เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๐๙
ตามรอยแห่งธรรม
เราเป็นนักปฏิบัติ นอกจากเป็นพระแล้วยังเป็นนักปฏิบัติ ซึ่งเป็นเพศและหน้าที่ที่เด่นในสังคมแห่งพระพุทธศาสนา ถ้าจะเทียบอย่างทหารก็คือทหารผู้ออกแนวรบแล้วทำหน้าที่ต่อการรบทุก ๆ ด้านและทุก ๆ ประเภท ไม่ว่าข้าศึกจะมาทางด้านใดมาด้วยกลอุบายใด มาบนบก มาใต้น้ำ มาเหนือน้ำ มาบนอากาศ มาเวลาไหนเป็นหน้าที่ของทหารผู้ก้าวเข้าสู่สงครามแล้ว จะต้องทำหน้าที่รบให้เต็มกำลังความสามารถขาดดิ้นในสงคราม หากว่าชีวิตเหลือมาก็ให้มีชัยชนะ ถ้าไม่เหลือก็มอบไว้กับความกล้าหาญ คือตายด้วยความกล้าหาญชาญชัย เป็นวีรบุรุษของชาติฝากชื่อเสียงไว้ตลอดกาลนาน ไม่ท้อถอยต่อปัจจามิตรที่มาจากจตุรทิศ นี่เรื่องของทหารผู้รักชาติที่ทำหน้าที่ในแนวรบเป็นอย่างนี้ ถ้าเป็นผู้ขี้ขลาดหวาดกลัวต่อข้าศึกแล้ว อย่างไรก็ต้องจมเป็นแน่นอน ความชนะไม่มีหวังเลย
นักปฏิบัติย่อมเป็นเช่นเดียวกับทหารที่ออกแนวรบแล้ว เวลานี้ต่างท่านต่างสละมาจากบ้านจากเรือน สละหมดทุกสิ่งทุกอย่าง สิ่งที่เราสละทั้งหมดนั้นล้วนแล้วแต่เป็นของมีคุณค่ามากทั้งนั้น พ่อ-แม่ พี่น้องแต่ละคน ๆ ก็มีคุณค่ามาก ญาติ มิตรสหาย แต่ระรายก็มีคุณค่ามาก สมบัติเงินทองที่มีมากมีน้อยก็มีคุณค่ามาก ทั้งที่มีอยู่แล้วก็มีคุณค่ามาก จำต้องรักสงวนกัน ทั้งที่ยังไม่มีก็จำต้องเสาะแสวงหามา ซึ่งพร้อมที่จะเป็นสมบัติอันมีค่าในความคุ้มครองของตน
สิ่งที่กล่าวทั้งนี้ เราสละมาโดยสิ้นเชิงไม่มีสิ่งใดเหลือ หากว่าเรายังเป็นอยู่ในฆราวาส โลกเขามีอย่างใดเราจะต้องมีอย่างนั้น ลูกก็ต้องมีเพราะจะต้องมีเมีย นี่เมียเราก็สละคืนให้โลกเขาเสีย ทานเสียโดยสิ้นเชิง ลูกก็เป็นอันว่าทานไปด้วย สมบัติสิ่งของเงินทองทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นของเคยหวงแหน และโลกเคยหวงแหนมาประจำโลกนั้น เราสละเสียสิ้นไม่มีสิ่งใดเหลือภายในตัวเลย หากจะเหลือก็คือความอาลัยอาวรณ์ซึ่งเป็นของแก้ยาก เพราะเป็นกิเลสที่เป็นสิ่งแก้ยากอยู่แล้ว จึงได้มาถวายตัวเป็นศากยบุตรผู้เป็นนักเสียสละ ผู้เป็นนักต่อสู้ ตัดความอาลัยเสียดายไม่มีหลงเหลือในพระทัย เรียกว่าเป็นบุตรของพระพุทธเจ้า ผู้บริสุทธิ์ ผู้กล้าหาญชาญชัย ได้ทำหน้าที่การรบกับกิเลสตัณหาทุกประเภทด้วยพระองค์เอง ไม่มีใครที่ช่วยเหลือพระองค์แม้แต่รายหนึ่ง นอกจากเขาให้ทานไปตามธรรมดา ที่เรียกว่าพอเป็นเสบียงกรัง ที่ได้อาศัยยังชีวิตให้เป็นไปในวันหนึ่ง ๆ เพื่อรบสงครามภายในระหว่างกิเลสกับธรรมะ
พระพุทธเจ้าสามารถรบสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ด้วยความกล้าหาญชาญชัย เอาเป็นเอาตายจริง ๆ ผลปรากฏว่าข้าศึกคือกิเลสทั้งมวลตายเรียบ พระองค์ได้เป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมา นั่นแหละคือผลอันยิ่งยวด ไม่มีสิ่งใดเท่าเทียมเสมอได้ ถ้าเรียกว่าสมบัติก็คือโลกุตรสมบัติหรือนิพพานสมบัติ นี้เกิดขึ้นมาจากความกล้าหาญของพระพุทธเจ้าล้วน ๆ ไม่มีใครช่วยแบ่งหนักแบ่งเบาแม้แต่น้อยเลย เป็น อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ของพระองค์โดยแท้
เราผู้เป็นศิษย์ของพระตถาคต ปรากฏว่าเป็นผู้สำคัญคนหนึ่ง ได้มาบวชในพระพุทธศาสนาแล้วยังไม่แล้ว ยังได้ออกแนวรบคือการปฏิบัติที่เป็นหลักสำคัญมาก การรบของเรานั้นไม่ได้หมายถึงการรบปัจจามิตรภายนอกใด ๆ แต่เป็นการรบกับเรื่องของตัวเราเองที่เป็นกิเลสอยู่ภายใน และเกี่ยวกับสิ่งภายนอกที่ผ่านไปมาและคละเคล้ากันอยู่ตลอดเวลา ได้แก่ทางรูป ทางเสียง ทางกลิ่น ทางรส เครื่องสัมผัส ทุกสิ่งทุกอย่างจะผ่านเข้ามา สติปัญญาซึ่งเป็นศาสตราอาวุธอันสำคัญที่พระพุทธเจ้าทรงมอบให้กับเรานั้น เราได้ถือแนบสนิทกับตัวหรือไม่ โปรดได้นำมาพิจารณาและสำนึกตัวอยู่ตลอดเวลาอย่าได้ลดละ นี้คือหน้าที่ของพระผู้ก้าวเข้าสู่สงครามภายในคือกิเลสกับธรรมซึ่งอยู่ในใจเราเอง
หากเราเป็นผู้มีความท้อถอยด้อยความเพียรและสติปัญญาแล้ว จะเอาตัวไปไม่รอด อยู่ที่ไหนก็ยอมแพ้อยู่ตลอดเวลา คนที่แพ้ไม่ว่าแพ้อะไรย่อมเป็นคนหมดสง่าราศี ถ้าคนชนะแล้วอยู่ที่ไหนก็มีความองอาจกล้าหาญสง่าผ่าเผย ไม่อับเฉาเศร้าโศก นี่ถ้าเราอยู่ด้วยอิริยาบถหรือความเคลื่อนไหวไปมาทุกสิ่งทุกอย่างด้วยความแพ้แล้ว ใช้ไม่ได้เลย ไม่ใช่ลูกศิษย์พระตถาคตผู้ทรงความอาจหาญให้โลกได้กราบไหว้บูชาและถือเป็นคติตัวอย่างอันเลิศเรื่อยมาเลย น่าอับอายแค่ไหน เราเป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้า แต่กลับมาเป็นคนท้อแท้อ่อนแออย่างนี้ไม่สมควรอย่างยิ่ง โปรดได้นำมาคิดให้สนิทติดใจของตน เรื่องสติเรื่องปัญญาเรื่องความเพียรนี้เป็นเครื่องมือสำหรับรบ ความอาจหาญหรือความอดทนความอุตส่าห์พยายามนี้ เป็นกำลังเครื่องสนับสนุนในการรบของเราผู้เป็นทหารต่อสู้ในแนวรบ อย่าได้ลดละปล่อยวาง จงให้ติดแนบกับใจอยู่เสมอ และอย่าทำความสนิทติดจมกับสิ่งใดในโลกสมมุตินิยม
เรื่องความเป็นอยู่ของเรา เป็นอยู่กับศรัทธาญาติโยม ไปที่ไหนไม่อดตาย เราไม่ต้องกลัวว่าจะอดตาย หากว่าเราเป็นผู้บำเพ็ญตนเพื่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ รัฐธรรมนูญอยู่แล้ว จะไม่มีใครทอดทิ้งเรา โปรดได้มอบชีวิตจิตใจทุกสิ่งทุกอย่าง บรรดาปัจจัยสี่ที่เป็นเครื่องอาศัยของพระไว้กับฆราวาสญาติโยม แต่หน้าที่ของพระจริง ๆ คือการทำความพากเพียร ระมัดระวังตัวกลัวข้าศึกคือกิเลสจะเข้าทำลายจิตใจนั้น จงผลิตจงฟิตให้ดีขึ้นทุกวันด้วยความเพียร โดยทางสติโดยทางปัญญา นี่ชื่อว่าเป็นผู้ทำหน้าที่อันถูกต้องและจะเป็นผู้ได้รับชัยชนะเป็นลำดับ ๆ ไป การรบข้าศึกภายในนี้เป็นสิ่งสำคัญมากกว่าข้าศึกใดในสากล
เราไม่ต้องไปมองดูที่อื่น ให้ดูความเคลื่อนไหวของจิตที่เคลื่อนไหวไปแต่ละครั้ง ๆ นี้ หาเรื่องอะไรบ้างมาก่อความรำคาญ หรือมาก่อความเดือดร้อนให้แก่เรา โดยมากจิตจะต้องผลิตเรื่องเหล่านี้ขึ้นมา ไม่ได้ผลิตธรรมะ เรื่องธรรมะนั้นเป็นเรื่องที่เราจะต้องตั้งใจผลิตขึ้นมา ด้วยความระมัดระวังตั้งใจจริง ๆ จึงจะปรากฏเป็นธรรมะขึ้นมา เช่น สติคอยระมัดระวังสิ่งที่มาเกี่ยวข้อง นี่แสดงว่าตั้งขึ้นมา ปัญญาตรวจตรองดูสิ่งที่มาเกี่ยวข้องเป็นสิ่งที่ดีหรือชั่ว จะควรปล่อยวางหรือละถอนโดยประการใดบ้าง ต้องนำมาพินิจพิจารณา แล้วแก้ไขไปตามอำนาจแห่งความเพียรและสติปัญญาที่ไม่ลดละของตน นั้นแลจะเป็นผู้เห็นผลโดยลำดับไปสำหรับเราผู้เป็นนักบวช และเป็นผู้ก้าวเข้าสู่สงครามทุกระยะกาลอยู่แล้ว
คำว่า มรรคผลนิพพานเราไม่ต้องไปคาด ขอให้ดำเนินหลักแห่งเหตุอันเป็นไปเพื่อมรรคผลนิพพานนี้ให้ถูกต้องเท่านั้น เรื่องผลจะหนีไปไหนไม่พ้น เหตุกับผลต้องเป็นของคู่เคียงกันอยู่เสมอไม่ว่ากาลไหนกาลใดมา เราไม่ต้องไปคาดไปหมาย ให้ระมัดระวังตั้งตัวให้ดีด้วยสติ ปัญญา โดยถือจิตเป็นสนามรบกับกิเลสทั้งปวง อย่ามองอย่าสนใจที่อื่นยิ่งกว่าที่ดังกล่าวนี้ ความแพ้ความชนะกิเลสและมรรคผลนิพพานจะปรากฏกันที่ตรงนี้ ชีวิตจิตใจเราไม่ต้องกลัวตาย
การนั่งภาวนา จงนั่งให้เป็นภาวนาจริง ๆ อย่านั่งเพียงสักแต่ว่านั่ง อย่าเดินจงกรมเพียงสักแต่ว่าเดิน ไปไหนมาไหนให้มีสติสตังระมัดระวังตัวเสมอ เราจะเห็นเรื่องของเราทุก ๆ ระยะที่แสดงออกจากใจ และสิ่งที่เข้ามาเกี่ยวข้องสัมผัสกับใจ ก็จะรับทราบว่าเป็นเรื่องอะไร ควรจะแก้ไขกันโดยวิธีใดบ้าง ถ้าผู้มีสติเป็นอยู่เช่นนี้จะเป็นผู้รู้เรื่องผู้เข้าใจ และมีชัยชนะไปตามอิริยาบถทั้งสี่ไม่ขาดวรรคขาดตอน และจะกำชัยชนะอย่างเอกไว้ได้ในเงื้อมมือโดยไม่ต้องสงสัย
แต่ถ้าเราจะอยู่ด้วยวิธีแพ้ คืออยู่ด้วยความเผอเรอ อยู่ด้วยความนอนใจ อยู่ด้วยความอ่อนแอ อยู่ด้วยความท้อถอยกำลัง อยู่ด้วยความขี้เกียจมักง่าย อยู่ด้วยความเห็นแก่ปากแก่ท้อง เหล่านี้จะเป็นทางที่แพ้เรื่อยไป มีแต่แพ้ไปเป็นลำดับ และนับวันอับเฉาเศร้าใจเข้าทุกวัน สุดท้ายก็จม ไม่เป็นประโยชน์อะไรเลย โปรดพากันสนใจคิดเรื่องแพ้เรื่องขาดทุนสูญดอกให้ถึงใจ และจงมีความเข้มแข็งเพื่อธรรมมงคลแก่ตน เพราะนักบวชคือพระเราแต่ละองค์ เมื่อบำเพ็ญตนจนถึงความเจริญรุ่งเรืองภายในใจโดยลำดับ หรือเจริญเต็มภูมิแล้ว นอกจากจะเป็นหลักมั่นคงตายใจของตัวเอง และเป็นความร่มเย็นไม่เอนเอียงโยกคลอนแล้ว ยังจะเป็นหลักยึดอันมั่นคงของโลก และทำประโยชน์แก่โลก ให้ได้รับความสงบสุขร่มเย็นอย่างมหาศาลไม่มีประมาณอีกด้วย ดังพระพุทธเจ้าแลสาวกท่านเป็นตัวอย่าง มาสมัยปัจจุบันก็เห็นประจักษ์ตาอยู่แล้ว เช่น ท่านพระอาจารย์มั่น พระอาจารย์เสาร์ ตลอดครูอาจารย์ทั้งหลายที่เป็นลูกศิษย์ท่าน และท่านผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบองค์อื่น ๆ ซึ่งประชาชนชาวพุทธ ยึดถือพึ่งเป็นพึ่งตายถวายชีวิตต่อท่านเป็นลำดับมา มีเป็นจำนวนมากเท่าไร ดูเอาก็รู้เอง
เพราะฉะนั้น ศาสนธรรมก็ดี ผู้ปฏิบัติธรรมก็ดี โลกจึงกราบไหว้บูชาเคารพนับถือเสมอมา ไม่มีวันเสื่อมคลาย จตุปัจจัยไทยทานมีมากมีน้อยให้มาเท่าไรเขาไม่มีความเสียดาย ให้มาด้วยความเสียสละ ให้มาด้วยการบูชาธรรม ให้มาด้วยความเชื่อความเลื่อมใส ให้มาด้วยความเคารพ ไม่มีความห่วงใยเสียดายในวัตถุสิ่งของ แม้มีราคามากเพียงไรที่เขาให้ทานมานั้น
พระไปอยู่ที่ไหน ถ้าเป็นนักปฏิบัติธรรมะจริง ๆ แล้วจะไม่อดอยาก แม้จะเกิดความอดอยากบ้างเป็นบางครั้งบางคราว ก็ให้ถือเสียว่าเรื่องคติธรรมดา เรื่องอนิจจังเป็นของไม่สม่ำเสมอตลอดมาตั้งแต่กาลไหนกาลใด แม้ประชาชนเองก็มีความขาดแคลนเช่นเรา หรือยิ่งกว่าเราในบางครั้งบางราย อย่าได้คิดว่าจะอดตายเฉพาะเราคนเดียว การจะมีความสม่ำเสมอในอาหารปัจจัยที่อยู่อาศัยต่าง ๆ ตลอดไปนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ ต้องมีขึ้น ๆ ลง ๆ เป็นธรรมดา ที่สำคัญตามความมุ่งหมายแท้ก็คือ เรื่องความเพียรของเรานั้นอย่าให้ขาดวรรคขาดตอน อย่าให้ด้อยลงได้ ให้มีความขะมักเขม้นเข้มแข็งบึกบึนอยู่เสมอไม่ว่าอดหรืออิ่ม เพราะนั้นมันเรื่องของปากท้องธาตุขันธ์ต่างหากซึ่งเพียงอาศัยกันไปเท่านั้น มิได้ถือเป็นจริงเป็นจังเหมือนปฏิปทาที่จะพาเราให้หลุดพ้นอะไรนัก ผู้ไม่บกพร่องในปฏิปทาที่กล่าวนี้ ชื่อว่าผู้ไม่เสียที ผู้ไม่แพ้ อยู่ที่ไหนก็มีชัยชนะเรื่อยไปจนถึงจุดที่หมายหายกังวล
การพิจารณาธรรมะอย่าคว้าโน้นคว้านี้ เราจะตั้งหลักอันใดลงไป จะกำหนดลมหายใจเข้าออก ก็ให้ทำความเข้าใจกับลมของตนจริง ๆ ลมจะเข้าออกยาวหรือสั้น ขอให้ทำการรับทราบอยู่เสมอในขณะที่ลมออกหรือเข้า นี่ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ ลมละเอียดเข้าไปเท่าไร ๆ ก็ให้ทราบตามความละเอียดของลม อย่าถอยความรู้ออกมาและส่งไปสู่ที่อื่น ๆ จะไม่ทราบระยะความเข้าออกของลมและความสั้นยาวของลม และจะไม่ทราบคำว่าความขาดวรรคขาดตอนแห่งความเพียรของตนในเวลานั้น เราเผลอไปขณะใดชื่อว่าความเพียรของเราได้ขาดไปในขณะนั้น นี่แลความเพียรหมายความอย่างนี้ต่างหาก มิได้หมายไปตามกิริยาแห่งการนั่ง การเดินที่ไม่มีสติว่าเป็นความเพียร แต่หมายถึงความเพียรด้วยความมีสติกำกับงานภาวนาของตน
เดินจงกรม เดินทั้งวันก็ตาม ถ้าไม่มีสติก็ไม่ผิดแปลกอะไรกับที่เขาเดินกันทั่วโลก นั่งก็เช่นเดียวกัน ทุก ๆ อิริยาบถถ้าไม่มีสติไม่มีปัญญากำกับ ไม่มีความจงใจอยู่กับความรู้สึกตัวว่าทำงานอะไรอยู่เวลานี้ ไม่จัดว่าเป็นความเพียร โปรดทำความเข้าใจไว้อย่างนี้ จะไม่ปล่อยใจให้สนุกเที่ยวเพ่นพ่าน ทั้งที่กำลังเพลินลืมตัว สำคัญตนว่านั่งทำความเพียร เดินทำความเพียร ยืนทำความเพียรในท่าต่าง ๆ
การกำหนดลมตามที่อธิบายมานี้ อธิบายเพียงย่อ ๆ กำหนดจนกระทั่งลมละเอียดสุด ปรากฏในความรู้สึกว่าลมไม่มีเลยก็ไม่ต้องกลัวตาย ขณะที่ลมหายไปนั้นแลจิตยิ่งมีความละเอียดมาก บางครั้งลมได้หายไปจริง ๆ ในความรู้สึกของนักภาวนา บางครั้งที่เรากำหนดลมละเอียดเข้าไป ๆ ถึงกับปรากฏว่า ลมไม่มีเลย เหลือแต่ความรู้ล้วน ๆ ถ้าเป็นเช่นนั้นจิตก็หยุดปรุง มีความสงบแน่วแน่ ความสงบนั้นแลเป็นสิ่งที่จะทรงคุณภาพอันแปลกประหลาด และอัศจรรย์ให้เราเห็นในเวลาที่จิตมีความสงบ และจิตตั้งตัวได้โดยลำพังตนเอง โดยไม่ต้องอาศัยสิ่งอื่นใดมาเป็นอารมณ์ เช่น ลมหายใจเป็นต้น มีความสุขโดยความสงบของใจเอง
นี่แหละชื่อว่าเป็นตัวของตัวในขั้นหนึ่ง แต่ไม่ได้หมายถึงขั้นสุดยอด หมายถึงขั้นต้นอย่างนี้เสียก่อน อย่างไรก็ขอให้ทำได้อย่างนี้ จะผูกใจด้วยพุทโธหรือจะตามลมหายใจด้วยพุทโธก็ตาม เราจะตามด้วยพุทโธ ๆ ทั้งระยะเข้าและออก หรือจะตามด้วยพุท เข้า โธ ออกก็ได้ ขอให้เป็นความถนัดใจก็พอ ไม่ผิดทาง เป็นอันถูกในหลักความเพียรสำหรับนิสัยของแต่ละราย ๆ เราไม่ต้องไปคว้าโน้นคว้านี้ ได้ยินท่านว่าท่านภาวนาอย่างนั้นได้ผล ผู้นั้นภาวนาอย่างนั้นได้ผล เราก็คว้าโน้นปล่อยนี้ อย่างนั้นเรียกว่าเป็นคนหลักลอย เป็นคนจับจด โดยไม่ทราบนิสัยของตนว่าจะควรปฏิบัติต่อตนอย่างไร อย่างนี้ทำความเพียรไปเท่าไรก็ไม่ค่อยเห็นผล
หลักสำคัญคือให้เป็นคนจริง จะทำความเพียรด้วยธรรมบทใดหรือพิจารณาบริกรรมด้วยธรรมบทใด หรือจะพิจารณาในแง่ใดอาการใด จงทำให้จริงจนเห็นผลขึ้นมา พร้อมกับทราบชัดว่า จริตของเราชอบกับสิ่งนี้ หรือธรรมบทนี้ มีลมหายใจเป็นต้น นี้แลชื่อว่าคิดค้นหาความเหมาะสมให้เห็นชัดเจนในนิสัยของตน แล้วดำเนินต่อไปและทำด้วยความจริงจัง ในเบื้องต้นต้องมีหลักยึดเช่นนี้
ผู้กำหนด พุทโธ โดยลำพังก็ เอ้า เดินไปไหนอย่าให้เผลอคำว่า พุทโธ พุทโธ ในเมื่อได้นำมากำกับใจไม่ให้ขาดวรรคขาดตอนกับความรู้สึก ระหว่างจิตกับพุทโธให้ติดต่อกันเป็นสายไปอยู่แล้ว คำว่าพุทโธกับความรู้นั้นจะค่อยกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเข้าเป็นลำดับๆ จนกลายเป็นว่า คำว่าพุทโธกับความรู้นั้นเป็นอันเดียวกัน ที่นี่เราจะบริกรรมหรือไม่บริกรรมก็ไม่เป็นปัญหาในขณะนั้น เหลือแต่ความรู้ล้วนๆ ถึงเราจะนึกว่าพุทโธ ก็คือความรู้นั้นแลเป็นพุทโธ นี่ถ้าจะเทียบอุปมาก็ คำว่าพุทโธนี้เปรียบเหมือนเราตามรอยเท้าของโคเพื่อจะจับตัวโคให้ได้ โคตัวนั้นไปที่ไหนอย่าปล่อยรอย ให้ตามรอยโคตัวนั้นไปเป็นลำดับๆ ไปที่ไหนตามไปเรื่อยๆ จนถึงตัวโค เมื่อถึงตัวโคแล้วเรื่องของรอยโคนั้นก็หมดปัญหาเพราะไปถึงตัวโคแล้ว ถ้าจะดูรอยโคก็ดูที่เท้าโคก็ทราบ เพราะรอยที่เหยียบย่ำไว้ในที่ต่างๆ ก็ออกจากเท้าของโคตัวที่เราจับได้นี้แล
นี่คำว่าพุทโธก็เป็นร่องรอยที่จะตามรู้คำว่าพุทธะ ซึ่งเป็นเหมือนกับโคตัวนั้น หากเราไม่ปล่อย ตามพุทโธเข้าไปทุกระยะๆ คำว่าพุทโธกับจิตก็จะกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แล้วก็จะหมดปัญหาในคำว่าพุทโธในเวลาเช่นนั้น นี่จิตเมื่อตั้งตัวได้ย่อมมีความสงบร่มเย็นเป็นสุขในเวลานั้นไม่สงสัย ไม่ถามใครให้เสียเวลาและขายโง่ นี่ผลที่เกิดจากการบริกรรมพุทโธ เพื่อเห็นจุดผู้รู้ที่เรียกว่าดวงใจอันแท้จริง
ผู้กำหนดลมหายใจก็เช่นเดียวกัน ลมหายใจก็เหมือนกับรอยโคอันเดียวกัน เราจะพิจารณาอันใดก็ตามเป็นเรื่องของร่องรอยที่จะเข้าไปหาตัวจริงทั้งนั้น จะพิจารณา ผม,ขน,เล็บ,ฟัน,หนัง,เนื้อ,เอ็น,กระดูกทุกๆ ชิ้น เป็นเรื่องที่จิตมาคาดมาหมายมาเหยียบมาย่ำ มาอุปาทานยึดมั่นถือมั่นไว้ทั้งนั้น เมื่อเวลาเราแยกแยะขยายออกให้เห็นตามส่วนแห่งอาการนั้นๆ ให้เห็นตามส่วนแห่งธาตุแห่งขันธ์นั้นๆ แล้ว จิตเราก็หายสงสัย และย้อนเข้าไปๆ จนถึงธรรมชาติของตัวที่แท้จริง คือหยั่งเข้าสู่จิตและความสงบที่เป็นอยู่กับจิตดวงสงบ
เราพิจารณาดูอาการใด เมื่อเห็นชัดแล้วจะไปสงสัยอันใดเล่า มันต้องเข้าไปหาที่จิต จิตเป็นผู้มาก่อความรำคาญ จิตเป็นผู้มาก่อความรักความชัง จิตเป็นผู้มาก่อความหลงความหึงหวงกับสิ่งเหล่านี้ต่างหาก ไม่ใช่สิ่งเหล่านี้เป็นความรักความชังในตัวเอง ไม่ใช่สิ่งเหล่านี้เป็นความหึงหวงในตัวเอง ไม่ใช่สิ่งเหล่านี้เป็นผู้มีความหมายในตัวเอง แต่เป็นเรื่องของจิตไปให้ความหมายว่าสิ่งนั้นเป็นนั้นๆ สิ่งนั้นน่ารัก สิ่งนี้น่าชัง แล้วก็ยึดมั่นตามเรื่องแห่งความหมายที่ตนไปทำกรุยทำหมายเอาไว้ ซึ่งเป็นการผูกมัดตนให้ติดจมอยู่ในสิ่งเหล่านั้น
แต่การพิจารณาเพื่อจะแก้จุดที่ตนผูกมัดตนนั้นแล ท่านเรียกว่าปัญญา เมื่อพิจารณาเห็นชัดในสิ่งใดแล้ว จิตย่อมปล่อยไปเป็นระยะๆ หากว่ารู้รอบคอบหมดในส่วนแห่งร่างกายนี้ จิตก็ปล่อยได้โดยเด็ดขาด เรียกว่าหมดอุปาทานในกาย แล้วก็เข้าไปถึงตัวจิตนั้นอีกว่า กายเหล่านี้ไม่มีความหมายในตัวเอง แต่เป็นเรื่องของจิตเป็นผู้ไปให้ความหมายในกายนี้ว่าเป็นอย่างนั้นๆ บัดนี้ได้รู้แล้วว่ากายเป็นส่วนหนึ่งต่างหาก หรือวาธาตุ ส่วนธาตุดินนี้เป็นส่วนหนึ่งต่างหาก จิตก็เป็นอันหนึ่งต่างหากจากสิ่งเหล่านี้ หมดความสงสัยกังวลกันไปเป็นพักๆ การพิจารณาเป็นอย่างนี้ ขอให้พิจารณาจริงๆ ก็แล้วกัน อย่าทำเล่นๆ ทำอะไรให้ทำจริงๆ จังๆ
การพิจารณากายนี้ จะพิจารณากายนอกกายในไม่สำคัญ เพราะสมุทัยมีได้ทั้งภายนอกมีได้ทั้งภายใน เมื่อเป็นเช่นนั้นมรรคคือ ทางดำเนินเพื่อแก้เพื่อปลดเปลื้องสิ่งที่ตนไปเที่ยวสำคัญมั่นหมายไว้ ก็ย่อมมีได้ทั้งภายนอกทั้งภายใน เช่นเรารักรูป ความรักรูปนั้นเป็นสมุทัย หมายรูปนอกนั้นเป็นสำคัญ หมายรูปนั้นน่ารัก รูปนั้นน่ากำหนัดยินดี แล้วนำรูปนั้นมาพิจารณาคลี่คลายดู ให้เห็นชัดตามหลักความจริงของรูปนั้นว่า มีที่สำคัญตรงไหนบ้างพอที่จะให้เกิดความรักความกำหนัดยินดี เมื่อแยกออกทุกอาการแล้วก็เห็นเป็นเพียงสักแต่ว่าธาตุ หรือเห็นแต่เพียงของปฏิกูลน่าเกลียดไปเสียสิ้น หาสิ่งที่น่ารักน่ากำหนัดไม่มีเลย จิตก็ถอนความกังวลความรักในสิ่งเหล่านั้นเข้ามาสู่ตัวเอง เห็นโทษของตัวเองว่าเป็นเพราะตัวเองไปทำความสำคัญมั่นหมายในสิ่งนั้นต่างหาก จึงเกิดความรักความกำหนัดยินดีนั้นขึ้นมา นี่เราก็ได้เห็นโทษของเราด้วย เราก็ได้เห็นโทษในสิ่งที่เราไปสำคัญมั่นหมาย ว่าน่ารักน่ากำหนัดยินดีนั้นด้วย จึงสามารถถอดถอนมาได้เป็นระยะๆ อย่างนี้
เพราะฉะนั้น เรื่องของปัญญาจึงเป็นสิ่งที่ละเอียดมาก ปัญญาในขั้นของธาตุขันธ์ยังมี ปัญญาในขั้นของธาตุคือรูปธรรมนี้เป็นประเภทหนึ่ง ปัญญาในขั้นของนามธรรมเป็นอีกขั้นหนึ่ง หากว่าจิตของเราตั้งตัวได้ด้วยความสงบเพราะอำนาจของความเพียรพยายาม โดยวิธีภาวนาดังที่ได้กล่าวมาในเบื้องต้นนั้น มีหลักฐานพอที่จะพิจารณาได้แล้ว โปรดพิจารณาทางปัญญา จะเป็นเรื่องนอกก็ตาม จะเป็นเรื่องในก็ตาม ให้แยกส่วนแบ่งส่วนดูดังที่กล่าวนี้ จิตใจให้ทำงานอยู่กับสิ่งเหล่านั้นทั้งวันยิ่งเป็นการดี เมื่อมีความเหนื่อยภายในจิตใจ กำหนดจิตให้เข้าพักในความสงบเป็นสมาธิเยือกเย็นขึ้นมา พอถอนจากความสงบแล้วออกทำหน้าที่การงานของตน เคยพิจารณาอะไรที่ยังไม่ชัด เอ้า..คลี่คลายดูให้ชัด ถืออันนั้นแลเป็นงานของตน พิจารณาจนรู้ชัดตามความเป็นจริงแล้ว จิตนั้นจะปล่อยงานประเภทนั้นโดยไม่ต้องไปบังคับ เพราะรู้รอบคอบแล้วจะถือมั่นไว้ทำไม นี่เป็นเรื่องของจิตจะปล่อยสิ่งที่เคยเกี่ยวข้องกับตัว นี่ขั้นของธาตุแต่อธิบายอย่างสรุป ๆ
ขั้นของขันธ์นี้เป็นอีกประเภทหนึ่ง ขันธ์ในขันธ์สี่คือ เวทนา,สัญญา,สังขาร,วิญญาณ อันนี้เป็นส่วนละเอียดมาก ละเอียดยิ่งกว่ารูปขันธ์ แต่ถึงจะละเอียดแค่ไหนก็ตามจะพ้นวิสัยของปัญญาไปไม่ได้ ธาตุทั้งธาตุหรือว่ารูปทั้งกองนี้ในส่วนร่างกายของเรา ปัญญายังสามารถสอดแทรกหรือแทงทะลุ ถอดถอนอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นในกายออกมาได้ เหตุใดจะไม่สามารถรู้เท่าทันใน เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณได้ ต้องได้ไม่สงสัย เมื่อสติปัญญามีอยู่และนำมาใช้อยู่แล้ว
คำว่าเวทนา เวทนาทางกายประเภทหนึ่ง เวทนาทางใจประเภทหนึ่ง เวทนาทางใจนี้เป็นส่วนละเอียดมาก โดยมากถ้าจิตได้รับความสงบเยือกเย็นมาเป็นลำดับแล้ว จะมีแต่สุขเวทนาปรากฏอยู่ภายในใจ สุขเวทนานี้ก็ต้องได้พิจารณาถึงกาลเวลาที่ควรจะพิจารณา จะปล่อยทิ้งไว้หรือนอนใจกับสุขเวทนานั้นไม่ได้ เช่น ผู้ติดสมาธิโดยมากติดสุขเวทนา เมื่อเข้าสมาธิแล้วก็แน่วแน่เป็นอารมณ์เดียว ไม่อยากออกมาคิดมาอ่านไตร่ตรองอะไรให้หนักอกหนักใจ ให้เกิดความลำบากรำคาญ อยู่อย่างนี้สบายดี ทั้งวันทั้งคืนก็สบาย เมื่อถอยออกมากระทบกระเทือนรูป เสียง กลิ่น รส เป็นต้น ก็รู้สึกไม่ค่อยสบาย รำคาญในจิตในใจ แล้วย้อนเข้าไปอยู่ในสมาธินั้นเสียสบายดี นี่คือจิตติดสุขเวทนาในสมาธิ
เมื่อเป็นเช่นนั้น เราก็ควรจะถอยออกมาพิจารณา เพราะการถอดถอนกิเลสนี้ไม่ใช่ถอดถอนด้วยสมาธินะ สมาธิเป็นแต่เพียงต้นทุนให้ใจได้รับความสงบเป็นชั้นหนึ่งต่างหาก แต่การจะถอดถอนกิเลสทุกประเภทนั้นจะต้องถอดถอนด้วยปัญญา ไม่ว่าส่วนหยาบ ไม่ว่าส่วนกลาง ส่วนละเอียด จะต้องถอดถอนด้วยปัญญาทั้งนั้น ถ้าเพียงแต่สมาธิหากไม่ได้ใช้ปัญญาพิจารณาเลย ก็จะอยู่แต่ความสงบ หาปรากฏว่าได้ถอดถอนกิเลสตัวใดออกได้ด้วยอำนาจของสมาธิไม่ เห็นแต่ความสงบ ถ้าเราปล่อยไว้บ้างหรือมีความประมาทบ้าง ไม่ค่อยเข้าสมาธิบ่อย ไม่ค่อยทำความเพียรโดยสม่ำเสมอเพื่อรักษาระดับสมาธิไว้ จิตที่เคยเป็นสมาธิก็เสื่อม กลายเป็นจิตที่มีความฟุ้งซ่านรำคาญไปอีก เลยเข้าสมาธิไม่ได้ นี่เรียกว่าสมาธิเสื่อม
ฉะนั้น เพื่อเป็นความเหมาะสมในเวลาจิตที่เป็นสมาธิ ก็ให้พักเสียได้ตามกาลเวลาที่ต้องการ เมื่อถอนออกมาแล้วให้พิจารณาด้วยปัญญาตามธาตุขันธ์ จะเป็นขันธ์ใดก็ตาม เวทนาขันธ์ก็พิจารณาให้เห็นว่ามันเป็นส่วนหนึ่งต่างหาก ไม่ใช่ตัวจิตอันดั้งเดิม พูดง่าย ๆ ก็คือเป็นส่วนที่แฝงขึ้นมา จะเป็นสุขก็แฝงขึ้นมา จะเป็นทุกข์ก็แฝงขึ้นมา เพราะฉะนั้นสุขทุกข์จึงเป็นของที่เกิดและดับได้ ไม่เป็นของจีรังถาวรและไม่เป็นสิ่งคงที่ สัญญา สังขาร วิญญาณ เหล่านี้มีลักษณะที่ปรากฏกระเพื่อมขึ้นมาแล้วก็ดับไปเช่นเดียวกัน
ทั้งเกิดและดับนี้เป็นตามธรรมชาติของขันธ์ หากจิตจะหลงก็หลงได้อย่างไม่มีปัญหาเพราะเคยหลงมาแล้ว ถ้าพิจารณาก็รู้ฐานที่เกิดที่ดับของเขาได้อย่างชัดเจน ไม่ยึดมั่นถือมั่นในกองแห่งรูป ในกองแห่งเวทนา ทั้งสุขทั้งทุกข์ทั้งเฉย ๆ ทั้งสัญญาความจำหมาย ทั้งสังขารความปรุงว่าดีว่าชั่วว่าสุขว่าทุกข์ ทั้งวิญญาณที่รับทราบ อันเป็นเพียงปรากฏขึ้นแล้วดับไป ๆ นี่คือปัญญาขั้นละเอียดที่สามารถให้เห็นต้นเหตุ หรือเห็นรากฐานของอาการทั้งสี่ทั้งห้านี้ว่า มันปรากฏตัวขึ้นมาได้อย่างไร
รูปที่ปรากฏตัวขึ้นมาเป็นกายนี้ ก็เนื่องจากหลักใหญ่ที่เรายังไม่สามารถค้นพบ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี้ก็ออกมาจากหลักใหญ่ ที่เรายังไม่สามารถรู้ด้วยปัญญา แต่เมื่อใช้ปัญญาพิจารณาเข้าไปโดยไม่หยุดยั้งแล้ว รูปก็เห็นชัดว่าเป็นอันหนึ่งต่างหากจากจิต เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แต่ละอย่าง ๆ ไม่ว่าเวทนาประเภทใด ไม่ว่าสัญญาจะหมายเรื่องอะไร ไม่ว่าสังขารจะปรุงเรื่องอะไร จะเห็นความเกิดของสิ่งเหล่านี้มาจากจิตและดับลงที่จิต และเป็นธรรมชาติอันหนึ่งต่างหากจากจิต และยังจะได้เห็นตัวจิตที่มีธรรมชาติอันหนึ่งหุ้มห่อไว้อย่างมิดชิด ธรรมชาตินั้นเป็นผู้ทำหน้าที่บงการ โดยมากในอิริยาบถทั้งสี่จะเป็นเรื่องของธรรมชาตินี้ทั้งนั้นเป็นตัวเชิด เป็นตัวพาให้คิดให้อ่านให้ปรุงแต่งต่าง ๆ นี่ท่านเรียกว่า อวิชชา
อันนี้เป็นสิ่งที่สนิทติดใจกับใจราวกับเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จนผู้ปฏิบัติเมื่อถึงขั้นละเอียดนี้แล้วไม่สามารถจะทำลายอวิชชานี้ ไม่สามารถจะพิจารณาธรรมชาตินี้ได้ เนื่องจากเข้าใจว่าธรรมชาตินี้แลเป็นตน ตนคือธรรมชาติอันนี้ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทั้งหลายพรากได้หมดแล้ว แต่ธรรมชาตินี้พรากกันไม่ออก เนื่องจากเราเห็นธรรมชาตินี้ว่าเป็นเรา ในขณะเดียวกันเราก็คือธรรมชาติอันนี้ เมื่อเป็นเช่นนี้ธรรมชาตินี้จะต้องแสดงตัวอยู่ตลอดเวลา และแสดงอย่างอาจหาญด้วย คือจิตที่เป็นขั้นละเอียดนี้ จะมีแต่เรื่องความดีแทบทั้งนั้นแสดงตัว ความที่ว่าดีอันนี้แลที่เรียกว่าอวิชชาอันแท้จริง
หลอกทางชั่ว หลอกทางส่วนหยาบก็ตามกันทันมาเป็นลำดับ เมื่อแสดงความละเอียดถ้าปัญญาไม่สามารถก็จะแสดงตัวตลอดเวลา เช่น ความผ่องใสก็คือธรรมชาตินี้แลแสดงตัว ความองอาจกล้าหาญก็คือธรรมชาตินี้ ความสุขความสบายก็คือธรรมชาตินี้ เพราะธรรมชาตินี้ยังเป็นตัวสมมุติอยู่ สิ่งที่แสดงออกมาทั้งหมดจึงเป็นเรื่องของสมมุติทั้งนั้น
ถ้าเราได้ทราบ หรือได้ยินได้ฟังจากครูอาจารย์ที่ชี้ช่องบอกทางไว้แล้วอย่างนี้ เรามีทางที่จะพิจารณาจุดที่ว่านี้ได้โดยไม่มีความสะทกสะท้านลังเลใจ โดยไม่มีความหึงหวงในธรรมชาตินี้เลย แต่ถ้าไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อนนั้น น่ากลัวจะติดอยู่เป็นเวลานานหรืออาจติดกันไปเลย เพราะไม่สนใจจะถอน เนื่องจากมีความรักมีความสงวน มีความรักชอบ มีความพอใจอย่างยิ่ง แล้วก็ยกธรรมชาติอันนี้ขึ้นว่าเป็นตน กดขี่สิ่งทั้งหลายว่าทุกสิ่งทุกอย่างเรารู้หมดแล้ว ไม่มีสิ่งใดเหลือในโลกนี้ เราเป็นผู้บริสุทธ์แล้วทั้งที่กำลังหลง และยึดถือจิตอวิชชาอยู่อย่างภูมิใจไม่รู้สึกตัวบ้างเลย นี่แลเพลงกล่อมของอวิชชาแท้ ทำให้สติปัญญาหลับใหลไปได้โดยไม่คาดฝัน
เมื่อปัญญามีกำลังพอที่จะพิจารณานี้ได้แล้ว ก็ย้อนเข้าไปดูจุดนี้ คือจุดแห่งความผ่องใส จุดแห่งความองอาจ จุดแห่งความสุขอันละเอียดของอวิชชาที่อาศัยอยู่นี้ จะต้องทลายตัวลงไปด้วยอำนาจของปัญญาที่ละเอียด เมื่อธรรมชาตินี้ได้สลายตัวลงไปด้วยอำนาจของปัญญาแล้วนั้น คำว่าเราก็ดี สิ่งที่เราเคยสงวนก็ดี สิ่งที่เราเคยรักเคยชอบมาก็ดี สิ่งที่องอาจกล้าหาญอันเป็นจุดเดียวกันนั้นก็ดี จะหมดปัญหาไปทันทีไม่มีสิ่งใดเหลืออยู่ภายในนั้น ถ้าหากจะเทียบอุปมาแล้ว จุดอันนี้เป็นเช่นเดียวกับบุคคลที่เข้าไปในห้องว่าง เมื่อเข้าไปสู่ห้องว่างแล้ว ผู้นั้นจะลืมตัวของตัวไปเสีย แต่จะไปชมว่าห้องนี้ว่างโล่งโถงเต็มที่ ไม่มีสิ่งใดอยู่ในห้องนี้เลย ห้องนี้ว่างอย่างเต็มที่ โดยไม่ทราบว่าตัวคนเดียวนั้นแลไปทำการกีดขวางห้องอยู่ในขณะนั้น ห้องจึงยังไม่ว่างเพราะยังเหลือคน ๆ หนึ่งไปทำการกีดขวางห้องนั้นอยู่
พอรู้สึกตัวว่า อ้อ ห้องนี้ว่างจริง แต่ที่ห้องนี้ยังไม่ว่างเต็มที่ก็เนื่องจากเรามาอยู่ในห้องนี้คนหนึ่ง ถ้าเราถอนตัวออกไปเสียจากห้องนี้แล้ว ห้องนี้จะว่างอย่างเต็มที่ ข้อนี้อุปมาฉันใด ทุกสิ่งทุกอย่างว่างปล่อยวางกันได้หมด แต่ยังเหลือคำว่าเราซึ่งเป็นตัวอวิชชาอันแท้จริงอยู่กับใจ นั่นแหละอวิชชาล้วน ๆ คือเราตัวนั้นแหละกีดขวางตัวเองอยู่ในเวลานั้น ไม่ทราบว่าอวิชชานั้นคืออะไร เราจึงเห็นสิ่งทั้งหลายว่าง หรือว่าเราวางสิ่งทั้งหลายได้หมดไม่มีสิ่งใดเหลือ แต่ธรรมชาติอันนั้นทำการกีดขวางตัวของเราอยู่ เราเลยไม่ว่าง
พอปัญญาได้หยั่งเข้าไปสู่จุดนี้แล้ว ธรรมชาตินี้ก็สลายตัวลงไป นั้นแลภายนอกก็ว่าง ภายในใจตัวเองก็ว่าง เช่นเดียวกับบุคคลถอนตัวออกมาจากห้อง แล้วห้องนั้นก็ว่างอย่างเต็มที่ จิตรู้ทุกสิ่งทุกอย่างรอบด้านหมดแล้วด้วย มารู้รอบตัวเองปล่อยวางภายในตัวเองนี้ด้วย ชื่อว่าจิตนี้ว่างอย่างเต็มที่ ไม่มีสมมุติอันใดแฝงอยู่ภายในนั้นเลย นี่ชื่อว่าจิตว่างจริง จิตปล่อยวางจริง
ถ้าหากจิตยังไม่รู้ตัวเอง ยังไม่ถอดถอนตัวเองตราบใด ถึงจิตจะว่าสิ่งใดว่างหรือปล่อยวางสิ่งใดได้แล้วก็ตาม จิตก็ยังไม่ว่างในตัวเอง จิตยังไม่ปล่อยวางตัวเองอยู่นั้นแล เมื่อเป็นเช่นนั้นคำว่าอวิชชาก็คือ จิตผู้นั้นยังจะมีทางสืบต่อไปได้อีก เมื่อได้ทำลายพืชอันสำคัญหรือตัวอวิชชาอันแท้จริงนี้ได้ด้วยปัญญาแล้ว นั้นแลชื่อว่าเป็นผู้ว่างเป็นผู้วางอย่างเต็มภูมิ ไม่มีสมมุติอันใดเจือปน ความสงวนก็ไม่มี ความรักก็ไม่มี ความองอาจกล้าหาญก็ไม่มี ความที่จะขยาดหวาดกลัวเพื่ออะไรอีกก็ไม่มี เพราะสิ่งทั้งนี้เป็นสมมุติทั้งนั้น เนื่องจากอวิชชาซึ่งเป็นรากแก้วใหญ่อันพาให้เกิดอาการเหล่านี้ขึ้นมาได้สลายลงไปแล้ว เหลือแต่ธรรมชาติล้วน ๆ
นี่จุดสุดท้ายแห่งการปฏิบัติธรรมะ หากเราได้ปฏิบัติอย่างเอาจริงเอาจังตามที่อธิบายมาแล้วนั้น จุดนี้หรือผลสุดท้ายที่อธิบายมานี้จะไม่เป็นสมบัติของใคร แต่จะเป็นสมบัติของท่านผู้ปฏิบัติตามที่กล่าวมานี้ทั้งนั้น เพราะความรู้อันนี้มีอยู่ตลอดเวลาหลับหรือตื่นไม่นิยม แม้แต่หลับสนิทก็ยังทราบว่าหลับสนิท ตนได้ถึงความบริสุทธิ์จะไม่ทราบตนได้อย่างไร ต้องทราบ ฉะนั้นทุกท่านโปรดได้ทำความพยายามผลิตพระของเรา สร้างพระของเราให้สมบูรณ์เพื่อความเป็นวิสุทธิบุคคล
เรื่องภายนอกจะขาดตกบกพร่องไปบ้าง เปลี่ยนแปลงไปบ้าง สมบูรณ์บ้าง ได้บ้างไม่ได้บ้าง อิ่มบ้างหิวบ้าง อย่าไปทำความสำคัญให้มากไป จะเสียหลักใหญ่คือพระของเราบกพร่อง คำว่าพระนี้หมายถึงจิตที่บริสุทธิ์ ประเสริฐเต็มที่นั่นเอง เราพยายามปรับปรุงกาย วาจา ใจ ของเราด้วยข้อปฏิบัติอันเป็นธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าให้กลมกล่อมกับจิตใจของตน ให้มีความเจริญด้วยศีล ให้มีความเจริญด้วยสมาธิ ให้มีความเจริญด้วยการสอดส่องมองรู้เหตุการณ์ต่าง ๆ ทั้งภายนอกทั้งภายในที่เรียกว่า ปัญญา อยู่ตลอดเวลา นี่ชื่อว่าเป็นผู้สร้างพระขึ้นภายในตน พระผู้นั้นจะไม่บกพร่อง ทุกสิ่งทุกอย่างจะบกพร่องไม่สำคัญ ขออย่าให้พระของเราบกพร่องก็เป็นที่พอใจและชอบธรรม
การสร้างพระนี้สร้างยากมาก สร้างวัตถุอะไร ๆ ไม่ยาก จะสร้างห้างสร้างหออะไร สร้างวัดสร้างวา สร้างโบสถ์สร้างวิหาร ไม่มีอะไรสำคัญ ไม่มีอะไรหนักเท่า ไม่มีอะไรจะยากเท่าการสร้างพระ คือการสร้างตัวของเราให้ดีและดีเด่นเห็นประจักษ์ใจ อันนี้สร้างยากมาก แต่สร้างได้แล้วมีคุณค่าหาประมาณมิได้ ทุกสิ่งทุกอย่างสร้างขึ้นมา หมดเท่าไรเขาก็ประมาณได้ถูกต้องหรือบอกได้ถูกต้อง ว่าสิ่งนั้นสร้างหมดเท่านั้นบาท เท่านั้นแสน เท่านั้นหมื่น เท่านั้นล้าน บอกกันได้ แต่การสร้างจิตนี้หมดไปเท่าไรไม่คำนึงนับอ่าน เพราะเป็นงานที่เลยการนับการประมาณ เมื่อสร้างได้แล้วจะมีราคาค่างวดเท่าไร ก็ไม่มีการจับจ่ายขายกันในตลาด จึงว่าเป็นงานที่ยาก ผลงานที่คาดไม่ได้
ฉะนั้น ทุก ๆ ท่านโปรดพากันสนใจสร้างพระของตนให้เต็มที่ อย่าไปสนใจไยดีลืมตัวกับสิ่งภายนอก เจริญแค่ไหนก็เสื่อมลงเท่ากันไม่มีเศษมีเหลือเลย ในโลกนี้มันโลกวัตถุมันโลกนิยม อะไร ๆ มีไม่อดไม่อยาก อยู่ที่ไหนก็สร้างก็อยู่กันไป เพราะคนมีชีวิตจิตใจ จะไม่มีบ้านมีเรือนมีกุฏิศาลาอยู่อาศัยถ้าไม่สร้างจะอยู่ที่ไหน แม้แต่กระรอกกระแตมันยังมีโพรงมีรัง พระเราก็มี แต่ให้มีเท่าที่เห็นว่าจำเป็นกับเหตุผลอรรถธรรมและธาตุขันธ์ อย่าไปทำความกังวลขนทุกข์ใส่ตัวเพราะสิ่งเหล่านั้นให้มากไป จนลืมมองดูพระของตัว จงสร้างพระนี้ให้ได้ เมื่อสร้างพระสมบูรณ์แล้วอยู่ที่ไหนก็สบาย อยู่ร่มไม้ชายเขา อยู่ในป่าในรก และอดบ้างอิ่มบ้างก็มีความสบายทั้งนั้น เพราะพระนี้สมบูรณ์แบบแล้ว จงทำความสนใจอย่างนี้
ถ้าเป็นผู้ชอบยุ่งกับสิ่งภายนอกแล้ว อย่างไรพระต้องด้อยไปเป็นลำดับ จนหาพระภายในตัวไม่มีเลย ทั้งวันทั้งคืนจะเป็นแต่สัญญาอารมณ์กับเรื่องนั้นเรื่องนี้ยุ่งไปหมด ไปที่ไหนวุ่นไปที่นั่น สร้างนั้นสร้างนี้ เดี๋ยวเกี่ยวกับศรัทธาญาติโยม บอกบุญคนนั้นบอกบุญคนนี้ ติดต่อคนนั้นติดต่อคนนี้ กลายเป็นเรื่องนอกเรื่องแหกคอกแหวกแนวไปหมด หาเรื่องในของพระที่จะให้เป็นพระองค์เจริญ ๆ คงเส้นคงวาไม่มี นี้ผิดกับหลักของพระผู้ตั้งหน้าตั้งตาสละกิเลส ผิดกับหลักของผู้ปฏิบัติเพื่อความเป็นพระอันสมบูรณ์ ก็พระโสดา สกิทาคา อนาคา พระอรหันต์ อย่างไรล่ะ
ฉะนั้นงานเช่นนั้น กับงานของพระตามหลักนิสสัย ๔ จึงต่างกันมาก งานนั้นมอบให้ญาติให้โยมให้ศรัทธาพิจารณากันไป แต่เรื่องงานผลิตมรรคผลนิพพานนี้ให้เป็นเรื่องช่าง คือเราเป็นช่างเอง ได้รับโอวาทจากครูบาอาจารย์มาเป็นเครื่องมือแล้ว เอ้า ทำหน้าที่ลงไป งานนี้จะให้คนอื่นทำแทนไม่ได้ การสร้างพระต้องต่างองค์ต่างสร้าง ต่างคนต่างสร้างตัวเอง เป็นแต่ได้รับอุบายจากครูจากอาจารย์หรือหมู่เพื่อนมาเท่านั้น การที่จะทำลงไปนั้นเป็นเรื่องของเราโดยเฉพาะ ใครทำแทนไม่ได้ เป็นส่วนของใครของเรา
เดินจงกรมก็ให้มีสติ นั่งที่ไหนให้มีสติ ไปไหนมาไหนอย่าลืมคำว่าพระต้องดีและสมบูรณ์ด้วยการบำรุงรักษา พระจะบกพร่องไปที่ไหนบ้าง ให้พยายามแก้ไขดัดแปลงจนเป็นพระที่สมบูรณ์ นั่งสมาธิก็เย็น เดินไปไหนมาไหนก็เย็น พิจารณาเรื่องปัญญาก็ปลอดโปร่งโล่งโถง เห็นอรรถเห็นธรรม เห็นความดีความชั่วชัดเจนอยู่ที่ใจของพระเรา มีทางออกทางเข้า มีทางปลดเปลื้องตนเอง มีทางหลบหลีกภัยได้อย่างสบาย ด้วยอำนาจปัญญาของพระ อยู่ที่ไหนก็สบาย เย็นไปหมด ข้าศึกที่เคยก่อความวุ่นวายให้เราวันยังค่ำคืนยังรุ่ง โดยไม่มีวันหยุดยั้ง ก็ยุติกันลงด้วยอำนาจแห่งพระของเรามีเครื่องมือกำจัดและป้องกันตัว มีความกล้าหาญชาญชัยรบกับข้าศึกไม่ถอยทัพกลับแพ้ รุดหน้าเรื่อยไป คว้าหลักชัยที่รออยู่ชั่วเอื้อมมือด้วยข้อปฏิบัติ
เรื่องภายนอกก็ไม่มาเกี่ยวข้องให้เป็นกังวลภายในใจ เรื่องใจก็ไม่เสาะแสวงหา ไม่ฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมกับสิ่งภายนอกเพื่อก่อไฟเผาตัว ต่างอันต่างอยู่ต่างอันต่างจริง พระก็จริงสำหรับพระของเรา ไปที่ไหนก็สบายหายห่วง เมื่อใจถึงความเป็นพระอันสมบูรณ์แล้วอยู่ที่ไหนก็พอตัว ไม่ต้องการอะไรทั้งนั้น อดก็พอตัว อิ่มก็พอตัว อยู่ที่ไหนก็พอตัว สบายอยู่หมดทุกแห่งทุกหน ไม่เลือกสถานที่กาลบุคคล มีความพอตัวอยู่ด้วยจิตที่บริสุทธิ์เต็มที่หมดสิ่งเคลือบแฝง เรียกว่าพระสมบูรณ์แบบแล้วด้วยข้อปฏิบัติ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา เนื่องจากความเพียรเป็นเครื่องสนับสนุน
นี้แลที่ได้อธิบายว่าการรบข้าศึกภายในหมายถึงกิเลส ซึ่งตัวของเราเสียเองเป็นกิเลส และผู้รบก็คือตัวเราเองเป็นผู้รบ เป็นผู้แก้ความผิดของตนที่มีอยู่แง่ไหนมุมใด รวมแล้วเรียกว่ารบกับกิเลส เมื่อรบให้ถึงจุดหมายปลายของสิ่งที่เป็นข้าศึก ข้าศึกได้สลายยอมแพ้อย่างราบคาบแล้ว ก็เป็นผู้มีความองอาจกล้าหาญ เห็นรูปก็เห็นได้อย่างเต็มตา ฟังได้อย่างเต็มหู เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส ทุกสิ่งทุกอย่างที่มาสัมผัส รับทราบได้อย่างเต็มใจ ไม่ติดไม่พันไม่เป็นกังวล ไม่มีท่ามีทางว่าจะต้องระมัดระวังซึ่งกันและกัน หรือไม่มีท่ามีทางว่าใจจะฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมไปตามสิ่งทั้งหลายนั้น เพราะ ยถาภูตํ ญาณทสฺสนํ เป็นสิ่งที่เห็นแจ้งชัดตามความเป็นจริงแล้วภายในใจ เรียกว่า สุคโต อยู่ก็ สุคโต คืออยู่ก็ดี ไปก็ไปดี คิดก็คิดดี อะไรมาสัมผัสกลายเป็นธรรมะไปตาม ๆ กัน ไม่เป็นโทษไม่เป็นกิเลสดังที่เคยเป็นมา
ถ้าจิตดีจิตหมดโทษเพียงดวงเดียว ไม่มีอะไรจะเป็นข้าศึกในโลกนี้ ที่เป็นข้าศึกที่เป็นความทุกข์ความเดือดร้อน ก็เนื่องจากใจดวงเดียวนี้แล เสาะหาเรื่องก่อเรื่องใส่ตัวเองอยู่ไม่หยุด เกิดเรื่องกับตัวเอง หาที่ปลดที่เปลื้อง หาทนายมาแก้ช่วยไม่ได้ หาผู้ตัดสินหาผู้พิพากษาไม่ได้ นอกจากเราจะเป็นผู้พิพากษา นอกจากเราจะเป็นผู้พินิจพิจารณาคู่ความระหว่างดีกับชั่ว และปลดเปลื้องกันลงไปเอง ด้วยสนฺทิฏฺฐิโก เห็นเอง ไม่ต้องให้ผู้อื่นผู้ใดมาเห็นได้ มาทำนายทายทักให้ เพราะคำว่าสนฺทิฏฺฐิโก นี้พระพุทธเจ้ามอบไว้กับพุทธบริษัททุกรูปทุกนาม ผู้ใดมีข้อปฏิบัติสมควรจะรู้ตาม สันทิฏฐิกธรรม ก็ย่อมมีสิทธิรู้ได้ ไม่เลือกว่าเป็นหญิงเป็นชาย เป็นนักบวชหรือฆราวาส สามารถรู้ได้ด้วยกัน
ฉะนั้นในอวสานแห่งธรรมที่แสดงมานี้ ขอให้ท่านนักปฏิบัติทั้งหลายจงนำไปพินิจพิจารณา แล้วพยายามผลิตพระของตนให้มีความศักดิ์สิทธิ์วิเศษขึ้นมาภายในตนเอง แม้จะไม่ศักดิ์สิทธิ์วิเศษไปทางไหนก็ตาม ก็ขอให้ศักดิ์สิทธิ์วิเศษภายในตัว ระหว่างสิ่งที่มาเกี่ยวข้องกับใจอย่าให้อาภัพกันเท่านั้น นี่ชื่อว่าเป็นความศักดิ์สิทธิ์วิเศษได้อย่างภาคภูมิ
จึงขอยุติธรรมเทศนาเพียงเท่านี้
|