การอยู่ด้วยกิเลสกับการอยู่ด้วยธรรม สำหรับใจที่ทรงไว้ได้ทั้งกิเลสและธรรมแล้ว การอยู่ด้วยกิเลสสำหรับนักปฏิบัติเรากับการอยู่ด้วยธรรม คุณค่าของใจจะต่างกันอยู่มาก กิเลสเป็นสิ่งที่ทำใจให้ลดคุณค่าในวงปฏิบัติ แต่ธรรมเป็นเครื่องส่งเสริมคุณค่าให้เด่นยิ่งขึ้น คำว่าธรรมก็คือความพยายาม เริ่มมาตั้งแต่ศรัทธา วิริยะ สติแล้วก็เป็นสมาธิ จากนั้นก็เป็นปัญญา นี้คือเครื่องประดับใจให้มีคุณค่า ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้มีเฉพาะกิเลสซึ่งเป็นธรรมชาติปิดบังหุ้มห่ออยู่โดยปกติแล้ว ก็ไม่ปรากฏว่ามีคุณค่าแต่อย่างใด นอกจากลดคุณค่าของตัวเองลงไปเท่านั้น
ฉะนั้นการปฏิบัติจึงต้องมีการระมัดระวังตั้งท่าตั้งทางอยู่ภายในจิตเสมอ เช่นเดียวกับเขาเข้าสู่แนวรบ จะไปนอนใจหรือประมาทเลินเล่อเผลอสติสตัง เที่ยวเตร็ดเที่ยวเตร่เหมือนเขาเล่นลิเกละครนี้ไม่ได้ ต้องเสียท่าเป็นอย่างน้อยมากกว่านั้นก็ตาย เรื่องของกิเลสนี่เป็นเรื่องที่คล่องแคล่วว่องไว ไม่มีอะไรจะเกินอยู่แล้ว และไม่มีสถานที่อยู่ด้วย อยู่กับใจของสัตว์โลก จึงทำใจสัตว์โลกให้หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกับฟุตบอลนั่นแหละ กลิ้งไปกลิ้งมา หาจุดที่หมายไม่ได้ ออกนอกวงเขาก็เตะเข้ามา เข้าในวงแล้วก็เตะ ออกนอกวงก็เตะเข้ามาอยู่เช่นนั้น
จิตใจที่อยู่ใต้อำนาจของกิเลสประเภทต่าง ๆ ก็มีลักษณะเช่นเดียวกัน แต่ฟุตบอลไม่รู้สึกว่ามีความเจ็บปวดแสบร้อนเพราะการถูกเตะ สำหรับใจนี้เป็นตัวรู้อยู่แล้วจึงต้องรับรู้ และรับทุกข์จากสิ่งกระทบกระเทือน ทั้งออกจากภายในไปสู่ภายนอก นำอารมณ์ภายนอกเข้ามา นี่เรียกว่าเตะเข้าเตะออกอยู่อย่างนั้น หาความสงบเย็นไม่ได้ เว้นแต่หลับ เวลาหลับนั้นก็เป็นเวลาพัก กิเลสก็พัก ธาตุขันธ์ก็ได้พักใจเราจึงพอสบาย
ในขณะที่หลับสนิทนั้น กาลก็ไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง สถานที่อะไรทั้งมวลไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง ไม่ว่าสิ่งภายนอก คือทรัพย์สมบัติ เงินทอง เพื่อนฝูงครอบครัวเหย้าเรือน สามีภริยาลูกเล็กเด็กแดง สมบัติบริวารมีจำนวนมากน้อย ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องเลยเวลานั้น หากจะพูดพอพูดเทียบได้บ้าง ก็นิพพานของคนมีกิเลสก็เวลาหลับสนิทนั่นแหละ ตอนนั้นไม่มีอะไรไหวติงเลย ขึ้นชื่อว่าสมมุติ แม้อวิชชาที่นอนเนื่องอยู่ภายในจิตใจ หรือฝังแน่นภายในใจก็ไม่แสดงตัว
คนเราถ้าลงเป็นอย่างนั้นแล้ว ใครจะไปห่วงใยในสิ่งนั้นสิ่งนี้ให้เกิดความทุกข์ เพราะความกระเพื่อมออกมาเป็นเรื่องความทุกข์ทั้งนั้น คิดถึงเรื่องอะไรก็ตามหรือการคิดถึงเรื่องเวล่ำเวลา กาล สถานที่ วัตถุ สิ่งของ เพื่อนฝูง ในบรรดาที่มีอยู่ในโลกนี้เป็นเรื่องเขย่าก่อกวนจิตใจ ให้ได้รับความลำบาก เมื่อเทียบกันกับเวลาหลับสนิทแล้ว ใครไม่มาสนใจกับสิ่งเหล่านี้แหละ เพราะเป็นสิ่งก่อกวน
ขณะที่หลับจะหลับไปกี่กัปกี่กัลป์ก็ตาม ไม่มีความรู้สึกว่าเร็วหรือช้า เพราะคำว่าเร็วคำว่าช้านี้เป็นเรื่องของสมมุติ คำว่าสุขว่าทุกข์ทั้งหลายก็เป็นเรื่องของสมมุติ ตอนนั้นจิตจะไม่มารับทราบความสุขความทุกข์หยาบ ๆ เหล่านี้เลย แต่จะเป็นธรรมชาติของจิตอยู่โดยปกติ ไม่มีความห่วงใยพัวพัน ไม่สำคัญมั่นหมายอะไรทั้งสิ้น เหลือแต่ความรู้ที่ละเอียดซึ่งไม่แสดงอากัปกิริยาใด ๆ เลย จึงพูดไม่ออกพูดไม่ได้ ในขณะที่หลับนั้นว่าเป็นอย่างไร เพราะไม่มีสมมุติเข้าไปเกี่ยวข้อง
นี่ถ้าจะเรียกว่านิพพานของปุถุชน ก็พอจะสัมผัสได้ในขณะที่หลับสนิท ไม่ได้หมายถึงการหลับแล้วละเมอเพ้อฝันไปอย่างนั้น นั่นไม่ใช่เป็นการหลับสนิท ธาตุไม่ได้พักตัวสนิท จิตใจก็ไม่ได้พักตัวสนิท การหลับสนิทนั้นแลเป็นการที่ปล่อยทั้งหมด ไม่ว่าใครจะเป็นจะตาย ไม่ว่าใครจะสุขจะทุกข์ ไม่ว่าจะร้อนหรือหนาว ขึ้นชื่อว่าสมมุติแล้วไม่เกี่ยวกับความหลับสนิทนั้นเลย เป็นธรรมชาติของตนโดยลำพัง กิเลสประเภทต่าง ๆ ก็ไม่แสดงตัว เรียกว่ากิเลสก็หลับพักตัวเวลานั้น
พอจากนั้นมาแล้วก็ดีดก็ดิ้น กระทบกระเทือนนั้นนี้อยู่ตลอด หากไม่มีการหลับนอนกันบ้างเลย มนุษย์เรานี้จะทนไม่ไหว นี่มีการหลับการนอนบ้าง จึงพอได้พักผ่อนสะดวกสบาย พอมีที่ปลงที่วางบ้าง นี่เราลองเทียบดู ขณะที่หลับสนิทนั้นมีใครเสียดายอะไรบ้าง จะหลับไปกี่กัปกี่กัลป์ก็ตาม ก็ต้องเป็นหลักธรรมชาติแห่งความหลับอยู่โดยดี ไม่มีอะไรยิบ ๆ แย็บ ๆ ขึ้นมา ให้ว่าช้าหรือเร็ว ให้ว่าสุขหรือทุกข์ ไม่ว่ากังวลวุ่นวาย หรือเพลิดเพลิน เศร้าโศกอะไรไม่มีเลย
ความหลับนี้โลกหลับได้ด้วยกัน รู้ได้ด้วยกัน แต่จะพูดรูปลักษณะของความหลับสนิทนั้นพูดไม่ได้ด้วยกันทั้งนั้น จะปฏิเสธความหลับสนิทนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าความหลับสนิทนั้นเป็นธรรมชาติที่พิเศษ จากความเป็นอยู่ทั้งหลายของจิต นี่พูดถึงความสนิทของใจทั้งที่มีกิเลสอยู่ก็มีความสนิทละเอียดได้ขนาดนั้น
การทำกิเลสให้สิ้นสูญลงไปจากใจ คือไม่มีเหลือเลยดังใจพระอรหันต์ท่านจะเป็นอย่างไร ขณะที่จิตดับสนิททั้งที่มีกิเลสก็เป็นสิ่งที่ละเอียดจนถึงกับเราพูดไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่เราก็หลับสนิท ได้รู้รสชาติแห่งความหลับสนิทอยู่ด้วยกันทุกคน แต่จะนำมาพูดหรือมาบรรยายนั้นบรรยายไม่ได้ บรรยายได้ก็เพียงแค่ที่พูดมานี้เท่านั้น คือไม่เกี่ยวข้องกับอะไร กาลสถานที่ วัตถุสิ่งของ เงินทอง ญาติมิตร เพื่อนฝูง สิ่งที่เคยเกี่ยวข้องกันมามากน้อยดับไปหมด ในขณะนั้นปล่อยหมด เราพูดได้เพียงแค่นั้น ที่จะพูดธรรมชาติที่ปล่อยนั้นน่ะพูดไม่ถูก ที่สนิทในตัวเองนั้น พูดไม่ถูก
จิตที่สิ้นจากกิเลสอาสวะแล้ว ก็ยิ่งเป็นสิ่งที่ถ้าพูดละเอียดก็เป็นสุดละเอียดแล้ว เพราะสิ่งสมมุติไม่มีอยู่ในนั้นเลย หมดไปจริง ๆ คืออวิชชา ไม่ได้เพียงว่านอนเหมือนสงบตัว เหมือนหลับสนิท หรือหมดไปเลยจริง ๆ เป็นอย่างไร ที่แสดงความหยาบ ๆ ออกมาโดยประการต่าง ๆ นั้นเป็นเรื่องของกิเลสต่างหากนะ ส่วนจิตแท้เป็นอย่างนั้นแหละ เพราะฉะนั้นจึงมีการเปลี่ยนแปลงเรื่อย ๆ
ในขณะที่เราบำเพ็ญอยู่โดยไม่หยุดไม่ถอย อาการต่าง ๆ จะต้องแสดงความเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ เช่น จิตฟุ้งซ่านรำคาญ จิตไม่เคยสงบตัวเลย นี่ก็เป็นอาการอันหนึ่งของกิเลสทำงาน ให้กระจายออกทางกระแสจิตคิดไปในแง่ต่าง ๆ แล้วเป็นทุกข์ขึ้นมา พอจิตสงบตัวเข้าไปนี่ก็เป็นอาการอันหนึ่งอีก เรื่องอาการของจิตสงบตัวเข้าไปแค่นั้น ๆ ออกทางด้านปัญญาเป็นการบุกเบิก ก็เป็นอาการไปเรื่อย ๆ จิตก็มีความเปลี่ยนแปลงจากสิ่งปกคลุมหุ้มห่อตัวเอง มันเปลี่ยนของมันด้วยอาการเหล่านี้แหละ
ไม่ใช่จิตแท้ ๆ เปลี่ยนแปลงนั้นไม่ได้เปลี่ยน เปลี่ยนแต่อาการที่เกี่ยวข้องกับจิตเช่นเดียวกับเราเปลี่ยนเสื้อเปลี่ยนผ้านี้เอง เปลี่ยนเครื่องนุ่งห่มใช้สอย ตัวเราจริง ๆ ก็คือเราไม่ได้เปลี่ยนไปตามเสื้อตามผ้า กางเกงอะไร การจะบรรยายเรื่องความบริสุทธิ์จึงบรรยายไม่ถูก รู้อยู่เพียงไรก็บรรยายไม่ถูก เช่นเดียวกับความหลับสนิทนี้เป็นอย่างไรบรรยายไม่ถูก เพียงขั้นสมมุติการหลับสนิทนี้ก็ยังอยู่ในวงสมมุตินี่ เรายังบรรยายไม่ถูก แล้วจิตที่หลุดพ้นไปแล้วจากสมมุติทั้งมวลแล้วจะไปบรรยายได้ถูกอย่างไร ทั้ง ๆ ที่รู้อยู่ ทรงอยู่ด้วยความบริสุทธิ์นั้นแลก็พูดไม่ถูก
ถึงจะพูดไม่ได้ก็ตาม แต่ธรรมชาตินั้นก็คือธรรมชาติที่พอตัวแล้ว หายสงสัยเสียทุกสิ่งทุกอย่าง ปลดปลงลงหมดแล้วขึ้นชื่อว่าปัญหา เพราะปัญหานี้เกิดขึ้นจากกิเลส ธรรมจึงต้องกลายเป็นปัญหาไปตาม ปัญหาของธรรมก็คือปัญหาแก้กิเลส อุบายของธรรมแก้ปัญหาคือเรื่องของกิเลสนั้นแล พอสิ่งนั้นหลุดลอยไปหมดแล้วก็ไม่มีปัญหาอะไร
นี่เราจะเห็นความอัศจรรย์ของพระพุทธเจ้าที่ทรงสั่งสอนสัตว์โลก ตั้งแต่อุบายวิธีการพื้น ๆ ไปโดยลำดับ ตั้งแต่การให้ทาน การรักษาศีล การภาวนา มีแต่อุบายวิธีการปราบกิเลสไปโดยลำดับลำดา เช่น การให้ทาน เราทำไมจึงต้องให้ทาน มีอะไรที่เป็นข้าศึกต่อทานอยู่นั้น คำว่าทานการสงเคราะห์ก็เป็นธรรมประเภทหนึ่งแล้ว นอกจากนั้นยังเป็นเครื่องปราบปรามความตระหนี่ถี่เหนียว ความเห็นแก่ตัว ซึ่งเป็นคู่กันกับความโลภมากไม่มีเมืองพอ ความเห็นแก่ตัว ความเอารัดเอาเปรียบคดโกงรีดไถ ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องของกิเลสนี้ทั้งมวล ทานะ การเสียสละจึงเป็นเครื่องปราบกิเลสเหล่านี้ไปโดยลำดับ จนกลายเป็นนิสัยขึ้นมา สุดท้ายก็สละได้หมด นี่เราพูดอย่างหยาบ ๆ หรือว่าพูดอย่างย่อ ๆ อุบายวิธีที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนทุกแง่ทุกมุม ล้วนแล้วแต่เป็นวิธีการปราบกิเลสทั้งมวล กิเลสมันมีหลายประเภท
ธรรมที่กล่าวมาที่ว่าบรรยายไม่ได้นี้ ไม่ได้นอกเหนือจากใจดวงที่รู้ ๆ เห็น ๆ อยู่เวลานี้ ขอให้ทุกท่านจงทำความเข้าใจกับความรู้นี้ว่าสามารถทรงได้ทุกสิ่งทุกอย่าง ทรงธรรมก็ได้ ส่วนกิเลสนั้นรับรองกันมาแล้ว ทั้งเป็นทั้งตาย ทั้งแทบเป็นแทบตาย ความทุกข์มากทุกข์น้อย ไม่เป็นสิ่งที่น่าสงสัย เพราะผู้นี้เป็นผู้รับเอง รู้เอง เห็นเอง
ส่วนธรรมนั้น ความสุขของธรรมในขั้นต่าง ๆ นั้น เรายังไม่สามารถ เรายังไม่เคยรับและยังไม่เคยทรง ด้วยเหตุนี้จิตจึงยังไม่เห็นคุณค่า เพราะยังไม่ปรากฏ ต่อเมื่อได้ปรากฏขึ้นกับใจแล้ว ย่อมเกิดความเชื่อตามความจริงนั้น ๆ และตามรสชาติแห่งธรรมที่ปรากฏ ตามขั้นภูมิของผู้ปฏิบัติ นั่นก็เป็นเหตุให้เกิดความเชื่อ ให้เกิดความอยากได้ ให้เกิดความอุตส่าห์พยายาม ให้เกิดความพากเพียร เพื่อจะยังธรรมเหล่านั้นให้คงเส้นคงวา และเจริญถาวรขึ้นภายในจิตใจ หรือรุ่งเรืองขึ้นภายในจิตใจโดยลำดับ รสแห่งธรรมก็เปลี่ยนสภาพไปเรื่อย ๆ ตั้งแต่ขั้นหยาบจนถึงขั้นกลาง ขั้นละเอียด เปลี่ยนอยู่ภายในจิตนั่นแหละ เรื่องความเชื่อก็หนักแน่นเข้าไปโดยลำดับ
เมื่อความเชื่อฝังแน่นลงไปในธรรมทั้งหลายแล้ว ความพากเพียรความอุตส่าห์พยายาม ก็เป็นสิ่งที่จะตามกันไป เป็นสิ่งที่ฝังแน่นไปเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นท่านผู้ประกอบความเพียรด้วยความเห็นโทษแห่งกิเลสทั้งหลาย หรือกองทุกข์ในวัฎฎะนี้ กับความเห็นคุณค่าแห่งธรรม ซึ่งประจักษ์อยู่ภายในจิตใจนั้น ท่านจึงมีกำลังกล้าในเรื่องทุกแง่ทุกมุม บรรดาที่จะยังท่านให้ก้าวพ้น ไปเสียโดยสิ้นเชิงจากกองทุกข์ทั้งหลาย
การปฏิบัติเคยพูดเสมอ สติให้ถือเป็นเครื่องมือประจำตน อย่าได้ปล่อยได้วาง ไม่ว่าจะทำกิจการงานใด สติให้ฝึกหรือฝึกตัวว่าทำสิ่งนั้นทำสิ่งนี้นี่แหละเป็นพื้นของสติ ฝึกไปตั้งแต่บัดนี้ ตั้งแต่วิธีการที่กล่าวนี้ไปโดยลำดับ อย่าไปแบบเผอเรอต่าง ๆ อันเป็นนิสัยของกิเลส ไม่ใช่นิสัยของผู้ฝึกอบรมธรรม ให้มีสติสตัง เช่น คำบริกรรมก็ให้อยู่ในคำบริกรรม อยู่กับสิ่งใดก็ให้อยู่ด้วยสติ สติเป็นสิ่งสำคัญมากทีเดียว ที่จะฟื้นธรรมทั้งหลายขึ้นมาให้ได้ชม ไม่ได้นอกเหนือจากสตินี้ไปได้เลย จากนั้นก็ปัญญาเป็นเครื่องฝึกฝน สติกับปัญญา เป็นธรรมสำคัญมาก ในวงความเพียรของนักปฏิบัติทั้งหลาย
ความทุกข์ ทุกข์เพื่อสุข มีจุดที่หมายไม่ไร้ค่า ไม่ขาดทุนสูญดอกไปเปล่า ๆ เหมือนทุกข์ทั้งหลายที่เป็นไปตามอำนาจของกิเลสพาให้ทุกข์ ทุกข์เพราะความเพียรนี้ เป็นทุกข์ที่มีหวัง เป็นทุกข์ที่มีขอบมีเขต มีเหตุมีผล เป็นทุกข์ที่มีหลักเกณฑ์ ไม่ใช่ทุกข์แบบลอยลม ทุกข์หาจุดหมายปลายทางไม่ได้ หากาลหาเวล่ำเวลาไม่ได้ คือทุกข์แบบกิเลสพาให้ทุกข์นั้น ใครก็ทุกข์ด้วยกันทั้งโลก แต่ไม่มีความจบสิ้นลงได้ ด้วยความทุกข์ต่าง ๆ ซึ่งกิเลสนั้นผลิตขึ้นมาเลย
สำหรับการทุกข์ด้วยความพากเพียร เพื่อจะแก้กิเลสนั้นมีหนักมีเบา และมีสิ้นสุดยุติลงไปได้ ขณะที่กิเลสมันหนักมันหนาก็ต้องได้ต่อสู้กัน หรือว่าแบกฟัดเหวี่ยงกันกับกิเลสด้วยกำลังอย่างรุนแรง ผาดโผน บังคับกันถึงเป็นถึงตายก็มี บังคับอยู่ภายในใจนั้น บางครั้งยังต้องเอาร่างกายเป็นเครื่องมืออีก เช่นเดินนาน ๆ ก็เอาร่างกายเป็นเครื่องมือ เดินจงกรมนาน ๆ ใช้ร่างกายด้วย นั่งภาวนานาน ๆ ก็เอาร่างกายเป็นเครื่องมือ อดอาหารหลาย ๆ วัน กี่วันก็ตาม ล้วนแล้วแต่เอาร่างกายเป็นเครื่องมือต่อสู้กับกิเลส บางอย่างก็มีใจโดยลำพังทำงานต่อสู้กับกิเลสไม่อาศัยกายก็ได้
ทุกข์ทั้งมวลที่ปรากฏขึ้นมาเกี่ยวกับความเพียร เฉพาะอย่างยิ่งทางร่างกาย ก็มีจุดหมายปลายทางที่จะสิ้นสุดยุติกันได้ ทุกข์ทางใจที่ต่อสู้กับกิเลสก็มีเวล่ำเวลาที่จะสิ้นสุดยุติลงได้ และทุกข์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นจากการประกอบความเพียร ทางกายก็ตาม ทางใจก็ตาม มีเวลาที่จะลดหย่อนผ่อนตัวไปได้โดยลำดับลำดาจนกระทั่งถึงการสิ้นสุดยุติลงไปในทางความเพียร เพราะกิเลสสิ้นสุดไปหมดแล้ว นี่ละเรียกว่ามีขอบมีเขต มีจุดหมายปลายทาง ไม่ได้เป็นทุกข์อยู่แบบลอยลม หาจุดหมายปลายทางไม่ได้เหมือนกิเลสพาให้ทุกข์
เราเป็นนักปฏิบัติ จึงควรนำมาเทียบเคียงกันแล้วยอมทุกข์เพราะความเพียร ไม่มีความอิดหนาระอาใจ เพราะความอิดหนาระอาใจ ไม่ใช่เรื่องของธรรม เป็นเรื่องของกิเลสคอยสอดแทรกในวงความเพียรของเราต่างหาก พากันเข้าใจเอาไว้ สิ่งเหล่านี้ไม่รู้ ถ้าไม่ได้เจอหน้ากันเสียก่อน ไม่รู้ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องของกิเลสแทรกแซงธรรม สวมรอยธรรม ผู้ปฏิบัติทั้งหลายจึงย่อหย่อนอ่อนกำลังและถอยหลังไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งถึงล้มละลาย หรือล้มเหลวไป ก็เพราะเชื่อกลมายาของกิเลสที่แทรกที่แซงเข้ามานี่แล
เราจะเห็นได้ชัดในเวลาจิตมีหลักมีเกณฑ์ ด้วยอรรถด้วยธรรม ความทุกข์ลำบากมากน้อยเพียงไร ใจจะไม่มาสนใจกับเรื่องทุกข์เหล่านี้เลย นอกจากสนใจต่อเหตุต่อผล ต่ออรรถต่อธรรม ต่อกิเลสประเภทใด ด้วยสติปัญญาศรัทธาความเพียรในแง่ต่าง ๆ ที่จะห้ำหั่นกันลงไปโดยถ่ายเดียวเท่านั้น ไม่มาคำนึงถึงเรื่องความทุกข์ความลำบากนี้เลย นี่เป็นสิ่งที่เราเห็นได้อย่างชัดเจน พอผ่านพ้นกลมายาของกิเลสขั้นนั้นมาได้แล้ว ความอิดหนาระอาใจต่อความทุกข์ความลำบาก เพราะการประกอบความเพียรนี้ น้อยลงไปโดยลำดับ ๆ จนถึงกับไม่มี นอกจากนั้นยังได้รั้งเอาไว้ ไม่รั้งไว้มันเกินประมาณ
การประกอบความเพียรกล้าเกินไปก็ผิด ฟังแต่ว่ากล้าเกินไป กล้าธรรมดาไม่เป็นไร เกินไปนี่ผิดกับหลักมัชฌิมาที่ควรจะให้พอเหมาะ เด็ดขนาดไหนก็เด็ด แต่ถึงวาระที่จะลดหย่อนผ่อนผันกันตามสถานการณ์ ก็ต้องผ่อนผันกันไปด้วยสติปัญญาของตัวเอง นี่เราจึงเห็นได้ชัดว่าความทุกข์นี้ไม่เป็นอุปสรรค ไม่มากีดขวางทางดำเนิน เพื่อถอดถอนตนเองเลย มีแต่ความกระหยิ่ม ความดูดดื่มในความเพียรทั้งหลาย แล้วปรากฏผลขึ้นมาให้ชมเรื่อย ๆ ก็ยิ่งเกิดกำลังใจขึ้นมาก ปรากฏผลขึ้นมาเพียงไรก็เป็นคุณค่าที่จะให้ถึงใจ ๆ โดยลำดับลำดา ก็ยิ่งมีกำลังใจเพิ่มกำลังใจขึ้น นั่นแหละที่ว่าการประกอบความเพียรกล้า ไม่มีคำว่าท้อถอยเป็นอย่างนี้
การที่ธรรมยังไม่แทรกถึงใจ มีแต่กิเลสเป็นเจ้าอำนาจกดขี่บังคับนั้น พอกระดิกลงไปที่จะออกสู่ธรรมเท่านั้น ถูกกีดถูกขวาง ถูกคัดค้านต้านทาน แต่เราไม่รู้กลอุบายของมัน ก็ยอมมันแบบหลับสนิท ๆ ไปด้วยกันทั้งนั้น พอได้รู้กลอุบายนี้แล้ว มันแสดงออกท่าไหนรู้หมด ด้วยเหตุนี้จึงได้เตือนหมู่เพื่อนเสมอ ให้ได้รู้ล่วงหน้าไว้เสียแต่บัดนี้ อย่าให้มันกล่อมไปเสียจนไม่มีเวลาตื่น
กิเลสนั้นย่อมเป็นข้าศึกกับธรรมอยู่ตลอดเวลาแต่ไหนแต่ไรมา ไม่เคยมีคำว่ากิเลสเป็นผู้ส่งเสริมธรรม นอกจากคอยเหยียบย่ำทำลายธรรม คำว่ากิเลสกับธรรมก็อยู่ที่ใจของบุคคลคนเดียวกัน จึงต้องต่อสู้กับมันอยู่เสมอ อันนี้ละมีอำนาจมาก หมดทั้งเนื้อทั้งตัวหมดทั้งจิตใจของเรา อาการทุกอย่างเป็นเรื่องของกิเลส ออกหน้าออกตา แสดงลวดลายเสียทั้งหมด
เมื่อเรายังไม่สามารถรู้กลมายาการแสดงออกในแง่ต่าง ๆ ของมัน จะต้องเป็นเรื่องของมันอย่างออกหน้าออกตา นี่แหละตอนนี้แหละ ตอนลำบากในการประกอบความพากเพียร เดินจงกรมก็ขาอ่อนไปเพราะกิเลสมันเหยียบเอาขาอ่อนเท้าอ่อน จิตใจก็อ่อนเปียกไป ถ้าจะก้าวไปสู่ธรรมถูกกิเลสมันเหยียบ จิตใจก็อ่อนเปียกไปตาม ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ไม่ทราบว่าตกไปทวีปไหน เหลือแต่ความเคลิ้มหลับไปตามกิเลสเท่านั้น การยอมกับกิเลสเป็นไปตามกิเลส ไม่มีความอิ่มความพอนี่ซิ ทีนี้กิเลสมันแข็งไปอย่างหนึ่ง เราก็ไม่รู้เพราะวิชาไม่ทันมัน ความรู้ไม่ทันมัน มันให้เราได้บึกบึนไปตามมัน ขยันขันแข็ง มีกำลังใจไปตามมัน เราก็ไม่รู้
การมีกำลังใจไปตามกิเลส ก็เพราะการเสี้ยมสอนของกิเลส กิเลสแทรกลง แทรกความหวังลง แทรกภาพ มโนภาพลงไป ให้คาดหน้าคาดหลัง คาดอดีต คาดอนาคต สิ่งที่เคยผ่านมาแล้วควรเสียใจก็ไม่ให้มีความอิ่มพอ คิดไปเมื่อใดเสียใจเมื่อนั้น แล้วไม่เคยคำนึงเลยว่า สิ่งที่คิดแล้วเสียใจนี้เคยได้รับความกระทบกระเทือนจากมันมาแล้ว น่าจะเห็นโทษ น่าจะเบื่อหน่าย น่าจะคลายความติดพันกับมันเสียบ้างไม่มี มันวาดภาพขึ้นตรงไหน เป็นติดทุก ๆ ภาพ ทุก ๆ ขณะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอนาคต หวังจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ความหวังสร้างไว้ตะพึดตะพือ แต่ไม่ใช่ความหวังที่จะเป็นไปในขอบในเขตในเหตุในผลให้เป็นที่พึงใจได้ ความหวังนั้นผลสุดท้ายก็หวังไปหาความล้มเหลวนั่นเอง นี่เรื่องของกิเลสเป็นอย่างนี้ ความหวังในธรรมไม่เป็นเช่นนั้น ผิดกันมากทีเดียว
ระยะที่กิเลสมีอำนาจ มันสร้างแต่ขวากแต่หนาม ปิดกั้นทางเดินเอาไว้หมด เหมือนกับปิดหูปิดตาเราไว้ ให้เดินแต่ไม่ให้ลืมตาเดิน วิ่งก็พาวิ่ง แต่ไม่ให้ลืมตาวิ่ง นั่งก็ให้หลับตานั่ง นอนให้หลับตานอน ยืนให้หลับตายืน เดินให้หลับตาเดิน ทุกสิ่งทุกอย่างเคลื่อนไหวไปมาให้หลับตาทั้งนั้น ไม่ให้รู้ ไม่ให้ดูหน้าของมัน พูดง่าย ๆ เหมือนกับโจรผู้ร้ายซึ่งให้เจ้าทรัพย์นอนคว่ำหน้า ไม่ให้มองดูหน้ามัน กิเลสซึ่งเป็นตัวโจรปล้นหัวใจเราก็เช่นเดียวกัน มันไม่ให้มองดูหน้ามันด้วยสติธรรม ปัญญาธรรมได้เลย ปิดหูปิดตาไว้หมด
จึงเป็นการลำบากสำหรับผู้ปฏิบัติในขั้นเริ่มแรก ที่จะไปรู้กลมายาของมันดังที่กล่าวมาเหล่านี้ จึงต้องได้ฝึกสติ เอ้า เชื่อครูเชื่ออาจารย์ เชื่อศาสนาคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าว่าเป็นสิ่งที่เหนือกิเลสทุก ๆ ประเภท คำว่าวิเศษก็คือธรรมเท่านั้นวิเศษ วิเศษไปโดยลำดับลำดา จน กระทั่งถึงวิเศษสุดของธรรม ก็คือธรรมเท่านั้น กิเลสประเภทใด ๆ ตั้งแต่หยาบ ๆ จนถึงขั้นละเอียดสุดของกิเลสก็ไม่มีกิเลสประเภทใดเป็นประเภทที่วิเศษเลิศเลออะไร จึงต้องอาศัยธรรมนี้เข้ามาแยกมาแยะ มาสอดส่อง มากำจัดปัดเป่าด้วยภาคฝึกหัด
ในขั้นเริ่มแรกทุกข์ก็ยอมทนทุกข์ ทุกข์ไม่เป็นไรทุกข์นี้เป็นทุกข์เพราะการปฏิบัติเพื่อธรรม ทุกข์เพราะการต่อสู้กิเลสเพื่ออรรถเพื่อธรรมต่างหาก ไม่ใช่ทุกข์เพราะถูกกิเลสลากไปถูไป ทุกข์เพราะการตะเกียกตะกายออกจากกิเลสด้วยอรรถด้วยธรรมต่างหาก จึงเป็นทุกข์ที่ควรแก่การยอมรับสำหรับผู้เชื่อหรือชาวพุทธเรา
เฉพาะอย่างยิ่งนักปฏิบัติพยายามตั้งสติสตังจดจ่อ ต่อเนื่องกันกับงานของตนแล้วก็จะเป็นการส่องทางเข้าไป จิตไม่เคยสงบก็จะสงบได้ นั่น เมื่อกิเลสจางลงไปจิตย่อมสงบได้ คำว่ากิเลสจางคืออะไร คือความคิดความปรุงแต่งต่าง ๆ ซึ่งไม่มีคำว่าใหม่ว่าเก่า ไม่มีคำว่าเป็นเดน เป็นของล้าสมัยเลย เรื่องของกิเลสเป็นอย่างนั้น ใหม่เอี่ยมเสมอ จะคิดกี่ครั้งกี่หน ตลบทบทวนซ้ำ ๆ ซาก ๆ ยิ่งกว่าตามรอยโคในคอก ก็ไม่มีการเบื่อหน่ายอิ่มพอ ไม่เห็นว่าเป็นของเก่า มีแต่เป็นใหม่เรื่อยไป ตื่นเรื่อยไป เชื่อเรื่อยไป
เราพยายามด้วยสตินำธรรมเข้ามาเป็นเครื่องบริกรรม เพื่อจะทับความคิดทั้งหลายที่ไม่มีของใหม่ของเก่า มีแต่ของให้ติดทั้งนั้นนี้ ให้สงบตัวลงไปด้วยสติ จะกำหนดภาวนาบทใดก็ตาม นั้นแลธรรมเครื่องทับความวุ่นวายทั้งหลาย จิตคิดได้ในเวลาเดียวกัน ทำงานหน้าที่เดียว ในขณะที่คิดธรรมแล้วกิเลสก็คิดไม่ได้ นอกจากเวลาเราเผลอในเวลาคิดธรรมเท่านั้นกิเลสก็แทรกขึ้นมา จะแทรกขึ้นมาได้ในเวลานั้น
ขณะที่เราคิดธรรม เอาธรรมลงไปเหยียบย่ำทำลายความคิดที่จะให้เกิดความวุ่นวายดังที่กล่าวมา มีตั้งแต่ความคิดทางด้านอรรถธรรมเท่านั้น ความคิดอันนี้เป็นความคิดความปรุงที่จะให้ใจสงบ ไม่ใช่ความคิดปรุงของกิเลสที่จะพาใจให้ฟุ้ง เป็นความคิดความปรุงที่จะทำใจให้สงบ เพราะฉะนั้นคำว่าสังขารคือความปรุง ปรุงทางกิเลสเป็นพิษขึ้นมาอย่างหนึ่ง ปรุงทางด้านธรรมะเป็นคุณของใจ ทำใจให้ร่มเย็น เช่นอย่างเราปรุงคำบริกรรมเป็นต้น จะเป็นสังขารเหมือนกันก็ตาม ผิดกันที่อารมณ์ซึ่งเรานำมาบริกรรม หรือเราคิดนั้น จิตก็ย่อมสงบได้ เมื่อจิตมีความสงบได้ ก็มีความเย็นเบาสบาย นี่ก็แสดงคุณค่าขึ้นมาแล้วจากความสงบ ทำไมจะไม่เห็นความสงบ เป็นของมีคุณค่าเป็นสิ่งที่น่าต้องการ ก็เริ่มเข้าไป
การฝึกเบื้องต้นเป็นความลำบากเช่นนี้ ต้องเปิดช่องเปิดทางที่เคยมืดมิดปิดตามานาน ไม่นอกเหนือจากความพยายามนี้ไปได้ ต่อไป ๆ ก็ค่อยจางไป ๆ สิ่งมืดดำกำตาทั้งหลายนั้น ความสว่างก็เริ่มปรากฏขึ้นภายในจิต แต่ก่อนก็เป็นไฟ ถ้าว่าดำก็เหมือนถ่านไฟ ถ้าไฟมีอยู่ก็แดงโร่ จิตนี่จะเทียบว่าแดงโร่ก็ได้ เป็นไฟทั้งกอง ถ้ามองดูเวลาปกติมันก็ดำปี๋อย่างนั้นหาความสว่างไม่ได้ แต่พอความสงบใจได้ปรากฏขึ้นมาแล้ว ความสว่างก็ตามกันขึ้นมา ปรากฏขึ้นมา จากนั้นก็เร่ง
อย่าไปคาดอดีตอนาคตว่าเคยได้ปรากฏ ได้ประกอบความเพียรมาเท่านั้นเท่านี้ ได้รับความทุกข์ความยากความลำบาก ถ้าจะคิดเช่นนี้ให้คิดถึงเรื่องการที่กิเลสทรมานเรา บีบบังคับเรา ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องของทุกข์ทั้งนั้น นี่เคยทุกข์มามากแล้ว ทุกข์เพราะเรื่องนั้นก็เคยทุกข์มาแล้ว ทุกข์เพราะเรื่องนี้ก็เคยทุกข์มาแล้ว ทุกข์ในอดีตกี่ปีกี่เดือนที่เราระลึกได้ก็เคยทุกข์มาแล้ว มันล้วนแล้วแต่กองทุกข์ ทำให้อิดหนาระอาใจในเรื่องกองทุกข์ที่กิเลสผลิตขึ้นมานั้น ดีกว่าที่เราจะมาคิดอิดหนาระอาใจต่อความทุกข์ที่กำลังต่อสู้กิเลสด้วยความพากเพียร หรือด้วยอรรถด้วยธรรมของเรานี่จึงเป็นความคิดที่ถูก นำความคิดนี้มาใช้เปลี่ยนแปลงความคิดของกิเลสนั้นออกไป
ผู้ปฏิบัติต้องใช้อุบายวิธีพลิกแพลงเปลี่ยนแปลงหลายสันหลายคม ไม่อย่างนั้นไม่ทัน ละเอียดมากทีเดียวกิเลส แต่เพียงขั้นนี้เราก็ยังไม่รู้กลมายาของมันจะว่ายังไง ละเอียดขนาดไหน มันกล่อมได้ทั้งนั้น จึงต้องอาศัยธรรมเป็นเครื่องส่องทางทดสอบความจริง เพราะธรรมเป็นของจริง กิเลสเป็นของปลอม มันปลอมอยู่ในจิต มันแทรกอยู่ในจิต จึงต้องได้แยกแยะเปิดเผยกันออกด้วยอุบายต่าง ๆ ปรากฏเป็นความเย็นสบายขึ้นมา นี่อยู่ที่ไหนก็พออยู่คนเราเมื่อมีความสบายเท่านั้น นั่งอยู่ก็สบาย ยืนก็สบาย เดินก็สบาย นอนก็สบาย จิตที่เคยหิวโหยด้วยความคิดความปรุงต่าง ๆ เกี่ยวกับเรื่องรูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัสทั้งอดีตที่ผ่านมาแล้วกี่ปีกี่เดือน มันระงับตัวลงมาเพราะความอิ่มธรรม คือความสงบเย็นใจ เรียกว่าจิตอิ่มตัว
สมาธิจึงทำให้จิตสบายเป็นตามขั้นของตน พอมีต้นทุน พอจิตอิ่มตัว ไม่ระเหเร่ร่อน ไม่หิวกระหาย วิ่งเต้นเผ่นกระโดดด้วยความคิดความปรุงต่าง ๆ แล้วนำไปใช้ในทางด้านปัญญา อันเป็นฝ่ายธรรม พิจารณาคลี่คลายหรือใคร่ครวญไปตามทั้งภายนอกภายในเทียบเคียงกัน ถึงเรื่องความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความพลัดพรากจากสัตว์และสังขาร แยกแยะไปดูทั้งเขาทั้งเรา ทั้งสิ่งที่มีวิญญาณไม่มีวิญญาณ ทั้งสัตว์ทั้งบุคคลเทียบเข้าในสัจธรรม คืออริยสัจ นี้ก็เป็นปัญญา
ถ้าไม่สามารถจะพิจารณาร่างกายของตนได้ เอ้า พิจารณาร่างกายใดก็ตาม ภายนอกก็ได้ ภายในก็ได้ มันจะย้อนเข้ามาสู่ภายในนี้โดยไม่ต้องสงสัย เพราะสัจธรรมภายนอกก็คือใจเป็นผู้ไปรู้ แล้วสิ่งที่อยู่กับใจคือร่างกายของเรานี้ทำไมใจจะไม่รู้ มันอยู่ด้วยกันแท้ ๆ มันก็ย้อนเข้ามารู้จนได้
ในการพิจารณาทางด้านปัญญา ถึงกาลเวลาที่ควรจะพิจารณาต้องพิจารณา ไม่ต้องถือว่าสมาธิขั้นนั้นแล้วจะพิจารณาปัญญา ถึงขั้นนั้นจึงจะพิจารณาปัญญา อย่าคาด การปฏิบัติเหมาะสมกับเหตุการณ์ใดที่จะควรใช้อุบายวิธีใดนำมาใช้ทันที เพราะธรรมเป็นปัจจุบันสด ๆ ร้อน ๆ อยู่แล้ว ไม่จำเป็นจะต้องมาเรียงลำดับนั้นลำดับนี้ นั่นมันเป็นเรื่องการคาดการหมายไปเสีย ความเพียรด้วยการคาดหมาย ไม่ใช่ความเพียรที่แท้จริง ต้องถือความจริงถือเหตุการณ์เป็นสำคัญในการจะปฏิบัติต่อกัน นั้นแหละถูกต้องกับหลักของการภาวนาของผู้ภาวนา ให้จริงจังลงเช่นนั้น
จิตเมื่อได้พิจารณาใคร่ครวญลงไปแล้วย่อมจะสว่างขึ้นเรื่อย ๆ ขั้นสมาธิก็เป็นเครื่องหนุนให้จิตใจสบาย ๆ อิ่มตัว ขั้นปัญญาก็เป็นขั้นเพิกขั้นถอน จะทำให้จิตใจสว่างกระจ่างแจ้งออกไปไม่มีสิ้นสุด ปัญญาแหลมคมมากน้อยเพียงไร ความสว่างกระจ่างแจ้งของจิตนี้ยิ่งแสดงตัวออกไป ความซึมซาบของปัญญาก็เหมือนกับน้ำซับน้ำซึมไหลไปได้หมดทุกทิศทุกทาง ไม่เหมือน น้ำที่ไหลลงทางต่ำ สติ ปัญญานี้ไหลทวนกระแสก็ได้ ตามกระแสก็รู้ไปได้หมด แต่ไม่ติดไม่พัน พิจารณาไปไหนรู้ไปทั้งนั้น ปล่อยไปได้ทั้งนั้น นี่ปัญญาเป็นอย่างนั้น จึงเป็นของสำคัญมาก
ท่านว่าศีล สมาธิ ปัญญา เมื่อสรุปลงจากมรรค ๘ แล้วว่าศีล สมาธิ ปัญญา ท่านสงเคราะห์เข้าไป ศีล สมาธิ ปัญญา นี้อยู่กับใครเวลานี้ สิ่งเหล่านี้มีไว้เพื่ออะไร ศีล สมาธิ ปัญญา ก็อยู่กับเรา เพราะกิเลสอยู่กับเรา นี่การฝึกสมาธิก็ฝึกแบบที่ว่านี่ ศีลเรารักษาด้วยเจตนาอันชอบธรรมของเราอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องอธิบายให้ฟังมากมาย เพราะต่างองค์ก็ต่างเข้าใจกันอยู่แล้ว ส่วนสมาธิเป็นความละเอียด เพราะเป็นขั้นของธรรมขั้นหนึ่ง จึงต้องได้อธิบายให้ฟัง
ผู้ชอบในธรรมบทใดให้ยึดธรรมบทนั้นเป็นหลักของการภาวนา อย่าสุ่มสี่สุ่มห้า อย่าจับ ๆ จด ๆ ปล่อย ๆ วาง ๆ จด ๆ จ้อง ๆ อันเป็นความลังเลสงสัย นั่นเป็นนิวรณ์ คือ ความคิดที่หักห้ามการดำเนินไม่ให้เป็นไปเพื่อความสะดวก ไม่ให้เป็นไปเพื่อความแน่ใจในงานของตน เมื่อเราเหมาะกับจริตในธรรมบทใด ให้พึงนำธรรมบทนั้นมากำกับรักษาใจหรือภาวนา
การเปลี่ยนแปลงของคำบริกรรมนี้ เมื่อจิตละเอียดแล้วจะค่อยเป็นไปเอง หากเข้าใจในตัวเอง เช่นจิตจนเป็นฐานของสมาธิเด่นอยู่ตลอดเวลาแล้ว คำบริกรรมก็ค่อยหมดปัญหาไปเอง เพราะการบริกรรมก็เพื่อจะให้รู้จุดแห่งความรู้ที่แท้จริง เมื่อจิตได้สร้างฐานของตนขึ้นมาจนเด่นชัดเป็นความรู้อยู่ตลอดเวลา ทั้งยืน เดิน นั่ง นอน เว้นแต่หลับเท่านั้นอยู่แล้ว การบริกรรมเพื่อจะให้รู้จิตนั้นก็หมดปัญหาไปเอง ดังที่ได้เคยกล่าวแล้วว่า เช่นเดียวกับเราตามรอยโค เมื่อเข้าถึงตัวโคแล้ว รอยก็ปล่อยไปเอง นี่การบริกรรมจึงมีความจำเป็น
เมื่อจิตเป็นสมาธิแล้ว คือเป็นฐานของสมาธิแล้ว คำบริกรรมก็หมดปัญหาไปเอง รู้อยู่เช่นนั้น คิดปรุงเรื่องอะไรก็รู้ จากนั้นก็นำความรู้นี้ออกใช้ทางด้านปัญญา พิจารณาคลี่คลายดู เฉพาะอย่างยิ่งสกลกาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรพิจารณาอย่างยิ่งในขั้นนี้ แยกแยะดูให้ดีดังที่เคยพูดแล้ว นี้พูดหลายครั้งหลายหนซ้ำ ๆ ซาก ๆ การพิจารณาร่างกายก็ดี ผู้ฟังน่าจะเข้าใจ น่าจะนำไปพิจารณาให้ได้ถ้อยได้ความ
เพราะการพิจารณานี้ไม่เพียงเราจดจำมาได้แล้ว เป็นสิ่งที่สำเร็จประโยชน์ไป เพราะถ้าความจริงยังไม่ปรากฏเมื่อไรประโยชน์ยังไม่สำเร็จ จะพิจารณากี่ร้อยกี่พันครั้งก็ตาม เมื่อจิตยังไม่ซึ้งต่อความจริงแล้ว ยังไม่จัดว่าได้ผล เมื่อจิตซึ้งต่อความจริงนั้นแล้ว นั่นแหละเรียกว่าได้ผล พอซึ้งที่ตรงไหนจิตก็ปล่อยวางเอง
คำว่าอุปาทานยึดมั่น มันยึดมั่นอะไร ก็เพราะมันไม่รู้ กิเลสนั่นแหละไม่ให้รู้ไม่ใช่อะไรไม่ให้รู้ ความรู้ของจิตนั้นรู้อยู่อย่างนี้แหละ แต่กิเลสให้รู้ไปเสียแบบหนึ่งคือ แบบจอมปลอม จึงเรียกว่ากิเลสปลอมธรรมนั้นจริง ถ้ารู้ตามความจริงนี้แล้ว กิเลสตัวปลอม ๆ ก็ตกไปหมด จึงต้องได้ใช้การพินิจพิจารณาให้มาก เอาจนเป็นที่แน่ใจ พอจิตพอตัวแล้ว ไม่บอกให้ปล่อยก็ปล่อย การพิจารณาปล่อยเองวางเอง เพราะอุปาทานความยึดมั่นในร่างกายส่วนต่าง ๆ นี้ได้ถอนตัวออกไปหมดแล้ว เพราะความรู้ชัดนั่นเอง รู้ชัดด้วยปัญญาแล้วก็ถอนไปได้
นี่แหละทีนี้จิตก็เบิกกว้างออกไป ความสว่างไสวก็สว่างไสว กิเลสก็เบา หลุดลอยไปเรื่อย ๆ จิตก็เบาขึ้นเรื่อย ๆ เช่นกิเลส ความยึดมั่นถือมั่นในร่างกายนี้ มันก็หนักเท่ากับกายนี่แหละ พอถอนออกมาแล้วก็เบาหวิว วัตถุภายนอกก็หมดความหมายไปตาม ๆ กันกับร่างกายนี้ ทีนี้จิตก็พิจารณาดื่มเข้าไป ดูดดื่มเข้าไปในนามธรรม พวกเวทนาประสานกันทั้งจิตทั้งกาย สัญญา สังขาร วิญญาณ อันนี้มีแต่อาการของจิต
เรื่องของร่างกายก็เห็นได้ชัด รู้ได้ชัด สักแต่ว่าวัตถุหนึ่ง ๆ เท่านั้น มิเป็นกิเลสแต่อย่างใด แน่ะมันรู้แล้วนะ ร่างกายทุกส่วนไม่ใช่กิเลสมันเป็นธาตุอันหนึ่ง ๆ เท่านั้น แน่ะ มันรู้ได้ชัด ไม่ใช่ตัวราคะ ร่างกายส่วนต่าง ๆ ไม่ใช่ราคะ ไม่ใช่โทสะ ไม่ใช่โมหะ แต่ราคะ โทสะ โมหะ มันไปพาดพิง มันไปแทรกไปซึมกับสิ่งเหล่านี้ สิ่งเหล่านี้จึงเหมือนกับว่าเป็นตัวกิเลส ตัวราคะ โทสะ โมหะไปเท่านั้น ความจริงจิตต่างหากเป็นอันนี้ไม่เป็น พอพิจารณารู้ได้ชัดแล้ว ก็เห็นได้ชัดว่ามันเป็นวัตถุธาตุอันหนึ่ง ๆ เท่านั้น
ร่างกายนี้ก็มาจากธาตุดิน ผสมกันกับน้ำ ดินกับน้ำเป็นกิเลสเมื่อไร มันเป็นตัณหาเมื่อไร ใจต่างหากเป็นกิเลสตัณหา ไปแทรกโน้นแทรกนี้ ให้ผู้นั้นเป็นไปด้วยให้ผู้นี้เป็นไปด้วย ให้ผู้นั้นเป็นกิเลส เป็นตัณหา เป็นราคะ เป็นโทสะ เป็นโมหะไป เพราะกิเลสส่วนใหญ่ซึ่งอยู่ภายในใจนี้ออกไปฉุดไปลากให้สิ่งเหล่านั้นเป็นไปตาม
พอปัญญาแทรกเข้าถึงไหน ๆ สิ่งที่ไปแทรกซึมนี้มันก็ถอยตัวเข้าไป ๆ สู่อุโมงค์ของมัน แล้วก็เห็นแต่สิ่งนี้ชัด ๆ ตามหลักความจริงของมันว่าหนังเป็นหนัง เนื้อเป็นเนื้อ ร่างกายทุกส่วนเป็นร่างกายทุกส่วน หรือว่าเป็นดินก็เป็นดินล้วน ๆ เป็นน้ำล้วน ๆ เป็นลมเป็นไฟล้วน ๆ มันเป็นกิเลสตัณหาที่ตรงไหน ไม่มีอะไรเป็น เมื่อพิจารณาลงขนาดนี้แล้ว ทำไมจะไม่เห็นโทษของจิต กิเลสเข้าไปอยู่ในจิตนั้น มันก็ย้อนเข้า ๆ นี้แหละที่ว่า พิจารณานี้เพื่อตีต้อนกิเลสที่ลุกลามไปยึดโน้นยึดนี้ สำคัญนั้นมั่นหมายนี้ให้สิ่งต่าง ๆ เป็นพิษเป็นภัยไปตามมัน ทีนี้เมื่อแยกออกนั้นแล้ว สิ่งต่าง ๆ ก็กลายเป็นความจริงขึ้นมา กิเลสตัวปลอม ๆ ก็ถอยตัวเข้าไป ก็ไล่เข้าไป
พูดถึงเรื่องเวทนา เวทนา คือความทุกข์นี้มันเป็นกิเลสเหรอ มันเป็นผลของกิเลสต่างหากไม่ใช่กิเลส เมื่อพิจารณาจริง ๆ ทุกข์ก็สักแต่ว่าทุกข์ เช่นทุกข์ในส่วนร่างกายส่วนต่าง ๆ มันก็สักแต่ว่าทุกข์ ตัวมันเองก็ไม่รู้ว่ามันเป็นทุกข์ ไม่มีความหมายเลยว่ามันเป็นทุกข์ ร่างกายว่าเป็นทุกข์ ร่างกายเองก็ไม่ใช่ทุกข์ มันไม่รู้ความหมายของตัวเองว่าเป็นทุกข์ แม้ที่สุดมันไม่รู้ความหมายของมันว่าเป็นร่างกายเลย มีแต่ใจทั้งนั้นเป็นผู้ไปให้ความสำคัญมั่นหมาย แล้วเวลาพิจารณาเข้าไป ๆ มันจึงต้องย่นเข้าไป ๆ
เห็นความจริงที่ตรงไหนแล้วกิเลสตัวปลอม ๆ อยู่ไม่ได้ ต้องถอนทัพ ไม่ถอนทัพก็แหลกจะว่าไง ไล่มันเข้าไป ๆ หามากิเลสในรูปนี้ตรงไหน ก็ไม่เห็นเป็นกิเลสว่าเป็นกิเลสตัณหา ราคะ โทสะ โมหะ มันไม่เห็นมี ไม่เป็น ไล่เข้าไปถึงเวทนา ความสุข ความทุกข์ นี่เหรอที่เป็นกิเลส มันก็ไม่ใช่ สัญญาก็เป็นเครื่องมือของกิเลสต่างหาก ตัวสัญญาจริง ๆ ว่าเป็นกิเลสมันก็ไม่ใช่ เวลาพิจารณาเข้าไปสู่ความละเอียดแล้ว
ตอนมันหยาบมันเป็นด้วยกันหมดนั่นแหละ ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นกิเลสไปหมด เพราะกิเลสส่วนใหญ่พาให้เป็น เหมือนกับไปทาสีไม้ สีอะไร ไม้มันไม่ได้เป็นสีนั้น แต่เอาสีไปทามันก็กลายเป็นสีนั้นสีนี้ขึ้นมา สิ่งเหล่านี้มันไม่ได้เป็นกิเลส แต่เวลากิเลสเข้าไปย้อม ไปแฝง ไปฉาบไปทา เลยกลายเป็นกิเลสไปหมด ทีนี้เมื่อชะเมื่อล้างนี้ออกไปแล้ว ไม้ก็เป็นไม้ธรรมชาติของมัน สีเป็นสีธรรมชาติของมัน
ร่างกายทุกส่วนเป็นธรรมชาติของตัวเอง เวทนา คือความสุข ความทุกข์ มันก็เป็นธรรมชาติของตัวเอง ๆ เข้าไปเรื่อย ๆ สังขารก็เพียงคิดเพียงปรุงเท่านั้น แม้แต่พระขีณาสพท่านก็ปรุงได้.....สังขาร มันไม่เป็นกิเลสถ้ากิเลสไม่พาให้เป็น สัญญาก็เหมือนกัน หมายได้จำได้ จำสิ่งนั้นได้สิ่งนี้ได้ พระอรหันต์ท่านก็จำได้ พระพุทธเจ้าท่านก็จำได้ ท่านอาศัยสัญญา สังขาร นี่แหละทำประโยชน์ให้แก่โลก เมื่อจิตของท่านไม่เป็นกิเลส สิ่งเหล่านี้ก็ไม่เป็น มันกลายเป็นเครื่องมือของธรรมไปเสียเท่านั้น
แต่ก่อนเป็นเครื่องมือของกิเลส แล้วกิเลสยึดว่าเป็นตัวกิเลสอีกด้วย พาให้เป็น กิเลสพาให้เป็นตัวของมันอีกด้วย แยกเข้าไป ๆ อันไหนก็ไม่เป็นกิเลสเมื่อพิจารณาชัดด้วยปัญญา แล้วทีนี้อะไรเป็นกิเลส นี่ละปัญญา ถึงขั้นละเอียด มันตามต้อนกันเข้าไปอย่างนี้ ซึ้งเข้าไป ๆ ซึมซาบเข้าไป นี่จึงเรียกว่าความจริง เห็นความจริงแล้วถอนไปหมด ๆ ถอนเข้าไป ๆ กิเลสไม่มีที่อยู่
กิเลสจะไปแทรกอยู่กับรูปกับกายก็แทรกไม่ได้ เพราะธรรมของจริงเข้าถึงแล้วว่ามันเป็นความจริงของมันแต่ละอย่าง ๆ เท่านั้นมันไม่ใช่กิเลส มันก็ไม่ติดใจตรงนั้น แล้วละเข้าไปจนกระทั่งถึงตัวจิต มันไม่มีที่อยู่ มันก็เข้าไปสู่จุดใหญ่ของมันเท่านั้นเอง อาศัยที่ไหน ก็ถูกไล่ถูกต้อนไปหมด ถูกปราบปรามจากสติปัญญาไปหมด สุดท้ายก็เข้าไปอยู่ที่จิต จิตนี้แลเป็นตัวโทษ เป็นตัวกล่าวตู่นั้นตู่นี้ เป็นตัวยึดตัวถือ จิตนี้แล ๆ คือกิเลสมันอยู่ในจิตก็ต้องเป็นจิตนี้แล ๆ เอ้า ค้นเข้าไป เมื่อไม่มีที่พิจารณาแล้วก็ไม่พิจารณา อันไหนที่พอแล้ว อิ่มแล้วรู้แล้ว มันสัมผัสสัมพันธ์มันติดใจอยู่ตรงไหน ดูดดื่มอยู่ตรงไหน มันก็ต้องเข้าตรงนั้นจ่อเข้าตรงนั้น....สติปัญญา แล้วมันจะหนีไปไหน
ลงสติปัญญาอันเป็นความจริงเข้าไปถึงไหนแล้วสิ่งจอมปลอม มันต้องแตกทลายไปหมด นี่ก็มันจะอยู่ในใจ มันจะฝังลึกขนาดไหน ฝังอยู่ในใจ เอ้า ! ใจจะพังไปด้วยฉิบหายไปด้วย ในการปราบกิเลสซึ่งอยู่ในหัวใจนี้ก็ให้รู้ ไม่สงวน จิตจะดับไปพร้อมกับกิเลสแตกกระจัดกระจายก็ให้ดับ เมื่อกิเลสก็ดับไปใจก็ดับไปด้วย มันจะกลายเป็นหัวตอขึ้นมาก็ให้รู้ เพราะเราต้องการรู้ความจริง ความจริงจะเป็นอย่างไรแน่ จะให้รู้มันอย่างนั้นนี่ สุดท้ายมันก็พังแต่กิเลสเท่านั้นแหละ ใจไม่ได้พัง
กิเลสหมดไปแล้วใจจึงบริสุทธิ์ที่นี่ กิเลสหายไปหมด หายหน้าไปหมดเหลือแต่ความบริสุทธิ์ล้วน ๆ สว่างหรือไม่สว่าง ไม่ต้องคิดไม่ต้องพูดให้เสียเวล่ำเวลา พอถึงตัวจริงเต็มส่วนแล้วปัญหาทั้งมวลก็หมดไปเท่านั้น ความทุกข์ตั้งแต่เบื้องต้นจนกระทั่งถึงจุดนี้นั้นเป็นปุ๋ย ส่งเสริมจิตใจให้มีคุณค่าเป็นลำดับลำดา จนกลายเป็นใจที่ประเสริฐเลิศเลอไปได้ ดังที่กล่าวมานี้ จึงขอให้ท่านนักปฏิบัติทั้งหลายได้พินิจพิจารณาด้วยความเต็มใจ
คำว่าภัยเป็นภัยแท้อย่าเข้าใจว่าเป็นคุณ เชื่อนักปราชญ์อย่างพระพุทธเจ้าแล้วไม่ล่มจม แต่ถ้าเชื่อกิเลสแล้วก็ลำบากมากโดยลำดับตามความเชื่อที่มีหนักเบามากน้อย นี่เชื่อธรรมเชื่ออย่างนี้ ที่นี่เมื่อเข้าถึงตัวจริงเต็มส่วนแล้วนั้น ปัญหาทั้งมวลก็เป็นอันว่าหมดไม่มีเหลือ ในขณะเดียวกัน ก็ทราบได้ชัดว่าปัญหาทั้งมวลมีมาจากอะไร ก็ลงในกิเลสตูมหมด มีกิเลสเท่านั้นเป็นเจ้าปัญหา เป็นผู้ยุแหย่ก่อกวน พอกิเลสพังลงไปแล้วไม่มีอะไรเป็นเครื่องยุแหย่ต่อไป
ร่างกายจะเกิดความทุกข์ความลำบาก ด้วยการเจ็บไข้ได้ป่วย ก็รู้ตามความจริงของมัน ไม่ได้ไปยึดไปถือ ไม่ได้เป็นความกังวล วุ่นวายภายในจิตใจ เพราะความกังวลเหล่านั้นเป็นเรื่องของกิเลส กิเลสสิ้นไปหมดแล้ว ก็มีแต่ความจริง มีความเจ็บปวดแสบร้อนขึ้นมาในอวัยวะส่วนใด ก็รู้ว่ามันเจ็บปวดแสบร้อน ก็เป็นทุกขสัจ ก็รู้ตามเป็นจริงเสียโดยหลักธรรมชาติอยู่แล้ว ไม่ต้องไปเสกไปสรรอะไรมันอีก เพราะเป็นความจริงล้วน ๆ อยู่แล้วด้วยกันทั้งจิตทั้งกาย
ดังที่ท่านว่าในสติปัฎฐานสี่ เมื่อเข้าถึงตัวจริงเต็มที่แล้ว กายก็สักแต่ว่ากายเท่านั้น เวทนาก็สักแต่ว่าเวทนา จิตก็สักแต่ว่าจิต นั่นฟังซี ธรรมก็สักแต่ว่าธรรม เป็นอาการไปทั้งหมดที่นี่ ธรรมชาติที่ไม่ใช่อาการก็เต็มตัวอยู่แล้ว รู้อยู่แล้ว เมื่อถึงที่นั่นแล้วไปไหนอีก จะไปที่ไหน ไปอยากอะไรอีก เหมือนอย่างจิตที่เข้าถึงความหลับสนิท แล้วจะอยากอะไรอีก คนนอนหลับไม่หิวไม่โหย ไม่อยากอะไรทั้งนั้น ปล่อยหมดคนนอนหลับสนิท จิตที่กิเลสมันฉิบหายไปโดยสนิทก็เช่นเดียวกัน ไม่ได้หมายถึงว่ากิเลสหลับสนิท กิเลสตายสนิท ผิดกันกับคนนอนหลับกิเลสก็หลับเวลานั้น กิเลสพักตัว แต่จิตที่บริสุทธิ์นี้ กิเลสดับสนิทเอาอะไรมาห่วงเอาอะไรมาหวง เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นกิเลสทั้งมวล กิเลสหมดไปแล้วจะเอาอะไรมาเป็นอีก ก็เท่านั้น
ที่นี่เมื่อจิตเป็นธรรมล้วน ๆ กับจิตที่มีแต่กิเลสบังคับอยู่ล้วน ๆ ต่างกันอย่างไร รู้เองเห็นเองไม่สงสัย ท่านว่า สนฺทิฏฺฐิโก รู้เองมาโดยลำดับลำดาตั้งแต่ขั้นเริ่มแรกจนถึงขั้นวิมุตติหลุดพ้น ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ ท่านผู้รู้ทั้งหลายรู้จำเพาะตนคือ จำเพาะนี้แหละ จำเพาะผู้ที่บริสุทธิ์
เวลานี้เรามาบวชเป็นพระเป็นเณร ที่จะทำหน้าที่เพื่อความเป็นสิริมงคลให้มีคุณค่าแก่ตนเองอยู่แล้ว ก็ขอให้พยายามทำเต็มสติกำลังความสามารถ ในเวลาที่เป็นกาลอันควรอยู่นี้ เพราะคำว่ากาลหรือคำว่าเราก็เป็นของไม่แน่นอน มีการเปลี่ยนแปลงยักย้ายผันแปรไปได้ ทั้งการไปการมา ความเป็นอยู่ ตลอดถึงความตายไป เป็นสิ่งที่ไม่มีอะไรมาเป็นกำหนดกฎหมายได้เลย มันเป็นอยู่กับธาตุกับขันธ์กับตัวของเราแต่ละท่าน ๆ นี้เอง มันเป็นไปอย่างนั้นและเคยเป็นมาแต่กาลไหน ๆ เป็นมาจนกระทั่งบัดนี้ และยังจะเป็นไปต่อไปอีก จึงไม่ควรไว้ใจกับอนาคตที่ยังไม่มาถึง ให้ถือปัจจุบันเป็นหลักสำคัญที่จะบำเพ็ญประโยชน์แก่ตน
การแสดงธรรมก็เห็นว่าสมควรจึงขอยุติเพียงเท่านี้