เอาร่างกายนี้เป็นทางเดินของปัญญา
วันที่ 28 ธันวาคม 2545 เวลา 17:00 น.
สถานที่ : วัดธรรมสถิต อ.เมือง จ.ระยอง
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)

ค้นหา :

เทศน์อบรมพระและฆราวาส

ณ วัดธรรมสถิต อ.เมือง จ.ระยอง

วันที่ ๒๘ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๔๕ [ค่ำ]

“เอาร่างกายนี้เป็นทางเดินของปัญญา”

 

            วันนี้ก็เป็นวันมหามงคลของพี่น้องชาวจังหวัดระยองเรา และแถวใกล้เคียงมาทุกแห่งทุกหน แม้แต่กรุงเทพฯ อยู่ไกล ๆ ก็มา จังหวัดใกล้เคียงก็มา ข่าวนี้เป็นข่าวของพี่น้องชาวไทยทั่วประเทศ ไม่ใช่ข่าวธรรมดา ข่าวช่วยชาติบ้านเมืองของเรา บ้านเมืองเป็นของเราทุก ๆ คน ความรักชาติ ความรับผิดชอบจึงมีกับทุกคน เมื่อเห็นสิ่งใดบกพร่องไม่เป็นที่แน่ใจก็ได้พยายามปรับปรุงแก้ไขกัน วันนี้ก็เป็นวันทอดผ้าป่ามหากุศลเพื่อช่วยชาติของเรา มีทองคำเป็นอันดับหนึ่ง ดอลลาร์ เงินสดเป็นอันดับต่อ ๆ ไป ทั้งนี้เพื่อเข้าสู่จุดรวมคือคลังหลวงเป็นต้น

            เวลานี้บรรดาพี่น้องทั้งหลายที่ยังไม่ทราบ ความเคลื่อนไหวของการช่วยชาติว่าเป็นอย่างไรบ้างก็มีอยู่จำนวนไม่น้อยเหมือนกัน วันนี้จึงขอเผดียงให้ทราบทั่วกัน ว่าชาติไทยของเราจะล่มจะจมมาแต่เมื่อใด อันนี้ไม่พรรณนาไปแหละ ทราบแต่ว่าจะล่มจะจมเท่านั้น ได้ช่วยกันขวนขวายกันขึ้นมาเป็นเวลา ๕ ปีเข้ามานี้แล้ว โดยอาศัยพี่น้องชาวไทยที่รักชาติทั้งหลาย ต่างคนต่างไม่นิ่งนอนใจ พอทราบเรื่องราวก็ต่างคนต่างวิ่งเต้นขวนขวาย ผลที่ได้จากการวิ่งเต้นขวนขวายของพี่น้องชาวไทยที่รักชาติกันทั้งมวล ปรากฏเวลานี้ที่ได้เข้าสู่คลังหลวงเรียบร้อยแล้วนั้นคือ ทองคำมีน้ำหนัก ๕,๕๕๙ กิโลครึ่ง หรือว่าน้ำหนัก ๕ ตันกับ ๕๕๙ กิโลครึ่ง นี้ได้เข้าสู่คลังหลวงเรียบร้อยแล้ว และดอลลาร์ ๗ ล้าน ๒ แสนกว่าดอลล์ นี่ก็ได้เข้าคลังหลวงเรียบร้อยแล้ว เป็นเครื่องหนุนชาติไทยของเรา ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย

            ทองคำ ๕ ตันนี้เป็นของเล่นเมื่อไร ตั้งแต่เราตั้งเมืองไทยมาก็ยังไม่เคยมีผู้หนึ่งผู้ใดจะหยิบยกเอาทองคำมาโยนให้ตูมตาม ๑ กิโล ๒ กิโล เพื่อชาติไทยของเรา โดยไม่มีสาเหตุเป็นมาอย่างนี้ไม่เคยมีมาเลย แต่คราวนี้พี่น้องชาวไทยเราทราบกันทั่วหน้าว่าได้ช่วยชาติบ้านเมือง จึงต่างท่านต่างคนต่างอุตส่าห์พยายามขวนขวายหามา ตั้งแต่เริ่มแรกจนกระทั่งบัดนี้จึงได้ทองคำน้ำหนักถึง ๕,๕๕๙ กิโล นี่คือน้ำใจแห่งความรักชาติ ของเราทั้งหลายแสดงออกในเวลาจำเป็นเช่นนี้ แต่ก่อนก็ไม่เคยมีมา และเวลายุติจากการช่วยชาตินี้แล้วก็จะไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดหาทองคำ ดอลลาร์ เงินสดมามอบให้คลังหลวงอีกเลยแหละ ก็ต้องเป็นคลังหลวงอยู่อย่างนั้น มีมากมีน้อยก็มีอยู่เพียงเท่านั้น

ไม่เหมือนเวลานี้ซึ่งกำลังต่างคนต่างขวนขวายช่วยชาติของตน มีมากมีน้อยต่างคนต่างพยายามบริจาคมา ๆ ตั้งแต่เล็กจนกระทั่งถึง ๕,๐๐๐ กว่ากิโลแล้ว ทองคำเพียงกิโลเดียวมันราคาเท่าไร นี่ถึง ๕,๐๐๐ กว่ากิโลจะเป็นราคาเท่าไร นี่ละให้พี่น้องทั้งหลายได้ทราบทั่วกันว่า การช่วยชาติคราวนี้จึงเป็นคราวที่หนักมากทีเดียว สำหรับหลวงตาแล้วรู้สึกว่าหนักมากกว่าบรรดาพี่น้องทั้งหลายเสียอีก ตัวเองก็ไม่ได้เคยมีเงินมีทองอะไรมามอบให้คลังหลวง แต่เป็นผู้นำเพื่อขอบิณฑบาตด้วยการประกาศก้องทุกแห่งทุกหน ตำบล หมู่บ้าน อำเภอ จังหวัด ทั่วประเทศไทย ให้พี่น้องทั้งหลายทราบ แล้วพากันช่วยชาติของเรา โดยหลวงตาเป็นผู้นำ

แต่ก่อนเราก็ไม่เคยสนใจในบ้านเมืองเหล่านี้ไม่เคยมี ปฏิบัติศีลธรรมอยู่ในป่าในเขาด้วยความสนใจต่ออรรถต่อธรรมอย่างเดียว ทางบ้านทางเมืองใครจะเป็นอะไร ๆ ตั้งนายกรัฐมนตรีกี่ครั้งกี่หนมา บ้านเมืองเป็นยังไง ตั้งคนนั้นเป็นยังไง ตั้งคนนี้มาเป็นยังไง เรื่อยมาจนกระทั่งปัจจุบัน นี้แหละถึงได้มีการกระทบกระเทือนขึ้น ขอสรุปเลยว่า จึงได้อุตส่าห์ออกมาช่วยพี่น้องทั้งหลายโดยทางศาสนาเป็นผู้นำ ทางศาสนาเป็นผู้นำ พระก็คือหลวงตาบัวได้ออกนำพี่น้องทั้งหลาย เที่ยวบิณฑบาต เทศนาว่าการทั่วประเทศไทย ถึงจะอยากลำบากในสังขารร่างกายเราก็อุตส่าห์พยายามเต็มเม็ดเต็มหน่วย ฟังซิว่าสภาพของร่างกายนั้นน่ะ มีครูบาอาจารย์หรือพระองค์ไหน อายุถึงปูน ๙๐ แล้ว ๙๐ ย่างเข้ามา ๔ เดือนนี้แล้ว อายุของหลวงตา

การเทศนาว่าการก็เทศน์อยู่ตลอดอย่างนี้ เราเคยเห็นที่ไหน นี่ก็เพราะความมีแก่ใจ เห็นแก่ชาติบ้านเมืองของเรานั้นแล จึงได้ช่วยอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย เสียสละทุกสิ่งทุกอย่าง จนกระทั่งมาบัดนี้ แล้วเวลานี้สุขภาพร่างกายก็ยิ่งนับวันอ่อนลงๆ ไปไหนมาไหนมีความลำบากลำบน ทางการเทศนาว่าการแต่ก่อนก็พอเทศน์ได้ธรรมดา ๆ แต่เวลานี้ความหลงความลืมเหยียบย่ำเข้ามาทุกวัน เทศน์วกวน หลงหน้าหลงหลังไปแล้วนะเวลานี้ ก็ยังอุตส่าห์พยายามเทศน์ ในขณะที่เทศน์อยู่นี้พี่น้องทั้งหลายกรุณาทราบก็แล้วกัน ถ้าเวลาเทศน์อันใดที่ตกหายไป ไม่สืบต่อกันก็ให้พึงทราบว่าความหลงลืมนั้นแหละเข้าไปตัด ระลึกได้ข้อไหนแง่ใดก็ยกขึ้นมาเทศน์ แล้วกรุณายึดเอาข้อนั้นแง่นั้นต่อไป

ถ้าจะฟังติดต่อสืบเนื่องกันเป็นลำดับเหมือนแต่ก่อน เวลานี้ไม่ได้แล้ว เพราะความจดความจำ สัญญาความจดจำนี้ไม่ค่อยทำงานแล้วเวลานี้ คาดบ้านนั้นบ้านนี้ ถนนหนทางคาด มันไม่คาดแล้ว มันขี้เกียจ หลงไปหมด ไปที่ไหนก็ไปธรรมดานั้นแหละ นี่พูดถึงเรื่องการช่วยชาติบ้านเมืองย่อ ๆ ให้พี่น้องทั้งหลายได้ทราบทั่วกัน และความมุ่งหมายในการช่วยชาติคราวนี้เพื่อให้สมเกียรติแห่งชาติไทยของเรา ศักดิ์ศรีดีงามแห่งชาติไทยของเราให้เหมือนกันกับชาติอื่น ๆ เขานั้น ทองคำขอให้ได้น้ำหนัก ๑๐ ตันในการช่วยชาติคราวนี้ของคนทั้งประเทศ แล้วดอลลาร์ก็ค่อนข้างแน่ใจว่าจะได้ถึง ๑๐ ล้าน

เมื่อเราได้ทองคำน้ำหนัก ๑๐ ตัน และดอลลาร์ถึง ๑๐ ล้านดอลล์แล้ว เราเป็นที่พอใจอบอุ่น ไม่ต้องทนฟังเสียงคนอื่นเขามาชี้หน้าด่าทอ ติฉินนินทา ดูถูกเหยียดหยามเมืองไทยเราด้วยประการต่าง ๆ ว่า ไม่เป็นท่าเป็นทาง อ่อนแอ ท้อแท้ เหลวไหลอย่างนี้ จะไม่มีใครมาดูถูกได้ เพราะเราได้ทองคำน้ำหนักถึง ๑๐ ตันแล้ว แม้จะมาพูดบ้าง เราก็ไม่หวั่นไหว เพราะเราได้ตามจุดที่หมายซึ่งหัวหน้ากำหนดไว้เรียบร้อยแล้ว คือทองคำน้ำหนัก ๑๐ ตัน นี่ละเป็นจุดใหญ่ของเรา ขอให้พี่น้องทั้งหลายทราบทั่วกัน เวลานี้จึงกำลังเร่งทองคำให้เข้าถึงจุดหลักชัย คือน้ำหนัก ๑๐ ตัน กำลังเร่งละเวลานี้ เร่งขึ้นเรื่อย ๆ เพราะหลวงตาก็แก่มากแล้ว ทุพพลภาพไปไหนไม่สะดวกสบาย ไม่ไว้ใจทั้งตัวเองด้วย การเทศนาว่าการแนะนำสั่งสอน หรือเป็นผู้นำพี่น้องทั้งหลายด้วย มันก็เป็นความไม่แน่ทั้งสอง

เวลาพอตะเกียกตะกายได้บ้างอยู่เวลานี้ จึงขอบิณฑบาตพี่น้องทั้งหลายให้เห็นใจชาติไทยของเรา โดยที่เวลานี้ยังมีพระแก่ ๆ เป็นผู้นำอยู่ เรามีมากมีน้อยตามกำลังความสามารถของเรา เราที่อยู่ในบ้านในเมืองเราไม่มีใครเป็นเศรษฐีแหละ เป็นคนธรรมดาสามัญด้วยกัน แต่มีน้ำใจด้วยกัน เมื่อมีน้ำใจแล้ว มีมากมีน้อยก็ต่างคนต่างเสียสละมาหลายครั้งหลายคราว หลายผู้หลายคนรวมกันเข้าก็เป็นจำนวนมาก ดังที่รู้ ๆ เห็น ๆ กันอยู่เวลานี้แหละ นี้ออกมาจากการเสียสละของเราทั้งหลายที่รักชาติของตน เราจะไปคอยอาศัยเศรษฐีมีเงินเป็นล้าน ๆ เราอย่าไปอาศัยเขา ให้อาศัยเราทุกคนนี้ละ

เป็นคนไทยขึ้นมาทั้งประเทศก็ไม่ได้เป็นขึ้นจากความเป็นเศรษฐี เป็นขึ้นมาจากหลักธรรมชาติ ชาตินั้นชาตินี้ รวมแล้วอย่างชาติไทยของเรา เราก็เป็นขึ้นมาโดยหลักธรรมชาติอย่างนี้แหละ เราไม่ได้เป็นขึ้นมาว่า ชาติไหนเป็นเศรษฐีแล้วจึงจะเป็นชาตินั้นได้ชาตินี้ได้ ไม่มี ชาติเล็กชาติน้อย คนทุกข์คนจนสับปนกันไปทุกแห่งทุกหน เขาก็เป็นชาติของเขาได้ อันนี้เราเป็นคนไทยเราไม่ใช่เป็นมหาเศรษฐีโดยทั่วกันทั้งประเทศ เราก็ช่วยชาติของเราได้ในสิ่งที่บกพร่อง จึงขอให้พี่น้องทั้งหลายได้อุตส่าห์ตั้งอกตั้งใจ

ความรักชาติเป็นของสำคัญ ถ้าไม่รักชาติแล้วก็ไม่เป็นหน้าเป็นหลังอะไรแหละ ไม่มีจุดรวม ไม่มีจุดที่หมาย ไม่มีที่รักสงวน แล้วประหนึ่งว่าเป็นสัตว์ไม่มีเจ้าของ มีชาติแต่ไม่มีใครสนใจรักชาติ บำรุงรักษาชาติของตน ชาติก็ค่อยเสื่อมค่อยคลาย เหลวไหลโลเลไปเลย กลายเป็นชาติล่มจมไปได้ ถ้าไม่มีใครรักชาติ สงวนชาติ บำรุงรักษาชาติ แต่นี้เราได้พยายามเต็มกำลังความสามารถของเราอย่างที่เห็นอยู่นี้แล ชาติไทยของเราจึงเป็นที่แน่ใจว่าจะเจริญรุ่งเรืองแน่นหนามั่นคง สืบทอดมรดกของปู่ ย่า ตา ยาย บรรพบุรุษที่ท่านพาดำเนินมาได้โดยไม่ต้องสงสัย

วันนี้พูดถึงเรื่องการนำชาติมาพูดเพียงเท่านั้น จากนั้นก็พูดถึงเรื่องอรรถเรื่องธรรมอย่างอื่นต่อไป เพื่อประโยชน์สำหรับคนทั่วหน้ากัน มันมีงานทางนอก งานทางใน งานภายนอกคืองานกิจการบ้านเรือน งานภายในคือทางด้านจิตใจ ต้องได้รับการอบรมจิตใจ ใจที่ไม่ได้อบรมเลยนี้เหลวแหลกแหวกแนว ทำความเสียหายแก่ตัวเองและส่วนรวมได้โดยไม่สงสัย เพราะฉะนั้น จึงต้องมีศาสนาเป็นที่รวมของจิตใจแห่งประชาชนทั้งหลาย อย่างชาติไทยเราก็มีพุทธศาสนา พุทธศาสนานี้เป็นศาสนาที่เลิศเลอสุดยอดแล้ว หาที่เปรียบเทียบศาสนาใดมาเสมอเหมือนไม่ได้แล้ว

การพูดเช่นนี้เราไม่ได้พูดเพื่อความดูถูกเหยียดหยามศาสนาใด แต่เราพูดตามหลักความจริงของศาสนานั้น ๆ คือศาสนาพุทธของเรานี้เป็นศาสนาของผู้สิ้นกิเลส พระพุทธเจ้าเป็นผู้สิ้นกิเลสโดยสิ้นเชิง ตรัสรู้ขึ้นมาเป็นศาสดาเอกของโลก ทรงธรรมนามว่า โลกวิทู รู้แจ้งแทงทะลุทั้งโลกนอกโลกในตลอดทั่วถึงไปหมด จึงนำธรรมที่ถูกต้องแม่นยำนั้นมาสั่งสอนสัตว์โลก เราได้เกิดมาเป็นมนุษย์ด้วย ได้พบพระพุทธศาสนาที่เลิศเลอนี้ด้วยแล้ว จึงขออย่าให้หลุดไม้หลุดมือไป ยังเหลือแต่โครงกระดูก ตายแล้วไปเผากันตามป่าช้าไม่เกิดประโยชน์อะไร คนมี คนจน คนบุญ คนบาป มันเผาได้ด้วยกันนั้นแหละ เผาก็ให้เผาความชั่วช้าลามกออกจากจิตใจ กาย วาจาของตน ให้ยังเหลือแต่คุณธรรมอันเลิศเลอภายในจิตใจ นี่เป็นสิ่งที่เหมาะสมอย่างยิ่ง

พุทธศาสนาของเราเป็นศาสนาที่มีหลักเกณฑ์มาตั้งแต่ต้นจนอวสานสุดท้าย หลักเกณฑ์เบื้องต้นก็คือพระพุทธเจ้าของเรา ซึ่งทรงแสดงไว้ในอดีตกาลจากพระญาณหยั่งทราบของพระองค์โดยถูกต้อง ไม่มีผิดเพี้ยนไปได้ พระองค์เสวยพระชาติเป็นอะไร ๆ มาบ้าง นี่เราก็เห็นในตำราเรียบร้อยแล้ว การที่ทรงชี้แจงเรื่องปุพเพนิวาสชาติปางก่อนของพระองค์ก็ทรงแสดงด้วยพระญาณวิถีหยั่งทราบความเกิดมาในภพต่าง ๆ เป็นวิถีทางเดินแห่งความเกิดตายมาจนกระทั่งถึงความเป็นพระพุทธเจ้า วาระสุดท้ายก็มาเป็นพระเวสสันดร การทำบุญให้ทานไม่มีใครสู้ในโลกอันนี้ ทานเสียจนหมดเนื้อหมดตัว สุดท้ายก็ได้มาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมา

ก่อนที่มาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าก็ทรงอุบัติขึ้นมาเป็นมนุษย์ เหมือนเราเหมือนท่านนี้แหละ ที่เรียกพระนามว่า สิทธัตถราชกุมาร ประสูติที่กรุงกบิลพัสดุ์ แล้วทรงเจริญวัยขึ้นมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งเสด็จออกทรงผนวช การเสด็จออกทรงผนวชของพระองค์นั้นก็ออกแบบนักรบ ไม่มีท้อมีถอย เสด็จออกแบบที่ว่าสลบไสล เพราะในพระราชอาณาจักรของพระองค์มีไพร่ฟ้าประชาชีจำนวนมากเท่าไรที่อยู่ในความรับผิดชอบ อยู่ในร่มโพธิ์ร่มไทรของพระองค์ แต่ถึงกาลเวลาแล้วก็เสด็จออกทรงผนวช ทรงบำเพ็ญพระองค์อยู่ในป่าในเขาเป็นเวลา ๖ ปี เป็นความลำบากลำบนมากทีเดียว

เจริญทางด้านจิตใจนั้นแหละ ท่านปัดออกหมดเรื่องภายนอก มีแต่การอบรมจิตใจ บำเพ็ญภายในจิตใจอยู่เป็นเวลา ๖ ปี จึงได้ตรัสรู้ขึ้นมา นี่เป็นแบบเป็นฉบับ เป็นร่องเป็นรอยมาโดยลำดับ ไม่ใช่อยู่ ๆ ก็มาเป็นพระพุทธเจ้าตรัสรู้ขึ้นมาโดยไม่มีสาเหตุหรือต้นทางประการใดเลยอย่างนี้ ความยอมรับเชื่อก็อยากนะ อันนี้มีมาดั้งเดิม เป็นแถวเป็นแนวมาโดยลำดับลำดา จนกระทั่งเสด็จออกทรงผนวชแล้วได้ตรัสรู้ขึ้นมา ตรัสรู้ก็มีถิ่น มีฐาน มีที่จำกัด มีหลักฐานพยาน ว่าตรัสรู้แล้วในแดนแห่งป่า ก็ประทานพระโอวาทสั่งสอนบรรดาสัตว์ สัตว์โลกมีจำนวนมาก

ในเบื้องต้นปฐมเทศนาก็สั่งสอนเบญจวัคคีย์ทั้ง ๕ เบญจวัคคีย์ทั้ง ๕ นี่ ท่านบำเพ็ญธรรมตามทางของผู้ยังไม่มีครูมีอาจารย์เป็นที่แน่ใจ ก็บำเพ็ญตามอัธยาศัยผิดบ้างถูกบ้างเป็นธรรมดา แต่จิตใจของท่านเหล่านี้ก็มุ่งต่ออรรถต่อธรรม สลัดปัดทิ้งเรื่องโลกเรื่องสงสารออกหมด มีแต่การบำเพ็ญธรรม เช่นมีการเข้าฌานเข้าอะไรอย่างนี้ท่านมีนะ ฤาษีดาบสแต่ก่อน ท่านจึงมีความสงบใจได้นะ นี่ละท่านเหล่านี้เป็นผู้บำเพ็ญธรรม มีตปธรรม มีความสงบเย็นมาแล้ว แต่ไม่รู้ช่องทางที่จะก้าวเดินให้ถูกทางตรัสรู้ ก็พากันบำเพ็ญตามประสาของคนในสมัยนั้น แต่จิตใจของท่านมีความสงบเรียบร้อย ไม่มีอะไรเรื่องยุ่งเหยิงวุ่นวายหยาบ ๆ แหละ

ทีนี้พอพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้แล้วทรงเล็งญาณหยั่งทราบในเบญจวัคคีย์ทั้ง ๕ นี้ แล้วก็ประทานพระโอวาทให้ เราพูดย่อ ๆ ให้พอดีกับเวล่ำเวลา การเทศนาว่าการให้เบญจวัคคีย์ทั้ง ๕ นั้นไม่ได้เหมือนเทศน์ในที่ทั่ว ๆ ไป เพราะเบญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ถึงพร้อมแล้ว ศีลก็ไม่เคยไปฉกลักปล้นจี้สะดมผู้ใด เป็นนักพรต เป็นฤาษี รักษากาย วาจา ใจของตนอยู่ในป่าในเขาตามลัทธินิยมในสมัยนั้นอย่างเดียว ท่านจึงไม่ทำบาปทำกรรม ไปหาฉกหาลักหาปล้นหาจี้ที่ไหนเลย ถือความเป็นนักบวช รักษาศีลรักษาธรรมตลอดมา รักษาใจให้สงบด้วยฌาน ความเพ่งตามภาษีภาษา ใจของท่านก็มีความสงบ ต่างท่านต่างมีความสงบด้วยกัน พร้อมที่จะก้าวเดินเมื่อมีผู้แนะนำสั่งสอนทางด้านปัญญาแล้ว

พระพุทธเจ้าทรงเล็งญาณดูเรียบร้อยแล้ว สมควรที่จะตรัสรู้อย่างรวดเร็วก็เสด็จมาโปรดเบญจวัคคีย์ทั้ง ๕ เพราะฉะนั้น ธรรมที่พระพุทธเจ้ามาแสดงแก่เบญจวัคคีย์ทั้ง ๕ นั้นจึงเป็นธรรมฝ่ายปัญญา ฝ่ายวิปัสสนาไปเลย เทฺวเม ภิกฺขเว อนฺตา ปพฺพชิเตน น เสวิตพฺพา ท่านแสดงถึงเรื่องปัญญาไปเลย เรื่องศีลท่านไม่แสดง เพราะท่านเหล่านี้มีศีลสมบูรณ์แล้ว สมาธิคือความสงบเย็นใจท่านก็มีพอตัวอยู่แล้ว ยังเหลือแต่ทางด้านปัญญา ซึ่งเป็นทางออก ทางแก้กิเลสตัณหา เพื่อหลุดพ้นจากทุกข์โดยประการทั้งปวง ท่านไม่รู้ท่านไม่เห็น ไม่มีผู้มาแนะนำสั่งสอน พระพุทธเจ้าเสด็จมาโปรด จึงทรงแสดงมรรค ๘ ขึ้นทันที เทฺวเม ภิกฺขเว ขึ้น ล้วนแล้วตั้งแต่แสดงเรื่องสติปัญญา ความพากความเพียรอันละเอียดลออเข้าไปเป็นลำดับ จนกระทั่งเบญจวัคคีย์ทั้ง ๕ บรรลุธรรม ในธัมมจักกัปปวัตตนสูตรนั้นก็คือ พระอัญญาโกณฑัญญะ ได้เป็นสักขีพยานของพระพุทธเจ้า โดยได้สำเร็จพระอริยธรรมขั้นต้น คือสำเร็จพระโสดา

อันดับที่สองต่อไปก็ทรงแสดงอนัตตลักขณสูตร แสดงถึงเรื่องกฎอนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ของเรื่องร่างกายทั้งหมด ไม่ได้ไปสอนเรื่องศีล เรื่องสมาธิ เพื่อทำจิตใจให้สงบเย็น เพราะท่านเหล่านี้สงบอยู่แล้ว มีแต่เปิดทางให้ออกทางด้านปัญญาโดยถ่ายเดียว อนิจฺจํ ไม่เที่ยง ทุกฺขํ เป็นทุกข์ อนตฺตา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เป็นของเรา ยกรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณขึ้นเป็นไตรลักษณ์ด้วยกันทั้งนั้น ๆ ท่านเหล่านี้ก็ได้รับพระโอวาทที่เปิดทางให้โดยทางปัญญาแล้วก็ได้ตรัสรู้ธรรมขึ้นเป็นอรหันต์ทั้ง ๕ องค์ ด้วย อนัตตลักขณสูตร

เพราะฉะนั้นการเทศนาว่าการของพระพุทธเจ้าจึงเอาความแน่นอนไม่ได้ ตามแต่ที่จะเทศน์ บางรายหรือจำนวนมากก็เทศน์อบรมบ่มนิสัยอินทรีย์ไปตั้งแต่เริ่มการให้ทาน การรักษาศีล แล้วก้าวเข้าสู่ไปสวรรค์เรื่อยไปเป็นลำดับ ท่านเรียกว่า อนุปุพพิกถา ๕ ประการ คือธรรมแสดงไปโดยลำดับลำดา เหมือนเครื่องบินเหินฟ้าขึ้นจากสนาม ทีแรกก็ขึ้นจากพื้นแล้วค่อยเหินขึ้นไป ๆ จนกระทั่งถึงที่สุดจุดหมายปลายทาง นี่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่สัตว์โลก แสดงแบบอนุปุพพิกถาก็มี ผู้ที่ยังบกพร่องตรงไหน ส่งเสริมตรงนั้นให้แน่นหนามั่นคงขึ้นไปเรื่อย ๆ

สอนนักบวชเบื้องต้นเรื่องศีล เรื่องสมาธิไปเรื่อย ๆ สอนประชาชนที่ยังห่างไกลต่อศีล สมาธิ ปัญญา ก็สอนเรื่องการทำบุญให้ทาน การให้ทานมีผลอย่างไรบ้าง การให้ทานนั้นแลเป็นสิ่งที่โลกทั้งหลายมีความร่มเย็นตายใจกันได้ เพราะการเฉลี่ยเผื่อแผ่ มีมากมีน้อยมีความเฉลี่ยเผื่อแผ่ด้วยเมตตาจิตคิดเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน แล้วก็เฉลี่ยกัน คนเราเมื่อได้รับของจากผู้หนึ่งยื่นให้แล้ว จะไปโกรธโมโหโทโสได้ยังไง เมื่อได้รับการหยิบยื่นจากคนอื่นที่เอามาให้แล้ว ต้องมีความยินดียิ้มแย้มแจ่มใส แม้แต่สุนัขในบ้านเรา เจ้าของเอาอาหารให้กิน เป็นยังไงสุนัขในบ้าน เขามีความยินดีต่อเจ้าของอย่างไรบ้าง

นี่ละการให้ทาน ยินดีมาตั้งแต่สัตว์ดิรัจฉาน สัตว์ดิรัจฉานอยู่ที่ไหนเมื่อได้รับการสงเคราะห์สงหา เช่นในวัดในวา กระจ้อน กระแต หมู หมา เป็ด ไก่ อะไรก็ตาม เมื่อได้รับการเลี้ยงดูจากเจ้าของคือความเสียสละ คือการให้ทาน แปลว่าการให้การเสียสละนั้นแล เขาได้รับมากน้อยก็มีความยิ้มแย้มแจ่มใส ตายใจจนกระทั่งถึงคนกับสัตว์เลยเป็นอันเดียวกัน ตายใจเป็นอันเดียวกัน เพราะอำนาจแห่งทานการเสียสละนี้เป็นเครื่องสมานจิตใจให้ไม่ระแคะระคาย ไม่ระเวียงระวังกัน ให้สนิทตายใจต่อกันได้ระหว่างคนกับสัตว์

เพราะฉะนั้นการให้ทานจึงเป็นของจำเป็นมาก เป็นพื้นฐานของพระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ ก่อนที่จะตรัสรู้นี้ การให้ทานนี้เป็นเหมือนกันหมด บรรดาพระพุทธเจ้าเป็นอันดับหนึ่ง อย่างพระพุทธเจ้าของเราองค์ปัจจุบันนี้ก็เหมือนกัน จวนเข้ามาเท่าไร การให้ทานไม่หยุดไม่ถอย อย่างที่เราได้ตัวอย่างมาจากพระเวสสันดร ทานเสียจนหมดเนื้อหมดตัว ไม่มีอะไรก็ยกช้างให้ทาน ถูกชาวเมืองเขาไม่พอใจขับไล่เข้าอยู่ในป่าในเขา พระองค์ก็ยอมไป ไปตามที่เขาขับไล่ แต่การให้ทานตามพระนิสัยของพระองค์นั้นไม่ยอมลดละ เข้าไปอยู่ในป่าในเขาไม่มีอะไรให้ทาน พราหมณ์มาขอลูกพระโอรสทั้งสอง กัณหา-ชาลี ก็ยกให้ทานไปเลย ไม่มีคำว่าเสียดาย นี้คือนิสัยของบรมโพธิสัตว์ เป็นอย่างนั้น

ให้ทานลูกไปแล้วยังไม่แล้ว ยังให้ทานพระชายาอัครมเหสีนั้นอีก อันนี้เป็นพระอินทร์แปลงเพศลงมาเพื่อตักเตือนพระเวสสันดร นิรมิตเพศลงมาเป็นพราหมณ์แก่ มาขอพระนางมัทรี พระองค์ก็ยกให้ทันที ยกให้แล้วพระอินทร์นั้นก็เลยทูลขอพร ขอต่อไปนี้อย่าได้ถวายพระนางมัทรี เพราะนี้เป็นคู่พึ่งเป็นพึ่งตาย อะไรก็หมดไปๆ แล้ว ยังเหลือแต่พระชายาพึ่งเป็นพึ่งตายกัน ขอพระองค์อย่าได้ถวาย อย่าให้ทานต่อผู้หนึ่งผู้ใดอีกต่อไป ที่ข้าพระองค์มาขอทานวันนี้ก็ไม่ได้มาด้วยความจนความขาดแคลนอะไร มาเพื่อจะได้มาถวายความคิดเห็นต่าง ๆ ให้ยับยั้งในการให้ทานพระนางมัทรีต่อไป อย่าได้ทาน

นี่ละการให้ทาน ท่านมีงดเว้นที่ไหน แม้แต่พระชายาคู่พึ่งเป็นพึ่งตายกัน ท่านยังยอมเสียสละได้ นี่ถึงคราวที่บารมีแก่กล้าแล้วในการให้ทานก็เสียสละจนไม่มีอะไรติดเนื้อติดตัว เพราะหวังโพธิญาณ ความหลุดพ้นจากทุกข์โดยสิ้นเชิงในกาลข้างหน้า อาศัยทานเป็นเครื่องหนุนให้หลุดพ้นจากทุกข์เป็นลำดับลำดาไป พระองค์จึงทรงทำอย่างนั้น เพราะฉะนั้นบรรดาพระพุทธเจ้าจึงหนักแน่นในการให้ทาน ไม่มีใครเสมอได้เลย เมื่อได้ตรัสรู้ก็ตรัสรู้ขึ้นจากการให้ทานนั้นแล เรื่องบารมี ๓๐ ก็ขึ้นทานเป็นเบื้องต้น ทานบารมีคือการให้ทาน แสดงความอัธยาศัยเชื่อมโยงถึงกันและกันเพื่อความสนิทสนมจากการเสียสละต่อกัน นี่การให้ทานจึงมีความจำเป็นอย่างมากทั้งสัตว์ทั้งบุคคล สัตว์อยู่กับคนได้ก็เพราะการให้ทาน การเสียสละ

เราอยู่ด้วยกันทั้งประเทศเขตแดนนี้ เราก็ต่างคนต่างให้ทาน ต่างคนต่างเสียสละ ดังพี่น้องทั้งหลายช่วยกัน บริจาคเพื่อชาติไทยของเรานี้ก็ให้ทานเพื่อชาติของเรา จึงได้บริจาค ไม่อย่างงั้นชาติจมได้ ถ้าไม่อาศัยความเสียสละของพี่น้องชาวไทยทั่วหน้ากันแล้ว ชาติไทยจะจมได้ไม่สงสัย นี่ชาติไทยของเราค่อยแน่นหนามั่นคงขึ้นมา ลืมตาอ้าปากได้บ้างเวลานี้ ก็เพราะการให้ทานของเราสงเคราะห์ส่วนรวม คือหัวใจของชาติ ได้แก่จุดรวม ได้แก่คลังหลวงนั้นเอง จะเป็นอะไรไป นี่คือการให้ทานเป็นอย่างนี้ จึงขอให้มีการให้ทานประจำนิสัยของตน

เราจะทุกข์จะยากลำบากเข็ญใจประการใดก็ตาม การให้ทานมีเท่าไรเราก็แบ่งกินแบ่งทาน อย่าสงวนไว้แต่ตัวผู้เดียว เห็นแก่กิน เห็นแก่ได้ เห็นแก่เอา ไม่ได้มองเห็นหัวใจของผู้ใดซึ่งมีความจำเป็นต้องอาศัยเราอยู่บ้างเลย อย่างนี้ใช้ไม่ได้ อยู่ด้วยกันไม่ติด ไม่สนิทต่อกันได้เลย เมื่อต่างคนต่างมีแก่ใจเฉลี่ยเผื่อแผ่ด้วยจิตใจที่กว้างขวางนี้ ย่อมอยู่ด้วยกันได้คนเรา ไม่ต้องถามถึงชาติชั้นวรรณะกันแหละ ถามถึงอัธยาศัยใจคอที่เป็นอรรถเป็นธรรมด้วยกันแล้ว ธรรมเข้าได้สนิทหมด ธรรมมีอยู่หัวใจของผู้ใดไม่มีคำว่าชาติชั้นวรรณะ เป็นความดิบความดีเชื่อมโยงกันเข้าไปด้วยความสนิทต่อกันได้ทันทีทันใด นี่ละอำนาจแห่งการให้ทาน

เราอยู่ด้วยกันเป็นปึกแผ่นแน่นหนามั่นคงได้ ก็เพราะต่างคนต่างเห็นแก่ใจกัน เห็นแก่ความเสียสละ ไม่เห็นแก่ได้อย่างเดียว ความเห็นแก่ได้เป็นการตีบตันอั้นตู้ปิดทางเดินของตน คนมีความตระหนี่ถี่เหนียวไปที่ไหนไม่ค่อยสมบูรณ์พูนผล เกิดเป็นสัตว์ก็เป็นสัตว์ได้รับความทุกข์ความลำบาก เกิดเป็นคนก็เป็นคนทุกข์คนลำบาก ไม่เหมือนคนผู้มีการทำบุญให้ทานทั้งหลายเลย ผิดกันอย่างนี้ เพราะฉะนั้นทานจึงเป็นธรรมชาติหรือเป็นของสำคัญมากที่ทุกคน เฉพาะอย่างยิ่งเรายิ่งเป็นชาวพุทธ ลูกศิษย์ตถาคตจอมให้ทานด้วยแล้ว เราควรจะเดินตามร่องรอยพระบาทของพระองค์

มีเท่าไรก็มี มีมากมีน้อย แบ่งกินแบ่งทาน แบ่งทำประโยชน์คนนั้นคนนี้ สัตว์ตัวนั้นตัวนี้ แบ่งเขาแบ่งเรา แบ่งไป อันนี้ไปถึงไหนเชื่อมโยงไปถึงกันด้วยความดิบความดี ความสนิทสนมกลมกลืน ความเห็นแก่ใจกันจะมาทันทีด้วยอำนาจแห่งการให้ทาน ถ้าเป็นความตระหนี่ถี่เหนียวแล้วนี่โอ๊ยไม่ได้นะ แม้ตั้งแต่เป็นญาติเป็นวงศ์กันยังเข้ากันไม่สนิทนะคนมีความตระหนี่ถี่เหนียว วงศ์ใดสกุลใดที่เป็นสกุลตระหนี่ถี่เหนียว สกุลเดียวกันก็เข้ากันไม่สนิท ไม่ต้องพูดถึงเรื่องสกุลอื่นเขาจะไปเกี่ยวข้องเลยแหละ เพียงสกุลเดียวก็เข้ากันไม่สนิท สกุลใดเป็นสกุลตระหนี่จะเห็นได้อย่างชัดเจน คับแคบตีบตัน อะไร ๆ คับแคบไปหมด เดินทางก็ไม่หลวมทางละมันคับแคบตีบตันไปหมด

นี่แหละความคับแคบตีบตัน เป็นการปิดกั้นทางเดินของตนเพื่อความสุขความเจริญ ความสมบูรณ์พูนผล ความมั่งความมี ปิดไปหมด ถ้าใครเป็นคนตระหนี่ถี่เหนียวเป็นอย่างนั้นนะ ท่านจึงสอนให้เป็นผู้มีทาน พระพุทธเจ้าเสียเองเป็นผู้สอน แล้วก็เป็นศาสดาขึ้นมาด้วยการให้ทานด้วย เห็นคุณค่ามหาศาลต่อการเสียสละ ทำบุญให้ทานมากน้อย จึงได้นำนี้มาสอนสัตว์โลก ยกขึ้นว่าเป็นทานบารมีเลยทันที จากนั้นก็ศีลบารมีก็ต่อกันไป ๆ แต่ทานบารมีเป็นพื้นฐาน นี่ละเรื่องสำคัญที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน จากนั้นก็สอนศีลสอนธรรมไปโดยลำดับ

ศีลควรที่จะรักษากาย วาจา ใจของตนตามกาลเวลาที่ควรจะรักษาได้ก็ให้รักษา การภาวนาคือการอบรมจิตใจให้มีความสงบร่มเย็นนี้เป็นสิ่งที่ควรอย่างยิ่ง เพื่ออบรมจิตใจของเราซึ่งมันคึกคะนองอยู่ตลอดเวลา ไม่ได้คำนึงถึงว่าวัยใด ๆ ทั้งหญิง ทั้งชาย ทั้งนักบวชและฆราวาส กิเลสตัวนี้ฝังอยู่ในใจ เราไปบวชเป็นพระเป็นเณร มีอุปัชฌาย์อาจารย์บวชให้ ปฏิญาณตนว่าเป็นพระเป็นเณร แต่กิเลสตัวนี้มันไม่ได้บวชนะ มันคอยรังแก  คอยรังควานเรา  คอยทำลายเราอยู่เสมอ  นี่ละเรื่องของกิเลส เราจึงต้องได้ทำการอบรม

เช่นพระท่านไปอยู่ในป่าในเขาก็เหมือนกัน พระอยู่ในป่าในเขานี้มีหน้าที่อันเดียว ชีวิตจิตใจทุกสิ่งทุกอย่างมอบไว้กับประชาชนญาติโยมทั้งหมด ถึงเวลาแล้วก็บิณฑบาต เขาก็ให้ทานด้วยน้ำใจใสศรัทธาของเขา มาขบมาฉัน แล้วเราก็ทำหน้าที่การงานของเรา คือเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา สำรวมกาย วาจา ใจของตนด้วยสติสตัง ระวังด้วยปัญญา รอบคอบในความเคลื่อนไหวของตนไปตลอด นี่หน้าที่ของพระ รักษาจิตใจด้วยดี อาหารการบริโภค ที่อยู่ที่อาศัยก็เหมือนกัน เขามาจัดมาทำให้หมด เรามีหน้าที่อันเดียว พระจึงทำงานของตนได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย

ส่วนฆราวาสทั้งวิ่งหาใส่ปากใส่ท้องตนเอง ทั้งวิ่งหาเพื่อใส่ปากใส่ท้องพระ ยุ่งเหยิงวุ่นวายมากยิ่งกว่าพระเสียอีก เพราะฉะนั้นการบำเพ็ญคุณงามความดีจึงไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย ก็เป็นสิ่งที่น่าเห็นใจด้วยกันทุกคนนั้นแหละ เพราะรู้กันทั่วหน้า ส่วนพระเรามีหน้าที่อันเดียว ขอให้สำนึกรู้สึกตัวอยู่เสมอว่าเวลานี้พระพุทธเจ้าเป็นศาสดาเอก เป็นพ่อใหญ่หลวงของเรา เราบวชมาเป็นลูกศิษย์ตถาคต ไม่ว่าจะมาจากสกุลใด ออกมาเป็นนักบวชด้วยกันแล้วถือศีลถือธรรมสม่ำเสมอกัน บำเพ็ญคุณงามความดี ชำระจิตใจนี้เป็นของสำคัญมากสำหรับพระเรา

กาย วาจา นี้ออกจากใจ ถ้าใจมีความสำรวมระวังได้ดี วาจาที่พูดออกมาไม่ค่อยผิดพลาด กายทำก็ไม่ผิด ไม่ปรับ ไม่ถูกตำหนิติโทษทางพระวินัย เพราะมีหิริโอตตัปปะ ระวังสำรวมตนอยู่ด้วยศีล คือด้วยสติ ศีลก็บริสุทธิ์ สมาธิจะทำจิตใจของตนให้สงบเย็นได้ง่ายกว่าคนที่ไม่ค่อยมีสติสำรวมศีลของตนให้ดี กลายเป็นศีลด่างพร้อยไปแล้วก็ทะลุไปขาดไปเลย จะทำอย่างไรให้สงบเย็นก็ทำได้ยาก เมื่อเรารักษาศีลรักษาธรรมของเราให้ดีแล้วจิตใจเราก็สงบได้ง่าย ระลึกถึงศีลอบอุ่นแล้ว เพราะเราสำรวมระวัง มีหิริโอตตัปปะประจำใจของเราอยู่ตลอดเวลา เวลาประกอบความพากเพียรคิดมาถึงศีลก็อบอุ่นในใจ ใจเราก็ไม่เป็นอารมณ์ และระแคะระคายต่อตัวเอง แล้วทำสมาธิภาวนาลงไป

การภาวนานั้นก็มีหลายขั้นหลายตอน ทั้งฆราวาสและพระทำได้ด้วยกันทั้งนั้น จะสอนให้ฟังย่อ ๆ การฝึกหัดอบรมจิตใจให้มีความสงบเย็นใจ พอได้พักผ่อนนอนหลับสบายบ้าง พอได้ซุกหัวนอน พอหาที่ปลงที่วางได้บ้างนั้น ขอให้พากันอบรมจิตใจบ้าง ประชาชนญาติโยม อย่าปล่อยจิตใจจนเกินเหตุเกินผล ปล่อยตลอดเวลา ปล่อยตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั่งหลับ ไม่มีการยับยั้งความคิดความปรุงของตนบ้างเลย คิดเรื่อยเปื่อยไปอย่างงั้น ส่วนมากคิดไปตามอำนาจของกิเลส กิเลสพาคิดพาปรุงทั้งนั้นแหละ คนเราทั่วโลกมีตั้งแต่กิเลสพาหมุนให้คิดให้อ่านทุกอย่าง ให้รู้ให้เห็น ให้เป็นนั้นเป็นนี้ มีแต่กิเลสลากถูไป ใจไม่ได้สำรวมระวังยับยั้งตนด้วยอรรถด้วยธรรมบ้างเลย ก็หาความสงบเย็นใจไม่ได้

เพราะฉะนั้นเมื่อมีโอกาสทั้งฆราวาสและพระ แต่พระนั้นมีโอกาสตลอดเวลา เปิดโล่งสำหรับการบำเพ็ญเพียรของตน สำหรับประชาชนยังมีขัดมีข้องบ้างเป็นธรรมดา หน้าที่การงานหนักบ้างเบาบ้าง ก็มีขาดวรรคขาดตอนเป็นธรรมดา แต่อย่างไรก็ขอให้มีจุดยับยั้งตัวด้วยการทำความสงบจิตใจโดยทางภาวนาบ้าง อย่าปล่อยเนื้อปล่อยตัวจนเกินไป เราจะได้เห็นความแปลกประหลาดอัศจรรย์ และเป็นยาหรือธรรมโอสถแก้ไขความยุ่งเหยิงวุ่นวายของเราในเวลาคิดมาก ๆ กับหน้าที่การงาน บางทีทำการค้าการขายขาดทุนไปอย่างนี้ก็เกิดความเดือดร้อนเสียใจ งานต่าง ๆ ไม่เป็นไปตามความคิดความหมายก็เกิดความเสียใจ

ความเสียใจนี้ทำให้ครุ่นให้คิดอยู่ตลอดทั้งวันทั้งคืน หาความสงบเย็นไม่ได้ บางทีนอนไม่หลับ เพื่อให้มีการยับยั้งตัวเองบ้างก็คือว่า เช่นเราจะหลับจะนอนให้พากันไหว้พระ อรหํ สฺวากฺขาโต สุปฏิปนฺโน ย่อ ๆ เราไม่ได้มาก เราไม่ได้เรียนมาก เสร็จเรียบร้อยแล้วให้พากันทำความสงบใจ จะนั่งพับเพียบก็ได้ นั่งขัดสมาธิก็ได้ ชั่วระยะเวลาไม่มากนักแหละนะ เพราะเราเป็นฆราวาส และเป็นขั้นเริ่มต้นที่จะฝึกหัดดัดแปลง หรืออบรมจิตใจของเราให้สู่ความสงบด้วยบทธรรมคือการภาวนา เราภาวนาชอบใจกับธรรมบทใด เช่น พุทโธก็ได้ ธัมโมก็ได้ สังโฆก็ได้ หรืออานาปานสติก็ได้

ธรรมบทใดก็ตามที่ถูกกับจริตนิสัยของเรา ให้นำธรรมบทนั้นเข้ามาบริกรรมในจิต ให้จิตคิดกับธรรมบทนั้น เช่นพุทโธ ๆ เรียกว่าคิดกับพุทโธ แทนคิดกับเรื่องกิเลสทั้งหลายที่คิดมาตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั่งหลับ ไม่เคยพักเครื่องเลย ทีนี้ให้เราคิดกับพุทโธ มีสติกำกับจิตเอาไว้ให้ดี มีสติ สติคือความระลึกรู้ตัวอยู่กับคำบริกรรมของตัว ไม่ให้เผลอไปไหน บังคับให้รู้อยู่กับคำบริกรรม คำบริกรรมกับใจให้กลมกลืนเป็นอันเดียวกัน บังคับจิตไม่ให้คิดไปทางกิเลสในเวลาภาวนานั้น คิดไปทางกิเลส ท่านทั้งหลายก็ทราบได้ด้วยกัน คิดธรรมดาทั่ว ๆ ไปมีแต่เรื่องของกิเลสทั้งนั้นแหละ

แต่คิดเป็นธรรมนี้มีบทมีบาทมีวรรคมีตอน เช่น คิดพุทโธ หรือธัมโม หรือสังโฆ ให้จิตอยู่กับคำว่าพุทโธ หรือธัมโม หรือสังโฆ ด้วยความมีสติ เราตั้งจิตเอาไว้ตรงนั้น กำหนดเวลาเท่าไร เราบังคับเราบ้าง อย่าให้แต่กิเลสบังคับเราโดยถ่ายเดียว ตื่นนอนกิเลสบังคับแล้วโดยหลักธรรมชาติของมันจนกระทั่งหลับ บางทีหลับไม่ได้ก็มี กิเลสบังคับให้คิดให้ปรุง ให้เสียอกเสียใจ เดือดร้อนวุ่นวาย นอนไม่หลับก็มี นี่กิเลสเคยบังคับเรามาเป็นประจำ ทีนี้เราจะบังคับกิเลสไม่ให้คิดให้ปรุงเรื่องราวของกิเลสทั้งหลาย ให้คิดปรุงเฉพาะเรื่องอรรถเรื่องธรรมอย่างเดียว พุทโธก็ให้อยู่กับพุทโธ ประหนึ่งว่าโลกนี้ไม่มี มีแต่พุทโธกับใจ และสติที่ควบคุมกันอยู่เท่านั้น กำหนดให้ดี แล้วเราจะเอาสักกี่นาที

ตามธรรมดาสัก ๑๐ นาทีนี้ไม่เห็นเหลือบ่ากว่าแรงนักนะ ตั้งไว้ บังคับในระยะนั้นให้ภาวนาทุกวัน เพราะเราบังคับเอาความดีมาสู่เรา เราไม่ได้บังคับจิตของเราเพื่อสร้างความเสียหายแก่ตนจะเป็นอะไรไป กิเลสเอาไปถลุงทั้งวันทั้งคืน กี่นาที กี่ชั่วโมง เรายังไม่เห็นคิดว่าเสียเวล่ำเวลาไปเพราะกิเลส แต่เวลาเราจะทำภาวนา ทำไมจึงว่าเสียเวล่ำเวลาไปเพราะการภาวนา เป็นความเห็นผิดนะ เรามากำหนดภาวนานี้เป็นการที่จะสร้างคุณงามความดี สร้างกุศลธรรม สร้างความเฉลียวฉลาดรอบคอบต่อจิตใจของเรา เพื่อใจจะได้มีความสงบร่มเย็นจากการภาวนานี้ เราต้องมีการบังคับ

คนอยากดีต้องบังคับ ไม่บังคับไม่ได้ จะปล่อยตามอำเภอใจกิเลสเอาไปถลุงหมด ไอ้เรื่องความอยากดีใครอยากดีด้วยกันทั้งนั้นแหละ แต่ทำไปไม่ได้ทำตามวิถีทางที่ถูกต้องซิ มันทำไปตามกิเลส อยากดีเฉย ๆ ทำลงไปมันชั่ว ชั่วแล้วก็เป็นฟืนเป็นไฟเผาไหม้เรามา มันมีตั้งแต่ความทุกข์ความลำบาก เราให้ฝึกจิตใจให้เข้าสู่ภาวนา ได้กี่นาทีก็เอา นึกอย่างที่กำหนดนะพี่น้องทั้งหลาย นี้ละธรรมเป็นเครื่องยืนยันให้เราได้รับความสุขจากการภาวนาไม่สงสัย ไม่เป็นอื่น ถ้าใครได้ทำอย่างนี้แล้วผลจะปรากฏขึ้นเป็นลำดับลำดา จิตใจจะมีความสงบเย็นภายในใจ

ตั้งแต่เกิดมาเราไม่เคยเห็นจิตใจพักสงบตัวเอง เหมือนด้วยการภาวนานี้เลย เวลาภาวนานี้จิตพักตัวเองได้ด้วยความสงบ เพราะอาศัยธรรมเป็นเครื่องบังคับไม่ให้คิดทางด้านกิเลส มีแต่คิดเรื่องธรรม คิดเรื่องธรรมจิตใจย่อมเย็น จิตใจย่อมมีความสงบ ความสงบของใจนั้นมีแปลก ๆ ต่างๆ  กัน สำหรับนักภาวนาอันนี้พิสดารอยู่พอสมควร เวลาสงบลงไปแล้วสงบเย็นธรรมดาก็มี จิตสงบเย็นหลายครั้งหลายหนจิตมีความสว่างไสวขึ้นมา แล้วจากนั้นอาจจะออกรู้สิ่งนั้นสิ่งนี้ อันนี้เรายังไม่อยากพูด เพราะมันนอกไปจากหลักเดิม คือทำความสงบ นี้คือหลักเดิม ให้สนใจต่อความสงบ

หากนิสัยของใครมียังไงที่จะได้รู้ได้เห็นในสิ่งต่าง ๆ ที่มาเกี่ยวข้องกับจิตในเวลาที่จิตสงบนั้น หากจะรู้เองเห็นเองของแต่ละคน ๆ จึงไม่จำเป็นต้องบรรยายถึงเรื่องสิ่งต่าง ๆ ที่เราได้พบได้เห็นในเวลาภาวนา ขอให้ได้ทำการภาวนาให้สงบใจนี้ก็พอ นี่ละสำหรับฆราวาสเอาเพียงเท่านี้เสียก่อน พอได้เหตุได้ผลบ้างแล้วมันจะค่อยคืบคลานไปเอง มีแก่ใจที่จะบึกบึนไปด้วยการภาวนาไปเอง เพราะเห็นผลประจักษ์ จิตใจจะพอใจเมื่อพอใจแล้ว เรื่องการเรื่องงานภาวนานี้จะหนักแน่นขึ้นเรื่อย ๆ เหมือนเราทำงานได้ผล การซื้อขายได้ผลก็ขยันหมั่นเพียรในการซื้อการขาย การทำงานในประเภทใด เราได้ผลจากงานนั้น ๆ เราก็มีแก่ใจ

อันนี้การภาวนาของเรา เวลาเราทำเราก็ทำจริง ๆ ให้จิตใจมีความสงบ หลายครั้งหลายหนเอาจนได้  จิตสงบจนได้ เมื่อสงบลงแล้วบางทีถึงขั้นอัศจรรย์เลย รวมลงอย่างสนิทปึ๋ง อัศจรรย์ เกิดมาตั้งแต่วันเกิดจนกระทั่งถึงป่านนี้ไม่เคยเห็นความสุขแปลกประหลาดอัศจรรย์อย่างขณะที่นั่งภาวนาจิตสงบนี้เลย เราก็จะได้เห็นชัดเจน นี่ละพื้นฐานที่จะให้ตั้งตัว ให้เห็นอรรถเห็นธรรม ให้มีความเชื่อ ความเลื่อมใสต่อพระพุทธศาสนา หรือต่อธรรมทั้งหลายได้ เอาการภาวนาเป็นเครื่องวัดกัน เมื่อวัดกันนี้แล้วจะรู้จะเห็นขึ้นภายในใจ จะมีความซึมซาบต่อพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ต่อมรรค ผล นิพพานเป็นลำดับลำดาไป เพราะเป็นสายทางเกี่ยวโยงกันกับธรรมแห่งความสงบที่เราภาวนานี้

ให้พากันตั้งอกตั้งใจ จิตใจของเราไม่เคยได้ภาวนาเลยนะ ศาสนาสอนส่วนมาก ไม่มีใครสอนกัน มีแต่การให้ทานรักษาศีลเป็นส่วนมากเท่านั้นเอง เพราะตัวเองผู้ไปสอนคนอื่นก็ไม่ได้สนใจกับการภาวนา แล้วจะเอาอะไรไปสอนเขาล่ะ พระพุทธเจ้าเป็นนักภาวนา พระสงฆ์สาวกท่านเป็นนักภาวนา บรรดาครูบาอาจารย์ทั้งหลายท่านปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ จนได้ผลเป็นที่พอใจมาสั่งสอนโลกทั่ว ๆ ไป เพราะท่านได้ภาวนา การสอนภาวนาจึงถูกต้องแม่นยำ ไม่สอนแบบสุ่มสี่สุ่มห้า ผู้ทำตามวิธีสอนภาวนานั้นแล้ว จะได้ผลเป็นที่พอใจ ๆ ของตน นี่ละหลักของพุทธศาสนาอย่างแท้จริงแล้วอยู่ที่ภาวนา การให้ทาน การรักษาศีล เป็นกิ่งก้านสาขาดอกใบออกไป การภาวนานี้เป็นรากแก้วหรือรากเหง้าเค้ามูล สำคัญอยู่ที่การภาวนา

พอการภาวนาได้หยั่งเข้าถึงจิตแล้ว จิตจะซึมซาบเข้าถึงธรรมทั้งหลาย จะฝังความเชื่อความเลื่อมใสต่อมรรคต่อผลไปเรื่อย ๆ ฝังลึกลงไปเรื่อย ๆ ผู้นั้นกลายเป็นอจลศรัธทา คือศรัทธาไม่หวั่นไหวในมรรค ในผล ในบุญ ในกรรมในมรรค ผล นิพพาน มีความแน่วแน่ แล้วก็พยายามดำเนินตนไปอย่างงั้น ไม่ใช่ทำอย่างสุ่มสี่สุ่มห้าพอเป็นขนบประเพณี ว่าทานก็ทานไปเสียพอเป็นประเพณี จิตใจไม่ดูดดื่มผลก็ไม่ได้มาก การให้ทานได้ผล แต่ว่าทานด้วยความแน่วแน่ภายในจิตใจ มีการภาวนาเป็นฐานสำคัญ เป็นแม่เหล็กเครื่องดึงดูดในการให้ทานให้มีกำลังหนักมากขึ้นนั้นมีผลต่างกันมากนะ ทำอะไรจดจ่อ ทำอะไรจริงจัง คนมีการภาวนาเรียกว่าคนมีหลักใจ มีหลักใจแล้วจะทำอะไรไม่ว่าทางโลกทางธรรมเป็นความจริงจังด้วยกันหมด ไม่ค่อยผิดพลาดนะ คนผู้มีธรรมในใจ

ขอให้นำไปปฏิบัติ เฉพาะเรื่องการภาวนานี้เป็นสำคัญมากนะ บรรดาผู้ภาวนา เช่นอย่างพระท่านอยู่ในป่าในเขาท่านอุตส่าห์อบรมจิตตภาวนาของท่าน เดินจงกรมมีสติสตัง ระมัดระวังรักษาใจตลอด สติไม่พรากจากการภาวนา นั่งสมาธินั่งภาวนาทำความอบรมจิตใจให้มีความสงบเยือกเย็น นี่เป็นขั้นหนึ่ง เมื่อจิตมีความสงบแล้วควรแก่ปัญญาที่จะก้าวเดินออกพินิจพิจารณาถึงเรื่องอนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา อสุภะอสุภัง โลกธาตุนี้เต็มไปด้วยสิ่งเหล่านี้ เป็นแต่เพียงว่าจิตใจของเราไม่ออกรู้ออกเห็น ไม่ออกค้นออกคิด มันจึงไม่เข้าใจในเรื่องว่า อนิจฺจํ มันไม่เที่ยงทั่วโลกนั้นแหละ ทุกฺขํก็เป็นทุกข์ทั่วโลกดินแดน อนตฺตาใครจะถือว่าเป็นเราเป็นของเราที่ไหนได้ เกิดตายที่ไหนมีป่าช้าที่ไหนทั้งสัตว์ทั้งบุคคล ลมหายใจสุดขีดที่ไหนตายที่นั่นได้

เรื่องอสุภะอสุภังก็เหมือนกัน ป่าช้าผีดิบ ป่าช้าผีตาย คนตายแล้วเป็นป่าช้าผีตาย คนยังไม่ตายเป็นป่าช้าผีดิบ แล้วมันก็จะวันหนึ่งแหละที่จะลงไปเรื่องป่าช้าผีตายนั่นละ เวลายังไม่ตายพิจารณามันเสียตั้งแต่บัดนี้ด้วยจิตตภาวนาของเรา แยกธาตุแยกขันธ์ แยกเป็นสัดเป็นส่วน ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก พิจารณาแยกออกเป็นสัดเป็นส่วน มันเป็นสัตว์ที่ไหน เป็นบุคคลที่ไหน เป็นเขาเป็นเราที่ไหน เป็นหญิง เป็นชายที่ไหน นี้คือนักบวชผู้ตั้งใจจะออกจากโลกจากสงสาร พิจารณาแยกแยะหมด พิจารณาให้เห็นชัดเจน พิจารณาแล้วพิจารณาเล่าทางด้านปัญญา

จิตพอมีความสงบบ้างแล้วให้ออกก้าวทางด้านปัญญา ถ้ายังไม่สงบให้เร่งจิตใจให้มีความสงบด้วยจิตตภาวนาของเรา จะมีธรรมบทใดเป็นเครื่องกำกับใจดังที่อธิบายไว้แล้วนั้นก็ให้กำกับ มีสติจดจ่ออยู่ตรงนั้น จิตจะตั้งรากตั้งฐานขึ้นสู่การภาวนา เข้าสู่ความแน่นหนามั่นคง จิตเป็นความสงบ จิตเป็นสมาธิ เป็นรากฐานขึ้นมาในตัวได้เพราะการภาวนาด้วยความตั้งอกตั้งใจ นี่ละผู้ภาวนา ขอให้พระลูกพระหลานนำไปปฏิบัติ และจากนั้นควรที่จะพิจารณาทางด้านปัญญา เอ้าพิจารณาภายนอกภายใน กายเขา กายเรา กายหญิง กายชาย กายสัตว์ กายบุคคล มันเป็นกองอสุภะอสุภัง ทุกฺขํ อนตฺตา เหมือนกันหมด ถ้าติดก็ติดเหมือนกันหมด ถ้ารู้ก็ปล่อยได้เหมือนกันหมดนั้นแหละ นี่การภาวนา

ปัญญาเป็นของสำคัญมากนะ ใครพิจารณาเรื่องกายคตาสติ มีหนักแน่น การพิจารณาเรื่องกายคตาสติจะตั้งรากตั้งฐานได้โดยลำดับลำดา แต่จิตต้องมีรากฐานคือความสงบไว้เป็นพื้นฐานบ้างนะ ถ้าไม่มีความสงบเลย แล้วจะใช้ปัญญาอย่างเดียว อย่างอรหันต์ดิบเขาพูดนั่นไม่ได้นะ อรหันต์ดิบพูด ไม่เคยภาวนามาประกาศตนเป็นอรหันต์ิบ ศีล สมาธิ ความสงบไม่จำเป็น เอาปัญญาเลย นั่นคือคนไม่เคยภาวนา คนที่เคยภาวนาใคร คือพระพุทธเจ้า ท่านเคยภาวนายังไง สีลปริภาวิโต สมาธิ มหปฺผโล โหติ มหานิสํโส จิตที่มีสมาธิเป็นเครื่องอุดหนุน เป็นเครื่องอบอุ่นแล้ว ย่อมมีความสงบได้ง่าย สมาธิปริภาวิตา ปญฺญา มหปฺผลา โหติ มหานิสํสา ปัญญาที่มีสมาธิเป็นเครื่องหนุนเรียบร้อยแล้วย่อมเดินได้คล่องตัว นี้เราแปลทางภาคปฏิบัติ ปญฺญาปริภาวิตํ จิตฺตํ สมฺมเทว อาสเวหิ วิมุจฺจติ จิตที่ปัญญาซักฟอกเรียบร้อยแล้ว ย่อมหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวงโดยชอบ

นี่ศีล สมาธิ ปัญญา เดินทั้งศีล เดินทั้งสมาธิ เดินทั้งปัญญา ท่านสอนไว้เป็นพื้นฐานแก่พระสงฆ์ทั่วสังฆมณฑล เราจะมาตัดตอนเอาตั้งแต่ว่า สมาธิไม่จำเป็น ความสงบไม่จำเป็น เดินทางปัญญาเลย ปัญญาก็ปัญญาตาบอด ปัญญาของคนด้นเดานั่นเอง คนผู้ดำเนินจะไม่พูดอย่างนั้น ถึงขั้นควรที่จะพูดปัญญาพูดเลย ดังพระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนเบญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ฟาดปัญญาออกเลย อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา หยั่งลงทางด้านปัญญา ๆ ผู้ที่ควรอบรมจิตใจให้เป็นหลักเป็นฐานก็สอนลงทางด้านสมาธิแน่นหนามั่นคงไป นั่น ท่านสอนเป็นพัก ๆ ควรวรรคใดตอนใดก็สอนลงในวรรคในตอนนั้น ผู้ที่อยู่ในธรรมประเภทใด ควรจะอบรมให้มีความสามารถแก่กล้าก็สอนตั้งแต่ธรรมประเภทพื้น ๆ ขึ้นไป ผู้ควรจะหลุดพ้นแล้วก็เปิดประตูให้เลยด้วยปัญญา ก็ออกผาง ๆ เลย ดังเบญจวัคคีย์ทั้ง ๕ นี่ท่านนักภาวนาท่านเป็นอย่างงั้น

ศาสดาเอกของเราสอนไว้อย่างนั้น ผู้ปฏิบัติที่เป็น สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ ของพวกเราท่านก็สอนแบบนั้นเหมือนกัน ท่านไม่สอนแบบอรหันต์ดิบ อรหันต์ด้นเดา อรหันต์ตาบอด อรหันต์ไม่เคยสนใจกับการภาวนา แล้วมาสอนโลกให้เฉลียวฉลาด สอนได้ยังไง เจ้าของโง่ยิ่งกว่าหมาตาย อย่างงั้นมันใช้ไม่ได้นะ นี่ละแบบฉบับของธรรมที่จะทำโลกทำจิตใจของเราให้มีความสงบร่มเย็น ให้ปฏิบัติตามฐานของพระพุทธเจ้าที่ทรงสั่งสอนไว้แล้วโดยถูกต้อง การพิจารณาทางด้านปัญญานี้เป็นของสำคัญมากนะ นักบวชเราสำคัญที่กายคตาสติ พิจารณาให้เน้นหนัก ทบทวนแล้วทบทวนเล่า พิจารณา เอาร่างกายนี้แหละเป็นทางเดินของปัญญา วกไปเวียนมา ตลบทบทวนกี่ครั้งกี่หนจนเกิดมีความชำนิชำนาญภายในใจ แล้วจะรวดเร็วคล่องแคล่วว่องไวขึ้นไปเป็นลำดับ ๆ

            ปัญญาส่วนร่างกายนี้เป็นปัญญาขั้นหยาบหนักมาก ต้องใช้กำลังหนักในปัญญาขั้นนี้ เอาจนกระทั่งปัญญาขั้นร่างกายนี้ละเอียดลออ ผ่านขั้นกายนี้ไปแล้วจิตใจเบาหวิว นั่น เป็นขั้นเป็นตอนนะ ปัญญาขั้นร่างกายนี้ตั้งแต่ต้นลงไปจนกระทั่งถึงขั้นละเอียดของการพิจารณาร่างกายเป็นขั้นชุลมุนวุ่นวายของปัญญา จะเรียกว่าปัญญาประเภทไหนก็เรียกไม่ได้ จะต้องเป็นปัญญาชุลมุน เพราะความรอบคอบเพราะความว่องไวของปัญญากับร่างกายที่พิจารณากันแยบคายๆ ทันทีทันใด พอผ่านอันนี้ไปได้ปล่อยวางโดยประการทั้งปวงแล้วในด้านวัตถุนี้จิตจะก้าวเป็นอัตโนมัติเลย สติปัญญาของจิตที่ผ่านเรื่องกายคตาสติ กามกิเลสนี้ไปได้แล้ว จะเป็นสติปัญญาอัตโนมัติ หมุนตัวไปเองๆ เพื่อหลุดพ้นโดยถ่ายเดียว นี่ท่านว่าสติปัญญาอัตโนมัติ ภาวนามยปัญญา ของผู้ปฏิบัติให้มันเป็นในจิตในใจนั้นซิ

            เราทำไม่เป็นแล้วไปสอนคนอื่น จะสอนได้ยังไง ต้องทำตัวของเราให้เป็น นี่ละให้พระลูกพระหลานทั้งหลายนำไปพิจารณา ปัญญามี ๒ ประเภท ปัญญาขั้นหยาบเรียกว่าปัญญาที่เกี่ยวกับร่างกาย ต้องใช้อย่างหนักปัญญา ทบทวนเอาเสียจนแหลกจนเหลว จนกระทั่งเหมือนฟ้าแลบ ๆ ด้วยอำนาจของปัญญาพิจารณาร่างกายพังทลายลงไป ประหนึ่งว่าชั่วฟ้าแลบ ๆ ถึงขั้นตอนที่รวดเร็ว จากนั้นก็ผ่านได้เลย พอผ่านไปได้แล้วก็มีแต่นามธรรม เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ปัญญาตามเข้าไปในเรื่องเหล่านี้ เกิดดับ ๆ เกิดมาจากไหน เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เกิดมาจากใจ พิจารณาเข้าไปก็ไปถึงใจๆ

เมื่อเข้าถึงใจแล้ว มันก็ไปยุติที่นั่น ๆ ยุติหลายครั้งหลายหนมันก็เข้าโค่นรากแก้ว รากอันสำคัญของกิเลสได้ คืออวิชชา อวิชฺชาปจฺจยา ก็เป็นที่รวมของขันธ์ ๔ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทีแรกรวมเป็นขันธ์ ๕ ขันธ์ห้าผ่านไปได้แล้ว ยังเหลือขันธ์ ๔ หมุนเข้าไปตามขันธ์ ๔ เข้าไปถึงอวิชชา พอถึงอวิชชาแล้วหลายครั้งหลายหน โค่นรากแก้วอวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา ขาดสะบั้นลงไปแล้ว นั้นแลเรียกว่า ท่านบรรลุธรรม นี่ละเกิดขึ้นจากการภาวนาตั้งแต่ล้มลุกคลุกคลานพุทโธ ธัมโม สังโฆ บริกรรมเต็มเม็ดเต็มหน่วย ถูไถกันไปมา หลายครั้งหลายหนค่อยคล่องตัวไป ๆ จนกระทั่งถึงขั้นแกล้วกล้าสามารถ

ร่างกายนี้เป็นยังไงเท่าภูเขาก็เท่าเถอะ ปัญญาเฉียบขาด ขาดสะบั้นไปหมด พุ่งที่ตรงไหน ไม่มีอะไรแหลมคมยิ่งกว่าปัญญา โลกธาตุนี้ทะลุไปได้หมด ปัญญาเมื่อถึงขั้น เฉลียวฉลาดแหลมคมแล้ว ว่องไวแล้วเป็นอย่างนั้น ทะลุเข้าไป ๆ อวิชชาอยู่ที่ใจมันจะไปไหนได้ พังเข้าไปหาอวิชชาขาดสะบั้นลงไปแล้ว ไม่ทูลถามพระพุทธเจ้าก็ตาม เราอยากเห็นพระพุทธเจ้าขนาดไหนก็ตาม พออวิชชาขาดสะบั้นลงไปแล้วได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้วอย่างประจักษ์ใจ เข้าเฝ้าสาวกทั้งหลายแล้วอย่างประจักษ์ใจ

พระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์รวมอยู่กับธรรมแท่งเดียว คือความบริสุทธิ์ของผู้หลุดพ้นแล้วโดยถ่ายเดียวเท่านั้น เป็นอันเดียวกันหมด ไม่มีที่จะแปลกต่างกัน อันพระรูปพระโฉม พระสรีระนั้นมีต่างกัน อย่างพระพุทธเจ้าปรินิพพานๆ นั้นหมายถึงร่างกายแตกดับ ส่วนธรรมชาติที่บริสุทธิ์พุทโธซึ่งเป็นธรรมทั้งแท่งนั้น คือพุทธะแท้ ผู้บรรลุธรรม บรรลุธรรมแท้นี้แล จึงไม่สงสัยพระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์เป็นแบบเดียวกันหมดเลย เหมือนกันกับแม่น้ำที่ไหลลงสู่มหาสมุทร มหาสมุทรเป็นที่รวมแห่งแม่น้ำทั้งหลายสายต่าง ๆ ที่ไหลลงไปรวมในมหาสมุทรแห่งเดียว เวลาแม่น้ำทั้งหลายที่ไหลลงไปยังไม่ถึงมหาสมุทร เราก็เรียกได้ว่าแม่น้ำสายนั้นสายนี้ เช่น แม่น้ำบางปะกงเป็นต้น พอเข้าถึงมหาสมุทรทะเลหลวงแล้ว เรียกได้คำเดียวว่า แม่น้ำมหาสมุทร จะเรียกว่าแม่น้ำสายนั้นสายนี้ไม่ได้เลย เป็นอันเดียวกันหมดแล้ว

นี่ก็เหมือนกัน จิตของโยคาวจรผู้บำเพ็ญบารมีทั้งหลายเท่ากับน้ำสายต่าง ๆ นั้นแล บำเพ็ญไป ๆ ไหลเข้าใกล้จุดที่หมายคือมหาวิมุตติ มหานิพพาน ใกล้เข้าเป็นลำดับ ไหลเข้าไป บารมีแก่กล้าๆ ไหลเข้าไป พอถึงขั้นบริสุทธิ์พุทโธเต็มที่แล้วเท่ากับถึงวิมุตติพระนิพพาน นั้นเป็นอันเดียวกันหมด เช่นเดียวกับแม่น้ำสายต่าง ๆ พอไหลลงสู่มหาสมุทรแล้วเป็นมหาสมุทรอันเดียวกันหมด จิตของสัตว์โลกทั้งหลายนี้เมื่อบำเพ็ญเข้าไปถึงขั้นบริสุทธิ์แล้ว เป็นวิมุตติพระนิพพานอันเดียวกันหมด เป็นมหาสมมุติ เป็นมหานิยมอันเดียวกันหมด

เพราะฉะนั้น ท่านจึงไม่เข้าไปหาเฝ้าพระพุทธเจ้าที่ไหน นตฺถิ เสยฺโยว ปาปิโย ความบริสุทธิ์นั้นเสมอกัน เหมือนกันแล้วถามกันหาอะไร ตรัสรู้ปึ๋งขึ้นมาเท่านั้น องค์ใดก็ตาม พระพุทธเจ้ามีมากน้อยเพียงไรท่านจะไม่ถาม ไม่มีทางสงสัยใด ๆ เลยต่อพระพุทธเจ้าต่อธรรมทั้งหลาย นี่ละผลแห่งธรรมแห่งการปฏิบัติตามหลักพระพุทธศาสนาตั้งแต่พื้น ๆ เพ ๆ ขึ้นไป ก้าวขึ้นไปเป็นลำดับด้วยความไม่หยุดไม่ถอย เราจะได้ผลขึ้นเป็นลำดับลำดา ก้าวขึ้นไปจนกระทั่งถึงวิมุตติหลุดพ้น พ้นที่ใจดวงเดียวนี้แล แต่ก่อนกิเลสตัณหามันผูกมัดรัดรึงไว้เต็มจนกระทั่งถึงกระดิกตัวไม่ได้ ไปที่ไหนมีแต่ความขัดความข้อง ความยุ่งเหยิงวุ่นวาย มีแต่ความทุกข์ความทรมานที่หัวใจ เพราะกิเลสบีบหัวใจ

พอแก้ออกได้ ๆ แก้ออกได้จนหมดโดยสิ้นเชิงแล้ว ไม่มีกิเลสตัวใดจะเข้าไปบีบในหัวใจนั้นได้เลย นั่นละท่านว่าบรมสุข อยู่ที่กิเลสซึ่งเป็นตัวสร้างทุกข์นั้นขาดสะบั้นลงไป ทุกข์ในพระอรหันต์ท่านจึงไม่มีตั้งแต่วันท่านตรัสรู้ธรรมแล้ว พระอรหันต์ พระพุทธเจ้าไม่มีทุกข์ภายในใจ มีก็มีแต่ในธาตุในขันธ์ เจ็บท้องปวดศีรษะเป็นธรรมดา แต่อันนี้เป็นฝ่ายสมมุติ ธาตุขันธ์เป็นสมมุติทั้งมวล เจ็บมากเจ็บน้อยเป็นอยู่ในวงสมมุติ ไม่ก้าวเข้าสู่วิมุตติ คือจิตที่บริสุทธิ์ได้เลย เพราะฉะนั้นพระอรหันต์ท่านจึงไม่ได้เสวยทุกข์จากธาตุจากขันธ์ จะเป็นมากเป็นน้อยก็เป็นอยู่ตามธาตุตามขันธ์ พังลงไปก็ธาตุขันธ์ตาย อมตะมหานิพพานในจิตของท่านที่บริสุทธิ์ท่านไม่ตาย นี่ธรรมเป็นอย่างนี้

พอถึงขั้นนี้เลิศเลอขนาดไหนธรรม ธรรมที่เลิศเลอสุดยอดคือจิตใจที่บริสุทธิ์เต็มเหนี่ยวแล้วเลิศสุดยอดเลย ไม่มีอะไรเป็นปัญหาทั้งนั้น นี่ละที่พระพุทธเจ้าทรงท้อพระทัย เวลาตรัสรู้ขึ้นมาสว่างจ้าขึ้นหมดครอบแดนโลกธาตุ แต่ก่อนกิเลสปิดบังเอาไว้ มืดมิดปิดตา ตะวันร้อยดวงก็มองอะไรไม่เห็น เพราะจิตใจมันมืด เพราะอำนาจกิเลสนั้นแหละหุ้มห่อมัน พอกิเลสเปิดออกหมดแล้วจิตใจจ้าขึ้นมา เห็นหมดนั่นแหละ สว่างจ้าขึ้นมา นี่เพราะผลแห่งการประพฤติปฏิบัติกำจัดความชั่วช้าลามกออกจากจิตใจ ใจก็มีความสว่างไสวขึ้นไปโดยลำดับ

ท่านจึงสอนให้ทำบุญให้ทาน อย่าอยู่เฉย ๆ แบบสัตว์ดิรัจฉาน ใช้ไม่ได้ เราจะเป็นสัตว์ดิรัจฉานทั้งคนนั้นแหละ ถ้าว่าไม่มีหางมันก็เป็นสัตว์ไม่มีหาง ถ้าสัตว์มีหางก็มีหางไปเสีย คนนี้ก็เลยเป็นสัตว์ไม่มีหางไปเสีย ไม่มีศีล มีทาน ไม่มีการกุศลเป็นที่ระลึกประจำจิตใจของมนุษย์เลย อย่างนี้ใช้ไม่ได้ ขอให้พากันบำเพ็ญจิตใจสร้างคุณงามความดีไว้เป็นพื้นฐานประจำใจ ใจของเราจะมีเครื่องรับรองยืนยัน เป็นก็เป็น ตายก็ตาย คนมี คนจน ตายเหมือนกัน คนบาป คนบุญ ตายได้เหมือนกัน แต่ตายไปทางบาปก็มี ตายไปทางบุญทางกุศลก็มี ตายไปแล้วไปด้วยความหลุดพ้นก็มี มันต่างกันอย่างนี้

เพราะฉะนั้นจึงขอให้บำรุงรักษาจิตใจให้ดี อย่าบำรุงตั้งแต่ร่างกายซึ่งมันจะตายอยู่ในวันใดวันหนึ่งก็ได้ นี้ปรนปรือกันเสียเหลือกัน อะไรมาก็ไม่พอ กินวันยังค่ำ กินตั้งแต่ตื่นนอน จิ๊บ ๆ แจ๊บ ๆ อะไรกินไม่หยุดไม่ถอย ปากทำงานจนจะเป็นจะตาย ทั้งกินทั้งบ่น ทั้งเพ้อ ทั้งขับทั้งลำทำเพลง อยู่ในปากนี้หมด ปากนี้เป็นตัวยุ่ง ปากนี้ทำงานมาก เจ้าของปรนปรือเอาเหลือเกินร่างกายอันนี้ อะไรก็เอามาปรนปรือร่างกาย อะไรไม่พอ เรื่องของร่างกายนี้เป็นเรื่องใหญ่โตมาก ปรนปรือเอาเสียมากมาย แต่จิตใจเรียกร้องหาความช่วยเหลือจากเจ้าของ เพราะไม่ได้เหลียวแลเลยนี้อยากจะว่าทั่วหน้ากันนะ ถ้าไม่ใช่ผู้บำเพ็ญกองการกุศล

มีตั้งแต่หาอยู่หากิน หัวไถไปเลยทั้งวันทั้งคืน ผู้นี้ไม่มีอะไรเลย จิตใจเรียกร้องหาความช่วยเหลือ เพราะความเดือดร้อนบีบบังคับตลอดเวลา เรียกร้องหาอยู่เสมอ เจ้าของก็ไม่เหลียวแล เพราะฉะนั้นจึงให้เหลียวแลเจ้าของบ้างนะต่อไปนี้ การทำบุญให้ทานเป็นนิสัยของเราอย่าปล่อยอย่าวาง ถ้าปล่อยวางเราหมดเนื้อหมดตัว ไม่มีที่เกาะที่ยึด เราจะเกาะจะยึดอะไร สิ่งทั้งหลายนี้อาศัยอยู่กับโลกทั้งนั้น ตายแล้วไม่มีอะไรเป็นที่อาศัยนะ บุญกุศลนี้แลเป็นที่พึ่งเป็นพึ่งตายของเรา ตายแล้วติดปุ๊บกับบุญกุศลไปเลย

ให้พากันพยายามเหลียวแลจิตดวงบ้างนี้ บำรุงจิตด้วยการทำบุญให้ทาน รักษาศีล เจริญเมตตาภาวนา นี่เรียกว่าบำรุงจิตใจ ใจก็ได้อาหารคือธรรมเป็นโอชารส ร่างกายก็ได้อาหารเครื่องปรนปรือทุกวัน อย่างเรากินอยู่ตลอดเวลานี้ หล่อเลี้ยงตั้งแต่ร่างกาย จิตใจไม่ได้รับการเหลียวแลเลย จิตใจแห้งผาก ๆ ใช้ไม่ได้ ขอให้พากันอบรมจิตใจให้มีความสงบเย็นด้วยอรรถด้วยธรรม เราจะมีความเย็น คำว่าพุทโธไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย สะเทือนถึงพระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ นู่นเป็นของเล่นเมื่อไร ธัมโม สังโฆ เป็นอันเดียวกัน กระเทือนถึงกันหมดเข้าในหัวใจของเรา เรามีธรรมอันเลิศเลอครองหัวใจในขณะที่ระลึกถึงพุทโธก็ดี ธัมโมก็ดี สังโฆก็ดี กระเทือนถึงกันหมด จิตใจเรามีคุณค่ามหาศาลในเวลาเช่นนั้น

จึงขอให้พากันสร้างคุณงามความดี มีการภาวนาเป็นต้นเข้าสู่จิตใจบ้าง ใจจะได้มีเครื่องหล่อเลี้ยงโอชารส แล้วจะมีความสงบร่มเย็นเป็นสุข

วันนี้ก็เทศนาว่าการให้บรรดาพระเจ้าพระสงฆ์ พระลูกพระหลาน ตลอดประชาชนทั้งหลายได้ยินได้ฟัง ในฐานะที่ว่าหลวงตานี้ได้มาเทศนาว่าการแนะนำพี่น้องทั้งหลายมาเป็นเวลาเกือบ ๕ ปีนี้แล้ว ก็ได้ไปทุกแห่งทุกหน เช่นวัดธรรมสถิตนี้มาหลายครั้งแล้วนะ ๒ ครั้งหรือ ๓ ครั้งก็ไม่รู้แหละมาเทศนาว่าการ วันนี้ก็ขอให้ท่านทั้งหลายได้นำอรรถนำธรรมที่แนะนำสั่งสอนเวลานี้ไปเป็นคติเครื่องเตือนใจ และการสอนโลกหลวงตาพูดจริง ๆ นี้เอาเป็นสักขีพยานได้เลย  พิจารณาแล้วให้ดูหน้าหลวงตาเสียก่อนนะพี่น้องทั้งหลาย การนำพี่น้องทั้งหลายมาถึง ๔ ปี ๕ ปีนี้แล้ว หลวงตานำไปด้วยความราบรื่นดีงาม ด้วยความพออกพอใจ ด้วยความเมตตาสงสารล้วน ๆ จะออกแง่ใดมุมใดได้พิจารณาเต็มหัวอก ๆ แล้วค่อยนำประชาชนไปทุกแง่ทุกมุม แล้วก็ค่อยราบรื่นเรื่อยมาเป็นอย่างที่ว่านี้

การปฏิบัติตัวของเรา เราก็ปฏิบัติมาด้วยความราบรื่นมาตั้งแต่วันออกบวช ปฏิบัติศีลธรรมมาจนกระทั่งก้าวเข้าสู่กรรมฐาน เข้าอยู่ในป่าในเขา ปฏิบัติกำจัดกิเลส ทั้งวันทั้งคืน ยืน เดิน นั่ง นอน เว้นแต่หลับเรื่อยมา ๆ ผลได้เป็นที่พึงพอใจโดยลำดับ ๆ  ขอสรุปความเลยว่า ผลทั้งมวลที่เราได้ปฏิบัติมาตั้งแต่วันออกปฏิบัติเป็นเวลา ๙ ปีเต็ม อันนี้เรียกว่าฟัดกันไม่มีวันมีคืน ถ้าเป็นนักมวยเข้าวงในกันเลย เป็นเวลา ๙ ปี ผลเป็นที่พึงพอใจ กิเลสขาดสะบั้นลงจากหัวใจ ไม่มีสิ่งใดเหลือเลยตั้งแต่วันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๔๙๓ หลังวัดดอยธรรมเจดีย์ จังหวัดสกลนคร เวลา ๕ ทุ่มเป๋งพอดี นั่นเป็นเวลาที่โลกธาตุหวั่นไหวภายในหัวใจ หลังจ


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก