สู้แค่ตาย
วันที่ 14 มกราคม 2519 ความยาว 30.23 นาที
สถานที่ : ศาลาโรงครัว วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)   ข้อมูลเสียงแบบ(Real)

ค้นหา :

เทศน์โปรดคุณเพาพงา วรรธนะกุล ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๑๔ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๑๙

สู้แค่ตาย

 

            ความหนักที่สุดก็คือ “ใจ” ความเบาที่สุดก็คือ “ใจ” ความหยาบที่สุดก็คือ “ใจ”ความละเอียดหรืออัศจรรย์อย่างยิ่งก็คือ “ใจ” อยู่ที่ใจนี้ทั้งนั้น!

            โลกจะมีความสงบร่มเย็น หรือเกิดความเดือดร้อนวุ่นวายมากน้อย ก็ขึ้นอยู่กับใจ เพราะใจเป็นผู้ครองร่างและครองโลก ใจจึงควรได้รับการอบรมศึกษาไปตามเหตุตามผลซึ่งเป็นแนวทางที่ชอบ เพื่อจะได้ผู้นำที่ดี แสดงออกเป็นกิจการงานที่ชอบธรรม

            การแสดงออกทุกอาการ เมื่อใจได้รับการอบรมโดยเหตุผลอันเป็นแนวทางที่ดีที่เรียกว่า “ธรรม” แล้ว กิจการงานตลอดความประพฤติย่อมเป็นไปด้วยความราบรื่นดีงาม ไม่แสลงตาแทงใจระหว่างเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ไม่ว่าส่วนย่อยส่วนใหญ่ ขึ้นอยู่กับใจเป็นสำคัญ ใจนี้จะว่าหนักก็หนักจนเจ้าของยกไม่ขึ้น ถ้ายกขึ้นสู่ความดีงามได้ดังท่านผู้ดีทั้งหลาย ก็ควรจะผ่านพ้นความทุกข์ความไม่ดีทั้งหลายไปได้แล้ว นี่ใครก็นอนจมอยู่ในกองทุกข์และความสกปรกโสมมเรื่อยมา ทำไมจึงไม่ยกใจของตนขึ้นให้พ้นไปเสีย ทั้งที่รู้อยู่ด้วยกันว่า ทุกข์อันเกิดจากเหตุชั่วนั้นเป็นของไม่ดี ก็เพราะมันยกไม่ขึ้นนั่นเอง ใจมันชอบอยู่ในทุกข์โดยไม่รู้สึกตัว

            สิ่งที่เราไม่รู้นั่นแหละคือสิ่งที่เป็นนายเรา พูดแล้วก็ไม่พ้นจาก “กิเลส” อันเป็นตัวก่อเหตุสำคัญ ความไม่รู้ก็ต้องทำไปแบบสุ่มเดา ทำแล้วก็เกิดผลขึ้นมาเป็นความเดือดร้อนแก่ตนและผู้อื่นต่อเนื่องกันไปไม่มีที่สิ้นสุด มันติดอยู่ที่ว่า “ยกของหนักคือใจไม่ไหวถ้ายกไหว ก็ยกให้พ้นจากสิ่งกดถ่วงทั้งหลายที่ต่ำช้าเลวทรามไปนานแล้ว ไม่ต้องมาวกวนบ่นทุกข์บ่นยากกันดังที่โลกเป็นอยู่เวลานี้เลย ทั้งนี้ก็เพราะยกไม่ไหวไปไม่รอด จอดไม่ถูกตามกฎจราจรของธรรมนั่นเอง มันถึงเกิดขึ้นมาอยู่ในสภาพที่เกะกะคละเคล้ากับความทุกข์ยาก ทางปากกัดทางมือฉีก ทางใจบ่นเพ้อรำพึงอยู่ภายใน ที่เรียกว่า“กรรมของเรา กรรมของเขา ต่างคนต่างมีและรุมล้อมอยู่ที่ใจ”

         ไปก่อกำเนิดที่ไหนก็ต้องเสวยสุขทุกข์มากน้อยที่จิตพกไปด้วย ส่วนกุศลกรรมนั้นต่างกัน ส่งเสริมจิตให้เบาและมีความสุข

            คำว่า “ธรรม” เป็นความละเอียดสุขุมคัมภีรภาพมาก เมื่อจิตกับธรรมมีความเกี่ยวข้องกัน ใจแม้เคยหนักยิ่งกว่าภูเขา ก็กลายเป็นจิตเบาและเบาบางจากกิเลสกองทุกข์โดยลำดับ จะทำอะไรที่เป็นกุศลก็ง่าย ชื่อความดีความชอบแล้วทำง่าย!

            แต่ในระหว่างที่จิตจมอยู่กับความหนักหน่วงถ่วงใจนั้น มันยกอะไรที่เป็นความดีงามไม่ขึ้น อ่อนไปหมด ราวกับไม่มีกระดูกติดต่อกันในร่างกาย สู้ยอมจมอยู่อย่างนั้นไม่ได้ เพราะธรรมชาติที่จะให้จมนั้นมันมีน้ำหนักมากกว่า เทียบเหมือน “แม่เหล็ก” ที่ดึงดูดเหล็ก เศษเหล็กเล็กๆ น้อยๆ ก็วิ่งเข้าหา “แม่เหล็ก” ทั้งหมด เพราะแม่เหล็กมีกำลังมาก สามารถดึงดูดเศษเหล็กได้ตามกำลังของมัน

            กิเลสตัณหาอาสวะก็มีอำนาจดึงดูดจิตใจ ให้หลงกลมายาและรักชอบมันไม่มีวันจืดจาง เช่น ความโลภ โกรธ หลง ราคะตัณหา เป็นต้น ทั้งที่รู้แก่ใจว่าไม่ดี แต่ก็ไม่มีใครพอใจ “ละ” มัน นอกจากพอใจส่งเสริม พอใจคล้อยตามมัน โดยไม่มีการฝ่าฝืนต้านทานด้วยความพอใจ เหมือนเวลาพอใจหลงและติดมันส่งเสริมมัน ฉะนั้นจึงยากที่จะมีผู้ผ่านพ้นฝีมือของมันไปได้ เพราะต่างเคลิ้มหลับให้มันกล่อมจนหมดเพลง ความไม่เบื่อ ความลุ่มหลง ไม่มีสติระลึกรู้ตัวบ้าง ก็คือกิเลสกล่อมสัตว์โลกนั่นแล

            ท่านที่อยากเปลี่ยนฟังเพลงคือ “ธรรม” ก็จงพยายามยับยั้งชั่งตวงตัวเอง หมุนใจเข้าหาธรรมด้วยความพยายาม ยากก็พยายามลากเข็น พยายามต่อสู้ พยายามบึกบึน อย่ายื่นมือให้กิเลสฉุดลาก เดี๋ยวจะไม่มีหนังติดเนื้อ จะเปื่อยผุพังไปเพราะมันเสียหมด

            กิเลสมันเคยดัดสันดานสัตว์โลกมานาน ถ้าจะเข็ดก็ควรเข็ดได้แล้ว ไม่มีอะไรจะวิเศษวิโสไปกว่าเท่าที่รู้อยู่เห็นอยู่ในวงของกิเลสครอบงำนี้

            ความพากเพียรในธรรมมีเท่าไรจงทุ่มลงไป อย่ากลัวกิเลสเจ็บ อย่ากลัวกิเลสร้องไห้ ให้กลัวเราจมอยู่ในกองทุกข์เพราะกิเลสทำเหตุจะประเสริฐกว่า กิเลสไม่ใช่ของประเสริฐ ธรรมต่างหากประเสริฐเหนือโลก สติ ปัญญา ศรัทธา ความเพียร ในธรรมทั้งหลาย ไม่ใช่เนื้อไม่ใช่ปลาพอจะสงวนไว้เพื่อต้มแกงกิน จงนำออกมาใช้เพื่อประโยชน์ เพื่อประโยชน์มหาศาลแก่ตนในอัตภาพนี้ อย่ารอให้เขานิมนต์พระมาจัดการ “กุสลา มาติกา” ให้ ทั้งที่เรากำลังโง่อยู่ การนั้นจะไม่เป็นประโยชน์ยิ่งกว่าเราสร้าง “กุสลา ธมฺมา” คือ ความฉลาดขึ้นมาเองภายในใจขณะที่ยังมีชีวิตอยู่เวลานี้

            จงทราบว่า “กุสลา ธมฺมา” นั้นท่านสอนคนเป็นให้ฉลาด ไม่ได้สอนให้คนโง่ เราเป็นชาวพุทธและเป็นนักปฏิบัติ จงพิจารณาไตร่ตรองความหมายของธรรมให้ถูกต้อง อย่าคอยเสวยผลบุญและความฉลาดในเวลาเข้าโลงด้วย “กุสลา มาติกา บังสุกุล” นั่นคืองานที่เขาทำให้ในเวลาผู้ตายหมดหวังจากการบำเพ็ญด้วยตนเองแล้ว เขาก็ทำส่งเดชให้อย่างนั้นเอง ตามนิสัยคนที่รักและเคยมีบุญคุณต่อกัน มันไม่แน่เหมือนเราทำเอง คือสร้างกุศลเอาเองขณะที่มีชีวิตอยู่

            ถ้าแน่ใจในกุศลของตัวที่สร้างขึ้นมาว่าเต็มภูมิภายในใจแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องไปรบกวนพระท่านมา “กุสลา มาติกา” ให้ลำบากในเวลาตายหรือเวลาเข้าโลงแล้ว เพราะเราสมบูรณ์แล้ว กุสลา หรือไม่เราก็พอตัวแล้ว การตายทั้ง “อิ่ม” ไม่ใช่ตายทั้ง ‘หิว” นี้ดีมาก คำว่า “ตายทั้งอิ่ม” นั้นคือความเพียรพอในกุศลธรรมทั้งมวลภายในใจ ดังพระ-อรหันต์ท่านตาย ไม่เห็นใครกล้าไปอาจเอื้อมไปกุสลาให้ท่านถ้าไม่อยากขายตัว การตายของท่านก็ไม่เห็นลำบากรำคาญ ท่านมักตายคนเดียว อย่างสบายหายวุ่น แมลงหวี่แมลงวันก็ไม่ตอมเหมือนพวกเราชาวยุ่งชาววุ่น ตายแต่ละรายราวกับเกิดข้าศึกกลางเมือง

            เรื่องของท่านผู้สิ้นกิเลสความกังวลและกวนใจกับเรื่องของพวกเรา ต่างกันมากราวกับเกิดอยู่คนละโลก ทั้งที่ท่านก็เป็นมนุษย์เหมือนพวกเรา ฉะนั้นเราผู้เป็นศิษย์มีครูสั่งสอน ควรพยายามดัดจิตใจของตนให้เดินตามร่องรอยแห่งธรรม

            แม้ไม่ได้อย่างท่าน ก็พอเป็นเครื่องหมายแห่ง “ลูกศิษย์” ที่มีครูสอนบ้าง สิ่งที่ควรตัดก็ตัด สิ่งที่ควรละก็ละบ้างตามโอกาส ไม่ควรปล่อยตัวให้ติดจมอยู่กับเรื่องต่างๆ สิ่งต่าง ๆ จนไม่คิดหาทางออกจากทุกข์เพื่อตัวเอง ก็ดูว่าโง่เสียจนเลยขอบเขตเหตุผล

            ตามธรรมดาทั่ว ๆ ไป ใครมีอะไรมากน้อยใครก็รักสงวน โลกเป็นกันมาอย่างนั้นไม่ปฏิเสธ แต่ธรรมเครื่องป้องกันตัวรักษาตัว ก็ควรให้มีเป็นคู่เคียงกันไป จะไม่เสียเปรียบโลกคือกิเลสของตัวจนเกินไป

            คิดดู ! พระพุทธเจ้าผู้เป็นศาสดา ก็ทรงเสียสละและเสียสละจนหวั่นไหวทั้งแผ่นดินถิ่นที่ทรงปกครอง การเสียสละขนาดนั้นเป็นสิ่งเล็กน้อยได้หรือ ต้องเป็นเรื่องใหญ่โตมาก จนไม่มีใครสามารถทำได้อย่างพระองค์ เวลาเสด็จออกไปทรงผนวชแล้ว มีใครบ้างที่มีความสามารถอาจหาญทางความเพียร ความอดความทนในทุกสิ่งบรรดาปัจจัยทั้งสี่เหมือนอย่างพระพุทธเจ้า การลดฐานะจากความเป็นกษัตริย์ลงเป็นนักบวชอันเป็นเพศแห่งคนขอทาน ต้องเป็นเรื่องใหญ่โตมาก ฉะนั้นศาสนธรรมจึงเกิดขึ้นในท่ามกลางแห่งความลำบากทรมานของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่เกิดขึ้นเพราะความขี้เกียจอ่อนแอแบบสุกเอาเผากิน แต่เกิดขึ้นจากความรอดตายของพระสิทธัตถราชกุมารองค์อาชาไนย

            ใครจึงไม่ควรดุด่าลูกๆ หลานๆ ด้วยการประมาทพระศาสนาว่า “ไอ้นี่มันเกียจคร้านนัก เอาไปบวชเสีย” เพราะพระพุทธเจ้าไม่ใช่ช่างทำส้วม ธรรมของท่านไม่ใช่ส้วมพอจะเป็นเครื่องรับถ่ายมูตรคูถเช่นนั้น ศาสนาไม่ใช่ห้องน้ำห้องส้วมหลุมมูตรหลุมคูถ

            ผู้ที่ประกอบความเพียร ความเสียสละ ความอดความทน จนถึงเป็นถึงตาย จะมีใครเกินพระพุทธเจ้าไปได้เล่า นี่แหละต้นเหตุที่จะได้ธรรมอันประเสริฐเลิศโลกเกิดขึ้นและนำมาประกาศสอนโลกทั่วไป ท่านได้มาด้วยวิธีนั้นด้วยอาการนั้น ฉะนั้นการที่จะรื้อถอนตนให้พ้นจากทุกข์ จึงต้องอาศัยความพากเพียรอย่างเต็มกำลังความสามารถขาดดิ้นไม่ยอมลดละ ไม่ยอมถอยหลัง ถ้าถอยก็ต้องจมอีก ไม่ถอยก็ไม่จม ค่อยคืบคลานขึ้นมาด้วยความเพียรโดยสม่ำเสมอ ก็ย่อมจะผ่านพ้นไปได้

            ร่างกายเรานี้ไม่มีประโยชน์อะไร ถ้าไม่พาทำประโยชน์เสียแต่เวลานี้ ตายแล้วมีแต่เรื่องยุ่งกัน “โอ้โห ยุ่งมหายุ่ง นั่นซิมันดูไม่ได้ ไอ้เรื่องตายนี้ถือกันว่าเป็นเรื่องใหญ่โตมาก ยุ่งกันไปหมด คนเป็นนั่นแหละตัวยุ่ง หาอะไรมายุ่งกันไปหมด เห็นแต่พระตายก็ยังยุ่งมาก ซึ่งไม่น่าจะเป็นอย่างนั้นเลยก็ยังเป็นได้ ท่านตายแล้วเก็บหมักเก็บดองเอาไว้ไม่ทราบว่ากี่เรื่องกี่ราย จะทำปลาร้าหรือน้ำปลาก็ไม่ได้ แต่ใจชอบอย่างนั้น หลั่งไหลมายุ่งด้วยกันโดยไม่มีเหตุมีผลอะไรที่ไม่ควรเป็นเลย มันก็ยังเป็น เพราะใจมนุษย์นิยมชอบอย่างนั้น

            เวลายังมีชีวิตอยู่ จะสนใจประพฤติปฏิบัติคุณงามความดีให้เกิดจากสกลกายนี้ก็ไม่ค่อยสนใจ เวลาตายแล้วจะให้ร่างกายนี้เป็นประโยชน์ มันจะเป็นประโยชน์ได้อย่างไรกัน ถ้าไม่พาทำเสียตั้งแต่บัดนี้ ทำให้พอ ! ตายแล้วก็ทิ้งไปนั่นเอง จะเป็นประโยชน์อะไรอีก ถ้าเป็นประโยชน์อยู่จะตายไปทำไม มันไม่เป็นประโยชน์ เพราะหมดกำลังความสามารถสืบต่อแล้วมันถึงตาย ตายแล้วทิ้งลงไป อันใดที่เป็นสาระสำคัญซึ่งได้จากการกระทำของร่างกายนี้ ก็ถือเอาเป็นประโยชน์ต่อไป ชื่อว่าเป็นผู้ไม่ประมาท

            เวลานี้ชีวิตร่างกายของเรากำลังเป็นประโยชน์ ทำกิจการทางโลกก็เป็นประโยชน์ ทางธรรมก็เป็นประโยชน์ ฉะนั้นงานทั้งสองประเภทนี้ที่เรายังมีความสามารถทำได้อยู่ เราก็ต้องทำไม่อยู่เปล่า

            งานทางโลกก็ต้องทำ เพราะสังขารร่างกายมีความจำเป็นต่อสิ่งเยียวยารักษา อยู่เฉยๆ ไม่ได้ ต้องมีเครื่องนุ่งเครื่องห่มปกปิดสกลกาย มีที่อยู่อาศัย มีปัจจัยเครื่องสนับสนุน อาหารการบริโภคตลอดหยูกยา ไม่กำหนดกฎเกณฑ์ว่ามีมากมีน้อย เรื่องมนุษย์เป็นอย่างนั้น

            สัตว์เขาไม่มีอะไรมากเหมือนมนุษย์ ผ้านุ่งผ้าห่มเขาก็ไม่มี ที่นอนหมอนมุ้งเขาก็ไม่มี หยูกยาแก้โรคเขาก็ไม่มี เขายังมีความสืบต่อเป็นสัตว์มาได้

            แต่มนุษย์เรานี่ซิ ถ้าพูดตามความจริงก็ว่าอ่อนแอมากกว่าสัตว์ ไปที่ไหนพะรุงพะรังด้วยเครื่องนุ่งห่ม ด้วยเครื่องอยู่เครื่องกิน เตรียมกันไปเต็มที่เต็มทางกลัวแต่จะอดตาย หยูกยาปลาแป้งอะไรพากันหอบหิ้วให้ยุ่งไปหมด แม้จะไปวัดเพื่อภาวนาตัดกังวล ยังไม่สนใจคิดว่าความพะรุงพะรังน่ะคือความกังวลเป็นห่วงร่างกายกลัวจะอดตาย ยิ่งกว่าจะห่วงใจ

            การกล่าวทั้งนี้มิได้เจตนาตำหนิมนุษย์โดยถ่ายเดียว แต่เป็นอุบายเตือนมนุษย์ให้มีความเข้มแข็ง และรู้จักผ่อนหนักผ่อนเบา ไม่เป็นคลังแห่งความกังวลบนหัวใจโดยถ่ายเดียว แทนที่จะเป็นคลังแห่งธรรม

            ตามธรรมดาแล้วมนุษย์มีความฉลาดเหนือสัตว์ ความต้านทานของมนุษย์ก็ไม่เหมือนสัตว์ มันผิดกัน มนุษย์เราเกิดมาในท่ามกลางแห่งความช่วยเหลือจากผู้อื่น ฉะนั้นความเป็นอยู่ต่างๆ จึงต่างจากสัตว์เป็นธรรมดา แต่นักปฏิบัติธรรมควรคิดเรื่องนี้ไว้เสมอเพื่อกันความลืมตัวและอ่อนแอ เวลาไม่สบายมีเจ็บไข้เป็นต้น จิตใจจะไม่เข้มแข็งเพื่อค้นหาความจริงตามหลักสัจธรรม

            ครั้งพุทธกาลพระบางองค์ท่านได้สำเร็จอรหันต์ เพราะทุกขเวทนาเวลาเจ็บไข้ก็มี ทั้งนี้เพราะจิตใจเข้มแข็ง เพราะฉะนั้นการกล่าวนี้จึงกล่าวเพื่อจิตใจ โดยเฉพาะใจสำคัญมาก เพื่อใจไม่สะดุ้งกลัว ไม่ระส่ำระสาย ขาดสติปัญญาเครื่องพิจารณาในเวลาเจ็บป่วย ดังพระกรรมฐานท่านเที่ยวตามป่าตามเขา ตัวอย่างมีท่านอาจารย์มั่น เป็นต้น หยูกยาก็ไม่ได้ติดเนื้อติดตัวไปเลย เวลาเจ็บไข้

            “เอ้า โรคนี้เวลาจะเป็นขึ้นมา เป็นมาจากที่ไหน ก็เกิดขึ้นภายในร่างกายนี้ เช่น เจ็บไข้ ปวดหัว เป็นต้น เวลาเกิดมันก็เกิดขึ้นที่นี่ เวลาหายมันจะหาหยูกยาจากที่ไหน มันเกิดที่นี่มันก็ดับที่นี่ ถ้าร่างกายหรือจิตใจไม่มีความสามารถต้านทานกันมันก็ตายที่นี่ เกิดกับตายเป็นของคู่กัน โรคภัยไข้เจ็บที่เกิดขึ้นกับดับไป มันก็เป็นของคู่กัน มันจะเกิดจะดับที่ไหนถ้าไม่เกิดดับที่นี่” ท่านว่า

            “พวกสัตว์สาราสิงมีอยู่เต็มในป่าในเขานี้ เขาไม่ได้มีหยูกมียา เขาก็มีธาตุขันธ์เช่นเดียวกัน เขาอาจมีเจ็บไข้ได้ป่วยได้เช่นเดียวกับมนุษย์เรา แต่ทำไมเขาจึงไม่สูญพันธุ์ ทำไมเราจึงกลัวตายนัก อ่อนแอนัก!“ นี่ท่านพลิกใจของท่าน

            “เราต้องพิจารณาให้รู้ “สัจธรรม” เป็นธรรมโอสถเครื่องแก้กัน ไม่ให้จิตใจลุ่มหลงส่ายแส่ไปกับสิ่งเหล่านั้นอันจะก่อความทุกข์ให้กับตนมากขึ้น”

            ท่านก็พิจารณาจนกระทั่งทราบเรื่องเหตุเรื่องผล ทุกสิ่งทุกอย่างภายในร่างกายเวทนาจิตโดยตลอด โรคภัยไข้เจ็บหายไปเลยก็มีดังที่เขียนไว้ในประวัติของท่านอาจารย์มั่น

            แม้โรคมันจะไม่หายก็ตาม เรื่องจิตใจนั้นจะต้องมีความเข้มแข็ง มีความเฉลียวฉลาดต่อวิธีการปฏิบัติต่อตนเอง ซึ่งเกี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บเป็นพิเศษ ผิดกับคนธรรมดาอยู่มาก นี่ก็เคยไปปฏิบัติมาอย่างนั้นเช่นเดียวกัน เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยมากๆ ห้ามใครเข้าไปเกี่ยวข้องเลย ถ้าสมมุติว่าอยู่กับหมู่เพื่อนอย่างนี้ ก็ปิดประตูและบอกทันที และห้ามเด็ดขาดเลยว่า “ใครอย่ามาแตะต้องหรือเปิดประตูเป็นอันขาด ถ้าประตูนี้ไม่เปิดห้ามไม่ให้ใครเข้ามาเกี่ยวข้อง วันนี้จะต้องพิจารณาขุดค้นกันอย่างเต็มภูมิเต็มฐานทีเดียว เพราะว่านี่เป็นทุกขเวทนาซึ่งเกิดขึ้นจากการเจ็บไข้”

            ทุกขเวทนาที่เราเคยพบเพราะนั่งภาวนามาตั้งหลายชั่วโมง เรายังสู้ได้ พิจารณาแทงทะลุปรุโปร่งไปได้ ได้เหตุได้ผล ได้อรรถได้ธรรม ได้ความเฉลียวฉลาด ได้ความศักดิ์สิทธิ์ที่สำคัญขึ้นมาภายในใจแต่ละครั้ง ๆ ไม่เคยพลาดไปเลย แต่เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยนี้เราจะปฏิบัติอย่างไร ถ้าไม่ปฏิบัติอย่างนั้นเราจะปฏิบัติทางไหน ไม่มีทางหลีกเร้นได้ เพราะร่างกายนี้เป็นที่เกิดแห่งโรคต่างๆ ไม่มีประมาณ

            สติปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาความจริงซึ่งเกิดขึ้นนั้น โรคแต่ละชนิดที่เกิดขึ้นก็ทำให้เกิดทุกขเวทนา ทุกขเวทนานั้นเป็นสัจธรรม เราไม่พิจารณาสัจธรรมที่เกิดขึ้นกับเราเวลานี้เราจะพิจารณาอะไร เรากลัวสัจธรรมก็เท่ากับเรากลัวกิเลส เราสู้กิเลสไม่ได้ก็เท่ากับเรา “แพ้กิเลส” โดยตรง ถ้าเราพิจารณาสัจธรรมเข้าใจแจ่มแจ้งจริงแล้ว ก็ชื่อว่าเรามีความเฉลียวฉลาดเอาตัวรอดได้ เอ้า ค้นลงไปทีเดียว!

            ทุกข์เกิดขึ้นมาจากไหน เป็นขึ้นที่ตรงไหน ค้นลงไป สติปัญญาหมุนติ้วไปตามอาการของเวทนาที่แสดงตัวอยู่ในร่างกายส่วนต่างๆ กระทั่งทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นอย่างเต็มที่ในขณะนั้นได้หายไป ขยายตัวออกไป ๆ เพราะสติปัญญาไล่ต้อนเข้าสู่ความจริงไปโดยลำดับ เมื่อเจอความจริงที่ตรงไหน ทุกขเวทนาก็กระจายออก ๆ เห็นอย่างชัดเจนภายในใจ จนกระทั่งร่างกายทุกส่วนที่เป็นกองทุกข์ซึ่งเกิดจากการเจ็บไข้นั้น หายไปหมดเลย เหลือแต่ความรู้ล้วนๆ ที่สว่างไสวครอบร่างกายในขณะนั้น แม้แต่ร่างกายที่เคยปรากฏอยู่ในขณะนั้น พร้อมกับทุกข์ที่กลมกลืนเป็นอันเดียวกันนั้น เหมือนกับจะแยกกันไม่ออก ก็กลับกลายหายไป ทั้งร่างกายก็หายไป ทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นภายในร่างกายก็หายไป คือร่างกายหายไปในความรู้สึก เหลือแต่ความรู้ซึ่งเป็นสิ่งที่อัศจรรย์ล้วนๆ ทรงตัวอยู่ โดยไม่มีกำหนดกฎเกณฑ์ว่าอยู่สูงอยู่ต่ำอยู่ในดินฟ้าอากาศที่ไหน หายเงียบ ไม่มีร่างเป็นที่สิงสถิตอยู่ในความรู้สึกเวลานั้น นั่น! เห็นความอัศจรรย์ขึ้นมาแล้ว! พอถอนออกมาเท่านั้น “โรคหายไปเลย

            นี่เรียกว่า “สติปัญญาพิจารณาสัจธรรม” เมื่อรู้สัจธรรมแล้วจะไม่ถอนทุกข์ไม่ถอนกิเลสอาสวะจะถอนอะไร เพราะสัจธรรมก็เป็นความจริงแต่ละอย่าง ๆ คือทุกข์ก็เป็นความจริง สมุทัยก็เป็นความจริง สติปัญญาที่เรียกว่า “มรรค” ก็เป็นความจริง ต่างอันต่างจริง เมื่อเข้าถึงกันแล้วต่างก็เป็นความจริงล้วนๆ จิตจะปลอมมาจากที่ไหนอีกเมื่อได้ใช้สติปัญญาเป็นเครื่องซักฟอกแล้ว

            เพราะฉะนั้นจิตจึงแน่วแน่อยู่ตามความจริงของตน คำว่า “ยา” หายไปหมด เรื่องความคิดถึงหยูกถึง “ยา” คิดไม่ได้ ไม่มีเวลาไปคิด คิดไปไหน เมื่อคิดไปแล้วมันก็ไม่ได้ผล จึงไม่คิดให้เสียเวลา

            คิดที่ตรงนี้ ตรงที่ควรจะคิดนี้ เวทนามากน้อยเกิดที่ตรงนี้ การเจ็บไข้ได้ป่วยเกิดขึ้นที่ร่างกายนี้ พิจารณาที่ตรงนี้ สติปัญญาก็มีอยู่ที่นี่ ค้นกันลงที่นี่ หมุนติ้วๆ ลงไปที่นี่ พอได้ที่แล้วทุกขเวทนาก็หายหมด! นี่เรียกว่า “ไม่เสียผลเสียประโยชน์” เรียกว่า “รบข้าศึกได้ชัยชนะ

            หากจะตายในเวลานั้นจิตก็ไม่ย่อท้อ จิตก็สามารถรับรองตัวได้ หรือช่วยตัวเองได้ ไม่ให้ทุกขเวทนาทั้งหลายเข้ามาครอบงำจิตได้เลย เพราะอำนาจของสติปัญญารอบตัว หากว่าจะตายลงในขณะนั้น ก็ตายไปอย่าง “สุคโต” ทำให้เบาทั้งกายทั้งใจอย่างนี้เอง ใจนี้ทำให้ฉลาดก็ได้ทำให้โง่ก็ได้ แล้วแต่ผู้นั้นจะปฏิบัติตัวอย่างไร

            ถ้าจะให้ “จมอยู่” ตั้งกัปตั้งกัลป์ก็จมได้ ไม่มีวันอิ่มพอในความจม จมอยู่ใน “วัฏสงสาร” นั่นเอง มีความ เกิด แก่ เจ็บ ตาย นั้น มันอิ่มพอที่ไหนกัน ถ้าอิ่มพอกันได้ สัตว์โลกก็ไม่ควรจะมาเกิดตายกันไม่หยุดอย่างนี้

            ท่านจึงสอนว่า “นตฺถิ ตณฺหาสมา นที” แม่น้ำเสมอด้วยตัณหาไม่มี” ก็ตัณหานี้แลพาให้สัตว์เกิดตายไม่มีเวลาอิ่มพอ เพราะตัวเหตุคือตัณหาไม่เคยมีความอิ่มพอ ความเกิดตายอันเป็นเครื่องผลักดันจากตัณหา จะหยุดตัวและอิ่มตัวได้อย่างไรเล่า

            ฉะนั้นการจะให้ความอิ่มพอของความทุกข์และการเกิดตายเป็นไปเอง โดยไม่กำจัดต้นเหตุคือ “ตัณหาอวิชชา” ให้สิ้นไปจากใจ จึงเป็นความหวังที่ลอยลม ไม่มีความหมายใดๆ ทั้งสิ้น อย่าพากันหาญคิด!

            การเกิดนั้น เกิดเท่าไรตายเท่านั้น ตายเท่าไรเกิดเท่านั้น หรือมากยิ่งขึ้นไป เพราะสิ่งที่จะทำให้เกิดคือกิเลสอวิชชาพอตัวเมื่อไร มันไม่เคยมีความพอตัวเลย“นตฺถิ ตณฺหาสมา นที” แม่น้ำทะเลหลวงมหาสมุทร ก็สู้ความอยากที่จิตที่เต็มไปด้วย “ตัณหา” นี้ไม่ได้ ความอยากก็คือกิเลสนี่เอง มันมีความพอตัวที่ไหน จงทำความเข้าใจอย่างถึงใจว่า ถ้าจะปล่อยให้สิ่งเหล่านี้พอตัวไปเอง กี่กัปกี่กัลป์ก็ไม่มีหวัง ไม่มีฝั่งไม่มีแดนเลย เพราะฉะนั้นจึงควรพยายามแก้ พยายามคลี่คลาย พยายามบึกบึน พยายามต่อสู้สลัดปัดกิเลสเครื่องพัวพันทั้งหลายออก เพื่อเข้าหาฝั่งหาแดนพ้นทุกข์ไปได้โดยลำดับ ด้วยศรัทธา ความเพียร มีสติปัญญาเป็นสำคัญ!

            จงค้นคิด พิจารณาลงที่นี่!

            พระพุทธเจ้า สาวกทั้งหลายท่านพ้นทุกข์ ท่านไม่ได้พ้นจากที่ไหน ท่านพ้นที่กองทุกข์นี้แล แต่ถ้าไม่พิจารณากองทุกข์ก็ไม่พ้น ต้องถือเอาทุกข์เป็นหินลับสติปัญญาให้มีความแกล้วกล้าสามารถรู้เท่าทันกันกับสัจธรรมทั้งสี่ ทุกข์ทั้งหลายจะไม่เป็นภัยต่อจิตใจอีกต่อไป ทุกข์จะปรากฏตัว “สักแต่ว่าทุกข์” แม้จะไม่ดับไปก็ตาม เพราะอำนาจแห่งสติปัญญาพิจารณารู้รอบทั่วถึงแล้ว ทุกขเวทนาจะตั้งอยู่ตามความจริงของตน ไม่สามารถเข้ามากระเทือนจิตใจได้เลย เพราะปัญญารอบตัวอยู่แล้ว จิตก็จะตั้งอยู่ตามความจริงของตัว ต่างอันต่างจริง ไม่มีอะไรกระทบกระเทือนกัน เมื่อความจริงเข้าถึงกันแล้วไม่เกิดเรื่องต่อกัน

            อันเรื่องความจริงกับความปลอมที่มันวุ่นกันอยู่นี้ ก็เพราะความจอมปลอมขึ้นแซงหน้าไปเรื่อยๆ มันจึงทำให้จิตจมอยู่เรื่อยๆ เราเคยบ่นกันมากเหลือเกิน คือบ่นอยากจะพบความสุขความเจริญ แล้วความสุขความเจริญนั้นอยู่ที่ไหน ? เวลานี้ผู้ต้องการความสุขความเจริญจมอยู่กับอะไร ? ถึงหาความสุขความเจริญไม่ได้ไม่เจอ ทั้งๆ ที่เราปรารถนาความสุขความเจริญด้วยกันทั้งโลก ถ้าไม่แก้สาเหตุในจุดนี้แล้ว ก็ไม่มีทางพบความสุขความเจริญได้อย่างพึงใจเลย การปล่อยให้จิตพอตัวแล้วพ้นทุกข์ไปเอง และการปล่อยให้กิเลสพอตัวแล้วสลัดปัดทิ้งคน ปล่อยคนให้เป็นอิสระ เหมือนเขาปล่อยนักโทษออกจากเรือนจำนี่ไม่มีหวัง


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก