เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๒๑
ความจริงท้าทายตลอดเวลา
จิตใจเวลาแตกปลอกแหวกแนวออกไปมันก็เป็นอย่างนั้นเหมือนกัน ทีนี้ครูบาอาจารย์สอนไม่ได้ ใครๆ มาแตะไม่ได้ เห็นอยู่ทั่วไปเวลานี้ เกลื่อนไปหมดเป็นแบบนั้น ทีแรกตั้งใจประพฤติปฏิบัติแบบล้มลุกคลุกคลาน ต่อไปก็เลยล้มไปเรื่อย ๆ หากมันล้มไปเรื่อยๆ ถ้ามันลุกไม่ขึ้นแล้วก็ไม่สนใจจะลุก คำว่าไม่สนใจจะลุกคือไม่สนใจจะแก้ไขเจ้าของ เวลาใครตักเตือนนี้ก็เป็นผีขึ้นมาเลย ดูทั่วไปมีอยู่ทั่วไปอย่างนี้ละ ถ้ามันชินชาแล้วมันก็ด้าน ขณะที่มารับการอบรมกับครูบาอาจารย์ยังตั้งสติสตังไม่ได้ แล้วจะไปเอาสาระสำคัญมาจากไหนในเวลาที่เราไปอยู่คนเดียว
ต้องคิดซิผู้ปฏิบัติเพื่อมีหลักเกณฑ์ในตัวเองทางด้านธรรมะ เราต้องคิดเรื่องเหล่านี้ ผมไม่คิดเรื่องเหล่านี้ผมก็ไม่อบรมสั่งสอนหมู่เพื่อน รับหมู่เพื่อนมากี่มากน้อยผมพร้อมแล้วด้วยเหตุผล เพราะฉะนั้นจึงต้องแนะนำสั่งสอนเต็มสติกำลังความสามารถทุกแง่ทุกมุม ที่ผมพอจะเป็นไปได้ตามกำลังความสามารถสติปัญญาของตน เคลื่อนคลาดอยู่ตรงไหนต้องบอก เคลื่อนคลาดตรงไหนต้องบอก เพราะเป็นเวลาที่มารับการอบรม และเป็นเวลาที่เราสอน เราคิดอย่างนี้พร้อมๆ หากออกไปแล้วไม่มีใครมาแนะนำตักเตือนสั่งสอนก็ยิ่งเหลวไป เหลวไปเรื่อยๆ เมื่อได้สติปัญญาได้กำลังวังชาจนเป็นจริตนิสัยติดไปในทางที่ดีแล้ว ออกไปมันก็ดี
เรื่องของกิเลสอย่าเข้าใจว่าเป็นสิ่งที่จะแก้ได้ง่ายๆ เป็นที่เหนียวแน่นมาก มันติดอยู่กับเราอันเดียวนั่นไม่ติดอยู่กับอะไร เรานี่ไม่อยากจะแตะ เพราะมันว่าเราเสียอย่างเดียว กิเลสเข้าไปอยู่ในนั้นหมด เพราะคำว่าเรานั้นเป็นเกราะได้เป็นอย่างดี ปลอดภัยสำหรับกิเลส ไม่มีอะไรเข้าไปแตะต้องได้ง่ายๆ อะไรๆ ก็เรา นั่นละเป็นคลังของกิเลส อยู่ที่เรานั่น ทีนี้ธรรมก็แทรกไม่ได้ เพราะคำว่าเรามันเป็นกิเลสทั้งหมดแล้วแก้ได้ยังไง ถ้าหากว่าเรามาอบรม เราตั้งใจมาศึกษา ถ้าเราแบบนี้ก็ดี แต่มันขึ้นได้ชั่วขณะเราอย่างนั้นน่ะ เราอยู่ในหลักธรรมชาติของกิเลสที่มันฝังจมอยู่ภายในจิตนั้นมันตลอดไป
การปฏิบัติตัวเองต้องตั้งเสมอจิต อย่าสนใจกับอะไรยิ่งกว่าเรื่องธรรมะภายในตัวเอง เสียงนี่ขึ้นอีกแล้ว อย่างนี้ละจะว่าไง เห็นไหมล่ะ มันมีแต่ความเพลิดความเพลิน หาสาระสำคัญหาเหตุหาผลไม่ได้เลย ทั้งวันทั้งคืนไม่มีความอิ่มพอ นี่ดูเอาซิ เพราะจิตโลกไม่มีที่ยึด อาศัยสิ่งเหล่านี้เป็นที่ยึดแล้วก็เป็นไฟอยู่ในตัวของมันเอง ทำลายคนไปมากน้อยเท่าไรเพราะสิ่งเหล่านี้ ดูเอาซิ คนทุกวันนี้ดูเอา มันเกิดขึ้นมาเป็นขึ้นมาอย่างไม่คาดไม่ฝัน สมัยปัจจุบันนี้กับแต่ก่อนผิดกันอย่างไรบ้างเราดูก็พอรู้ แล้วจะมีบุญบาปที่ไหน ต่อไปก็เป็นแบบสัตว์ไปหมด ความรู้สูงขนาดไหนความประพฤติความเข้าใจทุกด้านมันก็ไปแบบสัตว์เสีย มันหมดยางอาย ยิ่งลัทธิที่ไม่มีศาสนาด้วยแล้วก็ยิ่งเรียกว่าเป็นลัทธิสัตว์โดยตรง ลัทธิที่มีศาสนามีรสของธรรมอยู่ในตัว รู้จักบาปจักบุญ รู้จักสูงจักต่ำ รู้จักสิ่งที่ควรไม่ควร
วันนี้ผมเองก็ไม่ค่อยได้พัก แขกมาอยู่เรื่อย ๆ เห็นว่าจะพอมาอบรมได้ก็เลยมา ไม่ว่าผู้ฝึกหัดใหม่ผู้ฝึกหัดเก่า ต้องมีความเข้มแข็งด้วยกันทั้งนั้น การบังคับจิตด้วยสติต้องถือเป็นงานสำคัญ คือมีสิ่งผลักดันอยู่ภายในจิต ให้ต้องคิดออกเกี่ยวกับเรื่องนั้นเรื่องนี้ ซึ่งเป็นเรื่องอันเดียวกันกับอยู่ภายในนี้ คือเรื่องกิเลสทั้งนั้น กิเลสเป็นผู้ผลักดันจิตออกมาให้ไปเที่ยวขวนขวายสิ่งภายนอกเข้ามาเพิ่มเติมเข้าไป ซึ่งเป็นประเภทเดียวกันกิเลสเดียวกัน เป็นอยู่เสมอ
เราพอจะทราบได้แม้แต่การปฏิบัติขั้นหยาบๆ เริ่มแรก เราลองตั้งจิต เอ้า จะเป็นคำบริกรรมก็ตาม ถ้าผู้มีฐานสมาธิพอจะตั้งจิตอยู่กับจุดแห่งความรู้ได้ก็ลองตั้งดู เราจะเห็นความรู้อันนั้นถูกหนุนขึ้นมา ผลักดันออกมาเป็นลักษณะให้ทราบๆ โดยลำดับๆ อยู่ในนั้น สักเดี๋ยวก็แย็บออกมาเป็นสังขาร เป็นสัญญา เมื่อเป็นสังขารก็เป็นสัญญาไปพร้อมกัน ก็กลายเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมา ทีนี้ความรู้ก็ต่อกับเรื่องนั้นไปเรื่อยๆ ทีนี้เราก็เผลอตัว เรื่องนั้นเหมือนกับว่ามันอยู่ที่อื่น ความจริงมันออกจากตัวเองไปเป็นเรื่องหลอกตัวเอง
นี่ทราบชัดเจนเพราะได้ปฏิบัติกับสิ่งเหล่านี้มาแล้ว จนกระทั่งได้แก้เต็มความสามารถของตน และได้ทราบชัดว่าความผลักดันออกไปนี้เป็นเพราะอำนาจของกิเลสเป็นผู้ผลักดันออกมาให้ปรุง เมื่อความปรุงปั๊บขึ้นมา สัญญาก็หมายไปพร้อมกัน แล้วก็เป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมา เพลินในเรื่องราวก็ตื่นเงา คือเงาของจิต กว่าจะระลึกได้ก็ไปนานแล้ว แล้วผลของมันที่เกิดขึ้นในขณะที่จิตเพลินไปนั้นมีอะไรบ้าง สิ่งที่ควรจะดีใจก็แสดงขึ้นมาแล้ว สิ่งที่ควรจะเสียใจก็แสดงขึ้นมาแล้ว แสดงเป็นผลขึ้นมาภายในจิต ถ้าเสียใจก็เป็นเรื่องของความทุกข์ประเภทหนึ่ง ดีใจแม้จะเป็นสุขก็สุขเพื่อทุกข์ประเภทหนึ่ง เพราะไม่ใช่ดีใจเรื่องธรรมะ มันดีใจแบบเรื่องของกิเลส ถึงสุขก็ต้องสุขไปเพื่อทุกข์
หากจิตมีแต่ความรู้ล้วนๆ ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องเลยนี้ ถึงจะแสดงขึ้นตามเรื่องของขันธ์ก็ทราบ มันปรุงได้เหมือนกันกับธรรมดานี่แหละความคิดความปรุงของจิต แต่มีอะไรผลักดันหรือคิดขึ้นมาโดยหลักธรรมชาติธรรมดาของตนเอง มันต่างกันที่ตรงนี้ เพราะฉะนั้นความคิดความปรุงหรือขันธ์พระขีณาสพจึงเป็นขันธ์ล้วนๆ ขันธ์ของเราซึ่งมีกิเลสต้องเจือปนมากับกิเลสทุกระยะที่แสดงออกมา ผิดกันอย่างนี้ แล้วแต่กิเลสมีความหยาบความละเอียดแค่ไหน การแสดงออกมาตามขันธ์จะต้องแสดงออกมาตามความหยาบความละเอียดของตน ถ้าไม่มีอะไรเลย มีแต่จิตบริสุทธิ์ล้วนๆ ขันธ์ก็เป็นของบริสุทธิ์ตามหลักธรรมชาติของตน แสดงออกมาก็เป็นแต่เพียงกิริยาของขันธ์ที่ยังครองตัวอยู่ ลิกแล็ก ๆ เหมือนหางจิ้งเหลนขาด มีความหมายอะไรหางจิ้งเหลนขาด มันไม่มีความหมายอะไร มันดุ๊กดิ๊ก ๆ ของมันอยู่งั้น
นี่ขันธ์ ตามธรรมชาติของขันธ์ที่ไม่มีอะไรเข้าไปบังคับบัญชาไปเป็นเจ้าของก็เป็นอย่างนั้น ปรุงเท่าไรมันก็ดับของมันไปเรื่อยๆ ไม่ก่อทุกข์ก่อความลำบากอะไรให้เรา เพราะไม่มีกิเลสตัวก่อทุกข์ มีแต่ขันธ์เฉยๆ คือขันธ์ล้วนๆ เป็นอย่างนี้ ยังไงมันก็ปรุงตามธรรมชาติของมัน จะระงับตัวเป็นบางขณะเป็นบางเวลา ระงับขันธ์จิตก็พัก พอจากนั้นมาขันธ์ก็ทำงาน เป็นแต่เพียงว่าไม่ทำงานไปเที่ยวกว้านกิเลสเหมือนอย่างแต่ก่อนเท่านั้น
เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าก็ดี พระขีณาสพก็ดี ท่านจึงทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ตลอดวันนิพพาน การบำเพ็ญเพียรของท่านไม่ได้มุ่งเพื่อจะแก้กิเลสตัณหาอาสวะตัวใด แต่เป็นการบำเพ็ญเพื่อระหว่างขันธ์กับจิตที่อยู่ด้วยกันนี้ มีความสะดวกสบายจนกระทั่งถึงอายุขัยเท่านั้น ถึงเวลาจะพักก็พักผ่อน ระหว่างขันธ์กับจิตพักไม่ใช้งาน ขันธ์เป็นเครื่องมือของธรรมของจิตที่บริสุทธิ์นั้น แล้วปล่อยพักสงบ
เช่นท่านเข้านิโรธสมาบัติเป็นต้น หรือเข้าสมาธิความสงบธรรมดา ตามอุปนิสัยของแต่ละท่านละองค์ที่ไม่เหมือนกัน องค์ที่มีความชำนิชำนาญในทางด้านฌานสมาบัติอย่างนี้ ท่านก็เข้าไปทางฌานสมาบัติ เช่นพระมหากัสสปะเป็นต้น ท่านมีความชำนาญทางนิโรธสมาบัติท่านก็เข้านิโรธสมาบัติ ผู้ที่จริตนิสัยไม่เกี่ยวข้องนั้นท่านก็พักความสงบของจิตโดยหลักสมาธิธรรมดา ทั้งสองอย่างนี้ก็เป็นเรื่องระงับหรือเป็นวิหารธรรมเพื่อความอยู่สบายในระหว่างขันธ์กับจิตให้ใช้กันพอเหมาะพอสม
นี่เป็นหลักธรรมชาติของพระขีณาสพทั้งหลาย ซึ่งท่านต้องประกอบหรือบำเพ็ญอยู่ตลอดไปจนกระทั่งถึงวันนิพพาน หากเป็นอัธยาศัยของท่านเองไม่มีใครมาบังคับ ไม่มีกิเลสตัวใดมาบังคับให้ท่านต้องทำอย่างนั้น แต่เรื่องระหว่างขันธ์กับจิตมันหากบอกอยู่ในตัวว่า นี่ควรจะพักผ่อน หรือความคิดความปรุง เวลามีการมีงานอะไรต้องคิดปรุงเรื่องราวอะไร ๆ นี้มันก็เป็นงานของจิต เมื่อคิดไปมาก ๆ มันก็จะให้เกิดความเหนื่อยความอ่อนเพลียภายในขันธ์ แล้วก็ระงับเสียด้วยความพักไม่ใช้ขันธ์ ปล่อยวางขันธ์ซึ่งเป็นเครื่องมือนั้นไว้เสีย จิตก็ระงับตัวเป็นธรรมดาไม่ออกไปเกี่ยวข้องยุ่งเหยิง พอออกมาจากนั้นก็คิดปรุงหน้าที่การงานเกี่ยวกับเรื่องขันธ์ได้อีก อย่างนี้เรื่อย ๆ ไป
ที่กล่าวมาทั้งนี้นั้นเป็นเรื่องสดๆ ร้อนๆ เราอย่าเข้าใจว่าผ่านไปเสียตั้งกี่ร้อยกี่พันปีแล้ว แล้วก็สุดเอื้อมหมดหวัง ทำให้จิตใจท้อถอยหมดความหวังที่จะประพฤติปฏิบัติตนให้เป็นอย่างนั้นได้ เพราะท่านได้ไปแล้วรู้ไปแล้วตั้งแต่สมัยโน้น สมัยนี้เป็นสมัยโมฆะจะทำยังไงก็ไม่ได้ เหมือนกับว่าสุดเอื้อมหมดหวัง นี่เป็นความคิดอันหนึ่งที่จะทำลายความเพียรของตนเอง ซึ่งเป็นความผิดไม่ใช่เป็นความถูกต้อง ความถูกต้องก็ท่านพูดอย่างนั้นก็คือพูดถึงท่านผู้ชำระกิเลสภายในจิตใจ กิเลสซึ่งมีอยู่ภายในจิตใจได้สิ้นสูญลงไปหมดเพราะอำนาจแห่งความเพียร ท่านจึงเป็นผู้บริสุทธิ์
เวลานี้เรากิเลสยังไม่สิ้นไม่สูญ กิเลสยังมีอยู่หัวใจ เรากำลังแก้ไขเรากำลังถอดถอนกิเลสด้วยเครื่องมือมีศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา เป็นสำคัญ เมื่อเป็นเช่นนั้นก็ไม่มีอะไรผิดแปลกกัน เหมือนกับเรารับประทานอยู่ด้วยกันนี่ องค์อิ่มก่อนก็มี องค์อิ่มลำดับลำดาก็มี องค์อิ่มทีหลังก็มี ก็เมื่อรับประทานอยู่แล้วจะไม่อิ่มได้เหรอ สิ่งที่รับประทานก็มี อาหารเครื่องรับประทานก็มี การรับประทานก็รับประทานอยู่ มันจะทนความอิ่มหนำสำราญไปได้เหรอ ใครจะอิ่มเมื่อไรก็อิ่มซิก็เป็นท้องของท่านท้องของเรา เป็นการฉันหรือการรับประทานของท่านของเรา มีความเป็นตัวของตัวอยู่ด้วยกันทั้งนั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องของท่านโดยถ่ายเดียวผู้อิ่ม แล้วเราหมดหวัง ท่านอิ่มก่อนแล้วเราหมดหวัง อย่างนี้เป็นไปได้เหรอ
ทั้งๆ ที่เรารับประทานอยู่เหตุใดจึงว่าหมดหวัง รสชาติแห่งอาหารก็รู้อยู่ เผ็ดเค็มก็รู้อยู่ จนกระทั่งอิ่มไปโดยลำดับลำดาเราก็รู้เพราะการรับประทานอยู่ แล้วเหตุใดจึงจะไม่อิ่มด้วยกัน ถึงจะหลังจะก่อนหน้าอะไรไม่สำคัญ สำคัญที่การฉัน ที่ท่านสำเร็จลุล่วงไปแล้วก็เหมือนกับท่านรับประทานอิ่มก่อนเรา การรับประทานก็รับประทานอาหารประเภทเดียวกัน การปฏิบัติก็ปฏิบัติประเภทเดียวกัน คือ มัชฌิมาปฏิปทา ตามหลักธรรมเป็นเครื่องแก้กิเลสเหมือนกัน เราจะสุดเอื้อมหมดหวังที่ไหน เราต้องคิดอย่างนี้ตามหลักความจริง นี่คือหลักความถูกต้อง
ถ้าคิดแบบสุดเอื้อมหมดหวัง นั้นแหละคือเรื่องของกิเลสกล่อมหัวใจให้หลับสนิท ท่านจะสำเร็จเมื่อไรท่านก็สำเร็จไปจากหัวใจนี้ เพราะท่านแก้ที่ตรงนี้ เรากำลังแก้ เรากำลังพิจารณาอยู่ตรงนี้เวลานี้ กิเลสอยู่ที่หัวใจด้วยกันแล้วอยู่ห่างไกลกันที่ไหน เมื่อแก้กิเลสออกไปโดยลำดับ ๆ เราก็เห็นรสชาติแห่งธรรมมีความเยือกเย็นเป็นสุข พูดถึงเรื่องความสะดวกสบายก็รู้ ความเบาจิตเบาใจเพราะการถอดถอนกิเลสประเภทต่างๆ ออกไปโดยลำดับก็รู้ จนกระทั่งถึงความสิ้นสุดแห่งกิเลสเพราะอำนาจแห่งความเพียร ซึ่งจะเกิดในสถานที่ทำงานนี้ ทำไมเราจะหมดหวังเราจะสุดเอื้อม ถ้าไม่คิดไปแบบลมๆ แล้งๆ เป็นความคิดเพชฌฆาตสังหารตนเองโดยไม่รู้สึกตัวเท่านั้น ถ้าอย่างนั้นก็ช่วยไม่ได้ เพราะไม่เชื่อธรรมแต่เชื่อกิเลส
ความคิดประเภทนี้เป็นความคิดของกิเลสไม่ใช่ความคิดของธรรม ความคิดของกิเลสต้องเป็นข้าศึกต่อธรรมเสมอ ถ้าเราจะคิดเพื่อธรรมแล้วเราต้องแก้ความคิดประเภทนี้ออกจากใจของเรา นั่นชื่อว่าเชื่อธรรม พุทฺธํ ธมฺมํ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ ถูกต้อง
เอาซิเอาให้เห็นจริงเห็นจังซิ สัจธรรมมีเต็มตัวอยู่ด้วยกันทุกคน ตรงนี้ละตรงที่จะมาวัดมาเทียบมาเคียงกันเป็นข้อตัดสินกัน ตัดสินกันที่สัจธรรม ไม่ได้ไปตัดสินกันเรื่องก่อนเรื่องหน้าเรื่องสถานที่โน่นสถานที่นี่ ครั้งโน้นครั้งนี้ที่ไหน ตัดสินกันในวงสัจธรรม เพราะความเพียรก็จะหมุนลงที่นี่ ลงที่สัจธรรม ทุกฺขํ อริยสจฺจํ ประกาศกังวานอยู่ทั่วสรรพางค์ร่างกายและจิตใจ สมุทัย อริยสจฺจํ มันแสดงอยู่ภายในจิตตลอดเวลา มรรคก็ได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา ผู้ที่จะตามรู้สิ่งเหล่านี้ ก็มีอยู่กับเรา เรากำลังดำเนินเรากำลังทำงานอยู่ในวงแห่งสัจธรรม ทำไมมรรคผลนิพพานเราจึงจะแหวกแนวหนีไปทางอื่นเสีย โดยที่ทำเต็มสติกำลังความสามารถและถูกต้องตามหลักปฏิปทาที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้แล้ว แต่ไม่มีผลเป็นไปได้เหรอ
เป็นนักปฏิบัติต้องวิพากษ์วิจารณ์ต้องแยกแยะแก้ไขตัวเอง ด้วยอุบายวิธีต่างๆ ยอกย้อนซอกแซกซิกแซ็ก ด้วยอุบายสติปัญญาจึงเรียกว่าเป็นผู้ฉลาด ถ้าไม่คิดอย่างนี้ตายนะไปไม่รอดนะ สติปัญญาผลิตขึ้นมาได้ พระพุทธเจ้าก็ดี สาวกทั้งหลายก็ดี ท่านไม่ไปเที่ยวแบกคัมภีร์แหละ ท่านไปไหนท่านไม่มีคัมภีร์แบก คัมภีร์อยู่ในนี้แล้ว นี้เป็นหลักธรรมชาติ ธรรมอยู่ที่นี่ กิเลสบาปธรรมอยู่ที่กายที่ใจของเรานี้ นี้ละคัมภีร์ใหญ่อยู่ตรงนี้ ค้นลงตรงนี้ อุบายวิธีอันใดที่จะเป็นเครื่องแก้กิเลส นั้นแลคือธรรม อันใดที่เป็นขึ้นมาเพื่อความผูกมัดหรือเสียดแทงจิตใจ นั้นคือกิเลส จะไม่ให้ชื่อก็ตาม ไม่ตั้งชื่อตั้งนามก็ตาม ไม่จดจารึกในคัมภีร์ใบลานก็ตาม นั้นก็คือตัวกิเลสมันต้องเป็นภัยอยู่ตลอดไป ทั้ง ๆ ที่จดจารึกชื่อหรือไม่ชื่อไม่สำคัญ
การแก้กิเลสเราจะต้องไปหาเอาคัมภีร์ใบลานที่ไหนมาเป็นสักขีพยาน จะทันกับกิเลสเหรอ อุบายวิธีใดที่จะเป็นไปเพื่อถอดถอนหรือเพื่อลบล้างสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ก็เหมือนอย่างน้ำนั่นเอง น้ำที่สะอาดชะล้างตรงไหนก็สะอาดตรงนั้น สมาธิ ปัญญา เป็นสิ่งที่ชะล้างกิเลสอาสวะประเภทต่างๆ ซึ่งเป็นสัจธรรมแต่ละข้อๆ แต่ละอย่างๆ อยู่ในวงนี้ ทำไมจะไม่ได้ผล
นิโรธเป็นผลของมรรคต่างหาก ท่านจึงว่าพึงทำให้แจ้ง จะทำให้แจ้งด้วยวิธีใดถ้าไม่ทำให้แจ้งด้วยศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ไม่มีทางที่จะทำนิโรธให้แจ้งได้ ทุกข์พึงกำหนดรู้ ท่านแสดงเพียงกิริยาเท่านั้นเอง เพื่อจะได้ตั้งสติลงไปที่จุดมันเป็นทุกข์ พอรู้แล้วจะไปแก้ไขยังไง มันเป็นทุกข์ก็รู้แล้ว สาเหตุที่มันจะเป็นทุกข์นี้ นั่นเป็นสำคัญ มันเกิดทุกข์ขึ้นมานี้ เฉพาะอย่างยิ่งทุกข์ทางใจเกิดขึ้นมาได้ยังไง ค้นคว้าดูเหตุดูผลด้วยสติปัญญาของตน ทุกข์ทางกายเกิดขึ้นมันก็เป็นสาเหตุที่จะให้เกิดสมุทัยทางใจได้เหมือนกัน เพราะเราถือกายนี้ว่าเป็นเรา เมื่อเจ็บปวดที่ตรงไหนขึ้นมากน้อย ก็ให้เกิดความสงวนความรักไม่อยากให้เป็น ยมฺปิจฺฉํ น ลภติ ตมฺปิ ทุกฺขํ เมื่อปรารถนาไม่สมหวังก็แสดงทุกข์ขึ้นมา นี่คือเรื่องของกิเลส ความปรารถนา ความอยากให้มันหายเฉย ๆ เป็นเรื่องของกิเลส
หายไม่หายก็ไม่ต้องว่า ถ้าหากว่ามันสำเร็จด้วยการอยากให้หายมันหายไปแล้ว ก็ไม่จำเป็นจะต้องมีธรรมเป็นเครื่องดำเนิน สมุทัยพึงละ แน่ะท่านบอกไว้ สมุทัยพึงละ ทำไมจะละสมุทัยได้ เอาอะไรมาละถ้าไม่มีสติ ปัญญา ศรัทธา ความเพียร จะละสมุทัยคือกิเลสแม้น้อยหนึ่งไปไม่ได้เลย มันเกี่ยวโยงกันอย่างนี้สัจธรรม เราจะไปทุกข์พึงกำหนดรู้ แล้วสมุทัยพึงละ แล้วนิโรธพึงทำให้แจ้ง แล้วมรรคพึงอบรมให้มากอย่างนี้ ให้มันสืบต่อกันอย่างนั้น ตาย ถึงวันตายก็ไม่ได้เรื่อง แก้กิเลสตัวเดียวก็ไม่ได้
เรื่องเหล่านี้มันเกี่ยวโยงกัน พอจรดลงไปหรือจ่อลงไปปั๊บนี้มันกระเทือนถึงอริยสัจทั้งสี่หมดด้วยกันเลย พอทุกข์ปรากฏขึ้นมา ตั้งสติปั๊บ ทุกข์ปรากฏขึ้นมาเพราะเหตุไร อะไรเป็นสาเหตุให้ทุกข์เกิด นี่คือเรื่องของปัญญาแล้วนี่ ปัญญานี้จะค้นไปไหนไม่ค้นไปสาเหตุ สาเหตุที่จะให้เกิดทุกข์ไม่ใช่สมุทัยคือกิเลสจะเป็นอะไร นี่มันไปแล้วนี่ วิ่งไปตามอันนี้ พอเข้าใจเรื่องนี้เป็นลำดับ เรื่องนิโรธความดับทุกข์มันก็ดับไปโดยลำดับๆ มันเกี่ยวโยงกันอย่างนี้ หลักธรรมชาติหลักการปฏิบัติแท้เป็นอย่างนี้ไม่เป็นอย่างอื่น ท่านก็เรียงไว้อย่างนั้น
เหมือนอย่างว่าข้างหน้าข้างหลังของคนคนเดียว ข้างซ้ายข้างขวาข้างบนข้างล่าง ท่านก็ว่าไปอย่างนั้น มันก็อยู่กับคนคนเดียวนี้ มันเกี่ยวโยงกันไปหมด หนังมันหุ้มห่อไปหมดไม่ใช่เหรอ ทั้งข้างหน้าข้างหลังข้างซ้ายข้างขวาข้างบนข้างล่าง อยู่ในวงสัจธรรมอันเดียวกัน อาการมันเป็นยังไงท่านก็ว่าไปตามอาการ แต่ไม่ถืออาการนั้นเป็นสำคัญยิ่งกว่าความจริง ให้พิจารณาลงตรงนี้
ให้มันแน่วๆ จิตให้มันจริงจังอย่าอ่อนแอนะ มีจริงมีจังกับทุกสิ่งทุกอย่างด้วยเหตุด้วยผล อย่าสักแต่ว่าทำ เดินจงกรมก็เดินไปหากไม่มีสติสตัง สติไม่มีเมื่อไรขาดความเพียรเมื่อนั้น ไม่เรียกว่าความเพียร ให้จำไว้ตรงนี้ เราหวังเอาอะไรเวลานี้ เราหวังเอาอรรถเอาธรรมจากความเพียรของเรา เพศเรานี้เป็นเพศที่หวังอรรถหวังธรรมอย่างยิ่งแล้ว หวังความพ้นทุกข์ แล้วทำไมถึงจะพ้นทุกข์ ทุกข์อยู่ที่ไหนถ้าไม่อยู่ที่หัวใจ เราจะแก้ไขด้วยวิธีใดใจของเราถึงจะพ้นจากทุกข์ไปโดยลำดับ ก็ไม่พ้นจากสติ ไม่พ้นจากปัญญา มีความเพียรเป็นเครื่องหนุน ไม่พ้นจากนี้ไปได้ เอาให้จริงให้จังซิ
เราอย่าคาดอย่าหมายไปที่ไหนที่อื่นการปฏิบัติธรรม สวรรค์อยู่โน้น นิพพานอยู่โน้น กิเลสอยู่โน้น ท่านแก้กิเลสท่านแก้อยู่โน้น ๆ แล้วไปวาดภาพแต่เรื่องของท่าน ตัวเองที่แบกทุกข์อยู่นี้ แบกกิเลสอยู่นี้ไม่เข้ามามอง มันจะเห็นกิเลสเห็นที่แก้ได้ยังไง มันอยู่กับตัวเรานี่ไม่อยู่ที่อื่น ดูตรงนี้ เอหิปสฺสิโก เอหิ ท่านจงย้อนจิตเข้ามา ตามหลักบาลีท่านว่า หิ บอก ตฺวํ ท่านว่าอย่างนั้น ติ อันติ สิ ถะ มิมะ ตามหลักบาลี ติ ก็บอกคนหรือสัตว์ อันติ ก็เกี่ยวกับเรื่องสัตว์ทั้งหลาย เป็นกริยาพหูพจน์ เอกพจน์ ติ เป็นเอกพจน์ อันติ เป็นพหูพจน์ คือหลายคนหลายสัตว์หลายตัว สิ ท่าน ถะ ท่านทั้งหลาย มิมะ เรา เราทั้งหลาย หิ ท่าน
เอหิภิกฺขุ อุปสมฺปทา ท่านจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมเรากล่าวดีแล้ว พระพุทธเจ้าท่านทรงบวชภิกขุในสมัยเริ่มแรก เอหิภิกฺขุ อุปสมฺปทา ท่านจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมวินัยเรากล่าวดีแล้ว จงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อความสิ้นสุดแห่งทุกข์เถิด ถ้าองค์ที่ยังไม่สิ้นสุดแห่งทุกข์ ท่านจะแสดงถึงว่า ท่านจงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อความสิ้นสุดแห่งทุกข์เถิด ถ้าผู้ที่สิ้นทุกข์ไปแล้วท่านไม่กล่าวอันนั้นตรงนั้น ท่านจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมวินัยเรากล่าวดีแล้ว เท่านั้นพอ
ทีนี้เมื่อย่นเข้ามาถึงตัวของเราที่จะแก้ตัวด้วยหลักธรรมอันนี้ เอหิ แปลว่าอะไร ท่านจงย้อนจิตมา หิ บอก ตฺวํ ก็ว่าท่านหรือเธอ จงย้อนจิตเข้ามา มา ๆ เอหิ เอหิ จงมาก็คือน้อมจิตเข้ามาอย่าส่งจิตออกไปข้างนอก นี้ตามหลักปฏิบัติ เราได้ผลอย่างนี้เราจึงพูดอย่างเต็มปากไม่สะทกสะท้านว่ากลัวผิด ที่ท่านว่าสามารถที่จะเรียกร้องคนอื่นให้มาดูธรรมของจริงได้ โอ๊ย มันห่างไกลเหลือเกิน อย่างนี้ละการจดจารึกคัมภีร์ใบลาน เพราะมันขึ้นอยู่กับผู้จดจารึก ว่าผู้จดจารึกนั้นมีความรู้หนักเบาแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับการจดจารึก เพราะเราไม่ได้แน่ใจว่าเป็นพระขีณาสพจะจดจารึกทุกคัมภีร์ไปนี่ ปุถุชนคนหนากิเลสหนาปัญญาหยาบยังมี จึงเรียกว่าพระคันถรจนาหรือเกจิอาจารย์ ไม่ใช่พระอรหัตอรหันต์
การจดจารึกคัมภีร์ใบลานจึงขึ้นอยู่กับผู้จดจารึกโดยแยกไม่ออกแหละ ไม่มีมากก็ต้องน้อยมีอยู่จนได้ เอหิ เลยแปลไปตามศัพท์ซึ่งเอากิริยาข้างนอกเข้ามาพูดเสียว่า สามารถที่จะเรียกร้องคนอื่นมาดูธรรมของจริงได้ เรียกร้องมาอะไรไม่ใช่บ้า เรียกร้องมาอะไรให้เขาดูอะไร เอาอะไรให้เขาดู แต่ตัวเองยังไม่รู้เอาให้เขาดูได้ยังไง นี้หลักแก้ตนเองว่าท่านจงย้อนจิตเข้ามา อย่าส่งจิตให้เลินเล่อเผลอตัวไปข้างนอก ดูรูป ดูเสียง ดูกลิ่น รส เครื่องสัมผัสต่าง ๆ ซึ่งเป็นสิ่งยั่วยวน
หิ บอก ตฺวํ เธอจงย้อนจิตเข้ามาหรือท่านจงย้อนจิตเข้ามาดูธรรมของจริง ของจริงอยู่นี้ คืออริยสัจ ให้ย้อนเข้ามา มันแสดงอยู่ตลอดเวลาภายในจิตนี้ ทั้งทุกข์ทั้งสมุทัย จงย้อนจิตเข้ามาให้เป็นมรรค มีสติ มีปัญญา ค้นคว้าลงไปตามจุดแห่งทุกข์และสมุทัยที่มีอยู่นี้ด้วยสติปัญญาของตน แล้วจะได้เห็นชัดความจริงทั้งหลายที่มีอยู่ภายในนี้อย่างชัดเจน เอหิภิกฺขุ ท่านจงมามาอย่างนี้ต่างหากในภาคปฏิบัติ
สนฺทิฏฺฐิโก ปิดไม่อยู่ต้องรู้ ไม่รู้ได้ยังไงพระพุทธเจ้าไม่ทรงผูกขาด จะรู้เองเห็นเอง เราปฏิบัติเอง เหมือนกับเรารับประทานเองเราฉันเอง ทำไมจะไม่รู้รสหวานรสเปรี้ยวรสเค็ม และทำไมจะไม่รู้ความอิ่มหนำสำราญของตน เราเป็นคนทำเอง นี่ธรรมะก็แบบเดียวกันนี้ ตั้งใจประพฤติปฏิบัติ เอหิ เอหิ หมายถึงว่าน้อมจิตเข้ามา อย่าส่งจิตออกไปข้างนอก ส่งจิตออกไปตรงไหนให้เป็น เอหิ ตรงนั้น คือหมายถึงว่าส่งจิตออกไปก็ให้เป็นมรรค อย่าส่งออกไปด้วยอำนาจของสมุทัย ส่งเข้ามาทางในก็ให้เป็นเรื่องของมรรค อย่าส่งเข้ามาดูเป็นความสวยความงามผิดกับหลักธรรมข้อนี้ ดูในวงสัจธรรมให้เห็นตามความจริง
นี่ละ เอหิปสฺสิโก ท่านจงน้อมจิตเข้ามา ปสฺสิโก ก็คือว่าจงดู ดูอยู่นี่ ของจริงมีอยู่นี่ เรียกตัวเราเองไม่ใช่คนอื่นคนใดแหละ ให้น้อมเข้ามานี้ ให้ดูธรรมของจริงอยู่ในนี้ ให้ดูๆ เอหิปสฺสิโก ของจริงนี้เหมือนกับจะพูดว่าท้าทายอยู่ตลอดเวลาก็ได้ เพราะเป็นของจริง ไม่สะทกสะท้านต่อผู้หนึ่งผู้ใดต่ออะไรทั้งนั้น แสดงตัวอยู่ตามหลักธรรมชาติของมัน เราจะเรียกว่าท้าทายก็ได้ หรือเรียกว่าเป็นของจริงก็ได้ พิจารณาอย่างนี้นักปฏิบัติ ให้แยกแยะ
อุบายวิธีการที่จะปฏิบัติต่อกิเลสแก้กิเลสได้ด้วยอุบายใดวิธีใด นั้นแหละคือธรรม เราจะไปหาแต่คัมภีร์ใบลานมาพูดไม่ได้ กิเลสเวลามันจะเหยียบหัวเราไม่เห็นไปยกเอาคัมภีร์มาตีหัวเรา มันเกิดขึ้นภายในใจทีเดียวมันยังเป็นกิเลสขึ้นมาได้ เหตุใดสติปัญญาที่เราจะตามต้อนกิเลสฆ่ากิเลสทำลายกิเลส เราจะต้องไปแบกคัมภีร์มามันจะทันกันได้ยังไง ไม่ทัน ตายทิ้งเปล่า ๆ นั่นแหละ ผลิตขึ้นมาฟิตขึ้นมาซิ ปญฺญา เว ชายเต ภูริ ดังพระพุทธเจ้าประทานพระโอวาทแก่พระโปฐิละ
พระโปฐิละท่านเรียนจบพระไตรปิฎก เป็นคณาจารย์ มีลูกศิษย์ตั้งห้าร้อยองค์ เรียกว่าเป็นพหูสูต จบพระไตรปิฎก เวลาเข้ามาเฝ้าพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงเล็งเห็นอุปนิสัยแล้ว แต่เวลานี้กำลังประมาทลืมเนื้อลืมตัวเลยใส่ปัญหาเข้าปั๊บ โปฐิละ เธอจงนั่ง เธอจงยืน เธอจงมา เธอจงไป โปฐิละ ๆ เรื่อย ใบลานเปล่า ๆ เรื่อย เกิดความสลดสังเวช เอ๊ นี่เราเรียนมามากมายจนจบพระไตรปิฎก บริษัทบริวารเรามีตั้ง ๕๐๐ เฉพาะพระก็มีถึง ๕๐๐ บริษัทบริวารนอกนั้นก็มีเยอะ แทนที่พระองค์จะชมเชยแม้สักประโยคหนึ่งยังไม่เห็นมีเลย เรานี้คงเป็นโมฆบุรุษโมฆภิกษุไม่มีผลประโยชน์อะไรเลย พระองค์จึงไม่ทรงชมเชย พระองค์ตำหนิอะไรก็ดี ชมเชยอะไรก็ดี ทรงมีเหตุผลทุกอย่าง นี้คงจะเห็นว่าเรานี้เป็นโมฆะ อย่างหนึ่งพูดง่าย ๆ ก็คือว่าจะให้เรารู้สึกตัว
ครั้นกลับไปถึงสำนักก็เตรียมบริขาร ขโมยหนีจากหมู่เพื่อนในเวลากลางคืนเลย ไปสู่สำนักพระวิปัสสนาทั้งหลาย เพราะครั้งพุทธกาลสำนักวิปัสสนามากนี่ เราย่นเข้ามาท่านเข้าไปอบรมอยู่ในสำนักนั้นก็มีสามเณรน้อยเป็นอาจารย์ ทีแรกก็ไปมอบฝากถวายตัวต่อพระมหาเถระ มหาเถระท่านก็ไม่รับ ท่านหาอุบายเลียบๆ เคียงๆ ไล่ให้ไปหาอนุเถระไปโดยลำดับลำดา ซึ่งมีแต่พระขีณาสพล้วนๆ ในวัดนั้น จนกระทั่งถึงสามเณรองค์สุดท้ายก็เป็นสามเณรขีณาสพเณรอรหันต์ บอกให้เณรเป็นคนรับเสีย ทีแรกเณรก็ปัดเหมือนกัน เพราะนักปราชญ์ต้องเป็นอย่างนั้น ผมไม่สามารถที่จะแนะนำสั่งสอนท่านเป็นถึงขนาดอาจารย์ ผมเป็นสามเณรน้อยองค์หนึ่งจะสอนได้ยังไง
พระเถระก็เห็นแล้วกิริยานี้เป็นกิริยาที่เป็นธรรม ไม่ถือเนื้อถือตัว มอบกายถวายตัวไปได้ตลอดสายจนกระทั่งถึงเณร เณรจึงได้อบรมสั่งสอน ในใจความที่เณรสั่งสอนก็ย่อๆ พอทดลองดูพระเถระองค์นี้ว่าไม่มีทิฐิมานะ สมควรที่จะแนะนำสั่งสอนแล้วก็เลยหาอุบายสอน ว่ามีจอมปลวกอยู่แห่งหนึ่งมีช่องอยู่ ๖ ช่อง แล้วให้ท่านปิดเสีย ๕ ช่อง เอาไว้ช่องเดียว และให้เฝ้าอยู่ช่องนั้นแหละ มันมีเหี้ยใหญ่อยู่ตัวหนึ่งอยู่ภายในจอมปลวกนั้น เมื่อมีหลายช่องเหี้ยใหญ่อาจออกในช่องใดก็ได้จับมันไม่ได้ เพราะฉะนั้นจึงให้ปิดเสียทั้ง ๕ ช่องเพื่อไม่ให้เหี้ยใหญ่ออกไปได้ ให้มีอยู่ช่องเดียวแล้วก็เฝ้าดูอยู่นั้น เหี้ยใหญ่จะขึ้นมาที่ช่องนั้นซึ่งเป็นช่องเปิดไว้นั้น โดยที่เรารักษาอยู่จ้องอยู่แล้วจะจับเหี้ยใหญ่ได้ อุบายวิธีท่าน
เหี้ยใหญ่จะหมายถึงอะไร ก็หมายถึงตัวของเรานี่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย นี่เป็นแต่ละช่อง ๆ ใจเป็นช่องหนึ่งเป็น ๖ ช่องด้วยกัน แล้วให้ทำเสียเหมือนกับว่ารูปไม่มี เสียงไม่มี กลิ่น รส เครื่องสัมผัสอะไรไม่มีในโลก ไม่มีสิ่งใดในโลกเลย เหลือแต่ความรู้ล้วนๆ เท่านั้น ดูตรงนั้นด้วยสติ ความหมายว่าอย่างนั้น ดูช่องนี้มันจะปรุงเรื่องอะไรให้ดู จะปรุงเรื่องความโลภ ความโกรธ ความหลง ปรุงไปทางรูป ทางเสียง ทางกลิ่น รส เครื่องสัมผัส ซึ่งเป็นสัญญาอดีตยังไงมันก็จะรู้ที่ตรงนี้ ตั้งสติไว้ตรงนี้แหละ ช่องนี้คือใจ มโนทวาร ทวารแปลว่าประตู ดูตรงนี้เณรสอน
พระเถระก็ได้พยายามบำรุงอันนั้น จนเกิดความมัธยัสถ์อุเบกขา มีความสงบได้เป็นอย่างดี จึงนำไปเฝ้าพระพุทธเจ้า เมื่อเข้าไปถึงพระพุทธเจ้า เป็นยังไงเณรน้อย ลูกศิษย์ของเธอดีอยู่เหรอ ว่าลูกศิษย์ของเธอเทียวมหาเถระ ว่าเป็นลูกศิษย์ของเธอ ทางนี้ก็ชมเชยว่าหาได้ยากเหมือนอย่างอาจารย์องค์นี้ ไม่มีการถือเนื้อถือตัว ตั้งใจประพฤติปฏิบัติเป็นอรรถเป็นธรรมจริง ๆ ต่อจากนั้นพระองค์ก็ทรงสั่งสอนว่า ปญฺญา เว ชายเต ภูริ เป็นต้น ให้พยายามค้นคว้าด้วยปัญญา ให้มีความแน่นหนามั่งคงเหมือนแผ่นดิน ภูริ คือแผ่นดิน ปญฺญา เว ชายเต ภูริ ปัญญาเสมอด้วยแผ่นดินจงทำให้เกิดขึ้น เมื่อได้เข้าใจสิ่งใดด้วยปัญญาแล้วจิตใจจะมีความแน่นหนามั่นคงเหมือนกับแผ่นดิน ไม่หวั่นไหวกับสิ่งใดทั้งนั้น เพราะอำนาจแห่งปัญญาเป็นผู้รู้แจ้งแทงทะลุไปหมดหาความสงสัยไม่ได้ ความหมายว่าอย่างนั้น ท่านสอน
เราก็ให้พยายามซิถึงเรื่องปัญญา หาอุบายพลิกอย่าให้มันอยู่เฉย ๆ พลิกแพลงเปลี่ยนแปลงอุบายวิธีการบ่อย ๆ ถ้าหากมันจำเจนักเป็นยังไงจิตนี่ พลิกใหม่แก้กันอยู่อย่างนั้น ไม่อย่างนั้นไม่ทันกับกิเลสนะการพิจารณา ปัญญานี่สำคัญมากทีเดียว เราเห็นคุณค่ามาก สอนวันไหนเวลาใดก็ตามจึงหนีเรื่องสติปัญญาไม่ได้ เพราะนี้เป็นพื้นเพสำคัญ สติเป็นพื้นสำคัญมากทีเดียว เป็นผู้ควบคุมงาน ปัญญาเป็นผู้ขุดผู้ค้น สมาธิจะสงบได้เพราะอำนาจของสติ รวมตัวกิเลสเข้ามาภายในจิตใจ เมื่อกิเลสรวมตัวเข้ามาแล้วใจก็สงบ ถ้ากิเลสมันซ่านอยู่ทุกแห่งทุกหนใจจะหาเป็นตัวเป็นตนไม่ได้เลย หาจุดแห่งความรู้ไม่มี เพราะกิเลสพาให้ซ่าน เมื่อตะล่อมเข้ามาด้วยอำนาจของสมาธิ เพราะสติเป็นผู้ควบคุมงานในการบริกรรมภาวนาเป็นต้นนะ จิตก็สงบ
เมื่อจิตสงบกิเลสก็สงบเข้ามา ทีนี้พอเป็นบาทเป็นฐานแล้ว สมควรแล้วที่จะพิจารณาทางด้านปัญญา เพราะจิตที่เป็นสมาธิ จิตที่มีความสงบตัวมากน้อยนี้จะไม่ทุรนทุราย ไม่หิวไม่โหย ไม่วิ่งเต้นเผ่นกระโดดกับอารมณ์ต่าง ๆ พาทำงานประเภทไหนก็ทำ เพราะไม่มีความหิวโหยมาบังคับ นั่นละปัญญาที่จะออกไปเห็นความแจ่มแจ้งในสภาวธรรมทั้งหลาย เพราะจิตเป็นผู้มีความอิ่มตัวในสมาธิแล้วไม่ระเหเร่ร่อน ไม่แสดงอาการหิวโหยกระวนกระวาย พอที่จะพิจารณาให้เป็นปัญญาแล้วกลับเป็นสัญญาไปเสีย เมื่อจิตมีความอิ่มตัวอยู่ตามขั้นภูมิของสมาธิแล้วก็ตั้งหน้าตั้งตาทำงาน ปัญญาก็พิจารณาไปไหนก็ได้ชัดเจนไปโดยลำดับๆ สมาธิมีความสำคัญอย่างนี้ ไม่ใช่สมาธิเป็นตัวแก้กิเลสนะ ตะล่อมกิเลสเข้ามา กิเลสจะขาดตกออกไปมากน้อยนี้ต้องปัญญา ปัญญาเป็นสำคัญเรื่อย ๆ จนกระทั่งไม่มีอะไรเหลือ ปัญญาก็หมดหน้าที่เองจะไปไหน
ที่พูดทั้งหมดอยู่ในวงขันธ์ของเราไม่อยู่ที่อื่น อริยสัจอยู่ในวงขันธ์ สติปัฏฐาน ๔ อยู่ในวงขันธ์ซึ่งมีจิตเป็นผู้รับผิดชอบ ให้ค้นดูที่นี่ จิตส่งออกไปที่ไหนให้เป็นเรื่องของมรรคทั้งนั้น จะออกไปทางรูป ทางเสียง ทางกลิ่น ทางรส ให้พิจารณาเป็นอรรถเป็นธรรมเป็นเหตุเป็นผล เพื่อถอดถอนหรือแก้ไขตนเองเสมอไป พิจารณาเข้ามาภายในก็เป็นอย่างนั้น ออกไปไหนก็ให้มีสติตาม นี่จึงเรียกว่าเป็นผู้แก้ เป็นผู้ตามรักษาจิต เป็นผู้พยายามแก้ไขจิตใจของตน เพื่อให้มีกำลังทางด้านสติปัญญาหรือทางคุณธรรมขึ้นโดยลำดับ
จิตเป็นของมีเจ้าของ สติปัญญาเป็นเจ้าของของจิต เราบังคับได้นี่ มันอยากเท่าไรก็อยากซิ อยากไปเราไม่ไปมันไปได้เหรอ มันอยากคิดไปเรื่องอะไรเราไม่ให้มันคิดเพราะความคิดอันนั้นไม่ถูกนี่ สติปัญญาครอบหรือไตร่ตรองดูแล้ว หรือเข้าใจแล้วว่าสิ่งนั้นผิด บังคับไม่ให้คิดไป มันก็ฝืนไม่ได้ ถ้าลงสติกับปัญญาได้ตั้งหน้าทำหน้าที่ด้วยเจตจำนงแล้วมันก็ฝืนไปไม่ได้จิตต้องยอม เมื่อยอมครั้งนี้แล้วครั้งนั้นก็ยอมไปเรื่อย ๆ ถ้าปล่อยครั้งนี้แล้วก็เสริมไปเรื่อย มีกำลังแล้วก็ห้ามไม่อยู่ ไปเตลิดเปิดเปิง
เอาให้ลงในวงปัจจุบัน ปัญญาให้หมุนเข้าใจนี้ พยายามไม่ให้มีหน้าที่การงานอะไรกับหมู่กับเพื่อน ให้ได้ประกอบความพากเพียร อันนี้เราเห็นว่าเป็นของสำคัญมาก งานของพระคือการเดินจงกรมนั่งสมาธิภาวนา เราถือเป็นงานชั้นเอกทีเดียว เราถือเป็นงานหลักของศาสนา หลักของงานที่จะรื้อวัฏสงสารออกจากจิตใจ ได้แก่การเดินจงกรมนั่งสมาธิภาวนา เราไม่เห็นงานอื่นใดที่จะวิเศษวิโสยิ่งกว่านี้ งานเหล่านั้นก็ทำไปให้เป็นความจำเป็นในบางครั้งบางเวลา กำหนดเอาไว้ไม่ให้มันพร่ำเพรื่อซ้ำ ๆ ซาก ๆ ซึ่งเป็นการทำลายจิตใจเรื่อย ๆ ไม่ดี ไม่ใช่ผู้แสวงธรรม แสวงธรรมก็ต้องหาธรรมซิ การเสาะแสวงแปลว่าการหา การค้นคว้า การทำงาน หาความจริง ความจริงมีอยู่กับตัวทุกคนทำไมจะไม่เจอ เอาให้เจอซิ
ตั้งหน้าตั้งตาดูแต่จิตนั่นน่ะ จิตนั้นละเหี้ยใหญ่ ตัวก่อเหตุก่อภัยทั้งหลายตัวเหี้ยใหญ่นั่นแหละ ทำให้เหมือนโลกไม่มี หูไม่สนใจอยากฟังอะไร เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส ไม่สนใจทั้งนั้น เราจะสนใจดูตั้งแต่ความเคลื่อนไหวของจิตอย่างเดียวเท่านี้ มันจะไปไหนวะ ฟาดมันลงไปก็รู้น่ะซี ต้องเห็นฤทธิ์กันวันหนึ่งเวลาหนึ่งจนได้ถ้าตั้งหน้าต่อสู้กับกิเลส แบบมีแต่ถอยๆ ล้มผล็อยๆ โอ๊ย ใช้ไม่ได้ เราผู้สอนก็อิดหนาระอาใจเหมือนกันนะ
เพราะสอนหมู่เพื่อนนี้สอนด้วยความตั้งอกตั้งใจ สอนด้วยความเต็มใจเต็มเม็ดเต็มหน่วย ทุกสิ่งทุกอย่างทุ่มเทลงหมดไม่มีอะไรปิดบังลี้ลับกับหมู่เพื่อนเลย เพราะอำนาจของความอยากให้หมู่เพื่อน ได้รู้ได้เห็นในธรรมทั้งหลายที่ควรจะรู้เห็นนั่นเอง เจตนาของเราเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นเวลาเห็นผิดเห็นพลาดไม่มีสติสตังเลยจึงต้องดุ เหมือนกับว่าอิดหนาระอาใจไปพร้อมด้วย ไม่เพียงแต่ดุเท่านั้นนะ ดุด่าว่ากล่าวธรรมดาแล้ว ยังทำให้เกิดความอิดหนาระอาใจ เอ๊ ปัญญาแค่นี้ทำไมมันถึงเคลื่อนคลาดไปได้ แล้วสิ่งละเอียดกว่านี้จะทำยังไง แน่ะ มันเข้ามาเทียบกันปั๊บทันทีเลย
เอาแค่นี้ก่อน
พูดท้ายเทศน์
ส่วนมากไปอยู่ ๑๓-๑๔ กิโล ๑๕ กิโลนี่ วันอุโบสถผมก็มาลงอุโบสถด้วยท่าน เสร็จแล้วผมถึงกลับไป กลับไปจะมืดก็ตามผมไม่ได้ว่า ผมไม่ได้คำนึงคำนวณถึงเวล่ำเวลาว่ากลัวมืดกลัวค่ำอะไร ทั้ง ๆ ที่เป็นป่าทั้งนั้นที่เราเดินไป ไปได้สบาย ภาวนาไปนี่ ไม่ได้คิดกลัวอะไรทั้ง ๆ ที่เป็นป่าเสือนั่นแหละที่เราไป มันก็ไม่ได้กลัว เดินบุกกำดำกำขาวไปอย่างนั้น บางทีค่ำกว่าจะได้ไปจากท่าน มันก็สบาย ไปก็เร่งความเพียร เกิดปัญหาพร้อม บางที ๕ วันกลับมาก็มีแต่มาชั่วคราวนะ มาในวันนั้นกลับวันนั้น หืออะไรท่านว่า พูดธรรมะกับท่านสักหน่อย แน่ะเป็นอย่างนั้น นี่หมายถึงว่ามีหลักสมาธิ พอออกเรื่องของปัญญาแล้วก็เป็นอีกแง่หนึ่ง
ถ้าไม่มีหลักใจมันปราศจากครูอาจารย์ไม่ได้นะ ต้องได้ระมัดระวังมาก รักสงวนตัวมาก สังเกตตัวเสมอ ต้องทราบเมื่อมันจะออกเรื่องอย่างนี้ เดินจงกรมสักเท่าไรก็ไม่ได้เรื่องได้ราว มันเป็นอย่างนั้นนะ นั่งภาวนาอะไรก็ไม่ได้เรื่อง จะว่ามันขาดทุนเพราะรูปนั้นเสียงนี้ก็ไม่ใช่ มันหากเป็นของมันเอง ทั้ง ๆ ตั้งใจถูไถอยู่ก็ไม่ได้เรื่อง เป็นอย่างนั้นนะ ตกลงก็ต้องได้กลับมาอยู่กับท่าน อยู่กับท่านถึงไม่เป็นไปมันก็ไม่ยุ่ง ท่านเหมือนกับแม่เหล็กนั่นเอง อยู่สบาย ขั้นจิตเป็นสมาธิแล้วสงบ เอ้อ ได้ที่นี่ ตั้งหลักจิตได้แล้วไปไหนก็ไปได้ คือมันมีหลักอยู่นั้น ความสงบ
พอขั้นปัญญาแล้วเป็นอีกแง่หนึ่งนะ หมุนติ้ว ๆ มันเพลิน ถ้าเกิดปัญหาขึ้นมาก็กราบเรียนถามท่านนั้น มันเร็วยิ่งกว่าเราจะแก้โดยลำพังเรา แก้โดยลำพังเราก็ได้แต่ว่าช้า เมื่อปรากฏขึ้นมามีแง่ปัญหาต่าง ๆ ขัดข้องใจ นั่นละเรื่องของกิเลส พอผ่านนี้แล้วก็เป็นเรื่องธรรมะ เรียกว่าแก้กิเลสประเภทนี้ออก พอมาเล่าถวายท่านท่านใส่ผางเดียวเท่านั้นพังไปเลย จะไม่อยากมาถามท่านยังไง มันง่าย ใครจะไปแบกอยู่ทั้งวันทั้งคืนปัญหานี่ เพราะท่านผ่านไปแล้วพอแย็บออกไปนี้ท่านรู้ทันที ท่านใส่ปั๊วะทีเดียวเลยพังลงไปเลยกิเลสนั้น เราจึงได้เทิดทูนที่สุดพ่อแม่ครูจารย์ มันเด่น เด่นในหัวใจ เด่นตลอดเวลา
**********
|