จงสร้างวาสนาที่ใจ
วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2519 ความยาว 36.13 นาที
สถานที่ : ศาลาโรงครัว วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)   ข้อมูลเสียงแบบ(Real)

ค้นหา :

เทศน์โปรดคุณเพาพงา วรรธนะกุล ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๑๙

จงสร้างวาสนาที่ใจ

 

            จงพยายามทำใจให้เป็นหลัก เพื่อเป็นเครื่องยึด ทำอะไรต้องให้มีหลักเกณฑ์ ให้มีเหตุผล ถ้าไม่มีเหตุมีผลก็หาความแน่นอนไม่ได้  การอยู่ด้วยความไม่แน่นอน ไปด้วยความไม่แน่นอน ทำอะไรด้วยความไม่แน่นอน เป็นสิ่งที่เสี่ยงต่อความผิดพลาดทั้งนั้น ผลแห่งความผิดพลาดก็คือความทุกข์ความผิดหวัง ต้องย้อนเข้ามาหาตัวเหตุคือผู้ทำอยู่เสมอ อย่ามองข้ามไป ใจมีความสำคัญที่จะสร้างความแน่นอนให้แก่ตัวเอง คนที่มีจิตเป็นหลักมีธรรมเป็นหลัก มีธรรมเป็นเครื่องหล่อเลี้ยง ไม่ว่าจะทำหน้าที่การงานอะไร ย่อมเป็นไปด้วยหลักด้วยเกณฑ์ด้วยเหตุด้วยผล เป็นความแน่ใจและแน่นอน

         การอบรมจิตใจด้วยศีลด้วยธรรม ก็เพื่อให้ใจมีหลัก ใจนั้นมีอยู่แล้ว รู้อยู่แล้ว แต่ชอบเอนเอียงไปตามสิ่งต่างๆ ไม่มีประมาณ อะไรมาผ่านก็เอนเอียงไปตาม ถูกอะไรพัดผันนิดๆ หน่อยๆ ก็เอนเอียงไปตาม นั่นคือจิตไม่มีหลักเกณฑ์ ตั้งตัวไม่ได้ ถูกฟัดถูกเหวี่ยงไปมาอยู่เสมอ ความเอนเอียงไปมาเพราะการถูกสัมผัสต่างๆ นั้น ยังมีผลสะท้อนกลับมาถึงตัวเราให้เดือดร้อนด้วย ฉะนั้นจึงต้องสร้างความแน่นอนให้แก่จิตใจ โดยทางเหตุผลอรรถธรรมเป็นเครื่องดำเนิน

         ที่พึ่งพิงของใจก็คือ “ธรรม” ธรรมมีทั้งเหตุทั้งผล เหตุคือการกระทำที่ชอบด้วยเหตุผล ที่เห็นว่าถูกต้องดีงามตามที่ท่านสอนไว้แล้ว อย่านำความยากความลำบากเข้ามาเป็นอุปสรรคกีดขวางทางเดินที่ถูกต้องดีงามโดยเหตุโดยผลของเรา เพื่อจะผลิตผลอันดีให้เกิดขึ้นแก่ตัวเราเอง

         เราอย่าตำหนิตนว่า “อำนาจวาสนาน้อย” ซึ่งไม่เข้าท่าเข้าทาง และตัดกำลังใจให้ด้อยลง ทั้งเป็นลักษณะของคนอ่อนแอ ขี้บ่น อยู่ที่ไหนก็บ่น เห็นอะไรก็บ่น เกี่ยวข้องกับใครก็บ่น ทำหน้าที่การงานก็บ่นให้คน บ่นไม่หยุดไม่ถอย บ่นให้ลูกให้หลาน บ่นให้สามีภรรยา ส่วนมากมักเป็นผู้หญิงที่ช่างบ่น เพราะงานจุกจิกส่วนมากมารวมอยู่กับผู้หญิง จึงต้องขออภัยที่พูดเป็นลักษณะตำหนิ และเอารัดเอาเปรียบผู้หญิงมากไป ทั้งที่ผู้ชายทั้งหลายยิ่งไม่เป็นท่าน่าเบื่อเสียจริงๆ ยิ่งกว่าผู้หญิงหลายเท่าตัว

         การบ่นให้ตนเอง โดยไม่เสาะแสวงหาเครื่องส่งเสริมในสิ่งที่บกพร่องให้สมบูรณ์ขึ้นนั้น ก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร ใครไม่ได้หาบ “อำนาจวาสนา” มาออกร้านให้เห็นได้อย่างชัดเจน ดังเขาหาบสิ่งของต่างๆ ไปขายที่ตลาด

         “วาสนาบารมี” ก็มีอยู่ภายในใจด้วยกันทั้งนั้น หากไม่มีวาสนาแล้วไหนจะมาสนใจกับอรรถกับธรรม เบื้องต้นก็ได้เกิดมาเป็นมนุษย์สมบูรณ์ไม่เสียจริตจิตวิกลวิการต่างๆ ยังมีความเชื่อความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นของเลิศประเสริฐ ไม่มีสิ่งใดประเสริฐยิ่งกว่าศาสนธรรม ซึ่งเป็นธรรมรื้อขนสัตว์โลกให้พ้นจากทุกข์โดยลำดับ ดังที่เคยกล่าวว่า “นิยยานิกธรรม” ผู้ปฏิบัติศาสนธรรม นำธรรมเหล่านี้ไปบำรุงซ่อมแซมจิตใจของตนที่เห็นว่าบกพร่อง ให้สมบูรณ์ขึ้นโดยลำดับ ก็เท่ากับขนทุกข์ออกจากใจเรื่อยๆ ใจมีความบกพร่องที่ตรงไหน นั้นแลคือความอาภัพของจิตที่ตรงนั้น ความเป็นอยู่และการกระทำของจิตก็บกพร่องไปด้วย

ควรมองดูจิตนี้ให้มากยิ่งกว่าการมองสิ่งอื่นแบบลมๆ แล้งๆ และตำหนิ “อำนาจวาสนาของตน” ว่าน้อย คนอื่นเขาดีกันหมด แต่ตัวไม่ดี ทั้งๆ ที่ตัวก็ทำดีอยู่แต่ตำหนิว่าตัวไม่ดี เราไปทำความเสียหายอะไรถึงว่าไม่ดี การทำดีอยู่ จะไม่เรียกว่าดีจะเรียกอะไร? ความทำดีนั้นแลเป็นเครื่องรับรองผู้นั้นว่าดี ไม่ใช่การกระทำชั่วแล้วกลับเป็นเครื่องรับรองคนว่าดี นี้ไม่มีตามหลักธรรม นอกจากเสกสรรปั้นยอขึ้นมาด้วยอำนาจของกิเลสพาให้ชมเชยอย่างนั้น กิเลสชอบชมเชยในสิ่งที่ไม่ดีว่าเป็นของดี ตำหนิสิ่งที่ดีว่าเป็นของไม่ดี เพราะฉะนั้นกิเลสกับธรรมจึงเป็นข้าศึกกันเสมอ อันใดที่ธรรมชอบกิเลสไม่ชอบ ทั้งที่กิเลสก็อยู่กับใจ ธรรมก็อยู่กับใจของพวกเราเอง

         ถ้ากิเลสมีมาก ก็คอยแต่จะตำหนิติเตียนธรรม เหยียบย่ำทำลายธรรมภายในจิตใจ การที่เราจะบำเพ็ญตนให้เป็นไปเพื่อความดีงาม ให้ได้มรรคได้ผลตามความมุ่งมาดปรารถนา จึงมีการคัดค้านตนอยู่เสมอ เฉพาะอย่างยิ่งก็คือการตำหนิติเตียนตนว่า “มีอำนาจวาสนาน้อย” “เกิดมาอาภัพวาสนา ใครๆ เขารู้เขาเห็น ไอ้เราไม่รู้ไม่เห็นอะไร ใครๆ เขาเป็นใหญ่เป็นโตภายในใจ แต่เราเป็นเด็กเล็กๆ ตามพรรษา ก็เท่ากับเณรน้อยองค์หนึ่งภายในใจ” นี่คือการตำหนิติเตียนตัวเอง และเกิดความเดือดร้อนขึ้นมาด้วย ทำให้น้อยอกน้อยใจตัวเอง!

         การน้อยใจนี้ ไม่ใช่จะทำให้เรามีความขยันหมั่นเพียร มีแก่จิตแก่ใจเพื่อบำเพ็ญตนให้มีระดับสูงขึ้นไป แต่เป็นการเหยียบย่ำทำลายตน ทำให้เกิดความท้อแท้อ่อนใจ ซึ่งไม่ใช่ของดีเลย ทั้งนี้เป็นกลอุบายของกิเลสทั้งนั้น พร่ำสอนคนให้ด้อยวาสนาบารมีลงไป เพราะความไม่มีแก่ใจบำเพ็ญเพื่อส่งเสริม

         พวกเราจงทราบไว้ว่า นี้คืออุบายของกิเลสหลอกคน มันบกพร่องที่ตรงไหน ให้พยายามแก้ไขดัดแปลงที่ตรงนั้น ซึ่งเป็นความถูกต้องกับหลักธรรมของพระพุทธเจ้าแท้ไม่ผิด วาสนาบารมีจะต้องสมบูรณ์ขึ้นมาวันหนึ่งแน่นอนเมื่อได้รับการบำรุงอยู่เสมอ นี่คือทางที่ถูกต้อง ใครไม่ได้ไปที่ไหน ไม่ได้รู้ที่ไหน รู้ที่จิต วาสนาก็รวมอยู่ที่จิต

         ร่างกายแตกสลายไปแล้ว อำนาจวาสนาที่สร้างไว้ในจิตนั้น ต้องติดแนบกับจิตไป จนกระทั่งถึงวาระสุดท้ายที่จะผ่านพ้นโลกที่สับสนวุ่นวายนี้ไป เรื่อง “อำนาจวาสนา” ซึ่งเป็นสมมุติและเป็นเครื่องสนับสนุนเราในเวลาที่ยังท่องเที่ยววกเวียนอยู่ใน “วัฏสงสาร” ก็ต้องผ่านไปหมด เมื่อถึงขั้นที่พ้นจากโลกสมมุติโดยประการทั้งปวงแล้ว จะตำหนิที่ตรงไหน มีทางตำหนิตนได้ที่ตรงไหน ต่อนี้ไปไม่มีเลย เพราะสมบูรณ์เต็มที่แล้ว

         ฉะนั้นให้พยายามเร่งบำเพ็ญตนด้วยความพากเพียร อย่าไปคิดทางอื่นเรื่องอื่น นอกจากเรื่องของตัว ให้เสียเวลาและทำให้จิตท้อถอยอ่อนแอไปด้วย

         การสร้างวาสนาให้สมบูรณ์ขึ้นมา ให้มีอำนาจวาสนามาก ก็สร้างที่ตัวเราเอง สร้างทีละเล็กละน้อย สร้างไม่หยุดไม่ถอยก็สมบูรณ์ไปเอง เช่นเดียวกับปลวกมันสร้าง “จอมปลวก” ได้ใหญ่โตขนาดไหน ขุดเป็นเดือนๆ ก็ไม่ราบ เมื่อจะขุดให้มันราบเหมือนที่ดินทั้งหลาย ฟันมันสองซี่เท่านั้นแหละ มันสามารถสร้างจอมปลวกได้เกือบเท่าภูเขา นี่แหละความพากเพียรของมัน เรามีความสามารถฉลาดในอุบายวิธีต่างๆ ยิ่งกว่าปลวก ฟันเราก็หลายซี่ กำลังของเราก็มากยิ่งกว่าปลวก ทำไมเราจะสร้างตัวเราให้มีความสูงเด่นขึ้นไม่ได้ ถ้าเรามีความเพียรเหมือนกับปลวกน่ะ! นอกจากไม่เพียรเท่านั้นจึงจะสู้มันไม่ได้ ต้องสร้างให้สูงได้ด้วยอำนาจแห่งความเพียร จะหนีความเพียรไปไม่พ้น

         พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ด้วยความเพียร เราทำไมจะกลายเป็นคนอาภัพไปจากความเพียร ทั้ง ๆ ที่กำลังและความฉลาดมีมากกว่าสัตว์ และทำได้มากกว่าสัตว์ ต้องเพียรได้เต็มภูมิมนุษย์เราไม่สงสัย ถ้าลงได้เพียรตามหลักธรรมที่ท่านสอนไว้แล้วไม่มีทางอื่น นอกจากจะทำให้ผู้นั้นมีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นภายในใจ จนกลายเป็นจิตที่มีหลักฐานมั่นคงโดยถ่ายเดียว

         เราเห็นได้ชัดๆ ในเวลาที่เราไม่เคยประพฤติปฏิบัติเลย เช่น ภาวนา “พุทโธ ธัมโม สังโฆ” จิตไม่เคยรวมไม่เคยสงบให้เห็นปรากฏบ้างเลยแม้แต่น้อย เวลาเราฟังธรรมที่ท่านแสดงทางภาคการปฏิบัติ พูดถึงเรื่องสมาธิก็ได้ยินแต่ชื่อ ยังไม่รู้เรื่องรู้ราว ท่านแสดงถึงวิถีจิตที่ดำเนินไปด้วยความจริงว่า “เวลาภาวนาจิตที่มีสมาธิจะมีความสงบอย่างนั้น อาการของจิตเป็นอย่างนั้น ๆ ตามจริตนิสัยต่างๆ กัน สุดท้ายจิตได้ลงสู่ความสงบอย่างแนบแน่น มีความสุขความสบายอย่างนั้น ๆ” เราก็ไม่เข้าใจ พูดถึงเรื่องปัญญา การพิจารณาคลี่คลายดูเรื่องธาตุเรื่องขันธ์ และพิจารณากระจายทั่วโลกธาตุ ซึ่งเป็นสภาวธรรมทั่วๆ ไป อันควรแก่ปัญญาซึ่งจะพิจารณาให้รู้แจ้งเห็นจริง เราก็เพียงแต่เข้าใจในคำพูดเฉยๆ แต่ความหมายอันแท้จริงนั้นเรายังไม่ทราบ หรือบางทีอาจไม่เข้าใจเลยก็ได้

         ทีนี้เมื่อเราได้รับการอบรมด้วยจิตตภาวนาอยู่โดยสม่ำเสมอ จิตค่อยมีความสงบเย็นใจบ้าง อันเป็นผลเกิดขึ้นจากการภาวนา พอท่านแสดงธรรมถึงภาคปฏิบัติ จิตของเรากับกระแสแห่งธรรมจะเข้ากันได้ เริ่มเข้ากันได้เป็นลำดับๆ กระแสแห่งธรรมเลยกลายเป็นเหมือน “เพลง” ที่แม่กล่อมลูกให้หลับสนิท จิตใจของเรามีความสงบได้ด้วยกระแสแห่งธรรมที่ท่านแสดง

         เมื่อสงบได้ ใจก็เย็นสบาย เห็นผลในขณะที่ฟังธรรม แล้วค่อยเห็นคุณค่าของการฟังธรรมเป็นลำดับๆ ไป และเห็นคุณค่าของการปฏิบัติโดยลำดับ จนกระทั่งจิตมีความสงบเย็นจริงๆ แทบทุกวันทุกครั้งที่ฟังเทศน์ภาคปฏิบัตินั้นแล จิตยิ่งมีความดูดดื่ม และซาบซึ้งขึ้นเป็นลำดับ เพียงขั้นนี้จิตก็ยอมรับและพอใจในการฟังธรรมทางภาคปฏิบัติ ยิ่งจิตมีความละเอียดมากเพียงไร สมาธิก็ดี ปัญญาก็ดี ย่อมมีความละเอียดไปตามขั้น เช่น สมาธิมีความละเอียดขึ้นโดยลำดับ ผู้พิจารณาทางด้านปัญญาก็มีความละเอียดทางด้านปัญญาไปโดยลำดับเช่นกัน

         การฟังธรรมที่ท่านแสดงทางภาคปฏิบัติ เช่น แสดงเรื่องสมาธิ และปัญญาขั้นใดก็ตาม จิตรู้สึกว่าคล้อยตามไปโดยลำดับ เคลิบเคลิ้มเพลิดเพลินอะไรพูดไม่ถูก ซึ้งจนลืมเวล่ำเวลา มีแต่ความรู้สึกกับธรรมที่สัมผัสกัน เกิดความเข้าใจทุกขณะๆ ที่ท่านแสดงไป ซึ่งเป็นการซักฟอกจิตใจไปในตัวและกล่อมจิตให้สงบเย็นไปด้วย

         ถ้าจิตกำลังอยู่ในขั้นจะควรสงบ ธรรมก็กล่อมให้มีความสงบ จิตกำลังก้าวทางด้านปัญญา ก็เหมือนกับธรรมนั้นขัดเกลาซักฟอก บุกเบิกทางเดินให้จิตก้าวไปตามด้วยความสะดวก เวลาฟังเทศน์จึงเหมือนกับเอาน้ำที่สะอาดมาชะล้างสิ่งสกปรกที่อยู่ภายในจิตใจให้ผ่องใสขึ้นโดยลำดับ เห็นผลประจักษ์ในขณะฟัง จิตยิ่งมีความรักความชอบในการฟัง และมีความจดจ่อต่อเนื่องกันไปไม่ขาดวรรคขาดตอน กระทั่งฟังเทศน์จบลง จิตยังอยากได้ยินได้ฟังอยู่โดยสม่ำเสมอทุกวันเสียด้วย นอกจากนั้นยังอยากจะฟังคำอธิบายธรรมในแง่ต่างๆ ไปตามโอกาสที่ท่านว่างอีกด้วย

         กรุณาคิดดูจิตดวงเดียวนี่แหละ ขนาดที่ฟังไม่รู้เรื่องก็มี นี่เคยเป็นมาแล้ว จึงขอเรียนเรื่องความโง่ของตนให้ท่านทั้งหลายฟัง ขณะที่ไปหาท่านอาจารย์มั่นทีแรก ได้ฟังท่านเทศน์เรื่องสมาธิเรื่องปัญญา ไม่ว่าขั้นไหนไม่รู้เรื่องเลย เหมือนกับร้องเพลงให้ควายฟังนั่นแล แต่ดีอย่างหนึ่งที่ไม่เคยตำหนิติเตียนท่านว่า ท่านเทศน์ไม่รู้เรื่องรู้ราว แต่ย้อนกลับมาตำหนิเจ้าของว่า “นี่เห็นไหม ท่านอาจารย์มั่นชื่อเสียงท่านโด่งดัง กิตติศัพท์กิตติคุณท่านลือกระฉ่อนไปทั่วโลกมาเป็นเวลานานตั้งแต่เรายังเป็นเด็ก เรามีความพอใจที่จะได้พบได้เห็นได้ฟังโอวาทของท่าน ทีนี้เราได้มาฟังแล้วไม่เข้าใจ เราอย่าเข้าใจว่าเราฉลาดเลย นี่เราโง่แค่ไหน รู้หรือยังทีนี้!

เราเคยฟังเทศน์ทางด้านปริยัติ ฟังจนกระทั่งเทศน์ของสมเด็จ เราเข้าใจไปหมด แต่เวลามาฟังเทศน์ท่านอาจารย์มั่น ซึ่งเป็นองค์ประเสริฐทั้งภาคปฏิบัติและจิตใจ แต่ไม่เข้าใจ เราเชื่อแล้วว่าท่านเป็นพระประเสริฐที่ปรากฏชื่อเสียงมานานถึงขนาดนั้น เรายังไม่เข้าใจ นี่เห็นแล้วหรือยัง ความโง่ของเรา! เราหาบ “ความโง่” เต็มตัวมาหาท่าน ความฉลาดนิดหนึ่งไม่มี จึงไม่สามารถเข้าใจอรรถธรรมของท่านที่แสดงอย่างลึกซึ้ง ดังที่พระทั้งหลายซึ่งอยู่กับท่านมานานแล้วเล่าให้ฟังว่า “แหม! วันนี้ท่านแสดงธรรมลึกซึ้งมาก ฟังแล้วซาบซึ้งบอกไม่ถูก ดังนี้ แต่เรามันลึกซึ้งที่ไหน มันไม่ซึ้งจึงไม่เข้าใจ นี่เราโง่ไหม? ทราบหรือยังว่าตัวโง่ อันเป็นคำตำหนิเจ้าของ ดีอย่างหนึ่งที่ไม่ไปตำหนิท่าน แล้วกอบโกยเอาบาปกรรมเข้ามาทับเข้าไปอีก ทั้งๆ ที่ก็หนักอยู่แล้ว

         ครั้นฟังท่านไปนานๆ เราก็ปฏิบัติไปทุกวี่ทุกวันทุกเวลา ฟังเทศน์ท่านค่อยเข้าใจ จิตค่อยได้รับความสงบเย็นเข้าไป ๆ เป็นลำดับ ทีนี้รู้สึกว่าเริ่มค่อยซึ้ง เพราะฟังธรรมเทศนาของท่านก็เข้าใจ พูดถึงเรื่องสมาธิแล้ว “แจ๋ว” ภายในจิตใจ จากนั้นก็เริ่มเข้าใจโดยลำดับๆ ซาบซึ้งโดยลำดับๆ เลยกลายเป็น “คนหูสูง” ไป! สูงยังไง? คือนอกจากท่านแล้วไม่อยากฟังเทศน์ของใครเลย เพราะเทศน์ไม่ถูกจุดที่ต้องการ เทศน์ไม่ถูกจุดของกิเลสที่ซุ่มซ่อนตัวอยู่ นั่น! เทศน์ไม่ถูกจุดของสติปัญญาซึ่งเป็นธรรมแก้กิเลส เทศน์ไม่ถูกจุดแห่งมรรคผลนิพพาน นั่น! เพราะความซึ้งความเชื่อ เหตุที่จะเชื่อจะซึ้ง ก็เพราะเห็นเหตุเห็นผลปรากฏภายในใจของตนในขณะที่ฟังโดยลำดับ ๆ นั้นแล

นี่แหละจิตดวงเดียวนี้ เวลาหนึ่งเป็นอย่างหนึ่ง มาเวลาหนึ่งเป็นอีกอย่างหนึ่ง ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น? ก็เพราะเบื้องต้นสิ่งที่เกี่ยวข้องหุ้มห่อจิตมันมีแต่สิ่งดำๆ ทั้งนั้น สกปรกทั้งนั้น ธรรมที่สะอาดเข้าไปไม่ถึง เพราะความสกปรกของจิตมีมาก เทน้ำลงขนาดครุหนึ่ง ยังไม่ปรากฏว่าความสกปรกนั้นจะหลุดลอยออกบ้างเลย ต้องเทลง ๆ ชะล้างขัดถูกันอย่างเต็มที่ เต็มกำลังความสามารถไม่หยุดไม่ถอย จึงค่อยสะอาดขึ้นมา ๆ

         นี่แหละธรรมที่ท่านแสดง เหมือนกับเทน้ำล้างสิ่งสกปรกภายในจิตใจเรา ซึ่งมันไม่ยอมเข้าใจอรรถธรรมอะไรง่ายๆ ทั้งๆ ที่เป็นธรรมอันประเสริฐ แต่จิตมันไม่ประเสริฐ จิตมันยังสกปรก จิตมันยังเป็นของไม่มีคุณค่า ธรรมแม้จะมีคุณค่า ใจก็ไม่ยอมรับ เพราะสิ่งที่ต่ำกับสิ่งที่สูงมันเข้ากันไม่ได้ ขณะที่มันโง่มันจะเอาความฉลาดมาจากไหน ขณะที่มันเศร้าหมองมันดำ มันจะเอาความแจ้งขาวมาจากไหน ต้องอาศัยการชะล้างเรื่อยๆ มันก็ค่อยสะอาดขึ้นมา ๆ ใจปรากฏเป็นของมีคุณค่าขึ้นมา อะไรๆ เมื่อจิตเริ่มมีคุณค่าเสียอย่างเดียวเท่านั้น สิ่งที่มาเกี่ยวข้องก็ค่อยมีคุณค่าขึ้นมาโดยลำดับ แม้ที่สุดได้ยินเขาร้องไห้ เขาด่ากัน ทะเลาะกันเถียงกัน ก็ยังนำเข้ามาเป็นอรรถเป็นธรรมได้ เป็นสิ่งที่มีคุณค่าขึ้นได้จากสิ่งที่ไม่พึงปรารถนานั้น ๆ

         นี่แหละความเปลี่ยนแปลงของจิต เปลี่ยนแปลงไปอย่างนี้ จากการประพฤติปฏิบัติ จากการอบรมตนอยู่โดยสม่ำเสมอ นี่คือการสร้าง “วาสนา” สร้างอย่างนี้

         การตำหนิตัวเองไม่เห็นเกิดประโยชน์อะไรเลย นอกจากจะทำให้เกิดความอับเฉาน้อยเนื้อต่ำใจ ซึ่งเป็นเรื่องของกิเลสทั้งนั้น เราตั้งใจจะมาสลัดตัดกิเลสออกจากจิตใจ แต่กลับมาเอากิเลสเข้าสู่จิตใจ ด้วยอาการต่างๆ อย่างที่กล่าวมานี้ จึงไม่สมเหตุสมผลที่เราต้องการ ที่เรามุ่งประพฤติปฏิบัติเพื่อส่งเสริมตนนั้นเลย

         วาสนามีอยู่กับใจ สร้างตรงนี้แหละ ตรงที่พูดถึงนี่แหละ พยายามสร้างพยายามขัดเกลาลงไป กิเลสมีหลายชนิด ที่ดื้อก็มี โดยมากมันดื้อทั้งนั้นแหละกิเลสน่ะ ถ้ามีกำลังมากก็ดื้อมาก มีกำลังน้อยก็ดื้อน้อย แล้วแต่กิเลสมีมากน้อย ของไม่ดีมีมากเท่าไรมันยิ่งแสดงความไม่ดีให้เห็นมาก นั่นแหละเราต้องสู้ตรงที่มันไม่ดี เพื่อเอาของดีขึ้นมาครองภายในใจ

         เรื่องความขยันหมั่นเพียร ความอดความทน การเจริญเมตตาภาวนาทุกด้าน ก็เพื่อแก้สิ่งที่มันดื้อด้านภายในจิตใจเรานั่นแล มันคอยทำลายเราด้วยวิธีต่างๆ ทั้งๆ ที่เราเข้าใจว่าเรามาบำเพ็ญความดี แต่มันก็ติดมาด้วยเหมือนกัน เพราะฉะนั้นมีโอกาสเมื่อไรมันต้องทำลายเราจนได้ จึงไม่น่าไว้ใจและไม่ควรนอนใจ

เพราะกิเลสมันแทรกอยู่ในใจนั้น เรามาอยู่ป่ามันก็มาด้วย เพราะมันอยู่ที่จิต เราอยู่ที่ไหนมันก็อยู่ด้วย เราว่าเราไปเรียนธรรมไปบำเพ็ญธรรม กิเลสมันไม่เป็นผู้บำเพ็ญธรรม แต่มันติดแนบไปด้วยกับผู้บำเพ็ญธรรม และไปเป็นข้าศึกต่อผู้บำเพ็ญธรรม แต่ผู้นั้นก็ไม่ทราบว่า กิเลสมันมาทำลายตัวตั้งแต่เมื่อไร เราเลยถือความคิดที่ทำลายตนเองนั้นว่าเป็นของเราเอง เลยติดปัญหาตัวเองในข้อนี้ โดยไม่เข้าใจว่าเป็นปัญหาติดกิเลสตัวเอง ตนเองถูกทำลายก็ยังไม่เข้าใจว่าถูกทำลาย นั่น! เรื่องกิเลสมันสลับซับซ้อนหลายสันพันคมอย่างนี้แล

         การปฏิบัติธรรมต้องใช้สติปัญญา ที่จะทราบความดีความชั่ว ความผิดความถูก อันใดเป็นกิเลส อันใดเป็นธรรม ซึ่งมีอยู่ภายในจิตของเราเอง ความมีวาสนาน่ะ มีทุกคน อยู่ที่ใจนี่ ใครจะไปแข่งกันไม่ได้ ท่านห้ามไม่ให้แข่งอำนาจวาสนากัน แม้แต่สัตว์เดรัจฉาน ท่านก็ไม่ให้ไปดูถูกเหยียดหยามเขาว่าเขาเป็นสัตว์ เพราะการท่องเที่ยวใน “วัฏสงสาร” เปรียบเหมือนกับเราเดินทาง ย่อมมีสูงๆ ต่ำๆ ลุ่มๆ ดอนๆ ขรุขระบ้าง สะดวกบ้าง เป็นธรรมดาอย่างนั้นตลอดไป ในขณะที่เขาเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน ก็คืออยู่ในสถานที่ลุ่มๆ ดอนๆ หรือขรุขระลำบากลำบน แต่ผู้เดินทางก็คือจิต

         พระมหากษัตริย์ที่เรายกย่องว่าท่านเป็นผู้ปกครองบ้านเมือง หรือเป็นพ่อบ้านพ่อเมือง เวลารถที่ท่านเสด็จไปตามถนนหนทางลงไปที่ต่ำ พระมหากษัตริย์ก็ต้องลงไปที่ลุ่มๆ ดอนๆ ก็ต้องไปตามสายทางที่พาให้ไป ขึ้นที่สูงก็ขึ้น ลงที่ต่ำก็ลง แต่พระมหากษัตริย์องค์นั้นแหละลงต่ำ ก็พระมหากษัตริย์ขึ้นสูง ก็พระมหากษัตริย์องค์เก่านั้นแหละ

         นี่จิตเวลามันขรุขระ ก็คือจิตดวงนั้นแหละ มีวาสนาอยู่ภายในตัว แต่ถึงคราวลำบากก็ต้องมีบ้างเป็นธรรมดา เพราะโลกนี้มันมีทั้งดีทั้งชั่วสับปนกันอยู่ เมื่อโลกนี้มีทั้งดีทั้งชั่วปะปนกันอยู่ จิตใจของเรามีทั้งดีทั้งชั่ว จะไม่ให้มันแสดงตัวได้อย่างไร มันต้องแสดง

         ถ้าเราเป็นนักประพฤติปฏิบัติเพื่อรู้เพื่อเข้าใจในสิ่งที่มีอยู่กับตัวนั้น ว่าสิ่งไหนควรแก้ สิ่งไหนควรถอดถอน สิ่งไหนควรบำเพ็ญ เราก็ควรจะยินดีตามความจริงที่แสดงขึ้นมาให้เราได้แก้ไข ให้เราได้ส่งเสริม นี่ชื่อว่า “นักธรรมะ” กล้าเผชิญหน้ากับทุกสิ่งทุกอย่าง จนกระทั่งหาที่เผชิญไม่ได้ หมดภัยหมดเวรทุกสิ่งทุกอย่าง แล้วก็ไม่ทราบว่าจะต่อสู้กับอะไรอีก

         เวลาที่ยังมีข้าศึกอยู่ก็ต้องสู้ สิ่งที่ไม่ดีทั้งหลายนั้นแลคือข้าศึกต่อตัวเรา เวลานี้เรามารบกับกิเลส กิเลสมีอยู่ในตัวเรา เราอย่าหลงมายาของกิเลสที่หลอกเรา จะได้ชื่อว่า “เป็นผู้แสวงหาความฉลาดเพื่อแก้กิเลส อย่าให้กิเลสมาหาอุบายมัดตัวเรา ถูกมัดดีหรือ เราเห็นไหมคนอยู่ในห้องขังดีหรือ ถูกข้อหายังดีมีทางแก้ ถูกเข้าห้องขังนั่นซิหมดท่า!

         กิเลสกับเรามันต่อสู้กันเหมือนผู้ต้องหาเวลานี้ ใจน่ะเหมือนผู้ต้องหา กิเลสก็มี ธรรมก็มี ทางหนึ่งทางช่วย ทางหนึ่งทางย่ำยี ทางไหนที่มีกำลังมากกว่าทางนั้นก็ชนะ แต่เวลานี้เราจะเอาทางไหนเป็นทางชนะ ทางไหนเป็นทางแพ้ กิเลสกับธรรมอยู่ในใจดวงเดียวกัน เราจะพยายามต่อสู้เพื่อชิงชัย ได้หลักเกณฑ์ขึ้นมาจากการประพฤติปฏิบัติของเรา ใจก็มีหลัก เริ่มเชื่อถือได้ มีหลักด้วยธรรม ถ้าใจมีหลักด้วยธรรมใจก็เย็น อยู่ที่ไหนก็เย็นสบาย นี้คือการสร้างบารมีสร้างอย่างนี้

         สติปัญญามีเท่าไร เอ้า ขุดค้นขึ้นมาแก้กิเลสจนกิเลสยอม ขึ้นชื่อว่าสติปัญญาแล้วกิเลสต้องยอม อย่างอื่นมันไม่ยอม จงขุดค้นขึ้นมาพิจารณา ใจเรามันมีเรื่องอยู่ตลอดเวลาถ้าจะพิจารณาดูเรื่อง ไม่ใช่เรื่องอะไรดอก เรื่องกิเลสแทบทั้งนั้นเต็มหัวใจ

         ถ้าเราสร้างสติปัญญาขึ้นมา จะได้มองเห็นเรื่องของกิเลสที่แสดงตัวเป็นข้าศึกต่อเรา อยู่มากน้อยเพียงไร ตลอดกาลมา เราจะได้พยายามแก้ไข พยายามต่อสู้จนได้ชัยชนะเป็นลำดับๆ จนรู้แถวทางของกิเลสที่มันออกในแง่ใดบ้าง พอจะทราบ พอจะดักต่อสู้และทำลายกันได้ พอจะมีวันแพ้บ้างชนะบ้าง ตลอดถึงชนะไปเรื่อยๆ และชนะไปเลยได้ด้วยอำนาจของสติปัญญา ศรัทธา ความเพียร

         อย่าลดละท้อถอย อย่าให้ขาดทุนที่เกิดมาเป็นมนุษย์ได้อัตภาพร่างกายนี้ ก่อนที่เขาจะแตกดับไป อย่าให้แตกสลายทิ้งไปเปล่า อย่างต้นไม้ที่ล้มทิ้งเกลื่อนอยู่เฉยๆ ไม่ได้ทำประโยชน์อะไรเลย ก็เสียทรัพยากรของชาติไปเปล่าๆ นี่ก็เป็นทรัพยากรอันหนึ่งภายในใจเรา ได้แก่ร่างกาย พยายามนำสิ่งนี้มาบำเพ็ญประโยชน์ มีเท่านี้ที่เราจะได้ประโยชน์จากร่างกายอันนี้ ทำเสียตั้งแต่บัดนี้ เวลาถูกมัดแล้วไม่มีทางทำได้ เหมือนกับนักโทษ ถ้าเขาได้ตัดสินแล้วเท่านั้นแหละ ใครจะไปคัดค้านหรือฉุดลากตัวออกมาก็ไม่ได้ ต้องเป็นนักโทษนอนจมปลักอยู่ในตะรางนั่นเอง จนกว่าจะพ้นโทษจึงจะได้รับการปลดปล่อยออกมาเป็นอิสระ

         เวลานี้จิตของเราก็เหมือนกัน กำลังเป็นผู้ต้องหา เอ้า ต่อสู้ หาทนายขึ้นมาพร้อมกัน ด้วยสติปัญญาอุบายวิธีการต่างๆ มีความเพียรสนับสนุน สู้กันจนถึงที่สุด เพราะศาลนี้เป็นศาลสำคัญมาก ศาลต้นก็อยู่ที่นี่ ศาลอุทธรณ์ก็อยู่ที่นี่ ศาลฎีกาก็อยู่ที่นี่

         ศาลต้นคืออะไร คือสู้กิเลสอย่างหยาบๆ สู้ที่นี่ไม่ได้ เอ้า ขึ้นอีกศาลหนึ่ง สติปัญญามีหาอุบายใช้ใหม่เอาจนชนะ ขึ้นถึงศาลสูงสุด ตัดสินกันเด็ดขาดโดยประการทั้งปวง กิเลสอย่างหยาบแก้ด้วยปัญญาอย่างหยาบ กิเลสอย่างกลางแก้ด้วยปัญญาอย่างกลาง กิเลสอย่างละเอียดและละเอียดสุด แก้ด้วยปัญญาอันสูงสุด ได้แก่สติปัญญาอันเก่งกล้าสามารถที่ท่านเรียกว่า “มหาสติ มหาปัญญา”

         เมื่อถึงศาลฎีกาแล้ว ตัดสินกันขาดสะบั้นไปเลยไม่มีอะไรเหลือ ไม่ต้องไปศาลไหนอีก อยู่อย่างสบาย นี่โรงศาลใหญ่เราเห็นไหม?

         อัตภาพร่างกายของเรา ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นเครื่องค้ำประกันเราให้เป็นมนุษย์ขึ้นมา ขันธ์ ๕ เป็นเครื่องค้ำประกันเราให้เป็นมนุษย์ เป็นศาลสถิตยุติธรรมอยู่ที่ตรงนี้ ว่ากันโดยอรรถโดยธรรม ว่ากันโดยเหตุโดยผล พิจารณากันโดยเหตุโดยผล ไม่ต้องย่อท้อต่อกิเลสตัวใด ไม่ต้องตำหนิติเตียนตนว่า เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ อันเป็นการเข้ากับฝ่ายกิเลสให้มันได้ใจ แล้วเอาชนะเราไปโดยที่เราไม่รู้สึกตัว ผลที่เราทำได้ก็คือ ความเสียอกเสียใจ ความทุกข์ ความลำบาก ทรมานใจ นั่นคือเราแพ้!

         จงขุดค้นขึ้นมาพิจารณา คดีมันมีมูลอยู่แล้ว กิเลสมันมีเหตุมีผลของมันมันจึงเกิดขึ้น นี่เรียกว่า “คดีมีมูล” ปัญญา ก็มีเหตุมีผลที่ควรแก้กิเลสได้อยู่แล้ว ให้พิจารณาลงไปที่กิเลสมันหลอกเราว่า ร่างกายนี้เป็นของเราน่ะ “ร่างกายทั้งหมดนี้น่ะ หนังก็เป็นเรา เนื้อก็เป็นเรา กระดูกก็เป็นเรา ผม ขน เล็บ อะไรเป็นเราทั้งนั้น เป็นเรามาตั้งกัปตั้งกัลป์แล้ว” เรายอมแพ้มันตลอด ไม่ว่าศาลไหน ภพใด แพ้มันมาเรื่อยๆ

         คราวนี้เราสู้ในอัตภาพนี้ เรียกว่าศาลต้น ศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกา ก็ว่ากันไปตรงนี้ เอ้า แต่งทนายขึ้นมา สติ ปัญญา ขุดค้นขึ้นมา นั่นแหละคือทนายอันสำคัญๆ ผู้จะตัดสินจริงๆ คือผู้พิพากษา ได้แก่ “ปัญญาอันเฉียบแหลม” ค้นลงไปให้เห็นชัดจริงๆ

         “ไหน คนจริงๆ อยู่ที่ไหน? อัตภาพร่างกายนี้หรือเป็นเรา เราจริงๆ หรือ ถ้าอัตภาพร่างกายนี้แตกลงไปแล้ว เราจะไม่หมดความหมายไปหรือ ร่างกายนี้ไม่ใช่เรานั่นเอง แม้มันจะแตกสลายลงไป เราจึงไม่หมดความหมาย เราจึงยังคือเราอยู่โดยดี เพราะเราแท้ไม่ใช่ร่างกาย”

         ความหมายว่า “เรา” นั้นไม่ได้อยู่กับร่างกาย เรานั้นอยู่กับผู้รู้ ผู้รู้อย่าไปหลง อย่าไปกอบโกยเอาทุกข์ขึ้นมา ทุกข์อยู่ภายในจิต เพราะการยึดถือก็มากพอแล้ว ยังจะไปหลงแบกหามอะไรไปอีก มันก็ยิ่งเป็นทุกข์เพิ่มขึ้นอีก อะไรๆ ก็เป็นเรา เป็นของเราไปเสียหมด กอบโกยเข้ามาเป็นกองทุกข์ นี่แหละคือแพ้กิเลส ตลอดวัน ตลอดภพ ตลอดชาติ จงค้นคว้าลงไปให้เห็นตามความจริงของมัน

         ดูหนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ทุกสิ่งทุกส่วน อันไหนเป็นเราจริงๆ ? ค้นลงไปด้วยปัญญาให้เห็นชัด ดูลักษณะของมันสีสันวรรณะ ดูให้ชัดเจนว่ามันเป็นเราจริงหรือ ความรู้อันนี้กับธรรมชาติที่เป็นรูปเป็นร่าง เป็นลักษณะสีนั้นสีนี้ มันเข้ากันได้หรือ? ถ้าหากเป็น “เรา” จริงๆ ความรู้กับสิ่งเหล่านั้นต้องเป็นสภาพอันเดียวกัน แต่นี่สภาพมันก็ไม่เหมือนกัน ความรู้รู้อยู่ มีเท่านั้น มันไม่มีสีสันวรรณะ แต่ร่างกายนั้นมีทุกสิ่งทุกอย่าง มีทั้งกลิ่นทั้งอะไรเต็มไปหมด เมื่อร่างกายมันแตก เอ้า ถ้าหากเราถือว่าร่างกายนี้เป็นเรา เมื่อร่างกายแตกเราก็หมดความหมาย ฉิบหายวายปวงไปด้วยไม่มีอะไรเหลือ เราจะเอาอะไรไปต่อภพต่อชาติมีอำนาจวาสนาต่อไปข้างหน้าล่ะ เพราะร่างกายมันจบไปแล้ว

         ที่ว่าเรานั่นน่ะ จงพิจารณาแยกให้เห็นชัดเจน ถ้าเราไม่ถือ “ร่างกาย” ว่าเป็น “เรา” เอ้า ร่างกายจะแตกก็แตกไป ตัวเรายังมีอยู่ นี้แลคือตัววาสนา เวทนา ความสุข ความทุกข์ เกิดขึ้น ดับไป เอ้า ดับไป นั่นไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา เห็นชัดเจน นี่แหละคือ “ไตรลักษณ์”

         ที่จะก้าวเข้าสู่ “ชัยสมรภูมิ” ก็คือพิจารณาให้เห็นตามความจริงที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้แล้วนี้โดยถูกต้อง “รูปํ อนิจฺจํ รูปํ อนตฺตา” แน่ะ! ฟังซิ ประกาศกังวานอยู่ทั่วโลกธาตุ เฉพาะอย่างยิ่งทั่วสกลกายของเรา ทั่วขันธ์ ๕ ไม่ว่าขันธ์ใดที่จะปฏิเสธ “อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา” นี้ไม่มีเลย  เต็มไปด้วย “ไตรลักษณ์” ประกาศอยู่ เหมือนกับว่า “อย่าเอื้อมมานะมือน่ะ ตีข้อมือนะ ไม่อายหรือไปยึดเขาว่าเป็นเราเป็นของเราน่ะ เขาไม่ใช่เรา เราไม่ใช่เขา ต่างอันต่างจริง นี่ท่านผู้รู้สอนไว้ ท่านผู้รู้เข้าใจทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว ละได้แล้ว เห็นความสุขอันสมบูรณ์แล้ว ด้วยการละการถอนด้วยสติปัญญาประเภทนี้

         จงพิจารณาตามนี้ อย่าฝืนหลักธรรมของพระพุทธเจ้า อย่าไปยอมตัวเป็นลูกน้องของกิเลสว่า “นั้นเป็นเรา นี้เป็นของเรา” นั่นคือเรื่องของกิเลสที่พาเราให้จมอยู่ตลอดมาไม่เข็ดไม่หลาบบ้างหรือ ? “อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา” ท่านว่าที่ไหน ถ้าไม่ว่าที่ขันธ์ ๕ “รูปํ อนิจฺจํ รูปํ อนตฺตา เวทนา อนิจฺจา เวทนา อนตฺตา สญฺญา อนิจฺจา สญฺญา อนตฺตา สงฺขารา อนิจฺจา สงฺขารา อนตฺตา วิญฺญาณํ อนิจฺจํ วิญฺญาณํ อนตฺตา” นั่น! ฟังซิ คำว่า “สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา” เมื่อถึงขั้นเต็มที่ที่จะปล่อยวางโดยประการทั้งปวงแล้ว ขึ้นชื่อว่า “สมมุติ” ทั้งปวง ไม่ว่าดีไม่ว่าชั่ว เป็น อนตฺตา ทั้งสิ้น นั่น! ท่านว่า “สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งปวงขึ้นชื่อว่าสมมุติ ไม่ว่าภายนอกภายในเป็น อนตฺตา ทั้งสิ้น ไม่ควรไปยึดว่าเป็นเราเป็นของเรา”

         สุดท้ายท่านว่า “ธรรมทั้งปวงไม่ควรถือมั่น สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย” ธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น นี่ถึงขั้นที่ควรปล่อยวางแล้ว ปล่อยวางโดยประการทั้งปวงไม่ให้มีอะไรเหลืออยู่เลย จิตจะได้พ้นจากความกดถ่วงทั้งหลาย เป็น “อิสรจิต” อิสรเสรี นั่นแลคือกองมหาสมบัติ นั้นแลคือหลักใจที่เลิศประเสริฐสุดในโลก

         การสร้างจิตใจ สร้างหลักใจ สร้างด้วยอรรถด้วยธรรม สร้างด้วยความรู้ความฉลาด สร้างด้วยความพากเพียร สร้างด้วยความอุตส่าห์พยายาม สร้างด้วยความเป็น “นักต่อสู้” !

         เราไม่ต้องกลัวตาย ป่าช้ามีอยู่ทุกคนจะกลัวตายไปทำไม กลัวก็ไม่พ้น ความตายเป็นคติธรรมดา เราต้องรู้ ผู้รู้ความตายมีอยู่ ไม่ใช่จะฉิบหายจะตายไปด้วยความตายนั้นเมื่อไร ความรู้เป็นความรู้ ไม่ตาย เราอย่าไปกลัวตาย อันใดที่ปรากฏขึ้นมา พิจารณาให้เห็นชัดตามความจริงของความรู้ที่มีอยู่ สติปัญญาที่มีอยู่ไม่ถอยหลัง ผู้นั้นแลผู้จะปลดเปลื้องถึงความอิสรเสรีได้ เพราะความไม่ท้อถอยที่จะพิจารณาด้วยปัญญา

         นี่เมื่อสร้างให้เต็มที่แล้ว เราจะไปหาวาสนาจากไหนอีก เมื่อเต็มแล้วก็เต็มอย่างนี้เอง! ไม่ได้ตั้งร้านขายกันเหมือนกับสิ่งของทั้งหลาย มีอยู่ภายในใจเป็นมหาสมบัติอยู่นี่ จ่ายไปเท่าใดก็ไม่หมด

         อย่างพระพุทธเจ้า นั่นท่านสั่งสอนโลกสั่งสอนเท่าไร ตั้งสามโลกก็ไม่หมด ธรรมของพระพุทธเจ้าออกมาจากมหาสมบัติ คือธรรมชาติที่บริสุทธิ์ของพระองค์ นั่นแล

         วาระนี้เราพยายามสั่งสอนเรา เอาให้เต็มภูมิ ปลดเปลื้องกันให้เต็มภูมิ ขั้นศาลฎีกาตัดสินกันให้ราบลงไป อย่าให้มีอะไรมาค้านได้อีกเลย กิเลสเอาให้เรียบวุธ ถึงขั้นอิสรเสรีแล้ว พอ ! นั่นแหละ “เมืองพอ” ! เราจะไปหาในโลก หาที่ไหนเมืองพอก็ไม่มี ได้เท่านี้อยากได้เท่านั้น ได้เท่านั้นอยากได้อีกเท่าโน้น อยากได้ตะพึดตะพือเหมือนกับไฟได้เชื้อ เราเคยเห็นว่า ไฟมันพอเชื้อ มีที่ไหน? เอาเชื้อใส่ลงไปซิ ไฟจะแสดงเปลวขึ้นมาท่วมเมฆ ท่านว่า “ไฟ ไม่ได้ดับเพราะการเพิ่มเชื้อ” กิเลสไม่ได้ดับเพราะการกระทำตามความอยาก ได้เท่าไรก็ไม่พอ อยากนั้นอยากนี้ จนกระทั่งวันตายยังไม่พอ นั่นขึ้นชื่อว่า “กิเลส” แล้วไม่มีเมืองพอ

         ความเป็นผู้สิ้นกิเลสแล้วนั้น คือ “เมืองพอ” อยู่ที่ไหนก็พอ ความพอคือความสบายจริง ความบกพร่องความหิวโหยคือการรบกวนตัวเอง อย่างเราหิวข้าวเป็นอย่างไร สบายหรือ หิวหลับหิวนอน สบายหรือ นั่น! เป็นความรบกวนทั้งนั้น ไม่มีอะไรรบกวนนั้นแสนสบาย นี่แหละเมืองพอ

         สร้างจิตให้พอตัว ชื่อว่า “เมืองพอ” พออยู่ที่จิต วาสนา พออยู่ที่จิต เต็มสมบูรณ์อยู่ที่จิต ไม่อยู่ที่อื่น ให้สร้างที่ตรงนี้ นี่แลเป็น “วาสนา” แท้ อยู่ที่ใจของเรา

เอาละ การแสดงธรรมก็เห็นว่าพอสมควร


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก