มายากิเลส
วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2519 ความยาว 39.43 นาที
สถานที่ : ศาลาโรงครัว วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)

ค้นหา :

เทศน์โปรดคุณเพาพงา วรรธนะกุล ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๑๙

มายากิเลส

 

         การฟังธรรมทางด้านปฏิบัติ ทั้งผู้เทศน์ทั้งผู้ฟัง ส่วนมากไม่ค่อยมีคำว่า “พิธี” เช่น ฟังพอเป็นพิธี เทศน์พอเป็นพิธี อย่างนี้ทางภาคปฏิบัติไม่ได้นำมาใช้กัน สำหรับผู้มุ่งอรรถมุ่งธรรมจริงๆ ไม่นำมาใช้ ถ้ามุ่งโลกามิสอยู่แล้วอาจนำมาใช้ แต่ถ้ามุ่งต่อโลกามิสก็ไม่เรียกว่า “ปฏิบัติ” มันขัดกันตรงนี้.

         ทางด้านปฏิบัติแล้วไม่มีพิธีอะไรมาก ผู้เทศน์ตั้งใจเทศน์ให้ผู้ฟังได้รับความเข้าใจจริงๆ ด้วยเจตนา ผู้ฟังก็ตั้งใจฟังด้วยความสำรวมระวังจิตของตน ไม่ให้ส่งไปที่อื่นๆ ในขณะที่ฟัง ทำความรู้สึกอยู่กับใจของตนเท่านั้น โดยไม่จำเป็นต้องส่งกระแสจิตออกมาภายนอกเพื่อรับเสียง เช่น ส่งออกมาสู่ผู้เทศน์ เป็นต้น อย่างนี้ไม่ควร เพราะจะขาดกำลังภายในใจ ที่จะพึงได้รับจากการฟัง ด้วยจิตจดจ่อต่อเนื่องกันอยู่เฉพาะภายใน

         เมื่อได้ตั้งจิตไว้เฉพาะหน้าคือมีความรู้สึกอยู่กับตัว นั้นแลถ้าจะเทียบก็คือคนอยู่ในบ้าน แขกคนมาจากที่ไหนเข้ามาเกี่ยวข้องในบ้านนั้น เจ้าของก็รับทราบว่าแขกนั้นมาธุระอะไรบ้าง นอกจากเจ้าของไม่อยู่บ้านเสียเท่านั้น แม้เขาจะมาขโมยของไปกี่ชิ้น กี่ร้อยกี่พันอย่าง ก็ไม่ทราบได้เลย

         จิตที่อยู่กับตัว ขณะท่านแสดงธรรมหนักเบา จะต้องรับทราบทุกระยะ เพราะใจอยู่กับตัวเหมือนคนอยู่ในบ้าน ถ้าความรู้สึกได้ส่งออกไปจากตัวเสีย การฟังเทศน์ก็ไม่เข้าใจ ไม่ค่อยรู้เรื่อง ผลไม่ค่อยเกิด ถ้าเป็นกิเลสล้วงเข้าไป เอาอะไรไปหมด เหมือนกับโจรผู้ร้ายขโมยของอะไรภายในบ้านก็ไม่รู้ เราไม่เคยทำจริงทำจัง จะไปตำหนิติเตียนตู่โทษพระพุทธเจ้า พระสาวก และพุทธบริษัททั้งหลายว่า “เวลาพระพุทธเจ้าทรงเทศน์ คนได้สำเร็จมรรค ผล นิพพาน” จะสำเร็จอย่างไรเพียงเทศน์เท่านั้น โดยผู้ฟังไม่ตั้งใจฟัง นอกจากคุยกันแข่งพระเทศน์เท่านั้น บางคนไม่เชื่อก็มีว่าผู้เทศน์จะสามารถยังผู้ฟังให้สำเร็จ มรรค ผล นิพพาน ได้ และผู้ฟังก็ไม่สามารถจะบรรลุธรรมได้ในขณะที่ฟัง

         นี้เป็นความคิดเห็นของคนประเภทลอยลม หาหลักเกณฑ์ไม่ได้ สักแต่ว่าเท่านั้นตามความลอยลมของตน ถือศาสนาก็สักแต่ว่าถือ ถามว่าถือศาสนาอะไร ถือศาสนาพุทธ ก็มีแต่ชื่อของพระพุทธเจ้าเต็มปากเต็มคอ แต่ไม่เคยมีธรรมเข้าไปเกี่ยวข้องกับหัวใจเลย ขึ้นชื่อว่าพุทธ ว่าธรรม ว่าสงฆ์ ไม่ใช่เป็นของเล็กน้อย ไม่ใช่เป็นของเล่น ไม่ใช่ของพิธี ที่จะนำมาทำเล่นๆ อย่างนั้น ประเภทที่เล่นๆ นี้แลเป็นประเภทที่ทำลายศาสนาได้อย่างแท้จริง ดังที่เราทราบๆ กัน จะมีเจตนาหรือไม่มีไม่สำคัญ เช่นไม้หลุดจากมือเราตกลงไปทับเท้าของเรามันก็เจ็บได้ ทั้งๆ ที่เจ้าของไม่มีเจตนา หรือมีดถูกมือเจ้าของโดยไม่มีเจตนา หรือฟันมือก็เจ็บได้เป็นแผลได้ คำพูดที่เป็นภัยต่อศาสนาก็เป็นได้ทำนองเดียวกันนี้

         ท่านปฏิบัติจริงๆ พระพุทธเจ้าก็ปฏิบัติจริง เอาเป็นเอาตายเข้าว่ากันจริงๆ พระสาวกก็ปฏิบัติจริงๆ ฟังจริงๆ พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมด้วยพระเมตตา มีเจตนาเพื่อสัตว์โลกให้รู้แจ้งเห็นจริงในธรรมตามกำลังความสามารถสัตว์โลก ทุกระยะแห่งการแสดงธรรมของพระองค์ ไม่ทรงลดละเจตนาที่หวังจะให้สัตว์โลกได้รับผลประโยชน์จากการฟังนั้นเลย ท่านเต็มเม็ดเต็มหน่วยในการปฏิบัติ เวลาตรัสรู้ธรรมก็เต็มเม็ดเต็มหน่วย โลกทั้งหลายไม่มีใครที่จะสามารถทำได้อย่างพระองค์

         นี่โลกปัจจุบัน คือพวกเราอาจจะลบล้าง คือปฏิเสธก็ได้ว่า “ไม่จริง”

         ท่านทำถึงขนาดนั้นแต่เราว่า “ไม่จริง” เพราะเราไม่เคยทำอย่างท่านจะเอาความจริงมาจากไหน เห็นคนอื่นทำเราก็คัดค้าน เห็นคนอื่นขยันเราขี้เกียจ ก็ไปคัดค้านเขา เขาฉลาด เราโง่ ก็ไปตำหนิเขา ทั้งที่เราไม่มีความสามารถอย่างนั้น

         พระพุทธเจ้าท่านทรงสามารถทั้งด้านปฏิบัติ สามารถทั้งความรู้ความเห็นเต็มภูมิของพระองค์ การประทานพระโอวาทแก่สัตว์โลก จึงต้องประทานเต็มพระสติปัญญาความสามารถทุกสิ่งทุกอย่าง ให้สมภูมิกับคำว่า “ศาสดาของโลก” แม้ผู้ฟังก็ฟังด้วยเจตนาอย่างนั้นด้วย ผลไม่เป็นไปตามเจตนา ไม่เป็นไปตามการกระทำที่ถูกต้องดีงาม จะเป็นอื่นไปได้อย่างไร ? เพราะเหตุกับผลเป็นความเกี่ยวเนื่องกันเป็นลำดับอยู่แล้ว การทำเต็มเม็ดเต็มหน่วย ผลจะไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยได้อย่างไร ต้องเต็ม ! ต้องได้ ! เพราะฉะนั้น ครั้งพุทธกาล ท่านแสดงธรรม ผู้บรรลุธรรมจึงมีเป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุผลดังที่กล่าวมานี้

         ครั้นตกมาสมัยทุกวันนี้ ศาสนาซึ่งเป็นของแท้ของจริง ของท่านผู้วิเศษ ของท่านผู้ทำจริงรู้จริงเห็นจริง สั่งสอนสัตว์โลกจริงด้วยธรรมนั้นๆ แต่ธรรมเหล่านี้ถูกกลายเป็น “ธรรมพิธีไปตามโลก ซึ่งเป็นโลกพิธี ผู้นับถือกันเป็นพิธี ผลก็เป็นไปแบบรางๆ อย่างนั้นแล อะไรๆ เลือนๆ รางๆ จางไปหมด ปลอมไปหมด เพราะหัวใจเราให้ปลอม ถ้าหัวใจไม่จริงเสียอย่างเดียว อะไรก็ปลอมไปหมด

         เวลานี้ศาสนธรรมกำลังอยู่ในระยะหรือจุดนี้ ! ส่วนพวกเราจะอยู่ในจุดไหน ระยะใด จะเป็นแบบนี้หรือเป็นแบบไหน !

         ถ้าเราต้องการเป็นแบบแก่ตัวเองตามหลักความจริง ที่ท่านสอนไว้ด้วยความจริง เราก็ต้องทำจริง ปฏิบัติให้จริง นี่เป็นการเตือนให้เราทั้งหลายซึ่งเป็นกันเอง ได้ทราบถึงข้อเท็จจริงของศาสนาและผู้ปฏิบัติศาสนา ว่าผลจะเป็นจริงและได้รับมากน้อยเพียงไร หรือกลายเป็นโมฆะไปหมด เพราะเหตุผลที่กล่าวมานี้ไม่เป็นความจริง

         การฟังธรรมซึ่งเป็นหลักสำคัญที่ปฏิเสธไม่ได้ในการรับผล ก็คือฟังด้วยความตั้งอกตั้งใจ มีความรู้กับมีสติกำกับอยู่กับตัวเป็นหลักใหญ่ ชื่อว่าได้ตั้งภาชนะไว้เรียบร้อยแล้ว การแสดงธรรมถ้าท่านผู้รู้จริงเห็นจริงแสดง จะไม่หนีธรรมของจริง ของจริงกับของจริงต้องเข้ากันได้ ผู้ฟัง ฟังจริงๆ ผู้แสดง แสดงจริงๆ แสดงด้วยอรรถธรรมอันเป็นข้อเท็จจริงจริงๆ ไม่ได้คว้าหรือลูบๆ คลำๆ มาแสดง ต้องเข้าใจตามหลักธรรมนั้นๆ

ธรรมทั้งหมดท่านมีไว้เพื่ออะไร ? ถ้าเป็นน้ำ ก็มีไว้สำหรับอาบดื่มใช้สอย ซักฟอกหรือล้างสิ่งสกปรกโสมมทั้งหลาย ธรรมก็เป็นเช่นนั้นเหมือนกัน เพราะพวกเราเป็นพวกสกปรกทั้งนั้น บรรดาจิตใจที่มีกิเลสเป็นจิตใจที่สกปรก กายวาจาที่เป็นรวงรังของกิเลส และจิตที่เป็นรวงรังของกิเลส มันจึงเป็นเรื่องสกปรกไปตามๆ กันกับกิเลสซึ่งมีอยู่ภายใน ท่านจึงต้องหาน้ำที่สะอาดคือธรรมมาสั่งสอน หรือชะล้างจิตใจของพวกเรา

ธรรมที่สะอาดก็คือ “สวากขาตธรรม” ตรัสไว้ชอบแล้ว นี่แสดงว่าสะอาดเต็มที่แล้ว “นิยยานิกธรรม” เป็นธรรมที่รองรับ เหมือนกับน้ำเป็นเครื่องรองรับ ชะล้างสิ่งสกปรกทั้งหลายให้สะอาด เช่นนั้นได้ไม่เป็นอย่างอื่น ธรรมก็เป็นธรรมชาติที่สะอาดเช่นนั้น สำหรับชะล้างสิ่งสกปรกในหัวใจของสัตว์ให้สะอาด ขอให้หัวใจนี่จดจ่อเพื่อความสะอาดเถอะ ผลการฟังจะทำให้ใจสงบระงับ และสะอาดผ่องใสได้ไม่สงสัย เมื่อใจสงบผ่องใส กาย วาจา หากค่อยเป็นไปเอง เพราะนี่เป็นเครื่องมือเท่านั้น

         ที่สำคัญจริงๆ ก็คือใจซึ่งเป็นตัวการ หากใจยอมรับความจริง ใจยอมรับที่จะซักฟอกตัวเองแล้ว ต้องมีวันสะอาดขึ้นสักวันหนึ่งจนได้ จากน้ำสะอาดคือ “ธรรม” พระพุทธเจ้าทรงประกาศสอนโลก และทรงใช้ต่อโลกมานานแล้ว ได้รับผลที่พอใจมาโดยลำดับ แม้คำว่า “สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ” เรากล่าวถึงท่านเพื่อประโยชน์อะไร ถ้าไม่ใช่เป็นผู้สะอาดหมดจดเต็มที่แล้วจาก “น้ำ” คือพระสัจธรรมของพระพุทธเจ้า ชำระเสียจนสะอาด “ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ” ซึ่งเป็นธรรมที่บริสุทธิ์แท้ ไม่ออกมาจากพระทัยที่บริสุทธิ์ของพระพุทธเจ้าจะออกมาจากไหน พระทัยที่จะบริสุทธิ์ได้ เพราะการชำระสะสาง การขัดเกลา การชำระล้างด้วยอรรถด้วยธรรม เป็นความจริงมาโดยลำดับๆ จนกระทั่งถึงปัจจุบันเรานี้ ธรรมก็เป็นธรรมชาติที่สะอาดอยู่เสมอมา สำหรับล้างสิ่งสกปรกโสมมของสัตว์โลก

         ถ้าเราคิดตามธรรมดาอย่างเผินๆ อย่างโลกที่สมมุติทั่วๆ ไปก็ว่า เรานี้สะอาดที่สุดไม่มีใครจะหยิ่งยิ่งกว่าคนโง่ ไม่มีใครจะสะอาดยิ่งกว่าคนโง่ที่สกปรก ถ้าพูดตามธรรมแล้วเป็นอย่างนี้ เมื่อเราทราบว่าเราสกปรกทางใจ ซึ่งเต็มไปด้วยกิเลสโสมมแล้ว เราต้องเป็นผู้มุ่งต่ออรรถต่อธรรมเป็นเครื่องชะล้าง   ดังที่ท่านทั้งหลายได้อุตส่าห์สละเวล่ำเวลาหน้าที่การงาน ตลอดจนชีวิตจิตใจมาเพื่อบำเพ็ญตนเช่นนี้ จึงเป็นความถูกต้องตามแนวทางที่พระพุทธเจ้าทรงดำเนินมาที่เรียกว่า “อริยประเพณี” ประเพณีของพุทธบริษัทที่ดีงามของพระพุทธเจ้าท่านดำเนินมาอย่างนั้น จึงขอขอบคุณขออนุโมทนากับท่านทั้งหลายไว้ในโอกาสนี้ด้วย นอกจากเป็นความดีสำหรับตนแล้ว ยังเป็นคติตัวอย่างแก่อนุชนรุ่นหลังอีกไม่มีสิ้นสุด

         คำที่ว่าพวกเราสกปรกนี้ก็พอจะทราบกันได้ คำว่าสกปรก สกปรกเพราะอะไร? เพราะขี้โลภ ขี้โกรธ ขี้หลง ขี้สามกองนี้เต็มอยู่บนหัว บนหัวอะไร ก็บนหัวใจนั้นแล นี้นักปราชญ์ทั้งหลายท่านตำหนิติเตียน ท่านขยะแขยงมาก แต่พวกเราชอบจึงไม่รู้สึกตัว เมื่อไม่รู้สึกตัวก็ไม่รู้สึกสนใจในสิ่งที่จะนำมาชำระล้าง เห็นผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมก็ดูถูกเหยียดหยาม มีเยอะสมัยจรวดนี้จะว่ายังไง? เพราะความเห็นผิด ต้องผิดไปเรื่อยๆ อะไรทำให้เห็นผิด? ถ้าไม่ใช่หัวใจที่เต็มไปด้วยกิเลสซึ่งเป็นตัวผิดทั้งเพนั้น ถ้าจิตใจผิดไปด้วยก็พาให้แสดงออกทุกแง่ทุกมุมผิดไปตามๆ กัน จนกระทั่งกาย วาจา ที่แสดงออก ผิดไปทั้งนั้น เพราะสิ่งที่ทำผิดที่มีอยู่ภายในจิตใจนั้นไม่ต้องมากมายอะไรเลย ตัวนั้นเป็นตัวการ

         พระพุทธเจ้าท่านจึงสอนให้ชำระให้ล้าง การฟังเทศน์ฟังธรรมก็เป็นการชะล้างจิตใจของตนด้วยธรรม คือในขณะที่ฟังธรรม ท่านว่ามีอานิสงส์เกิดขึ้นจากการฟังธรรม อานิสงส์คือ ผลที่เกิดขึ้นในขณะที่ฟังนั้นแล ทำจิตของเรา อย่างน้อยมีความสงบเย็นใจ รู้เหตุรู้ผล รู้ทางดีทางชั่ว และรู้วิธีจะปฏิบัติต่อตนเอง ข้อสำคัญ ใจมีผ่องใสขึ้น ได้รับความร่มเย็นในขณะฟัง นี่คือผลที่เกิดขึ้นจากการฟังธรรม ท่านว่ามีอานิสงส์ ๕ เราจะคอยเอาอานิสงส์ที่ไหน ถ้าไม่เอาในขณะที่ฟัง เพราะการฟังก็คือการบำเพ็ญอยู่แล้ว ผลต้องเกิดตามมาในขณะนั้นๆ มีความสงบเย็นใจเป็นต้น

         หากว่ากิเลสอาสวะเป็นวัตถุ และเป็นตัวข้าศึก เช่นเสือร้ายเป็นต้นแล้ว คนเราจะอยู่ในโลกด้วยกันไม่ได้เลย มองดูคนไหนก็เห็นแต่เสือร้าย ทั้งเหยียบย่ำทั้งเดินเพ่นพ่าน ทั้งนั่งทั้งนอน ทั้งขับถ่าย ทั้งหยอกเล่นกัน ทั้งกัดฉีกและถลกหนังเล่นอยู่บนหัวเหมือนกันหมด คนทั้งคนมีแต่เสือร้ายที่จดจ้องย่องกัดอยู่บนหัวคน แล้วก็กัดฉีกหัวคนลงไปเรื่อยๆ ไม่หยุด นอนอยู่ก็กัด ยืนอยู่ก็กัด เดินอยู่ก็กัด นั่งอยู่ก็ฉีก อะไรๆ ก็ฉีกทั้งนั้น กิริยาความเคลื่อนไหวต่างๆ มีแต่เสือร้ายมันกัดมันฉีกอยู่ตลอดเวลา จะหาเนื้อหาหนังหาเอ็นหากระดูกมาจากที่ไหน ให้ติดให้ต่อกันเป็นรูปเป็นกาย เป็นหญิงเป็นชาย เป็นสัตว์เป็นบุคคล เป็นเราเป็นท่านอย่างที่เป็นอยู่นี้ได้เล่า มองดูคนนั้นก็เป็นแบบนี้ มองดูคนนี้ก็เป็นแบบนั้น เยิ้มไปด้วยบุพโพโลหิตน้ำเน่าน้ำหนอง เพราะถูกเสือมันกัดมันฉีก มันทำลายอวัยวะส่วนต่างๆ ของมนุษย์เรา

         กรุณาดูลวดลายของกิเลสมันแสดงออกกับโลกทั่วๆ ไป เป็นอย่างนี้ ถ้ากิเลสมันเป็นตัวเป็นตนอย่างนี้ แต่มันไม่ได้เป็นตนเป็นตัวอย่างนี้ โลกจึงไม่เห็นโทษของมัน และกลับเห็นว่าเป็นของดีเสียอีก เมื่อไปเสกสรรมันว่าเป็นของดี คือเห็นของชั่วว่าเป็นของดี เห็นของดีว่าเป็นของชั่วแล้ว ผลก็ต้องกลับตาลปัตรกันไป สิ่งที่ควรจะได้รับเป็นความสุข แต่มันกลายเป็นความทุกข์ไปหมด ที่โลกร้อน ร้อนเพราะอะไร? ถ้าไม่ใช่เพราะกิเลสเพราะความโลภมาก  เพราะความเห็นแก่ตัวมาก เป็นต้น

         ทุกวันนี้เขาพูดว่า “โลกเจริญ” มันเจริญที่ตรงไหน? ถ้าพูดตามหลักความจริงแล้วมันเจริญที่ตรงไหน คนกำลังจะถูกเผาทั้งเป็นกันอยู่แล้ว เพราะความทุกข์มันสุมหัวใจเวลานี้ จะหาความเจริญมาจากไหน ความเจริญก็ต้องเป็นความสงบสุข ความสะดวกสบาย ความเป็นอยู่สบาย หน้าที่การงานสะดวกสบาย การคบค้าสมาคมสะดวกสบาย อยู่ด้วยกันเป็นหมู่เป็นคณะมีจำนวนมากน้อย เป็นความสะดวกสบาย ไม่ทะเลาะเบาะแว้ง ไม่แข่งดิบแข่งดีที่เรียกว่า “แข่งกิเลสกัน” ไม่ฆ่าไม่ตี ไม่แย่งไม่ชิง ไม่คดไม่โกง ไม่กดขี่บังคับ ไม่รีดไม่ไถ ซึ่งกันและกัน อันเป็นการทำลายสมบัติและจิตใจของกันและกัน

         ในขณะเดียวกัน ต่างก็เห็นอกเห็นใจกัน เมตตาสงสารกัน เฉลี่ยเผื่อแผ่ ให้ความเสมอภาคด้วยความมีเมตตากรุณาต่อกัน ไม่อิจฉาริษยากัน ไม่เบียดเบียนกัน อยู่ด้วยกันฉันพี่น้องเลือดเนื้ออันเดียวกัน จะเรียกว่าโลกเจริญได้ตามความจริง โลกได้รับความสงบสุขทั่วหน้ากัน ทั้งคนมีคนจน คนโง่คนฉลาด โลกไม่ดูถูกเหยียดหยามกันและกัน นำความยิ้มแย้มแจ่มใสออกทักทายกัน ไม่แสดงอาการบูดบึ้งใส่กัน ต่างคนต่างมีเหตุมีผลเป็นหลักดำเนิน

         เมื่อพูดตามความเป็นจริงแล้ว ทุกวันนี้โลกเป็นอย่างนี้ไหม? ถ้าเป็นอย่างนี้เรียกว่าโลกเจริญจริง แต่ทั้งๆ ที่ว่า “เวลานี้โลกกำลังเจริญ”จึงทำให้สงสัยว่ามันเจริญอะไรบ้าง? เจริญที่ตรงไหน?

         ถ้าเจริญด้วยวัตถุเครื่องก่อสร้าง จะสร้างเท่าไหร่ก็ได้ ถ้าไม่แบกกองทุกข์เพราะอะไรท่วมหัวน่ะ

         ทีนี้ย้อนเข้ามาหาตัวของเรา วันหนึ่งคืนหนึ่งตั้งแต่ตื่นขึ้นมา หมุนตัวเป็นเกลียวอยู่ตลอดเวลาเหมือนกงจักร การที่กายและใจหมุนเป็นกงจักร ไม่มีเวลาพักผ่อนตัวบ้างเลยเช่นนี้เป็นความสุขหรือ? คนเดินทางไม่หยุด คนวิ่งไม่มีเวลาหยุด เป็นความสุขหรือ? ความจริงต้องมีเวลาพักผ่อนนอนหลับให้สบายบ้าง คนเราถึงจะมีความสุข การคิดมากต้องวุ่นมากทุกข์มาก ถ้าหนักเข้าต้องเป็นโรคประสาท ธาตุขันธ์ที่เต็มไปด้วยโรคภัยไข้เจ็บ ทั้งเจ็บหัว ปวดท้อง เต็มอวัยวะ คนนั้นมีความสุขหรือ?

         กิเลสมันชอนมันไชมันกัดมันฉีกอยู่ตลอดเวลา ทุกอาการที่เคลื่อนไหวแห่งจิตใจ นั่นมีความสุขหรือ? โลกเจริญแล้วหรืออย่างนั้น? ความกัดฉีกของกิเลส ผลที่เกิดขึ้นจากการกัดการฉีกของกิเลสมันก็มีแต่กองทุกข์ทั้งนั้น หาความสุขไม่มี เมื่อเป็นเช่นนี้จะเอาความสุขมาจากไหน? เวลาที่ย้อนเข้ามาดูที่ตัวเรา มันก็เป็นไฟอยู่ภายในจิตใจ เพราะกิเลสก่อไฟเผาใจอยู่ตลอดเวลา “ราคคฺคินา โทสคฺคินา โมหคฺคินา” นั่น ฟังซิ! “ไฟคือราคะ ไฟคือโทสะ ไฟคือโมหะ” ไฟคือความโลภ ความโกรธ ความหลง มันเผาอยู่ที่ใจ

         ขึ้นชื่อว่า “ไฟ” ไม่ว่าจะก่อที่ไหนเวลาใดมันร้อนที่นั่น ถ้าไฟที่มันลุกโพลงขึ้นมาภายในจิตใจ คือไฟโลภะ โทสะ โมหะ มันต้องเผาที่จิตใจ แม้กายก็จำต้องรับทุกข์ไปด้วย รับประทานไม่ได้ นอนไม่หลับ ไม่มีแรง

ตามหลักธรรมท่านสอนไว้ว่า “โก นุ หาโส กิมานนฺโท นิจฺจํ ปชฺชลิเต สติ อนฺธกาเรน โอนทฺธา ปทีปํ น คเวสถ” เป็นต้น เมื่อโลกสันนิวาสนี้ เต็มไปด้วยความมืดมนอนธการ เพราะอำนาจแห่งกิเลสตัณหามันแผดเผาอยู่ตลอดเวลา พวกท่านทั้งหลายเพลิดเพลินหัวเราะร่าเริงกันหาอะไร? ทำไมจึงไม่รีบแสวงหาที่พึ่ง มาเพลินอยู่กับไฟทำไมกัน เพราะ “ความลืมตัว ประมาท” นั่น! ท่านสอนฟังซิ ถึงใจไหม? พระพุทธเจ้าสอนโลกน่ะ

         ถ้าเราฟังเพื่อถอดถอนกิเลส มันถึงใจจนน่าละอายตัวเอง เมื่อฟังด้วยความถึงใจแล้ว ทำไมจิตใจจะไม่เห็นโทษ และมีความกระหยิ่มต่อคุณงามความดีทั้งหลาย ทำไมจะไม่มีความพอใจแก้กิเลสตัณหาอาสวะ ซึ่งลุกเป็นไฟทั้งกองอยู่ในจิตใจอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยเล่า และกิเลสทำไมจะไม่หลุดลอยออกไป เมื่อได้ทำความเพียรถอดถอนมันด้วยความถึงใจ ด้วยความเห็นโทษของกิเลสอย่างถึงใจ ของผู้แสวงหาความจริงอย่างเต็มใจ

         นี่แหละบรรดาสาวกและพุทธบริษัททั้งหลายที่ท่านรู้เห็นธรรม เวลาท่านเห็นโทษก็เห็นอย่างถึงใจจริงๆ การทำความเพียรพยายามถอดถอน ก็ทำอย่างถึงใจ เวลารู้จึงรู้ถึงเหตุถึงผลถึงจิตถึงใจจริงๆ และถึงความหลุดพ้นไปด้วยความถึงใจ ไม่ใช่เป็นเรื่อง “พิธี” เช่น รับศีลก็รับศีลพอเป็นพิธี อะไรๆ ก็ทำเป็นพิธี ฟังธรรมก็พอเป็นพิธี ประพฤติปฏิบัติธรรมซึ่งเป็นของประเสริฐก็พอเป็นพิธี เหมือนกับเด็กเล่นตุ๊กตากัน

         แต่ศาสนาไม่ใช่เด็ก และไม่ใช่เรื่องของเด็ก จึงเข้ากันไม่ได้

        พระพุทธเจ้าทั้งพระองค์เป็นผู้ประทานศาสนาไว้ พระพุทธเจ้าไม่ใช่เด็ก ศาสน-ธรรมไม่ใช่ศาสนธรรมของเด็ก ผู้ปฏิบัติศาสนาคือพุทธบริษัท จึงไม่ควรนำเรื่องของเด็กเข้ามาแทรกกับตัวเอง ในกิริยาแห่งการทำเกี่ยวกับศาสนา “พอเป็นพิธี” นี้ โลกเลยเป็นพิธีไปหมดในทางศาสนา แล้วจะหาผลอันแท้จริงมาจากไหน? เมื่อมีแต่พิธีเต็มจิตเต็มใจ เต็มอาการทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับศาสนาในงานต่างๆ พากันทราบหรือยังว่า กิเลสมันมีพิธีที่ไหน เวลามันจะกัดหัวคน มันมีพิธีไหม? เราดูซี มันตั้งท่าตั้งทางยกครูยกคันทำพิธีรีตองต่างๆ ก่อนไหม เวลามันจะขยี้หัวใจคนน่ะ

         ความโลภมันเกิดขึ้นมาทันที เมื่อได้โอกาสที่มันจะแสดงความโลภ แสดงความโกรธ ความหลง มันแสดงอาการออกมา ออกมาด้วยกิเลสประเภทต่างๆ ทันที มันไม่ได้คอยหาพิธีรีตองเหมือนกับพวกเราที่จะคอยฆ่ามัน และแล้วก็ฆ่าพอเป็นพิธี ตีเพียงหนับๆ พอให้มันหัวเราะเยาะเย้ยว่า “มนุษย์นี้มันช่างกลัวเราเสียจริงๆ ยิ่งกว่าหมากลัวเสือ มาหยอกเราเล่นเพียงหนับๆ แล้วก็รีบวิ่งใส่หมอน นอนคอยเราตำน้ำพริกไปจิ้มกันที่นั่น ชนิดหมอบราบไม่มีทางต่อสู้เลย” นั่นฟังดูซิ ความเพียรเราเพื่อจะฆ่ากิเลส มันจะเข้ากันได้ไหม? เรากลัวบ้างไหม? ถ้ากิเลสเป็นเหมือนกับเสือร้ายสักตัวหนึ่ง อยู่บนหัวใคร หัวเราทุกคน มีแต่เสือรุมกัดอยู่ทั้งวันทั้งคืน ยืน เดิน นั่ง นอน มองไปทางไหนก็มีแต่เสือรุมกัดอวัยวะจนแทบไม่มีเหลือ ทั้งกัดทั้งฉีก ไปไหนมันก็กัดก็ฉีกไปเรื่อย เดินไปมันก็กัดก็ฉีกไปเรื่อย เราจะดูได้ไหม? ตอบแทนว่า “ดูไม่ได้เลย” ต้องพากันวิ่งแน่บ ยิ่งกว่าหมากลัวเสือนั่นแล ทั้งจะมีอะไรบ้างก็ไม่ทราบจะหลุดเรี่ยราดไปตามทางน่ะ คิดเอาเองเถอะ ขี้เกียจบอกเสียทุกแง่ทุกมุม

         แต่นี่กิเลสมันไม่เป็นตนเป็นตัวเช่นนั้น มันกัดมันฉีกอยู่ภายใน เรายังนอนเคลิ้มให้มันกัดมันฉีกอย่างสบายไปอีก แล้วจะหาทางแก้กิเลสได้อย่างไร เมื่อไม่ทราบว่ากิเลส ไม่ทราบความกัดของกิเลส และไม่ทราบความทุกข์ที่กิเลสสร้างขึ้นบนหัวใจ เราจะหาทางแก้กิเลสได้อย่างไร นี่แหละที่พวกเราไม่ทันกลมายากิเลส เราเป็นคนอาภัพ ก็อาภัพเพราะกิเลสมันบังคับนี่แล ธรรมแท้ไม่เคยทำคนให้อาภัพ นอกจากส่งเสริมคนให้ดีอย่างเดียว

         ถ้าแก้กิเลสออกจากใจได้เป็นลำดับแล้ว วาสนาไม่ต้องบอกจะค่อยดีขึ้นมาเอง ดีดขึ้นด้วยความดีของเราที่ทำอยู่เสมอ การให้ทานก็เป็นการสร้างวาสนา การรักษาศีลก็เป็นการสร้างวาสนา การเจริญเมตตาภาวนาก็เป็นการสร้างวาสนา ถ้าทำด้วยเจตนาอันถูกต้อง ไม่ทำสักแต่ว่า “ พอเป็นพิธี”

         ทานถ้าทำพอเป็นพิธีเฉยๆ ก็สักแต่ว่าทาน ไม่มีผลมาก ศีลก็สักแต่ว่าพอเป็นพิธี แต่เวลาล่วงเกินศีลไม่ล่วงพอเป็นพิธี มันล่วงเกินจริงๆ ทำศีลให้ขาดจริงๆ ภาวนาก็พอเป็นพิธี แต่เวลาง่วง ความง่วงเข้ามาครอบงำนี่ไม่ใช่พิธี ล้มตูมลงจริงๆ ถ้าหมอนไม่รับไว้ กิเลสต้องยุ่งเผาศพ เพราะไม่ได้นอนพอเป็นพิธีนี่ มันนอนหลับเสียจริงๆ หลับครอกๆ เหมือนคนตาย มันไม่เป็นพิธี เมื่อถึงเวลาสิ่งเหล่านี้เข้ามาเกี่ยวข้องแล้ว แต่เวลาบำเพ็ญธรรมนั้นทำพอเป็นพิธี นี่แหละมันจึงไม่ทันการ ไม่ทันกลมายาของกิเลส จึงต้องยอมเป็นพลพรรคของกิเลส ให้กิเลสย่ำยีขูดรีดกดขี่บังคับทั้งวันทั้งคืนทั้งปีทั้งเดือน ทั้งภพทั้งชาติ ตลอดกัปตลอดกัลป์ ยังไม่สามารถจะทราบได้ว่า วันไหนเราพอจะรู้จักเงาของกิเลสบ้าง มันทำเราด้วยวิธีใดบ้าง มันมีเงาไหม? ถ้าไม่เห็นตัวมันพอเห็นเงาบ้างก็ยังดี เช่นกิเลสมันตั้งหมัดตั้งมวยใส่เรา พอมองเห็นเขาบ้างก็ยังน่าดู แม้ไม่เห็นตัวตนเขาแต่พอมองเห็นเงามันก็ยังน่าดู แต่นี่เราไม่เห็นจนกระทั่งเงาของกิเลสที่มันฆ่าคน ทำลายคน เบียดเบียนคน ทรมานคน กดขี่บังคับคน แล้วเราจะไปแก้กิเลสได้ที่ตรงไหน? เมื่อเงามันเรายังไม่เห็นเลย ไม่ต้องพูดถึงตัวมันว่าอยู่ที่ไหนและทำลายคนด้วยวิธีใดบ้าง

         เอ้า! ทีนี้เพื่อให้รู้ เพื่อให้ทราบเงาของมันและตัวของมัน จงกำหนดความรู้คือจิต สติเป็นเครื่องกำกับเข้าสู่ภายในกายภายในใจของตน หูจะออกไปรับกับเรื่องอะไร เจ้าของหูนี่คือความรู้ สติปัญญามีมันออกไปกระทบกับเรื่องอะไร รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส เข้ามาสัมผัส จะเข้ามาสัมผัสจิตใจทั้งหมดซึ่งเป็นผู้รับทราบ นอกจากตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจเป็นตัวการสำคัญ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบและรับผลโดยประการทั้งปวงจากอายตนะเหล่านี้ ซึ่งไปก่อเรื่องก่อราว แล้วนำผลโยนมาให้จิตเป็นผู้รับบาปหาบทุกข์ไม่มีวันเวลาปลงวางเท่านั้น ถ้ากำหนดอย่างนี้ เราจะทราบทั้งเงาของกิเลสทั้งตัวของกิเลส ว่ามันมาด้วยเหตุใดผลใด มันมาด้วยอาการอะไร ผู้ที่ออกต้อนรับคือใจเรา มันออกต้อนรับกิเลส ยอมรับกิเลส มันยอมรับด้วยเหตุใด เราจะทราบในขณะเดียวกัน เมื่อทราบแล้วก็มีทางที่แก้ไขและถอดถอนได้

         เอ้า ตั้งสติลงที่ตัวรู้ คือใจนั้นแล ตัวคะนองอยู่ตรงนั้น ทำไมใจจึงคะนอง เพราะกิเลสทำให้คะนอง พาให้ดิ้นรนกวัดแกว่ง และแสดงขึ้นมาจากตรงนั้น เมื่อมีสติแล้วจะรู้ความกระเพื่อมของจิต เบื้องต้นเรากำหนดรู้อย่างนี้ พยายามกำหนดให้รู้โดยมีบทธรรมกำกับ ไม้คอยตี อาศัยไม้คือธรรมบทนั้นๆ คอยกำกับ ไม่ให้มันโผล่ขึ้นมาได้ ตีด้วยบทธรรมให้ถี่ยิบลงไป เช่น “พุทโธ ๆ” เป็นต้น แล้วจิตจะมีความสงบ เมื่อสงบแล้วจะเย็นลงไป ๆ สงบแน่วลงจริงๆ นั่นแหละคุณค่าแห่งความสงบจะเห็นประจักษ์ ในขณะเดียวกันจะเห็นโทษแห่งความฟุ้งซ่านของจิต ว่าเที่ยวก่อความทุกข์ให้เรามากน้อยเพียงไร เพราะความฟุ้งซ่าน

นี่เป็นสาเหตุที่จะให้เราทราบในวาระต่อไปของกิเลสประเภทต่างๆ ว่า เงาก็พอทราบหรือว่าตัวก็พอทราบแล้ว ความฟุ้งซ่านเราก็ทราบว่ามันเป็นภัย ความสงบเราก็ทราบว่าเป็นคุณ จะสงบด้วยวิธีใดก็ทราบ คือด้วยวิธีการภาวนาด้วยความมีสติ

         เมื่อทราบในเงื่อนหนึ่งแล้ว ต่อไปก็จะทราบไปโดยลำดับ เพราะสติย่อมมีความแก่กล้าขึ้นได้ในเมื่อได้รับการบำรุงส่งเสริมอยู่เสมอ ปัญญาก็สามารถได้ เฉลียวฉลาดได้คนเราไม่ใช่คนโง่อยู่ตลอดเวลา ถึงคราวจะฉลาดฉลาดได้ ถ้าเจ้าของสนใจเพื่อความฉลาด นอกจากจะนอนอยู่เฉยๆ เหมือนหมูอยู่ในเล้าในตมในโคลนเท่านั้น จะหาความฉลาดไม่ได้จนกระทั่งวันตาย และตลอดกัปตลอดกัลป์ จะจมอยู่ใน “วัฏสงสาร”ตลอดไปเพราะความโง่พาให้จม เราไม่ใช่ผู้ต้องการจะจมด้วยความโง่เช่นนั้น เรามาเสาะแสวงหาความฉลาดเพื่อจะปลดเปลื้องความโง่ของตน ให้ใจดีดขึ้นจากตมจากโคลนทั้งหลาย คือกิเลสอาสวะประเภทต่างๆ กลายเป็นอิสรเสรีขึ้นมา เราต้องทำความพยายามให้เต็มเม็ดเต็มหน่วย จิตสงบด้วยการบังคับ ด้วยความมีสติ โดยอาศัยบทธรรมเป็นเครื่องกำกับ เป็นผลขั้นหนึ่งขึ้นมาแล้ว

         แต่คำว่า “ขั้นนั้นขั้นนี้” ไม่อยากจะเรียกให้เสียเวลา สงบหรือไม่สงบมันก็ทราบภายในตัวเองนั้นแล เหมือนเรารับประทานอาหาร มันถึงขั้นไหนแล้วเวลานี้? เราก็ไม่เห็นถามกันนี่นา เริ่มรับประทานเบื้องต้นสำเร็จขั้นไหนไม่เห็นว่า รับประทานไปๆ จนกกระทั้งอิ่มก็รู้เอง ไม่จำเป็นต้องเอาขั้นเอาภูมิไปหาความอิ่ม อันนี้ก็เหมือนกันใจรู้ ไม่มีอะไรที่จะรู้ยิ่งกว่าใจ ทุกข์ก็รู้ สุขก็รู้ ดีรู้ ชั่วรู้ ร้อนรู้ หนาวรู้ รู้ไปทั้งนั้น เป็นผู้รู้อยู่ตลอดเวลา ใจนี่แหละเป็นผู้รับรู้

         เมื่อได้สร้างสติปัญญาเป็นเครื่องกำกับใจด้วยดีแล้ว ใจจะเด่นขึ้นด้วยความรู้ความสงบ และมีความชำนิชำนาญไปโดยลำดับ เอ้า จะพิจารณาแยกแยะเหตุผลต่างๆ ที่จิตไปติดพันเกี่ยวข้องกับเรื่องอะไรจึงกลายเป็นไฟขึ้นมาเผาตัวเอง ก็จะทราบทั้งร่องรอยและตัวเหตุตัวผลของมันอีกด้วย จิตมีความรู้อันเดียวเท่านั้น

สติมีความระลึกแล้วดับไป ๆ เรียกว่า สติ ปัญญาคือความสอดส่อง ความใคร่ครวญ ใคร่ครวญก็ใคร่ครวญเรื่องของตัวเองนั่นแหละ

         “อนิจฺจํ” ท่านว่า นี่เป็นแผนที่ของปัญญานะ “ทุกฺขํ อนตฺตา” นี่เป็นแผนที่แนวทางเดินของปัญญา จึงเรียกว่า “หินลับปัญญา”

         พิจารณาเรื่อง “อนิจฺจํ” มันเป็นอะไร อนิจฺจํ นี่? ไตร่ตรองไปเรื่อยๆ นับจากชิ้นหนึ่ง สองชิ้น สามชิ้น จนกระทั่งรอบตัว รอบโลกธาตุแต่ละอย่างๆ เป็นอนิจฺจํทั้งสิ้น

นี่ก็ทราบด้วยปัญญา  เมื่อทราบชัดด้วยปัญญาว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นอนิจฺจํหมดแล้วเราจะไปนอนใจตายใจติดกับสิ่งเหล่านั้นได้อย่างไร ทั้งที่รู้ว่ามันเป็นอนิจฺจํอย่างประจักษ์ใจ การพิจารณาธรรมให้ประจักษ์ใจเป็นอย่างนี้

ทุกฺขํก็ทราบ มันแสดงอยู่ตลอดเวลา มันเป็นภัยจริงๆ ก็ทราบ แล้วใจจะชินกับทุกข์ได้อย่างไร ไม่ชิน ไม่เคยได้ยินว่าใครเคยชินกับความทุกข์ ถ้าเราอยากรู้ชัดๆ ก็ลองเอามือจ่อเข้าไปในไฟดูซิ มันจะชินไหม? เราอยู่กับไฟมาตั้งแต่วันเกิดจนกระทั่งบัดนี้ มันชินกับความร้อนที่จะทำให้เราทุกข์นั้นไหม? ไม่เคยชิน พอมือจ่อลงไปปั๊บมันก็จะถอนมือทันที มือย้อนกลับปั๊บทันที กระตุกตัวเองทันที เพราะความร้อนมันแผดเผา ทนอยู่ไม่ได้ นั่น! มันชินไปได้ยังไง? พิจารณาให้เห็นชัดด้วยปัญญาอย่างถึงใจจริง

         คำว่า “อนตฺตา” มันว่างไปหมด เราเสกสรรเอาเฉยๆ ว่านั้นเป็นตัว นั่นเป็นตน นั่นเป็นสัตว์ นั่นเป็นบุคคล แม้แต่ก้อนธาตุที่อยู่ในร่างกายของเรานี้ มันก็ว่างจากความเป็นตนเป็นตัวอยู่แล้วโดยธรรมชาติของมัน แต่เรามาเสกสรรเอาว่ามันเป็นก้อนเป็นกลุ่ม จากนั้นก็ว่า “เป็นเราเป็นของเรา” ธรรมชาติจริงๆ แล้ว อนตฺตา มันว่างจากความเป็นตนเป็นตัวเป็นสัตว์เป็นบุคคลไปหมดอยู่แล้ว จงพิจารณาให้เห็นตามหลักธรรมชาติอย่างนี้ จิตจะได้ถอยตัวเข้ามาจากความลุ่มหลงนั้นๆ แล้วปล่อยความกังวลได้ในสภาวะทั้งหลายซึ่งเป็น “อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา”

ทราบโดยทาง “ปัญญา” ทราบอย่างถึงใจ จิตเมื่อได้ถอดถอนตัวหรือได้เปิดเผยรื้อฟื้นตนจากสิ่งที่ปิดบังทั้งหลาย โดยความรู้ชัดว่าสิ่งเหล่านี้เป็น อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา แล้ว ทำไมจิตจะไม่โล่ง ทำไมจิตจะไม่สว่างไสว ทำไมจิตจะไม่เบา ทำไมจิตจะไม่อัศจรรย์ ทำไมจิตจะไม่ผ่องใสและเป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์ ต้องเป็นของอัศจรรย์อย่างแน่นอนไม่ต้องสงสัย

ที่จิตไม่แสดงความอัศจรรย์ให้เจ้าของเห็นเลย ก็เพราะมีแต่สิ่งสกปรกโสมมที่หาคุณค่าไม่ได้มันครอบจิตอยู่ จิตจึงกลายเป็นนักโทษทั้งดวง แล้วจะมีคุณค่าที่ไหน เพราะมันเป็นนักโทษทั้งดวง เพราะธรรมชาติที่เป็นโทษมันอยู่กับจิต คือกิเลสทั้งหลายนั้นแล

พอเปิดออกไป ๆ อุปาทานการยึดมั่นถือมั่นเปิดเผยตัวออกไปโดยลำดับๆ ความสว่างกระจ่างแจ้งของจิต ความเป็นอิสระของจิตตามขั้นนั้นๆ ไม่ต้องถาม เบาหวิวเลย อยู่ที่ไหนก็เพลินและเบาไปหมด แต่ก่อนเคยแบกหามจนหนักแย่ก็หาที่ปลงวางไม่ได้ นอนก็แบก นั่งก็แบก ยืนก็แบก แบกอยู่อย่างนั้นแหละ แบกอุปาทานความหนัก ภูเขาทั้งลูกว่ามันใหญ่โตมันหนัก เราได้เคยแบกมันบ้างแล้วหรือ? เราถึงจะทราบว่ามันหนัก เรายังไม่เคยแบกเรายังไม่หาญพูดได้ ดูตัวที่มันหนักๆ คือ “เบญจขันธ์นี่น่ะ”มันหนักอยู่ตรงนี้ ยิ่งมีความเจ็บไข้ได้ป่วยแล้วยิ่งลุกไม่ขึ้นเอาเลย ต้องให้คนอื่นช่วยพยุงช่วยก็เจ็บหนักเข้าอีก ด้วยการเจ็บป่วยในอวัยวะต่างๆ มันทั้งหนัก ทั้งเจ็บทั้งปวด เลยเพิ่มเป็นเรื่องหนักไปหมด นี้แลตัวหนักจริงๆ ท่านจึงว่า “ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา” ภาระอันหนักจริงๆ ก็คือเบญจขันธ์ ท่านไม่ได้บอกว่าภาระอันหนักจริงคือภูเขา ท่านไม่เห็นว่า

เราพิจารณาให้เห็นจริงอย่างนี้ อันนี้แลเป็นเครื่องทับจิตใจเรา พิจารณาให้รู้ในอาการทั้ง ๕ นี้ มันคือไตรลักษณ์ทั้งนั้น เราอย่าไปอาจหาญ อย่าไปเอื้อม อย่าไปจับอย่าไปยึด อย่าไปแบกหามมันหนัก เข้าไปแบกมันหนักจริงๆ ถ้าปล่อยเสียมันก็เบา ปล่อยด้วยปัญญาให้รู้ชัดตามความเป็นจริง จิตจะเพลิน มีความรื่นเริงบันเทิง อยู่ที่ไหนก็รื่นเริง อยู่ในป่าในเขาอดอิ่มเป็นตายอะไร มีแต่ความรื่นเริงบันเทิงในธรรมทั้งหลาย

 “ธมฺมปีติ สุขํ เสติ” ผู้มีปีติในธรรมย่อมอยู่เป็นสุข อันนี้ยังหยาบไป เมื่อเข้าถึงขั้นนี้แล้ว คือว่าละเอียดอย่างยิ่ง มีความสุขละเอียดเป็นพื้นฐาน นอนก็เป็นสุข นั่งก็เป็นสุข ยืน เดิน อยู่ก็เป็นสุขทั้งนั้น อดอิ่มเป็นสุข สบายไปหมด หมดความกังวล หมดภาระเป็นเครื่องกดถ่วงจิตใจ

เอ้า! เพื่อให้กิเลสทั้งมวลสิ้นซากไปเสียไม่ให้มีอะไรเหลือ ต้นไม้เราตัดกิ่งตัดก้านตัดต้นมันออกหมด ยังเหลือแต่หัวตอ รากแก้วรากฝอย ขุดต้นมันขึ้นมา เอาเผาไฟเสียให้สิ้นซากหมดเท่านั้น ต้นไม้ต้นนั้นไม่มีทางเกิดได้อีกเลย

จิตก็เหมือนกัน ถอนรากแก้วซึ่งอยู่ภายในจิต ท่านเรียก  “อวิชชา” ใจปล่อยอะไรๆ หมด แต่ตัวเองก็มาอัศจรรย์อ้อยอิ่งอยู่กับความสง่าผ่าเผย ความละเอียดลออ ซึ่งเป็นเรื่องของกิเลสประเภทละเอียด พิจารณาเข้าอีกให้พอ นี่ก็คือกองไตรลักษณ์อีกเช่นเดียวกัน อย่าถือว่าเป็นเรา มันเราอะไรกัน เป็นกอง อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา อันละเอียดต่างหากนี่ กิเลสตัวร้ายยังว่าเป็นเราอยู่หรือ? ความผ่องใสที่ควรจะผ่านไปได้ถือไว้ทำไม อันนี้เป็นกิเลสประเภทหนึ่งที่ละเอียดมากเกินกว่าสติปัญญาธรรมดาจะรู้เห็นได้ ต้องเป็นสติปัญญาอัตโนมัติกำจัดมัน

นี่เวลาย้อนจิตเข้ามา เมื่อไม่มีที่พิจารณาจริงๆ ก็ต้องย้อนจิตเข้ามาพิจารณา ธรรมขั้นละเอียดสุดนั่นคือ กิเลสตัวละเอียดอันเป็นจุดสุดท้าย “สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย”ธรรมทั้งปวงไม่ควรถือมั่น นั่นเมื่อถึงจุดสุดท้ายแล้วก็ “สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา” ธรรมทั้งปวงเป็น อนตฺตา ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นส่วนหยาบส่วนละเอียด ตลอดความผ่องใส ความเศร้าหมองทั้งสิ้นที่มีอยู่ภายในจิตโดยเฉพาะ เป็น อนตฺตา ทั้งสิ้น

ผู้ปฏิบัติจงพิจารณาจิตดวงผ่องใส ให้เห็นเช่นเดียวกับสภาวธรรมทั้งหลาย ธรรมทั้งปวงเป็น อนตฺตา ธรรมทั้งปวงจึงไม่ควรถือมั่น จากสิ่งนี้เองที่ไม่ควรถือมั่น พอพิจารณาเต็มที่เต็มภูมิของปัญญาแล้ว สลัดพับเดียวหมด เมื่อสมมุติทั้งปวงไม่ว่าหยาบ กลาง ละเอียดได้สิ้นสุดไปจากใจแล้ว ปัญหาอะไรที่จะมีอีกต่อไป? ไม่มี! หมด! นั่นแหละท่านผู้หมดทุกข์ท่านหมดอย่างนี้ นี้แลผู้เหนือกิเลส

กิเลสมากัดมาฉีกเหมือนเสือโคร่งดังที่กล่าวมาแล้วนี้ เป็นอันยุติกันเพียงเท่านี้เพราะถูกฆ่าหมดฉิบหายไม่มีเหลือเลย กิเลสทุกประเภทที่ท่านเปรียบเหมือนเสือโคร่งถูกฆ่าด้วยสติปัญญาอันแหลมคม คือมหาสติมหาปัญญา สิ้นซากไปหมด เสวย อมตธรรม โดยหลักธรรมชาติ นี่คือผลแห่งการปฏิบัติอย่างแท้จริงเป็นอย่างนี้ เพราะธรรมเป็นธรรมชาติที่ถึงใจของสัตว์โลก ธรรมเป็นของจริง ผู้สอนจึงสอนด้วยความจริง ผู้ปฏิบัติปฏิบัติจริงๆ จังๆ ฟังจริงๆ จังๆ แก้กิเลสตัณหาสวะซึ่งเป็นภัยอย่างจริงจัง เพราะเห็นว่าเป็นภัยอย่างจริงใจ แก้อย่างจริงๆ จังๆ ก็พ้นได้จริงๆ อย่างนี้ไม่เป็นอื่น เพราะ “สวากขาตธรรม” นั้นท่านเรียกว่า “มัชฌิมา” ทันต่อเหตุการณ์อยู่ตลอดเวลา ไมว่ากาลใดอาการใดของกิเลสที่แสดงขึ้นมา “มัชฌิมาปฏิปทา” เป็นอาวุธที่ทันสมัย ฟาดฟันกิเลสให้แหลกกระจายไปหมดไม่มีอะไรเหลือเลย ท่านจึงเรียกว่า “มัชฌิมา” เหมาะสมตลอดเวลากับการแก้กิเลสกองทุกข์ที่มีอยู่ภายในใจของสัตว์โลก

การแสดงธรรมก็เห็นว่าสมควร ขอยุติ


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก