บัดนี้เป็นวาระของเราทุก ๆ ท่านที่ได้สละ หรือเล็ดลอดสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่กับตัวทุก ๆ เวลาออกมาปฏิบัติ เพื่อนำชัยชนะมาสู่ตนเองเป็นลำดับ ผู้มาจากที่ไกลก็มีที่ใกล้ก็มี มีเจตนาลงในความมุ่งหวังจะบำเพ็ญตนเต็มสติกำลังความสามารถด้วยกัน เพื่อความคิดในเบื้องต้นที่ได้คิดไว้แล้วและได้สละออกมา ให้มีความสมบูรณ์และเป็นที่ภาคภูมิใจแก่เราผู้ได้เล็ดลอดออกมาจากสิ่งเกี่ยวข้อง จึงโปรดได้กรุณาทำความเข้มแข็งในระยะเวลาที่เรามาเพียงเล็กน้อย
พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ว่า อตฺตา หเว ชิตํ เสยฺโย นี่ไม่ใช่เป็นเรื่องเล็กน้อย แปลเนื้อความในบทธรรมนี้ว่า การชนะตนนั้นแลประเสริฐ การจะได้ชัยชนะขึ้นมาไม่ว่าทางโลกหรือทางธรรมต้องมีการต่อสู้กัน เขาชกมวยบนเวทีก็คือการต่อสู้กัน ใครกำลังน้อยและไหวพริบปัญญาไม่ดีผู้นั้นต้องยอมแพ้ ผู้ที่เหนือกว่าย่อมครองชัยชนะไป เวทีในสถานที่นี้หมายถึงเรากับเรื่องของเรา เรื่องดีก็เป็นเรื่องของเราประดิษฐ์ขึ้นมา เรื่องชั่วก็เป็นเรื่องของเราประดิษฐ์คิดขึ้นมา ทั้งสองนี้เกิดขึ้นมาจากใจดวงเดียว ผู้จะทำการชนะตนก็คือหมายถึงเรื่องที่เป็นข้าศึกต่อตน เรื่องใดที่เป็นข้าศึกและทำการกีดขวางความเจริญของใจ ไม่ให้มีความสุขอันสมบูรณ์ เรื่องที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ท่านเรียกว่าเป็นข้าศึกสำหรับใจ
การก้าวมาของทุกท่านนี่เป็นประโยคที่ถูกต้องในเบื้องต้นแล้ว ลำดับจากนั้นก็คือการบำเพ็ญและการสดับธรรมเพื่ออุบายต่าง ๆ ที่ได้รับจากการฟัง นำไปปรับปรุงหรือแก้ไขสิ่งใดที่ยังเห็นว่าบกพร่องภายในใจของเรา ให้มีความสมบูรณ์ขึ้นเป็นขั้น ๆ คำว่าการรบ คือเรื่องการทำสงคราม สงครามภายนอกก็เรียกว่าสงคราม สงครามภายในคือระหว่างใจกับกิเลส ก็เรียกว่าสงคราม โลกที่มีความเห็นไม่ลงรอยกัน เกิดการขัดแย้งกัน เมื่อลงรอยกันไม่ได้ก็ต้องต่อสู้ ที่เรียกว่ารบกัน
การรบของโลกนั้นย่อมมีความแพ้ความชนะไปตามคติธรรมดาของโลก แต่การแพ้การชนะทั้งสองนี้ไม่มีทางใดดี นอกจากจะเป็นทางเสียหายด้วยกันทั้งสองฝ่าย ผู้แพ้ก็ย่อมก่อเวรอีกด้วย ผู้ชนะก็ต้องทะนงตัว แล้วก็กลับแพ้กลับชนะกันอยู่อย่างนั้น จึงไม่ปรากฏว่าทางไหนเป็นทางที่ประเสริฐ แม้จะได้ชัยชนะมาครองเพราะอำนาจแห่งการชิงชัยได้มาก็ตาม ไม่ได้จัดว่าการชนะนั้นเป็นของประเสริฐ ตามความเห็นของท่านผู้ประเสริฐคือพระพุทธเจ้าของเรา เพราะการชนะเหล่านั้นเป็นเรื่องที่ก่อกรรมก่อเวร ไม่ใช่เป็นเรื่องที่จะทำโลกให้มีความร่มเย็นเป็นสุขเพราะความแพ้ความชนะนั้น ๆ แต่ทำโลกให้ก่อกรรมก่อเวรเป็นลำดับไป หาความสงบไม่ได้ เมื่อมีช่องมีโอกาสก็ต้องรบกันไปเช่นนั้น นี่หมายถึงเรื่องสงครามภายนอกคือสงครามโลก
พระพุทธเจ้าท่านไม่เรียกว่าเป็นชัยชนะที่ประเสริฐ สำหรับผู้ที่ชิงชัยชนะมาได้จากสงคราม แต่ผู้มาชนะตน มารบกับตน ผู้นี้เมื่อได้ชัยชนะแล้วท่านเรียกเป็นของประเสริฐสุด เพราะบรรดาท่านผู้จะถึงวิมุตติพระนิพพาน เป็นผู้มีอิสระเสรีอย่างเต็มที่ ย่อมเนื่องไปจากการทำข้าศึกกับตนเอง ข้าศึกในสถานที่นี้หมายถึงสิ่งที่เกิดกับใจ แต่กลายเป็นข้าศึกของใจทุก ๆ ขณะที่ปรากฏขึ้นมาจากใจเสียเอง ไม่ว่าส่วนหยาบส่วนกลางส่วนละเอียด ท่านเรียกว่าเป็นข้าศึกทั้งนั้น เพราะทำจิตใจให้ได้รับความทุกข์ความลำบาก มีมากก็ทำให้ใจได้รับความลำบากความทุกข์มาก มีน้อยก็ทำใจให้ได้รับความทุกข์อยู่นั่นเอง จะมีละเอียดขนาดไหนก็ทำใจให้มีความกระเพื่อม ไม่ทรงตัวอยู่ด้วยความอิสระเสรีอันควรจะเป็นตามปรกติของใจ
สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ก่อกวนจิตใจมาเป็นประจำ นี้แลท่านเรียกว่าข้าศึก เมื่อข้าศึกนี้ได้เข้าเป็นเจ้าครองหัวใจแล้ว ใจจะต้องตกอยู่ในอำนาจของสิ่งเหล่านี้ พาให้ทำไปต่าง ๆ นานา พาให้คิดไปทุกสิ่งทุกอย่างโดยไม่คำนึงถึงว่าเป็นความผิดหรือถูก และสามารถฉุดลากจิตใจกายวาจาของเราให้เป็นไปตามอำนาจของเขาตลอดมา แม้การเกิดในภพในชาติต่าง ๆ ก็เป็นเรื่องของสิ่งที่ถือว่าเป็นข้าศึกนี้แลเป็นผู้ฉุดลากให้เป็นไป เมื่อไปเกิดอยู่ในภพใดชาติใด เรื่องของทุกข์จึงต้องมีในภพนั้นชาตินั้น เพราะเหตุแห่งเชื้อของทุกข์ที่เรียกว่าเป็นข้าศึกฝังอยู่ภายในใจนั้น เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วประจำใจ ทุกสิ่งทุกอย่างจึงกลายเป็นเรื่องไม่พอจิตพอใจไปเสียทั้งสิ้น คือกลายเป็นข้าศึกต่อใจไปเป็นลำดับ เมื่อรวมความลงแล้วเรียกว่าข้าศึกของใจ
การรบกับข้าศึกได้แก่ปฏิปทาเครื่องดำเนินตามแนวทางของพระพุทธเจ้า แล้วแต่อุบายวิธีของท่านผู้เป็นนักรบ จะเสาะแสวงหามาบำเพ็ญเพื่อตน หรือจะเสาะแสวงหามาเพื่อต้านทานหรือรบกับข้าศึกโดยวิธีต่าง ๆ และโดยอุบายต่าง ๆ การกระทำความดีทุกประเภทจัดว่าเป็นการต่อสู้สิ่งที่เป็นข้าศึกต่อใจ เช่น การให้ทานก็เป็นข้าศึกกับความตระหนี่เหนียวแน่น เพราะความตระหนี่เหนียวแน่นเกิดขึ้นจากความเห็นแก่ตัว เหล่านี้ท่านเรียกว่าเป็นข้าศึกต่อใจ ทำใจให้มีความคับแคบไม่กว้างขวาง ทำใจให้ขาดเมตตา ทำใจให้เห็นแก่ตัวโดยถ่ายเดียว เพิ่มขึ้นอีกก็คือความได้ไม่พอ มีเท่าไรก็อยากจะให้มี จนไม่สามารถจะนับอ่านได้ภายในตัวผู้เป็นเจ้าของก็ตาม ข้าศึกคือความอยากความเห็นแก่ตัวอันนี้ ก็ยิ่งเพิ่มปริมาณขึ้นเป็นลำดับ ๆ
เพราะฉะนั้นการให้ทานจึงเป็นการต่อสู้กับความตระหนี่เหนียวแน่นเป็นลำดับ ๆ เราไม่ได้ตั้งใจว่าเราจะเอาชนะกับความตระหนี่ เราไม่ได้ตั้งใจว่าเราจะรบกับความตระหนี่เหนียวแน่น แต่เรื่องความตระหนี่เหนียวแน่นก็ไม่ได้ตั้งใจจะต่อสู้กับเรา ต่างคนต่างไม่ได้ตั้งใจจะต่อสู้กัน แต่เรื่องของข้าศึกในหลักธรรมชาติเราก็ทราบแล้วว่าเป็นคู่อริกันมาตั้งแต่ไหน ๆ การบริจาคทานทุก ๆ ประโยคและทุก ๆ ชิ้น ซึ่งเกิดขึ้นมาจากน้ำใจที่มีศรัทธานี้ แม้จะไม่ตั้งใจจะรบหรือต่อสู้กับความตระหนี่ แต่ก็เป็นอุบายวิธีที่จะแก้ไขความตระหนี่ให้หมดสิ้นไปเป็นลำดับ ๆ ตามหลักของธรรมะที่พระพุทธเจ้าประทานไว้
การรักษาศีลเพื่อการระงับความคะนองของกายวาจาใจของเรา ก็มีลักษณะเช่นนั้นเหมือนกัน เพราะเราไม่ได้ถือว่าความคะนองของกายวาจานั้นเป็นข้าศึก แต่ทั้ง ๆ ที่สิ่งเหล่านี้ก็เป็นข้าศึกโดยหลักธรรมชาติของเขา เช่นเดียวกับยาที่นำมารักษาโรคนั่นเอง โรคก็ไม่ได้ถือว่าตัวเองเป็นข้าศึกต่อยา ยาก็ไม่ได้ถือว่าตนเป็นข้าศึกต่อโรค แต่คนไข้เป็นความทุกข์ความลำบาก เมื่อนำยามาแก้และถูกกับโรคแล้ว โรคนั้นก็หายไปเอง การบำเพ็ญคุณงามความดีก็มีลักษณะเช่นเดียวกัน ท่านพูดแยกออกเป็นสมมุติประเภทข้างนอกข้างใน เพื่อเป็นข้อเทียบเคียงให้เราได้ทราบว่า การชนะตนนั้นทำอย่างไรจึงต้องให้มีการชนะตน
เพราะโลกกับธรรมมีสมมุติ เรื่องภายในก็ยกเป็นบุคคลาธิษฐานขึ้นมา ให้ทราบว่าการรบนั้นรบกับอะไรที่เป็นของประเสริฐ ในสถานที่นี่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ว่าให้รบกับตน เพราะทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นมาจากใจจะต้องถือเป็นเรื่องของตน ถือเป็นตนด้วย ถือเป็นเรื่องของตนด้วย ไม่ว่าดีว่าชั่ว ไม่ว่าอาการใด ๆ ที่เกิดขึ้นจากกายวาจาใจของเราที่ผลิตขึ้นมา สิ่งเหล่านี้จะเกี่ยวข้องกับเราเสมอ เมื่อสิ่งเหล่านี้เกี่ยวข้องกับเรา ส่วนใดที่เราเห็นว่าไม่ดีก็พยายามแก้ไขสิ่งเหล่านี้ นั่นท่านเรียกว่าทำการรบ
เฉพาะอย่างยิ่งสำหรับท่านนักปฏิบัติทางใจโดยเฉพาะ หมายถึงการรบกับเรื่องของใจตัวเองโดยเฉพาะไม่ต้องเกี่ยวกับสิ่งภายนอกใด ๆ เลย ใจไม่มีความสงบก็จัดว่าเป็นข้าศึกของใจอันหนึ่ง การอบรมจิตใจเพื่อความสงบ ทั้ง ๆ ที่ใจกำลังมีความฟุ้งซ่านวุ่นวายหรือได้รับความทุกข์ความเดือดร้อนอยู่นั้น นี่ท่านก็เรียกว่าเป็นการรบกับความฟุ้งซ่าน เพื่อผลจะเป็นความสงบขึ้นมาที่ใจ นี่เรียกว่าการรบทั้งนั้น การรบก็ต้องได้ชัยชนะเป็นลำดับ ๆ ไป เช่น ผู้ไม่เคยอบรมจิตใจมาเลย ใจจะหาความสงบเยือกเย็นไม่ได้ ท่านว่าความสงบก็ได้ยินแต่ชื่อ แต่ตนไม่เคยรู้สึกเพราะไม่เคยได้ปฏิบัติและไม่เคยปรากฏผลผ่านทางด้านจิตใจขึ้นมา แต่เมื่อได้รับการอบรม ผลคือความสงบก็ย่อมปรากฏขึ้นมา นี่ชื่อว่าเราปรากฏผลแล้ว จากการบำเพ็ญหรือการรบของเรา
คำว่าผู้ชนะตนนั้นแลเป็นผู้ประเสริฐสุดนั้น หมายถึงความชนะในอารมณ์ทุกประเภท ไม่ว่าส่วนหยาบส่วนกลางส่วนละเอียด กิเลสทุกประเภทไม่ว่าส่วนหยาบส่วนกลางส่วนละเอียด ระงับดับได้ด้วยอำนาจของปฏิปทาคือข้อปฏิบัติ จนสามารถยกจิตให้พ้นจากสิ่งสมมุติที่เคยเป็นข้าศึกต่อใจนี้ได้โดยเด็ดขาด นั้นแลคือท่านผู้ชนะตน คำว่าตนคือความที่เราเคยหมายเอาไว้อันมีอยู่รอบใจของเรานี้แลเรียกว่าตน
เพราะใจที่มีกิเลส จะต้องถือทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวกับตนนี้ว่าเป็นตนทั้งนั้น เพราะฉะนั้นการประกอบความพากความเพียร เพื่อจะให้ใจได้รับความสงบเยือกเย็น เพียงความเหน็ดเหนื่อยเกิดขึ้นก็มีความท้อถอย เกิดความอิดหนาระอาใจ เพราะความเหน็ดเหนื่อยเราก็ถือว่าเป็นเรา นี่ก็กลายเป็นตนขึ้นมา ตนประเภทนี้แลท่านเรียกว่าตนที่เป็นข้าศึกต่อใจ นี่ยกตัวอย่างเพียงใกล้ ๆ เท่านี้ หรือเพียงย่อ ๆ เท่านี้ โปรดได้เทียบไปตามสภาพของเรื่องที่ปรากฏอยู่ภายในใจของเราอย่างกว้างขวางมากมาย นี่ท่านเรียกว่าชนะตน คือชนะสิ่งเหล่านี้ เพราะความท้อแท้อ่อนแอ ความเกียจคร้านเหล่านี้ ประมวลมาแล้วเป็นเรื่องของตนทั้งนั้น ท่านผู้มีความชนะตนโดยเด็ดขาดแล้ว ความเกียจคร้านท่านก็ไม่มี ไม่ทราบจะเกียจคร้านเพื่ออะไร นอกจากท่านอยู่ด้วยอรรถด้วยธรรม คือมีความบริสุทธิ์หมดจดสุดส่วนอยู่เช่นนั้น ท่านผู้นี้เป็นผู้หมดเรื่องหมดราว
ขณะนี้เรากำลังมีโอกาสได้บำเพ็ญคุณงามความดี เพื่อจะชนะเรื่องของตนดังที่กล่าวมานี้เป็นขั้น ๆ ไป นับตั้งแต่ความสงบซึ่งเป็นผลจะควรได้เป็นลำดับ ถึงขั้นปัญญา ปัญญาเคยได้อธิบายให้ท่านผู้ฟังทราบมาหลายครั้งแล้ว คำว่าปัญญานี้มีความกว้างขวางและละเอียดลึกซึ้งไม่มีประมาณ แล้วแต่ท่านผู้จะนำธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่เกี่ยวกับด้านปัญญาอันเป็นรากฐาน เข้าไปแยกแยะพิจารณาและน้อมใจของตนเข้าสู่กับหลักใหญ่นั้น แล้วแปรสภาพหลักใหญ่นั้นออกไปตามจริตนิสัย ที่ควรแก่ปัญญาของตนจะดำเนินไปในทางใด จะเป็นปัญญาไปตามแขนงแห่งความคิดหรือความพิจารณาของท่านผู้นั้นเป็นลำดับ ๆ
การพิจารณาธรรมะ ไม่จำเป็นจะต้องพิจารณาให้กว้างขวางมากมาย สำหรับผู้ต้องการความสงบสุขและความสว่างไสวความเฉลียวฉลาด การถอดถอนสิ่งที่เป็นข้าศึกภายในใจ กายของเราใจของเรานี้ เป็นสิ่งที่สมบูรณ์แล้วสำหรับเป็นสถานที่พิจารณา แต่การจะพิจารณาไปเกี่ยวกับสิ่งภายนอกเพื่อเทียบเข้ามากับเรื่องภายในนั้น เป็นธรรมอันสมควรแก่ท่านผู้ปฏิบัติเหมือนกัน
ปัญญาขั้นต้น หากเราไม่สามารถให้เป็นปัญญาขึ้นมาทีเดียว ก็กรุณาพิจารณาเอาสัญญาเป็นเครื่องคาดหมายไว้ แล้วไตร่ตรองไปตามสภาพความจริงของเขา เราจะแยกออกไปทางข้างนอกถึงสัตว์ถึงบุคคลถึงต้นไม้ภูเขา หรือสภาพทั่ว ๆ ไปที่ได้เห็นด้วยตาได้ยินด้วยหู แล้วเทียบเคียงกันกับตัวของเรา จะมีอะไรเป็นหลักยืนตัวไว้ สำหรับสภาพทั้งหลายเหล่านั้นกับตัวของเรา จะต้องปรากฏเรื่องของไตรลักษณ์เป็นหลักประจำโลกทั่ว ๆ ไป ไม่มีชิ้นใดส่วนใดที่จะเหนือจากหลักของไตรลักษณ์ คือ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา นี้ไปได้เลย
เพราะฉะนั้นหลักของไตรลักษณ์ คือ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา จึงเป็นธรรมรับรองหรือเป็นทางเดินอันราบรื่นของปัญญาผู้ใคร่จะพินิจพิจารณาตาม มองดูสภาพใดชิ้นใดจะเห็นเป็นเรื่องของไตรลักษณ์เต็มอยู่ในชิ้นนั้นสิ่งนั้นไม่มีบกพร่อง เมื่อน้อมเข้ามาถึงกายถึงใจของเราก็ยิ่งเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเกี่ยวกับเราโดยเฉพาะ นับตั้งแต่วันเราอุบัติขึ้นมาถึงบัดนี้ มีความแปรสภาพประจำตนมาตลอดสาย ไม่ปรากฏว่าได้หยุดพักระหว่างทางในชั่ววินาทีหนึ่งเลย แต่เรื่องสภาพเหล่านี้จะต้องดำเนินหรือหมุนตัวไปตามหลักของธรรมชาติอย่างนั้นตลอดมา เป็นแต่เพียงว่าเราไม่สามารถจะทราบสิ่งเหล่านี้ด้วยปัญญาของเรา จึงไม่เห็นตามความจริงของหลักไตรลักษณ์ แล้วก็เป็นเหตุให้ใจของเราฝืนหลักไตรลักษณ์ แล้วนำทุกข์มาเผาผลาญตนเองให้ได้รับความเดือดร้อน
ถ้าพิจารณาให้เห็นตามหลักของไตรลักษณ์จริง ๆ แล้วไม่กว้างขวางอะไรนัก เพียงมองลงไปที่กายที่ใจของเรานี้ ก็จะเห็นเรื่องของไตรลักษณ์ประกาศตัวอยู่ทั้งวันทั้งคืนยืนเดินนั่งนอน ไม่มีเวลาหยุดยั้งตัว พระท่านขึ้นเทศน์บนธรรมาสน์ ถึงเวลาท่านจบธรรมเทศนาแล้วลงจากธรรมาสน์ไป แต่ในหลักธรรมชาติที่มีอยู่ในกายในใจของเรานี้มีอยู่เป็นประจำ แสดงตัวอยู่เป็นเรื่องของไตรลักษณ์ คือ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ประกาศกังวานทั่วทั้งกายทั้งใจของเราอยู่ทุก ๆ ระยะไม่มีเวลาว่างเว้น ผู้มีปัญญาทำไมจะไม่ทราบเรื่องความจริงของสิ่งเหล่านี้ด้วยปัญญาเล่า
การยึดมั่นถือมั่นจนกลายเป็นภูเขาทั้งลูก ทับถมจิตใจให้ได้รับความเดือดร้อนวุ่นวาย หาความสงบสบายใจไม่ได้ ก็เนื่องจากสัญญาความสำคัญมั่นหมาย ยกสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาเป็นตน โดยไม่ทราบว่าสิ่งเหล่านี้เป็นภูเขาทั้งลูกนั่นเอง ใจจึงหาเวลาจะขยับขยายตัวออกจากความทุกข์ความร้อนภายในใจไม่ได้ เนื่องจากตัวได้นำสิ่งเหล่านี้แบกไว้บนบ่าคือบนดวงใจเสมอ การพิจารณาเรื่องของไตรลักษณ์จึงไม่ใช่เป็นเรื่องเล็กน้อย และไม่ใช่เป็นของเล่นด้วย แต่เป็นเรื่องจะถอดถอนความถือว่าตนว่าตัวที่เรียกว่าอัตตา ให้เห็นชัดตามหลักธรรมชาติว่า สิ่งเหล่านี้เป็น อนตฺตา โดยแท้จริง ไม่ควรจะนำตนเข้าไปเคลือบแฝงกับอาการเหล่านี้แม้อาการเดียวพอให้เกิดเป็นภูเขาขึ้นมาทับจิตใจเลย นี่เรื่องของปัญญา
เราทำไมจะชินต่อเรื่องไตรลักษณ์เล่า สิ่งที่ทำให้เราได้รับความทุกข์ความเดือดร้อน ความลำบากภายในจิตในใจ ทำไมเราจึงไม่ชิน ทุกข์เกิดขณะไหนเราก็เดือดร้อนบ่นกันทั่วโลกทั่วสงสาร ถ้าหากว่าเป็นผู้เคยชินต่อทุกข์มาแล้ว โลกนี้ได้เคยผ่านความทุกข์มาเป็นเวลานาน คงไม่มีใครจะบ่นกันว่าทุกข์ว่าเดือดร้อน แต่นี้ไปที่ไหนบ่นกันทั่วดินแดน ก็เพราะความไม่ชินกับทุกข์นั่นเอง เมื่อความทุกข์มาปรากฏในตัวของเราเราไม่ชิน แต่การจะพิจารณาเพื่อถอดถอนตนออกจากความทุกข์ด้วยอำนาจของไตรลักษณ์นี้ ทำไมจะกลายเป็นเรื่องชินขึ้นมา โดยถือว่าเป็นของไม่สำคัญ ถ้าเราเห็นไตรลักษณ์ว่าเป็นของไม่สำคัญ เราก็ควรจะเห็นว่าเรื่องทุกข์ไม่สำคัญ แม้จะเกิดขึ้นเราก็ไม่เดือดร้อน เรื่องของทุกข์เป็นเรื่องของทุกข์ต่างหาก เพราะได้เคยชินและได้ผ่านมาเป็นเวลานาน ไม่ควรจะตื่นเต้นกับเรื่องความทุกข์ความลำบากเหล่านี้
ไม่ว่าท่านว่าเรา ไม่ว่าสัตว์ไม่ว่าบุคคล ไม่ว่าเด็กไม่ว่าผู้ใหญ่ ไม่ว่าคนชาติชั้นวรรณะใดไม่ควรจะบ่นกัน ควรจะอยู่อย่างสบาย ๆ ทุกข์ก็ให้เขาเป็นไปตามเรื่องของทุกข์เพราะชินกับเขามาแล้ว พอทนกันได้แล้วไม่ต้องบ่นกัน แต่นี้ไม่เป็นเช่นนั้น ปรากฏขึ้นมานิดก็ต้องทำใจให้กระเพื่อมให้เกิดความเดือดร้อน มากยิ่งกว่านั้นจนหาที่ปลงที่วางไม่ได้ รับประทานไม่ได้นอนไม่หลับ ถึงกับต้องรับประทานยาระงับประสาท รับประทานยาระงับมากเท่าไรก็ยิ่งขนทุกข์เข้ามามากเท่านั้น บางทีถึงกับตัดสินตัวเองไปในทางที่ผิด โดยกินยาฆ่าตัวตายบ้างเพื่อหวังครองสุขในชาติหน้า แต่ไม่ทราบความหมายว่า ทุกข์ในชาติหน้านั้นจะอยู่ในที่เช่นไร และใครเป็นผู้จะหลุดออกจากทุกข์ในชาติหน้านั้น
เพราะชาติหน้ากับชาตินี้ก็คือเรื่องของใจเป็นผู้ได้รับทุกข์ เมื่อไปชาติหน้าหากใจดวงนี้ยังเป็นทุกข์อยู่แล้ว เราจะหวังครองสุขมาแต่ที่ไหน เพราะไม่มีทุกข์ที่ไหนปรากฏตัวขึ้นมาเอาเฉย ๆ และไม่มีสุขที่ไหนพึ่งจะปรากฏตัวขึ้นมาเป็นสมบัติอันล้นค่าแก่บุคคลผู้ต้องการ แล้วจะได้เข้าครอบครองเสียทีเดียว โดยไม่ต้องบำเพ็ญเหตุเพื่อความสุขอันนั้นขึ้นมา ที่เราจะพิจารณาถึงเรื่องหลักความจริงที่ท่านสอนไว้นี้ ก็เพื่อจะถอนเหตุที่จะทำให้เกิดความทุกข์ความลำบาก ได้แก่ความยึดมั่นถือมั่นสำคัญผิดภายในตัวของเราออกด้วยอำนาจของปัญญา ตรองไปตามทางสายไตรลักษณ์ที่เดินไปเช่นนั้น ให้เห็นจริงตามหลักของไตรลักษณ์จริง ๆ
ส่วนใดที่เห็นว่าเป็นทุกข์ไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เป็นสิ่งที่จะทำความสนิทติดใจกับสิ่งนั้น เราก็จะได้ทำความรู้สึกตัวของเราและหาทางออก ก็มีนัยเช่นเดียวกันกับเรื่อง อนิจฺจํ เรื่อง อนตฺตา มีชิ้นไหนบ้างที่จะถือเป็นเราเป็นของเราได้ ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ นี้เป็นสมบัติของใคร ไม่ปรากฏว่าเป็นสมบัติของใครซึ่งควรจะเรียกว่าเป็นอัตตาได้ แม้จะมาอาศัยเป็นสภาพร่างกาย ก็อาศัยกันชั่วระยะกาลเท่านั้นตามกรรมนิยม แม้จะอาศัยกันอยู่ ความแปรสภาพแห่งธาตุขันธ์อันนี้ก็แปรไปอยู่ตามเรื่องของเขา ทั้ง ๆ ที่เราก็เป็นเจ้าของอยู่ เขาไม่ได้ฟังเสียงเราเลย หน้าที่ของเขาก็แปรตามสภาพ หน้าที่ของเขาก็แสดงความทุกข์ไปตามหลักความจริงของเขา
เรื่องธรรมะ อนตฺตา ที่ว่าไม่ใช่ใครนั้น ใครจะเสกสรรปั้นยอว่าเป็นของใครก็ตาม เขาก็คือเรื่องของเขาอยู่นั้นเอง ไม่ได้เป็นอื่นไปจากความเป็นเช่นนั้น พอที่จะเสกสรรปั้นยอกันให้ได้รับความหนักหน่วงถ่วงจิตใจของตนและเสียประโยชน์ไปเปล่า ๆ โดยไม่ได้รับประโยชน์อะไรจากความเสกสรรปั้นยอนั่นเลย นี่การพิจารณาปัญญาพิจารณาอย่างนี้
เราดูใกล้ ๆ ดูในอวัยวะของเรานี้ ชิ้นไหนบ้างที่ว่าจะเป็นตัวจริง ๆ ดูชิ้นเล็กชิ้นน้อยไปถึงชิ้นใหญ่ ดูชิ้นไหนก็จะสักแต่ว่าเป็นชิ้นนั้น ๆ อยู่เท่านั้น แม้ในขณะที่ครองกันอยู่เช่นนี้ นี่เป็นปัญญาขั้นหนึ่งที่เราจะได้เรียนรอบรู้เรื่องของขันธ์ คือรูปขันธ์ของเราที่อยู่ด้วยกัน ทรัพย์สมบัติอยู่ในบ้านของเรามีมากมีน้อย เรายังรู้จักว่าทรัพย์สมบัติประเภทไหนมีคุณค่ามากมีคุณค่าน้อย และมีจำนวนเท่าไร ควรจะทำประโยชน์จากสมบัตินั้น ๆ อย่างไรบ้างตามหน้าที่ของเขา สมบัติภายในตัวของเราได้แก่ร่างกาย เราก็ควรจะพิจารณาตามหลักธรรมให้ทราบชัด ว่าส่วนไหนเป็นอย่างไรเป็นต้น ปัญญาก็จะได้มีทางเดินออกจากความเป็นชิ้นเป็นอันที่เรียกว่าอัตตา ความหายกังวลก็จะมีกำลังเพิ่มขึ้นมา นี่เรื่องของปัญญาใช้ในสงคราม เรียกว่าสงครามธรรมะ ระหว่างกิเลสกับเรา
กิเลสไม่ใช่อื่นไกล คือเรื่องความสำคัญมั่นหมายที่ผิด และกลายเป็นพิษต่อตัวของเรานั้นแลท่านเรียกว่ากิเลส การพิจารณาแก้ไขปลดเปลื้องตามหลักธรรมของพระพุทธเจ้า นั่นเป็นการรบที่ถูกต้องและได้ชัยชนะไปเป็นลำดับ เรื่องเวทนาเป็นนามธรรม สุขท่านก็เรียกว่าเวทนา ทุกข์ก็เรียกว่าเวทนา เฉย ๆ ไม่สุขไม่ทุกข์ก็เรียกว่าเวทนา เวทนาทั้งสามประเภทนี้มีได้ทั้งทางกายและทางใจ นี่ก็เป็นสภาพอันหนึ่งจากกาย และสภาพทั้งสามนี้ก็เดินทางไปสายเดียวกันกับร่างกายที่เดินไป คือมีความแปรสภาพเป็นลำดับ และเป็นทุกข์สำหรับผู้หลงในเวทนาทั้งสามประเภทนี้ ทั้งไม่ใช่เป็นใครเป็นของใครด้วย พอจะให้นามว่าเป็นตนเป็นของตน
ท่านจึงกล่าวไว้ว่า เวทนา อนตฺตา บอกไว้อย่างชัด ๆ เวทนา อนตฺตา ไม่ใช่ตนนะ อย่าเข้าไปอาจเอื้อม และอย่าไปทำความสนิทติดใจถือมาว่าเป็นตน หากสิ่งเหล่านี้สลายตัวไปแล้วจะเสียใจ พูดง่าย ๆ อย่าไปแตะต้อง ไฟเราทำประโยชน์อย่างอื่นได้เมื่อเราฉลาด แต่ถ้าเราไปจับต้องกับไฟแล้วจะกลายเป็นความร้อนขึ้นมา ขันธ์นี้ก็ทำประโยชน์ได้สำหรับผู้มีความฉลาดรอบขันธ์ แต่ถ้าเผลอตัวเข้าไปไม่รอบคอบต่อขันธ์ของตน จะกลายเป็นทุกข์เพราะขันธ์อันนี้เป็นตัวเหตุเหมือนกัน
เวทนามีลักษณะเช่นใด เรื่องสัญญา สังขาร วิญญาณ มีลักษณะเช่นเดียวกัน พอปัญญาสอดส่องมองทะลุในอาการใดอาการหนึ่งเท่านั้น จะวิ่งทั่วถึงกันหมดเพราะเป็นสภาพอันเดียวกันและเดินทางสายเดียวกันด้วย ไม่ควรจะไปติดจมอยู่กับอาการใด ๆ ในบรรดาขันธ์ทั้งห้านี้ สำหรับผู้มีปัญญาจะไตร่ตรอง จะเห็นทางเดินอยู่เสมอ ทุกสิ่งทุกอย่างจะสัมผัสขึ้นที่ใจ ถ้าได้มองดูใจแล้วจะเห็นเรื่องทุกอย่างที่ปรากฏขึ้นกับใจตลอดเวลา ปัญญาจะมีทางเดินและมีทางแก้ไข นอกจากจะถือสิ่งเหล่านี้เป็นข้าศึกโดยไม่หาทางออกเท่านั้น แล้วกลายเป็นทุกข์ขึ้นมาโดยไม่รู้สึกตัว ถ้าปัญญาได้สอดส่องลงไปที่ไหน แม้สิ่งที่เป็นข้าศึกก็กลายเป็นคุณขึ้นมา เพราะกลายเป็นหินลับของปัญญาให้ได้รับอุบาย แล้วถอดถอนตัวขึ้นมาได้เป็นลำดับ ๆ
การปรากฏตัวมาเป็นรูปเป็นกาย ไม่มีสาเหตุจะปรากฏตัวขึ้นมาเฉย ๆ ไม่ได้ เมื่อรูปกายปรากฏขึ้นมา เพราะเหตุใด เรื่องขันธ์ทั้งสี่ คือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งออกมาจากใจ ก็ต้องปรากฏขึ้นมาเช่นเดียวกัน เพราะขันธ์ทั้งห้านี้ทั้งหมดออกมาจากใจ การพิจารณาให้รู้เรื่องของสิ่งเหล่านี้ประจักษ์ด้วยปัญญา โดยความเป็นไตรลักษณ์อย่างชัดเจนแล้ว จิตจะไม่มีทางฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมไปที่ไหนจนเลยขอบเขต และไม่เป็นสิ่งที่จะเหนืออำนาจของปัญญา ที่จะตามขุดค้นให้เห็นชัดได้ในวันหนึ่ง ถ้าใช้ปัญญาอยู่เช่นนี้แล้ว ไม่ว่าเรื่องดีเรื่องชั่วเกิดขึ้น จะเห็นเป็นธรรมเทศนาเครื่องพร่ำสอนตนเองตลอดไป แต่ถ้าเรารังเกียจต่อทุกข์ที่มาปรากฏกับใจ นั่นจะเป็นเรื่องสมุทัยขึ้นมา ทุกข์นั้นจะมีกำลังมากขึ้น
ทุกข์เกิดขึ้นก็ให้ทราบว่าเรื่องของทุกข์ สุขเกิดขึ้นก็ให้ทราบว่าเรื่องของสุข ไม่ใช่เรื่องของเรา เรื่องของเรามีทางเดียวที่จะพิจารณาให้รู้เรื่องของสุขและทุกข์ที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไป และให้ทราบว่าธรรมทั้งสองประเภทนี้เกิดขึ้นมาจากไหน ต้องสอดส่องมองดูอยู่เช่นนั้น สิ่งใดที่มีอยู่จะต้องแสดงขึ้นมากับใจ ปัญญาที่คอยเฝ้าพิจารณาอยู่นั้น จะต้องได้รับอุบายโดยลำดับ และยังจะมีความละเอียดเข้าไปเป็นขั้น ๆ ของปัญญา กิเลสละเอียดขนาดไหน ปัญญาที่ทำความฝึกซ้อมกับสิ่งที่มาสัมผัสกับใจและรับรู้ด้วยใจหรือรับรู้ด้วยสติ ทำการวินิจฉัยด้วยปัญญา จะต้องทราบไปเป็นลำดับ ๆ
จุดสมมุตินับตั้งแต่วงกว้างเข้าไปเป็นลำดับจนถึงวงแคบ ปัญญาจะทราบเข้าไปตลอดสายจนสุดที่สุดของสมมุติถ้าปัญญาไม่ถอยหลัง ข้อสำคัญขอให้ถือสิ่งที่มาสัมผัส สิ่งที่ปรากฏขึ้นกับใจเป็นเป้าหมายและเป็นเครื่องพิจารณาของใจ อย่าถือเป็นความท้อใจ อย่าถือเป็นความดีใจเสียใจกับสิ่งที่ปรากฏขึ้นมา ให้เห็นว่าเป็นสภาพอันหนึ่ง ๆ ซึ่งเป็นทางที่เราจะต้องผ่านไปในแถวนี้เท่านั้น ปัญญาถ้าไม่ผ่านไปกับสิ่งที่มาปรากฏ จะไม่มีทางเดินสำหรับปัญญาขั้นละเอียด แม้แต่ปัญญาขั้นหยาบก็ยังต้องอาศัยสิ่งที่ปรากฏเป็นเครื่องพิจารณา เมื่อเข้าถึงขั้นละเอียดแล้วปัญญาจะหนีจากขอบเขต คือเรื่องของจิตกับอาการที่เกิดขึ้นจากจิตเป็นเรื่องพิจารณาไปไม่ได้ ต้องพิจารณาลงที่จุดนั้น นี่ละการรบตัวเองรบอย่างนี้
ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราเคยถือว่าเป็นเรา จะเสื่อมคลายหายไปเป็นลำดับ ๆ นับตั้งแต่กองรูป เมื่อปัญญาสอดส่องมองทะลุเห็นชัดตามเป็นจริงของไตรลักษณ์ที่วางไว้แล้วอย่างตายตัว และมีอยู่อย่างตายตัวภายในตัวของเรานี้ ใจจะถอดถอนตัวเองเข้าไปจากสิ่งเหล่านี้ว่าเป็นตน และถอดถอนจากขันธ์ ๔ คือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เข้าไป เพราะความเห็นว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ตนโดยชัดแจ้งด้วยปัญญา
เบื้องต้นของสมมุติอยู่ที่ไหน อันนี้เป็นผลของสมมุติขั้นหนึ่ง ๆ รูปกายเป็นเรื่องสมมุติขั้นหนึ่ง เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นสมมุติขั้นหนึ่ง ความที่รู้อยู่นั้นคืออะไร ถ้ารู้อยู่ในวงสมมุติก็ชื่อว่านั้นแลเป็นสมมุติ แม้จะให้ชื่อว่าจิตเป็นของประเสริฐก็ตาม แต่ก็ประเสริฐเพียงแต่ชื่อเท่านั้น ตัวจิตเองยังเป็นรังของสมมุติ ยังเป็นพื้นฐานที่สมมุติจะต้องเกิดขึ้น หรือเป็นเขียงรองสมมุติ ไม่จัดว่าเป็นจิตที่ประเสริฐได้ ปัญญาต้องฟาดฟันลงไปที่จุดนั้น
จิตที่รวมตัวอยู่เพราะอำนาจของปัญญาได้ตะล่อมเข้าไป นั่นเป็นจิตที่สำคัญ โปรดพิจารณาให้ดี เรื่องของจิตที่ท่านให้ชื่อว่าอวิชชาจริง ๆ จะเป็นที่พึงพอใจสำหรับนักบำเพ็ญทั้งหลายโดยไม่รู้สึกตัว พูดถึงความละเอียดอ่อนก็คล้ายจะสุดวิสัย พูดถึงเรื่องความสุขก็เป็นสิ่งที่น่าติดอย่างยิ่ง พูดถึงเรื่องความสว่างไสวก็เป็นที่น่าพอใจอย่างยิ่ง นี้แลคือเรื่องของอวิชชาที่แท้จริง หากไม่เป็นเรื่องที่มีกลมายาอันละเอียดขนาดนั้นแล้วใครจะไปติดได้เล่า แต่ถ้าปัญญามีความแหลมคมเพราะการบำเพ็ญอยู่เสมอ และไม่ไว้ใจกับสิ่งใดที่ปรากฏตัวขึ้นมาแล้ว เรื่องที่กล่าวมาทั้งหมดนี้คือเรื่องที่ปรากฏตัว จะต้องถูกปัญญาพิสูจน์กันอย่างแน่นอนจนเห็นผลชัดเจนขึ้นมากับปัญญา
สิ่งที่กล่าวมาซึ่งเรียกว่าเป็นสิ่งที่ปรากฏนี้จะทนตัวอยู่ไม่ได้ เมื่อปัญญาไม่ทำความนอนใจถือสิ่งเหล่านี้ว่าเป็นตนหรือเป็นสิ่งที่พอหรือสมใจแล้ว ธรรมชาตินี้จะตั้งอยู่ไม่ได้ เมื่อปัญญาได้ขุดค้นอยู่ทุกระยะโดยไม่ทำความไว้ใจกับสิ่งใด ๆ ทั้งนั้นขึ้นชื่อว่าปรากฏขึ้นมาแล้ว จะต้องเป็นสิ่งที่ดับไปด้วยกันทั้งนั้น ปัญญาถ้าทำความระวังตัวอยู่เสมอเช่นนี้ จะได้เห็นเรื่องของสมมุติที่ละเอียดเข้าไปเป็นลำดับ ๆ จนถึงสุดความละเอียดของสมมุติแล้วก็กลายเป็นวิมุตติขึ้นมา วิมุตตินั้นไม่ใช่เป็นสิ่งที่ปรากฏขึ้น แต่เป็นสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติของตน หากอาศัยสิ่งที่เป็นสมมุติเข้าปกคลุมหุ้มห่อแล้วเป็นเครื่องล่อลวงจิตใจหรือปัญญาที่ยังไม่สามารถเท่านั้น เมื่อปัญญาได้มีความสามารถเต็มที่แล้ว สิ่งนี้ก็เปิดเผยออกไป ธรรมชาตินั้นซึ่งเป็นของดั้งเดิมไม่ปรากฏว่าแสดงขึ้นมาจากที่ไหน แต่มีอยู่ที่นั้นมาดั้งเดิม
ขณะที่สมมุติจะแปรสภาพตัวเองออกอย่างเต็มที่ก็เป็นเรื่องที่อัศจรรย์ เพราะสภาพนี้เคยฝังจิตมาเป็นเวลานาน จนไม่ทราบว่าฝังมาแต่เมื่อไร พอสภาพนี้ได้สลายตัวลงไปเท่านั้น จึงเป็นเหมือนกับว่าเราได้เกิดชาติใหม่ขึ้นมา ทั้ง ๆ ที่เป็นผู้ดับชาติในขณะนั้นนั่นเอง คือเกิดชาติใหม่นั้นเทียบเหมือนกับว่า ชาติเก่าเราเป็นชาติเกิดแก่เจ็บตาย ชาตินี้เป็นชาติดั้งเดิม ไม่ปรากฏว่าเป็นความเกิดแก่เจ็บตายอีกต่อไป ชาติก่อนเป็นชาติสมมุติ ชาตินี้เป็นชาติวิมุตติ ชาติก่อนเป็นชาติที่เคยแพ้มาอย่างหลุดลุ่ย แต่ชาตินี้เป็นชาติที่ชนะอย่างประเสริฐ ถ้าเราจะเทียบชาติก็เทียบได้อย่างนี้ แต่ไม่ใช่ชาติ เราพูดตามหลักของสมมุติ ไม่เช่นนั้นก็ไม่เข้าใจ และไม่มีข้อเทียบเคียงก็ไม่แจ่มแจ้ง นี่คือผู้ชนะตน
เมื่อได้ทำความชนะตนถึงขนาดนี้แล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างเราจะไม่เห็นสิ่งใดว่ามีความประเสริฐกว่าความชนะตนนี้ทั่วทั้งไตรโลกธาตุ เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าผู้เป็นบรมศาสดา ซึ่งได้ทรงชนะถึงแดนธรรมอันประเสริฐมาแล้ว จึงสามารถประกาศว่า การชนะตนนั้นแลเป็นดี ตนทั้งหมดที่เราชนะนั้นเป็นตนของสมมุติทั้งนั้น ไม่ใช่เป็นตนของวิมุตติ พูดง่าย ๆ ก็คือว่าตนเหล่านี้เป็นข้าศึกแก่ตัวของเรา พอตนเหล่านี้ได้สลายตัวลงไป นั่นชื่อว่าเป็นผู้ชนะตน คือชนะตนในวงของสมมุติกลายเป็นวิมุตติขึ้นมา นี่จะเรียกว่าตนหรือไม่เรียก หมดปัญหาที่จะพูดกัน
ดังนั้นขอให้ท่านผู้เป็นนักรบทั้งหลาย โปรดได้ทำความพยายามทำสงครามต่อเรื่องของเรา ให้ได้เห็นผลไปเป็นระยะ ๆ ดังที่อธิบายมา เมื่อการบำเพ็ญของเราทั้งหลายยังเป็นไปอยู่ก็ชื่อว่า เป็นเช่นเดียวกันกับเด็กที่ได้รับการบำรุงส่งเสริมจากผู้ใหญ่ จะมีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นไปเป็นลำดับ ๆ จนกลายเป็นผู้ใหญ่ได้อย่างเต็มที่ จิตที่ได้รับการอบรมส่งเสริมด้วยวิธีที่ชอบ จะต้องเป็นไปเพื่อความเจริญรุ่งเรืองเป็นลำดับ ๆ จนถึงขั้นชนะตนอันประเสริฐสุด
ฉะนั้นในอวสานแห่งธรรมที่แสดงมานี้ จึงขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัย คือ พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ตามคุ้มครองท่านทั้งหลายให้มีความสะดวกทั้งทางกายและทางใจ ทั้งมีความสะดวกต่อการประพฤติปฏิบัติ อย่าได้มีอุปสรรคสิ่งใด ๆ มากีดขวางทางดำเนิน ทั้งการครองชีพและด้านธรรมะซึ่งเป็นอาหารสำคัญของใจ ที่จะนำไปเพื่ออนาคตโดยทาง สุคโต จึงขอยุติธรรมเทศนาเพียงเท่านี้ เอวัง