การภาวนาที่ถูกต้อง
วันที่ 12 สิงหาคม 2519 ความยาว 25.35 นาที
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :

ค้นหา :

เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๑๒ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๑๙

การภาวนาที่ถูกต้อง

คำว่าภาวนาก็หมายถึงการรวมความรู้เข้าสู่จุดของงาน งานนั้นก็ได้แก่คำบริกรรมหรือจุดใดจุดหนึ่งที่เราตั้งหน้าจะทำงานกับจุดนั้น เช่นผู้กำหนดอานาปานสติก็หมายถึงลมเป็นงาน ตั้งสติลงที่ตรงนั้น ให้มีความรู้อยู่จำเพาะลมนั้นเท่านั้น ไม่ต้องคาดผลว่าจะเกิดขึ้นอย่างไรบ้าง เพราะการคาดผลนั้นเป็นการพรากตัวเองจากงานที่ทำ ผลจะไม่เกิดขึ้นจากการคาดหมายต่างๆ แต่จะเกิดขึ้นในวงปัจจุบันที่รู้อยู่จำเพาะๆ เท่านั้น จะปรากฏขึ้นในลักษณะใดก็ต้องปรากฏขึ้นในหลักปัจจุบัน คืองานที่ทำอยู่จำเพาะหน้า ให้พากันทำความเข้าใจไว้อย่างนี้

ผู้กำหนดพุทโธหรือธรรมบทใดก็ตาม ให้มีความรู้อยู่กับคำบริกรรมนั้น ๆ เท่านั้น และไม่คาดหมายผลอีกเช่นเดียวกัน การที่ตั้งจิตไว้ในหลักปัจจุบันคือคำบริกรรม นั้นแลเป็นการสร้างผลงานขึ้นมา ผลงานไม่ได้เกิดขึ้นจากการคาดคะเน อดีตอนาคต เช่นเคยเป็นมาแล้วก็อยากให้เป็นอย่างนั้นเรื่อยๆ ไป เอาอารมณ์อดีตเข้ามากีดขวางปัจจุบันธรรม อนาคตจะเป็นอย่างไรบ้าง อย่างนี้เป็นการคาดการหมาย ผิดจากหลักของการภาวนา ท่านสอนให้ระวังมากตัวนี้

ส่วนมากจิตมักจะแย็บออกไปคาดไปหมายต่างๆ แล้วก็ไม่ได้ผล เพราะไปภาวนาไม่ใช่ภาวนา มีแต่ไปคาดไปหมายเอาผลทั้งๆ ที่เหตุไม่ทำ ก็ไม่เกิดผล แม้ผู้ที่เคยปรากฏผลขึ้นมาแล้วในวันนี้หรือครั้งนี้เป็นอย่างนี้ คราวต่อไปก็ไม่นำผลที่ปรากฏนี้ที่ผ่านไปแล้ว ไปยุ่งกับวงปัจจุบันที่กำลังทำอยู่เวลานั้น อันใดที่ปรากฏแล้วก็ผ่านไปแล้ว ผู้ที่ไม่ผ่านอยู่โดยปกติก็คือความรู้ ความสงบก็มีการผ่าน อารมณ์ต่าง ๆ ก็มีการผ่าน ภาพต่าง ๆ ก็มีการผ่าน หากปรากฏภาพก็มีการผ่านไปทั้งนั้น ผ่านไปแล้วก็ถือว่าเป็นอันแล้วไปแล้วอย่าไปยึดมาเป็นอารมณ์ นี่หลักของภาวนาที่จะให้เกิดผลเป็นอย่างนี้

และไม่ควรไปเป็นอารมณ์กับเรื่องของผู้อื่น เช่นผู้นั้นภาวนาอย่างนั้นแล้วปรากฏขึ้นมาเช่นนั้นๆ เราอยากให้เป็นเช่นนั้นบ้าง อย่างนี้ก็ผิดกับหลักนิสัยของตน แล้วผลจะไม่เกิดอย่างใดทั้งนั้น ให้ถือหลักปัจจุบันดังที่กล่าวแล้วนี้เป็นหลักสำคัญของการภาวนา จะรู้จะเห็นอะไรก็ตาม จะรู้เห็นขึ้นจากหลักปัจจุบันนี้ซึ่งเป็นฐานสำคัญ

เบื้องต้นต้องมีการลำบากบ้างการฝึกจิต เพราะงานไม่เคยทำ แต่พอธรรมได้ปรากฏผลขึ้นมาบ้างแล้วมันก็มีช่องทางมีความดูดดื่ม มีความพอใจในผลแห่งงานของตน เช่น ความสงบ ใจเวลาสงบ สงบจริง ๆ สงบจนขาดจากทุกสิ่งทุกอย่างไปหมดอย่างนั้นก็มี แต่ไม่ให้คาดนะ ให้เป็นไปตามหลักธรรมชาติของตนเอง รวมลงไปอย่างนั้น ถอนขึ้นมาอย่างนี้ ก็อย่าไปคาด อันนั้นเป็นอาการ เป็นกิริยาอันหนึ่งที่พูดขึ้นเป็นสมมุติ  มันจะลงไปไหนจิต ตะล่อมกระแสเข้ามาสู่ตัวแล้วมีความเคลื่อนไหวแย็บหนึ่งก็เรียกว่าลง อย่างหนึ่งไม่แย็บไม่เยิ๊บอะไร ค่อยรวมตัวเข้าไปๆ แล้วอยู่ นี่ก็เรียกว่าจิตสงบ

ให้เป็นตามหลักธรรมชาติ ให้เป็นตามหลักนิสัยของตัวเองนั้นแหละ เป็นการเหมาะสมที่สุด นั่นคือสมบัติของเราแท้ การที่จะไปคาดไปยึดเอาอารมณ์ของคนอื่น ความเป็นของคนอื่นมาเป็นของตัวอย่างนั้น เป็นการหยิบยืมมาแล้วยังมาสร้างอุปสรรคให้แก่จิตใจของตนไม่ให้รับผลอย่างใดอีกด้วย จึงไม่ใช่เป็นของดีที่ควรจะไปยึดไปถืออารมณ์ของคนอื่นมาเป็นของตน

ขณะภาวนาเราอย่าไปคาดไปหมายเวล่ำเวลาอีกเช่นเดียวกัน แม้แต่ร่างกายก็ยังลืมไปเวลานั้น เพราะจิตจดจ่อเข้าสู่วงแคบวงจำเพาะ เช่น คำบริกรรม มีความรู้แย็บ ๆ อยู่กับคำบริกรรม อานาปานสติคือลมนี้ก็รู้อยู่จำเพาะลม ร่างกายจะมีกว้างแคบขนาดไหน ตามสภาพของร่างกายมันก็ไม่ไปเกี่ยวข้อง เกี่ยวข้องเฉพาะลม ก็ทำให้ลืมร่างกายไปเหมือนกัน เพราะรู้อยู่จำเพาะ สติจดจ่อเข้าไปสู่จุดเดียว จากนั้นก็สงบ ละเอียดลงไปๆ การกำหนดลมนี้ กำหนดไปนาน ๆ ลมจะละเอียด ละเอียดแทบไม่ปรากฏ แต่จิตจะเด่น ถ้าลมหมดไปในความรู้สึก จิตไม่หมดคือความรู้ ให้ถือนั้นเป็นหลักอยู่กับความรู้นั้น อย่าไปคิดไปค้นหาลมมาอีก หมดไปในความรู้สึกก็ให้รู้ว่าหมด ผู้ที่ไม่หมดคือความรู้ซึ่งเด่นอยู่ภายในตัวเอง ก็อยู่กับอันนั้น นี่เรียกว่าการภาวนาที่ถูกต้อง ต้องทำกันอย่างนั้น

เวลาสงบหลายครั้งหลายหนเข้าไป จิตยิ่งค่อยแนบแน่นลงไปโดยลำดับๆ เรื่องปัญญา เป็นอุบายแยบคายของแต่ละคนที่จะคิดค้นขึ้นมาใช้ภายในตัวเองตามนิสัย ท่านบอกไว้เป็นส่วนใหญ่ เช่น พิจารณาอาการหนึ่ง ๆ หรืออาการเดียวแล้วก็ขยับขยายไปสู่อาการอื่นๆ ไปเอง อย่างนั้นก็มี นี่เป็นวิปัสสนาส่วนหยาบ ก็ต้องเป็นอย่างนี้ก่อน อาศัยสัญญาความหมายว่ารูปร่างลักษณะของกายส่วนนั้นๆ เป็นอย่างนั้นๆ แล้วก็กำหนดพิจารณาไปตาม พอเป็นปัญญาจริงๆ ขึ้นมาแล้ว เรื่องเหล่านั้นจะหายไป เรื่องคาดเรื่องคะเนอะไรนั้นหายไป เป็นเรื่องของปัญญา เกิดเป็นความแยบคายขึ้นมาโดยลำดับในตัวเอง

จิตที่สงบท่านกล่าวไว้ ๓ ว่า ขณิกสมาธิ ก็อย่าไปยึด อุปจารสมาธิก็อย่าไปยึด คำพูดอันนี้ อัปปนาสมาธิก็อย่าไปยึดคำพูดชื่อนามอันนี้ ให้ถือผลที่ปรากฏขึ้นภายในตัวมากน้อย คือสงบมากน้อยเราก็รู้ตัวของเราเอง ไม่มีใครที่จะรู้ละเอียด รู้ได้ชัดเจนยิ่งกว่าจิตรู้จิตรู้เรื่องของตัว ให้เราถือเอาหลักอันนี้เป็นสำคัญในการพิจารณา อย่าคว้าโน้นคว้านี้ ขณิกะเป็นอย่างนั้นๆ มันคาดไปนะจิต ก็เลยไม่ได้เป็นจนกระทั่งขณิกะ เอาจริงๆ แล้วมันไม่เป็น เพราะเราไปคาดเสียก่อน ไปวาดภาพไปเสีย เลยเป็นขณิกะของคาดของการเดาการคะเนไปเสีย ไม่ใช่เป็นความจริงที่ปรากฏขึ้นภายในตัวเอง

เพราะฉะนั้นเพื่อความแน่วแน่ เพื่อความชัดเจน ไม่กังวล จึงควรสังเกตความสงบของตนที่มีมากน้อยในขณะที่จิตมีสติ ภาวนาเกิดความสงบขึ้นมา จะสงบประเภทไหนเราก็รู้ของเราเอง ชื่อนามนั้นเป็นอีกอย่างหนึ่ง เช่น ขณิกะ อุปจาระ อัปปนา ก็คือความละเอียดแห่งความสงบนั่นเองพูดแล้ว ขณิกะก็คือสงบลงไปชั่วขณะนี้แล้วก็ถอยออกมาเสีย อุปจาระท่านว่ารวมเฉียดๆ ก็หากถูก หรือนัยหนึ่งกล่าวไว้ว่ารวมนานกว่าขณิกะ อุปจาระนั้นไม่ใช่เป็นการเรียงลำดับของสมาธิจากขั้นต่ำไปขั้นสูง เช่น ขั้นอุปจาระ แล้วไปหาอัปปนา คำว่าอุปจาระนั้นคือมันสงบเข้าไปก็จริงแต่จิตมันแฉลบออกไปข้างนอก พอรวมแล้วไม่เข้าสู่ภวังค์แห่งสมาธิ มันแฉลบออกไปรู้เห็นสิ่งต่างๆ

อุปะ แปลว่าเข้าไป จาระ แปลว่าเที่ยว  คือเที่ยวเห็นนั้นเห็นนี้ รู้นั้นรู้นี้ นี่ก็เป็นตามหลักนิสัย ผู้ที่จะรู้ก็รู้เองในวงสมาธิ ไม่เคยเรียนรู้อะไรก็ตาม เมื่อทำสมาธิแล้วจริตนิสัยอย่างไรจะแสดงตัวขึ้นมาในสมาธินั้นแล เบื้องต้นไม่มีใครบอกว่าให้รู้สิ่งนั้น ให้เห็นภาพนี้ ถ้าหากว่ามีนิสัยในทางนั้นแล้ว ไม่บอกก็รู้ พอจิตเริ่มเข้าสู่ความสงบแล้ว อาการเหล่านี้จะแสดงตัวออกมามากน้อยตามจริตนิสัยของตน ไม่มีใครบอก มันเป็นขึ้นมาเอง

โน่นแหละ ตอนเป็นขึ้นมาแล้วไม่ทราบจะปฏิบัติอย่างไร การเห็นเช่นนั้นถูกหรือผิด จึงต้องเล่าให้ครูให้อาจารย์ฟัง ท่านก็แนะอุบายวิธีว่าให้ปฏิบัติอย่างนั้นๆ สิ่งไหนที่ไม่ดีท่านก็บอกให้งด อย่าไปรู้อย่างนั้น หรือประการหนึ่งถ้ารู้อย่างนั้นให้พลิกจิตมาเป็นอย่างนี้ เพื่อแก้นิมิตนั้นให้ได้ประโยชน์ ถ้าไม่แก้มันก็เป็นโทษ บางอย่างก็ทำให้เพลิน เพลินจนลืมเนื้อลืมตัวไป บางอย่างก็ทำให้โศกเศร้า เพราะภาพมันก็เหมือนกับเรามองเห็นด้วยตานี้เอง ภาพทางใจ บางสิ่งก็น่ารัก บางสิ่งก็น่าเกลียด น่ากลัว น่าเพลิดเพลิน มีหลายอย่าง นี่ท่านเรียกว่าภาพ นิมิตที่ปรากฏขึ้นในวงอุปจารสมาธิ อันนี้ไม่ค่อยมีในนักปฏิบัติทั้งหลาย มีจำนวนน้อยมากที่ผู้ปรากฏเช่นนั้น เพราะฉะนั้นเราจึงไม่ควรไปสนใจกับภาพต่างๆ หากจะปรากฏจะเป็นขึ้นมา เป็นขึ้นมาตามหลักนิสัยของเราเอง

ที่ท่านแสดงถึงลักษณะของสมาธิประเภทนี้ ไม่ใช่เป็นการเรียงลำดับของสมาธิขึ้นสู่ขั้นสูงโดยลำดับ แต่อัปปนานั้นเป็นอันว่าเป็นลำดับ คือขณิกะ รวมได้บ้างเล็กน้อย แต่อัปปนานั้นรวมได้แนบสนิท อัปปนาสมาธิ อัปปนาภาวนา อัปปนาสมาธิขณะที่จิตรวมแล้วแน่วแน่อยู่โดยลำพังตนเอง เรียกว่าอัปปนาสมาธิ ทีนี้เวลาจิตเข้าถึงขั้นอัปปนาสมาธินี้แล้ว เมื่อถอนขึ้นมา ความแน่นหนามั่นคงของใจ ฐานของใจนั้นยังมีความมั่นคงอยู่  คิดอ่านไตร่ตรองอะไรได้อยู่อย่างสะดวกสบาย แต่ฐานของจิตไม่ละความมั่นคง อย่างนี้ท่านเรียกว่าอัปปนาภาวนา ทั้งๆ ที่มีความสงบแนบแน่น แต่ก็คิดปรุง คิดปรุงแต่งหรือทำหน้าที่การงานอะไรได้

สมาธินี้เป็นการรวมอารมณ์ รวมใจของตนให้เป็นพลังหรือเข้าสู่จุดเดียว ให้มีกำลัง มีความสุข มีความเย็นใจสบายใจ  เมื่อเราจะต้องการรื้อถอนกิเลสประเภทต่างๆ ต้องรื้อถอนด้วยปัญญา สมาธิเป็นแต่เรากวาดต้อนเข้ามาสู่วงแคบ ไม่ใช่ผู้ประหัตประหารกิเลส เป็นแต่เพียงว่าตะล่อมกิเลสเข้ามา หรือตะล่อมกระแสจิตเข้ามา ให้จิตมีความอิ่มตัว จิตที่ฟุ้งซ่านรำคาญคิดไปในสิ่งต่างๆ แง่ต่างๆ อยู่ตลอดเวลาเป็นจิตที่หิวโหย แสดงความเดือดร้อนวุ่นวายให้แก่ตัวอยู่ไม่หยุดหย่อน เวลาจิตมีความสงบแล้วย่อมไม่แสดงอาการอย่างนั้น จึงเรียกว่าใจมีความอิ่มตัวในสมาธิ

เมื่อใจมีความอิ่มตัวแล้ว ย่อมไม่หิวโหย ที่นี่เราจะพาพิจารณาทางด้านปัญญาก็ทำงานตามหน้าที่ไปเลย เพราะไม่หิวโหย พิจารณาแยกแยะเรื่องธาตุเรื่องขันธ์ อายตนะของเราที่มีอยู่นี้มีอะไรบ้าง ในส่วนร่างกายนี่มันเหมือนกันทั่วทั้งโลกนี้ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก พิจารณาให้มันลงอนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา อสุภะ อสุภัง ป่าช้าผีดิบ ป่าช้าผีตาย มารวมอยู่ในตัวของเรานี้หมด ไม่รวมยังไง สัตว์กี่ประเภทที่เอามารับประทานกัน อยู่ข้างในนี่มันเป็นป่าช้าผีตายอยู่กับป่าช้าผีเป็นคือตัวเราซึ่งยังไม่ตาย พิจารณา นี่ท่านเรียกว่าปัญญาแยกแยะดูสิ่งต่างๆ ภายในร่างกายนี้ จิตมันก็ถอนตัวออกมา เมื่อมันเห็นชัดเจนแล้วก็ถอน

คำว่าถอนตัวก็คือถอนจากความกดถ่วง หรือถอนจากความยึดมั่นถือมั่น ซึ่งก็เป็นภาระอันหนักชนิดหนึ่ง ออกมาได้โดยลำดับตามความแยบคายของปัญญามากน้อย จนกระทั่งพิจารณาได้ความชัดเจนในเรื่องอวัยวะส่วนต่างๆ ถ้ามันพอตัวของมันแล้วมันก็ปล่อย มันอิ่มตัวอีก ปัญญาอิ่มตัวในขั้นนี้ พิจารณารู้เห็นตามเป็นจริงของรูปขันธ์ คือกายนี้แล้วก็อิ่มตัว คำว่าอิ่มตัวคือหมดปัญหาที่จะพิจารณาให้เป็นอย่างไรต่อไปอีก เพราะเข้าใจแล้ว

จากนั้นก็ขยับเข้าไปถึงพวกเวทนา เวทนาทางกาย เวทนาทางจิตที่มันเกิดขึ้นกับกายเกิดขึ้นกับจิต เบื้องต้นก็เกิดขึ้นกับกาย เช่นเราไม่สบาย ร่างกายส่วนต่างๆ จิตก็เกิดความกระวนกระวายและเป็นทุกข์ขึ้นมา นั่นเรียกว่าทุกขเวทนาทางจิต เอามาพิจารณาอีก แยกแยะให้เห็นกายกับเวทนามันเป็นคนละอย่าง ไม่ใช่อันเดียวกัน แม้จะอาศัยกันเกิดขึ้นก็ไม่ใช่อันเดียวกัน เช่นเดียวกับแม่กับลูก ลูกนั้นเกิดขึ้นมาจากแม่จริง แต่มันไม่ใช่แม่มันเป็นลูก มันเป็นคนๆ หนึ่งต่างหาก ถึงอยู่ในท้องแม่มันก็ไม่ใช่แม่ มันก็คือลูกอยู่นั่นแหละ

ทุกขเวทนาจะเกิดขึ้นภายในร่างกายส่วนใดก็ตาม เกิดขึ้นภายในจิตก็ตาม มันก็เป็นอันหนึ่งจากจิตอันหนึ่งจากกายอยู่นั้นแหละ เมื่อปัญญาพิจารณาเห็นได้ชัดอย่างนี้ ประจักษ์ เมื่อต่างอันต่างไม่คละเคล้าด้วยการแยกโดยทางปัญญานี้แล้ว มันก็เบา จิตใจ เพราะไม่ถือรูปกายนี้ว่าเป็นเรา เวทนานี้เป็นเรา สัญญาเกิดขึ้นจากจิตก็อีกทำนองเดียวกัน มันก็ไม่ใช่จิต สังขารปรุงขึ้นจากจิตก็ไม่ใช่จิต ทำนองเดียวกันกับลูกที่เกิดขึ้นมาจากท้องแม่ ออกมาจากท้องแม่มันก็ไม่ใช่แม่ มันก็คือลูกนั่นเองมันคนละคน

สัญญา สังขาร วิญญาณ แต่ละอย่างๆ มันเป็นอันหนึ่งของมัน เกิดขึ้นมาจากใจแต่ไม่ใช่ใจ เราก็เห็นได้ชัด เมื่อเห็นได้ชัด ชัดแล้วชัดเล่า พิจารณาแล้ว พิจารณาเล่า ซ้ำๆ ซากๆ มันก็อิ่มตัวอีกเช่นเดียวกัน อิ่มตัวในเวทนา อิ่มตัวในสัญญา อิ่มตัวในสังขาร อิ่มตัวในวิญญาณเพราะได้พิจารณารู้แล้วเข้าใจแล้ว จะไปยึดมันอะไรว่าเป็นเราเป็นของเราเป็นของเขาอะไรได้อีก มันเป็นอาการหนึ่งๆ เท่านั้น นี่เรียกว่าปัญญา ปัญญานี้เป็นที่เกาะของกิเลส เป็นที่ประหัตประหารกิเลส สติเป็นสิ่งสำคัญที่จะควบคุมปัญญา จนกระทั่งเข้าถึงหลักใหญ่คือจิต รูปก็ทราบว่ารูป ไม่ใช่จิต เวทนาก็ทราบว่าเวทนา ไม่ใช่จิต สัญญา สังขาร วิญญาณก็ทราบว่าสิ่งนั้นๆ ไม่ใช่จิต จิตไม่ใช่สิ่งนั้น

แล้วในจิตมีอะไร ที่ว่าเป็นจิตแต่ไม่ใช่จิตมันมีอยู่นั้นอีก นี่เรียกว่าประเภทละเอียด กิเลสประเภทละเอียดมันแทรกอยู่ภายในจิต จึงต้องใช้ปัญญาอันละเอียดแหลมคมมาก อย่างไรก็ไม่พ้นจากมหาสติมหาปัญญา เป็นสติปัญญาในหลักธรรมชาติ อัตโนมัติ หมุนตัวอยู่เช่นนั้นจนเป็นที่เข้าใจในสิ่งที่แทรกซึมอยู่ภายในจิต ที่จะให้เป็นเชื้อแห่งความเกิดแก่เจ็บตาย มันฝังอยู่ภายในจิต แล้วเราจะแยกออกได้ยังไง เมื่อมันฝังอยู่ภายในจิตแล้ว นี่สำคัญ

ถ้าเราหวงจิต ก็เท่ากับหวงกิเลสประเภทนั้นอีก เราต้องยกจิตเป็นเป้าหมายอันหนึ่งในการพิจารณา เช่นเดียวกับเราพิจารณารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เราพิจารณารูปอย่างไร เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อย่างไร เราก็พิจารณาจิตเช่นนั้นอีก แต่เป็นฝ่ายละเอียด เช่น มี อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ส่วนละเอียดแทรกอยู่ภายในนั้นเสร็จ พิจารณาจนเป็นที่เข้าใจ ยกเอาจิตนั้นแหละออกมาเป็นตัวงาน หรือเป็นเป้าหมายแห่งการพิจารณา แยกแยะทั้งหมด มันก็เข้าใจ

เอ้า จิตจะดับไปก็ดับซิ แต่พิจารณาให้มันแหลกละเอียด ถ้าจิตไม่แหลก กิเลสก็ไม่แหลก จิตไม่ละเอียด กิเลสไม่ละเอียด เอาให้แหลกเป็นจุณวิจุณไปเลย ถ้าจิตทนต่อความรู้ของตนเองไม่ได้ จะดับไปเสียก็ให้รู้ในขณะที่พิจารณา เอ้า จิตจะดับไปกับสิ่งทั้งหลายเหรอ ก็ให้ดับ ไม่เสียดาย ไม่ถือสิทธิ์ว่าเป็นเราเป็นของเรา แต่ถือว่าเป็นสภาวธรรมอันหนึ่งที่จะต้องพิจารณาให้เสมอภาคเช่นเดียวกันกับสิ่งทั้งหลาย เพื่อจะเข้าถึงความเสมอภาคอย่างตายตัว ไม่สงวนจิตนั้นว่าเป็นตัวเป็นของตัว ไม่รักไม่หึงหวงเอาไว้ การรักการหึงหวงเอาไว้ก็เท่ากันกับเราหึงหวงกิเลสประเภทหนึ่งที่แทรกอยู่ภายในจิตนั้นไว้เช่นเดียวกัน จึงต้องใช้ปัญญาพิจารณาเข้าไป

เอาจิตนั้นด้วยเป็นจุดพิจารณา เอ้า ถ้าจะพูดว่าให้แหลกก็ให้แหลกไปด้วยกัน เมื่อจิตแหลกไปแล้วจิตจะหมดความรู้เสีย คนทั้งคนจะกลายเป็นหัวตอก็ให้รู้เสียที ถ้าหากเป็นหัวตอแล้วพระพุทธเจ้าก็ต้องเป็นมาแล้ว สาวกต้องเป็นมาแล้ว ทำไมเราจะเป็นหัวตอเพียงคนเดียวนี้เท่านั้น โดยการพิจารณาเช่นเดียวกับพระพุทธเจ้า นี่เรียกว่าจะปล่อยให้หมด รู้ให้หมด เวลาพิจารณาเข้าไปถึงที่แล้ว ส่วนมันแตกกระจายออกไปมันก็กระจาย ไอ้จิตที่ตัวรู้ๆ ที่ว่ามันจะดับไปกลับมันยิ่งเด่น นั่น อันนี้ทนต่อความเป็นอยู่ได้ ไม่ดับ สิ่งเหล่านั้นทนไม่ได้สลายไป ทนสติปัญญาไม่ได้ สลายลงไป เลยกลายเป็นจิตบริสุทธิ์ขึ้นมา กลายเป็นธรรมขึ้นมา ธรรมทั้งแท่ง ธรรมทั้งดวง อกาลิกจิต อกาลิกธรรม หมายถึงจิตดวงนี้ นี่ที่สุดแห่งการพิจารณา เมื่อพิจารณาถึงตรงนี้แล้ว ก็เป็นอันว่ารอบตัว แล้วจะพิจารณาอะไรอีก มันหมด

นี่แหละงานของจิต มาหมดที่จุดนี้ ที่พระพุทธเจ้าว่า วุสิตํ พฺรหฺมจริยํ กตํ กรณียํ พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว กิจที่จะพึงทำได้ทำสำเร็จเรียบร้อยแล้ว นาปรํ อิตฺถตฺตายาติ ปชานาติ กิจอื่นที่จะทำให้ยิ่งกว่านี้ไปอีกไม่มี มีเท่านี้ นั่นแหละท่านเรียกว่าเสร็จกิจ งานของธรรมนี้เป็นงานยากงานลำบากก็จริง แต่มีการจบการสิ้นลงได้ ไม่เหมือนงานของโลก ซึ่งทำกันอยู่ตลอดจนกระทั่งวันตายไม่สำเร็จเสร็จสิ้นไปได้เลย สุดท้ายผู้เสร็จผู้สิ้นก็คือตัวของเรา เสร็จสิ้นด้วยการตาย งานยังไม่เสร็จ วันคืนปีเดือนยังไม่เสร็จ อะไร ๆ เขาก็มีของเขาตามสภาพ แต่ผู้ที่เสร็จผู้ที่ตายก็คือเรา

งานทางด้านธรรมะนี้มีการเสร็จการสิ้นลงไปได้ เสร็จแล้วมันก็หมดปัญหา จะทำอะไรต่อไปอีก มันก็ไม่มีงานทำ นอกจากอยู่ไปภาวนาไปเพื่อเป็นวิหารธรรม ความอยู่สะดวกสบายในระหว่างขันธ์กับจิต พอถึงกาลของขันธ์สลายแล้วก็มีเท่านั้น ที่ว่าทำเพื่อจะถอดถอนกิเลสประเภทใดอีกมันก็ไม่มี เพราะสิ้นไปหมดแล้ว กิเลสจริงๆ มันอยู่ที่ใจ ไม่ได้อยู่ที่อาการภายนอก เช่นกาย กิริยาต่างๆ มันอยู่ที่ใจ เมื่อใจบริสุทธิ์แล้วอากัปกิริยานิสัยใจคอเคยเป็นยังไงก็เป็นอยู่ตามเดิม แต่มันสักแต่ว่าเป็นเท่านั้น มันไม่มีอะไรเป็นเครื่องผลักดันออกมาให้เป็นเช่นนั้นๆ เหมือนแต่ก่อน

เพราะฉะนั้นบรรดาสาวกทั้งหลาย ไม่ว่าใครจนกระทั่งถึงพวกเราก็ตาม จริตนิสัยของใครเคยเป็นยังไงก็เป็นอย่างนั้นไม่เปลี่ยนแปลง แม้จะสิ้นสุดวิมุตติถึงพระนิพพานแล้วก็ตาม กิริยาอาการจริตนิสัยนั้นๆ ก็จะต้องคงเส้นคงวาอยู่ตามธรรมชาติของตน ทั้งๆ ที่จิตบริสุทธิ์แล้ว เราจะดูท่านผู้สิ้นกิเลสกับไม่สิ้นกิเลสดูไม่ออก ถ้าดูออกก็ดูตามลักษณะที่ท่านพูดให้ฟังเท่านั้น จะไปดูอากัปกิริยาดูไม่ออก เพราะมีการกินการหลับการนอน การขับการถ่าย เรื่องของกายมันมีเหมือนกัน เป็นแต่เพียงว่าจิตไม่เข้ามายึดเป็นเจ้าของ เป็นกิเลสตัณหาอาสวะขึ้นเท่านั้น ผิดกันที่ตรงนี้ จึงเป็นอยู่ที่ใจ ใจไม่เป็นเหมือนใจที่มีกิเลส

การแสดงธรรมก็เห็นว่าสมควร เอาแค่นี้ละ

 

รับชมรับฟังพระธรรมเทศนาของหลวงตา ได้ที่

www.luangta.com หรือ www.luangta.or.th

และทางสถานีวิทยุเสียงธรรม FM103.25MHz พร้อมเครือข่ายทั่วประเทศ


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก