เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๒๕
มหาภัทรกัป
ความมืดถ้าไม่มีความสว่าง เป็นที่ผ่อนคลายของผู้มีอวัยวะเพื่อรับทราบดินฟ้าอากาศความมืดความสว่าง คนเราก็เป็นทุกข์ สัตว์ก็เป็นทุกข์ จึงต้องมีทั้งมืดทั้งสว่างไว้สำหรับประสาทของสัตว์และการท่องเที่ยวของสัตว์ ซึ่งนิยมความมืดความสว่างต่างกัน ใจถ้ามีแต่ความมืดปิดบังหุ้มห่อไว้แต่ถ่ายเดียว หาความสว่างไม่ได้ก็ย่อมเป็นทุกข์ คือไม่มีที่ออกไม่มีที่ระบาย ถ้ามีแต่ทุกข์ถ่ายเดียวไม่มีความสุขแทรกบ้างเลย โลกนี้ก็อยู่กันไม่ได้ สิ่งเหล่านี้เป็นของคู่เคียงกันเสมอ จากนั้นก็แยกออกไปเป็นโลก เป็นธรรม
โลกถ้ามีแต่โลกล้วน ๆ ไม่มีธรรมเข้าเคลือบแฝง โลกก็หาประมาณไม่ได้ หาขอบเขตเหตุผล หาเครื่องยึดเหนี่ยวไม่ได้ เมื่อหาเครื่องยึดเหนี่ยว หาหลักหาเกณฑ์ หาเหตุหาผลไม่ได้ก็เท่ากับหาความสุขไม่ได้ หาที่ปลงใจไม่ได้ เพราะตามปกติของใจย่อมหาที่ปลงที่วางที่ยุติเพื่อความสุขความสบายอยู่เสมอ เพื่อปล่อยภาระไปเป็นครั้งคราวหรือเป็นวรรคเป็นตอน หากไม่มีที่ปล่อยวางเลยก็เท่ากับแบกทุกข์อยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นธรรมจึงเป็นของจำเป็นสำหรับโลก เพื่อเป็นที่ยึดของใจซึ่งเป็นของคู่เคียงกันมาแต่กาลไหน ๆ
คำว่าพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ในโลกนั้น ไม่ใช่มีเพียงองค์เดียวสององค์ นับเป็นจำนวนล้าน ๆ เพราะโลกนี้มีมาเป็นเวลานาน โลกกับธรรมจึงเป็นของคู่เคียงกันเรื่อยมา ด้วยเหตุนี้ศาสนากับโลกจึงมีคู่เคียงกัน จะขาดไปบ้างก็เป็นบางกาลบางสมัย เช่น ท่านกล่าวไว้ในธรรมว่า พุทธันดรหรือสุญญกัป ก็หมายถึงความว่างเปล่าจากศาสนา พุทธันดรหมายถึงระหว่างแห่งพระพุทธเจ้าแต่ละองค์ที่จะมาตรัสรู้ นั่นก็ว่างจากศาสนา ท่านยังพูดไปถึงภัทรกัป แต่ละภัทรกัปที่จะมาปรากฏขึ้นมานั้นก็ว่างจากศาสนา ท่านเรียกว่าสุญญกัป
การว่างศาสนาแต่ละครั้งแต่ละสมัยนั้น เป็นการว่างจากความสุขความพึงหวัง ในขณะเดียวกันก็เต็มไปด้วยความทุกข์ของสัตว์โลก เพราะหมดบุญหมดบาปในใจ คำว่าบุญว่าบาปไม่มีเลยในความรู้สึก เพราะไม่มีใครกล่าวถึง ไม่มีใครรู้ ไม่มีใครมาแนะนำสั่งสอน สัตว์โลกจึงชุลมุนวุ่นวายกันอยู่ในห้องมืดแห่งโมหะ คือ ความมืดบอดทางจิตใจ จะว่า โลกันตนรกในสมัยนั้นของมนุษย์ก็ได้ไม่ผิด
ศาสนาจึงไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย เป็นสิ่งที่พยุงจิตใจ ชโลมจิตใจของสัตว์โลก เป็นที่รวมหัวใจของโลก เพื่อความแคล้วคลาดปลอดภัยจากความมืดบอดแลมหันตทุกข์เป็นอย่างมาก เช่นเดียวกับคนไข้ที่มียามีหมอรักษา ถ้ามีแต่คนไข้เต็มบ้านเต็มเมืองหาหมอไม่ได้ เราวาดภาพขึ้นมาดูก็ได้ จะเป็นที่สลดสังเวช น่าอิดหนาระอาใจ น่าเบื่อน่าหน่ายเป็นไหน ๆ โลกนี้จะไม่มีใครปรารถนามาอยู่กันเลย หรือเมื่ออยู่แล้วก็ไม่มีใครที่จะติดใจใคร่อยากอยู่ต่อไป มีแต่ความขยะแขยง มีแต่ความทุกข์ความทรมานระทมใจอยู่เป็นประจำเท่านั้น นี่โรคไม่มียา โรคไม่มีความรู้สึกว่ายามีหรือหมอมี จึงเป็นโรคที่ร้ายแรงมาก สัตว์โลกที่ไม่มีศาสนาเป็นเครื่องยึดเป็นเครื่องผ่อนคลายก็เช่นเดียวกัน เป็นโลกที่หมดความหมายไร้ค่าหาที่เกาะที่ยึดทางจิตใจไม่ได้
สัตว์โลกที่ไม่มีธรรม ไม่มีคำว่าบุญว่าบาปพอที่จะให้ขยะแขยง เพื่อการละการถอน และเพื่อมีความกระหยิ่มมุ่งหวังต่อบุญคือความดีทั้งหลาย ก็เป็นโลกที่เป็นโมฆะ แต่ในขณะเดียวกันสิ่งที่รุ่มร้อนอยู่ภายในใจของสัตว์โลกนั้น ไม่มีกาลไม่มีสมัย ความมีกาลมีสมัยก็คือศาสนธรรมที่พระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์มาอุบัติ ตรัสรู้แล้วสั่งสอนโลกเท่านั้น ส่วนกิเลสที่ทำความรุ่มร้อนให้แก่สัตว์โลกนั้น ไม่เคยมีคำว่ากาลว่าสมัย ยิ่งเป็นสมัยที่ไม่มีศาสนาด้วยแล้ว ยิ่งเป็นสมัยที่กิเลสประเภทต่าง ๆ แสดงอิทธิพลเรืองอำนาจเต็มหัวใจของสัตว์โลก ฤทธิ์เดชที่ไม่พึงปรารถนาคือทุกข์และมหันตทุกข์ในวงสัตว์ จะแสดงเต็มที่เต็มฐานเต็มกำลัง เพราะไม่มีสิ่งคัดค้านต้านทาน ถ้าเป็นโรคก็ไม่มียารักษาบ้างเลย จึงต้องแสดงเต็มที่เต็มฐานแก่คนไข้ ส่วนจิตใจที่ไม่มีธรรมไม่มีศาสนา มีแต่กิเลสอย่างเดียวเป็นเจ้าอำนาจบีบบังคับในหัวใจนั้น จึงหาความสุขแม้นิดหนึ่งไม่ได้เลย มีแต่ความรุ่มร้อนแผดเผาเต็มหัวใจสัตว์ เรียกว่า โลกันตะ ก็ไม่ผิด ในสมัยที่เป็นสุญญกัปว่างจากศาสนา สัตว์โลกก็จมอยู่ในกองทุกข์ หาทางออก หาทางหลีกเร้น หาทางผ่อนคลายไม่ได้ เพราะไม่มีศาสนธรรมเยียวยาผ่อนคลาย นี่กล่าวทั่ว ๆ ไปตามหลักคติธรรม คติโลก หากเป็นของคู่เคียงกันมาเช่นนั้น
ที่นี่ย้อนเข้ามาถึงตัวของเราซึ่งเกิดในแดนแห่งพระพุทธศาสนา อันอุดมสมบูรณ์ไปด้วยเครื่องชี้แนะแนวทาง ให้รู้ทั้งความเสื่อมความเจริญ ให้รู้ทั้งบาปทั้งบุญ ทั้งคุณทั้งโทษ นรกสวรรค์ จนถึงวิมุตติหลุดพ้นได้แก่พระนิพพาน มีสมบูรณ์อยู่แล้วในหลักธรรมของพระพุทธเจ้า และเป็นธรรมที่ถูกต้องแม่นยำทุกสัดทุกส่วนทุกสิ่งทุกอย่างที่ประทานไว้แล้วนี้ คำว่าบาปมี บุญมี นรกมี สวรรค์มี พรหมโลกมี นิพพานมี เป็นสิ่งที่คงเส้นคงวา เป็นธรรมชาติที่ตายตัว คือ มีมาแล้วแต่กาลไหน ๆ เป็นแต่ผู้สามารถค้นพบสิ่งทั้งหลายเหล่านี้มีขึ้นมาเป็นบางครั้งบางคราวในเวลาที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้เท่านั้น
เมื่อเราทั้งหลายได้ทราบหลักศาสนธรรม ที่ประกาศสอนไว้แล้วโดยถูกต้องแม่นยำเช่นนี้ จึงเรียกว่าเราทั้งหลายมีวาสนา เหมาะกับกาลสมัยแห่งความเป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์ ที่มีธรรมเป็นเครื่องประดับ หรือมีศาสนธรรมเป็นเครื่องยึดเป็นเครื่องเทิดทูน มีธรรมทำความอบอุ่นมั่นคงให้แก่จิตใจ หรือว่าบ่อแห่งการสร้างความหวังให้สมบูรณ์ คือ ศาสนธรรมก็ไม่ผิด
เราสร้างความหวัง เราต้องสร้างตามหลักของธรรม หรือสร้างให้เป็นไปตามธรรมอันเป็นความถูกต้องแม่นยำอยู่แล้ว ความหวังนั้นจึงจะบรรลุผลดังใจหมาย เพราะความหวังของโลกทั่ว ๆ ไปไม่เคยมีใครจะหวังความทุกข์ความลำบาก ความจนความทรมาน ความโง่เขลาเบาปัญญา ความขี้ริ้วขี้เหร่ในรูปพรรณสัณฐานแม้รายเดียวเลย ตลอดสิ่งที่มาเกี่ยวข้อง บริษัทบริวารสมบัติเงินทอง ล้วนต้องการแต่ของดีเป็นที่พึงหวังด้วยกันทั้งนั้น
เมื่อเราต่างต้องการของดีมีคุณค่าทั้งหลาย แนวทางที่จะให้บรรลุสิ่งที่พึงหวังดังใจหมายนั้นก็คือ ศาสนธรรมท่านชี้บอกไว้โดยสมบูรณ์แล้ว เช่น อยากเป็นคนดีก็ต้องประพฤติปฏิบัติกำจัดสิ่งที่ชั่ว ซึ่งแสดงออกอยู่ทุกระยะ หรือทุกเวลาภายในกาย วาจา ใจ ของเรานี้ ท่านสอนวิธีระงับ วิธีดับ วิธีกำจัด วิธีหักห้ามไว้หมด เมื่อเราพยายามทำตามท่าน ไม่ฝ่าฝืนทางเดินที่ถูกต้องแม่นยำเพื่อความหวังอันสมบูรณ์ เราก็จำต้องดำเนินตามนั้น ทุกข์ยากลำบากเพียงไรก็จำต้องดำเนินตามสายทางที่ถูกต้องนั้น ย่อมจะถึงจุดที่มุ่งหมายไม่พ้นวิสัยไปได้
คุณงามความดีทุกประเภททุกขั้นทุกภูมิ ย่อมไม่พ้นจาการทำความดี ตามหลักศาสนธรรมไปได้ แต่จะทำแบบสุ่มเดาหาเหตุหาผลหาหลักหาเกณฑ์ไม่ได้ ทำเอาตามความอยากความต้องการของตนนั้น ส่วนมากมักเป็นสิ่งสังหารทำลายความหวังของตน ให้กลายเป็นความเลวร้ายและความทุกข์ไปเสียมากต่อมาก
ด้วยเหตุนี้ศาสนธรรมจึงเป็นสิ่งจำเป็น สำหรับบังคับจิตใจให้ก้าวเดิน หรือประพฤติปฏิบัติไปตาม อย่าให้ผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากหลักธรรม ผลจะพึงสมหวังโดยลำดับ นี้คือสายทางของมนุษย์จะพึงก้าวเดิน ให้สมความมุ่งหมายดังใจหวังไม่มีทางอื่น
นี่เราทั้งหลายก็ได้น้อมธรรมเข้ามาปกปักรักษายึดเหนี่ยวอย่างเป็นจิตเป็นใจ ฝากเป็นฝากตายอยู่แล้วภายในใจเวลานี้ เรามีวาสนาบารมีจึงได้เกิดมาประจวบเหมาะกับกาลสมัยที่มีพระพุทธศาสนา แม้พระพุทธเจ้าจะปรินิพพานไปแล้ว เราไม่ได้เห็นองค์ท่านก็ตาม ธรรมคือความจริงและความร่มเย็นคงเส้นคงวานี้ เป็นองค์แทนศาสดาโดยสมบูรณ์อยู่แล้ว ดังที่ท่านตรัสกับพระอานนท์ว่า ดูก่อน อานนท์ ธรรมและวินัยที่ตถาคตแสดงไว้แล้วนี้แล จะเป็นศาสดาแทนเราตถาคตเมื่อเราผ่านไปแล้ว นั่น องค์ศาสดาก็คือพระธรรมวินัยโดยตรง ไม่มีคำว่าอ้อมค้อม จึงไม่มีคำว่าอดีตอนาคต เป็น สวากขาตธรรมที่ตรัสไว้ชอบแทนพระองค์ ยังมีอยู่โดยสมบูรณ์
ยิ่งได้ประพฤติปฏิบัติตนทางจิตตภาวนาให้เห็นประจักษ์ใจ ตั้งแต่สมถธรรม วิปัสสนาธรรมขึ้นไปเป็นลำดับ ก็ยิ่งจะได้เห็นตถาคตองค์แท้จริงภายในใจ และเป็นสักขีพยานไปโดยลำดับ จนเป็นสักขีพยานเต็มส่วน ด้วยการรู้ธรรมเห็นธรรมเต็มภูมิภายในใจ นี่แหละที่ว่า ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเราตถาคต ตั้งแต่ขั้นเริ่มแรกแห่งการเห็นธรรม นับแต่สมาธิธรรม ปัญญาธรรม ถึงวิมุตติธรรม เรียกว่าเริ่มเห็นตถาคตไปเรื่อย ๆ เมื่อถึงขั้นวิสุทธิธรรมแล้ว เรียกว่าเห็นศาสดาเต็มองค์ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะธรรมชาตินี้เป็นอย่างเดียวกันกับตถาคตไม่มีที่สงสัย
เมื่อได้ก้าวเข้าสู่ธรรมะที่บริสุทธิ์นี้แล้ว ย่อมหายสงสัยในพระพุทธเจ้าทั้งหลายว่ามีหรือไม่มีโดยสิ้นเชิง เพราะธรรมชาติที่รู้ที่เห็นนี้เป็นเครื่องยืนยันกับพระพุทธเจ้าทั้งหลายอย่างประจักษ์ใจแล้ว เมื่อเราก็ไม่สงสัยในความรู้ความเป็นของเรา แล้วเราจะสงสัยพระพุทธเจ้าทั้งหลายที่ไหนกัน เพราะความจริงเป็นอันเดียวกัน นี่คือการเห็นศาสดาหรือเห็นตถาคตด้วยความเห็นธรรม คือความเห็นธรรมที่บริสุทธิ์ ใจที่บริสุทธิ์กับธรรมที่บริสุทธิ์กลมกลืนเป็นอันเดียวกัน
ศาสดาทุกองค์ พระสาวกทุกองค์ ไม่ว่าจะเป็นพระสาวกของพระพุทธเจ้าพระองค์ใด เป็นธรรมชาติเหมือนกันนี้ทั้งสิ้น ธรรมนี้เป็นเครื่องยืนยันว่า พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ ที่เราทั้งหลายกล่าวอ้างระลึกถึงพระพุทธเจ้าทั้งหลายก็ดี ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ ที่เราระลึกถึงพระธรรมก็ดี สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ ที่เราระลึกถึงพระสงฆ์ทั้งหลายก็ดี รวมอยู่ในธรรมชาติที่จิตบริสุทธิ์ ธรรมบริสุทธิ์ก็ปรากฏอยู่กับใจของผู้บริสุทธิ์นั้นอย่างประจักษ์แล้ว จึงหาที่สงสัยไม่ได้ ใครรู้ใครเห็นธรรมที่กล่าวนี้ย่อมชื่อว่า เห็นตถาคตเช่นเดียวกันหมด โดยไม่นิยมว่าเพศหญิงเพศชาย เพศนักบวชและฆราวาส ตลอดชาติชั้นวรรณะใด ๆ ทั้งสิ้น
นี่แลคำว่าพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ มีอยู่ แต่ไม่ได้มีอยู่แบบโลกทั้งหลายมีอยู่ สมมุติทั้งหลายมีอยู่กัน ทั้งความมีอยู่เหมือนโลกทั่ว ๆ ไป ทั้งความสูญไปดังที่โลกทั้งหลายเข้าใจกัน หรือในคำว่าสูญ ทั้งสองเงื่อนนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับคำว่าพุทธ ธรรม สงฆ์ที่มีอยู่นั้นเลย แต่มีอยู่แบบธรรมชาติของธรรมที่บริสุทธิ์ล้วน ๆ หรือจิตที่บริสุทธิ์ล้วน ๆ ซึ่งไม่เหมือนกับโลกใดในไตรภพ จึงไม่ได้มีอยู่แบบโลกและสูญไปแบบโลกไตรภพ นี่แลที่ชาวพุทธทั้งหลายกล่าวอ้างถึงท่าน จึงไม่ได้เป็นโมฆะ การกล่าวอ้างนั้นเรียกว่าถูกต้องตามจุดตามหมายตามความจริงแห่ง พุทธ ธรรม สงฆ์
ที่แยกออกมาเป็นพุทธ เป็นธรรม เป็นสงฆ์นี้ แยกออกเป็นสมมุติอันหนึ่ง เป็นกิริยาอันหนึ่งแต่ละอย่าง ๆ ตามสมมุติ เพื่อเป็นกรุยหมายป้ายทางบอกของผู้กำลังดำเนินเพื่อวิสุทธิธรรมนั้น เมื่อจิตเข้าถึงธรรมะบริสุทธิ์ จิตที่บริสุทธิ์เต็มที่แล้ว จะทราบได้ทันทีในธรรมชาตินั้นไม่สงสัย เมื่อจิตได้ก้าวเข้าถึงความบริสุทธิ์เต็มภูมิแล้ว ก็เท่ากับได้ก้าวเข้าสู่ธรรมที่บริสุทธิ์เต็มภูมิ เพราะธรรมบริสุทธิ์กับใจที่บริสุทธิ์เป็นอันเดียวกัน คำว่า พุทธ ธรรม สงฆ์ ที่แยกเป็นอาการนั้น จึงรวมอยู่ในคำว่า ธมฺโม ปทีโป อันเดียวกันนั้น
ธรรมชาตินี้ไม่มีคำว่ากาล สมัย สถานที่ ไม่มีอะไรเข้ามาทำลาย เข้ามาเกี่ยวข้อง เข้ามาลบล้างได้ เพราะพ้นวิสัยของสมมุติทั้งปวงดังกล่าวเหล่านี้ไปแล้ว เป็นธรรมที่บริสุทธิ์อยู่โดยหลักธรรมชาติ ธรรมชาตินั้นไม่ใช่สมมุติทั้งมวลที่มีอยู่ในสามแดนโลกธาตุนี้ เป็นธรรมชาติอันหนึ่งต่างหากจากสมมุติทั้งมวล และมีจิตเท่านั้นที่จะเป็นผู้สัมผัสสัมพันธ์รับทราบธรรมชาตินั้น ตา หู จมูก ลิ้น กาย ไม่ใช่วิสัยแห่งการรับทราบธรรมนั้น มีใจเท่านั้นสามารถรับทราบ และเป็นภาชนะอันเหมาะสมอย่างยิ่งกับธรรมะบริสุทธิ์นั้น เพราะฉะนั้น ท่านจึงสอนให้ปรับปรุงจิตใจให้ดี การปรับปรุงจิตใจได้ในขั้นใดภูมิใด จะได้สัมผัสสัมพันธ์กับธรรมขั้นนั้นภูมินั้นที่มีอยู่เช่นเดียวกับธรรมะบริสุทธิ์
คำว่า สมถธรรมหรือสมาธิธรรม ถ้ายังไม่รู้ด้วยภาคปฏิบัติ ก็จะมีแต่การคาดการหมายกันเท่านั้น การคาดการหมายก็ไม่ผิดอะไรกับโลกเขา แม้จะเรียนธรรมความจำก็เหมือนโลกนั่นเอง ไม่ได้มีผลเป็นสมถะและวิปัสสนาอะไรถ้าไม่ได้ปฏิบัติ เมื่อไม่ได้สัมผัสสัมพันธ์กับคำว่าสมาธิขึ้นที่ใจแล้ว จะไม่ทราบว่าสมาธินั้นเป็นอย่างไร เช่น ความสงบนี้สงบอย่างไร เป็นแต่เพียงคาด คาดด้วยทั้งที่จิตไม่เคยสงบ แล้วจะไปถูกความสงบได้อย่างไร จิตคาดสมาธิด้วยทั้งจิตที่ไม่เป็นสมาธิ จิตคาดปัญญาด้วยทั้งที่จิตไม่ได้เป็นปัญญา จิตคาดวิมุตติความหลุดพ้นด้วยทั้งที่จิตไม่ได้หลุดพ้น แต่เต็มไปด้วยกิเลส จะไปถูกความจริงแห่งธรรมนั้น ๆ ได้อย่างไร
เพราะฉะนั้น ท่านจึงสอนให้ปฏิบัติ มีทางเดียวนี้เท่านั้นที่จะทราบความจริงแห่งธรรมเหล่านั้นเป็นขั้น ๆ ตอน ๆ ขึ้นไปจนถึงขั้นพอตัว เพราะการบำเพ็ญธรรมมีความพอตัว ถึงจุดอิ่มตัวได้ทั้งขั้นสมถะและวิปัสสนา ไม่เหมือนโลก ไม่เหมือนกิเลสที่หาความพอตัวและอิ่มพอไม่ได้ตลอดไป ผู้วิ่งตามโลกคือกิเลสจึงหิวเรื่อยไป ทุกข์เรื่อยไป ไม่มีจุดมีหมายแห่งความสิ้นสุดยุติ
กิเลสนี้ไม่มีคำว่าอิ่มตัว นอกจากมีความหิวกระหายอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นจิตจึงมีความกระวนกระวาย อยากรู้อยากเห็น อยากได้นั้นอยากสัมผัสนี้ เป็นอยู่อย่างนั้นหาความอิ่มพอ พอสงบตัวบ้างไม่ได้เลย กิเลสทำจิตใจของสัตว์โลกให้ระส่ำระสายกระวนกระวายไปด้วยความอยาก ความหิวโหย ความทะเยอทะยานไม่มีประมาณ สำคัญที่ความหิวความต้องการอยากรู้อยากเห็น อยากเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ มันเต็มอยู่ในหัวใจตลอดเวลา คำว่าเต็มนี้นั้นเต็มไปด้วยความหิวโหย เต็มไปด้วยความทุกข์ทรมานกายใจ ไม่ได้เต็มไปด้วยความสมบูรณ์พูนผลที่พึงปรารถนาแต่อย่างใด ไม่เหมือนธรรม ฉะนั้นกิเลสกับธรรมจึงเดินสวนทางกันและเป็นข้าศึกต่อกันเรื่อยมา คนมีธรรมครองใจกับคนที่เป็นคลังกิเลสไม่สนใจในธรรมก็เดินสวนกันเช่นนั้น และมักเป็นข้าศึกกันเสมอ ผู้ก่อเหตุมักเป็นฝ่ายคลังกิเลสตัวยุแหย่ก่อกวนนั่นแล
ธรรมนั้นมีคำว่าเต็มว่าพอ สมาธิก็เต็ม คือความสงบเต็มหัวใจรู้ได้ชัด ความสงบในสมาธิย่อมอิ่มตัวในสมาธิ ไม่เหมือนกิเลสว่าจะมีความอิ่มพอในตัวเองไม่เคยมี ขัดแย้งกันอย่างนี้ ระหว่างกิเลสกับธรรมจึงเดินสวนทางกัน กิเลสครองใจเต็มที่ใจก็หิวเต็มที่ ผู้มีธรรมครองใจโดยสมบูรณ์ ใจอิ่มพอเต็มตัว ความหิวกับความอิ่มวัดผลของมันแล้วเป็นอย่างไร ความหิวก็คือความทุกข์ความลำบากทรมาน หิวมากเท่าไรยิ่งทุกข์มาก เช่นเราหิวข้าว อย่าว่าแต่หิวภายในจิตใจด้วยอำนาจของกิเลสเลย เพียงหิวข้าวเท่านั้นก็เป็นทุกข์ หิวหลับหิวนอนเป็นทุกข์ทั้งนั้น ยิ่งหิวเพราะอำนาจของกิเลสด้วยแล้วก็เป็นมหันตทุกข์ ผู้ไม่หิวคือผู้อิ่มธรรมจะเป็นทุกข์อะไรกัน ต้องเป็นสุขเต็มหัวใจในท่ามกลางของผู้มีทุกข์เต็มหัวใจ เพราะอำนาจกิเลสพาให้หิวโหยและเกิดทุกข์อยู่นั่นแล นี่ดูเอาผลระหว่างกิเลสกับธรรมดังที่กล่าวมานี่แล
ธรรมมีความอิ่มพอได้เป็นขั้น ๆ นับแต่ขั้นสมาธิไป สมาธิที่พอตัวก็อิ่มตัวในสมาธิ ไม่ใช่จะหิวโหยในสมาธิเรื่อยไป มีความอิ่มตัว มีความผาสุกเย็นใจ อิ่มต่ออารมณ์ต่าง ๆ ที่เป็นเรื่องของกิเลส อยู่ด้วยความสงบเย็นใจ เช่นเดียวกับเรารับประทานอิ่มแล้วนอนสบายเช่นนั้น ปัญญาก็มีความอิ่มตัวเมื่อถึงขั้นอิ่ม ขึ้นชื่อว่าธรรมไม่มีคำว่าเตลิดเปิดเปิง มีประมาณมีความพอตัวตามขั้นตามภูมิของธรรม จนกระทั่งเต็มภูมิของจิตเต็มภูมิของธรรมแล้วใจก็อิ่มตัวเต็มที่ ที่เรียกว่าเมืองพอ
คำว่า นิพพาน ๆ ถ้าพูดตามหลักธรรมชาติเกี่ยวกับเรื่องความหิวโหยแล้ว ก็คือความพอตัวอิ่มตัวเต็มที่นั่นแล นอกจากอิ่มตัวเต็มที่แล้วยังคงเส้นคงวาตลอดอนันตกาลอีกด้วย ไม่มีสมมุติใด ๆ เข้าไปเกี่ยวข้องวุ่นวายหรือสัมผัสสัมพันธ์ในธรรมชาตินั้นตลอดไป ที่ท่านว่านิพพานเที่ยง ก็หมายถึงจิตที่อิ่มตัวเต็มที่แล้ว หรือพ้นแล้วจากความหิวโหยโดยประการทั้งปวง ท่านจึงเรียกว่าเที่ยง ถ้ายังจะมีแปรผันกันอยู่ นั่นก็เป็นสมมุติธรรมดานี่แล แม้จะมีอายุยืนนานถึงกี่ล้านปีก็ตาม ถ้าหากมีการเปลี่ยนแปลงอยู่แล้วก็ยังตกอยู่ในไตรลักษณ์คือ อนิจฺจํ หาความแน่นอนไม่ได้อยู่นั่นเอง
ด้วยเหตุนี้ คำว่าจิตที่บริสุทธิ์กับคำว่านิพพานนั้น จึงไม่ได้อยู่ในกฎของไตรลักษณ์ที่จะเอื้อมเข้าถึง อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา นี้เป็นรังแห่งสมมุติทั้งมวล ไม่ว่าจะเป็นส่วนหยาบส่วนกลางส่วนละเอียดขนาดไหน ก็เป็นเรื่องของสมมุติทั้งมวล ส่วนจิตที่บริสุทธิ์ล้วน ๆ หรือนิพพานนั้นไม่ได้อยู่ในกฎอันนี้ นอกเหนือจากกฎนี้ไปแล้ว เพราะฉะนั้น การพิจารณาเพื่อนิพพานจึงต้องก้าวเดินไปตามทางสาย อนิจฺจํ ทุกขํ อนตฺตา อันเป็นทางเดินเพื่อความหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นไปแล้ว ธรรมทั้งสามประเภทนี้ก็ปล่อยวางไว้ตามความจริง หมดสิ่งเกี่ยวข้องกันต่อไป
ธรรมที่กล่าวมานี้มีผู้ใดสามารถนำมาสั่งสอนโลกได้ ก็มีพระพุทธเจ้าเพียงพระองค์เดียวเท่านั้น เป็นผู้ฉลาดสามารถเหนือมนุษย์มนาเทวดาและสัตว์โลกทั้งหลาย เกินกว่าที่จะนำมาเทียบเคียงได้ และไม่ทรงศึกษาอบรมกับผู้หนึ่งผู้ใดด้วย ทรงเป็นสยัมภู รู้ด้วยความสามารถของพระองค์เพียงผู้เดียวเท่านั้น แล้วนำธรรมนั้นมาสั่งสอนสัตว์โลกให้รู้บุญรู้บาปรู้นรกรู้สวรรค์ รู้จนถึงความหลุดพ้นคือพระนิพพาน ไม่บกพร่องในอุบายวิธีการสั่งสอน
สิ่งที่กล่าวมาทั้งนี้เป็นความมีความจริงมาดั้งเดิมอยู่แล้ว แต่ไม่มีใครรู้ใครเห็น จึงหาทางหลีกเลี่ยงทางเพื่อบำเพ็ญไม่ได้ เมื่อหาทางไม่ได้ก็ต้องติดอยู่ทางฝ่ายต่ำเสมอ ฝ่ายต่ำก็คือเรื่องของกิเลส ผลก็คือความทุกข์ทรมาน สัตว์โลกโดนเอา ๆ ในสิ่งที่ไม่รู้ไม่เห็นนั้นแหละโดนได้ง่าย ถ้าสิ่งที่เห็นใครจะไปกล้าโดน เพราะคำว่าโดน โดนมากโดนน้อยโดนหนักโดนเบาขนาดไหน ก็ต้องเจ็บมากน้อยไปตามส่วนแห่งการโดน การเตะการชนการเหยียบย่ำนั่นแล สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่มีอยู่กับสัตว์โลกทั่ว ๆ ไป สัตว์โลกไม่นอกเหนือไปจากสิ่งที่มีอยู่ทั้งหลายนี้ได้เลยแม้รายเดียว จำต้องโดนด้วยกันโดยไม่สงสัย เห็นไม่เห็น รู้ไม่รู้ ไม่เป็นสิ่งลบล้างความมีอยู่นั้นได้
นอกจากผู้ที่หลุดพ้นไปแล้วจากแดนแห่งสมมุตินี้เท่านั้น คือพระพุทธเจ้าและสาวกทั้งหลาย ท่านไม่มาเจอไม่มาโดนบรรดาสมมุติทั้งมวล ไม่ว่าจะเป็นส่วนหยาบส่วนกลางส่วนละเอียด ความสุขของโลกก็ไม่ว่าจะสุขอย่างหยาบอย่างกลางอย่างละเอียดขนาดไหน ท่านปล่อยไปหมดแล้ว ความทุกข์เพราะอำนาจของกิเลส อำนาจของวัฏวนที่เป็นมาตั้งแต่ทุกข์เล็กน้อยจนกระทั่งมหันตทุกข์ เพราะฤทธิ์อำนาจของกิเลสผลิตขึ้นมาบีบบังคับสัตว์โลก ท่านก็พ้นไปหมดแล้ว ไม่มีท่านผู้สิ้นกิเลสพระองค์ใดรายใดเข้ามาเกี่ยวข้องและต้องโดนเหมือนสัตว์โลกทั่ว ๆ ไป ท่านพ้นไปหมดเพราะความรู้ความเห็นความสลัดปัดทิ้ง มีแต่สัตว์โลกเท่านั้นที่คลุกเคล้ากันอยู่กับกิเลสแลกองทุกข์ทั้งมวล เช่นเดียวกับโยนสัตว์ลงในหม้อน้ำร้อนซึ่งกำลังเดือดพล่าน ๆ อยู่นั่นแล ผู้ตาดีหูดีท่านไม่มา ท่านสลัดออกได้แล้ว พ้นไปได้แล้ว
เพราะฉะนั้น คำว่าบาปก็ดี บุญก็ดี นรกก็ดี สวรรค์ก็ดี พรหมโลกก็ดี จึงอยู่ในวิสัยของสัตว์โลกนี้จะพบได้เห็นได้เจอได้ด้วยกัน ผู้ปฏิเสธว่าไม่มีก็ตาม ผู้ยอมรับว่ามีก็ตาม จะไม่นอกเหนือไปจากผลของกรรมที่ตนทำทั้งรู้และไม่รู้ ทั้งดีทั้งชั่วนั้นไปได้เลย เพราะกฎนี้เป็นกฎตายตัว และขึ้นอยู่กับการกระทำของสัตว์โลก
ใครก็ตามไม่ว่าสัตว์ไม่ว่าบุคคล จะนอกเหนือไปจากการกระทำนี้ไม่ได้ มีการกระดิกพลิกแพลงต้องเป็นอาการของการกระทำทั้งนั้น คิดขึ้นภายในใจก็เป็นมโนกรรม คิดดีคิดชั่วก็เป็นความคิดที่ผิดที่ถูก จะยังผลความสุขความทุกข์ให้เกิดขึ้นได้เช่นเดียวกัน เพราะสัตว์โลกเกิดอยู่ในแดนแห่งกรรมที่จำต้องกระทำ เมื่อทำลงไปแล้วผลจะต้องเป็นไปตามนั้น ไม่มีใครจะลบล้างได้ จะไปโดนอะไรย่อมขึ้นอยู่กับกรรมดีและชั่วเป็นผู้ชี้ทาง ถ้าเป็นความชั่วที่ตนทำขึ้นมาแล้ว จะปฏิเสธจะลบล้างผลนั้นได้อย่างไร
การกระทำก็ทำด้วยความมืดบอด ไม่ได้รู้ว่าดีหรือชั่ว หรือรู้ก็ทำทั้งรู้ ๆ ยิ่งเป็นความหน้าด้านของผู้ทำ สันดานหยาบของผู้ทำเข้าไปอีก แล้วจะเอาอำนาจแห่งความหน้าด้านสันดานหยาบนี้ไปลบล้างกองทุกข์ ลบล้างนรกอเวจีซึ่งเป็นที่แผดเผาของสัตว์หน้าด้านของสัตว์หยาบโลนนี้ได้อย่างไร หากเป็นสิ่งที่ลบล้างได้ ไม่มีใครจะมาตกอยู่ในกองทุกข์กันเลย อย่าพูดถึงขั้นนรกซึ่งเป็นสิ่งที่สุดวิสัยของจำพวกตาบอดหูหนวกเหมือนอย่างเราจะโดนกันเลย แม้แต่กองทุกข์อยู่ในโลกนี้ มนุษย์เราก็มีหูมีตาด้วยกัน ไม่เห็นใครผ่านพ้นความทุกข์ซึ่งควรจะได้รับอยู่ในโลกนี้ไปได้
ไม่ว่าคนโง่คนฉลาดคนมั่งมีดีเด่นหรือคนทุกข์จนขนาดไหน เรื่องความทุกข์ซึ่งเป็นไปอยู่กับธาตุกับขันธ์ เป็นไปอยู่กับความคิดการกระทำผิดถูกดีชั่วของตนนี้ ตนจำต้องยอมรับตลอดวันตลอดคืนตลอดอิริยาบถไปอยู่เช่นนี้ ไม่มีรายใดที่จะหลบหลีกปลีกตัวจากทุกข์นั้นไปได้ นี่เราเห็นกันได้อย่างชัด ๆ เพียงอยู่ในมนุษย์นี้ทั้ง ๆ ที่เราก็ยังตาดีหูดี ยังไม่เห็นผ่านพ้นความทุกข์ทั้งหลายซึ่งเป็นของมีอยู่ในโลกนี้ไปได้ เหตุใดจะไปลบล้างบาปและนรกอันเป็นที่หมกไหม้ของสัตว์จำพวกหยาบโลนทั้งหลายได้
สวากขาตธรรม ท่านตรัสไว้ชอบแล้วทุกสิ่งทุกอย่าง ผู้เชื่อตามพระพุทธเจ้าจะเป็นผู้ระมัดระวัง ความชั่วทั้งหลายไม่กระทำและพยายามบำเพ็ญในทางที่ดี แม้จะทุกข์ยากลำบาก ย่อมจะมีแก่ใจฝ่าฝืนความยากลำบาก ด้วยการกระทำตามนิสัยของผู้เชื่อธรรม
เราชาวพุทธ เฉพาะอย่างยิ่งเป็นพระด้วยเป็นนักปฏิบัติด้วย ก็ยิ่งจะได้นำธรรมเหล่านี้เข้ามาพินิจพิจารณาให้ถึงความจริงแห่งธรรมทั้งหลาย ความจริงนั้นจะสะท้อนย้อนกลับมาเป็นสมบัติอันพึงใจของเราผู้ปฏิบัติแต่ความดีงาม ผลจะไม่เป็นอื่นนอกจากความดี เป็นความสุขความเจริญ เป็นที่พึงใจในผลที่ได้รับโดยถ่ายเดียว เพราะความดีของตน
ตอนต้นได้พูดถึงเรื่องศาสนาที่เป็นคราวเป็นสมัย เช่น กล่าวถึงพุทธันดรและสุญญกัป ที่นี่ย้อนเข้ามาถึงตัวของเราเองผู้ทรงศาสนา เฉพาะอย่างยิ่งคำว่าพุทธศาสนา ศาสนาคือคำสอนของท่านผู้รู้ เราก็ได้ปฏิบัติ เราได้นับถือเป็นหัวจิตหัวใจเป็นเนื้อเป็นหนัง ฝากเป็นฝากตายอยู่แล้ว ที่นี่ย้อนเข้ามาเพื่อให้ผลประจักษ์กับใจเรา และเป็นคติเครื่องเตือนใจเราให้มีสติสตัง ให้มีความรอบคอบ ให้มีกำลังใจยิ่ง ๆ ขึ้นไปนั้น เราควรจะคิดถึงตัวเราในอิริยาบถต่าง ๆ ยืน เดิน นั่ง นอน ว่าเวลานี้จิตใจของเราเป็นสุญญกัปหรือเป็นยังไง ถ้าจิตใจไม่มีสติประคองความเพียร ไม่มีปัญญาเป็นเครื่องพินิจพิจารณาแก้ไข ถอดถอนสิ่งที่พัวพันขัดข้องเสียดแทงใจแล้ว นั่นก็คือสุญญกัป เป็นกัปที่ถูกกิเลสย่ำยีตีแหลกภายในใจเราไม่เลือกอิริยาบถ ทั้ง ๆ ที่เรานับถือศาสนาและเป็นพระปฏิบัตินั่นแล เพราะคำว่าสุญญกัป มันเป็นกัปของกิเลสโดยตรง สุญญกัปนี้ไม่กลัวผู้นับถือพุทธศาสนาและพระธุดงคกรรมฐาน จงอย่าเอาอำนาจของคำว่าเราเป็นพระธุดงคกรรมฐานไปอวดกับสุญญกัปเป็นอันขาด ถ้าไม่อยากให้จีวรปลิวว่อนเจ้าตัวตกแคร่นั่งสมาธิภาวนา จะว่าไม่บอก
อย่าเข้าใจว่ากิเลสจะกลัวผู้ถือศาสนาทั้ง ๆ ที่หาสติสตังหรือปัญญา ศรัทธา ความเพียรไม่ได้ อย่าหาญคิดว่ากิเลสจะกลัวคำว่าพระกรรมฐาน เพราะกิเลสไม่ได้มาเกี่ยวข้องกับคำว่าพระกรรมฐานหรือไม่กรรมฐาน แต่กิเลสจะแทรกเข้าไปในจุดที่พระกรรมฐานกำลังเลินเล่อเผลอสติ เซ่อ ๆ ซ่า ๆ นั้นแหละ เพราะขณะนั้นเป็นจังหวะที่ปล่อยโอกาสให้กิเลสต่อยได้ดีที่สุด ต้องพิสูจน์เรา สังเกตเราตลอดเวลาอิริยาบถ จึงชื่อว่านักปฏิบัติ
โอปนยิโก น้อมเข้ามาเพื่อเป็นคติ เพื่อเสริมสติ ปัญญา ศรัทธา ความเพียร ของเราให้มีความเข้มงวดกวดขันเข้าไป กิเลสจะได้ถอยตัวห่างจากเรา กิเลสกลัวตรงนี้ต่างหาก นักปฏิบัติจงรู้จุดที่กิเลสกลัว มันไม่ได้กลัวคำว่าพระ ไม่ได้กลัวคำว่าเดินจงกรมหย็อก ๆ หาสติไม่ได้ ไม่ได้กลัวการนั่งสมาธิภาวนาทั้งอ้าปาก ทั้งหลับเคลิบเคลิ้มหลงใหลไปในขณะที่ภาวนานั้น กิเลสไม่กลัว จงรีบแก้ไขจุดที่กิเลสไม่กลัว แต่กิเลสกลัวที่มีสติ มีความเพียรด้วยสติ มีความอุตส่าห์พยายาม มีความบึกบึน ไม่ท้อแท้อ่อนแอ มีปัญญาสอดส่องรอบตัวและเหตุการณ์ นี้สิ่งเลวร้ายทั้งหลายกลัว เรียกว่าเรามีศาสนา พระมีศาสนา กิเลสก็กลัว
ขณะใดไม่มีศาสนา คือ สติธรรม ปัญญาธรรม วิริยธรรม ขันติธรรม กิเลสหัวเราะ แล้ววันหนึ่ง ๆ ในอิริยาบถหนึ่ง ๆ คืนหนึ่ง ๆ ขาดศาสนาไปชั่วระยะสั้นยาวขนาดไหน ที่เป็นระหว่างพุทธันดร คือระยะนั้นระลึกสติปัญญาได้เหมือนกับเป็นพุทธะขึ้นมาขณะหนึ่ง ระยะนั้นมีปัญญาข้อคิดต่าง ๆ ได้อุบายแปลก ๆ ต่าง ๆ ขึ้นมาเป็นเครื่องบรรเทาเบาทุกข์ เป็นเครื่องพยุงจิตใจให้มีความสง่าผ่าเผยขึ้นมา สงบร่มเย็นขึ้นมา ระยะนี้ขาดสติ จิตใจเศร้าหมองขุ่นมัว จิตใจเกิดความเดือดร้อนเผาตัวอยู่ภายในใจ ระยะนี้ไม่มีศาสนา มีแต่ความคิดที่เป็นสัตว์นรกเผาตัวอยู่ภายในจิตใจ นี่แหละกิเลสเผา เผาพระเราเผาตรงนี้ เผาตอนไม่มีศาสนา เผาตอนสติปัญญาเป็นสุญญกัป
เราอย่าไปคิดคาดไกล ๆ โน้น โดยว่าภัทรกัปนั้นภัทรกัปนี้ พุทธันดรนั้นพุทธันดรนี้ สุญญกัปโน้น สุญญกัปนี้ นั่นท่านกล่าวมาตามลำดับลำดาที่เคยเป็นเคยมีมาอยู่แล้ว และเราผู้ปฏิบัติเพื่อจะยังผลให้เกิดขึ้นแก่เราเวลานี้ จง โอปนยิโก น้อมธรรมเหล่านั้นเข้ามาเป็นเครื่องพร่ำสอนตน ในระยะนี้ใจเรากำลังอยู่ในภัทรกัปหรืออยู่ในสุญญกัป ภัทรกัป แปลว่ากัปที่เจริญ เวลาที่เจริญ ขณะที่เจริญ อิริยาบถที่เจริญ ความเพียรในท่าต่าง ๆ เจริญ เจริญด้วยสติเจริญด้วยปัญญา จิตมีความยิ้มแย้มแจ่มใส จิตมีความเบิกบาน จิตมีความสง่าผ่าเผยด้วยอรรถด้วยธรรม มีสติมีปัญญาเป็นเครื่องประดับให้สง่างาม เป็นเครื่องส่องทางให้สง่าผ่าเผย จิตเจริญด้วยสมาธิ สมาบัติ มรรคผลนิพพาน นี่เป็นภัทรกัป ให้ย่นเข้ามาตรงนี้ เมื่อพยายามอยู่เสมอ ๆ เรื่องภัทรกัปนี้ก็จะมีกำลังมากขึ้นโดยลำดับภายในใจของเราผู้กำลังถือพุทธหรือถือเทวทัตนี้แล ในระหว่างภัทรกัปและสุญญกัปทั้งสองนี้
เทวทัตก็คือกิเลสตัวคอยจ้องมอง คอยปราบปรามธรรมและเราอยู่เสมอ คอยกีดขวางกดถ่วง คอยเสียดคอยแทง คอยเหยียบย่ำทำลายเรา นี่คือตัวยักษ์ตัวผี นี่เรียกว่าสุญญกัป ธรรมมีสติธรรม ปัญญาธรรม สูญไป แต่กิเลสตัณหาอาสวะประเภทต่าง ๆ ซึ่งเป็นฟืนเป็นไฟนั้นเจริญ ความเจริญของกิเลสแลกองทุกข์ทั้งหลาย ท่านไม่เรียกว่าภัทรกัป มันเจริญด้วยฟืนด้วยไฟจะเรียกว่าความเจริญเพื่อความผาสุกเย็นใจได้อย่างไร มีแต่ความพินาศฉิบหายล่มจมโดยถ่ายเดียว จะเรียกว่าความเจริญได้ลงคอละหรือ นี่แลสุญญกัปของชาวพุทธ ของพระธุดงคกรรมฐานที่ประมาทขณะไม่มีสติปัญญารักษาตน จะไปหาสุญญกัปที่ไหนกัน ถ้าไม่อยากเป็นแบบนิทานกระต่ายตื่นตูม เพราะภัทรกัป สุญญกัปที่ท่านแสดงไว้เวลานี้ยังห่างไกลจากตัวเรามาก เวลาตายแล้วไม่ทราบจะไปเจอกัปใด จึงควร โอปนยิโก เพื่อประโยชน์ในปัจจุบันนี้
ผู้เจริญก็คือผู้มีสติ มีปัญญา ศรัทธา ความเพียร บำรุงจิตใจ ใจได้รับการบำรุงรักษาอยู่เสมอ ย่อมมีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นโดยลำดับ ที่เรียกว่าภัทรกัป เจริญภายในจิตของผู้ถือศาสนาพุทธ จนกระทั่งสว่างจ้ารอบตัว เอ๊า ทีนี้พระอาทิตย์ร้อยดวงก็ไม่สนใจจะไปคิดกับมันละ ว่ามันมีความสว่างขนาดไหน ความสว่างที่เต็มอยู่ภายในจิตใจ ซึ่งหลุดพ้นแล้วจากความมืดบอดคือกิเลสทั้งหลายนี้เต็มภูมิแล้ว ไม่สนใจกับพระอาทิตย์ แม้จะมีร้อยดวงพันดวงก็ไม่มีอะไรสว่าง ไม่มีอะไรเป็นเครื่องอบอุ่น ไม่มีอะไรเป็นมหาสมบัติ ไม่มีอะไรเลิศประเสริฐยิ่งกว่าความสว่างของใจที่บริสุทธิ์ และด้วยธรรมที่บริสุทธิ์เต็มหัวใจนี้เลย นี่ละมหาภัทรกัป
ศาสนธรรมของพระพุทธเจ้า สอนจิตใจของสัตว์โลกให้เข้าสู่ภัทรกัปโดยลำดับ จนกระทั่งถึงมหาภัทรกัป ดับกิเลสโดยสิ้นเชิงไม่มีซากเหลืออยู่แม้แต่น้อย นี้แลคือมหาภัทรกัป เต็มภูมิของศาสนธรรมที่สอนเข้าจุดนี้ ผู้ปฏิบัติตามก็เข้าถึงธรรมนี้อย่างเต็มภูมิ สมพระทัยที่พระพุทธเจ้าทรงอุตส่าห์พยายามแนะนำพร่ำสอนสัตว์โลก ด้วยความลำบากลำบน ตั้งแต่เวลาบำเพ็ญก็ยากลำบากแสนสาหัส เอาพระชนม์เข้าแลกธรรมทั้งหลายเพื่อสัตว์โลก เวลาได้ตรัสรู้ธรรมแล้วก็ทรงอุตส่าห์พยายามสั่งสอน ภาระของพระพุทธเจ้าหนักตลอดตั้งแต่ทรงบำเพ็ญเรื่อยมา จนกระทั่งได้ตรัสรู้แล้ว เปลี่ยนภาระไปตามแง่ตามแขนงของเหตุการณ์ แต่รวมแล้วเรียกว่าเป็นภาระทั้งมวล ไม่มีใครจะรับภาระหนักยิ่งกว่าพระพุทธเจ้าเพื่อสัตว์โลกทั้งหลายเลย
นี่เราได้เกิดในแดนแห่งความเหมาะสมแล้ว ขอให้ภูมิใจในการประพฤติปฏิบัติตัวเอง และโอกาสนี้เวลานี้ เป็นโอกาสและเป็นเวลาว่าง ว่างทั้งการทั้งงานเกี่ยวกับโลกทั้งหลาย ไม่มีอะไรมาเกี่ยวข้องยุ่งกวน มีแต่งานทางธรรมอย่างเดียว ที่เราจะต้องพยายามตักตวงให้เต็มเม็ดเต็มหน่วย เต็มสติกำลังความสามารถ เมื่อพ้นโอกาสนี้ไปแล้วย่อมเป็นความลำบากที่จะได้บำเพ็ญความดีทั้งหลาย พยายามให้เต็มเม็ดเต็มหน่วยแล้วเราจะเป็นที่ภูมิใจในวาระต่อไป
ใจเป็นพื้นฐานแห่งการเกิดแก่เจ็บตายแห่งภพแห่งชาติทั้งหลาย ไม่มีอะไรเกินดวงใจนี้ ดังนั้นท่านอาจารย์มั่นท่านจึงพูดว่า ใจนี้คือนักท่องเที่ยว นั่น จะเที่ยวไปไหนก็ตาม ขอให้มีความดีเป็นที่พยุงใจเถิด ย่อมมีความสุขความสบาย พอมีที่ปลงที่วางไม่ร้อนเป็นฟืนเป็นไฟไปเสียทุกภพทุกชาติ แต่ต้นจนอวสานแห่งชีวิตของภพชาตินั้น ๆ โดยถ่ายเดียว มีความสุขเป็นเครื่องพยุง เป็นเครื่องบำรุงรักษา เพราะอำนาจแห่งบุญแห่งกุศลที่เราสร้างไว้นี้ เราก็ไม่เสียที สมกับว่ามนุษย์ฉลาด ต้องฉลาดหาความสุขใส่ตน ฉลาดแก้ความชั่วที่เป็นพิษเป็นภัยแก่ตนเต็มกำลังความสามารถ ไม่คุ้นไม่ชินกับสิ่งไม่ดีทั้งหลาย พยายามสลัดปัดออกจากตัวเสมอ ไม่ประมาทนอนใจ
วันนี้ได้กล่าวถึงเรื่องพุทธศาสนาทั้งภายนอกภายใน ให้ท่านผู้ฟังทั้งหลายได้พินิจพิจารณา โอปนยิโก ย้อนหน้าย้อนหลังเทียบเคียงเพื่อเป็นประโยชน์แก่ตน สมกับเป็นผู้ศึกษาและปฏิบัติเพื่อสารคุณทั้งหลายแก่ตน ให้พากันนำไปพินิจพิจารณา ประพฤติปฏิบัติตนเองในเวลาที่โอกาสอำนาย สุขภาพก็อำนวยเวลานี้ ธาตุขันธ์ก็ปกติดีงามทุกรูปทุกนาม ความเพียรก็ให้ก้าวเดินด้วยความมีสติ มีความสนใจมีศรัทธาเชื่อมั่นในธรรมของจริง
ไม่มีใครที่จะพูดจะตรัสได้อย่างจริงจังถูกต้องแม่นยำเหมือนพระพุทธเจ้า ที่ทรงพระนามว่าศาสดาองค์เอกนี้เลย เอกนามกึ หนึ่งไม่มีสอง ก็มีแล้วคือพระพุทธเจ้าที่มาตรัสรู้แต่ละครั้ง ๆ มีเพียงพระองค์เดียวเท่านั้น ไม่มีสอง พระญาณที่หยั่งทราบในสิ่งทั้งหลายแม่นยำไม่มีสอง พระวาจาที่ตรัสออกมาแต่ละประโยค ไม่มีความยักย้ายผันแปรเคลื่อนคลาด เต็มไปด้วยความจริงล้วน ๆ ตรัสว่าอย่างไรเป็นอย่างนั้น ว่าอะไรมีอะไรเป็น อะไรดีอะไรชั่ว สิ่งนั้นก็เป็นดีเป็นชั่วตามที่ตรัสไว้ทุกอย่าง จึงเรียกว่า สวากขาตธรรม ตรัสไว้ชอบแล้วโดย เอกนามกึ หนึ่งไม่มีสอง
ผู้ปฏิบัติตามหลักธรรมนั้นจะไปไหน ถ้าไม่ไปตามสิ่งที่ดีงาม สู่สถานที่ที่พึงหวังไม่เป็นอื่น การเชื่อธรรมกับการเชื่อฝ่ายมารคือกิเลส มีผลผิดกันอยู่มาก ฝ่ายมารก็คือสิ่งที่กระซิบกระซาบซึ่งฝังใจมาเป็นเวลานาน ท่านเรียกว่ากิเลสมาร คอยฉุดลากลงทางต่ำ ฝ่ายธรรมแนะนำให้ต่อสู้แย่งชิงเอาตัวเราซึ่งเป็นสมบัติอันมีค่านี้ ให้พ้นจากปากมารคือกิเลสทั้งหลาย ด้วยการทำดี ด้วยการฝ่าฝืนสิ่งที่ต่ำช้าเลวทรามทั้งหลาย ด้วยการตะเกียกตะกาย หนักก็เอาเบาก็ทนเพื่อความดีสิริมงคลทั้งหลาย ความเจริญย่อมเป็นของเราผู้บำเพ็ญ ไม่มีใครมาแย่งชิงได้เหมือนสมบัติภายนอก
ฉะนั้น การแสดงธรรมก็เห็นว่าสมควร จึงขอยุติเพียงเท่านี้ |