|
/body onLoad="MM_preloadImages('../images/link_2_6_a.gif')">
/SCRIPT LANGUAGE="javascript1.1" page="dhamma_online";
/SCRIPT LANGUAGE="javascript1.1" src="http://truehits1.gits.net.th/data/e0008481.js">
|
|
|
ธรรมะพื้นฐานเพื่อความสูงสุดแห่งธรรม |
|
วันที่ 7 กรกฎาคม. 2545
สถานที่ : วัดแพร่ธรรมาราม อ.เมือง จ.แพร่ |
| | ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
| |
ค้นหา :
ธรรมะพื้นฐานเพื่อความสูงสุดแห่งธรรม
ภาคอีสานเป็นที่หนึ่ง พระกรรมฐานมีมาก มีมากตลอดมา นี่เวลาเทศน์อย่ามาถ่ายภาพถ่ายอะไรนะ ไม่ให้มีเสียงอะไรมายุ่งด้วย การถ่ายภาพเหล่านี้เสียหายมาก ให้พากันระวัง ไปเทศน์ที่ไหนต้องได้บอกเสมอ การถ่ายภาพเป็นภัยต่อการเทศน์อย่างมากด้วย ผู้ฟังก็ไม่ได้เรื่องได้ราวละ ให้ตั้งความสงบไว้ที่จิต อย่ามามองปากผู้เทศน์ ขณะท่านเทศน์ให้กำหนดจิตลงที่นี่ดูให้ดีฟังให้ดี ขณะฟังเทศน์ทางภาคปฏิบัติเพื่อมรรคเพื่อผล เพื่อความสงบร่มเย็นจริง ๆ ให้ตั้งสติไว้ที่นี่ อย่ามองไปทางโน้นอย่ามองไปทางท่านเทศน์หรือองค์ท่านเทศน์ หูไม่ต้องไปฟังที่โน่นก็ได้ ขอให้สติเราตั้งลงนี้ปั๊บความรู้จะเฝ้าอยู่ที่จิต พอท่านเทศน์จะสัมผัสที่จิตเลย ไม่ต้องไปฟังล่ะที่นี่ เสียงจะหมุนเข้านี่เลย สติเราดีอยู่ที่นี่ จิตก็ย้อนเข้ามาหาสติหมด ความรู้มารวมอยู่ที่ใจ
พอท่านเริ่มเทศน์ก็ตั้งสติไว้ที่ใจ อย่าไปคิดออกนอกโน้นนอกนี้หรือดูท่านผู้เทศน์ไม่ถูก ให้ตั้งสติไว้ที่นี่ แล้วเวลาสติจ่ออยู่นั้นเสียงยังไง ๆ จะเข้านี้หมดไม่ไปไหน จะเข้าที่สติซึ่งเฝ้าใจอยู่นี้ เหมือนคนเฝ้าบ้านใครเข้ามาก็เห็นหมด คนเฝ้าบ้านถ้าไม่นอนหลับเสีย อันนี้สติเฝ้าจิตดูจิต ตั้งสติไว้นี้ท่านเทศน์จะเริ่มเข้ามาที่นี่ มารู้ที่นี่ ได้ยินชัดเจนที่นี่เลย ดีกว่าที่เราส่งจิตออกไปนอก ผู้ฟังเทศน์จะไม่เข้าใจ ไม่เห็นผลปัจจุบัน
วันนี้เป็นโอกาสที่เหมาะสมสำหรับเราทั้งหลาย ทั้งพระ ทั้งประชาชน ไม่มีงานอันใดเข้ามาเกี่ยวข้อง มีงานเฉพาะการฟังเทศน์อบรมจิตใจโดยเฉพาะ เบื้องต้นได้กล่าวแล้วว่า ให้ตั้งสติไว้ที่จิตในขณะเทศน์ ไม่ต้องส่งออกไปนอก เช่น ไปหาผู้เทศน์เป็นต้น ให้ตั้งไว้ที่จิตของเรานี้ เรียกว่า สติเฝ้าบ้าน จิตนั่นแหละเป็นบ้าน เวลาท่านเทศน์ไปจะเห็นผลประจักษ์ ดังท่านแสดงไว้ในธรรมว่า การฟังเทศน์มีอานิสงส์ถึง ๕ อย่าง
ข้อที่ ๑. ว่าจะได้ยินได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยได้ยินได้ฟัง
ข้อที่ ๒. สิ่งใดที่เคยได้ยินได้ฟังแล้วแต่ยังไม่เข้าใจชัด จะเข้าใจแจ่มแจ้งชัดขึ้น
ข้อที่ ๓. จะบรรเทาความสงสัยเสียได้
ข้อที่ ๔. จะทำความเห็นให้ถูกต้องได้
ข้อที่ ๕. เป็นข้อสำคัญ จิตผู้ฟังย่อมสงบผ่องใส นี่เกิดขึ้นจากขณะฟังเทศน์ จิตเมื่อไม่ส่งออกข้างนอกย่อมสงบ เมื่อสงบย่อมผ่องใส
นี่เป็นคุณสมบัติประจำผู้ที่ฟังเทศน์ด้วยความตั้งใจจริง ๆ ผลจะปรากฏอย่างนั้น จิตสงบผ่องใสนี่สำคัญ ถ้าสงบแล้วก็ผ่องใส คราวนี้ก็ฟังคราวนี้ก็สงบคราวนี้ก็ผ่องใส ขัดเกลาทุกวันที่ได้ยินได้ฟังธรรมจากท่าน แล้วก็เป็นความสงบมากขึ้น ๆ เพิ่มกำลังแห่งความสงบมากขึ้น ความผ่องใสก็เพิ่มไปตาม ๆ กัน จิตเมื่อผ่องใสแล้วย่อมมีความสว่างไสวขึ้นภายในใจตัวเอง นี่คืออานิสงส์การฟังเทศน์ มี ๕ ประการดังที่อธิบายมานี้
การเทศน์ทางภาคปริยัติกับภาคปฏิบัติไม่เหมือนกัน ทางภาคปริยัติจิตจะวิ่งออกสู่คัมภีร์ใบลานที่ตนได้ศึกษาเล่าเรียนมา ไม่เข้าภายใน การเทศนาว่าการทางภาคปริยัติจิตจะส่งออกนอกวิ่งหาคัมภีร์ใบลาน ผิดกันกับภาคปฏิบัติ ส่วนภาคปฏิบัตินี้จิตจะหมุนเข้าภายใน เทศน์ออกมาจากภายในที่ตนได้ปฏิบัติและรู้เห็นมามากน้อย ซึ่งปรากฏอยู่กับใจของเรา ขณะที่เทศน์เราผู้เทศน์นั้นจะออกมาจากใจล้วน ๆ ไม่ออกสู่คัมภีร์ใบลาน นี่หมายถึงผู้ปฏิบัติที่ได้รับผลจากการปฏิบัติมาเป็นลำดับลำดา นับตั้งแต่ขั้นความสงบและสมาธิ จนกระทั่งถึงปัญญาขั้นต่าง ๆ จะออกจากใจนี้ทั้งนั้น ไม่ออกไปตามคัมภีร์ใบลาน
ถ้าปฏิบัติได้ผลอย่างนี้แล้วการเทศน์จะขึ้นจากใจทั้งหมด แต่ถ้ายังไม่ได้ผลทางภาคปฏิบัติจิตมันก็วิ่งหาตำราเองนั้นแหละ วิ่งออกสู่ตำรานั้นตำรานี้ไปอย่างนั้น เพราะยังไม่ได้ต้นทุนภายในก็ไม่มีอะไรจะเทศน์ออกมาได้ ทีนี้เมื่อเวลาปรากฏผลขึ้นภายในจิต นับแต่ความสงบขึ้นไปก้าวเข้าสู่สมาธิ การเทศนาว่าการจะออกจากใจล้วน ๆ ยิ่งก้าวเข้าสู่ปัญญา วิชชาวิมุตติหลุดพ้นไปเลยนั้นออกจากใจร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่ออกจากไหน ให้พากันจำเอาไว้
สำหรับพระปฏิบัติเราวันนี้รู้สึกว่าหนาหน้าหนาตา เรามีความยินดีเห็นพระลูกพระหลานอุตส่าห์พยายามมาไกลแสนไกล ทางเชียงใหม่ก็มา อุตรดิตถ์ทางโน้นก็มาซึ่งเป็นทางไกลเอามาก แต่ความอุตส่าห์พยายามนี้มีคุณค่ามากกว่า พอได้ยินว่าครูบาอาจารย์จะมา ก็ตั้งหน้าตั้งตามาศึกษาอบรม เพื่อได้ยินได้ฟังการประพฤติปฏิบัติตามหลักธรรมหลักวินัย ธุดงควัตรต่าง ๆ จะได้เป็นประโยชน์จากการได้ยินได้ฟังแล้วนำไปประพฤติปฏิบัติ ผลจะพึงปรากฏขึ้นที่ใจของเราด้วยกัน
การฟังเทศน์จากครูจากอาจารย์ ที่ท่านรู้ท่านเห็นท่านเป็นมาก่อนเราแล้วเป็นความสะดวกทุกอย่าง เพราะท่านเบิกทางที่ถูกต้องแม่นยำให้เรียบร้อยแล้ว ตรองไปตามที่ไหนก็ถูกต้องไปหมด ไม่เหมือนการเทศน์ด้นเทศน์เดาที่ตนเองก็ไม่รู้ เทศน์สุ่มสี่สุ่มห้าไปผู้ฟังก็ไม่สนิทใจ ผลก็ไม่ได้รับเท่าที่ควร เพราะฉะนั้น เมื่อเห็นครูอาจารย์มาอยากได้ยินได้ฟัง ก็ต่างท่านต่างอุตส่าห์พยายามมา
สำหรับหลวงตาเองเห็นใจบรรดาพระลูกพระหลาน เพราะเราได้เคยปฏิบัติมาก่อนแล้ว ครูบาอาจารย์นี้เป็นเข็มทิศทางเดินอย่างเอกทีเดียว ถ้าการปฏิบัติโดยลำพังตนเอง ไม่มีครูมีอาจารย์คอยแนะนำสั่งสอน ย่อมจะผิดจะพลาดและกำลังใจไม่ค่อยมี เมื่อได้ยินได้ฟังจากครูอาจารย์สด ๆ ร้อน ๆ แล้ว ใจก็มีกำลังขึ้น ในขั้นเริ่มแรกก็เป็นความสงบเย็นใจภายในตัวเราเอง จากนั้นก็เป็นกำลังใจที่จะหมายมั่นปั้นมือต่อมรรคต่อผลจากการปฏิบัติของตนโดยแท้ นี่ละการได้ยินได้ฟังจากครูจากอาจารย์เป็นอย่างนี้ สำหรับผมเองที่ได้มาแนะนำสั่งสอนพระลูกพระหลานอยู่นี้ ก็ถือหลวงปู่มั่นเป็นหัวใจ เป็นชีวิตจิตใจจริง ๆ เวลาฟังท่านแล้วเหมือนว่านิพพานอยู่ชั่วเอื้อม ๆ คือจิตใจมันมีกำลังมาก ผลปรากฏในขณะที่ฟังนั้นก็เต็มหัวใจ ๆ ทุกระยะ ๆ ไป นี่ละการได้ยินได้ฟังจึงเป็นความสำคัญอยู่มากทีเดียว
การฝึกหัดภาวนาท่านผู้ปฏิบัติอยากเห็นผลประจักษ์ในตัวเอง ขอให้ตั้งใจด้วยดีต่อการภาวนาของตน อย่าเห็นสิ่งใดในโลกนี้ว่าเป็นของดิบของดีของสวยของงาม อันเป็นเหตุที่จะหลอกลวงให้จิตดิ้นรนกระวนกระวายไปกับสิ่งเหล่านั้นแล้วขาดการภาวนา ขาดความตั้งใจ ถ้าขาดความตั้งใจแล้วสติก็ต้องขาดไปตาม ๆ กัน เดินจงกรมกลับไปกลับมากี่ตลบก็ไม่เกิดประโยชน์ เพราะสติไม่อยู่กับตัว นั่งภาวนาก็นั่งเถ่ออยู่ภายในที่นั่งเพราะสติไม่มี ก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร ทำอะไรในอิริยาบถต่าง ๆ ที่ตนเข้าใจว่าภาวนานั้นก็กลายเป็นความเหลวไหลไปหมด เมื่อขาดสติเสียอย่างเดียวเท่านั้น เพราะฉะนั้นขอให้ทุกท่านถือสติเป็นสำคัญ
เริ่มต้นตั้งแต่เราฝึกหัดภาวนา ที่จิตยังไม่ได้หลักได้เกณฑ์ไม่มีความสงบเยือกเย็นเลย ก็ขอให้ตั้งสติ แล้วนำคำบริกรรมเข้ามาเป็นเครื่องเกาะเครื่องยึดของใจ เช่น พุทฺโธ หรือธัมโม หรือสังโฆ หรืออานาปานสติ มรณัสสติ ตามแต่อารมณ์แห่งธรรมใดที่เราชอบตามจริตนิสัยของเรา ให้นำคำบริกรรมที่ตนชอบนั้นเข้ามากำกับกับใจของเรา แล้วตั้งสติให้ติดแนบกับคำบริกรรม ไม่ให้หวั่นไหวโยกคลอนไปกับอารมณ์ใดๆ ทั้งสิ้น ให้มีงานอันเดียว คือ สติกับคำบริกรรมทำงานกลมกลืนกันอยู่ภายในใจ ไม่ต้องไปสนใจกับเช้า สาย บ่าย เย็น ให้สนใจอยู่กับจิตที่ควบคุมด้วยสติไม่ให้เผลอกัน ให้อยู่ที่นั้นตลอดไป อย่าทำให้เป็นวรรคเป็นตอน ถ้าอยากจะเห็นผลประจักษ์ในการภาวนาของตัวจริงๆ และตั้งหลักฐานมั่นคงขึ้นได้จากคำบริกรรมจริงๆ แล้ว ให้มีสติกำกับคำบริกรรม อย่าเผลอไผลไปไหน
การยืน การเดิน ยืนได้ เดินได้ ไปได้ มาได้ การเคลื่อนไหวไปมาที่ไหนเคลื่อนได้ แต่สติไม่เคลื่อนจากคำบริกรรม ไม่ยอมเผลอไปไหนเลย นี่เรียกว่า เอาจริงเอาจัง แล้วยังไงเราจะต้องได้ปรากฏเห็นความสงบขึ้นที่ใจของเรา จากการภาวนาที่ควบคุมด้วยคำบริกรรม และบังคับด้วยสติไม่ให้เผลอนี้ เป็นความจริงแน่นอนที่เราจะได้รับในวันหนึ่งๆ ต่อไป นี่คือการภาวนาที่จะตั้งหลักตั้งฐานได้ การคาดการเดาอย่าเอาเข้ามาหมายกับคำภาวนาของเรา จะไม่เกิดผลเกิดประโยชน์อันใดทั้งสิ้น ให้ตั้งจิตลงที่กล่าวนี้ เช่น เราบริกรรมเรายกมาเพียงเอกเทศ ให้นำไปปฏิบัติตามจริตนิสัยของตน ตามคำบริกรรมที่ตนชอบใจก็แล้วกัน
เช่น เรากำหนดพุทโธ ๆ คำว่าพุทโธกับสตินี้ให้มีความรู้สึกกันอยู่ตลอดเวลา จะเป็นเหมือนคนติดคุกติดตะรางก็ตาม เพราะมันอัดอั้นตันใจ เนื่องจากใจที่เคยคิดเคยปรุงมาตั้งแต่ไหนแต่ไร เรียกว่า ปล่อยตัวมาตลอด ไม่มีสิ่งใดมาควบคุม เมื่อได้เข้าสู่ที่ควบคุมด้วยการภาวนา ซึ่งกำหนดด้วยสติอย่างแน่นหนามั่นคงไม่เผลอแล้ว จิตย่อมดีดย่อมดิ้นอยากคิดนั้นอยากปรุงนี้ ความอยากเหล่านั้นให้พึงเข้าใจในทันทีทันใดนั้นว่า นั้นคือกิเลสผลักดันออกไปเพื่อให้คิดตามความต้องการของมัน เช่น คิดเรื่องรูป เรื่องเสียง เรื่องกลิ่น เรื่องรส เรื่องอดีตอนาคตไปต่าง ๆ นานา นี้ล้วนแล้วตั้งแต่จิตที่มันคิดไปตามอำนาจของกิเลสฉุดลากไป
เราให้หักห้ามนี้ให้แข็งแรงมั่นคง ถึงจะอึดอัดใจขนาดไหนก็อย่าปล่อยอย่าวาง ถ้าว่าอึดอัดมันจะหาทางผ่อนคลายไปนะ ผ่อนคลายยังไง มันจะปล่อยไปตามความอยากคิด ทีนี้พอจิตออกทางความอยากคิดได้แล้วมันก็คิดเตลิดเปิดเปิง ครั้งนี้เสียไปแล้ว ครั้งต่อไปก็อยากคิดอย่างเดิม แล้วก็คิดไปอีกตามเดิม ผลสุดท้ายคำบริกรรมกับสติก็ไม่ค่อยเกิดประโยชน์ และไม่เกิดประโยชน์แก่ผู้ภาวนาเลย
ขอให้ทุก ๆ ท่านจับให้มั่นคง อันนี้ผมเคยดำเนินมาแล้ว ได้ผลเป็นที่พอใจ จึงได้นำวิธีการนี้มาสอนท่านทั้งหลาย เบื้องต้นก็จิตเสื่อม แล้วเบื้องต้นจริง ๆ ภาวนานี้จิตสงบเป็นสมาธิแน่นหนามั่นคงเหมือนหินทั้งแท่ง จึงลืมตัวว่าจิตนี้จะไม่เสื่อมทรามลงไปไหนเพราะเราไม่เคยปฏิบัติ ไม่เคยรู้ไม่เคยเห็นไม่เคย และไม่เคยรักษาจิตประเภทนี้มาก่อนเพราะไม่เคยปรากฏ เมื่อปรากฏแล้วก็ทำให้นอนใจ นึกว่าจะไม่เสื่อมไปได้ แล้วก็ห่างเหินจากการภาวนาที่แน่นหนามั่นคงของตน ครั้นต่อไปจิตก็ยิบแย็บ ๆ ภาวนาเข้าสงบได้บ้างเข้าไม่ได้บ้าง
เพียงเท่านั้นเป็นเหตุ เราก็รีบออกปฏิบัติอย่างเข้มแข็งต่อไป ผลได้มาก็มีแต่ความเจริญขึ้นไปแล้วสองสามวันแล้วเสื่อมลงมา สองสามวันเสื่อมลงมา พยายามดึงขึ้นไปตั้ง ๑๔-๑๕ วันแทบเป็นแทบตาย แล้วก็เสื่อมลงมาเป็นอยู่อย่างนี้เป็นเวลา หนึ่งปีกว่า ๆ นี่ละที่ว่าบวชในพุทธศาสนานี้เราไม่เคยได้รับความทุกข์ความทรมานใจ ความรุ่มร้อนจิตใจในคราวใด มากยิ่งกว่าคราวที่จิตเสื่อมจากสมาธิ จิตเสื่อมจากสมาธิแล้วมันเหมือนไฟที่เผาหัวอก เหมือนไฟไหม้กองแกลบนั้นแหละ มันสุมอยู่ภายใน ไปที่ไหนหาความสะดวกสบายไม่ได้ เดือดร้อนภายในตัวเอง จึงเรียกว่าเป็นทุกข์แสนสาหัสในเวลาจิตเสื่อมอยู่ประมาณปีกว่า
จึงได้หาอุบายวิธีการต่าง ๆ เข้ามาแก้ไขกัน แล้วสุดท้ายก็เอาคำบริกรรม เพราะแต่ก่อนเราเคยกำหนดจิตของเรา ที่มีสมาธิแน่นหนามั่นคงนั้นเป็นอารมณ์ของใจ ครั้นเวลาจิตเสื่อมลงไปแล้วเราก็จะนึกอย่างนั้นให้เป็นอารมณ์ของใจ มันก็ไม่มีสมาธิใดพอที่จะให้เกาะเป็นอารมณ์ของใจได้ ใจก็ไม่ได้หลักได้เกณฑ์ ๆ พยายามตั้งสติแล้วมันก็เผลอไปจนได้นั้นแหละ จนกระทั่งได้หวนกลับคืนมาคิดย้อนหน้าย้อนหลัง สงสัยตนเองอาจจะขาดคำบริกรรมไม่ติดแนบกับใจ ใจจึงได้เสื่อมให้เห็นต่อหน้าต่อตา
จากนั้นมาก็ตั้งความสัตย์ความจริง ตั้งแต่นี้ต่อไปเราจะใช้คำบริกรรมติดแนบกับใจไม่ยอมให้พรากไปจากใจเป็นอันขาด ตั้งแต่บัดนี้ต่อไปจิตใจของเราจะเสื่อมก็ดี จะเจริญก็ดี จะไม่เป็นอารมณ์กับมัน เพราะมันเคยสร้างกองทุกข์ให้เราแล้ว เสื่อมไปอยากให้เจริญเท่าไรก็มีแต่ความอยาก แต่มันก็เสื่อมให้เห็นต่อหน้าต่อตา สร้างทุกข์ขึ้นมาภายในจิตใจอยู่อย่างนี้เป็นประจำ บัดนี้จะไม่สนใจกับความเสื่อมของใจก็ดี ความเจริญของใจก็ดี จะไม่มาถือเป็นอารมณ์ให้เกิดความทุกข์อีกต่อไป แต่คำบริกรรมกับสตินี้จะให้ติดแนบกัน คำว่าสติกับคำบริกรรมนี้จะไม่ให้เสื่อม ให้ติดกันไปตลอด อะไรจะเสื่อมก็ให้เสื่อมไป อะไรเจริญก็เจริญไป แต่จะไม่ปล่อยคำบริกรรมคือพุทโธ ๆ ติดแนบกับสติไปตลอด
บังคับบัญชา มันอยากคิดอยากปรุงไปที่ไหน บังคับเหมือนคนติดคุกติดตะรางนั้นแล เวลาจิตมันดิ้นรนกระวนกระวายอยากส่งออกไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ ตามความชอบใจของมันเหมือนแต่ก่อน แต่เราบังคับไว้ไม่ให้คิด เอ้า หนักก็เอาไม่ยอมให้เผลอไปคิดจนได้ บีบบี้สีไฟอยู่นั้น จะเป็นจะตายก็ให้มันตายกับคำบริกรรมด้วยสตินี้ ไม่ให้ตายด้วยแบบอื่น ตั้งหน้าตั้งตา
นี่ละเราจึงได้เห็นอารมณ์ของใจคืออารมณ์ของกิเลส เวลามันมีมาก ๆ แล้วมันผลักมันดันจิตใจเหมือนหนึ่งว่าอกจะแตก มันอยากคิดอยากปรุง แต่อันหนึ่งก็บังคับกันอย่างแน่นหนามั่นคง บีบบังคับไว้ไม่ให้คิด ให้คิดแต่คำว่า พุทโธ ๆ กับสติอย่างเดียว บีบไว้ก็ไม่นาน ต่อไปอารมณ์ที่มันผลักมันดันอย่างรุนแรงนั้นก็ค่อยอ่อนตัวลง ๆ การฝึกจิตด้วยคำบริกรรมนี้ก็หนาแน่นขึ้นเรื่อย ๆ แล้วเบาใจลง ไม่ได้ฝ่าฝืนซึ่งกันและกัน หนักหนานักเหมือนแต่ก่อน นั้นละจากนั้นไปจิตก็ค่อยเริ่มมีความสงบ ความผลักดันของใจที่เคยคิดไปด้วยอำนาจของกิเลสตัณหานั้นค่อยเบาลง ๆ
คำบริกรรมกับสตินี้ติดแนบตลอด ไม่ให้ห่างเหินจากกันเลย ตั้งแต่ตื่นนอนฟังให้ดี ตั้งแต่ตื่นนอนสติกับพุทโธติดปั๊บต่อกันเลยจนกระทั่งหลับ ไม่ยอมให้เผลอไปไหนเลย เพราะเราตั้งหน้าตั้งตาจะพิสูจน์จิตดวงนี้อย่างเต็มความสามารถของเรา เราจึงทำให้ถึงใจ อย่างนั้นไม่ให้เผลอเลยนะ จะเคลื่อนไหวไปมา แม้ที่สุดเวลาฉันจังหันอยู่นี้ก็ไม่ให้เผลอ ให้มีพุทโธติดแนบด้วยสติความรู้สึกตัวอยู่ตลอด ต่อไปใจก็ค่อยสงบเย็นลงไป ๆ
จิตนี้ได้รับคำบริกรรมติดแนบตลอดเวลาอยู่แล้วสงบลงไป จนกระทั่งเป็นความละเอียด ละเอียดจนกระทั่งนึกคำบริกรรมพุทโธเหมือนอย่างแต่ก่อนไม่ได้เลย นึกก็ไม่ออก พุทโธไม่มี ทำความสงสัยให้เกิดขึ้นแก่ตัวว่า เมื่อพุทโธไม่มีตามที่เราบริกรรมแต่ก่อนแล้วเราจะทำอย่างไร เอ้า พุทโธไม่มี ผู้รู้มีอยู่ให้ตั้งสติอยู่กับผู้รู้ที่ละเอียดลออในเวลานั้น ก็ตั้งสติจ่ออยู่กับผู้รู้นั้น เพราะบริกรรมมันไม่ปรากฏมันละเอียด ทีนี้เวลาได้จังหวะแล้วจิตดวงนั้นจะค่อย ๆ ถอยตัวหรือขยายตัวออกมาเล็กน้อย พอนึกคำบริกรรมได้ก็เอาคำบริกรรมพุทโธติดแนบเข้าไปตามเดิม อย่างนี้ไปเรื่อย ๆ เมื่อถึงจังหวะที่ละเอียดมันก็เป็นอย่างเดิมอีก เราก็อยู่กับความรู้ที่ละเอียดเสีย ถ้าบริกรรมไม่ได้ก็ไม่ต้องบริกรรม แต่สติให้ติดอยู่กับความรู้ที่ละเอียดนั้น ไม่ให้ห่างเหินจากกัน
ทำอย่างนี้ไปจิตใจที่มีความเจริญขึ้นมาแต่ก่อนแล้วเสื่อมลง เจริญขึ้นแล้วเสื่อมลงนั้นปรากฏว่าไม่เสื่อม ค่อยแนบแน่นขึ้นไปโดยลำดับลำดา ก็แน่ใจว่าทีนี้ถูกทางแล้ว ก็ยิ่งขะมักเขม้นต่อความพากเพียร ต่อสตินั้นแหละสำคัญมากกว่าอย่างอื่น เข้าไปโดยลำดับลำดา จนกระทั่งจิตก้าวเข้าสู่สมาธิที่เคยเป็นแต่ก่อน ถึงขนาดที่ว่าแน่นหนามั่นคงประหนึ่งว่าหินทั้งแท่งปรากฏขึ้นที่ใจแล้ว เอ้าที่นี่เมื่อมันถึงขึ้นนี้แล้วมันเสื่อมลงไปได้ดังที่เราเห็น แล้วดัดสันดานเราให้เข็ดหลาบจนกระทั่งบัดนี้คือจิตดวงนี้เอง ดวงที่เป็นอยู่เวลานี้ เอ้า มันจะเสื่อมไปไหนไม่เสื่อม บังคับอยู่นั้นแหละ กับเอาพุทโธติดอยู่ด้วยนะไม่ยอมปล่อย เอ้า จะเสื่อมไปไหนให้เสื่อม จะเจริญก็ตามจะเสื่อมก็ตาม เราจะไม่เป็นอารมณ์กับสิ่งเหล่านี้ เราจะอยู่กับสติกับคำบริกรรมนี้เป็นรากฐานเท่านั้น
ทีนี้เวลามันเจริญขึ้นจิตใจก็แน่นหนามั่นคง ถึงขั้นนี้แล้วเอ้า จะเสื่อมก็เสื่อมไป เราไม่เสียดาย แต่พุทโธจะไม่พรากจากกัน ให้เป็นคำบริกรรมตลอด ทีนี้จิตถึงขั้นนั้นแล้วก็ไม่เสื่อม ไม่เสื่อมก็ยิ่งหนักเข้าและแน่ใจเข้าไปว่าทีนี้ได้หลักเกณฑ์แล้ว ก็ขยับเข้าไปจนกระทั่งจิตนี้แน่นปึ๋ง ๆ เลย เป็นเหมือนภูเขาหรือว่าหินทั้งแท่ง เอ้า ขั้นนี้มันก็เคยเสื่อม เราไม่ตายใจกับมัน เราไม่ถอย ภาวนาอยู่ตลอด จนกระทั่งจิตกับความรู้กับคำบริกรรมกลมกลืนเป็นอันเดียวกัน เด่นอยู่กับความรู้นี้จึงเอาสติติดไว้กับความรู้ที่แน่นหนามั่นคงซึ่งเรียกว่าสมาธิ ๆ นั้นแล ให้ติดแนบอยู่นั้นตลอดไม่ปล่อยวาง ต่อไปก็ยิ่งแน่นหนามั่นคงขึ้น ทีนี้ก็แน่ใจที่มันเคยเสื่อมไม่เสื่อมแล้วคราวนี้ เจริญขึ้นเป็นลำดับเป็นที่แน่ใจในอุบายวิธีการที่เราทำมาแล้ว นี่เบื้องต้นแห่งการฝึกจิตใจเป็นอย่างนี้
จากนั้นจิตก็ก้าวเข้าสู่ธรรมอันละเอียดยิ่งกว่านี้ จึงไม่อธิบายไป จะอธิบายเฉพาะรากฐานสำคัญที่ให้พระลูกพระหลานได้นำไปปฏิบัติ ขอให้มีความจริงจังต่อภาคปฏิบัติของตน อย่าเหลาะ ๆ แหละ ๆ อย่าเปลี่ยนคำบริกรรมบ่อย ๆ เดี๋ยวเปลี่ยนเอาคำนั้นว่าจะดี เดี๋ยวเปลี่ยนเอาคำนี้ว่าจะดี อย่างนี้จะเป็นความเหลวไหลโยกคลอน ไม่มีความสัตย์ความจริง เมื่อเราชอบในคำบริกรรมใด ให้เอาคำบริกรรมนั้นติดแนบกับจิตตลอดไปเลย นี่เป็นความถูกต้องดีงาม และจะได้หลักได้เกณฑ์ขึ้นจากการภาวนาของตนโดยแท้ไม่ต้องสงสัย
ขอให้ทำดังที่ว่า แต่ต้องเป็นความจริงนะ อย่าเหลาะ แหละ อย่าเปลี่ยนคำบริกรรมบ่อย แล้วตั้งสติภาวนา ทั้ง ๆ ที่เรามีหน้าที่การงานคือการภาวนาโดยถ่ายเดียว เพราะเราเป็นนักบวชไม่มีงานใดเข้ามาเคลือบมาแฝงเลย แต่เราจะเร่ร่อนไปเสียด้วยจิตคิดนั้นคิดนี้อย่างนี้ไม่เหมาะอย่างยิ่ง ขอให้จับติด ๆ อยู่กับคำภาวนานั้นให้ดี แล้วจิตจะมีความสงบเย็นและแน่นหนามั่นคงขึ้นมา
ความสว่างไสวอยู่ในขั้นสมาธินี้มันทราบเองแหละ เรื่องความสว่างไสวกับความสงบติดเป็นอันเดียวกันแล้ว ความสว่างไสวจะปรากฏขึ้นที่ใจของเรา จากนั้นเมื่อจิตพอพิจารณาทางด้านปัญญาได้ ก็ให้เอาจิตที่สงบอยู่โดยหลักธรรมชาตินั้นแหละ คือสงบที่มันหยุดปรุงก็มีเป็นกาลเป็นเวลา เวลามันสงบจริง ๆ ไม่คิดไม่ปรุงอะไร ปล่อยอารมณ์คิดปรุงเสียทั้งหมด เหลือแต่ความรู้ล้วน ๆ อย่างนั้นเรียกว่าจิตเข้าสู่สมาธิ ถ้ามันสงบหรือมันอยู่เช่นนั้นก็ปล่อยให้อยู่เสีย พอถอยออกมาจากนั้นแล้ว ฐานแห่งความสงบของใจยังมีอยู่ประจำใจเรา ทีนี้ให้พิจารณาคลี่คลายถึงเรื่อง วิปัสสนา
วิปัสสนา แปลว่า ความรู้แจ้ง รู้แจ้งในธาตุในขันธ์ในสกลกายของเขาของเรานี้แหละ นี่ท่านว่าวิปัสสนา เวลามันมืดมันก็มืดที่นี่ มืดยิ่งกว่าภูเขาทั้งลูก มองดูภูเขาทั้งลูกมองเห็นชัดเจน แต่มองดูกายเขากายเรา กายหญิงกายชาย มันเป็นเทวบุตรเทวดาไปหมด มันไม่ได้ว่าเป็นสัตว์เป็นบุคคลเป็นธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ มันไม่ได้ว่าเป็นของ อสุภะอสุภัง น่าเกลียดน่ากลัวมันไม่ได้ว่า มันเหมาเอาเลย ประหนึ่งว่าเป็นเทวดาทั้งองค์ ๆ หญิงมองเห็นชายก็แบบนั้น ชายมองเห็นหญิงก็แบบนี้ เพราะฉะนั้นโลกอันนี้จึงติดอยู่กับภูเขาภูเรา ภูเขาทั้งลูกไม่ค่อยติด แต่ภูเขาภูเราของเขาของเรา กายเขากายเรา กายหญิงกายชาย นี้ติดด้วยกันทั้งนั้น นี่มันมืดอยู่ที่ตรงนี้
ให้ใช้ปัญญาพินิจพิจารณาแยกดูเรื่องธาตุเรื่องขันธ์ ตามแต่จริตนิสัยของใครจะก้าวเดินในทางไหนให้พิจารณา แยกธาตุแยกขันธ์ ตั้งแต่เนื้อหนังเอ็นกระดูกเข้าไป ตับ ไต ไส้พุง อาหารเก่า อาหารใหม่ พิจารณาดูให้หมด มันมีอยู่กับตัวของเรา พิจารณาด้วยปัญญา แยกธาตุแยกขันธ์ออก อันนั้นเป็นส่วนนั้นอันนี้เป็นส่วนนี้ รวมแล้วก็เรียกว่า ในร่างกายของเรานี้ก็มีอยู่ ๔ ภาค ที่เด่นชัดก็คือธาตุดิน ได้แก่ส่วนที่แข็ง ๆ ดังที่ตำราท่านบอกไว้นั้น ส่วนที่อ่อนก็เป็นธาตุน้ำ ลมผ่านไปผ่านมา มีลมหายใจเป็นต้น ท่านเรียกว่าธาตุลม ความอบอุ่นในร่างกายของเราท่านเรียกว่าธาตุไฟ แล้วก็มีวิญญาณธาตุเข้าสิงอยู่นั้นเรียกว่าใจ
สิ่งเหล่านี้มันก็เป็นธาตุของมัน แต่เราเสกสรรปั้นยอให้เป็นอย่างนั้นให้เป็นอย่างนี้ ครั้นแล้วก็มาติดพันในความเสกสรรปั้นยอของตัวเอง แล้วติดตัวเอง แล้วติดภูเขาภูเรา ไปที่ไหนติดทั้งนั้นไม่ว่าหญิงว่าชายว่าพระว่าเณร ถ้าไม่ได้ใช้ปัญญาพิจารณาตามหลักแห่งการภาวนาแล้ว จะติดด้วยกันไปตั้งกัปตั้งกัลป์ไม่มีวันถอนตัวได้เลย จึงต้องใช้ปัญญาพิจารณา ในขณะที่ใช้ปัญญา ให้พิจารณาด้วยสติเหมือนกัน เราอย่าปล่อยปละละเลยสติ สตินี้มีความจำเป็นทุกระยะ ไม่ว่าสมถะไม่ว่าวิปัสสนา ไม่ว่าธรรมะจะละเอียดแหลมคมขนาดไหน สตินี้ต้องติดแนบเป็นลำดับลำดาไป สติจึงเป็นธรรมจำเป็นมากในความพากเพียรของผู้ปฏิบัติ
แล้วเวลาพิจารณา จิตใจของเรามันจะได้เห็นเรื่องธาตุเรื่องขันธ์ สกลกายทุกสัดทุกส่วนที่มีอยู่ในตัวของเรา ทั้งของเขามาเทียบ เช่น พระพุทธเจ้าท่านทรงสอนให้พระไปเยี่ยมป่าช้า ก็คือว่าดูป่าช้าในตัวเองมันยังไม่เห็น ป่าช้าที่ติดอยู่กับตัวนี้เรียกว่าป่าช้าผีดิบ มันยังไม่ตายเรียกว่าป่าช้าผีดิบ ถ้าตายแล้วเรียกว่าป่าช้าผีตาย เมื่อมันยังไม่เห็นป่าช้าผีดิบนี้แล้ว ท่านก็สอนให้ไปเยี่ยมป่าช้า ดังธุดงควัตรที่สอนให้เยี่ยมป่าช้านั้นแล ให้ไปดูป่าช้าที่เขาตายเก่าตายใหม่ เต็มอยู่ในนั้น ตั้งแต่ก่อนเขาไม่ได้มีการเผาการฝังกัน มนุษย์ตายนี้เอาไปทิ้งในป่าช้า ไม่มีการเผาการฝังกัน ท่านจึงสอนให้ไปเยี่ยมป่าช้า ให้ไปดูป่าช้า
การดูป่าช้าท่านก็บอกวิธีการดูหลายแบบหลายฉบับ ตายเก่าตายใหม่ตายมาจนเป็นผุเป็นพังไปแล้ว เป็นดินเป็นน้ำ แต่มองเห็นซากกระดูกอยู่นี้เป็นประเภทหนึ่ง แล้วตายใหม่ ตายประเภทไหนตายใหม่ ท่านก็สอนวิธีเข้าเยี่ยมป่าช้าให้ไปทางเหนือลม นั่นละวิธีการ อย่าไปทางใต้ลมให้ไปทางเหนือลม จะไม่ถูกกลิ่นศพแห่งสัตว์ที่ตายเกลื่อนอยู่ในป่าช้านั้น แล้วจะได้สนุกพิจารณา ถ้าจิตใจยังไม่เข้มแข็งด้วยสติปัญญาก็ให้พิจารณาซากอสภที่ตายเก่า ๆ แก่ ๆ ไปแล้ว เช่นยังเหลือแต่โครงกระดูก หรือเหลือแต่กระดูกเรี่ยราดสาดกระจายอยู่ทุกแห่งทุกหน แล้วดูเข้ามาจนกระทั่งถึงคนตายใหม่ขึ้นมา มันเน่ามันพองมันขึ้นอืดขึ้นรา แล้วแตกกระจัดกระจายอยู่ตามนั้น เอ้า ดูเข้ามา ๆ
ท่านห้ามไม่ให้ไปดูศพที่ตายใหม่ ๆ ซึ่งเขามาทิ้งใหม่ ๆ นั้นยังไม่ละสภาพเดิม ยังถือสำคัญว่าเป็นของสวยของงามได้อยู่ อย่าเข้าไป อย่าด่วนไปพิจารณาศพประเภทนี้ ท่านก็สอนไว้หมดในตำรา เราก็ให้พิจารณาเรื่องป่าช้านั้น นี่เรียกว่าป่าช้าผีตาย ทีนี้เราพิจารณาเรานี่พิจารณาป่าช้าผีดิบ คือตัวของเราเอง เทียบดูในโลกธาตุนี้เพียงหนังหุ้มห่ออยู่เท่านั้นก็เสกกันขึ้นเป็นสัตว์เป็นบุคคล ประหนึ่งว่าเทวดาชั้นฟ้าสู้ไม่ได้ มีความสวยงามสู้มนุษย์หนังบาง ๆ ห่อไว้หุ้มไว้นี้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นโลกถึงได้ติด
พระพุทธเจ้าให้ส่งจิตเข้าไปหาความจริง คือปัญญาสอดส่องเข้าไปดูตามหลักความจริง มันสวยที่ไหนมันงามที่ไหน ข้างนอกแม้เป็นผิวหนังว่าสวยว่างาม มันก็มีขี้เหงื่อขี้ไคลติด เรียกว่าเป็นขี้ ขี้ไคลติดอยู่ในผิวหนัง เอา ฟากผิวหนังเข้าไปหาหนังเป็นยังไง เต็มไปด้วยเลือดด้วยเนื้อเยิ้มไปหมดทั่วสกลกาย ฟากผิวหนังเข้าไปเป็นเนื้อเป็นเอ็นเป็นกระดูก พิจารณาแยกเข้าไปจนกระทั่งถึงอาหารเก่า อาหารใหม่ แยกแยะดูด้วยสตินะ ทำตามพูดนี้ปราศจากสติไม่ได้ เพราะเราต้องการดูของจริง
เวลาพิจารณาทางด้านปัญญาให้พิจารณาดังที่กล่าวมานี้ ซ้ำๆ ซากๆ เหมือนเขาคราดนา เขาคราดนาเขาไม่นับเที่ยวนะ ว่ากี่เที่ยวกี่ตลบทบทวน แต่เขาให้คราดไปคราดมาจนกระทั่งมูลคราดมูลไถแหลกละเอียด พอปักพอดำได้แล้วค่อยปักค่อยดำ นี่การพิจารณาอสุภะอสุภัง ธาตุเขาธาตุเรา ก็พิจารณาจนมีความชำนิชำนาญเกิดความสลดสังเวช มันหากเป็นขึ้นในใจของผู้พิจารณา ยิ่งเห็นชัดเจนเข้าไปเท่าไร ยิ่งเกิดความสลดสังเวช เกิดความขยะแขยง เป็นไปทุกอย่าง
นี่ละจิตมันจะเริ่มถอนอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นสำคัญผิด ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นของสวยของงาม แต่มันกลับกลายมาเป็นของปฏิกูลโสโครกน่าเกลียดน่ากลัว ด้วยอำนาจของปัญญาที่พิจารณาตามหลักความจริง เมื่อมันเห็นเข้าไปอย่างนั้นแล้ว หากว่าเราพิจารณานานไปจิตใจมันเพลินนะ ถ้ามันได้รู้เข้าไป ๆ นี้เป็นความเพลิน อยากพิจารณาไปเรื่อย ๆ อย่างนั้น ถ้าเป็นอย่างนั้นมันจะเป็นความเพลินเกินตัว ต้องให้ย้อนจิตเข้ามาสู่ความสงบคือสมาธิเสีย คำว่าสมาธินี้เรานำคำบริกรรมนั้นละ ไม่มีคำว่าครึว่าล้าสมัย ไม่มีชั้นนั้นชั้นนี้ สูง ๆ ต่ำ ๆ เอาคำบริกรรมตามเดิมมาติดกับจิตตามเดิมนั้นแหละ จิตไม่ได้สูงได้ต่ำคำบริกรรมก็ไม่สูงไม่ต่ำ เอามากำกับ ให้สติติดอยู่กับบริกรรมเพื่อความสงบของสมาธิของเรานี้
แต่ส่วนมากถ้าเรารู้จักประมาณตั้งแต่เริ่มต้นแล้ว พอถอยเข้ามาสู่สมาธิ จิตก็สงบไปได้ง่าย ถ้ามันเพลินเกินตัวต้องได้บังคับด้วยสติ นำคำบริกรรมเข้ามาพิจารณาให้จิตสงบแน่วเวลานั้น อย่าไปยุ่งกับเรื่องปัญญาที่พิจารณามากน้อยหยาบละเอียดแค่ไหน อย่านำมาเป็นอารมณ์ ในขณะที่เราต้องการความสงบให้จิตอยู่กับความสงบแนบแน่นอยู่นั้น จนกระทั่งจิตมีกำลังแล้วถอยตัวออกมา สมควรแก่การพิจารณาทางด้านปัญญาดังที่เคยพิจารณามาแล้วได้ เราก็พิจารณาทางด้านปัญญา ทำอย่างนี้เรียกว่าถูกต้อง เป็นมัชฌิมาปฏิปทา สม่ำเสมอ เสมอต้นเสมอปลาย
เวลาทำงานคือการพิจารณาทางด้านปัญญา เราก็ทำงานพิจารณาไป เวลาเราจะพักผ่อนจิตให้มีความสงบในสมาธิ เราก็พักเอากำลังของใจ เพื่อก้าวสู่วิปัสสนาต่อไป ให้เป็นวรรคเป็นตอน เวลาพิจารณาทางด้านปัญญาไม่ต้องยุ่งกับสมาธิ ประหนึ่งว่าสมาธิไม่มี มีแต่เรื่องปัญญาออกก้าวเดิน แยกธาตุแยกขันธ์ แยกสกลกาย ซ้ำ ๆ ซาก ๆ แล้วมันจะมีความชำนาญขึ้นมาเองและจะคล่องตัวไปเรื่อย ๆ
เมื่อจิตใจรู้สึกอ่อนเพลียในการพิจารณาแล้ว ให้ย้อนจิตเข้ามาสู่สมาธิ ทำใจให้มีความสงบ แล้วไม่ต้องกังวลกับทางด้านปัญญาต่อไป ให้ทำหน้าที่จิตเป็นสมาธิรวมแน่วอยู่นั้นเรียกว่าสั่งสมกำลังให้อยู่ จนกระทั่งจิตพอแก่ความสงบเรียบร้อยแล้ว ถอยออกมาก็พิจารณาทางด้านปัญญาตามเดิม นี่เรียกว่าเป็นความถูกต้องแม่นยำสม่ำเสมอ ไม่ลุ่มๆ ดอน ๆ ขอให้พระลูกพระหลานพิจารณาอย่างนี้ แล้วพิจารณาไป
ทีนี้การพิจารณาร่างกายนี้ เมื่อนานเข้าไป ๆ มันจะคล่องตัวรวดเร็วมากทีเดียว อันนี้จะไม่อธิบายมาก จะปรากฏขึ้นกับผู้พิจารณาคล่องตัวแล้วด้วยกัน ไม่มีใครบอกใครละ พอถึงขั้นคล่องตัวแล้วมันจะหมุนตัวมันไป เพลินต่อการพิจารณาเรื่อย ๆ จนกระทั่งได้หักห้ามเข้ามาสู่สมาธิให้พักตัว ให้พากันกำหนดเอาไว้ ให้ดำเนินอย่างนี้แหละ นี่ท่านเรียกว่าดำเนินเพื่อมรรคเพื่อผล
มรรคผลนิพพานอยู่กับภาคปฏิบัติไม่ได้อยู่กับตำรับตำรา ไม่ได้อยู่กับดินฟ้าอากาศ ไม่ได้อยู่กับกาลสถานที่เวล่ำเวลาที่ไหน อยู่ที่ใจของเรา ใจก็อยู่กับภาคปฏิบัติของเรา ที่จะปฏิบัติเพื่อกำจัดกิเลสทั้งหลายที่มันหุ้มห่อจิตใจนี้ให้กระจายหรือให้จางออกไป ๆ จิตใจเราจะได้มีความสง่างาม จิตใจสง่างามแล้วไม่มีอะไรงามเกินหัวใจนะ นี้ละธรรมที่เลิศเลิศอยู่ที่ตรงนี้ พระพุทธเจ้าสอนลงจุดนี้ แล้วบรรดาสาวกทั้งหลายท่านได้สดับตรับฟังจากพระโอวาทของพระพุทธเจ้าสด ๆ ร้อน ๆ ท่านมาปฏิบัติ ท่านก็ตักตวงเอามรรคผลนิพพานขึ้นมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งเป็น สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ ของพวกเรา คือเป็นสรณะเป็นที่พึ่งของพวกเราตลอดมาจนกระทั่งทุกวันนี้ เพราะท่านเป็นสรณะของท่านได้โดยสมบูรณ์แล้ว นี่ละภาคปฏิบัติ
ศาสนธรรมนี้เป็นตลาดแห่งมรรคผลนิพพานอยู่เรื่อยมา เรียกว่า อกาลิโก ไม่มีครึไม่มีล้าสมัย เสมอต้นเสมอปลาย สำหรับผู้ปฏิบัติจะพึงตักตวงเอามรรคผลนิพพานได้ตลอดมาเช่นเดียวกับครั้งพุทธกาล หรือครั้งพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ เพราะธรรมเป็นสวากขาตธรรมแบบเดียวกัน สอนธรรมนี้ก็เอาธรรมมาสอน สอนเพื่อแก้กิเลส แก้วิธีใดท่านก็สอนดังที่อธิบายให้ฟังสักครู่นี้ ให้พากันดำเนินอย่างนี้ อย่าพากันตื่นเต้นดีดดิ้นไปกับโลกกับสงสารมันมีแต่ฟืนแต่ไฟทั้งนั้นแหละ
เวลานี้เราที่เป็นชาวพุทธแทบไม่ปรากฏศาสนาประจำตัวของบุคคล ๆ แต่ละคนเลย มีแต่เรื่องของกิเลสห้อมล้อมปิดบังหุ้มห่อไว้หมด มองเห็นคนเห็นแต่กิริยาของกิเลสที่แสดงออกมาบังคับบัญชา กิริยามารยาทการไปการมา การพูดการจา การอยู่การกิน การใช้สอยทุกอย่าง มีแต่กิเลสควบคุม เป็นอำนาจของกิเลสไปเสียหมด เลยกลายเป็นกิเลสทั้งหมดในคนทั้งคน คำว่าธรรม ๆ คือความพอเหมาะพอดีเลยไม่ค่อยปรากฏ และจะไม่ปรากฏ จะมีแต่เรื่องของกิเลสออกหน้าออกตาเหยียบย่ำทำลายธรรม คือความพอดีไปเสียเรื่อย ๆ อย่างนี้ จึงให้พากันรื้อฟื้นตัวเอง
เวลานี้กำลังถูกกิเลสบีบบี้สีไฟทั้งฆราวาสญาติโยมทั้งพระ กิเลสมันไม่เลือกหน้าแหละ มันเป็นนายมาดั้งเดิมแล้ว เราบวชอย่างนี้กิเลสมันไม่ได้บวชนะ เราอย่าเข้าใจว่าเราบวชแล้วเราภูมิใจ ความภูมิใจว่าเราบวชแล้วนี้ก็เป็นบุญกุศลอันหนึ่ง แต่ไม่พ้นที่จะเป็นความลืมตัว บวชมาดีใจแต่ความลืมตัวดีใจเฉย ๆ ไม่สนใจต่อการภาวนาก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร ให้พากันตั้งอกตั้งใจปฏิบัติเถิด
ศัสตราอาวุธที่จะสังหารกิเลสให้สิ้นซากลงไป เริ่มต้นตั้งแต่ เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง อุปัชฌาย์ท่านมอบให้แล้วตั้งแต่วันบวช นี้คือศัสตราอาวุธที่จะสังหารสิ่งที่เป็นฟืนเป็นไฟเป็นภัยแก่ตัวของเรา นั้นคือผม ผมก็สวยก็งาม ผมผู้หญิงก็สวยผมผู้ชายก็สวย ขน เล็บ ฟัน สวยไปหมด หนังสวยไปหมด ท่านสอนไปเพียงหนัง ถึง ตโจแล้วท่านหยุด ที่หยุดนั้นเพราะอะไร เราลองลอกหนังออกซิ พอหนังออกจากตัวหมดแล้ว ความสวยงามมันก็ไม่มี มีตั้งแต่เยิ้มไปเรื่อยๆ ด้วยเลือดด้วยเนื้อเต็มตัวของเรา ท่านจึงสอนเพียงตโจ เท่านั้น
เรียกว่าสอนย้อนหน้าย้อนหลัง เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ตโจ ทันตา นขา โลมา เกสา ท่านสอนทบทวนให้ดู นี่ละเครื่องมือเป็นอาวุธอันสำคัญที่จะปราบปรามสิ่งเลวร้ายทั้งหลายที่มันแทรกอยู่ คือความสวยความงาม คือเขาคือเรา คือหญิงคือชาย พิจารณาอันนี้ตีเข้าไปหญิงชายจะไม่มี ความสวยความงามจะไม่มี มีแต่หลักธรรมชาติล้วน ๆ ซึ่งเยิ้มไปด้วยความสกปรกโสมมที่สุดเต็มอยู่ในร่างกายของเรา ปัญญาหยั่งเข้าไปตรงนี้มันก็คลายความยินดีความเพลิดเพลินกับร่างกายไปโดยลำดับลำดา เมื่อพิจารณาไปเท่าไรยิ่งมีความแยบคาย การพิจารณาร่างกายนี้ มีความแยบคายและคล่องตัวไปโดยลำดับลำดา จนกระทั่งได้อย่างใจ พิจารณาปั๊บให้แตกพังทลายลงไปอย่างรวดเร็ว ๆ ได้ทั้งนั้น ด้วยความชำนาญของสติปัญญาเรา ให้นำไปใช้นะ
นี่ละมรรคผลนิพพานท่านทั้งหลายอย่าไปหาที่ไหน อย่าไปหาตามกาลสถานที่เวล่ำเวลา ตามมืดตามแจ้ง ต้นไม้ภูเขา ดินฟ้าอากาศ ท้องฟ้ามหาสมุทร ไม่มีมรรคผลนิพพาน ไม่มีกิเลส กิเลสอยู่กับหัวใจเรา มรรคผลนิพพานก็อยู่ที่หัวใจเรา เวลานั้นมันผูกพันกันให้เราได้รับความทุกข์ก็คือกิเลสผูกพันหัวใจเรา มันถึงได้รับความทุกข์ความทรมาน จึงต้องอาศัยเครื่องมือที่ว่าเป็นศัสตราอาวุธนี้แหละ เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ แยกธาตุแยกขันธ์แยกทุกสัดทุกส่วน ให้เป็นชิ้นเป็นอัน
ทำแล้วทำเล่าซ้ำ ๆ ซาก ๆ เป็นงานประจำจิตใจประจำความเพียรของเราอยู่โดยสม่ำเสมอ แล้วเรื่องสมาธิจะเป็นขึ้นมาเอง เมื่อเราบำเพ็ญอยู่ตลอด สมาธิความสงบใจก็เป็นขึ้นมาเอง ปัญญาความรู้แจ้งก็จะรู้แจ้งไปเรื่อย ๆ เมื่อเราฝึกหัดดัดแปลงอยู่เสมอจะเป็นการคล่องตัวไปเรื่อยๆ แล้วมีการถอดการถอนอุปาทานความยึดมั่นถือมั่น ในเขาในเราไปเสียได้ ไปเรื่อย ๆ อย่างนี้ เรียกว่าการพิจารณาทางด้านปัญญา
เรื่องธรรมขั้นละเอียดลงไปนั้น ตัวร่างกายนี้ละเป็นตัวสำคัญมาก มันปิดมันบังเอาไว้หมด ไม่ได้เห็นมรรคผลนิพพานว่าเป็นของแปลกประหลาดอัศจรรย์อะไรยิ่งกว่าความรักความชังในกายเขากายเรา กายหญิงกายชาย อันนี้มันเลิศไปเสียทั้งนั้น ชังมันก็เลิศมันถือว่าดีไปด้วยความชัง เพราะฉะนั้นมันถึงชัง โกรธมันก็ถือว่าดีไปเสียมันถึงโกรธ อะไรก็ดีไปหมด ถ้าเป็นเรื่องกิเลสเข้าแทรกที่ไหนแล้วดีทั้งนั้น ๆ ต้มไปได้ทั้งหมดนั่นแหละ เพราะฉะนั้นจึงต้องเอาปัญญาเข้าแทรกพิจารณา แล้วมันจะค่อยคลี่คลายกันออก นี่ละการพิจารณา ให้เอาอันนี้แล้วต่อไปเราจะค่อยคืบหน้าไปเอง ความละเอียดแห่งธรรมที่เกิดขึ้นจากการพิจารณาดังที่กล่าวนี้ จะค่อยรู้ค่อยเห็นไปตามการประพฤติปฏิบัติของตน ท่านเรียกว่า สนฺทิฏฺฐิโก คือรู้เองเห็นเองเป็นลำดับลำดาไป ขอให้พากันตั้งอกตั้งใจ
เวลานี้ศาสนาเรียวแหลมนี้มันเลยเรียวแหลมแล้วนะ ดูที่ไหนมันดูไม่ได้ ให้เราดูพวกเราเองนะ ดูพระดูเณรเรา อย่าไปดูประชาชนพลเมืองที่เขาไม่มีขอบเขตมีหลักมีเกณฑ์ เขาก็ปฏิบัติหรือทำหน้าที่ของฆราวาสไปตามยถากรรม ไปตามอัธยาศัยของเขา แต่เราเป็นพระมีขอบมีเขตมีหลักธรรมหลักวินัยเป็นรั้วกั้นไว้ สำหรับความชั่วไม่ให้เข้ามาติดตัวของเรา ให้ต่างคนต่างระมัดระวังรักษาให้ดี นี่ละเป็นของสำคัญ แล้วให้บำเพ็ญตลอดไป
เรื่องมรรคเรื่องผลท่านทั้งหลายอย่าไปถามที่ไหน ให้ดูที่จิตของเราระหว่างกิเลสกับธรรมมันฟัดกันอยู่ที่จิต ส่วนมากกิเลสเป็นชัยชนะไปตลอด มันจะคิดปรุงแต่งเรื่องราวอะไรนี้ จะเป็นเนื้อเป็นหนังเป็นตนเป็นตัว เป็นของเลิศของเลอขึ้นมาทุกอย่างนั้นแหละ ถ้าลงกิเลสได้คิดไปแง่ไหนเป็นทองคำทั้งแท่งขึ้นมา ตื่นมันตลอดไปเลย หลงไปตามมัน เพราะฉะนั้นจึงต้องเอาธรรมะเข้าแก้กันอย่างที่ว่านี้ ให้พิจารณาจริง ๆ จัง ๆ หลักใจจะขึ้นจากการปฏิบัติและการปฏิบัติ ดังที่อธิบายให้ฟังแล้วในเบื้องต้น
ถ้าผู้ยังไม่ได้หลักใจ ให้ตั้งหลักใจด้วยวิธีการที่แสดงให้ฟังนี้ ให้พยายามจริง ๆ จัง ๆ จะต้องปรากฏแน่นอน แต่ต้องเป็นคนจริงนะ อย่าทำเหลาะ ๆ แหละ ๆ ตั้งสติได้ชั่วระยะนี้ต่อไปก็เผลอ เผลอไปเสียเลยเถิดไปเสีย จนกระทั่งวันตายก็ไม่เกิดประโยชน์ ถ้าเอาจริงเอาจังแล้วก็เป็นอย่างที่ว่านี้
ผมนำมาแสดงนี้ผมยกเอาตัวผมเป็นพยานเลย มาแสดงกับท่านทั้งหลายด้วยความไม่สงสัย ดำเนินมาแล้วได้ผลเป็นที่พอใจจากวิธีการอันนี้ จึงได้นำวิธีการนี้มาสอน แต่ผู้ที่ปฏิบัติตามจะจริงหรือไม่จริง นี่ไม่ทราบได้นะ สำหรับเราที่ได้ปฏิบัติมาก่อนนี้จริงมากทีเดียว เรื่องว่าไม่ให้เผลอไม่เผลอจริง ๆ ตั้งแต่ตื่นนอนฟังซิ ไม่ยอมให้เผลอ นี่แหละจึงเป็นเหมือนยิ่งกว่าเขาติดคุกติดตะรางนะ จิตใจมันตีบตันอั้นตู้มันอยากจะคิดจะปรุง แต่คำบริกรรมบีบเอาไว้ไม่ให้คิด ให้คิดอยู่กับคำบริกรรมคำเดียว เอากันอย่างหนักทีเดียว จึงได้เห็นความทุกข์ความทรมานในการฝึกตัวเองกับกิเลสตัวหนาแน่น มันซัดกันกับธรรมคือคำบริกรรม ได้เห็นกันขนาดนั้น
ทุกข์มากในระยะแรก ๆ แต่คำว่า ถอย มันไม่มีเท่านั้นเอง มันจะทุกข์ขนาดไหน เอ้า ว่างั้นเลย ใครจะตายก่อนตายหลังก็ให้มันรู้กันระหว่างกิเลสกับธรรมฟัดกันไปฟัดกันมา สุดท้ายก็ตั้งหลักได้ จึงได้นำมาสอนท่านทั้งหลาย อย่าเหลาะ ๆ แหละ ๆ จากนั้นสุดท้ายก็วิ่งไปหากาลสถานที่เวล่ำเวลา ในครั้งพุทธกาลท่านสำเร็จมรรคผลนิพพาน มาทุกวันนี้มรรคผลนิพพานหมดแล้วสิ้นแล้ว
มันก็สิ้นละซิ ก็คนมันหมดราคาแล้วนี่ ไม่ได้คิดถึงอรรถถึงธรรมแล้วธรรมจะมาจากที่ไหน มันก็มาจากบุคคลผู้คิดถึงธรรม ธรรมจึงจะเกิด คิดถึงกิเลส กิเลสก็เกิด คิดถึงเรื่องอะไรมันก็เกิดด้วยกัน เพราะกิเลสกับธรรมมีอยู่ในโลกอย่างสมบูรณ์แบบเดียวกัน เป็นแต่เพียงว่ากิเลสมันหนามันมีกำลังมาก มันก็ฉุดจิตใจไปทางกิเลสเสีย แล้วมาลบล้างมรรคผลนิพพานว่าไม่มีไม่เกิดไปเสีย
ถ้าเรามาตั้งใจปฏิบัติตามธรรมที่สอนไว้แล้วนั้น มรรคผลนิพพานจะอยู่ที่ไหน ก็อยู่กับภาคปฏิบัติที่ปฏิบัติตามธรรมของพระพุทธเจ้าแล้วมันก็เกิดด้วยกันนั้นแหละ ไม่ว่าครั้งนั้นครั้งนี้กิเลสเป็นประเภทเดียวกัน ตั้งแต่ครั้งพระพุทธเจ้ามาปัจจุบันนี้เป็นกิเลสประเภทเดียวกัน แล้วธรรมะก็ตั้งแต่พระพุทธเจ้ามาจนกระทั่งถึงพวกเราก็เป็น สวากขาตธรรม ที่ตรัสไว้ชอบทุกสิ่งทุกอย่างแล้วแบบเดียวกัน มาแก้กิเลสมันก็แก้ได้ด้วยกัน ถ้าเราจะนำมาแก้ ถ้าไม่นำมาแก้ตายทิ้งเปล่า ๆ ตายกองกันอยู่นี้มันก็ไม่มีความหมายอะไรแหละ มรรคผลนิพพานก็ไม่มี ๆ อยู่อย่างนั้นแหละ ตายกองกันทำไมมันมี นั่น มันไม่ได้คิดนะ
ตายกองกัน คือเชื่อตามกิเลส ตำหนิติเตียนลบล้างมรรคผลนิพพานว่าไม่มี สิ่งใดมีก็คือการหลงตามกิเลสนั่นแหละ หลงตามกิเลสมันก็มาตายกองกัน ๆ อยู่อย่างนี้ ดินฟ้าอากาศมันสว่าง แต่ใจของเรามันมืดละซี ถ้าไปได้สว่างเหมือนไปตามท้องฟ้านี่มันก็เห็นไปหมดนั่นแหละ แต่ใจมันไปด้วยความมืดละซี โดนตั้งแต่นรกอเวจี ๆ ด้วยบาปด้วยกรรมของตัวเองนั่นแหละ ถ้ามีอรรถมีธรรมแล้วจะสว่างขึ้นที่ใจ เราจะค่อยรู้ค่อยเห็นเกิดตายที่ไหนได้ คนมีธรรมในใจแล้ว ไม่ต้องไปคิดคาดคะเนด้นเดาถึงเรื่องการเกิดการตายจะไปเกิดที่ไหน บุญกุศลของเราที่สร้างมานี้จะชักจะจูงเราไปเอง
แล้วผู้ที่ทำชั่วก็เหมือนกัน เรื่องที่ว่าปฏิเสธว่าบาปไม่มี บุญไม่มี ว่าก็ว่าไปแต่ลมปากของคนตาบอดนั้นแหละ พระพุทธเจ้าผู้ตาดีสอนไว้แล้วนั่น ท่านสอนไว้กี่พระองค์แล้ว มีแต่สิ่งเหล่านี้มีมาตั้งกัปตั้งกัลป์แล้ว พระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ท่านไม่เห็นลบล้างได้ เราจะเก่งกว่าศาสดามาจากที่ไหน ไปลบล้างว่าบาปไม่มี บุญไม่มี นรกไม่มี สวรรค์ไม่มี แล้วสร้างตั้งแต่ความชั่วช้าลามกเผาตนตลอดเวลา ในมนุษย์นี้ก็เผาพอแล้ว คนลบล้างว่าบาปไม่มีนี้สร้างแต่บาป หาบแต่กรรมชั่วช้าลามก ตายแล้วก็ไปแบกบาปแบกกรรมอยู่ในเมืองผีเข้าอีก นี่ละโทษแห่งความว่านรกไม่มี
ศาสดาองค์เอกเป็นผู้สอนไว้แล้ว ไม่ใช่คนตาบอดมาสอนว่านรกไม่มี คนตาดีแท้ ๆ โลกวิทู รู้แจ้งโลกนอกโลกในหมดแล้วมาสอนโลก เราอวดเก่งกว่าศาสดาแล้วไปลบล้าง แล้วไปสร้างตั้งแต่ความชั่วช้าลามกเต็มหัวใจของเรา สุดท้ายก็มากองอยู่กับเราผู้เก่ง ๆ นี้แหละ บทเวลาไปตกนรกมันไม่เห็นเก่ง เวลามาตายกองกันอยู่ในโลกมืดบอดนี้มันก็ไม่เห็นเก่งเหมือนกัน เหมือนเขาเหมือนเรานั้นแหละ ถ้าใครเก่งแบบกิเลสแล้วก็ต้องได้รับความทุกข์ความทรมานเหมือน ๆ กันหมด ถ้าใครเก่งแบบธรรมหลุดพ้นได้ไม่ต้องสงสัย เพราะธรรมกับกิเลสมีเสมอกัน อกาลิโก เหมือนกัน ไม่เลือกกาลเลือกสถานที่เวล่ำเวลา
เพราะกิเลสอยู่ที่ใจ เกิดที่ใจอยู่ที่ใจ ธรรมก็เกิดที่ใจอยู่ที่ใจ เรากระดิกไปทางกิเลสก็เป็นกิเลสวันยังค่ำ ถ้าเราสร้างแต่ความชั่วตามกิเลสหลอกลวงวันยังค่ำ ก็กอบโกยเอาแต่ความทุกข์ความทรมานตลอดไป ถ้าเรากระดิกใจเรามาสร้างคุณงามความดี สร้างอรรถสร้างธรรมขึ้นที่ใจ ธรรมก็เกิดขึ้นที่ใจของเราตลอดไป สร้างไม่ถอย ๆ ธรรมก็แก่กล้าสามารถลบล้างกิเลสตัณหาอยู่ภายในใจออกได้หมด เช่นพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ท่านตรัสรู้ธรรมขึ้นมา ล้วนแล้วแต่ท่านผู้ลบล้างกิเลสให้ขาดสะบั้นไปจากใจทั้งนั้น จึงได้ปรากฏเป็นผู้เลิศเลอมาให้พวกเราทั้งหลายกราบไหว้บูชาอยู่ทุกวันนี้ ให้พากันจำเอานะ
พวกประชาชนญาติโยมก็มีเกิดมีตาย มีความทุกข์ความเดือดร้อนเหมือนกันกับพระ พระก็แบบเดียวกับโยม โยมก็แบบเดียวกับพระ เพราะต่างคนต่างหาบกิเลส ซึ่งเป็นฟืนเป็นไฟมันก็เผาเอาด้วยกันนั้นแหละ พระไปบวชแล้วกิเลสไม่บวชมันก็ตามเผาเอา ประชาชนบวชไม่บวชมันก็เผาของมันแบบหนึ่ง ถ้าเราสร้างความดีบวชไม่บวชเราก็เป็นคนดี ไปบวชเป็นพระก็เป็นพระดี ดีด้วยกัน อยู่กับการกระทำของเรานะ อย่าปล่อยอย่าวาง
โลกอันนี้มันยิ่งหนาแน่นขึ้นไปด้วยกิเลสตัณหา นี่แหละพูดแล้วเราวิตกวิจารณ์จริง ๆ นะ ยิ่งหนาขึ้นไปทุกวัน ๆ โอ๊ย ทำยังไง ยิ่งเราเป็นชาวพุทธอย่างเมืองไทยของเรา มองดูกิริยาของพุทธในบุคคลแต่ละราย ๆ แทบไม่มีนะ มีแต่เรื่องของกิเลสเต็มเนื้อเต็มตัว เต็มกิริยามารยาท การแสดงออกทุกแง่ทุกมุมมีแต่กิเลสชักจูงไปให้แสดงทั้งนั้น ส่วนอรรถส่วนธรรมจะชักจูงไปพอที่จะมีช่องมีทางให้ผ่านพ้นไปได้ เพื่อความสุขความเจริญนั้นไม่ค่อยมีกัน ให้เตือนเจ้าของตั้งแต่บัดนี้นะ
การสอนเหล่านี้สอนให้เข้าใจทุกคน ให้ฟังทุกคน สนใจทุกคน ปฏิบัติต่อตนเองทุกคน ตั้งปัญหาถามตัวเองทุกคนแล้วจะมีทางออก ๆ ไปโดยลำดับ เราจะไปหวังศาสดาองค์ใดนะ องค์ใดท่านก็สอนแบบนี้เหมือนกัน เราจะไปมุ่งว่าพระศรีอาริย์หรือนานไปกว่านั้น ก็เราเวลานี้ชีวิตของเราจะไปหวังอะไรพระศรีอาริย์ ชีวิตของเรามันจะมีอยู่กี่ปีกี่เดือนมันจะตายเร็ว ๆ นี้ให้รีบเสียตั้งแต่บัดนี้ซี ถ้าได้ความดีแล้ว พระศรีอาริย์ท่านมาถึงหรือยังไม่มาถึง เราก็ได้ความดีผ่านพ้นทุกข์ไปได้สะดวกสบาย ให้พากันจำเอานะ วันนี้ก็เทศน์เพียงเท่านี้ละ เทศน์ไปเทศน์มาก็รู้สึกเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า ขอความสวัสดีจงมีแก่บรรดาพี่น้องทั้งหลายโดยทั่วกันเทอญ
วันนี้เทศน์ธรรมะเพียงขั้นนี้เสียก่อน ให้จับพื้นฐานนี้ไว้ให้ดี เรื่องธรรมะสูงสุดไม่ต้องบอก นี่ละพื้นฐานเพื่อความสูงสุดแห่งธรรม ขอให้จับต้นนี้ให้ดี อย่าปล่อยวางจะพุ่งถึงเลย เทศน์สูงขนาดไหน ถ้าจิตใจมันยังคลานอยู่กับกองมูตรกองคูถคือกิเลสตัณหาแล้ว ก็ไม่เป็นประโยชน์แก่ผู้เทศน์เหมือนกัน ผู้เทศน์เพื่อประโยชน์เทศน์ไปแล้วมันก็ไม่ได้เรื่องได้ ให้ก้าวเดินตามนี้นะ เหนื่อยเทศน์ไปนานเข้า ๆ ก็เหนื่อย ขนาดนี้ก็รู้แล้วก็เลยหยุดแหละ
นี่ก็ธาตุขันธ์มันเตือนนะ ถ้าธาตุขันธ์ไม่เตือนมันก็ไปเรื่อยๆ ๆ พอธาตุขันธ์เตือนแล้วก็เหนื่อยลงๆ จากนั้นก็จะลงไปหาโรคหัวใจ พอเหนื่อยลง ๆ อันนี้จะยิบแย็บ ๆ ขึ้นมา อันนั้นร้ายแรง แต่ยังไม่ถึงตัวนั้น เราก็รู้ รู้แล้วมันกำลังเข้าปากคอกเราก็หยุดเสีย มันก็ไม่เข้าคอก เข้าคอกโรคหัวใจ วันพรุ่งนี้บ่ายสามโมงก็จะไปเทศน์ที่จังหวัดนั้นแหละ เทศน์แล้วก็กลับมาค้างที่นี่เสียก่อน พอฉันเสร็จเรียบร้อยแล้วถึงจะออกเดินทางไปสวนแสงธรรม วันที่ ๙ ไม่มีอะไรละ เทศน์จบแล้วก็จบเท่านั้นละ เอ้า วางก็วางเถอะ
(ของวัดแพร่ครับ)
ของที่วัดนี้หรือ ได้ทองคำสิบกว่าบาท ก็ดีแล้วนี่ทองคำสิบกว่าบาท ต้นทองนี้เอามาก็เพื่อจะนำเข้าสู่คลังหลวง ซึ่งเป็นหัวใจของชาติไทยเรานั้นแหละ เราลืมบอก เวลานี้ทองคำเราได้เข้าสู่คลังหลวงแล้ว ๕,๑๔๒ กิโล หรือ ๕ ตันกับ ๑๔๒ กิโล ทองคำได้แล้วเวลานี้ เข้าสู่คลังหลวงแล้ว ส่วนดอลลาร์เริ่มจะถึง ๗ ล้านแล้วเวลานี้ สำหรับเงินบาทเงินไทยนี้ได้นำเข้าไปซื้อทองคำ ๙๓๑ ล้าน แล้วก็ซื้อดอลลาร์อีก ๑๐ ล้าน รวมแล้วเป็นซื้อทองคำกับดอลลาร์ ๙๔๑ ล้าน เหลือจากนั้นก็ช่วยโลกทั่วๆ ไป คือสร้างทุกสิ่งทุกอย่างนั่นแหละ ทั่วประเทศไทยนะ
ไม่ว่าภาคไหนเงินเราจะช่วยไปได้หมด ช่วยตลอด แล้วแต่ที่ไหนจำเป็นมากน้อยช่วยกันไปเรื่อย ๆ สร้างสถานสงเคราะห์คนทุกข์คนจน โรงร่ำโรงเรียน สถานที่ราชการต่าง ๆ จากนั้นก็สร้างโรงพยาบาลมาก ช่วยโรงพยาบาลนี้มากจริง ๆ ร้อยกว่าโรงแล้วเวลานี้ที่เราช่วย รถก็ดูเหมือนจะร้อยกว่าคันแล้วนะ ไม่ใช่ของเล่น ตึกนี้ไม่ทราบว่ากี่หลัง สร้างตึกให้โรงพยาบาล ขนาดต่าง ๆ กัน
(ถวายทองคำครับ ๒๐ บาทครับผม)
๒๐ บาท โอ๋ หลวงตาพอใจ ไปนอนหลับนี้อาจจะฝันละเมอไปก็ได้นะ ได้ทองคำสวย ๆ เอ้า.พอใจ ๆ ๆ ทองคำเวลานี้ได้ ๓๐ กว่าบาทแล้ว ให้ได้ทองคำมาก ๆ นั่นแหละ เวลานี้หลวงตากำลังเร่งทองคำ กรุณาพี่น้องทั้งหลายทราบทั่วกัน ได้ขึ้นเวทีแล้ว ประกาศให้พี่น้องทั้งหลายทราบแล้วว่า เราขอให้ได้ทองคำในการช่วยชาติคราวนี้ ๑๐ ตัน เวลานี้เราได้แล้ว ๕ ตัน กับ ๑๔๒ กิโลแล้ว จากนั้นก็ยังเหลืออยู่อีก สี่ตันกว่า นี่ละสี่ตันกว่าที่เรากำลังบืนอยู่เวลานี้นะ ขอให้ได้ทอง ๑๐ ตันเถอะในการช่วยชาติคราวนี้ เมืองไทยเราจะสง่างาม ลบล้างความล่มจมเสียได้
(อาจารย์กัณหาให้มาถวายครับ ไม่ได้ชั่งครับ)
อาจารย์กัณหา โถ.อาจารย์กัณหานี่เก่งกว่าหลวงตาบัว หลวงตาบัวมีแต่ขอทอง หลวงตากัณหาท่านได้ทองมาให้หลวงตาบัว แสดงว่าเก่งกว่าหลวงตาบัวนะ เราอยากให้เก่งกว่าเราขึ้นกว่านี้ ไปหามาอีก หลวงตากัณหาอยากเก่งกว่านี้ไป หลวงตาบัวจะยอมตลอด ๆ ขอให้ได้ทองกับหลวงตากัณหาก็พอใจ เข้าใจไหม แพ้แบบนี้แพ้วันยังค่ำพอใจวันยังค่ำนั่นแหละ โธ่ ๆ ทองคำหรือ เอ้า คว้าออกมาให้หมดอยู่ในกระเป๋าใคร
(มาเลเซียครับ ๕๐)
ไหนเป็นของมาเลเซียหรือ ๕๐ เท่ากับเงินเราเท่าไหร่ เท่าไหร่เอาหมดแหละ ที่ไหนก็เอามาเถอะ หลวงตาบัวนี้ตั้งเป็นกองรับเหมามานานแล้ว ไม่มีถอยเรื่องรับเหมามีเท่าไหร่เอาหมดนั่นแหละ เอามา ทองคำอยู่ตามข้อไม้ข้อมืออยู่ตามคอใครไปหาล้วงเอามาให้หมดเดี๋ยวนี้.กำลังหิวทองคำเดี๋ยวนี้ เสียงดังลั่นแล้วนะ พูดถึงเรื่องทองคำแล้วดังลั่นขึ้นแล้วนะ นี่มาอีกแล้ว อุตรดิตถ์หรือ เอามา ๆ อยู่ตามคอของใครข้อมือของใครเอามา แล้วพวกเราที่เดินผ่านมานั้น ใครเซ่อ ๆ แล้วฉวยมับแล้วเอามาเลย หลวงตาจะตัดสินให้ ทองคำอยู่ที่ไหนเอามา
(ของหลวงพ่อกัณหา ๑๗ บาท)
โธ่ หลวงพ่อกัณหาชนะอีกแล้ว ๆ เรายอม เอาชนะไปเลย เอามาอีกเราจะยอมอีก ยอมแบบนี้ยอมวันยังค่ำนั่นแหละ เอ้า ทางนี้มาอีกแล้ว ทางนี้มาเรื่อย ๆ เอ้า มาเรื่อย เอาเรื่อย ถ้าคลังหลวงของเราแน่นหนามั่นคง ชาวไทยเราจะหายใจเต็มปอด ที่หลวงตาพยายามนี้พยายามสุดขีดนะ เพื่อพี่น้องชาวไทยเรา วันนี้ก็ได้ทองคำเยอะนะวันนี้
เหนื่อยแล้วก้า ช่วยบ้านช่วยเมืองมากําลังย่างเข้า ๕ ปีเหนื่อยมากก้า เราก็ทนเอาเพราะเห็นแก่ชาติบ้านเมืองของเรา หลวงตาทนเพื่อชาตินะ ไม่ได้ทนเพื่อเจ้าของอะไรเลย บอกชัด ๆ อย่างนี้ละนะ เราไม่ทนเพื่อเจ้าของ เราทนเพื่อชาติบ้านเมือง หนักขนาดไหนเราก็บืนอย่างนี้แหละ สำหรับลำพังเราเองเราไม่มีอะไร วันพรุ่งนี้ก็ไปเทศน์ที่จังหวัด แล้วกลับมาค้างที่นี่อีกคืนหนึ่งนะ พอฉันแล้วก็กลับ วันที่ ๙ ก็กลับถึงสวนแสงธรรม วันต่อไปก็รับภาระต่อไปอีกเรื่อย ๆ จนกว่าจะได้กลับอุดรฯ ต่อจากนี้ไปก็ปันปอนก้า
อ่านธรรมะหลวงตาวันต่อวัน ได้ทาง Internet www.Luangta.com |
** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก
ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์
และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์
|
|
|
|