ธรรมจักร
วันที่ 22 กันยายน 2526 เวลา 19:00 น. ความยาว 73.01 นาที
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)

ค้นหา :

เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๒๒ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๒๖

ธรรมจักร

คำว่าธรรมมีอยู่ คำว่าธรรมประเสริฐสุดในโลก ไม่มีอะไรเสมอไม่มีอะไรเทียบได้ คือ ศาสดาองค์เอก ได้แก่ พระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ ท่านทรงแสดงมาจากคำที่ว่า “ธรรมมีอยู่” คือมีอยู่ในพระทัยท่าน ธรรมประเสริฐ คือ ประเสริฐในพระทัยท่าน ท่านทรงรู้ทรงเห็นทรงสัมผัสสัมพันธ์ ทรงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างจิตกับธรรม ไม่ได้แยกได้แยะไปที่ไหน ๆ เลย นี่คือท่านผู้มีพระเมตตาสงสารและรื้อขนสัตว์โลกจำนวนมากมายแต่ละพระองค์ ๆ ทรงนำมาสั่งสอนโลก ไม่ใช่คนมีกิเลสหนาปัญญาหยาบ หรือปัญญาทึบถูกกิเลสครอบงำหัวใจ แล้วนำโอวาทของกิเลสออกมาหลอกลวงโลก แต่เป็นศาสดาองค์เอกไม่มีกิเลสแม้นิดหนึ่งเข้าเคลือบแฝงในพระทัยนั้นเลย พระทัยทั้งดวงเป็นธรรมทั้งแท่ง ว่าธรรมมีอยู่เท่านั้นก็กระเทือนพระทัย ธรรมประเสริฐเลิศโลกคือเหนือกว่าโลกก็กระเทือนในพระทัย

การแสดงออกด้วยพระเมตตา พระเมตตานั้นก็เต็มอยู่ในพระทัย ไม่มีคำว่าด้น ๆ เดา ๆ ไม่มีคำว่าเป็นเงา ๆ ดำ ๆ ด่าง ๆ แต่เป็นเนื้อเป็นหนังเป็นองค์แห่งธรรมแท้เต็มอยู่ในพระทัย สั่งสอนโลกด้วยพระเมตตาจริง ๆ และสอนด้วยความถูกต้องแม่นยำตามธรรมชาติที่มีอยู่นั้น คือตามธรรมที่มีอยู่ลึกตื้นหยาบละเอียดหนาบาง ในขณะเดียวกันสิ่งใดที่เป็นภัยต่อความสว่างก็คือความมืด สิ่งที่เป็นภัยต่อธรรมก็คือกิเลส ซึ่งถือสถานที่คือจิตดวงเดียวเป็นที่อยู่เป็นที่อาศัยเช่นเดียวกันหมด และคำว่าธรรมมีอยู่แต่ที่ยังไม่ได้ตรัสรู้ก็ไม่ได้ทรงแสดงว่าอย่างไรเลย เพราะไม่มีไม่รู้ไม่เห็น กิเลสก็ไม่สามารถจะแจงออกมาได้ว่าเป็นประเภทใด ๆ ต่อประเภทใดบ้าง ทั้ง ๆ ที่เป็นข้าศึกอยู่เต็มหัวใจ เต็มพระทัยของพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์

แต่เมื่อได้ทรงรื้อฟื้นหรือได้ทรงขุดค้นอรรถธรรมโดยหลักธรรมชาติ โดยหลักสัพพัญญูที่ทรงขวนขวายเอง ทรงรู้เองเห็นเองได้ประจักษ์พระทัยแล้ว จึงได้นำทั้งเหตุทั้งผลของธรรม นำทั้งเหตุทั้งผลของกิเลสซึ่งเป็นตัวภัย ประกาศแก่สัตว์โลกซึ่งมีจริตนิสัยหรือพื้นเพต่าง ๆ กัน ให้เป็นที่เข้าใจโดยลำดับลำดา เฉพาะอย่างยิ่งท่านผู้ที่เห็นโทษเห็นภัยเต็มหัวใจอยู่แล้ว แต่ไม่สามารถที่จะเสาะแสวงหาทางออกได้ เมื่อได้ฟังกระแสเสียงแห่งธรรมจากพระพุทธเจ้าเพียงเท่านั้น ก็เป็นเหตุให้กระเทือนจิตใจทั้งฝ่ายโทษทั้งฝ่ายคุณ แล้วพยายามขวนขวายหรือตะเกียกตะกายสุดความสามารถตั้งแต่ขณะเริ่มแรกนั้นเลย

ในศาสดาองค์ปัจจุบันของเรานี้ก็คือพระเบญจวัคคีย์ทั้งห้า พอทรงแสดง เทฺวเม ภิกฺขเว อนฺตา ปพฺพชิเตน น เสวิตพฺพา เท่านั้น ก็ได้ทราบว่านี้คือทางเครื่องหลอกลวงสัตว์โลก ยังไม่ใช่ทางแห่งธรรม แม้จะปฏิญาณตนหรือเข้าใจว่าตนดำเนินว่าถูกทางก็ตาม แต่ยังเป็นทางของกิเลสไม่ใช่ทางของธรรม การทำตนให้ลำบากเปล่า ๆ โดยเจตนาที่มุ่งอรรถมุ่งธรรมแต่ทำไม่ถูกต้อง มันเป็นแผนการของกิเลสไปเสียนี้หนึ่ง การประกอบตนให้หมกมุ่นอยู่กับกิเลสราคะตัณหาทั้งมวล ซึ่งเป็นรังของกิเลสล้วน ๆ นั้นก็คือดำเนินหรือถูกกิเลสฉุดลากไปโดยไม่ต้องสงสัยหนึ่ง สิ่งที่จะทวนกระแสแห่งทางทั้งสองเงื่อนนี้ก็คือ มชฺฌิมา ปฏิปทา ตถาคเตน อภิสมฺพุทฺธา จกฺขุกรณี ญาณกรณี อุปสมาย อภิญฺญาย สมฺโพธาย นิพฺพานาย สํวตฺตติ เสยฺยถีทํ สมฺมาทิฏฺฐิ สมฺมาสงฺกปฺโป ไปเลย ในส่วนที่เป็นข้าศึกก็ทรงแสดงให้ทราบในเบื้องต้นแล้วว่า เสยฺยถีทํ กามตณฺหา ภวตณฺหา วิภวตณฺหา อันนี้เป็นเรื่องของกิเลส

เรื่องการทำตนให้ลำบากเปล่า ๆ ก็บอกแล้ว ไม่เกิดประโยชน์อะไร ประกอบขึ้นด้วยทุกข์ต่างหาก นี่ก็ได้แสดงไว้แล้ว มาอันดับ ๒ เป็นเรื่องของสมุทัยอย่างชัดเจนก็บอกไว้ว่า กามตณฺหา ภวตณฺหา วิภวตณฺหา นี่คือธรรมชาติที่จะสั่งสมกองทุกข์ หรือพอกพูนทุกข์ให้ทับถมจิตใจของสัตว์โลกไม่มีประมาณกาลสถานที่เลย ก็ทรงแสดงให้ทราบ จากนั้นก็ทรงแสดง มชฺฌิมา คือความเหมาะสมในการก้าวเดินออกจากสิ่งที่เป็นข้าศึก หรือเป็นเครื่องมือที่ทันสมัย เหมาะสมกับการปราบสิ่งที่เป็นข้าศึกทุกประเภทออกได้โดยสิ้นเชิงไม่สงสัย

ได้แก่ สมฺมาทิฏฺฐิ สมฺมาสงฺกปฺโป นี่ก็หมายถึงความฉลาดที่ทรงดำริด้วยความฉลาดแหลมคมโดยธรรม ไม่ใช่เป็นความฉลาดดังที่โลก ๆ ทั้งหลายใช้กัน สมฺมาทิฏฺฐิ สมฺมาสงฺกปฺโป นี้เป็นความฉลาดทางด้านธรรมะล้วน ๆ ที่จะสามารถแก้กิเลสให้หมดไปจากใจได้โดยสิ้นเชิง อุบายที่ออกมาจากความฉลาดนั้นคืออะไรอีก ที่จะแสดงออกในการต่อสู้ในการดำเนิน ก็คือ สมฺมาวาจา กล่าวชอบด้วยปัญญา แน่ะ สมฺมากมฺมนฺโต กระทำชอบด้วยปัญญาด้วยความฉลาด สมฺมาอาชีโว เลี้ยงร่างกายและจิตใจด้วยความชอบธรรมด้วยปัญญา สมฺมาวายาโม เพียรชอบด้วยอุบายแห่งปัญญา สมฺมาสติ สมฺมาสมาธิ ระลึกด้วยอุบายของปัญญาพาให้ระลึก แล้วมีความเหนียวแน่นมั่นคงทางด้านจิตใจด้วยอำนาจของปัญญาเป็นผู้นำทาง

ธรรมเหล่านี้แล คือธรรมเครื่องถอดถอนกิเลสทุกประเภทซึ่งเป็นข้าศึกของธรรม เป็นข้าศึกของใจซึ่งเป็นคลังแห่งกิเลส ให้หมดสิ้นไปโดยไม่ต้องสงสัย จะประกอบด้วยดังที่กล่าวมาเบื้องต้น พระพุทธเจ้าท่านทรงไว้ จกฺขุกรณี ญาณจักษุก็เกิด คือคำว่าจักษุก็หมายถึงจักษุญาณภายในใจล้วน ๆ ไม่ได้นำตาเนื้อไปใช้เลยแม้แต่นิดหนึ่ง ญาณกรณี ซึ่งเป็นความละเอียดแหลมคมของญาณ คือว่าจักษุก็หมายถึงว่าเห็นอย่างชัดเจนด้วยพระจิตที่บริสุทธิ์ ไม่มีสิ่งใดมาปิดบังหุ้มห่อเหมือนอย่างแต่ก่อน ญาณกรณี ทรงหยั่งทราบตามหลักความจริง ไม่ลบล้างความจริงที่มีอยู่ มีอยู่อย่างไรทรงรู้ทรงเห็นอย่างนั้น เห็นก็คือจักขุญาณ รู้ก็คือญาณความหยั่งทราบ จึงทั้งทรงรู้ทรงเห็นในสิ่งที่มีอยู่ทั้งหลาย และวิธีการบำเพ็ญ วิธีการหลีกเลี่ยง จะหลีกเลี่ยงอย่างไร วิธีการละการถอดการถอนถอดถอนอย่างไร ทรงสั่งสอนไว้โดยถูกต้องแม่นยำสมบูรณ์เต็มที่

อุปสมาย นี่เป็นไปเพื่อความสงบ ท่านบอกไว้ว่าจะเป็นไปเพื่อจักษุญาณ เป็นไปเพื่อจักษุ เป็นไปเพื่อทำญาณให้แจ้งให้รู้ชัดเห็นชัด เป็นไปเพื่อความสงบร่มเย็น เป็นไปเพื่อความรู้ในแง่ต่าง ๆ อภิญฺญาย เป็นไปเพื่อความรู้แจ้งแทงทะลุ สมฺโพธาย เป็นไปเพื่อนิพพาน ธรรมคือ สมฺมาทิฏฺฐิ สมฺมาสงฺกปฺโป เป็นต้น จนถึง สมฺมาสมาธิ นี่เป็นเครื่องมือที่จะยังผู้บำเพ็ญให้เป็นไปเพื่อความเห็นแจ้ง เพื่อความหยั่งทราบ ด้วยความรู้แจ้งเห็นจริง เพื่อความสงบราบคาบ เพื่อความรู้ในสิ่งทั้งหลายที่เรียกว่า ทิพโสต ทิพยจักษุ เหล่านี้เป็นต้น เป็นไปเพื่อความรู้แจ้งแทงทะลุในกิเลสประเภทต่าง ๆ ไม่มีสิ่งใดเหลือหลอ เป็นไปเพื่อนิพพาน มีมัชฌิมาปฏิปทานี้แลที่เป็นเครื่องมือ นี่ทรงสอนออกมาจากพระทัยที่ทรงบรรจุทั้งเหตุทั้งผลไว้โดยสมบูรณ์อยู่แล้ว จึงไม่มีอะไรขาดตกบกพร่อง อะไรที่เป็นภัยก็ทรงแสดงให้ฟังแล้ว สิ่งที่จะเป็นคุณจนกระทั่งถึงมหาคุณก็แสดงไว้โดยถูกต้อง รวมความลงแล้วว่านี้คือศาสดาองค์เอกเป็นผู้ทรงสั่งสอนไว้

ความรู้ทั้งหมดออกมาจากความเป็นศาสดาองค์เอก ออกมาจากความเป็นสัพพัญญู ไม่ได้รับรู้ไม่ได้ศึกษาเล่าเรียน ไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดมาให้อุบาย อุบายที่จะแก้กิเลสทั้งมวลด้วยธรรมนี้เป็นอุบายของธรรมล้วน ๆ เกิดจากสัพพัญญู คือรู้เองเป็นเอง ขวนขวายเอง ละได้เอง รู้แจ้งแทงทะลุเอง ทรงนำมาสั่งสอนสัตว์โลกด้วยความรู้ความเห็นความเป็นจริงของพระองค์แต่ละพระองค์ ๆ บรรดาพระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงสั่งสอนอย่างนี้ จนกระทั่งได้รู้แจ้งแทงทะลุไปหมดไม่มีสิ่งใดเหลือ การสอนจึงไม่มีแง่สงสัยแม้แต่แง่เดียวหรือแง่หนึ่งแง่ใดเลย สอนเต็มเม็ดเต็มหน่วย สอนเต็มอรรถเต็มธรรม ผู้ฟังซึ่งมุ่งต่อความจริงตามหลักธรรมซึ่งเป็นธรรมชาติที่จริงล้วน ๆ แล้ว จึงได้ฟังอย่างถึงใจ

ดังเบญจวัคคีย์ทั้งห้า พอแสดง เทฺวเม ภิกฺขเว ขึ้นแล้วก็แสดงมัชฌิมาปฏิปทา ท่านเหล่านี้ก็ได้รู้แจ้งเห็นจริง คือรู้แจ้งแทงทะลุในสติปัญญาที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ จุดที่ทำงานท่านก็รวมลงว่าอริยสัจ ๔ ทุกฺขํ อริยสจฺจํ สมุทัย อริยสจฺจํ นิโรธ อริยสจฺจํ มคฺค อริยสจฺจํ รวมลงที่กายที่จิตนี้ทั้งนั้น แน่ะ นี่ละท่านแสดงเรื่องอริยสัจ ๔ แสดงสถานที่ทำงานลงที่กายที่จิต ขึ้นที่กายท่านก็ว่า ชาติปิ ทุกฺขา ชราปิ ทุกฺขา ถึงเรื่องความทุกข์ เรื่องร่างกายนี้เป็นทุกข์ เป็นทุกข์เพราะอะไร

ก็บอกชาติก็เป็นทุกข์ ความเกิดขึ้นมา ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ก็เริ่มแรกตั้งกองทุกข์ขึ้นมาพร้อม ๆ ในครรภ์นั้น ตั้งเป็นรูปร่างใหญ่โตขนาดไหนกองทุกข์ก็เริ่มเท่ากัน ๆ มาโดยลำดับ จนกระทั่งขณะตกคลอดก็เรียกว่ากองทุกข์ ถึงขั้นสลบไสลทนไม่ได้ ตายมีเยอะ นี่คือความทุกข์ในการเกิด

ชราปิ ทุกฺขา เวลาเฒ่าแก่ชราแล้วเป็นยังไง กำลังวังชาลดหย่อนลงไปหมดจนถึงกับว่าช่วยตัวเองไม่ได้ นอนอยู่เหมือนท่อนไม้ท่อนฟืน เป็นแต่ว่าลมหายใจครองตัวอยู่เท่านั้น ความรู้สึกก็มีแต่ไม่มีกำลังที่จะช่วยพยุงตนเอง ทุกข์แค่ไหนมนุษย์เราสัตว์เรา เพราะช่วยตัวเองไม่ได้ แต่ความทุกข์มันเหยียบย่ำทำลายขึ้นเป็นลำดับลำดา ไม่ได้ลดน้อยลงเหมือนกับกำลังวังชาที่จะช่วยตัวเองนั้นเลย

มรณมฺปิ ทุกฺขํ ในขณะที่จะตาย ทุกข์บีบคั้นเสียจนกระทั่งสลบไสล ถ้าสติไม่มีเพราะไม่ได้มีการอบรมก็คว้าโน้นคว้านี้ ไม่มีอะไรเป็นเนื้อเป็นหนังเป็นตัวของตัว คว้าลมคว้าแล้ง คว้าด้วยความสำคัญเป็นไปด้วยอำนาจของกิเลสทั้งมวล ทุกข์ก็บีบบังคับเข้าไป จนทิ้งเนื้อทิ้งตัวตกเตียงไปก็มีมากผู้นอนอยู่บนเตียง เพราะอะไร เพราะความทุกข์บีบบังคับให้ตกกระเด็นไปโน้นตกกระเด็นไปนี้ อยู่ด้วยความสงบไม่ได้ นี่คือกองทุกข์ ท่านบอกอย่างชัดเจนอย่างนี้ ทุกข์หรือไม่ทุกข์เราวาดภาพดูที่กล่าวมานี้

ปรารถนาอะไร ๆ ไม่สมหวังก็เป็นทุกข์ ความปรารถนาส่วนมากท่านหมายถึง เรื่องปรารถนาของโลกทั้งหลายอันเป็นเรื่องของกิเลส ตั้งความปรารถนามากน้อยเพียงใด ก็ชื่อว่าสั่งสมความทุกข์ขึ้นมากน้อยเพียงนั้นโดยลำดับลำดา ถ้าได้มาแทนที่ความสุขจะอยู่กับความได้มามันก็ไม่อยู่เสีย ความปรารถนานั้นมันก็ไปของมันอีกเหมือนกับไฟได้เชื้อ เพราะฉะนั้นผู้ที่มีความปรารถนามาก ผู้ที่ความโลภมาก จึงหาความสุขไม่เจอเลย นอกจากเพิ่มความทุกข์เข้าโดยลำดับลำดาเพราะความโลภของตน

ความสุขหาได้อยู่ในความไม่พอดีไม่ เพราะคำว่ากิเลสแล้ว หรือคำว่าความโลภความปรารถนาแล้ว จะไม่มีความพอดี จะเพิ่มตัวขึ้นโดยลำดับ ๆ จนกระทั่งถึงผู้ปรารถนาตายทิ้งเปล่า ๆ ด้วยอำนาจแห่งการแบกกองทุกข์ทนไม่ไหว ก็ไม่ปรากฏว่าใครได้รับความสุขเพราะความสมหวังนั้นเลย เพราะกิเลสไม่ให้ใครสมหวัง นอกจากธรรมเท่านั้นจึงให้โลกมีความสมหวังได้ นี่ก็เป็นความทุกข์ ท่านว่าปรารถนาไม่สมหวังก็เป็นทุกข์ โสกปริเทวทุกฺขโทมนสฺสุปายาสา เหล่านี้มีตั้งแต่เรื่องกองทุกข์แสดงตัวเต็มธาตุเต็มขันธ์เต็มจิตใจทั้งนั้น เป็นไฟทั้งกอง เอาความสุขมาจากไหน

นี่ท่านพูดถึงเรื่องทุกขสัจ มันเป็นทุกข์อย่างนี้ ให้ทราบเรื่องของมัน แล้วอะไรที่เป็นสาเหตุให้เกิดความทุกข์ เฉพาะอย่างยิ่งเวลาเจ็บไข้ได้ป่วยปวดหัวตัวร้อน หรือเวลานั่งภาวนานาน ๆ เราเป็นนักปฏิบัติเอากันในวงปัจจุบันนี้ อันนั้นพรรณนาไปเพื่อให้ทราบสาเหตุ เพื่อจะได้ประมวลเข้ามาสู่หลักปัจจุบันซึ่งมีอยู่กับตัวเราทุกรูปทุกนามนี้ แล้วพิจารณาในวงปัจจุบันนี้ว่าอะไรมันเป็นทุกข์

ทุกฺขํ อริยสจฺจํ ท่านบอกว่าทุกข์เป็นของจริง นี่ถึงขั้นจะเอากันจริง ๆ ขั้นอนุโลมเป็นอย่างหนึ่ง ขั้นปฏิโลมเป็นอย่างหนึ่ง ขั้นอนุโลมหมายถึง ชาติปิ ทุกฺขา ชราปิ ทุกฺขา เรื่อย นี่ขั้นปฏิโลม ย้อนเข้ามาว่าใครเป็นทุกข์ ตัวทุกข์จริง ๆ เขาได้บอกว่าเขาเป็นทุกข์ไหม เราผู้ไปทราบเขาว่าเป็นทุกข์นั้นต่างหากเป็นผู้จะได้รับความทุกข์ เพราะความงมงาย เพราะความลุ่มหลงของตัวเองไปยึดไฟทั้งกองเข้ามาเผาลนตนเอง นี่คือความหลงของจิต

แยกดูทั้งกาย กายก็เป็นความจริงอันหนึ่งเท่านั้น แต่ละสัดละส่วนมันมีอยู่ของมันตั้งแต่วันเกิดมา ทุกข์เกิดขึ้นมาเป็นกาลเป็นเวลา มันก็ดับไปของมันตามหลักความจริง ทั้งที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไปของมัน กายก็เป็นเช่นนั้น พิจารณาแยกแยะให้เห็นตามหลักความจริงโดยทางปฏิโลม คือหมายความว่าย้อนหาความจริง ไม่อนุโลมตาม

การพิจารณาค้นคว้าอย่างนี้คืออะไร ถ้าไม่ใช่สติ ถ้าไม่ใช่ปัญญา ศรัทธา ความเพียร ความอุตส่าห์พยายาม จะเอาอะไรมาใช้คนเรา นี่ละสัจธรรมทำงานอยู่ในวงเดียวกัน พอทุกข์เกิดขึ้น ค้นหาเหตุของทุกข์ว่ามันเกิดขึ้นเพราะเหตุผลกลไกอะไร นี่คือเรื่องของปัญญา สมุทัยได้แก่ความปรารถนาอยากให้หาย อยากให้ทุกข์ทั้งหลายสลายตัวไป อยากอยู่สบาย เหล่านี้เป็นเรื่องของสมุทัย แต่เรื่องของมรรคไม่ต้องการ หายหรือไม่หายก็ตาม ต้องการทราบความจริงนี้เท่านั้น เมื่อทราบความจริงไปมากน้อยเพียงไร เรื่องของทุกข์จะเป็นของจริงขึ้นมาเองตามความรู้ของตนที่พิจารณารอบตัว สมุทัยจะสงบตัวลงไปเองโดยลำดับลำดา เพราะมรรคมีกำลังพินิจพิจารณารอบตัว ไม่ทำลายตัวเองเพราะมรรคมีกำลังมาก

สุดท้ายทุกสิ่งทุกอย่างก็เป็นของจริงขึ้นมาให้เห็นประจักษ์ใจ ทุกฺขํ อริยสจฺจํ ก็จริงเต็มส่วน ประจักษ์กับใจโดยไม่ต้องไปถามใคร อ๋อ คำว่าทุกข์เป็นของจริงจริงอย่างนี้เอง สมุทัยเป็นของจริงก็จริงอย่างนี้เอง นิโรธเป็นของจริงก็เหมือนกัน ดับทุกข์ไปโดยลำดับลำดาตามหน้าที่ของตน มรรคเป็นของจริงก็รู้รอบขอบชิดด้วยปัญญา ดูตามสภาพความจริงของตนที่มีความฉลาดรอบตัว ต่างอันต่างจริงเป็นขั้น ๆ ขึ้นไป จนกระทั่งถึงจริงสุดยอด เมื่อถึงจริงสุดยอดแล้วทั้งสี่นี้ก็ผ่านไป เหลือแต่ความบริสุทธิ์ล้วน ๆ ที่พ้นจากสัจธรรมทั้งสี่นี้แล้ว

นี่ละในธัมมจักกัปปวัตตนสูตรท่านแสดงไว้ นี่คือศาสดาองค์เอกแสดงไว้เป็นปฐมเทศนา เป็นปฐมฤกษ์แก่บรรดาสาวกทั้งหลาย ผู้ที่สนองพระโอษฐ์ของพระองค์ได้เต็มภูมิก็เบญจวัคคีย์ทั้งห้า เป็นสาวกอรหันต์ขึ้นมาทั้งห้าองค์ ออกจากธรรมของจริงของพระพุทธเจ้า นี่คำว่าธรรมมีอยู่ สาวกทั้งหลายเหล่านั้นหายสงสัยเต็มหัวใจแล้วไม่มีอะไรเหลือ ธรรมมีอยู่อย่างไร ธรรมประเสริฐไม่ไปถามใคร พระพุทธเจ้าเป็นศาสดาองค์เอกเพราะอะไรไม่ต้องถาม เพราะธรรมชาตินั้นก็เอกอยู่แล้ว ต่างอันต่างเอก ต่างองค์ต่างเอก เป็นสภาพเดียวกันหาที่ค้านกันไม่ได้

นี่เห็นแล้วเห็นพระพุทธเจ้าเต็มองค์ คือเห็นความบริสุทธิ์ของตนเอง นี่ที่นี่ธรรมมีอยู่ไม่มีปัญหาสำหรับท่านเหล่านี้ เพราะจิตเป็นคู่ควรกับธรรมมีอยู่ทั้งหลายนั้นได้สัมผัสสัมพันธ์กันโดยลำดับลำดา จนกระทั่งเต็มภูมิแห่งจิตเต็มภูมิแห่งธรรม ในความว่ามีอยู่และในความว่าประเสริฐแห่งธรรมแห่งจิต มีสมบูรณ์เต็มที่ในหัวใจแล้วหายสงสัย นี่ท่านเหล่านี้แลท่านผู้รับทราบท่านผู้ยืนยันในธรรมมีอยู่และในธรรมประเสริฐ สามัญเราธรรมดาไม่สามารถ จะจิตกี่ดวงก็ตาม เช่นเดียวกับหม้อที่ถูกคว่ำปากลงไว้นั่นแล ไม่สามารถจะรู้จะเห็น ถ้าอยากจะรู้จะเห็นธรรมให้หงายปากหม้อขึ้นมาเพื่อรับธรรมทั้งหลาย หงายความเพียรขึ้นมา

ศรัทธาความเชื่อตามหลักความจริงของพระพุทธเจ้านี้ เป็นความเชื่อที่ไม่ขาดทุนสูญดอก เป็นความเชื่อที่ไม่เสียเวล่ำเวลา เป็นความเชื่อที่ถูกต้องตามหลักธรรม และเป็นความเชื่อที่จะหยั่งความอุตส่าห์พยายามทุกด้านทุกทาง ที่จะให้โหมตัวเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเพื่อชำระสิ่งที่เป็นข้าศึก เพื่อปราบปรามสิ่งที่เป็นข้าศึก อันเป็นตัวจอมปลอมทั้งหลายออกไปจากใจโดยลำดับลำดา จนกระทั่งไม่มีอะไรเหลือภายในใจ เป็นความเชื่อที่เกิดขึ้นกับตัวเอง เชื่อพระพุทธเจ้าเชื่ออย่างนี้ ศรัทธาเป็นมาเอง วิริยะเพียรเอง เพราะเกี่ยวโยงกัน คนเราเมื่อมีศรัทธาถึงใจทำไมความเพียรจะไม่ถึงใจ สติก็ต้องถึงใจ สมาธิถึงใจ ปัญญาถึงใจ ธรรมถึงใจ กิเลสกระจายออกไปโดยลำดับลำดาจนไม่มีอะไรเหลือ

นี่แหละธรรม ความเพียรโดยหลักธรรมชาติ ความเพียรประจักษ์ใจเป็นอย่างไร ไม่ต้องบังคับบัญชาหากหมุนตัวไปเอง สติก็เหมือนกัน ความรู้อยู่ที่ไหนสติจะกลมกลืนกันไป ปัญญาจะกลมกลืนกันไป สมาธิมั่นคงทั้งเหตุคือการบำเพ็ญไม่เหลาะแหละ มั่นคงทั้งผลคือสิ่งที่ปรากฏขึ้นเป็นความร่มเย็นเป็นสุขหนาแน่นมั่นคงภายในจิตใจ ปัญญามีความรอบตัว รอบทุกอาการของจิตที่แสดงออกมา รอบทุกอาการของอวัยวะที่แสดงตัวออกไป รอบทั้งภายนอกที่เข้ามาสัมผัสสัมพันธ์ จึงเรียกว่าปัญญารอบตัว นี่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นปรากฏขึ้นในใจของผู้บำเพ็ญเองไม่ต้องถามผู้ใด ๆ ทั้งหมด จะเป็นสิ่งที่ประจักษ์ยอมรับตัวเองภายในนั้น นี่ชื่อว่าธรรมแท้ขึ้นภายในจิต

เรายังไม่สามารถมองเห็นธรรมแท้รู้ธรรมแท้ ต้องอาศัยตำรับตำรากางเสียก่อน เหมือนเป็นแบบแปลนแผนผัง แล้วพยายามตะเกียกตะกายไปตามนั้น หนักบ้างเบาบ้างต่อสู้กันไปทนกันไป จนถึงขั้นรู้ประจักษ์ตัวเองแล้วไม่ต้องมีอะไรมาสนับสนุนก็เป็นไปได้เอง นี่แหละการปฏิบัติธรรม

คำว่าธรรมมีอยู่ มีอยู่อย่างนี้แหละ ธรรมทั้งหลายนั้นไม่ใช่ดิน ไม่ใช่น้ำ ไม่ใช่ลม ไม่ใช่ไฟ ไม่ใช่ดินฟ้าอากาศ ไม่ใช่อวกาศ ไม่ใช่วัตถุสิ่งใดทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นตา หู จมูก ลิ้น กาย ซึ่งเป็นวิสัยของสิ่งเหล่านี้ จึงสามารถรับได้เพียงสิ่งเหล่านี้เท่านั้นแต่ไม่สามารถรับธรรมได้ เพราะธรรมไม่ใช่สิ่งเหล่านี้ ไม่ใช่สิ่งที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ของเราสัมผัสสัมพันธ์ได้นี้เป็นธรรม แต่จะสามารถสัมผัสสัมพันธ์ได้ด้วยใจที่ประกอบด้วยองค์ธรรมที่ถูกต้องดังที่กล่าวมาเหล่านี้ เช่น ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา

นี่แหละเป็นทางที่ไหลมาแห่งธรรม เป็นเครื่องมือที่จะสัมผัสสัมพันธ์ธรรมได้ทุกประเภท ตั้งแต่ความสงบเย็นใจขึ้นมาโดยลำดับ ความสงบก็ไม่ต้องไปถามที่ไหน จะปรากฏขึ้นที่ใจของผู้บำเพ็ญนั้นแล นี่จึงว่าธรรมแท้ ๆ เกิดขึ้นจากภาคปฏิบัติ ปริยัติศึกษาเล่าเรียนมาตั้งแต่วันบวช เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ นี้ได้เรียนแล้ว ปริยัติอุปัชฌายะมอบให้ทุกรูปทุกนามที่บวชตั้งแต่เณรขึ้นไป แล้วนำนี่เข้าไปคลี่คลายขยายดูเป็นภาคปฏิบัติเป็นยังไง เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ อันเป็นเส้น ๆ นี้หรือเป็นคน ทั้งผมทั้งขนเส้น ๆ นี้หรือเป็นคน นี้หรือเป็นของสวยของงาม อันเป็นเส้น ๆ นี้หรือ เส้นหญ้ามันก็เหมือนกันไม่เห็นสวยเห็นงาม ทำไมผมอันนี้มันงามมันสวยนัก อะไรพาให้สวยอะไรพาให้งาม อะไรมาหลอก ค้นหาความจริงให้เจอ เมื่อค้นหาความจริงสิ่งที่มาหลอกแล้ว มันก็จริงมันก็เจอเท่านั้นเอง

ดูตามความจริงแล้วมันมีอะไรสวยงาม ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ดูเข้าไปทั้งภายนอกภายในตลบทบทวนหลายครั้งหลายหน บังคับบัญชาดูตามความจริง อย่าให้จิตเถลไถลออกไปสู่ความจอมปลอมซึ่งกิเลสปักเสียบเอาไว้รอบด้าน อันนี้ง่ายนักเร็วนักนะ เพราะกิเลสเคยคล่องตัวบนหัวใจเรามานาน ธรรมยังคล่องไม่ได้ พอจะเริ่มทำนี้ถูกมันปัดมือตกไปหมด ๆ ปัดมือหักมือขาด แขนหักแขนขาด หัวกุดหัวด้วนไป มันตั้งไม่อยู่น่ะซิ จะตั้งความเพียรก็ถูกมันปัดเสีย ตั้งท่าใดก็ถูกมันปัดเอาล้มไปเสีย ๆ ล้มก็ล้มลงหมอนนั่นแหละ ความขี้เกียจขี้คร้านมันก็จมอยู่ในหัวใจนี้เสียก้าวไม่ออก เพราะกำลังของกิเลส กำลังของสิ่งจอมปลอมมีมาก มันเป็นอัตโนมัติของมันคล่องตัวที่สุด

เพราะฉะนั้นจึงต้องได้พยายามต่อสู้กับมันอย่างหนักด้วยความพากเพียร ความอุตส่าห์พยายาม เพราะเล็งประจักษ์ใจแล้วว่าธรรมเป็นของประเสริฐต่างหาก กิเลสไม่ได้ประเสริฐ ธรรมต่างหากประเสริฐ กิเลสเป็นตัวหลอกลวง เป็นตัวจอมปลอมร้อยเปอร์เซ็นต์ ๆ ธรรมเป็นธรรมที่แท้ที่จริงร้อยเปอร์เซ็นต์ ๆ สวนทางกันไป เราเชื่อเชื่อพระพุทธเจ้าหรือเชื่อกิเลส เราต้องถามตัวของเราเองด้วยสติปัญญาของเราเอง จึงชื่อว่าเป็นผู้ซักตัวเองกับกิเลส อยู่กับตัวเองแก้ตัวเองด้วยอำนาจของธรรม กิเลสเป็นเครื่องผูกเครื่องมัด เราแก้ด้วยอรรถด้วยธรรม เราจะเชื่อใคร พุทฺธํ ธมฺมํ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ เราเปล่งวาจามาตั้งแต่ไหนแต่ไร เฉพาะอย่างยิ่งขณะที่บวชมาจนกระทั่งป่านนี้

พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์นี้หรือองค์หลอกลวงโลกมีไหม เราถือพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ถืออย่างไร พระพุทธเจ้าจริงอย่างไรในภาคปฏิปทาก็ดี ทั้งผลเป็นที่ได้รับเป็นที่พอพระทัยอยู่แล้ว ธรรมะที่ว่า ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ นี้ก็เหมือนกัน อยู่ในพระทัยของพระพุทธเจ้าเต็มดวงอยู่แล้ว สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ พระสงฆ์สาวกล้วนแล้วตั้งแต่เป็นผู้ทรงธรรมอันบริสุทธิ์นี้ทั้งนั้น ท่านเหล่านี้ไม่ใช่ผู้หลอกลวง ไม่ใช่ผู้ต้มตุ๋นสัตว์โลกทั้งหลายให้ล่มจมไป มีกิเลสเท่านั้นเป็นธรรมชาติที่หลอกลวงสัตว์โลกทั้งหลายให้ล่มจมไป ไม่ว่าสัตว์ไม่ว่าบุคคล หญิงชาย ชาติชั้นวรรณะใดก็ตาม ถูกต้มถูกตุ๋นจากกิเลสนี้ทั้งนั้น ทำไมเราก็เป็นคนหนึ่งซึ่งถูกต้มถูกตุ๋นจากมันมานานแสนนานแล้ว จึงยอมเชื่อมันอยู่ตลอดเวลา ไม่โผล่หน้าขึ้นมาด้วยสติปัญญามองดูหน้ามันบ้าง ให้แต่มันมองดูหน้า สับหน้าผากเราอยู่เรื่อย ๆ มีอย่างเหรอ เราเป็นนักปฏิบัติต้องพิจารณาอย่างนั้น ต้องใช้สติปัญญาพลิกแพลงเปลี่ยนแปลงไปมาให้เป็นหลายสันหลายคม สมกับกิเลสมีหลายสันหลายคม ไม่อย่างนั้นไม่ทันกันนักปฏิบัติ พลิกขึ้นมาใช้ให้ทัน

นี่เราพูดถึงเรื่องปริยัติ พอได้เรียนแล้วแยกมาเป็นภาคปฏิบัติ ไม่เพียงแต่ ตโจ เท่านั้นแหละ เมื่อเข้าไปถึงนี้แล้ว อวัยวะน้อยใหญ่ในสกลกายนี้มันจะตลอดทั่วถึงไปหมด เป็นสภาพเหมือนกัน ถ้าว่า อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา เต็มหมดทั่วตัวนี้ ถ้าว่าอสุภะอสุภัง ตรงไหนมันสะอาดพอที่จะไว้วางใจได้มีไหม มันไม่มี เต็มหมดตัว แต่กิเลสมันบอกว่าดีว่าสวยว่างาม มันเอาลม ๆ แล้ง ๆ มาหลอกเราก็เชื่อมัน มันไม่มีความจริงอะไรเลย เรายังเชื่อมันจนกระทั่งป่านนี้ เอาธรรมพระพุทธเจ้าจับเข้าไปซิ จับเข้าไป จับเข้าไปตรงไหนไม่หยุดไม่ถอยแล้วก็พัง ๆ เมื่อความจอมปลอมนั้นพังแล้วอยู่สบาย เพราะมีแต่ความจริงล้วน ๆ อยู่ด้วยกันสบายไปหมด แม้ทุกข์จะมีอยู่ในธาตุในขันธ์เจ็บไข้ได้ป่วยก็ตาม มันก็เป็นความจริงอันหนึ่งของมัน เพราะใจของเราเป็นความจริงแล้วไม่เป็นทุกข์ต่อกัน ไม่กระทบกระเทือนกัน ไม่ได้หวั่นไหวต่อกันเลย นี่การพิจารณาให้พิจารณาอย่างนี้

นี่เป็นสนามรบ นี่เป็นสถานที่ทำงานของนักปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้น ไม่หลุดพ้นที่ตรงไหน หลุดพ้นที่ถูกผูกถูกมัดนั่นแหละ สิ่งเหล่านี้แหละเป็นเครื่องผูกมัดจิตใจของเราอยู่เวลานี้ ให้ได้กระเสือกกระสนกระวนกระวาย ดิ้นอยู่อย่างนั้นภายในจิตใจใคร ๆ ก็รู้ เพราะมีสิ่งพาให้ดิ้น ไม่ต้องถามกันก็รู้ ให้ธรรมจ่อเข้าไปซิตรงไหน ความสงบจะปรากฏขึ้นมา ๆ เรื่อย ๆ จนกระทั่งกิเลสพังลงไปหมดเพราะอำนาจแห่งธรรมปราบปรามมันแล้ว ไม่มีอะไรดีดไม่มีอะไรดิ้น มีก็แต่เรื่องขันธ์ล้วน ๆ เท่านั้นแหละ

รูปก็มีอยู่ตามสภาพของมัน ก็รู้อยู่แล้วว่ารูปนี้คือธาตุ ๔ แน่ะ ดิน น้ำ เป็นสำคัญ ที่เด่นเพราะเป็นธาตุที่หยาบ ก้อนร่างกายของเรานี้มันก็ก้อนดินเหนียวนั่นเอง ฉาบทาด้วยน้ำชื้น ๆ แฉะ ๆ อยู่ในตัวของเรา ไม่ผิดอะไรกับขี้ตมขี้โคลนที่เปียกแฉะและข้น ๆ อะไรเลยแหละ ความร้อนเราก็เห็นอยู่แล้ว ไฟตื่นมันอะไร ไฟในร่างกายนี้ก็เป็นอันเดียวกัน ลมก็ลมหายใจ หายใจเข้าหายใจออกตื่นอะไรลม ลมนั้นหรือเป็นคน ลมทั่วโลกทั่วดินแดนไม่เห็นเป็นคน ทำไมลมในจมูกเป็นคนได้ ถ้าไม่ถูกหลอกเอาเสียอย่างเปื่อย นั่นถามตัวเองบ้างซิ กิเลสอยู่กับตัวเองต้องถามตัวเอง สติปัญญาซึ่งเป็นเรื่องของอรรถของธรรมอยู่กับตัวเองค้นขึ้นมาใช้ ค้นขึ้นมา ขุดค้นมันทำลายมัน สิ่งจอมปลอมทั้งหลายเหล่านี้

ดูให้เห็นชัดธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ มีเท่านั้น มีความวิเศษวิโสอะไรดินน้ำลมไฟ เหยียบย่ำไปมาก็มีแต่ดินแต่น้ำแต่ลมแต่ไฟทั้งนั้น อยู่ในตัวของเรานี้ก็ตั้งแต่วันเกิดมาจนกระทั่งเดี๋ยวนี้ มันให้ความวิเศษวิโสอะไรต่อเราบ้างอันดินน้ำลมไฟ ทำไมจึงไปเสกสรรปั้นยอมันเอานักหนา เสกสรรเท่าไรยิ่งพันเข้าไป ๆ เหมือนลิงทอดแหนี่ เอ้า คลี่คลายออกซิด้วยสติปัญญามีเท่าไร ธรรมของพระพุทธเจ้าเป็นธรรมะที่เปิดเผย เป็นธรรมะที่เป็นความจริง องอาจกล้าหาญมาก นำเอามาใช้แก้กิเลสให้หมอบราบไปหมดไม่ให้มันเหลือ สิ่งจอมปลอมทั้งหลายหมดไปแล้วยังเหลือแต่ความจริงล้วน ๆ อยู่แสนสบาย ไม่มีอะไรมากวนใจแหละ ที่เรียกว่าขันธ์ล้วน ๆ คืออย่างนี้แหละ มีแต่ขันธ์ รูปขันธ์ก็เป็นขันธ์ล้วน ๆ เสีย ไม่มีกิเลสตัวใดเข้าไปแทรก ถึงจะมีกำลังวังชาก็เป็นกำลังวังชาของธาตุของขันธ์ ไม่ใช่เป็นกำลังวังชาของอำนาจกิเลสราคะตัณหาอะไร

เวทนา ความสุข ความทุกข์ เฉย ๆ ที่เป็นอยู่ในร่างกายนี้ก็เห็นกันอย่างชัด ๆ อยู่นี้ มันก็มีแต่เกิด ๆ ดับ ๆ ก็รู้กันอยู่จนจำเจ ทำไมพิจารณาไม่เห็นชัดตามสิ่งที่มีอยู่อย่างจำเจเปิดเผยอยู่ตลอดเวลา มันน่าจะรู้จะเห็นกันด้วยปัญญาถ้านำมาใช้ สัญญาก็ฟังซิ จำได้เท่าไร เรียนจบพระไตรปิฎกก็จำทั้งนั้นแหละ กิเลสตัวหนึ่งก็ไม่ถลอกเพราะเป็นสัญญา จะเอาอะไรมาแก้กิเลส ถ้าเป็นปัญญาแล้วพังเลยกิเลสไม่มีเหลือ ต้องจำเอามาให้เป็นปัญญาซิ ถ้าเป็นปัญญาแล้วก็ทำลายกิเลสได้ สังขารก็ปรุงอยู่อย่างนั้นยิบ ๆ แย็บ ๆ

เมื่อเป็นขันธ์ล้วน ๆ แล้วมันมีเท่านั้นแหละ มันไม่กำเริบเสิบสานไปมากกว่านี้ อะไรเกิดขึ้นก็ตามสภาพของตน ๆ ไม่มีอะไรมาหนุนมาฉุดมาลากไปให้เป็นอย่างอื่น กายก็สักแต่ว่ากายอยู่อย่างนั้น เวทนา ความสุข ความทุกข์ ที่เป็นอยู่ในขันธ์ก็เป็นอยู่ตามธรรมชาติของมัน รู้ตามความจริงไม่ตื่นไม่เต้น ไม่หลงใหล ต่างอันต่างจริง สัญญาก็จำได้จำไป ลืมได้ลืมไป ก็รู้กันอยู่แล้ว ความจำกับความหลงลืมเป็นคู่เคียงกันก็รู้กันอยู่แล้ว สังขารความคิดความปรุง ก็ปรุงไปอย่างนั้น ไม่มีตัวใดที่เข้ามาถือบังเหียน อวิชฺชาปจฺจยา ไม่มี ตัวอวิชชานั้นแหละตัวถือบังเหียนของขันธ์ทั้งห้านี้ ถูกพังทลายลงไปหมดแล้วก็เป็นขันธ์ล้วน ๆ จะมีอะไรเหลืออยู่ รับทราบกันไป พอถึงกาลอวสานของมัน พอหมดแล้วก็สลายตัวของมันลงไป ใครจะไปให้ชื่อให้นามมันที่นี่ ก็มีแต่จิตดวงเดียวไปให้ชื่อให้นาม ไปหลงมัน

พอจิตดวงนี้รอบตัวแล้ว มันยังอยู่มันก็รู้กันอยู่อย่างนั้นจะไปตื่นกันอะไร นี่ภาคปฏิบัติ ให้เห็นว่าธรรมมีอยู่จะเปิดเผยขึ้นที่ใจ เวลานี้กิเลสปกปิดไว้ไม่ให้เห็นธรรม ธรรมประเสริฐก็กิเลสแทรกเข้าไป แล้วเหยียบหัวใจเราเสียว่ากิเลสประเสริฐ ความโลภเกิดขึ้นก็ประเสริฐ ความหลงเกิดขึ้นประเสริฐ ราคะตัณหาเกิดขึ้นประเสริฐ มีแต่ประเสริฐไปหมดเรื่องของกิเลส แต่หาตัวประเสริฐอันแท้จริงที่จะมาหนุนใจให้ได้รับความสุขไม่มีเลย มีแต่ฟืนแต่ไฟวิเศษอะไร ประเสริฐอะไร ดูมันบ้างซิ

มันประกาศกังวานอยู่ในหัวใจ หลอกอยู่ตลอดเวลา ทำไมไม่เอาธรรมเข้าจับกันบ้างว่าความโลภเคยให้คนเป็นสุขที่ไหน โลภมากเท่าไรยิ่งเป็นทุกข์มาก เป็นฟืนเป็นไฟไปหมดนั่นแหละ หมุนตัวเป็นเกลียวยิ่งกว่ากังหัน คนโลภมากเป็นอย่างนั้น อยู่ไม่เป็นสุขดิ้นรนกระวนกระวาย ความโลภมันเหยียบย่ำทำลายหัวใจ ได้มาเท่าไรแทนที่ความโลภจะสงบไปใจจะได้รับความสุข ยิ่งเพิ่มฟืนเพิ่มไฟขึ้นไปมีความสุขที่ตรงไหนนั่น เอาให้มันเห็นจริง ๆ อย่างนั้นซินักปฏิบัติ ธรรมเป็นของจริง ให้เห็นทั้งของจริงทั้งของปลอมซิ ว่าความโลภมันเป็นของวิเศษเป็นความสุขได้อย่างไร อันนี้เป็นเรื่องของกิเลส สำหรับธรรมท่านไม่ว่าอย่างนั้น ท่านปราบเอาเลย ท่านลบล้างไปเลย มันสุขที่ตรงไหน คนโลภนั้นละคือคนจะตาย นั่นพูดง่าย ๆ ว่างั้น โลภมากเท่าไรมันจะตายสด ๆ ร้อน ๆ

ความโกรธก็เหมือนกัน เกิดขึ้นมาก ๆ นี้ตัวแดงเป็นพริกเผาไปเลย นั้นหรือคนเป็นสุข ตัวแดงเป็นพริกเผานั้นเหรอ ผู้ไม่โลภอยู่สงบสบายไม่มีอะไรกวนใจต่างหากเป็นผู้มีความสุข เป็นผู้ทรงความสุข ผู้ไม่โกรธอยู่ด้วยความสะดวกสบายด้วยจิตที่บริสุทธิ์ต่างหากเป็นผู้มีความสุข ทรงไว้ซึ่งความสุข ไม่หลงงมงายไม่หลงอะไรทั้งนั้น ตัวหลงตัวเหล็งนี้ออกไปหมดไม่มีอะไรเหลือ ปราบมันออกหมด ยังเหลือแต่ความสุขที่บริสุทธิ์ล้วน ๆ นั้นคือผู้ประเสริฐ นั้นคือผู้เป็นบรมสุขต่างหาก

ราคะตัณหาเป็นเครื่องเขย่าก่อกวนให้ดิ้นรนกวัดแกว่งเหมือนสุนัขเดือน ๙ เดือน ๑๐ ดิ้นรนกระวนกระวาย นั่นละตัวมันดิ้นที่สุดตัวนี้ เมื่อฆ่าสาเหตุตัวมันดิ้นเสียแล้วอะไรจะมาดิ้น คนดิ้นตายมีความสุขไหม คนไม่ดิ้นต่างหากมีความสุข นี้ตัณหาราคะพาดิ้นล้มดิ้นตายอยู่ทั้งวันทั้งคืนยืนเดินนั่งนอน ทุกเพศทุกวัย มันมีความสุขเหรอมันพาดิ้นอยู่นั่น ความไม่ดิ้นต่างหาก ความสลัดปัดทิ้งสิ่งที่พาให้ดิ้นทั้งหลายนี้ออกเสียจากใจ ใจไม่ดีดใจไม่ดิ้น ใจอยู่ด้วยความสงบร่มเย็นต่างหากเป็นใจที่ทรงความสุขไว้ เป็นผู้หาความสุขได้ นี่ละปรารถนาสิ่งนี้เจอเพราะเป็นความจริง ถ้าเป็นความจอมปลอมปรารถนาเท่าไรก็ไม่เจอ ท่านจึงว่าเป็นทุกข์ ๆ เรื่อย ยมฺปิจฺฉํ น ลภติ ตมฺปิ ทุกฺขํ ทุกฺขํ เรื่อย ไม่มีคำว่า สุขํ สุขํ

ถ้าดำเนินตามทางมรรคที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนแล้ว ปรมํ สุขํ ปรมํ สุขํ ไม่ต้องถาม นี่ละธรรมจะเปิดเผยขึ้นที่ใจ ความวิเศษจะเปิดเผยขึ้นที่ใจ จะไม่เปิดที่ตรงไหน ใจเท่านั้นจะเป็นผู้สัมผัสสัมพันธ์ธรรม ขอให้ปราบกิเลสให้พังทลายไปเถอะ ความปิดบังมันจะหายไปพร้อมกับตัวกิเลสซึ่งเป็นตัวปิดบังนั้นแล ความเปิดเผยแห่งธรรมทุกขั้นทุกภูมิจะขึ้นในทันทีทันใด สว่างจ้าไปหมดเลย

ปฏิบัติเอาให้จริงให้จังนักปฏิบัติ อย่าไปเสียดายเรื่องของกิเลส มันมีแต่เรื่องของกิเลสทั้งนั้นรอบอยู่ในหัวใจของเรา เว้นแต่ไม่พูดเท่านั้นนะ มันเต็มอยู่ที่จิตใจ เอาธรรมเปิดขึ้นมาซิ ให้ได้เห็นความวิเศษศักดิ์สิทธิ์ ความทุกข์ความลำบากทั้งหลายจะกลายเป็นปุ๋ยขึ้นมาสนับสนุนจิตใจให้มีความร่มเย็นเป็นสุข สมาธิไม่เคยปรากฏก็จะปรากฏที่ใจ ปัญญาไม่เคยปรากฏก็จะปรากฏ วิมุตติหลุดพ้นไม่เคยปรากฏจะสง่างามขึ้นที่ใจนี้ ปรมํ สุขํ ปรมํ สุขํ ไปถามหาที่ไหน รู้อยู่ในใจแล้วถามที่ไหน ให้พากันตั้งอกตั้งใจ

เอาละเทศน์เท่านี้ เหนื่อยมากวันนี้


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก