พระแท้สมณะแท้ก็คือผู้มุ่งต่ออรรถต่อธรรมอย่างแท้จริง ครั้งพุทธกาลและหลังพุทธกาลมาก็มีเนื้อแท้เป็นส่วนมาก เรียกว่า ๙๐ % ในตำรับตำราเฉพาะอย่างยิ่งเป็นประวัติของสาวก ออกมาจากชาติชั้นวรรณะต่าง ๆ ท่านไม่เห็นสิ่งใดเป็นของสำคัญยิ่งกว่าธรรมที่ท่านมุ่งมาเพื่อปฏิบัติ ท่านยึดธรรมนั้นเป็นสมบัติ ท่านเทิดทูนที่สุด ไม่ว่าองค์ใดบรรดาสาวกมีทั้งพระราชามหากษัตริย์ มีทุกชั้นในบรรดาสาวกของพระพุทธเจ้า เสนาบดี เศรษฐี กุฎุมพี พ่อค้า ประชาชนคนธรรมดา จนกระทั่งถึงทุคตะเข็ญใจ พระองค์ไม่ทรงรังเกียจ ธรรมจะรังเกียจใครนอกจากมีความเมตตาเต็มพระทัยของพระพุทธเจ้า และเต็มใจของสาวกเท่านั้น
ท่านไม่มีอะไรที่จะทำให้หยิ่งในตัว ความหยิ่งนั้นไม่ใช่ธรรม นั่นคือกิเลสพองตัวขึ้นมาทำให้คนหลง ท่านเป็นผู้มุ่งอรรถมุ่งธรรม ท่านประพฤติปฏิบัติเพื่ออรรถเพื่อธรรม ออกมาจากสกุลที่ละเอียดอ่อนที่สุดก็คือสกุลพระมหากษัตริย์ ไม่ว่าที่อยู่ที่หลับที่นอน ปัจจัยทั้งสี่ซึ่งเป็นเครื่องเสวยของพระมหากษัตริย์ต้องละเอียดอ่อนทั้งนั้น ทีนี้เวลาท่านเสด็จออกมาบวชเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า
นี่เราไม่ได้หมายพระพุทธเจ้าโดยพระองค์เดียวเท่านั้น หมายถึงสาวกทั้งหลายซึ่งมีอยู่จำนวนมากที่เป็นพระมหากษัตริย์เสด็จออกบวช ไม่มีอะไรที่ติดพระองค์ไปบ้างพอที่จะแสดงเครื่องหมายของพระมหากษัตริย์ อันเป็นนิสัยของโลกมาเจือปน ไม่เห็นมีเลยในประวัติของสาวกทั้งหลาย เสด็จออกมาแล้วปัจจัยทั้งสี่ที่เป็นเครื่องอาศัยของกษัตริย์ตัดทิ้งหมด มีเหลือแต่ปัจจัยทั้งสี่ที่อาศัยของสมณะเท่านั้น ปัจจัยของสมณะนี้แล้วแต่จะเกิดจะมีจากศรัทธาญาติโยมทั้งหลายผู้เขามีใจบุญให้ทาน ตามกำลังศรัทธาของเขามากน้อย ดีชั่วประณีตบรรจงหรือชนิดใดก็แล้วแต่ ตามกำลังศรัทธาความสามารถของเขาที่จะมาบำรุงพระ ท่านพอใจทั้งนั้นเพราะใจท่านเป็นธรรมแล้วตั้งแต่ยังไม่ได้บรรลุธรรม
นี่ความแตกต่างกันในสมัยนั้นกับสมัยนี้ จึงเป็นเหมือนคนละโลก เหมือนไม่ใช่ศาสนาเดียวกัน ส่วนพ่อค้าประชาชนซึ่งเป็นนักสมบุกสมบันมาแล้วนั้นเราไม่ต้องพูด พูดถึงท่านผู้ที่มีความละเอียดอ่อนในทุกสิ่งทุกอย่างบรรดาปัจจัย ตลอดพระอาการกิริยามารยาทที่ทรงแสดงออกในพระมหากษัตริย์ที่เสด็จออกมาบวชนั้น เป็นความละเอียดอ่อนมากทุกแง่ทุกมุม ท่านดัดแปลงเสียจนหมดในความทุกข์ยากลำบาก ท่านไม่สนใจ เอาแบบพระเลยเทียว
แบบพระเป็นยังไงแบบสมณะเป็นยังไง ท่านนำแบบสมณะนั้นมาประพฤติปฏิบัติยึดเป็นหลักใจ ทางฝ่ายฆราวาสวิสัยไม่เคยเอามาเกี่ยวข้องเลย นั่นพระแท้ท่านเป็นอย่างนั้น ออกไปอยู่ตามป่าตามเขาจะมีอะไรเป็นที่อาศัยพอให้ได้รับความสะดวกสบายอย่างโลก ๆ เขา ก็ต้องตามสภาพ อย่างที่เราไปเที่ยวในป่าในเขาเราก็พอทราบแล้วว่าเป็นยังไง เขากินเขารับประทานใช้สอยยังไง เขาก็ให้ตามมีตามเกิดตามกำลังศรัทธาของเขาอย่างนั้น เราก็พอทราบได้แล้ว อยู่ใกล้เมือง อยู่ในเมือง อยู่ในป่า ต่างกันมากเรื่องปัจจัยเครื่องอาศัย
เพียงเท่านี้เราก็พอเทียบได้แล้วกับครั้งพุทธกาล ที่บรรดาสาวกทั้งหลายท่านไปบำเพ็ญอยู่ในป่าในเขา ปรกติท่านอยู่ในอรัญวาสี อย่างน้อยอยู่ในป่าห่างจากหมู่บ้าน ๒๕ เส้น คือ ๑ กิโล ๕๐๐ ชั่วสายธนูมันก็ ๒๕ เส้น ท่านอยู่ในป่า นอกจากนั้นในเขาในถ้ำ เงื้อมผาต่าง ๆ ท่านจะได้รับความสะดวกสบายมาจากไหน แต่จิตใจของท่านเป็นธรรมอย่างแท้จริงอยู่แล้วตั้งแต่ยังไม่ได้บรรลุธรรม กำลังขวนขวายธรรมอยู่ด้วยความบริสุทธิ์ใจใคร่ต่อธรรมจริง ๆ ด้วยจิตใจเป็นธรรมจริง ๆ ด้วย อย่างนี้ละบรรดาสาวกทั้งหลายที่ท่านได้เป็น สรณํ คจฺฉามิ ของพวกเราท่านดำเนินอย่างนั้น
เพราะฉะนั้นผู้ปฏิบัติธรรมจึงอย่ามองใครในโลกนี้ให้ข้ามพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์สาวกและธรรมคือแบบฉบับไป เราจะไม่ผิดหวัง ทุกข์ยากลำบากก็ให้ถือพระพุทธเจ้า พระสงฆ์สาวกทั้งหลายเป็นแบบเป็นฉบับ ท่านลำบากลำบนมาด้วยกันทั้งพระพุทธเจ้าและสาวกจำนวนมาก ไม่ใช่ท่านมาล้างมือเปิบ ให้เราคิดไว้อย่างนี้ผู้ปฏิบัติ จะเป็นเครื่องเตือนจิตใจของตนให้มีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น เพราะอาศัยท่านผู้มีความเข้มแข็งได้พาเดินผ่านไปแล้ว
การดำเนินเพื่อข้ามวัฏสงสารอันเป็นกองมหันตทุกข์ไม่มีกำหนดกฎเกณฑ์ตายตัวนี้นั้น เป็นสิ่งที่ต้องดำเนินไปด้วยความยากความลำบาก ดังที่พระพุทธเจ้าและสาวกทั้งหลายท่านดำเนินมาแล้ว ท่านต้องผ่านความทุกข์ความทรมาน ยิ่งเป็นผู้ออกมาจากสกุลที่สูงและละเอียดลออด้วยแล้ว ก็ยิ่งได้รับความกระทบกระเทือนเกี่ยวกับความเป็นอยู่ต่าง ๆ มากยิ่งกว่าพ่อค้าประชาชน ซึ่งเคยสมบุกสมบันมาแล้วมาบวชอยู่ด้วยกัน
เพราะคำว่าคน ๆ ไม่เหมือนกัน ผู้เคยชินกับสิ่งใดสถานที่ใดก็ย่อมเป็นไปตามนั้น เมื่อเวลามีการเปลี่ยนแปลงก็ต้องได้รับความทุกข์ความลำบากแต่ท่านไม่สนใจ ธรรมเป็นอยู่ยังไง จะควรรู้เห็นอรรถธรรมได้ด้วยวิธีการใด พระพุทธเจ้าทรงพระโอวาทว่าอย่างไร ท่านยึดนั้นเป็นหลักเป็นเกณฑ์พึ่งเป็นพึ่งตายกับพระโอวาทคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าโดยถ่ายเดียวเท่านั้น ปัจจัยไทยทานเครื่องอาศัยทั้งหลาย ถือเป็นเพียงว่ายังชีวิตให้เป็นไปพอได้บำเพ็ญสมณธรรมให้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ให้ถึงแดนแห่งความพ้นทุกข์ตามความมุ่งหมายที่มุ่งมาอย่างยิ่งนี้ก็เป็นที่พอใจแล้ว เพราะฉะนั้นท่านจึงไม่กังวลกับเรื่องโลกามิสภายนอกยิ่งกว่าอรรถธรรม
นี่คือหลักเกณฑ์ของใจพวกเราที่จะยึด คือ พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ พระพุทธเจ้าทรงดำเนินอย่างไรได้พูดให้ฟังแล้ว ไม่รู้กี่ร้อยกี่พันกี่หมื่นหนแล้วแหละ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ ให้ยึดหลักการดำเนินของท่าน อย่าไปมองเห็นผู้อื่นผู้ใดว่าวิเศษวิโสยิ่งกว่าพระพุทธเจ้า พระสงฆ์สาวก และการดำเนินก็ไม่มีผู้ใดที่จะดำเนินละเอียดสุขุมถูกต้องแม่นยำ อันเป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์โดยถ่ายเดียว จนถึงกับความพ้นทุกข์ได้เหมือนพระพุทธเจ้าและสาวกทั้งหลาย ให้เรายึดอย่างนี้
ทุกข์ยอมรับว่าทุกข์ ทำไมจะไม่ทุกข์ เพราะการฝ่าฝืนกิเลสการต่อสู้กับกิเลส ซึ่งเป็นมหาอำนาจครองอยู่บนหัวใจเรานี้มันครองมานานเท่าไร เราเองซึ่งเป็นคลังของกิเลส เรายังไม่ทราบเลยว่ากิเลสนี้เคยครองหัวใจมานานเท่าไร นี่ตอนสำคัญ แล้วมันจะไม่มีอำนาจมากยังไง และการต่อสู้ที่จะปลดเปลื้องกิเลสหรือให้มีอำนาจเหนือกิเลสนี้ ถ้าไม่เป็นนักต่อสู้เหมือนพระพุทธเจ้าและสาวกท่าน เราจะหาชัยชนะมาจากอะไร ความทุกข์ความยากความลำบากในเรื่องหน้าที่การงานนี้ โลกนี้เป็นโลกสร้างอยู่สร้างกิน เพราะไม่ใช่คนตายสัตว์ตาย สัตว์เขาก็มีงานของเขา ตื่นมาหาอยู่หากินทั้งเสี่ยงอันตรายรอบด้าน มนุษย์เราก็เป็นอย่างนั้น ทั่วโลกดินแดนต้องทุกข์ต้องลำบากด้วยหน้าที่การงานเพื่อความเป็นอยู่นี้ทั้งนั้น
นี่เราทุกสิ่งทุกอย่างจตุปัจจัยไทยทานเหลือเฟือ มีผู้ใจบุญเต็มเมืองไทยเรา ที่จะคอยสนับสนุนผู้เอาจริงเอาจังประพฤติปฏิบัติที่น่าเคารพกราบไหว้บูชาขอส่วนบุญส่วนกุศลด้วย นี่มีอยู่เยอะ เพราะฉะนั้นเราจึงไม่เห็นมีความลำบากอะไรกับจตุปัจจัยนี้ นอกจากจะเหลือเฟือหรือฟุ้งเฟ้อหรือท่วมเอาเสียจนจะตาย ธรรมหาที่งอกงามไม่ได้เท่านั้น หน้าที่ของเราที่จะบำเพ็ญตนให้เต็มเม็ดเต็มหน่วยตามอรรถตามธรรม ดังพระพุทธเจ้าและสาวกทั้งหลายท่านดำเนินมาและประทานเอาไว้นี้ ทำไมเราจะดำเนินไม่ได้
ความทุกข์โลกยอมรับกันแล้วว่าทุกข์ด้วยการด้วยงาน นี่เราทุกข์ด้วยการงานเพื่อการดำเนินให้ถึงความพ้นทุกข์ เป็นทุกข์ที่บริสุทธิ์ใจ เป็นทุกข์ที่ไม่ต้องมีสิ่งใดเข้ามาเคลือบแฝงให้เป็นความทุกข์ความทรมานสืบต่อไปในกาลข้างหน้าเหมือนงานอื่น ๆ ซึ่งเสี่ยงต่อผลเสียหายทั้งหลายดังที่โลกเขาทำกัน งานนี้เป็นงานที่บริสุทธิ์ จงพากันตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติ ให้มีความเข้มแข็งอาจหาญ อย่าเป็นผู้อ่อนแอ นี่แหละคือทางเดินเพื่อความหลุดพ้น
การดำเนินอย่ามองที่ไหน มองกิเลสให้มองอยู่ที่หัวใจ ใจนี้สร้างกิเลสอยู่ตลอดเวลา อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา ฟังเอา อวิชชาเป็นสถานเป็นแหล่งเป็นพลังงานที่จะผลักดันออกมาทางสังขาร ทางวิญญาณ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย มันผลักดันออกมาเพื่อจะสืบต่อกับสิ่งภายนอก แล้วกว้านเอาความทุกข์ความลำบากเข้ามาเผาเรา เมื่อเราไม่มีสติรู้รอบกับสิ่งเหล่านี้ จะต้องสั่งสมกิเลสอยู่ตลอดเวลาภายในหัวใจของแต่ละดวง ๆ ทั้ง ๆ ที่ว่าเราเป็นนักปฏิบัติ
เราจะทราบนี้ได้อย่างชัดเจนถึงขั้นที่ควรจะทราบปิดไม่อยู่ นี่เคยปฏิบัติมาแล้วไม่ได้คุย เวลาล้มลุกคลุกคลานก็ให้รู้ว่าล้มลุกคลุกคลาน แต่พยายามทำตัวให้เข้มแข็ง ทำตัวให้ชำนิชำนาญ ไม่ให้ล้มลุกคลุกคลาน ให้มันเป็นตั้งแต่ระยะขั้นเริ่มแรกเป็นธรรมดาด้วยกัน ให้พยายามฝึกซ้อมก็มีความชำนาญ มีความเข้มแข็ง มีความคล่องแคล่วแกล้วกล้าขึ้นโดยลำดับ ทั้งสติทั้งปัญญาทั้งศรัทธาความเพียรมาพร้อม ๆ กันเข้าสู่หัวใจดวงเดียวนี้ เพื่อเป็นพลังกำจัดกิเลสอาสวะทั้งหลาย ซึ่งเป็นเจ้าอำนาจครองหัวใจนี้ได้โดยลำดับ เมื่อสติปัญญาศรัทธาความเพียรมีกำลังมากเข้าโดยลำดับ และซ่องสุมเข้าไปสู่ภายในจิตใจนี้แล้ว เราจะทราบการสร้างกิเลสตัณหาอาสวะ การสร้างกองทุกข์ของกิเลสประเภทต่าง ๆ มันสร้างที่หัวใจ แล้วก็รู้วิธีแก้ไขไปโดยลำดับ ๆ
อย่าเข้าใจว่ากิเลสอยู่ที่ไหน อยู่ที่หัวใจ วัฏจักรแท้ ๆ คือดวงใจนั้นแหละพาให้หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงเกิดแก่เจ็บตายอยู่ไม่หยุดไม่ยั้งไม่มีอะไร ได้พิจารณาเต็มสติกำลังมาแล้ว จนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้ไม่สงสัยว่าสิ่งอื่นใดที่จะพาให้เกิดนอกจาก อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา ที่แนบสนิทอยู่กับหัวใจจนไม่ทราบว่าอะไรเป็นใจอะไรเป็นอวิชชานี้เท่านั้น นี่เป็นหลักใหญ่ ไล่เข้าไปมันหากเห็นเอง จุดนี้ตัวสำคัญ เชื้ออันสำคัญพาให้ท่องเที่ยว บริษัทบริวารก็ออก ออกทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ออกทางรูป ทางเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มีแต่เรื่องของกิเลสลวดลายของกิเลสทั้งนั้น กระดิกตัวออกเมื่อไรมีแต่เรื่องของกิเลสหลั่งไหลออกไป เที่ยวกว้านเที่ยวเอาอะไร ๆ ขนกองทุกข์เข้ามาสู่ตัวของเรา กองทุกข์คือผลที่เกิดขึ้นจากความคิดปรุงเหล่านี้ อันเนื่องมาจากอวิชชาเป็นผู้ผลักดันออกไป เพราะเป็นนายใหญ่
ด้วยเหตุนี้จึงต้องสอนให้มีความเข้มแข็งภาวนา ให้กำหนดลงไปที่นี่ สติปัฏฐาน ๔ นั่นฟังซิ นี้ละหลักธรรมแห่งการรับรองเพื่อมรรคผลนิพพาน หลักธรรมแห่งการรับรองเพื่อปราบกิเลสให้ราบเรียบ คือสติปัฏฐาน ๔ หรืออริยสัจ ๔ ซึ่งเป็นหลักใหญ่มากทีเดียว แล้วสติปัฏฐาน ๔ คืออะไรอยู่ที่ไหน อริยสัจ ๔ คืออะไรอยู่ที่ไหน นี่เราทราบด้วยกันแล้ว อย่ามองข้ามอันนี้ไป เอาให้จริงให้จังนักปฏิบัติ ที่จะเป็นศิษย์ตถาคตจะให้หลุดพ้นออกจากมหันตโทษมหันตทุกข์ที่จมอยู่ภายในจิตใจนี้ เพราะอำนาจของกิเลส เราต้องเอาให้เต็มที่เต็มฐาน เอาให้เห็นชัยชนะไปโดยลำดับ ๆ จึงชื่อว่าเป็นผู้มีความสามารถ เป็นผู้อาจหาญตามรอยพระบาทของพระพุทธเจ้าให้ทัน และตามรอยเท้าของสาวกทั้งหลายให้ทัน ด้วยการประพฤติปฏิบัติ มีความเข้มแข็งไม่อ่อนแอ
จิตเป็นตัวปรุงตัวคิด ปรุงอยู่ตลอดเวลา คิดอยู่ตลอดเวลา มีสติมันก็คิดไม่มีสติมันก็คิด คิดตามธรรมชาติของจิตนั้นคิดด้วยอำนาจของอวิชชา อวิชชาผลักดันออกมาให้คิด จึงเป็นเรื่องของสมุทัย ๙๙ % ถ้าเป็นผู้ปฏิบัติ ถ้าหากเราไม่สังเกตจะเป็น ๙๙ % ล้วนแล้วตั้งแต่เรื่องของสมุทัย ในขณะเราเผลอมันก็ร้อยเปอร์เซ็นต์นั่นแหละพูดง่าย ๆ มันปรุงออกมาเรื่องอะไร เรื่องรักเรื่องชังเรื่องโกรธเรื่องเกลียด เสียใจ ดีใจ อดีตอนาคตก็ไม่หนีไปจากความรักความชังความโกรธความเกลียดทั้งนั้น ไม่หนีจากนี้ และออกมาจากใจเป็นผู้วาดภาพ วาดอยู่งั้นตลอดเวลา ปรุงเรื่องนั้นเรื่องนี้ ปรุงขึ้นมาแล้วจิตก็เคลิ้มตาม คล้อยตามแล้วเคลิ้มตาม จิตเราอยู่เฉย ๆ วันหนึ่งไม่ต้องมีภาพคือความคิดปรุงของตัวเองมาหลอกมีได้เหรอ มันอยู่ด้วยความหลอกหลอนของจิตทั้งนั้น แต่เรายังไม่ทราบเวลานี้ เพราะฉะนั้นจึงต้องพิจารณาจิตให้มีความสงบเย็นพอสมควร
ใช้ปัญญาคุ้ยเขี่ยขุดค้นลงในสติปัฏฐาน ๔ คือกาย กายานุปัสสนาท่านว่า พิจารณาให้เห็นแจ้งในกาย ในกายนี้มีอะไรบ้าง ดูด้วยความเจาะจง ดูด้วยความมีสติ ดูด้วยความอยากรู้อยากเห็นด้วยความสนใจจดจ่อจริง ๆ นั้นเรียกว่าความเพียร ไม่ใช่ดูสักแต่ว่าดู พิจารณาสักแต่ว่าพิจารณาลูบ ๆ คลำ ๆ ไปแล้วก็เตลิดเปิดเปิงหนีไปทางอื่นเสีย ให้สมุทัยคือกิเลสมันหลอกไปเสีย อย่างนั้นไม่จัดว่าเป็นความเพียร ไม่จัดว่าเป็นผู้พิจารณาสติปัฏฐาน ๔ เพื่อการรื้อถอนกิเลสตัวอุปาทานยึดมั่นถือมั่นภายในกายนี้ให้หมดไปได้
ถ้าหากเราพิจารณาด้วยความมีสตินี้ทำไมจะไม่รู้ พระพุทธเจ้าทรงรู้พระกายของพระองค์แล้วก็สามารถรู้กายของสัตวโลกได้หมด ถอนได้ทั้งนั้น จึงเรียกว่าโลกวิทู คำว่าโลกวิทูรู้แจ้งโลกนี้ เป็นได้ทั้งคุณสมบัติของสาวกด้วย เป็นได้ทั้งคุณสมบัติของพระพุทธเจ้าด้วย เป็นแต่เพียงว่าคุณสมบัติของพระพุทธเจ้านั้น กว้างขวางสมภูมิพุทธวิสัย คำว่าโลกวิทูนี้หมายถึงรู้แจ้งเห็นจริงในสัจธรรมทั้งหลายที่กระเทือนอยู่ทั่วโลกธาตุ
ไม่มีสัตว์ตัวใดบุคคลใดที่จะไม่มีสัจธรรมอยู่นี้ เป็นแต่เพียงว่าจะครบหรือไม่ครบเท่านั้น สติปัญญาเป็นสิ่งที่ผลิตขึ้นมาถึงจะเป็นสัจธรรมประเภทแก้ไข นิโรธเป็นผลที่เกิดขึ้นจากมรรคปฏิปทา ส่วนทุกข์กับสมุทัยนั้นมีอยู่ทุกตัวสัตว์ตัวบุคคลนั่นแหละ เพราะอันนี้มันเป็นอัตโนมัติวัฏจักรของมันพาเป็นมาอย่างนั้น เพราะอำนาจแห่งอวิชชา จึงต้องได้พิจารณากายให้เห็น
ดูตั้งแต่ผิวหนังเข้าไป ผิวหนังข้างนอกกับหนังข้างในเป็นยังไง เพียงหนังอันเดียวกันนี้ข้างนอกกับข้างในมันยังต่างกันอยู่แล้วให้เห็นชัด ๆ ตามหลักความจริงเป็นอย่างนั้น เราพิจารณา-พิจารณาเห็นตามความจริงนี้ อย่าค้านอย่าแย้งความจริงซึ่งเป็นพระโอวาทของพระพุทธเจ้า ท่านว่าเป็นของปฏิกูล เราดูข้างนอกก็เต็มไปด้วยมูตรด้วยคูถอยู่แล้ว ขี้เหงื่อขี้ไคลจะไม่เรียกว่าขี้ได้ยังไง มันเต็มอยู่ไม่ว่าข้างบนข้างล่าง สมมุติกันไปอย่างนั้นว่าข้างบนข้างล่าง เช่น ศีรษะถือกันอย่างนั้นถือกันอย่างนี้ ขี้มันไม่ได้ถือมันมีอยู่จนกระทั่งศีรษะคน ขี้หัวขี้ศีรษะขี้ไคลเต็มไปหมดมันถือไหม เราอย่าไปหลง
พิจารณาให้เห็นตามความเป็นจริงของมันในเรื่องของปฏิกูล ทั้งที่มันเป็นอยู่และเวลาสลายไปเป็นยังไงอีก เวลาแตกดับแล้วเป็นยังไง ยิ่งแสดงออกมาอย่างเปิดเผย เวลานี้มีเพียงหนังหุ้มห่ออยู่เท่านั้นพอดูกันได้มนุษย์เรา พอถลกหนังออกแล้วดูกันได้อย่างไร ทั้งหญิงทั้งชายดูกันไม่ได้ มีหนังเท่านั้นเป็นเครื่องพรางตาบุรุษตาฟาง ผิวหนังบาง ๆ เท่านั้นเองเรายังแทงไม่ทะลุ จะว่าเรามีปัญญาเฉลียวฉลาดแหลมคมได้ยังไง พระพุทธเจ้าท่านแทงทะลุ สาวกท่านแทงทะลุ ปัญญาของท่านเป็นอย่างนั้น
หยั่งลงให้สู่ความจริงอย่าปีนเกลียวกับธรรม สิ่งที่ไม่สวยว่าสวย สิ่งที่ไม่งามว่างาม สิ่งที่ไม่มั่นคงว่ามั่นคง สิ่งที่ไม่ใช่เรา เป็น อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ก็ว่าเรา ๆ เสียแล้ว มันปีนเกลียวกับธรรมของพระพุทธเจ้าอยู่ตลอดเวลาอย่างนี้ ก็ชื่อว่าสู้กิเลสไม่ได้ กิเลสพาให้ปีนเกลียวก็ปีนไป ปีนเกลียวอยู่ตลอดเวลาสำหรับกิเลส ปีนเกลียวกับธรรมต่อสู้กับธรรม เป็นเพราะกิเลสเป็นข้าศึกต่อธรรมอยู่เสมอ
จึงต้องฝืน อยากดูก็ไม่ดูถ้าจะเกิดกิเลส อยากฟังก็ไม่ฟังถ้าจะเกิดกิเลส สัมผัสอะไรก็ตาม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จะคิดจะปรุงจะสัมผัสสัมพันธ์กับสิ่งใด ถ้าสิ่งนั้นจะทำให้เกิดกิเลสแล้วต้องฝืนทั้งนั้น หักห้ามกันอย่างหนัก นอกจากนั้นแล้วยังคุ้ยเขี่ยขุดค้นในสิ่งที่มีอยู่นี้ซึ่งสุดวิสัย เพราะมันมีอยู่แล้วกิเลสภายในใจ ให้ดูตามหลักความจริงของมัน ถ้าจะดูอสุภะก็ให้ดูในร่างกายของเรา มีตรงไหนเท่าเม็ดหินเม็ดทรายมีไหมที่ไม่เป็นของปฏิกูลโสโครกนี้มีไหม มันไม่มี มันเต็มทั้งร่างนี้หมด แม้แต่เอาเข็มแทงลงไปก็เจอแต่สิ่งสกปรกโสโครก เจอแต่สิ่งเป็นอนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ทั้งนั้น แล้วเรายังจะฝืนยึดถือมันอยู่เหรอ
ธรรมพระพุทธเจ้าเป็นเครื่องบุกเบิกให้เข้าถึงความจริง พยายามพิจารณา นำมาใช้ อย่าให้กิเลสเหยียบย่ำทำลายหัวใจอยู่ตลอดเวลาเลยซึ่งไม่ใช่ของดี กิเลสสนุกแต่เราทุกข์เพราะอยู่ใต้อำนาจของกิเลส พิจารณาให้จริงจัง กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน พิจารณากายนอกก็ตามกายในก็ตาม ทั้งกายนอกกายในก็ตามท่านว่า กาเย กายานุปสฺสี วิหรติ อชฺฌตฺตา วา พหิทฺธา วา กาเย กายานุปสฺสี วิหรติ เรื่อย สมุทยธมฺมานุปสฺสี วา กายสฺมึ วิหรติ. วยธมฺมานุปสฺสี วา กายสฺมึ วิหรติ. สมุทยวยธมฺมานุปสฺสี วา กายสฺมึ วิหรติ. พิจารณากายนอกพิจารณากายใน พิจารณากายในกายได้ทั้งนั้นถูกต้องทั้งนั้น เพราะเป็นความจริงด้วยกันเมื่อพิจารณาให้เป็นความจริง
กายนี้ไม่ได้รู้สึกเรานี่ เป็นแต่ประสาทอันหนึ่งเป็นเครื่องให้รู้ว่า ตามีหน้าที่รู้อย่างนั้น หูมีหน้าที่ฟังอะไร ๆ เป็นประสาทส่วนหนึ่งสำหรับรับทราบตามหน้าที่ของตน ๆ แต่ไม่ใช่ธรรมชาตินั้นเป็นตัวจิตเป็นตัวรู้ ตัวรู้จริง ๆ อยู่ที่จิต เราจะเห็นได้ชัดเจนก็ต้องนักภาวนาเท่านั้น คนอื่นจะวินิจฉัยสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ ถ้านักภาวนาแล้วปิดไม่อยู่ เมื่อถึงขั้นรู้แล้วรู้หมดว่าอันนี้เป็นเครื่องมือเท่านั้น เมื่อจิตถอนตัวออกไปเสียเท่านั้น อะไรมีตามีมันก็ไม่เห็น ทั้ง ๆ ที่ตาไม่บอด เมื่อจิตถอนตัวไปแล้วตาก็ไม่เห็นหูก็ไม่ได้ยิน กายทุกส่วนไม่มีเครื่องสัมผัส ไม่รู้สัมผัสทั้งนั้น เพียงย่อ ๆ เท่านี้เราก็พอจะเข้าใจแล้วว่าอะไรเป็นใหญ่ที่พาให้รู้อยู่เวลานี้ ก็คือใจ
แต่ใจของสามัญชนทั่ว ๆ ไปนี้มันซาบมันซ่านไปหมดทั่วสรรพางค์ร่างกาย เพราะฉะนั้นมันถึงแบกเอาหมด ถ้าเรียกว่าคนแบกก็เรียกว่าแบกคนทั้งขี้ ความสกปรกโสมมก็อยู่นี้มันก็แบกเอาว่าเป็นเราเป็นของเราจะว่ายังไงเพราะไม่รู้ เพราะฉะนั้นท่านจึงสอนให้พิจารณาให้เห็น จะเป็นทางปฏิกูลก็ตาม จะเป็นทาง อนิจฺจํ ความแปรสภาพ มันก็แปรอยู่ตลอดเวลาไม่ว่าหลับว่าตื่น ไม่ว่าเวลาไหนไม่มีวันหยุดยั้งของไตรลักษณ์ที่จะไม่ดำเนินตามหลักธรรมชาติของตนโดยอัตโนมัติ เดินอยู่อย่างนั้น ขณะที่นั่งอยู่นี้ก็เดิน อนิจฺจํ แปรอยู่เรื่อย ๆ ทุกฺขํ บีบบังคับตลอดเวลา อนตฺตา เป็นเราเป็นของเราที่ไหน ประกาศป้าง ๆ อยู่ภายในตัวด้วยความจริง
เราพิจารณาสิ่งเหล่านี้ให้ทราบความจริง ต้องพิจารณาตามหลักธรรมชาติแห่งความจริงของมันแล้วจะรู้ รู้แล้วความยึดมั่นถือมั่นมันถอนตัวของมันมาเอง ไม่ต้องไปดึงไปถอนไปลากมันหรอก เอาปัญญานี้เป็นผู้ทดสอบให้ถึงความจริง เพราะหลักธรรมคือหลักเหตุผล พิจารณาให้เห็นตามความจริงนี้แล้วจิตจะถอดถอนเข้ามาเอง รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส อะไรมันก็เป็น อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตาเป็นอสุภะอสุภังของปฏิกูลเหมือน ๆ กันไปหมด เมื่อพิจารณาได้อย่างซึ้งถึงใจแล้วมันปล่อยมันถอนตัวเข้ามาทั้งนั้น
แม้แต่ร่างกายซึ่งเคยอยู่ด้วยกันมาตั้งแต่วันเกิดจนกระทั่งบัดนี้ เมื่อเข้าใจแล้วมันก็ถอนตัวไม่ยึดมั่นไม่ถือเป็นกรรมสิทธิ์ด้วยอุปาทาน เป็นเพียงรับผิดชอบกันอยู่เท่านั้น ไม่ถือว่านี้เป็นเราเป็นของเรา จิตเป็นจิต จิตพอกับตัวเองแล้วไม่จำเป็นจะต้องยึดสิ่งเหล่านี้มาเป็นเครื่องพึ่งพิงอิงอาศัย เวทนาก็เป็นเวทนา จิตเป็นจิต สุข ทุกข์ เฉย ๆ เป็นเวทนา อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา เหมือนกัน เวทนา อนิจฺจา เวทนา อนตฺตา ฟังซิ จะเป็นสุขก็ อนตฺตา เป็นทุกข์ก็ อนตฺตา เฉย ๆ ก็ อนตฺตา อนิจฺจํ เหมือนกันหมด ยึดอะไร สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เกิดและดับตามหลักธรรมชาติของเขา
สัญญา สังขาร วิญญาณ แต่ละอย่าง ๆ เป็นอาการอันหนึ่ง ๆ เท่านั้น จิตเป็นจิตจะไปยึดเอาสิ่งเหล่านี้มาเป็นตัวเป็นตนได้ยังไงถ้าไม่อยากเป็นนักหนี เหมือนฟุตบอลถูกกิเลสเตะกลิ้งไปกลิ้งมา รอบขอบเขตจักรวาลไม่ทราบเกิดภพไหนชาติไหนกาลใดไม่รู้ เหมือนคนตาบอดไปไหนมาไหนก็ไม่รู้เพราะตาไม่เห็น เขาพาไปไหนก็ไป นี่กิเลสพาไปไหนก็ไป แต่ก็ไม่รู้ว่าไปที่นั่นที่นี่เป็นยังไงทั้ง ๆ ที่ได้รับความทุกข์อย่างแสนสาหัสมาในบางภพบางชาติบางเวล่ำเวลา
แม้แต่ในอัตภาพร่างกายนี้ก็ยังเห็นอยู่ชัด ๆ ว่าไม่ใช่มีความสุขแบบรื่นเริงตลอดไป มีความทุกข์อย่างแสนสาหัสก็มี เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยหรือเกิดความทุกข์ความทรมานในทางร่างกาย จะเป็นเพราะสาเหตุใดก็ตาม อย่าเข้าใจว่าสิ่งเหล่านี้จะทำความสุขให้แก่คนเลย ร่างกายนี้ต้องเป็นกองไฟทั้งกองนั่นแหละแผดเผา ถ้ายิ่งมีอุปาทานด้วยแล้วก็ยิ่งหนักด้วยความกังวลวุ่นวาย โรคของจิตยิ่งเป็นโรคที่หนักหนามากถ้าพิจารณาไม่ทัน
การพิจารณาให้รู้เท่าทันในสิ่งเหล่านี้ จะเป็น อนิจฺจํ ก็ให้ทราบชัด อสุภะอสุภังนี่เป็นสิ่งสำคัญมาก ปฏิกูล เป็นหลักใหญ่มากควรพิจารณา ข้างนอกก็พิจารณาได้ ข้างในพิจารณาได้ กี่ครั้งกี่หนตลบทบทวนอยู่กับนั้นเลยก็ได้นี่พิจารณา ตั้งขึ้นมา ให้สวยให้งามขนาดไหนตั้งขึ้นมา กิเลสมันหลอกเราเราก็ต้องหลอกกิเลสเหมือนกัน กำหนดพิจารณาให้มันแตกกระจายลงไปให้เห็นอย่างประจักษ์ใจ เพราะเป็นความจริงเหมือนกัน เมื่อชัดเจนแล้วไม่ต้องบอกแหละเรื่องความปล่อย
อุปาทานนี่มันหนัก หนักมาก ภูเขาทั้งลูกเราจะว่ามันหนักได้ยังไง ใครไปเคยแบกภูเขา ภูเขาทั้งลูกมาทับหัวใครได้ ไม่เคยมีมาทับหัวใคร เขาอยู่เฉพาะเขา แต่ร่างกายนี้ ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธาอันนี้เป็นภาระอันหนัก ท่านบอก ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา ขันธ์ทั้งห้าเป็นภาระอันหนักนะ ท่านไม่ได้บอกภูเขาทั้งลูกเป็นภาระอันหนักนะ ท่านไม่ได้ว่า ท่านว่าเบญจขันธ์นี้ต่างหาก จึงต้องให้พิจารณาลงตรงนี้ ดูข้างนอกดูข้างใน กำหนดให้แตกกระจัดกระจายลงไป
กิเลสทำไมมันถือว่าเป็นก้อนเป็นกลุ่มเป็นของสวยของงาม ซึ่งเป็นสิ่งที่ปีนเกลียวกับความจริงเอามากมาย พิจารณาให้เห็นตามความจริงตามหลักธรรมนี้ มันก็ปราบกิเลสได้เท่านั้นซิ ความว่าสวยว่างามก็หมดไป ความว่าเที่ยงถาวรก็หมดไป ความว่าเราว่าของเราก็หมดไป ๆ ความกังวลก็หมดไป อุปาทานก็หมดไป ก็เท่ากับว่าเราปลดเปลื้องภาระอันหนักออกจากใจ ใจก็ดีดขึ้นโดยลำดับ นี่การพิจารณาให้พิจารณาอย่างนี้ เอาให้จริงให้จัง
มรรคผลนิพพานเป็นปัจจุบันอยู่ภายในจิต กิเลสเป็นปัจจุบันมันเกิดได้ทุกเวลา ความโลภความโกรธความหลงความรักความชังความเกลียดความโกรธอะไร มันเกิดได้อยู่ตลอดเวลา ขอให้มีช่องให้มันเกิดมันไม่ถอย มันไม่มีปี่มีขลุ่ยอะไรหรอกมันเกิดอยู่งั้น ไม่มีพิธีรีตองอะไรมันเกิดของมันได้ถ้าเป็นช่องให้มันเกิด การปฏิบัติธรรมจึงไม่ควรที่จะหาเวล่ำเวลาหาอิริยาบถหากาลสมัยหรือพิธีต่าง ๆ เอาให้จริงให้จัง กำหนดลงไป กิเลสเกิดขึ้นที่ตรงไหนให้กำหนดพิจารณา มันสำคัญมั่นหมายว่าอะไรเป็นอะไร ปัญญาติดตามให้รู้ชัด พิจารณาหลายครั้งหลายหนก็รู้ชัดเองได้ นี่ที่ปฏิบัติมาเป็นอย่างนี้
ผมละวิตกวิจารณ์กับหมู่เพื่อน เพราะเราอยู่ด้วยกันไม่ใช่เป็นของแน่นอน เราต่างคนก็เป็น อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา และอยู่ในโลก อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา จะหาความแน่นอนได้อย่างไร ต้องมีการพลัดพรากจากกัน ไม่เวลาเป็นก็เวลาตายจนได้นั่นแหละ เวลาได้มาอยู่ด้วยกันควรพยายามให้เต็มเม็ดเต็มหน่วยในการประกอบความพากเพียรก็ขอให้ได้ อย่าให้เสียทีที่ได้มาอยู่ด้วยกัน อะไรจะเป็นที่ระลึกยิ่งกว่าธรรมนี้ไม่มีในโลกอันนี้
ธรรมเป็นสิ่งสำคัญมากให้เข้าถึงใจเถอะ เมื่อธรรมเข้าถึงใจมากน้อยใจที่กำเริบเสิบสานอยู่ด้วยอำนาจแห่งกิเลสตัณหาอาสวะบีบบังคับเป็นฟืนเป็นไฟ จะกลายเป็นน้ำดับไฟลงไปโดยลำดับ ๆ ยิ่งเราดับได้หมดไม่มีสิ่งใดเหลือเลย เหลืออยู่เฉพาะขันธ์ล้วน ๆ เท่านั้น ไม่มีกิเลสตัวใดที่จะแฝงตัวขึ้นมาเข้าแทรกแซงจิตได้แล้ว นั้นแลชื่อว่าเป็นผู้หมดภาระ หมดงานที่เคยตะเกียกตะกายมาตั้งแต่เริ่มแรกประพฤติปฏิบัติ ล้มลุกคลุกคลานมาด้วยความทุกข์ความลำบากลำบน พอมาถึงจุดจบแห่งงานขณะที่กิเลสสิ้นสุดลงไปแล้วเท่านั้น นั้นแลเรียกว่า วุสิตํ พฺรหฺมจริยํ งานที่เราได้อุตส่าห์บึกบึนมาตั้งแต่ต้นมาถึงจุดจบในบัดนี้ เพราะกิเลสตายหมดแล้วไม่มีสิ่งใดเหลือภายในใจ ใจเป็นอิสระเต็มที่ ไม่ต้องหาเรื่องความสุข ไม่ต้องยุ่งเรื่องอดีตเรื่องอนาคตเรื่องภพเรื่องชาติไม่วุ่นไปเลย พอเสียทุกอย่างที่จิต
เวลานี้จิตกำลังหิวโหยดิ้นรนกระวนกระวายกวัดแกว่งอยู่ตลอดเวลา เพราะกิเลสพาให้ดิ้นพาให้หิวยังไม่เห็นโทษของมันเหรอ สิ่งเหล่านี้มีแต่เรื่องของกิเลสทั้งนั้นพาให้เป็น เมื่อได้ชำระกิเลสออกหมดแล้วไม่มีที่จะไปดิ้นรนกระวนกระวาย ที่จะไปคิดถึงเรื่องอดีต จะไปยุ่งอนาคต ยุ่งกับเรื่องเกิดเรื่องตาย เรื่องจะไปเกิดในภพใดชาติใด ได้รับความสุขความสบาย ได้รับความลำบากลำบนที่ไหนบ้าง ไม่คิดให้เสียเวล่ำเวลา เพราะจิตรู้แจ้งเห็นจริงรอบตัวหมดแล้ว ไม่มีอันใดที่จะมาแทรกหรือเพิ่มเติมได้อีกแล้ว เป็นความพออย่างสมบูรณ์ด้วยความบริสุทธิ์ของใจ
นี่คือคุณค่าหรือผลแห่งการประพฤติปฏิบัติมาด้วยความลำบากลำบน มีเวลายุติได้สิ้นสุดได้ งานคือการถอดถอนกิเลสสิ้นสุดได้ เมื่อถึงจุดนั้นแล้วจะทำก็ได้ไม่ทำก็ได้ เพียงเป็นวิหารธรรมในขณะที่จิตยังครองขันธ์อยู่นี้ ก็บำเพ็ญไปพอเป็นวิหารธรรมเครื่องอยู่สบายระหว่างจิตกับขันธ์ ทำไมจึงว่าเครื่องอยู่สบาย คือให้ขันธ์ทรงตัวไปได้ตามอายุขัยของมัน ถ้าหากว่าสมบุกสมบันเรื่องหน้าที่การงานอะไร ๆ มาก ๆ นี้ แพ้ก็จะไปแพ้ที่ขันธ์ จิตที่บริสุทธิ์แล้วเอาอะไรไปแพ้ เอาอะไรไปชนะไม่มี คำว่าแพ้ไม่มีคำว่าชนะไม่มี คำว่ากลัวเป็นกลัวตายก็ไม่มี คำว่าตายว่าเกิดก็ไม่มี เมื่อถึงธรรมชาตินั้นแล้วไม่มีทั้งนั้นในสิ่งที่กล่าวเหล่านี้
พระพุทธเจ้าท่านเดินจงกรม ท่านทรงนั่งสมาธิสมาบัติ นั่นเป็นวิหารธรรมของพระองค์ในระหว่างขันธ์กับจิตที่ยังครองตัวอยู่เพื่อให้ถึงอายุขัยเท่านั้นไม่ให้หนักมากไป พระสาวกก็เหมือนกัน องค์ใดที่มีความถนัดจัดเจนหรือเป็นนิสัยหนักแน่นในทางไหน ท่านก็บำเพ็ญของท่านไปตามธรรมดา เช่น ผู้ชอบเข้าสมาธิสมาบัติอย่างพระมหากัสสปะเป็นต้น ท่านเข้าสมาบัติได้ถึง ๗ วันท่านถึงออก ออกจากนิโรธสมาบัติ ผู้ที่ได้สมาบัติ ๘ เป็นอย่างนั้น
ผู้ที่ไม่ได้ซึ่งเป็นพระอรหันต์ด้วยกันท่านก็ไม่จำเป็นต้องเข้าอย่างนั้น ท่านพักจิตพักใจธรรมดา ๆ ระหว่างขันธ์กับจิตที่ปฏิบัติต่อกันพอถึงวันเท่านั้น นี่ท่านดำเนินมาอย่างนี้ ที่จะไปแก้กิเลสตัวใดอีกในการประกอบความเพียรของพระอรหันต์นั้นไม่มี จะแก้ตัวไหน ตัวไหนมันก็ฉิบหายหมดแล้ว เหลือแต่ความบริสุทธิ์ล้วน ๆ เท่านั้นจะไปแก้ที่ไหน
แล้วคำว่าบริสุทธิ์แล้วนั้น จะมีกาลสถานที่เวล่ำเวลาที่ไหนเป็นกำหนดกฎเกณฑ์ เป็นที่ให้เกิดสัญญาอารมณ์กับท่าน นิพพานท่าไหนจะดี หรือนิพพานท่าไหนจะเสียที หรือตายท่าไหนดีท่าไหนไม่ดีท่านไม่มี ตายท่าไหนก็คือพระอรหันต์ตาย เอ้า เราพูดเรื่องตาย จะตายด้วยอุบัติเหตุอะไรก็ตาม ตายด้วยการเจ็บไข้ได้ป่วยอะไรก็ตาม จะเข้าสมาธิสมาบัติหรือไม่เข้าก็ตาม ไม่มีสิ่งใดสำคัญทั้งนั้น ไม่มีอันใดที่จะลบล้างความบริสุทธิ์นั้นได้เลย ท่านเป็นพระอรหันต์อยู่เต็มตัวทุกกาลสถานที่อิริยาบถ
พระพุทธเจ้าทรงเสด็จเข้าฌานสมาธิสมาบัติ แล้วปรินิพพานไปในท่าสมาธิสมาบัตินั้น นั่นเป็นลวดลายของศาสดาผู้เป็นครูเอกของโลกไม่ทิ้งลวดลาย ตั้งแต่ขณะตรัสรู้แล้วสั่งสอนโลกจะด้วยพระอาการใดที่แสดงออก ไม่เคยลดละแห่งความเป็นศาสดาเลย สัตวโลกจะยึดได้ทุกพระอาการที่ทรงเคลื่อนไหว เพราะเป็นศาสดาโดยสมบูรณ์ทุก ๆ อาการ เพราะฉะนั้นวาระสุดท้ายที่พระองค์จะปรินิพพาน พระองค์ต้องแสดงให้เต็มลวดลายของศาสดาเอกในวาระสุดท้าย
ด้วยเหตุนี้จึงทรงเข้าสมาบัติ เข้าปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ซึ่งเป็นรูปฌาน ๔ แล้วก็ก้าวเข้าสู่อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ แล้วก้าวเข้าสู่สัญญาเวทยิตนิโรธ จนพระสงฆ์ทั้งหลายที่อยู่ในขณะนั้นเกิดความสงสัยถามพระอนุรุทธะ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทางปรจิตวิชชา คือรู้จิตของคนอื่น ไม่มีใครเยี่ยมยิ่งกว่าพระอนุรุทธะ เหล่านั้นก็รู้แต่พระอนุรุทธะนี้เลิศกว่าบรรดาสาวกทั้งหลายในทางรู้จิตของคนอื่น แม้พระจิตของพระพุทธเจ้าซึ่งกำลังดำเนินอยู่ในฌานนั้น ๆ พระอนุรุทธะก็ตามได้หมด
เมื่อเข้าไปถึงสัญญาเวทยิตนิโรธ ดับสัญญาและเวทนาไม่มีอะไรเหลือแล้ว เวทนาในขันธ์ไม่ใช่เวทนาในจิต แล้วพระสงฆ์ทั้งหลายสงสัยที่อยู่นั้นเข้าใจว่าพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว จึงถามพระอนุรุทธะ พระอนุรุทธะท่านไม่ได้นั่งเข้าสมาธิสมาบัติอะไร แต่ท่านรู้อยู่ตลอดเวลา ท่านตามเสด็จพระจิตของพระพุทธเจ้าไปในฌานนั้น ๆ อยู่ตลอดเวลา พอถึงขั้นนั้นแล้ว
เมื่อพระอานนท์ถามว่า นี่พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้วเหรอ บอกว่ายัง เวลานี้กำลังประทับอยู่ที่สัญญาเวทยิตนิโรธ เวลาถอยออกมาก็บอก ว่าเวลานี้ถอยออกมาแล้ว ลงจนกระทั่งถึงปฐมฌาน แล้วลงไปถึงพระจิตที่บริสุทธิ์ธรรมดาก็บอก แล้วเวลานี้ก้าวเข้าสู่ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌานก็บอก จตุตถฌานก็บอก จนกระทั่งออกจากระหว่างฌานทั้งสองคือรูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ แยกในท่ามกลางนั้น ไม่ติดไม่นิพพานในฌานใดทั้งนั้น เอ้อ ทีนี้ปรินิพพานแล้ว นี่ไม่สามารถที่จะนำมาพูดได้อีกแล้ว
ถ้าเป็นเครื่องบินก็เหมือนกับบินบนอากาศว่าง ๆ ไม่มีก้อนเมฆผ่านมาเลย เราไม่อาจสามารถจะทราบได้ว่า เรือบินนั้นเร็วขนาดไหนด้วยสายตาของเราเอง นอกจากมีเครื่องบอกเครื่องวัดเท่านั้น เหมือนไม่ได้ไปไหน ไม่มีสมมุติเป็นเครื่องพาดพิง เมื่อออกจากสมมุติแล้วเป็นวิมุตติล้วน ๆ ไม่มีสิ่งพาดพิงเหมือนพระองค์เสด็จเข้าฌาน เสด็จเข้าปฐมฌาน ทุติยฌาน เรื่อยไปจนกระทั่ง สัญญาเวทยิตนิโรธ นี้เป็นสมมุติทั้งนั้น
พระจิตเป็นวิมุตติ เมื่อเสด็จก้าวไปสู่ฌานใดคือพระจิตที่บริสุทธิ์ พระจิตที่เป็นวิมุตตินั้นก้าวเข้าสู่ฌานใด พระอนุรุทธะบอกได้อย่างชัดเจน นี้ก้าวเข้านั้น ๆ ๆ จนกระทั่งถึงจุดสุดท้ายแห่งสมมุติ สัญญาเวทยิตนิโรธแล้วถอยออกมา นั่นละจิตที่บริสุทธิ์ก้าวไปไหน ผู้ที่รู้วารจิต ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญทางวารจิตสามารถพูดได้ทุกระยะ เวลานี้พระจิตของพระพุทธเจ้ากำลังเข้าฌานนั้น ๆ นั่นละพระจิตนั้น พอออกจากสมมุติแล้วก็เหมือนเรือบินที่อยู่กลางอากาศไม่มีอะไรที่พาดพิง เลยไม่ทราบว่าไปไหนผ่านอะไรผ่านที่ไหนบ้างไม่รู้
เพราะไม่มีสมมุติ เพราะไม่มีสิ่งมาเกี่ยวข้อง ถ้ามีเมฆผ่านก็รู้ นี่จิตไม่มีสมมุติแล้วเป็นอย่างนั้น พิจารณาให้ดี ในขันธ์นี้ก็รู้กันอยู่นั้นธรรมชาตินี้รู้ เวลานี้อาศัยขันธ์เป็นเครื่องมือแสดงออกในจิตที่บริสุทธิ์ดวงนั้น ถ้าปล่อยขันธ์แล้วก็หมด บรรดาที่เป็นสมมุติทั้งมวลไม่ว่าหยาบ ละเอียด ละเอียดแค่ไหน ไม่มีในจิตดวงที่บริสุทธิ์นั้นเลย จึงหาทางที่แสดงแบบสมมุติไม่ได้ มาพูดกันอย่างสมมุติไม่ได้ ว่าอยู่ที่นั่นอยู่ที่นี่ ที่ก็เป็นสมมุติ ที่นั่นก็เป็นสมมุติที่นี่ก็เป็นสมมุติ
คำที่ว่าบริสุทธิ์ ๆ นี้มาจากไหน ถ้าไม่มาจากจิตดวงที่กิเลสกำลังหุ้มห่ออยู่เวลานี้ กิเลสอยู่ที่ไหน อยู่ที่จิตนี้ แล้วมรรคผลนิพพานหรือความบริสุทธิ์อยู่ที่ไหนถ้าไม่อยู่ที่นี่ เพราะฉะนั้นจึงต้องแก้กันลงที่นี่ อย่าไปมองอื่นให้เสียเวล่ำเวลาคาดคะเนเดาไปด้นไปใช้ไม่ได้เลย เอาความจริงลงตรงนี้กัน ให้เป็นที่เข้าใจ
ทำไมจึงได้ยินตั้งแต่ข่าวท่านหลุดพ้นจากทุกข์ในวัฏสงสาร สำเร็จมรรคผลนิพพานอยู่ที่นั่นที่นี่ พระสาวกองค์นั้นสำเร็จที่นั่นที่นี่ เราทำไมจึงสำเร็จไม่ได้เป็นเพราะเหตุใด เราก็คนคนหนึ่ง ธรรมวินัยซึ่งเป็นเครื่องปราบปรามกิเลสก็เป็นเครื่องมืออันเดียวกัน กิเลสก็เป็นประเภทเดียวกันทำไมเราถึงแก้ไม่ได้ ถ้าไม่ขึ้นอยู่กับความสามารถของเรานี้เท่านั้น ส่วนกับธรรมไม่มีปัญหา เป็นสวากขาตธรรมตรัสไว้ชอบแล้ว ชอบยิ่งมาแต่กาลไหน ๆ ปราบกิเลสอยู่ได้ ไม่ว่ากิเลสประเภทใดเรียบหมดเพราะอำนาจแห่งธรรมนี้
ผู้ที่จะยกธรรมนี้มาเป็นเครื่องมือกำจัดกิเลส จะยกมาด้วยวิธีใด หรือจะยกมาด้วยความอ่อนแอ ด้วยความเห็นแก่ความเกียจคร้านรำคาญ ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ไปไม่ได้ เครื่องมือจะท่วมหัวอยู่ก็ปล่อยให้ข้าศึกเหยียบย่ำทำลายได้ เพราะไม่ยกเครื่องมือขึ้นมาต่อสู้ สวากขาตธรรมจะเรียนได้จนคล่องปากเหมือนนกขุนทองก็ตามไม่เกิดประโยชน์อะไร กิเลสไม่กลัวถ้าไม่ใช้การประพฤติปฏิบัติ มีสติปัญญาศรัทธาความเพียรเป็นสำคัญ เป็นเครื่องปราบปรามกิเลส อันนี้เป็นหลักใหญ่ ไม่ว่าครั้งพุทธกาลไม่ว่าครั้งนี้ไม่ว่าครั้งไหน ๆ กิเลสจะกลัวแต่ธรรมเท่านั้น เอาให้จริงจังอย่าลดละปล่อยวาง
พูดไป ๆ รู้สึกเหนื่อย ๆ เอาละพอ