สมบัติของพระแท้
วันที่ 29 มิถุนายน 2544
สถานที่ : สวนแสงธรรม กรุงเทพมหานคร
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :

ค้นหา :

เทศน์อบรมพระ ณ สวนแสงธรรม กรุงเทพมหานคร

เมื่อวันที่ ๒๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๔๔

สมบัติของพระแท้

วันนี้เป็นวันมหามงคลแก่ชาวพระสงฆ์และพี่น้องทั้งหลาย ที่มารวมกันในสถานที่นี่ เป็นโอกาสอันดีงามที่พวกเราทั้งหลาย จะได้สนทนาปราศรัยฟังอรรถฟังธรรม นำไปประพฤติปฏิบัติ เป็นเครื่องระลึกให้เป็นสิริมงคลแก่ตัวตลอดไป เพราะนาน ๆ จะได้มาพบกันสักทีหนึ่ง รวมกันอย่างที่รวมกันวันนี้หาได้ยาก เพราะต่างคนต่างมีหน้าที่การงานยุ่งเหยิงวุ่นวายตลอด ๆ ตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั่งหลับ ๆ กงจักรของวัฏจักรอันนี้มันหมุนอยู่ภายในจิตใจทั่วโลกดินแดน เพราะฉะนั้นโลกจึงหาความสงบสุขได้ยาก

วันนี้มาทั้งสองภาค ภาคประชาชนและภาคบรรพชิตคือนักบวชเรา ได้มีโอกาสสละเวล่ำเวลาหน้าที่การงานมาบริจาคทานและฟังอรรถฟังธรรม จึงเป็นโอกาสที่ดีเลิศแล้วเวลานี้ อย่าปล่อยให้โอกาสนี้เสียไป ให้ต่างคนต่างฟังด้วยความถึงใจใคร่ต่อการปฏิบัติตามทั่วหน้ากัน เราจะปรากฏผลประโยชน์ขึ้นภายในจิตใจของเรา ซึ่งได้มาจากการได้ยินได้ฟัง วันนี้พระสงฆ์ก็มาเป็นจำนวนมาก ที่อยู่ในป่าก็เยอะ อยู่ในบ้านก็มี อยู่ในป่าก็มี ตามหลักประเพณีที่เคยเป็นมาแต่ครั้งพุทธกาลว่า อรัญญวาสีและคามวาสี ผู้อยู่ในบ้านใกล้บ้าน ผู้อยู่ในป่า มีทั้งสองภาควันนี้มารวมกัน จึงขอให้พากันตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดี

การเทศนาว่าการสั่งสอนพระ ผมก็ไม่ค่อยได้สั่งสอนมาเป็นเวลานาน ยิ่งเริ่มออกช่วยชาติบ้านเมืองนี้แล้ว ประหนึ่งว่าไม่ได้สนใจสอนพระเลย สอนแต่ประชาชนทั่วประเทศเขตแดน จนไม่มีเวล่ำเวลา กำลังวังชาก็ลดอ่อนถอยลงไปทุกวัน ๆ แล้ววันนี้เป็นโอกาสอันดีของท่านทั้งหลาย ซึ่งส่วนมากก็เป็นพระลูกพระหลาน ไม่ค่อยได้ยินขนบประเพณี ที่ครูบาอาจารย์ทั้งหลายท่านพาดำเนินมาสมัยปัจจุบัน ในวงกรรมฐานเรา จึงเป็นโอกาสที่จะได้ชี้แจงให้ท่านทั้งหลายพอทราบได้ไม่มากก็น้อยในวันนี้

ขนบประเพณีของพระป่าท่าน นับตั้งแต่ครั้งพระพุทธเจ้าลงมา นี่ให้ฟังให้ดีในจุดนี้ ครั้งพระพุทธเจ้าอันเป็นศาสดาเอกในโลก ทรงบำเพ็ญพระองค์อยู่ในป่า ตั้งแต่วันเสด็จออกทรงผนวช บำเพ็ญด้วยความทุกข์ความทรมานอยู่ในป่าเป็นลำดับลำดามา ไม่ปรากฏว่าพระองค์ได้รับความสะดวกสบายในพระกายและพระจิต มีตั้งแต่การบำเพ็ญสมณธรรมตลอด โดยไม่คำนึงถึงความลำบากลำบน ซึ่งเคยเป็นมาเกี่ยวข้องกับฆราวาส จะทำให้คิดถึงบ้านถึงเรือนลูกเต้าหลานเหลน พวกบริษัทบริวารเหล่านี้ ท่านถึงจะคิดท่านก็ไม่ได้หนักแน่น ยิ่งกว่าการคิดเพื่อบำเพ็ญพระองค์ให้ได้ตรัสรู้เป็นศาสดาเอกของโลก แล้วสั่งสอนสัตวโลก จะได้ผลประโยชน์มากยิ่งกว่าการที่เรามากังวลวุ่นวายกับเรื่องที่เคยเป็นมาแต่ก่อน ซึ่งเป็นขณะที่เราบำเพ็ญธรรมอยู่นี้ด้วยแล้วจึงไม่สมควร

พระองค์ก็ทรงฟันฝ่าอุปสรรค บำเพ็ญพระองค์ทุกวิถีทางตามพระนิสัยของสยัมภู ซึ่งจะรู้เองเห็นเอง ไม่ต้องศึกษาปรารภกับผู้หนึ่งผู้ใด พระองค์ก็ทรงบำเพ็ญได้รับความทุกข์ความลำบาก นี่สรุปลงจนได้ตรัสรู้เป็นศาสดาเอกของโลกขึ้นมา นี่ท่านตรัสรู้ในป่า ต้นเหตุทรงบำเพ็ญในป่า เพราะป่าเป็นที่สงบงบเงียบ ปราศจากสิ่งรบกวนทั้งหลาย มีแต่การกำจัดปัดสิ่งที่เคยรบกวนอยู่ภายในพระทัยออกโดยลำดับลำดา จนได้ตรัสรู้ แล้วทรงสั่งสอนบรรดาภิกษุบริษัท จนกลายเป็นสาวกขึ้นมาเป็นลำดับลำดา

สรุปความที่สอนมาจนกระทั่งถึงบัดนี้ ตั้งแต่ต้นมาเรื่อยๆ ว่า รุกฺขมูลเสนาสนํ นิสฺสาย ปพฺพชฺชา ตตฺถ เต ยาวชีวํ อุสฺสาโห กรณีโย บรรพชาอุปสมบทแล้ว ให้ท่านทั้งหลายไปเที่ยวอยู่ตามรุกขมูลร่มไม้ ในป่าในเขาตามถ้ำเงื้อมผา ป่าช้าป่ารกชัฏอันเป็นที่กำจัดกิเลสได้ง่ายกว่าป่าธรรมดา หรือที่ธรรมดาทั่ว ๆ ไป ขอให้ท่านทั้งหลายจงทำความอุตส่าห์พยายามบำเพ็ญอยู่อย่างนี้ตลอดชีวิตเถิด นี่แปลตามพระโอวาทที่ทรงสั่งสอนบรรดาภิกษุทั้งหลายเรื่อยมาตั้งแต่ต้นพุทธกาล จนกระทั่งถึงบัดนี้ และไม่เคยลดละ ไม่เคยให้ขาดวรรคขาดตอนไปเลย ในบรรดาธรรมที่ทรงแสดงไว้แล้วนี้

เพราะฉะนั้นเวลาบวชแล้ว ท่านจึงสอนให้ไปอยู่ในป่าในเขา เพราะพระที่บวชแล้วนั้นเป็นผู้เสียสละในสมบัติที่เคยคลุกเคล้ากันมาเป็นเวลานานตั้งแต่วันเกิดมา มีตั้งแต่เรื่องยุ่งเหยิงวุ่นวายกับการบ้านการเรือนสมบัติเงินทองข้าวของ ซึ่งเป็นเครื่องยุ่งเหยิงสำหรับผู้ออกบวช ท่านให้ตัดออกหมด แล้วให้บำเพ็ญอยู่ในสถานที่ดังกล่าวนี้

ป่าคนกับป่าไม้ต่างกัน ป่าคนเป็นที่ยุ่งเหยิงวุ่นวาย ไม่ว่าใครก็ตาม แม้แต่พระอยู่ด้วยกันเป็นจำนวนมาก ยังเป็นความกังวลขึ้นมาได้ ไม่ต้องพูดถึงฆราวาสประชาชนญาติโยมเข้ามาเกี่ยวข้องเลย ตั้งแต่พระเราอยู่มาก ๆ ก็ไม่เหมาะสม ต้องทยอยกันออกไปบำเพ็ญในสถานที่ต่างๆ ตามแต่อัธยาศัยของท่านผู้ใดจะอยู่ในสถานที่ใด ซึ่งเป็นสถานที่งบเงียบ ปราศจากสิ่งก่อกวนทางรูป ทางเสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัสประเภทต่าง ๆ ซึ่งส่วนมากมักเป็นภัยทั้งนั้น ให้อยู่โดยลำพัง

คำว่า บำเพ็ญ นั้นคือบำเพ็ญอย่างไร ? นี่แหละเป็นของสำคัญ อยู่ในป่า สัตว์เขาก็อยู่ในป่า ไม่เห็นได้รับความเลิศเลออะไร ใคร ๆ ก็เคยอยู่ในป่าก็ไม่ได้รับความเลิศเลอ แต่อยู่ในป่าตามพระโอวาทคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านี้ ทรงให้อยู่บำเพ็ญศีลธรรมภายในตัวเอง คือวิธีการบำเพ็ญนั้น ให้ระมัดระวังสิ่งภายนอกรูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส ให้ไปหลบซ่อนอยู่ในป่าในเขาอันเป็นทำเลที่เหมาะสม แล้วเจริญสมณธรรม

สมณธรรม แปลว่า ธรรมเป็นเครื่องสงบอารมณ์เครื่องก่อกวนทั้งหลาย แล้วบำเพ็ญธรรม นี่แหละจุดนี้เป็นจุดสำคัญที่เราทั้งหลายนักภาวนาจะไม่ค่อยเข้าใจกัน จึงถือโอกาสแสดงให้พระลูกพระหลานทั้งหลายฟัง ในฐานะที่หลวงตาได้เคยผ่านมาอย่างโชกโชนแล้วในการภาวนา ตามสถานที่และอารมณ์แห่งธรรมที่ได้บำเพ็ญมานี้ พอได้เป็นคติตัวอย่าง ให้เป็นที่ยึดที่เกาะแก่ผู้เริ่มบำเพ็ญ

คือการบำเพ็ญจิต ตามธรรมดาของจิต จะมีแต่ความยุ่งเหยิงวุ่นวาย มีแต่อารมณ์เกิดขึ้นภายในจิต จากการผลักดันของ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา เป็นสังขารประเภทต่าง ๆ คือปรุงแต่งเรื่องราวต่าง ๆ ไม่หยุดไม่ยั้ง สัญญา ความจำได้หมายรู้ก็แทรกไปตาม ๆ ก่อตั้งแต่ความกังวลวุ่นวายให้ใจอยู่เสมอ นี่เป็นปรกติของใจ ไม่ว่าเป็นนักบวชหรือฆราวาส ทีนี้เรามาเป็นนักบวชแล้วเพื่อบำเพ็ญธรรมเข้าสู่ใจ จึงต้องได้มีธรรมเป็นเครื่องกำกับ เพื่อจะระงับความคิดปรุงทั้งหลายเหล่านี้ด้วยบทธรรม ถ้าระงับเฉย ๆ จะระงับไม่ได้ ต้องอาศัยบทธรรม

เพราะจิตทำหน้าที่อันเดียว ไม่มีงานอื่นใดเข้ามาแทรกในขณะที่ทำหน้าที่อันเดียวอยู่นั้น งานสองเข้ามาก็เรียกว่า แย่งงานกันแล้ว ต้องให้มีงานอันเดียว คือเราเจริญจิตใจด้วยบทภาวนา นี่ผู้ฝึกหัดเบื้องต้นนะ ให้ฝึกหัดภาวนาอบรม มีคำบริกรรมเป็นเครื่องกำกับใจอยู่เสมอ เราอย่าปล่อยคำบริกรรม อย่างหนึ่งเห็นว่า ไม่ทันการณ์ แล้วหนักเข้าไปกว่านั้นเลยกลายเป็นว่าเห็นว่าครึไปเสีย เราคิดนึกแบบเรียนลัดให้จิตสงบไปเอง ๆ อย่างนี้ดีกว่า นี่เป็นความอุตริอันหนึ่งของจิต มันเกิดมาเรื่อย ๆ เพราะมันชอบอุตริชอบทะนงตัว เมื่อธรรมแทรกเข้าไป มันจึงต้องปัด ทั้ง ๆ ที่ธรรมเป็นความถูกต้องดีงาม มันยังต้องปัดจนได้ แล้วก็เรียนลัด นึกแต่ความรู้เฉย ๆๆ ให้สติอยู่กับความรู้ ๆ มันก็ไม่เป็นหลักเป็นเกณฑ์อะไรเลย เพราะสติเผลอได้ง่าย เมื่อสติเผลอความรู้ก็ถูกกิเลสลากให้เถลไถลไปในที่ต่าง ๆ ตามอารมณ์ที่เคยคิดเคยปรุงนั้นแล แล้วก็กลายเป็นกิเลสล้วน ๆ ขึ้นมาแทนที่ที่เราว่าเราภาวนา

เพราะฉะนั้นเพื่อกำจัดอันนี้ลงไป ให้ได้ผลในการภาวนาเท่าที่ควรในเบื้องต้น จึงขอให้ยึดคำบริกรรมไว้ให้ดี คำบริกรรมในกรรมฐาน ๔๐ ห้องนั้น ควรแก่ทั้งสมถธรรมทั้งวิปัสสนาธรรม ควรแก่กันได้ทั้งนั้น แล้วแต่ขั้นภูมิของจิตที่จะแยกแยะคำบริกรรมหรือกรรมฐาน ๔๐ ซึ่งเคยบริกรรมเป็นสมถธรรมนี้ ให้กระจายเป็นวิปัสสนาธรรมขึ้นได้ ตามขั้นตามภูมิของตน แล้วเราก็เปลี่ยนแปลงธรรมเหล่านี้ไปทางวิปัสสนาด้านปัญญาได้

ในเบื้องต้นเราจะยึดอะไร เช่นกรรมฐาน ๔๐ เราจะเอาอะไร เช่น พุทโธ ธัมโม สังโฆ หรือ อนุสสติ ๑๐ อสุภะ ๑๐ อย่างนี้เป็นต้น พุทโธ นี้เรียกว่า อนุสสติ ๑๐ เราจะนึก พุทโธก็ได้ ธัมโมก็ได้ สังโฆก็ได้ หรือ อานาปานสติก็ได้ แล้วให้ตั้งสติด้วยดีกำกับคำบริกรรมนี้ไว้กับจิตตนเอง อย่าถืองานอื่นงานใดว่าเป็นงานสำคัญยิ่งกว่างานบริกรรม ที่กำกับด้วยสติอย่างเข้มงวดกวดขันนี้ นี่เรียกว่าประกอบความเพียร ยืนเดินนั่งนอน ให้มีคำบริกรรมติดแนบอยู่กับใจตลอดเวลาด้วยสติ นี่สำหรับเราเป็นนักบวช ซึ่งไม่มีหน้าที่การงานอะไร มีแต่งานของการภาวนา เพื่อความสงบของจิต จึงขอให้ตั้งจิตลงในสมถธรรมนี้ไว้ให้แน่นหนามั่นคง

เมื่อจิตขั้นนี้มีความกลมกลืนกันกับคำบริกรรมด้วยสติ อย่างแนบแน่นแล้ว สัญญาอารมณ์อื่นใดก็ไม่เข้ามารบกวน คือจิตนี้จะไม่ถูกผลักดันออกไปให้คิดให้ปรุง เพราะคำบริกรรมบีบบังคับเอาไว้ นี่แหละที่ว่าจิตทำหน้าที่เดียว เวลากำลังพุทโธ ๆ นี้ งานอื่นเข้ามาแทรกไม่ได้ ถ้าเราปล่อยพุทโธนี้ งานอื่นแทรกทันที ๆ จึงต้องปัดงานอื่นไว้ด้วยการป้องกันกับพุทโธ มีสติเป็นเครื่องกำกับ ให้ทำอยู่อย่างนี้ ให้จริงให้จังกับงานของตน อย่าเหลาะแหละโลเล การบำเพ็ญต้องเป็นอย่างนั้น

จากนั้นเมื่อปฏิบัติตามนี้แล้วจะไม่เป็นอื่น จิตจะต้องหยั่งเข้าสู่ความสงบ แม้จะไม่สงบอย่างแน่วแน่ ดังที่ว่าจิตรวม ๆ ก็ตาม แต่จิตจะสงบอยู่กับคำบริกรรม ไม่สร้างอารมณ์อะไรขึ้นมาภายในใจ แล้วก็ไม่ก่อกวน เมื่อได้บำเพ็ญอยู่นี้สม่ำเสมอ คำบริกรรมกับจิตและสติเกี่ยวพันกันตลอดเวลา นี้ชื่อว่าเราบำรุงรักษาจิตใจของเรา ด้วยบทภาวนาอันถูกต้องดีงามตลอดมาและจะตลอดไป แล้วให้ทำอย่างนี้ เมื่อจิตได้บำเพ็ญอย่างนี้เสมอแล้ว ความสงบของใจจะเริ่มมีพื้นฐานขึ้นมาที่ใจของเรา จะเป็นความสงบเป็นพื้นฐานยืดยาวไป ๆ พื้นฐานแห่งความสงบนี้จะมีความแน่นหนามั่นคงขึ้นไปๆ กลายเป็นสมาธิคือความแน่นหนามั่นคงในฐานของจิต

เบื้องต้นสงบเป็นครั้ง ๆ และเบื้องต้นจริง ๆ ก็อาศัยอยู่กับคำบริกรรม พอคำบริกรรมสมควรแก่การที่จิตจะสงบเข้ามาเป็นครั้งเป็นคราวแล้ว จิตจะสงบให้ตัวเองนั่นแลเห็น เมื่อสงบเข้าไปหลายครั้งหลายหน จิตจะสร้างพลังขึ้นมาจากความสงบนั้นทุกครั้ง ๆ พลังที่เกิดขึ้นจากความสงบนี้ จะหนุนใจให้เป็นสมาธิขึ้นมา ทีนี้สมาธิก็ตั้งมั่นขึ้นมา ๆ จากความสงบแล้วสงบเล่าหลายครั้งหลายหน และสร้างฐานแห่งสมาธิขึ้นมา ๆ เรื่อย ๆ ใจกลายเป็นสมาธิขึ้นมา

คำว่าสมาธิ กับความสงบนั้นต่างกันในภาคปฏิบัติ คือความสงบ เราภาวนาอย่างนี้จิตก็เข้าสู่ความสงบ เมื่อเข้าสู่ความสงบได้หลายครั้งหลายหน แล้วก็สร้างฐานแห่งสมาธิขึ้นภายในตัวเองเป็นลำดับลำดา จนกระทั่งจิตแน่นหนามั่นคงขึ้นเป็นสมาธิ นี่จิตมั่นคงเรียกว่าสมาธิ มั่นคงในขั้นของสมาธิ พอจิตมีความสงบแล้วก็เข้าเป็นสมาธิ เรื่องสัญญาอารมณ์ทั้งหลายที่เคยก่อกวนตลอดเวลานั้นจะระงับดับตัวไปเอง เช่นอยากคิดถึงรูปถึงเสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส ความอยากคิดเหล่านี้ จะระงับตัวลงไปด้วยอำนาจแห่งความสงบบีบบังคับมันไว้ เหมือนหินทับหญ้า ครั้นต่อไปนี้เปิดหินออก คือให้ปัญญาก้าวเดิน

จากนั้นเราก็พิจารณาทางด้านปัญญา ปัญญานี้ต้องถือฐานของเราที่พระพุทธเจ้าประทานให้แล้วตั้งแต่เบื้องต้น ดังที่เราบวชแล้วได้รับมาทุก ๆ ราย ขึ้นต้นตั้งแต่ เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ทำไมท่านจึงให้กรรมฐานเพียง ๕ เท่านั้น นี้เป็นหลักใหญ่ของร่างกายของเรา ที่เรียกว่า ภูเขาภูเรา ภูเขานั้นเป็นเรื่องของเขา ภูเราคือเป็นเรื่องเราถือตัวของเรา เขาถือตัวของเขา ต่างเป็นภูเขาภูเราซึ่งเป็นที่ยึดถือของจิตใจอย่างแน่นแฟ้นตลอดมา ทีนี้ท่านจึงเปิดธรรมให้เข้าคลี่คลายสิ่งเหล่านี้ด้วยดี ให้เห็นตามหลักความเป็นจริง ที่กิเลสหรือโลกได้ยึดได้ถือมั่นขึ้นมา แล้วก็สร้างความทุกข์เผาลนตนเองมาโดยลำดับ บัดนี้คลี่คลายด้วยกรรมฐาน ๕ ข้อก่อน เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ท่านผู้เรียนแล้วทราบ เกสาแปลว่าผม ขน เล็บ ฟัน หนัง พอไปถึงหนังแล้วเท่านั้นท่านหยุด ถ้าจะว่ามีเวลาเพียงเล็กน้อยแล้วพิจารณาต่อไปหรือสอนต่อไปก็ถูก แต่หลักใหญ่ท่านสอน ๕ กรรมฐานนี้เป็นสำคัญมาก ตั้งลงไปนี้แล้วจะค่อยกระจายทั่วถึงกันไปเองในสกลกายทั้งเขาทั้งเรา ด้วยการพิจารณาอยู่ไม่หยุดไม่ถอยโดยทางปัญญา

เกสาพิจารณา ผมเกิดมาจากไหน เกิดมาจากแดนสวรรค์แดนไหน ที่ว่าสะอาดสะอ้านเกินโลกเกินสงสารไปคือแดนสวรรค์แดนไหน ผมมันก็เกิดขึ้นมาจากหัวอยู่ในตัวของเรา หัวนี้มันมีความสะอาดสะอ้านมาจากไหน หนังหุ้มห่อไว้ หนังสะอาดที่ตรงไหน ผมเกิดขึ้นมาจากหนังแท้ ๆ ทำไมจึงว่าเป็นของสวยของงาม ถ้าว่าเป็นของสวยของงาม ตกแต่งมันไปหาอะไร นี่มันก็ขัดแย้งกันระหว่างเหตุกับผล ถ้าว่ามันสวยงามแล้วตกแต่งหาอะไร ? นี้ตกแต่งกันทั่วฟ้าดินแดนทุกแห่งทุกหน นี่ก็คือมันไม่สวยไม่งาม ผมเกิดมาจากสถานที่ที่สกปรกได้แก่หนัง แล้วหนังนี่หุ้มห่ออะไร เอ้าพิจารณา นี่แหละเรื่องปัญญา จะกระจายเข้าไป ๆ หนังมันสกปรกหรือสะอาด ดูซิ ผิวหนังบาง ๆ ก็ว่าสะอาด มันสะอาดอะไร ขี้เหงื่อขี้ไคลพอกมันอยู่ในหนังบาง ๆ เขาเรียกว่าหนังกำพร้า

หนังกำพร้านี่ก็มีขี้เหงื่อขี้ไคลติดอยู่ในนั้น มันสะอาดที่ตรงไหน ผมเกิดขึ้นที่นั่นเอาความสะอาดมาจากไหน หนังนี้ก็จะเอาความสะอาดมาจากไหน มันก็วิ่งเข้าถึงกะโหลกศีรษะ ทั่วร่างกายเรา ภายในร่างกายมีแต่ส้วมแต่ถานเต็มไปหมด ในร่างกายไม่มีตรงไหนว่าสะอาดเลย ที่พอดูได้ก็คือเอาหนังห่อเอาไว้เท่านั้นเอง คนทั้งคนทั้งสัตว์เอาหนังห่อเอาไว้ประดับประดาตกแต่ง เช่น หมา สัตว์ต่าง ๆ ก็มีขนเป็นเครื่องประดับ ถ้าไม่มีขนมันก็เอาผิวหนังของมันว่าสวยว่างามเป็นเครื่องประดับ และเป็นเครื่องปลอดภัยกับสิ่งสัมผัสทั้งหลาย

แล้วทีนี้ดูหนังเป็นยังไง ดูรอบตัว หนังนี้มีรอบตัว หากห่ออะไรเอาไว้ ห่อสิ่งสกปรกโสมมไว้ทั้งหมด ในร่างกายนี้มีตั้งแต่เรื่องความสกปรกโสมมเต็มตัวของเราทั้งหญิงทั้งชาย ทั้งสัตว์ทั้งบุคคล แต่ไม่มีใครมอง มองตั้งแต่ผิวหนังบาง ๆ แล้วเห่อเป็นบ้ากัน โลกจึงมีตั้งแต่ความทุกข์ความทรมาน เพราะไม่มองตามความสัตย์ความจริง พระพุทธเจ้าสอนให้มองตามความจริง ดูเข้าไปถึงหนังแล้วท่านหยุด

ทีนี้เวลาเราใช้ทางด้านปัญญาออกพิจารณาแล้ว เพียงแต่หนังยังไม่แล้ว ดูเนื้อดูเอ็นดูกระดูก ดูตับไตไส้พุงอาหารใหม่อาหารเก่า ดูให้ทั่วถึง มันเป็นอย่างไร มีตั้งแต่ป่าช้าของสกปรกโสมมเต็มเนื้อเต็มตัว ที่โลกอยู่ได้นี้ อยู่ได้เพียงหนังกำพร้าเท่านั้นหุ้มห่อเอาไว้บาง ๆ ทีนี้เราถลกหนังกำพร้าออกมา ลอกหนังกำพร้าออกมานั้น มารวมกันแล้วมันจะได้ก้อนหนึ่งเท่ากำปั้นไหม หนังกำพร้าบาง ๆ ที่หลอกตาสัตวโลกอยู่เวลานี้ ถลกออกมาแล้วก็ได้บาง ๆ นิดหนึ่ง มารวมกันแล้วเป็นก้อนเท่ากำปั้นก็ไม่ได้ นอกนั้นมีแต่ซากอสภเต็มเนื้อเต็มตัวทั้งหญิงทั้งชาย นี่คือการพิจารณาตามหลักความจริง

วันนี้จะสอนอรรถธรรมตามหลักความจริง ที่จะรื้อถอนตนให้พ้นจากทุกข์ สมชื่อสมนามว่าเราเป็นนักบวชพิจารณาอย่างนี้ แล้วเข้าไปตามอวัยวะต่าง ๆ ที่นี่จิตใจมีจริตนิสัยชอบในแง่ใดมุมใดของกรรมฐานทั้งหมดที่เต็มอยู่ในตัวของเรา กรรมฐานแปลว่าที่ตั้งแห่งงาน ให้ท่านทั้งหลายทราบเสียว่า กรรมฐาน ๆ ฐาน ก็คือที่ตั้ง กรรม ก็แปลว่างาน เป็นฐานที่ตั้งแห่งงานอันเหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับผู้บำเพ็ญธรรม ท่านจึงเรียกว่า กรรมฐาน ๆ

เราพิจารณาสิ่งเหล่านี้กระจายทั่วร่างกาย การพิจารณานี้พิจารณาแล้วพิจารณาเล่า พักไปเป็นระยะ ๆ เมื่อจิตค่อยเข้าใจ ๆ และเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าในการพิจารณาคลี่คลายสิ่งเหล่านี้แล้ว ถอนจิตเข้ามาสู่สมาธิคือความพักสงบ เรียกว่าพักงาน พักอารมณ์ให้สงบ ในขณะที่จิตสงบนั้นอย่าไปยุ่งกับเรื่องปัญญาขั้นใดตอนใดทั้งหมด ให้ตั้งหน้าตั้งตาทำจิตให้มีความสงบเย็น ความสงบของจิตเพียงขั้นสมาธิก็อยู่ดีกินดีสบายแล้ว คือมีอารมณ์อันเดียว มีแต่ความรู้แน่ว อารมณ์อื่นใดไม่เข้ามาเจือปน ท่านเรียกว่าจิตพักสงบ พอได้ความสงบพอกำลังของตัวเองแล้ว ก็เทียบเหมือนกับเราตื่นนอน นอนหลับเวลาตื่นขึ้นมาแล้วกระปรี้กระเปร่า มีกำลังวังชา

จิตของเราเมื่อถอนออกมาจากความสงบแล้ว ก็มีความชื่นบานหรรษาภายในตัวเอง แล้วก้าวออกทางด้านปัญญาอีก ด้วยสติทั้งนั้นนะ คำว่าสตินี้จะปราศจากหรือจะพรากไปไม่ได้ ต้องมีสติเป็นพื้นฐานสำคัญทั้งสมถะและวิปัสสนา จากนั้นก็พิจารณา พิจารณาอันเก่านั้นแหละ จิตมันติดของเก่า เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ อวัยวะมีอาการ ๓๒ พิจารณาอันใดที่เราติดใจกับสิ่งใด พิจารณาสิ่งนั้นแล้วมันจะลุกลาม ๆ เหมือนไฟได้เชื้อ เข้าไปหากองอสุภะอสุภัง ให้เห็นโทษเห็นภัยของมัน ซึ่งไม่ใช่เป็นสิ่งที่น่ารักน่าสงวน มันก็ค่อยปล่อยวางอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นออกไป จากความรู้ความเห็น ที่ว่ามันไม่สะอาดไม่สวยไม่งามนั่นแหละ จากนั้นก็เกิดความเบื่อหน่ายต่อสิ่งเหล่านี้ ที่เรากอดเรารัดอยู่ด้วยอุปาทานของเราตลอดมา มันจะคลี่คลายออกไปด้วยปัญญาเป็นผู้เปิดทางให้ ๆ

นี่วิธีการแห่งการพิจารณาภาวนา อย่าปล่อยวาง ลูกหลานทั้งหลายให้ยึดเอาไว้ หลวงตานี้ได้เคยดำเนินมาแล้วอย่างโชกโชน จึงพูดไม่มีสะทกสะท้าน ในเวทีนักต่อสู้ ระหว่างกิเลสกับธรรมฟาดฟัดกันคือบนหัวใจ นี้เรียกว่าเวทีที่หนึ่ง ร่างกายของเราเป็นเวทีที่สอง ย่อมได้รับความกระทบกระเทือนเหมือนกัน ทางใจก็ทำหน้าที่การงาน ทางร่างกายก็รับ เช่น นั่งนานนี้กายก็รับภาระ ยืนนานเดินนานกายรับภาระ ภาระเหล่านี้ก็สะท้อนย้อนกลับมาให้เป็นทุกข์แก่ร่างกายอยู่โดยดี นี่เวลาพิจารณาให้พิจารณาอย่างนั้น

วันนี้จะพูดมากยิ่งกว่านี้ไม่ได้ พูดให้พระลูกพระหลานทั้งหลายฟังตามที่พอจะเป็นคติตัวอย่าง การพิจารณาร่างกายนี้เอาให้หนักนะ อสุภะอสุภัง ทุกขํ อนตฺตา ป่าช้าผีดิบ ให้ถือตัวเองนี้คือป่าช้าผีดิบ เดินไปแม้ที่สุดก้าวเข้าไปบิณฑบาตก็คือป่าช้าผีดิบก้าวเข้าไปบิณฑบาตนั่นเอง นั่งนอนมีแต่ป่าช้าผีดิบ เปลี่ยนอาการของป่าช้าผีดิบ ๆ ตลอดเวลา ด้วยสติด้วยปัญญาอยู่เสมอ แล้วจิตใจของเราจะค่อยคลี่คลายออกมา ๆ จากความยึดมั่นถือมั่น จากนั้นสติปัญญาก็คล่องแคล่วไปเรื่อย ๆ การพิจารณาร่างกายนี้จะคล่องตัวไปโดยลำดับ ถ้าทำด้วยความมีสติสตังด้วยความตั้งอกตั้งใจจริง ๆ แล้วจะไม่นอกเหนือจากนี้ไปเลย แล้วทีนี้เรื่องปัญญาจะค่อย ๆ คล่องตัว

การพิจารณาอสุภะอสุภังในร่างกาย ทีแรกก็อืดอาดเนือยนาย เห็นบ้างไม่เห็นบ้าง รู้บ้างไม่รู้บ้าง ครั้นเราพิจารณานานเข้า ๆ ด้วยความตั้งอกตั้งใจ สิ่งเหล่านี้จะแจ่มแจ้งขึ้น ไม่ว่าจะเห็นอาการใดในร่างกาย จะมีความแจ้งขาวดาวกระจ่างขึ้นมา หายสงสัยขึ้นมาเป็นลำดับลำดา จนกระทั่งคล่องตัว เวลาพิจารณาร่างกายเป็นความคล่องตัวด้วยปัญญาแล้วนี้จะรวดเร็วมากทีเดียว พิจารณาร่างกายไม่ว่าเห็นหญิงเห็นชายเห็นสัตว์เห็นบุคคลใดก็ตาม ปัญญาที่มีความคล่องตัวด้วยการพิจารณาแล้วนี้ มองไปแพล็บอย่างนี้ เราเคยเด่นอย่างไร มองเห็นภายนอกก็เด่นอย่างนั้น

เราเด่นทางมองไปมีแต่ร่างกระดูกในร่างกายของเรา หรือมองไปเห็นแต่เนื้อแดงโร่ภายในร่างกาย แล้วเห็นคนอื่นสัตว์อื่นมันก็เป็นแบบเดียวกัน พอมองเห็นพับ มันจะแสดงความเคยชินของใจขึ้นต่อภาพข้างหน้าที่เราเห็นนั้น ว่าเป็นกระดูกทั้งร่างหนึ่ง เป็นเนื้อแดงโร่ไปหมด และเป็นซากอสภไปหมดเลยหนึ่ง แล้วทีนี้เวลามองไปที่ไหน มองไปมันก็เป็นแบบเดียวกันนั้น ๆ นี้คือความชำนาญของทางด้านปัญญา พิจารณานี้ให้คล่องแคล่วว่องไว ว่องไวจนกระทั่งถึงจิตนี้ขาด ถอนอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นจากทางร่างกาย เรียกว่ากามราคะ ถอนขาดสะบั้นไปในขั้นที่พิจารณาคล่องตัวแล้ว อสุภะอสุภัง ทุกฺขํ อนิจฺจํ อนตฺตา มารวมอยู่ภายในจิต

จิตรู้แจ้งเห็นจริงจากนี้แล้วปล่อยวางอสุภะอสุภังภายนอกทั้งหมด แล้วก็รู้เท่าตัวเองว่าเป็นผู้ไปปรุงไปแต่งไปยึดไปหมาย ไปสำคัญนั้นว่าสวย อันนี้ว่างาม อันนั้นไม่สวยไม่งาม ความจริงก็คือเรื่องของใจไปปรุงไปแต่ง เมื่อทราบภายในใจว่าตัวนี้เป็นตัวจอมปลอม แหวกออกไปจากนี้ แต่งออกไปจากนี้ ไปเป็นสุภะอสุภะอสุภัง ก็ไปจากหัวใจ เมื่อใจกลืนสิ่งเหล่านั้น อสุภะอสุภังทั้งหลายเข้ามาสู่ใจ ว่าใจเป็นผู้เป็นอย่างนั้นเสียเองแล้วก็ปล่อยวางสุภะอสุภะภายนอกให้หมด เหลือแต่อสุภะภายในที่ใจปรุงแต่งหลอกตัวเอง มารู้ตรงนี้ว่าใจนี้หลอกตัวเอง นี่เรียกว่าปัญญาขั้นชำนาญ

ทีนี้เมื่อเวลาเข้ามาถึงนี้ ก็มาเห็นโทษของอสุภะอสุภัง ซึ่งเป็นเรื่องของจิตกลืนไว้เสียเอง สิ่งเหล่านั้นเป็นแต่เพียงภาพ เรียกว่าภาพเพื่อฝึกหัดสติปัญญาของเรา เมื่อเรายังปล่อยวางไม่ได้ ภาพอันนั้นก็เป็นทางเดินของปัญญาเราอยู่โดยดี เมื่อมันปล่อยแล้ว เมื่อจิตรวมอสุภะอสุภังเข้ามาสู่ใจ ใจเป็นเจ้าของ ใจเป็นผู้กลืนเอาสิ่งเหล่านั้น ใจเป็นผู้วาดภาพหลอกตนเอง มาเห็นโทษของใจเป็นผู้วาดภาพแล้ว ใจก็ปล่อยจากอสุภะอสุภังทั้งหลายภายนอก เข้ามาสู่อสุภะภายในอย่างเดียว แล้วตั้งอสุภะภายในตัวหลอกเก่ง ๆ นี้ขึ้นมาฝึกซ้อมกันเป็นความชำนิชำนาญละเอียดลออ สุดท้ายอสุภะอสุภังภายในนี้ ก็ค่อยเสื่อมไปหมดไปเร็วขึ้น ตั้งขึ้นไม่นานก็ดับไป ตั้งขึ้นเป็นภาพอสุภะอสุภังภายในใจแล้วดับลง ๆ สุดท้ายก็แย็บ ๆๆ เหมือนแสงหิ่งห้อย นี่แหละเรียกว่าการฝึกซ้อมตนในขั้นพิจารณากามราคะอสุภะอสุภัง ให้พิจารณากันอย่างนี้นะ

มันจะรู้เองว่า การตัดขาดจากกิเลสตัณหาจะมาตัดขาดที่ใจที่รู้ตัวเอง ๆ เพราะนักโทษอยู่ที่นี่ เวลามันจับนี้ไม่ได้ มันก็ไปเห็นว่าเป็นโทษอยู่ข้างนอกเป็นคุณอยู่ข้างนอก พอพิจารณาชัดเจนแล้วมันก็รวมเข้ามาสู่ใจซึ่งเป็นตัวสำคัญ ตัวจอมปลอมไปหลอกลวงตัวเอง หลอกไปภายนอกว่า อันนั้นสวยอันนี้งามไม่สวยไม่งาม พอเข้าใจจริง ๆ แล้ว มันมารวมเข้ามาสู่ใจดวงเดียว ใจเป็นผู้โกหก เห็นโทษของใจปล่อยวางอสุภะอสุภังภายนอกไปหมด เหลือแต่ธรรมชาติอันนี้ แล้วทีนี้ก็ฝึก ฝึกซ้อมภาพที่อสุภะอสุภังภายในใจที่ตั้งขึ้นมาแล้วดับไป ๆ ตั้งขึ้นมาไม่นานก็ค่อยหมดไป ๆ แล้วใจกลืนไปหมด ตั้งขึ้นมาทีไรเสื่อมลงไปสูญลงไป ลงไปอยู่กับใจ ๆ มันก็รู้ชัด ๆ จากนั้นภาพเหล่านี้ก็ไม่มี แล้วเป็นความว่างเปล่าขึ้นมาภายในจิตใจ นี่การพิจารณาเรื่องการดำเนินเพื่อความพ้นทุกข์ ขอให้ดำเนินอย่างนี้ นี่พูดเพียงคร่าว ๆ พูดเพียงพอประมาณไม่ให้มากนัก

การพิจารณาเรื่องอสุภะอสุภัง สำหรับนักบวชเราต้องเอาให้หนัก ไม่หนักไม่ได้ ไปไม่รอดนะ ตาย ใครไปที่ไหน ไปติดอันนี้แหละ มันพลิกเป็นสุภะทั้งนั้นแหละ ไปเดินกรรมฐานอยู่ในป่าในเขา ไปเห็นผู้หญิงอยู่ในป่าในเขา มันก็ไปรักผู้หญิงอยู่ในป่าในเขาว่าสวยว่างาม ผู้หญิงในป่ากับผู้หญิงในบ้านมันก็อันเดียวกัน หนังห่อกระดูกเหมือนกัน มันสวยงามที่ไหน นี่เอาธรรมฟัดเข้าตรงนั้น แล้วเข้าไปอยู่ในป่ามันก็ไปหลงผู้หญิงในป่า อยู่ในบ้านก็หลงในบ้าน มันบ้าหลงบ้าติดทั้งสอง พิจารณาอันนี้ฟาดขาดสะบั้นไปเลย อยู่ไหนสบายหมด

นี่แหละเรื่องการบำเพ็ญธรรมให้เห็นประจักษ์ ผลของธรรมพระพุทธเจ้าที่ทรงสั่งสอนแล้ว สอนเพื่อมรรคเพื่อผล ไม่ได้สอนเพื่อให้งมงาย ไม่ได้สอนแบบเป็นตุ๊กตาเครื่องเล่นของเด็กนะ สอนจริง ๆ นี่การดำเนินทางด้านจิตใจ จะให้เป็นมรรคเป็นผลจากการภาวนาจริง ๆ สมนามพระธรรมของพระพุทธเจ้าว่าตรัสไว้ชอบแล้ว ชอบอย่างนี้ ใครพิจารณาอย่างไร ต้องเห็นผลประจักษ์ไปอย่างนี้ นี่เรื่องของจิตที่มีความชำนิชำนาญ ชำนาญไปอย่างนี้

จากนั้นก็หมด เรื่องร่างกายทั้งเขาทั้งเราหมดภายในความรู้สึกคือใจ จะไม่มีอะไร จะมีแต่นามธรรม เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่เกิดกับกายกับใจ มันแทรกกันอยู่ในเวลานั้น ร่างกายปล่อยได้แล้ว รูปปล่อยได้แล้ว เวทนาที่อยู่กับกายมันก็ค่อยเริ่มรู้เรื่องกันไป สัญญา สังขาร วิญญาณทีนี้รวมเข้าไปอยู่กับจิต เป็นอาการของจิตทั้งนั้น ท่านจึงเรียกว่าขันธ์ แปลว่ากองแปลว่าหมวด มันออกจากใจดวงเดียว ใจดวงนี้บรรจุอวิชชาไว้นั้นไม่มีใครทราบนะ นี่แหละตัวรังใหญ่แห่งภพชาติอยู่ที่ อวิชฺชาปจฺจยา ถ้าเราไม่เปิดอันนี้เข้าไปเราจะไม่เห็นตัวใหญ่ของมัน

นี่แหละการพิจารณากรรมฐาน จึงเปิดออกไปเรื่อยอย่างนี้แหละ ตั้งแต่รูปกายนี้ปิดมิดชิดเลย ไม่ให้เห็นอะไรทั้งนั้น ให้เห็นแต่กงจักรเป็นดอกบัว ๆ พอเปิดออกให้เห็นกงจักรเป็นกงจักร ดอกบัวเป็นดอกบัว แล้วก็เข้าสู่ความละเอียด นามธรรม เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ พิจารณาสิ่งเหล่านี้มีเกิดมีดับ ด้วยสติปัญญาที่ทันสมัยตลอดเวลา เกิดพับดับพร้อม ๆ ไม่ยึดไม่ถือ แล้วตามต้อนเข้าไปว่า มันเกิดมาจากไหน ทั้งดีทั้งชั่ว แล้วปรุงขึ้นแล้วดับไป ๆ ปรุงจากจิตดับลงไปที่จิต พิจารณาตามต้อนกันเข้าไป แล้วสุดท้ายมันก็ไปหาจิต

คือจิตในขั้นนี้นะ จะเป็นจิตที่สว่างไสว ประหนึ่งว่าเป็นจิตที่เลิศเลอ สำหรับผู้ที่ยังไม่เข้าใจ จะเห็นจิตขั้นนี้ว่าเป็นจิตที่แปลกประหลาดอัศจรรย์อยู่อย่างมากทีเดียว นี้แลคือจิตอวิชชาลวงสัตว์ ถึงธรรมขั้นนี้แล้วจะรู้ทันที พอถึงนี้แล้วจิตจะเพลินอยู่ในความสว่างไสวอัศจรรย์ แล้วพิจารณาความเกิดความดับของจิต ได้แก่สังขาร วิญญาณ รับทราบอะไรดับไป ๆ เกิดที่จิตดับที่จิต อะไรมาสัมผัส จิตรับรู้ ๆ ดับที่จิต พิจารณาตามต้อนเข้าไป จนกระทั่งถึงใจ นั่นแหละใจแท้ คำว่าใจนั้น นั้นแลคือรังแห่งอวิชชาอยู่ที่นั้น มันครอบไว้หมด มันส่งรัศมีออกมาเป็นความสว่างกระจ่างแจ้ง มองไปที่ไหน ๆ นี่สว่างกระจ่างแจ้งอัศจรรย์ไปหมด นี่แหละอวิชชา ภาพอวิชชาหลอกสัตวโลก

ถ้าเราไม่เคยรู้เคยเห็นก็ว่า เราได้พบของอัศจรรย์แล้ว แต่เวลาผ่านนี้ไปแล้ว พอเข้าถึงจิตจริง ๆ แล้ว หมด ที่มันจะขาดสะบั้นออกจากกันจริง ๆ ระหว่างวิมุตติกับสมมุตินี้ก็คือว่า จะต้องได้เข้าถึงจิต จิตนี้เป็นตัวภัย จิตนี้เป็นตัวโทษ จิตนี้เป็นมหาภัย สติปัญญาจ่อเข้าตรงมหาภัยนั้นขาดสะบั้นออกไปตรงนั้น เมื่อจิตควรแก่การทำลายแล้วจะเป็นอย่างนี้ พอถึงขั้นนี้แล้ว จิตที่อัศจรรย์นี้แตกกระจายออกไป กลายเป็นกองขี้ควายขึ้นมากองหนึ่งเท่านั้น ในความรู้สึกของเราขั้นแรก

ครั้นเวลาขั้นหลุดพ้นไปจากนี้แล้ว เป็นความสว่างขึ้นมา เรียกว่าความสว่างอันนั้นเป็นความสว่างของวิมุตติหลุดพ้น พูดง่าย ๆ ว่าเป็นความสว่างของพระนิพพาน มาดูกองขี้ควายซึ่งเป็นความสว่างของ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา มันจึงได้เห็นโทษกันอย่างชัดเจน แต่เวลานั้นอวิชชานี้เรายังไม่เห็น มันก็อัศจรรย์หลอกเราอยู่จนได้ นี่แหละกษัตริย์วัฏจักร คือ อวิชฺชาปจฺจยา หลอกลวงสัตวโลก อันนั้นก็ดี อันนี้ก็ดี เห็นอะไรดีมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งเข้ามาถึงจิตอวิชชาแท้ นี่แหละมันหลอกได้อย่างแยบยลมากนะ ผู้ปฏิบัติหลง ถ้าไม่มีผู้แนะผู้บอกไว้ก่อนแล้วต้องไปติดอันนี้เสียก่อน ลูบ ๆ คลำ ๆ เพลินอยู่กับความสุขความสบายของตัวเอง และความสว่างกระจ่างแจ้งภายในจิต ที่มีอวิชชาปลอมตัวนี้ไปไม่รู้เนื้อรู้ตัว

ถ้ามีผู้แนะนำสั่งสอนแล้วมันก็รู้ อ๋อ ไปถึงจุดนี้แล้ว นี่แหละ มันก็จับจุดนี้แล้วว่าเป็นมหาโจร ซัดเข้าไปมหาโจรนี้แล้วพังทลาย กลายเป็นกองขี้ควายขึ้นมาต่อหน้าต่อตาของวิมุตติหลุดพ้น พอถึงขั้นวิมุตติหลุดพ้น ความสว่างของวิมุตติหลุดพ้นเป็นอย่างไร กับความสว่างของอวิชชาซึ่งเป็นกองขี้ควาย มันเทียบกันได้อย่างไร นี่แหละนักปฏิบัติ พิจารณาให้เห็นอย่างนี้ซิผู้ปฏิบัติ

การปฏิบัตินี้เราไม่ได้มาพูดแบบลูบ ๆ คลำ ๆ นะ เราพูดมาจากความประพฤติปฏิบัติของเรา ทางเหตุเอาอย่างเต็มเหนี่ยว เอาสละเป็นสละตายเข้าว่า การพิจารณาเรื่องเหล่านี้ นี้พูดเพียงย่นย่อให้พระลูกพระหลานทั้งหลายฟัง แต่เวลามันฟัดกันอยู่บนเวทีนั้นเป็นเวลากี่ปี มีตั้งแต่เรื่องนี้ย้ำแล้วย้ำเล่า เหมือนเขาคราดเขาไถนานั่นแหละ คราดไปคราดมาไถไปไถมา จนมูลคราดมูลไถแตกกระจัดกระจายละเอียดลออแล้วควรแก่การปักดำ เป็นขั้น ๆ ขึ้นไปมันก็รู้เองภายในจิตใจ ทีนี้เมื่อเวลาเสร็จเรียบร้อยแล้ว เรื่องการพิจารณานั้นพิจารณานี้มันก็หมด เพราะพิจารณาเพื่อรู้เพื่อเห็น เมื่อรู้เห็นเต็มหัวใจ ละไปหมดแล้ว พิจารณาหาอะไร มันก็รู้เอง

นี่แหละธรรมะของพระพุทธเจ้า เป็นธรรมะที่ทรงไว้ซึ่งมรรคผลนิพพาน เป็น อกาลิโก ตลอดมา ขอให้มีผู้ปฏิบัติตามเถิด ถ้าไม่มีผู้ปฏิบัติ แบกตั้งแต่คัมภีร์ใบลาน ไม่ว่าท่านว่าเรามันแบกด้วยกันนั่นแหละ เรียนอะไรก็เรียนตั้งแต่บาปบุญนรกสวรรค์ จนกระทั่งถึงพรหมโลกนิพพาน มันก็แบกความสงสัยไปถึงนิพพาน เรียนถึงนิพพานแล้ว เอ๊ะ! นิพพานมีหรือไม่มีนะ ถ้ายังดีอยู่ก็นิพพานมีหรือไม่มีนะ ถ้าเลวกว่านั้นก็นิพพานไม่มี บาปบุญนรกสวรรค์ไม่มี ลบไปหมด นี่คือกิเลสตัณหามันเหยียบย่ำทำลายสัตวโลก เฉพาะอย่างยิ่งผู้ปฏิบัติเราอย่าให้มันเหยียบย่ำทำลายได้ ฟาดมันแตกกระจัดกระจายออกไป ครองนิพพานขึ้นภายในจิต นี่แหละการปฏิบัติธรรม ให้ท่านทั้งหลายจำเอาไว้

อย่าไปยุ่งเหยิงวุ่นวายกับสิ่งภายนอก มันมีแต่กองมูตรกองคูถ มีแต่ฟืนแต่ไฟ ให้หมุนใจเข้าสู่สติปัญญา กับการภาวนาของเรา เริ่มแต่คำบริกรรมขึ้นไป การพิจารณาทางด้านปัญญา ขอให้พิจารณาเป็นวรรคเป็นตอนดังที่กล่าวแล้วนี้ ถึงเวลาพักสมาธิให้พัก จิตถึงขั้นที่มันเป็นอัตโนมัติแล้วมันเป็นจริง ๆ ขั้นอัตโนมัติของสติปัญญา อย่างที่ท่านแสดงไว้ในปริยัติมันก็เห็น แต่เมื่อไม่ปฏิบัติก็ไม่รู้

ท่านว่าปัญญาเกิดขึ้น ๓ สถาน สุตมยปัญญา ปัญญาเกิดขึ้นจากการได้ยินได้ฟัง จินตามยปัญญา ปัญญาเกิดขึ้นจากการพิจารณาไตร่ตรองของคนทั่ว ๆ ไปธรรมดา ภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดขึ้นจากการภาวนาล้วน ๆ นี้เราไม่เข้าใจเลยเวลาเรียนอยู่ โน่นเวลาออกปฏิบัติ ถึงขั้นปัญญาที่เป็นภาวนาล้วน ๆ นั้นมันเป็นขึ้นภายในใจ ไม่ต้องไปถามใคร นี่แหละทีนี้ภาวนามยปัญญา เป็นปัญญาอัตโนมัติ เริ่มตั้งแต่ราคะตัณหาขาดสะบั้นไปจากใจแล้ว

ปัญญานี้จะก้าวเดินเพื่อนามธรรมทั้งสี่ คือเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จนกระทั่งเข้าสู่อวิชชา ปัญญาอัตโนมัตินี้จะก้าวเดินเป็นอัตโนมัติ สติปัญญาอัตโนมัติ ๆ แล้วก็เชื่อมโยงกับมหาสติมหาปัญญา กิเลสมีมากน้อยเพียงไรขาดสะบั้น ๆ ไปโดยอัตโนมัติของสติปัญญาสังหารมันไปโดยลำดับนั้นแล เช่นเดียวกันกับเวลากิเลสครองอยู่ในหัวใจของเรามากน้อยนี้ กิเลสจะเป็นอัตโนมัติของมัน สร้างตั้งแต่ขวากแต่หนามแต่ฟืนแต่ไฟแต่วัฏจักรประจำจิตใจของสัตวโลกทั่ว ๆ ไป ไม่มีเวลายับยั้ง นี่เป็นอัตโนมัติของกิเลสสร้างตัวของมันบนหัวใจของสัตว์

ทีนี้เรามาบำเพ็ญทางด้านจิตภาวนา เริ่มต้นตั้งแต่อบรมบริกรรมภาวนาขึ้นไปก้าวเป็นลำดับ ๆ จนเป็นสมาธิเป็นปัญญา เป็นปัญญาอัตโนมัติ แล้วทีนี้ก้าวเข้าสู่มหาปัญญาเชื่อมโยงกันไป นี่แหละตั้งแต่สติปัญญาอัตโนมัติ ขั้นผ่านกามราคะนี้ไปได้แล้ว นี้สติปัญญาเป็นอัตโนมัติโดยตรง อยู่ที่ไหนหมุนตัวเป็นเกลียวตลอดเวลา ต้องได้รั้งเอาไว้ ไม่รั้งไม่ได้มันรีบมันด่วน มันพุ่งเลย เห็นโทษเห็นจริง ๆ ของกิเลสตัณหาเห็นหมด เห็นจนกระทั่งถึงว่ารอไม่ได้ การหลับนอนไม่เป็นหลับเป็นตื่นแหละ มันไม่ยอมหลับ มีแต่เร่งฟัดกันเลย เหมือนนักมวยขึ้นบนเวทีฟัดกันแล้วเข้าวงในกัน ใครจะไปหาเวล่ำเวลาอ่อนข้อย่อหย่อนได้อย่างไร ถูกน็อก

นี่ระหว่างกิเลสกับธรรมฟัดกันบนหัวใจ โดยทางสติปัญญาอัตโนมัตินี้ก็เป็นอย่างนั้นเหมือนกัน หมุนตัวเป็นเกลียว ๆ ตลอดไป แล้วจากนั้นก็เชื่อมโยงเข้าไปหามหาสติมหาปัญญา มหาสติมหาปัญญากับสติปัญญาอัตโนมัตินี้เชื่อมโยงเข้าไปแล้ว ทีนี้เรื่องของกิเลสไม่ต้องบอก มันอยู่ที่ไหนคุ้ยเขี่ยขุดค้นตลอดเวลา เวลาเจอกันแล้วก็ฟัดกัน ๆ เวลาไม่เจอก็คุ้ยเขี่ยขุดค้นหาด้วยสติปัญญาอัตโนมัติตลอดไป จนกระทั่งถึง อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา ตัวสำคัญตัวมหาภัย คือตัวใจที่ทรงฤทธาศักดานุภาพไว้ด้วยความสว่างกระจ่างแจ้งนี้ หลอกผู้ปฏิบัติทั้งหลาย ก็ไปหลงกันที่ตรงนั้น เมื่อจ่อเข้าไปตรงนั้นเห็นว่าเป็นมหาภัยแล้ว ขาดสะบั้นออกไป กลายเป็นกองขี้ควายขึ้นมา จิตนั้นเป็นจิตที่เลิศเลอยิ่งกว่ากองขี้ควายเป็นไหน ๆ มันก็รู้เอง

นี่แหละพอถึงขั้นนี้แล้วถามหานิพพานที่ไหน ถามหามรรคผลนิพพานถามหาที่ไหน? ผู้ปฏิบัติเท่านั้นเรียกว่าเป็น สนฺทิฏฺฐิโก จะรู้เองเห็นเองด้วยภาคปฏิบัติของตน อย่างอื่นรู้ไม่ได้นะ เรียนมามากมาน้อยไม่ว่าท่านว่าเรา ก็เป็นแต่ภาคความจำไม่ใช่ความจริง เหมือนกับเรามีแบบแปลนแผนผัง เรียนตามแบบแปลนแผนผัง ตำรับตำราก็คือแบบแปลนแผนผังของบาปบุญนรกสรรค์นิพพานแห่งศาสนานั่นเอง เราเรียนเฉย ๆ ไม่ได้ปฏิบัติ ว่าบาปมันก็มีแต่ชื่อ ตัวจริง ๆ ไม่เห็น บุญก็มีแต่ชื่อ ตัวบุญจริง ๆ ไม่เห็น เรียนนรกสวรรค์ก็เหมือนกัน ก็เห็นแต่ชื่อของนรกสวรรค์พรหมโลกนิพพาน เปรตผีประเภทต่าง ๆ ที่แสดงไว้แล้วในอรรถธรรมทั้งหลายในปริยัติ ในพระไตรปิฎกด้วยความรู้จริงเห็นจริงของท่าน

แต่เรามันไม่จริง มีแต่ความจำ ๆ ก็เอาความจำนี้ไปปิดไปหมดว่ามรรคผลนิพพานไม่มี ๆ มีแต่ความจำ ความจำเลยกลายมาสังหารเจ้าของเสียเอง ถ้าไม่มีสติสตังยับยั้ง พิจารณาเจ้าของให้ออกทางด้านปฏิบัติ คลี่คลายหาความจริง พระพุทธเจ้าท่านสอน ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ เกี่ยวโยงถึงกันศาสนาถึงจะสมบูรณ์ ถ้ามีแต่ปริยัติก็มีแต่คัมภีร์ มีแต่แปลนเต็มห้องเต็มหับ ไม่มีขยับขยายออกมาปลูกบ้านสร้างเรือน ก็ไม่สำเร็จเป็นบ้านเป็นเรือน นี้มีตั้งแต่ปริยัติ ว่าศีล สมาธิ ปัญญา ศีลเราก็ไม่รักษาเสีย สมาธิอบรมจิตใจก็ไม่มี ปัญญาจะมีมาจากไหน ความหลุดพ้นมีมาจากไหน คำว่าปฏิเวธ ๆ ก็ไม่มีผล เพราะภาคปฏิบัติเปิดทางให้ไม่มี

เพราะฉะนั้นจึงมีปริยัติ ศึกษาเล่าเรียนแบบแปลนแผนผังมาแล้ว ให้ออกทางปฏิบัติ คือเอาการแก้กิเลส เดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา เช่นอย่างเราบวชมานี้ เรามีศีลแล้วตั้งแต่วันบวช ให้รักษาศีลเอาไว้ให้ดี อย่าทำลายศีลอย่าทำศีลให้ด่างให้พร้อย ก็ชื่อว่าเรามีศีล เมื่อมีศีลแล้วเราก็อบอุ่น ไปที่ไหนเราก็ไม่ระแวงแคลงใจ นี่ก็พิจารณาทางด้านปัญญา เอาทางด้านจิตใจเข้าไปสู่ความสงบได้แก่สมาธิภาวนาไปเรื่อย ก็แจ้งไปเรื่อย ๆ สนฺทิฏฺฐิโก ไปเรื่อย เป็นปฏิเวธไปเรื่อย ๆ นี่แหละความจำกับความจริงจึงต่างกัน ความจำได้มาเท่าไรไม่หายสงสัย ไม่เป็นตัวของตัวเลยนะ เรียนไปถึงไหน จบพระไตรปิฎก แบกคัมภีร์ไปก็หลังหัก ความจริงไม่มี มีแต่ความจำแก้กิเลสได้อย่างไร

แก้กิเลสแก้จากความจริงคือภาคปฏิบัติต่างหาก ความจำจำมาเพื่อดำเนินงานเพื่อฆ่ากิเลสจากภาคปฏิบัติต่างหาก เมื่อเรานำมาปฏิบัติตามขั้นแล้ว เราจะเห็นขึ้นมาภายในใจ ศีลประจักษ์ในหัวใจ สมาธิสงบประจักษ์ในหัวใจ สมาธิทุกขั้นไม่ต้องไปถามใคร สนฺทิฏฺฐิโก ๆ ตีตราไว้หมด ๆ จนกระทั่งถึงปัญญา แล้วปัญญาขั้นใดก็รู้เอง ดังที่นำมาแสดงนี้ ไม่ไปถามใคร เป็นขึ้นในสนามรบบนเวทีระหว่างกิเลสกับธรรมฟัดกัน บนหัวใจของผู้ปฏิบัตินั่นแล มันก็เห็นหมดในสิ่งนั้น กิเลสขาดไปมากน้อย ๆ เห็นประจักษ์ในหัวใจ ๆ นี่มรรคผลนิพพานจะไม่รู้ได้อย่างไร ก็มีอยู่ในหัวใจดวงเดียวกันเรื่อยไป ๆ จนกระทั่งถึงสิ่งที่ว่านรกสวรรค์ถามหาอะไร

ความรู้นี้มันมืดอยู่ด้วยกิเลสปิดบังมันไว้ เมื่อเปิดกิเลสออกไป คำว่านรกสวรรค์พรหมโลกนิพพานมีอยู่แล้ว ท่านสอนไว้แล้วด้วยความรู้ความเห็นของพระพุทธเจ้าเต็มสัดเต็มส่วน ไปสงสัยหาอะไร พวกเราตาบอดมันก็ไม่เห็น ท่านตาดีท่านเห็นมาสอนเรา เรายังไม่ยอมรับ โง่ไหมมนุษย์เรา นี้เราปฏิบัติตาม ปฏิบัติตาม คือให้ตามรู้ตามเห็นตามสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้แล้ว ตามหลักความจริงไม่ผิดเพี้ยนนั่นแล เมื่อปฏิบัติไปสิ่งเหล่านี้ก็จะค่อยปรากฏขึ้นภายในใจ ถามใครทีนี้ เอ้า ว่าบาปบุญนรกสวรรค์มันก็ประจักษ์อยู่ในใจ ขึ้นอยู่ในใจ สวรรค์อยู่ไหนก็อยู่เถอะ ใจนี้เป็นเครื่องรับทราบตลอดทั่วถึงหมดในแดนโลกธาตุนี้ อย่าว่าแต่นรก ไม่หนีแดนโลกธาตุไปไหนจะไม่รู้มัน ตั้งแต่นิพพานยังครองใจได้พระพุทธเจ้า นรกเลิศกว่านิพพานหรือจึงจะรู้ไม่ได้ นิพพานยังรู้ ทำไมนรกรู้ไม่ได้ สวรรค์รู้ไม่ได้ เปรตผีประเภทต่าง ๆ รู้ไม่ได้มีเหรอ นิพพานยิ่งกว่านี้ยังรู้ได้เห็นได้ นี่ละรู้ได้ด้วยเหตุนี้เอง

เพราะฉะนั้นบรรดาสาวกทั้งหลายผู้เชี่ยวชาญต่างองค์ต่างกันไป จึงมีความรู้เหล่านี้เป็นสักขีพยานแก่พระพุทธเจ้าได้เป็นอย่างดี แม้จะไม่กว้างขวางเหมือนพระพุทธเจ้าก็ตาม แต่ความรู้ของท่านเหล่านี้เป็นความรู้ที่เป็นสักขีพยานได้ รู้ตรงไหน ๆ หายสงสัย กราบพระพุทธเจ้าอย่างราบ ๆ เลยเพราะภาคปฏิบัติ ภาคอื่นไม่มีทางนะ พูดตรง ๆ ถ้าไม่สนใจปฏิบัติ จำมาเท่าไรก็ไม่เกิดประโยชน์ กิเลสมีเหมือนกันกับโลกทั่ว ๆ ไปที่เขาไม่ได้ศึกษาธรรม ถ้าเราตั้งใจศึกษาธรรม เรียนธรรมไปด้วยปฏิบัติธรรมไปด้วย ก็เป็นอรรถเป็นธรรมไปเรื่อย ๆ ถ้าเรียนเฉย ๆ ไม่สนใจปฏิบัติ เรียนธรรมก็เหมือนกับเป็นโลกไปหมด กิเลสถือเป็นเจ้าของยึดอำนาจไปหมด กลายเป็นคนเลวทรามไปก็ได้จากการเรียนธรรมมาก ๆ มีเยอะ

ให้ท่านทั้งหลายพิจารณา เปิดให้ท่านทั้งหลายได้ทราบเสียวันนี้ การปฏิบัติเราได้ผ่านมา ทั้งด้านปริยัติก็ผ่านมาเต็มหัวใจของเรา ทางด้านปฏิบัตินี่ก็ผ่านมาเต็มหัวใจของเรา เวลาผลเกิดขึ้นมาจากภาคปฏิบัติอย่างเอาจริงเอาจัง ก็เต็มหัวใจเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นจึงไม่ทูลถามพระพุทธเจ้า ตั้งแต่สมาธิปัญญาวิมุตติหลุดพ้น เปรตผีสัตว์นรกอเวจีทั้งหลาย จนกระทั่งถึงพระนิพพานไม่ถาม ถามทำไม พระพุทธเจ้ารู้แล้วสอนไว้แล้ว ปฏิบัติเพื่อให้รู้ให้เห็นมันจะไปไหนเมื่อปฏิบัติตามพระพุทธเจ้าแล้ว มันก็ยอมรับ ๆ นั่นเห็นไหม

นี่ละสิ่งเหล่านี้ครึไปไหน ล้าสมัยไปไหน เวลานี้บาปบุญมีอยู่ไหม หรือถูกกิเลสลบล้างไปหมดแล้วหรือ บาปไม่มีบุญไม่มี นรกไม่มีสวรรค์ไม่มี พรหมโลกนิพพานไม่มี สิ่งที่มีก็มีแต่ราคะตัณหา ความโลภไม่รู้จักวันเป็นวันตาย ครอบหัวสัตวโลกดิ้นตายกันทั้งวันทั้งคืน จนไม่มีป่าช้า ตายแล้วก็นิมนต์พระมา กุสลา ธมฺมา กุสลา ธมฺมา มันเป็นผลประโยชน์อะไร กุสลา ธมฺมา มีแต่ลมปาก ตัวเองไม่เคยสนใจปฏิบัติ นอกจากนั้นแล้วไปในงานศพใด ๆ มีแต่ไปโม้ไปคุย ไม่ใช่โม้นะ ไปคุยระบายทุกข์ต่อกัน สมาคมที่เมรุหรือวัดต่าง ๆ ที่ไปเผาศพ ๆ มีแต่สมาคมของพวกกองทุกข์นี้ไปเปิดทุกข์ต่อกัน กระจายทุกข์ต่อกันในสังคมแห่งการเผาศพนั่นแหละ ไปจับกลุ่ม ๆ ใครก็อยากจะพูดใครก็อยากจะคุย ทุกข์อย่างนั้นทุกข์อย่างนี้ คนนั้นเป็นอย่างนี้ คนนี้เป็นอย่างนี้ การงานเป็นอย่างนั้น การงานเป็นอย่างนี้ ได้อย่างนั้น เสียอย่างนี้ เต็มบ้านเต็มเมืองเลย

ไม่มีเรื่องอรรถเรื่องธรรมคือความรู้สึกตัว ท่านเทศนาว่าการ กุสลา ธมฺมา มันไม่สนใจฟัง มันสนใจฟังตั้งแต่ไประบายทุกข์ให้กันฟัง ใครจะฟังทุกข์ ทุกข์มันเต็มหัวใจทุกคน ใครก็มีปากอยากพูด แต่พูดไม่ได้คนนั้นพูดมาก่อน สุดท้ายก็แย่งกัน ๆ พูด นี่ไปวัดไปวาเวลานี้มีแต่อย่างนั้นนะ มีอรรถธรรมที่ไหนกัน ฟังให้ดี นี่หลวงตาอุตริไหม ท่านทั้งหลายเห็นไหม ยิ่งในกรุงเทพฯด้วยแล้วเต็มไปด้วยสิ่งเหล่านี้แหละ มีการมีงานนี่แหละจะได้มาระบายคลายทุกข์ต่อกัน คลายทุกข์อะไร มันมีแต่ความทุกข์เดือดร้อนมาเผากัน ๆ พระก็เลยรำคาญ แต่พระท่านไม่ว่าอะไร กุสลา ธมฺมา แล้วท่านก็ไปเสีย เทศนาว่าการก็ว่าไปตามเรื่องแล้วก็ไปเสีย

เพราะพวกนี้ครั้นว่าไปแล้วก็เป็นฟืนไปเผาพระอีกนะ หาว่าพระดุพระด่าอย่างนั้นอย่างนี้ ตัวเป็นบ้าไม่ได้ว่านะ พระท่านรำคาญท่านก็ไม่ว่าละซิ แต่พระอย่างหลวงตาบัวนี้ไม่แน่นะ พอตี ๆ เอาได้ นี่เดี๋ยวนี้ก็กำลังตีด้วยปากด้วยลม ให้ท่านทั้งหลายเข้าใจ อย่าให้ได้ระบายทุกข์อย่างนี้ ขอให้ปฏิบัติธรรมเถิดสิ่งเหล่านี้จะค่อยเบาบางไปโดยลำดับลำดา เดี๋ยวนี้มันไม่สนใจในอรรถในธรรมละซิ เรื่องทุกข์ทั้งหลายมันจึงพอกพูนขึ้นมา อยู่ที่ไหนเดือดร้อนไปหมด พอเข้ากลุ่มกันแล้วเอาละ เอาแต่เรื่องกองทุกข์มาเผากัน ๆ นี่หรือมันทันสมัยมีแต่อันนี้เหรอ มรรคผลนิพพานที่จะระงับดับทุกข์เหล่านี้ไม่มีบ้างเหรอ จากผู้ปฏิบัติธรรมคือชาวพุทธของเรา ขอให้นำไปคิดอ่านไตร่ตรองทุกคน ๆ จะได้เห็นเหตุเห็นผลตามหลักธรรมของพระพุทธเจ้า แล้วจะค่อยเจริญภายในจิตใจของเราขึ้นเป็นลำดับ

เฉพาะอย่างยิ่งนักบวชพระปฏิบัติขอให้เอาจริงจริง ๆ นะพระลูกพระหลาน เอาให้จริงให้ได้ครองธรรม อย่างน้อยต้องมีสมาธิเป็นสมบัติของใจพระเราถึงจะอยู่สง่างามมีความสุข สมบัติของพระไม่ใช่เงินทองข้าวของตึกรามบ้านช่องหรูหราฟู่ฟ่า กี่ห้องกี่หับกี่ชั้นนะ นั้นไม่ใช่สมบัติของพระ สมบัติของพระแท้คือศีลสมบัติ สมาธิสมบัติ ปัญญาสมบัติ จากนั้นก็วิมุตติสมบัติ นี่หาเอาในตัวของเราเอง อยู่ที่ไหนบำเพ็ญ ศีลอย่าให้ด่างพร้อยอย่าให้ขาดให้ทะลุ นี่ก็เป็นศีลขึ้นมา ตัวเราทั้งองค์นี้เป็นพระทั้งองค์ ผู้มีศีลทั้งองค์

สมาธิเต็มตัวร่มเย็นไปหมด ปัญญากระจ่างแจ้งไป แก้กิเลสไปโดยลำดับ ถึงขั้นวิมุตติหลุดพ้น อยู่ไหนสบายหมด ไม่มีคำว่าอดีต อนาคต ว่าเกิดมาได้กี่ภพกี่ชาติ ยุ่งทำไม ก็เกิดมาแล้วตายมาแล้ว ผ่านมาแล้ว แล้วอนาคตจะไปเกิดที่ไหน เกิดที่ไหนมันก็บริสุทธิ์แล้วในหัวใจเรานี่ จะเอาอะไรเป็นเชื้อให้พาไปเกิด ปัจจุบันมันก็มีเหลือแต่ธรรมธาตุ ที่จิตหลุดพ้นไปแล้วเป็นธรรมธาตุแล้ว อดีตอนาคตมีที่ไหน นี่ละปฏิบัติตัวเอง แล้วเป็น สนฺทิฏฺฐิโก สุดยอดคือตรงนี้เอง ให้ท่านทั้งหลายได้พากันเข้าใจ

พระลูกพระหลานทุกคน ไปอยู่ที่ไหนให้พากันตั้งอกตั้งใจบำเพ็ญธรรมนะ อย่าไปอยู่แบบความประมาท เอาผ้าเหลืองครอบหัว หัวโล้น ๆ เขาไม่อยากแตะนะ ประชาชนญาติโยม จะตำหนิติเตียนพระองค์ใดก็ไม่ได้ เพราะเขาเกรงผ้าเหลืองกลัวเป็นบาปเป็นกรรม เกรงหัวโล้นว่าเราเป็นพระ เราเป็นพระก็ยิ่งทะนงตัว ยิ่งสร้างความชั่วช้าลามกขึ้นในสันดานของเราตลอดเวลา ไม่มียางอายหน้าด้านคือพระเรา พระที่ไม่เสาะแสวงหาคุณงามความดีคือพระหน้าด้านอยู่ลึก ๆ ใครจะตำหนิติเตียนอะไรก็ไม่ได้ เขาไม่อยากตำหนิ ยิ่งสนุกสร้างความชั่วช้าลามกเข้าไป ไปอยู่ที่ไหนวัดวาอาวาสแทนที่จะเป็นสถานที่อบรมบ่มนิสัย เพื่อเป็นปัจจัยต่อบุญต่อกุศล เป็นอรรถเป็นธรรมขึ้นในวัดในวา กลายเป็นวัดส้วมวัดถาน พระส้วมพระถานเต็มวัดเต็มวาเต็มบ้านเต็มเมืองไปหมด เพราะกิเลสเข้าไปตีตลาดละซิ

ให้พากันรู้เนื้อรู้ตัว รู้ไว้นะ เราเป็นพระเขาไม่กล้ามาแตะละ นี้เราเป็นพวกพระกันเอง เราแนะนำสั่งสอนดุด่าว่ากล่าวกันได้เพื่อความดิบความดี เป็นสิริมงคลแก่เราทั้งหลาย อย่าให้เขาตำหนินะ ให้เราตำหนิเราตลอดเวลาก่อนเขานะ ผิดตรงไหนไม่ดีตรงไหน ให้ตำหนิตัวเองแก้ไขตัวเองแล้วจะภาคภูมิตัวเอง เรื่องความตำหนิติเตียนเขาก็ตำหนิในสิ่งผิด เมื่อเราไม่ผิดเขาจะตำหนิหาอะไร ดีไม่ดีเขาก็กราบไหว้บูชาเคารพเป็นขวัญตาขวัญใจ ไปที่ไหนพระท่านมีศีลมีธรรม ผู้ครองอรรถครองธรรมไปไหนเย็นไปหมด ลูกศิษย์ลูกหาไม่ต้องบอกแหละไปไหน ลูกศิษย์ลูกหาถามหาอะไร ดูตัวของเรานี่ก่อนฺ ตัวของเราพอแล้ว ใครจะนับถือไม่นับถือไม่เห็นสำคัญอะไร เราไม่บกพร่องทุกสิ่งทุกอย่างก็สมบูรณ์ในตัวของเราเอง

วันนี้การแสดงธรรมก็เห็นว่าสมควรแก่เวล่ำเวลา ตลอดกำลังวังชา ขอให้พระลูกพระหลาน นำธรรมนี้ไปประพฤติปฏิบัติ ตั้งหน้าตั้งตาประกอบความพากความเพียร ที่พระพุทธเจ้าแสดงไว้แล้ว พระพุทธเจ้าสด ๆ ร้อน ๆ อยู่ในธรรมที่สอนเรานี่แหละ ส่วนพระสรีระที่นิพพานไปแล้วเท่านั้นปีเท่านี้ปีก็เหมือนกับเรา ๆ ท่าน ๆ ใครเกิดมาพอสมควรแล้วก็ตายไปด้วยกันเท่านั้น พระพุทธเจ้าก็ตายไปได้อย่างเรา แต่ที่เป็นศาสดาแทนตถาคตก็คือธรรมแท้ ๆ นั่นแหละสอนพวกเราอยู่เวลานี้ ธรรมนี้เป็นธรรมสด ๆ ร้อน ๆ เหมือนกิเลสที่เป็นสด ๆ ร้อน ๆ ให้ปฏิบัติตัวให้ดี เมื่อปฏิบัติตัวให้ดีแล้ว พระพุทธเจ้าอยู่ที่ไหนไม่ถามแหละ ถามทำไม ธรรมนั่นแหละ ที่ว่า ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเราตถาคต

นี่เริ่มเชื่อมาแล้วตั้งแต่ขั้นสมาธิปัญญา เชื่อพระพุทธเจ้าจนกระทั่งถึงวิมุตติหลุดพ้น ถามพระพุทธเจ้าหาอะไร มันเต็มตัวแล้ว พระพุทธเจ้าคืออะไรก็รู้แล้ว ๆ ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเราตถาคต เห็นอยู่ที่ใจอย่างเดียว ไม่ทูลถามพระพุทธเจ้าอีกแล้ว นี่แหละการแสดงธรรมก็เห็นว่าสมควร เอาละ พอดีกับกาลเวล่ำเวลาของเรา วันนี้เป็นวันมหามงคล ที่เราทั้งหลายได้มาพบมาเห็นกัน ประชาชนก็ได้เห็นพระเป็นจำนวนมากซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ พระก็ได้มาได้ยินได้ฟังอรรถธรรมทั้งหลาย หลวงตาเองก็พลอยยินดีด้วย ที่ได้แนะนำสั่งสอนประชาชนทั้งหลายซึ่งมีศรัทธามาบริจาคทานประเภทต่าง ๆ พร้อมกับการฟังอรรถฟังธรรม นับว่าเราได้รับสิริมงคลทั่วหน้ากัน การแสดงธรรมก็เห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอความสวัสดีจงมีแก่บรรดาพี่น้องทั้งหลายโดยทั่วกัน เทอญ


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก