จิตบริสุทธิ์
วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2519 ความยาว 30.57 นาที
สถานที่ : ศาลาโรงครัว วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)

ค้นหา :

เทศน์โปรดคุณเพาพงา วรรธนะกุล ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๑๙

จิตบริสุทธิ์

 

         ท่านที่ถือการฟังธรรมเป็นเนื้อเป็นหนังจริง ๆ  คือ ท่านนักปฏิบัติ   ซึ่งเคยฟังการอบรมจากครูอาจารย์มา และฟังธรรมด้านปฏิบัติ ไม่ใช่ฟังธรรมทั่วๆ ไป เพราะขณะที่นั่งฟังนั้นเป็นภาคปฏิบัติได้เป็นอย่างดี ยิ่งกว่าการปฏิบัติโดยลำพังตนเอง เพราะเกี่ยวกับธรรมะที่ท่านแสดงเข้าไปสัมผัสภายในใจเป็นลำดับๆ ใจรับทราบ และทราบทั้งความหมายด้วยไปในตัว จิตที่รับกระแสแห่งธรรมที่ท่านแสดงไปไม่ขาดวรรคขาดตอนนั้น ย่อมทำให้จิตลืมความคิดต่างๆ ซึ่งเคยคิดโดยปกติของจิต จนกลายเป็นความเพลินต่อธรรม และเป็นความสงบลงไปได้

         แม้ผู้ที่ยังไม่เคยฟังการอบรมเลย เวลานั่งภาวนาฟังก็เกิดความสงบได้ สำหรับผู้ที่เคยอยู่แล้วนั้นก็เป็นอีกแง่หนึ่ง การนั่งปฏิบัติกรรมฐานในขณะฟังธรรม จึงเป็นภาคปฏิบัติอันดับหนึ่งของการปฏิบัติทั้งหลาย เพราะเราไม่ได้ปรุงได้แต่ง ท่านปรุงท่านแต่งให้เสร็จ เนื้ออรรถเนื้อธรรมท่านแสดงเข้าไปสัมผัส ซึมซาบถึงจิตใจให้เกิดความซาบซึ้ง ให้เกิดความสงบเย็นใจลงโดยลำดับ ถ้าจิตเกี่ยวกับสมาธิก็สงบได้อย่างรวดเร็ว และง่ายกว่าที่เราบังคับบัญชาโดยลำพังที่ภาวนาเพียงคนเดียว ถ้าเป็นด้านปัญญา ท่านอธิบายไปในแง่ใด ปัญญาก็ตามท่าน คือขยับตามท่านเรื่อยๆ เพลินไปตามนั้น เหมือนกับท่านพาบุกเบิกและท่านบุกเบิกให้ เราก็ติดต้อยตามหลังท่านไป เพราะฉะนั้นครั้งพุทธกาลเวลาพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม พุทธบริษัทจึงสำเร็จมรรคผลกันมาก การแสดงธรรมจึงเป็นพื้นฐานมาโดยลำดับ จนถึงพระปฏิบัติในสมัยปัจจุบันที่เกี่ยวกับการฟังเทศน์

         ครั้งพุทธกาลฟังเทศน์จากพระพุทธเจ้า เพราะคำว่า “ศาสดา” แล้วก็พร้อมหมดทุกสิ่งทุกอย่าง ผู้ปฏิบัติและฟังธรรมอยู่ในขณะนั้น เป็นผู้มีภูมิจิตภูมิธรรมเหลื่อมล้ำต่ำสูงต่างกัน การฟังเทศน์จึงต้องได้รับประโยชน์ในขณะที่ฟังต่างๆ กันไป บางท่านที่มีอุปนิสัยสามารถที่ท่านเรียกว่า “อุคฆฏิตัญญู วิปจิตัญญู” คือ ผู้ที่จะสามารถรู้ได้อย่างรวดเร็ว และรองกันลงมา เวลาฟังธรรมจากพระโอษฐ์ ท่านก็สามารถบรรลุธรรมได้ในขณะที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง แม้ในขณะนั้นยังไม่สำเร็จหรือยังไม่ผ่าน ก็เป็นการเขยิบขั้นภูมิขึ้นไป ฟังครั้งนี้ขยับขึ้นไป ฟังครั้งนั้นขยับขึ้นไป หลายครั้งหลายหนก็ทะลุไปได้

         พระมีจำนวนเท่าไรที่ฟังเทศน์นั้น ล้วนแต่ผู้ปฏิบัติผู้มุ่งต่ออรรถต่อธรรมอย่างยิ่งอยู่แล้ว ไม่เหมือนกับสมัยปัจจุบันเรานี้ ซึ่งผู้เทศน์ก็รู้สึกจะเทศน์พอเป็นพิธี ผู้ฟังก็ฟังพอเป็นพิธี จึงกลายเป็นเทศน์เป็นพิธี ฟังเป็นพิธี ศาสนาเป็นพิธี ธรรมจึงกลายเป็นโลกไปเสีย หรือกลายเป็น “ธรรมพิธี” ไปตามโลกที่พาให้เป็นไป

         ทางภาคปฏิบัติ ผู้ที่จะแสดงอรรถธรรมตามหลักความจริงที่ได้ปฏิบัติและรู้เห็นมานั้นให้ฟังก็มีจำนวนน้อย ไม่เหมือนครั้งพุทธกาลซึ่งมีสาวกมากมายที่ได้สำเร็จไปโดยสมบูรณ์แล้ว การฟังธรรมจากสาวกทั้งหลายในครั้งพุทธกาล จึงฟังได้อย่างสะดวกและเป็นอรรถเป็นธรรมจริงๆ เพราะผู้รู้ธรรมมีจำนวนมาก และสถานที่ที่บำเพ็ญก็สะดวกสบาย เป็นในป่าในเขาในที่เงียบสงัด

         สมัยทุกวันนี้ ผู้ปฏิบัติที่จะรู้จริงเห็นจริงดังครั้งพุทธกาล ก็มีจำนวนน้อย นอกจากนั้นผู้ปฏิบัติที่สนใจต่ออรรถต่อธรรมอย่างจริงจังเหมือนในครั้งนั้น ก็มีจำนวนน้อยอีกด้วย แต่อย่างไรก็ตามผู้มุ่งต่ออรรถต่อธรรม ฟังอรรถฟังธรรมจากการปฏิบัติของครูอาจารย์ที่ได้ปฏิบัติและรู้เห็นมาด้วยดีนั้น ย่อมมีผลประจักษ์โดยลำดับ ตามกำลังความสามารถของผู้ฟังเช่นเดียวกับครั้งพุทธกาล

         จะเห็นได้ในขณะที่ท่านอาจารย์มั่นแสดง เรากำลังปฏิบัติอยู่ในจุดใด หรือมีข้อข้องใจอยู่ในจุดใด ขณะที่ฟังไปโดยลำดับก็เพลินไป เป็นผลเป็นประโยชน์ในขณะนั้นโดยลำดับ พอการแสดงธรรมจวนจะถึงจุดนั้น จิตจะจ่อทันที เพราะนั้นเป็นปัญหาที่เรายังไม่สามารถจะแก้ให้ทะลุปรุโปร่งไปได้โดยลำพังตัวเอง ขณะที่ฟังก็รอท่าน พอถึงจุดนั้นท่านจะว่าอย่างไร อุบายท่านจะแก้จุดนี้ท่านจะแก้อย่างไร จิตจ่ออยู่ตรงนั้น

         พอท่านอธิบายไปถึงจุดนั้น ท่านก็แสดงผ่านไปด้วยอุบายที่ท่านเคยรู้เคยเห็นมาแล้ว เราก็ได้คติขึ้นมาทันที คือเข้าใจในจุดนั้นทันที เป็นอันว่าท่านช่วยแก้ในจุดนี้ผ่านไปได้จุดหนึ่ง จากนั้นก็ปฏิบัติโดยลำดับ ตามธรรมดาของชั้นปัญญานี้ จะมีความข้องใจในธรรมแง่ต่างๆ อยู่เรื่อย ความข้องใจอยู่ที่จุดไหน นั้นแลคือจุดที่ทำงาน ซึ่งปัญญาจะต้องพินิจพิจารณาคลี่คลายปัญหาธรรมอยู่ที่จุดนั้น จนกว่าจะเข้าใจและผ่านไปได้ ขณะฟังธรรมเป็นการแก้กิเลสไปในตัวของผู้ปฏิบัติ ได้มากได้น้อยหากได้ไปเรื่อยๆ ครั้งนั้นครั้งนี้ หลายครั้งหลายหนก็ผ่านไปได้เช่นเดียวกับครั้งพุทธกาล แม้จะช้าเร็วต่างกันอยู่บ้าง ก็ขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้ปฏิบัติที่จะรู้จะเห็น

         ในครั้งพุทธกาลท่านมุ่งต่อการถอดถอนกิเลสโดยฝ่ายเดียว หรือ จะพูดเป็นเปอร์เซ็นต์ก็เรียกว่า ๙๐% เป็นผู้มุ่งปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้น เรื่องขนบธรรมเนียมประเพณี เช่น บวชพอเป็นพิธีหรืออะไรอย่างนี้ รู้สึกจะไม่ค่อยมีในครั้งนั้น ต่อมาก็ค่อยเลือนราง ค่อยจางไปเป็นธรรมดา

         การฟังเทศน์ทางภาคปฏิบัติ คือนั่งฟังอยู่ในขณะที่ท่านกำลังแสดงธรรมนั้น มันเป็นความเพลิดเพลินภายในจิตใจของผู้ฟังแต่ละท่านๆ ที่ต่างองค์หรือต่างคนต่างสนใจ จึงไม่มีกำหนดไม่สำคัญกับเวล่ำเวลาว่า ท่านเทศน์นานหรือไม่นาน ๒-๓-๔ ชั่วโมง ก็ไม่ได้คำนึงถึง มีแต่สติกับความรู้กับธรรม ที่สัมผัสในขณะที่ท่านเทศน์เท่านั้น มีเท่านั้น! เรื่องเวล่ำเวลาไม่สนใจ แม้ที่สุดร่างกายไม่ทราบว่ามันเจ็บมันปวดหรือไม่ ก็มันไม่ปรากฏนี่ มีแต่ความรู้เด่นในขณะที่ฟัง ท่านว่าอะไรความรู้ก็ทราบความหมายไปโดยลำดับๆ ความทราบความหมายแห่งธรรมทั้งหลายนั้นแล เป็นความเพลิดเพลินของจิตในขณะฟัง นอกจากนั้นจุดใดที่เรากำลังสงสัย เวลาท่านเทศน์ไปในจุดนั้น ก็เกิดความเข้าใจขึ้นมา นี่เรียกว่าได้ผลจากการฟังธรรมเป็นพิเศษ นอกจากได้ผลเป็นความสงบเย็นใจ หรือได้ผลเป็นความคล่องแคล่วของจิตที่ขยับตามท่านด้วยปัญญา ยังได้ผลในขณะที่เรายังสงสัยอยู่ด้วย พอท่านแสดงผ่านไป เราก็เข้าใจและผ่านไปได้จากจุดนั้น จากนั้นก็ออกไปบำเพ็ญอยู่โดยลำพังตนเอง

         เมื่อได้รับการอบรมจากท่านแล้ว ต่างองค์ต่างหาที่หลบซ่อน บำเพ็ญโดยลำพัง ผู้ใดอยู่ในภูมิใดก็เร่งในภูมินั้น เช่น ภูมิสมาธิ ที่ยังไม่มีความแน่นหนามั่นคงพอ ก็เร่งเข้า ส่วนปัญญาพิจารณาไปตามกาลที่เห็นสมควรโดยลำดับเช่นเดียวกัน ผู้อยู่ในขั้นปัญญาล้วนๆ ก็พิจารณาในด้านปัญญา ฟังเทศน์ก็ด้วยปัญญาติดตามท่าน ซึ่งเป็นการทำงานเพื่อการแก้กิเลส การถอดถอนกิเลสในขณะฟังธรรม ฟังเทศน์ในหลักธรรมชาติ แก้กิเลสไปในตัวตามขณะที่พิจารณาไป เป็นความเพลิดเพลินในงานของตน ผลของงานที่เกิดขึ้นแต่ละชิ้นละอันนี้ เกิดขึ้นจากการแก้กิเลสได้ทั้งนั้น

         ความเพลิดเพลินในธรรม จึงเป็นความเพลิดเพลินที่แปลกประหลาด เพลินไม่อิ่มไม่พอ เพลินแล้วไม่มีความโศกเศร้าเคลือบแฝงมาตามหลังเหมือนกับความเพลินในสิ่งทั้งหลาย! จิตใจถ้าฟังธรรมทางด้านปฏิบัติเข้าใจ ก็แสดงว่าฐานของจิตมีพอสมควรแล้ว ตามธรรมดาถ้าไม่มีฐานของจิต ไม่มีอะไรเลย ฟังธรรมด้านปฏิบัติจะเข้าใจได้ยาก

         แม้แต่อาจารย์เองก็เคยฟังเทศน์ท่านอาจารย์มั่น เมื่อไปถึงท่านทีแรกฟังไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไรเลย เวลาท่านเทศน์ถึงเรื่องธาตุ เรื่องขันธ์ เรื่องกิเลส การถอดถอนกิเลสด้วยวิธีใดๆ อาการใด ฟังไม่เข้าใจ เพราะฐานของจิตเราไม่มี มีแต่ความฟุ้งซ่านรำคาญโดยถ่ายเดียว แต่เมื่อจิตได้รับการอบรมและฟังเทศน์ไปโดยลำดับ จนใจพอมีความสงบบ้างแล้ว จึงเกิดความเข้าใจและซาบซึ้ง กระทั่งจิตมีฐานแห่งความสงบแล้ว ยิ่งไพเราะเพราะพริ้ง ซาบซึ้งจับใจตลอดเวลาในการฟัง จากนั้นก็ยิ่งมีความดูดดื่ม หิวกระหายอยากฟังท่านเทศน์อยู่ตลอดเวลา

         ท่านเทศน์ละเอียดลออ และเทศน์ธรรมขั้นสูงเท่าไร แม้ตนจะยังไม่เข้าใจในธรรมขั้นนั้น แต่จิตก็เพลิดเพลินไปตาม ประหนึ่งมือจะเอื้อมถึงพระนิพพานอยู่แล้วในขณะที่ท่านเทศน์ เป็นความเพลิดเพลิน วาดภาพพจน์ไปตาม รู้สึกว่ารื่นเริงภายในจิตใจอย่างบอกไม่ถูก พอท่านเทศน์จบลงก็เหมือนเอากระทะมาครอบหัวนี่แหละ มองไม่เห็นอรรถธรรมที่ท่านแสดงไปแล้วนั่นเลย พยายามบึกบึนตะเกียกตะกายไปตามกำลังความสามารถของตน นี่เวลาฟังธรรมฝ่ายปฏิบัติไม่เข้าใจ มันเป็นอย่างนั้น

         ใจคนเรา เวลาโง่มันก็เหมือนจะไม่ฉลาด เวลามันหลงก็เหมือนจะไม่รู้เลย เวลาทุกข์ก็เหมือนจะไม่มีสุขอยู่ภายในตัวเลย คนทั้งคน จิตทั้งดวง ไม่มีสาระอะไรเลยเหมือนกับถ่านเพลิง ถ้าพูดถึงร้อนมันก็ร้อนเหมือนถ่านเพลิง พูดถึงดำมันก็ดำเหมือนถ่านเพลิงที่ไม่มีไฟ แต่เพราะการชำระการบำเพ็ญอยู่โดยสม่ำเสมอ และค่อยขัดเกลากันไปเรื่อยๆ ใจค่อยผ่องใสขึ้นมาๆ ความรู้ก็เกิดขึ้น ความฉลาดก็มาพร้อมกัน  ความสุขก็มาพร้อมกันกับความผ่องใส ใจก็เบิกบานยิ้มแย้มแจ่มใส มองดูใจเรารู้สึกว่ามีคุณค่าขึ้นโดยลำดับ จนกลายเป็นความอัศจรรย์ขึ้นภายในจิตใจของตนก็มี

         เมื่อปฏิบัติเข้ามากๆ อะไรๆ ก็พิจารณาไปหมด เรื่องโลกธาตุกว้างแคบมากน้อยเพียงไร พิจารณาไปหมด ปล่อยวางไปโดยลำดับด้วยการเข้าใจแล้ว ๆ ผลสุดท้ายแม้แต่เรื่องธาตุเรื่องขันธ์ก็สักแต่ว่าธาตุว่าขันธ์ พิจารณาลงไป อะไรก็เป็นชิ้นเป็นอันเช่นเดียวกับสิ่งทั้งหลายที่อยู่ภายนอกกายเรา มันตกอยู่ในกฎแห่ง “ไตรลักษณ์” เช่นเดียวกัน จนเข้าใจเรื่องภายใน คือส่วนร่างกายได้อย่างชัดเจนเหมือนสิ่งภายนอก ใจก็ยิ่งมีความสว่างไสว เลยจากผ่องใสขึ้นไปเป็นความสว่างไสว

         ร่างกายเราแต่ก่อนเหมือนกับภูเขาทึบทั้งลูกนั้นแหละ แต่เวลาจิตใจมีความผ่องใส มีความสว่างไสวแล้ว มันแทงทะลุไปได้หมด ร่างกายเหมือนไม่มี มีก็เป็นเงาๆ เท่านั้น เพราะอำนาจแห่งความรู้ อำนาจแห่งความสว่างที่ปรากฏขึ้นอย่างเด่นชัดภายในใจเป็นประจำอยู่ภายในร่างอันนี้ มองอะไรก็สว่างไปหมดเพราะจิตสว่าง นั่นแหละตอนมีความอัศจรรย์ นั่งอยู่ที่ไหนก็ภูมิใจตัวเอง อัศจรรย์ตัวเอง คืออัศจรรย์จิตดวงนั้นว่ามีจิตดวงเดียวนี้แหละอัศจรรย์ และเด่นอยู่ในร่างนี้

         ในขั้นเริ่มแรกเป็นอย่างหนึ่ง แล้วต่อมา ๆ เป็นอีกอย่างหนึ่ง ใจค่อยเปลี่ยนสภาพมาเรื่อยๆ ด้วยการซักฟอก การปฏิบัติ การบำรุงรักษา จนกระทั่งถึงขั้นมีความสว่างไสว เกิดความอัศจรรย์ภายในตัวเอง!

         งานที่จิตขั้นนี้พิจารณาก็มีแต่เรื่องขันธ์เท่านั้น ไม่มีเรื่องอื่นใด แม้แต่รูปซึ่งเคยพิจารณามาจริงๆ เป็นการเป็นงานแต่ก่อนก็ปล่อยวาง พอถึงขั้นปล่อยแล้ว รูปขันธ์ใจก็ปล่อยวาง เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ขันธ์แต่ละอย่าง ๆ ก็ปล่อยวางด้วยการพิจารณารู้ได้ เช่นเดียวกับรูปขันธ์หรือสภาวธรรมทั่วไป ไม่ได้นอกเหนือไปจากวิสัยของสติปัญญา ที่สามารถอาจรู้ได้ด้วยการบำเพ็ญอยู่เสมอนี้เลย

         รูปขันธ์รู้ได้ปล่อยได้ เวทนาขันธ์ก็รู้ได้ เวทนาขันธ์นี่หมายถึง เวทนาที่เกิดขึ้นภายในขันธ์ก็เข้าใจ สัญญาขันธ์ก็เข้าใจ สังขารขันธ์ก็เข้าใจ ขันธ์เหล่านี้จะละเอียดโดยลำดับ จนกระทั่งรวมเข้าไปสู่จิตอันเดียว รูปอันหยาบก็รู้เท่า เวทนาอันหยาบเกี่ยวกับร่างกายก็รู้เท่า สัญญาที่หมายหยาบๆ ก็รู้เท่า สังขารที่เกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ก็รู้เท่า วิญญาณรับทราบสิ่งภายนอกก็รู้เท่า รู้เท่าโดยลำดับ อาการของขันธ์อาการของกิเลสที่เกี่ยวเนื่องกันก็หดตัวเข้าไป เหลือแต่จิตดวงเดียว

         จิตดวงเดียวก็ต้องอาศัยอารมณ์ คือสังขารความปรุง สัญญาที่แย็บออกมาหมายนั่นแหละเป็นงานของจิตในขั้นนี้ การพิจารณาก็ต้องหันเข้าไปสู่จิตดวงที่ผ่องใส ดวงที่สง่าผ่าเผยนั้นแหละ สังเกตสอดรู้อาการของจิตที่เกิดขึ้นแล้วดับไป ปรุงดี ปรุงชั่ว ปานกลาง ก็ดับไปทั้งสิ้น ดับไปแล้วไปอยู่ที่ไหน?

         นี่คือความค้นคว้า ความทดสอบ หรือความสังเกตของจิต เพื่อหาต้นเหตุของมันว่าเกิดที่ตรงไหน มีเท่านี้ที่เป็นงานของจิตขั้นนี้! นอกนั้นจิตรู้เท่าปล่อยวางหมดแล้ว ไม่มีความหมายอะไรทั้งสิ้น เพราะจิตเข้าใจแล้วและปล่อยวางแล้ว จะเอาความหมายมาจากไหน จิตเป็นผู้ให้ความหมายว่านั้นดีนี้ชั่ว เมื่อจิตทราบชัดทั้งสิ่งนั้นแหละ ทั้งความหมายที่หลอกลวงตัวเองแล้ว จิตย่อมถอยตัวเข้ามา แม้ที่สุดในเรื่องของขันธ์ห้าภายในตัว ก็ยังถอยและปล่อยวางได้ เหลือแต่ความรู้ที่ผ่องใส ที่สว่างไสวอยู่ภายในใจ กายทั้งกายก็เหมือนไม่มี มีแต่ความรู้นี้ครอบไปหมด และสว่างไสวอยู่ภายในทั้งกลางวันกลางคืน ยืน เดิน นั่ง นอน ทุกอิริยาบถมีความสว่างไสวอยู่เป็นประจำ

         แต่ความสว่างไสวอันนี้ก็เคยอธิบายให้ฟังแล้ว เราไม่ทราบว่าความสว่างอันนี้คืออะไร เพราะไม่เคยเห็นไม่เคยพบตั้งแต่วันเกิดมา ว่ายังงั้นเลย! มันถึงใจดี แล้วทำไมจะไม่หลงไม่ติดคนเรา! ทำไมจะไม่ชอบ ทำไมจะไม่รักไม่สงวน ความไม่เคยเห็นไม่เคยรู้ทำไมจะไม่ว่าเป็นของมีค่ามีราคา ทำไมจะไม่ว่าเป็นของอัศจรรย์ ต้องว่าด้วยกันทั้งนั้นแล! เพราะไม่เคยเห็นอันใดที่จะอัศจรรย์ยิ่งกว่าธรรมชาติอันนี้ ในบรรดาที่เคยผ่านมาแล้ว เพราะฉะนั้นจิตจึงติดได้

         แต่เมื่อติดไปนานๆ เรื่องของโลกมันเป็นอนิจจัง เพราะอันนี้เป็นสมมุตินี่ สมมุติมันก็ต้องอยู่ในกฎ “อนิจจัง” เมื่ออยู่ไปนานๆ มองกันไปนานๆ ชมกันไปนาน ๆ รักสงวนกันไปนานๆ ชอบใจกันไปนานๆ สังเกตกันไปนานๆ มันก็ทำให้มีแง่คิดได้!

         สิ่งที่จะให้มีแง่คิด ก็คือความรักสงวน ไม่ให้มีอะไรมาแตะต้องจิตดวงนี้เลย บางทียังมีปรากฏเป็นความเฉาๆ ขึ้นมานิดๆ ให้รู้ ทำให้สงสัยว่าจิตนี่มันเฉาขึ้นมาได้อย่างไร? ทำให้เป็นข้อคิดข้อกังวลขึ้นมาตามขั้นของจิต แม้จะไม่มีมากก็ตาม แต่นี่ก็ชิงตำหนิ และเป็นต้นเหตุให้เกิดทุกขเวทนาอย่างละเอียดขึ้นมาจากจุดที่เฉานิดๆ นี่ก็เป็นเวทนาของจิต ไม่ใช่เวทนาของกาย!

         อยู่เฉยๆ ร่างกายไม่เจ็บไม่ป่วย เวทนาของจิตแสดงเป็นความสุขรื่นเริงภายในจิตดวงนี้ขึ้นมา ก็เป็นสุขเวทนา เวลาจิตมีความเศร้าหมองบ้างเล็กน้อยตามขั้นละเอียดของจิต ก็เกิดความไม่สบายขึ้นมา ความไม่สบายแม้ไม่มากก็เป็นทุกขเวทนาอันละเอียดขึ้นมาอยู่นั่นแล ถ้าเราสังเกตด้วยสติปัญญาก็ทราบ นี่เป็นสมติที่จะต้องย้อนกลับมาพิจารณาจุดนี้ ว่าทำไมมันถึงเฉา ทั้งๆ ที่พยายามรักษาอยู่ทำไมถึงเฉาได้? เป็นเพราะเหตุใดถึงเฉา ธรรมชาตินี้เป็นที่แน่ใจแล้วหรือ? ว่าใสแล้วทำไมเศร้าได้? เพียงปรากฏนิดหนึ่งก็ให้เห็นประจักษ์หลักฐานแสดงว่านี้ไม่ใช่ของเที่ยง ไม่ใช่ของแน่นอนพอให้ตายใจได้

         นั่นแหละ ! ทีนี้สติปัญญาถึงจะปักเข้าไปตรงนั้นว่านี่มันเป็นอะไรแน่? มันถึงเป็นอย่างนี้ ทีนี้ก็แสดงว่าไม่แน่ใจ หรือไม่ไว้ใจกับความสว่างไสว ความอัศจรรย์อันนั้น จึงต้องพิสูจน์อีกทีหนึ่ง เพราะมันไม่มีที่จะพิจารณา เนื่องจากมันหมดสิ่งที่ควรจะพิจารณา

         ทีนี้พอจ่อสติปัญญาเข้าไปตรงนั้น กำหนดว่ามันเป็นอะไรต่ออะไรกันแน่ กำหนดดูเข้าไป ๆ การดูของสติปัญญาขั้นนี้ ดูจริงๆ ไม่ได้มีความเผลอ ความพลั้งพลาดไปไหนเลย ดูอะไรเป็นการเป็นงานจริงๆ ทำเป็นทำ กำหนดอะไรเป็นอันนั้นเต็มไปด้วยความจงใจ เต็มไปด้วยสติปัญญารอบตัวอยู่ตลอดเวลา เมื่อนำมาใช้ในจุดนี้ทำไมจะไม่ได้ผลอย่างรวดเร็ว เพราะเป็นขั้นของสติปัญญาอัตโนมัติแล้ว ใช้งานในทางใดได้ผลอย่างรวดเร็วทันใจ เมื่อใช้งานในจุดนี้ทำไมจะไม่ได้ผล!

         ประการสำคัญก็คือ ความไม่แน่ใจที่เกิดขึ้น ทำให้สงสัย จึงต้องใช้สติปัญญาพิจารณาจดจ่อดู สังเกตดูมันเป็นอะไรแน่อันนี้? นี่แสดงว่าจุดนั้นเป็นเป้าหมายแห่งการพิจารณาขึ้นแล้ว หรือเป็นสภาวธรรมอันหนึ่งที่จะต้องพิจารณาเช่นเดียวกับสภาวธรรมทั่วไป พอพิจารณาลงไปเท่านั้นไม่นานอะไรเลย เพราะมันคอยจะทลายไปอยู่แล้ว เป็นแต่เพียงว่าเราโง่เฉยๆ พอกำหนดเข้าไป ก็ไอ้เรื่องที่ว่าเป็นอัศจรรย์นั้นมันก็สลายลงไปทันที คำว่า “อัศจรรย์” อันนั้นก็หมดไป ! ความที่ว่า “เศร้าหมอง,ผ่องใส” ก็หมดลงไปพร้อมๆ กันกับธรรมชาตินั้นที่สลายตัวลงไป นั่นคือขั้นสุดยอดแห่งสมมุติ ขั้นสุดยอดแห่งกิเลสแห่งอาสวะ ท่านเรียกว่า “อวิชชา”

         นี้แลคือ “อวิชชา” แท้อยู่ตรงนี้เอง! ไม่มีอันใดเป็น “อวิชชา” ยิ่งกว่าอันนี้ เป็นของละเอียดลออมากทีเดียว จนถึงขนาดต้องหลงมันไปได้ ลืมตัวไปได้ เผลอไปได้ ยึดมั่นมันได้แบบหน้าด้านไม่รู้จักอายตัวเองเลย ทั้งที่ว่าตนฉลาดเฉลียวปราดเปรียว

         เมื่อความอัศจรรย์ของสมมุติอันนี้สลายลงไปแล้ว สิ่งที่เป็นวิมุตติ ไม่ต้องถามว่าจะอัศจรรย์เหนืออันนี้สักเท่าใด!

         ศาสดาของโลกเป็นผู้เหนือโลก เป็นผู้ประเสริฐสุด พระสาวกอรหัตอรหันต์ท่านประเสริฐสุด เพราะจิตดวงที่บริสุทธิ์ซึ่งพ้นจากเครื่องหุ้มห่อ ที่มีความสว่างไสวหรือความผ่องใสนี้เป็นตัวการสำคัญ

         เมื่ออันนี้สลายไปแล้ว ธรรมชาติที่อัศจรรย์เหนือโลกสมมุติก็แสดงตัวขึ้นมาอย่างเต็มดวง นั้นแลความประเสริฐของท่าน ท่านประเสริฐที่ตรงนั้น นั้นจึงเป็นความประเสริฐแท้ โดยไม่ต้องระวังรักษา ไม่ต้องเป็นกังวล ไม่ต้องปิด ไม่ต้องสงวน ไม่ต้องรักษา ไม่เหมือนความสว่างไสวซึ่งเปรียบเหมือนมูตรคูถนี้ ซึ่งต้องรักษา เป็นความกังวลอยู่ตลอดเวลา คือกังวลตามขั้นของจิต แม้ไม่มากก็มีให้ปรากฏ สุขเวทนาก็มีอยู่ที่นั่น เพราะมันเป็นขั้นของสมมุติ สมมุติกับสมมุติก็เข้าถึงกันได้ พอสมมุติอันละเอียดนี้สลายลงไปหมดแล้วก็ไม่มีอะไรปรากฏ!

         ฉะนั้นพระอรหันต์ท่านจะเสวย สุขเวทนา ทุกขเวทนา และ อุเบกขาเวทนาในจิตเหมือนอย่างที่เคยเสวยมาแล้วในคราวยังไม่สิ้นกิเลสอาสวะนั้นเป็นไปไม่ได้ ทั้งนี้เพราะธรรมชาติที่เหนือสมมุติทั้งปวงนั้น เป็นเครื่องยืนยันในตัวเอง เวทนาเหล่านี้เป็นเรื่องของ “สมมุติ” ทั้งมวล เมื่อจิตดวงนั้นพ้นจากสมมุติแล้ว จะเป็นเวทนาเหมือนอย่างจิตทั่วๆ ไปไม่ได้ และมีข้อหนึ่งที่แสดงในหลักธรรมว่า “นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ” พระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง ความสุขของพระนิพพานนั้น ไม่ใช่ความสุขอย่างโลกๆ ซึ่งเกิดแล้วดับไป เกิดแล้วหายไป แต่เป็นความสุขที่มีอยู่ดั้งเดิมกับธรรมชาติแห่งจิตที่บริสุทธิ์แล้วเท่านั้น จึงไม่จัดว่าเป็น “เวทนา” ถ้าเป็นเวทนาก็ต้องเป็น “อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา” ไปด้วยกัน อันนั้นไม่เป็นเวทนา จึงไม่มี อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ใดๆ เข้าไปเกี่ยวข้องได้ จิตที่พ้นจากสมมุติเป็นอย่างนี้

         นี่แหละที่พระพุทธเจ้าท่านประเสริฐ ท่านประเสริฐในที่นี้เอง แล้วนำธรรมออกจากธรรมชาตินี้มาสั่งสอนโลก ไม่ได้ออกจากสิ่งใด ออกจากความบริสุทธิ์นี้เท่านั้น การแสดงธรรมออกมาจึงเป็นธรรมของจริงเต็มส่วน ถ้าพูดเป็นเปอร์เซ็นต์ก็ร้อยเปอร์เซ็นต์เลย แสดงธรรมออกสอนโลกต้องเป็นความจริงร้อยเปอร์เซ็นต์ นี่แลผู้รู้จริงเห็นจริงนำธรรมออกมาสอนโลก จะผิดที่ตรงไหน ตนเป็นผู้ปฏิบัติมาเอง ทั้งวิธีปฏิบัติก็รู้ และผลก็ได้รับอย่างประจักษ์ใจ เมื่อนำออกทั้งเหตุทั้งผลมาแสดงแก่โลก จะผิดไปไหน

         ที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนโลกได้ผลเป็นที่พึงพอใจมากมาย ยิ่งกว่าพระสาวกทั้งหลาย เป็นเพราะเหตุนี้แล เพราะพระพุทธเจ้าเป็นพุทธวิสัย มีอุบายวิธีต่างๆ ที่สั่งสอนโลกได้ลึกซึ้งกว้างขวางมากมาย

         ส่วนสาวกท่านก็มีความสามารถรองลงไปจากพระพุทธเจ้า เพราะรู้จริง เห็นจริงเหมือนกัน เป็นแต่เพียงไม่กว้างขวางเหมือนพระพุทธเจ้า เพราะเป็น “สาวกวิสัย” เป็นวิสัยของสาวก

         ฝ่ายหนึ่งเป็นวิสัยของพระพุทธเจ้า ต้องผิดกันเป็นธรรมดา แม้จะถึงความบริสุทธิ์ด้วยกันก็ตาม ความสามารถที่จะนำธรรมในแง่ต่างๆ ออกมาสอนโลก ต้องพร้อมด้วยสติปัญญา ความฉลาดสามารถตามวิสัยของผู้นั้นๆ ตลอดถึงครูอาจารย์ของเรา

         ยกตัวอย่างเช่น ท่านอาจารย์มั่น เป็นต้น การแสดงธรรมทางด้านปฏิบัติ ไม่มีใครเทียบเท่าที่ผ่านมา ความฉลาดแหลมคม การแสดงออกในแง่ต่างๆ ของธรรมทันกับผู้ฟัง คือทันกับกิเลสของผู้มาศึกษาอบรมนั่นแล เพราะฉะนั้นกิเลสจึงต้องหลุดลอยไปเรื่อยๆ จากการสดับฟังกับท่าน นี่! การแสดงออกผิดกันอย่างนี้ เพราะผู้หนึ่งรู้จริงๆ เห็นจริงๆ พูดออกมาจากความจริง ผู้ฟังก็เข้าใจได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย เข้าใจตามหลักความจริงไม่ผิดเพี้ยน ไม่ใช่แสดงแบบงูๆ ปลาๆ เหมือนกับพวกเราทั้งหลายสั่งสอนกัน เจ้าของปฏิบัติมาพอลุ่มๆ ดอนๆ งูๆ ปลาๆ สั่งสอนคนอื่นจะเอาจริงเอาจังมาจากไหน เพราะเจ้าของหาความจริงไม่ได้ สั่งสอนคนก็จริงไม่ได้ซี เลยต้องเอางูๆ ปลาๆ ออกช่วยพอรอดตัว ผู้ฟังก็ฟัง งูๆ ปลาๆ  รู้ก็งูๆ ปลาๆ เลยมีแต่ “งูๆ ปลาๆ” เต็มศาสนาเต็มผู้ปฏิบัติศาสนา

         เพราะฉะนั้นผู้เริ่มปฏิบัติทีแรก จะงูจะปลา ก็งูก็ปลาไปก่อน แต่เอาให้เห็นชัด ปลาก็ปลาจริงประจักษ์กับใจของเราซิ คือจะเป็นธรรมขั้นใดก็ให้รู้ประจักษ์กับใจเรา เพราะธรรมเป็น “สนฺทิฏฺฐิโก” พระพุทธเจ้าไม่ทรงผูกขาด ผู้ปฏิบัติจะพึงรู้เองเห็นเองด้วยกันทุกคน ไม่ว่าหญิง ไม่ว่าชาย เพศใด วัยใดก็ตาม เพราะ “สัจธรรม” มีเหมือนกันนี่ ไม่นิยมว่านักบวชหรือฆราวาส ว่าหญิงว่าชาย ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติธรรมเป็นของกลาง ส่วนเพศนั้นท่านพูดไว้ตามขั้นตามภูมิ

         เพื่อประกาศว่า ผู้นั้นเป็นเพศ “นักรบ” พูดง่ายๆ “เพศนักบวช” เว้นจากกิจการบ้านเมืองทั้งหมดแล้วไม่ไปเกี่ยวข้อง มีหน้าที่ที่จะปฏิบัติธรรมเพื่อความรู้แจ้งเห็นจริงโดยถ่ายเดียว แต่เมื่อเข้าสงครามแล้ว ไปนอนเฉยๆ ก็ให้เขาเอาปืนแหย่เอาตายได้เหมือนกัน นี่นักบวชแล้วไม่ตั้งใจประพฤติปฏิบัติ จะว่าเข้าสงครามอะไรกัน! ให้กิเลสมันแทงเอา ๆ ตายพินาศฉิบหาย มันจะผิดแปลกอะไรกับฆราวาสผู้ไม่สนใจธรรม ดีไม่ดีสู้เขาไม่ได้ การปฏิบัติธรรมเป็นอย่างหนึ่ง การรักษาสิกขาบทวินัยตามเพศของตนนั้นเป็นอีกอย่างหนึ่ง มันคนละอย่าง!

         ส่วนกิเลสล่ะ ไม่ว่าหญิงว่าชาย ไม่ว่านักบวช ฆราวาส มีได้ด้วยกัน และแก้ได้ด้วยกันถ้าจะแก้ นั่นแหละการแสดงธรรมและฟังธรรมในครั้งพุทธกาล จึงผิดกันมากมายกับสมัยที่สุกเอาเผากิน และเอากิเลสเป็นเหตุผลอรรถธรรม ไม่สนใจต่อความจริง ถ้าเป็นธรรมแล้วคัดค้าน ถ้าเป็นกิเลสแล้วยอมจำนน!

         จากนั้นก็คือครูอาจารย์ที่รู้จริงเห็นจริง เพราะปฏิบัติจริง แสดงธรรม ผู้ฟังถึงใจซาบซึ้งและยังเป็นเชื้อหนุนกำลังใจเราให้มีแก่ใจประพฤติปฏิบัติตามอีกด้วย เพราะอำนาจแห่งความเชื่อ ความเลื่อมใส ความถึงจิตถึงใจ จากการฟังเทศน์ของท่านเป็นหลักสำคัญ

         เราก็เป็นเครือญาติของพระพุทธเจ้าอยู่แล้ว ไม่ต้องว่าสมัยโน้นสมัยนี้ สมัยโน้นรู้ สมัยนี้ไม่รู้ สมัยโน้นคนปฏิบัติบรรลุมรรคผลนิพพาน สมัยนี้คนไม่บรรลุ เราอย่าไปคิดอย่างนั้น เป็นความเข้าใจผิด เป็นการส่งเสริมกิเลส ไม่ดีเลย

         สมัยโน้นท่านก็สอนคนมีกิเลส กิเลสมีประเภทเดียวกันกับของพวกเรา สมัยนั้นท่านก็สอนคนให้แก้กิเลส เราก็แก้กิเลสเหมือนในสมัยโน้น แก้กิเลสตัวไหนๆ ก็กิเลสที่มันอยู่ในหัวใจของเรานี่แหละ ซึ่งเหมือนกันกับกิเลสสมัยโน้น แก้ด้วยข้อปฏิบัติเช่นเดียวกันกับข้อปฏิบัติในครั้งโน้น จะผิดกันที่ตรงไหน? จะมีกาลมีเวลา มีสถานที่ที่ตรงไหน ไม่มี อยู่ที่ใจเราเอง สัจธรรมไม่มีกาลสถานที่ อยู่ที่ใจเราด้วยกัน

         สัจธรรมคืออะไร? ทุกข์ สมุทัย นี้เป็นฝ่ายกีดกั้น มรรคคือข้อปฏิบัติ นี้เป็นฝ่ายบุกเบิก นิโรธเป็นความดับทุกข์ เมื่อบุกเบิกได้เท่าไร ด้วยมรรค นิโรธดับทุกข์ไปโดยลำดับ ไม่มีเหลือภายในจิตใจเช่นเดียวกับครั้งพุทธกาล ให้ย่นเข้ามาตรงนี้ เราอย่าไปคิดว่ากาลนั้นกาลนี้ เป็นการคิดให้เราท้อถอย นี่เป็นอุบายของกิเลสสั่งสอนเรา เราไม่รู้เท่าทันกิเลสจึงมักคลานตามมันโดยไม่รู้สึก ให้เอาธรรมมาเป็นเครื่องมือดังที่สอนไว้ จะไม่มีปัญหา ในครั้งพุทธกาลกับในครั้งนี้เหมือนกัน สำคัญอยู่ที่ผู้ปฏิบัตินี้เท่านั้น อันนี้เป็นที่แน่ใจตามธรรม จึงขอยุติการสอนเพียงเท่านี้


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก