่งธรรม ซึ่งเป็นของมีอยู่ทั่วไปในโลกเท่านั้น ส่วนจะถูกหรือผิดอย่างไรนั้นขอให้บรรดาท่านผู้ฟังทั้งหลายจงไตร่ตรองตามธรรมที่แสดง แล้วเทียบเคียงกับหลักธรรมในคัมภีร์อันเป็นธรรมตายตัว

        ธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าคือหลักแห่งเหตุผล ถ้าเมื่อเหตุกับผลถูกต้องกันแล้วทั้งที่เป็นฝ่ายดีและฝ่ายชั่ว พึงทราบว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ดีและเป็นสิ่งที่ชั่วได้อย่างสมบูรณ์ และเป็นหลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าได้ด้วย องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าในคราวพระองค์เสด็จออกจากหอปราสาทเพื่อแสวงหาโมกขธรรม ในเบื้องต้นก็ปรากฏว่าพระองค์ได้พิจารณาหลักธรรมชาติ ทั้ง ๆ ที่ไม่มีใครหรือพระพุทธเจ้าองค์ใดมาประกาศสอนพระองค์ว่า สภาวะทั้งหลายเป็นอย่างนั้น ๆ แม้ประชาชนพร้อมทั้งบริษัทและบริวาร ซึ่งอยู่ในพระราชวังของพระองค์ ก็ปรากฏว่าเป็นคนธรรมดาเช่นเดียวกับพระองค์ท่าน

แต่ในคืนที่พระองค์จะเสด็จออกทรงผนวช หลักธรรมชาติแห่งธรรมได้ปรากฏขึ้นในพระทัยว่า ทั้งคนในพระราชวัง คือบริษัทบริวารทั้งหลายด้วย และนอกพระราชวัง ทั่วทั้งไตรโลกธาตุด้วย  ปรากฏว่าเป็นป่าช้าผีดิบไปทั้งดินแดน หาที่จะปลงจิตปลงใจพึ่งพิงอิงอาศัยในบุคคลหรือสัตว์สักรายหนึ่งว่า ไม่ใช่ป่าช้า ไม่มีเลย นี้คือหลักธรรมชาติแห่งธรรมซึ่งเป็นของมีอยู่ในสัตว์และบุคคลทั่วไป ได้ปรากฏขึ้นในพระทัยของพระองค์ แม้ที่สุดพระองค์เองก็ปรากฏเป็นป่าช้าผีดิบเช่นเดียวกับมนุษย์และสัตว์ทั่ว ๆ ไป จึงเป็นเหตุให้ทรงเบื่อหน่ายในความเป็นอยู่ของโลกเกิดตาย อันเป็นที่รวมแห่งกองทุกข์นานาชนิดทั้งของเขาและของเรา นอกจากจะแสวงหาความพ้นจากความเป็นเช่นนี้ไปเสียเท่านั้น ทรงพินิจพิจารณาถึงหลักธรรมชาติแห่งธรรมซึ่งเคยประกาศตัวอยู่ตลอดมา ก็ทรงได้พระสติสะดุดพระทัยในขณะนั้น และเพราะหลักธรรมชาติเหล่านั้นได้เตือนพระทัยให้มีความสลดสังเวชเพื่อหาทางพ้นจากทุกข์โดยไม่อำลาใคร ๆ และได้เสด็จออกเวลากลางคืน

นี่ก็เป็นเครื่องแสดงให้เราทั้งหลายได้เห็นว่า หลักธรรมชาติคือธรรมที่แท้จริงนั้นเป็นสภาพมีอยู่ทั่วไปในสัตว์และสังขารทุกประเภท พระองค์ได้เสด็จออกทรงผนวชก็เพราะหลักแห่งธรรมชาติเหล่านี้ซึ่งเตือนพระทัย ทรงบำเพ็ญพระองค์เป็นคนขอทานเหมือนคนขอทานทั่ว ๆ ไป ไม่ทำพระองค์ให้เป็นผู้มีคุณค่าว่าเป็นกษัตริย์ เป็นต้น ปรากฏพระองค์เพียงเป็นคนขอทานและเป็นเหมือนผ้าขี้ริ้วผืนหนึ่งซึ่งไม่มีราคา อันใคร ๆ ไม่ต้องการ ในเวลาพระองค์ทรงบำเพ็ญเพียรได้รับความกระทบกระเทือนและความทุกข์ลำบากแสนสาหัส เพราะกษัตริย์เสด็จออกผนวชประพฤติพระองค์เป็นคนอนาถา เป็นคนไม่มีคุณค่าราคาแต่อย่างใด

เพราะสมัยนั้นการให้ทานก็ดี การรักษาศีลก็ดี เจริญภาวนาก็ดี ไม่มีใครได้สั่งสอนไว้ว่า ผลแห่งการให้ทานเป็นต้นนั้นมีมากน้อยเพียงไร จึงไม่มีใครสนใจจะพยายามบำรุงบำเรอและตามอุปัฏฐากพระองค์ให้ทรงได้รับความสุขในส่วนแห่งพระกาย ความเป็นกษัตริย์ที่พระองค์ทรงลดทิฐิมานะลงถึงขนาดเป็นคนขอทาน เช่นเดียวกับคนธรรมดาสามัญที่ขอทานทั่ว ๆ ไป แทนที่จะเป็นทุกข์จนทนไม่ไหว แต่ก็กลับเป็นการสะดวกต่อการบำเพ็ญธรรม เพราะการลดทิฐิมานะอย่างนั้น เนื่องจากพระองค์ได้ทรงเห็นหลักธรรมชาติที่เตือนพระทัย แล้วบำเพ็ญพระองค์ให้เป็นไปในหลักแห่งธรรมนั้น ๆ

        ขอสรุปว่าหกปีพระองค์ได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณเป็น โลกวิทู รู้โลก ทั้งเป็นโลกนอกทั้งเป็นโลกใน กว้างแคบโดยตลอดทั่วถึง ไม่มีอันใดจะปิดบังลี้ลับว่าพระองค์จะไม่สามารถหยั่งทราบได้โดยพระปัญญาญาณ แม้ที่สุดในพระทัยของพระองค์ที่มีอะไรเคลือบแฝงอยู่ก็ปรากฏชัด เช่นเดียวกับวันเพ็ญพระจันทร์เต็มดวงสว่างจ้าขึ้นในคืน ซึ่งตรงกับเดือนหกเพ็ญที่เรียกว่า วิสาขมาส ธรรมทั้งหมดที่พระองค์ทรงรู้เห็นนั้น เป็นธรรมในหลักธรรมชาติทั้งนั้น โดยทรงบำเพ็ญตามหลักธรรมชาติ พิจารณาในหลักธรรมชาติที่ประกาศกังวานอยู่ทั้งภายนอกภายในตลอดกาล แม้ความรู้สึกซึ่งปรากฏเป็นอยู่ตลอดเวลา ณ ภายในก็เป็นหลักธรรมชาติอันหนึ่ง พระองค์ได้รู้แจ้งเห็นจริงโดยตลอด ทั้งนี้ล้วนแล้วแต่เป็นหลักธรรมชาติทั้งนั้น ก่อนที่พระองค์จะตรัสรู้ ก็ปรากฏว่าได้อยู่ในที่สงบสงัด ซึ่งเป็นหลักธรรมชาติและปราศจากความพลุกพล่านด้วยฝูงชนและบรรดาสัตว์ มีพระกายอันเปลี่ยว จิตใจก็วิเวกวังเวง ความรู้สึกภายในของพระองค์ก็เด่นขึ้นในขณะนั้น

ตามธรรมดา ธรรมชาติรู้ที่เราเรียกว่าใจนี้ จะมีความรู้อยู่ตลอดเวลา ๒๔ ชั่วโมง ไม่เคยลดละแม้ขณะเดียว แต่เพราะสิ่งแวดล้อมมากระทบและกลบไว้โดยทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ จึงเป็นเหตุให้ความรู้อันนั้นซุ่มซ่อนอยู่ตามรูป เสียง กลิ่น รสเป็นต้น ไปเสีย ไม่สามารถจะพินิจพิจารณาความรู้นั้นว่ามีความหนักเบาไปในแง่ไหนบ้าง ทั้งทางชั่วและทางดี แต่เมื่อได้รับความสงัดวิเวก จิตก็ไม่พัวพันกับสิ่งใดซึ่งเคยรู้เคยเห็นมาแต่ก่อน ความรู้ที่ปรากฏขึ้นในใจจะส่งกระแสไปทางใดจะเป็นทางอดีต ทางอนาคตก็ปรากฏรู้เท่าทันในวงปัจจุบันเสมอไป ด้วยอำนาจพระสติ ซึ่งทรงตั้งไว้แล้วด้วยดี ความรู้อันนี้ก็ปรากฏเด่นขึ้นโดยลำดับ

ความรู้ที่เด่นขึ้นนี้จะเด่นขึ้นทางดีก็ทราบชัด จะเด่นขึ้นทางชั่วก็ทราบชัด เมื่อจะเด่นขึ้นในทางสั่งสมกิเลสตัณหา เพื่อความมัวหมองภายในจิตใจ พระองค์ก็พยายามแก้ไขให้ทันกับเหตุการณ์ ไม่ปล่อยให้ฝ่ายต่ำฉุดลากไป จนจิตค่อยกลายเป็นจิตที่ผ่องใส สะอาดเป็นลำดับ และมีความเฉลียวฉลาดด้วยอุบายปัญญา เพราะเหตุนั้น ท่านจึงสอนให้บำเพ็ญสมาธิ คือความสงบใจ เมื่อใจได้รับความสงบแล้ว ย่อมเห็นเงาของตัวเองในทางปัญญา เหมือนน้ำที่ใสสะอาด สามารถมองเห็นสัตว์น้ำหรือสิ่งต่าง ๆ ที่มีอยู่ในน้ำนั้นได้โดยชัดเจนฉะนี้

เมื่อจิตยังไม่สงบเราจะพิจารณาสิ่งใดก็ไม่ชัดเจน แม้จะพิจารณาทางปัญญาก็กลายเป็นสัญญาไปเสียโดยมาก นี้หมายถึงสัญญาที่จะก่อเหตุเป็นสมุทัย สะสมกิเลสขึ้นภายในใจ เพราะความรู้ความเห็นที่มาผ่านทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เมื่อใจได้รับความสงบแล้ว จะพิจารณาสภาวธรรมก็เห็นชัดเจนแจ่มแจ้ง เช่นเดียวกับบุคคลที่กำลังหยุดนิ่งอยู่ มองดูอะไรก็เห็นชัดฉะนั้น สมาธิพระองค์ก็ได้ทรงบำเพ็ญมา คำว่า “สมาธิ” นี้หมายถึงความสงบของใจหรือความแน่นหนามั่นคงของใจ เมื่อใจได้รับความสงบแล้ว ความสุขจะปรากฏขึ้นมาในขณะนั้น ถ้ายังไม่สงบก็ยังไม่ปรากฏเป็นความสุขขึ้นมา เมื่อมีความสงบสุขแล้ว เราพอมีช่องทางจะพิจารณาทางปัญญา

คำว่า “ปัญญา” หมายถึงความสอดส่องมองดูเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้ทะลุปรุโปร่งเป็นลำดับหรือความแยบคาย ออกจากใจอันเดียว สัญญาคือความจำ ปัญญา คือความคลี่คลายในสิ่งที่ตนจดจำไว้นั้น เช่นเดียวกับเรามัดไม้หลายกิ่งหลายแขนงเข้าเป็นมัด ๆ สัญญาเช่นเดียวกับตอกหรือลวดที่เรามัดไม้เป็นกำไว้  ปัญญาเป็นผู้คลี่คลายไม้ที่เรามัดไว้นั้นให้เห็นว่ามีกี่ชิ้นด้วยกัน มีไม้อะไร และชื่อว่าอะไรบ้าง เรื่องของปัญญาจึงเป็นธรรมชาติคลี่คลายดูสภาวธรรมซึ่งเป็นของมีอยู่ในตัวของเรา

        อนึ่ง คำว่า “สมาธิ”  การทำใจให้มีความสงบเยือกเย็น ท่านผู้ฟังทั้งหลายคงจะเคยได้ทราบแล้วว่ามีหลายชั้น ขณิกสมาธิ จิตที่รวมลงเพียงขณะเดียวแล้วถอนขึ้นมาเสีย อุปจารสมาธิ คือสมาธิที่รวมสงบแล้วถอนออกมาเล็กน้อยแล้วออกรู้สิ่งต่าง ๆ ที่มาสัมผัสใจในขณะนั้น จะเป็นเรื่องสัตว์ บุคคล หรือภูตผีก็ตาม จัดเข้าในวงอุปจารสมาธินี้ ส่วนอัปปนาสมาธิ จิตที่หยั่งลงแล้วมีความสงบอย่างเต็มที่ และรวมอยู่ได้เป็นเวลานาน ๆ  คำว่า “อัปปนาสมาธิ” นี้มีความหมายกว้างขวางมาก จิตรวมอยู่ได้นานด้วย มีความชำนิชำนาญในการเข้าออกของสมาธิด้วย ต้องการเวลาใดได้ตามความต้องการด้วย

แต่เราผู้บำเพ็ญในทางปัญญานั้น ไม่จำเป็นต้องถึงขั้นอัปปนาสมาธิแล้วจึงจะต้องพิจารณาทางปัญญา เรื่องของสมาธิ คือความสงบ จะสงบมากน้อย พึงทราบว่าเป็นบาทฐานแห่งวิปัสสนาคือปัญญาเป็นขั้น ๆ ไป เพราะปัญญามีหลายขั้น ขั้นหยาบ ขั้นกลาง ขั้นละเอียด สมาธิในขั้นหยาบก็เป็นบาทฐานของวิปัสสนาขั้นหยาบได้ ขั้นกลาง ขั้นละเอียดก็เป็นบาทฐานของปัญญาขั้นกลาง ขั้นละเอียดได้ และในขณะเดียวกันพึงทราบว่า สมาธิกับปัญญานั้นเป็นธรรมคู่เคียงโดยจะแยกจากกันไม่ออก ควรใช้ปัญญาคู่เคียงกันไปกับสมาธิตามโอกาสอันควร คือถ้าเราจะดำเนินในทางสมาธิโดยถ่ายเดียว ไม่คำนึงถึงเรื่องปัญญาเลยแล้ว จะเป็นเหตุให้ติดสมาธิคือความสงบ

เมื่อจิตถอนออกมาจากสมาธิแล้ว ต้องพิจารณาในทางปัญญา เช่นพิจารณาธาตุขันธ์โดยทางไตรลักษณ์ วันนี้ก็พิจารณาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา วันหน้าก็พิจารณาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไตร่ตรองอยู่เช่นนี้ทุกวันทุกคืนไป ไม่ต้องสงสัยว่าจะไม่ชำนาญในทางปัญญา ต้องมีความคล่องแคล่วชำนาญเช่นเดียวกันกับทางสมาธิ ปัญญาในเบื้องต้นต้องอาศัยการบังคับให้พิจารณาอยู่บ้าง ไม่ใช่จิตเป็นสมาธิแล้วจะกลายเป็นปัญญาขึ้นมาทีเดียว ถ้าจิตเป็นสมาธิแล้วกลายเป็นปัญญาขึ้นมาเอง โดยผู้บำเพ็ญไม่ต้องสนใจมาพิจารณาทางด้านปัญญาเลยแล้ว จิตก็ไม่มีโอกาสจะติดสมาธิ ดังที่เคยปรากฏดาษดื่นในวงนักปฏิบัติ ความจริงเบื้องต้นต้องอาศัยมาพิจารณา ปัญญาจะมีความคล่องแคล่วและมีความสว่างไสว ทั้งรู้เท่าทันกับสิ่งที่มาเกี่ยวข้องเป็นลำดับ จะเป็นไตรลักษณ์ที่หยาบก็จะเห็นในทางปัญญา

คำว่าไตรลักษณ์อย่างหยาบ อย่างกลาง และอย่างละเอียดนั้น ขึ้นอยู่กับการพิจารณา เช่นเราพิจารณาในส่วนร่างกายจัดว่าเป็นไตรลักษณ์ส่วนหยาบ พิจารณาในเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จัดเป็นไตรลักษณ์ส่วนกลาง พิจารณาเรื่องจิตที่เป็นรากเหง้าแห่งวัฏฏะจริง ๆ แล้ว นั่นคือไตรลักษณ์ส่วนละเอียด เมื่อจิตได้ก้าวเข้าสู่ไตรลักษณ์ส่วนหยาบ ไตรลักษณ์ส่วนกลาง ไตรลักษณ์ส่วนละเอียด จนผ่านพ้นไตรลักษณ์ทั้งสามนี้ไปแล้ว ธรรมชาติที่ปรากฏขึ้นในอันดับต่อไปอย่างไม่มีปัญหาใด ๆ นั้น จะเรียกว่า อัตตาก็ตาม อนัตตาก็ตาม ไม่เป็นไปตามความสมมุตินิยมใด ๆ ทั้งนั้น เพราะอัตตากับอนัตตาเป็นเรื่องของสมมุติ ซึ่งโลกก็มีอยู่ด้วยกัน ธรรมชาติอันนั้นไม่ใช่สมมุติ โลกทั้งหลายจึงเอื้อมถึงได้ยาก เมื่อมีอัตตาและอนัตตาเป็นเครื่องเคลือบแฝงอยู่ในใจ

สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงพิจารณาในสภาวะทั้งหลาย โดยไตรลักษณ์ส่วนหยาบ ส่วนกลาง และส่วนละเอียด จนเห็นประจักษ์แจ่มแจ้งพระทัยแล้ว กาลใด กาลนั้น พระองค์จึงทรงเปล่งพระอุทานขึ้นว่า เรียนจบไตรภพโดยสมบูรณ์แล้ว จากนั้นก็ทรงปลงพระทัยที่จะสั่งสอนสัตว์ทั้งหลาย มีเบญจวัคคีย์เป็นต้น พร้อมกับการประกาศพระองค์ว่าเป็นศาสดาของโลกได้ ถ้าพระองค์ยังไม่ผ่านไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทั้งส่วนหยาบ ส่วนกลาง และส่วนละเอียดไปแล้ว พระองค์จะเป็นศาสดาของโลกอย่างเต็มที่ไม่ได้เลย เราทั้งหลายผู้มุ่งจะเป็นครูสอนตน เป็นผู้ฝึกฝนทรมานตน เราก็ต้องดำเนินไปตามแนวทางที่พระองค์ทรงพิจารณา และทรงรู้เห็นไปโดยลำดับเช่นนี้

คำว่า ไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาด้วย ไตรลักษณ์ขั้นหยาบ ขั้นกลาง ขั้นละเอียดด้วย พึงทราบว่ามีอยู่ในกายในใจของเราทุกท่าน ไม่ใช่มีแต่พระพุทธเจ้าพระองค์เดียวและพระสาวกของพระองค์เท่านั้น พึงทราบว่าเราทั้งหลายเวลานี้กำลังเป็นภาชนะที่สมบูรณ์อยู่แล้วที่จะสามารถพิจารณา และรับรองสภาวะที่ได้อธิบายมานี้ ให้เห็นแจ่มแจ้งขึ้นในใจ ซึ่งเรียกว่า ธรรมในหลักธรรมชาติ เป็นของมีอยู่ตั้งแต่วันก้าวเข้าสู่ปฏิสนธิวิญญาณมาเป็นลำดับจนถึงวันนี้ องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าท่านพิจารณาเห็นสภาวธรรมทั้งหลาย ไม่ได้ไปค้นหาที่ไหน ธรรมทั้งหลายมีอยู่แล้วอย่างสมบูรณ์ พระองค์พิจารณาตามหลักธรรมชาติเหล่านี้ให้เห็นชัดแจ่มแจ้งตามหลักแห่งธรรมทั้งหลายที่มีอยู่อย่างสมบูรณ์ทั้งภายนอกและภายใน จนหายสงสัยข้องพระทัยทุกอาการแล้ว จึงได้ประกาศพระองค์ว่า เป็นผู้สิ้นแล้วจากสังสารจักร คือความหมุนเวียนเปลี่ยนแปลง ได้แก่ความเกิด แก่ เจ็บ ตายเหล่านี้

เราซึ่งเป็นพุทธบริษัทของพระองค์เจ้า ขอได้โปรดพิจารณาสภาวธรรมซึ่งมีอยู่ในตัว และเราอย่าคิดมากไปว่า เราไม่มีศีลจะบำเพ็ญสมาธิให้เป็นไปไม่ได้ เราไม่มีสมาธิจะบำเพ็ญปัญญาให้เป็นไปไม่ได้ดังนี้ พึงทราบว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นธรรมสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องอยู่กับหัวใจของผู้ตั้งใจปฏิบัติด้วยกันทุกท่าน ศีล หมายถึงปกติ ความเป็นปกติของใจในปัจจุบันนั้นปรากฏเป็นศีลขึ้นมาแล้ว ความสงบของใจในขณะที่กำลังภาวนาอยู่นั้น เรียกว่าจิตเป็นสมาธิขึ้นมาแล้ว การพิจารณาไตร่ตรองในหลักธรรมชาติ คือไตรลักษณ์ที่มีอยู่ทั่วสรรพางค์ร่างกายและจิตใจทั้งภายในและภายนอก จะเป็นเวลาใดก็ตาม พึงทราบว่าปัญญาเริ่มปรากฏขึ้นมาภายในใจของเราแล้ว

เมื่อเราได้พยายามบำเพ็ญในธรรมทั้งสามประเภท คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ให้มีการติดต่อกันเป็นลำดับไป ศีล สมาธิ ปัญญา จะเป็นธรรมที่มีกำลังกล้าอาจปรากฏขึ้นภายในใจของเราทั้งสามประเภทพร้อม ๆ กัน เราอย่าเข้าใจว่าเราเป็นหญิงหรือฆราวาสแล้วจะไม่สามารถบำเพ็ญสมณธรรม คือคุณงามความดี มีมรรค ผล นิพพานที่เราต้องการให้เกิดขึ้นในตัวได้ ถ้าเราคิดเช่นนั้นเป็นความคิดผิด จะเป็นอุปสรรคต่อตนเอง เพราะองค์แห่งอริยสัจธรรมทั้งสี่ไม่ได้นิยมว่านี้คือผู้หญิง นั้นคือผู้ชาย นั้นฆราวาส นั้นคือนักบวช พระ เณร เถร ชี แต่มีอยู่ในสัตว์ สังขารบรรดาที่มีวิญญาณครองทั่วไป เมื่อผู้ใดมีปัญญาพิจารณาอริยสัจธรรมทั้งสี่นี้ ผู้นั้นแลเป็นผู้กำลังก้าวดำเนินตามเสด็จพระองค์ท่านเป็นลำดับ อริยสัจธรรมทั้งสี่นี้ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

คำว่า “ทุกข์” เป็นชื่อแห่งธรรมชาติอันหนึ่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่ปรากฏอยู่ในกายและในจิตของเรา ความไม่สงบกายก็ดี ความไม่สงบใจก็ดี ท่านเรียกว่า อริยสัจ คือของจริงอย่างประเสริฐ ของจริงที่ไม่เอนเอียงไปตามบุคคลผู้ใด ใครจะตำหนิธรรมชาตินี้ว่าดีก็ตาม ว่าชั่วก็ตาม ธรรมชาตินี้ก็คือธรรมชาตินี้นั้นเอง ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปตามความตำหนิติชมของบุคคลหรือสัตว์ใด ๆ ทั้งนั้น ท่านจึงเรียกว่า ของจริง และมีอยู่เหมือนเงาตามตัว แต่เงาจะปรากฏในที่แจ้งเท่านั้น เข้าสู่ที่มืดแล้วเงาไม่ปรากฏ ส่วนอริยสัจธรรมทั้งสี่ มีทุกขสัจเป็นต้น เราจะอยู่ในที่มืดก็ตาม อยู่ในที่แจ้งก็ตามจะปรากฏในกายในใจของเราเสมอไป ไม่ว่าเป็นทุกข์ หรือเป็นสุข ฉะนั้นโปรดกำหนดพิจารณาให้ทั่วถึงตามที่อริยสัจปรากฏอยู่

เรื่องการพิจารณากองทุกข์นี้ เราไม่ได้หมายจะเอาทุกข์มาเป็นสมบัติของเรา แต่ถ้าเราไม่พิจารณาทุกข์ เราก็ไม่มีอุบายปัญญารู้รอบคอบและหายสงสัยในทุกข์ ก็จะเกิดความลุ่มหลงนำทุกข์มาพัวพันภายในใจว่า เราทั้งอวัยวะนี้เป็นทุกข์ หรือว่าทุกข์ทั้งหมดนี้เป็นตัวของเราไปเสีย การที่เราพิจารณาทุกข์ให้เห็นชัดตามเป็นจริงแล้ว เรากับทุกข์นั้นจะแยกกันออกได้ โดยไม่ต้องคาดหมายให้เป็นกังวล จะเห็นว่าทุกข์นั้นเป็นส่วนหนึ่งจากเรา ในขณะเดียวกันเราผู้รู้ในสุขก็ดี ในทุกข์ก็ดี ก็จะเห็นว่าเป็นสภาพอันหนึ่งจากเวทนาทั้งสามนั้น

การพิจารณาทุกข์โดยอุบายแยบคายและความรอบคอบอย่างนี้ จึงเป็นทางปล่อยวางความกังวลในทุกข์ หรือแยกความเป็นทุกข์นั้นออกจากตัวเราได้ โดยเห็นว่าทุกข์นั้นเป็นของจริงอันหนึ่ง ธรรมชาติที่รู้ทุกข์คือใจนี้ก็เป็นของจริงอันหนึ่ง ไม่สับสนปนกันโดยถือทุกข์นั้นว่าเป็นเรา และถือเราว่าเป็นทุกข์ แม้ทุกข์จะปรากฏขึ้นทางกายก็เห็นว่าเป็นสภาพอันหนึ่งจากความรู้ ไม่ใช่เรา ยิ่งพิจารณาเข้าไปภายใน คือทุกข์ทางใจก็จะเห็นเช่นเดียวกัน การพิจารณาทุกข์ทั้งนี้ เรียกว่าได้ดำเนินมรรคไปในตัวแล้ว เพราะถ้าไม่ใช้ปัญญาก็ไม่มีเครื่องมือเพื่อดำเนิน การไตร่ตรองหรือพิจารณาทุกข์ตั้งใจดูทุกข์ กำหนดรู้ทุกข์ ตั้งสติดูทุกข์ ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องของมรรค คือ ศีล สมาธิ ปัญญาทั้งนั้น

คือการพิจารณาทุกข์ก็เป็นอริยสัจอันหนึ่ง เมื่อเห็นเรื่องของทุกข์แล้วเป็นเหตุให้คิดต่อไปว่าทุกข์นี้เกิดขึ้นเพราะอะไร เช่นเราเสียใจในขณะที่ประสบสิ่งที่ไม่น่าปรารถนา โดยมีใครมาด่าทอให้กระทบกระเทือนเราด้วยกิริยามารยาทอันไม่สมควร เกิดความเสียใจขึ้นมา เราพยายามพิจารณาหาต้นเหตุแห่งความเสียใจว่า เกิดขึ้นมาเพราะเหตุใด และจะมีทางแก้ไขความเสียใจด้วยวิธีใด ดังนี้ก็เรียกว่า เราพยายามจะถอนสมุทัยอยู่ในขณะเดียวกันนั้นแล้ว เมื่อเราทำการพิจารณาเรื่อง ทุกข์ สมุทัย โดยมรรค คือสติกับปัญญาไปโดยทำนองนี้ ก็เป็นการทำให้แจ้งซึ่งนิโรธโดยลำดับในขณะเดียวกัน

อนึ่ง โปรดทราบว่าทุกข์กับสมุทัยมีหลายขั้น มรรคก็มีหลายขั้น มีอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด นิโรธก็มีหลายขั้นเช่นเดียวกัน ทุกข์ส่วนหยาบดับไป นิโรธส่วนหยาบได้เริ่มปรากฏตัวขึ้นมา ทุกข์ส่วนกลางดับไป นิโรธส่วนกลางได้ปรากฏตัวขึ้นมา ทุกข์ส่วนละเอียดดับไป นิโรธได้ปรากฏตัวขึ้นมาอย่างเต็มที่ จึงควรทราบไว้อย่างนี้ ไม่ใช่ว่า ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค จะเป็นธรรมขั้นเดียว แยกกันได้อย่างนี้ เราพิจารณาเบื้องต้นก็ต้องเป็นขั้นหยาบ ต่อมาก็ค่อยเลื่อนฐานะขึ้นไปขั้นกลาง ขั้นละเอียด โดยความรู้อันเดียวเป็นผู้พิจารณา ความรู้อันเดียวเป็นผู้วิพากษ์วิจารณ์ จนกลายเป็นความแยบคายโดยลำดับ และกลายเป็นความรู้ความฉลาดอันยอดเยี่ยมขึ้นมาเป็นขั้น ๆ จากดวงใจอันเดียวกัน

พระพุทธเจ้าผู้ดำเนินมาก่อนก็ทรงทำเช่นนี้ รู้สึกว่าพระองค์เป็นมาด้วยความทุกข์ความลำบาก เป็นมาด้วยความอดทน เป็นมาด้วยความขยันหมั่นเพียรและกล้าเสียสละ แม้ชีวิตก็ไม่ทรงเสียดาย เพื่อให้ได้อริยสัจซึ่งเป็นธรรมสายเอก ทรงพยายามเพื่อรู้ชัดในทุกข์ซึ่งเป็นความเดือดร้อนในทุกข์ทั้งมวล และพยายามรื้อถอนสมุทัยอันเป็นตัวก่อให้เหตุทั้งมวลเกิดขึ้น ด้วยมรรค คือ ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อปรากฏผลคือ นิโรธ ความดับทุกข์เป็นขั้น ๆ จนไม่มีอะไรเหลืออยู่ภายในใจ แม้อริยสัจสี่ซึ่งเป็นธรรมที่เคยเห็นว่าลี้ลับ ก็ปรากฏผลเป็นธรรมเปิดเผยต่อพระทัยขึ้นมาจนได้ เพราะความพยายามเป็นกุญแจดอกสำคัญ

ฉะนั้น บรรดาเราทุกท่านผู้มุ่งต่อแดนพ้นทุกข์ตามพระองค์ โปรดพิจารณาโดยโอปนยิโก น้อมอริยสัจทั้งสี่เข้ามาสู่กายสู่ใจ ให้ตรงตามหลักความจริงซึ่งเป็นของมีอยู่เช่นเดียวกับพระพุทธเจ้าไม่มีอะไรบกพร่อง และไม่มีสิ่งใดแปลกกันแม้แต่น้อย ปัญญาที่หยั่งทราบในอริยสัจทั้งสี่ก็เกิดจากใจดวงเดียว เราผู้กำลังฟังเทศน์อยู่ในบัดนี้จึงไม่มีความผิดแปลกอะไรจากครั้งพุทธกาล และเป็นปัจจุบันกาลอยู่เสมอ ภายในใจของผู้ตั้งไว้ด้วยดีแล้วในคลองแห่งธรรม และเป็นผู้สามารถจะรับรู้ในสัจธรรมทั้งหลายซึ่งเป็นของมีอยู่ในตัว เมื่อกำลังปัญญาสามารถแล้ว ย่อมรอบรู้ทั้งภายนอกและภายใน ตลอดดวงจิตไม่มีอันใดเหลือ คำว่ารอบรู้ภายนอกนั้น หมายถึง รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัสและปล่อยวางได้ การพิจารณาภายใน คือ ย้อนจิตเข้ามาสู่ภายในกาย จนสามารถรู้เท่ากายทุกส่วน เพราะอำนาจการพิจารณา จนถอนจากอุปาทานความถือกายเสียได้        ส่วนเวทนาจะเป็นสุขก็ดี ทุกข์ก็ดี เฉย ๆ ก็ดี สัญญาความจำได้หมายรู้ก็ดี สังขาร ความปรุง จะปรุงดี ปรุงชั่ว ปรุงกลาง ๆ ปรุงอดีต อนาคต ก็ทราบชัดว่าเป็นเพียงสภาวะอันหนึ่ง ๆ วิญญาณ ความรับรู้ก็เป็นเพียงสภาวะอันหนึ่ง รวมแล้วเรียกว่ากองอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาทั้งนั้น ปัญญารู้รอบแล้วปล่อยวางเข้าไปเป็นลำดับ ทีนี้ยังเหลือจิตซึ่งเป็นตัวเหตุอันสำคัญ และเป็นผู้ให้นามว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณก็ดี และเป็นผู้หลงในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณก็ดี มายึดในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณก็ดี ปัญญาขุดค้นตามเข้าไปเป็นระยะ ๆ จนถึงรากฐานแห่งวัฏจักร คือ ความรู้อวิชชาผู้เป็นจอมแห่งไตรภพอันเป็นเรื่องบรรจุแห่งเรื่องทั้งปวง ชื่อว่าเรื่องทั้งหมดรวมอยู่ที่นี้ เพราะเหตุนั้นท่านจึงให้นามว่าปมแห่งวัฏจักร

จงพิจารณาจนเห็นว่านี้ก็คือไตรลักษณ์ และเป็นเครื่องมือของไตรจักร เช่นเดียวกับสภาวธรรมอื่น ๆ เมื่อรู้เห็นชัดแล้วความถือมั่นยึดมั่นในความรู้ที่เจือด้วยยาพิษจะหมดไป เพราะเห็นเป็นอสรพิษอย่างแน่ใจ ต้องสลัดปัดทิ้งทันที ความรู้ซึ่งเป็นตัวอวิชชาก็ขาดกระเด็นออกจากใจ เรื่องทั้งหลายที่เต็มอยู่กับความรู้ที่เต็มไปด้วยเรื่องก็ขาดไปพร้อม ๆ กัน เรื่องที่เป็นกิเลสทั้งมวลไม่มีทางเกิดขึ้นจึงยุติลง ความสัมผัสจากการเห็น การได้ยิน การสูดกลิ่น ลิ้มรสทั้งปวงจึงเป็นเพียงสักว่ากิริยา ไม่มีเรื่องจะให้เกิดความซึมซาบและยึดมั่นถือมั่น ซึ่งเป็นตัวอุปาทานอีกต่อไป เพราะความรู้ที่เป็นไปด้วยเรื่องซึ่งเป็นผู้บงการได้หมดสิ้นไปแล้ว เรื่องทั้งหลายจึงไม่มี

พระพุทธเจ้าก็ดี สาวกทั้งหลายก็ดี ได้ทำลายความรู้ที่เต็มไปด้วยเรื่องนี้ขาดสิ้นไปจากจิตใจแล้ว แม้ท่านจะทรงขันธ์อยู่ ขันธ์ก็สักว่าขันธ์ คือรูปก็สักว่ารูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัสทั้งหลายก็สักว่าเท่านั้น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งเป็นของมีอยู่ประจำขันธ์ ๕ ก็สักแต่ว่าอาการนั้น ๆ เท่านั้น ไม่มีเรื่องเกี่ยวข้องกับจิตอันจะให้เกิดความกังวล เพราะจิตกลายเป็นจิตที่พ้นจากเรื่องแล้ว คือเป็นจิตที่ไม่มีสมมุติแล้ว ก็จิตที่เป็นสมมุติหมายถึงจิตที่เต็มไปด้วยเรื่องดังกล่าว คือมีอวิชชาเป็นหัวหน้า ความรู้ที่อยู่ใต้อำนาจอวิชชาจัดว่าความรู้ที่เต็มไปด้วยเรื่อง ฉะนั้นเรื่องจะโกรธก็ดี เรื่องจะโลภก็ดี เรื่องจะหลงก็ดี จึงขึ้นอยู่กับความรู้อันนี้ทั้งนั้น เมื่อความรู้อันนี้ได้ดับลงไป เรื่องจะโลภ เรื่องจะหลงจึงไม่มีอีกต่อไป เพราะรากเหง้ามันดับแล้วกิ่งก้านสาขาจะทนอยู่ได้อย่างไร จำต้องดับตามกันไปหมด

ปัญญาที่พิจารณาเป็นไปตามลำดับจนรู้แจ้งเห็นจริงแล้ว คำว่าจิตก็หมดสมมุติไป จะให้ชื่อให้นามก็สักแต่ว่า ไม่ได้มีความผูกพันมั่นหมายในความรู้ประเภทนั้น ท่านจึงเป็นผู้หมดเรื่องทางภายใน อยู่ด้วยความไม่มีปัจจัยสืบต่อระหว่างจิตกับอารมณ์ เป็นบรมสุขในอิริยาบถทั้งสี่ คือ ยืน เดิน นั่ง นอนไม่มีเรื่องทั้งนั้น หลับหรือตื่นก็เป็นสุข เพราะไม่มีสิ่งรบกวนใจ เป็นอยู่ด้วยความหมดเรื่อง ขันธ์ ๕ จึงกลายเป็นเครื่องมือสำหรับใช้เป็นประโยชน์ของนักปราชญ์โดยสมบูรณ์ก่อน แต่ยังไม่รู้เท่าทันขันธ์ทั้ง ๕ ต้องเป็นเครื่องมือของมหาโจรผู้ลือนามซึ่งเป็นหัวหน้าบังคับขันธ์ทั้ง ๕

คือกาย จำต้องทำไปด้วยอำนาจของกิเลสตัณหา เวทนาที่ปรากฏขึ้นมาก็ปรากฏขึ้นมาด้วยอำนาจกิเลสตัณหา สัญญาจำขึ้นมาก็จำเพราะอำนาจของกิเลสตัณหา สังขารก็ปรุงเรื่องกิเลสตัณหาทั้งมวล วิญญาณก็รับรู้เพื่อกิเลสตัณหาอาสวะไปเสียทั้งนั้น เพราะเจ้าอวิชชาเป็นตัวมหาโจร คือเจ้าเรือน เจ้ากิเลสตัณหา รากเหง้าแห่งกิเลสตัณหาทั้งมวลอยู่ที่นั้นทั้งหมด พออวิชชาดับไปเท่านั้น ขันธ์ทั้ง ๕ จึงกลายเป็นเครื่องมือของอวิชชาวิมุตติไป วิชชาวิมุตติได้ผุดขึ้นมาอย่างเต็มที่แล้ว ขันธ์กลายเป็นบริษัทบริวาร คือเครื่องมือวิชชาวิมุตตินั้นไปเสีย กิริยาของกายที่จะเคลื่อนไหวก็จะเป็นไปโดยธรรม เวทนาคือความสุข ความทุกข์ เฉย ๆ ซึ่งเกิดขึ้นทางกายก็เป็นไปโดยธรรม สัญญา จำได้หมายรู้ก็จำไปโดยธรรม สังขารก็ปรุงโดยธรรม วิญญาณก็รับรู้โดยธรรมทั้งนั้น ไม่ได้เป็นตามกิเลสตัณหาอาสวะที่เคยเป็นมา

องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคท่านทรงทำปริวรรต ท่านทำอย่างนี้ ท่องเที่ยวในวัฏสงสาร พระพุทธเจ้าก็ท่องเที่ยวมานานไม่มีจบสิ้น เที่ยวที่ไหนก็เกิดตายที่นั่น ทุกข์ที่นั่น เมื่อได้ปริวรรต กลับเข้ามาท่องเที่ยวในสกลกายและใจ คือ จุดที่รวมแห่งอริยธรรม โดยหลักธรรมชาตินี้แล้ว จึงได้ยกธงชัยว่า “พุทโธ” อย่างเต็มดวง ผู้ข้ามห่วงแห่งความหลงแล้วก็นำมาประกาศให้เราทั้งหลายได้ถือเป็นสรณะ คือ พุทฺธํ ธมฺมํ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ อยู่จนบัดนี้ ธรรมทั้งนี้เกิดขึ้นมาจากการปริวรรตเข้ามาสู่ภายใน เรียกว่า โอปนยิโก น้อมเข้ามาสู่ภายใน พิจารณาให้เห็นชัดแจ่มแจ้ง

การข้ามโลกสงสารไม่ข้ามที่ไหน โลกก็คือดวงใจที่เป็นอวิชชานี้ทั้งดวง สังสาระความท่องเที่ยวก็หมายถึงจิตดวงนี้ วัฏจักร ตัวหมุนก็คือความรู้ที่เต็มไปด้วยเรื่องนี้เอง เป็นเหตุให้วกเวียนไปมา กรรมทั้งหลายจึงสืบต่อกันไปโดยลำดับ เพราะธรรมชาติซึ่งเป็นตัวจักรใหญ่พาหมุนอยู่ตลอดเวลา เมื่อตัวจักรใหญ่ได้ทำลายลงแล้ว ตัวจักรเล็กก็พลอยถูกทำลายไปตาม ๆ กัน ผลสุดท้ายไม่มีอะไรเหลืออยู่ เช่นเดียวกับต้นไม้ที่ถูกถอนขึ้นหมดทั้งราก แม้กิ่งก้านสาขาจะมีมากมายก็จะต้องตายฉิบหายไปตาม ๆ กันหมด เรื่องอวิชชาดับไปก็เช่นเดียวกัน กิเลสตัณหาประเภทใด ๆ ดับไปหมด ไม่มีอะไรเหลือ

วันนี้แสดงธรรมเทศนาให้ท่านผู้ฟังทั้งหลายทราบในลักษณะแห่งธรรมป่า หากไม่ถูกจริตจิตใจในหลักธรรมบางประการ ผู้แสดงยังหวังได้รับอภัยจากบรรดาท่านผู้ฟังทั้งหลายด้วยจิตเมตตา ถ้าธรรมที่แสดงนี้พอจะเป็นประโยชน์ได้บ้าง ก็ขอได้โปรดนำไปไตร่ตรองและปฏิบัติตามในโอกาสอันควร ความสุขความเจริญที่โลกปรารถนามานานจะเป็นเครื่องสนองตอบแทนท่านนักปฏิบัติทั้งหลาย ผู้อุตส่าห์พยายามเป็นลำดับ นับแต่ขั้นแรกจนถึงขั้นสูงสุด คือวิมุตตินิพพานฯ ในอนาคตอันใกล้นี้ ดังนั้นการแสดงธรรมก็เห็นว่าสมควรแก่เวลา จึงขอยุติการแสดงเท่านี้ เอวํ

 

www.Luangta.or.th


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก