ถางป่าภายในและล้างป่าช้า
วันที่ 1 ธันวาคม 2508
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :

ค้นหา :

เทศน์อบรมพระและฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๐๘

ถางป่าภายในและล้างป่าช้า

 

        พระพุทธเจ้าท่านสอนพระ ใจความย่อๆ ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงตัดป่า แต่อย่าตัดต้นไม้ เพราะสัตว์ต่างๆ ที่เป็นพิษเป็นภัย มี งู และ เสือ เป็นต้น ย่อมอาศัยอยู่ในที่รกชัฏ เมื่อตัดป่าออกให้เตียนโล่งแล้วจะอยู่ที่ไหนก็สบาย ไม่มีอันตราย อยู่อย่างผาสุกสบายในอิริยาบถต่างๆ ไม่ต้องระวังภัย

         ภิกษุบางรูปไม่เข้าใจความหมายแห่งธรรมที่พระองค์ประทาน จึงคว้าได้มีดและขวาน แล้วเที่ยวถากถางป่าตัดต้นไม้เสียจนเตียนโล่งไปมาก จนเรื่องราวไปถึงพระพุทธเจ้า พระองค์รับสั่งให้เข้าเฝ้า และประทานความมุ่งหมายให้ฟังว่า

         ป่าภายนอกที่รกชัฏ เป็นที่อาศัยของสัตว์ทั้งหลาย ส่วนป่าอันรกชัฏภายใน เป็นที่อาศัยของกองกิเลส ทั้งส่วนใหญ่ส่วนย่อย เต็มไปหมดบนหัวใจสัตว์โลก เฉพาะอย่างยิ่ง “หัวใจพระ” ไม่ควรให้เต็มไปด้วยป่า คือกิเลสทั้งหลาย ซึ่งเป็นสิ่งก่อกวน ยุแหย่ ทำลาย จิตใจ ให้หาความสงบสุขมิได้

         เราตถาคตให้ท่านทั้งหลายตัดป่าภายในให้เตียนโล่ง เพื่อความปลอดโปร่งภายในใจต่างหาก มิได้สั่งให้ตัดป่าภายนอกแต่อย่างใด

         สถานที่รกรุงรัง สัตว์ย่อมอาศัย ทั้งสัตว์ธรรมดา และสัตว์ที่มีพิษภัย เช่น งู ตะขาบ เสือ เป็นต้น แม้บ้านเรือนเรา ถ้าปล่อยให้รก สกปรก รุงรัง ก็ย่อมเป็นที่มาแห่งภัยต่างๆ ได้เช่นกัน

         จิตใจถ้าปล่อยให้รกรุกรัง ย่อมเป็นที่อยู่ของกิเลสน้อยใหญ่ได้อย่างผาสุกสบาย แต่ใจเราต้องเดือดร้อนเป็นฟืนเป็นไฟ ไม่มีที่ปลงวางลงได้ เพราะอำนาจของกิเลสน้อยใหญ่แผ่อิทธิพล พากันเล่นระบำ เต้นรำ ขับกล่อม บำรุงบำเรอด้วยบทเพลงต่าง ๆ และเต็มไปด้วยโรงอาบอบต่างๆ ร้อยแปดพันประการ จนไม่อาจพรรณนาให้จบสิ้นลงได้ ฉะนั้นการตัดป่าภายใน คือ การฆ่ากิเลสทั้งหลายด้วยความเพียร จึงเป็นการทำความสะอาดแก่จิตใจ

         ใจที่ได้รับการอบรมฝึกฝนอยู่โดยสม่ำเสมอ อารมณ์ชั่ว อันเป็นกิริยาของเหล่ากิเลสออกแสดงตัวยั่วธรรม ย่อมมีทางทราบได้ และมีอุบายกำจัดได้ ไม่ลุกลาม ผิดกับการปล่อยตัวเป็นไหน ๆ

         การปล่อยตัวปล่อยใจ ไม่นำพากับการเหลียวแลรักษาจิตใจ และตัวคน นับว่าจะต่ำทรามลงโดยลำดับ จนถึงขั้นเข้ากับใครไม่ได้ ราวกับหมูนอนจมมูตรจมคูถ หาความน่าดูมิได้เลยฉะนั้น เฉพาะภิกษุเมื่อเริ่มบวชในพระพุทธศาสนา ก็ทรงประทาน “กรรมฐานห้า” ให้เป็นเครื่องมือกำจัดโรงงานล่าธรรมบนหัวใจ มีราคะตัณหา เป็นต้น และทรงสอนให้เที่ยวบำเพ็ญสมณธรรมในสถานที่วิเวกสงัด ไม่พลุกพล่านด้วยฝูงชน เช่น รุกขมูลร่มไม้ในป่าในภูเขาในถ้ำ ซอกเขา ไหล่เขา เงื้อมผา ซอกห้วย ลำธาร เพื่อสะดวกในการบำเพ็ญธรรม ปราศจากเครื่องสัมผัสอันเป็นภัยต่อจิตใจ เช่น รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส อันเป็นสาเหตุให้เกิด ธรรมารมณ์ทางอดีตภายในใจ และก่อความไม่สงบขึ้นมาให้ผลเป็นทุกข์ มีเฉพาะสิ่งเกี่ยวข้องตามหลักธรรมชาติ เช่น รูป ต้นไม้ ภูเขา เสียง เช่นเสียงนกเสียงกา ซึ่งไม่เป็นภัยต่อจิตใจ การบำเพ็ญย่อมเป็นไปด้วยความสะดวกในอิริยาบถต่างๆ ตลอดเวลา

         ใจแม้เคยสั่งสมกิเลสกองทุกข์มานาน ก็ย่อมมีโอกาสซักฟอกกันอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ให้เกิดผลเป็นที่พึงใจได้

         คำว่า “สิ่งเกี่ยวข้องในป่า” นั้น เป็นทัศนียภาพให้เกิดปัญญา เกิดความสลดสังเวชได้เป็นอย่างดี เพราะความเปลี่ยวกายเปลี่ยวใจในอิริยาบถต่างๆ อยู่ด้วยความวิเวกวังเวงอันเป็นสาเหตุให้ระลึกรู้ตัวอยู่เสมอ การอยู่คนเดียว นั่งคนเดียว นอนคนเดียว ความเป็นความตายของคนผู้เดียว ล้วนเป็นเครื่องปลุกสติให้ตื่นตัว ทำปัญญาให้ไหวติง แอบอิงธรรมเครื่องดำเนินเพื่อความพ้นทุกข์อยู่ตลอดเวลา กิเลสเครื่องก่อกวนย่อมสงบตัวลง ไม่ฮึกหาญ

         ส่วนความเพียรเป็นไปไม่หยุดหย่อนอ่อนกำลัง ดังที่เคยอยู่ในสถานที่เกลื่อนกล่นสาละวนวุ่นวาย ความระลึกขณะใดที่เกี่ยวกับตัว มีแต่ความมีสติประคองความเพียรอยู่เป็นนิตย์ อารมณ์ที่เคยสั่งสมมานานภายในใจมีมากน้อยเพียงไร ย่อมแสดงออกให้สติปัญญารับทราบและตามแก้ไข หรือทำลายขาดไปวันละอารมณ์สองอารมณ์ หรือตายไปวันละตัวสองตัว นานวันเข้า กลายเป็นกิเลสตายไปวันละหลายๆ ตัว เพราะสถานที่อำนวย

         ฉะนั้น สถานที่สงัดจึงเป็นชัยสมรภูมิในการรบกับกิเลสของตนได้ดี สำหรับนักบวชและนักปฏิบัติ ผู้มีความองอาจกล้าหาญ และมุ่งมั่นต่อแดนพ้นทุกข์อย่างเต็มใจ เพราะเป็นสถานที่ปลดปลงกิเลสประเภทต่างๆ ด้วยความเพียรไม่ถอยหลัง เนื่องจากเป็นสถานที่ช่วยเตือนสติให้ตื่นตัว ด้วยความอยู่คนเดียวทุกอิริยาบถ ประมาทนอนใจเหมือนสถานที่ทั่วไปไม่ได้

         ความอยู่เปลี่ยวเพียงคนเดียวก็เป็นภัย คือ ความกลัวเสียงสัตว์ต่างๆ มีเสือเป็นต้น ร้องในเวลาค่ำคืน ก็เป็นภัยให้เกิดความกลัวได้ อิริยาบถต่างๆ ของคนๆ เดียว ที่อยู่กลางป่า กลางเขา ก็เป็นภัย ทำให้เกิดความกลัวได้ อิริยาบถทั้งสี่ คือ ยืน เดิน นั่ง นอน เว้นแต่ขณะหลับ มักเป็นอิริยาบถที่อยู่ด้วยความหวาดระแวงแทบทั้งนั้น ผู้มุ่งต่อแดนพ้นทุกข์จริง จึงชอบประมวลเรื่องน่ากลัวเข้ามาเตือนตนให้ตื่นตัวอยู่เสมอด้วยความเพียร ซึ่งเป็นการบำรุงรักษาจิตด้วยการภาวนา มีสัมปชัญญะประจำตัวในอิริยาบถต่างๆ ไม่เหินห่างจืดจางในทางความเพียร

            เมื่อความเพียรก็พร้อม เพราะสิ่งภายนอกสนับสนุน ใจแม้จะเคยคึกคะนองเหมือนช้างตกมัน ก็พ้นความเพียรอันเข้มแข็งไปไม่ได้ ย่อมแสดงผลเป็นความสงบเย็นขึ้นมา และเห็นคุณค่าของการอยู่ป่าเพื่อความเพียร ฉะนั้นเวลาท่านจะบวชกุลบุตรขึ้นเป็นพระ ท่านจึงบอกอนุศาสน์ซึ่งแยกเป็น “นิสสัยสี่” โดยมีข้อที่เกี่ยวกับการอยู่ว่า ว่า “รุกฺขมูลเสนาสนํ นิสฺสาย ปพฺพชฺชา ตตฺถ เต ยาวชีวํ อุสฺสาโห กรณีโย” เป็นต้น บรรพชาอุปสมบทแล้ว โปรดได้อาศัยอยู่ตามโคนต้นไม้ ร่มไม้ ชายป่า ชายเขา ในถ้ำ เงื้อมผา และทำความอุตส่าห์พยายามอยู่อย่างนั้นตลอดชีวิตเถิด ดังนี้ เป็นพระโอวาทอันเอกอุสำหรับพระผู้แสวงธรรมเพื่อความพ้นทุกข์จริงๆ ไม่ใช่ผู้แสวงหาเงิน และอติเรกลาภต่างๆ เพื่อนอนจมอยู่ในทุกข์ร้อยแปดพรรณนาไม่สิ้นสุด สมกับคำว่า “ศาสนธรรมแท้” ไม่มีคำว่า “ศาสนเงิน” เข้ามาแฝง ดังกำลังเป็นอยู่ทุกแห่งหน

         ทั้งท่านและเราในสมัยปัจจุบัน ซึ่งนานไปจึงน่ากลัว “ศาสนธรรม” จะถูกลบทิ้งด้วย “ศาสนเงิน” ถ้าผู้บวชก็บวชเพื่อแสวงหาเงิน และชื่อเสียงรุ่งเรืองนาม มิได้บวชเพื่อแสวงหาธรรม ฉะนั้นเงินจึงมักเด่นแซงหน้าธรรมไปเรื่อยๆ ต่อไปเกรงว่า “ศาสนธรรม” จะล้าหลัง จนมองหา “ศาสนธรรม” ไม่เห็น เพราะศาสนเงินแซงหน้าไปไกลลิบลับ และนับวันจะแซงขึ้นครองใจ ไล่ธรรมจากดวงใจไม่อาจสงสัย ถ้าไม่มองธรรมอย่างถึงใจจริงๆ

         สิ่งดังกล่าวไม่ใช่พระประสงค์ของพระพุทธเจ้า ผู้ประทานธรรมไว้ด้วยพระเมตตากรุณาสุดส่วน ผิดกันคนละโลกทีเดียว จึงขอให้ท่านผู้ฟังซึ่งเป็นนักปฏิบัติจงฟังให้ถึงใจยึดไว้สั่งสอนตน จะไม่ลืมตัวมั่วสุมกับสิ่งรกรุงรังในหัวใจ พระผู้มุ่งมหาสมบัติอันวิเศษ คือ มรรค ผล นิพพาน สิ่งเหล่านี้เป็นข้าศึกต่อธรรม แม้เป็นคุณแก่โลก เพราะธรรมกับโลกถึงจะอยู่ด้วยกัน ก็ไม่ใช่อันหนึ่งอันเดียวกัน ความรู้สึกนึกคิดของพระ กับของฆราวาสจึงต้องต่างกันตามกฎ ระเบียบ แห่งธรรมวินัยของพระ ผู้เป็น “ลูกพระตถาคต”

        ถ้าเป็นลูกศิษย์พระเทวทัต ก็ทำการขัดแย้ง ขัดขวางพระธรรมวินัยที่เป็นองค์แทนศาสดา ก็เราทุกท่านไม่ใช่ผู้เช่นนั้น แต่ก็จำต้องเตือนไว้ เพื่อไม่ให้ลืมตัว และถลำตัวเข้าไปในสิ่งที่เป็นภัยต่อธรรม ทุกท่านที่บวชมาต่างมุ่งแสวงธรรมอยู่ทุกลมหายใจ เพราะเป็น “อริยทรัพย์” ที่ผู้แสวงหาได้มากเพียงไร ยิ่งเบากายเบาใจ ผู้แสวงหาได้โดยสมบูรณ์ก็ยิ่งเบาราวกับตัวจะเหาะลอย เพราะความเบามาก และแปลกประหลาดในจิตใจ ไม่มีอะไรรกรุงรัง กดถ่วง

         “อริยทรัพย์” เป็นทรัพย์ที่ยังเจ้าของให้เบาชนิดอัศจรรย์อย่างนี้แล!

        ขอทุกท่านทำความพยายามจนสุดความสามารถ แม้หัวใจขาดดิ้นสิ้นซาก แต่ใจขอให้ได้ดื่ม “ธรรมรส” อันโอชา เวลาตายก็หมดห่วงหมดหวง ไม่อาลัยเสียดายบรรดาสมมุติในโลก เมื่อได้ดื่ม “ธรรมวิมุตติ” ประจักษ์ใจอย่างเต็มภูมิแล้ว ย่อมไปอย่างหายห่วง

         การอยู่ป่าอยู่เขาเป็นต้น เป็นสถานที่สำคัญ แต่ต้นพุทธกาลมาจนสมัยปัจจุบัน พระพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมด้วยการปฏิบัติธรรมในป่า พระสาวกส่วนมากบรรลุธรรมด้วยการปฏิบัติธรรมในป่า ครู คือศาสดา และสาวก ผู้เป็นสรณะของโลกทั้งสาม ท่านเป็นอย่างนี้พวกเราอย่าอวดฉลาดพากันเดินทางลัด เผื่อไปตกเหวตาย จะว่าไม่บอกไม่เตือน จงเดินตามครู คือศาสดา ผู้ทรงดำเนินมาก่อน รู้เห็นธรรมมาก่อน และทรงสั่งสอนสัตว์โลกตามที่ทรงดำเนินและรู้เห็นนั้น ไม่ทรงหาสิ่งแปลกปลอมมาสอนโลก พอให้ผู้ฟังและปฏิบัติตาม เกิดความงงงันอั้นตู้ สงสัยไปต่างๆ จนหาที่เกาะที่ยึดไม่ได้

         “ศาสนธรรม” คือธรรมแก้ความสงสัย อันเป็นกิเลสที่คอยปิดกั้นหนทางเพื่อ มรรค ผล นิพพาน จงยึดหลักที่พระพุทธเจ้าทรงดำเนิน และสั่งสอนไว้แล้วโดยชอบให้มั่นคง ใจและความเพียรจะมั่นคงหนักแน่นในการต่อสู้กับกิเลสประเภทต่างๆ ไปตามๆ กัน

         คำว่า “สมาธิ” ที่เคยได้ยินได้อ่านแต่ชื่อในตำรับตำราก็จะปรากฏเป็น “สมาธิสมบัติ” ขึ้นมาที่ใจ คำว่า “ปัญญา” ที่เคยเห็นแต่ชื่อในแบบตำรับตำรา ก็จะปรากฏเป็น  “ปัญญาสมบัติ” ขึ้นมาที่ใจเราเอง ตลอดถึง “วิมุตติ มหาสมบัติ” ย่อมจะปรากฏขึ้นที่มโนทวาร เพราะความเพียรกล้า และสถานที่อันวิเวกเหมาะสม

         คำว่า “ป่า” ตามธรรมดาไม่มีใครอยากอยู่อาศัย แต่ผู้บำเพ็ญเพื่อสังหารทำลายกิเลสและท่านผู้บริสุทธิ์ ท่านชอบอยู่บำเพ็ญตามอัธยาศัย ไม่มีเวลาจืดจาง

        ปกติของใจคนมีกิเลส พระมีกิเลส ชอบเพลิดเพลินกับเพื่อนฝูงไม่มีเวลาอิ่มพอ แต่ผู้มุ่งธรรมเป็นที่ตั้งไม่ชอบในความเกลื่อนกล่นวุ่นวายกับเพื่อนฝูง และสิ่งรื่นเริงต่างๆ พระผู้ปฏิบัติธรรม เวลาอยู่กับเพื่อนฝูงจิตใจเป็นอย่างหนึ่ง คือลืมตาย ด้วยความประมาทเพลินไปกับหมู่เพื่อน เวลาออกโดดเดี่ยวหาที่วิเวกสงัด จิตใจกลับเป็นอีกอย่างหนึ่ง คือระลึกถึงความตายได้เร็ว และระลึกอยู่เสมอ เพราะความกลัวตายบังคับ ขณะที่อยู่ในที่เปล่าเปลี่ยว ความเพียรก็ดีไม่ต้องบังคับ ความกลัวตายหากบังคับไปเอง สติจดจ้องเหมือนแม่เนื้อกลัวอันตรายจากเสือและนายพรานนั่นแล จิตก็บังคับง่าย ไม่ดื้อดึงฝ่าฝืน กำหนดหรือพิจารณาอะไรก็ได้เหตุได้ผลเป็นอรรถเป็นธรรมขึ้นมา การระงับความกลัวต้องระงับด้วยวิธีสำรวมจิต ไม่ให้ส่งออกไปภายนอก ซึ่งเป็นการส่งเสริมจิตให้มีความหวาดกลัวยิ่งขึ้น คือ สำรวมจิตให้อยู่กับคำบริกรรมบทที่ตนถนัด ไม่ให้พลั้งเผลอแม้ขณะเดียว จนจิตมีกำลังด้วยการบริกรรมแล้ว จิตก็หายกลัว และเกิดความกล้าหาญขึ้นมาแทนที่ และด้วยปัญญาคิดค้นหาสาเหตุที่กลัว ตลอดการแยกธาตุ แยกอาการของสิ่งน่ากลัวออกดู จนเห็นประจักษ์ด้วยปัญญาแล้ว จิตย่อมหายกลัว

         ส่วนมากพระกรรมฐาน ท่านใช้สองวิธีนี้มากกว่าวิธีอื่นๆ

         เมื่อจิตก้าวเข้าถึงขั้นว่าง ย่อมรู้ชัดว่าความกลัวเกิดขึ้นจากสังขาร ผู้ปรุงเป็นสัตว์เป็นเสือ เป็นเปรตเป็นผีต่างๆ ขึ้นหลอกหลอนตนให้กลัว แล้วก็เชื่อสังขารจอมหลอกหลอนจนหาที่ปลงที่วางไม่ได้ จิตที่ว่างย่อมไม่กลัวเพราะรู้สาเหตุและรากฐานที่ทำให้เกิดความกลัวประจักษ์แล้ว ได้แก่สังขาร ความคิดปรุง ซึ่งเกิด และ ดับอยู่ในใจโดยเฉพาะไม่ถึงกับเป็น มโนภาพ ต่างๆ อันเป็นสิ่งที่น่ากล้าหรือน่ากลัว ขึ้นมาหลอกหลอนตน

            คำว่า “จิตว่าง” หมายถึง ว่างจากรูปภาพภายนอก ที่เคยคิดปรุงเป็นคู่กับใจอยู่เสมอ เช่น รัก ชอบ หรือโกรธเคืองให้ผู้ใด ใจย่อมคิดปรุงเรื่องและภาพของคนนั้นอยู่เสมอ เป็นต้น เรียกว่า ภาพภายนอก

         ส่วนจิตว่างทั้งภายนอก ทั้งภายใน แม้ตัวจิตเองก็ไม่ยึดไม่ถือ ทั้งว่าง ทั้งปล่อยวาง โดยประการทั้งปวงนี้ คือจิตหมดอุปาทานทั้งภายนอกและภายใน ถ้าเป็นพระหรือใครก็ตามบรรลุถึงธรรมขั้นนี้ ในครั้งพุทธกาลเรียกว่า บรรลุพระอรหัตผล เป็นพระอริยบุคคลขั้นอเสขะ ไม่ต้องศึกษาเพื่อละเพื่อถอนกิเลสใดๆ อีกต่อไป

         แต่สมัยนี้ ผู้แสดงไม่แน่ใจว่า จะไม่ถูกโห่ ถูกรุมอะไรร้อยแปด คงเป็นเพราะเหตุนี้ พระกรรมฐานที่ท่านปฏิบัติเป็นธรรม และรู้ธรรมชั้นใดก็ตามภายในใจแล้วเงียบๆ ไม่ปริปากพูดอะไรกับใคร ราวกับเป็นใบ้ นอกจากผู้ใกล้ชิดจริงๆ และอยู่ด้วยกันมานานจนรู้นิสัยใจคอกันดี ถึงเวลาที่ควรพูดท่านจึงพูด แต่พูดวิธีดำเนินของจิตจนถึงธรรมขั้นนั้น โดยไม่จำเป็นถึงต้องพูดการบรรลุ ประการสำคัญท่านผู้หลุดพ้นแล้ว ท่านย่อมหลุดพ้นทั้งความหิวโหย อยากพูดอยากคุยต่าง ๆ ด้วย ท่านพูดไปตามเหตุผลที่ควรเท่านั้น

         การอยู่บำเพ็ญในป่า พระพุทธเจ้าทรงเล็งเห็นผลอันเลิศในธรรม จึงทรงสั่งสอนให้พระผู้บวชแล้วเสาะแสวงหาธรรมในป่า อันเป็นที่สะดวกสบายแก่การบำเพ็ญ ไม่ล่าช้าและเกลื่อนกล่นวุ่นวาย กับเรื่องส่งเสริมกิเลสนานาชนิด คำว่า ป่า ก็มีทั้งป่าภายนอก มีทั้งป่าภายในใจ ที่รกรุงรังด้วยกิเลสตัณหาอาสวะ จนมองหาใจจริงไม่เจอ เจอแต่กิเลสออกแสดงตัว เวลามีการเคลื่อนไหวทางกาย วาจา ใจ ของคนมีกิเลส พระพุทธเจ้าท่านจึงสอนให้ตัดป่า คือ กิเลสออกให้หมด จิตใจจะได้เตียนโล่งโปร่งสบายทุกอิริยาบถที่ยังครองขันธ์อยู่

         คำว่า กิเลส ก็มีทั้งกิเลสภายในใจเรา ทั้งกิเลสภายในใจคนอื่น เวลามาชุมนุมคละเคล้ากัน มักจะนำกิเลสซึ่งเป็นของหยาบๆ และสกปรกมาบวกกันให้เพิ่มจำนวนมากขึ้น การอยู่ในป่าเปลี่ยว ไม่ค่อยมีสิ่งเหล่านี้ไปบวกกัน ส่วนมากมีแต่ลบด้วยการขุดค้นอารมณ์ที่เสียออกเรื่อยๆ ด้วยความเพียรไม่ลดละท้อถอย ได้ชัยชนะเป็นพักๆ ไม่มีการบวก ฉะนั้น ผู้บำเพ็ญธรรมด้วยความตั้งใจ จึงเป็นผู้มีหวังได้ครอง นิพพานสมบัติ โดยไม่มีอะไรมาเป็นอุปสรรค

         การเห็นตถาคต นับแต่การเริ่มแรกเห็นธรรม คือสมาธิ ใจสงบ เป็นต้น ไปเป็นลำดับ เห็นตถาคตด้วยปัญญา เป็นขั้นของปัญญา จนเห็นตถาคต ในแดนวิมุตติ ความหลุดพ้นแห่งใจโดยสมบูรณ์ ผู้เห็นตถาคตด้วยวิมุตติธรรม คือผู้เห็นตถาคตเต็มองค์ ตลอดกาลสถานที่อกาลิโก

         ผู้ปฏิบัติธรรมด้วยสามีจิกรรมชอบ คือผู้บูชาตถาคต ผู้เฝ้าตถาคตด้วยข้อปฏิบัตินั้นๆ จนถึงองค์ตถาคตในแดนวิมุตติ พระนิพพาน

         ท่านที่มาจากทางใกล้และทางไกลเพื่อบำเพ็ญตน กรุณานำธรรมที่แสดงนี้ไปพิจารณาเพื่อหาสารคุณแก่จิตใจ จะสมหวังดังใจหมายโดยทั่วกัน เพราะธรรมไม่เลือกกาลสถานที่ ไม่เลือกว่าเป็นหญิง เป็นชาย นักบวชหรือฆราวาส สามารถบรรลุถึงจุดหมายปลายทางได้ด้วยกัน เมื่อบำเพ็ญอยู่โดยสม่ำเสมอ

         ใจเป็นสำคัญในธรรมทั้งหลาย เพราะเป็นที่รวมแห่งธรรมทุกขั้น จงปรับปรุงจิตใจให้สงบเย็น และคิดค้นด้วยปัญญาในธรรมทั้งหลาย ทั้งภายนอกภายใน อย่านอนใจ มรรค ผล นิพพานอยู่ที่ใจ ซึ่งเป็นภาชนะอันเหมาะสมอย่างยิ่ง

         พระพุทธเจ้า และสาวกตรัสรู้และบรรลุธรรมที่ใจ หลุดพ้นที่ใจ ไม่มีที่อื่นเป็นที่รู้และหลุดพ้น

         ขณะนี้ใจของพวกเรากำลังมืดบอด มองดูตัวก็ไม่เจอ เจอแต่กิเลสเต็มหัวใจ ฉะนั้น จึงมีแต่ทุกข์เป็นเจ้าของในร่างกายและจิตใจ จงพยายามถากถางกิเลสที่รกรุงรังในหัวใจออกจนหมดสิ้นไป ความทุกข์ที่ตามมากับกิเลสจะหายหน้าไปเอง ไม่ต้องบ่น และขับไล่กัน เพราะตัวกิเลสไป เงาของกิเลสคือ ทุกข์ต้องไปด้วย จากนั้นเราก็อยู่สบาย เป็นอิสระเต็มหัวใจ ไม่มีกิเลสเป็นเจ้าอำนาจยึดครองเหมือนแต่ก่อน มีวิสุทธิธรรมครองใจ หรือใจกับธรรมเป็นอันเดียวกัน เอโก ธมฺโม ธรรมแท่งเดียว คือใจบริสุทธิ์

เมื่อเผาศพกิเลสด้วยตปธรรม สิ้นสุดลงด้วยสติปัญญา ศรัทธา ความเพียร ของวีรบุรุษวีรสตรีแล้ว ก็เป็นอันล้างป่าช้าแห่งการเกิดตายไปด้วยในเวลาเดียวกัน จะถูกเผาหรือฝังอยู่เพียงร่างปัจจุบัน อันเป็นผลของกิเลสวัฏฏ์ ยังไม่สิ้นสุดลงเท่านั้น การล้างป่าช้าแบบนี้ โลกอ่อนใจ ไม่อยากทำกัน แขนขามือเท้าอ่อนไปหมด พอคิดว่าจะภาวนา ซึ่งเป็นกิจเริ่มล้างป่าช้า กายกับใจ เริ่มเป็นอัมพาตไปตามๆ กัน ทุกเพศ ทุกวัย น่าขบขัน

แต่ผู้เห็นโทษแห่งการเกิดตาย อันเป็นการแบกหามกองทุกข์นานาประการ ไม่มีเวลาปล่อยวางอย่างถึงใจ ย่อมมีความอาจหาญชาญชัยต่อการบำเพ็ญ ไม่ท้อถอย อ่อนแอ สามารถผ่านไปได้ถึงแดนอันเกษม ไม่ต้องกลับมาเยี่ยมป่าช้าอีกต่อไปตลอดอนันตกาล

ในอวสานแห่งธรรม ขอความสวัสดีมีชัยในการล้างป่าช้า จงสำเร็จแก่ท่านทั้งหลาย ผู้มีความเพียรเถิด แต่ผู้เกียจคร้านคงไม่คิดอยากมีชัย นอกจากไชโยโห่ร้องตามประสาของผู้ต้องการขยายป่าช้าให้กว้างขวางไม่มีสิ้นสุดเท่านั้น ก็สุดวิสัยที่พระธรรมจะช่วยได้ ตอนขยายป่าช้าต้องนับหลวงตาบัวเข้าด้วยจึงจะสมบูรณ์ เหมาะกับที่ขี้เกียจภาวนา

 

   gggggg

 


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก