อุบายวิธีสอนตน
วันที่ 0 พฤษภาคม 2507
สถานที่ : บ้านซอยสมประสงค์ 3 พระนคร
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :

ค้นหา :

เทศน์อบรมคณะผู้จัดพิมพ์ “ทางร่มเย็น”

ณ บ้านในซอยสมประสงค์ ๓ ถนนเพชรบุรี พระนคร

เมื่อวันที่    พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๐๗

อุบายวิธีสอนตน

 

การเริ่มอบรมธรรม ก็เช่นเดียวกับการเริ่มเรียนหนังสือและเริ่มเขียนหนังสือ เบื้องต้นก็มีผิด ๆ ถูก ๆ เขียนและอ่านก็ไม่คล่องแคล่ว ตัวหนังสือที่เขียนก็ไม่สวยงาม อ่านก็ไม่ถูกต้องและชัดเจน แต่การหัดเรียนและหัดเขียนบ่อย ๆ ความจำและความชำนาญก็เกิดขึ้นทุกระยะ จนเป็นความชำนาญจริง ๆ ต่อไปก็ไม่จำเป็นต้องระวังในการอ่านและการเขียน แต่ก็เป็นไปโดยเรียบร้อยตามความต้องการ การฝึกหัดทางด้านจิตใจ เบื้องต้นก็ต้องมีการล้มลุกคลุกคลานเป็นธรรมดา ไม่ว่าพระพุทธเจ้าและพระสาวก ย่อมผ่านการฝึกหัดมาก่อน เช่นเดียวกับพวกเรา และมีผิด ๆ ถูก ๆ อันเป็นลักษณะล้มลุกคลุกคลานเหมือนกัน เมื่อเป็นเช่นนั้นพวกเราผู้มุ่งศึกษาและปฏิบัติ ซึ่งไม่เคยผ่านและรู้เห็นมาก่อนก็ย่อมมีการผิดพลาดเป็นธรรมดา ซึ่งจะหลีกเว้นไม่ได้ แต่อาศัยความพยายามเป็นหลักสำคัญ ซึ่งไม่ควรมองข้ามไปโดยเห็นว่าไม่จำเป็น

การทำจิตใจให้สงบด้วยอุบาย “สมาธิอบรมปัญญา” หรือด้วยอุบาย “ปัญญาอบรมสมาธิ” ทั้งสองนี้เป็นอุบายวิธีที่ถูกต้องเสมอกัน เพราะเป็นอุบายเครื่องกระตุ้นเตือนสติให้ตามรู้ความเคลื่อนไหวของจิตทุกระยะในขณะทำการอบรม ท่านยังไม่เคยมีประสบการณ์ด้วยตนเองในทางสมาธิมาก่อน เพราะไม่เคยศึกษาและปฏิบัติ โปรดทำความพยายามตามวิธีทั้งสองอย่างใดอย่างหนึ่ง ตามจริตนิสัยและโอกาสที่ควร แต่วิธีทำใจให้สงบด้วยวิธีทั้งสองนั้นโปรดทราบไว้เสมอว่า สติเป็นของสำคัญ ทุก ๆ ครั้งและทุก ๆ ขั้นของจิตขึ้นอยู่กับสติ อย่าให้ขาดไปในขณะอบรม จิตจะขาดธรรมเครื่องบำรุง การภาวนาจะกำหนดลมหายใจเข้าออกที่เรียกว่า    อานาปานสติ เป็นต้นก็ตาม จงทำความพยายามให้สติอยู่กับลมจริง ๆ ทั้งลมเข้าและลมออก ตลอดความหยาบ ความละเอียดของลมทุกระยะไป จนปรากฏผลคือความสงบสุขขึ้นมา วิธีนี้เรียกว่า “สมาธิอบรมปัญญา” ที่กล่าวไว้ในหนังสือซึ่งเคยพิมพ์มาหลายครั้งแล้ว

ก่อนอื่นอยากจะเรียนให้บรรดาท่านผู้ใคร่ต่อธรรมทราบ เพื่อความสงบสุขอย่างจริงใจ พอเป็นสักขีพยานแห่งการบำเพ็ญ จิตได้รับความสงบมีลักษณะอย่างนี้คือ มีอารมณ์อันเดียว เฉพาะความรู้เด่นดวงอยู่ในขณะนั้น ปล่อยวางจากอารมณ์ แม้บทบริกรรมภาวนาจำต้องละ ไม่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ใด ๆ ทั้งสิ้น ดำรงตนอยู่ด้วยความสงบสุข ไม่คิดปรุงอารมณ์เครื่องก่อกวน การพักสงบจิตในลักษณะเช่นนี้จะนานหรือไม่นั้น ย่อมเป็นไปตามฐานะของจิต ซึ่งควรจะทรงตัวอยู่ได้ บางเวลาก็พักอยู่ได้นาน บางเวลาก็ไม่นานแล้วถอนขึ้นมา จากนั้นก็ทำหน้าที่ต่อไปอีก ตามแต่จะเห็นควรของผู้บำเพ็ญ เมื่อทราบผลเบื้องต้นแล้ว ต่อไปก็พอมีทางทราบอุบายวิธีต่าง ๆ เพื่อให้จิตมีความสงบยิ่ง ๆ ขึ้นไปและพักอยู่ได้นาน

ต่อไปนี้เป็น “ปัญญาอบรมสมาธิ” ปัญญาอบรมสมาธินั้นเป็นธรรมที่ควรนำมาใช้ในเวลาที่จิตมีความฟุ้งซ่านรำคาญจนเกินควร เช่น จิตประสบเหตุการณ์ต่าง ๆ จนเกิดความเสียอกเสียใจอย่างรุนแรง หรือเกิดความเพลิดเพลินจนเกินตัว ปัญญาทำการพิจารณาหักห้ามกีดกันจิตที่กำลังฟุ้งซ่านกับอารมณ์ในเวลานั้น ให้จิตรู้สึกตัวด้วยเหตุผลโดยวิธีต่าง ๆ จนจิตยอมรับหลักเหตุผลและยอมจำนนต่อปัญญาผู้พร่ำสอนแล้วกลับตัว แล้วย้อนเข้าสู่ความสงบได้เช่นเดียวกับสมาธิอบรมปัญญา ยกตัวอย่างเช่น เรานั่งภาวนามานาน ๆ เกิดทุกขเวทนาอย่างหนักขึ้นมา มีการเจ็บปวดตามแข้งขาและอวัยวะส่วนต่าง ๆ แทบทนไม่ไหว ประหนึ่งร่างกายจะแตกไปในเวลานั้นให้ได้ เพราะทุกขเวทนาครอบงำมาก

ตามธรรมดาของใจที่มีกิเลส และถือขันธ์ห้าเป็นตัวตนอยู่แล้ว ขณะที่ทุกขเวทนาครอบงำร่างกายมาก ๆ ใจจำต้องเป็นทุกข์ไปด้วย แสดงอาการระส่ำระสาย กระวนกระวาย อยากจะออกจากการนั่งสมาธิมาอยู่ตามลำพังบ้าง ตั้งความปรารถนาอยากให้ทุกข์ดับไปบ้าง ซึ่งความคิดทั้งนี้เป็นการส่งเสริมสมุทัย เพื่อผลิตทุกข์เพิ่มขึ้นที่ใจโดยไม่รู้สึกตัว แต่ผู้ต้องการฝึกทรมานใจตามหลักธรรม เพื่อยังผลประจักษ์ขึ้นกับใจโดยทางปัญญา จำต้องพิจารณาทุกขเวทนาที่เกี่ยวกับกาย และอุปาทานยึดมั่นถือมั่นในกายและเวทนา ซึ่งเป็นเหตุให้เสริมทุกข์ขึ้นมาอย่างมากมาย

โดยแยกเวทนากับกายออกพิจารณาด้วยปัญญา ตามหลักเหตุผลว่า กาย เวทนา และจิตเป็นอย่างเดียวกันหรือไม่ ขณะทำการพิจารณาต้องทำความรู้สึกอยู่กับกายและเวทนา ไม่ยอมให้จิตเล็ดลอดส่งไปที่อื่น ทำการแยกกายและเวทนาออกดูให้เห็นชัดด้วยปัญญาว่าทั้งกาย ทั้งเวทนา เป็นส่วนหนึ่งจากจิต แม้กายกับเวทนาก็เป็นส่วนหนึ่งจากกัน มิได้เป็นอันเดียวกันตามความสำคัญของจิต จนสามารถแยกกาย เวทนา และจิตออกจากกันได้ โดยทางปัญญา ต่างก็เป็นความจริงอยู่ตามสภาพของตน จิตก็หยั่งลงสู่ความสงบดำรงตนอยู่เป็นเอกเทศหนึ่งจากขันธ์ ตั้งมั่นเป็นองค์สมาธิอย่างเต็มที่ในเวลานั้น กายกับทุกขเวทนาไม่ปรากฏในความรู้สึกว่ามี ปรากฏเห็นจิตเป็นของที่แปลกและอัศจรรย์อย่างยิ่งในขณะนั้น ซึ่งควรจะยึดเอาเป็นสักขีพยานในการบำเพ็ญด้วยวิธีนี้ต่อไปวิธีหนึ่ง

การฝึกทรมานจิตให้สงบเป็นสมาธิลงได้ ด้วยทั้งจิตกำลังฟุ้งซ่านและระส่ำระสายด้วยอุบายที่กล่าวมา เรียกว่า “ปัญญาอบรมสมาธิ” เพราะทำการหักห้ามจิตลงได้ด้วยความฉลาดรอบคอบของปัญญา ผู้ปฏิบัติโปรดนำไปใช้ฝึกจิตดวงพยศตามกาลอันควร จะได้รับประโยชน์เท่ากันกับวิธีปลอบโยน   ที่เรียกว่า  “สมาธิอบรมปัญญา”     อนึ่ง  การอบรมจิตให้หายพยศด้วยอุบายวิธีต่าง ๆ นี้ เทียบกันได้กับการอบรมสั่งสอนเด็ก ต้องมีหนักบ้างเบาบ้างเป็นคู่เคียงกันไป เพราะนิสัยของเด็กบางรายและจิตของเด็ก ซึ่งจะลำพองขึ้นเป็นบางกาล ย่อมมีประจำนิสัยเด็ก ทั้งเป็นการส่อให้ผู้ปกครองรู้ทั้งความไม่ดีของเด็ก และรู้ทั้งอุบายวิธีจะนำมาสั่งสอนเด็กให้กลับตัวเป็นคนดี ดังนั้น ผู้ปกครองทั้งทางบ้านและทางโรงเรียน จำต้องคอยสอดส่องเพื่อรู้ความประพฤติของเด็กเสมอ เพื่อจะดำเนินการสอนให้ถูกต้องตามจุดบกพร่องของเด็ก และได้รับประโยชน์ทั้งสองฝ่าย คือฝ่ายเด็กก็กลับตัวเป็นคนดี ผู้ปกครองก็มีความเย็นใจ เพราะอุบายวิธีสั่งสอนเด็กโดยถูกต้องและได้ผลดี

ปัญญาอบรมสมาธินี้ ผู้บำเพ็ญมักจะเห็นผลประจักษ์ใจในเวลาไม่นานนัก เพราะความกล้าหาญต่อความเพียร เพื่อการพิจารณาทุกขเวทนา ไม่ยอมถอยหลังในขณะที่มีทุกขเวทนากล้าครอบงำ แต่ถ้ามีความท้อแท้และระอาต่อทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นในขณะนั้นก็อาจจะไม่ปรากฏผล มิหนำทุกข์ที่เกิดขึ้นยังจะกลายเป็นข้าศึกต่อผู้นั้นอีกด้วย เพราะไม่อาจจะหาทางออกได้ด้วยอุบายของปัญญาอันแหลมคมพอ ๆ กัน

จะอย่างไรก็ตาม การพยายามพร่ำสอนใจโดยอุบายต่าง ๆ นั้น ย่อมเป็นผลดีเสมอ แม้จะไม่ได้ผลอย่างสมใจเสียทีเดียว แต่ก็พอมีทางทำให้ใจคล้อยไปตามธรรมวันละเล็กละน้อย จนกลายเป็นจิตที่มีเหตุผลประจำตัวขึ้นเป็นลำดับ และกลายเป็นผู้มีธรรมในใจ ทั้งปกครองง่ายในกาลต่อไป เพราะตามธรรมดาของใจไม่มีธรรมตามรักษาย่อมมีความคะนองประจำตัว นอกจากจะไม่สังเกตเท่านั้น จึงไม่ทราบว่าจิตของตนเป็นอย่างไร คำว่าจิต ได้แก่ธรรมชาติที่รู้ ๆ และรับผิดชอบอยู่ในตัวของคนและสัตว์ทุกประเภท ทั้งเป็นสิ่งสำคัญมากภายในร่างกาย จึงควรรัก สงวน และอบรมให้ดี แต่ใจจะดีได้ต้องมีธรรมที่เหนือกว่า คือ สติและปัญญา

สติปัญญาในหลักธรรมของพระพุทธเจ้า ท่านสอนให้นำไปใช้ในกิจที่ชอบ จะไป จะอยู่ จะทำ จะพูด จะคิดอะไร ควรนำสติปัญญาเข้ามาวินิจฉัยไตร่ตรองดูให้รอบคอบก่อนจะลงมือ จึงจะไม่ค่อยมีความผิดพลาดและเสียหายเกิดขึ้น นอกจากนั้นยังทำให้เปลี่ยนความรู้ความเห็นและความประพฤติจากสิ่งที่เห็นว่าไม่ควร กลายเป็นคนที่เชื่อตัวเองได้ พ่อแม่พี่น้องเชื่อถือและไว้วางใจได้ ผู้มาคบค้าสมาคมด้วยก็ให้ความร่มเย็น และเชื่อถือแก่เขาได้เท่าที่ควร

ดังนั้น ผู้นับถือพระพุทธศาสนาอันเป็นธรรมทั้งแท่ง ซึ่งเต็มไปด้วยความไว้วางใจและให้ความสม่ำเสมอแก่ผู้บำเพ็ญ จึงควรไตร่ตรองตามหลักธรรมที่สอนไว้ ทั้งนี้ล้วนชี้ช่องทางเพื่อความปลดเปลื้องทุกข์และความยุ่งเหยิงนานาชนิดแก่มวลสัตว์ ซึ่งจะนำไปปฏิบัติเพื่อกำจัดสิ่งมัวหมองของตนทั้งนั้น เพราะพระทัยที่สถิตอยู่แห่งธรรมและแสดงออกเป็นพระทัยบริสุทธิ์ที่สุด ไม่มีส่วนสมมุติแม้ปรมาณูส่วนละเอียดยิ่งเข้าเคลือบแฝงอยู่ ซึ่งพอจะให้แสดงธรรมอันจอมปลอมออกมาให้มวลสัตว์ผู้ปฏิบัติตามผิดทางเลย นักบวชหรือฆราวาสย่อมมีสิทธิในการปฏิบัติธรรมเสมอกัน แม้ผลอันพึงได้รับของแต่ละรายก็ไม่ลำเอียง โดยรักเพศนั้นชังเพศนี้ แต่ถือเหตุ คือ การบำเพ็ญ เป็นเครื่องตักตวงผลด้วยความเป็นธรรม ไม่นำสิ่งอื่นมาวัดผลของการกระทำ สมกับพระพุทธศาสนานิยมกรรมเป็นหลักใหญ่

ฉะนั้นผู้เชื่อกรรมตามหลักศาสนาที่สอนไว้ จึงควรเลือกเฟ้นทำกรรมที่ตนจะทำ ไม่ควรทำไปแบบสุ่มเดา และทำตามความอยากพาให้ทำ โดยไม่คำนึงว่าผิดหรือถูกจะเสียใจในภายหลัง ผลคือความทุกข์ร้อนที่เกิดจากการทำแบบสุ่มเดาหรือแบบตัดสินเอาเองโดยไม่มีครูสอน คือหลักธรรมนี้ แม้ผู้รับเคราะห์กรรมก็ไม่พึงปรารถนา แต่จำต้องยอมรับเพราะฝืนกฎของกรรมไปไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ผู้อยู่ในวงแห่งกรรม จึงควรเตรียมตัวไว้แต่บัดนี้เป็นต้นไป อย่ารอไปเตรียมวันหน้า เดือนหน้า ปีหน้า และชาติหน้า เดี๋ยวจะไปเจอเอากรรมที่พระเทวทัตสาปแช่งไว้ โดยไม่รู้ตัวเป็นผู้ทำเองเข้าอีก ก็ยิ่งจะแย่ เพราะไม่มีทางหลบหลีกและแก้ไขเพื่อเอาตัวรอดได้ในเวลาเช่นนั้น

อนึ่ง อุบายวิธีสอนตนเพื่อให้จิตยอมรับหลักการ และนำมาใช้เป็นคุณสมบัติประจำตัวต่อไป เราควรเทียบความรู้สึกระหว่างเราผู้มีกิเลสกับพระพุทธเจ้าผู้สิ้นกิเลสแล้ว ว่าใครจะมีความรู้แน่นอนและแม่นยำต่างกันอย่างไรบ้าง ทั้งทางโลกและทางธรรม ทั้งการทำ การพูด การคิด ทั้งความโง่ ความฉลาด ทั้งความดี ความชั่ว ทั้งความสุข ความทุกข์ ทั้งหน้าที่การงาน เข้าใจว่าพระพุทธเจ้าจะเป็นคติแก่เราอย่างสด ๆ ร้อน ๆ พอจะมีทางผ่อนคลายตัวเองจากความตึงเครียดในสิ่งทั้งหลาย ไม่ให้ผูกมัดเราเกินไปจนเลยขอบเขตแห่งการดัดแปลงแก้ไข

เพราะตามปกติเราก็มีความรู้ความฉลาดอยู่แล้ว เพราะการศึกษาเจริญ สถานที่ที่ให้การศึกษาก็มีอยู่ทุกหนทุกแห่ง ทั้งในเมืองและนอกเมือง ทั้งในและนอกประเทศ เด็กและผู้ใหญ่นับว่าได้รับการศึกษาโดยความสะดวก และมีความรู้ความฉลาดทัดเทียมกันไป แต่สิ่งที่ควรจะให้เป็นคู่เคียงกันไปคือด้านธรรมะ ทั้งเด็กและผู้ใหญ่จึงไม่ควรมองข้ามไป  ถ้ามองข้ามธรรมก็เท่ากับมองข้ามตน เพราะตนกับธรรมแยกกันไม่ออก สำหรับผู้ต้องการความเจริญรุ่งเรืองแก่ตนและประเทศชาติบ้านเมือง เพราะธรรมคือโลกบาล เครื่องคุ้มครองโลก คุ้มครองเราให้ได้รับสันติสุขทั้งภายในและภายนอก

ถ้าจะมองเห็นเพียงความรู้ความฉลาดที่เล่าเรียนมา ว่าเป็นของมีสาระพอแล้วไซร้ คนเราผู้ได้รับการศึกษาสูง ๆ มาแล้ว ก็ควรจะเป็นตัวอย่างอันดีของประเทศชาติบ้านเมืองได้ ไม่ควรจะมีความประพฤติในทางเสียหายแทรกเข้ามาในคนประเภทนั้น แต่ก็หลีกไปไม่พ้น จำต้องหลวมตัวไปในความประพฤติผิด โดยไม่เลือกวัยและชาติชั้นวรรณะ ทั้งนี้เพราะมีแต่ความรู้ที่เรียนมาจากหลักวิชาล้วน ๆ ไม่มีธรรมอันเป็นหลักวิชาพิเศษแฝงอยู่ในใจบ้าง จึงขาดการใคร่ครวญและยับยั้งชั่งตวง เห็นความอยากทำกลายเป็นของดีไปหมด

หลักวิชาธรรมของพระพุทธศาสนาทั้งมวลเป็นหลักวิชาที่สม่ำเสมอ ผู้ยึดหลักวิชาทางพุทธศาสนามาใช้ จึงกลายเป็นคนสม่ำเสมอและงามตาเย็นใจทั้งตนและผู้เกี่ยวข้อง เพราะหลักธรรมก็คือหลักความประพฤติอันดีงามอย่างลึกซึ้งของคนทุกชั้น ทุกวัย นั่นเอง โดยไม่เลือกชาติ ชั้น วรรณะ และสามารถเหนี่ยวรั้งจิตใจคนให้เป็นคนดีได้ การคิด การพูดและการทำทุกอย่างของคนที่มีธรรมในใจ ย่อมเป็นไปด้วยความสม่ำเสมอไม่ผาดโผนโลดเต้น มีความนิ่มนวลประจำมรรยาทและความประพฤติ ไม่เป็นที่แสลงหู แสลงตา และแสลงใจของคนอื่น

ยิ่งสมัยทุกวันนี้ เป็นสมัยที่เกี่ยวข้องกับสังคมมาก ไม่ว่าบ้านนอก ในเมือง เมืองใหญ่หรือเมืองเล็ก การอาชีพมีความเกี่ยวข้องกับสังคมโดยมาก ผู้เกี่ยวกับสังคมไม่ว่าหญิงหรือชาย ถ้าไม่มีธรรมเครื่องคุ้มกันภายในตัวแล้ว อาจมีความเสียหายได้อย่างง่ายดาย เฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่อยู่ในวัยรุ่นทั้งหญิงทั้งชาย รู้สึกว่าล่อแหลมต่อความเสียหายอยู่มาก เพราะคนในวัยนี้ไม่ค่อยจะมีโอกาสคิดอ่านไตร่ตรองดูความประพฤติชั่วของตัว นอกจากจะคิดไปในทางเพลิดเพลินสนุกสนานตามหมู่เพื่อน อันเป็นทางมาแห่งความหายนะมากกว่าจะคิดมาทางแง่ความประพฤติ

เรื่องทั้งนี้เคยได้ยินจากผู้ปกครองเด็กทั้งทางบ้านและทางโรงเรียนเสมอ โดยแสดงความหนักใจและเป็นห่วงเด็กมาก ว่าเด็กทุกวันนี้ทั้งหญิงทั้งชาย รู้สึกว่าน่าหนักใจมาก ทั้งทางด้านการศึกษาและความประพฤติ  ปรากฏว่าจะหนักไปในทางอบายมุข มากกว่าที่จะไปศึกษาหาความรู้และความประพฤติในทางที่ดี ใครมีลูกหญิงลูกชายมาก ๆ ก็ยิ่งเป็นเหมือนภูเขาหินทับหัวใจ ไม่มีเวลาอยู่และหลับนอนให้สนิทลงได้ ไม่ว่ากลางคืน กลางวัน มันเต็มไปด้วยสิ่งแวดล้อมที่จะทำให้เด็กมีความเสียหายไปได้ทุกเวลา และเด็กทุกวันนี้ รู้สึกแปลกกว่ากว่าเด็กสมัยก่อน ๆ มากทีเดียว ที่กำลังดำเนินเข้าถึงจุดที่เลวร้ายก็คือ ชอบประพฤติตัวในลักษณะชิงสุกก่อนห่าม โตกว่าวัย เป็นหนุ่มสาวก่อนเป็นเด็ก รู้มากกว่าผู้ปกครอง ชอบฉลาดในสิ่งที่ไม่ควรฉลาด แต่ชอบโง่ในสิ่งที่จะควรให้ฉลาด

ที่สำคัญและน่ากลัวมาก ก็คือ ชอบแอบฉลาดในเวลาลับหูลับตาผู้ปกครอง นี่ซิมันสำคัญ และเป็นจุดที่จะทำความเหลวแหลกแก่สกุลด้วย เวลาไปโรงเรียนแกไม่เรียนแต่หนังสือ และทำหน้าที่ที่ครูสั่งให้ทำ แต่แกแอบไปเรียนและแอบไปทำอะไรอย่างลึกลับนั้น ซึ่งเป็นที่น่าเจ็บใจมากกว่าเรื่องอื่น ๆ จะแก้ไขอย่างไรกันดี ช่วยคิดให้ทีเถอะ นับว่าเป็นการเมตตาสงสารเด็กตาดำ ๆ ซึ่งกำลังจะเป็นผู้ใหญ่ในวันหน้า และเป็นคนของชาติด้วย รู้สึกว่าภาระที่เกี่ยวกับเด็กสมัยนี้หนักมาก

และยังรู้สึกวิตกเป็นห่วงเด็ก ๆ ต่างจังหวัดที่พ่อแม่ผู้ปกครองส่งเข้ามาเรียนหนังสือในเมืองใหญ่ ๆ อีกด้วย กลัวว่าแกจะไม่เรียนเพียงวิชาที่ครูสอน แต่กลัวแกจะไปเที่ยวแอบเรียนและแอบทำวิชาไฟเผาโลก ดังที่เห็น ๆ มาเข้าอีก คิดแล้วกินไม่ได้ นอนไม่หลับ นับว่าเป็นเรื่องกวนสมองจริง ๆ ใครจะมีอุบายอย่างไร กรุณาช่วยกันสงเคราะห์ด้วย ไม่เช่นนั้นจะจมไปทั้งเขาทั้งเราผู้ปกครอง เพราะความเห็นของเขากับของเรามันไกลกันราวฟ้ากับดิน เขาเห็นเป็นความสนุกสนามรื่นเริง แต่เรามันคิดเห็นความเสียหาย อันจะมีแก่ตัวเขาเองและแก่วงศ์สกุล ตลอดประเทศชาติบ้านเมือง ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่โตมาก

ทางพระก็ไม่ทราบว่าจะตอบอย่างไร เพราะต่างคนต่างชอบและต่างคนก็ต่างวัยกัน ไม่ใช่อยู่ในวัยเดียวกัน พอจะให้ชอบอย่างเดียวกัน เป็นเพียงสนทนากันไปและถามยอกย้อนกันไปบ้าง เพราะถ้าจะเข้ากับผู้ใหญ่ก็เกรงเด็กจะเสียใจ ถ้าจะเข้ากับเด็ก ผู้ใหญ่ซึ่งกำลังนั่งฟังคำตอบอยู่ก็จะยิ่งเสียใจมาก ผู้ตอบก็เป็นคนมีกิเลสเช่นเดียวกับเด็ก ๆ และผู้ถาม จึงตอบแบบแบ่งสู้แบ่งรับเพื่อทางเด็กบ้าง เพราะเราก็เคยเป็นเด็กและเติบโตมาจากเด็ก จะลบหลู่ดูหมิ่นเด็กก็ไม่งาม และแบ่งเพื่อผู้ใหญ่บ้าง เพราะเป็นผู้เลี้ยงดูและปกครองเด็กด้วยความรักและเมตตา ปรารถนาอยากจะให้เด็กเป็นคนดี มีราศีแก่วงศ์สกุลและประเทศชาติบ้านเมือง ทั้งเป็นผู้รับผิดชอบและรับเคราะห์กรรมกับเด็กด้วย

ครูทางโรงเรียนก็เป็นผู้มีส่วนรับผิดชอบ และรับเคราะห์กรรมกับเด็กเหมือนกัน แม้จะไม่เป็นผู้ให้กำเนิดเด็ก แต่ก็เป็นผู้ให้กำเนิดทางความรู้วิชา ตลอดมรรยาทความประพฤติ และถือว่าเป็นเด็กของครูเสมอ เด็กในบ้านของตน ถ้าเด็กดีก็พลอยมีเกียรติ ถ้าเด็กชั่วครูก็พลอยเสียไปด้วย เรื่องมันเกี่ยวโยงกันทั้งผู้ปกครองทางบ้านและผู้ปกครองทางโรงเรียน ซึ่งมีส่วนได้เสียเกี่ยวกับเด็กเทียบเท่ากัน จึงแสดงความหนักใจและเป็นห่วงเด็กเท่า ๆ กัน

ทางเด็กเมื่อถูกตำหนิก็ออกตัวไปทางหนึ่ง แต่ก็มีเหตุมีผลพอฟังได้ไม่แพ้ผู้ใหญ่ไปเสียทีเดียว ผู้ตำหนิก็เกิดงงงันอั้นตู้ไปด้วย โดยไม่คาดว่าเด็กจะมีเหตุมีผลที่น่าฟังเช่นนั้น โดยให้เหตุผลในเวลาถูกตำหนิ ว่าความเป็นทั้งนี้จะไปตำหนิเฉพาะเด็กฝ่ายเดียวก็เป็นความไม่ชอบธรรมเหมือนกัน เพราะหลักวิชาที่ออกจากโรงเรียนใหญ่และครูใหญ่ มันออกจากผู้ปกครองทั้งทางบ้านและทางโรงเรียนทั้งนั้น เด็กไม่ได้ไปศึกษามาจากไหน แม้แต่เมืองนอกเมืองนา เด็กบางคนยังไม่เคยไป ไม่เคยเห็นเลย นับแต่วันเกิดมาก็เกิดจากพ่อกับแม่ ความรู้วิชาก็เรียนจากพ่อกับแม่ มรรยาทความประพฤติ คำพูดจาพาทีดีหรือชั่วก็ออกมาจากพ่อกับแม่

พอโตขึ้นบ้างมองดูดินฟ้าอากาศยังไม่ทั่วถึง พ่อแม่ก็ส่งเข้าโรงเรียน เวลาไปโรงเรียนก็เรียนวิชาและความประพฤติมรรยาทจากครูและเพื่อนนักเรียนด้วยกัน แม้เพื่อนนักเรียนด้วยกันก็ล้วนมีพ่อแม่เป็นแดนเกิด และให้กำเนิดความรู้วิชามาเช่นเดียวกัน เด็กทุกคนต้องรับถ่ายทอดมาจากพ่อแม่และครูซึ่งเป็นผู้ปกครองเด็กเหมือนกัน จะเป็นความรู้และความประพฤติที่จริงหรือปลอม ขึ้นอยู่กับแบบพิมพ์มาดั้งเดิม เด็ก ๆ เป็นเพียงผู้นำมาใช้เท่านั้น ไม่ได้อวดรู้อวดฉลาด ไปแสวงหาความรู้วิชาและความประพฤติดีชั่วมาจากที่ไหน พอจะมาตำหนิว่าเด็กไม่ดีท่าเดียว ความรู้และมรรยาท ความประพฤติตลอดคำพูดทุกคำที่เด็กต่างคนต่างนำมาใช้อยู่เวลานี้ ล้วนแต่ได้มาจากพ่อแม่ทั้งนั้น เด็ก ๆ ไม่มีความรู้ความสามารถจะไปหาความรู้และความประพฤติมาจากที่ไหนได้ แม้แต่ร่างกายของเด็กที่เติบโตมาขนาดที่เห็น ๆ กันอยู่นี้เติบโตมาจากการเลี้ยงดูของพ่อแม่ พ่อแม่พากินอะไร พานุ่งห่มอะไร พาไป พาอยู่อย่างไร พาประพฤติอย่างไร เด็ก ๆ ก็จำต้องเป็นไปตามพ่อแม่ เพราะไม่มีความสามารถในตัวเอง

เมื่อถูกถามถึงการชอบเที่ยวตามโรงหนัง โรงละคร และบาร์เป็นต้น เด็กก็ตอบว่าโรงหนัง โรงอะไรเหล่านี้ ก็เป็นเรื่องของผู้ใหญ่จัดทำขึ้น และผู้ใหญ่พาเด็ก ๆ ไปดู เด็กจะมีเงินและความฉลาดสามารถมาจากไหน พอจะจัดสร้างโรงหนัง โรงละคร โรงระบำ ต่าง ๆ เหล่านั้นขึ้นมาได้ แม้แต่เงินค่าตั๋วเข้าดูก็เป็นเงินของคุณพ่อคุณแม่ให้ทั้งนั้น เพราะตนเองหาเงินไม่เป็น เมื่อถูกถามถึงเรื่องคุณพ่อคุณแม่ก็พาไปดูหนังและดูอะไรต่อมิอะไรด้วยหรือ เด็กก็ตอบว่า คุณพ่อคุณแม่และครูเป็นตัวการทีเดียว พาไปแทบทุกวันตอนเป็นเด็กเล็ก ๆ ถ้าไปพักประจำที่โรงเรียนหรือหอพัก ก็อาศัยเพื่อนนักเรียนพาไปบ้าง บางทีมีโอกาสคุณครูก็พาไปบ้าง เมื่อถูกถามถึงการจับจ่ายเงิน เด็กก็ให้เหตุผลว่า คุณพ่อคุณแม่ยิ่งจ่ายเงินเป็นไฟไปเลย บางครั้งคุณพ่อกับคุณแม่เกิดทะเลาะกันเพราะการจ่ายเงินมาก โดยไม่ทราบเหตุผลต้นปลาย การทะเลาะกันเนื่องจากทั้งสองฝ่ายไม่เข้าใจกัน โดยฝ่ายหนึ่งหาว่าอีกฝ่ายหนึ่งแอบเอาเงินไปบำรุงบำเรออะไรไม่ทราบ เรื่องจึงยุ่งกันอยู่เรื่อย 

เมื่อทราบต้นสายปลายเหตุจากทั้งสองฝ่าย ซึ่งต่างก็มีเหตุผลเท่า ๆ กัน จึงไม่ทราบว่าจะตำหนิและชมใคร เพราะฝ่ายผู้ปกครองเด็กก็มีส่วนผิด อันเป็นต้นเหตุไม่ดีให้เด็ก ๆ มีส่วนผิดไปตามได้ดังที่เด็ก ๆ อ้างเหตุผล เรื่องจึงควรลงเอยกันที่ต้นเหตุเป็นกรณีที่ควรแก้ก่อนอื่น ถ้าต้นเหตุยังไม่ดีพอที่ผู้รับถ่ายทอดจะยึดไปใช้เป็นประโยชน์ได้ การตำหนิก็ไม่มีผลดีอะไรเกิดขึ้น จะเป็นทำนองปล่อยให้เรือนของตัวรั่ว แต่มัวไปตำหนิเรือนของคนอื่น ไม่เข้าหลักของบุคคลผู้จะเป็นผู้นำที่ดีของโลก

ดังนั้นเรื่องจึงสำคัญอยู่ที่ผู้ปกครอง จะพยายามปรับปรุงตัวให้เป็นแบบพิมพ์ที่ดีของเด็ก ๆ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างที่เด็กนำไปใช้ล้วนแต่ได้รับถ่ายทอดไปจากผู้ใหญ่ทั้งนั้น ดังที่เด็กนำออกแสดงโดยมากเป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่ริเริ่มทำเพื่อหาความสุขเฉพาะตัว แต่ขาดความคำนึงว่าเด็ก ๆ อาจจะเดินรอยตามผู้ใหญ่หรือไม่ ซึ่งจะทำให้เด็กเสียในอนาคต ถ้าผู้ใหญ่มีความสนใจทุกกรณีที่ตนจะพึงทำในฐานะเป็นผู้ใหญ่ว่าควรหรือไม่ควรแล้ว เด็กจะได้รับสิ่งที่ดีและเป็นประโยชน์จากผู้ใหญ่ไปใช้ กลายเป็นคนดีในปัจจุบันและอนาคตจำนวนไม่น้อยเลย

ดังนั้น ผู้ปกครองเด็กทั้งหลายทั้งทางบ้านและทางโรงเรียน ต่างไม่ควรมองข้ามตนและควรสังเกตดูความประพฤติของตัวอยู่เสมอ อย่างไรต้องเป็นแบบพิมพ์ที่ดีของเด็ก และประเทศชาติบ้านเมืองได้อย่างน่าชื่นชม เมื่อผู้ใหญ่ตั้งเข็มทิศทางเดินที่ดีไว้โดยความประพฤติตัวดีให้เด็ก ๆ ดำเนินตามแล้ว เด็ก ๆ ย่อมจะไม่ประพฤติเขวไปนอกลู่นอกทาง ซึ่งจะกลายเป็นโรคระบาดและเรื้อรังชนิดรักษาไม่หายอีกต่อไป คงจะมีทางดีขึ้นเป็นลำดับ และเด็กทุกคนและทุกวัยต้องอาศัยพ่อแม่เป็นแดนเกิด ทั้งรูปกายและความรู้วิชา เด็กไม่มีทางศึกษาหาความรู้วิชาโดยลำพังตนเองในขั้นเริ่มแรก นอกจากจะอาศัยผู้ใหญ่เป็นผู้ให้การศึกษาในวิชาทุกแขนง ทั้งวิชาในหลักธรรมชาติที่ไม่มีโรงเรียนสอน แต่เป็นการศึกษากับผู้เกี่ยวข้องไปในตัว ทั้งวิชาที่มีโรงเรียนและมีครูสอน

แม้เพื่อน ๆ ของเด็กต่างคนก็ออกมาจากผู้ใหญ่ด้วยกัน เด็กที่นำมรรยาทความประพฤติดีหรือชั่วมาสังคมกัน จนได้รับถ่ายทอดจากกันไปนั้น ก็ต้องออกมาจากผู้ใหญ่ของเด็กแต่ละคน เมื่อเด็กมาสมาคมกันก็นำสิ่งที่ได้รับถ่ายทอดมาแล้ว มาคละเคล้ากัน จึงกลายเป็นเด็กดีบ้าง เด็กชั่วบ้าง เมื่อเด็กดีกับเด็กชั่วเข้าปะทะกัน จึงยากที่จะแยกออกได้ นอกจากจะพยายามหาทางออกตามภาษิตว่า อเสวนา จ พาลานํ ปณฺฑิตานญฺจ เสวนา อย่าทำความสนิทติดใจและนอนจมอยู่กับคนชั่ว จงพยายามเข้าใกล้ชิดสนิทสนมกับคนดีเท่านั้น

คนอื่นชั่วเรายังพอมีทางหลีกเลี่ยงได้ โดยไม่ทำให้เสียมรรยาทอันดีงาม แต่สำคัญที่เราเป็นคนชั่วเสียเอง นี้รู้สึกว่าหาทางหลีกเลี่ยงยาก จะหลบหลีกไปทางไหนก็จะโดนแต่เรา จะก้าวหน้าถอยกลับ หลีกซ้ายหลีกขวา ก็จะโดนแต่เราทั้งนั้น ฉะนั้นความชั่วกลับมาเป็นตัวเราผู้ทำเสียเอง จึงควรสะดุดใจและรีบแก้ไข อย่ามัวไปหนักใจกับคนอื่นให้มากไป โดยมิได้สนใจกับตัวเอง ไม่เข้าหลักของบุคคลที่เห็นโทษและเห็นคุณด้วยความมีเหตุมีผล หลักการที่จะนำมาดัดแปลงแก้ไขตัวเองคือ หลักกรรม แปลว่าการกระทำเป็นกลาง ๆ แยกออกเป็นสาม คือกุศลกรรม คือการทำดีหนึ่ง อกุศลกรรม คือการทำชั่วหนึ่ง อัพยากตกรรม คือการกระทำไม่ดี ไม่ชั่ว เป็นกลาง ๆ หนึ่ง

พระพุทธศาสนานิยมกรรมเป็นหลักใหญ่ การทำดีให้ผลเป็นสุข การทำชั่วให้ผลเป็นทุกข์ การทำกลาง ๆ ไม่เป็นผลไปทางสุขและทุกข์ กรรมชั่วที่ทำแล้วแต่ยังไม่แสดงผล ย่อมเป็นเช่นวัตถุระเบิดเครื่องทำลายที่ถูกเก็บไว้ แต่เมื่อถึงเวลากรรมชั่วให้ผล ย่อมก่อความเดือดร้อนและวินาศกรรมให้แก่ผู้ทำมากน้อยตามขนาดกรรม เช่นเดียวกับวัตถุระเบิดเครื่องทำลายออกแสดงฤทธิ์ตามขนาดของมันฉะนั้น แม้กรรมดีที่ยังไม่ให้ผลและเวลาให้ผลก็มีลักษณะเช่นเดียวกัน แต่ต่างกันก็ตรงที่แสดงผลเป็นสุขมากน้อยตามขนาดของกรรมดีที่ทำไว้เท่านั้น ฉะนั้นกรรมดีและกรรมชั่วทั้งสองประเภทนี้ จึงไม่ควรประมาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งว่าจะไม่ให้ผล แต่ควรจะทำความสนใจละความชั่วและบำเพ็ญความดี สมกับเจตนาที่ต้องการความสุขเป็นสมบัติของตนทุกคน

กรรมชั่วเป็นเหมือนวัตถุเครื่องทำลาย มีหลายขนาดตามแต่ผู้ทำกรรมจะผลิตขึ้นมาใช้เอง ผลของกรรมก็มีหลายขนาดไปตามเหตุที่ผลิตไว้ รวมกรรมประเภทนี้แล้ว เรียกว่า เครื่องทำลายตัวเอง ใครเจอขนาดไหนเข้า จำต้องร้องทุกข์เหมือนกันหมด ไม่ว่าสัตว์บุคคลและชาติชั้นวรรณะใด ทุกคนที่เชื่อต่อสิ่งที่มนุษย์ทำขึ้นทางด้านวัตถุ ทั้งด้านทำลายและด้านส่งเสริมว่าเป็นของมีประสิทธิภาพ สามารถทำลายและส่งเสริมได้จริง จึงควรสนใจต่อหลักกรรมดี กรรมชั่ว ซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์ทำเองเหมือนกัน ว่าจะมีผลดีผลชั่วเช่นเดียวกับด้านวัตถุ เพราะทั้งด้านวัตถุและด้านนามธรรม ย่อมมีทางไหลออกเป็นตัวผลเหมือนกัน เนื่องจากเหตุดีเหตุชั่วเป็นกุญแจเปิดทางเพื่อผลอยู่ตลอดเวลา

ผู้กลัวภัยจากความทุกข์และหวังความสุขความเจริญแก่ตน ทั้งโลกนี้และโลกหน้าจึงควรเห็นกรรมทั้งฝ่ายดีฝ่ายชั่วว่าเป็นสิ่งจะให้ผล แม้แต่อาหารหวานคาวและที่อยู่อาศัยซึ่งถือว่าเป็นของจำเป็นทั่วโลกยังต้องอาศัยกรรม คือการปรุงแต่งและการปลูกสร้างที่เรียกว่ากรรม ตามหลักของศาสนา ความสุขที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยสิ่งเหล่านั้น ย่อมเป็นผลให้โลกได้ครองตัวตลอดมา ฉะนั้นคำว่ากรรมดีกรรมชั่วจึงมีความสำคัญไปคนละทาง ซึ่งผู้ทำกรรมจะควรเลือกเฟ้นก่อนจะมีผลตามสนอง

มนุษย์เราเป็นผู้มีใจฉลาดแยบคายกว่าสัตว์ แม้จะอาศัยอยู่ในโลกเดียวกันก็เป็นประหนึ่งอยู่คนละโลก จึงควรทำตัวให้แปลกจากสัตว์ โดยความประพฤติ ความรู้ ความเห็นที่แสดงออกมาจากใจอันฉลาด จะเป็นความร่มเย็นแก่เพื่อนมนุษย์ตลอดสัตว์ซึ่งเป็นผู้โง่ หวังพึ่งผู้เป็นธรรมซึ่งมีการหักห้ามใจตัวเองด้วยเหตุผล คือหลักธรรม อันเป็นธรรมชาติให้ความแน่นอนและไว้วางใจได้ ไม่ปล่อยไปตามอำเภอใจที่มีความอยากเป็นเครื่องผลักดันให้ไหลลงทางต่ำ เพราะตามธรรมดาของใจย่อมมีความอยากเป็นเจ้าเรือน ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ทั้งคนโง่คนฉลาด และคนมีฐานะสูงและต่ำ ย่อมมีความอยากฝังอยู่ในใจด้วยกันทั้งนั้น แต่สำคัญที่การฝึกอบรมใจให้อยู่ในหลักธรรมอันเป็นความพอดี ทุกคนจะกลายเป็นบุคคลที่พอดีไปตามธรรม และไม่ก่อความเดือดร้อนใส่ตนเองและส่วนรวม

สิ่งใดที่ไตร่ตรองดูแล้วเห็นว่าดีและเป็นประโยชน์ก็ทำลงไป แต่สิ่งที่เห็นว่าเป็นโทษ แม้ใจอยากทำก็ไม่ยอมลุอำนาจให้ทำ จะเป็นความเคยตัวและหักห้ามไม่อยู่ในคราวต่อไป รีบหักห้ามเสียแต่ต้นมือ จะสมชื่อว่าเป็นผู้รักตนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง แม้เด็กผู้จำต้องอาศัยผู้ใหญ่ทุกกรณี ก็จะต้องเดินตามรอยและกลายเป็นเด็กดีในวันต่อไป เพราะร่องรอยทางชั่ว พ่อแม่ผู้ปกครองมิได้ทำแบบพิมพ์เอาไว้ พอจะให้เด็กหยิบฉวยมาเลียนแบบและกลายเป็นคนเสียหายไปตาม

ธรรมคือความสม่ำเสมอไม่เอนเอียง ผู้สนใจและเลื่อมใส ย่อมนำไปปฏิบัติได้ตามเพศและวัยของตน เฉพาะครัวเรือนหนึ่ง ๆ ถ้าขาดธรรมเป็นเครื่องปกครองแล้ว แม้จะมีความฉลาดและมีสมบัติมาก ก็ไม่สามารถจะให้ความร่มเย็นแก่ตนและครอบครัวได้ เพราะความร่มเย็นมิใช่อยู่ที่สมบัติและความฉลาดที่ได้เรียนมาเพียงเท่านั้น แต่อยู่ที่ใจซึ่งมีธรรมอันนับว่ามีความพอดีประจำใจ กลายเป็นความพอดีประจำครอบครัว เพราะทุกสิ่งที่มีความพอดีประจำอยู่แล้ว ย่อมเพียงพอกับความต้องการ ไม่กำเริบ เช่นแกงที่แม่ครัวปรุงพอดีแล้ว รับประทานก็มีรสอร่อยและเป็นสุขกายสุขใจ

สามีภรรยามีความพอดีประจำตน ย่อมเป็นที่พอใจและเป็นสุขด้วยกันทั้งสองฝ่าย แต่ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งประพฤติข้ามเขตความพอดี ต้องเกิดเรื่องยุ่งและเดือดร้อนขึ้นทันที ในครอบครัวนั้นอยู่ด้วยกันไม่เป็นสุข แม้จะมีสมบัติมากก็นำมาแก้ไขไม่ตก ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงสอนว่า สนฺตุฏฺฐี ปรมํ ธนํ ความพอดีเป็นหลักทรัพย์อันพึงพอใจอย่างยิ่ง คนที่มีธรรมสันโดษ ความพอดีและอัปปิจฉตา คือความมักน้อยในอารมณ์เครื่องเสริมไฟ จึงมีความสุขเป็นเรือนพักของใจ จะไม่คะนองแบบล้นฝั่งอยู่ตลอดเวลา แม้จะฉลาดและมีทรัพย์มาก

มีบางท่านมาถามว่า ได้พบในหนังสือบางฉบับ แสดงเป็นเชิงไม่อยากให้พระเทศน์สอนประชาชนเกี่ยวกับความสันโดษและความมักน้อย เพราะสมัยนี้เป็นสมัยที่กำลังฟื้นฟูเศรษฐกิจของบ้านเมืองให้มีความเจริญก้าวหน้า การสอนธรรมทั้งสองข้อนี้ จะเป็นการขัดแย้งหรือเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจของบ้านเมือง ท่านจะเห็นว่าอย่างไร?

ในข้อนี้ สำคัญอยู่กับผู้ตีความหมายในธรรม แล้วนำมาชี้แจงให้คนฟัง คนอ่าน ถ้าตีความหมายว่าธรรมทั้งสองบทนี้สอนให้เกียจคร้านอ่อนแอ สอนให้คนกินน้อย ใช้น้อย ที่อยู่อาศัยก็ให้ทำคับแคบไม่เพียงพอกับการหลับนอน เครื่องใช้สอยทุกอย่างก็ทำให้น้อย ไม่พอกิน พออยู่อาศัย ไม่พอใช้ ทำอะไรก็ให้ทำแบบอด ๆ อยาก ๆ  ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวกับมนุษย์อาศัยก็ให้ทำแบบขาด ๆ เกิน ๆ แม้รับประทานก็ไม่ให้อิ่มและเพียงพอกับธาตุขันธ์ที่ต้องการ ถ้าเป็นเช่นนี้ก็กลัวคนจะลำบากและอดตายกันหมดทั้งประเทศ ก็จำต้องบอกให้ทราบ เพราะปกตินิสัยของคนก็ขี้เกียจอยู่ด้วย การบอกเพื่อให้คนมีความขยันหมั่นเพียรจึงไม่เป็นทางผิด

ความจริง ความมักน้อยกับความสันโดษเป็นธรรมคู่เคียงของโลกตลอดมา และเป็นธรรมจำเป็นทั้งนักบวชและคฤหัสถ์ ที่จะนำไปใช้ให้เหมาะกับเพศและฐานะของตนเท่าที่จะเห็นควร เพราะความหมายของธรรมก็บ่งชัดอยู่แล้วว่า จงเป็นผู้มักน้อยในสิ่งที่ควรมักน้อย เช่นคู่สามีภรรยา มีเพียงผัวเดียวเมียเดียวเท่านั้นเป็นที่เหมาะและงามอย่างยิ่งแล้ว ไม่พะรุงพะรัง หามบาป หามกรรม เพราะมีเมียมาก เรื่องมาก เวลาตายไปคนข้างหลังจะไม่ยุ่งยากในการแบ่งปันมรดก ยกให้เมียโทนคนเดียวเก็บไว้เลี้ยงลูก เขาจะได้เห็นบุญคุณของพ่อที่ล่วงลับไป

ทั้งต่างฝ่ายต่างถือว่าเป็นคู่ครองของกันและกัน ไม่ประพฤตินอกใจซึ่งผิดจากหลักความมักน้อย ต่างก็ไว้วางใจกันได้ในทางอารมณ์ นี้คือบ่อแห่งความสุขในครอบครัว เพราะคู่สามีภรรยาเป็นผู้ฝากเป็นฝากตายกันได้ตามหลักธรรม คือความมักน้อย ไม่ยุ่งเกี่ยวกับหญิงชายอื่น ๆ แม้จะวิ่งตามมาเพราะไม่ใช่ของเรา จะไปเกี่ยวข้องให้ยุ่งไปทำไม สมบัติของเราจริง ๆ คือผัวคนเดียวหรือเมียคนเดียวเท่านั้น นอกนั้นไม่ยุ่งด้วย นี้คือการตัดต้นเพลิงที่ถูกต้อง เพื่อมิให้ลุกลามมาไหม้ครอบครัว

ความสันโดษ คือความพอดี เช่นน้ำที่เต็มแก้วแล้วจัดว่าพอดีแล้ว จะเทน้ำลงเพิ่มอีกก็ผิดความพอดี ไม่เป็นประโยชน์อะไร คนที่ตั้งอยู่ในความพอดี คือคนที่รู้จักเราและรู้จักท่าน รู้จักของเราและรู้จักของท่าน เห็นใจเราและเห็นใจท่าน ซึ่งมีความรู้สึกเช่นเดียวกัน จะเป็นคนมีหรือคนจน คนโง่หรือคนฉลาด ก็รู้จักฐานะของกันและกัน ไม่เย่อหยิ่ง ไม่เหยียดหยาม ไม่กล้ำกราย ไม่ล่วงล้ำ ไม่เห็นแก่ได้ สมบัติของท่านมีมากหรือมีน้อย ไม่ล่วงล้ำเขตแดนโดยเห็นว่าพอเอาได้ เห็นว่าเขามีอำนาจน้อยพอจะเคี้ยวกลืนได้ เห็นว่าเขาโง่พอตบตากินได้ เห็นว่าเขามีพวกน้อยพอข่มขู่เอาได้ เห็นว่าเขาเผลอพอหยิบฉวยเอาได้ เห็นว่าเขานอนหลับพอขโมยเอาได้ เห็นว่าเขามีช่องโหว่พอคดโกงได้ เห็นว่าเขาไม่มีอาวุธพอปล้นจี้เอาได้ เห็นว่ามีแต่ผู้หญิงเฝ้ารักษาสมบัติพอขู่เข็ญเอาได้

ผู้มีธรรมสันโดษภายในใจแล้วทำไม่ลง ปลงจิตไม่ตกเพื่อจะทำ เพราะความเห็นใจกันและสงสาร เนื่องจากคิดดูใจเรากับใจท่านผู้อื่นแล้วมีความรู้สึกอันเดียวกัน เรามีสมบัติน้อยมาก เรารักและสงวนของเรา ไม่อยากให้ใครมาล่วงล้ำ มีความยินดีที่จะแสวงหาสมบัติด้วยความชอบธรรม หาได้มากเท่าไรก็เป็นที่เย็นใจ เพราะการแสวงหาสมบัติด้วยความชอบธรรมจะได้มามากมายเท่าไร ไม่เป็นการขัดแย้งต่อธรรมสันโดษ เพราะพระพุทธเจ้าสอนให้คนมีความขยันหมั่นเพียรในทางที่ชอบ แต่มิได้สอนให้ขยันในการเบียดเบียนกันและทำลายกัน และถือเอาสมบัติเขามาเป็นของตน ดังนั้น ความมักน้อยและสันโดษจึงมิได้เป็นข้าศึกแก่การงานของโลกทุกประเภท ซึ่งจะเป็นไปเพื่อความเจริญ พระองค์ยังกลับสรรเสริญคนมีความขยันและอดทนในการงานที่ชอบอีกด้วย สมกับปฏิปทาที่สอนไว้ทุกบททุกบาท เพื่อการรื้อฟื้นโลกและธรรมให้เจริญด้วยความขยันหมั่นเพียร ไม่มีปฏิปทาขี้เกียจแฝงอยู่ในวงธรรมของพระพุทธเจ้าเลย

ธรรมสันโดษ คือความยินดีในสมบัติที่มีอยู่ของตน จะมีน้อยมากเท่าไรก็ให้ยินดีในของที่ตนมีอยู่ ถ้าเรามีความขยันและฉลาดสามารถพอ จะทำการเพาะปลูกหรือจะปลูกสร้างโรงงานอุตสาหกรรมใหญ่ ๆ ขึ้นทั่วประเทศ ก็จะเป็นที่นิยมยินดีของคนจน ๆ เป็นอันมาก เผื่อเขาจะได้อาศัยพึ่งร่มเงาแห่งบารมีของเรา ทั้งจะเป็นที่เบาใจของรัฐบาลซึ่งกำลังเป็นห่วงพี่น้องชาวไทยเรากลัวจะไม่มีที่อยู่อาศัย เครื่องอุปโภคบริโภคเพียงพอกับความเป็นอยู่ในครอบครัว ทั้งจะเป็นที่เทิดทูนศาสนธรรมในบทว่า

อุฏฐานสัมปทา ถึงพร้อมด้วยความขยันหมั่นเพียร ว่าเป็นประโยชน์แก่โลกจริง คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าจะไม่เป็นโมฆะอยู่เปล่า ๆ โดยไม่มีผู้สนใจและปฏิบัติตามจนเกิดผล

ธรรมข้อที่สองว่า อารักขสัมปทา ถึงพร้อมด้วยการเก็บรักษาทรัพย์ที่แสวงหามาได้ด้วยความชอบธรรม ไม่จับจ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่ายโดยไม่มีขอบเขต การจับจ่ายควรถือความจำเป็นเป็นประมาณ ทรัพย์จะมีสถานที่จอดแวะบ้าง ไม่ไหลผ่านมือไปเสียทีเดียว ธรรมคือ มัตตัญญุตา ความรู้จักประมาณในการเก็บรักษา และการจับจ่ายที่เป็นฝาปิดและเปิดทรัพย์ในคราวจำเป็นที่ควรปิดและควรเปิด แม้แต่บ้านเรือนก็ยังมีประตูปิดเปิด ที่เก็บทรัพย์ก็ควรจะมีบ้าง ถึงคราวจำเป็น เช่น เจ็บไข้เป็นต้น ทรัพย์ก็จะมีทางช่วยเปลื้องทุกข์ได้เท่าที่ควร

ข้อที่สาม สมชีวิตา การเลี้ยงและรักษาตัวให้เป็นไปพอประมาณ อย่าให้ถึงกับฟุ่มเฟือยหรือฝืดเคืองจนเกินไป ทั้ง ๆ ที่ทรัพย์เครื่องแก้ขัดแก้จนมีอยู่ แต่อย่าให้กลายไปว่าทรัพย์เป็นเครื่องเสริมคนให้เสีย และเสริมคนให้ขี้เหนียวจนเข้ากับใครไม่ได้ เหม็นฟุ้งไปหมดด้วยกลิ่นของความตระหนี่ถี่เหนียว และส่งกลิ่นฟุ้งไปไกลด้วยทั้งตามลมและทวนลม จนหาที่หลบซ่อนจมูกไม่ได้เลย

ข้อที่สี่ กัลยาณมิตตตา ความมีมิตรสหายที่ดีงาม การคบมิตรเป็นสิ่งสำคัญมาก ควรเลือกเฟ้นด้วยดี แม้อาหารในถ้วยในจานซึ่งเป็นสิ่งสำเร็จรูปมาเรียบร้อยแล้ว ผู้รับประทานยังต้องเลือกเฟ้นทุกครั้งที่รับประทาน เพราะในอาหารย่อมมีทั้งกระดูกทั้งก้าง ซึ่งเป็นภัยต่อร่างกายปะปนอยู่ และอาหารบางชนิดยังแสลงต่อโรค จำต้องสังเกตด้วยดี ไม่เช่นนั้นอาจเป็นภัยต่อร่างกาย บาปมิตรยิ่งเป็นภัยอย่างร้ายแรง ถ้าคบด้วยความสะเพร่า ไม่ใช้ความสังเกตและเลือกเฟ้น ถ้าเป็นกัลยาณมิตรก็เป็นคุณอย่างมากมาย พึ่งได้ทั้งคราวเป็นคราวตาย ไม่ยอมทอดทิ้ง สุขก็สุขด้วย ทุกข์ก็ทุกข์ด้วย เมื่อมีกิจจำเป็นก็ช่วยเหลือได้เต็มไม้เต็มมือ ไม่กลัวความสิ้นเปลืองใด ๆ ทั้งสิ้น ขอแต่เพื่อนผู้จำเป็นหรือจนมุมรอดพ้นออกมากได้ จึงจะเป็นที่พอใจ นี่คือเพื่อนผู้พึ่งเป็นพึ่งตายจริง ๆ ควรคบตลอดกาล เพื่อนที่ดีเราชอบคบ แต่เราไม่ดีเพื่อนก็รังเกียจเหมือนกัน ต้องมองดูตัวบ้าง เพื่อจะได้เป็นเพื่อนที่ดีของเขา เขาพลีชีพเพื่อเราฉันใด เราต้องพลีชีพเพื่อเขาฉันนั้น

วันนี้ได้อธิบายธรรมเริ่มแต่สมาธิมาพอประมาณ แล้วก็อธิบายเรื่องเด็กและผู้ปกครองเป็นลำดับ จนถึงอัปปิจฉตาและสันโดษ ให้ท่านผู้ฟังทั้งหลายทราบ ขอขอบคุณและอนุโมทนากับทุกท่านที่อุตส่าห์มาด้วยความสนใจต่อธรรม หากว่าโลกเราใคร่ต่อธรรมดังทุก ๆ ท่านที่สนใจและบำเพ็ญอยู่เวลานี้ โลกก็จะเป็นไปเพื่อความเจริญรุ่งเรือง แม้เด็กที่ได้รับการถ่อยทอดจากผู้ใหญ่ก็จะกลายเป็นเด็กดี มีความเฉลียวฉลาดและปฏิบัติตัวได้ดี เป็นที่เบาใจของผู้ปกครอง โดยเห็นว่าเด็กจะเจริญวัยทั้งความรู้วิชา และความประพฤติเป็นลำดับ ทั้งจะเป็นผู้นำของชาติต่อไปด้วยความละเอียดสุขุม ประเทศชาติของเราก็จะเจริญถาวรสืบ ๆ ไป ชั่วฟ้าดินสลาย

ดังนั้นการแสดงธรรมก็เห็นว่าสมควรแก่เวลา จึงยุติธรรมเทศนาเพียงเท่านี้ เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้

                        

www.Luangta.or.th


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก