ทรัพย์ทางกาย ทางใจ...
วันที่ 19 มกราคม 2519 ความยาว 33.07 นาที
สถานที่ : ศาลาโรงครัว วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)   ข้อมูลเสียงแบบ(Real)

ค้นหา :

เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๑๙ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๑๙

ทรัพย์ทางกาย ทางใจ สมบัติอันพึงใจ

 

        การเกิดในแดนพระพุทธศาสนา แต่ไม่ได้อยู่ในแดนพุทธศาสนา ก็เหมือนอย่างโบราณท่านว่า “เป็นผู้ชายไม่ได้บวช” ฉะนั้น ซึ่งเหมือนกับเหยียบแผ่นดินผิด ทั้งหญิงและชายน่าจะผิดมาด้วยกันที่เกิดมาในวงศาสนา เฉพาะอย่างยิ่งพุทธศาสนา แต่ไม่ได้ปฏิบัติศาสนาให้เหมาะสมกับชาติภูมิของตน ก็เท่ากับ “เหยียบแผ่นดินผิด” นั่นแล

         พื้นฐานของมนุษย์ ก็คือศีลธรรม เราเกิดมาด้วยอำนาจแห่งศีลธรรมแล้ว ไม่ประพฤติปฏิบัติศีลธรรม ก็เหมือนกับเหยียบพื้นฐานนั้นผิดไป ท่านจึงสอนให้ปฏิบัติธรรมสั่งสมคุณงามความดีไว้ เพื่อเป็นอุปนิสัยปัจจัยเป็นลำดับๆ ไป ที่ว่า “เป็นนิสัย” ก็คือ ศีลธรรมที่เราเคยบำเพ็ญมา ที่เรียกว่า “คุณงามความดี” จะเกิดขึ้นด้วยการให้ทานก็ตาม รักษาศีลก็ตาม การเจริญเมตตาภาวนาก็ตาม หรือการสงเคราะห์สงหาเพื่อนร่วมโลกกัน ไม่ว่าสัตว์ไม่ว่าบุคคลก็ตาม ล้วนแต่คุณงามความดี ซึ่งเป็นผลอันดีงามแทรกซึมเข้าสู่จิตใจ จนกลายเป็นอุปนิสัยประจำตัวในภพชาติต่อไป

         จิต เป็นเจ้าของ จิต เป็นผู้บรรจุความดีทั้งหลายที่ทำลงไป เพราะจิตเป็นผู้บงการ จิตเป็นโรงงานแห่งการกระทำความดีเหล่านี้ จิตจึงเป็นเจ้าของที่จะรับเอาผล ซึ่งตนกระทำขึ้นทุกแง่ทุกกระทง เรียกว่า “มูลนิธิ” ก็ได้ “นิธิ” แปลว่าขุมทรัพย์ “มูล” แปลว่ารากฐาน เป็นที่สถิตแห่งขุมทรัพย์ ซึ่งได้แก่ใจ

         ที่ให้ชื่อว่า “มูลนิธิ” ก็คือ รากฐานที่ฝังทรัพย์ จิตใจเราเป็นรากฐานอันสำคัญ ที่จะฝังทรัพย์ภายในลงสู่ที่นั่น เมื่อมีทรัพย์ภายในแล้วจะจุติหรือเกิดภพใดก็สะดวกสบาย เช่นเดียวกับคนที่มีทรัพย์ภายนอกติดกระเป๋าไป ไม่ว่าจะไปแห่งหนตำบลใด ต้องการอะไรก็เอาสมบัตินั้นเป็นเครื่องจับจ่ายใช้สอย หรือแลกเปลี่ยนสิ่งที่ตนต้องการ นำมาบำบัดรักษา นำมาบำรุงร่างกาย ทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นความสะดวกด้วยทรัพย์สมบัตินั้น คนมีทรัพย์ภายในก็เช่นนั้นเหมือนกัน

         การท่องเที่ยวใน “วัฏสงสาร” ก็เป็นเช่นเดียวกับเราไปบ้านน้อยเมืองใหญ่ในเมืองมนุษย์เรานี่เอง ไปบ้านนอก บ้านนา หรือเมืองนอกเมืองไหนก็ตาม นั่นก็ขึ้นอยู่กับเงินหรือสมบัติ ถ้ามี “แก้วสารพัดนึก” คือเงินแล้ว ไปไหนก็สะดวกกายสบายใจ หากไม่มีก็ลำบาก การท่องเที่ยวใน “วัฏสงสาร” ก็ต้องอาศัย “คุณงามความดี” ที่ได้สั่งสมไว้ภายในใจติดแนบตนไปในภพนั้นๆ

         การเกิด เราจะบังคับ หรือต้องการเกิดในสถานที่เช่นไร ย่อมจะเป็นไปตามที่เราต้องการนั้นไม่ได้ ท่านว่า “ต้องเป็นไปด้วยอำนาจแห่งกรรม หรือวิบากแห่งกรรม” ที่ตนได้ทำไว้ จะพาให้เกิด ให้อยู่ ให้สุข ให้ทุกข์ ซึ่งเป็นความจริงอันถูกต้อง มาแต่กาลไหนๆ ลบล้างไม่ได้ ใครจะมีความรู้ความฉลาดสามารถเพียงไร มาลบล้างกรรมและผลของกรรม คือ สุข ทุกข์ ที่มีอยู่กับบรรดาสัตว์ทั่วไปใน “วัฏสงสาร” นี้ ลบล้างไม่ได้!

        หากเป็นสิ่งที่ลบล้างได้แล้ว พระพุทธเจ้าที่ทรงมีพระเมตตาต่อบรรดาสัตว์โลก ไม่มีใครเสมอเหมือน จะทรงลบล้างบาปกรรมทั้งหลายออกจากสัตว์โลกให้หมด ไม่มีเหลือแม้แต่น้อยเลย จะให้มีแต่ความร่มเย็นเป็นสุขโดยทั่วถึงกันเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นสัตว์โลกชนิดใดในโลกทั้งสามนี้ ซึ่งรวมอยู่ในคำว่า “สัตว์โลก” จะไม่มีผู้ใดได้รับความทุกข์ความทรมานทางร่างกายและจิตใจเลย จะมีแต่ความสุขความสบายด้วยกันทั้งนั้น เพราะการลบล้างบาปที่ยังสัตว์โลกให้เกิดทุกข์ให้หมดไปโดยสิ้นเชิง

         ธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ก็เป็นธรรมยอดเยี่ยมอยู่แล้ว แม้เช่นนั้นก็ยังไม่สามารถที่จะลบล้างกรรมของสัตว์ หรือวิบากแห่งกรรมที่มีอยู่ภายในสัตว์ทั้งหลายให้หมดสิ้นไปได้ เพราะวิบากกรรมเป็นสิ่งตายตัว ใครๆ ไม่อาจลบล้าง หรือทำลายได้นั่นเอง นอกจากผู้นั้นจะพยายามชะล้างหรือลบล้างความชั่ว ด้วยความดีเท่านั้น เช่นเดียวกับเราชะล้างสถานที่สกปรกให้กลายเป็นสถานที่สะอาดขึ้นมา ด้วยน้ำที่สะอาดฉะนั้น นี่เป็นฐานะที่เป็นไปได้ เช่นเราล้างสิ่งที่สกปรกให้สะอาดด้วยน้ำที่สะอาด

         การทำความดีก็เหมือนกับการลบล้างความไม่ดีทั้งหลาย ซึ่งมีอยู่ภายในจิตใจให้ค่อยหมดไปนั่นเอง หากเป็นสิ่งที่ลบล้างกันไม่ได้ ศาสนาก็อยู่ในโลกไม่ได้ ปรากฏในโลกไม่ได้ เพราะเป็น “อฐานะ” ลบล้างไม่ได้ มาสอนกันให้เป็นโมฆะเปล่าๆ ทำไม

         ที่พระพุทธเจ้าประทานธรรมะไว้สอนโลก ก็เพื่อลบล้างมลทิน คือ บาปกรรมทั้งหลายที่มีอยู่ในสันดานของสัตว์ด้วยการทำดี ให้สะอาดไปโดยลำดับนั่นแล ความประพฤติ การกระทำที่เคยไม่ดีมาก่อน ก็เปลี่ยนแปลงให้เป็นการกระทำดี พูดดี คิดดีไปเรื่อยๆ เพื่อให้สิ่งเก่าแก่ที่ไม่ดี ซึ่งเคยเป็นมาแล้วเพราะความไม่รู้เดียงสาภาวะค่อยๆ หมดไป หากยังมีเหลืออยู่บ้าง ก็เป็นเพียงวิบากเก่าไม่กำเริบ คือ เป็นผลเฉพาะที่ปรากฏอยู่เท่านั้น ไม่กำเริบหรือไม่รุนแรงมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม

         แต่ถ้าสามารถชำระล้างจิตใจให้มีความสะอาด ปราศจากมลทินโดยประการทั้งปวงแล้ว ก็เป็นอันว่าลบล้างวิบากแห่งกรรมทั้งหลายภายในจิตใจได้โดยสิ้นเชิง หากจะปรากฏบ้าง ที่เรียกว่า “วิบาก” ซึ่งเป็นผลของกรรมเก่า ซึ่งเคยทำมาตั้งแต่กาลก่อน “ก็ได้รับแค่ธาตุขันธ์” เท่านั้น ยกตัวอย่าง เช่นพระพุทธเจ้าเวลาจะปรินิพพาน เสด็จไปกรุงกุสินารา จะเสวยน้ำ รับสั่งให้พระอานนท์ไปตักน้ำ ตักที่ไหนก็เป็นโคลนเป็นตมไปหมด เรื่องนี้พระองค์ก็ได้ตรัสกับพระอานนท์ว่า “นี้เป็นเพราะกรรมเก่าของเราซึ่งแต่ก่อนเราเป็นพ่อค้าโคต่าง ไล่โคเป็นจำนวน ๕๐๐ ตัวลงไปในแม่น้ำใด หนองใดบึงใด ก็ขุ่นเป็นโคลนเป็นตมไปหมด สัตว์เหล่านั้นได้ดื่มแต่น้ำที่สกปรกที่ขุ่นเป็นโคลนเป็นตม ผลนั้นจึงสะท้อนกลับมาถึงเรา” นี่ผลก็มีเพียงพระกายเท่านั้น ไม่ได้กระทบกระเทือนถึงพระทัยที่บริสุทธิ์ของพระองค์เลย

         ส่วนความดีงามก็ตามสนองมาโดยลำดับ เช่น เสด็จไปสถานที่ใด ก็มีคนเคารพ เทวบุตร เทวดา อินทร์ พรหม เคารพนบนอบพระองค์ เครื่องสักการบูชามาจากทิศต่างๆ เต็มไปหมด นี่ก็เป็นการเสวยผลในทางพระกายเท่านั้น ส่วนที่จะให้พระองค์มีความยินดียินร้ายไปด้วยนั้น ไม่มี!

        การที่เราทำความดีทั้งหลายนั้น ก็เหมือนกับเราเอาน้ำสะอาดชำระสิ่งที่สกปรกโสโครกภายในจิตใจให้หมดไปโดยลำดับๆ ท่านจึงสอนให้ทำความดี คนมีคุณงามความดีย่อมเป็นที่อบอุ่นภายในจิตใจ ทั้งปัจจุบัน คือเวลายังเป็นอยู่ และอนาคตที่จะเป็นไปในกาลข้างหน้า เพราะเรามีหลักยึด มีที่พึ่งที่เกาะที่อาศัยภายในใจ ไม่มีสิ่งใดที่จะแนบสนิทใจหรือเป็นที่ตายใจ ที่อบอุ่นใจ ยิ่งกว่าคุณงามความดีทั้งหลาย ที่ท่านว่า “เปรียบเหมือนกับเงาเทียมตัว แต่เงานั้นจะปรากฏในที่แจ้งเท่านั้น เข้าสู่ที่มืดแล้วเงาไม่ปรากฏ” สำหรับคุณงามความดีนี้ เราจะไปเกิดในสถานที่ใดๆ ย่อมติดแนบอยู่กับใจเรา เพราะความดีเหล่านั้นสถิตอยู่กับใจ

         ท่านจึงสอนให้พยายามอบรมจิตใจ ความยากความลำบาก อย่าถือเป็นอุปสรรคจนเกินเหตุเกินผลจนเสียเวล่ำเวลา ไม่ได้กระทำความดี เพราะความลำบากนั้นเป็นอุปสรรค ความลำบากเพราะหน้าที่การงานนั้นมีด้วยกัน เราอย่าถือว่าเราเป็นมนุษย์มีหน้าที่การงานล้นมือ บางคนว่าเหลือบ่ากว่าแรงก็มี

         ส่วนสัตว์ล่ะ เขาหากินอยู่ในถิ่นต่างๆ ไม่ว่าสัตว์ชนิดใด มีปาก มีท้อง ต้องวิ่งเต้นขวนขวายหาอยู่หากิน นั่นไม่ใช่งานของเขาหรือ? เขาก็ไม่เห็นบ่น ทั้งเสี่ยงต่ออันตรายมาก เวลาอยู่โดยปกติ และเวลาออกเที่ยวหากิน ไม่เหมือนมนุษย์เรา สัตว์ไปที่ไหน ทั้งความกลัวตาย ทั้งความหิวโหยบีบบังคับให้จำต้องออกหากิน ไม่ยังงั้นก็ถูกเขาฆ่าจริงๆ ต้องระมัดระวัง ทั้งปากท้องก็หิวโหย จะไปกินน้ำก็กลัวจะถูกเขายิง กลัวว่าจะถูกข่ายเขาดัก จะกินผลไม้ก็กลัวจะถูกเขาดักอีก จะไปหากินหญ้า กินอาหารชนิดใดๆ ก็กลัวถูกมนุษย์นั่นแหละสำคัญ คอยแต่จะทำลายเขา เสี่ยงไปทุกด้านและทุกวันเวลาไม่เหมือนมนุษย์เรา นั่นก็คืองานของเขา ซึ่งเสี่ยงอันตรายยิ่งกว่ามนุษย์เรามาก งานของเขาการเสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย ไม่เหมือนงานของมนุษย์ รู้สึกผิดกันอยู่มาก ได้เปรียบสัตว์อยู่มาก

         งานของมนุษย์นี่ มีน้อยที่จะเป็นงานเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายเหมือนดังสัตว์ทั่วๆ ไป เป็นงานที่ทำด้วยความอิสระ โดยการประกอบหน้าที่การงานที่ชอบธรรม เราทำได้ด้วยกันทั้งโลก ไม่มีใครว่าใคร ไม่มีใครเบียดเบียนใคร อาจมีบ้างก็เป็นธรรมดาของคนมีกิเลส ไม่เช่นนั้นก็ไม่เรียกว่าการงานของคนมีกิเลสอยู่ด้วยกัน แต่ที่จะออกหน้าออกตาเหมือนดังที่เขาทำลายสัตว์อย่างนั้นไม่มี ถึงจะยากลำบาก ก็ถือว่าเป็นงานจำเป็นของเรา เพราะเราต้องอาศัย เวลาร้อน ไม่พึ่งเย็นจะพึ่งอะไร เวลาหนาวก็พึ่งผ้าห่ม เวลาร้อนก็ต้องพึ่งน้ำ เวลาหิวกระหายก็ต้องพึ่งอาหารการบริโภค ทุกสิ่งทุกอย่างมันเป็นประโยชน์ทั้งนั้น ที่จำต้องขวนขวายมีไว้ในคราวจำเป็นด้วยกันทั่วโลก

         ร่างกายของเรามันอยู่ตามลำพังตนเองไม่ได้ ต้องอาศัยพึ่งพิงสิ่งอื่นๆ ตลอดมา ทีนี้ทางด้านจิตใจจะไปอยู่โดดเดี่ยวได้อย่างไร เมื่อไม่มีคุณงามความดีเป็นที่เกาะที่อาศัย ก็ต้องว้าเหว่วุ่นวาย ขุ่นมัว เดือดร้อน ท่านจึงสอนให้บำเพ็ญประโยชน์ เช่นการทำบุญให้ทานเฉพาะอย่างยิ่งการภาวนา ซึ่งเป็นที่รู้และที่รวมแห่งกุศลทั้งมวล

         อายุอานามไม่สำคัญ จิตใจมันคึกคะนองได้ด้วยกันทั้งนั้น ความฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม ความคึกคะนองไม่เข้าเรื่องเข้าราวต่างๆ ราวกับจะตายไม่เป็น นั่นคิดได้ทั้งผู้หญิงผู้ชาย ทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่ ไม่มีประมาณความพอดี ถ้าไม่มีธรรมเป็นรั้วกั้น เป็นทำนบคอยปิดกั้นไว้ ใจจะโดดลงนรกวันหนึ่งกี่ครั้งนับไม่ถ้วน นรกในที่นี้ คือ ความทุกข์ร้อนภายในใจ ที่ความคึกคะนองของใจก่อขึ้นมาเผาลนตนเองอยู่ไม่หยุด ชนิดรถไม่มี “เบรกห้ามล้อ” นั่นแล

         คำว่า “ธรรม” มีความหมายกว้างขวาง อาจนึกน้อมนำมาปฏิบัติได้ยาก จึงย่นธรรมเข้ามาเพื่อเข้าใจและปฏิบัติถูกและง่ายขึ้น เช่น การภาวนาด้วยบทธรรม มี “พุทโธ” เป็นต้น เป็นคำบริกรรมกำกับใจ ไม่ให้คิดไปอื่น อบรมใจให้มีความสงบสุข ซึ่งเป็นกิจที่ควรทำอย่างยิ่ง ถ้าไม่มีการอบรมบ้างเลยตลอดวันตาย ใจจะหาความสงบสุข และหาที่หลบที่ซ่อนจากทุกข์ไม่ได้เลย จะมีแต่ความรุ่มร้อนกลุ้มรุมอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นการอบรมด้วย “จิตตภาวนา” จึงเป็นผลให้เกิดความสงบ และพักผ่อนหย่อนใจได้ดีในโอกาสอันควร ไม่รุ่มร้อนเสมอไป

         ขณะที่เรากำหนด “พุทโธ ” นั้น จิตก็ให้สงบอยู่กับ “พุทโธ” อยู่แล้ว บังคับไม่ให้จิตส่งออกไปภายนอก ซึ่งเคยส่งออกไปกี่ปีกี่เดือนมาแล้ว ไม่เห็นเกิดประโยชน์อะไรนอกจากความทุกข์ที่ถูกต้อนมาเพราะความคิดอันเป็นไฟนั้นๆ เท่านั้น เวลานี้เราจะระงับความคิดทั้งหลายซึ่งเคยรบกวนใจให้สิ้นไป อาศัยความคิดปรุงเฉพาะคำ “พุทโธ” “พุทโธ” อย่างเดียวเท่านั้น เช่น เรากำหนด “พุทโธ” ก็บริกรรม และมีความรู้จดจ่อ ตั้งหน้าตั้งตาอยู่กับคำบริกรรมนั้นๆ ไม่ให้จิตส่ายแส่ไปสู่อารมณ์ที่ก่อกวนตนเอง จิตย่อมจะได้รับความสงบ ใจเมื่อได้รับการบำรุงรักษาด้วยสติ และตั้งหน้าตั้งตาทำอยู่โดยสม่ำเสมอ จิตย่อมมีความสงบลงได้ พอจิตสงบ กายสงบ ความสุขก็มาเอง เหตุที่ไม่มีความสุขอยู่ภายในใจนั้นก็เพราะใจไม่มีความสงบนั่นเอง จึงทำให้กายระส่ำระสาย จนหาที่หลบซ่อนผ่อนคลายบ้างไม่ได้

         พอจิตเริ่มสงบ ภาระก็เริ่มเบาลง ใจก็เริ่มสบายในขณะนั้น และเริ่มเห็นคุณค่าของความสงบขึ้นในทันทีทันใด ฉะนั้นขณะทำภาวนาจึงเป็นขณะที่กลั่นกรองอารมณ์ออกจากใจ ให้เหลือเฉพาะอารมณ์แห่งธรรม เช่น คำบริกรรม “พุทโธ” เป็นต้นเท่านั้น อารมณ์ที่เป็นพิษเป็นภัยอื่นๆ ระงับดับไปหมด ไม่สนใจคิด ใจก็ได้รับความร่มเย็นเมื่ออารมณ์แห่งธรรมเข้าสู่ใจ เมื่อใจมีความร่มเย็น มีความสงบแล้ว ย่อมเกิดความโล่งโถงภายในตัวเอง ปรากฏว่าใจมีคุณค่าขึ้นมาในขณะนั้น

แต่ก่อนเราไม่เคยคิดว่าเราจะมีคุณค่าอะไรเลย นอกจากความด้นเดาเกาหมัดไปเฉยๆ เพราะความเห่อตัวเองว่ามีคุณค่าอย่างนั้น สำคัญตนอย่างนี้ แบบลมๆ แล้งๆ โดยหาความจริงไม่ได้ แต่พอจิตมีความสงบตัวลงเท่านั้น ก็เหมือนกับเราสร้างคุณค่าขึ้นภายในจิตใจเรา ปรากฏเป็นความอบอุ่น เป็นความร่มเย็นเป็นสุข มีที่พึ่ง นั่งอยู่ก็อิ่มใจ ทำอะไรๆ อยู่ก็อิ่มเอิบภายในใจ ใครจะว่าอะไรก็ไม่ค่อยโกรธเอาง่ายๆ ไม่ค่อยฉุนเฉียว เพราะจิตมีที่พึ่ง มีหลักเกณฑ์ ไม่วอกแวกคลอนแคลน เพียงเท่านี้ก็เห็นผลแล้ว ผลนี้แลที่จะยังเหตุดีต่อๆ ไปให้เพิ่มปริมาณขึ้น หรือสืบต่อกันไปเป็นลำดับ จนมีกำลังมากขึ้นทุกที ทวีคูณ

         เมื่อปรากฏผลเป็นความสงบสุขแล้ว คนเราย่อมมีแก่ใจ เพราะทำงานเป็นผล คือความสงบสุข แต่ต้องพยายามทำอยู่เรื่อยๆ ยิ่งเฒ่าแก่แล้วเช่นนี้ ก็ไม่ทราบว่าจะไปหาทำงานอะไรกับโลกเขาให้เหมาะสมกับตัวและวัยของตัว ซึ่งคอยแต่จะตกคลองอยู่แล้ว นอกจากงาน “จิตตภาวนา” ซึ่งเป็นงานยอดเยี่ยม และเหมาะสมกับวัยที่ผ่านโลกมานานเท่านั้น

         งานเลี้ยงลูกเลี้ยงหลาน ก็เลี้ยงมาเสียพอแล้ว แทบเป็นแทบตาย เลี้ยงลูกแล้วยังไม่แล้ว ยังเลี้ยงหลาน เลี้ยงเหลน อะไรๆ เป็น “บ๋อย” เขาอยู่ตลอดมา จึงควรหันมาเลี้ยงตนบ้าง ตนมันยังไม่เติบโต โตแต่วัยอายุสังขาร แต่ภายในใจมันเหี่ยวมันแฟบอยู่ตลอดเวลา หาความสุขที่จะบรรจุบ้างไม่มีเลยอย่างนี้ จะไม่ร้อนใจได้อย่างไร มันต้องร้อนคนเรา! เพราะไม่มีความร่มเย็นด้วยธรรมภายในใจ เป็นที่เกาะที่ยึดอาศัย

         เพราะฉะนั้น จึงต้องพยายามเลี้ยงตัวเองด้วยศีลด้วยธรรม พยายามอบรมจิตใจของตนให้มีความสงบ จิตจะพองตัวขึ้นมา เย็นสบายโล่งขึ้นมา การเลี้ยงตัวด้วยศีลด้วยธรรมมีจิตตภาวนาเป็นสำคัญ จงพยายามอบรมรักษาตน คือรักษาใจให้ดี อย่าให้ตัวแมลงมากัดมาไชมาบ่อนทำลายได้ อะไรๆ ก็ได้ผ่านมาแล้ว เรื่องโลกเรื่องสงสาร เราเคยผ่านมานานขนาดนี้แล้วพอจะรู้เรื่องได้ดี เพราะเราได้เคยบวกเคยลบมาแล้ว ผ่านโลกมานาน ทางตาก็ผ่านมาแล้วตั้งแต่วันรู้เดียงสาภาวะ หู จมูก ลิ้น กาย มันสัมผัสสัมพันธ์กับสิ่งทั้งหลายมาตลอดสาย ผลดีผลชั่วมีประการใดบ้าง เราพอทราบจากความสัมผัสเหล่านี้มาแล้ว ไม่น่าสงสัยว่าสิ่งเหล่านั้นจะพาเราวิเศษวิโสต่อไปอีกแล้ว

         เวลานี้ยังเหลือแต่ความรู้ คือ ใจเท่านั้น สิ่งที่เคยสัมผัสมาเหล่านั้นก็หายไปหมด เอาความจริงจังกับสิ่งเหล่านั้นไม่ได้ แล้วเรายังจะพะวักพะวนกับความคิดปรุงในสิ่งเหล่านี้อยู่อย่างไรอีก ถ้าไม่ใช่เราหลงจนเกินตัวไป เราควรจะบวกลบ คูณหาร ดูตัวเราด้วยดี ที่เกี่ยวกับสิ่งทั้งหลายที่ผ่านมาแล้ว และประมวลจิตใจ ประมวลความรู้สึก ประมวลความตั้งอกตั้งใจ เจตนาของเราลงสู่ธรรม บำเพ็ญตนด้วยจิตตภาวนา หรือด้วยอะไรก็ตามที่เป็นคุณงามความดี เป็นที่อบอุ่นของใจ เป็นอารมณ์อันร่มเย็นเป็นสุขทางใจ และอยู่ด้วยความเป็นสุขใจ เฉพาะอย่างยิ่ง คือ จิตตภาวนา เป็นอารมณ์สำคัญมากต่อจิตใจ จงทำจิตตภาวนาให้มีความสงบเย็นใจ คำว่า “ความสงบ” มีหลายขั้น

         ขั้นต้นแห่งความสงบ ก็พอเริ่มๆ สงบเข้าไป เริ่มเบากาย เบาใจ ทำหลายๆ ครั้งหลายๆ หน ก็สงบแน่วแน่ สงบแนบแน่น ละเอียด ละเอียดจนร่างกายไม่มีในความรู้สึกเลยก็มี นั้นมีความสุขมาก จิตเวิ้งว้างอย่างพูดไม่ถูก จะว่าอยู่ในอากาศก็ไม่เชิง อยู่กับอะไรก็ไม่ใช่ แต่ความรู้หากรู้ตัวอยู่โดยเฉพาะ ส่วนร่างกายหายไปหมดในความรู้สึกนั้นแหละ คือความสงบที่ละเอียดมาก นั่นเป็นความสุขที่ลืมไม่ได้ หากไม่มีความก้าวหน้าขึ้นไปยิ่งกว่านั้น จะลืมความเป็นเช่นนั้นไม่ได้จนกระทั่งวันตาย เพราะเป็นความสุขที่ประทับใจอย่างยิ่ง ตั้งแต่วันเกิดมาไม่เคยปรากฏเช่นนี้ เป็นความสุขที่แปลกประหลาดอัศจรรย์ นี้แลเป็นเชื้ออันสำคัญที่จะให้เกิดความอุตส่าห์พยายามต่อสู้กับความวุ่นวายทั้งหลาย เพื่อเอาความสงบนี้เข้ามาเป็นสมบัติของใจได้อย่างสมหมาย

         ที่กล่าวมานี้ เรียกว่า “ใจสงบ” ความสงบนั้น คือไม่มีอารมณ์อะไรมากวน ภายในใจเองก็ไม่คิดไม่ปรุงวุ่นวาย ออกไปยุ่งเหยิงกับสิ่งภายนอก สิ่งภายนอกก็มีอยู่ตามสภาพของเขา เมื่อใจไม่ไปเกี่ยวข้องแล้ว ก็เหมือนไม่มีสิ่งต่างๆ ที่เคยมีอยู่ในโลกมากมาย ทั้งนี้เพราะใจไม่ไปเกี่ยวข้องเขาเท่านั้น เกี่ยวข้องมากน้อย เรื่องราวคืออารมณ์ก็มาก ตามใจที่คิดออกไปเกี่ยวข้อง

         พอจิตหดตัวเข้ามาสู่ความเป็นตัวของตัวอยู่โดยเฉพาะ ไม่ไปสำคัญมั่นหมายอยู่กับสิ่งใดๆ แล้ว สิ่งเหล่านั้นถึงมีมากน้อย ก็เหมือนไม่มี เพราะจิตไม่ปรุง ไม่กวนตัวเองคือ ใจไม่เกิดความสำคัญมั่นหมายในสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่รอบตัว ก็ยิ่งมีความสงบแน่วแน่เข้าไป เหลือแต่ความรู้ล้วนๆ นั่นเป็นความสงบที่ละเอียดมาก โลกนี้เหมือนมีแต่ใจดวงนี้เท่านั้น นอกนั้นเหมือนไม่มีอะไรเลย เพียงเท่านี้ก็สบายแล้ว เพราะเห็นหลักเกณฑ์อันแจ่มแจ้งชัดเจน ด้วยใจตัวเอง

         หลักเกณฑ์ภายในร่างกาย ชีวิตจิตใจของเรานี้ มีอะไรเป็นหลักที่แท้จริง ก็คือดวงใจนี้เอง ใจก็รู้ชัดเจนแล้วทำอย่างไรถึงจะให้ยิ่งกว่านี้ ? จนถึงที่สุดของจิตของธรรม ที่เป็น “ยอดธรรมแท้”

         ตามธรรมดาแม้แต่เราแสวงหาสมบัติได้เท่านี้แล้ว มันต้องอยากได้เท่านั้น ได้เท่านั้นแล้วมันก็อยากได้เท่าโน้นอีก แต่เรื่องการแสวงหาสมบัติภายนอก คือ ทางโลกนี้ ไม่มีที่สิ้นสุด เพราะหาด้วยอำนาจแห่งความอยาก คือแบบโลกๆ ธรรมดาๆ

         แต่ทีนี้เราหาด้วยธรรม หาแบบธรรม ธรรมมีเขตมีแดน มีจุดหมายปลายทาง มีที่ “อิ่มพอ” เมื่อจิตก้าวขึ้นไป ก้าวขึ้นไป จิตเขยิบขึ้นไปเรื่อยๆ ได้ความสุขแค่นี้ ต้องการแค่นั้น ตามความจริงเข้าไป อะไรเป็นสิ่งน่าคิด น่าไตร่ตรอง คิดมันไป เช่น

         การพิจารณาเรื่องธาตุ เรื่องขันธ์ ซึ่งอยู่ด้วยกันมาตั้งแต่วันเกิด ไม่ทราบว่า ธาตุขันธ์ นั้นคืออะไร เขาว่าร่างกายก็ว่าไปกับเขา เขาว่าเราก็ว่าไปกับเขา เหมือนกระต่ายตื่นตูม ในร่างกายนี้ทั้งหมด เรายังไม่ได้แยกแยะให้เห็นตามความจริงของมัน ว่ามีอะไรบ้างที่รวมกันอยู่ จะต้องแยกแยะเข้าไปดูตั้งแต่ผิวหนัง หรือ เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ดูเข้าไปภายใน ดูเข้าไป ดูเข้าไป หาตัวหญิง ตัวชาย ตัวสัตว์ ตัวบุคคล ตัวเรา ตัวเขา ตัวอัตภาพร่างกายจริงๆ คืออะไร ค้นเข้าไป นี่ท่านว่าปัญญาค้นเข้าไปหาความจริง!

        ทีนี้ ความจริงที่ปรากฏขึ้นจากการค้นคว้า การพิจารณาด้วยปัญญานี้ ไม่ใช่เป็นดังที่เราว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เสียแล้ว มันกลายเป็นความจริงอีกประเภทหนึ่งขึ้นมา ถ้าว่า “ธาตุ” ก็สักแต่ว่า ธาตุ ถ้าว่า “รูป” ก็สักแต่ว่ารูป ถ้าว่า “เวทนา” ก็สักแต่ว่าเวทนาไปเสีย นี่ความจริงที่เกิดขึ้นทางด้านปฏิบัติ ประจักษ์ใจ ที่เป็นความจริงเช่นนี้ และเป็นความจริงที่ฝังจิต ฝังใจ เชื่อแน่อย่างประทับใจ อะไรก็ “สักแต่ว่าอันนั้น” เท่านั้น ไม่เลยกว่านั้น จนกลายเป็นสัตว์เป็นบุคคล เป็นเรา เป็นเขา ดังที่เคยสำคัญมั่นหมายมาแต่ก่อนนั่นเลย

         แต่ละส่วนของธาตุ ของขันธ์ ปรากฏเป็นความจริงขึ้นมา ด้วยสติปัญญา รูป ก็เป็นความจริง เพราะจิตรู้จริง เวทนา ก็เป็นความจริงอันหนึ่ง เพราะจิตรู้จริง สัญญา สังขาร วิญญาณ แต่ละอย่าง ละอย่าง ก็เป็นความจริงแต่ละอย่าง เพราะจิตเห็นความจริงอย่างเต็มตัว อาการแต่ละอย่างที่กระเพื่อมออกมาในทางจิตใจ ก็ทราบว่าเป็นความจริงแต่ละอย่าง ๆ ไม่หลงไม่ตื่นเงาตัวเอง เราอยู่ธรรมดา เรายังรู้ว่านั้นเป็นเงา นี้เป็นตัวของเรา แต่เงา ของจิตนั้นเราไม่ทราบ เราถือว่าเป็นตัวเสียทั้งนั้น จึงต้องวุ่นวาย อะไรที่เป็นอาการของจิตที่แสดงออก เราก็ถือว่าเป็นเราเสียทั้งหมด คือ เงาเป็นตน เงาหลอกว่าดี ก็ว่าเราดี เงาหลอกว่าชั่ว ก็ว่าเราชั่ว ทั้งๆ ที่ไม่เป็นความจริงก็เชื่อไปตามเงา เกิดความเดือดร้อนวุ่นวายไปหมด เพราะความคิดปรุงหลอกหลอนตน

         เพราะฉะนั้น การพิจารณาทางด้านปัญญา จึงต้องค้นให้ถึงความจริง ท่านจึงเรียกว่า “ปัญญา” ความฉลาดแหลมคม ถึงความจริงทุกสัดทุกส่วน แล้วมันก็แยกตัวกันเองอันไหนเป็นอะไร ก็ไม่ฝ่าฝืนความจริง ไม่ปีนเกลียวกับความจริง ต่างอันต่างจริง ต่างอันต่างอยู่ แน่ะ! จิตใจก็ไม่ยุ่งเหยิงวุ่นวาย ไม่หาเรื่องก่อกวนตนเอง นี่จะเรียกว่าอะไรล่ะ เมื่อถอดออกหมด ถอดออกหมด มันก็รู้ ที่ท่านเรียกว่า “รู้” รู้อย่างนี้เอง รู้เรื่องของตัวเองจิตก็หลุดพ้น เป็นอิสระเต็มภูมิ

         ทีนี้เวลาจิตรู้เสียทุกสิ่งทุกอย่าง ปล่อยเสียทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว จิตจะมีความอยากให้ยิ่งขึ้นไปกว่านั้นก็ไม่มี ความอยากนั้นเกิดขึ้นเพราะความไม่พอ ความไม่สมบูรณ์ ความบกพร่องจึงทำให้เกิดความอยากขึ้นมา ทีนี้จิตมีความรู้เต็มตัว เต็มภูมิ ไม่มีความบกพร่องแล้ว ก็ไม่อยาก คือ ไม่อยากรู้อะไรอีกให้ยิ่งกว่านี้ เท่าที่เป็นอยู่นี้เป็นที่เหมาะสมแล้ว ไม่อยากสุขอะไรให้ยิ่งกว่านี้ ยิ่งกว่านี้ไป ไม่ใช่ฐานะของจิตที่ก้าวเข้าถึงความพอดีแล้ว

         นี่ท่านเรียกว่า “มัชฌิมา ในหลักธรรมชาติ ที่เป็นส่วนผล” ซึ่งสืบเนื่องมาจาก “มัชฌิมา คือ ข้อปฏิบัติ” ดำเนินเข้าไปด้วย “มัชฌิมา อันเป็นศูนย์กลาง” พอเข้าถึง “มัชฌิมาในหลักธรรมชาติ” อันเป็นส่วนผลแล้ว ก็เป็นอันว่า “พอตัว” คือ ไม่ยิ่งไม่หย่อนกว่านั้น “เสมอ” จะเรียกว่า “เสมอ” ก็ไม่ถนัดใจ เรียกว่า “พอ” แล้วเหมาะ เพราะอิ่มเต็มที่แล้วยิ่งกว่านี้ไปไม่ได้ “พอ” นั่นแหละเหมาะ

         ปฏิบัติด้วยธรรม รู้ด้วยธรรม ไม่ใช่เป็นไปด้วยกิเลส ย่อมถึง “เมืองพอ” ได้ ไม่เหมือนกับโลก ดังพระพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลาย ท่านถึง “เมืองพอ” ท่านพอแล้วพอดิบพอดีอยู่ตลอดกาล ว่า “นิพพานเที่ยง” จะหมายถึงอะไร ถ้าไม่หมายถึง “จิตที่พอตัวแล้ว เที่ยงธรรม ไม่เอนเอียงกับสิ่งใดๆ ทั้งหมด”

        ธรรมชาติที่กล่าวถึงเวลานี้ได้แก่ “ความรู้” ตั้งแต่ขั้นเริ่มแรก ขั้นมูลฐาน จนถึงขั้นบริสุทธิ์พุทโธ จะหมายถึงอะไร ถ้าไม่ใช่ “ผู้รู้” ซึ่งได้ยินอยู่เวลานี้ ที่ทราบอยู่เวลานี้ ผู้นี้แหละผู้ที่เป็นสาระแก่นสารที่สุดในร่างกายของเรา ไม่มีอะไรเหนือไปกว่าผู้นี้

         แต่เวลานี้ ผู้นี้ยังไม่สามารถตั้งตัวได้เต็มอรรถเต็มธรรมหรือเต็มภูมิของตัว จึงต้องอาศัยสิ่งนั้นสิ่งนี้ หรือเกาะสิ่งนั้นเกาะสิ่งนี้พอพยุงตัว แต่มักถูกสิ่งทั้งหลายภายนอก ที่เป็นภัยต่อจิตใจ ผลักหกล้มลงไปก็มีเยอะ เพราะจิตยังไม่ฉลาด จึงผิดพลาดไปกับอารมณ์นั้นๆ ได้

         ต้องพยุงด้วยอรรถด้วยธรรมจนเป็นตัวของตัวได้ แล้วเป็นตัวของตัวอย่างเต็มภูมิ คำว่า “เป็นตัวของตัวอย่างเต็มภูมิ” นี้ เราก็ให้ชื่อเอาเฉย ๆ ไม่ใช่เป็น “ตัวของตัว” ด้วยความสำคัญมั่นหมาย แต่เป็นธรรมชาติแท้ เราก็ให้ชื่ออย่างนั้นเอง เพราะโลกมีสมมุติก็ให้ชื่อไปตามสมมุติ เช่น ให้ชื่อว่า “นิพพาน” อย่างนี้

         บรรดาท่านผู้ถึง “นิพพาน” แล้ว ท่านไม่ได้สงสัย ให้ชื่อให้นามหรือไม่ให้ ท่านก็ไม่มีปัญหา แต่โลกมีสมมุติก็ต้องให้ชื่อสมมุติไปตามโลก เช่น ปิดป้ายไว้ที่หน้าวัดว่า “วัดป่าบ้านตาด” เพื่อให้คนที่ยังไม่ทราบได้อ่านรู้ว่า “อ้อ นี่วัดป่าบ้านตาด” สำหรับพระเณรหรือประชาชนอยู่ในวัดนี้แล้ว ก็ไม่มีปัญหาอะไร จะต้องไปอ่านชื่อ “วัดป่าบ้านตาด” เพราะรู้อยู่แล้ว ผู้ที่รู้นิพพานก็เป็นอย่างนั้นเหมือนกัน

         ระยะนี้แหละ ระยะที่เราว่าง เป็นโอกาสดีที่สุดสำหรับการบำเพ็ญตน เหมาะที่สุดในเวลาที่เป็นอยู่ สะดวกกายสบายใจ อะไรๆ เราก็ได้ผ่านมาแล้ว เวลานี้เป็นเวลาเหมาะสม ตายแล้วก็หมดค่า ไม่เกิดประโยชน์อะไร เราเป็นอยู่อย่างนี้ เราทำได้ทุกอย่าง ทำเสียเวลานี้ ร่างกายกำลังเป็นเครื่องมือได้ดี จิตใจก็ทำหน้าที่ได้ดีด้วย ถ้าร่างกายที่เป็นเครื่องมือนี้สลายไปแล้วก็ต้องยุติ หรือเราจะสามารถพากันไปทำงานในเวลาตายแล้วได้ยังงั้นหรือ? สำหรับโลกมนุษย์นี้ ไม่มีคนตาย สัตว์ตายแล้วทำงานใดๆ ได้ ถ้าอย่างนั้น พระพุทธเจ้าก็ต้องสอนคนตายซิ ไม่ต้องประกาศสอนธรรมแก่โลกที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่ท่านสอน “คนเป็น” นี่ เห็นว่าเป็นผู้ที่เหมาะสมที่สุดต่อหน้าที่การงานที่ชอบธรรมทั้งหลาย ท่านจึงสอนให้เหมาะสมที่สุดกับคนที่สมควรแก่การงาน คนตายแล้วท่านไม่สอน!

        คิดดูเวลาท่านตรัสรู้แล้วนั่นน่ะ ทรงพิจารณาด้วยพระญาณ ก็ทรงทราบว่า ดาบสทั้งสองนั้นสิ้นไปเสียเมื่อวาน เมื่อทรงพิจารณาทราบแล้วก็ทรงรำพึงว่า “โอ น่าเสียดาย” นั่น! ท่านเลิกสนพระทัยที่จะไปสั่งสอน เพราะสุดวิสัยแล้ว ถ้าศาสนาเพื่อสอนคนตายจริงๆ ก็ต้องว่า “โอ้ เหมาะสมแล้วนี่ ดาบสทั้งสองตายไปเมื่อวานนี้ เราส่งผู้ตายนี้ให้ถึงนิพพานเสียเลย สะดวกมาก” แต่นี่ท่านไม่ไป และเสด็จไปหา “ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕” ผู้อยู่ในวิสัยที่จะได้จะถึงธรรมทั้งหลาย เมื่อเสด็จไปถึงพอทรงแสดง “เทฺวเม ภิกฺขเว อนฺตา ปพฺพชิเตน เสวิตพฺพา ฯลฯ” เท่านั้น ปัญจวัคคีย์ทั้งหลายก็ได้บรรลุธรรมตามขึ้นมา มีพระอัญญาโกญฑัญญะ เป็นต้น เปล่งอุทานออกมาในขณะนั้นว่า “ยงฺกิญฺจิ สมุทยธมฺมํ สพฺพนฺตํ นิโรธธมฺมํ” นี้เป็นอุทานที่ออกมาจากความรู้จริงในขั้นเริ่มแรกแห่งธรรมที่พระอัญญาโกณฑัญญะได้รู้ว่า “สิ่งทั้งหลายมีความเกิดขึ้นแล้วดับไปเป็นของตายตัว มีความเกิดและมีความดับไปเป็นของตายตัว คือ คู่กันอย่างนี้ แยกกันไม่ออก” นี่จิตหยั่งถึงความสุข จากนั้นก็ทรงแสดง “อนัตตลักขณสูตร” เป็นลำดับไป

         อนัตตลักขณสูตร ท่านแสดงว่าอะไรบ้าง ก็ “รูปัง อนิจจัง เวทนา อนิจจา สัญญา อนิจจา สังขารา อนิจจา วิญญาณัง อนิจจัง รูปัง อนัตตา” แน่ะ! ทั้งอดีต อนาคต ปัจจุบัน อยู่ในไตรลักษณ์นี้ทั้งหมดรวมลงอยู่ในนี้ “อนัตตา” แสดงว่าไม่ใช่ตน แสดงอย่างนี้ ล้างจิตใจให้สะอาดหมดจด ได้บรรลุธรรมทั้งห้าองค์ ด้วยอรหัตผลทั้งสิ้น

         นี่ท่านสอนคนเป็น ไม่ได้สอนคนตาย! ที่เราอยู่ในวิสัยเวลานี้ เราไม่ใช่คนตาย เป็นผู้เหมาะสมอย่างยิ่งแล้วกับธรรมและการปฏิบัติธรรม ถ้าตายแล้วก็สุดวิสัย เวลานี้ยังไม่สุดวิสัย ให้พยายามทำเสียตั้งแต่บัดนี้ ช่วยตัวเองเสียแต่บัดนี้ เราจะไม่เสียท่าเสียที เรานี้เป็นผู้จะเสียท่าได้ท่า แล้วแต่จะพลิกแพลงใจไปในทางใดเพื่อตัวเอง ความฉลาดอยู่กับเรา ความโง่อยู่กับเรา เราต้องรู้จักคิดหาความฉลาด ธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าออกมาจากความฉลาด ไม่ได้สอนให้คนโง่ จงรีบขวนขวายด้วยความเฉลียวฉลาดของตนเสียในเวลาอันสมควรนี้ จะไม่เสียท่าเสียที เราจะมีความสุขกายสบายใจ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต สมบัติอันเป็นที่พึงใจจะเป็นของเรา ด้วยการทำความดี เป็นเหตุให้ได้สิ่งที่พึงพอใจสมมักสมหมาย จึงขอยุติการแสดง

ggggggg

 


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก