การปฏิบัติต่อใจของเราเป็นเรื่องยากยิ่งกว่าการปฏิบัติต่อสิ่งใด ๆ ความรู้วิชาที่เราศึกษาเล่าเรียนมาล้วนแล้วแต่เป็นอุบายที่จะมาปฏิบัติต่อตัวของเราทั้งนั้น ถ้าไม่มีแบบฉบับที่ถูกต้องเป็นเครื่องดำเนินก็หาที่ไปไม่ได้ กระดิกออกขณะใดก็ล้วนแล้วแต่เป็นทางผิด และเป็นโทษแก่ตัวเองเสมอไป ใจก็เป็นสมบัติของเราอยู่ด้วยกัน แต่ปฏิบัติกันไม่ค่อยจะถูกต้องและไม่ค่อยจะลงรอยกัน เหตุใดจึงไม่ลงรอยกันได้ เพราะอุบายวิธีที่จะปรับปรุงใจของเราไม่เพียงพอ ใจกับเรื่องของใจซึ่งรวมเป็นเรื่องของเราอันเดียวกัน จึงไม่ค่อยจะลงรอยกัน หากว่าใจกับเราเป็นของลงรอยกันได้โดยลำพัง ซึ่งเราก็เคยปฏิบัติต่อกันมาแล้ว เรื่องความทุกข์ความลำบากความยุ่งเหยิงต่าง ๆ ซึ่งเกิดขึ้นจากความเคลื่อนไหวของกายวาจาใจของเรา ก็คงจะเป็นไปเพื่อความร่มเย็นแก่เราทุก ๆ ท่าน ไม่มีความทุกข์ร้อนเกิดขึ้นภายในตัวของเราได้เลย
แต่นี้ไม่เป็นเช่นนั้น วันหนึ่ง ๆ วิถีของจิตที่เคลื่อนไหวอยู่ทุก ๆ ขณะนี้ โดยมากก็เป็นไปตามอำเภอใจของตัว โดยไม่มีอะไรเป็นเครื่องพิสูจน์ทดสอบความเคลื่อนไหวของใจ ใจจึงมีทางที่จะสั่งสมความขัดข้องยุ่งเหยิงให้แก่ตัวเราเสมอ จึงเรียกว่าเป็นเรื่องลงรอยกันไม่ได้ สิ่งที่จะให้ใจลงรอยกันไม่ได้มีอยู่ แต่เราไม่ทราบว่าสิ่งเหล่านี้คืออะไร ทุก ๆ สิ่งที่ปรากฏขึ้นภายในใจ เราจะถือว่าเป็นเรื่องของเราเสียทั้งสิ้น เมื่อเป็นเช่นนั้นก็ไม่มีโอกาสที่จะพิจารณาเรื่องเหล่านี้ เพื่อการแก้ไขปรับปรุงให้ถูกทาง อันจะเป็นไปเพื่อความร่มเย็นเป็นสุขแก่ตน ที่เรียกว่าลงรอยกันได้ การปฏิบัติต่อตัวเองเป็นเรื่องยุ่งยากอย่างนี้
พระพุทธเจ้าผู้เป็นบรมศาสดาท่านทรงได้รับความทุกข์ความลำบาก เพราะเรื่องของท่านไม่ลงรอยกันเหมือนกันกับพวกเราทั้งหลาย การสร้างคุณงามความดีที่เรียกว่าสร้างบารมีมาเป็นจำนวนเท่านั้น ๆ นั้นคือการสั่งสมอุบายวิธี เป็นเครื่องที่จะมาพิสูจน์เรื่องของพระองค์ท่านให้รู้ชัด แล้วปฏิบัติต่อกันโดยถูกต้องเป็นลำดับ ๆ จนกลายเป็นใจที่ลงรอยกันได้กับตัวเองอย่างสมบูรณ์ คือถึงความเป็นพระพุทธเจ้า นั่นชื่อว่าใจลงรอยกับตนเองได้
เราซึ่งเป็นผู้ไม่สามารถจะเสาะแสวงหาความเฉลียวฉลาด มาปรับปรุงจิตใจของตนให้ลงรอยกันได้กับตัวเอง จึงต้องอาศัยแนวทางที่พระองค์ท่านทรงบำเพ็ญ และได้ผลมาแล้วประสิทธิ์ประสาทไว้สำหรับพวกเรา อุบายวิธีที่ท่านประทานไว้เรียกว่าธรรม นับถึง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ นี้ล้วนแล้วแต่เป็นอุบายทั้งนั้น ขนาดท่านประทานไว้ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์นี้ เข้าใจว่าประทานไว้พอประมาณ ยังมากมายยิ่งกว่านั้น แต่เกรงว่าจะเป็นการฟั่นเฝือหรือเหลือกำลังผู้ที่จะพิจารณาตามอุบายของท่าน จึงวางไว้เพียงพอประมาณเท่าที่เห็นว่าอุปนิสัยของบรรดาสัตว์โดยมาก จะพอดีกับธรรมที่ประทานไว้ขนาดนี้ อุบายทั้งหมดนี้เป็นอุบายที่พระองค์ท่านได้ทรงรับผลมาแล้ว ประทานไว้ให้พวกเราได้นำมาปรับปรุงแก้ไขสิ่งที่ยังไม่ลงรอยกันได้ภายในใจ ให้รู้เหตุรู้ผลความเป็นไปของตนกับสิ่งที่มาเกี่ยวข้อง อันจะทำให้จิตใจของเราได้รับความมัวหมองหรือทุกข์ร้อน
เราทั้งหลายที่ต่างก็มีความสนใจต่อการบำเพ็ญ ทั้งนี้ล้วนแล้วแต่เป็นอุบายวิธีที่จะให้ทราบเรื่องของเราอันแท้จริง และสิ่งที่เกี่ยวข้องกับใจโดยเฉพาะ โดยการทดสอบคือความคิดความเห็นความปรุงแต่งของใจ ความอยาก-อยากไปทางไหนบ้าง อยากไปทางดีหรือทางชั่ว ความฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมฟุ้งไปทางไหน ใจมีความหนักไปในทางใด เพราะสิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ หากเราไม่ได้นำธรรมะมาเป็นเครื่องวินิจฉัยแล้ว เราจะถือว่าเป็นเรื่องของเราทั้งสิ้น ขาดการยับยั้งชั่งตวงสิ่งเหล่านี้ และไม่ทราบว่าสิ่งใดจะให้ผลดีและผลชั่วแก่เรา
แม้ที่สุดผลที่ปรากฏขึ้นจากเรื่องของจิตเสาะแสวงหามาเอง จิตก็หาได้ทราบไม่ว่า ผลที่ปรากฏคือความเดือดร้อนนี้ เกิดขึ้นมาจากสาเหตุเช่นนั้น ๆ นอกจากจะมีความกังวลหรือบ่นเพ้อไปเฉย ๆ ว่าเรามีความทุกข์ความเดือดร้อน หาความสบายไม่ได้เหมือนโลกเขาทั่ว ๆ ไป โลกเขาคงมีความอยู่เย็นเป็นสุข ไม่มีอะไรมากลุ้มรุมจิตใจ โลกเขาคงเป็นโลกที่กว้างขวาง เขาคงเป็นคนมีอำนาจวาสนา ไม่เป็นคนหยาบช้าลามก อำนาจวาสนาน้อย หรือเป็นผู้อาภัพวาสนาเหมือนอย่างเรา ทั้งโลกนี้มีเราคนเดียวเป็นผู้หาบหามทุกข์อยู่ทั้งวันทั้งคืน ความคิดจะต้องเป็นไปเช่นนี้ โดยไม่ได้คำนึงถึงเรื่องโลกก็คือโลกอันเดียวกัน จิตใจเป็นจิตใจเช่นเดียวกัน สิ่งที่จะเสริมจิตหรือสิ่งที่จะมาทำให้จิตได้รับความเดือดร้อนวุ่นวาย เป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นมาจากจิตทั้งท่านและเราเช่นเดียวกัน
ที่กล่าวมาทั้งนี้เนื่องจากเราไม่ได้นำข้อเท็จจริง คือหลักธรรมะที่เต็มไปด้วยเหตุผลเข้าไปพิสูจน์เรื่องของตัวเอง ความเป็นไปทั้งหมดจะเคลื่อนออกทางกาย เคลื่อนออกทางวาจา เนื่องออกมาจากใจซึ่งเป็นเจ้าความคิด เป็นผู้บงการ แม้เรื่องของจิตเสียเองก็มิได้คำนึงว่าเป็นเรื่องดีหรือชั่ว แต่เข้าใจว่าเป็นเรื่องของตัวเสียทั้งมวล จึงหาทางจะแยกแยะกลั่นกรองเลือกเฟ้นกันไม่ได้ แต่หลักธรรมะของพระพุทธเจ้าคือเครื่องพิสูจน์ นำเข้ามาจับดูเหตุผลดีชั่วสุขทุกข์ มีสาเหตุเกิดขึ้นมาอย่างไร วินิจฉัยดูด้วยปัญญา เราจะเห็นช่องทางที่จะแก้ไขตนเองไปได้เป็นระยะ แล้วจะมีวันลงรอยกันได้เป็นลำดับ
ความลงรอยในระหว่างใจกับเรา หรือในระหว่างอารมณ์ที่เกิดขึ้นจากใจกับใจ เราจะทราบได้ด้วยการพิสูจน์เหตุผล โดยนำหลักธรรมของพระพุทธเจ้ามาเป็นเครื่องมือ แล้วก็จะปฏิบัติต่อกันได้ รู้ทั้งสาเหตุที่จะเป็นไปในทางดีและชั่ว สาเหตุที่จะควรส่งเสริมหรือควรจะระงับดับไปได้ด้วยธรรมะ คือการไตร่ตรองเห็นผลชัดเจนแล้ว บังคับบัญชากันไป ผลคือสิ่งที่ไม่พอใจก็จะไม่แสดงตัวออกมาให้เจ้าของได้รับความทุกข์ร้อน นี่เรื่องของการปฏิบัติต่อตัวเองมีความยากอย่างนี้ แต่จะมีความสะดวกต่อเมื่อเราได้รับอุบายวิธีที่ถูกต้องคือธรรมะ ซึ่งเราได้นำมาพิจารณาทดสอบดูเรื่องของเรา แล้วจะมีวันลงรอยกันได้
เช่นจิตที่เคยฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม โดยไม่มีการยับยั้งชั่งตัวเลย เคยปล่อยไปตามอำเภอใจยังไงก็ปล่อยไปอย่างนั้น ก็จะมีการยับยั้งกันได้ อยากก็ไม่รุนแรง ความทะเยอทะยานความฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมต่าง ๆ แม้จะเคยมี ก็มีสถานีที่จอดแวะ เพราะธรรมะเป็นเครื่องสกัดกั้นสิ่งเหล่านั้นไว้พอที่จะให้เรามีช่องทางแก้ไขปรับปรุง หรือระงับดับสิ่งที่เป็นข้าศึกนั้นลงไปได้เป็นระยะ ๆ ใจจะมีความสะดวกสบายเพราะไม่ได้เป็นไปตามสิ่งยั่วยวนโดยถ่ายเดียว เนื่องจากเรามีเครื่องป้องกันตัวอยู่เสมอ
การอบรมใจเพื่อให้ลงรอยกันได้จึงต้องอาศัยหลักธรรมะเป็นสิ่งสำคัญ ธรรมะของพระพุทธเจ้าไม่มีปัญหาใด ๆ ที่จะขัดแย้งได้เลย นอกจากเรื่องของเราซึ่งเป็นเรื่องจอมปลอมไปขัดแย้งธรรมะอันเป็นของจริงและเคยได้รับผลมาแล้วเท่านั้น ไม่มีเรื่องอื่น ความรู้ความเห็นที่แสดงออกมาจากพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้า เป็นความรู้ความเห็นที่ตายตัว และเป็นความรู้ความเห็นที่บริสุทธิ์ แต่ความรู้ความเห็นของเราที่มีสิ่งแทรกซึม หรือสิ่งที่ปลอมแปลงอยู่ภายในจิต แสดงตัวออกมาในวาระใด ย่อมกลายเป็นของปลอมขึ้นมาในวาระนั้น แสดงออกทางกายก็ปลอม ทางวาจาก็ปลอม ทางใจก็ปลอม สิ่งจอมปลอมเหล่านี้แสดงอยู่รอบตัว ฉะนั้นเรื่องจะหาความสุขจากสิ่งจอมปลอมนี้จึงไม่มีช่องทาง หรือไม่ใช่ฐานะที่เราจะหาได้จากสิ่งปลอมแปลงเหล่านี้ นอกจากจะหาความจริงได้จากหลักความจริงคือธรรมะอันเป็นของบริสุทธิ์
เรากับธรรมะ เรากับศาสนา จึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างนี้ เพราะเราไม่สามารถจะแก้ไขตนเองได้ด้วยสติกำลังความเฉลียวฉลาดของเรา โดยไม่ต้องศึกษาเล่าเรียนหรืออบรมจากหลักธรรมอันแท้จริงของพระพุทธเจ้า ความคิดของเราเสียเองเป็นเพชฌฆาตคอยสังหารตัวอยู่เสมอ ความคิดเหล่านี้เมื่อมีธรรมะเป็นเครื่องทดสอบแล้ว จะไม่มีกำลังแสดงตัวออกอย่างเปิดเผยหรือรุนแรง แต่จะนับวันระงับหรือลดน้อยถอยลงไปเป็นลำดับ
ความประพฤติทุกด้านจะต้องเป็นมาจากสิ่งที่ส่อแสดงมาจากใจ ถ้าใจได้รับการอบรมโดยถูกทาง สิ่งที่ระบายออกมาจะกลายเป็นธรรม นำตัวของเราให้เป็นไปเพื่อความสุขความเจริญ ไม่ได้เกิดเรื่องกับตัวเองอยู่เสมอดังที่เคยเป็นมา เรื่องที่เกี่ยวกับคนอื่นมีการทะเลาะเบาะแว้งเป็นถ้อยเป็นความกัน ถึงฟ้องร้องกันในโรงในศาลนั้น เป็นไปชั่วระยะกาล เมื่อถึงจุดสุดท้ายก็ยุติกันลงได้ เพราะมีสถานที่ชี้ขาดไว้ประจำแผ่นดินอยู่แล้ว แต่เรื่องการเกิดเรื่องกับตัวของเรานี้เป็นเรื่องสำคัญ โจทก์ก็เป็นเรื่องของเรา จำเลยก็เป็นเรื่องของเรา
แต่ผู้จะวินิจฉัยไต่สวนให้รู้เหตุผลดีชั่ว ควรจะตัดสินกันลงได้อย่างไรว่าถูกหรือผิด ให้ฝ่ายใดเป็นฝ่ายแพ้ ฝ่ายใดเป็นฝ่ายชนะนั้น ไม่มีใครจะสามารถมาตัดสิน เพราะหลักธรรมะไม่มีอยู่ภายในใจของเรา จึงไม่สามารถฉลาดรู้ว่าความคิดของตนนั้น ความคิดประเภทใดเป็นความคิดที่ผิด ความคิดประเภทใดเป็นความคิดที่ถูก และควรจะให้ฝ่ายใดเป็นฝ่ายแพ้ ฝ่ายใดเป็นฝ่ายชนะ ควรจะตัดสินกันลงได้ด้วยวิธีใด จึงตัดสินกันไม่ลง เมื่อเป็นเช่นนั้นเรื่องเราจึงรบกับเรา เราจึงกลายเป็นผู้ต้องหาอยู่ตลอดเวลาหาความสุขความสบายไม่ได้ อยู่ที่ไหนก็มีแต่ความเดือดร้อนเพราะเรื่องอยู่ภายในใจ เกิดฟ้องร้องกันอยู่ตลอดเวลาไม่มีวันเสาร์วันอาทิตย์ ไม่มีกลางวันกลางคืน หลับตื่นยังฝันไปได้จากเรื่องราวที่เคยยึดถือเอาไว้ภายในใจที่เรียกว่าอุปาทาน ฝันก็ฝันไปในทำนองนั้นเอง เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่โตไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย ที่เราจะถือว่าไม่เป็นเรื่องสำคัญ
เรื่องที่เกิดที่เรียกว่าคดีที่เกิดขึ้นภายในเราจะระงับ หรือสงบกันลงได้เป็นลำดับ ๆ นั้น ต้องอาศัยหลักธรรมะเป็นเครื่องพิสูจน์พิจารณา ถ้าเห็นว่าชอบก็พยายามส่งเสริม หรือให้ทางนี้เป็นทางชนะ ส่งเสริมกำลังทางนี้ให้มากขึ้น ทางไหนเป็นทางที่ก่อกวนทำความไม่สงบ ต้องถือว่าทางนั้นเป็นทางไม่ดี ตัดสินให้แพ้ไป แม้จะเกิดขึ้นวาระหลังก็ต้องมัดกันด้วยเหตุด้วยผล สิ่งเหล่านี้จะมีกำลังเสริมตัวเองขึ้นโดยลำพังไม่ได้ ต้องระงับดับลงได้ด้วยอำนาจของธรรมะคือสติปัญญาเป็นเครื่องพิสูจน์ นี่วิธีปฏิบัติต่อตัวเองให้ลงรอยกันต้องปฏิบัติอย่างนี้
ไม่ว่าเพศฆราวาสหรือนักบวช ไม่ว่าหญิงหรือชาย เรื่องความผิดความถูกมีด้วยกัน การวินิจฉัยไต่สวนมีสิทธิที่จะวินิจฉัยได้ตามหลักธรรมของพระพุทธเจ้า ซึ่งไม่นิยมว่าเป็นสมบัติของใคร เฉพาะอย่างยิ่งเราอบรมจิตใจให้เป็นไปเพื่อความสงบยิ่งเป็นสิ่งสำคัญ ที่เราจะวินิจฉัยไต่สวนเรื่องอารมณ์ของเรา วันหนึ่งอารมณ์มีประเภทใดบ้างเกิดขึ้น เป็นประเภทที่คู่ความกัน หรือเป็นประเภทที่ชักจูงเราให้เป็นไปในความสงบ เป็นไปในทางที่ดีมาก เราต้องพิสูจน์ นี่แหละเป็นสาเหตุที่จะยังผลให้เกิดขึ้น คือความทุกข์ก็ดี ความสุขก็ดี จะมีสาเหตุทั้งสองประเภทนี้เป็นเครื่องส่งเสริมหรือผลิตขึ้นมา
สุขทุกข์จะเกิดขึ้นเฉย ๆ โดยไม่มีสาเหตุนั้นจะเป็นไปไม่ได้ ท่านจึงตรัสไว้ว่า เย ธมฺมา เหตุปภวา เยสํ เหตุÿ ตถาคโต เตสญฺจ โย นิโรโธ จ เอวํ วาที มหาสมโณ ดังนี้เป็นต้น ธรรมจะเป็นฝ่ายดีก็ตาม ฝ่ายชั่วก็ตาม จะต้องอาศัยเหตุเป็นแดนเกิด คือความปรากฏตัวขึ้นมา คือคิดในทางดี คิดในทางชั่ว ทำในทางดีทางชั่ว ผลจึงจะปรากฏขึ้นมา เมื่อเหตุดับผลก็ต้องดับ จะมีกำลังไปโดยลำพังตนเองย่อมไม่ได้ ธรรมที่กล่าวนี้เป็นได้ทั้งธรรมขั้นต่ำ ขั้นกลาง และขั้นสูงสุด
เรื่องความไม่สงบของใจเป็นเพราะเหตุแห่งใจสั่งสมอารมณ์ก่อกวนตน โดยมิได้คำนึงว่าใจนั้นคิดในทางผิดหรือถูก แต่การพิจารณาวินิจฉัยอารมณ์ที่เกิดขึ้นจากตนด้วยอำนาจของปัญญานั้น จะเป็นไปเพื่อความสงบใจ อารมณ์เหล่านั้นจะระงับไปได้ด้วยอำนาจของปัญญา นี่จัดว่าเป็นทางถูกควรส่งเสริม และควรสอดส่องมองดูเรื่องของตัวเสมอ อย่าปล่อยให้เป็นไปตามความคิดความปรุงซึ่งเคยฝังใจมาเป็นเวลานาน และเป็นอิสรภาพโดยลำพังตนเองมานานแสนนานแล้ว โดยไม่มีสิ่งใดมากดขี่บังคับให้อยู่ใต้อำนาจได้เลย นอกจากหลักธรรมะของพระพุทธเจ้าเท่านั้น จะเป็นเครื่องกดขี่บังคับ หรือทำให้ระงับดับไปได้ด้วยอำนาจแห่งธรรม จะไม่มีสิ่งใดในโลกมีอำนาจวาสนายิ่งไปกว่าหลักธรรม จะปราบความชั่วช้าลามกทุกประเภทที่เป็นไปภายในจิตของแต่ละราย ๆ
เมื่อเราได้ปรับปรุงจิตใจของเราอยู่เช่นนี้ ใจจะเป็นไปเพื่อความราบรื่นและลงรอยกันได้ มีความสงบเยือกเย็นใจ โลกก็จะเป็นโลกที่กว้างขวาง มองดูดินฟ้าอากาศ มองดูสัตว์ดูบุคคล มองดูทัศนียภาพต่าง ๆ จะเป็นไปเพื่อความรื่นเริงบันเทิง ด้วยความเย็นอกเย็นใจ เห็นธรรมเป็นธรรม เห็นโลกเป็นโลก เห็นคนเป็นคน เห็นสัตว์เป็นสัตว์ แต่เข้าสมัครสมานกันได้ด้วยอรรถด้วยธรรม ไม่มีการเย่อหยิ่ง ไม่มีการดูถูกเหยียดหยาม ไม่ยกตนข่มท่าน เป็นผู้มีความสม่ำเสมอเพราะธรรมเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงจิตใจ ไม่หิวโหยพอที่จะกระโดดโลดเต้นเผ่นหาอาหาร โดยมากเป็นพิษมาเผาลนตนเอง นี่คือทางเดินของใจที่จะเป็นไปเพื่อความลงรอยแก่ตนเป็นลำดับ ๆ ต้องดำเนินอย่างนี้
ลงรอยในขั้นสมาธิคือความเย็นใจ นี่เราก็ทราบแล้วว่าใจของเรามีความลงรอยในขั้นนี้ สมาธิเป็นขั้น ๆ ขั้นละเอียดเข้าไปเท่าไรก็เพราะอำนาจแห่งการบำเพ็ญ สติปัญญาของเรามีความละเอียดมากขึ้น เรื่องใจอารมณ์ก็มีความลดน้อยลงไปเป็นลำดับ ใจก็มีความลงรอยต่อตนเองเป็นลำดับ ๆ เกิดความปลื้มปีติภายในจิตในใจ เพราะเห็นประโยชน์จากการบำเพ็ญธรรม คือการอบรมดัดแปลงตนเอง
ปัญญาไม่ใช่เป็นของจะเอาทิ้งไว้เหมือนอย่างสิ่งของในห้างร้าน ให้เขามาถามซื้อถามขาย แต่เป็นสิ่งที่จะประดิษฐ์คิดค้นขึ้นได้จากใจของผู้สนใจต่อความพ้นทุกข์ ต่อการลงรอยกับตัวเอง จะต้องรื้อฟื้นขึ้นมาพินิจพิจารณาตามสาเหตุที่มาเกี่ยวข้องกับใจ นี่ก็เป็นทางที่จะให้ใจลงรอยกับสภาพทั้งภายนอกภายในโดยถูกต้อง ไม่ฝ่าฝืนหรือขัดเคืองหรือกีดขวางซึ่งกันและกัน ปัญญาไม่ใช่สินค้าพอจะรอคอยให้เขานำมาขายให้เรา พอจะรอคอยขายให้เขา แต่ปัญญาเป็นความฉลาดเกิดขึ้นโดยเฉพาะสำหรับผู้มีความสนใจต่อด้านปัญญา ปัญญาจึงเปรียบเหมือนกันกับดาบเพชร เป็นเครื่องประหัตประหารสิ่งที่เป็นข้าศึกในระหว่างทาง สิ่งใดที่กีดขวางจิตใจ โปรดได้ทราบว่านั้นคือสิ่งที่จะทำจิตใจให้ลงรอยต่อตนเองไม่ได้ ปัญญาต้องใช้พินิจพิจารณากวาดล้างไปให้หมด
เรื่องธาตุเรื่องขันธ์ไม่เคยเป็นข้าศึกต่อผู้ใด แต่เพราะความเห็นผิดของใจไปยึดไปถือ ไปสำคัญมั่นหมายปรุงแต่งเหล่านั้นขึ้นมา เรื่องธาตุขันธ์เพียงเล็กน้อยไม่หนักถึง ๗๐-๘๐ กิโล แต่กลายเป็นเหมือนภูเขาทั้งลูก หนักอะไรก็ไม่หนักเท่ากับอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นในธาตุในขันธ์ เพราะอำนาจแห่งความเห็นผิดของใจที่ถือธาตุขันธ์นี้ว่าเป็นตน ปัญญาหยั่งเข้าไปสิ่งเหล่านี้ก็จะอยู่ได้โดยอิสระเสรีของตน ใจที่เคยไปอุปาทาน ซึ่งเคยไปครองอำนาจยึดสิ่งเหล่านี้มาเป็นตน ก็จะถอยตัวออกมาเข้าลงรอยกับตัวเองได้ เห็นตามสภาพของธาตุของขันธ์ เห็นตามสภาพของใจ เห็นตามสภาพของทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฏกับจิตใจของตนเองเป็นลำดับ ๆ
ปัญญาคือเครื่องจะปรับปรุงจิตใจของเราให้ลงรอยกันได้ ในระหว่างตนกับสภาวธรรมทั่ว ๆ ไป แม้อารมณ์ที่เกิดกับใจทุก ๆ อารมณ์ ก็จะลงรอยกันได้ด้วยอำนาจของปัญญาวินิจฉัยโดยถูกต้องไปตามหลักธรรม จะไม่มีอันใดเป็นเครื่องกีดขวางจิตใจของเราได้ เพราะอำนาจของปัญญาสอดส่องมองทะลุ ปล่อยวางไปเป็นขั้น ๆ ตามหลัก จะพูดถึงหลักไตรลักษณ์ ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเรื่องของไตรลักษณ์ทั้งมวล ไม่มีสิ่งใดที่จะควรไปยึดมั่นถือมั่นสำคัญว่านั้นเป็นตน นั้นเป็นเรา นี้เป็นของเรา พอให้เกิดความหนักหน่วงหรือเกิดความกังวลปักปันเขตแดนเอาไว้ ปัญญาควรจะถากถางออกให้รู้ชัดเจน เพื่อทางเดินด้วยความราบรื่นใน ยถาภูตํ ญาณทสฺสนํ คือความรู้เห็นตามเป็นจริงในสภาวธรรม ทั้งภายนอกทั่วทั้งโลกธาตุ ทั้งภายในกาย ในเวทนา ในจิตของตัวเอง และในธรรมคืออารมณ์ที่เกิดขึ้นกับใจ ให้เห็นเป็นภาค ๆ ไป
คือทุกสิ่งเป็นไปตามธาตุของใครของเรา ให้เห็นว่านั้นเป็นอย่างหนึ่ง ๆ ไม่ใช่สิ่งเหล่านี้จะรุมหัวเข้ามาเป็นเรา นอกจากเราจะไปกว้านเขาเข้ามาเป็นเราแล้วแบกหามเขาให้ได้รับความทุกข์ และตำหนิติโทษใครก็ไม่ได้เท่านั้นไม่มีเรื่องอื่น ปัญญาก็คือการปลดเปลื้องสิ่งที่ตนเคยทำความขัดข้องหรือแบกหามเอาไว้ด้วยความผิดของตน จึงควรวินิจฉัยลงไปให้เห็นชัดเจนตามหลักของความจริง สิ่งเหล่านี้มีความจริงเต็มภูมิของตนอยู่ ขันธ์ก็คือขันธ์จริง ๆ ธาตุก็คือธาตุจริง ๆ ดินเป็นดินจริง ๆ จะให้เป็นอะไรไปไม่ได้ แม้แต่มาเป็นสัตว์เป็นบุคคลก็คือธาตุดินอยู่นั้นเอง น้ำต้องเป็นน้ำมาแต่กาลไหน ๆ ลมเป็นลม ไฟเป็นไฟมาแต่กาลไหน ๆ ใครจะเสกสรรปั้นยอให้เป็นอะไรก็เป็นไปไม่ได้ในหลักธรรมชาติของตน จะเป็นไปแต่เพียงความเสกสรรของใจปั้นขึ้นมาเอง แล้วก็เข้าใจว่าเป็นอย่างนั้นตามความสำคัญของตนเท่านั้น ไม่มีอย่างอื่นจะเป็นไปได้ นี่พูดถึงธาตุในร่างกายของเรา รวมแล้วเรียกว่าขันธ์ก็ได้ รูปขันธ์
เวทนาขันธ์เคยปรากฏมากี่ครั้ง ตั้งแต่วันเกิดมานี้มีมากี่ครั้ง ทุกข์ก็ดี สุขก็ดี เฉย ๆ ก็ดี ทั้งทางกายและทางใจเกิดมาเท่าไร ถ้าหากว่าสิ่งเหล่านี้เป็นตนแล้วเราจำเป็นจะต้องแสวงหาธรรมที่ไหนกัน มันก็ควรจะได้รับความเป็นตนอย่างสมบูรณ์ มีความสุขความเจริญเหนือโลกไปแล้ว เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นของที่เคยเกิดมีกับเรามาเป็นเวลานาน แต่เหตุใดจึงผ่านพ้นความยุ่งเหยิงไปไม่ได้ เพราะความสำคัญว่าสิ่งเหล่านี้เป็นตน ก็เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ตนนั่นเอง สุขก็สักแต่ว่าสุข ปรากฏแล้วดับไป ปรากฏขึ้นมาแล้วดับไป ไม่ว่าสุขทางใจไม่ว่าสุขทางกาย ทุกข์ก็สักแต่ว่าทุกข์ปรากฏขึ้นตามสภาพของเขา โดยไม่รับทราบอะไรจากเราผู้เป็นเจ้าของคือใจนั้นเลย เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เฉยก็เฉยตามสภาพของเวทนาที่เราให้ชื่อเขาเท่านั้น แล้วเขาก็ดับไป
สัญญาความจำ จำได้มาตั้งแต่วันไหน เราไม่สามารถจะนับอ่านวันของเราที่จำเรื่องของสัญญานี้ได้เลย จำตึกบ้านร้านตลาด จำชื่อผู้ชื่อคน จำอรรถาบาลี จำการศึกษาเล่าเรียน จำสถานที่นั่นที่นี่ วัตถุสิ่งนั้นสิ่งนี้ จำไปได้มากเท่าไร ถ้าความจำนี้เป็นตนแล้วเราก็ไม่จำเป็นอีกเช่นเดียวกับเรื่องเวทนา มันพร้อมมูลอยู่แล้ว ความสุขก็จะพร้อมมูล เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นตนโดยสมบูรณ์ แต่นี้เหตุใดเรื่องความทุกข์ความยุ่งเหยิงความขัดข้องภายในใจจึงมีอยู่เต็มใจ ทั้ง ๆ ที่เราสำคัญว่าสิ่งเหล่านี้เป็นตนและความจำนี้ก็มีอยู่เปล่า ๆ ถ้าหากว่าความจำกับเรานี้เป็นอันเดียวกันเสียจริง ๆ ที่ให้นามว่าตนแล้ว จะมีความจำเป็นอะไรจะต้องแสวงหาตนต่อไปอีกล่ะ นี่ก็คือสิ่งที่เคลือบแฝงนั่นเอง ให้เราทราบว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เคลือบแฝง เป็นไปตามหลักธรรมชาติของเขาเท่านั้น จำได้เท่าไรก็ดับไปเช่นเดียวกับสภาพอื่น ๆ ไม่มีสิ่งใดจะตกค้างพอให้ยังเหลืออยู่ว่าเป็นตนได้เลย
สังขารก็เหมือนกัน ความปรุง-ปรุงทุก ๆ ขณะของใจ ปรุงเท่าไรมันก็ดับ จะถืออะไรเป็นตนเป็นของตนถือเอาไม่ได้ทั้งนั้น ปรุงดีก็ดับ ปรุงชั่วก็ดับ เมื่อพิจารณาปัญญาขั้นละเอียดแล้วจะทราบชัดว่าเป็นสิ่งที่ดับด้วยกัน เพราะเรื่องของสังขารคือสิ่งผสม ปรุงดีก็ผสมกับดี ปรุงชั่วก็ผสมกับเรื่องชั่ว ท่านจึงให้ชื่อว่าสังขาร ความผสมจะเป็นของที่แน่นอนได้อย่างไร มันต้องแตกต้องสลาย นอกจากจะเป็นหลักธรรมชาติของมันจริง ๆ นี่มันไม่ใช่หลักธรรมชาติ คือสิ่งผสม ปรุงมาเท่าไรมันก็ดับ เราควรไว้ใจได้ที่ไหน ปัญญาก็ต้องสอดส่องลงไปให้เห็นชัดว่าคือสิ่งผสมสิ่งปลอมแปลงปรากฏขึ้นชั่วระยะ ๆ ดับไป แต่ว่าสิ่งเหล่านี้ปลอมแปลงนั้นยังไม่เห็นโทษเท่าที่ควร ถ้าว่าใจของเราความรู้ของเรามันปลอมแปลงในสิ่งเหล่านี้นั้นจะถูกต้องดีตามหลักของปัญญา เราตำหนิโทษเหล่านั้นเป็นขั้นหนึ่ง เมื่อธรรมะถึงขั้นละเอียดแล้วเราต้องรู้ว่าโทษของเราเป็นผู้ไปตำหนิเขา เกิดโทษเพราะเหตุแห่งการตำหนิติชมเขาต่างหาก นี่จึงจะจัดว่าเป็นปัญญาที่ชอบ
วิญญาณ ความรับรู้ อยู่ที่ไหนก็รับรู้ อะไรมากระทบทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย คือมาสัมผัสทางกายก็รู้ สัมผัสที่ตรงไหนใจรับรู้ได้หมด อันไหนเป็นตน ถ้าว่าสิ่งเหล่านี้เป็นตน ความรับทราบอยู่ตลอดเวลาเพราะสิ่งที่มาสัมผัสมันก็ควรจะค้นดูแล้วด้วยตน แต่เหตุใดทุกข์จึงมีเคลือบแฝงขึ้นมากับคำที่ว่าเป็นตนนั้นเล่า นั่นก็เพราะสิ่งเหล่านี้มันเป็น อนตฺตา นั่นเอง คำว่า อนตฺตา คือไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ไม่ใช่สิ่งที่จะไปไว้วางใจที่ตรงไหน เป็นสิ่งที่จะต้องสลายไปตามสภาพของเขาเท่านั้น คำว่า อนตฺตา ไปทำลายสิ่งที่เป็นกลุ่มเป็นก้อนเป็นชิ้นเป็นอัน ที่ถือว่าเป็นเราเป็นของเรา ให้ขาดกระจัดกระจายหรือแตกกระเด็นออกไป ไม่ให้มีสมมุติอันใดไปตั้งตัวอยู่ว่าเป็นตน
คำว่าตนหมายถึงสมมุตินั่นเอง นิดหนึ่งก็จัดว่าเป็นสมมุติ สมมุตินั้นแลใจไปยึดถือเข้าแล้วก็เรียกว่าเป็นตน นั่นแลเป็นภาระเครื่องแบกหามของใจโดยไม่รู้สึกตัว ถ้าปัญญาไม่สามารถสอดส่องมองรู้เรื่องสมมุติอันเป็นชิ้นเป็นอันซึ่งเข้าใจว่าตนนั้นแล้วจะไม่มีทางออก หาทางออกไม่ได้ จะติดจมอยู่ในสมมุติอันนั้นโดยแน่ ปัญญาต้องใช้พิจารณาเข้าไป หุงต้มแกงกินไม่ได้เรื่องของปัญญา มีหน้าที่จะสอดส่องมองทะลุตามเหตุตามผลของอรรถของธรรม เพื่อถอดถอนตนเองให้พ้นจากหล่มลึก คือการเกิดแก่เจ็บตายหรือความทุกข์ความทรมานนี้เท่านั้น
นี่เป็นกิ่งก้านสาขาของสมมุติเข้าไปเป็นขั้น ๆ จนกระทั่งถึงรากฐานของใจ ใจนั้นละเป็นอัตตาอันหนึ่งของความถือมั่น เพราะมีสิ่งอันหนึ่งอยู่นั้น นั่นก็คือสิ่งผสม ผสมอันนั้นหมด ความรู้ก็ผสมอยู่ที่นั่น ความหลงก็ผสมอยู่ที่นั่น ความฉลาดก็อยู่ที่นั่น ความโง่ก็อยู่ที่นั่น ความดีความชั่วอยู่ที่นั่น นั่นกองผสมใหญ่ ปัญญาพิจารณาลงไปที่จุดนั้น ถ้าจุดนี้ยังไม่แตกยังไม่กระจัดกระจายเพราะอำนาจของปัญญาเมื่อไร กองสมมุติจะเต็มอยู่ในที่นั่น อันนั้นแลจะนำสมมุติให้ปรากฏตัวขึ้นมาเป็นรูปร่างกลางตัว และปรากฏผลขึ้นมาเป็นทุกข์ตลอดภพตลอดชาติตลอดกัปตลอดกัลป์ เพราะกองสมมุติอันผสมใหญ่โตอยู่ภายในใจนั่นเอง ปัญญาจึงควรจะใช้พินิจพิจารณาอันนี้ให้มากที่สุด ค้นดูให้เห็นหลักความจริงอยู่ที่ไหน ใจจะฉิบหายไปในขณะที่พิจารณาก็ยอมให้ฉิบหายไปเสียที
เราไม่ต้องกลัวว่าใจซึ่งเป็นธรรมชาติอันดั้งเดิมนี้จะฉิบหายไป เพราะอำนาจของปัญญาแทงทะลุลงไปที่ใจ จะไม่มีทางฉิบหายไปได้ถ้าหากใจเป็นของจริงเต็มส่วนแล้ว นอกจากใจจะเป็นของปลอมแปลงอยู่กับสิ่งที่ปลอมแปลงเท่านั้น เราไม่ต้องเสียดาย ความเสียดายเป็นเรื่องของกิเลส ความเข้าใจว่าตัวดีเป็นเรื่องความคะนองของใจ เป็นเรื่องของกิเลสทั้งนั้น ท่านจึงให้ชำระ ท่านให้พิจารณา เมื่อพิจารณาถึงขั้นจนสิ่งผสมซึ่งเป็นส่วนรวมมาอยู่จุดเดียวได้สลายตัวลงไปแล้ว ความรู้ที่ว่าสิ่งที่เป็นสมมุติทั้งหลายได้สลายตัวลงไป นั่นไม่ได้ฉิบหาย นั่นคือธรรมชาติที่บริสุทธิ์
จะเรียกว่าวิมุตติก็ถูกต้อง จะเรียกว่าอัตตาก็ถูกต้อง เพราะไม่มีปัญหาอะไรจะขัดแย้งแล้ว จะเรียกว่ายังไงถูกต้องหมด เพราะไม่มีเหตุไม่มีปัจจัยเป็นเครื่องที่จะหนุนให้ดีให้ชั่วต่อไปอีกแล้ว ไม่อยู่ในอำนาจของเหตุ ไม่อยู่ในอำนาจของผลอันใดทั้งนั้น อยู่นอกอำนาจของเหตุของผล ท่านจึงเรียกว่าวิมุตติ คือหลุดพ้นจากจุดสมมุติใด ๆ ทั้งสิ้น นี่เป็นจุดที่พระพุทธเจ้าท่านรู้ท่านเห็น ได้นำธรรมะมาสั่งสอนพวกเราให้รู้วิธีปฏิบัติตัวของตัว ให้ลงรอยกันได้ในระหว่างเรากับเราตามขั้นแห่งผู้ปฏิบัติธรรม จะสมชื่อสมนามว่าเราถือพุทธศาสนา มีความฉลาดรู้จักวิธีปฏิบัติต่อตนเองไม่ให้ได้รับความเดือดร้อน ตามกำลังความสามารถหรือตามเพศตามวัยของตน เพราะศาสนธรรมคำสอนของท่าน ไม่มีส่วนใดที่จะเป็นส่วนเสียหายแก่ผู้ปฏิบัติตาม
ฉะนั้นในอวสานแห่งธรรมเทศนาที่แสดงในวันนี้ กรุณาทุกท่านได้นำไปบำเพ็ญปรับปรุงตัวเองให้เป็นที่ลงรอยกันได้ด้วยหลักธรรม ความสุขความเจริญจะเป็นไปตามขั้นแห่งการบำเพ็ญของตนโดยทั่วหน้ากัน จึงขอยุติธรรมเทศนาเพียงเท่านี้