|
/body onLoad="MM_preloadImages('../images/link_2_6_a.gif')">
/SCRIPT LANGUAGE="javascript1.1" page="dhamma_online";
/SCRIPT LANGUAGE="javascript1.1" src="http://truehits1.gits.net.th/data/e0008481.js">
|
|
|
กายคตาสติสำคัญมาก |
|
วันที่ 8 กรกฎาคม. 2545
สถานที่ : วัดแพร่ธรรมาราม อ.เมือง จ.แพร่ |
| | ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
| |
ค้นหา :
กายคตาสติสำคัญมาก
โอ๊ย.เหนื่อยนะ วันนี้เราเหนื่อยอยู่เหมือนกัน เหนื่อยทั้งวันเลย ฉันยาแก้หวัดเข้าไปมันก็บีบเอาบ้างละ เพลีย ตอนจะไปเทศน์ง่วงนอน มันแพ้ยาทำให้ง่วงนอน
เพศของพระเรา เป็นเพศที่สุขุมคัมภีรภาพ เป็นเพศที่พินิจพิจารณา ทุกสิ่งทุกอย่างที่มาเกี่ยวข้องกับตน มีความพินิจพิจารณา มีสติประจำตัวอยู่ทุกอิริยาบถ เก็บความรู้สึกได้ดี อดทนต่อความพากเพียรของตน นี่ละที่สำคัญเกี่ยวกับเพศของพระเรา การอยู่ การกิน การหลับ การนอน ไม่ถือมาเป็นภาระเครื่องกังวลใจ อยู่ไปพอได้อาศัยเท่านั้น กินไปพอได้อาศัย ใช้สอยสิ่งต่าง ๆ พอได้อาศัย เพราะอันนี้เป็นสมบัติของโลกเพียงอาศัยเขาเท่านั้น จะนำสิ่งเหล่านี้มาเป็นอารมณ์ห่วงใยเกี่ยวพันกันอย่างนี้เป็นความผิดทางด้านธรรมะ สำหรับผู้มุ่งหวังต่อแดนพ้นทุกข์ ต้องตัดทุกสิ่งทุกอย่างออกหมดโดยสิ้นเชิงในความรู้สึกของเรา แม้จะตัดไม่ได้ก็ตั้งหน้าตั้งตาจะตัดอยู่ตลอดเวลาไม่อ่อนข้อ นี่เรียกว่า ผู้มีความเพียรประจำตน คือสติตั้งให้ดี
จะคิดอ่านหรือเคลื่อนไหวไปมาทางไหน สติกับจิตที่เคยรักษากันอย่างใดอย่าปล่อยอย่าวาง ถือเป็นภาระหน้าที่ของเราโดยตรง เพราะพระมีหน้าที่ที่จะบำเพ็ญสมณธรรมเพื่อความสงบและแยบคายของใจโดยลำดับเท่านั้น สิ่งอื่นเป็นเพียงอาศัยไม่ถือว่าเป็นความจำเป็นและสำคัญอะไร อยู่ไป ๆ อาศัยโลกสงสารสมบัติของโลกเขาไปอย่างนั้นแล แต่สมบัติภายในคือธรรม ที่ถืออย่างเข้มงวดกวดขันสำหรับตัวของเราแต่ละราย ๆ มีสติปัญญาเป็นเครื่องรักษาอยู่ตลอด เรื่องมรรคผลนิพพานนั้นคงเส้นคงวาหนาแน่นตลอดมา ตามหลักศาสนธรรมของพระพุทธเจ้าที่ตรัสไว้แล้วว่า สวากขาตธรรม คือตรัสไว้ชอบทุกอย่างสมบูรณ์แบบทุกอย่างแล้ว มีแต่ผู้ปฏิบัติตามจะยึดมาปฏิบัติได้มากน้อยเพียงไร ผลจะปรากฏตามความขวนขวายและการบำเพ็ญของตน
ถ้าเรามีความสามารถทางด้านความพากเพียร สติปัญญาเฉลียวฉลาด ความเพียรเข้มแข็ง มีความอดความทนเท่าไรแล้ว มรรคผลจะปรากฏขึ้นที่ใจของเราผู้มีความเพียรอยู่ตลอดเวลานั้นแล คำว่ามรรคผลจะไม่ขึ้นอยู่กับดินฟ้าอากาศสิ่งภายนอกใด ๆ เลย จะขึ้นอยู่กับความเพียรของเรามีสติเป็นพื้นฐานสำคัญที่รองรับความเพียรได้โดยถูกต้อง ได้แก่สติ ให้มีสติความรู้สึกตัวอยู่ตลอดเวลา เราพิจารณาธรรมขั้นใด สติจะเป็นพื้นฐานตลอดเลย เช่น คำบริกรรมเพื่อความสงบใจสำหรับผู้ยังไม่ได้หลักได้เกณฑ์ สตินี้ยิ่งเข้มแข็งตั้งมั่นจริง ๆ ต่อบทธรรมของตนดังที่เคยอธิบายมาแล้วเมื่อคืนนี้ สติเป็นสำคัญมากทีเดียว เรื่องปัญญานั้นออกเป็นบางระยะ ๆ บางกาลกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ส่วนสตินี้ต้องวางไว้เป็นพื้นฐาน นี่เรียกว่าความเพียร การขบการฉันให้พึงสังเกตตัวเอง อย่าสักแต่ว่าขบฉันไป อาหารประเภทใดก็ฉันไปว่าถูกปากถูกท้องถูกธาตุถูกขันธ์ก็ฉันไป แต่มันไม่ถูกธรรมมันก็ภัยต่อจิตใจ
เพราะฉะนั้นท่านจึงเรียกว่า อาหารสัปปายะ อาหารเป็นที่สบายสำหรับผู้บำเพ็ญภาวนานั้น ต้องเป็นอาหารที่ไม่ส่งเสริมกิเลส เป็นอาหารที่สะดวกสบายในธาตุขันธ์ แต่ไม่ยังธาตุขันธ์ให้เป็นกิเลสขึ้นมาเพราะการฉันไม่รู้จักประมาณ และไม่รู้อาหารประเภทใดบ้างที่จะเป็นภัยต่อจิตใจ แม้จะเป็นคุณต่อร่างกายมากน้อยเพียงไรก็ไม่มีความหมายอะไร สำคัญที่ฉันลงไปแล้วจิตใจไม่กำเริบไม่เป็นข้าศึกกับจิตใจ นั่นเรียกว่า อาหารสัปปายะ อาหารเป็นที่สะดวกสบาย ธาตุขันธ์ก็ไม่บีบบังคับด้วยความมีกำลังจากอาหารที่ฉันลงไป จนถึงกับให้กับเกิดกิเลสราคะตัณหาขึ้นมาแม้ภายในใจยิบแย็บ ๆ เท่านั้น เราก็พอทราบได้ว่าจากธาตุจากขันธ์ที่มีกำลังมากขึ้นไปแล้ว มันจะส่อกิเลสประเภทนี้ขึ้นทำลายตัวเรา ก็ให้พึงระมัดระวัง อย่าเห็นแก่ปากแก่ท้อง เห็นแก่อยู่แก่กิน ให้เห็นแก่ธรรม ฉันลงไปต้องเล็งถึงธรรมเสมอ
การนอนมากนอนน้อยก็เล็งถึงธรรมเสมอ ชาคริยานุโยค การประกอบความเพียรให้เหมาะสม เรียกว่าไม่ผิดพลาด ท่านเรียกว่า อปัณณกปฏิปทา คือการประกอบความพากเพียรไม่ผิด เราก็ต้องรู้เวล่ำเวลาในการงานคือความเพียรของเรา การนอนมากเป็นอย่างไร การนอนน้อยเป็นอย่างไรคอยสังเกตเสมอ ถ้านอนมากมันไปหนักทางใด ธาตุขันธ์มีกำลังอีก แน่ะ ทางด้านจิตใจก็อ่อนลง ถ้านอนน้อยธาตุขันธ์ถึงจะไม่ค่อยมีกำลังแต่เสริมจิตใจให้มีสติสตังดีขึ้น เราก็ให้สังเกต การขบฉัน ฉันมากฉันน้อย นี่พอทราบได้ชัดเจน ส่วนมากการฉันมากไม่ดี สำหรับธาตุขันธ์ส่งเสริมกิเลสได้ทันที แต่การฉันน้อยนั้นเป็นความสะดวกสำหรับความพากเพียรของเรา สติก็ดี แยกออกทางด้านปัญญาก็ดี แม้คำบริกรรมของเราสติกับคำบริกรรมก็ติดกันแนบสนิทดี นี่เรียกว่า เราสังเกตการประกอบความพากเพียรของเรา
นอนมากเป็นยังไง นอนน้อยเป็นยังไง ฉันมากฉันน้อยเป็นอย่างไรให้สังเกต เพราะเราจะเอาจุดสำคัญอันเดียวคือเรื่องของใจนี้เท่านั้น ถ้าเราทำอะไรลงไปมันขัดกับใจก็ให้พึงทราบว่าสิ่งนั้นไม่ควรส่งเสริมต่อไป ให้งดมัน เช่น นอนมากมันทำให้เกิดกิเลสตัณหาประเภทต่าง ๆ ขึ้นมา สติสตังไม่ดี ลดการนอนลงอย่างนี้จึงเรียกว่าการประกอบความเพียรด้วยความมีสติระมัดระวังอยู่ตลอดเวลา ผลจะพึงทราบขึ้นเป็นลำดับสำหรับผู้มีสติกำหนดพิจารณาตัวเอง ท่านแสดงไว้ในธุดงค์ ๑๓ ก็คือเพื่อนำมาดัดจริตนิสัยของตนนั้นแล ในธรรม ๑๓ ข้อ ธุดงค์ ๑๓ ข้อนั้น ข้อใดที่เหมาะสมกับเรา ส่วนมากก็เหมาะสมทั้งนั้นแหละ แต่ เนสัชชิ นี้เหมาะสมบ้างไม่เหมาะสมบ้างนะ การอดนอนเราทำความเพียรด้วยอิริยาบถ ๓ คือมีการยืน การเดิน การนั่ง แต่ไม่นอน กำหนดกี่คืนกี่วันให้สังเกตตัวเอง ถ้าหากว่าถูกทาง เนสัชชิ คือการอดนอน เราก็จะทราบจากผลแห่งความเพียรของเรา ถ้าว่าสติก็ดีขึ้น จิตใจก็สงบมากขึ้น แล้วไม่ค่อยวอกแวกคลอนแคลน ค่อยสะดวกสบาย
เราอดไปหลายวันเท่าไรสติยิ่งดี ออกทางด้านปัญญาก็มีความฉลาดแหลมคมและคล่องตัว นี่เรียกว่าถูก ไม่ใช่ว่าธุดงค์แล้วก็เอามามัดติดคอเอาเลยโดยไม่คำนึง อย่างนี้ไม่ใช่คนใช้สติปัญญา ต้องนำมาใช้สติปัญญา ในธุดงค์เหล่านี้พระองค์วางไว้เป็นกลาง ๆ ส่วนที่เราจะปฏิบัติประจำตัวของเราในธุดงค์เหล่านั้นเราก็ปฏิบัติมาอยู่แล้ว เช่น ฉันมื้อเดียวอย่างนี้ หรืออยู่ป่าเป็นวัตร อยู่ป่าช้าเป็นกาลเป็นเวลา เราก็เคยปฏิบัติมาอยู่แล้ว อันนี้ก็เพื่อความสะดวกในการประกอบความพากเพียรของเรานั่นแล ไม่ใช่เพื่ออะไร เช่น ฉันมื้อเดียวอย่างนี้ ไม่กังวลกับการฉันจิ๊บ ๆ แจ๊บ ๆ ฉันมื้อเดียวยังสังเกตอีกว่าฉันมากหรือฉันน้อย ต้องพิจารณาอีกทีหนึ่ง นี่เป็นการกลั่นกรองของเราที่จะให้ได้เหตุได้ผลจากความเพียรของตน สำหรับการอยู่ป่านั้นเหมาะสมแล้ว
ธุดงค์ข้ออยู่ป่านี้เป็นพื้นฐานสำหรับผู้บำเพ็ญเพียร อยู่ที่ไหนไม่เหมาะสมกับการอยู่ป่า หรืออยู่ป่าช้าตามนิสัยที่จริตมันถูกกัน เราก็อยู่เป็นกาลเป็นเวลา เหล่านี้มีแต่เครื่องบังคับชำระจิตใจ คือกิเลสที่อยู่ภายในใจนั้นให้เบาบางลงและหมดสิ้นไปทั้งนั้น ธุดงควัตรของพระพุทธเจ้าทรงวางไว้เป็นกลาง ๆ เรานำมาปฏิบัติและให้คลี่คลายและสังเกตตัวเองที่เกี่ยวกับการปฏิบัติธุดงค์เหล่านี้ นี่เรียกว่า ผู้มีความเพียรอันชอบธรรม หรืออปัณณกปฏิปทา การปฏิบัติไม่ผิด ต้องสังเกตตนเสมอ
สำหรับพระของเราที่ให้เป็นไปตามความมุ่งหมายจริง ๆ และอรรถธรรมของพระพุทธเจ้าจริง ๆ แล้ว พระเรามีหน้าที่ทำงานอย่างเดียว ตามตำรับตำราที่เราได้เห็นมาด้วยกัน มีตั้งแต่การชำระกิเลสด้วยการภาวนาทั้งนั้น ไม่ได้มีกิจการบ้านเรือนแบบโลก ๆ เขาเข้ามาเคลือบมาแฝงพอให้งานภายในจิตใจของเราเป็นกังวลและล่าช้าต่อไป ให้มีความมุ่งมั่นอยู่กับความพากเพียร นี่ละเรียกว่างานของพระแท้ คืองานเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา จะเป็นท่ายืน ท่าเดิน ท่านั่ง ท่าใด มีแต่เป็นท่าความเพียรชำระกิเลสภายในใจของตน นี่เรียกว่างานของพระในครั้งพุทธกาล ท่านมีเป็นแบบเป็นฉบับมาอย่างนั้น
การพูดการคุยกันเกี่ยวกับเรื่องโลกสงสารนี้ไม่มี มีแต่เรื่องอรรถเรื่องธรรม การเจริญจิตตภาวนาล้วน ๆ ออกจากสถานที่ต่าง ๆ มา เช่น ในป่าในเขา หรือในถ้ำมาสนทนาธรรมะกันนี้ มีแต่เรื่องของอรรถของธรรมล้วน ๆ ไม่มีเรื่องติรัจฉานวิชา เรื่องโลกเรื่องสงสารเข้ามาเกี่ยวข้องเลย นี่กฎหรือระเบียบประเพณีของพระพุทธเจ้าที่พาดำเนินสำหรับบรรดาพุทธบริษัทที่มุ่งต่ออรรถต่อธรรมจริง ๆ ก็ให้ยึดธรรมเหล่านี้มาปฏิบัติต่อตนเอง เฉพาะที่เราเป็นพระนี้เหมาะสมแล้วกับงานดังที่กล่าวนี้
อยู่ที่ไหน อย่าเอาความสะดวกสบายทางร่างกายเข้ามากีดขวางทางสะดวกของธรรมคือใจ เรื่องร่างกายมันหาแต่ความสะดวกอยู่ตลอดเวลานั้นแหละ อยู่ดีกินดี นอนดี ใช้อะไรฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมแบบไม่มีสติสตัง นี้เป็นเรื่องของกิเลส เป็นเรื่องของโลกสงสารทั้งนั้น พระของเราจึงต้องต่างกัน การอยู่ การกิน การหลับ การนอน การใช้สอยก็เป็นแบบของพระ เป็นผู้มีงานน้อย ไม่ใช่มีงานมากเหมือนงานของโลกเขา แต่ไปมากอยู่ที่ความพากเพียรชำระจิตใจ นี่เรียกว่า การปฏิบัติถูกต้อง
สติอย่าปล่อยวาง อันนี้เป็นพื้นฐานของธรรมตั้งแต่พื้น ๆ ขึ้นไปจนกระทั่งธรรมะอันสุดยอด สตินี้มีความจำเป็นตลอดไปทุกขั้นทุกภูมิของการบำเพ็ญ ให้มีสติสตังตั้งให้ดี จิตถ้าไม่สงบก็ให้ปฏิบัติดังที่อธิบายให้ฟังแล้วเมื่อคืนนี้ ตั้งเป็นความเอาจริงเอาจัง เราอย่าเหลาะแหละกับความพากเพียรของเราซึ่งเป็นนิสัยของกิเลส ทำลงไปวันหนึ่งสองวันว่าดี ต่อไปอ่อนแอท้อแท้เหลวไหลไปเสีย นี้คือกิเลสเข้าเหยียบย่ำทำลายแล้ว ถ้าเป็นธรรมดำเนินตามธรรมแล้วต้องตั้งความพากเพียรด้วยความมีสติอยู่ตลอดเวลา นี่คือความถูกต้อง
เผลอไปก็ให้ทราบว่านี่ความเผลอนี้ไม่ดี เราเผลอแล้วเรียกว่าปล่อยช่องให้กิเลสแล้ว ความเผลอไม่มีสติสตัง เป็นเรื่องของกิเลสทั้งนั้นเราอย่าเข้าใจว่าเป็นเรื่องอื่นเรื่องใด เป็นเรื่องของกิเลสเข้าทำลายความพากเพียรของเราให้พลั้งเผลอไปจนได้ ให้ตั้งตลอดเวลา จิตใจให้มีเข้มข้นต่ออรรถต่อธรรม ต่อแดนแห่งมรรคผลนิพพานอยู่เสมออย่าจืดจาง เรื่องโลกเรื่องสงสารอย่านำเข้ามายุ่งกวนใจ โลกเขาอยู่เป็นโลก เราก็เคยเป็นโลกมาแล้วตั้งแต่เป็นเด็กมาเป็นฆราวาสมา จนกระทั่งได้มาบวชเป็นพระ เขากับเราก็เหมือน ๆ กัน ไม่เห็นมีอะไรผิดแปลกจากกัน เวลานี้เรามาบวชเป็นพระแล้ว เปลี่ยนสภาพความเป็นอยู่และความรู้สึกภายในใจของเรา เป็นอรรถเป็นธรรมไปล้วน ๆ อย่าให้มีความชินชากับโลก พอที่จะนำนิสัยของโลกมาคิดอ่านไตร่ตรอง แล้วพูดคุยกันเรื่องโลกเรื่องสงสารไม่ถูกต้องกับทางเดินของพระเราเลย ให้พากันระมัดระวัง
พระท่านออกมาจากป่าจากเขา มาสนทนาธรรมะกัน ท่านมีตั้งแต่เรื่องอรรถเรื่องธรรมล้วน ๆ มาสนทนาเป็นคติต่อกันและกันได้เป็นอย่างดี นี่ท่านว่า กาเลน ธมฺมสากจฺฉา สนทนาอรรถธรรมไปตามกาลตามสมัย เวลาได้เข้ามาพบกันสนทนาธรรมะกัน ต่างคนต่างได้คติอันดีจากกันและกันไปเรื่อย ๆ ท่านไม่มีในครั้งพุทธกาลที่จะพูดถึงเรื่องโลกเรื่องสงสาร เรื่องได้เรื่องได้เรื่องเสีย เรื่องซื้อเรื่องขาย เรื่องราชการงานเมือง เรื่องหญิงเรื่องชาย ท่านไม่มี มีแต่เรื่องชำระกิเลสออกจากจิตใจด้วยความเพียรที่มีสติประจำอยู่ตลอดเวลาเท่านั้น นี่ทางเดินของผู้ที่จะครองมรรคครองผลท่านเดินอย่างนี้ เราอย่าเหลาะ ๆ แหละ ๆ แล้วเวลานี้ศาสนาเป็นความเคยชินของกิเลสจนหนาหน้าหนาตา แม้ตัวเองก็ไม่รู้สึกตัวว่าทำตัวเช่นนั้นเป็นกิเลส มามากมายแล้วเวลานี้
พระเรานั้นแหละไม่ใช่ใคร เรื่องมรรคผลนิพพานเป็นสิ่งที่สุดเอื้อมสุดวิสัยไปแล้ว ที่เป็นวิสัยอยู่ก็คือคละเคล้ากันอยู่กับเรื่องโลกเรื่องสงสาร เรื่องความคิดความสนใจ การพูดการจา ตลอดงานการบางอย่างก็กลายเป็นเรื่องงานของโลกของสงสารไปเสีย งานของพระเลยไม่มี เมื่อเป็นเช่นนั้นเรื่องมรรคเรื่องผลก็ยิ่งห่างไปทุกวัน ๆ สุดท้ายก็คว้าน้ำเหลว เพราะเจ้าของไขว่คว้าในทางที่ผิด แล้วก็เหลวไหลไปทุกวัน ๆ เหล่านี้ให้พากันพิจารณาให้มาก ธรรมของพระพุทธเจ้า มรรคผลนิพพานนั้น ประหนึ่งเอื้อมมือคอยจับเราฉุดลากเราขึ้นจากหล่มลึกอยู่ตลอดเวลา ด้วยความเป็นผู้มีสติระลึกรู้กับธรรมของตนที่กำลังบำเพ็ญอยู่อย่าให้เผลอ นี่เท่ากับเราได้ธรรมนี้แลมาฉุดมาลากเราขึ้นไป ธรรมและวินัยนี้เท่านั้นที่เป็นองค์แทนศาสดาจะฉุดจะลากเราให้หลุดพ้นจากทุกข์ได้ไม่สงสัย ในธรรมทั้งหลายที่เป็นองค์แทนศาสดา
ขอให้เชื่อศาสดา โดยการเชื่อและปฏิบัติตามหลักธรรมหลักวินัยนี้ เท่ากับเดินตามรอยพระบาทของพระพุทธเจ้าอยู่ตลอดเวลา การปรินิพานของพระพุทธเจ้านั้นเป็นเรื่องของธาตุของขันธ์ เขาตายได้เราตายได้ แปรสภาพไปต่าง ๆ ได้ทั่วโลกดินแดนหาประมาณไม่ได้ก็คือโลกสมมุติ โลก อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา จึงแสดงตัวอยู่ทุกแห่งทุกหนตำบลหมู่บ้านตลอดเวลา เราอย่านำเข้ามาคิดให้ยุ่งเหยิงวุ่นวาย ว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นสาระ ไม่มีอะไรเป็นสาระแหละในโลกอันนี้ มีแต่ธรรมเท่านั้นที่เป็นสาระสำหรับผู้ตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติต่อธรรม
ให้พากันตั้งอกตั้งใจปฏิบัติ มรรคผลนิพพานให้เอาหลักธรรมหลักวินัยเป็นกฎเป็นเกณฑ์เป็นศาสดา ยิ่งกว่าเอาสิ่งอื่นใดมาเป็นศาสดา แล้วยึดเกาะตามหลักธรรมหลักวินัยนั้นให้ดี เช่นพระวินัย อย่าล่วงเกินเป็นอันขาดเป็นความเสียหายมาก ทำลายตัวเองด้วยไม่มีหิริโอตตัปปะภายในใจ คนนี้ทำยังไงก็ไม่มีทางที่จะได้มรรคได้ผล เพราะคนดื้อด้านต่อองค์ศาสดาซึ่งเป็นผู้ชี้แนวทางให้ถูกต้อง เรื่องพระวินัยเป็นรั้วกั้นการประพฤติดำเนินของเรา ไม่ให้ปลีกจากร่องรอยคือทางเดินซึ่งได้แก่ธรรมไป พระวินัยคือรั้ว อย่าคิดอย่าส่ายอย่าแส่ออกไป ท่านเรียกว่าพระวินัย เครื่องกำจัดความชั่วนั้นแล ให้พากันเคารพให้มาก
พระวินัยนี้สำคัญมากนะ เราไปอยู่ในสถานที่ใดก็ตาม เรามีศีลบริสุทธิ์แล้ว เรามีความอบอุ่นภายในตัวของเรา ไปอยู่ในสถานที่น่ากลัวก็ไม่กลัว เป็นตายก็อบอุ่นอยู่ภายในใจ แม้จะตายเราก็ไปในทางที่ถูกที่ดี มันหากมีความอบอุ่นอยู่ภายในใจนั้นแล คนมีพระวินัยสมบูรณ์ไม่ด่างพร้อย เรียกว่ามีศีลสมบูรณ์ อันนี้ให้เป็นพื้นฐานอย่าพากันข้ามเกินเป็นอันขาด นี่แหละรั้วกั้น พอข้ามอันนี้ออกไปปั๊บก็ออกนอกลู่นอกทาง กิเลสมันก็เอาไปกินหวานปากหวานคอหมดนั่นแหละ ไม่มีอะไรเหลือ ผู้ที่อยู่ในกรอบของพระวินัยนี้สำคัญมาก อยู่ในรั้วของพระวินัยแล้วกิเลสเอาไปกินง่าย ๆ ไม่ได้ ต้องระวัง เมื่อวินัยเราดีแล้ว ธรรมที่เราจะตักตวงเอามรรคเอาผล ด้วยสติปัญญา ศรัทธาความเพียรของเรา เราก็เน้นหนักตลอดเวลา
การอยู่การกินทุกอย่างไม่เป็นอารมณ์ มีตั้งแต่ระมัดระวังจิตของเราบกพร่องที่ตรงไหน ทุกข์ก็ให้ทุกข์ด้วยการต่อสู้กับกิเลสตัวผาดโผนโจนทะยาน ลากถูจิตใจของเราออกไปคิดในแง่ต่าง ๆ ทั่วโลกดินแดนไม่มีวันอิ่มพอ นี่คือกิเลส มันมีแต่ความหิวความโหย อยากคิดอยากปรุงอยากรู้อยากเห็น อยากได้ยินได้ฟัง อยากทดลองเรื่องนั้นเรื่องนี้ นี่คือเรื่องของกิเลส อย่าเสียดายความคิดเหล่านี้ มันเคยหลอกลวงโลกต้มตุ๋นโลกให้ได้รับความทุกข์มานานแล้ว ไม่มีอันใดที่จะหักห้ามกิเลสได้เหมือนธรรม ธรรมนี้หักห้ามกิเลสได้ เช่น มันอยากดูไม่ยอมดู มันอยากฟังไม่ยอมฟังในสิ่งที่เป็นภัยต่อธรรม อยากรู้อยากดูอยากเห็น อยากคิดไม่ยอมให้คิด ต้องฝืนกันตลอดเวลา นี้จึงเรียกว่ารบกันกับกิเลส
กิเลสนี้ตัวคล่องแคล่วว่องไวไหลไปเลยตลอดเวลา เพราะมันเคยครองหัวใจของสัตว์โลกมาเป็นเวลานาน มันจึงคล่องตัว เราจะน้อมจิตเข้าสู่ธรรม กิเลสฉุดลากออกไปแล้ว ๆ ตามอารมณ์ที่เคยคิดจนคล่องตัวนั้นแล แต่มันไม่อิ่มพอไม่เข็ดไม่หลาบในอารมณ์ที่เคยดัดสันดานตัวเองเพราะอารมณ์ที่ไม่ดี มันจะมาดัดสันดานเราให้เกิดความทุกข์ความลำบากภายในจิตใจ จิตใจก็เศร้าหมอง ภาวนาหาความสงบไม่ได้ นี้คืออารมณ์กวนใจ ให้พากันพินิจพิจารณาให้ดี ไปที่ไหนให้มีสติสตัง
เรื่องมรรคผลนิพพานเราอย่าไปถามกาลนั้นกาลนี้ สมัยนั้นสมัยนี้ ให้ถามดูหัวใจของเรานี้ มรรคผลนิพพานจะอยู่ที่นี่ มีสติธรรม ปัญญาธรรม วิริยธรรม เป็นเครื่องประกันมรรคผลนิพพานอยู่กับหัวใจของเรานี้เท่านั้น ไม่มีกาลสถานที่เวล่ำเวลาที่โน่นที่นี่ว่าเป็นเครื่องประกัน แม้ท่านสอนให้ไปอยู่ในป่าก็สอนเพื่อความไม่เผลอตัวนั้นแล อยู่ในป่าอารมณ์มีน้อยไม่มีสิ่งก่อกวน รักษาจิตใจได้ง่าย ท่านจึงสอนให้ไปอยู่ในป่าในเขาซึ่งเป็นสถานที่โลกเขาไม่ต้องการ แต่ธรรมนั้นเหมาะสมมากสำหรับผู้บำเพ็ญ ท่านจึงสอนให้ไปอยู่ในป่าในเขา เช่น รุกฺขมูลเสนาสนํ เป็นต้น เราก็ทราบด้วยกันทุกคน
สถานที่นี้เป็นสถานที่กิเลสไม่ต้องการ กิเลสไม่ชอบ ทีนี้เราผู้เป็นนักรบกับกิเลสเราต้องชอบเราต้องอยู่ เราต้องเสาะแสวงหาประกอบความพากเพียรกับสถานที่เช่นนั้นตลอดไป เมื่ออยู่ไปนานการประกอบความเพียรก็สะดวกไปตลอด แล้วจิตใจเมื่อได้รับการบำรุงส่งเสริมด้วยความพากความเพียรแล้ว มีสติเป็นพื้นฐานอยู่แล้วก็จะเป็นความสงบภายในใจลงไป
เวลาจิตอยากคิดอยากปรุงอะไรซึ่งเป็นเรื่องกิเลสให้ฝืนทันที อย่าคล้อยตามเป็นอันขาด การคล้อยตามกิเลสก็เท่ากับก้มหัวลงให้มันสับเอานั่นเองจะเป็นอะไรไป ไม่ยอมก้มหัวลง ต้องสู้กันเสมอ นี่จึงเรียกว่า รบกับกิเลส ถ้าเราคล้อยตามกิเลสไม่เรียกว่ารบกัน ยอมมันตลอดถ้าอย่างนั้น ต้องสู้ต้องรบกัน มรรคผลนิพพานที่เราจะได้จากการฝืนกิเลส การต่อสู้กับกิเลสแม้จะทุกข์มากขนาดไหนก็ตามก็คุ้มค่ากัน กับมรรคผลนิพพานที่เราได้ขึ้นมาจากการต่อสู้กับกิเลสแบบทรหดอดทน ให้คิดอย่างนี้นะ ความทุกข์ในการต่อสู้กับกิเลสมันก็ทุกข์เป็นธรรมดา แต่ต่อสู้เพื่อชัยชนะ การได้ชัยชนะกับกิเลสมาเป็นลำดับลำดา เราก็มีต้นทุนขึ้นเป็นลำดับลำดาเช่นเดียวกัน
เอ้า กิเลสประเภทนี้มันหนาแน่น ฟาดกันลงอย่างหนักมือ กิเลสนี้ขนาดไหน ความเพียรของเราให้กะพอดีกัน ๆ มันหากรู้เองนั้นแหละสำหรับผู้ประกอบความพากเพียร ควรจะหนักจะเบา หรือวรรคใดตอนใดที่จะเน้นหนักถึงขนาดเอาเป็นเอาตายต่อกัน มันหากรู้ในนิสัยสันดานของตัวเองผู้ประกอบความพากเพียรนั้นแล เราอย่าทำเหลาะ ๆ แหละ ๆ จะไม่ได้เรื่องได้ราวนะ มรรคผลนิพพานประกาศกังวานอยู่ในองค์แห่งธรรมของพระพุทธเจ้ามาตลอด เหตุใดเราชาวพุทธบวชเข้ามาในศาสนา เฉพาะนักบวชนี้สำคัญมาก เพราะเป็นแนวหน้าซึ่งควรต่อมรรคผลนิพพานอยู่แล้ว แต่แล้วทำไมไม่เห็นได้เรื่องได้ราวอะไร
ก็เพราะไม่ดำเนินตามทางที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้ ปลีกแวะออกนอกลู่นอกทางไปเสีย ผลจะพึงได้รับมันก็ไม่มี แล้วก็อยู่ไปกินไปวันหนึ่ง ๆ สุดท้ายจิตก็เอียงไปล่มจมลงไปกับโลกเขาเสีย ให้กิเลสตัณหาเหยียบย่ำทำลาย มีแต่หัวโล้นโกนคิ้ว ผ้าเหลือง ใครโกนใครเอามาครองก็ได้ แต่หัวใจเจ้าของเป็นส้วมเป็นถานให้กิเลสขับถ่ายลงไปเป็นลำดับลำดา แล้วเกิดประโยชน์อะไรสำหรับพระเรา ต้องมีการกระตุ้นเตือนเจ้าของอยู่เสมอ จิตใจมันจะมีแก่ใจคึกคัก เรื่องความพากเพียรนี้ให้ก้าวเดิน
ใครมีความเหมาะสมกับธรรมบทใด พิจารณาวิธีการใดเป็นผลเป็นประโยชน์แก่ตน ให้ยึดหลักธรรมการพิจารณาเช่นนั้นเอาไว้ประจำใจ ให้หนักแน่นขึ้นทุกวัน ๆ นี่ละดี ถูกต้อง อย่าทำสักแต่ว่าทำ เมื่อทำอย่างนี้ก็เรียกว่าถูกทาง ถ้าถูกทางแล้วผลก็จะเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ เบื้องต้นจิตสงบเสียก่อน จิตเคยวุ่นวายส่ายแส่เพราะกิเลสถีบ กิเลสเตะ เตะไปมุมโลกโน้นมุมโลกนี้ ไม่ว่าใกล้ว่าไกล ผลักออกไปให้คิดให้ปรุง เรื่องราวผ่านไปนานเท่าไรพอระลึกได้ ก็คว้าเข้ามาอุ่นกิน อุ่นเผาเจ้าของนั้นแหละ เรื่องราวที่เสียใจนั้นมันยิ่งติดนะใจเรา ถ้าเรื่องราวที่ไม่พอใจเสียใจเคียดแค้นให้ผู้ใด มักจะติดพันกับเรื่องราวอารมณ์เช่นนั้น เข้ามาเผาหัวใจตนซ้ำเข้าไปอีก แล้วก็ไม่มีวันเข็ดหลาบอิ่มพอ ผู้เช่นนั้นเป็นผู้ก่อไฟเผาตัวตลอดเวลา ไม่มีความเข็ดหลาบอิ่มพอ
ถ้าเป็นความเข็ดหลาบ พอระลึกถึงเรื่องอารมณ์เก่าที่เคยเป็นข้าศึกและเป็นทุกข์เดือดร้อนถึงกับจิตใจจะเป็นฟืนเป็นไฟ เมื่อระลึกได้แล้วให้พลิกใจกลับทันที ไม่เสียดายคิดต่อไป เพราะเท่ากับเสียดายไฟ เอามาเผาเจ้าของนั้นเอง ต้องปัดออกทันที มันอยากคิดเท่าไรก็ไม่ยอมคิด นี่เรียกว่าฝืนกิเลส แล้วคิดเรื่องอื่นแทน คือเรื่องธรรม เข้ามาแทนที่ ๆ อยู่เสมอ นี่เรียกว่าการประกอบความพากเพียรเพื่อชำระจิตใจของตน ครั้นเมื่อได้รับการอบรมอยู่เสมอจากจิตตภาวนา ใจของคนเราย่อมมีความสงบเย็นขึ้น ๆ เพราะได้รับการบำรุงรักษา การเหลียวแลจากเจ้าของ แล้วก็จะแสดงเป็นความสงบเย็น
ถ้าจิตใจมีความสงบเย็นอารมณ์ของกิเลสที่เป็นฟืนเป็นไฟ เคยเป็นฟืนเป็นไฟมาแต่ก่อนมันก็ค่อยจางลงไป ๆ อารมณ์แห่งความสงบเย็นใจนี้จะเพิ่มขึ้นด้วยจิตตภาวนานี้เป็นเครื่องหนุนอยู่ตลอดเวลา แล้วความสงบนี้ก็เชื่อมโยงเข้าไปถึงความเป็นสมาธิของใจ การปฏิบัติธรรม ภาคความสงบท่านเรียกสมถะ จิตที่มีความสงบหลายครั้งหลายหน เพิ่มกำลังแห่งความสงบเข้าเรื่อย ๆ ก็เชื่อมโยงเข้าไปถึงสมาธิคือจิตตั้งมั่น เวลาเราสงบนี้มันก็สงบ นี่เรียกว่าสมถะ พอจิตถอยออกมาแล้วมันก็ไม่สงบเสีย พอจิตนี้พยายาม ทำให้มีความสงบหลายครั้งหลายหนเข้าไป สงบมากน้อยเพียงไร เช่น จิตของเรารวมลงไปแต่ละครั้งละคราวนั้น มันสร้างพลังขึ้นมาภายในตัวโดยลำดับลำดา เมื่อความสงบมีมากเท่าไร ๆ ความแน่นหนามั่นคงของจิตก็จะเริ่มปรากฏขึ้น คือความสงบนี้แหละจะเริ่มแน่นหนามั่นคงขึ้น ๆ จากนั้นใจก็กลายเป็นสมาธิขึ้นมา
สมาธิแปลว่าความตั้งมั่น ใจของเรานี้มันตั้งมั่นอยู่ในหลักธรรมชาติแห่งสมาธิเองนะ เราคิดเราปรุงเรื่องอะไรก็คิดได้อยู่ แต่มองเข้ามาดูฐานของจิต จิตก็มีความแน่นหนามั่นคงตามเดิม ท่านเรียกว่าจิตเป็นสมาธิ นี่เราอบรมเพียงเท่านี้ก็พออยู่พอกินสำหรับเราที่ก้าวเดิน เป็นต้นทุนแห่งธรรมขั้นสูงกว่านี้ขึ้นไปเป็นลำดับ เวลาพิจารณาทางด้านปัญญาแยกธาตุแยกขันธ์ พิจารณา ทุกฺขํ อนิจฺจํ อนตฺตา อสุภะ อสุภัง ซึ่งมีอยู่เต็มเนื้อเต็มตัวทั้งเขาทั้งเรา หลายครั้งหลายหน จิตก็มีความคล่องแคล่วแกล่วกล้ากับสิ่งเหล่านี้ ปัญญาก็เริ่มก้าวออกไป ๆ
คำว่าปัญญากับสมาธินั้นแตกต่างกันมากนะ ความสุขในสมาธินี้ไม่ได้มีอะไรสำคัญนัก ถ้าได้ผ่านปัญญาเข้าไปแล้ว เราจะตำหนิสมาธิของเราโดยลำดับ นอกจากเราไม่เคยสนใจกับทางปัญญาวิปัสสนาเลย แล้วก็มานอนจมอยู่กับความเป็นสมาธิ สมาธิก็ดีอยู่สำหรับคนนั้นไปเรื่อย ๆ อย่างนั้นแหละ แต่ไม่ก้าวไปถึงไหน มีแต่ความสงบเย็น ๆ กำหนดให้เป็นสมาธิเท่าไรก็เป็นแค่นั้นแหละ เรียกว่าสมาธิเต็มภูมิแล้ว เหมือนน้ำเต็มแก้ว เอาน้ำที่ไหนมาเทเพิ่มเข้าอีกก็ไม่เพิ่ม น้ำเต็มขอบปากแก้วแล้ว เอาน้ำที่ไหนมาเพิ่มก็เพียงอยู่ปากแก้วเท่านั้น นี้จิตที่เต็มภูมิแห่งความสงบแล้วก็เต็มภูมิเหมือนน้ำเต็มแก้ว ให้เลยนั้นไม่เลย จิตนี้มีแค่นี้แหละ เรียกว่า พอ ในขั้นของสมาธินี้เรียกว่าพอ เพราะสมาธิเต็มตัวเหมือนน้ำเต็มแก้ว
จากนั้นให้แยกออกไปพิจารณาทางด้านปัญญา ดังที่ท่านสอนว่า เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ อย่างนี้เราจะพิจารณาเป็นสมถธรรมก็ได้ เช่น บริกรรมเกสา หรือโลมา นขา ทันตา ตโจ บทใดมาเป็นบริกรรมเพื่อสมถธรรมก็ได้ ทีนี้เมื่อจิตที่ควรจะใช้วิปัสสนาแล้วแยกเอาเกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ มาคลี่คลายกระจายออกไปจนกระทั่งเนื้อหนังร่างกายของเราทุกสัดทุกส่วน ตับ ไต ไส้พุง ข้างนอกข้างในเอามาพินิจพิจารณาโดยทางด้านปัญญา ปัญญาก็มีความเฉลียวฉลาดแหลมคมขึ้นไปเป็นลำดับ และผลที่เกิดขึ้นจากทางปัญญาก็คือการถอดถอนกิเลส มีอุปาทานเป็นสำคัญ ค่อยเบาลง ๆ เรื่องของปัญญาก็จะมีความคล่องแคล่วแกล้วกล้าไปโดยลำดับ
เรื่องของสมาธิก็เป็นฐานที่พักจิตไปเท่านั้น ในเวลาเราพิจารณาทางด้านปัญญาเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า เราก็ย้อนจิตเข้ามาสู่สมาธิ ให้พักในสมาธิเสีย พอจิตออกจากสมาธิมีกำลังแล้ว เราก็ออกพิจารณาทางด้านปัญญา โดยถือธาตุถือขันธ์เป็นสำคัญ การพิจารณาทางด้านปัญญาต้องพิจารณาแล้วพิจารณาเล่า อย่าถือเที่ยวเป็นสำคัญนะ พิจารณาหลายเที่ยวหลายหนก็ว่าตัวได้พิจารณาแล้วอย่างนั้นมันเป็นเรื่องโลกไปเสีย ไม่ใช่ธรรมทางภาคปฏิบัติ
ทางภาคปฏิบัติต้องการที่จะให้รู้แจ้งเห็นจริงกับสิ่งที่เราพิจารณานี้จริง ๆ กี่ครั้งกี่หนพิจารณาหลายตลบทบทวน จนจิตใจมีความคล่องแคล่วแกล้วกล้าไปแล้วมันก็อิ่ม เช่นเดียวกับเรารับประทานอาหารนั้นแหละ อาหารจะเอร็ดอร่อยขนาดไหน เมื่อพอแก่ธาตุแก่ขันธ์แล้วจิตใจมันก็ถอนออกจากอาหารนั้นเป็นความอิ่มพอ ปล่อยการรับประทานไปได้ทันที การพิจารณาร่างกายเวลามันกำลังรู้กำลังเห็นในสภาวธรรมทั้งหลายเหล่านี้จิตใจก็ดูดดื่ม พิจารณาเท่าไรก็ยิ่งหมุนไป ๆ นี่ก็เป็นขั้นหนึ่ง เราก็ให้พิจารณาอย่างนั้น หลายครั้งหลายหน จนกระทั่งจิตใจของเรามีความอ่อนเพลียรู้สึกเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าในการพิจารณาแล้ว เราก็ย้อนจิตเข้ามาสู่สมาธิเพื่อพักเอากำลัง จิตเข้าสู่สมาธิเรียกว่าพักเอากำลัง ไม่ได้มาถอดถอนกิเลสตัวใดแหละเรื่องสมาธิ เพียงแต่ทำกิเลสให้สงบตัวเข้ามาเท่านั้น เป็นปัญญาต่างหากที่จะแก้และถอดถอนกิเลสทุกประเภทให้หลุดลอยไปจากใจ ไม่ใช่สมาธินะ
สมาธิเป็นแต่เพียงสงบอารมณ์สงบกิเลส เหมือนหินทับหญ้าอย่างว่านั่นแหละ พอเข้าสู่สมาธิเราเข้าสู่ความสงบไม่ต้องวุ่นวายกับสิ่งใด การคิดอ่านไตร่ตรองเรื่องสติปัญญาเกี่ยวกับเรื่องธาตุเรื่องขันธ์ภายนอกภายในงดหมด เวลาเราเข้าสู่สมาธิต้องการอารมณ์อันเดียวคือ เอกัคคตารมณ์ ซึ่งเกิดขึ้นจากสมาธิที่รวมอารมณ์อยู่ในจุดเดียว นี่ท่านเรียกว่า พักในสมาธิ เมื่อเราพักพอสมควรแล้ว ได้กำลังวังชาแล้ว ถอนจากสมาธิออกไป ทีนี้ก้าวทางด้านปัญญา พินิจพิจารณาแยกธาตุแยกขันธ์ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา มีทั้งส่วนหยาบส่วนละเอียดเต็มอยู่ภายในร่างกายของเรา พิจารณาไปเรื่อยไม่ต้องมาเป็นกังวลกับสมาธิ คือให้ทำงานต่างเวลากัน เวลาทำสมาธิให้สงบเพื่อเป็นที่พักของใจเราก็ให้สงบจริง ๆ ไม่ต้องไปเกี่ยวกับทางด้านปัญญา
ทีนี้เวลาออกจากสมาธิไปแล้วจะทำหน้าที่การงานโดยทางปัญญา เราก็ไม่ต้องมาเป็นห่วงกับสมาธิ ให้ทำหน้าที่ไปเรื่อย ๆ นี่เรียกว่าดำเนินงานด้วยจิตตภาวนาไปอย่างสม่ำเสมอ แล้วจิตใจของเราก็จะก้าวขึ้นไปเรื่อย ๆ ก้าวอยู่ภายในใจนี้แหละ พิจารณาร่างกายนี้เอาเสียจนกระทั่งร่างกายพอแล้วมันก็ปล่อยเหมือนกัน เมื่อยังไม่พอมันก็เพลินในการพิจารณาทุกสัดทุกส่วน ทั้งกฎ อนิจฺจํ ทั้ง ทุกฺขํ ทั้ง อนตฺตา ทั้ง สุภะ อสุภะอสุภัง มันจะเพลินในการพิจารณาอย่างนี้ไปตลอดเมื่อมันยังไม่พอ พิจารณามากเท่าไรยิ่งมีความคล่องแคล่วว่องไวในการพิจารณา จากนั้นแล้วจิตใจก็อิ่มพอกับร่างกายอันนี้
เมื่อสิ่งเหล่านี้รวมเข้ามาสู่จิต จิตเป็นผู้กลืนเอาร่างกายนี้ทุกสัดทุกส่วนว่าเป็นเราเป็นของเรา หรือว่าสุภะก็ดี อสุภะก็ดีเป็นเรื่องของจิตใจนี้ไปวาดภาพหลอกตัวเอง ความจริงอันนั้นเขาไม่ได้ว่าเขาเป็นสุภะหรืออสุภะ มันเป็นเรื่องของจิตใจเราไปเสกสรรปั้นยอขึ้นมา แล้วก็หลงกับสิ่งเหล่านี้เท่านั้นเอง เมื่อพิจารณาหนักเข้า ๆ อารมณ์ทั้งหลายแห่งสุภะและอสุภะ ในส่วนร่างกายนั้น มันจะค่อยกลมกลืนกันเข้ามาสู่จิตใจ ใจของเราจะกลืนอารมณ์ทั้งหลายเหล่านั้นเข้ามา แล้วก็มาเป็นตัวของใจเสียเอง เป็นผู้ตั้งสุภะอสุภะขึ้นมา ครั้นเวลากำหนดแล้วก็ไหลเข้ามาสู่ใจ ๆ ไม่มีอะไรที่จะเป็นกิเลส มันใจต่างหาก
ทั้งเราวาดภาพเป็นสุภะ วาดภาพเป็นอสุภะ เพื่อถอดถอนกิเลสก็ตาม แต่เวลาอิ่มแล้วมันก็เห็นโทษแห่งการวาดภาพของตัวเอง ว่าออกไปจากจิตนี้ทั้งนั้น จิตก็กลืนเอาอารมณ์เหล่านั้นเข้ามาสู่ตัว พอเข้ามาสู่ตัวแล้วเห็นโทษแห่งจิตที่เป็นผู้ไปอาจไปเอื้อมหยิบสิ่งเหล่านั้นเข้ามาหลอกตัวเอง จิตก็ปล่อยร่างกาย ร่างกายทั้งหลายก็เป็นอีกวรรคหนึ่ง พักหนึ่ง ตอนหนึ่งไป จิตใจก็เอาร่างกายนี้แหละเป็นเครื่องฝึกซ้อม ฝึกซ้อมเท่าไรมันก็ไหลเข้ามาสู่จิตใจของเราดวงเดียว ๆ จะตั้งอะไรขั้นมา ตั้งอยู่ข้างนอกมันก็กลืนเข้ามาข้างในคือหัวใจนี้แหละ ตั้งเวลาไหนมันก็กลืนเข้ามา ๆ สู่หัวใจ หัวใจจึงพอกับอารมณ์ภายนอก แต่ต้องอาศัยการฝึกอยู่เสมอจนกระทั่งสิ่งเหล่านั้นค่อยจางไป ๆ ตั้งขึ้นมาแล้วดับไป ๆ
ทีแรกตั้งขึ้นมาก็เข้ามาหาใจ ใจเป็นผู้กลืน ๆ ครั้นจากนั้นแล้ว ใจชำนาญมากขึ้นเพราะการฝึกซ้อมอยู่เสมอ แล้วอารมณ์ของสุภะอสุภะเหล่านั้นตั้งขึ้นเมื่อไรมันก็ดับขึ้นที่ตั้งนั้นแหละ เพราะมันรู้แล้วว่าจิตเป็นผู้ไปตั้งขึ้นมา ตั้งขึ้นตรงไหนมันก็ดับไป ๆ สุดท้ายรูปสุภะอสุภะทั้งหลายที่เป็นเป้าหมายแห่งการพิจารณาของเราก็สิ้นไปหมดไป กลายเป็นจิตที่ว่างขึ้นมาภายในใจของเรา กำหนดถึงเรื่องเป็นภาพสุภะอสุภะก็เพียงเหมือนกับฟ้าแลบเท่านั้นเอง แล้วดับไป ๆ แล้วจิตก็กลายมาเป็นความว่าง ว่างจากรูปจากกายที่เคยพิจารณามา ถึงยังไม่ว่างจากอารมณ์ที่ละเอียดกว่านั้น มันก็ว่างจากส่วนหยาบคือส่วนร่างกาย แล้วพิจารณาเข้ามามันจะรู้เข้ามาอย่างนี้เรื่อย ๆ การพิจารณาภาวนา
ขอให้ทุกท่านตั้งอกตั้งใจพิจารณา เรื่องการพิจารณากายคตาสตินี้เป็นของสำคัญมากทีเดียว เอาให้ดี พิจารณานี้มีความคล่องแคล่วว่องไวเท่าไรกิเลสราคะตัณหาจะค่อยจางไป ๆ ประหนึ่งว่าเป็นพระอรหันต์น้อย ๆ ขึ้นมาภายในใจ ทั้ง ๆ ที่กิเลสก็ยังมีอยู่นั้นแล นี่เพราะความเด่นแห่งความเบาของกิเลสภายในใจ ให้พิจารณาซ้ำ ๆ ซาก ๆ ติดพันกันอยู่ในนั้น นี่ละทางก้าวเดินเพื่อมรรคผลนิพพาน ก้าวเดินจากสติปัฏฐานสี่ อริยสัจสี่ นี้ทางก้าวเดินไปเดินตรงนี้ ใครพิจารณาอันนี้ละเอียดลออมากเท่าไรก็ยิ่งก้าวไปได้เร็ว ต้องเอาอันนี้ให้ชัดเจนเสียก่อน ข้างนอกก็ตามข้างในก็ตาม มันเป็นไปจากใจตัวไปสำคัญมั่นหมายนี้แหละ เมื่อพิจารณาแล้วใจจะมาเห็นโทษของตัวเองที่ไปมั่นหมายสิ่งต่าง ๆ แล้วย้อนกลับมา ปล่อยสิ่งเหล่านั้นไว้ตามเป็นจริงของเขา นี่เรียกว่า การพิจารณารู้รอบแล้วปล่อยวาง ๆ เป็นลำดับลำดาขึ้นไป
จากนั้นก็มีแต่นามธรรม ร่างกายหมดความหมายพิจารณาไม่ได้แล้ว มันว่างไปหมด ๆ ก็มีแต่นามธรรมคือดีกับชั่วและความสว่างไสวของจิต พิจารณาดูเรื่องของจิตมันสว่างไสวไปไหนก็ให้รู้มัน การเกิดการดับแห่งอารมณ์ภายในใจก็ให้รู้โดยตลอด แล้วหมุนติ้วเข้าสู่ใจ จุดหมายอันใหญ่หลวงจะรวมเข้าที่ใจ ๆ
การว่างก็ว่างอะไรก็ว่าง แต่ใจมันยังไม่ว่าง มันก็ยังเพลินอยู่กับความว่างของตัวเอง แต่เวลาพิจารณาแล้วมันรู้รอบขอบชิดจากความว่างทั้งหลายเหล่านั้นแล้วมันก็เข้ามาว่างภายในใจ ว่างภายในใจตัวเองคือรู้เท่าทั้งความว่าง ปล่อยวางทั้งความว่างด้วยแล้วท่านเรียกว่า ใจบริสุทธิ์ แต่ยังไม่ถึงอันนี้เมื่อไรยังไม่บริสุทธิ์ อะไรจะว่างขนาดไหนก็เป็นอาการของจิตที่ไปคิดไปอ่านไปรู้ไปเห็น ตัวจิตเองยังไม่ว่างจากตัวเอง ปล่อยอะไรปล่อยได้แล้ว แต่จิตยังปล่อยตัวเองไม่ได้ก็ไม่เรียกว่า ว่าง ไม่เรียกว่า วาง ไม่เรียกว่า บริสุทธิ์ เมื่อได้พิจารณาข้างนอกก็รอบคอบ หันเข้าข้างในพิจารณาตัวเองก็รอบคอบ ปล่อยข้างนอกแล้วก็ปล่อยข้างในคือตัวเองเสียเอง แล้วจากนั้นก็หมดปัญหาโดยสิ้นเชิงไม่มีอะไรเหลือ นี่คือผู้ทรงมรรคทรงผล ทรงที่ใจของเรานี้นะ ไม่ได้ไปทรงที่ไหน
ให้ตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติ จิตยึดหลักธรรมหลักวินัยเป็นทางก้าวเดิน อย่าเห็นสิ่งอื่นสิ่งใดว่าดีกว่าธรรมกว่าวินัย เฉพาะอย่างยิ่งคือพระวินัย พากันรักษาไว้ด้วยดี อย่าให้ด่างพร้อยขาดทะลุไปเป็นอันขาด แล้วจะเป็นความอบอุ่นในตัวของเราว่าเป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ ทีนี้การพิจารณาอรรถธรรมทั้งหลาย ก็ไม่สร้างความกังวลระแคะระคายให้ตัวเองว่าศีลไม่บริสุทธิ์เพราะบริสุทธิ์อยู่แล้ว แต่ใจก็ไม่สร้างความกังวล นั่นละก็สนุกก้าวเดินทางด้านจิตตภาวนาเรื่อย ๆ ไป ให้พากันตั้งอกตั้งใจปฏิบัตินะ ให้ได้ทรงมรรคผลนิพพาน อกาลิโก ๆ ธรรมของพระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้อย่างนั้น ก็คือมรรคผลนิพพานเป็นอกาลิโก นั้นแล จะเป็นอะไรที่ไหนไป เมื่อปฏิบัติเข้าถึงนั่นแล้วก็เป็น อกาลิโก ขึ้นที่จิตดวงบริสุทธิ์นั้นแหละ
เริ่มต้นตั้งแต่เราก้าวเดินตามธรรมเป็นขั้น ๆ ขึ้นไป ๆ จนกระทั่งถึงขั้นบริสุทธิ์หลุดพ้นแล้วไม่ต้องหาใครมาเป็นสักขีพยาน ประกาศป้างขึ้นภายในจิตใจด้วย สนฺทิฏฺฐิโก ความรู้เองเห็นเองจากการปฏิบัติของตนเอง ในขั้นสุดยอดแล้วก็หมดปัญหา แม้พระพุทธเจ้าประทับอยู่ข้างหน้าก็ไม่ทูลถามท่าน เพราะ สนฺทิฏฺฐิโก ก็พระองค์ประกาศสอนเอง เมื่อ สนฺทิฏฺฐิโก ได้ประกาศขึ้นภายในใจของเราแล้วก็จะไปถามพระพุทธเจ้าหาอะไร มันก็หมดจดทุกสิ่งทุกอย่าง อยู่กับใจของเราที่บริสุทธิ์นี้เท่านั้น ให้พากันตั้งอกตั้งใจกันปฏิบัตินะ
ทุกสิ่งทุกอย่างเราต้องฝ่าต้องฝืน ต้องบึกต้องบึน ไม่ฝ่าฝืนบึกบึนไม่ได้ กิเลสนี้กระแสของมันรุนแรงมากทีเดียว เวลานี้โลกทั้งหลายมีแต่เรื่องของกิเลส มองไปที่ไหน ๆ แทบจะดูไม่ได้เลย นี่ในสายตาของธรรมดูกิเลสดูง่ายนิดเดียว เพราะเหตุไร เพราะธรรมในใจเต็มสัดเต็มส่วนแล้วจะสว่างจ้าอยู่ตลอดเวลา กิเลสผ่านมานิดหนึ่งจะรู้ทันที ๆ ไม่มีคำว่าชินกับกิเลส คุ้นกับกิเลส เมื่อในหัวใจของเรามันก็ไม่มีกิเลสที่จะเข้ามาผ่าน แล้วมองไปข้างนอกมีแต่กิเลสเต็มบ้านเต็มเมือง เต็มสัตว์เต็มบุคคล ไม่ได้อยู่ในดินฟ้าอากาศนะกิเลส มันอยู่กับหัวใจสัตว์หัวใจคนนั้นแหละ
มองไปที่ไหนก็มองดูหัวใจสัตว์หัวใจคนซึ่งมีแต่กิเลสความโลภ ความทะเยอ ทะยานก็คือกิเลส ความโกรธ ความฉุนเฉียว ความไม่พอใจก็คือกิเลส หุ้มห่ออยู่ภายในใจ ราคะตัณหาก็คือกิเลสมันห่อหุ้มอยู่ภายในหัวใจ โลกทั้งหลายดีดดิ้นไปตามอาการกิเลสทั้งสามประเภท ซึ่งเป็นกองใหญ่ ๆ นี้แหละ ความโลภก็เป็นกิเลสกองใหญ่ ความโกรธเป็นกิเลสกองใหญ่ ราคะตัณหาเป็นกิเลสกองใหญ่ ๆ ทั้งนั้นแหละ โลกทั้งหลายดิ้นไปตามกิเลส ๓ ประเภทนี้ มันแสดงฤทธิ์ออกมาทางไหนติดกันทั้งนั้น ๆ ความโลภได้เท่าไรไม่มีคำว่าพอ จนกระทั่งวันตายก็ไม่พอ เพราะกิเลสไม่เคยพอตัว นอกจากหิวโหยตลอด กวาดต้อนมาให้มันมากเท่าไรก็เท่ากับไสเชื้อไฟเข้าสู่ไฟนั้นแหละ ได้มากเท่าไรมันเผาแหลก ๆ แล้วสร้างความหิวโหยขึ้นมาภายในใจไปตลอดเช่นเดียวกัน ความโกรธ ราคะตัณหาแบบเดียวกัน ไม่มีคำว่าพอ
ต้องได้ตัดกันขาดสะบั้นๆ ไปด้วยการต่อสู้อย่างรุนแรง สิ่งเหล่านี้จะค่อยจางไป ถ้าเราคล้อยตามมันเมื่อไรแล้วเหมือนไสเชื้อไฟเข้าสู่ไฟ มันจะแสดงเปลวขึ้นมาทันที เพราะฉะนั้นจึงให้ถอยเชื้อออก คืออารมณ์ที่มันจะคิดถึงเรื่องจะสั่งสมกิเลส เพิ่มพูนกิเลสขึ้นมาให้ตัดทันที อย่าไปเสียดายความคิดประเภทนี้ ซึ่งเท่ากับว่าเราพรากเชื้อไฟออกจากไฟ แล้วมันจะไม่กำเริบเสิบสาน แล้วนำธรรมะเข้าไปแทนที่อารมณ์ของใจที่เป็นกิเลสนั้นให้เป็นธรรมขึ้นมา พิจารณาแก้ไขดัดแปลงตนอย่างนี้เสมอ
ทุกข์ลำบากก็ให้ทราบว่า กิเลสไม่พาใครให้ได้รับความสะดวกสบาย มีแต่พาทุกข์ ยิ่งจะไปต่อสู้หรือฆ่ามันด้วยแล้วยิ่งเป็นข้าศึกอันใหญ่หลวง เวลามันหนาแน่นอยู่มันก็เป็นทุกข์ในการต่อสู้ เอ๊า สู้ก็สู้อย่างนั้นจึงเรียกว่าเป็นนักรบซิ ให้พากันตั้งอกตั้งใจนะ อยู่ที่ไหนก็ให้พากันพินิจพิจารณาเรื่องภาวนานี่สำคัญมากสำหรับพระของเรา เพศของพระคือเพศของผู้นักภาวนา เป็นผู้สุขุมคัมภีรภาพ เป็นผู้พินิจพิจารณา ไม่ใช่เป็นผู้พรวดพราด ๆ แบบสุกเอาเผากิน
ย่นเข้ามาพระปฏิบัติเป็นความสุขุมละเอียดมากทีเดียว ให้เราปฏิบัติตัวของเราอย่างนี้ เอ้า ทนก็ทนไม่ต้องถอย เราต้องการธรรมอันเลิศเลอซึ่งคุ้มค่ากันกับความทุกข์ที่เราได้สละชีวิตจิตใจกับมันเต็มสัดเต็มส่วน คุ้มค่าเต็มเหนี่ยวเลย เมื่อเราได้เห็นมรรคผลอันเลิศเลอภายในใจแล้ว เรามาพิจารณาถึงการดำเนินของเรามีความทุกข์ยากลำบากขนาดไหนก็คุ้มค่ากัน เลยเกิดความพอใจยินดี ภาคภูมิใจในการดำเนินของตน ถ้าเราทำเหยาะ ๆ แยะ ๆ ผลจะไม่ค่อยปรากฏ เวลาเด็ดให้เด็ดการประกอบความพากเพียรนี้ ไม่ใช่ว่าจะอยู่ไปเรื่อย ๆ ภาวนาไปเรื่อย ๆ ไม่มีวรรคมีตอน ไม่มีคลื่นไม่มีสูงมีต่ำพอจะฟัดกันเป็นครั้งเป็นคราว อย่างนี้จิตใจมันเลื่อนลอย
ถ้าจิตใจไม่เลื่อนลอยมันจะมีเป็นพัก ๆ ควรเด็ด ๆ ควรอ่อนก็อ่อน มันหากเป็นไปของมันเอง ควรที่จะเอากันอย่างเต็มเหนี่ยวถึงขั้นเป็นขั้นตายมันจะรู้ในหัวใจของเรานั้นแหละ ออกมาแบบไหนกิเลสกับธรรมอยู่ด้วยกัน มันฟัดกันแบบไหนเราก็รู้อยู่ในหัวใจของเรา เอ้า พอสละ ๆ เลย พอเป็นเอ้าเป็น พอตายเอ้าตาย นั่นจึงเรียกว่านักสู้ เราจะเอาแต่ความสะดวกสบายนี้เป็นเรื่องของกิเลสหลอกสัตว์โลกทั้งนั้นแหละ ความสะดวกสบายทางร่างกายมันเกิดประโยชน์อะไร ถ้าจะสู้กับกิเลสทางด้านจิตใจก็ไม่สะดวกสบายเสีย ไม่สู้ หมอบให้มันเหยียบเอาอย่างนั้น ก็เป็นความนอนใจไปเสีย แน่ะ ไม่ใช่ของดี เป็นความนอนใจ สุดท้ายก็เป็นบ๋อยของกิเลสตลอดไป มันเป็นของดีแล้วเหรอนักบวชเรา
ผู้ที่จะครองมรรคครองผลเป็นอันดับหนึ่งคือนักบวชนั้นแหละ เพราะหน้าที่การงานอะไร เราสละไปหมด ประชาชนญาติโยมเขาเลี้ยงดูทั้งนั้น การขบการฉันอาหารมาจากประชาชน ที่อยู่ที่อาศัยก็ประชาชนเขาทำให้สร้างให้ แน่ะ ทุกสิ่งทุกอย่างอยู่กับประชาชนหมดแล้ว เรามีตั้งแต่อาศัยเขาฉันเขากินไปวันหนึ่ง ๆ แล้วทำหน้าที่ของเราให้เต็มเม็ดเต็มหน่วยสมกับเราเป็นนักบวช ทำหน้าที่เพื่อมรรคผลนิพพานด้วยความไม่ท้อแท้ ต้องมีความเข้มแข็งบึกบึนตลอด นี่เรียกว่านักบวช ให้พระลูกพระหลานจำให้ดี ให้มีความอบอุ่นเพื่อมรรคผลนิพพาน กับข้อวัตรปฏิบัติ การปฏิบัติตามหลักธรรมหลักวินัยของตนและความเพียรของตน นี้แลจะสร้างความอบอุ่นให้เราผู้ปฏิบัติได้รับไปเป็นลำดับลำดา
แบบอยู่ไป ๆ วันหนึ่ง ๆ อย่าเอามาใช้ในวงของพระเราไม่ใช่ทาง อันนั้นเป็นเรื่องของกิเลส สุกเอาเผากิน ๆ บวชมาแล้วก็ดีอกดีใจว่าได้บวชแล้ว แล้วความพากเพียรเพื่อชำระกิเลสตัวสำคัญที่ฝังจมภายในใจไม่สนใจชำระ นี่มันเสีย ต้องตั้งหน้าตั้งตาสมภูมิสมเพศของเราที่เป็นพระ แล้วเราจะเย็นในหัวใจของเรา ไปที่ไหนถ้าจิตใจได้เย็นด้วยธรรมแล้ว ไม่ได้วิตกวิจารณ์กับสิ่งภายนอกภายในอะไรนะ คือมันเย็นอยู่ภายในใจตลอดเวลา จะพบกับใครไม่พบกับใคร อันนั้นเป็นสิ่งภายนอก สิ่งที่ติดแนบอยู่กับตัวของเรา คือความสงบเย็นใจความสว่างไสว ความแปลกประหลาดอัศจรรย์มีอยู่นี้ตลอดเวลา จากการบำเพ็ญธรรมมาโดยลำดับ ขอให้พระลูกพระหลานจงพากันจดจำเอาแล้วนำไปประพฤติปฏิบัติ
เวลานี้เราพูดอย่างตรงไปตรงมาเลย ก็มีวงกรรมฐานเท่านั้น พอเป็นเกาะเป็นดอนให้ประชาชนได้มีความเคารพเลื่อมใส เป็นที่อบอุ่นตายใจ พอเกาะพอยึดได้นะ เราต้องสร้างเกราะกำบังของเรากับกิเลสให้ดี เราเป็นที่พึ่งของเราได้มากน้อยก็สามารถเป็นที่พึ่งของประชาชนได้เท่านั้นแหละ ต้องทำที่พึ่งของเราให้ดี นี่เป็นของสำคัญตรงนี้ พระผู้ปฏิบัตินั้นแหละจะให้ความร่มเย็นแก่ตนและผู้อื่นได้ ถ้าไม่ปฏิบัติไม่มีทาง เรียนมาจนคัมภีร์แตกก็ไม่ได้เรื่องได้ราว มีแต่ความจำนกขุนทอง แก้วเจ้าขา ๆ พูดแต่เรื่องมรรคผลนิพพานด้วยลมปาก แต่มรรคผลนิพพานจริง ๆ ไม่เคยสนใจปฏิบัติ เป็นอย่างนี้นะเวลานี้
พระเราทั้งท่านทั้งเรานั้นมันเป็นแบบเดียวกัน บวชเข้ามาก็มาอาศัยศาสนากิน แล้วเรียนวิชาก็เป็นวิชาทางโลกทางสงสารของกิเลสตัณหา เรียนส้วมเรียนถาน คือวิชาของกิเลสตัณหาไปเสีย สุดท้ายก็ไปไม่รอด โดดออกไป สึกออกไปก็เพราะสู้กิเลสไม่ได้ เพราะวิ่งตามกิเลสจะไปสู้มันได้ยังไงก็วิ่งตามมัน อย่าให้เป็นพวกเรา ให้ตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติหน้าที่การงานของพระเพื่อมรรคผลนิพพานจริง ๆ อย่าไปยุ่งกับเรื่องวิชาภายนอก ติรัจฉานวิชา เห็นไหมล่ะ ติรัจฉานวิชา มันเต็มบ้านเต็มเมืองเต็มวัดเต็มวา อยู่ที่ไหนมีแต่ติรัจฉานวิชา
แต่ก่อนวิชาทางธรรมใครมายุ่งได้เมื่อไร ธรรมเป็นธรรม โลกเป็นโลก โลกเขาเป็นเรื่องของเขา ธรรมเป็นเรื่องของเรา ท่านปฏิบัติของท่านเป็นอย่างนั้น ไม่ก้าวก่ายมาคละเคล้ากันก็ไม่มี แต่เวลานี้เป็นยังไง วิชาทางโลกเต็มอยู่ในวัดในวา เต็มอยู่ในพระในเณร การเรียนวิชาธรรมเลยกลายเป็นเขียงเท้าให้กิเลสเหยียบขึ้นไปเสีย เรียน ๆ พอเป็นพิธี ความจริงจังอยู่กับการจดจำตามวิชาของกิเลสไปเสีย ก็เลยกลายเป็นส้วมเป็นถานเต็มบ้านเต็มเมืองเต็มพระเต็มเณร เต็มวัดเต็มวาไปหมด พวกเราทั้งหลายไม่ได้คิดกันบ้างเหรอ พิจารณาซิ
เวลานี้วิชากิเลสทั้งนั้นเข้าเหยียบย่ำพระเณรในวัดวาต่าง ๆ เพราะฉะนั้นจึงหาความประพฤติดีงาม ที่น่ากราบไหว้บูชาไม่เจอ มันมีตั้งแต่เรื่องกิเลสความสกปรกโสมมเต็มเนื้อเต็มตัวของพระของเณร แสดงอยู่ตลอดเวลาแล้วใครจะกราบได้ลงคอ ไม่ว่าเขาว่าเรากราบไม่ได้ทั้งนั้นแหละ ถ้าตั้งใจปฏิบัติตามศีลตามธรรมแล้วสิ่งเหล่านั้นปัดออก
พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้แล้วว่า ติรัจฉานวิชา ก็วิชาของสัตว์โลกของสัตว์เดรัจฉาน ของสัตว์โลกทั้งหลาย ไม่ใช่วิชาเพื่อแก้กิเลสออกจากใจ เหมือนวิชาธรรมที่เรียนมาแล้วตั้งใจปฏิบัติตามที่เราได้ศึกษาเล่าเรียนมา นี่จึงกลายเป็นปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธต่อไปได้ อันนี้มีแต่การศึกษาเล่าเรียนจำมาได้เฉย ๆ ภาคปฏิบัติไม่สนใจ จะเอามรรคเอาผลมาจากที่ไหน เมื่อศาสนาบกพร่องแล้ว ศาสนาไม่สมบูรณ์ ต้องมีปฏิบัติ จากปริยัติต้องมีปฏิบัติ จากปฏิบัติแล้วปฏิเวธคือผลของงานนั้นใคร ๆ ก็ต้องได้ ต้องรู้ต้องเป็นเองขึ้นมา
เวลานี้ศาสนามีแต่ความจำนะ ไม่มีภาคปฏิบัติ ศาสนาจึงขาดบาทขาดตาเต็งไป ก็พวกเราผู้นับถือศาสนานี้แหละทำให้ขาดบาทขาดตาเต็งไป ไม่ใช่ผู้หนึ่งผู้ใด แล้วพวกเราให้ปฏิบัติเต็มเม็ดเต็มหน่วย เพื่อตักตวงเอามรรคผลนิพพานที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศสอนไว้แล้วอยู่นี้ สมบูรณ์แบบทุกอย่างไม่มีอะไรบกพร่อง ขอให้ตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติ ความบกพร่องของตนเองตรงไหน ให้ซ่อมแซมให้พอกพูนขึ้นไปด้วยความอุตส่าห์พยายาม ความพากความเพียรความรอบคอบของเรา เราจะเป็นผู้ทรงมรรคทรงผลอยู่ในตัวของเรานี้แหละ
ศาสนาของพระพุทธเจ้านี้เป็นศาสนาที่เลิศเลอสุดยอดแล้ว ไม่มีศาสนาใด ๆ จะมาเป็นคู่แข่ง เพราะศาสนานี้เท่านั้นที่เป็นศาสนาของคนสิ้นกิเลส พระพุทธเจ้าไม่ว่าพระองค์ใดมาตรัสรู้เป็นผู้สิ้นกิเลส ศาสนานี้จึงเป็นคู่บ้านคู่เมืองคู่โลกคู่สงสารตลอดมา ส่วนนอกจากนั้นใครจะเสกว่าเป็นศาสนาอะไรก็ตาม มันก็เป็นความจดความจำของกิเลสตัณหากลายเป็นลมปากขึ้นมา ประกาศที่ไหนก็หลอกลวงกันไป ๆ แต่เอาศาสนาเป็นโล่บังหน้าว่าศาสนา ๆ คือคำสอน แต่คำสอนของคนมีกิเลสก็มี คำสอนของผู้สิ้นกิเลสก็มี มันต่างกัน จึงยึดเอาเป็นหลักเป็นเกณฑ์ไม่ได้
สำหรับคำสอนของพระพุทธเจ้านี้เรียกว่า สวากขาตธรรม ตรัสไว้ชอบทุกอย่างแล้วไม่มีผิดมีพลาดไปได้เลย ขอให้ตายใจในการประพฤติปฏิบัติว่าไม่เป็นอื่น การปฏิบัติตามหลักศาสนธรรมของพระพุทธเจ้านั้น จะเป็นไปเพื่อมรรคผลนิพพานโดยถ่ายเดียวเท่านั้น เอาละการแสดงธรรมก็เห็นว่าสมควรแก่กาลเวลาและธาตุขันธ์ ขอให้ทุกท่านพระลูกพระหลานตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติ ให้เป็นมรรคเป็นผลเป็นสิริมงคลแก่ตัวทั่วหน้ากัน เอาละพอ
อ่านธรรมะหลวงตาวันต่อวัน ได้ทาง Internet www.Luangta.com |
** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก
ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์
และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์
|
|
|
|